แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางของพระศาสนาแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษเนื่องในอภิลักษณ์ขิตสมัย ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นวันวิสาขบูชา ในวันเช่นวันนี้เป็นวันที่พุทธบริษัทพากันกระทำกิจนานาประการ แต่ทั้งหมดนั้นเพื่อเป็นเครื่องระลึกบูชาคุณในคุณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้การที่เราทั้งหลายประชุมกันที่นี่ในวันนี้ก็ด้วยความประสงค์อย่างเดียวกันคือกระทำเพื่อเป็นการบูชาแก่สมเด็จพระบรมศาสดา เนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้และนิพพาน
ข้อแรก เกี่ยวกับเวลาที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และนิพพานนั้น ขอให้เข้าใจว่าเป็นเพียงการบัญญัติ พุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทถือว่าประสูติ ตรัสรู้และนิพพานในวันเดียวกันเช่นวันนี้ คือวันเพ็ญอาสาฬะ วันเพ็ญวิสาขปุณณมี แต่พุทธบริษัทฝ่ายอื่น เช่นฝ่ายมหายานเป็นต้น ไม่ได้มีการถืออย่างนั้น แยกกันเป็นคนละวันไม่ได้ตรงกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ควรจะถือเอาเป็นแง่ที่จะตำหนิติเตียนกัน คัดค้านกันหรือเกิดความระแวงสงสัย ควรจะถือว่าเราพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทนี้ ถือว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกทั้งแก่การประสูติ ตรัสรู้และการนิพพาน เพราะว่ามีทางที่จะอธิบายเช่นนั้น กล่าวคือ เมื่อกล่าวโดยนัยยะอันลึกซึ้งคือในทางธรรมะไม่เกี่ยวกับวัตถุเนื้อหนังร่างกายแล้ว การเป็นพระพุทธเจ้าก็มีในวันนี้ การตรัสรู้นั่นแหละคือการทำให้เป็นพระพุทธเจ้า และการปรินิพพานตามความหมายที่แท้จริงก็คือการดับทุกข์สิ้นเชิง ไม่ใช่ดับสังขารร่างกาย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เวลาวันนี้วันเดียวและขณะๆเดียว ณ ที่นั่งอันเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทำการประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ประสูติก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าโดยนามธรรมหรือการเกิดโดยอริยชาติ การตรัสรู้ก็คือได้รู้แจ้งอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณในขณะนั้น การรู้แจ้งนั้นทำให้เกิดการประสูติคือการเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา การปรินิพพานคือการดับกิเลสและดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ตั้งต้นในขณะนั้น เพราะฉนั้นจึงถือว่าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานในวันเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ณ ที่นั่งเดียวกัน ก็ยังจะได้ แต่ถ้าจะถือว่าประสูติในตอนเที่ยง ตรัสรู้ในตอนรุ่งอรุณ นิพพานในตอนหัวค่ำ ตามที่มีอยู่ในพุทธประวัติ อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน ก็ยังคงเป็นวันเดียวกันอยู่นั่นเอง แต่พึงเข้าใจว่า การที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันอาสาฬ อ่า,วิสาขะปุณมีวันเดียวกันนั้น ไม่มีในพระพุทธวัจนะ ไม่มีในพระไตรปิฏก เป็นคำกล่าวในอรรถกถาและหนังสือขั้นต่อมา ฉนั้นจะเชื่อถือได้เพียงใดก็แล้วแต่บุคคล แต่เราไม่ควรจะสนใจข้อปลีกย่อยในทำนองนี้ว่าจะมีข้อเท็จจริงอย่างไร เพราะความสำเร็จประโยชน์อยู่ตรงที่ว่าเรากระทำการบูชา อุทิศแด่พระบรมศาสดาในวันไหนก็ได้ทั้งนั้น เราจะสมมุติเป็นวันไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะว่าถ้าถืออย่างจันทรคติก็เป็นกลางเดือนหก หรือวันเพ็ญวิสาขะทุกคราวไป แต่ถ้าถืออย่างสุริยคติก็กลายเป็นเลื่อนไปไม่ตรงกันแต่ละปีแต่ละปี อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉนั้นพุทธบริษัทไม่ควรจะยึดถือในเรื่องปลีกย่อยเช่นนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุ่มเถียงกันบ้าง เกิดความระแวงสงสัยในการกระทำของตัวเองบ้าง จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายให้ตั้งใจว่าเรากระทำทุกอย่างในวันนี้ นับตั้งแต่การสมาทานศีลก็ดี การให้ทานก็ดี การฟังธรรมเทศนาก็ดี การเจริญภาวนาในทางจิตใจก็ดี หรือการจะถือศีลวัตรอื่นๆกี่อย่างกี่ประการก็ดี ล้วนแต่อุทิศให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเนื่องในการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานก็แล้วกัน ขอให้มีความตั้งใจแน่วแน่ในลักษณะอย่างนี้ ก็ย่อมจะสำเร็จประโยชน์เต็มที่โดยไม่ต้องมีเอ่อ,ข้อเคลือบแคลงสงสัยแต่ประการใด ถ้าไปมัวตั้งปัญหาว่า ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ในวันนี้จริงหรือไม่ หรือว่าทำไมพวกอื่นนิกายอื่นเช่นนิกายมหายานเป็นต้น ไม่ถืออย่างนี้ หรือว่าถ้าเอาทางสุริยคติเป็นประมาณแล้วจะตรงในวันเดียวกันได้อย่างไร ถ้าเราจะถือเอากลางเดือนหกเป็นประมาณไปเสียทุกปี ดังนี้เป็นต้น
เมื่อพิจารณาเห็นว่าความสำคัญอยู่ตรงที่การประพฤติด้วยกาย วาจา ใจ เป็นการเสียสละ เป็นการอดกลั้นอดทน ทำตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแหละเป็นเครื่องบูชาที่แท้จริง แล้วอุทิศแก่พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องบูชาคุณ ที่เรียกตามภาษาวัดนี้ว่า ตามภาษาของคนยากจน คือไม่มีอะไรนอกไปจากความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ใช้เป็นเครื่องบูชาคุณ เพราะไม่มีวัตถุสิ่งของอะไรที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาคุณตามประสาคนจน แต่บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติแทน ไม่ต้องซื้อหามาเป็นเงินเป็นทอง แต่ในที่สุดเรื่องกลับตรงกันข้ามในข้อที่ว่า การบูชาด้วยการปฏิบัตินั้นเป็นการบูชาสูงสุดยิ่งกว่าการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของเป็นเงินเป็นทอง ฉนั้นจึงเป็นอันว่าเราไม่มีปัญหาในข้อนี้อีกต่อไป ที่ว่าจะทำการบูชาอย่างไรจึงจะเป็นการบูชาสูงสุดต่อพระพุทธเจ้า ขอให้ทุกคนมีความตั้งอกตั้งใจ เสียสละ อดกลั้น อดทน ดังที่กล่าวแล้ว เช่นว่าวันนี้จะนึกถึงพระพุทธเจ้าสักร้อยครั้งพันครั้งก็ยิ่งเป็นการดี เป็นเหมือนกับการย้อมจิตย้อมใจให้ปลูกฝังและศรัทธาลงไปในพระพุทธเจ้า จะขอตักเตือนท่านทั้งหลายทุกคนต่อไปด้วยว่า สิ่งที่เรียกว่าพิธี พิธีนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่บุคคลไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า พิธี ก็เลยทำให้พิธีเสียไปหมด เช่นพิธีทางวิสาขะบูชาอย่างนี้ก็เพื่อต้องถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่บุคคลไม่ได้ทำให้เป็นพิธี ทำเตลิดเปิดเปิงไปเป็นรีตอง เป็นพิธีรีตอง ไม่มีความหมาย เหมือนกับคนละเมอ อย่างนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร คำว่า พิธี นี้ก็คือคำว่า วิธี ต้องทำให้ถูกวิธีให้เป็นจริงเป็นจัง ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของวิธีกระทำนั้นๆ ฉนั้นจะทำพิธีนั้น โดยส่วนใหญ่มุ่งหมายให้เป็นการย้ำแล้วย้ำเล่าย้ำแล้วย้ำอีก ซึ่งอุดมคติหรือความรู้สึกคิดนึก หรืออะไรก็ตามที่เป็นกุศลให้ฝังแน่นลงไปในจิตใจ ยกตัวอย่างเช่นว่า เรามี (นาทีที่ 11.33) พิธี.........บูชาพระพุทธเจ้าและ........เมื่อตะกี้นี้ อันนี้ก็ต้องเรียกว่า พิธี ถ้าทำถูกก็มีประโยชน์มาก อธิบายว่าเรื่องทางจิตใจนั้น มันยากที่จะแน่นแฟ้นลงไปได้โดยง่าย ฉนั้นจึงต้องย้ำอยู่เสมอ ทุกวันทุกสัปดาห์ทุกเดือนทุกปี เรามีการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ ทุกคราวที่ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เป็นต้น ย้ำแล้วย้ำอีกอยู่อย่างนี้ และต้องทำด้วยความรู้สึก ด้วยจิตที่มีความรู้สึกในพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น อย่างแท้จริง กระทำให้ซึมซาบ ให้ฝังลงรากลึกลงไปทุกคราวที่ทำพิธี อย่างนี้พิธีก็มีประโยชน์ แต่คนโดยมากรับสมาคมว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ เป็นต้น ก็ว่าอย่างนกแก้ว นกขุนทอง จิตใจเลื่อนลอยไปทางไหนก็ไม่รู้ ฉนั้นการทำนั้นไม่เป็นพิธีแต่เป็นรีตอง หรือเรียกว่าพิธีรีตอง ไม่สำเร็จประโยชน์ตามความหมายของพิธีเลย คนบางคนเข้าใจว่า ทำไมจะต้องรับสมาคมแล้วรับสมาคมอีก รับศีลแล้วรับศีลเล่า นี้ก็เพราะเขาไม่ทราบว่า จิตใจเป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝังจะต้องย้ำจะต้องกระทำให้มากกระทำให้เคยชินอย่างนี้อยู่เสมอไป ไม่สำเร็จได้ด้วยเพียงการคิดเพียงครั้งเดียว หรือการเข้าใจเพียงครั้งเดียว เช่นอย่างพระคุณของพระพุทธเจ้า เราจะคิดให้เข้าใจเพียงครั้งเดียวเท่านี้ไม่พอ เราจะต้องเอามานึกถึงให้เกิดความรู้สึกซึมซาบปิติปราโมทย์ในพระคุณนั้น วันแล้ววันเล่าๆๆอยู่เรื่อยไป จึงจะสำเร็จประโยชน์แล้วก็เลิกกันคราวเดียวก็หายไป ในการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้านั้น เพียงแต่คิดเอาว่าพระพุทธเจ้ามีคุณอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็เลิกกัน คราวเดียวก็หายไปมีแต่ความเข้าใจ อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ผิวเผิน พุทธบริษัทจึงจัดตั้งพิธีต่างๆขึ้นเท่าที่เห็นว่าจำเป็น ทีนี้ก็มาถึงพิธี เช่นพิธีวิสาขะบูชานี้ยิ่งเป็นพิเศษและเฉพาะเจาะจง กิจการเหตุการณ์ในพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น กำหนดไว้ให้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ถึงปีก็ระลึกเป็นพิเศษยิ่งกว่าการระลึกอย่างอื่นๆ แต่คนโดยมากไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะมาระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษในวันเช่นวันนี้ จึงไม่ค่อยสนใจกันเป็นส่วนมาก หวังว่าจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องกันเสียใหม่ กระทำพิธีนี้ให้เป็นพิธีจริงๆ อย่าให้ย่อหย่อนเป็นรีตอง คือทำอย่างละเมอๆ จะทำวิสาขะบูชาให้ถูกต้องตามวิธีหรือพิธีนั้น ก็คือ การระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกนึกถึงคุณของพระองค์และเนื่องตลอดไปถึงพระธรรมและพระสงฆ์ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เนื่องกัน เพราะว่าการประสูติ หรือการตรัสรู้หรือการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นเนื่องไปถึงพระธรรมเนื่องไปถึงพระสงฆ์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้ก็จะไม่มีพระธรรมและพระสงฆ์เกิดขึ้น ถ้าเรามีความเข้าใจดี พอพูดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็จะเห็นได้ทันทีว่า เนื่องจากการตรัสรู้ การประสูติแม้จะเป็นการประสูติทางร่างกายคือคลอดจากพระครรภ์มารดา ก็เนื่องกันกับการตรัสรู้ เพราะว่าประสูติออกมานั้นก็เพื่อการตรัสรู้แต่อย่างเดียวไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ส่วนการปรินิพพานโดยร่างกายแตกกายทำลายขันธ์ตามธรรมชาตินั้น ถ้าจะว่าไปก็เป็นของที่เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่ถ้าพิจารณาดูทีว่าการแตกกายทำลายขันธ์ในลักษณะที่เป็นการนิพพานหรือปรินิพพานนั้น เป็นการไม่เกิดอีก ดังนั้นจึงแตกต่างจากการตายของคนธรรมดา การตายอย่างไม่ต้องเกิดอีกคือการดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากการตรัสรู้ ดังนั้นจะต้องถือว่าการตรัสรู้เป็นจุดสำคัญ เป็นแกนกลาง จะเรียกการตรัสรู้ว่าการประสูติก็ได้ จะเรียกการตรัสรู้ว่าการปรินิพพานก็ได้ เราเลยระลึกนึกถึงการตรัสรู้นี้เป็นส่วนใหญ่ว่ารู้อะไรเพื่อประโยชน์อะไร และเราจะเอาอย่างหรือทำตามได้โดยวิธีใดเป็นต้น ให้มองเห็นคุณค่าอันประเสริฐของการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา การที่มองเห็นความประเสริฐของการตรัสรู้นี้ เราต้องฉลาดนึกไปถึงข้อที่ว่าเป็นประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไร หรือว่ามนุษย์ต้องการอะไร มนุษย์ต้องการการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ในลักษณะเช่นไร ความเป็นไปตามธรรมชาติของคนเรานั้นต้องอาศัยหรือต้องการหรือต้องพึ่งพาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพียงไร คนที่มีปัญญาย่อมเห็นได้โดยประจักษ์ว่า ต้องการอย่างเต็มที่ ต้องการอย่างยิ่ง เพราะว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นทำให้ชีวิตไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ถ้าปราศจากธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์ เพราะความโง่ของบุคคลนั้นเอง ถ้าเขามีสติปัญญาของพระพุทธเจ้ามาป็นหลักประจำใจแล้ว การมีชีวิตอยู่นี้จักไม่เป็นทุกข์ ทั้งนี้เพราะเหตุอย่างเดียว เพราะเหตุที่ว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ได้มีไว้เพื่ออะไรอื่น นอกจาก เอ่อ,นอกไปจากจะมีไว้เพื่อทำคนไม่ให้เป็นทุกข์ในการที่จะอยู่ในโลกนี้ แต่คนโง่ๆเป็นอันมากก็พากันแยกธรรมะออกไปเสียจากคน เอาคนไปเสียทางหนึ่งเอาธรรมะไปเสียทางหนึ่งเอาโลกไปไว้เสียทางหนึ่ง จนกลายเป็นเกิดความคิดว่า ถ้าจะถึงธรรมะแล้วต้องทิ้งโลกไป ต้องสละโลกไปแล้วจึงจะไปหาธรรมะได้ การเข้าใจอย่างนี้มันเป็นความโง่ของคนนั่นเอง ธรรมะนั้นมีไว้เพื่อให้คนอยู่ในโลกด้วยชัยชนะโลกด้วยประการทั้งปวงและตลอดเวลาต่างหาก ไม่ได้ต้องการจะแยกธรรมะไว้ส่วนหนึ่ง แยกโลกไว้ส่วนหนึ่ง แยกคนไว้ส่วนหนึ่ง เหมือนที่เข้าใจกันโดยมากเลย คนบางคนโง่มากถึงขนาดที่เอาธรรมะไว้ที่วัดเอาตัวเองไว้ที่บ้าน นานๆไปพบกันสักครั้งหนึ่ง อย่างนี้ก็มี เช่น เจ็ดวันก็มาที่วัดครั้งหนึ่ง จึงจะมีธรรมะจึงจะพบธรรมะ คนที่เข้าใจอย่างนี้ก็ยังมีอยู่มาก นี้จะโทษพระธรรมก็ไม่ได้ จะโทษพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ ต้องโทษความโง่ของบุคคลนั้นเอง จึงหวังว่าต่อไปจะมีความเข้าใจกันเสียตามที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เราเข้าใจ ว่าธรรมะนั้นมีไว้เพื่อดับทุกข์ของคนทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ หรือเพื่อช่วยให้คนอยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะ ถ้าปราศจากธรรมะแล้ว คนที่อยู่ในโลกนี้ด้วยความพ่ายแพ้ จะมีผลเป็นความทุกข์ระส่ำระสาย จะเดือดร้อนในทางจิตทางใจหาความสุขไม่ได้ กระทั่งเป็นบ้าก็มีฆ่าตัวตายก็มี เพราะไม่สามารถจะเอาชนะโลกหรือปัญหาต่างๆที่เกิดอยู่ในโลกนี้ได้ แต่ถ้ามีธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วก็สามารถเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ จึงเป็นอยู่โดยสุขสบาย คนเป็นห่วงแต่เรื่องกิน เรื่องได้ เรื่องวัตถุสิ่งของมากเกินไป จึงได้เข้าใจผิดว่าธรรมะกับคนนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้หรือธรรมะอยู่กับโลกไม่ได้ แยกธรรมะออกจากโลกเป็นของตรงกันข้าม เป็นคู่ปรับอย่างตรงกันข้าม อยู่ด้วยกันไม่ได้ อย่างนี้ก็มี เมื่อชักชวนว่าให้ประพฤติธรรมะก็บอกว่ายังไม่ได้เพราะยังมีเรื่องทางโลกที่จะต้องทำ จะต้องทำมาหากิน นี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดต่อธรรมะ เพราะว่าธรรมะนั้นมีไว้สำหรับให้คนทำมาหากินโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว ประกอบกิจการงานอันใดก็จะเกิดความวิตกกังวล ห่วงใย ร้อนใจ หรือเกิดความเข้าใจผิดในบางครั้งบางคราว เกิดความโลภความโกรธความหลงที่มากเกินไป ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะการประกอบการงานนั้น แต่ถ้าเป็นผู้มีธรรมะแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องเป็นเช่นนั้น หรือว่าจะพูดให้แคบเข้ามาว่าเมื่อบางเวลาชวนให้ศึกษาเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นหัวใจของธรรมะ ก็บอกว่าทำไม่ได้ เพราะได้ลงทุนทำมาค้าขายเป็นต้น ไว้ตั้งหลายหมื่นหลายแสน จะมาคิดเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ไม่ได้ นี้ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องธรรมะอีกนั่นเอง หลักธรรมะนั้นถือว่าการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็เป็นความทุกข์เพราะสิ่งนั้น นั้นจึงมีวิธีหรือมีอุบายที่จะไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในทุกๆสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน การที่ตนจะมีเงินหรือมีการงานหรือมีอะไรก็ตามอยู่มากมายนั้น ให้รู้จักกระทำไป รักษาไป ใช้สอยไปอะไรไปได้ตามที่ควรจะทำ แต่โดยไม่ต้องมีความรู้สึกที่จะยึดมั่นถือมั่น คือไม่ต้องมีความวิตกกังวลชนิดที่ทำให้เป็นทุกข์ทรมานใจนั่นเอง คนเป็นอันมากเกิดโรคภัยไข้เจ็บในทางจิตใจเพราะละความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ฉนั้นยิ่งมีเงินมากยิ่งมีงานมากก็ยิ่งเป็นบ้าเร็วยิ่งเป็นโรคประสาทมาก แต่ถ้ามีธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาช่วยแล้ว จะตรงกันข้ามคือจะไม่มีอาการที่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่มีเงินมาก มีงานมาก มีเรื่องมาก นี้จึงเห็นได้ว่าเรื่องธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือเป็นเรื่องที่มีไว้สำหรับคนที่จะอยู่ในโลกทุกๆคน ถ้าไม่อยู่ในโลกอยู่เหนือโลกเสียแล้วก็แล้วไป แต่ถ้าอยู่ในโลกแล้วยังต้องการธรรมะที่จะเป็นเครื่องช่วยประคับประคองไม่ให้จิตใจตกอยู่ภายใต้อำนาจของความทุกข์ และก็ประกอบการงานต่างๆไปได้ด้วยความสนุก เพราะมีความรู้สึกหรือมีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตและการงาน ผู้ที่มีความเข้าใจธรรมะจริงแล้วการงานจะเป็นความสนุก เพราะว่าการงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมะและไม่มีการแยกกันออกเป็น ๒ อย่าง ขอทบทวนให้ฟังใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าการทำการงานที่เป็นหน้าที่ของตนนั่นแหล่ะคือการปฏิบัติธรรมะ ไม่ต้องแยกออกเป็นว่าเราประกอบการงานที่บ้านมาประพฤติธรรมะที่วัด อย่างนี้เป็นต้น จะต้องศึกษาให้เข้าใจในคำว่าหน้าที่การงาน มนุษย์ทุกคนเกิดมาในโลกนี้จะต้องมีหน้าที่การงานรออยู่เป็นระดับๆๆ ตั้งแต่ต่ำที่สุดขึ้นไปถึงสูงที่สุด เรียกว่าเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำนับตั้งแต่จะต้องทำมาหากิน นับตั้งแต่จะต้องรักษาสุขภาพอนามัย จนกระทั่งจะต้องเลี้ยงดูผู้อื่นที่จะต้องเลี้ยงดู และมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องควบคุมบังคับกิเลสของตนอย่าให้อาละวาดขึ้นมาได้ และมีหน้าที่ที่จะทำให้กิเลสนั้นเหือดแห้งสูญหายไปในที่สุดเป็นระดับสุดท้าย เป็นอันดับสุดท้ายของคนคนหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นการงานทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ หรือแม้แต่สุดแต่ว่าจะต้องศึกษาเล่าเรียนก็ต้องเป็นหน้าที่ของเด็กๆ จะประกอบการงานในหน้าที่พ่อบ้านแม่เรือนก็เป็นหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือน ทุกอย่างจะต้องกระทำให้ถูกต้องให้ผ่านไปเหมือนกับการสอบไล่ได้ทุกขั้นทุกตอน จึงจะมีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องในเรื่องของธรรมะที่แท้จริง ถ้าปราศจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว คนนั้นไม่สามารถจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมะที่แท้จริงไปได้เลย เพราะเหตุฉนั้นแหละหน้าที่การงานทุกชนิดก็กลายเป็นธรรมะไปหมด แม้ที่สุดแต่ว่าเราจะต้องกินอาหารเราจะต้องอาบน้ำจะต้องบริหารร่างกาย เหล่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างหนึ่งๆหรือส่วนหนึ่งๆ เพราะทำให้รู้จักชีวิตนี้ว่าเป็นอย่างไร รู้จักความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาว่าเป็นอย่างไร ไปได้เหมือนกัน ครั้นมาถึงเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มีภาระหนักในการเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็เป็นบทเรียนที่สูงขึ้นมาเพราะว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะต้องสอบไล่ให้ได้คือผ่านไปให้ได้ จึงจะเป็นคนที่มีสมรรถภาพเป็นคนที่มีธรรมะเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจสูงยิ่งขึ้นไปอีกว่าธรรมะหรือชีวิตนั้นคืออะไรเป็นอันเดียวกันอย่างไร พูดสั้นๆก็คือว่า รู้จักตัวเองหรือรู้จักจิตใจของตัวเองมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการประกอบการงานมากๆจึงเป็นการปฏิบัติธรรมะมากๆ แล้วยิ่งกลายเป็นความสนุกสนานเพราะว่าทำให้รู้อะไรได้มากๆ ไม่มีความวิตกกังวลอย่างใดหมด แต่มีสติปัญญามีจิตใจที่เข้มแข็งสดชื่นในการประกอบการงาน การงานนั้นจึงไม่ผิดพลาดจึงดำเนินไปด้วยดี ผลทางการงานคือเป็นการได้เงินได้ทองก็ไม่เสียหลาย การจะได้ความรู้ในทางจิตทางใจก็ไม่เสียหลาย ดังนั้นจึงเป็นการสนุก นี้เรียกว่าธรรมะทำให้การงานเป็นของสนุกไปได้ คนนั้นก็ไม่เป็นโรคเส้นประสาทหรือไม่เป็นโรคทางจิตทางใจอย่างใดหมด มีร่างกายสบายด้วย มีความก้าวหน้าในทางธรรมะด้วย แม้ที่สุดแต่การที่จะมีครอบครัวในการต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ก็ล้วนแต่เป็นบทเรียนอันหนึ่งอันหนึ่ง ถ้าทำให้ดีผ่านไปได้ดีก็เหมือนกับการสอบไล่ที่สูงขึ้นไป ทำให้รู้จักของจริงว่าชีวิตนี้เป็นอย่างไรโลกนี้เป็นอย่างไรและคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายได้ พิจารณาดูก็จะยิ่งเห็นว่าเป็นการเลื่อนชั้นที่สูงขึ้นไปอีก ครั้นไปถึงขั้นที่กลายเป็นคนเฒ่าคนแก่ ก็ได้รับบทเรียนอย่างใหม่อันใหม่ขึ้นมาที่จะต้องต่อสู้กับความเจ็บไข้ความชรา จะต้องหัวเราะเข้าใส่ความเจ็บไข้หรือความแก่ชรานั้นนั้นให้ได้ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีการสอบไล่ได้ หรือมีชัยชนะในหน้าที่ในขั้นนี้ ท้ายที่สุดก็เป็นผู้ที่หัวเราะดับจิตไป ไม่มีความทุกข์เลยแม้แต่ขณะเดียว นี่เราก็จะเห็นได้ว่าจะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นโดยตลอด แต่ธรรมะนั้นก็คือหน้าที่นั่นเอง นับตั้งแต่ว่าพอคลอดออกมาจากพ่อแม่ก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูดนมจะต้องกินอาหาร ถ้าทำหน้าที่ต่างๆได้เรียบร้อยก็มีความเจริญวัฒนามาตามลำดับ จนกระทั่งถึงหน้าที่สูงสุดคือหัวเราะเยาะความตายและดับสนิทไปเหมือนกับตะเกียงหมดน้ำมัน ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนแต่ประการใดดังนี้
