แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนบ่าย ธรรมเทศนาในวันนี้ ปรารภความไม่ประมาทเกี่ยวกับอายุ เกี่ยวกับการล่วงไปของอายุ ดังนั้นสิ่งใดที่จะให้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความล่วงไปของอายุโดยความไม่ประมาทแล้ว ก็จะได้นำมากล่าวในวันนี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
ในโอกาสต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าภูมิทั้ง ๔ มีอยู่คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ตามที่สอนกันอยู่ทั่ว ๆ ไปในโรงร่ำโรงเรียนนั้น สอนกันว่ากามาวจรภูมิ หมายถึงโลก หรือภาวะของสัตว์ที่มีความปรารถนากาม ได้แก่ พวกมนุษย์ พวกเทวดาชั้นกามาพจร และรูปาวจรภูมินั้น หมายถึงพวกรูปพรหมในพรหมโลก และอรูปาวจรภูมินั้น หมายถึง พวกพรหมที่ไม่มีรูปในพรหมโลก และโลกุตตรภูมินั้น หมายถึง พระอริยเจ้าทุกจำพวก และมีคำอธิบายกันว่ากามาวจรภพนั้น ก็คือโลกมนุษย์ โลกเทวดา รูปาวจรภพ ก็คือพรหมโลก อรูปาวจรภพ ก็คือพรหมโลกที่ไม่มีรูป ส่วนโลกุตตระนั้นไม่มีภพ จึงไม่ได้พูดถึง แต่เมื่อเอาคำว่าภูมิเป็นหลักแล้ว ก็พอจะกล่าวได้ว่าสิ่งทั้ง ๔ นี้ ไม่ได้เป็นของที่ซ้ำกันเลย ยังสูงต่ำกว่ากันด้วย คำอธิบายนั้นจะผิดถูกอย่างไร ก็แล้วแต่ผู้ใดจะวินิจฉัย เพราะคำอธิบายเช่นนี้ไม่มีในรูปของพระพุทธสุภาษิต หรือไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นคำอธิบายของพระอาจารย์ในชั้นหลังทั้งนั้น อย่างมากที่สุดก็เพียงแค่อรรถกถา ทีนี้มีทางที่จะพิจารณากันเป็นอย่างอื่น ก็ควรจะทำได้เพื่อความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับภูมินี้เป็นพิเศษออกไป เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจะตั้งข้อสังเกตว่า คนเราคนหนึ่ง ๆ นั้น แม้ในชีวิตอันสั้นนี้ก็จะเปลี่ยนไปได้ทั้ง ๔ ภูมิ แม้ไม่มีการปฏิบัติธรรมเพื่อจะเปลี่ยนภูมิหรือเลื่อนภูมิ โดยธรรมชาติแท้ ๆ มันก็ยังเลื่อนของมันเองได้ จะยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่า คนเกิดมาเป็นเด็กแล้วเป็นหนุ่มเป็นสาว ในตอนนี้ย่อมมีจิตใจที่ติดพันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ากามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ของเพศที่ตรงกันข้ามจากตน นี้ก็ต้องเรียกว่ามีจิตใจอยู่ในภูมินี้หรือในระดับนี้ ครั้นต่อมามีอายุมากเข้า สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสนใจได้มากเหมือนแต่ก่อน จะเนื่องมาจากความเบื่อ หรือความซ้ำซาก หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจก็ตามใจ คน ๆ นั้นได้เปลี่ยนไปพอใจในความสงบ หรือจิตใจที่สงบ เพราะมีอะไรที่เป็นวัตถุสิ่งของมายั่วความสนใจเอาไปเสีย ไม่มีความสนใจในทางกามคุณโดยตรงอีกต่อไป นี้ก็ต้องเรียกว่าเขามีจิตใจเปลี่ยนไปโดยแน่นอน และน่าจะเรียก น่าจะเรียกว่าเป็นการเลื่อนสูงขึ้นไปด้วยเหมือนกัน เช่น คนแก่ ๆ ไม่สนใจในเรื่องกามคุณ แต่ไปสนใจในเรื่องวัตถุสิ่งของที่ตนชอบ ชอบเล่นชอบมี ทีนี้ต่อมาอีก ความสนใจในสิ่งชนิดนั้นจืดจางไป ไปสนใจในความสงบที่ยิ่งไปกว่านั้น เช่นชอบไปนั่งตามที่สงัด ตามทุ่งนา ตามทะเล หรือชอบไปสนทนากับพระที่วัด มากกว่าที่จะไปสนใจกับสิ่งของ อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตใจได้เลื่อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ไปหาความสุขจากสิ่งที่ไม่ใช่รูปแต่เป็นนาม เช่นวิชาความรู้ หรือแม้ที่สุดแต่บุญกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความสนใจของคนในขั้นนี้ในวัยนี้ และครั้นต่อมา ต่อมา การศึกษาเป็นไปมากขึ้น จนถึงขนาดที่ทำให้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง บุคคลนั้นเองก็ขึ้นสู่โลกุตตรภูมิ เป็นภูมิที่สูงที่สุด นี้ทำให้เห็นได้ว่าภูมิทั้ง ๔ ที่แยกเคยแยกกันไว้คนละโลกนั้น มามีอยู่ได้ในบุคคลเพียงคนเดียวและในระยะเวลาอันสั้นด้วยซ้ำไป ถ้าหากว่าบุคคลนั้นบังเอิญมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยสติปัญญา ไม่ลุ่มหลงสิ่งใดนานเกินไป ก็สามารถจะเปลี่ยนภูมิของตน หรือเลื่อนภูมิของตนขึ้นไปได้ครบทั้ง ๔ ภูมิในช่วงเวลาอันสั้น ยังไม่ทันจะตาย ถ้าเป็นอย่างนี้พิจารณาดูให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าภูมินั้น มันก็คือสิ่งที่อาจจะเลื่อนไปได้ตามวัย เมื่อเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ตกอยู่ในภูมิกามาวจร ครั้นเป็นผู้ใหญ่จวนจะแก่ชรา ก็เลื่อนขึ้นไปหาวัตถุสิ่งของ เมื่อสูงขึ้นไปอีก ก็เลื่อนไปหาสิ่งที่ไม่มีรูปร่างปรากฏเป็นวัตถุสิ่งของเป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรม และถ้าเห็นว่าสิ่งทั้ง ๓ นี้ไร้สาระยึดมั่นไม่ได้ มีจิตใจปล่อยวาง ก็จะเลื่อนไปพอใจในความว่างชั้นใดชั้นหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง ก็กลายเป็นพระอริยเจ้าไปเพราะเหตุนี้ ๓ ภูมิแรกซึ่งเป็นโลกียภูมิก็มีได้ในเวลาอันสั้นในคน ๆ เดียว และแถมภูมิที่ ๔ ซึ่งเป็นโลกุตตรภูมิเข้าไปอีก ก็มีได้ในคน ๆ เดียว ดังนั้นขอให้ลองเปรียบเทียบกันดู ว่าคำอธิบายอย่างนี้กับคำอธิบายที่เคยสั่งสอนกันในโรงเรียนโดยแยกเอาไปไว้กันคนละโลก คนละคราว คนละชาตินั้น คำอธิบายชนิดไหนจะตรงกับความประสงค์ของเรา หรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เรา หรือว่าจะนำมาใช้ได้กับการทำความไม่ประมาทในเรื่องอันเกี่ยวกับอายุที่ล่วงไป ๆ
ทุกคนจะพอมองเห็นได้ว่า คำอธิบายที่ชี้ให้เห็นว่าทั้ง ๔ ภูมิมีได้ในบุคคลคนเดียวในระยะเวลาอันสั้น หรืออย่างมากก็เพียงชาติหนึ่งนี้ เป็นคำอธิบายที่เห็นประจักษ์ชัดอยู่โดยไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ส่วนคำอธิบายที่เอาไปแยกไว้คนละโลกคนละชาติ นี้มันมืดมัวและสลัวเต็มที มนุษย์อยู่ในโลกนี้เรียกว่ามนุษยโลก ก็เห็นก็พอจะเห็นได้ แต่เทวโลกนั้นเล่าอยู่ที่ไหน พวกอาจารย์อธิบายกันว่าเป็นโลกที่อยู่สูงขึ้นไป บางทีก็เหมาเอาเขตที่สูง ๆ เช่นเขตหิมาลัย หรือยอดสุดของหิมาลัยว่าเป็นที่ตั้งแห่งเทวโลกก็มี ครั้นตกมาถึงสมัยที่เขาสำรวจดินแดนเหล่านี้ได้หมด ก็เลยเลิกกัน ต้องเลื่อนไปที่อื่น ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทีนี้บางพวกหาทางออกอย่างอื่น คืออธิบายว่าเทวโลกหรือพรหมโลกเหล่านี้เป็นอทิสสมานะ คือว่ามองเห็นไม่ได้ด้วยตา เป็นโลกทิพย์ แต่เมื่อถูกถามว่าอยู่ทางไหน ก็จนปัญญา บางพวกอธิบายว่าซ้อนกันอยู่กับโลกนี้เอง คำอธิบายที่ว่าซ้อนกันอยู่กับโลกนี้เอง เหมือนกับเงาซ้อนกันอยู่กับสิ่งของที่เป็นที่เกิดของเงา อย่างนี้มันก็ชวนให้คิดว่าเป็นคำอธิบาย ถ้ามองดูทางหนึ่งก็เป็นการเอาเปรียบและไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ามองดูอีกทางหนึ่งก็จะเห็นว่า คล้าย ๆ กับจะยอมรับว่ามันรวมอยู่กับคน รวมอยู่ที่คน รวมอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของคนนั่นเอง คำอธิบายที่ชี้ไปยังสิ่งที่มองเห็นไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ ต้องเดา ต้องสันนิษฐาน ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นนั้น พระพุทธเจ้าท่านห้าม และถือว่าเป็นอันตราย ดังนั้นถ้ามีหนทางใดที่จะมองเห็นได้ และอยู่ในวิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติได้จริง ๆ ก็ควรจะถือว่าคำอธิบายอันนั้นหรือหลักเกณฑ์อันนั้น ถูกตรงตามความเป็นจริง หรือถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ถ้าเราจะไม่ถือเอาหลักเกณฑ์ที่คนนั้นคนนี้บัญญัติ ถือเอาตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว ก็ยังจะรู้สึกว่า สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตนเองเชื่อตนเองได้ แล้วประพฤติกระทำตามนั้นแล้วเกิดผลเห็นประจักษ์อยู่ นั่นแหละควรจะสนใจก่อนสิ่งอื่นหรือก่อนอย่างอื่น ถ้าคำที่กล่าวนี้เป็นที่พอใจ ก็อยากจะแนะให้สังเกตต่อไปว่า เราบัญญัติภูมิทั้ง ๔ นี้ ได้โดยหลักเกณฑ์ที่ง่ายที่สุด และถือเอาจิตใจเป็นเกณฑ์ แม้ว่าจิตใจนั้นจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เราก็ถือเอาที่จิตใจนั้นเป็นเกณฑ์ ดังนั้นจึงมีทางที่จะกล่าวว่า คนคนเดียวกัน ในวันหนึ่งวันหนึ่งนั้น มีจิตใจเปลี่ยนไปได้หลายภูมิ อย่างน้อยก็สัก ๓ ภูมิ คือบางเวลาคนคนเดียวกันนั้นหลงใหลในกาม แล้วต่อมาก็เบื่อ ไปพอใจในของเล่นที่เป็นวัตถุสิ่งของ แล้วต่อมาอีกครู่หนึ่งเดี๋ยวก็เกิดเบื่อ พอใจในการที่จะอยู่นิ่ง