แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็น ศุภภาปะระ(นาทีที่ 01:34) ลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาเมื่อตอนเย็น โดยหัวข้อว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัน อันเป็นใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม อันเกิดขึ้น จากการที่ได้ยินได้ฟัง พระธรรมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร หรือเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ ของท่าน เป็นธรรมจักษุที่เกิดขึ้น แก่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ดังที่ปรากฏอยู่ในตอนท้ายแห่ง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร นั้น
ข้อนี้ควรจะทราบได้เองว่า ธรรมจักษุนั้น เป็นผลของการฟังเรื่องอริยสัจ ผู้ใดได้ฟังเรื่อง อริยสัจ มีธรรมจักษุเกิดขึ้น ข้อนี้หมายความว่า ผู้นั้นได้เริ่มเห็นธรรมะที่เป็นตัวพุทธศาสนา แม้ว่าจะยังไม่ละกิเลสได้สิ้นเชิง แต่ก็เป็นการแน่ว่าจะละกิเลสได้สิ้นเชิงในโอกาสต่อไป
ในระดับของการได้ธรรมจักษุนี้ หมายถึงความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันก็แปลว่า ผู้แรกถึงกระแส กระแสนั้นคือกระแสแห่งพระนิพพาน ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ก็หมายความว่า เป็นผู้ที่แน่นอนต่อการบรรลุพระนิพพาน มีอันไม่เวียนกลับเป็นธรรมดา แน่นอนต่อการก้าวไปสู่คุณธรรมเบื้องหน้า เป็นลำดับๆ ไป จนกระทั่งถึงอันดับสูงสุดคือเป็นพระอรหันต์
ดังนั้นคำว่า ธรรมจักษุ ก็มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า โสดาบัน คือผู้แรกถึงกระแสของพระนิพพานนั้น ต้องมีธรรมจักษุเกิดขึ้น เห็นธรรม หรือกล่าวกลับกัน ก็คือ ผู้ที่มีธรรมจักษุ มองเห็นธรรม จริงแล้ว ผู้นั้นย่อมถึงแกระแสแห่งพระนิพพาน
ด้วยเหตุนี้จึงได้กล่าวว่า การถึงกระแสพระนิพพานนั้น เป็นอันเดียวกันกับ การได้ธรรมจักษุ ผลของการแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ปรากฏชัดอยู่ว่า ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดธรรมจักษุและเห็นธรรม การเห็นนั้นมีใจความสำคัญว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สิ่งใด ๆ มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธะธัมมัน สิ่งนั้น ๆ ทั้งหมดมีการดับไปเป็นธรรมดา ผู้สนใจในเรื่องนี้ จะต้องสังเกต และกำหนดข้อความนี้ ไว้ให้ดี ๆ ให้แน่ชัดว่า สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ถ้าจะให้สั้นลงไปอีก ก็ต้องว่า สิ่งใดมีความเกิด สิ่งนั้นต้องมีความดับ ถ้าสิ่งใดไม่มีความเกิด สิ่งนั้นก็ไม่มีความดับ เราจึงแยกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้เป็นสองฝ่าย หรือสองประเภท คือฝ่ายหนึ่งมีเกิดและมีดับ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ
ที่นี้ความฉงนก็จะเกิดขึ้นว่า ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับแล้ว จะปรากฏอยู่ได้อย่างไร หรือจะมีขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้เองเป็นใจความสำคัญ ในการที่คนเราจะเข้าใจ พุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งหรือไม่
คนธรรมดาสามัญทั่วไปนั้น รู้จักแต่สิ่งที่มีการเกิดและการดับเท่านั้น ไม่อาจจะรู้จักสิ่งที่ไม่มีการเกิดและการดับ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคนนั้น มันปรากฏขึ้นมาในลักษณะที่มีการเกิดทั้งนั้น แม้ว่าจะตั้งอยู่นานหน่อยจึงค่อยดับ มันก็มีการดับ คนจึงได้เห็นแต่สิ่งที่มีการเกิดและการดับ สิ่งที่ไม่มีการเกิดและการดับนั้น เข้าใจไม่ได้ จนกว่าเมื่อใด จะมองเห็นพร้อมกันหมดทั้งสองอย่าง ทั้งสองฝ่าย จึงจะมีความรู้ขนาดที่เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม คือรู้จักแยกออกมาว่า ถ้าสิ่งใดมีการเกิดแล้ว สิ่งนั้นต้องมีการดับ ส่วนสิ่งซึ่งตรงกันข้ามนั้น ไม่มีการเกิดและการดับ ซึ่งกล่าวได้ว่า สิ่งใดไม่มีการเกิด สิ่งนั้นก็ไม่มีการดับ
ทีนี้ สิ่งที่จะต้องทราบกันต่อไป ก็คือ อาการที่เรียกว่าเกิดหรือดับนั่นเอง จะมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เกิดและดับ และอะไรเล่าที่ไม่เกิดและไม่ดับ สำหรับการเกิดนั้น คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็รู้จักแต่การเกิดจากท้องมารดา หรือเกิดจากแม่ เช่นการเกิดของสัตว์เดรัจฉาน การเกิดของมนุษย์ รู้จักแต่การเกิดจากท้องแม่เช่นนี้ เรียกว่า รู้จักการเกิดแต่ในทางวัตถุ เท่านี้ยังไม่พอ จะต้องมีความรู้จักการเกิดซึ่งสำคัญกว่านั้น หรือมีปัญหามากกว่านั้น
การเกิดที่มีปัญหา หรือมีความสำคัญนั้น ได้แก่การเกิดของความรู้สึกในทางจิตใจ สิ่งที่เรียกว่าร่างกายและจิตใจนี้ อาศัยซึ่งกันและกัน ตั้งอยู่ เพื่อทำหน้าที่ของมัน เช่น รับอารมณ์มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง แล้วก็มีการปรุงแต่ง ให้เป็นความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ในทางที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า เราหรือของเรา นี้เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ธรรมะของพระอริยเจ้า ที่แสดงให้ทราบว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา หรือเป็นตัวเรา สัตว์เหล่านั้น ถือเอาแต่ความรู้สึกของตนเอง เกิดความรู้สึกไปตามธรรมชาติ ธรรมดาของคนสามัญ ดังนั้น จึงได้เกิดความรู้สึกเป็นไปในทำนองว่า สิ่งนี้ถูกใจหรือไม่ถูกใจ
เมื่อมีความถูกใจ ก็เกิดความรัก เกิดความอยาก อย่างนั้นอย่างนี้ ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อมีความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว ก็มีความรู้สึกเป็นตัวฉันขึ้นมา ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้ หรือจะเสีย เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวฉันขึ้นมาโดยสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่ามีการเกิดในทางนามธรรม หรือ ทางจิตใจเป็นตัวเรา เป็นตัวฉันขึ้นมาแล้ว แม้อย่างนี้ก็เรียกว่า การเกิดด้วยเหมือนกัน
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ถูกใจ ก็เกิดความอยากไปในทำนองที่ตรงกันข้าม เช่น อยากจะทำลายเสีย หรือว่าอยากจะไม่ประสบพบเห็น เป็นต้น เกิดความรู้สึกอยากอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า เป็นตัวฉัน ที่ฉันจะต้องประสบกับสิ่งนี้ ฉันไม่ต้องการสิ่งนี้ ฉันอยากจะทำลายสิ่งนี้ หรือไปให้พ้นเสีย นี่ก็เป็นความรู้สึกที่เป็นฉันขึ้นมา เรียกว่า เป็นการเกิดในทางนามธรรม หรือทางจิตใจ ด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นจะต้องสังเกต ดูให้ดีว่า สิ่งที่กระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือ ทางใจเองเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ว่าจะให้เกิดความ รู้สึกที่พอใจ หรือไม่พอใจ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่จะให้เกิดความรู้สึกว่าตัวฉันได้ด้วยกันทั้งนั้น ก็หมายความว่า มันให้เกิดตัวฉันได้ ทำให้มีการเกิดได้ด้วยกันทั้งนั้น นี้เป็นการเกิดทางนามธรรม หรือทางจิตใจ และในที่สุดมันก็มีการดับ คือเมื่อความรู้สึกที่เป็นตัวฉันนั้น เป็นไปถึงที่สุดเรื่องหนึ่ง หรือ กรณีหนึ่งแล้วมันก็ดับคือตาย ในทางฝ่ายนามธรรม หรือทางฝ่ายจิตใจ เช่นเดียวกับทางฝ่ายร่างกายที่เกิดมาจากท้องแม่ อยู่ได้โดยสมควรแก่เวลา ครั้นถึงอายุขัย แล้วก็ดับ คือ ตาย มนุษย์ ก็อยู่ได้ไม่เกินร้อยปี สัตว์เดรัจฉาน ก็อยู่ได้น้อยกว่านั้น เป็นลำดับมา แต่ในที่สุดก็จะต้องดับ หรือตายด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้น ควรจะดูให้เห็นว่า การเกิดทางวัตถุร่างกายนั้น ก็มีการดับ การเกิดในทางจิตใจนั้นก็มีการดับ เมื่อมีการเกิด และการดับแล้ว ก็ต้องได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการเกิดและการดับนั้น ส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นไปเพื่อความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการเกิดในทางนามธรรม หรือทางจิตใจ ย่อมเป็นทุกข์เสมอไป และทุกคราว สำหรับการเกิดในทางร่างกายหรือทางวัตถุ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายล้วนๆ นั้น ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ก็ไม่เป็นความทุกข์ หรือ ความสุขอยู่ในตัวมันเองได้ ต้องอาศัยความรู้สึกในทางจิตใจ หรือความเกิดในทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงจะเป็นความทุกข์ หรือ เป็นความสุข
