แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เราไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตน เราไม่ประมาทเพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องวิชชาไปหมด ยังไม่ใช่เรื่องปฏิบัติ เราจะต้องมองดูไปในทางของการปฏิบัติว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั้นมันเป็นอย่างไรกัน เราจะมองเห็นชัดว่า คนเราทำผิด ทำเลว ทำชั่ว ก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่นก็อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่แคล้วการยึดมั่นถือมั่น เช่นว่าคนเราจะขาดศีลก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนของตนนั้นผิดเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว หรือว่าการที่คนเรามีจิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิซึ่งเป็นเรื่องชั้นสูงขึ้นไป ก็เพราะว่าไปมัวยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าแล้ว จิตจึงไม่เป็นสมาธิ หรือว่าที่คนเราไม่มีปัญญาสำหรับบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เพราะว่าไปมัวยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่นั่นเอง นี้เป็นเหตุผลในทางปฏิบัติในขั้นสูง ในทางต่ำทั่วๆไปก็จะเห็นได้ว่าเมื่อไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าแล้ว มันก็ต้องนอนไม่หลับ ยึดมั่นของรักก็นอนไม่หลับ ยึดมั่นของไม่รักก็นอนไม่หลับ ขึ้นชื่อว่ามีความยึดมั่นถือมั่นแล้วย่อมทำให้เกิดความทนทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น ครั้นพอปฏิบัติไปในทางไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ไม่มีปัญหาส่วนไหนเหลืออยู่สำหรับเป็นปัญหายุ่งยาก จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องโลกๆไม่เป็นทุกข์ จะทำให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ได้โดยเร็วที่สุด
พระพุทธเจ้าท่านตรัสสรุปไว้ว่าข้อปฏิบัตินี้เป็นข้อปฏิบัติทั้งหมด เราพิจารณาดูแล้วก็เห็นจริงว่าเราปฏิบัติเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันก็เป็นการปฏิบัติหมดทั้งพระพุทธพจน์ หมดทั้งพระไตรปิฎก หรือจะพูดอย่างตะกี้นี้ว่า หมดทั้งป่าทั้งดง หมดใบไม้ทั้งป่าทั้งดงก็ยังได้ เพราะว่าใบไม้กำมือเดียวว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ มันเป็นหัวใจของใบไม้ทั้งหมด โดยที่มีคุณสมบัติหรือความมุ่งหมายเหมือนกัน ในบรรดาใบไม้หรือคำสั่งสอนทั้งหลาย คำสั่งสอนในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่ว่าจะสอนไว้ในรูปใดลักษณะใด ใจความสำคัญอยู่ตรงที่สอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดนั่นเอง พอเรามีความไม่ยึดมั่นถือมั่นเมื่อไร เราก็ไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น และเรายังมีอะไรๆๆทุกอย่างที่ควรจะมีด้วย ยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยเด็ดขาด พอเรามีจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือเรามีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตในใจของเรา เราจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ถึงพระพุทธเจ้าจริงๆ มีผลปรากฎชัดอยู่คือไม่มีความทุกข์ มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบตามสมควรแก่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น นี้เรียกว่าเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นแม้แต่ชั่วขณะ ก็ได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในเรา ทีนี้ดูไปถึงพระธรรม พระธรรมก็เรื่องเดียวกันกับความไม่ยึดมั่นถือมั่น
พระธรรมนั้นแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนปริยัติ คือวิชาความรู้ ก็เป็นวิชาความรู้สอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น พระธรรมส่วนปฏิบัติ ก็คือปฏิบัติเพื่อจะไม่ยึดมั่นถือมั่น ปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในตัว ทีนี้พระธรรมในส่วนปฏิเวธ คือมรรค ผล นิพพาน นั่นแหละคือตัวความไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้ผลเสร็จแล้วเป็นความไม่มีทุกข์เลย เป็นมรรค ผล นิพพานขึ้นมาเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้าด้วย เป็นพระธรรมด้วย เป็นพระสงฆ์ด้วย ถ้าเราจะนึกลงไปให้ๆกว้างออกไป ทางไหนมันก็มารวมอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น เรื่องมรรค ผล นิพพาน ก็เป็นเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้เรื่องประพฤติประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องกระทำไปด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นคือความไม่เห็นแก่ตัวตนหรือของตน แปลว่าตั้งแต่อย่างต่ำที่สุดถึงอย่างสูงที่สุด ก็รวมอยู่ในคำๆนี้ ประโยชน์ตัวเองก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ก็รวมอยู่ในคำๆนี้ เป็นอันว่าคำๆนี้เป็นที่รวมแห่งประโยชน์ทั้งหลายและเป็นที่รวมแห่งการปฏิบัติทั้งหมดและเป็นที่รวมแห่งความรู้ทั้งหมดด้วย จึงสมกับที่จะกล่าวว่านี้เป็นหัวใจที่สั้นที่สุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าเมื่อเราถูกถามว่า ถูกบังคับให้ตอบ ถูกถามหรือถูกบังคับให้ตอบด้วยประโยคสั้นๆว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรดังนี้แล้ว ก็ตอบด้วยประโยคสั้นๆว่า ท่านสอนว่าทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และก็มีทางที่จะอธิบายได้ไม่มีที่สิ้นสุดจนทั่วไปหมดทั้งพระไตรปิฏก ถือโอกาสที่จะเล่าถึงเรื่องนี้เสียเลยในที่นี้ว่า มีผู้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดทั้งสิ้น สรุปให้เหลือแต่เพียงสั้นๆที่สุดได้หรือไม่และว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า