แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาและความเชื่อความเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษอย่างยิ่ง เนื่องจากปรารภเหตุเป็นพิเศษนั่นเอง
วันนี้เป็นวันพิเศษสำหรับอาตมาโดยเหตุที่ว่าเป็นวันที่มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เวลาเช้า เป็นเวลาที่เกิดมาในโลกนี้ วันนี้เป็นวันคล้ายวันนั้น และเวลานี้ก็เป็นเวลาที่คล้ายเวลานั้น จึงถือว่าเป็นเวลาพิเศษควรจะระลึกนึกถึงเป็นพิเศษ เหมือนที่คนโดยมากเขาทำบุญอายุกันเนื่องในวันเช่นวันนี้ และเรียกว่าเป็นวันทำบุญอายุ เราจะวินิจฉัยกันถึงคำว่าทำบุญอายุก่อน คำว่าทำบุญอายุนั้น ถ้าฟังไม่ดีจะเข้าใจไปว่าเป็นการทำบุญให้แก่อายุ เมื่อเข้าใจดังนี้หรือถือเอาความหมายเช่นนี้ก็เป็นเรื่องน่าหัว เพราะว่าอายุมันไม่ต้องการบุญหรือมันเก่งกว่าเจ้าของเสียอีก ไม่ต้องการให้เจ้าของทำบุญให้ก็ได้ ถ้าใครไปคิดว่าทำบุญให้อายุ คนนั้นจะเป็นคนเขลาเสียเอง เป็นคนงมงายเสียเอง ถ้าอย่างนั้นแล้วคำว่าทำบุญอายุนี้จะมีความหมายว่าอย่างไร คำว่าทำบุญอายุต้องถือเอาความหมายว่าทำบุญเนื่องด้วยอายุ คือเมื่ออายุครบเท่านั้นเท่านี้หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็มีการบำเพ็ญบุญเนื่องด้วยการที่อายุเป็นเช่นนั้น ๆ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าทำบุญอายุที่ถูกต้องที่พอจะถือปฏิบัติกันได้และมีประโยชน์
ทีนี้ข้อต่อไปที่จะต้องวิสัชนา ก็คือข้อที่ว่าในการทำบุญอายุนี้มีลักษณะอย่างไรหรือมีความมุ่งหมายอย่างไร ที่แล้ว ๆ มาหรือที่เห็น ๆ กันอยู่ก็มีการทำบุญต่ออายุกันเป็นส่วนใหญ่ หรือเกิดเป็นธรรมเนียมเป็นประเพณีเพื่อต่ออายุ แต่สำหรับในวันนี้อาตมามีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น คือแทนที่จะทำบุญต่ออายุ ก็อยากจะทำบุญล้อเลียนอายุ หรือทำบุญล้ออายุ เรียกสั้น ๆ ว่าอย่างนี้ มันจึงเกิดเป็นมีการทำบุญอายุเป็น ๒ อย่าง คือทำบุญต่ออายุนั้นอย่างหนึ่ง ทำบุญล้ออายุนี้อีกอย่างหนึ่ง และจะได้พิจารณากันทีละอย่าง
อย่างแรกที่เรียกว่าทำบุญต่ออายุนั้น ฟังดูแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะความไม่อยากตาย เพราะความกลัวตายหรือความขี้ขลาดไม่อยากตายนั่นเอง จึงได้นึกถึงการต่ออายุ ตามธรรมดาผู้ที่มีสติปัญญาย่อมพิจารณาเห็นว่า การมีอายุอยู่นี้ไม่ใช่เป็นของสนุกเลย เป็นของต้องทนเหมือนกับแบกภาระหนัก มีความทุกข์นานาประการอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่ปรารถนาที่จะทนทุกข์เช่นนั้นและไม่ต้องการจะต่ออายุ แต่คนทั่ว ๆ ไป ยังไม่อยากตาย ยังกลัวตาย จึงต่ออายุ และอยากจะต่ออายุ และนิยมต่ออายุกันจนเกิดมีพิธีชนิดนี้ขึ้นมา และมีผู้ค้นคว้าหาเรื่องราวมารับรองให้เกิดความแน่ใจความพอใจในข้อนี้กันขึ้น จึงได้เกิดมีคาถาที่เรียกว่า อุณหิสสวิชัย ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นหัวข้อนิเถกบฏ (นาทีที่ 9.06) ข้างต้นนั้นแล้ว แต่มีปัญหาที่จะต้องพิจารณากันโดยละเอียดว่า คนที่ทำบุญต่ออายุนั้นเข้าใจความหมายของคาถาอุณหิสสวิชัยโดยถูกต้องแล้วหรือยัง คนเป็นอันมากเข้าใจว่าคาถาอุณหิสสวิชัยนี้กันความตายได้ ป้องกันความตายได้ แล้วก็สอนกันให้สวดคาถานี้เพื่อกันความตาย พิจารณาดูแล้วก็เป็นเรื่องน่าหัวที่มีการสวดคาถากันตาย สวดเองบ้าง นิมนต์พระมาสวดบ้าง ทำพิธีรีตองกันใหญ่โตเพื่อป้องกันความตายหรือจะต่ออายุให้ยืดยาวออกไป สำหรับคาถาอุณหิสสวิชัยนี้ เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดแล้วเห็นว่าเป็นคาถาที่แต่งขึ้นในชั้นหลัง และเมื่อไม่นานมานี้เอง สำนวนของภาษาที่แต่งคาถานี้ไม่ถึงขนาดไม่สมบูรณ์ในทางไวยากรณ์ เป็นการแต่งของบุคคลหรือในสมัยหรือในถิ่นที่มีภาษาบาลีอันไม่เจริญ คือไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของภาษาและไวยากรณ์ของภาษาบาลี เช่นที่ใช้อยู่ในพระไตรปิฎกหรือแม้ที่ใช้อยู่ในอรรถกถาต่าง ๆ ดังนั้นจึงถือว่าคาถานี้ไม่สมบูรณ์โดยหลักแห่งภาษาบาลีแต่ก็พอจะเอาความได้
ทีนี้พิจารณาต่อไปถึงเนื้อความในคาถานั้น เนื้อความในคาถานั้นไม่ได้มีว่ากันตายได้ หากแต่บอกว่าป้องกันความตายที่ยังไม่สมควรแก่เวลาได้ แต่ที่จะให้ป้องกันความตายโดยแท้จริงนั้นเป็นไปไม่ได้ ระบุชัดอยู่ในคาถานั้นแล้ว แต่ผู้ทำพิธีต่ออายุนั้นเข้าใจไปว่าคาถานี้กันความตายได้ตามที่ตนต้องการทุกอย่าง เราจะต้องวินิจฉัยกันดูให้ละเอียดต่อไป
ทีนี้ทำไมเรื่องอุณหิสสวิชัยจึงเกิดขึ้น ใคร่ครวญดูโดยละเอียดแล้วเห็นได้ว่า ผู้แต่งคงจะไปจับกระเส็นกระสายจากอรรถกถาหรือฎีกาตอนใดตอนหนึ่งเอามา ซึ่งมีใจความเป็นท้องเรื่องว่ามีเทวดาตนหนึ่งไม่อยากตาย ครั้นมีนิมิตปรากฏแสดงออกมาว่าเทวดาตนนั้นจะต้องตาย เช่น มีเหงื่อออก หรือดอกไม้ประจำตัวเหี่ยว เป็นต้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัวอย่างใหญ่หลวงเพราะไม่อยากจะตาย จึงดิ้นรนขวนขวายเพื่อจะไม่ให้ต้องตายคือไม่ให้ต้องจุติจากเทวโลก ได้ถามเพื่อนฝูงที่เป็นเทวดาด้วยกันก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันความตายได้ ถามไป ๆ จนกระทั่งถึงจอมเทวดาคือท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ตอบไม่ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะป้องกันการจุติครั้งนี้ได้ แต่ท้าวสักกะยังบอกให้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า เทวดาไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสคาถานี้แก่เทวดานั้น คือคาถาที่เรียกว่าอุณหิสสวิชัยนั่นเอง คาถานี้ไม่มีในพระไตรปิฎก ค้นเท่าไรก็หาไม่พบ จึงเป็นอันว่าเป็นเรื่องนอกพระไตรปิฎก ค้นในอรรถกถาก็ไม่พบ แม้จะเป็นอรรถกถาไหนก็ยังไม่พบ จึงถือว่าเป็นเรื่องนอกอรรถกถา เมื่อเป็นเรื่องนอกอรรถกถา ก็ควรจะเป็นเรื่องในชั้นฎีกาของอรรถกถานั้น ๆ ก็ยังหาไม่พบอีก
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าเรื่องอุณหิสสวิชัยนี้ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในทำนองเป็นเรื่องพิเศษ ให้เป็นเรื่องสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง จึงได้เล่าเรื่องเทวดากลัวตายไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วได้รับคาถานี้มาโดยสมบูรณ์ และมีความสำคัญอยู่ที่คาถานั้นนั่นเอง ข้อความในคาถานั้นมีเหตุมีผลหรือเป็นธรรมะ ไม่มีเรื่องไร้สาระเข้ามาแทรกแซง หรือไม่มีสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลเข้ามาแทรกแซง หากแต่ว่าคนที่ทำพิธีหรือรับการทำพิธีไม่เข้าใจเสียเอง จึงได้เข้าใจไปในทำนองขลังหรือทำนองศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับเป็นเรื่องนอกพุทธศาสนาไป แต่ถ้าถือเอาใจความในคาถานี้ให้ถูกต้องแล้วก็ยังจะพออนุโลมได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ขัดกับหลักพระพุทธศาสนา แม้จะเอาเรื่องในมหาประเทศทั้ง ๔ มาเป็นหลักสำหรับจัดสำหรับวัดสำหรับทดสอบอย่างไร ข้อความในคาถานี้ก็ยังพอนับได้ว่า สงเคราะห์ได้ว่าเป็นหลักเป็นธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราจะได้พิจารณากันดูต่อไปโดยละเอียด และในที่สุดเราจะทราบได้ว่าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้หรือถือเอาความมุ่งหมายของเรื่องนี้ผิดนั้น มันเป็นการกระทำผิดของเขาเอง ไม่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของผู้แต่งคาถานี้หรือผู้ที่ตั้งประเพณีอันนี้ขึ้นมา ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เราวินิจฉัยกันดูโดยลำดับได้