คนเราที่มีร่างกาย เมื่อยึดถือว่าร่างกายเป็นของตน ก็มีความทุกข์ไปตามการยึดถือนั้น นี้จะเห็นได้ว่า การเกิดทางร่างกายนั้น ไม่มีความหมาย จะมีความหมายต่อเมื่อ มีความเกิดในทางจิตใจขึ้นมาด้วย และการเกิดทางร่างกายนั้น คนหนึ่งก็มีครั้งเดียว และในที่สุดก็ตายไปครั้งเดียว ส่วนการเกิดและการดับในทางจิตใจนั้น มีได้มากครั้ง แม้แต่เพียงวันเดียวก็เกิดและดับได้ตั้งหลายรอบหรือหลายครั้ง ทุก ๆครั้งนั้นเป็นความทุกข์ ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงการเกิด ก็หมายถึงการเกิดในทางใจ ที่กล่าวถึงความทุกข์ ก็หมายถึงความทุกข์ในทางใจ และเป็นปัญหาสำคัญ หรือเป็นตัวปัญหาอันเดียวเท่านั้น โดยที่ถือว่า การเกิดและการดับในทางร่างกายนั้น มันขึ้นอยู่กับการเกิดหรือการดับในทางจิตใจ
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัส ถึงเรื่องการเกิดหรือการดับ คนก็ฟังเข้าใจไปเสียทางหนึ่ง คือเข้าใจไปในทางที่เป็นความเกิด หรือความดับของร่างกายล้วนๆ ไม่อาจจะเข้าใจถึงการเกิด หรือการดับในทางจิตใจ ซึ่งเป็นตัวปัญหา หรือเป็น ตัวความทุกข์ ในที่สุด ก็เข้าใจธรรมะนั้นไม่ได้ และไม่เกิดดวงตาเห็นธรรม แม้ว่าเราจะได้ยิน ได้ฟัง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร นี้กันอยู่เป็นประจำ ก็ยังไม่เกิดดวงตาเห็นธรรม เพราะไม่เข้าใจ และความไม่เข้าใจส่วนใหญ่นั้น ก็เพราะรู้จักแต่เรื่องทางวัตถุ หรือทางกาย ดังที่กล่าวแล้ว โดยเฉพาะคนสมัยนี้ ปัจจุบันนี้ รู้จักและสนใจ แต่เรื่องทางวัตถุหรือทางร่างกายมากยิ่งขึ้นทุกที จนคนบางคน บางพวก ไม่รู้เรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ในทางจิตใจเลย รู้เรื่องแต่ทางวัตถุ ทางร่างกาย ครั้นได้ยิน ได้ฟังอะไรๆ ก็กลายเป็นของวัตถุ หรือเรื่องของร่างกายไปหมด จึงเข้าใจธรรมะนั้นไปไม่ได้ สำหรับบุคคลในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในสมัยพุทธกาลแล้ว สนใจแต่เรื่องทางจิตใจกันอยู่เป็นประจำ มีคำพูดเกี่ยวกับเรื่องทางจิตใจพอใช้ที่จะพูดจากัน ดังนั้น จึงเข้าใจได้ง่ายและได้เร็ว
การแสดงธรรม ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ ในหมู่บุคคลที่มีความรู้ในเรื่องทางจิตใจ จึงเป็นไปได้โดยสะดวก ครั้นมาถึงสมัยนี้ คนรู้จักแต่เรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องร่างกาย เรื่องวัตถุ มากกว่าอย่างอื่น จึงยากที่จะเข้าใจธรรมะอันเป็นของละเอียด เป็นเรื่องละเอียดในทางจิตใจ ดังที่กล่าวแล้ว เราจึงไม่อาจจะเกิดดวงตาเห็นธรรมกันได้ง่าย ๆ เหมือนในครั้งโบราณ ทั้งที่เราได้ยินได้ฟัง ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ มากกว่าคนโบราณ มากกว่าคนในสมัยโบราณ แต่ก็กลับไม่ได้อะไร ไม่เกิดดวงตาเห็นธรรม หรือไม่เป็นพระโสดาบัน ผู้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน
เราจะแก้ปัญหาข้อนี้กันได้อย่างไร อาตมามีความเห็น ในชั้นแรกที่สุดนี้ว่า เราควรจะเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งสักอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาคำพูดทั้งหลายที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้ มีเป็นสองฝ่ายดังที่ได้กล่าวมาแล้วขั้นต้น ว่าคำพูดคำเดียวนั้น หมายถึงเรื่องทางวัตถุก็ได้ หมายถึงเรื่องทางจิตใจก็ได้ เช่นคำว่าเกิด เกิดทางกาย ทางวัตถุก็ได้ แต่เกิดทางจิตใจ คือเกิดแห่งความรู้สึก ว่าเป็นตัวฉัน ตัวเรา ตัวกู อย่างนี้ก็ได้ คำว่า ความเกิด คำเดียว มีความหมายสองอย่าง ดังนี้ คำอื่นๆ ก็เหมือนกันเช่น คำว่า ความตาย ก็มีตายทางร่างกายและก็มีตายทางจิตใจ คำว่า ความทุกข์ ก็มีเรื่องความทุกข์ ทางวัตถุ หรือทางกายและมีความทุกข์ในทางจิตใจ แม้ความสุขก็เป็นอย่างเดียวกันอีก นี้สำหรับคำที่เป็น คำธรรมะ ก็ยิ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งว่า คนที่คุ้นเคยแต่เรื่องทางวัตถุ เข้าใจไม่ได้
เหมือนอย่างเราได้ยินได้ฟังอยู่ว่า รัตนะ คือ แก้ว เราหมายถึง เพชรพลอย แก้วแหวนเงินทอง ต่าง ๆ แต่ คำว่า รัตนะ ในทางธรรมนั้น หมายถึง คุณธรรม ที่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์ คุณธรรม ที่ทำบุคคล ให้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์ มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นรัตนะ ผู้ที่รู้จักแต่แก้วแหวนเงินทอง ก็ไม่อาจจะรู้จัก รัตนะ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ หรือเมื่อพูดว่า ทรัพย์สมบัติ เราก็รู้จักแต่ แก้วแหวน เงินทอง วัวควาย ไร่นา เป็นต้น ไม่รู้จักว่าคุณธรรมที่ทำความดับทุกข์ต่าง ๆ นั้น เป็นทรัพย์สมบัติยิ่งไปกว่า ทรัพย์สมบัติที่กล่าวแล้ว
พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีคุณธรรมเป็นทรัพย์สมบัติ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่า เงินทอง เพชรพลอย วัวควาย ไร่นา เป็นต้นนั้น เป็นทรัพย์สมบัติ เพราะว่าจิตใจได้เปลี่ยนไปตามความรู้สึกที่ลึก หรือที่ตื้นแล้วแต่กรณี เมื่อจิตใจมีความรู้สึกลึก ก็มองเห็น สิ่งต่าง ๆ ได้ลึก แต่ก็ไม่มีการใช้คำพูดเป็นอย่างอื่น คงใช้คำพูดเดิมนั่นเอง เมื่อเป็นดังนี้ คำว่า รัตนะ ก็ดี คำว่าทรัพย์ ก็ดี ย่อมมีความหมายเปลี่ยนไปตามความรู้สึกของบุคคลผู้มองเห็น คนธรรมดารู้จักทรัพย์สมบัติ หรือรู้จักรัตนะ แต่ในทางฝ่ายวัตถุมากเกินไปจนเป็นเครื่องปิดบัง ไม่ให้มองเห็น ความเป็นรัตนะ หรือความเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของสิ่งที่เป็นนามธรรมทางจิตใจ และคำที่เป็นปัญหามากที่สุด ในพระพุทธศาสนาเรา ก็คือ คำว่า ความว่าง หรือ สุญญตา พระนิพพาน นั้นถูกเรียกว่าเป็น ปรมัต สุญญตา คือเป็นความว่างอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือพระนิพพานแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ความว่างอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นสิ่งสูงสุด เป็นปัญหาสำคัญ นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนา เป็นวัตถุประสงค์ ของการปฏิบัติพระพุทธศาสนา
ทีนี้ลดลงมา มองดูถึงการปฏิบัติ ตามหลักแห่งการปฏิบัติก็มีว่า ให้มองดูสิ่งทั้งปวง โดยความเป็นสุญญตา หรือ ความว่างอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลก โดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด
นี้เรียกว่าในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องปฏิบัติด้วยการมองให้เห็นความว่างของสิ่งทั้งปวง ที่รวมเรียกกันว่าโลกในที่นี้ ผู้ใดเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ผู้นั้นไม่มีความทุกข์ เขาจะมองเห็นเป็นสิ่งที่ไม่เกิด ไม่ดับไปหมด จึงไม่มีความทุกข์ได้ แต่ปัญหามันมามีอยู่ว่า คนทั้งหลาย จะมองเห็นโลก เป็นของว่างไปได้อย่างไร เพราะว่าคนทั้งหลาย มองเห็นโลกนี้ ว่าเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ นี้เป็นเครื่องแสดงว่า คำว่าว่าง ในความรู้สึกของคนทั่วไปนั้น ไม่ใช่อย่างเดียวกัน กับคำว่าว่าง ชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเสียแล้ว ถ้าว่าว่างตามความรู้สึกของคนธรรมดา เป็นอย่างหนึ่ง คำว่าว่าง ตามความหมายของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจึงเข้าใจแต่คำของท่านไม่ได้
