แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๘ เมษายน สำหรับพวกเราได้ล่วงมาถึงเวลา ๒๑ นาฬิกาแล้ว เป็นเวลาที่เรากำหนดกันไว้สำหรับการพูดจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาธรรมทูต ในวันนี้จะได้กล่าวถึงภาษาพูดสำหรับนักศึกษาธรรมทูต คำว่าภาษาพูดก็เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร แต่ภาษาพูดสำหรับนักศึกษาธรรมทูตนั้นยังมีอะไรที่ยังไม่เข้าใจหรือซ่อนเร้นอยู่บ้างก็ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี
ภาษาพูดที่คนทั่วไปรู้จัก ก็รู้จักกันแต่ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ตามธรรมดาในหมู่มนุษย์ ดังนั้นจะขอเรียกในที่นี้ว่า ภาษาคน ส่วนภาษาที่คนธรรมดาสามัญไม่รู้จักนั้น ก็คือ ภาษาธรรมชาติ หรือ ภาษาธรรมะ ภาษาธรรมะนี้จะรู้จักหรือใช้กันได้ก็แต่เฉพาะคนที่เข้าถึงธรรมชาติอันลึกซึ้งเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วแต่วันก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นคือธรรมชาติทั้งนั้น ธรรมะในฐานะเป็นตัวธรรมชาติก็มี ธรรมะในฐานะเป็นกฎของธรรมชาติก็มี ธรรมะในฐานะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาตินั้นก็มี และธรรมะในฐานะเป็นผลของการปฏิบัติตามหน้าที่นั้นก็มี มนุษย์ธรรมดาสามัญคนไหนรู้จักธรรมชาติในลักษณะที่ลึกซึ้งเช่นนี้บ้าง นี้ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้ธรรม หรือธรรมะ หรือธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้นจึงไม่มีภาษาธรรมชาติชนิดนี้ที่ใช้พูดกันอยู่ สำหรับคนธรรมดาสามัญเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสังเกตดูให้ดี ว่าภาษามีอยู่สองภาษาเช่นนี้ ภาษาคนสำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมะพูด ภาษาธรรมสำหรับคนที่รู้ธรรมะพูด สำหรับนักศึกษาธรรมทูตในที่นี้จะไปเผยแผ่ธรรมะ และในระดับลึกซึ้งด้วยซ้ำไป แล้วจะมามัวไปพูดภาษาคนอย่างเดียวอยู่ได้อย่างไร เพราะจะต้องไปพูดในลักษณะที่เป็นภาษาลึกซึ้งกว่าภาษาคน ปัญหาก็จะเกิดขึ้นว่าจะไปทำให้คนที่รู้แต่ภาษาคนเหล่านั้นฟังเรื่องของเรารู้เรื่องได้อย่างไรกัน นั่นแหละคือความยากลำบากในการที่จะทำหน้าที่ธรรมทูต เพราะว่าธรรมะของพระศาสดานั้นลึกซึ้ง อย่างที่เราได้ยินกันชินหูว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง ยะทิทัง สัพพะสังขาระสะมาโถ สัพพูปะธิ ปะฏินิสสัคโค ตัณหักขะโย นิโรโธ นิพพานันติ ฯ ธรรมที่เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่ดับเสียซึ่ง อุปธิ ทั้งปวง เป็นความจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เป็นความดับ เป็นนิพพานนี้ ปราณีตเหลือเกิน ละเอียดเหลือเกิน ดังนี้เป็นต้น ที่ว่าปราณีตเหลือเกิน ละเอียดเหลือเกิน ก็เพราะเป็นภาษาธรรมชาติที่พูดได้ด้วยการหุบปากอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในวันก่อน ก็เป็นภาษาที่ลึกซึ้งที่ต้องพูดด้วยการหุบปาก