ได้ และว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเว สายะ ดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งแปลว่า ทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าได้ฟังข้อนี้ก็เหมือนได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็เหมือนได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากข้อนี้ก็เหมือนกับได้รับผลจากทั้งหมด นี้หมายความว่า อะไรๆ ทั้งหมดมารวมอยู่ที่ประโยคสั้นๆประโยคเดียวนี้นั่นเอง ทีนี้ถึงปัญหาต่อไปอีกเนื่องกันไปตามลำดับ คือถ้ามีผู้ถามว่า เกี่ยวกับความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ จะให้ปฏิบัติอย่างไรกัน ท่านจับใจความของปัญหาให้ได้ว่า คือเขาถามว่า ที่ว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั้นจะให้ปฏิบัติอย่างไร เราก็ตอบได้โดยอาศัยพระพุทธภาษิต โดยไม่ต้องอาศัยความคิดของเราก็ได้ พระพุทธภาษิตในข้อนี้มีอยู่อย่างครบถ้วน คือพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เมื่อตาเห็นรูป ก็สักว่าเห็น เมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าดูจะดีกว่า เมื่อหูฟังเสียง เมื่อหูได้ยินเสียง ได้ฟังเสียงทางหู ก็สักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นทางจมูก ก็สักว่าได้ดม เมื่อได้ลิ้มรสทางลิ้น ก็สักว่าได้ชิม เมื่อได้สัมผัสทางผิวกายทั่วๆไป ก็สักว่าได้กระทบ และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นในใจก็รู้ว่ามันเป็นสักว่าความรู้สึก ขอทบทวนให้แน่นอนแม่นยำอีกสักครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติในลักษณะอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นรูปด้วยตาก็สักว่าได้ดู เมื่อได้ฟังเสียงทางหูก็ให้สักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นทางจมูกก็ให้สักว่าได้ดม เมื่อได้ลิ้มรสทางลิ้นก็ให้สักว่าได้ชิม เมื่อได้สัมผัสทางผิวกายทั่วๆไปก็สักว่าได้กระทบ และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นในใจก็สักว่ารู้สึก เป็นความรู้สึก เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับหลักปฏิบัติ ส่วนเหตุผลที่จะต้องอธิบายนั้น มีต่อไปว่า เมื่อประพฤติอยู่อย่างนั้น คือเมื่อเห็นรูปสักว่าได้ดู เมื่อฟังเสียงสักว่าได้ยิน อยู่อย่างนั้น ความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเราก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อความรู้สึกว่าตัวเราของเราไม่เกิดขึ้น ก็เป็นอันว่าถึงที่สิ้นสุดของความทุกข์ ตามหลักธรรมะในข้อนี้นั้น ตามปกติก็มีอยู่ว่า เมื่อตาได้เห็นรูปและรูปนั้นปรุงความรู้สึกให้เกิดเวทนา เช่นพอใจในรูปที่สวย ไม่พอใจในรูปที่ไม่สวยเป็นต้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเวทนา ถ้าเกิดเวทนาอย่างนี้เสียแล้ว ไม่เรียกว่าเห็นรูปสักว่าได้ดูเสียแล้ว เพราะมันเกิดเวทนาเสียแล้ว พอเกิดเวทนาแล้วมันก็ต้องเกิดตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยแน่นอน คือถ้ารูปที่เห็นนั้นให้เกิดสุขเวทนา มันก็เกิดตัณหาในทางที่จะอยากได้ ที่เรียกว่ากามตัณหาเป็นต้น ถ้ารูปนั้นให้เกิดความรู้สึกในทางที่ไม่เป็นสุข ให้เป็นทุกข์ ให้รำคาญ ให้โกรธ ให้เกลียด มันก็ต้องเกิดตัณหาประเภท วิภวตัณหา คือไม่อยากได้ อยากจะฆ่าให้ตายอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งรวมความแล้วว่าเวทนาแล้วจะให้เกิดตัณหาเสมอไป พอเกิดตัณหาแล้วก็เอาไว้ไม่อยู่ มันก็ต้องเกิดความรู้สึกว่าตัวเราซึ่งเป็นผู้อยากอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้อย่างนั้นอย่างนี้ เสียอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ดี ได้ชั่ว ได้มากได้น้อยต่างๆนาๆ ตามความรู้สึกที่เรียกว่า อุปาทาน อุปาทานอย่างนี้เกิดแล้วก็เรียกว่ามีตัวกู เกิดเต็มที่แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะมีความรู้สึกได้หรือเสีย มีความรู้สึกเป็นการยึดมั่นถือมั่น แบกถืออะไรไว้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็ต้องเป็นความหนักหรือเป็นความทุกข์ นี้เรียกว่าตามปกติของสัตว์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนตัดบทแต่ตอนต้นที่สุดว่า รูปสักว่าดู ฟังเสียงสักว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักว่าได้ดม ได้ลิ้มรสสักว่าได้ชิม ได้สัมผัสผิวหนังเรียกว่าสักว่าได้กระทบ ความรู้สึกร้ายกาจอันใดเกิดขึ้นในใจ เป็นสักว่าความรู้สึก อย่างนี้หมายความว่ามีสติ มีความไม่ประมาท สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงของจิตเสียได้เพียงเท่านี้ แล้วหันเหไปในทางของสติปัญญา ยกตัวอย่างในเรื่องของการเห็นรูปอีกตามเคย ว่าเมื่อเห็นรูปใดรูปหนึ่งเข้ามา ก็ให้มีสติสัมปชัญญะมาทันท่วงที ว่าเป็นรูปของอะไร มันเป็นอะไร มันเป็นสังขารที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร เราควรจะจัดการกับมันอย่างไร เรื่องที่เห็นนั้นเลยกลายเป็นวิชาความรู้ไป ไม่เป็นที่ตั้งของกิเลส เช่นว่าเห็นดอกกุหลาบที่ถูกใจสักดอกหนึ่งก็ดี แทนที่จะเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา กลายเป็นเรื่องของการศึกษาไปเสีย หรือว่าจะเห็นรูปของเพศตรงกันข้ามจากตนรูปใดรูปหนึ่งก็ดี แทนที่จะเป็นที่ตั้งของความรู้สึกที่เป็นกิเลสตัณหา ก็กลายเป็นความรู้สึกของการศึกษาไปเสีย เพื่อให้มีสติมาทัน ให้มีปัญญามากพอ มีกำลังสมาธิเข้มแข็งพอ บังคับใจตนไว้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร แล้วก็บังคับตัวเองไว้ได้ในลักษณะเช่นนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นรูปชนิดไหน มันก็กลายเป็นเรื่องของการศึกษาให้รู้จักสิ่งที่ถูกที่ควรไปหมด ไม่เปิดโอกาสให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้แต่ประการใดดังนี้ นี้เรียกว่ารูปที่มากระทบนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าดูเสียแล้ว แต่กลายเป็นให้ประโยชน์แก่การศึกษา ให้รู้ธรรมะ ให้รู้ความดับทุกข์ไปในที่สุด ไม่เป็นทางให้เกิดกิเลสตัณหาเลย รวมความว่าความทุกข์ก็ไม่เกิด วิชาความรู้ก็ได้เพิ่มขึ้น และเป็นดังนี้เรื่อยๆไปจนถึงที่สุดแห่งวิชาความรู้ คือได้บรรลุมรรค ผล ในอันดับสุดท้าย เพราะเห็นรูปอยู่อย่างนี้ ฟังเสียงอยู่อย่างนี้ ดมกลิ่นอยู่อย่างนี้ ลิ้มรสอยู่อย่างนี้ สัมผัสทางผิวหนังอยู่อย่างนี้ รู้สึกอารมณ์ในใจอยู่อย่างนี้ โดยวิธีที่ฉลาดที่ไม่ประมาทที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา ตรงตามหลักพระพุทธภาษิตที่ว่า เห็นรูปสักว่าเห็น ฟังเสียงสักว่าฟัง ดมกลิ่นสักว่าดม ลิ้มรสสักว่าลิ้ม สัมผัสสักว่ากระทบ รู้สึกในใจสักว่ารู้สึก ไม่มีตัวตนเกิดขึ้น ไม่มีการวิ่งไปวิ่งมา เป็นที่สุดแห่งความทุกข์ขึ้นมาได้โดยประการทั้งปวง นี่แหละคือคำตอบที่จะตอบต่อคำถามที่เขาถามว่า เกี่ยวกับความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นจะให้ปฏิบัติอย่างไร ให้ปฎิบัติ ตอบว่าให้ปฏิบัติในเมื่อได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหูเป็นต้น ให้เกิดสติปัญญามาทันท่วงที อย่าไปหลงยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเกิดความรู้สึกเป็นเวทนา ตัณหา อุปาทานและเป็นทุกข์ แต่ให้รู้ว่ามันเป็นอะไร มันคืออะไร มันเพื่อประโยชน์อันใด เราจะต้องจัดการกับมันอย่างไร หรือไม่ต้องจัดการอะไรเลยแล้วก็ทำไปด้วยสติปัญญานั้น กิเลส ตัณหาไม่เกิด มีแต่การทำประโยชน์อย่างเดียวเรื่อยๆไป เรียกว่าไม่เกิดอุปาทานว่าตัวตน ว่าของตน พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้สั้นๆว่า เห็นรูปสักว่าเห็น ดมกลิ่นสักว่าดม ฟังเสียงสักว่าได้ยิน ดมกลิ่นสักว่าดม ดังนี้เป็นต้น คนไม่เข้าใจก็หาว่าท่านตรัสเพ้อๆไปไม่มีความหมายอะไร แต่ในที่สุดนั่นเป็นหลักการของการปฏิบัติอย่างยิ่ง อย่างสูงสุดและอย่างกว้างขวางที่สุด จนอาจจะมาใช้กับเรื่องราวที่บ้านที่เรือนในเรื่องโลกๆนี้ก็ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพานอย่างเดียว คนทั่วไปแม้ในสมัยนี้ที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทนี้ก็ไม่เข้าใจพระพุทธภาษิตนี้ พอได้ยินพระพุทธภาษิตนี้ก็โบกไม้โบกมือปัดออกไปว่าไม่ใช่เรื่องของฆราวาส เป็นเรื่องของผู้ที่จะบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ไปอยู่ตามป่าตามเขา อย่างนี้ไปเสีย เขาก็เลยไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำสอนข้อนี้เพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน อาตมาจึงยืนยันว่า แม้เรื่องที่บ้านที่เรือนนั่นแหละ ก็ต้องใช้วิธีปฏิบัติโดยอาศัยพระพุทธภาษิตข้อนี้ คือว่า พออะไรมากระทบตาก็ให้ชะงักไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปโกรธหรือไปรักมันเข้า แล้วสติปัญญาจะได้มาทันท่วงที เพื่อจะดูให้รู้ว่ามันเป็นรูปอะไร มีเหตุผลอย่างไร เกิดขึ้นทำไม จะหลอกเราอย่างไร จะฆ่าแกงเราอย่างไร หรือว่าเราอาจจะใช้มันเป็นประโยชน์อย่างไร ก็ให้รู้ด้วยสติสัมปชัญญะแล้วจัดการไปตามหน้าที่ นี้มีประโยชน์แก่คนที่อยู่ในโลก เพราะว่าคนที่อยู่ในโลกนั้นก็มีเรื่องมากในวันหนึ่งๆ วันหนึ่งคืนหนึ่งมีเรื่องมากที่จะทำให้รักให้เกลียด แต่ถ้าถือหลักอย่างนี้ก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องรักและต้องเกลียด กลายเป็นแต่เพียงว่าจะต้องทำอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าไม่ต้องทำอย่างไรก็ไม่ทำ ถ้าต้องทำอย่างไรก็ทำไปตามสติปัญญา ไม่ต้องรักต้องเกลียด ฉะนั้นจึงเกิดอาการที่เรียกว่าเย็นสนิท เวทนานั้นเย็นสนิท ดับลงไปไม่ร้อนเป็นไฟ คือไม่มีความทุกข์ อยากจะขอร้องให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูให้ดีที่สุดเกี่ยวกับพระพุทธภาษิตข้อนี้ ไม่ใช่เรื่องสำหรับอยู่นอกฟ้าป่าหิม-พานต์ แต่เรื่องที่ต้องใช้ตามบ้านตามเรือนที่เต็มไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะได้มีสติปัญญามีกลอุบายที่แยบคายจัดการกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น ในลักษณะที่จะไม่เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ ตรงตามกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ เราไม่ต้องเดาเอาเอง ไม่ต้องคิดเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ถือว่าเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระพุทธภาษิตข้อนี้ไว้ทีก่อน และลองเอาไปปฏิบัติดู แล้วจึงจะเชื่อจริงๆว่าการปฏิบัติอย่างนี้ทำให้อยู่เยือกเย็นอยู่ได้ในท่ามกลางเตาไฟที่หลอมเหล็กได้ ไฟร้อนขนาดที่จะหลอมเหล็กได้ เราก็เข้าไปนั่งอยู่ได้ในท่ามกลาง เย็นสนิทอยู่ที่นั่น เพราะว่าเราสามารถปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้อย่างนี้ อาตมาเรียกการเป็นอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย รูป เสียงกลิ่น รส สัมผัส ว่าเหมือนกับไฟขนาดเตาไฟหลอมเหล็ก แต่เราไปนั่งอยู่ได้ที่ตรงกลางของมันด้วยความเยือกเย็น คือมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง ในโลกที่เร่าร้อนนั้น เราจะไปนั่งเย็นอยู่ได้ก็เพราะอาศัยข้อปฏิบัติข้อนี้เท่านั้น และเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆไปเท่านั้น ไม่ต้องเป็นอย่างอื่น กิเลสก็จะหมดสิ้นไปเอง ไม่มีทางเกิดได้ ไม่มีทางเจริญได้ ไม่ต้องปฏิบัติอย่างอื่น ปฏิบัติอย่างเดียวนี้เท่านั้นก็จะเจริญไปตามลำดับ ตามทางของพระธรรมคือตามทางของพระศาสนา กระทั่งบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน เป็นอันดับสุดท้าย ในระยะที่ยังไม่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นอยู่ได้ด้วยความปกติและมั่นคง ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งให้หวั่นไหวได้โดยประการทั้งปวง นี้เรียกว่าปฏิบัติเกี่ยวกับความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ คือตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นก็สักว่าได้ดม ลิ้นได้ชิมรสก็สักว่าได้กิน กายสัมผัสทางผิวหนังก็สักว่ากระทบ อะไรเกิดขึ้นในใจก็สักว่าความรู้สึก นี่เป็นหัวข้อสั้นๆอย่างนี้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ให้ศึกษาอย่างนี้ จึงจะกำจัดความยึดมั่นถือมั่นได้และเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแทน
ทีนี้มาถึงปัญหาต่อไปที่จะมีผู้ถามเราว่า เรื่องเรียน เรื่องศึกษา เรื่องปฏิบัตินี้จะทำกันที่ไหน จะให้เรียนให้ศึกษาให้ปฏิบัติกันที่ไหน คนเขาสงสัยกันว่าจะทำที่บ้านหรือทำในถ้ำหรือทำในป่า หรือกลางทุ่งนาหรืออยู่วัดหรือออกธุดงค์หรือทำในที่ไหนกันแน่ จึงถามว่าจะให้เรียนและปฏิบัติกันที่ไหน ถ้าไม่ตอบด้วยความคิดหรือเหตุผลของเราเอง เราตอบด้วยพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ให้เรียนในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่ฟังดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เรียนให้ปฏิบัติกันในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ ฟังดูให้ดีว่าฟังออกด้วยตนเองหรือฟังไม่ออก ที่ว่าให้เรียนในร่างกาย ว่าคนเรามีร่างกายยาวประมาณวาหนึ่ง ที่ว่ามีทั้งสัญญาและใจนั้นหมายถึงร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ร่างกายที่ตายแล้ว รวมความก็ว่าให้มองเข้าไปข้างใน ในชีวิตของเราเองที่ยังเป็นๆอยู่ ยังไม่ตายยังไม่สลบยังไม่บ้าไม่บอและทุกๆเรื่องรวมอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พระพุทธภาษิตที่เต็มรูปนั้นมีว่า เรื่องโลกก็ดี เรื่องเหตุให้เกิดโลกนี้ก็ดี เรื่องความดับสนิทของโลกก็ดี เรื่องหนทางให้ถึงความดับสนิทของโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ พระพุทธภาษิตที่เต็มรูปมีอยู่อย่างนี้ แต่เราสรุปใจความสั้นๆว่า เรียนกันในร่างกายยาวประมาณวาหนึ่งนี้ เรียนเรื่องอะไร เรียนเรื่องโลกทั้งหมดด้วย เรียนเรื่องมูลเหตุให้เกิดโลกทั้งหมดด้วย เรียนเรื่องความดับสนิทสิ้นสุดของโลกทั้งหมดด้วยและเรียนเรื่องวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทสิ้นสุดของโลกทั้งหมดด้วย เป็น ๔ อย่างด้วยกัน รวมความแล้วก็คือ หลักอริยสัจ ๔ ประการที่ว่า ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทของทุกข์ วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของทุกข์ เป็น ๔ เรื่อง แต่จะเรียกชื่อว่าอะไรก็ได้ เรียกว่าทุกข์ก็ได้ เรียกว่าโลกก็ได้ เรียกว่าอย่างอื่นก็ยังได้ แต่รวมความแล้วมันสำคัญอยู่ที่เรื่องความดับทุกข์ ให้เรียนเรื่องความดับทุกข์ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังเป็นๆอยู่ ฉะนั้นเราพูดกันเสียใหม่ให้สั้นที่สุดว่าให้เรียนเรื่องความดับทุกข์จากชีวิตเราโดยตรงและจากภายในไม่ใช่จากข้างนอก ฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะตอบว่าไปเรียนตามป่าตามเขาตามถ้ำตามอะไรที่ไหน เพราะว่าจะไปเรียนที่ไหนก็ตามต้องเรียนจากภายใน คือร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ ฉะนั้นไม่สำคัญ อยู่ที่ถ้ำที่ป่าที่เขา มันจะผิดกันบ้างก็ไม่มากมายอะไร มันมีปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าเรานั่งที่ตรงนี้เราไม่สามารถจะเกิดความรู้สึกคิดนึกในทางธรรมะได้ง่าย เราก็ขยับไปตรงนั้นหน่อยตรงนี้หน่อย จนกว่าจะได้ที่สงัดพอสมควรกัน หรือถูกแล้วที่ว่าป่าและภูเขาหรือป่านั้นช่วยได้บ้างก็เพราะว่ามันมีความสงบสงัดช่วยได้บ้างในเบื้องต้น แต่ถ้าเราไปนั่งในป่าแล้วจิตใจส่งออกไปจากกายนี้ ไปนึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องโน้น ไม่น้อมเข้ามาภายในแล้วมันก็ยิ่งร้ายกาจไปเสียอีก เพราะว่าความสงบนั้นทำให้นึกได้ไกล นึกไปไกลนึกรุนแรงกว่าธรรมดาเสียอีก นี้จะถือว่าไอ้ป่าหรือเขาหรือถ้ำนั้น จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ทั้งนั้น ถ้าทำผิดมันก็ยิ่งร้ายเหมือนกัน ร้ายกว่าไม่ใช่ป่าไม่ใช่ถ้ำไม่ใช่เขาไปเสียอีก พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่สนใจเรื่องสถานที่ แต่สนใจตัวจริงที่จะต้องเรียนคือเรียนจากภายใน ดูข้างใน เรียนจากภายใน ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ เมื่อเราเพ่งหนักเข้าไปในภายในมันก็เป็นคนหูหนวกเอง คือไม่ได้ยินอะไรที่อยู่ข้างๆเอง ไม่เห็นอะไรที่อยู่ข้างๆเอง แม้ว่าเราจะนั่งอยู่ในท่ามกลางโรงหนังโรงละคร ในตลาดที่จอแจสรวลเสเฮฮาอย่างไร ถ้าเราส่งใจเข้าไปเสียในภายในแล้ว ตาก็จะไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเอง หูก็จะไม่ได้ยินสิ่งเหล่านั้นเอง จมูกก็จะไม่ได้กลิ่นสิ่งเหล่านั้นเอง ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าให้เรียนจากข้างในให้ดูจากข้างใน ให้ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อตัวเราโดยเฉพาะในข้างใน เพื่อให้ร่างกายทั้งหมดพร้อมทั้งจิตใจนี้เป็นตัวมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ทีนี้บางคนไม่เข้าใจอย่างนี้และไม่อยากจะเข้าใจอย่างนี้ อยากจะเรียนจากหนังสืออยากจะเรียนจากครูบาอาจารย์ อยากจะเรียนตามป่าตามถ้ำตามเขา แห่ไปแห่มากันไม่มีที่สิ้นสุด เลยไม่ได้เรียนอะไรเพราะว่าไม่ได้ทำให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้กำชับไว้ว่าให้เรียนจากภายในที่ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง สำหรับเรื่องหนังสือหนังหาครูบาอาจารย์นั้น มันก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ตถาคตเป็นแต่ผู้ชี้ทาง