ในเมื่อท่านบอกให้ มองดูโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อดังนี้ เราก็ไม่เข้าใจ หรือเมื่อบอกว่า นิพพาน นั่นเป็นของว่างอย่างยิ่ง เราก็ยิ่งไม่เข้าใจ และยิ่งไม่ต้องการนิพพานโดยเข้าใจไปว่ามันว่าง ไม่มีอะไร ทั้งที่เราไม่เคยเห็นสิ่งนั้น และไม่เข้าใจในสิ่งนั้น
ทีนี้เราลองมาพิจารณากันดู ถึงความหมายของคำว่า ว่าง มันขัดขวางกันอยู่อย่างไร หรือ มันกลับกันอยู่อย่างไร เราจึงเข้าใจไม่ได้ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ได้ ก็ต้องระลึกนึกถึงธรรมที่กล่าวมาแล้วว่า คำๆเดียว มีความหมายสองอย่างเสมอไป ถึงแม้คำว่าว่าง หรือความว่างนี้ก็เหมือนกัน คำว่าว่างทางวัตถุนั้นก็อย่างหนึ่ง คำว่าว่างในทางจิต หรือทางนามธรรม นั้นก็อย่างหนึ่ง คำว่าว่างในทางวัตถุ นั้นหมายถึงไม่มีอะไรจริง ๆ จึงจะเรียกว่าว่าง ส่วนคำว่า ว่างในทางธรรมะหรือทางที่ไม่ใช่วัตถุนั้น ไม่ได้หมาย ความว่า ว่างนั้น คือไม่มีอะไร หมายความไปอีกอย่างหนึ่งว่า คำว่าว่างนั้นมันหมายถึง ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสนใจหรือยึดถือ ดังนั้น มันจะมีอะไรให้มากมายไปสักเท่าไร ก็ตามใจ เราไม่ยึดถือ โดยความเป็นสิ่งที่น่ายึดถือ หรือต้องยึดถือก็แล้วกัน
ความว่าง ชนิดนี้แหละ เป็นความว่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนโดยบทที่ว่าให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ในโลกนี้มีอะไรทุกอย่าง หรือว่าจะสรุปแล้วก็คือ สิ่งที่เรารู้จักได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ หกทางนี้ แต่แล้วมันมีมากมายหลายหมื่นหลายแสน หลายล้าน หลายพันล้านอย่าง ถ้ามองดูในทางวัตถุ มันก็ไม่ว่าง แต่ถ้ามองดูในทางธรรมะ ทางสติปัญญา ทางจิตใจ หรือทางปรัชญา ก็อาจจะมองเห็นได้ว่า มันว่างอยู่ในลักษณะหนึ่ง คือ ว่างจากการที่จะมีตัวมันเองโดยเด็ดขาด และว่างจากส่วนที่เราจะไปยึดมั่นถือมั่นมันว่า เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา
เมื่อมองดูด้วยสติปัญญาแล้ว จะเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างนั้น ก็เพราะว่า บรรดาสิ่งเหล่านั้น มันมีความเกิดขึ้น และมีความดับไปเป็นธรรมดา มีการเกิดดับอยู่เสมอดังนี้แล้ว ก็หมายความว่า ไม่มีตัวตนที่ถาวร หรือไม่มีตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นจึงเรียกว่า ว่างจากตัวตนที่แท้จริง แม้ว่าจะมีอะไรเป็นปรากฏการณ์ ต่าง ๆ นานา สารพัดอย่าง ปรากฏได้แก่เราทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ ทุกอย่าง ทุกทางนี้ แต่แล้วมันก็ว่างจากความเป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงมายา ที่ผ่านไป แผล๊บๆ แผล่ว ๆ เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ซึ่งเรียกว่าการเกิดและการดับ ถ้าใครผู้ใด มองเห็นความจริงข้อนี้ ก็แปลว่าเป็นผู้มองเห็นความว่าง ในทางนามธรรม หรือ ทางจิตใจ หรือทางสติปัญญา อาจที่จะเข้าใจได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกเป็นของว่าง
ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า โลกนี้ว่าง หรือ เป็นของว่างนั้น ท่านหมายความว่า ว่างจากตัวตน หรือ ว่างจากของตน ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ถ้ามันมีตัวตน มันก็ควรจะมีความถาวร หรือเป็นตัวมันเองได้ ไม่อยู่ในกระแสแห่งการเกิดดับเรื่อยไปเช่นนั้น หรือว่า ถ้ามันมีตัวตนเป็นของตน มันก็ควรจะควบคุมตัวเองได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตน หรือเป็นไปตามความต้องการของตนได้ จึงเรียกว่าว่างจากตัวตน ว่างจากของตน
มีแต่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ซึ่งเรียกว่า กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เท่านั้น ดังนั้น จึงเรียกว่า สิ่งเหล่านั้น ว่างจากตัวตน หรือว่างจากของตน และมีหลักที่จะกำหนด จดจำได้โดยง่ายว่า ที่เรียกว่าว่างนั้น เพราะว่างจากตัวตน หรือว่างจากของตน
พระพุทธเจ้า ท่านตรัสสอน ให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น ก็คือให้เห็นความว่างจากตัวตน และของตนอย่างนี้ และที่ตรัสให้มีสติอยู่เสมอ ก็หมายความว่า ให้เห็นความว่างชนิดนี้ อย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอไป อย่าได้เผลอหลงเห็น เป็นตัว เป็นตน ที่น่ายึดถือ แต่ประการใดขึ้นมา เมื่อใดเผลอไป เกิดความรู้สึกเห็นเป็นตัว เป็นตน ขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่าเกิด และเป็นทุกข์ เพราะมีตัวตน มีความรู้สึก เป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ก็ต้องมีความทุกข์ เพราะความวิตกกังวล ความยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่มีอะไรเลย ก็ยังมีความรู้สึกที่หนัก เหมือนกับมีของหนักมาสุม อยู่ในจิตในใจ เพราะมีจิตใจยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้นไว้ ดังนั้น จึงได้กล่าวว่า ความเกิดเป็นทุกข์ โดยแน่นอนและทุกครั้ง และหมายถึงความเกิดแห่งความรู้สึกว่า ตัวตน หรือ ของตน นั่นเอง ที่เป็นของผู้ใด ใครคนหนึ่ง ก็คือความรู้สึกว่า ตัวเราหรือของเรา หรือถ้ามันเข้มงวดมาก ก็เป็นความรู้สึกที่พลุ่งพล่าน อย่างที่เราเรียกว่า เป็นตัวกู หรือเป็นของกู ความรู้สึกชนิดนี้ เกิดขึ้นมาเมื่อใด เรียกว่า มีการเกิดขึ้นแห่งตัวตนเมื่อนั้น เมื่อนั้นก็มีความทุกข์
ภาวะเช่นนั้น เรียกว่าไม่ว่าง เพราะว่า เต็มไปด้วยความรู้สึกว่า ตัวตน ผู้ใด มองเห็นอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นต้นแล้ว เกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนไปหมดแล้ว ก็เรียกว่า เขาไม่เห็นโลก โดยความเป็นของว่าง แต่เห็นโลกโดยความเป็นของมีตัว มีตน เป็นตัว เป็นตน เป็นของตนไปหมด มันจึงต่างกันอย่างตรงกันข้าม กับผู้ที่มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ
ถ้าผู้ที่มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเสมอ เป็นผู้ไม่ประสบกับความทุกข์แล้ว ผู้ที่เห็นโลกโดยความเป็นตัวตนอยู่เสมอ ก็ต้องประสบกันกับความทุกข์ตลอดกาล มันไม่อาจจะเหมือนกันได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสเป็นธรรมสั้นๆ ฟังเข้าใจยากว่า จงมองดูโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด
ที่นี้มาถึงพวกเรา ปฏิบัติตามคำสอนข้อนี้ได้อย่างไร พิจารณาดูแล้วอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาสงสาร เพราะว่า แม้แต่คำว่าความว่างนั้นเราก็ฟังไม่เข้าใจ ว่าว่างอย่างไรกัน แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า โลก เราก็ยังไม่รู้แน่ว่า คืออะไรกัน เพราะเราไม่เข้าใจ คำว่าว่างนั่นเอง เราก็ไม่เข้าใจ คำว่าโลก เพราะเราเห็นโลกด้วยความเป็นของไม่ว่าง อยู่เสมอไปดังนี้
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ก็กล่าวได้ว่า มีน้อยนักที่คนจะมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง เห็นอะไรก็ตาม ย่อมเป็นไปในทางไม่ว่าง คือถ้าเห็นเป็นที่พอใจ ก็อยากไปทางหนึ่ง ถ้าเห็นเป็นที่ไม่พอใจ ก็อยากไปอีกทางหนึ่ง ล้วนแต่ไม่ว่างด้วยกันทั้งนั้น ตลอดวัน ตลอดคืน ก็มีแต่อย่างนี้ ถ้าอะไรถูกใจก็เห็นเป็นตัวเป็นตนไปหมด แม้แต่ธรรมะ ก็เห็นเป็นตัวเป็นตนไปได้ ถ้ามีความถูกใจและยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นการแสดงว่า ไม่ว่าอะไรหมด ไม่ยกเว้นอะไรหมด เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน พอยึดมั่นว่า เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว ก็จะกลายเป็นไม่ว่าง แม้ว่าจะยึดมั่นในธรรมะ หรือยึด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ ยึดอะไรก็ตาม
