แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปุถุชนไม่ใช่อริยบุคคลเพราะจมอยู่ในกามสุข หรือติดอยู่ในกามภพ อย่างที่เรียกว่าไม่ลืมหูไม่ลืมตา ไม่บูชาอะไรยิ่งไปกว่าสิ่งนี้ ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างประเสริฐกว่าสิ่งที่เรียกว่า กามสุข ที่เขาเรียกว่า ปุถุชน ตรงกันข้ามจากพระอริยบุคคล สำหรับพระอริยบุคคลนั้น แม้จะมีเป็นชั้น ๆ อย่างไร ชั้นต่ำที่สุดก็ไม่หลงใหลอยู่ในกามสุข ทั้ง ๆ ที่ยังละกามสุขไปไม่ได้ ก็ไม่หลงใหลในกามสุข มีปัญญาพอที่จะควบคุมจิตใจในการเกี่ยวข้องกับกาม หรือสิ่งที่เรียกว่ากามสุข นี่ก็เพราะเหตุว่าพระอริยบุคคลนั้นมีปัญญา มีดวงตามองเห็นฝั่งโน้นคือโลกุตตระ มีจิตใจน้อมไปสู่ฝั่งโน้นคือฝั่งโลกุตตระ คือฝั่งที่จะข้ามขึ้นไปเสียจากน้ำ ซึ่งหมายถึงกามสุขนั่นเอง แม้ยังไปไม่ถึง แต่ก็เรียกว่าเป็นผู้มองเห็นทาง หรือก้าวย่างลงสู่ทางที่เป็นการแน่นอนที่จะถึง เพียงแต่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ พอรู้ว่าเป็นอย่างไรและมีจิตใจเปลี่ยนไปในทางที่จะอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ ก็เรียกว่าเป็นพระอริยบุคคลได้ ในชั้นต้นที่เรียกว่า พระโสดาบัน คือ ผู้แรกถึงกระแส โสดา แปลว่า กระแส อาบัน แปลว่า ถึง โสดาบัน แปลว่า ถึงกระแส คือถึงเงื่อนต้นของความดับทุกข์ ถึงเงื่อนต้นของพระนิพพานที่จะไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เรียกว่า มีจิตน้อมไปสู่ฝั่งโน้นของกามคุณ คือจากกามคุณ สำหรับพระอริยบุคคลที่สูงขึ้นไป คือ พระสกิทาคามีนั้น พอใจต่อฝั่งโน้น ถึงขนาดที่จะกลับมาสู่ฝั่งนี้ได้อีกเพียงครั้งเดียว แล้วก็จะไม่มาอีก นี้หมายความว่าจิตใจสูงถึงขนาดที่ว่าจะตกต่ำได้อีกเพียงครั้งเดียว สำหรับพระโสดาบันนั้นอาจจะตกต่ำได้อีกหลายครั้ง แต่ว่าไม่ตกจมคือไม่ติดอยู่ที่นี่ แม้จะมีความคิดย้อนมาในกามคุณด้วยความอาลัย ก็ยังไม่หลงทาง ยังมีจิตใจที่แน่วแน่อยู่ต่อฝั่งโน้นอยู่นั่นเอง แม้จะเหลียวแลมายังฝั่งนี้หลายครั้งหลายหนก็ไม่กลับมายังฝั่งนี้ สำหรับพระสกิทาคามีซึ่งสูงขึ้นไปนั้น อย่างมากก็จะเหลียวแลมาอีกเพียงครั้งเดียว มีจิตใจย้อนกลับมาเพียงครั้งเดียวแล้วก็จะไม่มาอีก สำหรับพระอริยบุคคลขั้นต่อไป คือพระอนาคามีนั้น เดินดุ่มไปเรื่อย ไม่มีทางที่จะย้อนกลับมาสู่ความอาลัยอาวรณ์ในกามคุณ เมื่อยังไม่ถึงนิพพาน ก็อาศัยรสที่เกิดจากรูปอันบริสุทธิ์หรืออรูปอันบริสุทธิ์ไปพลาง อยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะลุถึงนิพพาน คือขึ้นอยู่เหนือรสทั้งปวง สำหรับพระอรหันต์ คือพระอริยบุคคลขั้นสุดท้ายนั้น ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง อยู่เหนือโลกโดยความ โดยสิ้นเชิง เป็นผู้อยู่เหนือโลกถึงที่สุดแล้ว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโลกนี้ต่อไป
เราจะมีหนทางที่เรียกว่าลัดหรือสั้นที่สุดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนถึงกับว่าทุกคนจะมีหวัง หรือถ้าจะตั้งปัญหาขึ้นว่าคนที่ไม่มีการศึกษาถึงกับขนาดที่ไม่รู้หนังสือนี้ จะเป็นพระอริยบุคคลกันได้หรือไม่ ในความหมายที่กว้าง ๆ นั้น มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งจะต้องระลึกนึกถึง คือคำว่า อารยชน คำว่า อารยะ กับคำว่า อริยะ นี้ เป็นคำเดียวกันแท้ แต่ความหมายยังแตกต่างกันอยู่คนละระดับ แต่ถึงอย่างไรก็ดี คำว่า อารยชน นั้น มันก็ต้องดีกว่าปุถุชนอยู่นั่นเอง คือเป็นคนที่เจริญแล้ว เป็นคนที่รู้ลู่ทางแล้วว่าความเจริญเป็นอย่างไร ความเสื่อมเป็นอย่างไร แม้คำว่า อารยชน ในความหมายทั่ว ๆ ไปที่เป็นคำสากล ก็เล็งถึงความรู้ที่พอตัวแล้ว ที่ไม่เป็นคนป่าเถื่อนอีกต่อไป คำว่า อารยชน ในทางธรรมะก็เป็นอย่างนั้น คือหมดความเป็นป่าเถื่อนโดยสิ้นเชิง คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทำอะไรผิด ๆ โง่ ๆ น่าสงสาร หรือป่าเถื่อนเหมือนแต่ก่อน ถ้าเราเดินหรือลากแนวมาตามความหมายของคำว่า อารยชน ในขั้นธรรมดาสามัญแล้ว เขยิบขึ้นมาอีกนิดหนึ่งก็ไม่มีทางที่จะไปไหน นอกจากไปตามทางพระอริยชนในพระพุทธศาสนา นี้ทำให้เห็นได้ว่าสิ่งนี้ไม่อยู่ไกลออกไปจนเหลือวิสัย สิ่งนี้ย่อมอยู่ในอ้อมแขนของมนุษย์ธรรมดา ถ้าว่าเขาเป็นผู้มีสติปัญญาตามสมควร มีการกระทำที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น และมีจิตใจที่ซื่อตรงต่ออุดมคติอันนี้ ไม่เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของกามคุณแล้ว ก็ใช้สิ่งสูงสุดนี้ไปเป็นเครื่องมือหากามคุณ