ขืนเปิดปากพูดก็จะยิ่งผิดและก็จะผิดมากขึ้นเราจะต้องรู้สึกด้วยใจของตนเอง นี้เป็นลักษณะของภาษาธรรมะที่สูงสุด เดี๋ยวนี้เท่าที่อยู่ในลักษณะที่จะพูดได้ก็ยังจะต้องพูดด้วยภาษาธรรมะนั้น อย่างที่เราได้ยินกันชินอยู่ทั่วไปว่าไม่มีคน มีแต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อย่างนี้ก็พูดกันเกร่อไปหมด แต่กลัวว่าคนพูดนั้นจะพูดแต่ปาก เพราะได้ยินได้ฟังแล้วจำ ๆ เขามาพูดก็ได้ หรือไม่ได้เห็นด้วยใจจริงว่าที่แท้ไม่มีคน มีแต่ธรรม หรือธรรมชาติทั้ง ๔ อย่าง ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าเห็นธรรมชาติก็ไม่เห็นคน เห็นธรรมก็ไม่เห็นคน อย่างเดียวกับบทที่ว่า เห็นธรรมะคือเห็นตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรมะ เพราะตถาคตในที่นี้ไม่ใช่คน เพราะมีกล่าวอยู่แล้วว่า ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ได้เห็นองค์ตถาคต ขนาดจับจีวรเอาไว้ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นตถาคต
ดังนั้น ตถาคตในลักษณะนี้จึงไม่ใช่คน แต่เป็นธรรม คนที่ไม่เห็นธรรมจึงไม่มีโอกาสจะเห็นพระตถาคต นี้ก็เป็นลักษณะที่แสดงว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าในภาษาคนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ในภาษาธรรมนั้นเป็นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าในภาษาคนนั้นนิพพานคือดับขันธ์ลงไปได้ ส่วนพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมนั้นไม่รู้จักสิ้นสูญ คงอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้นตลอดกาลทั้งปวง คิดดูเถิดว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังมีอยู่ในสองภาษาแล้วก็พูดกันแต่ในภาษาคน น้อยนักน้อยหนาที่จะพูดกันในภาษาธรรมเพราะไม่รู้จัก เอามาพูดไม่ได้ ที่ลำบากมากไปกว่านั้นอีกก็คือว่า คำ ๆ เดียวย่อมมีความหมายเป็นสองภาษาเสมอ เช่นคำว่า ตัวตน ถ้าในภาษาธรรมะก็ถือว่าไม่มี แต่ในภาษาคนยังยอมรับกันว่ามี คือมีตัวตนในภาษาสมมติหรือภาษาคนเช่นที่พระองค์ได้ตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ดังนี้ ส่วนในภาษาธรรมะนั้นตรัสว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน อย่างนี้ คำว่า ตน มีแต่ในภาษาคนคือคนที่ไม่รู้ธรรม พูดกันอยู่ตามภาษาชาวบ้าน เมื่อพระพุทธองค์จะต้องตรัสด้วยภาษาชาวบ้านก็ตรัสได้เหมือนกันและตรัสออกไปอย่างนั้น แต่เมื่อจะตรัสในภาษาธรรมก็กลายเป็นไม่มีตน สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้ เพราะเหตุฉะนี้แหละเมื่อพระพุทธองค์จะตรัสภาษาชาวบ้านในเรื่องการเกิด การตาย การเกิดใหม่ เป็นต้น ก็ตรัสได้เหมือนกันตามที่ชาวบ้านเขาเชื่อและเขาพูดกันอยู่อย่างไร ว่าตายแล้วเกิดใหม่อย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เขาต้องการ และตรัสไปในลักษณะที่จะให้คนเหล่านั้นค่อยดีขึ้นค่อยสูงขึ้นในทางจิตในทางวิญญาณจนกว่าจะรู้ธรรมะในขั้นสูงสุด พอรู้ธรรมะในขั้นสูงสุดแล้วก็คือรู้ว่าคนนั้นไม่มี แม้เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าคนก็ไม่มี มีแต่ขันธ์ มีแต่ธาตุ มีแต่อายตนะ หรือมีแต่ส่วนธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกาะกุมกันอยู่ คนที่แท้จริงหามีไม่ แม้จะพูดว่าคนตาย คนเกิด คนเกิดใหม่ อย่างนี้ได้อย่างไรกัน ดังนั้นในภาษาคนก็มีคนวุ่นวายไปหมด ในภาษาธรรมก็หาคนไม่ได้แต่ว่างไปหมด
นักศึกษาธรรมทูตจะทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาอย่างไร จะด้วยภาษาอะไร ในเมื่อมันมีภาษาคนและภาษาธรรมที่ตรงกันข้ามกันอยู่อย่างนี้ ยกตัวอย่างอีกคำหนึ่ง เช่นคำว่า ว่าง ถ้าภาษาคน คำว่า ว่าง ก็หมายถึงไม่มีอะไรเลย แต่คำว่า ว่างในภาษาธรรมนั้น ทุกอย่าง ทุกสิ่งคงมีอยู่ตามเดิม หากแต่ว่าไม่มีความรู้สึกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นตัวเราเป็นของเราเท่านั้น จึงเรียกว่าทุกสิ่งว่าง มีคนโง่ ๆ ตั้งหลายคนพอได้ยินคำว่าว่างของพระพุทธเจ้าก็เข้าใจเอาว่าไม่มีอะไรเป็นหมด เลยไม่เข้าใจคำว่าจิตว่าง คือจิตที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตนของตน คือว่างจากการยึดถือ แต่เข้าใจในภาษาคนไปเสียว่าเมื่อจิตว่างแล้วก็ไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรเลย ดังนี้เป็นต้น อีกคำหนึ่ง เช่นคำว่า ความเกิด ในภาษาคนหมายถึงเกิดจากท้องแม่ แต่ในภาษาธรรมนั้นหมายถึงการเกิดของความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู เป็นของกูเท่านั้นเอง มันแตกต่างกันถึงกับว่า การเกิดในภาษาธรรมนี้เป็นทุกข์แน่ ๆ และเกิดได้วันละตั้งหลายครั้ง หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที ส่วนการเกิดในภาษาคนนั้น คนหนึ่งมีครั้งเดียว เกิดจากท้องแม่ครั้งเดียวและไม่เป็นทุกข์เลย จนกว่าจะไปยึดถือความเกิดนั้นว่าของเราเสียก่อนมันจึงจะเป็นทุกข์ ดังนั้นก็เป็นเพราะไปเกิดใหม่ในภาษาธรรมเท่านั้นเองคือไปยึดถือว่าความเกิดนั้นเป็นของเรามันจึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ความเกิดในภาษาธรรมหมายถึงการเกิดแห่งอุปาทานยึดมั่นว่าตัวเรา ของเรา ทำให้มีอะไรเกิดเป็นตัวเราหรือเป็นของเราขึ้นมาจึงได้เป็นทุกข์ ส่วนความเกิด หรือแม้แต่ความแก่ ความตาย ตามธรรมชาตินั้นหาได้เป็นทุกข์ไม่ ต่อเมื่อใดไปยึดมั่นเอาความเกิด ความแก่ ความตายนั้นว่าเป็นของเราขึ้นมามันจึงจะเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อจะกล่าวโดยสรุปความแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ดังนี้ เบญจขันธ์ธรรมดาหาได้เป็นทุกข์ไม่ เบญจขันธ์ประกอบด้วยอุปาทานขึ้นมาก็เมื่อเกิดอุปาทานขึ้นมาในใจทำให้ยึดถือขันธ์เหล่านั้นขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ตามว่าเป็นตัวฉัน หรือเป็นของฉัน มันจึงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเกิดได้ทุกคราวที่มีการยึดมั่นด้วยอุปาทานอันมาจากตัณหา และมาจากเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น