ๆ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เห็นได้ว่าจิตใจนั้นได้เปลี่ยนภูมิอย่างรวดเร็ว จะเรียกว่าตั้งอยู่ในภูมิเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะมันต่างกันเป็นคนละอย่างจริง ๆ แต่ความแน่นอนหรือความไม่แน่นอนนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องถือเอาความที่แน่นอนพอที่จะกล่าวได้ว่า จิตใจโดยส่วนใหญ่ของเขาเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงไม่เอาเวลาเพียงวันเดียวเป็นเครื่องกำหนด จะเอาเวลาเป็นระยะ ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี เป็นเครื่องกำหนดก็จะแน่นอนยิ่งขึ้น เช่นว่าคนเราโดยมากเมื่ออยู่ในอายุระหว่าง ๓๐ ปีลงมา จิตใจก็ต้องตกไปในกามาวจรภูมิเป็นธรรมดา เมื่ออายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ก็เปลี่ยนไปหาความพอใจชนิดที่เป็นรูปาวจรภูมิ ถ้าแก่มากขึ้นไปอีกสัก ๗๐ - ๘๐ ปี ก็อยากอยู่นิ่ง ๆ มากกว่าอย่างอื่น ถ้าเอาความนิ่ง ซึ่งเงียบความความเงียบความนิ่งซึ่งไม่ไม่มีรูปร่าง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีจิตใจเปลี่ยนไปสู่อรูปาวจรภูมิ ดังนั้นขอให้ทุกคนที่มีอายุเกินกว่า ๗๐ ปีไปแล้ว มองย้อนหลังดูตัวเองให้ดี ๆ ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงดังนี้ได้ และเมื่อการศึกษามีมากพอ ก็มีจิตใจที่ต้องการจะลุจะบรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไปถึงขั้นโลกุตตรภูมิ
กล่าวอย่างรวบรัดอีกครั้งหนึ่งก็ว่า ในระยะที่มีจิตใจตกอยู่ในกามาวจรภูมินั้น ก็คือพวกที่เป็นสุขเพราะได้บริโภคกาม เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในฐานะเป็นรูปาวจรภูมินั้น ก็คือพวกที่เป็นสุขเมื่อได้รับรสจากรูปที่บริสุทธิ์ รูปธรรมหรือวัตถุสิ่งของที่บริสุทธิ์ ที่ช่วยให้จิตเป็นสมาธิพอใจหรือสงบได้ ครั้นตกครั้นเลื่อนขึ้นไปถึงระยะที่เป็นอรูปาวจรภูมิ ก็คือพวกที่เป็นสุขต่อเมื่อได้นามธรรมที่บริสุทธิ์ ครั้นเลื่อนขึ้นไปถึงพวกโลกุตตรภูมิ ก็คือพวกที่จะเป็นสุขต่อเมื่อได้อยู่ด้วยความว่างจากตัวกู ของกู จึงจะเป็นสุข และยังแถมมีความพอใจที่จะนึกถึงคนอื่นยิ่งกว่าตัวเองด้วย ชั้นลำดับทั้ง ๔ ชั้นนี้ เห็นได้ด้วยกันทุกคน เข้าใจได้ด้วยกันทุกคนว่า เป็นสิ่งที่ต้องต่อเนื่องเป็นลำดับ เป็นลำดับ เป็นลำดับขึ้นไป และยิ่งกว่านั้นที่ดีที่สุด ก็คือว่ามันเปลี่ยนได้ มันเลื่อนชั้นได้ และถ้าใครเลื่อนชั้นได้ ก็แปลว่าเป็นโชคดีของคนนั้น เพราะว่าไม่เสียทีที่เกิดมา เพราะว่าเกิดมาคราวหนึ่ง ได้เลื่อนชั้นไปจนครบทั้ง ๔ ชั้น เมื่อมองเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้อยู่ในวิสัยที่จะเป็นได้ ก็จะได้ตั้งใจปรับปรุงหรือกระทำให้ตนได้เลื่อนชั้นหรือเลื่อนภูมิสูงขึ้นไปตามลำดับ เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ และควรจะเห็นว่าเรื่องภูมิทั้ง ๔ นี้ เป็นปัญหาที่คนคนนั้นจะต้องจัดจะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงไปในชาตินี้เพียงชาติเดียว ไม่ละเมอเพ้อฝันเอาภูมินั้นไว้ที่โลกโน้น ภูมิโน้นไว้ที่ลูก ๆ โลกโน้น และต้องรออีกหลายชาติ หลายสิบชาติหลายร้อยชาติ จึงจะได้ไปเลื่อนภูมิในโลกอื่น ในเทวโลก ในพรหมโลก คิดดูแล้วก็น่าสังเวชหรือน่าสงสารที่คนมีความเข้าใจอย่างนี้ และก็ทะเยอทะยานที่จะได้ที่จะถึง และหวังกันเป็นชาติ ๆ เป็นสิบชาติร้อยชาติพันชาติ จึงจะบรรลุโลกุตตรภูมิ ถ้าคำว่าชาติหมายถึงการเกิดจากท้องแม่และตายเข้าโลงไปเป็นชาติหนึ่งแล้ว มันก็กินเวลานานมาก เว้นเสียแต่ว่าชาติในที่นี้ หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความยึดมั่นถือมั่นครั้งหนึ่ง ชั่วเวลาไม่กี่วินาทีไม่กี่นาทีก็เป็นชาติหนึ่ง ได้อย่างนี้ก็พอจะรอดตัว คือว่าระยะหลายสิบชาติหลายร้อยชาติหลายพันชาตินั้นมันมีได้เพียงในเวลาปีหนึ่ง ๒ ปี ๓ ปีก็ได้ ความรู้สึกที่เป็นตัวตนของตน หรือเป็นตัวกูของกู เกิดมาทีหนึ่ง ดับไปทีหนึ่ง ก็เรียกว่าชาติหนึ่งอย่างนี้ ถ้าคนศึกษาเข้าใจ จนกระทั่งมองเห็นว่าเกิดมาทุกที เป็นทุกข์ทุกที ขึ้นชื่อว่าชาติแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าชาติชนิดไหน ก็เลยเบื่อที่จะเกิดเป็นชาตินั้นชาตินี้อย่างนั้นอย่างนี้ จิตก็น้อมไปสู่โลกุตตรภูมิ คืออยู่เหนือโลก เหนือการเกิดในโลก และเหนือความคิดที่จะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเบื่อต่อการเกิด จึงเลื่อนขึ้นไปได้เองโดยไม่ยากที่จะขึ้นถึงโลกุตตรภูมิ ได้ในปัจจุบันทันตาเห็น คือในชาตินี้ เราอาจจะเลื่อนให้เร็วเข้า หรือว่าเร่งให้เร็วเข้า ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษของความเกิด เกิดในกามาวจรภูมิ ก็ได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากกาม เกิดในรูปาวจรภูมิ ก็ได้รับความทุกข์เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของรูปซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจหรือยึดมั่น เกิดในอรูปาวจรภูมิ ก็เป็นทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของนามที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจเช่นเดียวกัน มองเห็นความทุกข์เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจากกาม หรือจากรูป หรือจากอรูปดังนี้แล้ว จิตก็น้อมไปเพื่อความไม่เกิดชนิดไหนหมด เรื่องจึงเดินไปในทางที่จะเข้าไปสู่ความไม่มีตัวตน หรือเป็นความว่างจากตัวตน ที่เรียกว่านิพพาน คำอธิบายเช่นนี้คงจะถูกคัดค้านโดยคนส่วนมากซึ่งติดตามตัวหนังสือ หรือยึดมั่นถือมั่นแต่ความคิดความเห็นของตนเอง หรือของครูบาอาจารย์ของตนเองอย่างเดียว ไม่กล้าคิดด้วยความคิดของตน ไม่กล้าใช้เหตุผลเพื่อจะวิจารณ์ว่าคำที่กล่าวนั้น เข้ารูปเข้ารอยลงร่องลงรอยกันได้กับหลักเกณฑ์ทั่วไปในสูตรหรือในวินัยหรือหาไม่ คนชนิดนี้ย่อมไปยึดเอาคำอธิบายผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง มาถือไว้อย่างเหนียวแน่นยิ่งกว่าพระพุทธภาษิตที่ถูกต้องเสียอีก เป็นที่น่าเวทนาสงสารอยู่มาก เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในร่องในรอยของพุทธบริษัท เป็นความงมงาย เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่จะผูกมัดหรือฝังตัวเองไว้ให้จมติดอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน อย่างที่เรียกกันว่าเป็นหลักตอที่ปักลงไปไว้ในวัฏฏะ ไม่รื้อไม่ถอนได้ง่าย ๆ อย่างนี้เป็นการขาดทุน เพราะว่าเป็นการทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น และติดอยู่กับสิ่งที่เป็นความทุกข์อย่างละเอียดโดยไม่รู้สึกตัว เราจะต้องกล้าคิดกล้านึก ให้รู้วิธีหรือลู่ทางที่จะเลื่อนขึ้นไปจากความทุกข์ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ ให้สูงขึ้นไป ให้ประณีตยิ่งขึ้นไป จนกว่าจะไม่มีความทุกข์เลย ดังนั้นท่านผู้ใดมีความสนใจในเรื่องอันเกี่ยวกับอายุของตนที่ล่วงไป ล่วงไป ทุกวันทุกเดือนทุกปี ก็น่าจะได้นึกถึงเรื่องของภูมิทั้ง ๔ นี้ให้มากเป็นพิเศษ ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนชั้นของตนให้สูงขึ้นไปได้โดยเร็วทันตาเห็น ไม่ต้องรออีก ไม่ต้องรอให้ตายเข้าโลงไปเสียก่อนจึงจะเลื่อนได้ หรือว่าจะต้องตายเข้าโลงไปอีกตั้งหลายหน หลายสิบหน หลายร้อยหน จึงจะเลื่อนได้เหมือนที่เชื่อกันอยู่ทั่ว ๆ ไปในหมู่อุบาสกอุบาสิกา จนถึงกับยินดีที่จะเกิดอีกตั้ง ๔ อสงไขยแสนชาติ จึงจะได้เลื่อนก็มี