ถ้าถามกันว่า ทางลัดที่สุดที่จะเป็นอารยชน หรือเป็นอริยเจ้า กระทั่งเป็นพระอรหันต์ สำหรับคนที่มีการศึกษาน้อยถึงกับไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกเป็นต้นนี้ มีทางที่จะทำได้อย่างไร เอาคนไม่รู้หนังสือเป็นมาตรฐาน โดยไม่ต้องคำนึงถึงคนที่ศึกษามาก เล่าเรียนมาก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสข้อปฏิบัตินี้ไว้สำหรับคนทั่วไปทั้งที่รู้หนังสือและไม่รู้หนังสือ เพราะว่าเรื่องรู้หนังสือหรือไม่รู้หนังสือนี้ไม่ค่อยจะแน่นอน คนฉลาดอย่างไร ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้หนังสือ แล้วเมื่อคนไม่รู้หนังสือ ก็ไม่มีทางที่จะมีสติปัญญาอย่างงอกงาม ดังนั้นคนที่ไม่รู้หนังสือจึงมีปัญญาแคบ จะถูกเหมาเป็นคนที่ล้าหลัง แต่การปฏิบัติเพื่อเป็นพระอริยเจ้านั้น ปรากฏว่า แม้คนไม่รู้หนังสือในครั้งพุทธกาลก็เป็นพระอรหันต์ได้ และเป็นได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือเป็นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตัวธรรมะแท้นั้นไม่ได้เนื่องด้วยหนังสือ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนธรรมะทางหนังสือ ความจริงนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ แต่ไปอยู่ที่จิตใจของคน ตัวธรรมะจริง ๆ ไม่อยู่ที่หนังสือ แต่ไปอยู่ที่จิตใจของคน คือ จิตใจของคนอาจจะสัมผัสธรรมะหรือความจริงนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านทางตัวหนังสือ คล้าย ๆ หนังสือเป็นเครื่องมือ ก็เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับศึกษาในเบื้องต้นให้รู้วิธีที่จะใช้จิตใจโดยตรงสัมผัสธรรมะนี้ ถ้ามีหนทางอย่างอื่นหรือมีผู้แนะนำสั่งสอนดี คนก็เข้าถึงธรรมะได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับหนังสือ หนังสือเสียอีกจะทำให้ฟุ้งซ่าน มากเรื่องมากความ เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความเนิ่นช้า
การศึกษาธรรมะนั้นมันระบุชัดอยู่แล้วว่า ศึกษาให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง และความจริงทั้งหมดนั้นมาสรุปไว้ที่คำสั้น ๆ เพียง ๓ คำคือ ความไม่เที่ยง ความมีลักษณะแห่งความทุกข์ และความไม่ใช่ตัวใช่ตน ที่เราเรียกกันว่า ไตรลักษณ์ หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความจริงข้อนี้ไม่เกี่ยวกับหนังสือ เพราะไม่อาจจะรู้จักได้โดยอาศัยหนังสือเป็นสื่อ เพราะว่าต้องมองลงไปจริง ๆ ที่ตัวของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่มีอยู่ในใจหรือเกิดอยู่กับร่างกายยาวประมาณวาหนึ่งนี้ซึ่งมีจิตใจ และการเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ มีได้หลายแง่หลายมุม เห็นด้วยสติปัญญาที่ฟุ้งซ่านนั้นก็เห็นได้มากเหมือนกัน แต่ไม่เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ยิ่งเห็นก็ยิ่งคิดหาทางที่จะเอาจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ โดยอาศัยสติปัญญานั้นเพื่อจะหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์อันนี้ เพื่อจะยึดมั่นถือมั่นโดยมีข้อแก้ตัวอย่างอื่น อย่างนี้ แม้จะศึกษาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดขึ้นมาได้ ไม่เรียกว่าเห็นไตรลักษณ์อย่างแท้จริง ถ้าเห็นไตรลักษณ์อย่างแท้จริงนั้น จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า สิ่งทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะทั้งสามนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น มีความรู้สึกไม่เอาไม่เป็นในสิ่งทั้งหลายด้วยตัณหาอุปาทานขึ้นมาจริง ๆ อย่างนี้มันก็พอแล้วที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ในขณะนั้น หรือในพริบตาเดียวก็ได้โดยไม่ต้องเกี่ยวกับหนังสือเลย