ความเกิดในภาษาคนหาได้เป็นทุกข์ไม่ และคนหนึ่งก็เกิดครั้งเดียวและก็เสร็จเรื่องเสร็จราวไปแล้วตั้งแต่แรกเกิด ส่วนความเกิดในภาษาธรรมนั้นมีได้เรื่อยไปและวันหนึ่งมีได้หลายครั้ง หลายสิบครั้ง บางคนเกิดเก่งอาจจะได้ตั้งร้อยครั้งก็ได้ภายในวันเดียว คือมีความทุกข์ตั้งร้อยครั้งก็ได้ภายในวันเดียว เพราะว่าได้เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งร้อยครั้งในวันหนึ่ง ดังนี้ นี้เรียกว่าความเกิดในภาษาธรรม
เมื่อภาษามีอยู่สองภาษาอย่างนี้ เราจะต้องพิจารณาดูให้ดี ๆ ว่าจะต้องใช้ภาษาไหน ในลักษณะอย่างไร การที่จะพูดกับคนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในสามัญชนที่ไม่รู้เรื่องธรรมก็ต้องพูดภาษาคนไปเท่านั้นเอง จึงได้พูดไปในทำนองยุยงส่งเสริมว่า เอาเข้า เอาให้มากเข้าไว้ ทำความดีให้มากเข้าไว้เพื่อจะได้ไปสวรรค์อย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้มีตัวตนที่ดี และดีมากขึ้น ๆ อย่างนี้เรียกว่าพูดในภาษาคน ส่งเสริมให้มีความยึดมั่นในทางที่ดี ฟังรู้เรื่องกันได้ในภาษาคน ส่วนที่จะไปพูดว่ามันไม่มีอะไรเลยที่น่าเอาน่าเป็น ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดถือไว้โดยความเป็นตัวเราหรือของเรา อย่างนี้มันตรงกันข้ามอย่างยิ่งและก็ฟังไม่ถูก ลองไปพูดที่กลางตลาด ทางสี่แพร่ง ตามถนนหนทางดู พูดอยู่อย่างนี้ก็จะถูกหาว่าคนบ้าและจะถูกจับไปส่งโรงพยาบาลเป็นแน่นอน ทั้งที่พูดถูก พูดจริงในภาษาธรรมะเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านพูด นี่แหละคือข้อที่จะต้องสังวรไว้ว่านักศึกษาธรรมทูตทั้งหลายจะจัดการกับภาษาทั้งสองภาษานี้อย่างไรกัน
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่าจะเอาภาษาธรรมะที่ไหนมาพูด ถ้าหากว่าผู้นั้นยังไม่ได้บรรลุธรรมที่แท้จริงในลักษณะที่เห็นความไม่มีคน หรือไม่มีตัวตนโดยแท้จริง มันก็พูดภาษาธรรมไม่ได้ ได้แต่พูดภาษาคนไปตามเดิม แม้จะพูดเรื่องธรรมก็เพราะจำเอาไปพูด การจำเอาไปพูดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือจะสับสนกัน จะปนเปกัน ข้างต้นกับข้างหลังจะไม่เข้ารูปเข้ารอยกัน พูดไปเดี๋ยวเดียวมันก็เฉออกไปคนละทางสองทาง นี้คือผู้ที่ไม่รู้จักธรรมและจำภาษาธรรมเขาไปพูด ผู้ที่จะประกาศพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาจะทำเช่นนี้ไม่ได้ จะไม่เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเลย เมื่อพูดภาษาคนก็ต้องรู้ภาษาคนจริง ๆ เมื่อพูดภาษาธรรมก็ต้องรู้ภาษาธรรมจริง ๆ เหมือนพระพุทธเจ้าเมื่อท่านพูดภาษาคนก็พูดตามภาษาที่คนเขาพูดกันโดยสมมติหรือบัญญัติ แต่ว่าในพระหฤทัยของท่านนั้นหาได้มีความคิดที่ตรงตามภาษาที่พูดอยู่นั้นไม่ ในทำนองที่เราอาจจะพูดได้ว่า ปากพูดอย่าง แต่ใจนั้นเป็นอีกอย่าง คือใจพูดภาษาคนออกไปในลักษณะที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เช่นสอนให้ทำดี สอนให้มีตนเป็นที่พึ่งของตน แต่ภายในใจนั้นพระพุทธองค์ทรงทราบดีว่าตนนั้นไม่มี