ทีนี้เราจะดูให้เลยออกไป ถึงเรื่องที่เกี่ยวกับทุคติบ้าง เช่น เรื่องนรก เป็นต้น เพราะว่าคนจะต่ำจะเลวลงไปจนถึงกับตกนรกจริง ๆ มันก็มีได้ในชีวิตนี้ โดยการที่มองให้เห็นว่าบางคราวมีจิตใจต่ำทราม เหมือนจิตใจของสัตว์เดรัจฉาน นี้ก็เป็นอบายอย่างหนึ่ง เป็นการเกิดในอบายอย่างหนึ่ง บางคราวมีจิตใจเร่าร้อนอย่างที่เรียกกันว่าเหมือนกับเอาไฟสุม อย่างนี้มันก็เป็นนรกและเป็นอบายชนิดหนึ่ง เพราะนรกหรือที่เรียกว่านิริยโลกนั้น มันก็รวมอยู่ได้ในชีวิตของคนคนหนึ่ง ความเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นเปรตเป็นอสุรกายก็เหมือนกัน ก็รวมอยู่ได้ในชีวิตของคนคนหนึ่ง แล้วตามหลักที่อธิบายกันทั่วไป ก็รวมอบายทั้ง ๔ นี้ไว้ในกามาวจรภูมิด้วย คนที่ไม่เข้าใจก็เข้าใจไม่ได้ หรือหัวเราะเยาะว่าสัตว์ในนรกจะบริโภคกามได้อย่างไร จะเอากามที่ไหนมาบริโภค อย่างนี้มันเป็นความเข้าใจผิดของคนคนนั้นเอง คำว่ากามาวจรภูมินั้น ถ้าหมายถึงสัตว์ที่มีจิตใจอยู่ในระดับที่เห็นกามเป็นของประเสริฐสูงสุดกว่าสิ่งอื่นใดหมด เมื่อมีใจความของคำอย่างนี้ ก็มองเห็นได้ทันทีว่า แม้สัตว์ในนรกก็บูชากาม อยากจะได้กาม ปรารถนากาม แม้สัตว์เดรัจฉานก็อยู่ในวิสัยที่จะพอใจในกาม ปรารถนากาม แม้เปรตและอสุรกาย ก็มีจิตใจอยู่ในวิสัยที่บูชากามปรารถนากาม จึงเรียกสัตว์นรก และสัตว์เดรัจฉาน และเปรตและอสุรกาย ว่าผู้ตั้งอยู่ในกามาวจรภูมิได้ โดยไม่มีทางที่จะแย้งแต่ประการใด เมื่ออบายทั้ง ๔ เป็นสิ่งที่นับรวมอยู่ในกามาวจรภูมิดังนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีได้ในชีวิตของคนคนเดียวนี้ ตามที่อธิบายมาแล้วว่าภูมิทั้ง ๔ นั้น มีได้ในคน ๆ เดียวในชีวิตเดียว เมื่อเป็นดังนี้ก็มีแต่ที่จะต้องระวังให้ดี อย่าให้มันมีภูมิตกต่ำลงไปถึงนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ระวังให้รักษาไว้ให้ยังคงอยู่ในภูมิของมนุษย์หรือเทวดา แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นพรหมในระดับพรหม รูปพรหมหรืออรูปพรหมก็ตาม ครั้นเบื่อต่อความเป็นอย่างนั้น จิตใจมันก็เลื่อนไปสู่ความไม่เป็นอะไร หรือเป็นโลกุตตรภูมิขึ้นมาเอง ความรู้ชนิดนี้เรียกได้ว่าเป็นความรู้จักหนทางที่จะต้องเดิน ที่จะต้องไป ไม่ใช่คนหลับหูหลับตาไม่รู้จักหนทาง ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาไว้ให้ดี คือเรื่องหนทางนี้ ว่าจิตใจนั้นมันจะเดินไปในทางไหน เดินไปอย่างไร หรือถ้าจะว่าคนเรานี้ ถ้าจะต้องเดินไปแล้ว มันจะต้องเดินไปตามทางอย่างไร ก็จะต้องได้รู้ไว้ ถ้าเข้าใจผิดในเรื่องนี้ก็หมายความว่าไม่รู้จักทาง ไม่รู้หนทางที่จะต้องเดินไป นั้นเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิติเตียนอย่างยิ่ง เป็นคนโง่เป็นคนหลง เป็นคนหลับหูหลับตาจนไม่รู้จักหนทาง ทีนี้เมื่อได้ศึกษาจนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภูมิทั้ง ๔ นี้แล้ว ก็รู้ได้ว่าหนทางนี้มันเป็นอย่างไร มันจะต้องเดินไปอย่างไร มันมีสูงมีต่ำกันอย่างไร มีต้นทางปลายทางอย่างไร และเรื่องของจิตใจนี้มันเบาหวิว มันกลับกลอก ดังนั้นมันจึงย้อนไปย้อนมาอยู่ในหนทางนั้น ได้หลายทบหลายทวนอย่างไร คนคนเดียวกันบางวันบางครั้ง มีจิตใจสูงเหมือนกับเทวดาเหมือนพรหม แล้วไม่กี่วันก็กลับมีจิตใจตกต่ำเป็นจิตใจของยักษ์ ของมาร ของสัตว์เดรัจฉาน ของสัตว์นรก ของเปรต ของอสุรกาย แล้วต่อมาอีกไม่กี่วันหรือบางทีไม่กี่ชั่วโมง มันก็ฟื้นตัวได้ กลับไปมีจิตใจในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก แต่ถึงอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่า มันวกวนอยู่ในทางนี้เอง ไม่ได้ออกไปนอกทางนี้ เป็นเพียงการวิ่งไปวิ่งมา การขึ้น ๆ ลง ๆ เพราะเหตุที่บังคับไม่ได้ เพราะเหตุที่ไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ หรือเพราะเหตุที่มีคุณธรรมน้อย มีคุณธรรมต่ำ แต่เมื่อเรามีความรู้มีความเข้าใจแจ่มแจ้ง ว่าหนทางนี้เป็นอย่างไร มีอันดับอย่างไร มันก็คงจะง่ายเข้าบ้างในการที่จะควบคุมไว้ได้ ไม่ให้พลัดตกไปในทางต่ำ ไม่ให้พลัดตกมาก ไม่ให้พลัดตกนาน อย่างนี้ก็ยังดี ถ้าทำได้ดีก็ไม่มีพลัดตก มีแต่จะรุกไปข้างหน้า เป็นความก้าวหน้า มีความแน่นอนที่จะปิดกั้นเสียซึ่งอบาย คือฝ่ายทุคติ แล้วก็ก้าวหน้าไปตามทางของสุคติ เป็นกามาวจรภูมิในชั้นสุคติ แล้วก็สูงขึ้นไปจนถึงรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ซึ่งเป็นสุคติมากขึ้นและสูงสุด และเลื่อนขึ้นไปสู่โลกุตตรภูมิ ซึ่งอยู่เหนือทุคติและสุคติโดยประการทั้งปวง เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิด สำหรับคนที่รำพึงถึงอายุของตัวเอง ว่าได้ล่วงมาอย่างไร กำลังเป็นอยู่อย่างไร และมันจะมีอะไร เท่าไร สำหรับที่จะต้องทำต่อไปข้างหน้า
การที่นำเอาเรื่องภูมิทั้ง ๔ มาอธิบายให้ฟังอย่างนี้ มีความมุ่งหมายหลายอย่าง หรืออาจจะให้เกิดผลได้หลายอย่าง อย่างแรกที่สุดเอาเป็นว่า คำอธิบายที่สั่งสอนกันอยู่ในเรื่องเดียวกันนั้น คำอธิบายบางอย่างไม่มีประโยชน์อะไรเลย รู้ไว้ท่อง ๆ ตาม ๆ กันไปเท่านั้น คำอธิบายบางอย่างทำให้เกิดความตีบตัน ก้าวหน้าไปไม่ได้ ได้แต่ยึดมั่นถือมั่นไว้อย่างมงายอีก แต่คำอธิบายบางประเภทบางชนิดนั้นช่วยได้มาก ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ช่วยให้ปรับปรุงจิตใจของตนได้โดยสะดวก นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องระวังให้ดี ในการที่จะถือเอาคำอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีผู้อธิบายไว้ต่าง ๆ กัน เราจะเลือกเอาคำอธิบายที่ใช้เป็นประโยชน์ได้ทันท่วงที และอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้นั้นเป็นหลัก นี้อย่างหนึ่ง อย่างต่อไปก็คือจะชี้ คือต้องการจะชี้ให้เห็นว่า กี่ภูมิกี่ภูมิมันก็รวมกันอยู่ที่คน หรือที่จิตใจของคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปชะเง้อมองไปทิศอื่นทางอื่นข้างบนข้างล่าง ว่านรกนั้นอยู่ลงไปข้างล่าง ลึกลงไปเท่าไรก็ไม่รู้ ลึกถึงโลกันตร์ ลึกถึงอเวจี ลึกถึงอะไรลงไปข้างล่าง ส่วนสวรรค์หรือพรหมโลกก็ตามอยู่สูงขึ้นไปทางบน สูงขึ้นไปอีกเท่าไรก็ไม่รู้ ส่วนโลกุตตระนั้น ชี้ไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องชี้ ก็เลยนึกไม่ถูก เป็นเรื่องที่สลายไปในตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วปัญหามันจะเกิดขึ้นอย่างไร หรือว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นอย่างไร ในเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันดูกับข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่า อบายหรือนรกทั้งหลายมันก็อยู่ในใจคน ความเป็นมนุษย์เป็นสัตว์มันก็อยู่ที่ใจคน ความเป็นเทวดาหรือเป็นพรหมมันก็อยู่ที่ใจของคน และโลกุตตรภูมิ หรือความเป็นพระอริยเจ้านั้นก็อยู่ในจิตใจของคน บางเวลาเรามีจิตใจเหมือนพระอริยเจ้าก็ได้ คือว่างจากความยึดถือ แต่มันไม่เป็นพระอริยเจ้าที่แท้จริง เพราะมันกลับไปกลับมา มันเปลี่ยนไปได้ ถ้าเป็นพระอริยเจ้าจริงก็คือไม่เปลี่ยนแปลง ไม่กลับไปกลับมา แต่ถึงแม้จะเป็นพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง นั้นก็อยู่ที่ใจของคนหรือใจของมนุษย์อีกนั่นเอง ฉะนั้นในใจเล็ก ๆ หรือดวงเดียว หรือว่าจะเล็กใหญ่เท่าไรก็สุดแท้ เป็นที่รวมหมดของภูมิทั้งหลาย หรือของความเป็นนั่นเป็นนี่ทั้งหมด
เมื่อจิตใจเป็นอะไรได้ทั้งหมด อะไร ๆ มันก็รวมอยู่ได้ในแผ่นดินนี้ในมนุษยโลกนี้ เพราะว่าร่างกายนี้มันตั้งอยู่ในโลกนี้ จิตใจก็อาศัยเนื่องกันอยู่กับร่างกายนี้ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องไปค้นหาสิ่งเหล่านี้ที่ไหน ค้นหาแต่ในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็น ๆ คือยังมีจิตใจนั่นเอง ก็จะได้ค้นที่จิตใจ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า โลกทั้งหมดก็บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ต้นเหตุที่ให้เกิดโลกทั้งหมด ก็บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้มีพร้อมทั้งสัญญาและจิตใจ ความดับสนิทแห่งโลกนี้ทั้งหมด ก็บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งสัญญาและจิตใจ แม้วิธีการปฏิบัติหรือเครื่องมือที่จะทำให้ถึงความดับสนิทของโลกทั้งหมดนี้ ก็บัญญัติให้ค้นหาที่ร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้พร้อมทั้งสัญญาและจิตใจ พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสอย่างนี้ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นชัด ๆ อยู่แล้วว่าอะไร ๆ มันก็รวมอยู่ที่จิตใจ และค้นหาได้จากร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็น ๆ ที่ยังมีจิตใจ ดังนั้นถ้าใครจะมัวไปค้นหานรกทั้งโลก ใต้โลก ลึกลงไปเท่าไรก็ไม่รู้ แล้วไปมองชะเง้อหาสวรรค์ในเบื้องบนที่สูงขึ้นไปเท่าไรก็ไม่รู้ มันจะพบได้อย่างไร เพราะว่ามันไม่มีให้พบ ถ้าพบก็พบในความละเมอเพ้อฝันเป็นอุปาทานที่หลอกหลอน ตามที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามาผิด ๆ นั่นจึงเป็นคนละเรื่องกันไปหมด ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้าต้องการจะพบสิ่งเหล่านี้ให้ถูกให้ตรงตามตัวจริงของมันแล้ว ก็ต้องค้นในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ซึ่งบรรจุไว้ได้ทั้งมนุษยโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก โลกอะไรต่าง ๆ กระทั่งนรกทั้งหมดทุกชนิดทุกอย่างก็รวมอยู่ในนี้ ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้จึงเป็นของแปลกประหลาดที่สุด