มีคำอธิบายเป็นลำดับไปอย่างนี้ว่า จะเห็นทุกขัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงนั้น ต้องเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น ความเป็นอนัตตาของสิ่งทุกสิ่งนั้น แสดงความที่เอาหรือเป็นเข้าไม่ได้ เมื่อเห็นความไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว จิตก็น้อมไปเองสู่ความดับไม่เหลือ คือไม่อยากจะมีตัวมีตน เป็นตัวเป็นตนสำหรับจะอยู่ เพื่อเอาเพื่อเป็นในสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นของสิ่งทั้งหลายแล้ว จิตจะน้อมไปเองสู่ความดับไม่เหลือแห่งตัวกูหรือของกู ไม่หวังที่จะอยู่ หรือจะเป็นเพื่อเอานั่นเอานี่ เป็นนั่นเป็นนี่ นี้ชั้นหนึ่ง ทีนี้เมื่อได้สงวนความรู้สึกหรือความเห็นแจ้งอันนี้ไว้ หรือความที่จิตน้อมไปสู่ความดับไม่เหลือนี้ไว้เรื่อย ๆ ไป ด้วยความเห็นอยู่อย่างนั้น สิ่งที่เรียกว่า ไตรสิกขา หรือมรรคมีองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้นมาเองโดยที่เจ้าตัวไม่ต้องรู้ก็ได้ คือไม่ต้องรู้ว่ามันเรียกชื่อว่าอะไร ไม่ต้องรู้ว่ามันเรียกชื่อว่าศีล มันเรียกชื่อว่าสมาธิ มันเรียกชื่อว่าปัญญา อย่างนี้ก็ได้ หรือไม่ต้องรู้ว่ามันเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น อย่างนี้ก็ได้ แต่ตัวสิกขาหรือตัวมรรคนั้นได้เกิดขึ้นมาเองจริง ๆ ในการที่มีความเห็นจริงอยู่อย่างนั้น มรรคมีองค์ ๘ เกิดอยู่ตลอดเวลา โดยที่เจ้าของไม่รู้จักชื่อ หรือไม่รู้สึกว่าสิ่งที่รู้สึกอยู่ในใจ เป็นอยู่ในใจ หรือพฤติกรรมที่เป็นอยู่อย่างนั้น ๆ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ข้อนี้รู้ได้ตรงที่พระอรหันต์ทั้งหลายส่วนมากในครั้งพุทธกาลที่ไม่รู้หนังสือนั้น ไม่รู้จักคำเหล่านี้ก็มี ไม่รู้จักจำแนกเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่รู้จักจำแนกเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่รู้จักจำแนกอะไรเป็นชื่อแปลก ๆ ต่าง ๆ ออกไป แต่ก็สามารถที่จะรู้สึกได้ว่า สิ่งทั้งปวงทุกสิ่งนั้นไม่น่าเอาไม่น่าเป็น แต่ไม่อาจจะจำแนกได้ว่า รูปไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เวทนาไม่น่าเอาไม่น่าเป็น สัญญาไม่น่าเอาไม่น่าเป็น อย่างนี้จำแนกไม่ได้ เพราะไม่ได้สนใจที่จะรู้จักชื่อของสิ่งเหล่านั้น แต่ความรู้สึกเกิดขึ้นมาเต็มเปี่ยมในทุก ๆ สิ่งว่า ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น จิตน้อมไปสู่ความไม่มีตัวตนของตน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องดึงไว้สำหรับจะเอาจะเป็น เพื่อจะอยู่ เพื่อจะเอาจะเป็น นั่นล่ะคือการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง คือเป็นอยู่ด้วยจิตที่น้อมไปสู่ความดับไม่เหลืออยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าการเดินทางนั้นไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไปทีเดียว โดยไม่ต้องมีตัวกูเดิน คือจิตใจนั่นล่ะมีความก้าวหน้าไปตามทาง โดยไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู กูได้อย่างนั้น กูได้อย่างนี้ กูได้ชั้นนั้น กูได้ชั้นนี้ ได้ธรรมะที่นั้น ได้ธรรมะที่นี้ อย่างนี้ไม่ต้องมี แต่แล้วสิ่งที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมีและมีอยู่จริงและมีอยู่ตลอดเวลาในพฤติกรรมอันนั้นของบุคคลนั้น เมื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ ครบองค์อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการปิดอาหารแก่กิเลสตลอดเวลา กิเลสไม่ได้กินอาหารตลอดเวลา ก็เหือดแห้งไปในที่สุดโดยหลักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในที่สุดเราจะเห็นได้ว่า ในอันดับนี้การเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอยากเป็น ถ้ายังมีความอยากเป็น ก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็นได้ เดี๋ยวนี้คนอยากเป็นพระอรหันต์จึงไม่ได้เป็น ยิ่งอยากเป็นโดยที่ไม่รู้ว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไรด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีหวังยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราก็มองเห็นกันอยู่จริง ๆ ว่า คนสมัยนี้อยากเป็นพระอรหันต์ โดยที่ไม่รู้ว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร คนพวกนี้แหละควรจะถือว่าเป็นพวกที่บ้าบอที่สุด ไม่มีพวกไหนที่เป็นคนบ้าคนบอมากไปกว่าคนเหล่านี้แล้ว และมีอยู่มากแม้ในหมู่พุทธบริษัทเรา ทำให้เกิดความน่าสลดสังเวชว่า ในหมู่พุทธบริษัทเรานี้ ก็มีคนที่เป็นบ้า เป็นคนบออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แล้วจะนำพระศาสนาไปในทิศทางไหนกัน เป็นเรื่องที่กล่าวได้ยาก