นี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้และทรงแจกประทานแก่สัตว์ทั้งหลายให้รู้ตามด้วย ถ้าจะเรียกชื่อโดยภาษาบาลีก็มีมากมายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก จึงได้กล่าวโดยภาษาไทยว่าธรรมะนี้คือหน้าที่ หน้าที่ก็คือการปฏิบัติ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ฉนั้นสิ่งใดเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติก็เป็นธรรมะหมด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำอย่างไหน และหน้าที่สูงสุดก็คือเอาชนะกิเลสให้ได้ เรามีหน้าที่ครบทุกอย่าง จะต้องทำให้ถูกต้องตามกาลตามเวลาเป็นลำดับๆไป อยากจะกล่าวทบทวนถึงหลักเกณฑ์ที่เขาได้วางกันไว้มาแต่โบราณที่น่าสนใจ คือเรื่องภูมิทั้ง ๔ กามาวจรภูมิ มีจิตท่องเที่ยวไปในกาม รูปาวจรภูมิ มีจิตท่องเที่ยวไปในรูปบริสุทธิ์ อรูปาวจรภูมิ มีจิตท่องเที่ยวไปในอรูปบริสุทธิ์ โลกุตตรภูมิ ภูมิที่มีจิตอยู่เหนือโลก เป็น ๔ ภูมิด้วยกัน เกิดมาเป็นหนุ่มเป็นสาว ระยะนี้ก็เป็น กามาวจรภูมิ มีจิตท่องเที่ยวไปในกาม ครั้นล่วงกาลผ่านวัยไป ความรู้สึกที่เป็นไปในทางกามก็ระงับไป ไปพอใจในสิ่งที่เป็นเพียงรูปบริสุทธิ์ รู้สึกดูแล เล่นหรือพอใจได้ในสิ่งที่เป็นเพียงรูปบริสุทธิ์ เช่น เล่นของเล่นที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งกว่าที่จะหันไปสนใจในเรื่องทางเพศตรงข้าม ครั้นต่อไปอาการอย่างนั้นก็เป็นของจืดชืดน่าเบื่อหน่าย จึงเลื่อนขึ้นไปในทางจิตทางใจ เช่นไปยินดีในบุญในกุศลหรือแม้ที่สุดอย่างต่ำแต่เพียงเกียรติยศชื่อเสียงซึ่งไม่มีตัวมีตน เป็นอรูป ก็พอใจหลงใหลอยู่ได้ จนในที่สุดถึงขั้นที่ ๔ ก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่จีรังมีเหตุปัจจัยไม่เที่ยงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จิตจึงเลื่อนขึ้นไปสู่โลกุตรภูมิ คืออยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คือเหนือสิ่งที่เรียกว่ากาม เหนือสิ่งที่เรียกว่ารูปบริสุทธิ์ เหนือสิ่งที่เรียกว่าอรูปบริสุทธิ์ ก็เป็นโลกุตรภูมิขึ้นมา นี่คือคนแก่ๆในวาระสุดท้าย มองเห็นสิ่งทั้งหลายไม่น่าเสน่หาไม่น่ายึดมั่นถือมั่นแต่ประการใด ต้องการจะมีจิตใจเป็นอิสระและดับสนิท ไม่มีส่วนเหลือไม่เกี่ยวข้องกับอะไร อย่างนี้ก็ยังเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้อย่างนี้เรียกว่าไม่เสียที่ที่มนุษย์คนนั้นได้เกิดมา คือได้เลื่อนชั้นตัวเองได้ครบทั้งสี่ภูมิและถึงภูมิสุดท้ายได้ในชีวิตนี้ทันตาเห็น ข้อนี้ทำให้เราเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้ย้ำอยู่ที่เดียว ไม่ได้ซ้ำรอยอยู่ที่เดียว มีแต่การเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไป เช่นเป็นเด็กให้เป็นเด็กอยู่เรื่อยไปก็เป็นไม่ได้ เป็นหนุ่มสาวจะเป็นหนุ่มสาวอยู่เรื่อยไปก็เป็นไม่ได้ มีแต่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและทางใจ ดังนั้นหน้าที่จึงเกิดขึ้นต่างๆกัน คือธรรมะสำหรับจะประพฤติปฏิบัตินั้นได้เกิดขึ้นต่างๆกัน เราจะต้องทำให้ถูกให้ตรงให้เหมาะให้สมตามชั้นหรือตามระดับนั้นๆและจะต้องสอบไล่เลื่อนชั้นขึ้นไปได้ทุกๆชั้นทีเดียว จึงจะเรียกว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา คือเป็นผู้ที่เลื่อนชั้นได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดทั้งสิ้นที่ได้ตรัสรู้และทรงสอนแก่สัตว์นั้นมีลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น คือรวมๆความแล้วก็มีคุณสมบัติให้มนุษย์ใช้ สำหรับมีชัยชนะในทุกขั้นทุกตอนแห่งชีวิตของเขา ไม่ว่ามีวิวัฒนาการไปถึงระดับไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆกันแต่ละท่านแต่ละวัยนั้น สามารถจะชำระสะสางให้สิ้นไปได้ด้วยความสมบูรณ์ของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ ฉนั้นการที่วันนี้เราจะมาคิดกันถึงพระคุณของพระองค์ในข้อนี้ให้เต็มที่กันสักวันหนึ่งนั้นนับว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นการกระทำของคนที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นข้อแรก เป็นการกระทำของคนที่มีสติปัญญาสามารถจะรับเอาสิ่งที่ประเสริฐสุดสำหรับมนุษย์ได้จากพระพุทธองค์ ไม่เป็นเหมือนกับฝ่ายที่ได้เพชรได้พลอยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ซึ่งมีอยู่โดยมาก และบางคนก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรด้วยซ้ำไป ตัวเองเป็นอะไรก็ไม่รู้ ธรรมะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ความทุกข์เป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ประพฤติกระทำไปอย่างที่เรียกว่าพิธีรีตอง แม้แต่เนื่องด้วยศาสนาก็ยังเป็นเรื่องงมงายอยู่นั้นเอง
ทีนี้มาระลึกนึกถึงข้อที่พระพุทธเจ้านั้นท่านตรัสรู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่มีอาการงมงายแทรกเข้าไปได้แม้แต่ประการใด แล้วผู้ที่เป็นสาวกของพระองค์ก็ไม่มีทางที่จะงมงายเช่นนั้นได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่มีความงมงายแม้แต่ประการใดประการหนึ่งนั้น หาใช่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ มีคำกล่าวที่รับรองต้องกันทั่วไปหมดว่า (นาทีที่ 36.58)..(บาลี)...สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ท่านทั้งหลายลองคิดนึกดูให้ดีว่า อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องรุ่งเรืองเพราะว่าปัญญานี้อย่างน้อยที่สุดก็เป็น ก็หมายถึงปัญญาที่สามารถจะดับทุกข์ได้ เราไม่ต้องเอาปัญญารุ่งเรืองถึงขนาดไหนให้มากมายไป เอาแต่เพียงว่าให้มันดับทุกข์ได้ ให้เป็นอยู่โดย สะอาด สว่าง สงบ โดยสมควรแก่อัตภาพก็พอแล้ว ไม่ต้องมีปัญญาขนาดพระพุทธเจ้าหรือไม่ต้องมีปัญญากว้างขวางเกินความจำเป็น เอาแต่เพียงให้มีภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ที่เนื้อที่ตัวได้ก็เรียกว่าความรุ่งเรืองแล้ว เรียกว่าความรุ่งเรืองในที่นี้แล้ว สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคนรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา มีความหมายอย่างนี้ ถ้าว่ามีกิเลสหรือความทุกข์ลูบคลำสกปรกมอมแมมไปแล้วย่อมไม่ชื่อว่าเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ดังนั้นในวันเช่นวันนี้ที่เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนานี้ เราควรจะทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ต้องมีความงมงาย คือมองเห็นชัดอยู่ว่ามันศักดิ์สิทธิ์อย่างไร มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในข้อที่ว่าในวันเช่นวันนี้นั้นเป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ถ้าจะกล่าวกันเป็นส่วนรวมก็กล่าวได้ว่าวันนี้ที่เป็นวันวิสาขะบูชาปุณมีนี่แหละเป็นวันที่มนุษย์สามารถมีชัยชนะเหนือกิเลสของโลก คือเหนือพญามารอันร้ายกาจในโลก คือพระพุทธเจ้านั่นเองเป็นผู้ชนะกิเลสหรือพญามารในนามของมนุษย์ทั้งหลายเป็นคนแรกแล้วก็สอนวิธีชนะนั้นให้รู้กันทั่วๆไป ลองคิดดูเถิดว่าจะเป็นวันสำคัญมากหรือสำคัญน้อยอย่างไร ก่อนหน้านี้มีแต่ความมืดมิดมีแต่ความพ่ายแพ้แก่มนุษย์ทุกคนในโลก เดี๋ยวนี้มีมนุษย์ที่จุดตะเกียง จุดแสงสว่าง สร้างชัยชนะขึ้นมาได้เพื่อมนุษย์ ให้เป็นวันที่มนุษย์มีชัยชนะได้อย่างนี้ เราจะไม่นึกขอบพระคุณของพระองค์หรืออย่างไรกัน ถ้าจะดูต่อไปก็คือว่ามนุษย์รู้จักความเป็นมนุษย์หรือว่ารู้จักใช้ความเป็นมนุษย์ของตนให้มีค่าเต็มที่ คือได้ทำสิ่งที่เหมาะสมกับมนุษย์นั่นเอง ข้อนี้หมายความว่าจะเป็นอย่างไรก็สุดแท้ ขอแต่อย่ามีความทุกข์อย่าโง่เง่าก็แล้วกัน เรื่องที่จะมีเงินหรือไม่มีเงินมีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียงนั้นไม่สำคัญ ขอแต่อย่าให้ต้องให้มีความทุกข์หรือมีความเศร้าหมอง เอ่อ,วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เป็นวันแรกของมนุษย์เราที่จะพ้นจากความเศร้าหมองหรือพ้นได้โดยแน่นอน นี้เมื่อกล่าวเป็นส่วนรวมในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นมนุษย์ คนทั้งหลายก็เป็นมนุษย์ ฉนั้นจึงเรียกว่าเป็นเรื่องของมนุษย์ การตรัสรู้นี้เป็นเรื่องชัยชนะของมนุษย์โดยส่วนรวมที่ได้มีแล้วต่อกิเลสหรือพญามารเป็นต้น ฉนั้นเราควรฉลองชัยชนะอันนี้ให้เป็นพิเศษด้วยการทำพิธีวิสาขะบูชาเป็นต้น จึงไม่เป็นวัน เอ่อไม่ใช่เป็นวันที่เล็กน้อยไม่ใช่เป็นวันที่ไม่มีความหมาย แต่เป็นวันที่มีความหมายยิ่งสำหรับพุทธบริษัทเรา ควรจะเสียสละเรื่องอื่นๆได้เพื่อมาทำวิสาขะบูชาให้เป็นจริงเป็นจังตามความหมายดังที่กล่าวมานี้ นี้เรียกได้ว่าเรายิ่งพิจารณาดูเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับมนุษย์เองนี่แหละให้มากๆจนเห็นว่ามันเป็นอย่างไรแล้ว เราก็จะยิ่งรู้คุณค่าของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะฉนั้นในวันนี้นอกจากจะต้องระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องระลึกนึกถึงฝ่ายชีวิตที่เป็นทุกข์หรือฝ่ายมนุษย์ที่เป็นทุกข์นั่นด้วย จึงจะรู้จักคุณของพระพุทธเจ้าได้และรู้ยิ่งๆขึ้นไป เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไร เช่นว่าเป็นทุกข์อยู่ในลักษณะอย่างไร มืดบอดอยู่ในลักษณะอย่างไร เร่าร้อนอยู่ในลักษณะอย่างไร สกปรกมอมแมมอยู่ในลักษณะอย่างไรเป็นต้นดังนี้แล้ว ก็ไม่มีทางจะรู้จักคุณของพระธรรม เมื่อเรารู้จักโรคภัยไข้เจ็บเราก็รู้จักค่าของหยูกยาเป็นต้น เดี๋ยวนี้เรารู้จักความทุกข์ที่แท้จริงที่เป็นอยู่กับมนุษย์ แล้วก็รู้คุณค่าของพระธรรมที่เป็นเหมือนหยูกยาก็เลยมีศรัทธาเพิ่มขึ้นในพระพุทธเจ้า และเราก็นึกซ้ำๆกันตลอดทุกชั่วโมง ตลอดวันตลอดคืน ก็เป็นการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้านั้นอย่างแน่นแฟ้นขึ้นไปทุกคราวที่ทำพิธีวิสาขบูชา ดังนั้นจึงกล่าวว่าการทำพิธีนี้เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นสิ่งที่มีเหตุผล นำมาซึ่งประโยชน์โดยแท้จริง แต่ถ้าทำด้วยความโง่เขลางมงายแล้วก็กลายเป็นพิธีรีตอง เป็นอะไรต่างๆที่หาสาระอันใดไม่ได้ อย่าเอาคำว่าพิธีไปปนกับคำว่ารีตองหรือพิธีรีตองเป็นต้นมันคนละเรื่องกัน ถ้าเรียกว่าพิธีอย่างบริสุทธิ์อย่างถูกต้องแล้วย่อมนำมาซึ่งผลอย่างยิ่ง คือเป็นการย้ำสิ่งที่ถูกที่ดีที่ควรที่เป็นประโยชน์นั้นให้อยู่กับเนื้อกับตัวของตนเองยิ่งๆขึ้นไปนั่นเอง เราจึงควรสนใจที่จะทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา หรือพิธีการอย่างอื่นซึ่งมีประโยชน์แก่จิตใจให้มากยิ่งๆขึ้นไปทุกคราว และการที่ท่านทั้งหลายได้มานั่งกระทำอยู่ในสถานที่อันสงบสงัดเช่นนี้ ถ้ารู้จักถือเอาประโยชน์ก็ย่อมจะได้มากกว่าในที่ที่อัดแอจอแจ เพราะว่าความสงบนั้นมันจะช่วยได้มากไม่น้อยเลยที่จะทำให้ใจคอปกติระลึกนึกคิดสิ่งต่างๆได้ลึกซึ้ง และยังจะทำให้เราระลึกนึกถึงความจริงต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้านั้น เมื่อประสูติก็ประสูติกลางพื้นดินใต้ต้นไม้ เมื่อนิพพานก็นิพพานกลางพื้นดินใต้ต้นไม้ และชีวิตส่วนใหญ่ของพระองค์ก็อยู่ตามโคนต้นไม้ และแม้การตรัสรู้ก็ตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ ถ้าอย่างไรเราลอง (นาที่ที่ 44.43) พบกับต้นไม้หรือโคนต้นไม้ให้มากยิ่งขึ้นเหมือนกับชีวิตการเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้ากันบ้างก็จะเป็นการดี นี้พอจะเข้ามาในป่าสักหน่อยก็ขลาดก็กลัวก็เกลียด จะต้องนั่งที่พื้นดินสักหน่อยก็ขยะแขยงกลัวจะเปื้อนกลัวจะไม่สวยกลัวจะไม่งามเหล่านี้เป็นต้น นี้เรียกว่าไปรู้จักอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าที่จะรู้จักเรื่องที่สำคัญที่แท้จริงที่ใหญ่หลวงเสียแล้ว ควรจะลองนั่งลองนอนอยู่กับพื้นดินเหมือนกับพระพุทธเจ้าบ้างก็จะเข้าใจพระพุทธเจ้าได้ดียิ่งขึ้น ควรจะถือไว้เป็นหลักสักอย่างหนึ่งว่าการที่เราจะรู้เข้าไปถึงจิตถึงใจของบุคคลใดนั้นเราต้องพยายามเป็นอยู่ให้คล้ายกับการเป็นอยู่ของบุคคลนั้นให้มากที่สุดที่จะมากได้ เราก็จะมีความรู้สึกอย่างเดียวกับบุคคลนั้น อาจจะเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกับบุคคลนั้นโดยไม่ต้องพร่ำสอนกันเลยก็ได้ การเป็นอยู่ให้เหมือนกันก็เป็นที่ระลึกแก่กันอย่างยิ่ง ฉนั้นวันนี้มานั่งตามพื้นดินโคนต้นไม้กันเสียบ้างก็คงจะระลึกนึกได้ถึงข้อดีของพระพุทธเจ้า ท่านเคยนั่งนอนอย่างไร ตามพื้นดินตามโคนต้นไม้ตลอดเวลาในชีวิตของท่านนั้นเหมือนกัน นี้ก็เป็นการง่ายที่จะกระทำพิธีวิสาขบูชาให้ลึกซึ้งถึงจิตใจของพระพุทธเจ้าได้ด้วย หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้พินิจพิจารณาดูให้ดีเป็นพิเศษเพื่อมีจิตใจในขั้นต้น เหมาะสมที่จะทำวิสาขบูชาด้วยการระลึกนึกถึงพระคุณอย่างอื่นอันสูงยิ่งๆขึ้นไปตามลำดับ ถ้าระลึกนึกไม่ได้แม้ในส่วนหยาบๆง่ายๆต่ำๆเช่นนี้แล้ว ส่วนที่สูงที่ลึกก็ไม่มีหวังที่จะระลึกนึกได้หรือคิดออก จะเข้าใจได้แต่ประการใด