ที่รวมโลกทุกโลกไว้ในนั้นได้ นี่ทำให้เห็นชัดขึ้นมาว่าเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และต้องมองกันในลักษณะหรือแบบฉบับหรือวิธีการของการมองในด้านจิตใจหรือทางฝ่ายวิญญาณ จึงจะมองเห็น ความรู้สึกของจิตใจนั้นไม่มีขนาด ฉะนั้นจะว่าใหญ่เท่าไรก็ได้ เล็กเท่าไรก็ได้ ฉะนั้นมันจึงสามารถที่จะรับอะไรไว้ได้ทุกขนาดตามที่มันจะรู้สึกได้ ถ้ามีความรู้สึกว่านรกเป็นอย่างไร มันก็รับไว้ได้หมดเท่าที่รู้สึกได้ สวรรค์เป็นอย่างไรก็บรรจุเข้าไว้ได้หมดตามที่มันรู้สึกได้ นี้เป็นของประหลาด คนแก่ ๆ แต่กาลก่อนเขาพูดไว้ดีแล้วว่า สวรรค์ก็อยู่ในอกนรกก็อยู่ในใจ แต่คนเดี๋ยวนี้ฟังไปในลักษณะที่เป็นของเล่น เป็นของน่าหัวและไม่สนใจ เนื่องมาจากไม่มีความเชื่อในเรื่องนรกและเรื่องสวรรค์เป็นทุนอยู่แล้ว ส่วนคนงมงายก็ไปมองหานรกหรือสวรรค์ที่อื่น ไม่มองหาในใจ มันก็เลยไขว้กันไปหมด ไม่มีทางที่จะได้พบนรกหรือสวรรค์อันแท้จริง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย สลด สังเวช แล้วมีความจาง ความคลาย หรือความปล่อยวางกันได้ เพราะไม่รู้จักอะไรว่าเป็นอะไรนิดเดียวเท่านั้น การศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เราควรจะปรารภกัน เราควรจะรีบเร่งสร้างสรรค์มันขึ้นมาให้ทันแก่เวลา และเราจะต้องช่วยตัวเองตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า คนมีความคิดประหลาด ๆ คิดจะไปพึ่งสิ่งอื่น เช่นจะไปพึ่งพระเจ้าก็มี หรือพึ่งโชคชะตาราศีที่ขึ้นอยู่กับเทวดาที่ไหนไม่รู้ก็มี หรือคิดจะ แม้แต่ที่จะคิดพึ่งวัดพึ่งวาอย่างนี้ มันก็ยังไม่ถูก พระพุทธ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พึ่งตัวเอง ถ้าเราจะเอาวัดเอาวาเอาศาสนาเป็นที่พึ่ง ก็หมายความว่าเพื่อศึกษาให้รู้จักพึ่งตัวเอง แต่คนไม่ได้ใช้วัดวาอารามในลักษณะเช่นนั้น มีวัดวาอารามไว้ในฐานะเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องอุ่นใจ พึ่งวัดพึ่งวาด้วยความยึดมั่นถือมั่น ไม่เคยนึกถึงการพึ่งตัวเอง ถ้ามีการคิดที่จะพึ่งวัดพึ่งวาพึ่งศาสนากันในลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็อยู่ในลักษณะที่น่าเวทนาสงสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดวาหรือศาสนาในปัจจุบันนี้แล้ว มันยิ่งสับสนอลหม่าน จนไม่มีอะไรที่จะกำหนดเป็นกฎเป็นเกณฑ์ได้
มาลองพิจารณากันดูสักทีก็เป็นไร ว่าสภาพการณ์ของพระศาสนาในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร หรือวัดวาอารามเป็นอย่างไร ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันในบ้านในเมืองในประเทศชาตินี้ ทำให้คณะสงฆ์มีเรื่องราวมีอธิกรณ์มากมายยิ่งขึ้น คณะสงฆ์มีเรื่องอธิกรณ์เต็มมือล้นมือ จนไม่มีเวลาที่จะจัดจะทำในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะโดยตรงด้วยซ้ำไป วัดต่าง ๆ ต้องเคลื่อนไหวไปในทางหารายได้เลี้ยงตัวเองยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าควรหรือไม่ควร ผิดหรือถูกอย่างไรกันแล้วก็มี และจะเป็นอย่างนี้มากขึ้น เพราะไปเข้าใจผิด ตรงที่ว่าให้ได้สร้างวัด ให้มีวัด และให้เป็นวัดที่ออกหน้าออกตากว่าคนอื่น วัดจึงไม่ได้เป็นที่ตั้งแห่งการสั่งสอนให้คนปล่อยวาง วัดกลายเป็นเหมือนกับกงการอะไรอันหนึ่งซึ่งขวนขวายหารายได้เลี้ยงตัวเท่านั้น เราจะไปพึ่งวัดวาอารามชนิดนี้ได้ในแง่ไหน ก็ลองคิดดู
มองดูต่อไปถึงตัวนักบวช หรือบรรพชิต พระ เณร นักบวชเหล่านั้นก็ถูกจูงโดยประชาชนมากขึ้น เรียกว่าประชาชนจูงจมูก จูงจมูกของนักบวชมากกว่า เพราะว่าเมื่อประชาชนต้องการอย่างไร นักบวชก็คล้อยตามเพื่อประจบประแจงให้ถูกใจประชาชน จะได้เป็นที่มาแห่งลาภสักการะ อย่างนี้เรียกว่านักบวชถูกจูงจมูกแล้วโดยประชาชน และโดยพฤตินัยคือความจริง ส่วนที่ข้อ ส่วนข้อที่พูดว่านักบวชเป็นผู้นำในทางวิญญาณของประชาชนนั้น เหลือแต่นิตินัย ไม่มีความประพฤติเป็นไปอย่างแท้จริงให้สมกัน เพราะว่ามันกำตก กำลังตกอยู่ในสภาพที่ยุ่งยาก ตกอยู่ในสภาพที่คุมกันไม่ติด
ทีนี้มองดูที่อุบาสกอุบาสิกาต่อไป ขณะที่รับศีลอุโบสถนั้น ในปากมีแต่กลิ่นเหล้า เรื่องนี้ไม่ใช่พูดใส่ความ ได้ไปพบมาจริง ๆ ด้วยตนเอง รับศีลอุโบสถด้วยปากที่มีกลิ่นเหล้าไกลออกไปตั้งวา นี้คือพวกอุบาสกในที่บางแห่ง หรือระบุให้ชัดลงไปก็ในกรุงเทพ ในธนบุรี เลี้ยงสุรากันในวัดนี้เป็นของธรรมดาไปแล้ว เขยิบขึ้นไปบนกุฏิของท่านสมภาร ไม่เท่าไรก็คงจะเขยิบเข้าไปถึงในโบสถ์ต่อหน้าพระพุทธรูป นี้ลองคิดดูว่าจะพึ่งพาวัดวาอารามที่สุราเข้าไปอาละวาดนี้ได้อย่างไร
ทีนี้ก็มองดูต่อไปให้มันกว้าง ก็เห็นได้ว่าพระสงฆ์แม้ที่เป็นเถรวาทด้วยกัน ก็ไม่ร่วมอุโบสถสังฆกรรมแก่กันและกัน ยังแบ่งแยกเป็นพวกที่ดีกว่าเลวกว่า ไม่ยอมทำอุโบสถสังฆกรรมด้วยกัน เป็นการแตกสามัคคี มีตัวตนของตนจัด มีตัวกูของกูจัด แล้วจะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร เพราะว่าเรื่องที่จะต้องทำนั้น ก็เป็นเรื่องทำลายตัวกูของกูทั้งนั้น เมื่อมีตัวกูของกูจัดเสียเองแล้ว จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้อย่างไร ตัวกูของกูจัดซะแล้ว มันก็ไม่มองเห็นว่าสงฆ์ทั้งหมดนั้นคืออะไร สงฆ์ทั้งหมดมีสิทธิอย่างไร มีขอบเขตที่จะเรียกว่าสงฆ์ร่วมกันได้อย่างไร เพราะว่าโดยเนื้อแท้แล้วในพระพุทธศาสนานี้ ควรจะมีสงฆ์แต่เพียงสงฆ์เดียว คือเป็นสงฆ์ของพระพุทธเจ้า สงฆ์เดียวด้วยกันทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้แยกกันหลายสงฆ์ อิจฉาริษยากันก็มี มีแผนการที่ทำลายกันก็มี แล้วจะไปพึ่งพระสงฆ์ชนิดนี้ได้ในลักษณะไหน
ทีนี้มองดูให้กว้างออกไปว่ารวมกันทั้งหมด ทั้งพระ ทั้งสงฆ์ ทั้งอุบาสก ทั้งอุบาสิกา ทั้งใคร ๆ ทั้งหมด ก็มองเห็นอีกว่าไม่มีใครสนใจในเรื่องนี้เลย ไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจในการที่เกิดความตกต่ำ เกิดความเสื่อมทรามถึงขนาดนี้ ไม่มีใครเป็นทุกข์เป็นร้อนในการที่จะแก้ไขกันสักกี่คน นี้ก็เรียงมันก็รวมความได้ว่าทั้งหมดเลยไม่ยกเว้น ล้วนแต่ปล่อยปละละเลย ล้วนแต่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของตน ความเสื่อมโทรมจึงได้เกิดขึ้น ภาวะการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปในถึงขนาดที่เรียกว่า ยิ่งเรียนพุทธศาสนาก็ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา เพราะการเรียนในวัดวาอารามเช่นนั้น จากครูบาอาจารย์เช่นนั้น มันก็เป็นการเรียนเปลือกของพุทธศาสนาไปหมด อย่างมากที่จะรู้ก็รู้ไปในแง่ของปรัชญาบ้าง วรรณคดีบ้าง อื่น ๆ บ้าง ไม่รู้ตัวธรรมะที่แท้จริง ซึ่งเป็นพุทธศาสนาตัวจริง นี้เรียกว่ายิ่งเรียนพุทธศาสนากลับยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา กลายเป็นเพียงรู้แต่ภาษาบาลีบ้าง รู้เรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นประวัติบ้าง เป็นประวัติศาสตร์บ้าง เอาแต่ให้สอบไล่ได้ก็แล้วกัน ตัวธรรมะนั้นมันไม่ใช่อยู่ในรูปของตัวหนังสือ มันอยู่ในความรู้สึก เมื่อไม่ได้อบรมความรู้สึกให้เป็นไปตามทางของธรรมะ ก็เป็นอันว่าไม่รู้ธรรมะ และไม่รู้ตัวแท้ของพุทธศาสนา แม้ว่าจะได้บวชมาตั้งหลายสิบพรรษา ก็ยังไม่รู้พุทธศาสนา จนกระทั่งว่าตายไป มันก็ยังไม่รู้พุทธศาสนาอยู่นั่นเอง ความวุ่นวายสับสนปนเปชนิดนี้ มีมากขึ้นมากขึ้นในทางที่จะทำให้ไม่เข้าถึงตัวธรรมะหรือตัวพุทธศาสนา
ทีนี้ก็มาพูดกันถึงการแก้ไข เราได้พบได้เห็นได้ยินว่ามีการขะมักเขม้นในการที่จะแก้ไข แต่แล้วมันน่าหัวที่ว่ายิ่งแก้ยิ่งทรุด ยิ่งพัฒนามันก็ยิ่งวุ่นวาย ยิ่งปรับปรุงมันก็ยิ่งเปลืองเปล่า หมดเปลืองเปล่า ๆ ยิ่งดิ้นรนมันก็ยิ่งเข้าไปในบ่วง สภาพอย่างนี้มีอยู่อย่างที่จะเห็นได้ชัดปรากฏชัดแก่พระพุทธศาสนาของเราในยุคนี้ ที่ว่ายิ่งแก้ยิ่งทรุดนั้น เพราะมันยิ่งแก้เท่าไร ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้เขวออกไปไกลออกไป หรือมากทิศมากทางออกไป เพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ที่แท้มันไม่ใช่เป็นการแก้ แต่ก็ต้องเรียกว่าการแก้ ยิ่งเอาคนที่ไม่ประกอบด้วยธรรมมาเป็นผู้แก้ ยิ่งแก้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ที่ว่ายิ่งพัฒนาแล้วยิ่งวุ่นวายนั้น นี้มันเป็นได้ง่ายมาก เพราะคำว่าพัฒนานั้นตามตัวหนังสือแท้ ๆ มันก็หมายถึงการรกรุงรังอยู่ในตัวแล้ว คือทำให้มีมากขึ้น ฉะนั้นการพัฒนาด้วยจิตใจที่ไม่ประกอบด้วยธรรม หรือไม่รู้ทิศทางของธรรมะนั้น ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำให้รกรุงรังมากขึ้นนั่นเอง การปรับปรุงเปลืองเปล่าก็เพราะว่าปรับปรุงไปผิดทาง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความเสื่อมเสียอย่างไร การปรับปรุงก็เป็นไปตามความต้องการของกิเลส ไม่ได้ผลในทางที่จะทำลายกิเลส การปรับปรุงนั้นก็เรียกว่าไม่มีอะไรดีขึ้น มันก็เสียเงินเปล่าหรือเปลืองเปล่า เสียเวลาเปล่า ในที่สุดก็ต้องยอมกันไปตามเรื่องอย่างแกน ๆ เพราะว่าจะหยุดนิ่งอยู่ก็ไม่ได้ ต้องทำอะไรกันอย่างหนึ่งเสมอไป กลัวคนเขาว่าจะไม่ทำอะไร นี่แหละเป็นมูลเหตุที่ทำให้เราไม่มีหวังที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากการแก้ไข การปรับปรุงการพัฒนา หรือแม้แต่การดิ้นรนของผู้ที่อยากจะประสบความสำเร็จ ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเข้ารกเข้าพงมากกว่าที่จะเป็นไปทางตามหนทางที่ถูกต้อง