ในข้อความทั้งหมดนี้เราต้องรวบรัดเอาใจความให้ได้ว่า การเป็นพระอริยบุคคลนั้นไม่เกี่ยวกับการรู้หนังสือหรือไม่รู้หนังสือ และการเป็นพระอริยบุคคลนั้นมีทางลัดสั้นที่สุดโดยการศึกษาจากจิตใจโดยตรง ให้เห็นความไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นของสิ่งที่คนโง่ ตนหลง ว่าน่าเอาน่าเป็น เพียงเท่านี้เท่านั้นก็เป็นอันว่าเรื่องทั้งหมดได้ตั้งต้นลงอย่างดี อย่างครบถ้วนและเป็นที่แน่นอน เพียงแต่รักษาความรู้สึกที่รู้สึกว่า สิ่งทั้งปวงไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนั้นไว้ให้ยังคงมีอยู่อย่างแน่นแฟ้นและยืดยาวชั่วระยะเวลาสักระยะหนึ่งเท่านั้น ในระยะนั้นสิ่งต่าง ๆ จะปรับปรุงตัวมันเอง พฤติกรรมในทางจิตจะเป็นไปแต่ในทางที่ทำลายกิเลส ทำให้กิเลสหมดไปในที่สุด เรื่องมีอยู่สั้น ๆ เพียงเท่านี้ พูดได้จบภายใน ๒-๓ นาที และเป็นเรื่องทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เรามีคำพูดที่เฟ้อมากไป เขียนเป็นหนังสือตั้งหลายร้อยหน้าหลายพันหน้า มันก็ยิ่งฟั่นเฝือ หนังสือนั่นเองทำให้ฟั่นเฝือ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทางลัดก็อย่าไปหวังพึ่งหนังสือนัก ถ้าจะอ่านหนังสือก็รู้จักเก็บเอาออกมา ให้เป็นเนื้อหาเป็นสาระที่จะประกอบคำอธิบายให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งทั้งหลายไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เมื่อได้เพียงเท่านี้แล้วจะขว้างหนังสือทิ้งเสียก็ได้ โดยการที่รักษาความรู้สึกว่าสิ่งทั้งหลายไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนี้ไว้อย่างแน่นแฟ้นหรืออย่างเหมาะสม คืออย่างที่มันจะงอกงามเจริญได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั่นเอง การตั้งต้นด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริงและสูงสุดเช่นนี้ เป็นการตั้งต้นที่แน่นอน แน่นแฟ้น มั่นคง มันจะดึงเอามาซึ่งคุณธรรมอื่น ๆ หรือในระดับอื่นให้มาเกิดขึ้นและให้เจริญงอกงามต่อไปได้โดยอัตโนมัติในตัวความรู้สึกนั้นเอง เราจึงมีความอุ่นใจในข้อที่ว่ามีวิธีลัดที่เหมาะสมสำหรับคนทุกคนแม้แต่คนที่ไม่รู้หนังสือ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งหมดในพระคัมภีร์ก็แสดงไปในลักษณะอย่างนี้ แต่เหตุไฉนคนเราจึงไปติดแน่นในหนังสือ แล้วขยายปริมาณของหนังสือออกมากไปทุกที จนกลายเป็นวงล้อมกักขังตัวเอง เลยกลายเป็นคุก หรือเป็นตารางซึ่งขังคนประเภทนี้ไว้ ไม่ให้ออกไปได้ เลยไม่มีหนทางที่จะก้าวหน้าไปตามทางของพระนิพพาน เพราะถูกขังคุกของหนังสือ ของตำรา ของคัมภีร์ ของทิฏฐิ ความคิดความเห็น ของเกียรติยศชื่อเสียงอันจะได้มาจากสิ่งเหล่านั้นเสียอย่างแน่นหนา เราจะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า อาการเช่นนี้มีอยู่แก่เราหรือไม่ เราลองย้อนระลึกนึกไปถึงเวลาที่แล้วมาแต่หนหลัง นับตั้งแต่เรายังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา จนกระทั่งเรามีความสนใจในสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา แล้วเราก็ศึกษามาตามลำดับ ๆ ว่ามันมีอาการเป็นมาอย่างไร ว่ามันมีการกระทำให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่น่าเอาไม่น่าเป็นจริงหรือไม่ หรือว่ามันเป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม อะไร ๆ ก็น่าเอาน่าเป็น แม้ที่สุดแต่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในหนังสือนี้อย่างเดียวก็น่าเอาน่าเป็นแล้ว จึงพลัดตกลงไปในคุกซึ่งเป็นบรมคุก คือ คุกอย่างยิ่ง สำหรับกักขังวิญญาณไม่ให้หลุดออกไปได้ นี่คือข้อที่พุทธบริษัททั้งหลายติดคุกของพุทธศาสนาเอง เป็นนักโทษเดนตายอยู่ในคุกนั้น เพราะว่าไม่อยากจะออกไป ไม่ปรารถนาจะออกไป ต้องการจะหาความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยอยู่ในคุก หรือเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น หรือความมากมายของสิ่งแปลกประหลาดนานาชนิดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ คุกชนิดนี้ใครเคยนึกบ้าง เคยสังเกตเห็นบ้าง หรือจะมองออกไปว่าคนในทุก ๆ ศาสนาก็กำลังติดคุกชนิดนี้แห่งศาสนาของตน ทำไมเรียกมันว่าคุก เพราะมันเป็นเครื่องกักขัง และยังต้องทำตามความต้องการของกิเลสตัณหาชนิดนั้นด้วย ต้องทำตามความต้องการของกิเลสตัณหาแต่ด้วยความสมัครใจ ฟังดู มันก็ขันดี ตรงที่ว่าต้องทำด้วยความสมัครใจ เป็นภาษาที่แปลกประหลาด เพราะมันเป็นภาษาของกิเลส กิเลสย่อมมีอะไร ๆ แปลก ๆ อย่างนี้ตามแบบของกิเลส ที่ว่ากิเลสนั้นมีอะไรล่อให้คนสมัครใจ เพราะความสมัครใจนั่นเองบังคับให้ทำ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องทำ จะต้องทำด้วยความสมัครใจ ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงรื้อตัวเองไม่รอด โงหัวไม่ขึ้น เพราะติดคุกชนิดที่ต้องทำความสมัครใจเหล่านี้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งนั้น ไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะโผล่ออกมาจากกำแพงคุก มีจิตใจเป็นอิสระแล้วมองเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น หรือกล่าวกันอีกทางหนึ่งก็กล่าวว่า เกิดมองเห็นความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นกำแพงคุกก็พังทลายลงเมื่อนั้น คือเป็นการทำลายคุกเมื่อนั้นเอง
การมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ ไม่ใช่เรื่องที่น่าเอาน่าเป็น เรื่องความสุขในสวรรค์ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเอาน่าเป็น การเป็นนั่นเป็นนี่ในระดับสูงสุดอย่างไรก็ล้วนแต่ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น มองเห็นความไม่น่าเอาไม่น่าเป็น จึงจะเป็นการรับประกันที่เพียงพอว่าจะหลุดออกไปเป็นผู้ที่ไม่เป็นอะไรด้วยอุปาทานอีกต่อไป แต่นั่นแหละคือความเป็นพระอริยเจ้าโดยไม่รู้สึกตัว โดยไม่ต้องเป็น โดยไม่ต้องตั้งใจเพื่อจะเป็น มันเป็นความเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นความเป็นโดยไม่ต้องตั้งใจจะเป็น ไม่ต้องอยากจะเป็น ยิ่งอยากจะเป็น ยิ่งต้องการจะเป็น ยิ่งไม่ได้เป็น เราจึงไม่เรียกว่าเป็นความเป็น คือไม่จัดเป็นภพ ถ้าจัดเป็นภพหรือเป็นความเป็นแล้ว ต้องอาศัยกิเลส หรือตัณหา หรืออวิชชาเสมอไป ดังนั้น การที่เราพูดกันว่าเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ได้เป็นภพ เพราะไม่ได้เป็นด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันเป็นของมันเองและโดยการสมมติเรียก เพราะว่ามันได้เปลี่ยนไปสู่ภาวะอีกอย่างหนึ่ง เราก็เรียกว่ามันเป็นอีกอย่างหนึ่งตามภาษาชาวบ้านพูด คนไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ก็เข้าใจเอาไปว่า ก็เข้าใจไปเสียว่า การเป็นพระอรหันต์ก็เป็นภพอย่างหนึ่ง นี้มันเป็นไปไม่ได้ ขัดต่อข้อเท็จจริงโดยประการทั้งปวง เราก็จับใจความได้ทันทีในข้อนี้ว่า เป็นอะไรก็เป็นออกไป เป็นออกไป ให้มองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ ที่แท้ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น จนจิตไม่สมัครจะเป็นอะไร ก็เป็นพระอริยเจ้าได้เองโดยไม่ต้องมีความคิดที่จะเป็น ความไม่มีภพหรือไม่เป็นภพในการเป็นพระอริยเจ้ามีได้โดยลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการทำลายคุกคืออุปาทาน ทำลายอุปาทานให้ละลายลงไป ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดด้วยอุปาทานนั้น การเอา การเป็นที่เป็นปัญหาหรือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น มันเป็นการเอา การเป็นด้วยอวิชชา มันเป็นอุปาทานขึ้นมา มีลักษณะเป็นการเอา การเป็น ถ้าไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้จะมีอาการเหมือนกับว่าเป็น ก็ไม่เป็นด้วยอุปาทาน ดังนั้นจึงไม่ชื่อว่าเป็นการเป็น ที่แท้เป็นการดับอวิชชา อุปาทาน มีสภาวะอันใหม่เกิดขึ้นมา เป็นความดับแห่งตัวตน หรือของตน ที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า ดับตัวกูหรือของกู นี่คือผลของการที่มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น อุปาทานไม่มีอะไรหล่อเลี้ยง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยั่วให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ไม่มีอะไรที่หล่อเลี้ยงความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู มันจึงตั้งอยู่ไม่ได้ และเป็นการดับไม่เหลือแห่งสิ่งที่เรียกว่า ตัวกูของกู ลงไปโดยสิ้นเชิง เราเรียกอาการดับชนิดนี้ว่าเป็นนิพพาน คือการดับแห่งตัวกูของกู การดับแห่งกิเลส การดับแห่งความทุกข์ ซึ่งที่แท้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้น
ทีนี้เราจะมามองดูกันต่อไปอีกถึงเรื่องวิชาความรู้ เมื่อเราเห็นว่า เรื่องของหนังสือเป็นเรื่องที่หลอกลวงมากถึงอย่างนั้น เราก็มาพิจารณาดูต่อไปว่า เรื่องของวิชาความรู้เล่า มันจะเป็นเรื่องหลอกลวงกันในสถานใด วิชาความรู้อย่างโลก ๆ นั้นไม่ต้องสงสัย มันถูกลูบคลำ ถูกครอบงโดยตัณหา อุปาทานไปหมดแล้ว มันก็เป็นวิชาความรู้ที่ช่วยดับทุกข์ไม่ได้ มีแต่จะช่วยเพิ่มความทุกข์เท่านั้นเอง วิชาอย่างนี้ในทางพุทธศาสนาไม่เรียกว่าวิชชา แถมจะเรียกว่า อวิชชา เสียด้วยซ้ำไป เพราะยังขาดความรู้ในทางที่จะดับทุกข์ หมายความว่าแม้จะมีความรู้มากมายอย่างไร ถ้ายังขาดความรู้ในเรื่องการดับทุกข์โดยตรงแล้ว ความรู้นั้นถูกจัดเป็นอวิชชา คือวิชชาที่ไม่ใช่วิชชา แต่ถ้าความรู้ใดเป็นไปเพราะการดับทุกข์แล้ว ก็เรียกว่าวิชชาได้โดยเหตุผล
ทีนี้เรามาพิจารณาดูกันว่า อวิชชานั้นไม่ไหวแน่ แต่สิ่งที่เรียกว่าวิชชานั้นเป็นอย่างไร น่าจะสนใจ น่าจะเอาด้วย น่าจะติดพันหรือไม่ ถ้าเราดูให้ดีแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น พูดโดยไม่ต้องกลัวใครจะคัดค้านหรือจะด่าหาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ คืออยากจะพูดแต่ว่าทั้ง ๒ เกลอนี้ใช้ไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไปมีความยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ใช้ไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น แล้วจะยึดมั่นในวิชชาไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นในวิชชา วิชชาก็จะกลายเป็นอวิชชา สำหรับอวิชชานั้นมันก็ปรุงแต่งผลักไสไปในทางที่จะให้เป็นทุกข์ นี้เป็นของแน่นอนและเข้าใจกันอยู่แล้ว ว่าอวิชชานั้นมีแต่จะปรุงแต่งผลักไสให้เป็นไปในทางที่เป็นทุกข์ แม้จะปรุงในทางดี ก็ให้เป็นทุกข์อย่างดี เป็นความทุกข์ที่หอมหวน แต่ก็เป็นความทุกข์ นี้คือความไม่ไหวที่จะไปเสน่หากับอวิชชา นี้มามองดูในทางสิ่งที่เรียกว่าวิชชา มันก็เป็นการปรุงด้วยเหมือนกัน ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นว่า ไม่น่าจะเข้าไปยึดถือด้วยเหมือนกัน วิชชาก็ปรุงไปในทางของวิชชา ให้รู้จริงให้เห็นแจ้ง แม้จะรู้จนถึงขนาดที่ไม่มีตัวกูของกูแล้ว มันก็ยังทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่ายังต้องทำอะไรอยู่นั่นเอง แม้จะหมดตัณหาอุปาทานแล้ว วิชชาก็ยังปรุงให้รู้สึกว่ามีหน้าที่ที่จะต้องทำ เมื่อเป็นดังนี้ เลิกมันเสียเถิดทั้งวิชชาและทั้งอวิชชา หันหน้าไปหาสิ่งที่เรียกว่าความว่างกันเห็นจะดีกว่า เพราะว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงอยู่ได้ด้วยสุญญตาวิหาร (นาทีที่ 36:50) คือความรู้สึกว่าง ไม่มีอะไรเป็นที่เกาะเกี่ยวยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราไม่สนใจกับเรื่องวิชชาซึ่งเป็นเพียงยานพาหนะเหมือนพ่วงแพ เมื่อถึงฝั่งที่ปรารถนาแล้ว ก็ไม่ควรจะแบกเรือเอาไปด้วย ควรจะขึ้นฝั่งเป็นอิสระ ความเป็นอิสระนั่นล่ะคือความว่าง ไม่มามัวพัวพันอยู่กับวิชชาหรืออวิชชาอีกต่อไป
ทีนี้ปัญหาอาจจะมีขึ้นมาเป็นข้อยกเว้นอย่างอื่นก็ได้ ตรงที่การบัญญัติความหมายของคำว่าวิชชา ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีคำสอนในลัทธินิกายอื่นของพระพุทธศาสนา บัญญัติให้วิชชาเป็นความว่างเสียตรงนี้ ไปเสียเองก็มี หรือว่าทุกสิ่งเป็นความว่างเสียก็มี สำหรับเราในที่นี้ถือว่าวิชชาเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับให้พบกับความว่าง เมื่อพบกับความว่างแล้ว ความจำเป็นที่ต้องอาศัยวิชชาก็หมดไปด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งอวิชชาและทั้งวิชชา แต่เดี๋ยวนี้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่า พุทธบริษัทส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าวิชชา เช่นเดียวกับยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า ความดี หรือกุศล หรือมหากุศล เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะคน เฉพาะจิตใจของคน ดังนั้นมันจึงอธิบายกันยาก หรือพิสูจน์กันยาก ยากที่ทำให้คนมองเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นของสิ่งที่เรียกว่าวิชชาหรือความดี หรือกุศล หรือมหากุศล แต่ทว่าคนเหล่านั้นยังมีความซื่อตรงสุจริตต่อการประพฤติปฏิบัติของตนเอง พยายามทำไปตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง ไม่เอาอวิชชา อุปาทานของตนมาเป็นเครื่องกีดกันเสียแล้ว เขาก็จะมองเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นในทุก ๆ สิ่งได้โดยไม่ต้องสงสัยเลย แล้วก็จะเลิกไม่เกี่ยวข้องทั้งวิชชาและอวิชชา แล้วก็จะเป็นการง่ายที่จะเข้าไปสู่ความว่างหรือที่เรียกว่านิพพาน
การที่นำความเรื่องนี้มากล่าวอย่างนี้ก็เพราะเป็นห่วงหรือวิตกอยู่ว่าพุทธบริษัทเรามาติดคุกของหนังสือ และมาติดกำแพงแก้วของอวิชชา เอ้อ, ของวิชชากันอยู่ทั่ว ๆ ไป เลยเกิดการตีบตัน หยุดชะงัก ไม่มีความก้าวหน้าไปตามทางของพระศาสนาในลักษณะที่ควรจะเป็น อันเป็นการเสียเวลาของอายุ ไม่เป็นการก้าวหน้าที่ทันกันกับเวลาหรืออายุ ไม่เป็นการเอาชนะเวลาหรืออายุได้ เพราะมัวแต่ไปติดคุก ติดกำแพงกันเสียอย่างนี้ จึงได้นำเอามาปรึกษาหารือกันในโอกาสเช่นนี้ คือโอกาสที่จะพอกพูนความไม่ประมาทในเรื่องอันเกี่ยวกับเวลาหรืออายุนั่นเอง