สำหรับข้อความนั้น เมื่อแปลตามตัวหนังสือจะมีอยู่ดังนี้ว่า อัฎฐิ อุณหิสสวิชโย ธัมโม โลเก อนุตโร สรรพสัตต อิตัตถายะ ตันตวังพหาอิเทวเต (นาทีที่ 18.18) ดูก่อนเทวดา ธรรมะอันประเสริฐซึ่งเป็นอุณหิสสวิชัย หรือเป็นผ้าประเจียดนั้นมีอยู่ในโลกนี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ท่านจงถือเอาซึ่งธรรมะนั้นเถิด ปริวัตรเช ราชทัณเท อมนุสเส หิปาวเก พยัคเฆ นาเค วิเสภูเต อกาละมรเณนะวา (นาทีที่ 19.07) ก็จะพึงพ้นจากราชทัณฑ์ พึงพ้นจากการเบียดเบียนของอมนุษย์ พ้นจากไฟ พ้นจากเสือ พ้นจากนาค พ้นจากยาพิษ พ้นจากภูติ พ้นจากความตาย อันไม่ประกอบด้วยกาล สรรพสมา มรณามุตโต ทเปตวา กาลมาวิตัง (นาทีที่ 19.49) จะเป็นผู้พ้นจากความตายทั้งปวง เว้นแต่ความตายตามกาละ หรือสมควรแก่กาละ สัพเพวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา (นาทีที่ 20.22) ด้วยอานุภาพแห่งธรรมะนั้นนั่นแหละ เทวดาจงมีความสุขทุกเมื่อ สุพะสีลัง สมาทายะ ธรรมัง สุจริตัง จเร (นาทีที่ 20.40) พึงสมาทานศีลให้หมดจด พึงประพฤติธรรมให้สุจริต สัตเตวะอานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะท (นาทีที่ 20.51) ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้นนั่นแหละ เทวดาจงเป็นผู้มีความสุขทุกเมื่อ “นิขิตัง จินติตัง ปูชัง ทาระนัง วาจะนัง ขะลุง ปะเรสัง เทศนัง สุตวา สัตตะ อายุ ปวัตถะตี” (นาทีที่ 21.11) เพราะได้ฟังธรรมแล้ว เขียนไว้ คิดไว้ บูชาอยู่ จงจำไว้ บอกกล่าวแก่กันและกัน และมีความเคารพหนักแน่นในธรรมนั้น แล้วอายุของเขาย่อมเจริญดังนี้
คาถาที่เรียกว่าคาถาอุณหิสสวิชัยมีอยู่เพียงเท่านี้ สรุปใจความแล้วก็ยกเอาธรรมะขึ้นมาเป็นอุณหิสสวิชัยหรือเป็นเครื่องต่อต้านความตายในที่นี้ และว่าเมื่อประพฤติธรรมะนั้นแล้ว ก็จะพ้นจากภัยทั้งหลายที่จะทำให้ตาย ดังนั้นถือว่าพ้นจากความตายทั้งปวง เว้นแต่ความตายที่สมควรแก่กาละ และยังย้ำว่าต้องสมาทานศีลให้หมดจด ต้องประพฤติธรรมะให้สุจริต และเมื่อได้ฟังธรรมะด้วยตนเองแล้วจะต้องเขียนไว้ จะต้องคิดอยู่ จะต้องบูชา จะต้องจงจำไว้ จะต้องบอกกล่าวสั่งสอนแก่กันและกัน และต้องมีความเคารพหนักแน่นในธรรมะนั้น อายุจึงจะเจริญได้ตามต้องการ
ถ้าจะสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ก็มีอยู่ว่า ข้อความนั้นรับรองว่าธรรมะนั้นจะเป็นผ้าประเจียด และจะพ้นจากความตายที่ยังไม่ถึงกาละ และจะสำเร็จได้เพราะคนนั้นถือศีลบริสุทธิ์ ประพฤติธรรมสุจริต และเมื่อได้ฟังธรรมแล้วจะต้องปฏิบัติต่อธรรมะนั้นด้วยการจดจำไว้ ด้วยการบูชา และด้วยการบอกกล่าวแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป นี่ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้ามาที่สุดอีกทีหนึ่งก็จะต้องกล่าวว่า ให้ประพฤติธรรมแล้วให้บอกกล่าวสั่งสอนธรรมนั้นต่อ ๆ กันไป จึงจะมีความเจริญด้วยอายุ ถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุดยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกก็ต้องกล่าวว่า ให้ประพฤติธรรมะและสอนธรรมะจึงจะเจริญด้วยอายุ เมื่อเป็นดังนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าข้อความในคาถานี้ไม่ขัดกับหลักพระพุทธศาสนา และโดยหลักของมหาประเทศทั้ง ๔ ควรจะฟัง ควรจะศึกษาและสนใจ
ข้อที่จะท้วงติงในที่นี้ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งว่า ธรรมะนี้ป้องกันได้แต่ความตายชนิดที่ไม่ใช่กาละ แต่ไม่สามารถจะป้องกันความตายที่ถึงกาละ การกล่าวเช่นนี้เราจะเห็นได้ว่าผู้กล่าวนั้นกล่าวในระดับต่ำ ระดับทั่ว ๆ ไปที่ยังมีความตายที่น่ากลัว และก็ต่อสู้ความตายนั้นด้วยธรรมะ แต่ในที่สุดก็ต้องตายตามกาละ นี่ไม่ใช่ธรรมะชั้นสูง ถ้าเป็นธรรมะชั้นสูงในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ย่อมหมายถึงธรรมะที่ทำให้บุคคลผู้เข้าถึงแล้วไม่มีความตายเลยโดยประการทั้งปวง ธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาคือเรื่องสุญตาก็ดี เรื่องอนัตตาก็ดี ผู้ใดเข้าถึงธรรมะนั้นแล้ว ย่อมอยู่เหนือความตาย ย่อมพ้นจากความตาย ย่อมไม่มีความตายเลยโดยประการทั้งปวง เพราะหมดความเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล ถ้าไม่มีอุปาทานยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตนหรือเป็นสัตว์หรือเป็นบุคคล ดังนั้นจึงไม่มีความตายเลยโดยประการทั้งปวง และอยู่เหนือความตายโดยประการทั้งปวง ดังนี้เห็นได้ว่าธรรมะแท้ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้นเพิกถอนความตายออกไปได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือเป็นปัญหาสำหรับความตาย
การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกล่าวเล่นสำนวนเพราะมีพระบาลีพุทธภาษิตเป็นหลักอยู่ทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เช่น ปัญหาโมกขราชในกุสนีบาท (นาทีที่ 27.43) โมกขราชมาทูลถามปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่พบกันกับความตาย พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า สุญญโต โลกัง อเวทขะสุ โมคะราชะ สทาสะโต (นาทีที่ 27.57) ดูก่อนโมกขราช จงเป็นผู้มีสติมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด เมื่อเห็นโลกอยู่ด้วยความเป็นอย่างนี้ ความตายก็ไม่มองเห็นท่าน คือหาตัวท่านไม่พบ อย่างนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นหลักเกณฑ์ที่แสดงว่าธรรมะในพุทธศาสนานั้น เมื่อผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติถึงได้จริง ๆ แล้วสามารถครอบงำความตายให้หมดอำนาจไป คือไม่มีความตายเหลืออยู่ และให้ทุกคนถือว่านี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาในขั้นที่เป็นสาระ เป็นเนื้อแท้ของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คือการทำให้คนอยู่เหนือความตายโดยประการทั้งปวง ส่วนการที่มีหลักแต่เพียงว่าคนยังต้องตายและประวิงเวลาไว้ด้วยการทำดีนั้น ควรจะถือว่า แม้ในศาสนาอื่น ๆ อีกหลาย ๆ ศาสนาก็มีสอน จึงควรถือว่านี้เป็นหลักประพฤติหรือหลักปฏิบัติในระดับต่ำหรือทั่วไป ยังไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนาโดยตรง ถ้าผู้แต่งคาถาอุณหิสสวิชัยนี้มีความรู้ธรรมะในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์แล้ว ก็น่าจะกล่าวถึงข้อนี้ด้วย คือข้อที่ธรรมะสามารถทำให้บุคคลอยู่เหนือความตายโดยสิ้นเชิง ไม่กล่าวเพียงครึ่งเดียวว่าให้ประพฤติธรรมะ แล้วก็ประวิงความตายไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องตายจริง ๆ เช่นนี้ ด้วยเหตุผลอย่างนี้เราจึงจัดคาถาอุณหิสสวิชัยอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านนั้นไว้ว่า เป็นหลักธรรมะในระดับธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไปเท่านั้น หาใช่เป็นหลักสูงสุดในพระพุทธศาสนาหรือเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนาไม่ แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์อันนี้ไม่ผิดต่อหลักของพระพุทธศาสนาในระดับทั่ว ๆ ไปนั่นเอง คือในระดับที่สอนให้ละชั่ว และทำดี เราจึงยอมรับว่าเป็นหลักที่ควรสนใจ หรือแม้จะใช้ปฏิบัติกันก็ไม่ควรจะถูกตำหนิติเตียน แต่ให้รู้ไว้ว่าเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคนในระดับหนึ่งซึ่งยังกลัวต่อความตาย มีความขี้ขลาดต่อความตายเหมือนกับเทวดาองค์นั้นที่กล่าวไว้ในเรื่องนั้น
ทีนี้จะได้วินิจฉัยกันถึงคำสำคัญคำหนึ่งในคาถานี้ คือคำว่าอุณหิสสวิชัย คำ ๆ นี้ เข้าใจได้ยาก เอาความหมายได้ยาก แม้นักเรียนบาลีโดยทั่ว ๆ ไปก็ไม่แน่ใจว่าตนจะถือเอาความหมายของคำ ๆ นี้ได้ถูกต้องเพราะเป็นคำที่แปลกประหลาดนั่นเอง แต่ถ้าจะนึกถึงเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คาถาอุณหิสสวิชัยนี้แต่งโดยบุคคลหรือในถิ่นหรือในที่ในเวลาที่ภาษาบาลีไม่เจริญ จึงเป็นภาษาที่ประหลาดและคงจะมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะตามความมุ่งหมายของผู้แต่งคาถานั่นเอง อาตมาจึงสันนิษฐานลงไปว่าเขามุ่งหมายจะให้เล็งถึงเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถจะปะทะกับความตายได้ ดังนั้นจึงแปลคำ ๆ นี้เสียว่าผ้าประเจียด เพราะคำว่าผ้าประเจียดนั้นเมื่อสวมเข้าที่ศีรษะแล้ว ก็เพื่อเกิดความแน่ใจแก่ผู้นั้นว่าเราจะเป็นผู้ชนะ จะเป็นผู้มีชัยชนะ เป็นเครื่องรางป้องกันไม่ให้พ่ายแพ้ ไม่ให้พ่ายแพ้แม้แก่ความตาย ดังนั้นจึงเป็นผ้าประเจียดที่สูงสุด ผ้าประเจียดที่จะต่อสู้กับความตาย ไม่ใช่เพียงแต่จะชกต่อยต่อสู้กันในระหว่างคนด้วยกัน ก็จะเป็นผ้าประเจียดที่จะใช้ในการต่อสู้กันกับความตายโดยเฉพาะ ความหมายก็ยังมีความหมายไปตามความหมายของคำว่าผ้าประเจียด จะแปลให้เป็นอุปมาหรือเป็นสัญลักษณ์ทำนองอุปมาของสิ่งที่เรียกว่าธรรม เขาจึงได้แต่ให้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะที่เป็นอุณหิสสวิชัย ที่เป็นเหมือนผ้าประเจียดอันสูงสุดนั้นมีอยู่