และความดีนั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นและเป็นทุกข์ เหมือนกับความชั่วเหมือนกัน แต่ท่านก็ต้องตรัสว่าจงทำดี และมีตนเป็นที่พึ่งของตนอยู่นั่นเอง ต่อเมื่อท่านเห็นว่าคนบางคนจะเข้าใจเรื่องไม่มีตนได้ ท่านจึงจะพูดตรัสสอนไปในทำนองที่ว่าไม่มีอะไรที่เป็นตนหรือเป็นตัวตนของตน ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่นในทำนองนั้น ดังนี้เป็นต้น ผลมันก็แตกต่างกัน คือคนยึดมั่นก็จะต้องยึดมั่นในทางดีเรื่อยไป เวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป ส่วนคนที่รู้ภาษาธรรมที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นก็สิ้นสุดความว่ายเวียนลงไปทันที ความทุกข์ก็สิ้นสุดลงไปทันที มันแตกต่างกันอย่างนี้ เราจะไปพูดในต่างประเทศแก่บุคคลที่มีแต่ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนและยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้วนั้นอย่างไรกันเล่า เราสนใจในธรรมะที่จะนำไปสอนที่เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา เช่นเรื่องอริยสัจก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี ล้วนแต่เป็นทฤษฎีเรื่องไม่มีคน หรือว่าเราจะสอนข้อปฏิบัติ เช่น อานาปานสตินี้ก็ดี มันก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อไม่มีคน ดับความรู้สึกว่าคนได้หมดอีกนั่นเอง ปัญหาคงจะมีไม่น้อยจะเป็นความยากลำบากที่จะไปพูดธรรมะแก่คนที่รู้จักแต่เรื่องคน ไม่รู้จักเรื่องของธรรมะ พูดภาษาธรรมะแล้วฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อพูดภาษาคนมันก็ไม่แสดงธรรมะได้แต่ประการใด มันขัดกันอยู่อย่างนี้ เราทำอย่างไรขอให้นึกกันเสียตั้งแต่บัดนี้ พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ภาษาธรรมให้เป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไปให้จนได้ ข้อนี้จะสำเร็จได้ด้วยการระมัดระวังสังเกตไปตั้งแต่ต้น และสังเกตจากการที่เราพูดกับคนไทยในประเทศไทยด้วยกันนี่แหละ ว่าการที่จะพูดภาษาธรรมะชั้นลึกออกไปทันทีนั้น เป็นการยาก ต้องมีการตระเตรียมเป็นเวลา เป็นปี ๆ อย่างที่ผมจะพูดเรื่องว่าง หรือเรื่องสุญญตา ก็ต้องคิด ก็คิดตกล่วงหน้าไว้แล้วว่า ที่พูดนี่สำหรับคนจะเข้าใจได้ต่อเมื่อ ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี หรือล่วงไปแล้ว แต่เผอิญว่าคนเข้าใจกันได้เร็วกว่านั้น คือมีคนหลายคนเหมือนกันที่เข้าใจได้เร็วกว่านั้น คือเร็วกว่าที่จะต้องรอถึง ๑๐ ปี และก็มีคนเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่แล้วก็ยังเป็นความจริงอยู่ในข้อที่ว่าในการพูดครั้งแรกๆนั้น ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครยอมเข้าใจ อย่างดีที่สุดก็เข้าใจเพียงลาง ๆ แล้วค่อยเข้าใจเพิ่มขึ้น ๆ ในเมื่อได้พูดในปีต่อมา และปีต่อมา และปีต่อมาอีก จึงจะมีคนเข้าใจได้ดีแต่ก็เพียงไม่กี่คน นี่แหละขอให้เข้าใจเถอะว่าในประเทศไทยแท้ ๆ ยังเป็นอย่างนี้ ในประเทศต่างประเทศนั้นจะเป็นอย่างไร