ถ้าจะพูดถึงวิชชาให้ละเอียดลงไป เราอาศัยวิชชาเพียงเป็นยานพาหนะเหมือนเรือแพตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้เราจะต้องมองให้เห็นชัดลงไปว่า วิชชาที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่ปรุง สำหรับอวิชชานั้นเป็นสิ่งที่มีหน้าที่ปรุงโดยแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย ปรุงไปในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ เมื่ออวิชชามีหน้าที่ปรุงทั้งในทางกุศลและทางอกุศลอย่างนี้แล้ว จะให้วิชชาไปปรุงอะไรที่ไหนกันอีก วิชชาที่แท้จริงไม่ควรจะมีการปรุง ให้มีการปรุงแต่เรื่องอวิชชา ฉะนั้นถ้าเราจะ อยากจะรู้ว่าอะไรเป็นวิชชา อะไรเป็นอวิชชา ก็ต้องพยายามดูกันที่ตรงนี้ ว่าถ้าปรุงก็เป็นอวิชชาเต็มที่ ถ้าไม่ปรุงก็เป็นวิชชา ถ้าจะให้วิชชาปรุงก็ให้ปรุงไปในทางที่จะทำลายอวิชชา แต่อาการอย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่าปรุง เพราะอาการที่เรียกว่าปรุงนั้น หมายถึง อาการที่ทำให้เกิดมีอะไรขึ้นมาใหม่ ส่วนวิชชานั้นมีหน้าที่สำหรับตัดรอนการเกิดขึ้นมาใหม่ คือไม่ปรุง คือต้องการจะให้ตัวตนสลายไป ไม่มีตัวตนเหลืออยู่ การกระทำอย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่าปรุง ถ้าเรียกว่าปรุงก็เรียกว่าปรุงอีกแบบหนึ่ง หรือข้อที่ว่ามีวิชชาจนทำลายสิ่งที่เรียกว่าตัวตนได้แล้ว แต่ทำให้เกิดความรู้สึกในหน้าที่ที่จะต้องทำนั้น อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าปรุง หรือไม่ควรจะเรียกว่าปรุง เพราะมันเป็นคุณสมบัติของสิ่งที่เรียกว่าวิชชา คือได้ชื่อว่าเป็นวิชชาแล้ว (นาทีที่ 44:40) ต้องรู้อย่างถูกต้อง เมื่อรู้อย่างถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้สิ่งที่ควรทำ รู้สิ่งที่ไม่ควรทำ หรือแม้แต่รู้สิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าไม่อยากจะทำมันก็ควรจะได้ เพราะรู้อยู่ว่า ทำไปทำไมหรือทำเพื่ออะไร ไม่ทำจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีความต้องการอะไร มันก็ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ถ้ากำลังของความเมตตากรุณาเข้ามาแทรกแซง มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะถือว่าอวิชชาปรุงความเมตตากรุณานี้ก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในทางที่ถูกที่ควรหรือในทางที่เป็นจริงแล้ว ก็ควรจะถือว่าวิชชาแท้นั้นไม่ควรจะปรุงสิ่งใด ยกหน้าที่ปรุงให้แก่อวิชชา โดยนัยยะแห่งปฏิจจสมุปบาทที่มีอยู่ว่าอวิชชาปรุงให้เกิดสังขาร สังขารปรุงให้เกิดวิญญาณ วิญญาณปรุงให้เกิดนามรูป นามรูปปรุงให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ให้เกิดเวทนา ให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน ให้เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์ในที่สุด นี้เป็นเรื่องปรุงตลอดสายโดยอำนาจของอวิชชา นี้ถ้าเป็นวิชชาขึ้นมา มันก็เป็นอวิชชาไม่ได้ คือวิชชาย่อมไม่มีในอวิชชา เมื่อเป็นวิชชามันก็เป็นอวิชชาไม่ได้ เมื่อเป็นอวิชชาไม่ได้ มันก็ไม่ปรุง เมื่อมีวิชชาขึ้นมา มันก็ไม่มีอวิชชาและไม่มีการปรุงสังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ ตามนัยยะแห่งปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงควรจะกล่าวว่าวิชชาแท้ของพระพุทธเจ้าที่เราสวดร้องกันว่า วิชชาจรณสัมปันโนนั้น วิชชาชนิดนี้ของพระพุทธองค์ คือ ความว่าง และไม่ปรุง อย่าเอาไปปนกับวิชชา ความรู้ของชาวบ้าน วิชชาของชาวบ้านนั้นมันยังปรุง วิชชาของชาวบ้านนั้นเป็นความต้องการที่จะสร้างความดี สร้างบุญ สร้างกุศล เท่านั้นเอง ดังนั้นวิชชาของชาวบ้านนี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกก็ควรจะเรียกว่าอวิชชาชั้นดีเท่านั้นเอง ผู้ศึกษาควรจะตั้งข้อสังเกตและระวังไว้ อย่าให้วิชชาที่แท้ไปปนเปกันเข้ากับอวิชชาชั้นดี ปนกันแล้วมันก็จะยุ่งใหญ่ และก็จะเกิดความลำบากมากกว่าเดิม ระวังวิชชาที่แท้ที่เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้านั้นคือ ความว่างและไม่ปรุง อย่าเอาไปปนกับวิชชาของชาวบ้านซึ่งเป็นเพียงอวิชชาชั้นดี ให้เข้าใจแจ่มแจ้งในข้อนี้ แล้วก็หันหน้ามุ่งไปยังวิชชาตามแบบของพระพุทธเจ้า วิชชาชนิดนี้ ความรู้ชนิดนี้จึงจะไม่มีคุกที่มีกำแพงเป็นแก้ว ขังดวงวิญญาณของสัตว์อีกต่อไป