ทีนี้มองดูที่การศึกษาในวัดในวา การศึกษาในวัดแท้ ๆ ก็ยังกลายเป็นเรื่องทางวัตถุมากขึ้น เป็นเรื่องทางจิตใจน้อยลง ทำให้คนในวัดรู้จักแต่ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยาแก้โรค ทุกวันทุกคืนก็พูดกันแต่เรื่องปัจจัย ๔ ไม่มีใครพูดถึงปัจจัยที่ ๕ ที่ ๖ เสียเลย เด็ก ๆ เข้าใจไปว่ามีปัจจัย ๔ อย่างนี้ก็พอแล้ว พวกพระพวกเณรก็เข้าใจว่ามีปัจจัย ๔ อย่างนี้ก็พอแล้ว จึงรู้เรื่องกันแต่เรื่องปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นเรื่องทางร่างกายทางวัตถุล้วน ๆ เลยกลายเป็นพวกวัตถุนิยมไปโดยไม่รู้สึกตัว เราต้องคิดดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ว่าคนคนหนึ่งประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ และอากาศ ถ้าคนเราประกอบด้วยธาตุเพียง ๔ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และมีแต่ร่างกายกันแล้ว ปัจจัย ๔ นั้นก็เพียงพอแน่นอน แต่เดี๋ยวนี้มันมีธาตุที่ ๕ คือ วิญญาณธาตุ ธาตุนี้มันเป็นธาตุจิตใจ มันจึงไม่ต้องการปัจจัย ๔ แต่มันต้องการปัจจัยอันอื่น ซึ่งเรียกในที่นี้ว่าปัจจัยที่ ๕ คือ ธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องในทางจิตใจอย่างเดียวกัน แต่เมื่อคนในวัดรู้จักกันแต่เพียงเรื่องปัจจัย ๔ ไม่สนใจปัจจัยที่ ๕ ส่วนที่ ๕ หรือวิญญาณธาตุนั้น ก็ไม่ได้รับปัจจัย มันจึงทรุดโทรม เป็นเรื่องจิตทราม เป็นเรื่องตกต่ำในทางจิตใจ จึงไม่ทำให้การศึกษาดีขึ้น หรือการปฏิบัติดีขึ้น เพราะมัวสนใจกันแต่เรื่องปัจจัย ๔ หลอกลวงทายกทายิกาให้หลงงมงายกันไปแต่ในเรื่องของปัจจัย ๔ ไม่พูดถึงปัจจัยที่ ๕ ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญมากกว่าปัจจัย ๔ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว
ทีนี้มองดูต่อไปอีกว่าศาสนาก็ตั้งอยู่กับชาวบ้านหรือประชาชน ฝ่ายชาวบ้านหรือฝ่ายประชาชนก้าวหน้าในทางวัตถุ จนยุวชนเด็ก ๆ เกลียดเรื่องทางวิญญาณ หรือทางจิตทางใจ เพราะไม่ใช่เป็นวัตถุที่กินได้หรือที่เอร็ดอร่อย รู้สึกได้ง่าย ๆเช่นนั้น เมื่อยุวชนมีความเกลียดในเรื่องทางวิญญาณแล้ว ก็เลยพาลเกลียดเอาศาสนาไปด้วย และเมื่อยุวชนเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนเติบโตขึ้นมา แล้วศาสนานั้นจะอยู่ในสภาพอย่างไรในเมื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียด นี้เรียกว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตก แต่คนทั้งหลายก็ไม่ได้เคยวิตก
ทีนี้มองต่อไปอีกถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันกับศาสนาอย่างที่จะหลีกกันไม่ได้ เช่น เรื่องการเมือง เป็นต้น เดี๋ยวนี้นักการเมืองก็เริ่มจะเอาการเมืองมาครอบศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะเหตุที่นักการเมืองนั้นไม่มีความรู้ในเรื่องของศาสนา จึงไม่ให้ความสำคัญแก่ศาสนา และลดฐานะของศาสนาลงไปเป็นเพียงบริวารของการเมือง พวกการเมืองต้องการอย่างไร ก็ต้องการให้ทางวัดทางวาหรือทางศาสนาอำนวยให้เป็นไปตามนั้น โดยที่แท้แล้วนักการเมืองควรจะรู้ว่า ศาสนาต่างหากคือสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการเมืองของมนุษย์ ถ้าทุกคนตั้งอยู่ในหลักของพระศาสนา ปัญหาทางการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้นในโลกนี้ หรือว่าหลักเกณฑ์ทางศาสนานั้น เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงเหมือนเรื่องการเมือง ควรจะถือเอาเรื่องศาสนาเป็นหลัก เรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ นั้น ควรจะให้มีหน้าที่ที่จะแวดล้อมศาสนาเอาไว้ หรือถ้าว่าการเมืองเป็นเรื่องทำให้โลกนี้ยังคงมีอยู่ได้ ก็เพื่อให้โลกนี้เป็นที่ตั้งของศาสนา ให้ศาสนายังคงมีอยู่ในโลกหรือในบ้านหรือในเมือง แต่พวกนักการเมืองไม่เข้าใจกันอย่างนี้ ลดศาสนาลงเป็นบริวารของการเมือง กระทำเพียงพิธีรีตองตามที่เคยทำกันมา เพราะจนแต้มขึ้นมาเข้ามาบ้าง เพราะกลัวคนทั่วไปจะไม่นิยมบ้าง เลยเป็นเรื่องกระทำการหน้าไหว้หลังหลอกต่อศาสนายิ่งขึ้นในหมู่พวกนักการเมือง เป็นอันว่าในโลกนี้การเมืองกำลังครอบงำศาสนาอย่างยิ่ง จะต้องเอาประโยชน์ของการเมืองก่อนประโยชน์ของศาสนาเสมอไป คนทั้งหลายไม่รู้ว่าศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับชีวิตจิตใจหรือตามสัญชาตญาณของสัตว์ มันมีรากฐานลึกอยู่ในสัญชาตญาณของสัตว์ คือสัญชาตญาณแห่งการดิ้นรนเพื่อหนีภัยอย่างแท้จริง ไม่เหมือนกับเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องล่อหลอก เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ว่าจะเป็นการหนีหรือเป็นการสู้ หรือจะทำอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะพูดให้ตายตัวลงไปได้ เพราะมันการล่อหลอกไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องศาสนานั้นไม่เป็นอย่างนั้น เพราะตั้งรากฐานอยู่ที่ความกลัวต่อความทุกข์ดิ้นรนออกจากความทุกข์โดยบริสุทธิ์ใจ สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์แล้ว ก็มุ่งหมายที่จะกำจัดให้สูญสิ้นไป แต่แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ถูกยกขึ้นมาในฐานะเป็นสิ่งที่จะต้องรักษาไว้ด้วยดี หรือใช้เป็นหลักในการที่จะดำเนินกิจการทุกอย่างทุกประการ เมื่อไม่รู้ว่าศาสนาเป็นของจริง เป็นเรื่องจริง ก็ไม่ให้ความสำคัญแก่ศาสนา โอกาสที่จะเกิดการเสื่อมเสียแก่ศาสนา ก็เกิดขึ้นได้โดยง่ายและมากมายเหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะศาสนาเป็นบริวารของการเมือง พวกนักบวชก็พลอยเป็นลูกสมุนของนักการเมืองไปด้วย มันจึงไม่มีความมั่นคงในการที่จะเป็นที่พึ่งแก่จิตใจของสัตว์ทั่ว ๆ ไป เขาไม่รู้ว่าศาสนาทุกศาสนา มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน หรือเป็นศาสนาเดียวกันก็ได้ จึงได้ใช้การเมือง เลยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่งไปเสีย สิ่งที่เรียกว่าศาสนาก็หมดคุณค่า กลายเป็นสิ่งสกปรกเศร้าหมอง เพราะเป็นเครื่องมือสำหรับเบียดเบียนไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้น ดู ๆ แล้วมันกำลังตกหนักอยู่ในฐานะที่น่าเศร้า แต่เราก็พูดกันว่าศาสนากำลังเจริญ มีปริมาณนั่นนี่มากขึ้น ทุกอย่างทุกทางทุกแง่ทุกมุม เป็นเวลาที่ศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองที่สุด แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นที่เหยียดหยามของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกยุวชนยังไม่มีความเคารพในศาสนา ในการที่เป็นอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่กล่าวได้ยากว่า เป็นความรับผิดชอบของผู้ใด ไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ แม้จะมีระเบียบที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน มันก็เป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกไปโดยไม่รู้สึกตัว บางทีก็มีลักษณะอย่างที่เขาเรียกกันแต่โบราณว่า ถี่ลอดตาช้างห่างลอดตาเล็น หมายความว่ามองข้ามไปจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องใหญ่ หรืออะไรเป็นเรื่องเล็ก ที่คิดว่ามันถี่ยิบในการระมัดระวังกวดขันนั้นแล้ว มันก็ยังเปิดโอกาสให้ถึงกับช้างลอดไปได้ ไอ้ที่ว่าเปิดกว้างไว้อย่างกว้างให้ฟรี ให้เป็นอิสระนั้น มันกว้างขนาดที่เหาสักตัวหนึ่ง หรือเล็นสักตัวหนึ่งก็ลอดไปไม่ได้ อาการที่กลับกันเสียอย่างนี้ มีอยู่ทั่ว ๆ ไป แม้ในวงการของศาสนาเอง จะยกตัวอย่างที่น่าขันให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง อ้า สักคู่หนึ่ง เหมือนอย่างว่าถ้าเณรตัวเล็ก