ทีนี้เราจะได้คิดกันดูต่อไปว่า อุณหิสสวิชัยนี้มีไว้สำหรับใช้กันอย่างไร ผ้าประเจียดก็มีคาดไว้ที่ศีรษะ เมื่อเอาธรรมะเป็นผ้าประเจียดก็ต้องเอาธรรมะคาดไว้ที่ศีรษะ คนที่ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าจะเอาธรรมะมาคาดไว้ที่ศีรษะเหมือนผ้าประเจียดได้อย่างไร เพราะธรรมะนั้นไม่เป็นชิ้นเป็นอันเป็นดุ้นเป็นก้อน เหมือนกับผ้าตามธรรมดาที่จะเอามาลงเลขลงยันต์แล้วพันไว้ที่ศีรษะ แต่ถ้าเขาเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม มีความรู้ในเรื่องทางจิตใจ เขาก็พอจะเข้าใจได้ว่าให้ธรรมเป็นเหมือนหรือว่าทำนองเดียวกันกับผ้าประเจียด คือให้เอามาไว้แก่เนื้อแก่ตัว และให้เอามาไว้ในที่สูงสุดคือที่ศีรษะ หมายความว่าจะได้มีความเคารพหนักแน่น และใช้อย่างเป็นวัตถุสูงสุดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประเสริฐกว่าสิ่งใดนั่นเอง ถ้าใครจะมีธรรมะเป็นผ้าประเจียดก็มีทางที่จะทำได้โดยหลักเกณฑ์อย่างนี้ และจะกันตายได้จริง ถ้าเป็นธรรมะในขั้นธรรมดาสามัญทั่วไปคือไม่ประพฤติผิด มีแต่ประพฤติถูก คือไม่ทำชั่ว มีแต่ทำดี แล้วก็จะไม่มีใครเบียดเบียน ไม่มีสิ่งใดเบียดเบียน ไม่มีอันตรายใด ๆ มาเบียดเบียน เขาก็จะมีอายุยืนยาวไปจนถึงอายุขัย คือตายตามกาละที่สังขารจะต้องแตกตายทำลายไปตามธรรมชาติธรรมดา นี้ก็อย่างหนึ่ง คือเป็นผ้าประเจียดในขนาดธรรมดา ป้องกันได้แต่ความตายที่ไม่ควรจะตาย แต่ไม่อาจจะป้องกันความตายที่จะต้องตายตามกาละ
แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นผ้าประเจียดชั้นสูงสุด คือเป็นการนำเอาธรรมะชั้นสูงสุดชั้นหัวใจของพุทธศาสนามาเป็นผ้าประเจียดแล้ว ก็จะเป็นการป้องกันความตายได้โดยประการทั้งปวง เพราะว่าได้ทำบุคคลนั้นให้หมดไป ไม่เป็นที่ตั้งของความตาย เป็นธรรมะที่ว่างจากตัวตน เป็นธรรมชาติที่ว่างจากตัวตน จนไม่เป็นที่ตั้งของความตาย นี้เรียกว่าผ้าประเจียดอีกชนิดหนึ่งอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นผ้าประเจียดสูงสุด
ส่วนผ้าประเจียดในคาถาอุณหิสสวิชัยนี้จะเป็นผ้าประเจียดในชั้นไหนนั้น ท่านทั้งหลายลองศึกษาดูเอาเอง ลองพิจารณาดูเอาเอง และข้อความก็ปรากฏชัดอยู่แล้วว่าป้องกันแต่ความตายที่ยังมิใช่กาละ ดังนั้นจึงเป็นผ้าประเจียดในชั้นธรรมดา ให้เข้าใจกันอย่างนี้ แต่การที่ผู้รับทำพิธีนี้หรือผู้ประกอบพิธีนี้ให้ ไม่อธิบายให้ใครต่อให้คนทั้งหลายเข้าใจความจริง เขาก็เลยไปเข้าใจเอาว่ากันตายได้สิ้นเชิง โดยลำพังเพียงแต่สวดร้องคาถานี้ อย่างนี้เป็นที่น่าเวทนาสงสารอย่างยิ่ง ทั้งผู้ประกอบพิธีและผู้ถูกกระทำในพิธีนั้น เป็นความงมงายด้วยกันหมด เพราะถือว่าสวดคาถานี้แล้วกันตายได้
ส่วนในตัวคาถาเองนั้นบอกอยู่ชัดแล้วว่าต้องประพฤติธรรม ต้องสมาทานศีลให้บริสุทธิ์ และต้องประพฤติธรรมให้สุจริต ดังนั้นเขาจะต้องเข้าใจเรื่องการสมาทานศีลให้บริสุทธิ์ คนทั่วไปสมาทานศีลไม่บริสุทธิ์เพราะทำเอาด้วยอุปาทาน ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นตามขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นพิธีรีตอง รับศีลก็ไม่รู้ว่าว่าอะไร รับแล้วก็แล้วกันไป ถือว่ามีศีลเต็มที่แล้ว อย่างนี้จะเรียกว่าสมาทานศีลโดยบริสุทธิ์ไม่ได้ เขาจะต้องรู้เรื่องศีล เรื่องความหมายของศีล ทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับศีล แล้วประพฤติปฏิบัติให้ตนมีความสงบระงับทางกายทางวาจาจริง ๆ นี้จึงจะเรียกว่ามีศีล ที่ว่าประพฤติธรรมะให้สุจริตนั้นก็คล้าย ๆ กัน คือว่าคนโดยมากประพฤติธรรมะคดโกง ประพฤติธรรมะเพื่อจะให้ได้อะไรแก่ตัวเองเป็นลาภเป็นผลเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา อย่างนี้มากกว่า ไม่ใช่ประพฤติธรรมะเพื่อธรรมะ หรือตามความมุ่งหมายของธรรมะ คือเพื่อจะดับความยึดมั่นถือมั่น หรือเพื่อให้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง คนประพฤติธรรมะไม่สุจริตฟังดูก็น่าขันหรือไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะใคร ๆ ก็มักจะคิดหรือถือว่าธรรมะนั้นเป็นของสุจริตอยู่ในตัวเองแล้ว ทำไมจะต้องประพฤติธรรมะให้สุจริตอีกเล่า ข้อนี้ก็เนื่องมาจากคนส่วนมากไปยึดถือเอาธรรมะผิดจากธรรมะหรือผิดตัวธรรมะ เป็นธรรมะยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น จึงประพฤติธรรมด้วยความโลภ ประพฤติธรรมด้วยตัณหา ด้วยความอยากจะได้นั่นนี่ เพราะถือว่าประพฤติธรรมะแล้วจะเป็นคนมีโชคดี อย่างนี้เรียกว่าประพฤติธรรมะอย่างหน้าไหว้หลังหลอกต่อธรรมะนั่นเอง เป็นธรรมะที่ต่ำเกินไป สำหรับเด็ก ๆ มากกว่า จึงไม่ถือว่าประพฤติธรรมะสุจริต ประพฤติธรรมะที่สุจริตนั้นเป็นผู้เห็นประโยชน์หรืออานิสงส์ของธรรมะว่าจะกำจัดเสียซึ่งอุปาทาน คือความยึดมั่นในตัวตนหรือของตน ให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นแก่จิตใจ ไม่มีความทุกข์เลยโดยประการทั้งปวง อย่างนี้เรียกว่าประพฤติธรรมะสุจริต เมื่อการรักษาศีลให้บริสุทธิ์และประพฤติธรรมะให้สุจริตมีอยู่ในคาถาอุณหิสสวิชัยนั้นแล้ว ก็เป็นอันว่าจะไปโทษคาถานั้นไม่ได้ จะไปโทษใครก็ไม่ได้ นอกจากโทษความโง่หรือความงมงายของตัวเองที่ไปคิดเอาว่าท่องคาถานี้แล้วก็จะกันความตายได้ หรือแม้แต่จะคิดว่ารักษาศีลตามประเพณี ประพฤติธรรมะตามประเพณีแล้วก็จะกันความตายได้ นี่แหละคือข้อที่น่าเวทนาสงสารเกี่ยวกับการประพฤติกระทำกันอยู่ในเวลานี้ เนื่องด้วยการต่ออายุด้วยคาถาอุณหิสสวิชัย ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจพิจารณาดูให้ดี ๆ และพยายามกระทำกันให้ถูกต้องเสียใหม่ในเมื่อมีความประสงค์จะต่ออายุ นี้ก็เป็นอันว่าได้กล่าวมายืดยาวพอสมควรแล้วว่าการทำบุญต่ออายุนั้นมีความหมายอย่างไร
ทีนี้จะได้กล่าวถึงการทำบุญล้อเลียนอายุตามความมุ่งหมายของอาตมาต่อไป ที่ว่าทำบุญล้ออายุนี้ก็ด้วยคิดว่า เมื่อการมีชีวิตอยู่นี้เป็นการต้องทนแล้วจะอยู่กันทำไมกันตั้ง ๖๐ ปีเช่นนี้ เพราะฉะนั้นจึงอยากจะมีความคิดอย่างอื่น มีการกระทำอย่างอื่นในการทำบุญเกี่ยวกับอายุ ความคิดจึงเกิดขึ้นไปในทางที่จะล้อเลียนอายุเล่นสนุก ๆ ดีกว่าที่จะไปหล่อเลี้ยงมันหรือปรนนิบัติบำรุงบำเรอ ปรนเปรอมันให้ยืดยาวออกไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าถ้าจะทำบุญล้ออายุดูเล่นบ้างแล้วจะต้องทำอย่างไร จึงคิดนึกถึงเรื่องการกระทำที่จะเป็นการประชดประชันอายุดูเล่นบ้างให้สมกับที่ว่าการเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนาน่าเสน่หาแต่ประการใดเลย เป็นเรื่องน่าสมเพชมากกว่า ถ้าเราจะมาต่ออายุเพื่อความยืดยาวในวัฏสงสารนี้มันไม่ถูก เราควรจะกระทำชนิดที่เป็นการหยุดวัฏสงสารเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงคิดไปในทางที่จะต่อสู้กับอายุหรือควบคุมอายุ หรือเอาชนะอายุให้ได้มากกว่า
ในขณะที่นึกหาวิธีที่จะล้ออายุดูเล่นนี้ มีความคิดเกิดขึ้นว่าถ้าอย่างไรลองอดข้าวดูสักวันหนึ่ง คงจะเข้ารูปกันดี และถ้าใครจะมาร่วมทำบุญอายุกะเรา ก็ควรจะเป็นผู้อดข้าวด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะนิมนต์ภิกษุมาทำบุญอายุในวันนี้ ก็ควรจะนิมนต์มาให้อดข้าวเสียวันหนึ่งแล้วจะสวดมนต์สวดพรกันไปตามเรื่องก็ได้ แต่แล้วในที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะไปนิมนต์ใครที่ไหนมาเพื่ออดข้าวกันสักวัน และล้อเลียนอายุกันเล่นสักวัน เพราะว่าในการทำบุญอายุนั้น เขามีการเลี้ยงดูกันอย่างเอิกเกริก ถวายอาหารบิณฑบาตกันอย่างเอิกเกริกยิ่งกว่าครั้งใดหมด และก็มีการถวายไทยทานอย่างนั้นอย่างนี้อีกมากมาย ส่วนการนิมนต์มาให้อดข้าวล้อเลียนอายุกันเล่นนี้ หาพระไม่ได้ หรือคงจะหาพระไม่ได้ และไม่กล้าเอ่ยปากนิมนต์จึงได้แต่พูดเปรย ๆ ออกไปว่า ถ้าใครจะมาด้วยความสมัครใจในการทำบุญอายุกันในวันนี้แล้ว ก็ขอให้อดข้าวสักวันหนึ่งเพื่อร่วมกันในพิธีนี้ และยังได้ส่งข่าวไปถึงมิตรสหายเพื่อนฝูงที่สนิทสนมคุ้นเคยกันบางคนว่าวันที่ ๒๗ พฤษภาคมนี้จะทำบุญล้ออายุ ถ้าใครอยากจะร่วมก็ขอให้อดข้าว อดอาหารสักวันหนึ่ง ประหยัดค่าอาหารได้เท่าไรในวันนี้ให้เอาไปส่งการกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามพอใจ เพื่อนฝูงคนใดจะสมัครทำบ้างก็ยังไม่ทราบ ไม่รู้ว่าเขาจะเห็นดีด้วยและเขาจะเอาอย่างหรือไม่ในข้อนี้ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรอดูกันไว้ก่อน หรือค่อยทราบกันทีหลัง