ถ้าทำไปด้วยความยึดที่จะเอาเป็นของเราหรือเป็นตัวเราแล้ว นั่นก็ไม่ว่างด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่เรายึดว่า เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น ก็พลอยเป็นสิ่งที่ไม่จริง คือ ไม่เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงไปได้ เพราะเรายึดมั่นถือมั่น ด้วยจิตที่เป็นความหลงใหล เป็นอวิชชา เพราะเราไม่อาจจะมองเห็น ความว่างใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่มีจิตใจที่ว่าง เราจึงไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตใจที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างแล้ว มีภาวะแห่งความบริสุทธิ์ สะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็น เกิดขึ้นในใจแล้ว เมื่อนั้นเราจึงจะรู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง ที่จะปรากฏต่อเมื่อจิตใจนี้ว่าง ไม่ยึดมั่น ถือมั่น อะไรไว้โดย ความเป็นของตนนั่นเอง
ดังนั้น การที่เราจะสวดร้องท่องบ่น หรือ ออกชื่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันให้มากมายอย่างไร ถ้าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ในทางเป็นตัวเป็นตนแล้ว เราก็ไม่อาจจะรู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงได้ คงรู้จักแต่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นชั้นนอกๆ หรือที่เป็นชั้น วัตถุ บุคคล ไปทั้งนั้น นี้ก็รวมอยู่ในธรรมที่กล่าวว่า ไม่เห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของว่างจากตัวตนนั่นเอง ยกตัวอย่างนี้มาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นสิ่งที่ควรจะมองเห็น โดยความเป็นของว่างทั้งนั้น คือ ว่างจากตัวตน ดังที่กล่าวแล้ว วัตถุสิ่งของ ก็ว่างจากตัวตน ความรู้สึกคิดนึก ก็ว่างจากตัวตน แม้นนามธรรม หรือสิ่งที่สมมุติต่าง ๆ แม้ที่สุด แต่คำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ก็ยังว่างจากตัวตน คือ ว่างจากภาวะ หรือสิ่งที่ควรจะยึดถือว่า เป็นตัว เป็นตน
เราจะเรียกว่า อะไรก็ได้ โดยชื่อนั้น มันมีมากมายจะเรียกว่า อะไรก็ได้ แต่ต้องพยายามให้เห็นลึกซึ้งตามที่เป็นจริงว่า ไม่มีส่วนที่เป็นตัว เป็นตน ที่จะยึดถือให้เป็นตัว เป็นตน หรือ เป็นของตัว ของตน ความรู้สึกที่เป็นความยึดถือว่า เป็นตัวตน ของตนนั้นเพิ่งเกิด และเกิดด้วยอำนาจของความไม่รู้ ตามธรรมดาไม่มีใครยึดถืออะไรว่า เป็นตัว เป็นตนอยู่เลย ความยึดถือเป็นตัว เป็นตนนี้ เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดต่อเมื่อตาได้เห็น รูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น ครั้นได้กระทบสัมผัสเหล่านี้แล้ว เมื่อปล่อยไปตามเรื่องตามราวของสัตว์ที่ไม่มีความรู้ในทางธรรมะแล้ว ก็เกิดความรู้สึกไปตามธรรมชาติ ธรรมดา คือ ยึดถือเป็นตัวเป็นตน จนอยากได้ จนมีความทุกข์ หนักอกหนักใจ เพราะความอยาก เป็นอย่างนี้เสมอมา ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือตั้งแต่ที่มนุษย์ มีมนุษย์ เป็นมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้ทีเดียว
ทีนี้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นว่า ความรู้เรื่องไม่มีตัวตนนี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดี ก็พอจะเข้าใจได้ด้วยตนเองว่า มนุษย์ก่อนแต่ที่จะมีพระพุทธศาสนา หรือ มีศาสนาใด ๆ นั้น ก็มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน แล้วกระทำไปตามความยึดมั่น แล้วก็เป็นทุกข์ โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง เป็นทุกข์อย่างแรงบ้าง เป็นทุกอย่างอ่อนบ้าง เป็นทุกข์ชนิดที่มองเห็นง่ายบ้าง มองเห็นได้ยากบ้าง แต่รวมความแล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น
เมื่อกาลเป็นดังนี้เรื่อย ๆ มา ก็ต้องมาถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ที่มีปัญญา ช่างสังเกต ย่อมจะสังเกต เห็นได้ว่า ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หนักอกหนักใจนี้ มันเกิดมาจากความรู้สึกที่เป็นไปในทางผิด คือประกอบไปด้วย ความโง่ ความหลง ความไม่รู้ เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น เป็นตัว เป็นตน อยู่เสมอ ดังนี้ ก็ต้องเป็นทุกข์เสมอไป ต่อเมื่อมีความเข้าใจเสียให้ถูกว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดถือเป็นตัวเป็นตน จึงจะไม่เป็นทุกข์ และคนฉลาดคนนั้น ก็คือ พระพุทธเจ้านั่นเอง
เรามองเห็นได้ทันทีว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปในชีวิตของบุคคล ของมนุษย์เรานั่นแหละ ย่อมจะสอนอยู่ทุกเวลา ย่อมทำให้เกิดความรู้สึก ที่จะต้องค้นคว้า หาหนทางที่จะเอาชนะสิ่งซึ่งเป็นความทุกข์ เมื่อยังโง่เกินไป ก็ต้องทนทุกข์ไปพลาง แต่ครั้นฉลาดขึ้นมาบ้าง ก็อยากจะพ้นทุกข์ตามลำดับ ตามลำดับ เมื่อฉลาดมากที่สุด จนถึงกับรู้สึกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เป็นตัวทุกข์แท้จริง ยิ่งกว่าสิ่งใด จึงมีความคิดไปในทางที่จะละเสีย ซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่พวกเรายังไม่ถึงขนาดนั้นกันเลย ยังไม่รู้สึกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้ นำมาซึ่งความทุกข์ จึงปล่อยไปตามอารมณ์ ตามเรื่อง ปล่อยให้มันโลภตามสบายใจ ปล่อยให้มันโกรธตามสบายใจ ปล่อยให้มันหลงใหล เพราะมันสนุกดี มันไม่ลำบากยากเย็นอะไร
นี้เรียกว่า เป็นปกติวิสัย ของบุถุชน ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า คนพาล ขออธิบายในตอนนี้ สักหน่อยหนึ่ง ว่า สำหรับภาษาบาลีนั้น คนพาล มีความหมายไม่เหมือนกับในภาษาไทย เพราะคำว่า พาล พา-ละ ในภาษาบาลีนั้น หมายถึง คนอ่อน เด็กอ่อน ๆ เขาเรียกว่า คนพาล เรียกว่า พาล พา-ละ เพราะเด็กนั้นยังอ่อน ทั้งโดยร่างกายและโดยจิตใจ คำว่า พา-ละ แปลว่า อ่อน
ครั้นมาถึงเรื่องทางธรรมะ คำว่า พา-ละ ที่แปลว่า อ่อนนั้น หมายถึง อ่อนจาก อ่อนด้วยความรู้ อ่อนด้วยความรู้ทางธรรมะ แม้จะมีอายุตั้งหลายสิบปีเหมือนพวกเราที่นั่งกันอยู่ที่นี่ ก็ยังเรียกว่า คนอ่อน เด็กอ่อน อยู่นั่นเอง ในทางจิตใจก็ยังอ่อนต่อธรรมะ นี่คำว่า คนพาล แปลว่า คนอ่อน ในทางวัตถุ หมายถึง อายุน้อย ในทางจิตใจ หมายถึง มีความรู้น้อย ถ้าผู้ใดยังมีความรู้น้อย ในเรื่องทางธรรม ก็จะต้องเรียกว่า คนพาล คือคนอ่อนด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้น เราควรจะนึกกันให้มากว่า การที่ถูกเรียกว่า คนพาลนี้ ไม่ใช่ของสนุกเลย ถ้าอย่างไรก็ควรจะเป็นคนแก่กันเสียบ้าง คือมีความแก่ในทางจิตใจ รู้ธรรมะ ที่เป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียด สุขุมนี้กันเสียบ้าง หมายถึง การรู้จริง เข้าใจจริง มีจิตใจสูงขึ้นไปจริง ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ได้ฟังเทศน์หลาย ๆ หน ได้มาวัดบ่อยๆ ได้อ่านหนังสือมากๆ แล้วก็จะเป็นคนแก่ได้ แต่มันต้องเป็นคนที่มีจิตใจเจริญ มองเห็นความจริง ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไปตามธรรมชาติ รู้จักสังเกตด้วยตนเองว่า ความโลภนั้นเป็นอย่างไร ความโกรธนั้นเป็นอย่างไร ความหลงนั้นเป็นอย่างไร จนกระทั่งรู้จักตัวแท้ของความโลภ ความโกรธ ความหลง และมองเห็น โดยความเป็นไฟ เหมือนที่พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นไฟ เราก็มองเห็นชัดเจน รู้สึกแจ่มแจ้งด้วยใจว่า มันเป็นไฟจริงๆ และใคร่ที่จะดับไฟนี้เสีย จึงมีจิตน้อมไปในทางที่จะดับกิเลสนี้เสีย นี้เรียกว่า มีจิตน้อมไปในทางนิพพาน หรือ ความว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตน
และเมื่อว่างจากกิเลสแล้ว ก็ต้องว่างจากความทุกข์เป็นธรรมดา เพราะว่าความทุกข์นั้น เกิดขึ้นมาจากกิเลส กิเลสนี้ ก็เกิดขึ้นมาจากความโง่ หรือ ความเป็นพาลเป็นส่วนใหญ่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่รู้ เรียกเป็นบาลีว่า อวิชชา ความไม่รู้ หรือ อาญาณะ อัญญาณะ (นาทีที่ 51:15) ก็แปลว่า ความไม่รู้ นี้ความหมายสำคัญ อยู่ตรงที่ปราศจากความรู้ ไม่มีความรู้แล้ว ก็เป็นพาล หรือ เป็นอวิชชา หรือเป็น อัญญาณ (นาทีที่ 51:29) ได้ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อปล่อยไปตามธรรมดา ไม่ควบคุม ไม่ศึกษา ไม่ฝึกฝน มันก็ต้องเป็นไปตามธรรมดาของสัตว์ คือประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ความไม่รู้ ว่าอะไรเป็นอย่างไร ว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นความไม่ทุกข์ ดังนี้เป็นต้น และในที่สุด มันก็ต้องเป็นไปอย่างที่เรียกว่า เปะปะ เปะปะ เปะปะ ไปวันหนึ่ง วันหนึ่ง ได้สิ่งที่ไม่ถูกใจเป็นความทุกข์ขึ้นมา ก็มานั่งเสียใจ ร้องห่ม ร้องไห้ ฆ่าตัวตายไปในที่สุด ได้สิ่งที่ถูกอกถูกใจมา ก็หัวเราะร่าเริง หลงใหล มัวเมา ไปตามเรื่องของคนหลงใหล และในที่สุดก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ชนิดที่ซ่อนเร้นลึกลับ ขึ้นมาใหม่ เช่น ความหึง ความหวง ความอิจฉาริษยา เป็นต้น แล้วก็ทำผิดต่อไป เพราะความรู้สึกชนิดนั้น จนได้รับความทุกข์ถึงตายไปอีกก็มี นี้เรียกว่า ถ้ายังวนเวียนอยู่ในเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะหลีกพ้นไปจากความทุกข์ได้เลย
คนเราตามธรรมดา ตามปกติ ก็เวียนว่ายอยู่แต่ในอาการอย่างนี้ ไม่รื้อไม่ถอนขึ้นมาได้ นี้เรียก ว่าเป็นผู้ที่จมอยู่ในกองทุกข์ หรือเรียกให้เพราะขึ้นมาอีกสักหน่อย ก็เรียกว่า ผู้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร มีกิเลสเป็นเหตุให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กระทำไปตามอำนาจของกิเลสนั้น เกิดเป็นผลขึ้นมาสำหรับจะให้เป็นทุกข์ต่อไป คือถ้าได้ถูกใจก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนที่ได้อย่างใจ ถ้าได้ไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนที่ได้ไม่ถูกใจ
ผลที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ระงับกิเลสได้เลย กิเลสจึงทำหน้าที่ต่อไป ในการที่จะให้เกิดความอยากและการกระทำกรรมขึ้นมาใหม่ และ ได้เสวยผลกรรมเรื่อยไป เป็นวงกลมอย่างนี้ เรียกว่าผู้ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร เรียกว่า จมอยู่ในการเกิดการดับแท้ ๆ ก็หารู้จักการเกิด และการดับนั้นไม่ เหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า เหมือนกับปลาไม่เห็นน้ำ เหมือนกับไส้เดือนไม่เห็นดิน เหล่านี้เป็นคำอุปมา ที่จะต้องสนใจ พูดตักเตือนกันให้สังเกตว่านกไม่เห็นฟ้า ทั้งที่บินอยู่ในฟ้า ปลาก็ไม่เห็นน้ำ ทั้งที่ว่ายอยู่ในน้ำ ไส้เดือนก็ไม่เห็นดิน ทั้งที่แถกไถไปในดิน หนอนไม่เห็นอุจจาระ ทั้งที่ว่ายอยู่ใน เวียนว่ายอยู่ในอุจจาระ คนนี้ก็ไม่เห็นโลก ทั้งที่จมอยู่ในโลก มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเหตุใด ขอให้ลองสนใจกันดู ว่าอะไรที่มาปิดบังดวงตา เป็นไฝฝ้าอันหนาทึบ ปิดบังดวงตาไว้ ไม่ให้เห็นสิ่งเหล่านั้น อันนั้น แหละเป็นเครื่องปิดบังไว้ ไม่ให้เห็น หรือไม่ให้ได้ธรรมจักษุ ที่เป็นดวงตา เห็นธรรม
ดวงตาขนาดที่เรียกว่า เหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า เหมือนกับปลาไม่เห็นน้ำ นี้ไม่อาจจะเห็นธรรมได้เลย ยกตัวอย่าง เหมือนกับปลา น้ำก็แตะอยู่ที่ตาของปลา คือ ตาของปลากับน้ำก็อยู่ติดกัน แต่ปลานั้น ไม่อาจจะเห็นน้ำ ที่ว่าไม่อาจจะเห็นน้ำนี้ หมายความว่า มันเห็นไปเสียอีกทางหนึ่ง ไม่เห็นตามที่เป็นจริง ไม่เหมือนกับที่เราเห็นปลาอยู่ในน้ำ
ดังนั้น ปลาจึงมองไม่เห็นน้ำ ในลักษณะที่เป็นความหมายอันลึก และมันไม่จำเป็น หรือมันไม่ต้องการที่จะต้องมองเห็นน้ำด้วย มีแต่ความต้องการที่จะมองเห็นเหยื่อ แสวงหาเหยื่อ แสวงหาอาหาร หรือแสวงหาสิ่งอื่นๆ มันจึงไปเห็นแต่สิ่งนั้น แล้วไม่ได้เห็นน้ำที่อยู่ถึงตา คนเรานี้ก็เหมือนกัน ที่เรียกว่า เป็นคนอยู่ในโลกแต่ไม่เห็นโลกนั้น ก็เพราะว่าคนนั้นจมอยู่ในกองทุกข์ ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ไม่รู้สึกว่า สิ่งที่กำลังสัมผัสรู้สึกอยู่นั้น เป็นความทุกข์ นี้เรียกว่าเป็นคนที่อยู่ในโลก ไม่มองเห็นโลก
ไม่เห็นการเกิดแก่เจ็บตายว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เห็นแม้แต่ ตัวการเกิด การแก่ การเจ็บนั้นด้วย ไม่มองเห็นในส่วนลึกว่า ความเกิดของเรานั้น พุ่งขึ้นมาเพราะความรู้สึก ที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น และความดับไปก็คือความดับไปแห่งความยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง ไม่รู้เรื่องจิตใจอย่างนี้ รู้แต่เรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องวัตถุสิ่งของ จึงเหมือนกับหนอนที่อยู่ในอุจจาระ ก็กล่าวได้ว่า ไม่เห็นอุจจาระ ทั้งที่มันกินเข้าไปอยู่เสมอ
คนเราถ้าเปรียบกับหนอน ในกรณีเช่นนี้แล้ว ก็หมายความว่า เป็นผู้ที่กินความทุกข์เข้าไป และกินอยู่เสมอ โดยไม่ต้องรู้จักตัวความทุกข์นั้น นี้เรียกว่า เวียนว่ายอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ก็ไม่รู้จักความทุกข์เลย นี้เรียกว่า คนพาล ที่ยังอ่อนอยู่ นี้เรียกว่า บุถุชน คือ คนหนา เพราะมีอะไรปิดบังดวงตา หนาเกินไป จึงเรียกว่า บุถุชน คือ คนหนา
จะเรียกว่า คนอะไรก็ตาม เมื่อรวมความแล้ว ก็คือ คนที่ไม่มีดวงตาเห็นธรรม เพราะมีอะไรปิดบังตา คือจิตใจนั้นหนาเกินไป ไม่มีดวงตาที่จะเห็นธรรมตามที่เป็นจริง ไม่เหมือนกับ พระอัญญา โกณฑัญญะ ที่เพียงแต่ได้ฟัง พระธรรมเรื่องอริยสัจสี่ ชั่วเวลาอันเล็กน้อย ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ดังนี้เป็นต้น
เราทั้งหลาย ที่หวังจะได้สิ่งที่ดีที่สุดจากพระพุทธเจ้า ก็ควรจะนึกถึงเรื่องนี้กันให้มาก เพื่อจะเกิดความไม่ประมาท แล้วพยายามกระทำไป จนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของพระธรรม จนได้รับสิ่งที่เรียกว่า ดวงตาเห็นธรรมในข้อแรก ซึ่งทำให้เป็นบุคคลที่เข้าถึงกระแสของธรรม หรือกระแสของพระนิพพาน แล้วมีพระพุทธเจ้านั่นเอง เป็นนายประกัน ค้ำประกันว่าคนนี้จะไม่มีอันถอยกลับเป็นธรรมดา มีแต่จะก้าวไปข้างหน้า จนดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ในอันดับที่เป็นพระอรหันต์
ถ้าเรานึกถึงเรื่องนี้กันให้มาก ด้วยความไม่ประมาท ก็คงจะมีผลเกิดขึ้น ดีหรือสูงกว่าที่เป็นอยู่ เดี๋ยวนี้ มากมายทีเดียว เมื่อตอนเย็นนี้ ก็ได้กล่าวถึงการที่ทำอะไรซ้ำๆซากๆ ไม่มีอะไรดีขึ้น แม้จะเทียบกันกับเมื่อปีก่อน หรือปีก่อนโน้น ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่การทำอะไรซ้ำๆ อยู่ที่เดียว เรื่องการให้ทานก็ดี เรื่องการรักษาศีลก็ดี เรื่องการฟังธรรมก็ดี เรื่องการไหว้พระสวดมนต์ก็ดี เรื่องการเจริญกรรมฐานทางจิตทางใจก็ดี ยังเป็นเพียงพิธีรีตอง หรือทำไปอย่างในรูป ในแบบที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องใช้ความคิดนึกศึกษา สังเกตอะไรเลย นี้ก็เป็นเรื่องซ้ำซาก ไม่มีทางที่จะก้าวหน้าไปได้