บัดนี้เป็นโอกาสที่เราจะทำพิธีวิสาขบูชาตลอดวันตลอดคืน เราจะต้องทำอย่างไรบ้างก็เป็นเรื่องที่จะต้องคิดดู ตามธรรมเนียมตามประเพณีนั้นเราทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เช่นฟังเทศน์ก็มีการแสดงธรรมก็มี การเวียนประทักษิณรอบพระเจดีย์หรือ (นาทีที่ 47.29) ก็มี และการทำบุญให้ทาน การประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็มี ท่านจัดไว้เป็นระเบียบในวันเช่นวันนี้นับตั้งแต่การสมาทานศีล ไหว้พระสวดมนต์ กระทำทุกอย่างแต่ให้มากเป็นพิเศษคือให้ทำด้วยจิตใจที่ตั้งใจมากเป็นพิเศษ สำหรับใช้เป็นเครื่องระลึกถึงและเป็นเครื่องบูชาคุณแก่พระพุทธเจ้า ปีหนึ่งก็มีเพียงวันเดียวสำหรับวิสาขบูชา น่าจะมีการตั้งใจทำให้มากเป็นพิเศษ น่าจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อการนี้ ฉนั้นจึงได้แนะนำว่าถึงแม้จะต้องอดอาหารจะต้องสมาทานอุโบสถศีลเป็นต้น ก็ควรจะยินดีปรีดาและควรจะถือเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่มีความรู้สึกด้วยจิตใจอย่างสูงสุด ยิ่งไปกว่าเหตุการณ์ใดๆในชีวิตของเราด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่าถ้าวันเช่นวันนี้เป็นวันที่บิดามารดามีความเจ็บไข้จะต้องตายลง เราก็คงจะมีความสนใจโกลาหลวุ่นวายกันเป็นการใหญ่แทบจะไม่นึกถึงสิ่งใดหมด แต่ว่าวันนี้ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้านั้นเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน เราก็ยังเฉยๆกันอยู่โดยไม่รู้ความหมาย ถ้าเราจะทำเหมือนหนึ่งว่าวันนี้เรานั้นเฝ้าดูพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ หรือว่าเรากำลังนั่งเฝ้าดูพระพุทธเจ้าประชวรหนักจะปรินิพพานในตอนหัวค่ำที่ต้นไม่ ที่โคนต้นไม้สาละอย่างนี้เป็นต้น มันจะเป็นอย่างไร เราก็คงจะมีจิตใจที่ตื่นเต้นชนิดที่เรียกว่าถึงขีดสูงสุดที่จิตของเราจะรู้สึกได้ เราคงนอนไม่หลับเราคงไม่เป็นห่วงที่จะไปกินข้าวกินน้ำ เราคงจะนั่งเฝ้าได้ตลอดทุกๆนาทีจนกว่าเหตุการณ์อันนั้นจะผ่านไป คือการประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานนั่นเอง ถ้าเรามีความคิดนึกกันอย่างนี้บ้าง เราก็คงจะสนุกสนานในการทำวิสาขะบูชาได้ตลอดคืน เดี๋ยวนี้ชั่วโมงสองชั่วโมงก็รู้สึกว่าอึดอัดกันเสียแล้ว และไม่ทันไรก็กลับไปบ้านกันหมดแล้ว ไม่มีใครอยู่เพื่อตั้งจิตตั้งใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้นที่เป็นสมาธิเลย นี้เรียกว่ายังรู้จักพระพุทธเจ้าของตนน้อยเกินไป เป็นปริมาณที่น้อยเกินไปกว่าที่ตนได้รับประโยชน์จากพระพุทธเจ้า คิดบัญชีกันแล้วก็กลายเป็นคนที่ไม่ได้ตอบแทนคุณของพระพุทธเจ้าเสียเลยก็ว่าได้ เพราะว่าตนไม่มีการกระทำตอบอันสมควรกันแก่พระคุณอันใหญ่หลวงของพระพุทธเจ้านั่นเอง เพราะไม่รู้บ้างเพราะเข้าใจผิดบ้าง บางทีก็ทั้งรู้ๆอยู่ก็ขี้เกียจเสียบ้างเห็นแก่ตัวบ้าง แล้วก็ชักชวนกันไปแต่ในทางที่จะเป็นเช่นนั้นไม่มีใครชักชวนกันมาในทางที่จะให้เกิดการเสียสละ ทำเพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้ากันจริงๆและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะสืบอายุพระศาสนาให้ยืดยาวถาวรไปด้วยไปด้วยไปได้ด้วย คอยคิดนึกกันในข้อนี้ให้เป็นส่วนใหญ่ให้มีจิตเหมาะสมสำหรับจะกระทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อไปอันเนื่องกันกับพิธีวิสาขะบูชานี้ เช่นว่าเราจะเตรียมจิตใจของเราในที่นี้ในลักษณะอย่างนี้เสียแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อว่าเราจะไปเวียนเทียนที่วัดพระธาตุได้ด้วยจิตใจที่เป็นอย่างนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ถ้าเราปล่อยจิตใจให้เลื่อนลอยกระทำไปด้วยความสนุกสนานหรือละเมอเพ้อฝันไปเหมือนที่กระทำกันโดยมาก มันก็เป็นสิ่งที่น่าสมเพชเวทนา มันเป็นการกระทำเหมือนอย่างของลูกเด็กๆเล็กๆซึ่งเขาไปเวียนเทียนกัน คนเฒ่าคนแก่ทำอย่างนั้นมันก็เป็นที่น่าสงสาร และเสียทีที่ได้มีอายุล่วงกาลผ่านวัยมีการเป็นไปต่างๆนาๆขึ้นมาถึงขนาดนี้แล้วยังมีความรู้สึกเหมือนกับลูกเด็กๆไปทำพิธีเวียนเทียนเป็นต้น ในลักษณะหรือมีความหมายอย่างเดียวกับลูกเด็กๆเป็นต้นนั่นเอง จึงได้ซักซ้อมความเข้าใจกันเสียแต่ในโอกาสนี้ นี้ก็เป็นของที่ต้องคิดอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ท่านจะไปเวียนเทียนหรือจะไม่ไปเวียนเทียนหรือจะไปเวียนเทียนที่ไหน ก็ขอให้กระทำด้วยจิตใจที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ด้วย จะได้สมกับข้อที่ว่าวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา พุทธบริษัทมากกว่าหนึ่งในสามของโลกหรือว่าหนึ่งในสี่ของโลกเป็นอย่างน้อยได้กระทำกันทั้งนั้น เราก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนพุทธบริษัทเหล่านั้น ดังนั้นจึงต้องทำและทำให้ถูกต้องและสมบูรณ์ด้วย
สำหรับโอกาสที่เหลืออยู่ต่อไปนี้จะได้แสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่องระลึกแก่โอกาสอันศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย การแสดงธรรมเนื่องด้วยวันวิสาขะนี้ ได้แสดงมามากมายหลายครั้งหลายสิบครั้งแล้วด้วยซ้ำไป มีข้อความต่างๆกัน สำหรับในวันนี้นั้นมีความคิดว่าอยากจะกล่าวทบทวน เรื่องที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญๆชั้นเบื้องต้นกันเสียอีกเสียทีหนึ่ง แต่อยากให้ทำความเข้าใจกันว่าเรื่องหลักเกณฑ์ชั้นเบื้องต้นนั้นเป็นเรื่องสำคัญหรือเป็นเรื่องไม่สำคัญเป็นเรื่องสำคัญมากสำคัญน้อยอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าหลักเกณฑ์เบื้องต้นนั้นโดยที่แท้แล้วไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็ว่าได้ แต่ทำไมจึงเรียกว่าเรื่องเบื้องต้น การที่เรียกว่าเรื่องเบื้องต้นก็เพราะว่าเป็นพื้นฐานทั่วไปสำหรับเป็นที่ตั้งที่อาศัยของเรื่องถัดๆไปหรือที่จะสูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้าเรื่องเบื้องต้นหรือเรื่องพื้นฐานไม่เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้วเรื่องที่จะงอกงามสูงขึ้นไปตามลำดับนั้นเป็นไปได้ยาก หรือถ้าขืนให้เป็นไปก็จะต้องล้มโครมลงมาเพราะว่าเรื่องเบื้องต้นนั้นไม่เป็นพื้นฐานที่ดี หรือถ้าจะกล่าวอย่างหนึ่งก็ว่าหลักโดยเบื้องต้นทั่วไป นั้นเป็นชนวนให้เกิดความรู้ความเข้าใจกว้างขวางออกไปได้ตามลำดับๆ ถ้าลองตั้งต้นผิดแล้วกี่เรื่องๆ ที่ตามมานั้นก็จะกลายเป็นผิดไปหมดด้วย ยิ่งสำหรับสมัยนี้ถ้าจะนึกดูถึงข้อที่ว่าโลกเรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์กว้างขวางออกไปอีก แล้วต้องนึกถึงข้อที่ว่าพวกพุทธบริษัทนั้นจะต้องโต้ตอบกันกับบริษัทแห่งศาสนาอื่น ดังนั้นพุทธบริษัททุกคนควรจะรู้หลักพื้นฐานแห่งพุทธศาสนาของตนให้ถูกต้องและเพียงพอ สำหรับจะโต้ตอบกับบุคคลศาสนาอื่นดังนี้ด้วย เราจึงควรจะซักซ้อมความเข้าใจกันให้ดีถึงเรื่องหลักพื้นฐาน ซึ่งต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงหลักพื้นฐานตามลำดับ แต่จะให้หัวข้อชนิดที่เป็นเรื่องง่ายต่อการกำหนดจดจำไปตามลำดับด้วย
ข้อแรกที่สุดอยากจะนึกถึงข้อที่ว่า คนสมัยนี้ที่เขาจะถามเราพุทธบริษัทก็คงจะถามเป็นปัญหาข้อแรกว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เมื่อได้ยินคำถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรท่านทั้งหลายจะคิดนึกอย่างไร จะตอบเขาอย่างไรก็ลองคิดดู คือลองนึกดูด้วยความรู้สึกจริงๆของตนเองเดี๋ยวนี้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร คนที่สนใจเรื่องอะไรก็ต้องคิดว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องนั้น ทีนี้คนมากคนด้วยกันต่างคนต่างคิดต่างสนใจ คำตอบก็จะต้องต่างกัน ถ้าใครสนใจเรื่องบุญกุศลจะทำบุญเอาสวรรค์วิมานให้มากให้รวย ก็คงจะคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องทำบุญให้มากให้จะได้สวรรค์วิมานให้มากอย่างนี้เป็นต้นก็ได้ แต่มันจะถูกตรงตามเรื่องของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่นี้มันก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ถึงแม้ในพวกที่คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนวิชาความรู้อย่างนั้นอย่างนี้ก็เหมือนกันอีก ถ้าตนสนใจเรื่องอะไรก็จะคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนั้น อย่างคนบางคนกำลังสนใจอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ไปเกิดด้วยอะไรโดยวิธีอย่างไรอย่างยิ่งอย่างนี้ คนพวกนี้ก็มีความเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนแต่เรื่องตายแล้วเกิด เกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้ ด้วยวิญญาณด้วยกรรมด้วยวิบากอะไรของเขาเป็นตุเป็นตะไม่มีที่สิ้นสุด รวมความว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องเกิดอย่างไรตายแล้วเกิดอย่างไร ยิ่งคิดไปยิ่งดูไปก็จะยิ่งพบมากหลายชนิดหลายเรื่องยิ่งขึ้นไปทุกที แต่ทีนี้ถ้าจะเอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า (นาทีที่ 58.40)...(บาลี)...