ๆ หิวขึ้นมา จะเผาเม็ดขนุนกินเข้าไปสักเม็ดหนึ่ง ถ้าจับได้ก็ถูกลงทัณฑกรรม แต่ถ้าพระหลวงตาหรือพระผู้ใหญ่ จุดบุหรี่เผาเล่นวันหนึ่งหลาย ๆ กระป๋อง ก็กลับได้รับเกียรติและไม่ถูกลงทัณฑกรรม นี้จะเรียกว่าเป็นเรื่องถี่ลอดตาช้างห่างลอดตาเล็นได้หรือไม่ ก็ลองคิดดู เณรเล็ก ๆ นั้นมันก็ต้องหิว แล้วมันก็ต้องดิ้นรน ถ้ามันจะเผาเม็ดขนุนกินเข้าไปสักเม็ด หรือเผากล้วยกินเข้าไปสักใบ มันก็จะมีความมากน้อยอย่างไร ขอให้ลองคิดดู แต่เมื่อมาบัญญัติกันว่า กินอาหารเย็นต้องถูกลงทัณฑกรรมแล้ว มันก็ต้องถูกลงทัณฑกรรม ทีนี้พระที่เผาบุหรี่แพง ๆ วันละหลาย ๆ กระป๋องนั้น ทำผิดสักกี่มากน้อย ในทางไหนบ้าง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าบุหรี่นั้น ก็เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งและราคามันก็แพง ทำให้เงินของประเทศเสียไปโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร ก็ไม่ถูกลงโทษไม่ถูกลงทัณฑกรรม แต่กลับจะได้รับเกียรติว่ามีบุหรี่แพง ๆ มาเผาเล่นได้วันละหลาย ๆ กระป๋องอย่างนี้ นี่ไม่ได้กระแนะกระแหนบุคคลใดโดยตรง แต่นำมากล่าวเพื่อเป็นการเปรียบเทียบสักคู่หนึ่งว่า อาการที่เรียกว่าถี่ลอดตาช้างห่างลอดตาเล็นนั้น มีอยู่ได้แม้ในวงการพระศาสนา ที่ตั้งใจว่าจะทำกันให้ดีที่สุด ให้รัดกุมที่สุดแล้ว
ทั้งหมดนี้มันก็เป็นการเพียงพอแล้ว ที่จะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า วัดวาอารามหรือศาสนาในสมัยของพวกเรานี้ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างไร จะเป็นที่พึ่งได้มากน้อยเพียงไร ก็ลองเอาไปคิดดู พิจารณาดูด้วยตนเอง แล้วก็ทำไปด้วยตนเองในทางที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่หาสาระอันใดไม่ได้ จะได้เลือกกระทำไปแต่ในทางที่เป็นประโยชน์หรือควรทำตามความประสงค์ของตนของตน
ทีนี้จะพิจารณาดูต่อไปถึงการเผยแผ่พระศาสนา เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันเผยแผ่พระศาสนา ตามมากตามน้อย ตามกำลังของสติปัญญาความสามารถ และยอมรับเอาว่าทุกคนมีหน้าที่ที่จะช่วยกันเผยแผ่พระศาสนา ฆราวาสก็ทำได้อย่างฆราวาส บรรพชิตก็ทำได้อย่างบรรพชิต กว้าง แคบ สูงต่ำกว่ากันโดยสมควรแก่เหตุการณ์ แต่แล้วการเผยแผ่พระศาสนานั้นยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ มีผลไปในทำนองที่ตรงกันข้าม ทำให้เกิดความเข้าใจว่า ศาสนาเป็นของรุ่มร่าม พ้นสมัย นี้เพราะว่าการเผยแผ่นั้นทำไม่ดี ทำไม่เป็น ทำไม่ถูกต้อง ทำไม่สม ไม่สมกันกับที่ศาสนามีคุณสมบัติหรือมีค่าอย่างสูงสุด มันเป็นความงมงาย เป็นการกระทำอย่างงมงายของบุคคลผู้มีความงมงาย ยิ่งแผ่ศาสนาออกไปก็ยิ่งทำให้เขาเกลียดศาสนา ยิ่งทำให้คนสมัยนี้ดูหมิ่นศาสนาว่ารุ่มร่าม หรือพ้นสมัยมากขึ้น การเผยแผ่พระศาสนาจึงไม่เกิดผลอันใดในทางที่จะทำให้มนุษย์ดีขึ้น เพราะความบกพร่องผิดพลาดของคนที่แผ่ศาสนานั้น มีเรื่องที่จะต้องปรับปรุงกันมากในข้อนี้ จะต้องช่วยนำเอาไปคิดไปนึกกันดูให้เป็นอย่างดี
เมื่อตอนกลางวันได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นมีความหมายเป็นหนทาง และทางนั้นประกอบด้วยองค์ ๘ คือความถูกต้อง ๘ ประการ ความถูกต้อง ๘ ประการนั้น มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง ทนต่อการพิสูจน์ คือกล้าท้าให้ใครพิสูจน์ว่าหลักเกณฑ์ ๘ ประการนั้นมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไรกันแน่ กล้าท้าให้พิสูจน์ความเหลว ความล้มเหลว หรือความเหลว เหลวไหล แต่ถ้าว่าคำอธิบายเป็นไปในทางผิด ๆ การพิสูจน์จะเป็นไปในทางเกิดผลว่าหลักเกณฑ์เหล่านั้นใช้อะไรไม่ได้ก็ได้ เพราะคำอธิบายผิด ๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ใคร ๆ ก็พอจะมองเห็นว่า ความถูกต้องที่แท้จริงเหล่านั้น มีเหตุผล หรือเป็นของจริง แต่เรื่องมันไปกลับกันเสียตรงที่ว่า ไม่สามารถจะประพฤติหรือกระทำให้เป็นของจริง หรือเป็นความจริงขึ้นมา กลายไปเป็นเรื่องของพิธีรีตองเสียหมด ถ้าจะสรุปมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือ องค์ ๘ ประการของมรรคให้สั้นลง ก็เหลือเป็นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เดี๋ยวนี้เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เหลืออยู่แต่พิธีรีตอง กระทำพอเป็นพิธีหรือตามธรรมเนียม มันก็พิสูจน์ความล้มเหลวมากกว่าที่จะพิสูจน์ชัยชนะ แล้วจะไปโทษใคร ในพระพุทธศาสนานี้ ต้องถือว่าเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา และความสำคัญนั้นไม่เฉพาะอยู่ในวงของพุทธศาสนา สามารถที่จะทนต่อการพิสูจน์ของคนทั่วไปหรือหลักเกณฑ์ทั่วไป คือสามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์สากลแก่ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนาก็ได้ แต่เราก็ไม่สอนกันอย่างนั้น ไม่เผยแผ่กันอย่างนั้น แยกตัวอื่น อ้า แยกตัวเองออกมาเสียจากพวกอื่น และพยายามที่จะแยกตัวเองออกไปให้ดี ให้เด่นกว่าใครอยู่เสมอไป นี้กลับเป็นการกระทำที่วกเข้าไปเป็นผลร้ายแก่ตนเอง ไม่ทำให้ใครเกิดความนิยมชมชอบใน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนา อย่าว่าถึงต่างประเทศเลย แม้แต่ภายในประเทศของตน ก็ไม่มีใครสักกี่คนที่รักหรือพอใจในสิ่งทั้ง ๓ นี้ เราจะรู้สึกไปทำนองที่ว่าเป็นของครึคระอยู่ในวัด จนไม่มาเพ่นพ่านอยู่ตามบ้านได้เลย นี้เป็นความเข้าใจผิดเหลือที่จะผิด สิ่งที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็ดี หรือไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็ดี เป็นหลักพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่จะต้องใช้แก่คนทุกคนในโลก แต่เราก็ไม่อาจจะทำให้สำเร็จตามนั้นได้ เพราะความไร้ความสามารถในการเผยแผ่พุทธศาสนา
สำหรับข้อที่ว่าศีล สมาธิ ปัญญานี้เป็นหลักที่อาจจะใช้ได้กว้างขวางเป็นของสากลนั้น มันเป็นเรื่องที่ต้องมองดูกันให้ลึกซึ้งถึงใจความและด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ท่องตามตัวหนังสือ หรือถือเอาแต่ตามที่พวกอาจารย์ตามศาลาวัดเขาพูดกันไว้อย่างไร จนกระดิกนิดเดียวก็ไม่ได้ กลายเป็น มิจฉาทิฏฐิไปทันที
โดยเนื้อแท้นั้น เราจะต้องมองให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าศีล นั้นมีความหมายแต่เพียงว่ามีความประพฤติดีแล้ว มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา ดีแล้วถูกต้องแล้ว ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ถ้าว่าศีลในความหมายอย่างนี้ มันเป็นสากลหรือไม่สากล ขอให้ลองคิดดู กำจัด เอ้อ จำกัดชัดลงไปว่า ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีแล้วทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม หมายความว่าไม่มีโทษไม่มีทุกข์เกิดขึ้น ทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม ในการพูดหรือการทำของคนคนนั้น การให้ความหมายของศีล ให้ถูกให้ตรงให้เพียงพออย่างนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ไปปิดตัวหนังสือว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ยุบ อ่า หยุมหยิมไปหมด จนไม่มีใครทนได้ แต่แล้วก็ไม่มีอะไรที่เป็นผลจริงตามความมุ่งหมายของศีล เพราะเป็นเพียงพิธีรีตอง ทำพิธีเสร็จแล้วก็ปล่อยไปตามเรื่อง ศีลก็ไม่มี ความมีศีลก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทำกันไปเท่าไร ๆ จนตายก็ไม่มีศีล รักษาศีลตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่มีศีล เพราะไม่ ไม่เข้าถึงความหมายของศีล ได้แต่ท่องอยู่นั่นเอง เหมือนเด็ก ๆ เรียนหนังสือ ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ความหมายของข้อความเหล่านั้น เพราะรู้แต่ตัวกอ ตัวขอ ตัวคอ ตัวงอ ไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น เรื่องศีลนี้ก็เหมือนกัน รู้จักตัวสิกขาบทตามตัวหนังสือ ท่ององค์ศีลตามที่เค้าวางไว้อย่างไรก็ได้ แล้วก็สำหรับพูดกันมากกว่า อย่างนี้เอาไปใช้เป็นสากลไม่ได้ เขาหัวเราะเยาะ แต่ถ้าเราบอกเขาว่าศีลของพระพุทธเจ้า ตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้านั้น หมายถึงการประพฤติ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ดีแล้ว ทั้งต่อตนเองและสังคม อย่างนี้ก็ไม่มีใครหัวเราะเยาะได้ มีความสนใจที่จะศึกษาว่ามันเป็นอย่างไร