ทีนี้จะได้มาพิจารณาดูกันอีกทีถึงการกระทำที่เรียกว่าอดข้าวและชวนเพื่อนอดข้าววันหนึ่งนี้ มันจะมีอะไรที่น่าคิดน่าสนใจกันบ้าง โดยความมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ว่าอยากจะล้ออายุเล่นดังที่กล่าวแล้ว ที่ล้อด้วยการอดข้าวเสียสักวันหนึ่งนี่มันมีเหตุผลอย่างไร ความคิดวิ่งถอยหลังเตลิดเปิดเปิงไปถึงเมื่อวันแรกเราคลอดเมื่อตอนเช้า วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นเวลา ๖๐ ปีบริบูรณ์มาแล้วนั้น ก็มองเห็นว่าในวันนั้นไม่ได้กินอะไรเลย และจิตใจก็ว่างดีตามประสาของเด็กแรกคลอด คิดดูอีกทีว่าวันนั้นไม่ได้กินอะไรเลย ในวันที่คลอดนั้นและก็มีจิตใจว่างดีตามประสาของเด็กแรกคลอด พูดให้ชัดลงไปก็ว่าในวันที่เราเกิดออกมานั้นเราไม่ได้กินอะไรเลยและเรามีจิตใจว่างดี ฉะนั้นถ้าเราจะทำบุญเป็นที่ระลึกแก่การเกิดหรือทำบุญวันเกิดแล้ว เราก็ควรจะไม่กินอาหารเหมือนกับวันนั้น และมีจิตใจว่างดีเหมือนกับวันนั้น ในวันนั้นเขาให้เด็ก ๆ กินอะไรบ้าง ได้ยินว่าเขาให้กินน้ำนิดหน่อยหรือบางทีก็เจือน้ำผึ้งนิดหน่อย ดังนั้นในวันนี้ที่เราจะทำบุญเป็นที่ระลึกวันเกิดเช่นนั้น เราก็ไม่ควรจะกินอะไรมากกว่าน้ำหรือน้ำปานะนิดหน่อยนั่นเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลดีอยู่แล้ว ไม่ควรที่ใครจะมาคัดค้านว่าเป็นเรื่องอุตริบ้าบออะไรทำนองนั้น เพราะเราทำเหมือนกับวันแรกที่เราเกิดมา คือไม่กินอาหารและมีจิตใจว่างดี ถ้าจะกินอะไรบ้างก็คือน้ำดังที่กล่าวแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ ก็มีความแน่ใจว่าในการอดข้าวเองและชวนให้เพื่อนกันอดข้าวในวันเป็นที่ระลึกแก่วันเกิดเช่นนี้ด้วยการทำอย่างนี้เป็นการมีเหตุผล ใครจะว่าอุตริบ้าบออย่างไร เราก็ไม่รู้สึกและจะฝากคืนกลับไปให้แก่คนที่ว่า ให้ไปคิดดูว่าใครเป็นคนบ้าบอกันแน่
ทีนี้ในระหว่างที่จะใช้เวลาให้หมดไปวันหนึ่งคืนหนึ่งในวันนี้นั้น เราจะทำอะไรกันดี ในที่สุดก็มองเห็นว่าทำอะไร ๆ ที่เนื่องกับธรรมะนั่นแหละดี เพราะได้กล่าวมาแล้วในคาถาอุณหิสสวิชัยว่าธรรมะนั้นกันตายได้ไม่ว่าจะเป็นความตายชนิดไหน เพราะฉะนั้นในวันนี้เรามาทำอะไร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมะกันดีกว่า เช่นคุยธรรมะ สนทนาธรรมะ หรือฟังธรรมะกันทั้งวันทั้งคืนก็ยังเป็นการดีกว่าทำอย่างอื่นหมด กินธรรมะเป็นอาหาร ถ้าหิวขึ้นมา ก็ยังจะดีกว่า ถ้าเหนื่อยนัก อ่อนเพลียนัก คุยกันไม่ได้ เราก็นั่งพักเสียก็ได้ นั่งสมาธิสลับกันไปบ้างก็ได้ ก็จะเป็นการป้องกันความเหนื่อยหรือความอ่อนเพลียได้ สามารถคุยธรรมะกันได้ตลอดวัน ดังนั้นเราจึงไม่กลัวในการที่จะตั้งใจว่า ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้จะสนทนาธรรมหรือจะฟังธรรมหรือจะแสดงธรรมกันตลอดไป เพราะว่าเราสามารถปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปได้ตามความมุ่งหมายอันนี้ ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าถ้าเราจะคุยธรรมะ พิจารณาธรรมะ สนทนาธรรมะกันในวันนี้นั้น มันจะต้องเป็นธรรมะเรื่องอะไรดี คิดดูแล้วเห็นว่าจะต้องเป็นการพิจารณาธรรมะในด้านลึกในด้านที่ลึกซึ้งกว่าวันธรรมดาสามัญทั่วไป เพราะเราต้องการจะเอาธรรมะในวันนี้ในขั้นที่ถึงขนาดที่จะกันความตายได้หรือล้อเลียนความตายได้หรืออยู่เหนือความตายโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาธรรมะกันในด้านลึก พิจารณาชีวิตในด้านลึก จนถึงกับมองเห็นสภาพของธรรมะที่ไม่มีอายุ ท่านจำไว้ให้ดีว่าธรรมะหรือสภาวธรรมชนิดที่ไม่มีอายุ ไม่มีอยู่และไม่มีตาย ไม่มีเกิด ไม่มีดับ สภาวธรรมชนิดนั้นไม่มีอายุ เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งในสภาวธรรมชนิดนั้นกันบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในวันนี้ ฉะนั้นเราจะต้องใช้เวลาในวันนี้พิจารณาธรรมะชนิดนั้นซึ่งจะได้กระทำกันในโอกาสต่อไป
ข้อแรกนี้อยากจะให้สนใจกันในเรื่องการอดอาหารกันเสียบ้างเป็นครั้งเป็นคราวนี้มากกว่า ที่คิดไปอย่างนี้ก็เพราะมองเห็นว่าคนโดยมากสมัยนี้กินมากเกินไป เป็นห่วงแต่เรื่องกินมากเกินไป กินจุบกินจิบมากเกินไป เห็นเรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญกว่าอย่างอื่น พอไม่ได้กินตามที่ต้องการแล้ว ก็เกิดโมโหโทโสเกิดเรื่องเกิดราว มีความรู้สึกอย่างนี้มากเกินไปแล้ว ก็เรียกว่ามีความตกต่ำในทางจิตใจและจะต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉานไปเสียอีก เพราะว่าถ้ามองดูสัตว์เดรัจฉานแล้วจะเห็นได้ชัด ๆ ทีเดียวว่ามันไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกินมากมายเหมือนมนุษย์ แม้บางคราวมันจะไม่ได้กิน ไม่ค่อยมีอะไรกิน มันก็ยังคงเป็นปกติ ไม่กระสับกระส่ายมากเหมือนมนุษย์ ไม่เกิดโมโหโทโสเหมือนมนุษย์และสัตว์บางชนิด บางวันไม่ได้กินอาหารเลยหรือมันไม่ตั้งใจจะกินเสียเลยก็มีและมันก็ยังปกติอยู่ ถ้าคนไม่ได้กินสักวันเดียวเกิดโมโหโทโสเป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมา มันก็เลวกว่าสัตว์เดรัจฉานชนิดนั้นโดยแน่นอน นึกถึงตัวเองในลักษณะอย่างนี้แล้วก็เกิดความสลดสังเวช จึงได้คิดมาในเรื่องที่ว่าเราจะลองปรับปรุงกันดู ทดสอบกันดู ขวนขวายกันดูใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ถ้าเรานึกไปถึงสัตว์เดรัจฉานอีกพวกหนึ่งซึ่งบางคราวก็จำศีล คือไม่กินอาหาร ไม่ไปไหนมาไหนเป็นวัน ๆ ก็มี เป็นอาทิตย์ ๆ ก็มี เป็นเดือน ๆ ก็มี เช่น กบจำศีล งูจำศีล เป็นระยะเป็นบางระยะเป็นบางเวลาอย่างนี้ก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่สัตว์เหล่านั้นก็ยังทำได้ทั้งที่เป็นสัตว์เดรัจฉานแต่คนทำไม่ได้ อย่างนี้จะเรียกว่าคนดีกว่าสัตว์เดรัจฉานได้อย่างไร การอดข้าวเพียงวันเดียวนี้มันเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อนำไปเปรียบกับการไม่กินอาหารเลยเป็นหลาย ๆ วัน หลาย ๆ สัปดาห์หรือหลาย ๆ เดือนเป็นต้น เมื่อรำพึงถึงเรื่องนี้ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นมากขึ้นในการที่เราจะปรับปรุงความเข้าใจกันเสียบ้างในเรื่องเกี่ยวกับการอดอาหารวันหนึ่งตามคราวตามโอกาส อานิสงส์เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นที่จะลดความอ้วนได้เพราะการอดอาหารเป็นต้นนี้ จะไม่พูดถึงก็ได้ ถ้าจะเอามาพูดถึงมันก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับธรรมะ ไม่เกี่ยวกับวินัยของพุทธบริษัทเรา เราจะพูดกันแต่ที่เกี่ยวกับธรรมะหรือวินัยของพุทธบริษัทเรากันเสียก่อน