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนๆมาก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราตถาคตบัญญัติเรื่องทุกข์และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ท่านทั้งหลายลองกำหนดจดจำไว้ให้แม่นยำว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ที่แล้วๆมาก็ดี บัดนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติแต่เรื่องทุกข์และเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ก็หมายความว่าท่านสอนท่านสอนแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์สองเรื่องเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เหลือแต่เพียงเรื่องเดียวก็ต้องตอบว่าเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น เพราะเหตุว่ารู้เรื่องความทุกข์นั้นก็รู้เพื่อจะดับมันเสีย เมื่อดับทุกข์ได้มันก็เป็นอันหมดปัญหา ฉนั้นถ้าจะให้มีเหลือแต่เพียงเรื่องเดียวก็คือเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั่นเอง แต่ไหนๆพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้อย่างนี้แล้วเราก็ควรจะถือว่าพระองค์ได้ตรัสไว้ว่าทรงสอนแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ เมื่อคนต่างศาสนาถามเราว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอะไรหรือสอนอะไรก็ตามก็จะต้องตอบเขาอย่างถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ อย่าได้ไปตอบเขาว่าสอนเรื่องอะไรให้มันมากมาย อุตริวิตถารจนกระทั่งออกไปนอกเรื่องนอกรอย หรือว่าเป็นเรื่องถูกต้องในร่องในรอยแต่มันก็นิดเกินไปนิดหน่อยเกินไป แล้วไปขยายความให้เปลืองไปในเรื่องที่ไม่จำเป็น เกี่ยวกับข้อนี้ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่จะได้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง แล้วก็พระองค์ได้ทรงตรัสกำชับไว้ในเหตุการณ์อันนั้นว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จไปในป่าไม้แห่งหนึ่งเป็นป่าดง พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่งแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือนี้กับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงนั้นมันมากน้อยกว่ากันเท่าไร ใครๆก็เห็นได้ว่าใบไม้ในมือกำเดียวนี้มันน้อยกว่าใบไม้ทั้งป่าทั้งดงเท่าไร ก็ทูลตอบพระพุทธเจ้าไปว่ามันมากน้อยกว่ากันอย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ พระองค์จึงตรัสว่า แม้ธรรมะที่ตถาคตตรัสรู้และนำมาสอนก็เป็นเช่นนั้น คือส่วนที่ตรัสรู้นั้นมีปริมาณเท่าใบไม้ทั้งป่าทั้งดงแต่ที่นำมาสอนนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว เพราะว่าจะสอนแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์โดยตรงเท่านั้น เรื่องอื่นซึ่งแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ไม่จำเป็นจะต้องสอน เรื่องที่จะนำมาสอนจึงกลายเป็นเรื่องเพียงกำมือเดียว ถ้าพูดอย่างสำนวนโวหารหน่อยก็เรียกว่ากำมือเดียวไม่มากมายอะไรในเมื่อไปเทียบกับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงแล้ว มันก็พอจะเข้าใจกันได้ทุกคนว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงกำมือเดียวโดยปริมาณ แต่ทีนี้เมื่อนึกถึงคุณสมบัติของสิ่งที่ทรงนำมาสอนนั้นมันเป็นเรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ จงพิจารณาดูเถิดว่ามันจะมีเรื่องอะไรที่จะประเสริฐสูงสุดไปกว่าเรื่องความดับทุกข์ เพราะเหตุฉนั้นแหละคำสอนกำมือเดียวนั้นจึงเป็นเหมือนกับเพชรเหมือนกับพลอยกำมือหนึ่ง ไม่ใช่ใบไม้กำมือหนึ่งเสียแล้ว ควรจะสนใจในของกำมือเดียวนั้นกันให้มากและอย่าได้ปล่อยหรือเผลอให้ไปสนใจเรื่องนอกไปกว่านั้น ถ้าจะยกตัวอย่างที่เป็นจริงก็จะยกตัวอย่างว่าเรื่องทำบุญเอาวิมานเอาสวรรค์นั้นมันเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ถ้าสมมุติว่าคนๆหนึ่งทำบุญและอยากไปสวรรค์เพราะว่าที่นั่นสมบูรณ์ไปด้วยกามคุณ อย่างนี้แล้วก็แปลว่าเขาเห็นว่าเรื่องกามคุณเป็นเรื่องสูงสุด และเมื่อเรื่องกามคุณเป็นเรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นเหมือนกับเหยื่อที่หุ้มเบ็ด แล้วมันจะเป็นเรื่องดับทุกข์ไปอย่างไรได้ คนที่ทะเยอทะยานในทางกามคุณเห็นว่ากามคุณในมนุษยโลกนี้ยังต่ำไป ปรารถนากามคุณในสวรรค์ซึ่งเป็นของประณีตและสูงสุด อย่างนี้ก็เรียกว่าเขาทำไปด้วยความโลภเมื่อทำไปด้วยความโลภแล้วก็จะเป็นเรื่องดับทุกข์ไปไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น และแม้ว่าเขาจะได้ไปเกิดในสวรรค์ได้เสวยสวรรค์สมบัติวิมานนานาประการดังที่กล่าวนั้นจริง แล้วก็ลองคิดดูเถิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คือความมัวเมาหลงใหลยิ่งไปกว่าที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์ เมื่อมาถึงนี่แล้วคิดดูว่ามันเป็นเรื่องดีขึ้นหรือเลวลง ถ้าตอบอย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องถือว่ามันเลวลงเพราะว่าจิตใจมันต่ำลง ถ้าตอบอย่างปุถุชนคนพาลนั้นแหละจึงจะว่ารวยกันใหญ่เป็นการได้ที่ร่ำรวยกันใหญ่อย่างนี้เป็นต้น จะเรียกว่าการเจตนาทำบุญกุศลเพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์ บริโภคกามคุณนั้นเป็นเรื่องดับทุกข์หรือไม่ ใครๆก็จะเห็นได้ว่าอย่างดีก็เป็นเรื่องมีความทุกข์เท่าเดิม พลาดนิดเดียวก็เป็นเรื่องมีความทุกข์มากขึ้นกว่าเก่า เพราะว่ามีความหลงใหลมัวเมามากขึ้นไปกว่าเก่า อันเรื่องสวรรค์เรื่องวิมานอะไรทำนองนี้ระวังให้ดี ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายไปกว่าเก่าคือไม่เป็นความดับทุกข์ ไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
ทีนี้เรื่องบางเรื่องเช่นเรื่องที่สนใจกันมากเกี่ยวกับเรื่องเกิดอย่างไรตายอย่างไรอะไรไปเกิด ต้องการจะเอาต้องการจะเอามาให้ดูให้เห็นให้ชัดให้แจ้งว่าวิญญาณที่ไปเกิดนั้นเป็นอย่างไร หัวหูหน้าตาเป็นอย่างไร จะให้เอามาดูให้ได้ อย่างนี้มันยิ่งเป็นไปอีกทางหนึ่งคือไม่เป็นไปในทางกามคุณก็จริง แต่เป็นไปในทางเรื่องเป็นบ้าเป็นหลังในทางมิจฉาทิฐิยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าตามธรรมดาที่เป็นปกติธรรมดาอยู่นี้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้มีความรู้สึกว่ามีสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาอยู่แล้ว ทีนี้จะยิ่งไปบัญญัติให้มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขามากขึ้นอย่างนั้นไปอีกมันก็ยิ่งน่าหัว มันยิ่งไปไกลยิ่งไปลึกไปกว่าเดิมที่คนๆหนึ่งจะคิดว่า เรานี่แหละทำบุญ ตายแล้วเรานี่แหละจะได้รับ แล้วเราก็จะไปเกิดเป็นเราอีกเพื่อจะได้รับผลได้รับกำไรของสิ่งที่ได้ลงทุนไว้อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้มันเป็นเรื่องเรามากเกินไป คือเป็นมิจฉาทิฐิถึงขนาดที่เรียกว่าเป็น สัสสตทิฐิ มันก็ยิ่งไกลออกไปจากความดับทุกข์ไม่เป็นความดับทุกข์ขึ้นมาได้ คำสอนชนิดนั้นความประพฤติการกระทำชนิดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านสอน คือไม่เกี่ยวกับความทุกข์หรือไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์นั่นเอง ฉนั้นสรุปความแล้วข้อแรกที่สุดที่จะต้องจำกันไว้ก็คือข้อที่ว่า เมื่อถูกถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรก็จงตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ รายละเอียดจะมีอย่างไรก็ศึกษาได้จากเรื่องราวจากพระคัมภีร์ต่างๆที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี่แหละเป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง ให้สนใจเรื่องการปฏิบัติทางกาย ทางวาจาและทางใจ โดยประการที่จะทำให้กิเลสเบาบางลงไปคือเป็นอยู่ให้ชอบ ชนิดที่กิเลสไม่ได้อาหาร กิเลสนั้นก็จะร่อยหรอเหือดแห้งไปในที่สุด
ทีนี้เราจะตั้งปัญหาเป็นข้อต่อไปว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ปัญหาข้อนี้มีว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ผิดกับปัญหาข้อแรกที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร เมื่อถูกถามว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไรก็ลองคิดดูกันอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆคนที่ได้ยินได้ฟังได้ประพฤติปฏิบัติมาจนถึงขนาดนี้แล้ว ท่านจะสรุปความรู้ ความรู้สึก ความคิดนึกของท่านทั้งหลายเอาเองดูว่า เท่าที่เรารู้อยู่นี้เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร คำถามข้อนี้มีทางที่จะตอบได้หลายอย่างเพราะคำสอนว่าอย่างไรนี้เรามองได้หลายทิศหลายทาง ดังนั้นจะกล่าวเท่าที่เราควรจะทราบกันไว้ว่าอย่างแรกที่สุดเราควรจะถือว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เดินสายกลาง เมื่อถูกถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรให้ตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เดินสายกลางคือ มัจฉิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ อีกนั่นเอง ที่ว่าเดินสายกลางนี้พอจะฟังกันออกทุกคนว่าไม่หย่อนไปและไม่ตึงไป และกล่าวอย่างหนึ้งก็ว่าไม่ตามใจตัวเองมากไปและก็ไม่ย่ำยีเบียดเบียนตัวเองมากไปดังนี้เป็นต้นก็ได้ ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ก็แจงไว้ว่าตึงไปทางหนึ่งนั้นเรียกว่า นิชฌามปฏิปทา เรียกว่าปฏิปทาเผาไหม้ นี่หมายความว่าทำตัวเองให้เดือดร้อนทรมานตัวเองให้ลำบากหาความสุขมิได้ ด้วยคิดว่าทำอย่างนั้นจะทำให้กิเลสหมดไป ปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการเผาตัวเองหรือ นิชฌามปฏิปทา นี้เป็นเรื่องที่ตึงไปในทางหนึ่งหรือเรียกว่าตึงไปในทางขวาไม่ใช่สายกลาง ทีนี้ที่ตรงกันข้ามคือฝ่ายซ้ายนั้นเรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา คือปฏิปทาที่เป็นการแช่การจมอยู่ในความสุขทางเนื้อทางหนังเห็นแต่เรื่องทางวัตถุคือเรื่องเอร็ดอร่อยทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางผิวกาย มีความลุ่มหลงอยู่ในความสุขทางวัตถุอย่างนี้ถึงขนาดจมแช่ก็เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา คือการประพฤติปฏิบัติอย่างจมแช่อยู่ในของเปียกของสกปรก อันหนึ่งเรียกว่า นิชฌามปฏิปทา ปฏิบัติอย่างเผาไหม้ อันนี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา การปฏิบัติอย่างจมแช่ อันนี้ก็ไม่ใช่สายกลางคือไปสุดโต่งอีกทางหนึ่งซึ่งจะเรียกว่าทางซ้าย ส่วนที่เป็นทางสายกลางนั้นก็คือการประพฤติที่ถูกต้องในทุกๆกรณีใน ที่จำแนกไว้ในพระพุทธศาสนาก็คือที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ความถูกต้อง ๘ ประการ กล่าวคือ ความถูกต้องของความเข้าใจ ความถูกต้องของความปรารถนา ความถูกต้องของการพูดจา ความถูกต้องของการกระทำทางกาย ความถูกต้องของการเลี้ยงชีวิต ความถูกต้องของความพากเพียร ความถูกต้องของความมีสติรำลึกประจำใจ และความถูกต้องของสมาธิคือกำลังใจที่ปักมั่นลงไป รวมเป็น ๘ ประการนี้เรียกว่ามีความถูกต้อง ๘ ประการ รวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วเรียกว่าหนทางสายกลาง หรือถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมบางหมวดเช่น สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง เรียกว่าเป็นผู้รู้ความพอดี ๗ อย่าง รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล อย่างที่เราท่องกันอยู่ อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้ดำเนินไปในทางสายกลางได้อย่างเดียวกันอีก รวมความแล้วก็ว่าอะไรที่เป็นประมาณพอดีไม่ทำตนให้ลำบาก แต่ก็ไม่ย่อหย่อนจนทำให้เนิ่นช้า สามารถทำให้ชีวิตนี้ก้าวหน้าไปด้วยสติปัญญาอย่างถูกต้องโดยรวดเร็วแล้ว ก็เรียกว่าเป็นเรื่องสายกลางทั้งนั้น ทำไมเราจึงเว้นส่วนตึงเครียดเหล่านั้นโดยถือว่าส่วนที่ตึงเครียดเหล่านั้น เป็นของให้โทษหรือร้ายกาจโดยส่วนเดียวหรืออย่างไร ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติที่เอียงไปทางซ้ายสุดหรือขวาสุดนั้น ที่แท้มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้เหมือนกัน แต่ว่ามันช้าเกินไปที่จะไปลุ่มหลงถึงขนาดนั้น ไปในทางสายกลางนี้มันไปได้เร็วๆ เร็วกว่ากันมาก การที่จะไปยึดมั่นอยู่ในการกระทำที่เป็น นิชฌามปฏิปทา กว่าจะรู้สึกถูกต้องขึ้นมาก็เป็นเวลานานหรือว่าการที่จะไปลุ่มหลงในการประพฤติปฏิบัติอย่างที่เรียกว่าจมแช่นี้มันอาจจะรู้สึกได้ในตอนท้าย แต่ว่ามันกินเวลายาวนาน ดังนั้นท่านจึงสอนให้ละเสีย เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะทำให้จิตตันอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานเกินไปกว่าที่ชีวิตนี้จะรู้ได้ทันเวลาก่อนแต่ที่จะตายเสีย เพราะว่าคนเราคงจะไม่มีอายุเกินกว่าร้อยปีไปได้โดยทั่วๆไป ระยะอันนี้สั้นมาก ถ้าไปมัวจมแช่อยู่ในปฏิปทาสุดโต่งอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เวลาก็ไม่พอที่เราจะเลื่อนชั้นตัวเองขึ้นมาตามลำดับจนกว่าจะถึงระดับที่เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์เลย ดังนั้นการดำเนินตามทางสายกลางจึงเป็นการถูกต้องที่สุด พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสกำชับไว้ว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นไปตามทางสายกลาง ๘ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ตถาคตไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เป็นสิ่งที่รู้พร้อมเฉพาะได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วและสอนผู้อื่น นี้หมายความว่าการปรับปรุงให้เกิดระเบียบปฏิบัติที่เป็นทางสายกลางนี้เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าเราจะพูดว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในวันเช่นวันนี้นั้น เป็นการรู้เรื่องทางสายกลางนี้ก็เป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะว่าก่อนแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นในที่นั้นคือประเทศอินเดียเต็มไปด้วยปฏิปทาสุดเหวี่ยง ไม่ซ้ายก็ขวาอยู่ด้วยกันทั้งนั้นไม่สามารถที่จะเอาชนะความทุกข์ให้เป็นที่พอใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มัฌชิมาปฏิปทา สามารถที่จะทำให้การศึกษาในเรื่องชีวิตจิตใจนี้ก้าวหน้าไปโดยเร็วมีการบรรลุผลอย่างสูงสุดได้ทันตาเห็น จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ควรสนใจศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตาม นี้เป็นความหมายของทางสายกลางที่จะเป็นคำตอบต่อคำถามที่ถ้าถามว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ก็ตอบว่าท่านสอนว่าให้เดินสายกลาง นี้เราเรียกว่าเป็นคำตอบที่อธิบายไปในทางที่เป็นแนวทาง นี้ก็ยังตอบได้ต่อไปว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้ช่วยตัวเองนี่มันไม่ซ้ำกัน คำตอบทีแรกนั้นมันเป็นการแสดงแนวทางปฏิบัติว่าให้ไปตามทางสายกลาง ส่วนคำตอบถัดมานี้มันคล้ายๆจะตอบไปอีกทีหนึ่ง ว่าที่ว่าจะเดินตามทางสายกลางนั้นเดินเองหรือใครช่วยเดิน เราก็ต้องตอบว่าท่านสอนให้ช่วยตัวเองก็หมายความว่าจะต้องเดินเอง พระพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีอยู่มากมายเช่นว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างนี้ก็มี นาทีที่ 78.17.....(บาลี).... ความเพียรเป็นสิ่งที่พวกเธอต้องทำเอง ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น นี้ก็ปรากฎชัดอยู่ในตัวเองแล้วว่าเดินนั้นต้องเดินเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น คนทุกวันนี้มักจะพาลพาโลแก่พระพุทธภาษิตที่สอนให้ช่วยตัวเองต่างๆนาๆ ด้วยความบิดพลิ้ว เพราะว่าไม่มีความซื่อตรงต่อตนเองไม่มีความซื่อตรงต่ออุดมคติ ไม่รู้จักเคารพตัวเองแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะเคารพพระพุทธเจ้าได้ ถึงได้พาลพาโลต่อพระพุทธภาษิตต่างๆที่ตรัสไว้ในลักษณะที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ข้อที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นคนมักจะงงกันว่าตนไหนกี่ตนกันนักที่จะเป็นตนอันหนึ่งแล้วมามีตนที่เป็นที่พึ่งอีกอันนึง มันไม่เป็นสองตนไปหรืออย่างไร ทีนี้ตนหนึ่งก็ถามว่าถ้าตนนี้เป็นทุกข์แล้วตนจะช่วยตนได้อย่างไรเพราะมันมีตนเดียว ปัญหาที่ว่ามีสองตนนั้นมันก็อย่างหนึ่ง ปัญหาที่ว่ามีตนเดียวนี้มันก็อย่างหนึ่ง สำหรับปัญหาที่ว่ามีสองตนนั้นควรจะศึกษาให้เข้าใจว่า ตนดีตนชั่วนี้ก็ได้แก่ความรู้สึกคิดนึกสองชนิด ความรู้สึกอย่างหนึ่งไปในทางต่ำ ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งไปในทางสูง จิตของคนเรานั้นถ้าสติปัญญาครอบงำมันก็เป็นไปในทางสูง ถ้ากิเลสตัณหาครอบงำมันก็เป็นไปในทางต่ำ ตนที่เป็นไปในทางต่ำก็คือตนที่เป็นทุกข์ ตนที่เป็นไปในทางสูงก็คือตนที่จะช่วยอีกตนหนึ่งให้พ้นทุกข์ นี้หมายความว่าเราจะต้องระมัดระวังให้ดีจะต้องพยายามรักษาจิตนี้ให้ดีให้เป็นไปแต่ในทางที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาอย่าให้ประกอบด้วยกิเลสตัณหา เป็นผู้รู้จักเข็ดรู้จักหลาบว่าถ้าเผลออย่างนั้นแล้ว กิเลสตัณหาเป็นเข้ามาทุกที ถ้าเรารักษาที่มั่นไว้อย่างดีอย่างนี้แล้วสติปัญญาก็ยังจะคงอยู่กับร่องกับรอยเราจึงดำรงตนหรือดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาเสมอ ก็เลยสำเร็จประโยชน์ในข้อที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ทีนี้ถ้าจะตอบปัญหาของคนที่ถามว่า ตนๆเดียวตนก็มีตนเดียวแล้วจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างไร นี้ต้องดูให้ดีสักหน่อยว่า ตนที่เรียกว่าตนๆกันนี้ ไม่ได้มีเป็นตัวจริงอะไรเป็นเพียงมายาที่เป็นความรู้สึกคิดนึกกันเอาเองว่าเป็นตน ฉนั้นความรู้สึกคิดนึกนั้นมันควรจะรู้สึกรักตน รู้สึกที่จะช่วยตนอยู่ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราจะให้ตนช่วยตนก็หมายความว่าจะต้องมีความรักตน สงวนตน ถนอมตน ตีราคาของตนเข้าไว้ให้มากๆ แล้วจิตก็จะน้อมไปในทางที่จะเกิดเป็นที่พึ่งขึ้นมาได้ ให้มีความรู้สึกไปในทางที่ว่าอย่าไปเชื่อหรืออย่าไปหวังเหตุปัจจัยที่อยู่ข้างนอก ให้พยายามสร้างเอาด้วยสติปัญญากำลังของตนเอง ข้างนอกนั้นก็คือให้ผู้อื่นมาช่วย ที่เป็นมนุษย์ด้วยกันก็มีที่เป็นเทวดาเป็นพระเจ้าเป็นอะไรก็มี ล้วนแต่เป็นข้างนอกทั้งนั้น ถ้าหวังจะให้คนอื่นช่วยอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ต้องให้ตนที่กำลังเป็นทุกข์อยู่นี่แหละพยายามที่จะช่วยตน ให้ศึกษาความทุกข์นั่นเองจนสามารถจะแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์นั้นได้ ให้ทำต่อความทุกข์นั้นเสมือนหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ ให้ศึกษาเอาจากตัวความทุกข์จนรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไรและเพื่ออะไรและมันจะดับไปได้โดยวิธีใด อย่างนี้เรียกว่าอะไรๆ ก็ศึกษาเอาจากตน ใช้ตนนั่นแหละเป็นเหมือนครูบาอาจารย์ให้มีความรู้ความเข้าใจในตน อย่างนี้ก็ยังได้ ท่านจะชอบใจอย่างไหนก็เป็นไปได้หรือใช้ได้ทั้งนั้น อาจจะปฏิบัติได้ทั้งนั้นขอแต่ว่าให้อยู่ในร่องในรอยที่ว่าอย่าไปหวังพึ่งผู้อื่น เพราะว่าเราคิดดูแล้วเราจะเห็นว่าการที่เราหวังพึ่งผู้อื่นนั้นมันพึ่งได้แต่ในลักษณะที่เหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้ทาง การเดินทางนั้นต้องเดินเอง การที่เราจะพึ่งเจ้าพึ่งนายพึ่งผู้มีอำนาจผู้บังคับบัญชาอะไรก็ตาม เราจะต้องเป็นผู้ทำความดีด้วยตนเองตามคำสั่งของเขาจึงจะเกิดเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ถ้าเราไม่ทำตามคำสั่งของเขา เขาก็จะไม่ยอมเป็นอะไรให้แก่เราและเขาอาจจะลงโทษเราขับไล่เรา ในที่สุดก็เป็นการล้มละลายไปหมด ถ้าเราจะพึ่งเจ้าพึ่งนายพึ่งคนอื่นก็พึ่งอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเขาเป็นเพียงผู้ชี้ทางหรือระบุให้ทำดังที่กล่าวแล้ว พวกที่ถือพระเป็นเจ้าก็ยังมีอุดมคติที่ตรงๆกันว่าพระเป็นเจ้าก็ช่วยคนที่ประพฤติดีด้วยตนเอง คือพระพุทธเจ้าจะช่วยคนที่ช่วยตนเอง เหมือนกับที่เรากำลังกล่าวนี้เหมือนกัน ถ้าคนใดไม่ช่วยตนเองพระเจ้าก็ไม่ช่วยคนนั้น อันนี้เรียกว่าเขาเข้าใจคำว่าพระเป็นเจ้านั้นถูกต้อง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทาง การเดินทางเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำเองดังนี้ เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายก็พอจะสังเกตุเห็นได้ว่า ในหมู่พวกเรากันนี้เข้าใจคำสอนข้อนี้ผิดจนทะเลาะวิวาทกันก็มี แล้วเอาไปวัดพวกอื่นศาสนาอื่นจนทะเลาะวิวาทกับพวกอื่นอีกก็มี เพราะเข้าใจความหมายของคำว่าตนพึ่งตนนี้ผิด แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องอย่างที่เรียกว่าพระเจ้ามาช่วยคนที่ช่วยตนเอง หรือว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าตถาคตเป็นแต่ผู้ชี้ทางอย่างนี้แล้วก็ไม่มีทางจะทะเลาะกันได้ จะเข้าใจตรงๆกันไปหมดว่าทุกคนจะต้องเป็นที่พึ่งแก่ตน เราจึงตอบคำถามเขาได้ว่าในการที่กระทำนั้นหรือในการที่จะเดินสายกลางนั้นเราต้องเดินเอง เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ช่วยตัวเองนี้อีกอย่างหนึ่งเป็นอย่างที่สอง ถัดมาจากข้อที่ว่าท่านสอนให้เดินสายกลาง
ทีนี้จะดูให้สูงขึ้นไปว่าท่านสอนอย่างไร ก็ต้องตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าสิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังคำสอนเรื่องนี้มาอย่างถูกต้องแล้วก็จะเข้าใจได้ว่าพุทธศาสนามีลักษณะพิเศษอยู่ตรงที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และปัจจัยนั้นเป็นไปภายในสิ่งนั้นเองไม่ต้องเกี่ยวกับของภายนอก กฎเกณฑ์อย่างนี้ถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็ยังได้ เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ มีพระสาวกเป็นอรหันต์แล้ว บางองค์ออกไปประกาศพระศาสนา เมื่อท่านถูกถามว่าพระพุทธสัมนโคดมสอนอย่างไร ท่านก็ตอบในลักษณะอย่างนี้อันเป็นคาถาที่เรารู้จักกันดีว่าคาถาของพระอัสสชิซึ่งมีว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ซึ่งมีใจความว่าธรรมทั้งหลายเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและทรงแสดงเหตุแห่งความดับนั้นด้วย พระสัมนโคดมมีปกติสอนอย่างนี้ ข้อความนี้ถือว่าเป็นความสำคัญเป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา ถึงกับจารึกในแผ่นดินเผาแล้วเผาสำหรับแจกกันให้แพร่หลายทั่วไปในนานาประเทศในสมัยครั้งโบราณใกล้ๆพุทธกาลโน้น เหมือนกับที่เราพิมพ์หนังสือแจกกันในสมัยนี้ ในสมัยโน้นไม่มีกระดาษไม่มีการพิมพ์หนังสือ จะเผยแพร่กันด้วยตัวอักษรนี้ยากลำบาก อย่างที่ทำได้ดีที่สุดแล้วก็คือการจารึกลงในแผ่นดินเผาแล้วก็แจกกันไปในที่ไกลๆในต่างประเทศ เรียกว่าเผยแพร่หัวใจของพระพุทธศาสนา คาถาที่ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา นี้มีใจความว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัยเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ฉนั้นเราต้องการที่จะต้องจัดการกับเหตุกับปัจจัยให้ถูกต้องแก่กันและกัน เราจึงจะได้ประสบผลสมตามที่เราต้องการ ท่านที่มีการศึกษากว้างขวางท่านจะเห็นได้ทันทีว่าคำกล่าวอย่างนี้ก็คือหลักวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันนั่นเอง จะถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมหลักวิทยาศาสตร์ก็เพราะเหตุข้อนี้ ทีนี้เราจะได้พิจารณากันดูว่าสิ่งที่เรียกว่าเหตุปัจจัยนั้นคืออะไร สิ่งที่เรียกว่าเหตุและปัจจัยนั้นมันเป็นกฎธรรมชาติอันนึงซึ่งมีอยู่ในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับผู้ใด ไม่เกี่ยวกับเทวดา ไม่เกี่ยวกับผีสาง ไม่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้า ไม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรที่ไหนอีก มันเป็นกฎในตัวมันเองว่าสิ่งนั้นมันเกิดเองไม่ได้มันมีสิ่งอื่นปรุงแต่งมันจึงปรากฎออกมา