เราจะสังเกตดูกันให้ดีถึงข้อที่ว่าจะมีลู่ทาง หรือวิถีทางอันไหนอย่างไรบ้างที่จะไปเริ่มต้นพูดให้คนสนใจเรื่องที่ไม่มีตัวตนแก่บุคคลที่เขาต้องการจะมีตัวตนและมีอะไรเป็นของตน จงสังเกตดูให้ดีว่าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงแสดงเรื่องนี้แก่คนทั่วไปหรือคนธรรมดาสามัญ แต่ได้ทรงแสดงแก่ผู้ที่สนใจและศึกษามาก่อนแล้วเป็นอันมากคือพวกปัญจวัคคีย์ พวกนี้ได้เที่ยวเสาะแสวงหาธรรมมาเป็นอันมาก เรียกว่ามีการปรับปรุงล่วงหน้าเผื่อไว้แล้วบ้าง จึงสามารถจะฟังเรื่องนี้เข้าใจ ถึงแม้อย่างนั้นพระพุทธองค์ก็ยังทรงต้องใช้วิธีที่เรียกว่า ดักคอ คือการถาม ทวนถามให้เกิดความคิดขึ้นมาเองว่าถ้ามันเป็นตัวมันเป็นตนมันจะต้องเป็นอย่างไรให้ผู้ฟังคิดนึกเอาเอง เป็นการต้อนความคิดของผู้ฟังให้ไปในร่องรอยของธรรมที่พระองค์จะทรงแสดง ดังนั้น จึงมีคนเข้าใจได้เป็นชุดแรกคือพวกปัญจวัคคีย์ แต่ก็จงพิจารณาดูให้ดีจะเห็นได้ว่ามีการตระเตรียมในการแสดงเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกันเสียก่อน คือแสดงไปในทำนองที่ว่า ไม่มีตัวตน มีแต่สิ่งที่เป็นเหตุและเป็นผล และเป็นไปตามกฎแห่งเหตุผล นี้ก็เป็นเหมือนการตระเตรียมที่จะแสดงเรื่อง อนัตตลักขณสูตรอันเป็นความไม่มีตนโดยสิ้นเชิง มนุษย์สมัยนั้น ในอินเดียสมัยนั้นผิดกว่าพวกฝรั่งในสมัยนี้มาก เพราะว่าในอินเดียสมัยนั้นก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทุนกันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นแต่ละสิ่งให้เห็นความที่บังคับไม่ได้เป็นต้น ก็จะเข้าใจเรื่องความไม่มีตนได้ขึ้นมาตามลำดับ ในหมู่ชนที่ไม่มีต้นทุนเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ มาก่อน เช่นพวกฝรั่งสมัยนี้ มันก็จะมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นและผิดกัน ดังนั้น จะต้องรู้จักตะล่อมให้เข้าไปหาจุด ให้เข้าไปหาขอบเขตที่จะทำให้รู้จักความไม่มีตัวไม่มีตนได้ตามลำดับ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้อนเข้าไปหาความรู้เรื่องธรรมชาติว่าธรรมะนี้ไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติ คือตัวธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ และผลตามธรรมชาติ ดังที่กล่าวแล้ว นี้เป็นทางที่จะให้เห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตนได้ง่ายขึ้น สำหรับพวกต่างประเทศที่มีความรู้เรื่องธรรมชาติอยู่แล้วตามสมควร ถ้ายังทำอย่างนั้นก็ยังไม่ได้อีก ก็จะต้องพูดภาษาธรรมะด้วยวิธีขู่ให้กลัว โดยชี้แจงให้เห็นชัดในข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเรามีความรู้สึกว่ามีตัวตนขึ้นมาเมื่อไร ความทุกข์เป็นมีขึ้นเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปเถียงกันว่า เนื้อแท้ ตัวจริงนั้นจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน อย่าไปวินิจฉัยกันข้อนี้ ไปวินิจฉัยกันในเรื่องธรรมะชั้นสูงสุดเสียเลยทีเดียวว่า