สิ่งแรกที่จะอยากให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า เราถือศีลอุโบสถ พวกที่เป็นฆราวาส เป็นอุบาสก อุบาสิกา พิจารณาปัจเวกอุโบสถว่า ยาวะจีวัง อรหันโต เอกะภัตติกา เป็นต้น ซึ่งมีใจความว่า ตลอดชีวิตของพระอรหันต์ท่านมีภัตหนเดียว คือมีอาหารหนเดียวต่อวัน หังปัชชะ อิมันชรัตติง อิมันจะตีวะสัง เอกะภัตติกา เอกะภัตติโก แม้เราในวันนี้ในวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ก็จะเป็นผู้มีอาหารหนเดียว พิจารณาปัจเวกองค์อุโบสถกันดังนี้อยู่ทั่ว ๆ ไปแต่แล้วก็ไม่ได้กินอาหารหนเดียว กินทั้งเช้ากินทั้งเพล ก็ผิดจากคำปัจเวกและคำยืนยันหรือคำปฏิญญา เป็นการโกหกตัวเองสด ๆ ร้อน ๆ ในขณะนั้นนั่นเอง นี่เพราะเหตุใด นี่เพราะเหตุเห็นแก่กินเกินไป งดเว้นการกินอาหารเพลไม่ได้ รู้สึกเหมือนจะตายถ้าไม่ได้กินอาหารเพล เลยต้องโกหกตัวเองสด ๆ ร้อน ๆ อย่างซึ่งหน้าไปเช่นนั้น เพราะว่าเอกะภัตติโกนั้น มีใจความว่ามีภัตหนเดียวในวันหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทีนี้มันก็ร้อนถึงพวกอาจารย์บางพวกที่สมัครเข้าข้างพวกที่เห็นแก่กินเพราะตัวเองก็เห็นแก่กินอยู่เหมือนกัน เพราะว่าอาจารย์ที่เป็นพระนั้นก็ฉันเพลอยู่ ทั้งเช้าทั้งเพล แล้วจะมาบอกอุบาสก อุบาสิกาให้งดฉันเพล ฉันแต่เช้าอย่างนี้มันก็ทำไม่ได้ มันก็เลยหาทางอธิบายกันเสียใหม่ว่าคำว่าเอกะภัตติโกหรือเอกะภัตติกานั้นฉันเพลก็ได้ คนที่ฉันเพลอีกมื้อหนึ่งก็ยังชื่อว่าเอกะภัตติโก เอกะภัตติกาอยู่นั่นเอง อย่าต้องตกใจเลยฉันเพลก็ได้ แล้วก็ปัจเวกอุโบสถก็เอกะภัตติโก เอกะภัตติกาไปได้ตามเดิม คำอธิบายของเขามีเหตุผลฟั่นเฝือซับซ้อนยุ่งยากเข้าใจไม่ได้ เพราะเป็นคำอธิบายที่โกหกหลอกลวงทั้งตัวเองและผู้อื่น เราเลยไม่สนใจจะจำไว้ว่าอธิบายอย่างไรเพราะไม่เห็นด้วยกับการอธิบายอย่างนั้นหรือเจตนาเช่นนั้นเสียแต่ทีแรกแล้ว เลยมาสลดสังเวชใจว่าอุบาสก อุบาสิกาบางคนต้องปัจเวกอุโบสถอย่างโกหกสด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งหน้า พวกอาจารย์ประจบอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นก็โกหกตัวเองสด ๆ ร้อน ๆ ช่วยหาคำอธิบายให้ใหม่ จนเป็นว่าฉันเพลด้วยก็ยังชื่อว่าเอกะภัตติโกอยู่นั่นเองอย่างนี้ โทษทั้งหมดนี้หรือความเลวทรามทั้งหมดนี้มันเกิดมาจากการเห็นแก่กินเห็นแก่ปากเห็นแก่ท้อง จึงรักษาอะไรให้เป็นไปตามระเบียบตามวินัยไม่ได้ เป็นที่น่าสลดสังเวชมากน้อยอย่างไร ท่านทั้งหลายลองเอาไปคิดดู
แต่สิ่งที่อยากจะให้คิดดูกันอย่างยิ่งนั้น เดินไปไกลอีกแนวหนึ่งขอให้ตั้งใจฟังให้ดี คือมีเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังเสียเลยในที่นี้ว่า พุทธศาสนาเรามีคู่แข่งขันกันมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิมคือศาสนานิครนถ์ ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่านิครนถ์ แต่เรียกกันเดี๋ยวนี้โดยทั่วไปว่าไชนะหรือศาสนาไชนะ ชาวบ้านได้ยินพูดถึงศาสนาเดียรถีย์นิครนถ์กันอยู่เป็นปกติ แต่แล้วก็ไม่รู้ว่าว่าอะไรหรือหมายถึงอะไรเพราะไม่สนใจนั่นเอง ผู้ที่สนใจจริง ๆ และมีปัญญาที่จะสนใจแล้วย่อมพบได้จากเรื่องราวทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเราหรือจากพระไตรปิฎกว่าลัทธิที่เรียกว่านิครนถ์นั้นเป็นคู่แข่งขันกันมากับพุทธศาสนาตั้งแต่ต้นจนปลายจนกระทั่งบัดนี้ คือตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เราได้ยินคำว่าเดียรถีย์นิครนถ์ ความโง่ของตนทำให้เข้าใจผิดว่า ถ้าเรียกว่าเดียรถีย์แล้วก็เป็นมิจฉาทิฐิไปทั้งนั้น นี่แหละคือความเข้าใจผิดเพราะเรียนมาผิด ศึกษามาผิด ฟังมาผิด สอนกันมาผิด จนถือว่าคำว่าเดียรถีย์นั้นเป็นคำด่าพวกอื่นไม่ใช่พวกเรา ถ้าใครเคยเข้าใจกันอย่างนี้ก็เข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าคำว่าเดียรถีย์นั้นเป็นคำกลาง ๆ ไม่หมายถึงพวกไหน คือถ้าหมายก็หมายได้ทั้งเขาทั้งเราหรือทุก ๆ พวกเพราะคำว่าเดียรถีย์นั้นแปลว่าลัทธิ ถ้าจะอยากรู้ให้เข้าใจ อยากเข้าใจชัดลงไปก็เข้าใจต่อไปว่าคำว่าเดียรถีย์หรือ ติถถียะ (ชั่วโมงที่ 1:10:05) นั้นแปลว่าลัทธิซึ่งเป็นเหมือนท่าจอดเรือ คำว่า ติถะ (ชั่วโมงที่ 1:10:10) แปลว่า ท่าจอดเรือ คำว่า ติถถียะ (ชั่วโมงที่ 1:10:16) แปลว่า เหมือนกับท่าจอดเรือ คำว่า ติถถียะ มาเป็นภาษาไทยว่าเดียรถีย์ เพราะฉะนั้นคำว่าเดียรถีย์นั้นยังไม่ได้หมายความว่าเป็นพวกเลวพวกมิจฉาทิฐิอะไร คำว่าเดียรถีย์แปลว่าลัทธิ เป็นเหมือนท่าจอดเรือ เพราะว่าเป็นเหมือนกับจุดที่คนทั้งหลายที่เขาเลือกแล้วเขาพอใจจะมาจอดด้วย จะมาติดต่อด้วย จะมาพึ่งพาอาศัยด้วย ดังนั้นแม้พุทธศาสนาของเราก็เป็นเดียรถีย์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เมื่อพระพุทธเจ้าจะกล่าวถึงพวกอื่นก็ทรงเติมคำว่าอื่นเข้าไปข้างหน้าคำว่าเดียรถีย์ จึงเป็นอัญญเดียรถีย์ คำว่า อัญญเดียรถีย์ หมายถึง ลัทธิอื่นพวกอื่นนอกจากพุทธศาสนา ส่วนในธรรมวินัยนี้เราถือเป็นลัทธิของเราจึงไม่ต้องเรียกว่าเดียรถีย์ก็ได้ แต่ที่แท้ก็เป็นเดียรถีย์อันหนึ่งคือเป็นลัทธิอันหนึ่ง ดังนั้นควรจะเลิกเข้าใจคำว่าเดียรถีย์นี้ว่าเป็นคำด่ากันเสียที ตัวเองก็เป็นเดียรถีย์เหมือนกัน แต่ว่าเป็นเดียรถีย์ถูก ก็สำเร็จประโยชน์ ถ้าเป็นเดียรถีย์ผิดก็จึงจะเป็นเรื่องผิดและเป็นเรื่องควรจะตำหนิติเตียน สำหรับพวกเดียรถีย์นิครนถ์นั้นก็มีความหมายว่าเขาเป็นลัทธินิครนถ์ นิครนถ์นั้นแปลว่าไม่มีพันธะ คือไม่มีเครื่องผูกพัน ฟังตามชื่อของเขาก็ประเสริฐอยู่แล้ว ถ้าเราสมัครจะเรียกพวกเราเองว่าลัทธิพุทธ ลัทธิพุทธะ หรือพุทธศาสนา ก็แปลว่าผู้รู้ เป็นลัทธิของผู้รู้ ส่วนลัทธิเดียรถีย์นิครนถ์นั้นหมายถึงพวกที่ไม่มีพันธะ ฟังดูแล้วน่าชื่นใจน่าเอาใจใส่อย่างยิ่งเพราะว่าเป็นผู้ที่พ้นแล้วจากพันธะ
ถ้าพูดต่อไปอีกในลักษณะอย่างนี้อาจารย์บางพวกก็จะจัดอาตมาไว้ในฐานะเป็นมิจฉาทิฐิเพราะไปนิยมยกย่องเดียรถีย์นิครนถ์ ดังนั้นเลิกพูดในแง่นี้ แต่จะพูดกันในข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ว่าเรามีความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการแข่งขันกันมาอย่างไร จะพูดให้กว้างไปนักก็ไม่มีเวลามากพอ จึงต้องสรุปพูดแต่ใจความสั้น ๆ พร้อมกันไปทั้งพระ ทั้งบรรพชิต และทั้งฆราวาส คือให้ทุกคนรู้ไว้ว่าเมื่อถึงวันอุโบสถก็มีขนบธรรมเนียมที่บริษัทแห่งศาสนานั้น ๆ จะต้องถืออุโบสถ พวกที่เป็นพุทธก็ถืออุโบสถเหมือนอย่างที่มีธรรมเนียมประเพณีถือกันอยู่ในพุทธบริษัท ที่เรารู้กันอยู่แล้วคือสาวกของเดียรถีย์นิครนถ์หรืออุบาสกอุบาสิกาของเดียรถีย์นิครนถ์ก็ถืออุโบสถ ถือสิกขาบทตามที่ระบุไว้ และที่แปลกอย่างยิ่งก็คือว่าในวันอุโบสถนั้นต้องงดเว้นจากการกินอาหารโดยสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่าในวันอุโบสถนั้นพวกสาวกอุบาสกอุบาสิกาของนิครนถ์ไม่กินอาหารอะไร ส่วนพุทธบริษัทอุบาสกอุบาสิกานั้นกินอาหารมื้อหนึ่งตามคำที่เรียกว่า เอกะภัตติโก ก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่าพวกหนึ่งไม่กินเลย พวกหนึ่งกินมื้อหนึ่งนี้ มันต่างกันอย่างไรเสียทีหนึ่งก่อน และเราจะพบว่าการอดอาหารเพียงวันหนึ่งนั้นไม่มีความหมายอะไรสำหรับอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นนิครนถ์ แต่มันมีความหมายมากสำหรับอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นพุทธบริษัท และมากเกินไปจนถึงกับแก้ระเบียบให้ว่าให้เป็นว่ากินอาหารเพลด้วยก็ยังเป็นเอกะภัตติโกดังนี้
นี่แหละคือข้อที่จะต้องสนใจว่ามันเป็นความอ่อนแอหรือเป็นความเสื่อมเสียของพุทธบริษัทเราอย่างไร ถูกแล้วถ้าเราจะถือว่าไม่กินอาหารเลยนั้นมันมากเกินไปเป็นอัตถิตตกิลมฐานุโยค (ชั่วโมงที่ 1:16:13) ไม่ใช่ทางสายกลางของพุทธศาสนา เราฉัน กินแต่หนเดียวเป็นทางสายกลางดูดีอยู่แล้ว แต่ทำไมจะต้องไปเพิ่มให้มันหย่อนลงไปเป็นกามสุขนิกานุโยค คือกินอีกมื้อหนึ่งหรือสองมื้อก็ได้สามมื้อก็ได้ให้มันก่อนเพลก็แล้วกัน แล้วก็เรียกว่าเอกะภัตติโกดังนี้ การที่เราเถลไถลเช่นนี้หรือกระวนกระวายเพราะไม่ได้กินอาหารหลายมื้อนี้มันเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่ว่าอดอาหารเสียเลยนั้นมันเป็นเรื่องมากเกินไป ดังนั้นเราควรจะเคยอดอาหารกันเสียบ้างถ้ามันเป็นเหตุผลที่จะช่วยให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้น เราก็จะได้มีความเข้มแข็งไม่แพ้พวกเดียรถีย์นิครนถ์ นี่แหละคือเหตุผลที่จะต้องนึกกันให้มากในเรื่องนี้
ไหน ๆ ก็ได้กล่าวมาแล้วก็จะกล่าวต่อไปให้สิ้นเชิงเพื่อความเข้าใจในคู่แข่งขันของเรายิ่งขึ้นไป พวกนิครนถ์มีขนบธรรมเนียมประเพณีไม่กินอาหารเสียวันหนึ่ง ๆ ต่อหนึ่งสัปดาห์เป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าบังเอิญวันไหนมีอะไรที่เขาไม่ได้กินอาหารบ้าง เขาก็ไม่มีความเดือดร้อนอะไร ไม่มีความกระวนกระวายยุ่งยากวุ่นวายอะไร นี้ก็เป็นการได้เปรียบกันดีอยู่แล้วกันอย่างยิ่งอยู่แล้ว สมมติว่าไปในที่ไกลที่กันดารทางเรือทางอะไรซึ่งเป็นเหตุให้ไม่ได้กินอาหารวันหนึ่งก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเป็นความเคยชินตามธรรมดาตามปกติอยู่แล้วแต่สำหรับคนที่ไม่เคยอดนั้นมันมีปัญหามากถึงกับจะเป็นบ้าไปพักหนึ่งทีเดียว นี้ก็คือข้อเสียเปรียบ