ทีนี้มาถึงเรื่องสมาธิ เรื่องสมาธินี้ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องพิธีรีตองไปหมด จนกลายเป็นแบบเป็น เป็นแผนอะไรขึ้นมาในลักษณะที่เป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ เข้าใจไม่ได้อธิบายไม่ได้ มีผลทำให้สติวิปลาสกลายเป็นคนบ้าบอไปเพราะการทำสมาธิ นี้ก็มีอยู่มาก นั่นไม่ใช่สมาธิตามความหมายของพระพุทธเจ้า มันเป็นการทำสมาธิที่คนชั้นหลังที่มีความยึดมั่นถือมั่นมาก มีความละโมบโลภลาภมาก ต้องการจะใช้สิ่งแปลกประหลาดนี้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ใส่ตน มันจึงเกิดความผิดเพี้ยน หรือความงมงาย หรือความเข้าใจไม่ได้ขึ้นมา จนสูญเสียความหมายอันแท้จริง ความหมายอันแท้จริงนั้น ถ้าถามขึ้นว่าสมาธิคืออะไร ก็ตอบได้โดยจำกัดความสั้น ๆ อีกเหมือนกันว่า คือ ความสามารถบังคับและใช้สอยจิตใจของตนได้ตามที่ต้องการ ต้องดูให้ดีว่ามีคำจำกัดความสำหรับสิ่งที่เรียกสมาธินี้ว่า ความสามารถบังคับและใช้สอยจิตใจของตนได้ตามที่ตนต้องการ นั้นเป็นความหมายที่กว้างและที่ตรงตามความประสงค์ของคนทุกคนในโลก เมื่อได้ฟังอย่างนี้คนก็จะเกิดความสนใจในสิ่งที่เรียกว่าสมาธิได้ การกล่าวอย่างนี้ไม่เป็นการกล่าวตู่ ไม่เป็นการกล่าวตบตาหลอกลวง เป็นการกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ สมาธินั้น ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการของจิต คือ ปริสุทโธ จิตบริสุทธิ์สะอาด สมาหิโต จิตตั้งมั่น กัมมนีโย จิตพร้อมที่จะประกอบการงาน คล่องแคล่วในการที่จะประกอบการงาน จิตบริสุทธิ์แน่วแน่ตั้งมั่นและอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะประกอบการงาน เมื่ออาศัยพระบาลี ๓ คำนี้เป็นหลัก เราก็ถอดใจความได้สั้น ๆ เหมือนที่กล่าวแล้วว่า ความสามารถบังคับและใช้สอยจิตใจของตนได้ตามที่ต้องการ จิตที่ฟุ้งซ่าน เราบังคับให้สงบ จิตที่ไม่คล่องแคล่วในการงาน เราอบรมให้มีความคล่องแคล่วในการงาน ที่มันสกปรกเศร้าหมองมืดมัวทำอะไรไม่ได้ ก็อบรมให้บริสุทธิ์สะอาด สามารถมองเห็นหรือเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ทันที ความเป็นสมาธิของจิตตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้คำว่าสมาธิหรือการเจริญสมาธินั้น เป็นเพียงแบบแผนพิธีการอะไรที่วิจิตรพิสดารลึกลับอธิบายไม่ได้ เพื่อผลที่อธิบายไม่ได้ ล้วนแต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ลึกลับไปเสียหมด แล้วจะเอาไปเสนอให้คนทั่วโลกเกิดความสนใจได้อย่างไร ความหมายอันแท้จริงของคำว่าสมาธินั้นกว้างมาก จนสามารถจะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ทุก ๆ กรณีและแน่นอน อยู่ตรงที่ว่าสำเร็จประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีรีตอง แม้เป็นเรื่องต่ำ ๆ ก็ยังต้องการใช้สมาธิ เรื่องทำงานตามบ้านตามเรือนก็ยังต้องใช้สมาธิ แม้แต่คนที่ขี้ขลาดกลัวผี ก็ยังต้องใช้ประโยชน์ของสมาธิ เพ่งจิตใจไปอยู่ที่เสียที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนลืมการกลัวผี ดังนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้น ไม่ใช่มีไว้เฉพาะที่จะไปนิพพานอย่างเดียว แต่มีไว้สำหรับคนทุกคนที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของตนในทุกกรณี กล่าวคือความสามารถในการบังคับและใช้สอยจิตใจของตนได้ ตามความต้องการในทุกแบบทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นแก่ชีวิตประจำวัน
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ ๓ ที่เรียกว่าปัญญา โดยมีคำจำกัดความว่า ความเข้าใจในสิ่งทุกสิ่งอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความดับทุกข์ทั้งปวง ความเข้าใจถูกต้องทุกสิ่งตามที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความดับทุกข์ทั้งปวง มีความหมายจำกัดชัดอยู่อย่างนี้ เพราะปัญญานั้นคือความรู้ในเรื่องของความดับทุกข์โดยตรงไม่มีเรื่องอื่น คำว่าปัญญาที่เป็นตัวสิกขาในไตรสิกขานั้น หมายถึงปัญญาบริสุทธิ์ ไม่ใช่ปัญญาคดโกงหรือหลอกลวง ปัญญาสำหรับคดโกงหรือหลอกลวงนั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหากไม่รวมอยู่ในคำว่าไตรสิกขา ในภาษาไทยเรียกปัญญาเหมือน ๆ กันหมด แต่ในภาษาบาลีแยกไว้เป็นอย่างอื่น ไม่มารวมอยู่ในคำว่าปัญญาในไตรสิกขานี้ ดังนั้นขึ้นชื่อว่าปัญญาแล้ว ย่อมมีแต่คุณหรือมีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเบียดเบียนผู้อื่นได้เลย
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขาของพระพุทธเจ้านั้น พร้อมที่จะเสนอในฐานะเป็นของสากลสำหรับคนทุกคนในโลก เพราะเหตุว่ามีความหมายหรือมีความมุ่งหมาย ซึ่งตรงกับความต้องการที่เป็นสากลของคนทั้งโลก คนทั้งโลกมีปัญหาในชีวิตประจำวันหรือเฉพาะหน้าของตน ตรงกันหมดในลักษณะที่ต้องการไตรสิกขาในพระพุทธศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขจัดปัญหาเหล่านั้น กล่าวคือ สิ่งที่เรียกว่าศีลนั้น หมายถึงมีความประพฤติทางกายทางวาจาดีแล้ว ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้น คือความสามารถบังคับและใช้สอยจิตใจของตนได้ตามที่ต้องการในทางที่ถูกที่ควร แต่สิ่งที่เรียกว่าปัญญานั้น คือความเข้าใจสิ่งแวดล้อมทุก ๆ สิ่งถูกต้องตามที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการดับทุกข์ ลองพิจารณาดูเถิดว่าสิ่งทั้ง ๓ นี้ ใครบ้างจะรู้สึกไปในทางที่เป็นสิ่งที่ไร้สาระ หรือน่าเกลียดน่าชัง น่าระแวง ทุกคนก็ต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ในโลกนี้ในสังคมอันกว้างใหญ่ในโลกนี้ ก็ต้องการคนที่มีความประพฤติดี ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น คือไว้ใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากขึ้นมา และคนทุกคนในโลกนี้มีปัญหาชนิดหนักขนาดหนัก ตรงที่ไม่สามารถจะบังคับจิตใจให้อยู่ในร่องในรอย ทั้งที่รู้อยู่ว่าสิ่งนี้เป็นความชั่ว ก็เว้นมันไม่ได้ เพราะบังคับจิตใจไม่ได้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าสิ่งนี้เป็นความดี ก็ทำไม่ได้เพราะบังคับจิตใจให้รักความดีหรือทำความดีไม่ได้ นี้คือโทษของการที่บังคับจิตใจไม่ได้ ทีนี้ในแง่ของการใช้สอยนั้น จิตนี้มันเป็นสิ่งที่ประหลาด ไม่มีรูปร่างไม่มีเนื้อตัว กลับกลอกได้เร็วจึงใช้สอยมันยาก ฉะนั้นต้องมีอุบายที่ฉลาดอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะควบคุมมัน ที่จะอบรมมันให้อยู่ในลักษณะที่ใช้สอยได้ตามต้องการ เมื่อคนเราใช้ บังคับและใช้สอยจิตของตนได้ตามที่ต้องการเท่านั้น เขาก็จะกลายเป็นคนที่มีสมรรถภาพอย่างใหญ่หลวง ทำอะไรได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นอัจฉริยมนุษย์ หรือเป็นมหาบุรุษไปในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าสมาธิที่ถูกต้องแท้จริงตามแบบของพระพุทธเจ้า หรือตามแบบของธรรมชาติจริง ๆ นั้น เป็นที่ต้องการของคนทุกคน สำหรับสิ่งที่เรียกว่าปัญญานั้น ทุกคนก็ต้องการอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่มีเครดิตรับประกันอยู่ในตัวมันเองแล้ว มันเหลืออยู่แต่ว่า มันเป็นปัญญาที่ตรงไปในทางที่จะดับทุกข์หรือไม่เท่านั้น ถ้ามันเป็นปัญญาที่เฟ้อ หรือเป็นปัญญาที่เกินแล้ว มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรนักเหมือนกัน สำหรับปัญญาในพระพุทธศาสนานี้ มีจำกัดความระบุชัดอยู่แล้วว่า ในสิ่งแวดล้อมทุกสิ่งตามที่เป็นจริง มีปัญญาในสิ่งที่แวดล้อมทุกสิ่งตามที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแยกเอาแต่ในส่วนที่จะใช้ในการดับความทุกข์ จึงไม่มีส่วนเกิน