รวมความว่า สิ่งที่เราจะต้องคิด ต้องนึก ต้องระวังนั้นมีแม้แต่กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า วิชาความรู้ ตำรับตำรา หนังสือหนังหา ครูบาอาจารย์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนาและวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะต้องระมัดระวังไปทั้งหมด อย่าให้เกิดความเข้าใจผิด ไปคว้าเอามาอย่างผิด ๆ ตามการกระทำของคนข้างหลังซึ่งได้ปลูกฝังเชื้อแห่งความผิดลงแล้วก็ระบาดมากออกไปทุกที จนสภาพการณ์ของพระศาสนาตกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ พุทธบริษัทตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ ทำลายคุณค่าอันประเสริฐของพุทธศาสนาเสียเอง นี้เป็นเรื่องสูงสุด หรือเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะนำมารำพึงรำพันกันในวันนี้ ในโอกาสเช่นนี้ เพื่อเกิดความสลดสังเวชเกี่ยวกับความที่กาลเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่พุทธบริษัทของเราก็ไม่เอาชนะเวลาได้ คงเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อกาลเวลา มีอายุเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็ไม่เป็นการก้าวหน้าในทางของธรรมะ หรือในทางของศาสนา เป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิ่งที่พุทธบริษัทควรจะได้รับ หรือเป็นเหตุให้มนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะเขาเป็นผู้ประมาทเหมือนกับว่าเป็นคนตายแล้ว ไม่มีความสนใจที่จะคิดนึกศึกษาในเรื่องที่เวลาล่วงไป แต่คุณธรรมไม่ก้าวหน้า (นาทีที่ 52:05) ดังนั้น เราไม่สนใจกันในเรื่องที่จะต่ออายุให้มากออกไป แต่เราสนใจที่จะจัดการกับอายุที่กำลังมีอยู่นี้ ให้มันมีอะไรเกิดขึ้น ให้เหมาะสมแก่กันนั้นมากกว่า เพราะอายุล่วงมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ก็ควรจะรู้อะไรให้สมกันกับอายุนั้น เพราะฉะนั้นการที่ถือเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันพิเศษสำหรับความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ก็นับว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดตามแบบของพุทธบริษัท ควรจะถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ว่า ถ้าจะมีการทำบุญอายุเนื่องด้วยอายุแล้ว ก็ควรเพ่งเล็งถึงความก้าวหน้าให้เพียงพอกับความล่วงไปของอายุด้วย อย่ามัวแต่คิดที่จะต่ออายุด้วยความขี้ขลาด ด้วยความเข้าใจผิดในเรื่องของอายุ มุ่งหมายแต่จะมีอายุอยู่เพื่อบริโภคความสุข สนุกสนานทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง ซึ่งจะเป็นการทำให้มีการถอยหลังเข้าคลอง ไม่มีอะไรเจริญงอกงามก้าวหน้าไปตามอายุนั้นเลย
หวังว่าการที่เราประชุมกันในโอกาสเช่นนี้ เพื่อทำความเข้าใจกันบ้างในเรื่องอันเกี่ยวกับอายุเช่นนี้ คงจะไม่เป็นเรื่องที่เปลืองเปล่า เหนื่อยเปล่า หรือเสียหลายแต่ประการใดเลย คงจะเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลอย่างใหญ่หลวงเช่นเดียวกับที่เราประกอบกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่พระศาสนาเป็นคราว ๆ ไปนั้นเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เรามีความรับผิดชอบทั้งแก่ตัวเองและทั้งแก่พระศาสนาด้วย นับว่าเรามีเจตนาที่จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องถึงที่สุดอยู่แล้ว ยังเหลืออยู่แต่จะ ระมัดระวังให้ไม่มีความพลาดพลั้งเกิดขึ้น ให้สิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปโดยถูกทางควบคู่กันไปกับอายุที่มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับวิ่งไปนั้นเหมือนกัน หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่ได้อดทน ได้เสียสละ เพื่อจะฟังธรรมบรรยายในคราวนี้ คงจะได้นำไปพินิจพิจารณาดู ถือเอาประโยชน์ให้ได้ตามสมควร คืออย่างน้อยที่สุดก็ให้เป็นผู้ที่เดินถูกทาง มีหูตาอันสว่าง มองเห็นแนวทางทั้งหลายเหล่านั้นอย่างชัดแจ้ง อย่างชัดแจ้งตามที่เป็นจริง ไม่ให้มีอาการหลงทางเกิดขึ้นได้ และสิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปในทางที่พึงประสงค์อย่างรวดเร็วที่สุด จะเป็นผู้ที่เลื่อนชั้นตัวเองในภูมิทั้งหลายได้โดยรวดเร็ว และบรรลุถึงภูมิสุดท้าย คืออยู่เหนือความทุกข์ได้ไม่มากก็น้อยโดยสมควรแก่คุณธรรมที่เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจของตนได้ด้วยกันทุกคน ธรรมบรรยายสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่ในคราวนี้ เพียงเท่านี้