แต่เมื่อพอใจหรือสบายใจกันเสียเพียงเท่านี้แล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะช่วยได้ แล้วก็ไม่ต้องโทษใคร ในที่สุดก็เป็นกันอยู่อย่างนี้ เรียกว่า เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร หรือในกองทุกข์ อย่างที่ไม่รู้สึกเหมือน กับหนอนที่เวียนว่ายอยู่ในกองอุจจาระ อย่างไม่รู้สึก หรือว่าเหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน คนไม่เห็นโลก ชนิดนั้นอยู่ร่ำไป
ทำไมไม่รู้สึกขยะแขยงกันบ้าง ไม่รู้สึกหวาดกลัวกันบ้าง ไม่พยายามขวนขวายจะยกตัวของตัวให้ขึ้นมาพ้น จากการเวียนว่ายอยู่ในลักษณะเช่นนั้นบ้าง
วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ซึ่งมีความสำคัญเหมือนกับ วันวิสาขบูชา มาฆบูชา เรามาคิดบัญชีเรื่องนี้กันดูบ้าง และจะได้มีโอกาสทำการบูชาพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ในลักษณะที่เหมาะสมแก่กันและกัน ถ้าสมมุติว่า หนอนตัวหนึ่งเปื้อนไปในอุจจาระทั้งตัว คลานเข้ามาหาเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เราคงจะวิ่งหนี อย่างไม่คิดแก่อะไรหมด เราก็ต้องคิดดูต่อไปว่า ถ้าเราที่มีลักษณะเหมือนหนอนตัวนั้น จะเข้าไปหาพระพุทธเจ้า จะไปทำการบูชาแก่พระพุทธเจ้า แล้วมันเป็นการสมควรกันหรือไม่ เราควรจะทำอย่างไรดี ถึงจะให้สมกันกับที่เราจะทำอาสาฬหบูชา
อาตมาได้พิจารณาเรื่องนี้ อยู่เป็นประจำ เมื่อมองเห็นความไม่ก้าวหน้าของพุทธบริษัทของเราแล้ว ก็มีความรู้สึกไม่สบายใจ คือมีความรู้สึกว่า ไม่ปลอดภัย ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยินดี ไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยไปตามเรื่องตามราวได้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดนึกกัน อย่างจริงจัง ให้ทันแก่เวลาและเหตุการณ์ ดังนั้น จึงได้กล่าวซ้ำๆซากๆในเรื่องนี้ คือเรื่องความก้าวหน้าในทางธรรมนี้ อยู่เสมอๆ จนท่านทั้งหลายบางคน คงจะรู้สึกเบื่อระอาเต็มทีแล้วก็ได้
แต่แล้วมันก็ไม่มีทาง ที่จะเป็นอย่างอื่นได้ ไม่มีทางไหนที่จะทำได้ นอกจากการรบเร้า แก่กันและกันตลอดไป ให้มีความไม่ประมาท ให้ระลึกนึกถึงสิ่งที่เป็นหน้าที่ ให้ระลึกนึกถึง ภาวะที่ยังเหมาะจมอยู่ในกองทุกข์ และให้ช่วยกันและกัน ให้ก้าวหน้า ไม่อิจฉาริษยากัน แต่เป็นเพื่อนที่ดี คือเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน ช่วยกันสร้างความก้าวหน้าขึ้นในหมู่พุทธบริษัทเรา ให้เราได้ทำอาสาฬหบูชา เป็นต้น ชนิดที่เป็นจริง หรือเป็นความจริงขึ้นมา จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้ช่วยกันนึก ช่วยกันคิดในเรื่องนี้ให้มาก ว่าถ้าเราจะทำอาสาฬหบูชา เราจะต้องระลึกนึกถึงการประพฤติปฏิบัติ ที่ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ และมีผลก้าวหน้าไปในทางที่จะเกิดดวงตาเห็นธรรม อยู่เสมอไป เข้าใจในธรรมที่ได้กล่าวไว้ เป็นคำสอนอันสูงสุดของพระพุทธองค์
ในเรื่องความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ว่างจากตัวตนหรือของตน มีแต่การเกิดและการดับไปตามปกติของธรรมชาติ และ ไม่หลงใหลไปยึดถือเอาธรรมชาติที่มีการเกิดการดับนั้น ว่าเป็นตัวตน หรือของตน แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร และให้เป็นไปตามเรื่องของสิ่งทั้งปวง
ถ้าจิตใจคือตัวเรานี้ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ก็ให้มีวิชชาคือปัญญารู้ตัวอยู่ก่อน แล้วไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เช่น ถ้ารับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้น ขึ้นมาแล้ว ก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไร มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอย่างไรอยู่ แล้วเราจะต้องประพฤติ กระทำ หรือจัดแจง กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ก็จัดแจงไปตามที่ถูกที่ควร ถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องไปเกี่ยวข้อง ก็ไม่ไปเกี่ยวข้อง พักผ่อนนอนสบายเสียดีกว่า ถ้าจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ต้องเกี่ยวข้องกับความรู้ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความรู้ หรือด้วยสติปัญญาที่สูงสุด คือสติปัญญาที่เห็นว่า โลกเป็นของว่าง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่าง ว่างจากตัวตนและของตน ดังที่กล่าวกันอยู่เป็นปกติทั่วไป เป็นประจำวัน โดยบทสวดต่างๆ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น แม้ที่สุด แต่คำว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นี้ เราก็เคยได้ยินกันมา มากมายหลายสิบครั้งแล้ว
แล้วก็พุทธภาษิตต่างๆ ที่เกี่ยวกับความว่างจากตัวตนนี้ ก็กำลังแพร่หลายออกมาทุกที เราได้ยินได้ฟังมากขึ้นทุกที เราก็ควรจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นบ้าง เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับเข้าใจธรรมะเหล่านี้ จะได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับความว่างนี้ เพื่อเวลาที่เหลืออยู่
ข้อแรกที่สุด ที่เราจะต้องระลึกนึกถึงนั้น เราจะระลึกนึกถึง พระพุทธภาษิตที่สอนให้มองโลกโดยความเป็นของว่าง ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกคิดนึกของเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าโลกนี้ว่าง ก็เพราะไม่มีอะไร ส่วนใด ส่วนไหน ที่เป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของของตน มีแต่สิ่งที่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่มากมาย หลายร้อย หลายพันสิ่ง ตามธรรมชาติ และความเกิด ความดับของสิ่งเหล่านี้ มันเนื่องกับเรา เพราะเราไปเห็นมันเข้า เพราะเราไปได้ยิน ได้ฟัง ได้ดู ได้ชิม ได้อะไรมันเข้า มันจึงมาสำคัญกันกับเรา ถ้าเราไปหลงเป็นของไม่ว่างแล้ว เราก็ประพฤติผิด ต่อสิ่งเหล่านี้เป็นแน่นอน ไม่มีทางที่จะประพฤติถูกได้ เมื่อประพฤติผิดต่อสิ่งเหล่านี้ ผลมันก็เกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง คือไปในทางที่ผิด ซึ่งหมายถึง ทำให้เรา ต้องประสบกันกับความทุกข์ ไม่อยู่เหนือความทุกข์ได้
เมื่อเราเข้าใจ พระพุทธภาษิตข้อนี้แล้ว ก็เรียกว่า มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฐิ เมื่อมีสัมมาทิฐิ เห็นถูกแล้ว ก็ต้องเห็นไปในทางที่จะไม่ยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใด โดยความเป็นของตน เห็นโลกนี้โดยความเป็นของว่าง จากตัวตนอยู่เสมอ ตลอดเวลาเหล่านั้น จิตก็ว่างจากความยึดถือ จิตที่ว่างจากความยึดถือสิ่งใดว่าเป็นตัวตน ของตนนี้ เราตั้งชื่อให้ใหม่ ให้สั้น ๆ เรียกง่าย ๆ เรียกว่า จิตว่าง ถ้าขยายความออกไปก็คือ จิตว่าง จากความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าเป็นตัว เป็นตน หรือเป็นของของตน
มันเป็นคำพูดที่ยืดยาว ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็สรุป ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ เพียงสองพยางค์ได้ว่า จิตว่าง และคำว่า ว่างนี้ หมายถึง ว่างทางนามธรรม ทางจิตใจ ทางสติปัญญา ไม่ใช่ว่างในทางวัตถุ คือว่างไม่มีอะไร ว่างในทางนามธรรม หรือทางสติปัญญา ทางธรรมะ หรือทางปรัชญาแล้ว แต่จะเรียกนี้ หมายความว่า จิตกำลังว่าง จากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตนของตน และไม่มีความทุกข์เลย จิตนั้นรู้อารมณ์ทุกอย่าง เสวยอารมณ์ทุกอย่าง พิจารณาอารมณ์ทุกอย่าง หรือแม้ที่สุดแต่ รู้รสบริโภคอารมณ์ทุกอย่าง แต่ก็ไม่โง่ ไม่หลง ด้วยอวิชชา ไปมีความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวตน หรือของตน