พอมีความรู้สึกว่าตัว ว่าตนขึ้นที่ไหน เมื่อไร เป็นมีความทุกข์ที่นั่นและเมื่อนั้น ดังนั้นจงหาวิธีที่จะทำ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวว่าตนขึ้นมา ก็จะเป็นการดีกว่าและเรื่องก็จะสั้นเข้า ไม่ต้องไปอธิบายเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะกันให้มากมาย ก็ยังมีหนทางที่จะทำได้อยู่ โดยพยายามที่จะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า พอมีความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาที่ไหนเป็นมีความทุกข์ที่นั่น และก็บอกวิธีที่จะให้ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตนเกิดขึ้นมาในใจ คืออย่าให้มีคนเกิดขึ้นมาในภาษาธรรม เป็นตัวกู เป็นของกู แล้วก็จะไม่มีความทุกข์เลย ดังนี้ มันเป็นการขู่อยู่ในตัวอย่างน่ากลัวที่สุดในข้อที่ว่า พอมีตัวตนขึ้นมาเท่านั้นจะมีความทุกข์หนักอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้น เมื่อใคร ๆ ก็ไม่ชอบทุกข์ก็คงอยากพยายามจะเข้าใจหรือจะกระทำตาม ยิ่งเมื่อได้ชี้ให้เห็นว่าความทุกข์อย่างนี้แหละ ทุกข์อย่างใหญ่หลวงหากแต่ว่าซ่อนเร้น ฉะนั้น จะต้องทำให้ดีด้วยความระมัดระวัง จึงจะเข้าใจเรื่องความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างใหญ่หลวงนี้ได้
เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นอุบายที่จะทำให้คนรู้ภาษาธรรมะ รู้ภาษาธรรม เข้าใจธรรมที่พูดกันด้วยภาษาธรรมได้ในเวลาอันสมควร ถ้าจะไปพูดหรือมัวพูดกันแต่เรื่องภาษาคนแล้วสอนจนตายก็ไม่ถึงตัวของพุทธศาสนาเป็นแน่นอน การที่จะไปสอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะเอาดิบเอาดีอย่างนั้นอย่างนี้นั้น สอนกันอย่างไรก็ไม่ถึงตัวพุทธศาสนาโดยแน่นอน เพราะว่ามันจะทำให้ยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ๆ จมอยู่ในกองทุกข์หรือวัฏสงสารมากขึ้น ไกลจากพระนิพพานยิ่งขึ้น จึงเรียกว่าไม่เข้ามาสู่พุทธศาสนา หรือไกลออกไปจากพระพุทธศาสนาดังนี้ เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นการชี้ให้เห็นโดยทั่ว ๆ ไปครั้งหนึ่งก่อนว่า ภาษามีอยู่สองภาษาอย่างไรแล้วจะพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะมันมีความหมายตรงกันข้ามไปเสียหมดทุกอย่างทุกทาง จะไปพูดภาษาธรรมะกับคนธรรมดาสามัญอย่างไร จะใช้ภาษาคนนั่นแหละดึงคนเข้ามาสู่ความเข้าใจในภาษาธรรมะได้อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังให้ดี จึงได้นำมาบอกกล่าวกันอีกเรื่องหนึ่งเป็นชุดรวม ๆ กันไปกับเรื่องทั้งหลายดังที่ได้เคยบอกมาแล้วว่าภาษาธรรมะกับภาษาคนนี้มันต่างกันอย่างนี้ เป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ และคอยจะประหัตประหารกันอยู่อย่างนี้ จงได้เข้าใจภาษาคนและภาษาธรรมให้ดีเถิด การเผยแผ่พุทธศาสนาในหน้าที่นักศึกษาธรรมทูตนี้คงจะเป็นไปได้ไม่เหลือวิสัย และจะได้รับความสะดวกมากกว่าที่จะไม่สนใจภาษาสองภาษานี้อย่างยิ่งทีเดียว