และตัวมันก็อยู่ในฐานะที่ปรุงแต่งสิ่งอื่นตามโอกาสตามสมควรแก่เหตุการณ์อีกด้วย มันจึงปรุงแต่งกันเรื่อยไปเป็นสายไปทีเดียว เราจึงเห็นปรากฎการณ์ต่างๆนาๆน่าอัศจรรย์ในโลกนี้ เช่นเราจะคิดดูว่าเรานี้เป็นมนุษย์อยู่นี่มีเหตุมีปัจจัยอะไร ถ้ามองดูไปทางหลังคือมองดูไปในทางเหตุปัจจัยข้างหลังก็จะพบว่า การที่เราเป็นคนอยู่นี่มันเป็นผลเพราะการปรุงแต่งหลายๆอย่างที่แล้วมา เช่นมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นมาด้วยอาหารและเป็นอยู่มาได้ด้วยสิ่งแวดล้อม การศึกษา ทำให้เรามีจิตใจอย่างนั้นอย่างนี้ ความคิดนึกทำให้เกิดการปฎิบัติอย่างนั้นอย่างนี้เราจึงมีการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้เป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้มีทรัพย์สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ มีอะไรต่างๆนาๆสารพัดอย่างอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนแต่มาแต่เหตุแต่ปัจจัย ถ้ามองดูไปทางสายที่มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็ยังเห็นต่อไปว่าบิดามารดานั้นเองก็ยังมีอะไรต่างๆที่เป็นแดนเกิด คือบิดามารดาของท่านอีกต่อหนึ่ง หรือสิ่งแวดล้อมที่ท่านอยู่นี้ถ้ามองกันละเอียดลงไปเห็นว่าเนื้อหนังของเรามีเหตุปัจจัยอะไร เราก็ยังต้องนึกไปถึงเรื่องอาหารการกินเรื่องที่อยู่อาศัยเรื่องยาแก้โรคเรื่องอะไรอื่นๆอีกต่างๆนาๆ เรียกว่าทุกอย่างมีอำนาจแวดล้อมเข้ามาตามสัดส่วนแล้วก็ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างว่าถ้าเราได้รับการศึกษาถูกเราก็มีความคิดถูก เราได้รับการศึกษาผิดเราก็มีความคิดผิด เราได้รับการศึกษาไม่พอเราก็ต้องเป็นคนโง่อย่างนี้เป็นต้น ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้เราจะทำอย่างไรดี เราก็ต้องสนใจตรงที่ตัวเหตุตัวปัจจัยให้ดีให้รู้ให้เข้าใจ และสร้างไปแต่ในทางเหตุทางปัจจัยที่ดี ทีนี้ในตัวเรานี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยของอะไรต่อไป เราก็จะเห็นกันอยู่ได้ทุกคนว่าเราเกิดมาจากบิดามารดาอย่างไร เราก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดลูกเกิดหลานต่อไปอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี เรียกว่าสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยนั้นมันปรุงแต่งกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุแล้วก็เป็นผลแล้วผลนั้นก็กลายเป็นเหตุของอันอื่นแล้วก็กลายเป็นทำให้เกิดผลอย่างนี้เรื่อยไปเนื่องกันเป็นสาย เรียกว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยในตัวมันเอง ทำไมจึงสอนว่าจึงสอนเรื่องนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้ก็เพราะว่านี้มันเป็นเรื่องจริงเป็นข้อแรก และเพราะเหตุว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราจะทำได้เอง ให้มันเข้ากันได้กับข้อที่แล้วมาว่าตนเองต้องเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ถ้าสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วเราก็สร้างสรรอะไรไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ เมื่อสิ่งต่างๆมีเหตุมีปัจจัยและมีกฎแห่งเหตุแห่งปัจจัยแน่นอนตายตัวเป็นระเบียบอยู่อย่างนี้เราก็สามารถจะจัดจะทำให้เป็นไปตามที่เราต้องประสงค์ได้
ทีนี้ปัญหาอันสูงสุดก็คือปัญหาเรื่องความทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย ฉนั้นเราจึงมีหวังที่จะทำลายความทุกข์นั้นเสีย ด้วยการศึกษาเหตุและปัจจัยของความทุกข์ให้เพียงพอแล้วตัดต้นเหตุอันนั้นเสีย หรือว่าสามารถที่จะจัดจะทำไม่ให้เหตุให้ปัจจัยนั้นเกิดขึ้นมาได้อีก ความทุกข์ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีก เราก็ดับทุกข์ได้เพราะเรามีปัญญามีความรู้เรื่องสิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยและเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว นี่ก็เป็นข้อหนึ่งเนื่องกันมาจากข้อที่สอง ข้อแรกที่สุดว่าให้เดินสายกลาง ข้อที่สองว่าต้องเดินเอง ข้อที่สามว่าจัดการกับเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ทีนี้ถ้าจะดูต่อไปอีกคือดูถึงตัวโอวาทที่เป็นคำพูดคำสอนว่าได้ตรัสว่าอย่างไรแล้ว เราก็ตอบได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าทำความชั่วให้ทำความดีและทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็น ๓ ข้อด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีแล้วว่าทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นโอวาทปาติโมกข์ เป็นประมวลแห่งคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน โดยภาษาบาลีนั้นว่า สพฺพปาปสฺส อรกณํ การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ขาวรอบ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ๓ อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอให้สนใจในคำว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งหมายความว่าพระพุทธเจ้ามีมากและพระพุทธเจ้าทุกองค์สอนอย่างนี้ คือสอนไม่ให้ทำความชั่วและสอนให้ทำความดีและให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ โอวาทที่สอนไม่ให้ทำชั่วให้ทำดีนี้เป็นของเก่า เก่าแก่ก่อนพระพุทธเจ้า อาจจะผิดแปลกแตกต่างกันบ้างก็มีคำอธิบายปลีกย่อย แต่โดยหลักใหญ่แล้วสอนเหมือนๆกันมาทั้งนั้นตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งบอกไม่ได้ว่านานมาแล้วเท่าไร ฉนั้นที่แปลกออกไปที่เป็นของพระพุทธเจ้าแท้ก็ตรงที่ว่าทำจิตให้บริสุทธิ์ ถึงแม้คำว่าทำจิตให้บริสุทธิ์นี้ก็เหมือนกัน คำว่าบริสุทธิ์มีหลายความหมาย คำว่าบริสุทธิ์ตามความหมายของลัทธิศาสนาอื่นก็เป็นอย่างหนึ่ง คำว่าบริสุทธิ์ตามความหมายของพุทธศาสนาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจะต้องระมัดระวังจะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยถ่องแท้ อย่าได้ไปเข้าใจง่ายๆว่าถ้าเรียกว่าบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้ว มันจะเหมือนกันไปหมด มันเหมือนกันแต่ตัวหนังสือเท่านั้น ส่วนตัวจริงหรือความหมายนั้นหาได้เหมือนกันไม่ เราจะต้องศึกษาคำว่าบริสุทธิ์ให้ถูกต้องว่าตามหลักแห่งพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร ข้อนี้เป็นการง่ายโดยศึกษาไต่มาตามลำดับจากคำว่า ชั่ว จนถึงคำว่า ดี และจนถึงคำว่า บริสุทธิ์ คำว่า ชั่ว ก็รู้กันอยู่ทุกคนแล้วว่าคือสิ่งที่ใครๆก็ไม่ปรารถนาและ พากันประนาม นี่เรียกว่าชั่ว เป็นอันว่ายุติต้องกันไปหมดว่าไม่มีใครปรารถนาและรังเกียจและสอนให้เว้น นี้มาถึงความดี ก็เหมือนหรือคล้ายๆกันอีก ตรงที่ว่าใครๆก็ต้องการความดี สอนให้ทำดี ทีนี้ก็ปัญหาก็มีว่าเมื่อทำดีแล้วยังไม่พออีกหรือ ทำดีถึงที่สุดทำดีมากถึงที่สุดแล้วยังไม่พออีกหรืออย่างไร จึงจะต้องมีคำสอนข้อที่ ๓ คำสอนข้อที่ ๓ จึงแปลกประหลาดที่สุดตรงที่ว่ามันเหนือความดีไปอีกมันยิ่งกว่าความดีไปอีก แล้วมันคืออะไรขอให้ลองสนใจดูเองบ้าง เมื่อทำดีถึงที่สุดแล้วเรื่องยังไม่จบอย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไรกัน ทำไมจะต้องไปสอนว่าให้ทำจิตให้บริสุทธิ์อีกเล่า ที่เป็นเหตุผลสำคัญหรือเป็นปัญหาสำคัญนั้นมันอยู่ตรงที่ว่าถ้าจิตไม่บริสุทธิ์แล้ว ความดีนั้นแหละจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาซึ่งจะทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น คือคนไปโง่ไปหลงไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของความดีมันก็เกิดปัญหาขึ้นมาใหม่อีกทางหนึ่ง คือจะเป็นทุกข์ทันที เพราะความดีที่ตนยึดมั่นถือมั่นนั้น ส่วนทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นก็คือให้ความดีก็เป็นเรื่องของความดี เราจะเกี่ยวข้องหรือใช้สอยความดีอย่างไรก็ทำไปโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ จิตไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความดี การไปยึดมั่นถือมั่นนั้นคือตัวกิเลสตัณหา อันตัวกิเลสตัณหานั้นถ้าจะไปยึดในความดีมันก็จะต้องเป็นทุกข์อย่างดี จนเรากล่าวได้ว่าคนดีก็เป็นทุกข์ไปตามประสาคนดี คนมีบุญก็ต้องมีทุกข์ไปตามประสาคนมีบุญ คนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเท่านั้นที่จะไม่เป็นทุกข์เลย เพราะฉนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนคำสอนข้อที่ ๓ นี้ว่าทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคำสอนที่สูงไปกว่าให้ทำดี ฉนั้นจึงเกิดเป็นคำสอนขึ้นมาถึงสามข้อ ความชั่วและความดีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังสักหน่อยในตอนนี้ที่ว่าทั้งความชั่วและความดีทั้งสองอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ความชั่วนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นในทางที่จะไม่เอา ในทางที่จะเกลียดในทางที่จะกลัวในทางที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่ปลอดภัย ดังนั้นความยึดมั่นในความชั่วก็เป็นความทุกข์แก่จิตใจได้แบบหนึ่งคือเป็นทางให้เกลียดให้กลัว สำหรับความยึดมั่นในความดีนั้นเป็นเหตุให้หลงใหลให้รักให้ต้องการให้พัวพันให้มัวเมา ดังนั้นมันก็เป็นความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างเจาะจงที่สุดก็เห็นได้ว่าในโลกนี้มันมีสิ่งที่เราไม่รักไม่ชอบ มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์เพราะเราไม่รักไม่ชอบ เมื่อมีพวกหนึ่งที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความรักความชอบมันก็ทำให้เราเป็นทุกข์เพราะความรักความชอบ ทั้งสองอย่างจึงเป็นของที่ยึดมั่นไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องทำจิตให้รู้จักปล่อยวางให้เป็นจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจิตที่บริสุทธิ์ก็คือจิตที่ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น มันจึงไม่เกี่ยวกับดีหรือชั่วเพราะมันปล่อยไปแล้วทั้งดีทั้งชั่ว จึงเป็นจิตที่เป็นอิสระไม่มีความทุกข์เพราะไม่ได้แบกไม่ได้หามไม่ได้ยึดไม่ได้ถือไม่ได้กุมอะไรไว้ ตัวอย่างง่ายๆในเรื่องแบกหามแล้วก็ต้องเป็นทุกข์นี้ ก็เหมือนอย่างว่าถ้าเราจะแบกหามก้อนอิฐก้อนหินมันก็หนัก และจะแบกหามเงินทองเพชรพลอยมันก็หนักอีกนั่นเอง มันสู้วางไว้ข้างๆเท้านี้ไม่ได้อย่าเอามาแบกมาหามไว้ ไม่ว่าจะเป็นก้อนอิฐก้อนหินหรือจะเป็นเงินทองเพชรพลอย นั้นความที่วางเสียไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ก็ใช้มันไปตามที่ควรที่ถูกนั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราไม่แบกทูนเงินทองเพชรพลอยไว้บนหัว เราวางไว้ที่เท้าหมายความว่าเราใช้สอยมันโดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น จึงได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นๆและตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ คนโง่ๆเข้าใจความข้อนี้ผิด เข้าใจไปว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เอาสิ่งเหล่านี้ไปทิ้งทะเลเสีย ไปเผาไฟเสียไปทำลายเสียหรือไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย นี้เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้าด้วยความโง่ของเขาเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ตรงที่ว่าอย่าเอามาบรรทุกไว้ในจิตใจ จงปล่อยมันไปตามธรรมชาติของมันแล้วก็จัดการกับมันตามที่เราต้องการอย่างไรด้วยจิตใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น สิ่งเหล่านั้นไปยึดมั่นเข้าเมื่อไรมันก็จะกัดเราจะทำอันตรายเรา แต่ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็จะกลายเป็นบ่าวที่ซื่อสัตย์ของเรา มันกลับกันอยู่กับความเข้าใจของคนทั่วไปในลักษณะอย่างนี้เอง คนจึงถือเอาธรรมะข้อนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ยังเป็นหมันอยู่ในที่ๆทั่วๆไป แล้วจะไปโทษใคร จะไปโทษพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้จะไปโทษพระธรรมก็ไม่ได้จะไปโทษพระสงฆ์ก็ไม่ได้ มันต้องโทษคนที่โง่มากเกินไปจนไม่รู้จักถือเอาแก่นสารของธรรมะเหล่านี้