แม้ในขณะที่รู้อารมณ์ รับอารมณ์ เสวยอารมณ์ พิจารณาอารมณ์ ก็ทำไปด้วยสติปัญญา ไม่ได้เผลอ เป็นกิเลสตัณหา ยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้ แม้ว่าจิตนั้น จะกำลังทำการงานในทางจิต อย่างวุ่นตัวเป็นเกลียว ก็ยังเรียกว่า จิตว่าง อยู่นั่นเอง เพราะมันยังว่าง จากความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัว เป็นตน หรือเป็นของ ของตน จิตอย่างนี้ไม่มีความทุกข์ จิตอย่างนี้เฉลียวฉลาด สามารถปฏิบัติการงานที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ลุล่วงไปด้วยดี
ดังนั้น จึงไม่มีทางเสียหาย ไม่มีการขาดทุน มีแต่การได้ผลดี เป็นกำไร มีความก้าวหน้า ในทางการงาน และได้รับ ผลเป็นความพอใจ เป็นความสุขสงบเย็นอยู่เสมอ นี่แหละคือ ใจความสำคัญ สั้น ๆ ของสิ่งอันมากมาย ที่พระพุทธเจ้า ท่านประทานให้แก่เรา
เราเป็นคนโง่ คนหลง เสียเอง ทำให้สิ่งที่ง่ายๆ สั้นๆนั้น กลายเป็นของยาก ยืดยาดไป ถ้าเราไม่เข้าใจผิดในเรื่องนี้ มีการศึกษาดี และเพียงพอแล้ว เราก็เข้าใจได้ เห็นว่าเป็นเรื่องเดียว เป็นเรื่องสั้น เป็นเรื่องง่าย เป็นเครื่องอยู่ในวิสัย ที่เราจะเข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่จำเป็น แก่คนเราในชีวิตประจำวัน แต่ละวัน แต่ละวัน จะต้องมีกิจอย่างนี้ คือมีจิตที่ประกอบไปได้ด้วยสติปัญญาและไม่มีความทุกข์ จิตที่ประกอบไปด้วยสติปัญญานั้น ทำให้ทำการงานได้ดี จิตที่ไม่ประกอบไปด้วยความทุกข์นั้น คือ ภาวะที่เราต้องการ ไม่ว่าในกรณีไหนและเมื่อไร
เราต้องมีความแน่ใจว่า เรานี้ไม่ใช่เกิดมา เพื่อทนทุกข์ เราจะต้องเลือกเอาข้างฝ่ายที่ไม่มีความทุกข์ไว้ก่อน เราจึงพยายามไปแต่ในทางที่จะไม่มีความทุกข์ ทุกอย่าง ทุกทาง ทุกประการ ถ้าเป็นเรื่องของความทุกข์แล้ว เราพยายามตีตัวออกห่าง พยายามที่จะไม่ข้องแวะด้วยเลย ไม่ไปคิดด้วยความประมาทว่า ช่างมัน ทนทุกข์ไปพลาง ถ้าเราต้องการอะไร เราก็ทำไป แม้ว่าจะต้องมีความทุกข์ อย่างนี้มันไม่ถูก โดยเนื้อแท้ เพราะว่าเราเกิดมาเพื่อจะพ้นทุกข์ เพื่อจะดับทุกข์ แล้วเราจะไปสมัครเอาข้างความทุกข์ หรือ เข้าทางความทุกข์ มันไม่ถูก เพราะว่ามันมีวิธี มีหนทาง มีเคล็ด หรือมีอะไรอยู่บางอย่าง ที่จะทำให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์ และให้เราทำอะไรไปได้ตามที่ควรทำ ซึ่งหมายถึงความไม่เป็นทุกข์อีกนั่นเอง
ถ้าเป็นเรื่องของความทุกข์แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำไปหมดสิ้น ดังนั้นอย่าเป็นผู้มักง่าย ปล่อยไปตามบุญตามกรรม ว่าช่างมันเถอะ อยากได้อะไร อยากทำอะไรก็ทำไป โดยไม่ต้องพินิจ พิจารณา อย่างนี้แหละ คือ อาการของคนพาล คนอ่อน คนโง่ คนเขลา คนหนา คนอะไรต่าง ๆ ที่เป็นคนธรรมดา ยังไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ยังไม่รู้ร่องรอย หนทางของ พระนิพพาน ถ้ารู้ร่องรอย หนทางของพระนิพพาน ก็รู้ว่า เราต้องการ จะไปที่ความว่าง เพราะว่าพระนิพพานนั้น เป็นความว่างอย่างยิ่ง จุดปลายทางของเรา คือ ความว่างอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งต้นไป ทีละเล็ก ทีละน้อย เสียแต่บัดนี้ มันจึงจะเป็นไปในทางที่เป็นความว่างอย่างยิ่งได้ในตอนสุดท้าย การที่เราปล่อยไปตามเรื่องตามราว ตามแต่ความคิดนึกชั่วขณะ มันจะพาไปนั้น เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นอาการของคนเขลา คนพาลอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ควบคุม ให้ควบคุมจิตใจ ให้เดินไปตามลู่ตามทางของธรรมะ อย่าได้ปล่อยไปว่า มันต้องการอย่างไร ก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ถ้าปล่อยอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องไปบูชา สิ่งที่เป็นความทุกข์เข้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คำพูดที่เรียกว่า อ้า,ความพูดที่กล่าวว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุนี้ แต่ว่าอย่าลืมว่า คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น ไม่มีทางที่จะรู้สึกตัวว่าเราเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็จะเห็นเป็นดอกบัวอยู่เสมอไป โดยไม่รู้จักกงจักร หรือไม่เห็นกงจักร
นี่แหละเป็นอาการที่เราทนทุกข์อยู่ด้วยความสมัครใจ ยอมจมอยู่ในกองทุกข์ด้วยความสมัครใจ ไม่รู้จักเข็ด ไม่รู้จักหลาบ ในการที่จะต้องทนทุกข์นั้นๆ การที่ต้องทนทุกข์ ในลักษณะเช่นนี้ เขาเรียกว่า เป็นเปรต ฟังดูให้ดีว่า มันน่าชื่นใจ หรือ มันน่าสังเวชใจ ถ้าต้องเป็นเปรต
เปรตนั้นเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันจึงได้ทนทุกข์ยืดยาว จนผอมเหลือแต่ก้าง ถ้าเราต้องเป็นอย่างนั้น เราจะนึกอย่างไร ควรจะมีความละอายแก่ใจอย่างไร ลองหลับตานึกให้เห็นเปรต ที่มีกงจักร อยู่บนศีรษะ พัดผันอยู่เสมอ หมายความว่า บดขยี้ ให้เลือดไหลโทรมอยู่เสมอนี้ มันเป็นที่น่าพอใจ ที่ตรงไหน
แล้วก็มามองดูให้ดีว่า เราที่ไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ ในการที่ปล่อยใจ ให้เป็นไปตามที่มันจะเป็นไปเอง มีความทุกข์ ก็สมัครทนเอา ด้วยความเห็นแก่การได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แก่ การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ด้วยการเห็นแก่การได้เล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละ ทำให้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย ทั้งหมด ทั้งปวงได้ ยินดีที่จะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ คือยอมทุกข์ นั่นเอง
อาการอย่างนี้มีได้ แม้แก่คนทุกคนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะเป็นคนมีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีชื่อเสียง มีอำนาจ วาสนา มีเกียรติยศ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วๆไป ก็ยังมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นเปรต ที่มีกงจักร อยู่บนศีรษะได้เพราะเขาเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
คนที่มีทรัพย์ มีเกียรติยศ มีอำนาจวาสนา อะไรต่างๆ เหล่านั้น ต้องเป็นอยู่ด้วยความทนต่อความทุกข์ทรมาน เขารู้สึกในความต้องทนทรมาน นั้นบ้างเหมือนกัน แต่แล้วก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ มีอวิชชามาปิดบัง ให้พอใจในความเป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป
คนมีทรัพย์ มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง มีอำนาจวาสนา เหล่านั้นแหละ คือคนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน อย่างยิ่งไปกว่า คนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจวาสนาไปเสียอีก
ทีนี้ เรามองดูกันอีกทางหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่รู้จักปรับปรุงจิตใจให้ดี อย่าให้ตกอยู่ในลักษณะ ที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ให้มีธรรมะ ขนาดที่เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม อยู่เป็นประจำ ไม่ยึดมั่นสิ่งใด โดยความเป็นของตน เป็นตัวตน คือไม่ยึดมั่นกงจักร ว่าเป็นของตน ไม่ยึดดอกบัว ว่าเป็นของตน ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ เพราะว่าไม่ว่าอะไร ถ้ามีการเกิด ต้องมีการดับ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เรื่องที่จะไปเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่เรื่องสติปัญญา ที่จะจัดจะทำไปวันหนึ่ง ๆ ให้สูงขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับ ในทางที่จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง
อย่างนี้เรียกว่ามันตั้งต้นด้วยความว่าง ไม่มีกงจักร ไม่มีดอกบัว ไม่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือไม่เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว ชนิดที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่า ทั้งกงจักร และทั้งดอกบัว มีความว่างจากตัวตน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันหมด ทั้งกงจักรและดอกบัว เราก็เป็นผู้ที่มีจิตใจอย่างใหม่ ชนิดอื่น ผิดคนธรรมดา แต่ไม่ใช่ผิดไปในทางที่จะเป็นเปรต หรือ เป็นคนบ้า แต่ผิดไปในทางที่จะเป็นไปตามทาง ของพระอริยเจ้า หรือจะเป็นพระอริยเจ้า นั่นเอง เพราะมีดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้าในอันดับแรก ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน มีพระพุทธเจ้า เป็นนายประกัน ค้ำประกันว่า จะไม่มีอันถอยหลังกลับเป็นธรรมดา ดังที่กล่าวแล้ว
ทั้งหมดนี้ นำมากล่าวในลักษณะอย่างนี้ เพื่อให้ท่านทั้งหลาย ได้นึกและคิด และถือว่า การกล่าวนี้เหล่านี้ เป็นการปรับทุกข์ แก่กันและกัน ไม่ใช่เป็นคำด่า ไม่ใช่เป็นคำประจาน ไม่ใช่เป็นคำดูถูก ดูหมิ่น แต่เป็นการปรับทุกข์ ซึ่งกันและกัน ว่าสถานะ ของพุทธบริษัทเรา ยังไม่ขึ้นถึงขั้นที่ควรจะภาค ภูมิใจ ยังอยู่ในลักษณะที่ น่าอันตราย ยังไม่ปลอดภัย ควรแต่ รู้สึก พินิจ และปรับปรุงแก้ไข กันให้สุดสติกำลัง ให้เป็นที่ของสติปัญญาความสามารถ ของเราแต่ละคน อย่างน้อยก็คิดว่า เพื่อเห็นแก่พระพุทธเจ้าเถิด ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ไม่รักตัว ก็ขอให้เห็นแก่พระพุทธเจ้าเถิด เพราะว่าพระพุทธเจ้า ท่านได้ทรงหวังไว้อย่างนี้ ท่านได้ทรงตั้งพระทัยไว้อย่างนี้ ทรงทนทรมานลำบาก ตั้ง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เป็นเวลานานถึงเท่านั้น เพื่อจะช่วยพวกเรา เพื่อจะยกพวกเราขึ้น เสียจากกองทุกข์ โดยประการทั้งปวง
แล้วเราก็ยังหลับหูหลับตา ไม่รู้ไม่ชี้ หรือที่รู้ที่ชี้บ้างก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่รู้จักขยับขยาย กระดุกกระดิก เพื่อจะแก้ไขให้มันดีขึ้น อย่างนี้ มันเป็นคนที่ไม่นับถือพระพุทธเจ้า เป็นคนที่ไม่รักพระพุทธเจ้า เป็นคนที่ไม่เห็นแก่พระพุทธเจ้า จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงไร ขอให้ลองคิดดู
ปากนั้นก็ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ปีหนึ่งตั้งหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้งก็มี แต่ก็ว่าไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่มีความจริงอยู่ในถ้อยคำที่กล่าวนั้น ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระพุทธประสงค์ ที่ทรงหวังจะช่วยพวกเรา ไม่เอื้อเฟื้อต่อคำสั่ง คำสอน ของพระองค์ ที่ทรงสั่งสอนให้เป็นคนไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ก็ยังทรงมีคำสั่งครั้งสุดท้ายว่า อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ พวกท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่แหละ ลองคิดดูว่า พระพุทธเจ้า ท่านเป็นห่วงพวกเรามากน้อยเท่าไร ท่านจะปรินิพพานอยู่ในสองสามนาทีนี้แล้ว ท่านยังขยันสั่งเสียว่า อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ พวกเธอทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนี้
แล้วเราก็ลืมเสีย แล้วเราก็ไปสนใจในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องกงจักรนั้นมากกว่า มันเป็นการที่ไม่เคารพ ไม่บูชา ไม่ฟัง ไม่กตัญญู ไม่อะไรทุกๆ อย่าง ต่อพระพุทธเจ้า ชนิดที่ไม่รู้สึกตัว เราจะรับรองความผิดที่ไม่รู้สึกตัวข้อนี้กันมากน้อยเท่าไร ที่แท้แล้วเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก น่าวิตกกังวลมาก ที่ทำความผิดไปโดยไม่รู้สึกตัว มันอาจทำผิดได้มากขนาดที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ดังที่กล่าวแล้ว ควรจะเป็นที่สิ้นสุดกันเสียที ควรจะพอกันเสียทีในการที่จะเสียตามเรื่องตามราว โดยไม่มีหูตาอันสว่างไสวที่จะควบคุมมัน ไปหลงมัวบูชาวัตถุ สิ่งของเป็นสรณะ พูดตรง ๆ ก็คือ รักเงิน ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า รักเงิน รักทองมาก จนไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้เอื้อเฟื้อ ก็รักเงินมากเกินไปกว่าที่จะทำการเอื้อเฟื้อ
พระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เสียสละ เราก็ไม่ยอมเสียสละ มีแต่จะทำไปในทางที่ตรงกันข้ามอย่างนี้เสมอไป จนกระทั่งตายไปแล้วมันได้อะไร นอกจากจะได้อะไรมาก ๆ เหมือนพวกหนอนที่ได้จากกองอุจจาระนั่นเอง มีความวิเศษอย่างที่สุดก็เพียงเท่านั้น ตายแล้วก็เรียกว่า เอาไปไม่ได้ แม้ยังไม่ตาย มันก็ยังมีค่าเพียงเท่านั้น เพียงเท่าที่หมู่หนอนเหล่านั้นจะได้รับ ไม่มีความประเสริฐสูงสุดที่น่าพออกพอใจ ในส่วนไหนโดยประการทั้งปวง
คำกล่าวอย่างนี้ขอให้ถือว่า ไม่ใช่กล่าวเพราะพวกเราที่นี่ เป็นการกล่าวตลอดไป ถึงพุทธบริษัทในที่ทุกหนทุกแห่ง และทั่วโลก เรากล่าวในวันเช่นวันนี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ย่อมมีความมุ่งหมายที่จะกล่าวเป็นส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะพุทธบริษัทที่นี่ แต่ว่าเราจะต้องนึกไว้ว่า เราพวกพุทธบริษัทในที่นี้ เราจะต้องรับผิดชอบในที่นี้ ในหมู่นี้ ในคณะนี้ จะต้องช่วยกันทำ ให้เป็นการแก้ไข ปรับปรุง พุทธบริษัทพวกเราที่นี่ ส่วนนี้ ให้มีความก้าวหน้า ให้เหมาะสมแก่ความเป็นพุทธบริษัทของตน ไม่คิดไปทางทิฐิมานะ เป็นเขา เป็นเรา ก็จริง แต่ว่าเราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา เพราะว่าการทำหน้าที่ของเรานั้น มันเป็นประโยชน์แก่เราโดยตรง มันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น เป็นไปในลักษณะที่เป็นผลพลอยได้ ความสำคัญมันอยู่ที่ประโยชน์ที่เราจะต้องได้รับ เป็นความดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ให้ทันเสีย ตั้งแต่ก่อนที่จะแตกตาย ทำลายขันธ์ไป จึงจะเท่าทันกับคำที่กล่าวว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย ถ้ามีใครมาว่าเราว่า เกิดมาทั้งทีเสียชาติ เพราะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่พุทธบริษัท ควรจะได้ ดังนี้เราก็คงจะโกรธมาก หรือคงจะเสียใจมาก
แต่แล้วเราทำแก่ตัวเราเองในลักษณะอย่างนั้น แล้วจะไปโกรธใคร แล้วจะไปโทษใคร จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะทำตามคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ที่ตรัสไว้ว่า จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ด้วยกันทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาสาฬหบูชานี้ ต้องระลึกนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม ว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ย่อมมีความดับเป็นธรรมดา จงบากบั่นหันหน้าไปยังที่ที่ไม่มีความเกิด และ ความดับเถิด และสิ่งนั้นก็คือ ความว่างจากตัวตนและของตน ไม่มีความเกิดเป็นลำดับแต่ประการใด นี่เรียกว่าเป็นผู้เดินไปตามทาง ของผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม โดยแท้ ไม่ไปหลงใหลในสิ่งที่มีการเกิด การดับเป็นธรรมดา มุ่งหน้าให้ถึงสถานะที่อยู่เหนือ ความเกิดและความดับโดยประการทั้งปวง
หวังว่าได้อาศัยศรัทธาอันแน่วแน่ อาศัยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของพุทธบริษัท แล้วแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่าง ๆให้ เป็นไปในทางที่เจริญในทางก้าวหน้า ทางธรรม ให้รุ่งเรืองอยู่ได้ด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา สมตามคำที่กล่าวว่า อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รุ่งเรื่องอยู่ได้ก็ด้วยปัญญา มองเห็นธรรมะ เป็นดวงตาเห็นธรรม ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมมีความดับ เป็นธรรมดา อย่าได้หลงใหลโดยความเป็นตัวตน หรือของตนอีกต่อไป
ธรรมเทศนา สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้