นี่เรื่องชี้ทางนี้ชี้กันชั่วเวลาอึดใจเดียวก็เสร็จ มันเสร็จ ยังเหลือแต่คนเดิน เดินไปจนตาย เดินไปกี่ชั่วโมง กี่เดือน กี่ปีนั้น มันเป็นเวลาที่นานมาก คำอธิบายธรรมะนี้กินเวลาสักสองสามชั่วโมงก็อาจจะปฏิบัติได้จนตายก็ยังไม่หมดไม่สิ้น แต่เดี๋ยวนี้มันทำผิดอยู่บางอย่างตรงที่ว่า ไม่ได้พูดกันในเรื่องที่ควรจะพูด คนถามก็ไม่ได้ถามเรื่องที่ควรจะถามควรจะเรียนควรจะพูด คนอธิบายก็ตอบเพ้อเจ้อไปตามความรู้สึกของตน เลยไม่เข้ารูปไม่เข้ารอย พูดกันเท่าไรๆก็ไม่มีความรู้ไม่มีสติปัญญาที่จะสามารถไปเรียนเอาจากตนเองจากภายใน จากร่างกายยาวประมาณวาหนึ่งนั้นได้ เลยพูดกันจนตายก็ไม่จบ เหมือนกับเทศน์กันมากี่ปีกี่ปีแล้วนี้ก็ยังไม่รู้สึกว่าพอกันสักที เพราะว่าจับจุดในเรื่องนี้ไม่ได้ คอยแต่จะขยายปัญหาให้มากออกไป และยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องแกล้งพูดแต่เป็นเรื่องจริง ก็คือว่าทุกคนดูเหมือนอยากจะมาอวดคำพูด อวดคำถาม ถามให้เก่งๆ ถามให้ฉลาดแล้วก็พูดให้ฉลาดๆเท่านั้นเอง พอตอบเสร็จก็พูดเรื่องใหม่อีก คนละเรื่องไป ไม่มีการทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ผู้ถามก็ถามแต่เพียงอยากจะอวดคำถาม ผู้ตอบก็ตอบแต่เพียงว่าอยากจะได้อวดคำตอบ มันก็เป็นขนมสมน้ำยากันอยู่อย่างนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าตายกันไปอีกกี่ชาติกี่ชาติก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุด คือไม่สามารถที่จะไปเรียนได้จากร่างกายยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจนั่นเอง ฉะนั้นจงระวังให้มากในเรื่องเกี่ยวกับหนังสือหนังหา ครูบาอาจารย์ สถานที่ต่างๆ หรืออะไรเหล่านี้ ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้สามารถเรียนในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจแล้ว มันก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่อท่านทั้งหลายถูกคนอื่นถามถูกชาวต่างชาติต่างศาสนาถามว่า พวกพุทธบริษัทเรียนกันที่ไหนกันมาแล้ว ก็จงตอบอย่างนี้เถิด แล้วตัวเองก็จะต้องประพฤติอย่างนั้นให้ได้ด้วยเหมือนกัน
ทีนี้เราก็มาถึงปัญหาที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันดีขึ้นไปอีกเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น กล่าวคือถ้ามีผู้ถามว่าเพื่อจะให้เข้าใจธรรมะนี้ดียิ่งขึ้นไป เราควรจะเปรียบธรรมะนี้เหมือนกับอะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมะนี้เปรียบเหมือนกับพ่วงแพหรือเรือแพ คนโดยมากไม่เข้าใจธรรมะในลักษณะเช่นนี้ จึงได้เกิดความรู้สึกอันใหม่ขึ้นมาคืออยากจะอยู่กับธรรมะจนตาย อยากจะเป็นธรรมะเป็นเนื้อเป็นตัวเสียเอง ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นเป็นเพียงเป็นเหมือนกับพ่วงแพเรือแพ พอข้ามฟากแล้วก็เสร็จเรื่องกัน เดี๋ยวนี้เราไม่คิดว่าธรรมะเป็นยานพาหนะเพื่อข้ามฟาก แต่เราคิดว่ามันเป็นทรัพย์สมบัติถาวรอะไรอย่างหนึ่งของเรา จึงกอดรัดไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน นี้ก็เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงที่ทำให้เกิดความชะงักงันไม่ก้าวหน้าในทางของธรรมะ ท่านทั้งหลายจงคิดดูให้ดีว่ามันต่างกันมากน้อยเท่าไรในการที่คนหนึ่งคิดว่าธรรมะนี้เราจะอาศัยชั่วคราวชั่วข้ามน้ำนี้เท่านั้น ส่วนคนหนึ่งคิดว่าจะเอาเป็นสมบัติถาวรของเรา ประเสริฐสุดไม่มีวันจากกัน คำตอบจะปรากฎชัดต่อเมื่อไปคิดถึงข้อที่ว่าบุคคลคนหนึ่งได้ทำเรือทำแพขึ้นแล้วและเขาก็ใช้เรือแพนั้นข้ามจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น แล้วไม่ยอมขึ้นจากเรือจากแพ แล้วจะว่าอย่างไรกัน ถ้าใครมาบอกว่า ขึ้นจากแพสิ เขาก็ไม่ยอมสละเรือสละแพ ถ้าจะให้ขึ้นจากน้ำจริงๆเขาก็จะแบกเรือแพทูนศรีษะขึ้นไปด้วย แล้วเรื่องมันก็จะเป็นอย่างไรกัน กับอีกคนหนึ่งที่ประมวลเอาวัตถุง่ายๆเท่าที่จะคว้าหามาได้ผูกมัดเป็นแพ พอตะกุยข้ามน้ำฝั่งโน้นได้กระโดดขึ้น เลยหนีไปเลย อย่างนี้มันต่างกันอย่างไร ที่เรามีความเข้าใจต่อธรรมะและสัมพันธ์กันอยู่กับธรรมะนั้น มันแตกต่างกันมากอยู่ถึงในลักษณะนี้ ทำไมจึงว่าคนบางพวกไม่ยอมทิ้งแพ ต้องการจะแบกแพเอาไป เพราะเขาภาคภูมิใจในการที่มีเรือสวยๆมีแพสวยๆ ได้แก่การที่คนบางพวกบางหมู่ติดใจในธรรมะนี้จนลืมตัว จนลืมตัวคือลืมที่จะใช้เป็นยานพาหนะ กลับสงวนธรรมะเอาไว้สำหรับเป็นเครื่องโอ้อวดในความเก่งของตัว อวดดีในความเป็นอาจารย์เป็นเจ้าตำหรับตำราเป็นนักปราชญ์ฉลาดเลิศที่สุดเพราะมีความรู้ทางธรรมะ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็เหมือนคนที่พยายามอยากจะต่อเรือต่อแพให้ใหญ่โตมโหฬาร เที่ยวแบกเที่ยวทูนอยู่อย่างนั้น ไม่เคยใช้ข้ามฟากข้ามน้ำเลย นี้เพราะเขาต้องการจะถือเอาเป็นสมบัติอันถาวร ผิดจากที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงบัญญัติไว้ว่า ให้ถือว่าธรรมะนี้เป็นสักว่าพ่วงแพ
ทีนี้ยิ่งไปกว่านั้น ครูบาอาจารย์ที่มีเรือชนิดนี้มากๆหลายๆลำเข้า ไม่เท่าไรก็ทะเลาะกันเพราะอวดดีวิวาทกัน เลยดึงเอาเรือนั้นแหละมาฟาดกัน มาเหวี่ยงตีกัน ทำลายกัน แทนที่จะใช้เป็นพาหนะข้ามน้ำข้ามทะเล กลายเป็นอาวุธสำหรับประหัตประหารกัน นี้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ที่เรียกว่าใช้ธรรมะผิดความประสงค์ ไม่ใช้อย่างพ่วงแพแต่ไปใช้อย่างอาวุธสำหรับประหัตประหารกันเสียแล้ว แปลว่าพุทธบริษัทเราส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง รู้ได้ตรงที่เขาขยันเรียนอะไร ขยันพูดอะไร ขยันอวดอะไร ลองคิดดู แม้แต่พระเณรสมัยนี้ เรียนอะไรแล้วก็พูดจาโอ้อวดในเรื่องอะไรและต้องการอะไรสำหรับจะมีไว้มากๆสำหรับโอ้อวดกัน สำหรับข่มขี่กัน ในที่สุดเรื่องก็ไปจบกันอยู่ตรงที่ว่าวินาศลงไปด้วยกัน ไม่มีใครได้ข้ามน้ำเลย เมื่อพิจารณาดูก็จะยิ่งเห็นว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้ว ไม่ว่าธรรมะชนิดไหนก็จะเป็นพ่วงแพไปหมด แม้แต่ธรรมะในขั้นต่ำๆสำหรับฆราวาสก็มุ่งหมายจะให้เป็นพ่วงแพอย่างที่พวกฆราวาสจะข้ามแม่น้ำเล็กๆ และธรรมะในชั้นสูงก็เป็นพ่วงแพที่จะข้ามทะเลข้ามมหาสมุทรออกไปสู่ฝั่งนอกหรือฝั่งโน้นของนิพพาน ที่กล่าวเช่นนี้ก็หมายความว่า แม้เป็นฆราวาสประกอบกิจการงานของฆราวาส ศึกษาปฏิบัติธรรมะในขั้นฆราวาส ก็อย่าได้ยึดถืออะไรให้มากไปกว่าที่จะเป็นเพียงพ่วงแพ ฟังดูก็น่าประหลาดที่พระพุทธเจ้ามาตรัสว่าธรรมะเป็นเพียงพ่วงแพ ของที่ประเสริฐที่สุด ล้ำเลิศที่สุดนั้นมากลายเป็นเพียงเครื่องมือช่วยการข้ามฟากเล็กน้อยเช่นนี้