ธรรมเนียม ทีนี้ต่อไปก็มีถึงธรรมเนียมของพวกนิครนถ์ที่เคร่งครัดในศาสนาหรือลัทธิของตน เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ก็เว้นจากอาหาร เว้นจากการกินอาหารเพื่อให้มีความเป็นปกติในร่างกายเพราะว่าคนไข้กินอาหารเข้าไปนั้นมันไปเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ร่างกาย ดังนั้นเขาจึงทำถูกทั้งโดยพฤตินัยและโดยนิตินัยที่จะไม่กินอาหารเข้าไปในเวลาเจ็บไข้ คนที่กินอาหารเวลาเจ็บไข้นั้นกินโดยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เมื่อใจมีอุปาทานเสียแล้วไม่ได้กินมันก็กระวนกระวาย คนที่แวดล้อมอยู่ก็มีอุปาทานก็กลัวเขาจะตายก็ยิ่งหาอะไรมาให้กินให้มาก คนเจ็บไข้จึงเลยกินมากกว่าธรรมดา ผิดกับสาวกนิครนถ์ที่พอเจ็บไข้แล้วไม่กินอะไร เมื่อความเจ็บไข้เป็นไปถึงขนาดมากหรือหนักแล้วเขาก็ไม่กินแม้แต่น้ำ เมื่อความเจ็บไข้เป็นไปมากกว่านั้นอีกเขาก็ไม่กินแม้แต่ยา เขาสมัครจะมีร่างกายปกติ มีสติสัมปชัญญะปกติ จะตายอย่างมีสติ ไม่ให้เอาอาหาร เอาน้ำหรือเอายามารบกวนให้เกิดความวิปริตในร่างกายแล้วไม่มีสติ สาวกนิครนถ์เมื่อกล่าวโดยเหตุผลจึงตายด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง ไม่เหมือนพวกขี้ขลาดกลัวตายเห็นแต่จะกินก็ต้องตายอย่างไม่มีสติ นี้ก็เป็นการเสียเปรียบกันสักเท่าไร ขอให้ลองคิดดู
ความเข้มแข็งอย่างอื่น ๆ ยังมีอีกมากของพวกนิครนถ์ ถ้านำมาเปรียบกับพุทธศาสนาและพุทธบริษัทเรามันก็เป็นเรื่องยืดยาว แต่จะสรุปความให้สั้นเข้าว่าพวกนิครนถ์นั้นที่เป็นชั้นชาวบ้านที่เป็นอุบาสกอุบาสิกายังเป็นผู้มีความเข้มแข็งอย่างนี้ ที่เป็นบรรพชิตล่ะจะมีความเข้มแข็งอย่างไร ที่เป็นบรรพชิตไม่กินอาหารเนื้อสัตว์ กินแต่อาหารผัก แม้อย่างนั้นก็ยังเข้มแข็งถึงกับว่าถ้าเป็นผักที่เขาไปเก็บมาให้เรากินโดยปรุงเป็นอุทิศ การอุทิศเจาะจงดังนี้ไม่ยอมกิน ยอมตายดีกว่า ต้องเป็นอาหารผักที่เขากินกันอยู่ตามปกติจึงจะยอมกิน นี้ก็เป็นความเข้มแข็ง สำหรับการเป็นอยู่นั้น ไม่มีที่เป็นบรรพชิตนั้นไม่ได้นุ่งห่มอะไรก็มี พวกที่อยากจะปฏิบัติถึงที่สุดหรือปล่อยไปตามสบายตามคุณธรรมของเขา ไม่ได้นุ่งห่มอะไรเลยก็มี มีความเข้มแข็งทนต่อความร้อน ความหนาว เหลือบ ยุง ริ้น เป็นต้นได้ เมื่อผมงอกยาวแล้วแทนที่จะโกนหรือตัดด้วยเครื่องตัดก็ถอนทิ้งไป นี้มีความเข้มแข็งเท่าไร ขอให้ลองคิดดู ไม่มีบริขารอย่างใดเพราะว่าจีวรก็ไม่ต้องมี เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ต้องมี ที่อยู่อาศัยก็ไม่มีเป็นของตัว คงมีอยู่แต่ภาชนะน้ำใบเดียว และรับอาหารด้วยมือก็คือไม่มีบาตร ไม่มีถ้วยจานชาม แบมือรับอาหารสองมือแล้วก็กินจากมือ พออิ่มก็เลิกกัน ล้างมือได้ นี้เป็นการแสดงว่ามีความเข้มแข็งเท่าไร และยิ่งกว่านั้นยังมีกฎเกณฑ์แวดล้อมอีกว่า ถ้าอาหารที่เอามาให้นั้นมีแมลงวันตอมอยู่ด้วยก็ไม่ยอมรับเพราะเป็นการเบียดเบียนแมลงวันหรือแย่งแมลงวันกิน หรือถ้ามีสุนัขมาชะเง้ออยู่ด้วยก็ไม่ยอมรับเพราะเป็นการเบียดเบียนสุนัขหรือแย่งสุนัขกิน หรือว่าถ้าอุ้มเด็กอ่อนมามือหนึ่งถวายอาหารมือหนึ่งก็ไม่ยอมรับเพราะเป็นการเบียดเบียนเด็กอ่อน ดังนี้เป็นต้น มีกฎเกณฑ์อีกมากมายหลายอย่างในทำนองนี้ซึ่งแสดงว่ามีความเข้มแข็งอย่างไร และเมื่อมีความเข้มแข็งแล้วก็อาศัยความเข้มแข็งนั้นปฏิบัติตนให้เป็นไปในทางไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไรและได้เท่าไร ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้แหละจึงทำให้เขาสามารถมีความเข้มแข็งในการจะรักษากฎเกณฑ์ระเบียบวินัยต่าง ๆ ทุกอย่างทุกประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนสัตว์มีชีวิต ไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งต้นไม้พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นต้น เพราะมีจิตใจเข้มแข็งอย่างนี้เป็นต้นทุนเป็นเดิมพันอยู่ในส่วนลึกของจิตใจนั่นเอง
ทีนี้พวกเราพุทธบริษัทเล่า มีความเข้มแข็งอย่างนั้นหรือเปล่า นุ่งห่มกันมากน้อยเท่าไร มีภาชนะเครื่องใช้สอยเท่าไร เวลาโกนหัวถ้ามีดทื่อไปหน่อยก็ร้องครวญครางอย่างไร อย่างนี้มันจะดีกว่าสัตว์เดรัจฉานไปได้ที่ตรงไหน โดยไม่ต้องไปเทียบกับพวกนิครนถ์ ขืนพูดไปก็จะถูกหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิ นิยมยกย่องลัทธินิครนถ์ แต่ที่พูดนี้ก็เพื่อจะเตือนกันและกันให้คิดนึกว่าเรากำลังมีความอ่อนแออยู่เท่าไร เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าในวันสำคัญวันหนึ่ง ๆ จะอดข้าวกันเสียสักวันหนึ่งนั้นก็เป็นการพอดีแล้ว พอเหมาะแล้ว มีประโยชน์อย่างยิ่งแล้วที่จะแก้ไขนิสัยสันดานที่อ่อนแอกันเสียบ้าง นี่เป็นการพูดคราวเดียวในวงกว้าง คือเปรียบเทียบไปถึงคู่แข่งขันด้วย ว่าศาสนาไชนะหรือเดียรถีย์นิครนถ์นั้นไม่เคยสาบสูญไปจากอินเดีย ไม่เหมือนศาสนาพุทธที่ต้องสาบสูญไปจากอินเดีย เพราะความย่อหย่อนอ่อนแอของพุทธบริษัทในยุคต่อ ๆ มา พวกนิครนถ์มีความเข้มแข็งเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ และไม่เคยสูญไปจากอินเดีย และยังเป็นที่เคารพนับถือเทิดทูนของชนชาวอินเดีย จนกระทั่งเห็นข้อเท็จจริงอยู่ชัด ๆ ว่าพุทธศาสนาเข้าไปในอินเดียในเวลานี้ไม่ได้ไม่สำเร็จก็เพราะเหตุผลคือสำหรับคนชั้นต่ำชั้นโง่เขลาไร้การศึกษานั้น ศาสนาฮินดูของเขาก็เหมาะอยู่แล้ว สำหรับชนชั้นปัญญาชนนั้น ศาสนาเดียรถีย์นิครนถ์หรือไชนะนี่เองเป็นที่พอใจของคนเหล่านั้นอยู่ พวกปัญญาชนที่เป็นนักศึกษา เป็นทนายความ เป็นนักเศรษฐกิจ ธุรกิจต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นสาวกของศาสนาไชนะ เพราะหลักบางอย่างที่เป็นหลักธรรมะนั้นเกือบจะเหมือนกันกับพุทธศาสนาจนเป็นที่พอใจของเขาอยู่แล้ว และเมื่อมองดูถึงการประพฤติปฏิบัติเขาก็พอใจอย่างยิ่งในลัทธิไชนะนั้น และประณามพวกพุทธที่เข้าไปในอินเดียว่าไม่ถึงขนาดที่จะเรียกว่าศาสนา เช่น ภิกษุชาวพุทธเรากินเนื้อกินปลา เขาก็หาว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นสัตว์เดรัจฉาน ภิกษุพุทธบริษัทเราเสพของมึนเมา เช่น บุหรี่ เป็นต้น เขาก็หาหรือเขาก็จัดไว้ในฐานะเป็นคนขี้ยา เป็นคนที่มีจิตใจเสื่อมทรามตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งเสพติด อะไรทุก ๆ อย่างมันเป็นอุปสรรคไปหมดที่จะนำหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปสู่ชนชั้นปัญญาชนในประเทศอินเดียในเวลานี้ ทั้ง ๆ ที่หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาของเราก็มีอะไรดีวิเศษสูงสุดสมควรที่จะนำเข้าไปจริง ๆ แต่มันมาเสียอยู่ที่เนื้อที่ตัวของพุทธบริษัทที่จะนำเข้าไป คือทั้ง ๆ ที่เป็นบรรพชิตแล้วก็ยังมีความอ่อนแอในเรื่องการกินการอยู่ การนุ่งการห่ม ยังมีความเหลวไหลอ่อนแอในเรื่องยาเสพติด เป็นต้น เมื่อเนื้อตัวของผู้นำพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในฐานะที่น่ารังเกียจเช่นนี้แล้ว ถึงจะเอาสิ่งดี ๆ ไปพูดจาอย่างไร ไปโฆษณาอย่างไร เขาก็ตัดบทไปในทางที่จะไม่รู้ไม่ชี้ไม่รับฟัง การนำพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศอินเดียประสบอุปสรรค ไม่อาจจะทำสำเร็จได้ ก็เพราะความอ่อนแอขี้ขลาดตาขาวของพวกพุทธบริษัท แม้แต่จะอดข้าวในวันที่ควรอดสักวันหนึ่งก็ทำไม่ได้ อดบุหรี่ก็ไม่ได้ อดฟุ้งเฟ้อสำอางอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เคยอยู่ก็ไม่ได้ นี้เป็นสิ่งน่าสังเวชน่าสลดใจ จึงนำมารำพึงถึงและปลงความสังเวชแก่กันและกันในวันพิเศษเช่นวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ตั้งไว้สำหรับเป็นวันรำพึงถึงสิ่งที่น่าสลดสังเวช มีการเกิดเป็นต้น รวมความแล้วก็คือว่าความอ่อนแอในเรื่องอาหารเป็นต้นนี้ เป็นอุปสรรคทั้งในการที่จะปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา ทั้งในการที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาให้แก่ผู้อื่น จึงควรจะนึกดูกันให้ดีว่า ในวันเช่นวันนี้เราอดอาหารกันเสียวันหนึ่งนั้นมันจะมากน้อยสักเท่าไหร่ และถ้าเป็นการทำบุญวันเกิดแล้ว วันที่เราเกิดจริง ๆ เราก็ไม่ได้กินอาหารและมีจิตใจว่างสบายดี วันทำบุญวันเกิดเช่นวันนี้ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นควรจะหมดปัญหาในเรื่องที่ว่าจะอดข้าวกันสักมื้อสักวันหนึ่งนี้จะเป็นอัตถิตตกิลมฐานุโยค (ชั่วโมงที่ 1:32:10) หรือไม่ หรือว่าจะยังคงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาโดยความหมายที่ว่าเป็นการกล้าผจญกันกับกิเลสหรือหาไม่ ในที่สุดเท่าที่กล่าวมานี้หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำ ๒ คำเป็นอย่างดีแล้ว คือคำว่าทำบุญต่ออายุกับคำว่าทำบุญล้ออายุนี้ตามสมควร