นี้ก็ควรจะถือว่าเป็นเรื่องที่ควรจะสะสางกันในวันเช่นวันนี้ คือวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญของพระพุทธ-ศาสนา เพราะเหตุว่าข้อความที่กล่าวนี้เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนานั่นเอง คือเรื่องจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่างจากกิเลสตัณหาว่างจากการยึดการแบกการถือการทูนอะไรต่างๆ แล้วเป็นจิตที่อิสระและบริสุทธิ์ไม่มีความทุกข์เลย เรียกว่าเป็นคำสอนที่ระบุไว้ชัดเป็นตัวหนังสือเป็นคำพูดว่าไม่ให้ทำชั่วให้ทำความดี และให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากความยึดมั่นในความชั่วและความดี สรุปความอีกทีหนึ่งว่าอย่ายึดมั่นเพื่อโกรธอย่ายึดมั่นเพื่อรัก นี้เรียกว่ามีจิตบริสุทธิ์ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นจนโกรธจนเกลียดจนกลัวจนรำคาญในสิ่งที่ไม่ต้องการก็เรียกว่ายึดมั่นความชั่ว ถ้าไปยึดมั่นในสิ่งที่ทำให้เกิดความรักความดีใจความหวงแหนความอิจฉาริษยา เหล่านี้ก็เรียกว่ายึดมั่นในความดีก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ จิตจะต้องอยู่ในลักษณะที่ว่าไม่ยึดสิ่งเหล่านี้ไว้โดยความเป็นของตนและไม่ยึดตัวเองว่าเป็นตัวตนด้วย ก็เรียกว่าจิตนั้นบริสุทธิ์แล้วไม่มีความทุกข์เลย มีสติปัญญาสามารถที่จะจัดจะทำทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการที่เกี่ยวข้องอยู่กับตนนั้นให้เป็นแต่ในทางที่ไม่เป็นทุกข์ นี้คือประโยชน์และคำสอน นี้คือประโยชน์ของคำสอนข้อนี้
ทีนี้อยากจะกล่าวต่อไปว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย นี้ก็เป็นคำสอนข้อสำคัญข้อหนึ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไหลเรื่อย ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จึงทรงสอนว่าให้มองดูโลกนี้โดยความเป็นของเปลี่ยนแปลงเรื่อยหรือไหลเรื่อย ให้มองดูสิ่งทั้งปวงในฐานะที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยหรือไหลเรื่อย หมายความว่าให้มองดูด้วยความฉลาดไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นน่ายึดมั่นถือมั่น สิ่งที่ปุถุชนทั่วไปปรารถนาก็คือเรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติ เรื่องกินก็คืออาหารที่จะกินทางปากเพื่อความอร่อยทางปาก เรื่องกามก็คือเรื่องกามคุณเรื่องเพศตรงกันข้าม เรื่องเกียรติก็คือเรื่องยกย่องสรรเสริญ ๓ เรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งของปุถุชน ขอให้จำไว้ให้ดีๆว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ๓ อย่างนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งของปุถุชน เพราะเหตุว่าคนเหล่านั้นมองไม่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไหลเรื่อย ไม่มองในลักษณะที่เป็นของเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ไหลเรื่อย แต่ไปมองในลักษณะที่ว่ามันช่างประเสริฐ วิเศษ เป็นของสูงสุด เป็นของมีค่าเหนือสิ่งทั้งปวงและเที่ยงแท้ถาวร เป็นของเราได้ตามที่เราต้องการ ไม่เคยมองเห็นในลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเรื่อย แต่มองเห็นในทางที่ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ปรากฎไว้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ดูในแง่หนึ่งว่าความไหลเรื่อยของมันนั้นน่าเกลียด น่าขยะแขยง และให้ดูต่อไปว่าที่มันไหลเรื่อยและน่าขยะแขยงนั้น มันไม่ควรจะถูกถือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา นี้คือคำสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึง ๓ คำด้วยกัน อนิจจังว่าไม่เที่ยง ทุกขังว่าเป็นทุกข์ทรมานดูแล้วน่าขยะแขยง อันที่ ๓ อนัตตา ปราศจากตัวตน แต่ถ้าเราขี้เกียจที่จะจำทั้ง ๓ คำ ก็อาจจะรวมคำทั้ง ๓ คำนี้เข้าเป็นคำเดียวเรียกว่า สุญญตา คือ ว่าง การที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยไม่เที่ยงนี้เพราะมันว่างจากสาระที่คงทน มันจึงเปลี่ยนแปลงเรื่อย และที่ว่ามันเป็นทุกข์มันจึงว่างนั้นก็เพราะว่าความทุกข์นั้นก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นเอง หรือคำว่าทุกข์นี้ก็แปลว่าว่างก็ได้ โดยคำว่า ขะ นั้นแปลว่าว่าง คำว่า ทุ นั้นแปลว่าน่าเกลียด ทุขะ หรือ ทุกขะ นี้แปลว่าว่างอย่างน่าเกลียดอย่างนี้ก็มี อาการที่ทนทรมานเจ็บปวดนั้นก็เป็นความว่างอย่างน่าเกลียด คือว่างจากแก่นสารอย่างน่าเกลียด เพราะมีแต่ความทุกข์ทรมาน รวมกันเสียอย่างนี้ก็ยังได้ ความทุกข์ก็คือความว่าง ส่วนคำว่า อนัตตา ไม่มีตัวตนหรือไม่ใช่ตน ไม่ควรจะเรียกว่าตนนั้นก็แสดงว่าว่างจากตัวตนอยู่โดยตรงแล้ว ผู้ที่มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างสมบูรณ์ก็จะเห็นเป็นความว่างขึ้นมาทันที ฉนั้นจึงกล่าวว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของว่าง ดังนี้ก็ได้ เป็นคำกล่าวที่รวบรัดที่สุด รวบยอดที่สุด รวมความไว้ได้มากที่สุด และเมื่อสิ่งทั้งปวงไหลเรื่อยเป็นทุกข์เป็นอนัตตาดังนี้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับเป็นคำสอนข้อสุดท้ายว่า จงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ท่านทั้งหลายทั้งปวงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด คำสวดที่เราสวดอยู่ทุกๆวันว่า ขะยะวะยะธัมมา สังขารา นี้ก็พูดเป็นภาษาไทยง่ายๆว่า สิ่งทั้งปวงไหลเรื่อยก็ได้เหมือนกัน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีอันเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้มันก็มีความหมายเท่ากับคำว่าไหลเรื่อย อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นคำสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วก็ปรินิพพาน ฉนั้นเราควรจะถือว่าพระโอวาทคำสอนอันสุดท้ายเหมือนพินัยกรรมสุดท้ายที่ตรัสแล้วปรินิพพานนั้นคือประโยคว่า ท่านทั้งปวงจงทำความไม่ประมาทให้สมบูรณ์เถิด คำว่าความไม่ประมาทนี้ ขอซ้อมความเข้าใจกันเสียอีกส่วนหนึ่งว่า คนเป็นอันมากเข้าใจความประมาทหรือความไม่ประมาทนี้ไม่ตรงต่อความจริง เพราะความหลอกหลอนของภาษา ในภาษาไทยเรานั้นมีความหมายเปลี่ยนไปจากภาษาบาลีเป็นอันมาก แม้จะเป็นคำๆเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำว่า ประมาท ถ้าเราจะเอาภาษาพื้นบ้านของเราแถวนี้ที่นี่ เป็นหลักเกณฑ์กันก่อนแล้ว คำว่าประมาทนั้นหมายถึง อวดดี คนประมาทคือคนอวดดีเท่านั้นเอง แต่ในภาษาบาลีนั้นความประมาทนั้นมีความหมายกว้างขวางและสูงสุดกว่านั้น หมายถึงความไม่มีสติปัญญาอยู่กับเนื้อกับตัวจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผู้ใดเผลอสติจนไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร เรียกว่าผู้นั้นประมาทและเหมือนกับคนตายแล้ว ดังนั้นความประมาทจึงหมายถึงความไม่มีสติปัญญาอย่างแจ่มแจ้งอยู่ในขณะนั้นว่าอะไรเป็นอะไรแล้วประพฤติเป็นไปผิด คือไม่ขวนขวายในสิ่งที่ควรขวนขวาย ไปขวนขวายในสิ่งที่ไม่ควรขวนขวายอย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าประมาท ไม่ได้หมายความว่าเพียงแต่อวดดีเหมือนแมงป่องหรืออะไรทำนองนั้น ดังนั้นความไม่ประมาทก็เหมือนกันอีก ความไม่ประมาทนั้นในภาษาบ้านเราก็หมายความว่าให้ระมัดระวังไว้หน่อย อย่าอวดดีอย่าประมาทอย่าทำเล่นๆกับสิ่งนั้นๆ แต่ในทางธรรมะนั้นหมายถึงความสมบูรณ์ของสติที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่เสมอ และตนควรจะทำอย่างไรก็ไม่ให้พลั้งพลาดในการกระทำนั้นด้วยจึงจะเรียกว่าความไม่ประมาท ตรงนี้ชี้ได้ยากตรงที่ว่ามันรวมธรรมะ รวมคุณธรรมอื่นๆเอาไว้ด้วยกันหลายอย่าง เช่นว่าความเพียรก็รวมอยู่ในความไม่ประมาท ความไม่มัวเมาก็รวมอยู่ในความไม่ประมาท ความไม่โง่เขลาก็รวมอยู่ในความไม่ประมาท ความไม่สะเพร่าก็รวมอยู่ในความไม่ประมาท ฉนั้นคำว่าความไม่ประมาทในภาษาบาลีนั้นจึงเป็นคำพิเศษ มีความหมายครอบคลุมไปหมด ทุกๆอย่างที่เป็นที่มาของความทุกข์ แต่ถ้าพูดสั้นๆก็ว่าความไม่ประมาทนั้นคือไม่ปราศจากสติปัญญา ส่วนความประมาทนั้นคือปราศจากสติปัญญา ที่ตรัสว่าจงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทนั้นมันเนื่องกันมากับข้อที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอเราเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ความไม่ประมาทก็จะเกิดขึ้นมาเอง คือจะไม่ทำผิดจะไม่เข้าใจผิดหรือจะไม่เกียจคร้านในหน้าที่อย่างนี้เป็นต้น รวมความแล้วคำว่าไม่ประมาทคำเดียว เป็นคำที่ครบถ้วนบริบูรณ์ทุกอย่างที่จะดับทุกข์ได้ และพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้เป็นคำสุดท้ายดังนี้ นี้เรียกว่าเป็นคำตอบของปัญหาที่ถ้าถูกถามว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร เราตอบเป็นระยะๆไปว่า อันดับแรกสอนให้เดินสายกลาง อันดับสองว่าเดินนั้นให้เดินเอง อันดับสามว่าสิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย ให้จัดการกับมันให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ และสอนให้ระบุเป็นตัวบทลงไปว่า ให้เว้นชั่ว ทำดี ให้จิตบริสุทธิ์ และให้รู้ว่าสังขารทั้งปวงมีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องไม่ประมาท ก็เป็นอันสิ้นสุดของคำตอบที่จะตอบต่อปัญหาว่า ปัญหาที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ทีนี้ท่านจะเห็นได้ว่าคำตอบที่ยืดยาวหลายขั้นหลายตอนขยักขย้อนอย่างนั้นมันจำยาก มันเข้าใจยาก เราจึงตั้งปัญหาใหม่ว่าถ้าจะสรุปใจความให้สั้นที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร นี้หมายความว่าผู้ถามบังคับเอาทีเดียวว่าไม่ให้ตอบเยิ่นเย้อหลายประโยคหลายบรรทัด แต่ให้ตอบด้วยประโยคประโยคเดียวสั้นๆว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ถ้าบังคับให้ตอบอย่างนี้เราก็ตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ แปลว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สั้นๆเพียงเท่านี้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น โดยใครๆ หรือใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ประโยคก็ยังเหลือสั้นเต็มทีว่า ทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างสั้นที่สุดประโยคเดียวว่า ทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วเราจะเอาประโยชน์จากคำสอนประโยคนี้ได้อย่างไรกัน เราจะเอาประโยชน์จากคำสอนประโยคนี้ได้ด้วยการขยายความออกไปให้เต็มที่เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปัญหาข้อที่สอง