มองดูโดยกว้าง ๆ ทั่วไปก็จะเห็นได้ว่าสิ่งทั้ง ๓ คือ ศีล และสมาธิ ปัญญานี้ เป็นสิ่งที่ใช้ได้ในทุกกรณี คือในเรื่องทางโลก ๆ ก็ใช้ได้อย่างเต็มที่ ในเรื่องทางธรรม ทางศาสนา ทางจิตใจในขั้นสูงก็ใช้อย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรหรือไม่มีส่วนไหนที่จะเกิดเป็นสิ่งซึ่งเกะกะกีดขวาง ปิดกั้นความก้าวหน้าหรือความเจริญของคนเราแต่ประการใด แต่ในทางที่ตรงกันข้าม กลับเป็นเครื่องส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างทุกทาง ทุกระดับดังที่กล่าวแล้ว ทีนี้ทำไมสิ่งเหล่านี้ สิ่งทั้ง ๓ นี้ จึงไม่เป็นที่แพร่ เอ่อ รู้จักกันแพร่หลาย ไม่เป็นที่พอใจหรือเข้าใจได้สำหรับคนทุกคนในโลก ถ้าเราจะให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ เราจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เรียกว่าศีลนั้น อาจจะมีอยู่แล้วในศาสนาอื่น แต่โดยชื่ออื่น เราไม่ได้ยินคำว่าศีลในศาสนาอื่น เราก็เหมาเอาว่าไม่มี แต่ที่แท้มันก็มีได้ในศาสนาอื่น ในลัทธิอื่น ในวัฒนธรรมอื่น คือความประพฤติที่ดีแล้ว ทั้งต่อตนเองและสังคม แม้สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นก็เหมือนกัน อาจจะมีอยู่แล้วในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่นโดยชื่ออื่น สำหรับสิ่งที่เรียกว่าปัญญานั้น เรียกว่าแพร่หลายที่สุด มีอยู่แล้วในศาสนาอื่น ในวัฒนธรรมอื่น หรือในระบบการงานทั่ว ๆ ไป หากแต่ว่าไม่ถึงระดับที่สูงสุด แต่ทีนี้เรามองเห็นได้ว่ามันยังน้อยเกินไป จนไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่จะทำโลกนี้ให้ประสบความสงบสุข เราต้องการจะให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ให้มากพอ ให้ชัดเจนพอ จนถึงกับนำไปช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลกได้ กระทำคนทุกคนโดยส่วนตัวให้ประสบความผาสุกในทางจิตใจเต็มที่ด้วย ใครจะเป็นผู้โฆษณาหรือเผยแพร่สิ่งทั้ง ๓ นี้ ให้เป็นที่เข้าใจแก่คนในโลก ในเมื่อสิ่งทั้ง ๓ นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกพุทธบริษัทโดยแน่นอน จะไปเกี่ยงงอนให้คนอื่นรับผิดชอบในหน้าที่อันนี้ ย่อมไม่ถูก ไม่ควร ไม่ยุติธรรม พุทธบริษัทเราจะต้องสนใจช่วยกันทำหน้าที่อันนี้ แต่ก่อนแต่ที่จะทำการเผยแผ่สิ่งนี้ มันต้องรู้จักสิ่งนี้กันเสียก่อน หรือมีสิ่งนี้กันเสียก่อน พุทธบริษัทนั่นเองจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริงที่ถูกต้อง ที่ครบถ้วนในตัวเองเสียก่อน จึงจะมีความสามารถในการที่จะโฆษณาสิ่งนี้ หรือเผยแผ่สิ่งนี้ เดี๋ยวนี้เรื่องมันตกหนักอยู่ที่ว่า แม้ในวงพุทธบริษัทเอง ก็มีศีล สมาธิ ปัญญา แต่เพียงพิธีรีตอง เป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ อธิบายไม่ได้อย่างหลักธรรมดาสามัญ พอจะไปใช้ตามบ้านตามเรือน ตามที่ทุกสถานได้อย่างไรกัน ในที่สุดก็เป็นหมันอยู่ที่ตรงนี้เอง
พิจารณาดูต่อไป ก็จะเห็นได้ต่อไปว่าพุทธบริษัทเรา ไม่รู้จักพุทธศาสนาของตนมากถึงขนาดที่ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัท ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทหรือควรแก่นามว่าพุทธบริษัท มันต้องรู้จักพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นของที่ใช้ปฏิบัติได้และเป็นประโยชน์จริง ๆ อย่างจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาที่เป็นความทุกข์ร้อนได้หมด ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูง เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทไม่เป็นพุทธบริษัท เพราะไม่เห็นไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง กลายเป็นสัตว์เสียมากกว่า คือเป็นสัตว์เหมือนกับนกที่มองไม่เห็นฟ้า เป็นสัตว์เหมือนกับปลาที่มองไม่เห็นน้ำ เป็นสัตว์ที่เหมือนกับไส้เดือนที่มองไม่เห็นดิน หรือเป็นสัตว์ที่เหมือนกับหนอนที่มองไม่เห็นคูถที่ตนจมอยู่ หรือเป็นคนบุถุชนคนพาลมองไม่เห็นโลก ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตัวเองจมอยู่หมักแช่อยู่ทั้งนั้น แต่ก็มองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัท แต่ควรจะเรียกว่าเป็นสัตว์เหมือนนก เหมือนปลา เหมือนไส้เดือน เหมือนหนอน ที่ว่านกไม่เห็นฟ้านั้น ควรจะถือว่าเป็นสำนวนสำหรับใช้ด่ากันอย่างยิ่ง อยู่ในฟ้าก็ไม่สนใจไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าฟ้า เพราะมันถึงตาเกินไป เหมือนปลาอยู่ในน้ำ น้ำถึงตาเกินไปก็ไม่รู้จักน้ำ และไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะบังคับให้มันมีความเข้าใจในเรื่องน้ำ นอกไปจากว่าแหวกว่ายไปตามสะดวก รู้จักความเปลี่ยนแปลงบ้างตามสัญชาตญาณ ไม่รู้จักน้ำในความหมายอันกว้างขวาง จนเรียกว่ามองไม่เห็น ทั้งที่น้ำถึงตา นี่หมายความว่าถ้าอะไรก็ตามมันมีถึงตาเกินไปแล้ว มันก็มองไม่เห็น เหมือนกับเราเอาอะไรมาจดเข้าที่ตา แล้วก็มองไม่เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น พุทธบริษัทในบางถิ่นบางแห่งบางยุคบางสมัยนั้น มีตาที่ถึงกับศาสนามากเกินไปหรืออย่างไร จึงมองไม่เห็นไปด้วย และสูญเสียความเป็นพุทธบริษัท และเราไม่เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นพุทธบริษัท
พุทธบริษัทนั้นต้องเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ต้องรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งด้วยตาในและด้วยตานอก ตานอกก็คือตาธรรมดา เห็นอะไรก็เข้าใจได้ลึกซึ้งและสามารถจะส่งเข้าไปให้ตาในเห็นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างนี้เรียกว่าเห็นอย่างยิ่ง เห็นทั้งตานอกเห็นทั้งตาใน ไม่เหมือนกับปลาที่มีแต่ตานอก ก็ยังไม่เห็นน้ำ แล้วก็ไม่มีตาในที่จะรู้เรื่องน้ำ ทีนี้ดูคนทั้งโลก ก็พอจะมองเห็นได้ว่าตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกันกับที่นกไม่เห็นฟ้า หรือปลาไม่เห็นน้ำ คือไม่รู้จักโลกไม่เห็นโลกที่ตนกำลังจมอยู่ แล้วก็ไม่เห็นศาสนาของตนอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็เลยสูญเสียความเป็นบริษัทของศาสนาของตน เหมือนกับที่พุทธบริษัทเรามองไม่เห็นธรรมะ หรือสิ่งทุกสิ่งตามที่เป็นจริงดังกล่าวแล้ว เมื่อรวมศาสนาทุกศาสนาในโลกเข้าด้วยกัน ผลก็มีว่า เจ้าของศาสนานั้น ๆ มองไม่เห็นศาสนาของตัว ทำนองเดียวกับที่ปลามองไม่เห็นน้ำ ทั้งที่น้ำเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ปลา เป็นเครื่องคุ้มครองปลา เป็นที่อยู่อาศัยของปลาหรือทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องอาศัยน้ำอย่างนี้เป็นต้น คนไม่รู้จักศาสนากันให้ถึงขนาดนี้ มันก็เป็นอะไรได้ไม่มากไปกว่าปลาได้รับประโยชน์จากน้ำ เพียงเท่าที่ปลาได้รับประโยชน์จากน้ำ คือได้รับประโยชน์จากศาสนาน้อยเกินไป เท่าที่ปลาได้รับประโยชน์จากน้ำ คนเราได้รับประโยชน์จากน้ำยิ่งกว่าปลา เพราะเรามีอะไร ๆ มากกว่าปลา หรือเหนือกว่าปลา ข้อนี้ฉันใดคนเราควรจะรับประโยชน์จากพระศาสนาของตน ของตนอย่างยิ่งให้ถึงที่สุด จึงจะได้เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท หรือเป็นบริษัทของศาสนานั้น ๆ
นี้เป็นสิ่งที่ควรนำมารำพึงรำพันพิจารณากันด้วยความสลดสังเวชใจ ในโอกาสที่เรารำลึกด้วยความไม่ประมาทถึงข้อที่อายุนี้ล่วงไปล่วงไป วันหนึ่ง คืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เป็นการล่วงไป แต่ไม่ทำอะไรให้สูงขึ้นให้ดีขึ้น หรือให้ดับทุกข์ได้มากขึ้น เพราะโทษที่มาตกอยู่ในสภาพเหมือนนกไม่เห็นฟ้า เหมือนปลาไม่เห็นน้ำ แล้วก็ทำอะไร ๆ ให้ถูกต้องไม่ได้ สภาวะต่าง ๆ ในทางศาสนาก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สับสนวุ่นวายใช้ประโยชน์ไม่ได้ เป็นไปในทางตรงกันข้ามตามความมุ่งหมายเดิม คือกลับไปเพิ่มความทุกข์หรือภาระให้เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้มีความระลึกนึกคิดในข้อนี้ เพื่อจะได้เอาไปแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับตน ให้มีความก้าวหน้าในทางศาสนา ซึ่งเป็นหนทางทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนเราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นอริยบุคคลนั้น ดูเหมือนทุกคนยังฟังออกและยังต้องการอยู่ แต่แล้วในที่สุดก็ไม่สมประสงค์ ไม่ได้รับผลอันนี้ตามที่ต้องการ ปัญหาเรื่องพระอริยบุคคลหรือการเป็นพระอริยบุคคล ก็เลยกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งใจของพุทธบริษัทไปในที่สุด เดี๋ยวนี้แม้คนที่อยากจะเป็นอริยบุคคล ก็ไม่รู้ว่าอริยบุคคลนั้นคืออะไร ความอยากนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าได้ยินเขาเล่าลือกัน ได้ยินเขาสรรเสริญกัน คำนี้เป็นคำที่แพร่หลาย และคนรู้จักกันไปในทางที่เป็นคำประเสริฐสูงสุด คนทะเยอทะยานที่จะเป็น โดยที่ไม่ต้องรู้ว่ามันเป็นอะไร เหมือนอย่างที่ต้องการความดี ก็ต้องการกันโดยที่แล้วแต่เขานิยมกันว่าอย่างไร ไม่รู้จักว่าดีจริง ๆ นั้นคืออะไร เป็นเรื่องทำตาม ๆ กันไป ในเรื่องอริยบุคคลนี้ก็เหมือนกัน ควรจะทบทวนถึงคำอธิบายที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องภูมิทั้ง ๔ ให้เห็นว่าเป็นเรื่องระดับของคนที่สูงขึ้นไปเท่านั้น ความมัวเมาในกามสุขเป็นระดับต่ำ ความมัวเมาในความสุขที่เกิดจากรูปบริสุทธิ์สูงขึ้นไป ความมัวเมาในความสุขที่เกิดแต่สิ่งที่ไม่มีรูปก็สูงขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ใช่ระดับของพระอริยบุคคล ต่อเมื่อไม่มีความมัวเมาในสิ่งใด จึงจะอยู่ในระดับของอริยบุคคล