ทีนี้อยากจะกล่าวต่อไปถึงข้อที่ว่า ตัวธรรมะแท้นั้น ในพระพุทธศาสนานั้นหมายถึงธรรมะเรื่องอะไร ตัวธรรมะที่เป็นพ่วงแพเป็นตัวแท้เป็นเรือแพแท้ๆนั้น หมายถึงธรรมะชื่ออะไร ตอบได้ว่าธรรมะเรื่องสุญญตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าคำกล่าวของตถาคตไม่เนื่องด้วยเรื่องอื่นนอกจากเรื่องสุญญตา ส่วนคำกล่าวของสาวกรุ่นหลัง ของคนผู้อื่นนั้นไม่เนื่องด้วยสุญญตา เพราะไปเพ่งเอาความไพเราะสวยสดงดงามทางตัวหนังสือ ทางสำนวนโวหาร ทางอะไรต่างๆสำหรับโอ้อวดกันนั่นเอง ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นระบุเจาะจงไปยังเรื่องสุญญตา ฟังดูแล้วก็น่าใจหาย เพราะว่าสุญญตาแปลว่าว่าง ว่างไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นของตน มีอะไรก็มีได้มีไปเถอะ มีกี่ร้อยอย่างกี่พันอย่างแต่ไม่มีอะไรเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ธรรมะที่สอนในลักษณะเช่นนี้หรือปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้เรียกว่าสุญญตา ใจความสำคัญของสุญญตาหรือความว่างนี้ก็เหมือนกับที่แล้วมา ที่อธิบายมาแล้วเมื่อตะกี้ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สูงเกินไปสำหรับฆราวาส เพราะว่าเมื่อฆราวาสไปทูลถามธรรมะแก่พระองค์ให้ตรัสธรรมะที่เหมาะแก่ฆราวาส พระองค์ก็ยังตรัสเรื่องสุญญตาอยู่นั่นเอง ดังนั้นเราจึงเข้าใจได้ว่า แม้คำว่าเรื่องสุญญตาหรือความว่างนี้ก็ยังแบ่งได้เป็นระดับๆ ว่างชั่วครู่ชั่วขณะก็ยังดียังเหมาะแล้วสำหรับฆราวาส ว่างอย่างถาวรตลอดกาลก็เป็นอันว่าสมบูรณ์ที่สุดสำหรับพระพุทธบริษัทในอันดับสูงสุด ส่วนฆราวาสนั้นก็ว่างไปตามประสาฆราวาส คือความรู้สึกที่เป็นตัวกูเป็นของกูนั้นอย่าได้เกิด เพราะมันจับเคร่งเครียด จับมากเกินไป ถึงแม้ความรู้สึกที่เป็นตัวเราหรือของเรานั้น ก็อย่าให้มันเกิดได้บ่อยนัก และให้เกิดแต่น้อยที่สุดและให้เกิดอยู่ในความควบคุม แม้อย่างนี้ก็เรียกว่าสุญญตาเหมือนกัน คือมันเกิดน้อยที่สุด มันจึงมีเวลาที่ว่างอยู่มากๆ วันหนึ่งๆอยู่ด้วยจิตที่ว่างจากกิเลสว่าตัวตนของตนนี้เป็นส่วนมากแล้ว ก็เป็นฆราวาสที่มีความสุขได้ เมื่อใดมีความรู้สึกว่างจากตัวตนของตนอย่างนี้ก็ให้เข้าใจเถิดว่าเมื่อนั้นเป็นเวลาที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ที่สุด เมื่อใดจิตกลัดกลุ้มอยู่ที่ตัวกูของกูไม่ว่างเสียแล้วเมื่อนั้นจิตมืดมนที่สุด แม้แต่จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวฉันของฉัน ตัวเราของเรานี้ก็ยังมีความมืดมนพอประมาณ ที่จะทำให้แสงสว่างของสติปัญญาเสียไป ไม่มีสติปัญญาสมบูรณ์พอที่จะจัดจะทำสิ่งต่างๆซึ่งเป็นหน้าที่การงานนั้นให้เป็นไปในทางปลอดภัยได้ ฉะนั้นก่อนแต่จะคิดนึกอะไร จะทำอะไรหรือจะตัดสินใจอะไร จงทำจิตให้ว่างเสียก่อน จงทำจิตให้ว่างจากตัวกูของกูเสียก่อน ทำจิตให้ว่างจากตัวตนของตนเสียก่อน เมื่อจิตว่างดีแล้วจึงจะตัดสินปัญหาอะไรลงไปให้เด็ดขาด จึงจะนึกคิดหรือทำอะไรลงไปอย่างเต็มที่ด้วยจิตที่อยู่กับเนื้อกับตัว มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ นี้เรียกว่าแม้ฆราวาสก็ได้รับประโยชน์จากเรื่องสุญญตาด้วยเหตุนี้ แม้แต่เราจะทะเลาะกับใครจะโต้คำพูดกับใคร ก็จงมีจิตว่างอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว เราก็จะมีทางที่จะพูดไม่ผิด จะทำไม่ผิด จะเอาชนะบุคคลที่เต็มไปด้วยตัวกูของกู คือมีความโกรธจัด มีความระส่ำระสาย ฟุ้งซ่านรำคาญจัดอยู่ในขณะนั้น นี้เรียกว่าเมื่อเราจะสู้กับใครก็จงเอาสุญญตาเป็นอาวุธเข้าไปสู้กับเขา เราก็มีทางจะเอาชนะได้ เมื่อชีวิตของฆราวาสเต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างนี้ มันก็ต้องใช้อาวุธนี้อยู่ดี นี้เห็นได้ว่าธรรมะสูงสุดในขั้นสุญญตา เพื่อนิพพาน ก็เอามาใช้ในเรื่องของชาวบ้านได้ แต่แล้วมันก็ไม่พ้นจากความเป็นพ่วงแพอยู่นั่นเองไม่เป็นอะไรมากไปกว่านั้น อย่าได้ไปหลงรักสุญญตาอย่างชีวิตจิตใจเข้าอีก มันจะกลายเป็นเรื่องอื่นไป ถ้ายังคงเป็นเพียงเหมือนเรือแพพาหนะข้ามฟากอยู่อย่างเดียวไปตามเดิม สรุปความว่าธรรมะไหนทั้งหมดนั้นก็คือพ่วงแพทั้งนั้น พ่วงแพเล็กๆก็ข้ามคูข้ามคลองเล็กๆ พ่วงแพใหญ่ขึ้นไปก็ข้ามแม่น้ำข้ามอ่าว พ่วงแพใหญ่ที่สุดก็ข้ามทะเลข้ามมหาสมุทรออกไปสู่ฝั่งโน้นคือนิพพาน ถือธรรมะไว้ในฐานะในลักษณะที่เป็นพ่วงแพให้ถูกต้อง และใช้ให้ได้จริงๆให้สำเร็จประโยชน์ตามความหมายของพ่วงแพจริงๆ ก็จะต้องประสบผลถึงที่สุดในพระพุทธศาสนาโดยไม่ต้องสงสัยเลย ถ้าผิดจากนี้แล้วจะไม่เป็นพ่วงแพแต่จะเป็นอาวุธสำหรับประหัตประหารกัน อย่างดีที่สุดก็จะเที่ยวแบกเที่ยวทูนไปไม่รู้ว่าจะไปวางไว้ที่ไหน ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรในการใช้พ่วงแพนั้น นี้สรุปความสั้นๆที่สุดว่า ถ้าเขาถามว่าถ้าจะให้เข้าใจธรรมะอย่างง่ายที่สุดแล้วจะให้เปรียบธรรมะเหมือนอะไร เราตอบว่าเปรียบเหมือนพ่วงแพ