ทีนี้สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไหน ๆ ก็ได้อุทิศเวลาเช่นวันนี้ว่าจะให้เป็นเวลาสำหรับทำความเข้าใจถูกต้อง ทีนี้เมื่อพูดถึงคำว่าความเข้าใจถูกต้อง ก็อยากจะพูดซ้ำพูดย้ำแล้วย้ำอีกเสียเลยว่าความเข้าใจถูกต้องนี้เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เมื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่าความเข้าใจถูกต้อง ดูก็ไม่ค่อยจะมีน้ำหนักอะไรเพราะเป็นความเคยชินกันไป แต่คำว่าความเข้าใจถูกต้องนี้เมื่อเรียกเป็นภาษาบาลีแล้วก็จะขึงขังขึ้นมาทันที คือคำว่าสัมมาทิฐิ และเมื่อนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า สัมมาทิฐิ สมาทานา สะพังทุกขังอุปัจคุง (ชั่วโมงที่ 1:34:10) ซึ่งแปลว่า สัตว์ล่วงพ้นความทุกข์ทั้งหลายได้เพราะการสมาทานสัมมาทิฐิดังนี้แล้ว คำว่าสัมมาทิฐิก็เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเต็มตัว เพราะว่าเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดความทุกข์ทั้งปวงซึ่งรวมถึงการบรรลุถึงนิพพานอยู่ในนั้นด้วย เพราะการบรรลุถึงนิพพานนั้นเป็นการกำจัดความทุกข์ในอันดับสุดท้าย ซึ่งสำเร็จได้ด้วยสัมมาทิฐินั่นเอง
ดังนั้นเมื่อได้ยินคำว่าสัมมาทิฐิก็จงทราบเถิดว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในฐานะเป็นเครื่องมือกำจัดความทุกข์ทั้งปวง เมื่อมีสัมมาทิฐิ คือความเข้าใจถูกต้องแล้ว เราก็มีสัมมาสังกัปโป คือความใฝ่ฝันที่ถูกต้อง เมื่อเรามีความเข้าใจและความใฝ่ฝันถูกต้องแล้วก็มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว คือมีวาจาถูกต้อง การงานถูกต้อง อาชีพถูกต้องได้เองโดยง่ายดายดังในตัวมันเอง แต่ในที่สุดก็มีเรื่องทางจิตใจ คือสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิได้ถูกต้อง เพราะสัมมาทิฐิตัวแรกคือความเข้าใจถูกต้องเป็นผู้ชักนำไป อะไร ๆ จึงมาสำคัญอยู่ที่สัมมาทิฐิคือความเข้าใจถูกต้องในเบื้องต้น ดังนั้นเราควรจะสนใจในคำ ๆ นี้หรือในสิ่ง ๆ นี้ให้มากให้สมกันทีเดียว คำว่าความเข้าใจถูกต้องแม้จะเป็นภาษาไทยก็มองเห็นได้ว่ามันกินความได้หมด กินความกว้างขวางตั้งแต่ต้นจนปลาย จะเป็นความเข้าใจถูกต้องชนิดไหนก็ดีมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่มีโทษโดยประการทั้งปวง นับว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะเรียกเป็นภาษาไทยหรือเรียกเป็นภาษาบาลีก็ควรจะศักดิ์สิทธิ์เท่ากัน นี้คือมาตรฐานของผู้มีความรู้มีการศึกษา แต่สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ไม่มีการศึกษานั้นก็มีความยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับภาษาบ้างเกี่ยวกับการเรียกร้องหรืออะไรต่าง ๆ บ้างซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคของตัวเอง ควรจะระมัดระวังให้ดีอย่าให้เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นแก่เราเพราะจะไม่สมกับการที่เป็นพุทธบริษัท ดังนั้นอาตมาจะได้กล่าวถึงคำว่าความเข้าใจถูกต้องนี้โดยภาษาไทยเรื่อย ๆ ไป โดยไม่ต้องใช้ภาษาบาลี
สิ่งที่จะเสนอขึ้นมาเป็นข้อแรกที่สุดนั้นก็คือประโยคที่ว่า ความเข้าใจถูกต้องนี้เป็นพระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลาย เพราะความเข้าใจถูกต้องนั้นเป็นพระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลาย เมื่อพูดถึงพระเป็นเจ้า ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงสิ่งที่สูงสุดควรแก่การนับถือ ควรแก่การสนใจ ควรแก่การเอาใจใส่และปฏิบัติตาม เมื่อพูดว่าพระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลายอีกชั้นหนึ่งมันก็แปลว่าจอมพระเป็นเจ้า นี่หมายความว่าค่าหรือคุณค่าของความเข้าใจถูกต้องนั้นมีมากถึงอย่างนี้ สิ่งที่มนุษย์พึงปรารถนาหรือจะพึงหวังพึงได้จากพระเป็นเจ้านั้น ถ้าเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือจะต้องหวังที่จะได้จากความเข้าใจถูกต้อง เพราะว่าความเข้าใจถูกต้องจะบันดาลสิ่งที่พึงหวังให้แก่คนทุก ๆ สิ่งเหมือนกับที่เราหวังว่าจะได้จากพระเป็นเจ้า เดี๋ยวนี้เราจะไม่มามัวเถียงกันว่าพระเป็นเจ้าคืออะไร จริงหรือไม่ โดยเราจะรวบรัดเอาแต่ใจความว่า ถ้าสิ่งใดอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแท้จริงถึงที่สุดให้แก่เราได้ตามความหวังความประสงค์ของเราแล้วเราจะเรียกว่าพระเป็นเจ้า เพราะว่าชื่อนี้ไม่สำคัญ มนุษย์ตั้งเอาเอง ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตั้งหรือพระเป็นเจ้าตั้ง มนุษย์เราธรรมดาสามัญก็ตั้งได้ เราอยากจะเรียกอะไรว่าอย่างไรเราก็เรียกได้ แม้แต่คำว่าพระเป็นเจ้านี้ก็เป็นคำที่มนุษย์ตั้งขึ้นมา แต่ความหมายนั้นสำคัญ เราจะต้องเข้าถึงความหมาย ตัวหนังสือหรือพยัญชนะนั้นไม่สำเร็จประโยชน์อะไร มันสำเร็จประโยชน์แท้จริงอยู่ที่ความจริงหรือความหมายอันแท้จริงของคำ ๆ นั้นต่างหาก ดังนั้นเราจะเรียกว่าพระเป็นเจ้าก็ได้ จะเรียกว่าธรรมะหรือพระธรรมหรือพระธรรมเจ้าหรืออะไรก็ได้
แต่ในที่นี้อยากให้เรียกว่าความเข้าใจถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องนั้นแหละคือพระธรรมเจ้าหรือพระธรรมหรือพระเป็นเจ้าหรืออะไร ๆ แล้วแต่ใครจะเรียกตามลัทธิของตน ๆ ถ้าเราอยากจะกล่าวว่าความเข้าใจถูกต้องนั้นเป็นพระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นรวมกัน ความเข้าใจถูกต้องที่จะอยู่ในลักษณะหรือสภาวะเช่นนี้ต้องเป็นความเข้าใจถูกต้องในชั้นสูงสุด เดี๋ยวนี้เรามีความเข้าใจถูกต้องกันแล้วหรือยังแม้ในชั้นธรรมดาสามัญ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องในธรรมดาสามัญเราก็คงจะไม่มีเรื่องอะไรโกลาหลวุ่นวายรบกวนกันเหมือนกับที่กำลังเป็นกันอยู่ในเวลานี้ ตามบ้านตามช่องตามวัดตามวาอารามทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มีอาการที่เราไม่พึงปรารถนาอยู่ทั่ว ๆ ไป แม้ในขั้นต่ำ ๆ ขั้นโลก ๆ ขั้นธรรมดาสามัญ นี้จะเป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่าแม้แต่ความเข้าใจถูกต้องในระดับธรรมดาสามัญเราก็ยังไม่มี แล้วเราจะไปมีความเข้าใจถูกต้องในขั้นสูงสุดที่เป็นยอดสุดของพระเป็นเจ้าได้อย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงหวังว่าให้เราเข้าใจสิ่งนี้ เข้าถึงสิ่งนี้ เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับสิ่งนี้ และอยู่กับสิ่งนี้ จึงได้ตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สะพังทุกขังอะปัจคุง (ชั่วโมงที่ 1:43.10) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องในชั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปก็ไม่ได้เสียแล้ว เราก็ไม่อาจจะเข้าใจความถูกต้องในขั้นสูงสุดได้เป็นแน่ เราควรจะเข้าใจความเข้าใจอันถูกต้องนี้ ให้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ๆ จนกว่าจะเข้าถึงความเข้าใจถูกต้องในขั้นสูงสุด ในกรณีทั่ว ๆ ไปเราเห็นได้ตรงที่ไม่มีใครวิ่งเข้าไปหาธรรมะหรือวิ่งเข้าไปหาพระเป็นเจ้า มีแต่อาการหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระเป็นเจ้ากันอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งโลกซึ่งย่อมจะหมายความถึงทำอาการหน้าไหว้หลังหลอกต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะด้วยเป็นธรรมดา