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาต่อไปว่าธรรมะสูงสุดหรืออมตธรรมนั้นคืออะไร เขาถามว่าอมฤตธรรมหรืออมตธรรมหรือธรรมะสูงสุดนั้นคืออะไร อมฤตหรืออมตะนี้แปลว่าไม่ตาย อมฤตธรรมแปลว่าธรรมที่ทำความไม่ตาย ขยายความออกไปว่าธรรมะที่จะทำคนที่มีธรรมะนั้นไม่ให้ตาย ธรรมะนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ คืออมตธรรม ท่านทั้งหลายฟังดูให้ดีทีหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ คืออมตธรรม เราจะเอาเปรียบพระพุทธเจ้าสักหน่อยว่า ขณะใดที่ราคะ โทสะ โมหะ ไม่รบกวนจิตใจของเราในขณะนั้นเราก็มีโอกาสที่จะชิมลองอมฤตธรรม แม้จะไม่ใช่เป็นอมฤตธรรมที่สมบูรณ์ที่ถึงที่สุด มันก็ยังเป็นอมฤตธรรมอยู่นั่นเอง ฉะนั้นถ้าท่านอยากจะชิมรสอมตธรรมหรือน้ำอมฤตนี้ว่าเป็นอย่างไรแล้วก็คอยเฝ้าดูให้ดีๆว่าโอกาสใด เวลาไรที่เรารู้สึกว่าไม่มีราคะรบกวนใจ ไม่มีโลภะรบกวนใจ ไม่มีโทสะรบกวนใจ ไม่มีโมหะรบกวนใจ เป็นจิตที่ว่างจากตัวกูของกู เรากำลังสบายที่สุดบอกไม่ถูกนั้น คืออมตธรรมชิมลอง ได้รับรสของอมตธรรมมาชิมลองดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอมตธรรมนั้นได้เป็นเบื้องต้น เป็นอันดับแรกสำหรับศึกษาและปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าต่อไป เดี๋ยวนี้คนมาเข้าใจผิดตัดหนทางของตัวเองเสียว่า เรื่องนิพพานเรื่องอมตะนี้ไม่มีทางที่จะรู้ไม่มีทางที่จะเข้าใจ อย่าได้ไปสนใจให้เสียเวลาเลย ท่านไปสังเกตุดูให้ดีว่าที่นั่น ที่นี่ ที่โน่น ล้วนแต่มีคนพูดอย่างนี้ทั้งนั้น นั้นมันเป็นการตัดหนทางของเขาด้วยความโง่เขลาของเขาไม่ให้เกิดความก้าวหน้าไปตามทางที่จะก้าวหน้า นี่เรามาเชื่อพระพุทธเจ้ากันดีกว่าในข้อที่ว่าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นอมฤตธรรม แปลว่าธรรมที่ทำความไม่ตาย เราเห็นได้ชัดในข้อนี้ว่าเมื่อเกิดราคะนั้นมันมีความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตนรวมอยู่ในนั้น เมื่อเกิดโลภะนั้นมันมีความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตนรวมอยู่ในโลภะนั้น เมื่อมีโทสะมันก็มีความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตนอย่างใดอย่างหนึ่งรวมอยู่ในโทสะนั้น หรือเมื่อเกิดโมหะก็มีความรู้สึกเป็นตัวตนของตนรวมอยู่ในโมหะนั้น และเมื่อมีความโลภมันก็มีความรู้สึกว่าตัวฉันจะเอาให้มาก จะเอาอย่างนั้น จะเอาโดยวิธีนี้ จะมากกว่าคนอื่นอย่างโน้นจะดีกว่าคนอื่นอย่างนี้ ล้วนแต่มีตัวฉันรวมอยู่ในความโลภนั้น เมื่อมีตัวฉันที่ไหนก็มีความตายที่นั่นมีความเร่าร้อนที่นั่น เพราะว่ามันเป็นเรื่องของกิเลสโดยตรง เป็นเรื่องของตัณหาอุปาทานที่เข้าใจเอาเองว่าอย่างนั้นๆ คือเป็นตัวเราหรือเป็นของๆเรา พอเป็นตัวเราเป็นของๆเราแล้วก็ต้องมีปัญหาเผชิญหน้าทันทีในเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่เราต้องการหรือความพบกันเข้ากับสิ่งที่เราไม่ต้องการ อย่างนี้เรียกว่าความทุกข์หรือความตาย ต่อเมื่อไม่เกิดตัวตน ไม่เห็นไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน เมื่อนั้นจึงจะไม่มีตน และไม่มีอะไรจะตาย ดังนั้นเมื่อไม่มีราคะ โทสะ โมหะ คือไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน และไม่มีอะไรที่จะต้องตาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าว่างจากราคะ โทสะ โมหะนั้น คืออมฤตธรรม คือธรรมที่ทำความไม่ตาย เราอยากไม่ตายเราก็อย่ามีตัวตนสำหรับจะตาย เราไม่อยากมีตัวตนก็เราระวังอย่าให้เกิดราคะ โทสะ โมหะขึ้นมา เราไม่อยากให้เกิดราคะ โทสะ โมหะขึ้นมา เราก็ระวังเป็นอย่างยิ่งให้ดีๆ ในเมื่อมีรูปกระทบตา มีเสียงกระทบหู มีกลิ่นกระทบจมูก โดยนัยยะดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าอย่าให้เกิดเป็นกิเลสเป็นตัณหา อุปาทาน แต่ให้เกิดเป็นสติสัมปชัญญะว่านี่มันเรื่องอะไรกัน ควรจะทำอย่างไรหรือไม่ควรจะทำอย่างไรหรือควรจะทำให้ดีมากยิ่งขึ้นไปอย่างไรแต่อย่างนี้เท่านั้น มันก็ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลสที่เป็นตัวเป็นตนแต่เป็นสติปัญญาเป็นสัมปชัญญะแทนอยู่เรื่อย ท่านต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า ที่ว่าเกิดเป็นสติปัญญา เป็นสติสัมปชัญญะนั้น มันไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังรู้สึกเป็นตัวเป็นตนยังไม่ใช่สติปัญญา ยังไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ยังเผลอเป็นตัวเป็นตนอยู่ ถ้ามีสติปัญญาแท้ในทางธรรมะแท้มันก็รู้สึกว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ส่วนประกอบต่างๆของสังขารเหล่านี้คืออะไร เพื่ออะไร มาอย่างไร ไปอย่างไร จะต้องทำอย่างไรไม่ต้องทำอย่างไรอย่างนี้เท่านั้น แม้ว่าจะไปกินอะไรอร่อยเข้าก็รู้สึกแต่ว่าเป็นของที่ให้เกิดความอร่อยแก่ลิ้น อย่าให้เผลอจนไปถึงหลงรักหลงยึดมั่นถือมั่นเข้า ของอร่อยมันก็อร่อย สิ้นเวลาล่วงเวลามันก็หมดความอร่อย และมันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามเรื่องตามราวของมัน จิตที่ฉลาดถึงขนาดนี้เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะในการรับอารมณ์ ในการรู้อารมณ์ ในการปฏิบัติต่ออารมณ์ ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปวงที่เข้ามาโดยรอบด้านแล้วไม่เกิดราคะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะอะไรก็ตาม ไม่เกิดตัณหาอุปาทานเพราะเหตุนั้น เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยความไม่ตาย เป็นอยู่ด้วยการดื่มน้ำอมฤตหรือดื่มอมตธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้กล่าวไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้แก่คนทุกคนทุกระดับตามสัดตามส่วนของสติปัญญาสามารถ เรานับถือพระพุทธเจ้า ยอมตัวเป็นสาวกของพระองค์ก็เพื่อจะได้สิ่งนี้ ฟังดูใหม่ให้ดีๆว่าอาตมากำลังว่าการที่เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็เพื่อได้สิ่งนี้ พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรที่จะให้เรานอกไปจากสิ่งนี้ อะไรๆก็มารวมอยู่ที่นี่ คือสิ่งที่เราจะสามารถมีชัยชนะเหนือสิ่งทุกสิ่ง อยู่ในโลกนี้โดยไม่พ่ายแพ้แก่อะไรแต่ประการใด พระพุทธเจ้ามีให้แต่สิ่งนี้ สิ่งอื่นท่านไม่อยากจะให้เพราะมันไม่มีความหมายอะไร สำหรับสิ่งนี้มีความหมายมากท่านจึงยกย่องมันแต่สิ่งเดียว และต้องการจะให้เราผู้เป็นสาวกได้สิ่งนี้ เพราะท่านมีเมตตากรุณาต่อเรา ดังนั้นเราควรจะสนองพระพุทธประสงค์ให้ตรงกัน พยายามกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนี้ด้วย เรียกว่าอะไรก็ได้ เรียกว่าอมฤตธรรมก็ได้ เรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก็ได้ สิ่งที่อยู่เหนือโลกเหนือความตายโดยประการทั้งปวงก็ได้ มันมีชื่อเรียกได้หลายความหมาย แต่มันประเสริฐตรงที่ไม่มีความทุกข์เลยด้วยกันทุกความหมาย อยู่เหนือปัญหาทั้งหมด ไม่มีปัญหาใดๆที่จะไม่รวมอยู่ในเรื่องนี้ นั้นเราศึกษาเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องไม่เกิดตัวกูของกู ไม่เกิดตัวตนของตนแล้ว ได้ดื่มอมฤตธรรมอยู่เสมอแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เพียงพอแล้วสำหรับความเป็นพุทธบริษัท หรือสำหรับความเป็นมนุษย์ที่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ด้วยอาการอย่างนี้ นี้เป็นการแสดงให้เห็นในอันดับสุดท้ายของการวิสัจนาในวันนี้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดหรืออมตธรรมนั้นคือความไม่ปรากฎแห่งราคะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่ปรากฎตลอดกาลก็เป็นอมตธรรมแท้และถาวร ถ้าไม่ปรากฎเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็เป็นอมตธรรมชิมลองเป็นตัวอย่าง แม้อย่างนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ให้ความชื่นอกชื่นใจ ให้ประโยชน์อย่างยิ่งไม่มีอะไรเสมอเหมือน ขอให้พยายามเป็นอยู่ด้วยชีวิตที่อาบรดด้วยอมฤตธรรมนี้ให้สุดความสามารถของตนจงทุกๆคน และเป็นสิ่งที่ควรจะตั้งอธิษฐานจิตในวันพิเศษเช่นวันวิสาขบูชานี้ด้วย
ทบทวนมาตั้งแต่ต้นอีกครั้งหนึ่งว่าเราเป็นพุทธบริษัทจะต้องเข้าใจสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง ทั้งเพื่อตนเองและเผื่อผู้อื่นไว้ด้วยเผื่อเขาจะถาม ถ้าเขาถามว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรก็ตอบว่าท่านสอนเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ถ้าเขาถามว่าสอนอย่างไร ก็ตอบว่าสอนให้เดินสายกลางและสอนให้ช่วยตัวเองและสอนให้ถือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย จะต้องจับที่เหตุที่ปัจจัยนั้นให้ถูกต้อง และสอนระบุไว้ให้เป็นตัวบทเหมือนกับกฎหมายว่าให้เว้นจากความชั่ว ให้ทำความดี ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ และให้เตือนว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จงสมบูรณ์อยู่ด้วยความไม่ประมาททุกเมื่อเถิด ท่านสอนอย่างนี้ ที่เขาพูดว่าสอนยืดยาวจริง เอาแต่สั้นๆจะว่าอย่างไร ก็ตอบว่าท่านสอนว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นสั้นที่สุด ถ้าเขาถามว่าปฏิบัติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นปฏิบัติอย่างไร ตอบว่าปฏิบัติในลักษณะราวกับเหมือนกับว่าเมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าได้ดู เมื่อหูได้ฟังเสียงก็สักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นทางจมูกก็สักว่าได้ดม เมื่อได้ลิ้มรสทางลิ้นก็สักว่าได้ชิม เมื่อได้สัมผัสทางผิวกายทั่วๆไปก็สักว่าได้กระทบ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นรบกวนในใจก็ให้เป็นสักว่าความรู้สึก เพื่อจะเกิดสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นไปในทางของกิเลสตัณหา แต่เป็นไปในทางของวิชาความรู้ ไม่ให้เกิดเป็นตัวตนของตน ตัวกูของกูขึ้นมา ถ้าเขาถามว่าให้เรียนที่ไหนกันให้ปฏิบัติที่ไหนกัน ก็ว่าในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจนี่แหละ ให้เรียนที่นี่ให้ศึกษาที่นี่ ส่วนเรื่องสถานที่ภายนอก ครูบาอาจารย์นั้นเป็นเพียงเรื่องประกอบสำหรับให้รู้เรื่องมาเรียนที่นี่ เมื่อถูกถามต่อไปว่าเพื่อเข้าใจธรรมะนี้ดีขึ้นจะให้เปรียบธรรมะนี้เหมือนอะไร ตอบว่าให้เปรียบธรรมะนี้เหมือนพ่วงแพ แพเล็กๆก็ข้ามคลองเล็กๆ แพใหญ่ๆก็ข้ามแม่น้ำข้ามอ่าว แพใหญ่ที่สุดก็ข้ามทะเลข้ามมหาสมุทร ให้ใช้ธรรมะอย่างพ่วงแพ แม้ในกรณีที่เป็นฆราวาสก็ให้ใช้ธรรมะอย่างพ่วงแพ สุญญตาธรรมะ ใช้เป็นพ่วงแพได้ในทุกกรณีในทุกชั้นในทุกอันดับ อย่าได้ใช้พ่วงแพเป็นอาวุธสำหรับประหัตประหารกัน อย่าได้ใช้พ่วงแพเพียงแต่ว่าเป็นสมบัติถาวรไว้เพื่อโอ้อวดกัน เป็นอันว่าเรารู้จักธรรมะในลักษณะที่เป็นพ่วงแพอย่างถูกต้องและให้ได้รับผลถึงที่สุดคืออมตธรรม คือความไม่ปรากฏแห่งราคะ โทสะ โมหะ เป็นอยู่ด้วยเวทนาอันเย็น เวทนาอันเย็นก็คือว่าจะเป็นเวทนาชนิดไหนก็ตามไม่ปรุงตัณหาอุปาทาน เป็นเวทนาที่เย็น ให้ความสุขสบายเสียเองไม่ปรุงตัณหา อุปาทาน ก็ให้ความเย็นได้ ปรุงเป็นตัณหา อุปาทาน ก็เป็นความร้อนและเป็นความตาย ให้เป็นเวทนาที่เย็นอยู่เสมอคือความสิ้นแห่งราคะ โทสะ โมหะถาวร หรือว่าความไม่ปรากฏแห่งราคะ โทสะ โมหะชั่วคราว เป็นอมตธรรมชิมลองด้วยเหตุนี้ เป็นอันว่าเราได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมมาโดยสมควรแก่เวลา และเหมาะกาลสมัยที่จะนึกถึงธรรมะในลักษณะเช่นนี้ เพื่อมีความเชื่อมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งขึ้นไป โดยระลึกถึงพระคุณอันสูงสุดนี้ ในโอกาสที่สมมุติกันว่าเป็นวันประสูติตรัสรู้ และนิพพาน เป็นธรรมเทศนาที่วิสัจชนาไว้สำหรับเป็นเครื่องเตือนใจอันถาวรตลอดกาลแก่สมัยเช่นวิสาขบูชานี้แก่ท่านทั้งหลาย เหมือนที่ได้กระทำเป็นประจำมาทุกๆปี วิสัจชนาสมควรแก่เวลา ขอยุติธรรมเทศนาในโอกาสนี้ไว้แต่เพียงนี้