เพราะว่าเราไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร เราโง่จนกระทั่งว่าตัวเราเองคืออะไรเราก็ยังไม่รู้ แล้วเราจะไปรู้จักพระเป็นเจ้าที่เข้าใจได้ยากกว่านั้นได้อย่างไรกัน สิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตนี้เราก็ยังไม่รู้ทั้งที่เรารักมันมาก เราต้องการจะมีชีวิตอยู่ เราจะต้องการอยู่อย่างดีที่สุดแต่เราก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่ง ๆ นี้ตลอดแต่ต้นจนปลาย นี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเศร้าหรือน่าสลด น่าสังเวช ที่ควรจะเอามารำพึงกันหรือพิจารณากันในวันเช่นวันนี้ ถ้าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าตัวเองหรือชีวิตของตัวเองก็ไม่รู้จักเสียแล้วก็เรียกว่าไม่มีความเข้าใจถูกต้องอะไรเสียเลย เป็นการปล่อยไปตามสัญชาตญาณล้วน ๆ แล้วแต่ว่าความรู้สึกคิดนึกอย่างสัตว์สามัญทั่วไป แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็คิดเป็นนี้ มันจะชวนให้คิดไปอย่างไรชวนให้ทำอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น ในที่สุดก็บูชาเรื่องกินเป็นข้อต้น แล้วก็บูชาเรื่องเกียรติ เรื่องกามเป็นข้อที่ ๒ แล้วก็บูชาเรื่องเกียรติ คือการยกตัวถือตัวเป็นเรื่องที่ ๓ เลยมีแต่เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ซึ่งแม้แต่สัตว์เช่นแมลงป่องก็ยังยกหูชูหางเป็น เหล่านี้มันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะบูชา ไม่น่าจะยกขึ้นไว้ในฐานะเป็นสิ่งดีที่สุดของมนุษย์เลย ความเป็นมนุษย์ความเป็นคนที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหนหรือมีมาตรฐานอย่างไร ควรจะเข้าใจกันเสียที เพียงแต่รู้จักชีวิตนี้ให้ถูกต้องเท่านั้น คนเราก็จะวิ่งเข้าไปหาธรรมะและวิ่งเข้าไปหาพระเป็นเจ้า สมัครที่จะอยู่กับธรรมะอยู่กับพระเป็นเจ้าหรือเป็นพระเป็นเจ้าหรือเป็นธรรมะเสียเอง เดี๋ยวนี้มันพูดกันไม่รู้เรื่องในเรื่องของธรรมะเรื่องของพระเป็นเจ้าเพราะว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแม้แต่ในเรื่องตัวของตัวเอง มีความโง่หลงจนถึงกับปฏิบัติผิด ๆ แม้แต่ร่างกายแม้แต่แก่ร่างกายแก่เนื้อแก่หนังก็ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอย่างนั้นอย่างนี้เรื้อรังอยู่ตลอดเวลา ไม่มีร่างกายที่สมประกอบสำหรับจิตใจที่สมประกอบที่จะมีความเข้าใจถูกต้อง เรื่องกินก็ไม่มีความเข้าใจถูกต้อง เรื่องบริหารร่างกายก็ไม่มีความเข้าใจถูกต้อง นี้เรียกว่าขาดความเข้าใจอันถูกต้องในระดับพื้นฐานโดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้นในวันที่เป็นการทำบุญเกี่ยวกับการเกิดนี้ เราลองพิจารณาดูกันให้จริง ๆ ถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือการเกิดการเป็นอยู่นี้กันบ้างก็จะดี โดยจะตั้งปัญหาสั้น ๆ ขึ้นมาว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี้คืออะไร ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตแล้วจะง่ายดายที่สุดในการที่จะพูดกันถึงเรื่องธรรมะหรือพระเป็นเจ้า ทุกคนจะวิ่งไปหาพระเป็นเจ้าและวิ่งไปหาธรรมะเองดังที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อถามขึ้นว่าชีวิตนี้คืออะไร คำตอบมีมากและมีอยู่เป็นชั้น ๆ หลายชั้นด้วยกัน เราจะพิจารณากันทั้งหมดก็คงจะไม่ไหวหรือเกินความจำเป็น เราลองพิจารณากันดูแต่ในขอบเขตที่จำเป็น อันแรกที่สุดเราจะพิจารณากันในแง่ของวัตถุก่อนเพราะเป็นสิ่งภายนอกและเป็นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปมองเห็นได้ด้วยตา เมื่อว่าโดยทางฝ่ายวัตถุ สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ก็คือความสดชื่นเจริญงอกงามอยู่ได้ของเยื่อ วุ้นที่มีอยู่ในเซลล์ ๆ หนึ่งอันประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่มีชีวิต จะเป็นต้นไม้หรือจะเป็นสัตว์หรือจะเป็นคนก็ตามย่อมประกอบขึ้นด้วยเซลล์เล็ก ๆ จำนวนมากมายเหลือที่จะนับได้ ที่ใจกลางของเซลล์นั้นมีเยื่อวุ้นที่มีความสดและมีความเจริญเรียกกันง่าย ๆ ว่า protoplast ถ้าสิ่งนี้ยังสดยังเจริญ ชีวิตในทางวัตถุก็ยังมีเพราะว่าอันนี้เป็นที่ตั้งแห่งชีวิตในทางวัตถุ ถ้าเยื่อวุ้นในใจกลางของเซลล์หมดความสดและความเจริญก็หมายความว่ามันตายและเป็นเหตุให้เกิดการตาย ลุกลามต่อไปถึงร่างกายทั้งหมด ชีวิตในทางวัตถุมีความหมายเพียงเท่านี้โดยย่อ ๆ แต่ถ้ามองดูในทางที่ตรงกันข้าม คือในทางจิตใจหรือในทางนามธรรมแล้วมันไปอย่างอื่น มันมีความหมายเป็นอย่างอื่น แม้ว่าเราจะกล่าวกันในระดับต่ำที่สุดตามความรู้สึกตามธรรมดา สิ่งที่เรียกว่าชีวิตในทางนามธรรมหรือทางจิตใจนั้นมันก็มีความหมายเป็นอย่างอื่น คือมันมีความหมายไปในทางที่เป็นภาวะที่รู้สึกคิดนึกได้ คือยังคงมีความรู้สึกคิดนึกได้อยู่ตามอำนาจของสัญชาตญาณ หมายความว่าสิ่งที่มีชีวิตนั้นมีความรู้สึกคิดนึกต้องการ เป็นต้น อย่างไรแล้วถ้ายังมีสมรรถภาพอย่างนั้นอยู่คือยังสามารถรู้สึกคิดนึกอะไรได้ตามสัญชาตญาณนั้นอยู่ ก็เรียกว่ายังมีชีวิตอยู่ตามความหมายในฝ่ายวิญญาณหรือจิตใจ ดังนั้นเมื่อคนเรายังมีสติสมประฤดี มีสัญญา มีจิตใจคิดนึกอะไรได้อยู่ก็เรียกว่ายังมีชีวิตอยู่ ถ้าคิดนึกอะไรไม่ได้ แม้ยังไม่ตายมันก็เท่ากับตายแล้วในทางฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณ เราแบ่งแยกเรื่องทางกายกับทางจิตออกจากกันในลักษณะอย่างนี้แล้ว เราอาจจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นได้ในทั้ง ๒ สถาน คือทั้ง ๒ ความหมาย หรือ ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ สิ่งที่เรียกว่าชีวิตในทางฝ่ายวัตถุและจิตใจมีอยู่อย่างนี้ในฐานะที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป ไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับธรรมะ เป็นเพียงตัวธรรมชาติแท้ ๆ เป็นไปตามธรรมชาติ
ทีนี้ถ้าจะให้สูงขึ้นมาถึงขนาดที่เกี่ยวกับธรรมะที่เป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของปรัชญา หรือเป็นเรื่องของสติปัญญาแขนงใดแขนงหนึ่งก็ตามแล้ว เราจะต้องพิจารณาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตกันโดยลักษณะอย่างอื่น โดยวิธีการอย่างอื่นหรือโดยแนวอื่น เช่นว่าเราจะพิจารณาดูธรรมะในแง่ของสติปัญญา มองดูชีวิตนี้ด้วยหลักเกณฑ์ทางปรัชญา เป็นต้น เราก็จะพบสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นในความหมายที่ลึกซึ้งอย่างอื่น จนต้องใช้คำพูดอย่างอื่น ใช้วิธีการอย่างอื่น เหมือนกับที่เราเรียกกันอยู่อย่างที่คนอื่นเขาฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ว่าพิจารณากันหรือดูกันหรือกระทำกันในทางฝ่ายวิญญาณ เช่นว่าเรามีโรงละครในทางฝ่ายวิญญาณเป็นคู่ตรงกันข้ามกันกับโรงละครของชาวบ้านทั่วไป โรงละครของชาวบ้านก็ต้องดูด้วยจิตใจ ต้องด้วยสติปัญญาด้วยความรู้สึกคิดนึก แต่มันไม่ใช่เรื่องทางวิญญาณในที่นี้ คือดูด้วยความรู้สึกคิดนึกอย่างคนธรรมดาสามัญที่ตั้งอาศัยอยู่บนตา หู จมูก ลิ้น กาย อาศัยรูป เสียง กลิ่น รสในทางวัตถุเป็นที่ตั้ง อย่างนี้เราเรียกว่าฝ่ายกายหรือฝ่ายจิตที่เนื่องกับกาย แล้วก็มีโรงละครอย่างนั้น ไม่จำเป็นที่จะมีโรงละครทางฝ่ายวิญญาณเหมือนที่เรากำลังคิดจะมีหรือกำลังจะทำกันอยู่ คือเป็นเรื่องของสติปัญญาอีกประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นสติปัญญาตามธรรมดาสามัญ ถ้าเรารู้จักแบ่งแยกสติปัญญาออกเป็น ๒ ฝ่ายคือตามธรรมดาสามัญฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายสูงสุดลึกซึ้งที่ไม่ปรากฏแก่คนธรรมดาสามัญอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าทางวัตถุหรือทางวิญญาณนี้ได้ดี เมื่อเรามองดูชีวิตตามทางฝ่ายวิญญาณหรือที่เรียกว่าชีวิตช่วง Point view กันแล้ว เรามองดูชีวิตในรูปอื่นซึ่งจะมองดูกันโดยนิตินัยหรือโดยพฤตินัย ถ้ามองดูโดยนิตินัยก็ดูในแง่ที่ว่าเราอาจจะบัญญัติมันได้ว่าอย่างไร ไม่เกี่ยวกับข้อที่ว่าเราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร