แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราเอาแต่เพียงว่าเราจะมองดูเพื่อหาทฤษฏีว่าจะบัญญัติมันอย่างไร นี้เรียกว่าโดยพฤตินัยและโดยนิตินัย แต่ถ้าเรามองดูกันในแง่กันที่ว่าเราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรและปฏิบัติกันจริง ๆ ด้วยแล้ว เราก็จะเรียกว่าเรามองดูมันโดยพฤตินัย ชีวิตโดยนิตินัยก็เป็นเพียงสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยอัตตวาทุปาทานว่าตัวกูว่าของกู ร่างกายจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นตัวกูเป็นของกูอย่างนั้นอย่างนี้ นี้เป็นชีวิตโดยนิตินัย มันจะต้องเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ หมายความว่าถ้ามันยังมีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูเป็นของกูอยู่ ก็ให้ไปยกให้มันว่ามีชีวิตอยู่ เพราะมันรู้จักคิดรู้จักนึกว่ามีตัวกูมีของกู งั้นจิตที่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เรียกว่าเป็นชีวิตในทางฝ่ายจิตใจหรือฝ่ายวิญญาณ
ถ้ามองดูโดยนิตินัย เราจะพบว่าการดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลสตัณหานั่นแหละคือตัวชีวิต ตัวชีวิตไม่ได้เป็นเพียงนามธรรมอะไรหรือเป็นเพียงชื่อล้วน ๆ เสียแล้ว แต่เป็นการเคลื่อนไหวดิ้นรนอยู่เร่า ๆ ไม่มีหยุดไปตามอำนาจของจริงที่เรียกว่าตัณหาหรืออุปทานก็แล้วแต่จะเรียก ชีวิตอย่างนี้หมายถึงตัวการดิ้นรน หรือตัวการดิ้นรนนั่นแหละคือตัวชีวิตที่มองกันในแง่นี้ ถ้าเราเข้าใจว่าชีวิตคือความรู้สึกเป็นตัวกูของกูก็ตาม แล้วชีวิตคือตัวการดิ้นรนกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลานี้ก็ตาม เราก็เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้สูงขึ้นมาในระดับหนึ่งกว่าความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ ดังนั้นเราก็พบปัญหาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นแปลกออกไป สูงขึ้นไป หรือลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปจนอาจจะแก้ปัญหาของชีวิตให้ถูกตรงให้สำเร็จได้มากขึ้นกว่าที่จะรู้แต่เพียงว่ามันเป็นเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติอย่างของคนธรรมดาสามัญดังที่กล่าวแล้ว หรือมากกว่าการเรียนรู้แต่เพียงว่าชีวิตนี้คือความสดชื่นของเฟืองที่ยังมีอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ง่ายเกินไป เพียงแต่อาหารหล่อเลี้ยงไว้มันก็หมดปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตมีความหมายลึกไปกว่าที่จะหมดปัญหาเพียงการหล่อเลี้ยงด้วยอาหาร เราจึงมีการมองให้ลึก และพบว่าปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวกูของกู และมันมีการดิ้นรนทนทรมานเหมือนกับตกอยู่ในนรกทั้งเป็น นี่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรจึงจะหมดปัญหาที่แท้จริงได้
ถ้าเราจะมองดูกันอีกคู่หนึ่งโดยคร่าว ๆ โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชีวิตนี้ก็จะไม่มีอะไรมากไปกว่าความทุกข์จนพูดว่าชีวิตคือความทุกข์ ความทุกข์คือชีวิต เพราะว่าชีวิตในที่นี้เราหมายถึง มีชีวิตอยู่ด้วยอุปทานว่าตัวกูของกูนั้นเอง ถ้าไม่มีความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณให้เป็นตัวกูของกูแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับชีวิตชนิดนี้ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่เป็นความหมายอันเดียวกับความทุกข์นั้น พอมองโดยเหตุชีวิตนี้ก็คือสิ่งที่ก่อกวนความ ก่อกวนความสงบ ทำลายความสงบ ก่อกวนความสุข แล้วถ้ามองกันโดยผล มันก็คือตัวความทุกข์หรือความไม่มีสุขนั้นแหละ มันจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าขันในข้อที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้มันกลายเป็นตัวความทุกข์ไปเสียเองแล้ว จะมีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะช่วยมันให้พ้นจากความทุกข์นั้น
นั่นแหละท่านจะพิจารณาเห็นได้ว่า ผู้ที่มีปัญญาถึงขนาดที่เป็นพระอริยเจ้านั้น ท่านมองสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นกันในลักษณะอย่างไร หรือท่านมองมันได้ลึกซึ้งมากกว่าพวกเราเพียงไร คือท่านมองถึงกับสามารถแยกสิ่งที่เรียกว่าชีวิตออกไปเสียจากจิตใจก็ได้ ซึ่งพวกเราทำไม่ได้ เลยกลายเป็นสิ่ง ๆ เดียวกันอยู่เรื่อยทั้งร่างกายทั้งจิตใจทั้งชีวิตทั้งกิเลสทั้งความทุกข์เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก อยู่เหนือความสามารถของคนอย่างเรา แต่สติปัญญาของพระอริยเจ้าท่านแยกมันออกได้ ร่างกายก็เป็นร่างกาย จิตใจก็เป็นร่างกายอ่าเป็นจิตใจ ชีวิตก็เป็นชีวิต ความทุกข์ก็เป็นความทุกข์ เมื่อชีวิตเต็มอยู่ด้วยทุกข์ก็เป็นอันเดียวกันกับความทุกข์ เราสามารถแยกจิตใจมาจากความทุกข์ได้ ก็เป็นเรื่องที่ประหลาดสิ้นดีสำหรับคนทั่ว ๆ ไปเข้าใจไม่ได้ เพราะเราจะแยกตัวเราออกมาจากความตายได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี่แหละคือประโยชน์หรืออานิสงส์ของการศึกษาเรื่องนี้โดยตรง จนกระทั่งเราสามารถแก้ปัญหาได้หมดสิ้นทุก ๆ ปัญหาที่เกี่ยวกับการเกิดมาหรือที่จะเรียกว่าชีวิตนี้ก็ตาม โดยเหตุมองในแง่ที่มันเป็นเหตุมันเป็นสิ่งก่อกวนความสงบสุข มองดูในแง่ที่เป็นผลมันก็คือปรากฏการณ์แห่งความทุกข์ทั่ว ๆ ไปในโลก ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อเรามองดูกันทุกแง่ทุกมุมหรือพยายามมองดูให้ครบทุกแง่ทุกมุม เราก็เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ได้มากขึ้น
ทีนี้เราก็มาประสบกันเข้ากับปัญหาว่าขอบเขตของการมองนั้น เราควรจะจำกัดไว้เพียงเท่าไร ถ้าเรามองเรื่อยไปไม่มีขอบเขตเราก็เป็นคนบ้า เมื่อเป็นคนบ้าเสียแล้วจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร เราก็ควรจะมีขอบเขตตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำ สำหรับท่านเองท่านบอกว่าสิ่งที่จะต้องเอามาพูดมาสอนแก่พวกเธอทั้งหลายนั้นมีเพียงกำมือเดียว ในเมื่อเทียบกันกับปริมาณของใบไม้หมดทั้งป่าทั้งดง นี่ก็แสดงว่ามันน้อยมากคือใบไม้กำมือเดียวกับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงมาเปรียบกัน ใบไม้กำมือเดียวของท่านนั้นคือเรื่องอริยสัจ ๔ ประการเท่านั้นพอแล้ว เรื่องนอกนั้นมากมายเป็นภูเขาเหล่ากาไม่ต้องพูดถึงกันเพราะไม่จำเป็น
ทีนี้เมื่อเราถือว่าเรื่องอริยสัจเป็นเรื่องใบไม้กำมือเดียวอยู่ในขอบเขตของความจำเป็นเราก็ดูว่ามันเป็นเรื่องอะไร ในที่สุดเราก็พบว่าเรื่องอริยสัจนั้น โดยที่แท้มันเป็นหัวข้อในทางสัจวิทยา (นาทีที่ 10:45) อยู่ ๔ ข้อ ข้อที่ ๑ คือคำตอบสำหรับคำถามที่จะถามว่าสิ่งนี้คืออะไร และข้อที่ ๒ คือคำตอบสำหรับคำถามที่ว่าสิ่งนี้มันมาจากอะไร และข้อที่ ๓ ก็คือคำตอบที่ตอบคำถามที่ว่าสิ่งนี้เพื่อประโยชน์อะไรในที่สุด และข้อที่ ๔ ก็มีว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อสำเร็จประโยชน์ตามนั้น
ใน ๔ ข้อนี้ไม่ซ้ำกันเลย เราอาจจะสรุปได้สั้น ๆ ว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่อความมุ่งหมายอันใด และจะสำเร็จตามนั้นได้อย่างไร เมื่อเราเอามาใช้พิจารณาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือความทุกข์โดยตรง ปัญหาก็เกิดขึ้นเป็น ๔ ข้อว่า ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้มาจากอะไร หรือว่าชีวิตนี้เพื่อความมุ่งหมายอย่างไรในที่สุด หรือว่าชีวิตนี้จะลุถึงความมุ่งหมายนั้นได้โดยวิธีใด เป็น ๔ ข้อด้วยกัน ก็คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ดังนี้ นี่ถ้าเรามองดูชีวิตกันในแง่สูงสุด ก็อาจจะตอบได้ว่ามันคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร และโดยวิธีใด เป็นแน่นอน ถือตามหลักของพระพุทธศาสนาตามที่สั่งสอนกันอยู่ เมื่อตามที่เราได้ผ่านมาแล้วอย่างไร มองเห็นอยู่อย่างไร เราก็อาจจะตอบได้ดังนี้ว่าชีวิตนั้นก็คือสิ่งที่ดิ้นรนอยู่ตามอำนาจของตัณหาตลอดเวลา เพราะว่าชีวิตนั้นมาจากสิ่งที่เรียกโดยภาษาที่เรายังเข้าใจไม่ได้ คือจากอวิชชา จากตัณหา จากอุปาทาน จากกรรมเหล่านี้เป็นต้น เพราะว่าชีวิตนี้มีมาเพื่อพ้นอำนาจ เพื่อพ้นจากอำนาจของตัณหา และเข้าสู่ความสงบ แล้วว่าชีวิตนี้จะสำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายของมันได้ด้วยการทำให้มันเป็นอันเดียวกันกับธรรมะ เข้าถึงธรรมะตามหลักพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วยตัวนำคือสัมมาทิฐิหรือความเข้าใจถูกต้องนั่นเอง รวมเป็น ๔ ประการด้วยกันดังนี้
สรุปสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ชีวิตนี้คือสิ่งที่ดิ้นรนอยู่ตามอำนาจของตัณหา ชีวิตนี้ปรุงขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันจึงเป็นไปตามอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และชีวิตนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะพ้นจากอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น เพื่อเป็นอิสระ เพื่อสู่ความสงบ เพื่อจะเป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งหรือจะไม่เรียกว่าชีวิตเสียเลยก็ได้ และชีวิตนี้จะสมประสงค์ได้ก็เพราะต้องช่วยตัวเอง ด้วยการประพฤติกระทำด้วยตนเองในภายในตัวเองจากบทเรียนในตัวเอง จนกระทั่งสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาตัณหาอุปาทานเหล่านั้นสิ้นสุดลง ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่เพราะได้รับความเป็นอิสระสงบได้ถึงที่สุดแล้ว นี่แหละคือการที่จะมองสิ่งที่เราเรียกกันคุ้น ๆ ปากอยู่ทุกวันว่าชีวิตในลักษณะอย่างไร กี่อันดับ จะมีความลึกซึ้งกว่ากันอย่างไรดังนี้ และมองในลักษณะไหนในขอบเขตเพียงเท่าไรก็จะสามารถแก้ตัณหาได้ ในที่สุดท่านก็จะเห็นได้เองว่า เราไม่ต้องมองสิ่งที่เรียกว่าชีวิตในแง่ของชีววิทยา biology เป็นต้น ว่าคือความสดชื่นและเจริญของ protoplast เป็นต้น นั้นเป็นความรู้ที่เหลือความจำเป็น ยังไม่จำเป็น ขืนไปสนใจก็อาจจะตายเปล่าคือตายเสียก่อนก็ได้ นี่เรียกว่าไปสนใจความจริง ความจริงแท้แต่เป็นส่วนเกิน คือเป็นส่วนที่ไม่จำเป็นสำหรับคนเรา เหมือนกับเราจะปลูกมะพร้าวกินลูก เราไม่ต้องเรียนธรณีวิทยาหรือ biology หรือวิชาอื่น ๆ ซึ่งเป็นเทคนิคเรียนจนตายก็ไม่จบ แล้วก็ไม่ได้ปลูกมะพร้าวแล้วก็ไม่ได้กิน เราเรียนเพียงวิธีที่จะขุดหลุมอย่างไร ใส่ปุ๋ยอย่างไร ปลูกอย่างไร รักษาอย่างไร เดี๋ยวก็ได้กิน เมื่อเปรียบกับชีวิตนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ว่าไม่ต้องไปสนใจกับส่วนเกินของความรู้เหล่านั้น สนใจแต่ส่วนที่จำกัดไว้พอดีกำมือเดียวคือเรื่องอริยสัจอันมีหัวข้อเพียง ๔ ข้อซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการกับมันได้คือเห็นอยู่ว่ามันเป็นอะไร มันมาจากอะไร มันเพื่ออะไรและโดยวิธีใดดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น เราจะสนใจในหัวข้อทั้ง ๔ นี้เพื่อศึกษาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตกันโดยละเอียด
สำหรับข้อแรกที่เรียกว่าชีวิตคือสิ่งที่ดิ้นรนตามตัณหาอยู่ตลอดเวลานั้น เราจะต้องพิจารณาดูเป็น ๒ แง่ คือว่าที่เรารู้สึกกันได้ก็มี เราไม่อาจจะรู้สึกกันได้ก็มี แต่ที่เราควรจะรู้สึกได้เราก็ยังไม่รู้สึก นี่เรียกว่าความประมาท ไอ้เราก็ตายอยู่ไม่มีชีวิตเพราะความประมาทนี่เอง ในส่วนลึกที่เราควรจะรู้ได้ว่าชีวิตคือความดิ้นรนไปตามกิเลสตัณหานั้น เรามองเห็นตรงที่ว่าเราอยากอย่างใดตามกิเลสของเราแล้วเราก็ทำสิ่งนั้น แล้วก็เราก็เคลื่อนไหวไม่มีที่สิ้นสุดเพราะเหตุนั้นจน ๆ กระทั่งตายตั้งแต่เกิดจนตาย มีการดิ้นรนตามอำนาจของกิเลสตัณหาตลอดสายทั้งหมดนี้เรียกว่าชีวิต คือการดิ้นรนตามอำนาจของตัณหา ที่เรียกว่าตามอำนาจนี่หมายความว่ามันดื้อไม่ได้ มันต่อสู้ไม่ไหว มันต้องทำไปตามอำนาจของตัณหาที่เรารู้สึกอยู่ก็คือในเรื่องง่าย ๆ ตื้น ๆ ตามธรรมดาสามัญ ที่เราไม่อาจจะรู้สึกก็คือเป็นส่วนลึกตรงที่เราไม่รู้ว่าตัวกูหรือของกูนั้นคือตัวกิเลสตัณหา เราก็สมัครทำตามความต้องการของตัวกูของกูซึ่งเป็นตัวกิเลสตัณหาโดยไม่รู้สึกตัว เราจึงรู้จากสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นได้น้อยเกินไป ไม่พอที่จะแก้ตัณหาเกี่ยวเรื่องนี้ได้ ก็ที่แคบเข้ามากว่านั้นอีก การกระทำไปตามอำนาจกิเลสตัณหานี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกทำไปด้วยจิตสำนึกหรือที่เรียกว่า conscious แล้วก็ทำกันอยู่เป็นปกติ ยังมีอีกส่วนใหญ่ซึ่งไม่รู้จัก ก็ยังมองไม่เห็นก็คือที่ทำไปตามอำนาจของจิตใต้สำนึกหรือ subconscious เราไม่มีความรู้สึกในการกระทำของเราว่าทำไปทำไม เพื่อเหตุใด ก็มีอยู่มาก
ในวันหนึ่ง ๆ เราทำตามอำนาจของกิเลสตัณหา โดยรู้สึกตัวแต่เราต่อสู้มันไม่ได้อย่างนี้ก็มีมาก แต่โดยไม่รู้สึกตัวอย่างนี้ก็ยังมีมากและมากกว่าอย่างแรกด้วยซ้ำไป แม้เราจะนอนฝันไปเราก็ฝันไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ความคิดนึกต่าง ๆ เป็นไปในทางของกิเลสตัณหาโดยที่เจ้าตัวไม่ต้องรู้สึก ดังนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าตลอดเวลาทั้งหมด จะรู้สึกหรือไม่รู้สึกตัว ชีวิตนี้คือสิ่งที่ดิ้นรนอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาเท่านั้นเอง มันน่าสลดสังเวชหรือไม่ก็ลองคิดดู มันเป็นสิ่งที่ควรจะเอามารำพึงพิจารณากันดูในโอกาสเช่นนี้หรือไม่ ในเวลาธรรมดาเราเต็มไปด้วยความประมาท ความสะเพร่า ความอวดดี ในเวลาที่สลดสังเวชบ้างเท่านั้นที่จะมองเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ จึงต้องจัดเวลาเป็นพิเศษ เวลาใดเวลาหนึ่ง วันใดวันหนึ่ง คราวใดคราวหนึ่ง สำหรับพิจารณาในข้อนี้กันโดยไม่ประมาท ดังนั้นท่านทั้งหลายควรจะมีวันพระ มีวันอุโบสถ หรือวันมีวันพิเศษวันอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งกันเสียบ้าง เพื่อจะมีโอกาสพิจารณาสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษในวันเช่นนั้น ก็จะไม่เป็นการยากเลยที่จะเข้าใจว่าชีวิตนี้คืออะไร จะเห็นแจ่มชัดว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้คือความดิ้นรนอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาอย่างน่าสังเวชที่สุดนั่นเอง เป็นการก้าวลงสู่ความจริงในก้าวแรกสำหรับจะได้เดินต่อไปในก้าวต่อไป แล้วสิ่งที่เราเคยเข้าใจอย่างสลัว ๆ เป็นปรัชญาหรือเป็นปัญหาไปหมดนั้น ก็จะกลายมาเป็นข้อเท็จจริงอย่างวิทยาศาสตร์ซึ่งเราสัมผัสได้ รู้สึกได้ ชิมได้ รู้รสได้ ด้วยการสัมผัสทางจิตใจ สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีแต่เฉพาะทางวัตถุ ทางจิตใจก็มีได้ถ้าหากว่ามันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ด้วยใจจากข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องใช้การคำนึงคำนวณตามเหตุผล
ถ้าเรามีการกระทำทางจิตใจไม่มาก ไม่พอ ไม่เหมาะสม เราไม่อาจจะเข้าถึงตัวชีวิตในลักษณะที่เป็นสิ่งที่รู้สึกได้โดยประจักษ์ เราจึงรู้จักมันแต่โดยทางการคาดคะเน หรือการใช้เหตุผลในทางตรรกะอยู่เรื่อยไป เป็นความรู้ทีสลัวอย่างปรัชญาอยู่ทั่วไป อย่างนี้ก็ถูกแล้วที่ว่าเรื่องชีวิตจิตใจหรือธรรมะนี้มันอาจจะแตะต้องได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่นี้ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ากันอย่างเพียงพอ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านโดยถูกต้องทั้งกาละและเทศะแล้วจิตใจเราอยู่ในฐานะที่จะมองเห็นชีวิตนี้จากความรู้สึกโดยตรงคือจาก experience ของจิตใจนั้นโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการคาดคะเนหรือเหตุผลตามทางสักอีกต่อไป เราได้ชิมมันว่ามีรสชาติเป็นอย่างไร ด้วยจิตใจโดยตรงอย่างนี้แล้วจะต้องใช้เหตุผลกันทำไมเล่า มันจึงใช้ความรู้สึกโดยประจักษ์นั้นเป็นการทดสอบแก่หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ จนรู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตได้โดยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือความทุกข์นั้นคืออะไรดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าก็เป็นวิทยาศาสตร์ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนโดยหลักเกณฑ์ที่แสดงไว้ในกาลามสูตร เป็นต้น คือไม่ให้ยอมรับสิ่งใดเข้ามาเชื่อโดยปราศจากความรู้สึกแก่จิตใจโดยประจักษ์ของตนเอง ไม่ใช้การสันนิษฐาน ไม่ใช้การคาดคะเน ไม่ใช้เหตุผลตามทางตรรกะ ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อเพราะเขียนไว้ในคัมภีร์ ไม่เชื่อเพราะเขาเห็นด้วยกันมากคน ไม่เชื่อโดยลำพังว่าเพราะทุกคนเขาเชื่อกันอย่างนั้น อย่างนี้เป็นต้น เพราะการทำอย่างนั้นไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเมื่อใดเชื่อโดยประจักษ์แก่จิตใจของตน จากความรู้สึกโดยประจักษ์ ไม่ต้องอิงอาศัยเหตุผล เมื่อนั้นเป็นพุทธศาสนา ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวได้ว่า บัดนี้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นอย่างถูกต้องแล้วจริงตามกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ เราจะเรียกมันว่าชีวิตก็ตาม เราจะเรียกมันว่าตัวเราก็ตามหรือตัวกูก็ตาม เดี๋ยวนี้ความหมายมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ความหมายของชีวิตตามที่เราเคยรู้มาแต่เดิมก็เปลี่ยน ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าตัวกูหรือตัวเราที่เราเคยรู้สึกมาแต่เดิมบัดนี้ก็เปลี่ยน คือเปลี่ยนไปสู่ความจริงที่จริงแท้ และเราก็สามารถจะจัดการกับชีวิตหรือตัวกูนั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะหรือกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ชีวิตนั้นจึงเปลี่ยนสภาพจากความร้อนเป็นความเย็น หรือจากความทุกข์เป็นความสุข หรือจากสภาพที่ไม่ปรารถนามามาสู่สภาพที่น่าปรารถนา ถ้าเราจะเรียกว่าชีวิตมันก็กลายเป็นชีวิตจริงขึ้นมา ไม่ใช่ชีวิตปลอมอย่างแต่ก่อน ถ้าเราจะเรียกมันว่าตัวกูมันก็เป็นตัวกูอย่างแท้จริงขึ้นมา ไม่ใช่ตัวกูที่ปลอมอย่างแต่ก่อน ดังนั้นถ้าใครอยากสมัครใจที่จะมีชีวิตหรืออยากจะมีตัวตน อยากจะมีตัวเรา หรืออะไรอย่างนี้ก็มีได้ จนยอมให้เขามีไปตามความต้องการของเขา ขอแต่ให้มันเป็นตัวชีวิตแท้ชีวิตจริงที่ไม่ประกอบด้วยทุกข์ หรือมันเป็นตัวกูที่แท้จริงที่ไม่เป็นตัวกูที่ยกหูชูหางเพื่อแสดงโอ้อวดความทุกข์ มันก็ควรจะเรียกว่าอัตตาตัวตนที่น่าสนใจจะได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราถือเอาตามคำพูดที่ชาวบ้านพูดกันทั่วไป เรียกในภาษาศึกษาเรียกในภาษาการศึกษาว่า conventional mode of speaking หรือพูดตามที่เขาพูดกัน แล้วสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ที่แท้นั้นคือความดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลสตัณหานั่นเอง สกปรกที่สุด เร่าร้อนที่สุด โง่เง่าที่สุด แต่เราก็มองเห็นมันในลักษณะที่ตรงกันข้าม จนเกิดความรัก เกิดความทะนุถนอม เกิดความหวัง เกิดความอะไรต่าง ๆ เป็นการเพิ่มความทุกข์ในตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นให้มากขึ้นและมากขึ้น จนมากอย่างที่เรียกว่าเป็นความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี้เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วเพียงไม่กี่คำของคำถามที่มีอยู่ว่าชีวิตนี้คืออะไรตามขอบเขตของพระพุทธเจ้าที่ได้ ๆ ท่านได้ทรงวางไว้เพื่อป้องกันส่วนเกินของวิชาความรู้ในมนุษย์ในโลกนี้
ทีนี้เราก็ควรจะมาถือปัญหาข้อที่ ๒ กันต่อไปซึ่งมีอยู่ว่า ชีวิตนี้มาจากอะไรสิ่งที่เรียกว่าชีวิตตามความหมายธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไปนั้น โดยเนื้อแท้ก็คือมายาชนิดหนึ่ง จะเรียกว่ามายาก็เพราะเหตุว่าไม่มีตัวเองที่เป็นอิสระ เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งเรื่อยไม่มีหยุดของสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา ตัณหา อุปาทานจากกรรม ในชั้นแรกที่สุดจะต้องรู้กันเสียก่อนว่าสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์รู้จักนั้นจะเป็นวัตถุหรือนามธรรมก็ตาม อันสำเร็จอยู่ที่ความรู้สึก อันรู้สึกแก่จิตใจได้เท่าไรมันก็มีเพียงเท่านั้น หรือว่าเรารู้จักมันได้เท่าไรมันก็มีเพียงเท่านั้น มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความรู้สึกหรือความรู้จักของเรา ไอ้ตัววัตถุแท้ ๆ หรือตัวธรรมชาติแท้ ๆ นั้นมันจะเป็นอย่างไรเรารู้ไม่ได้ เรารู้ได้เพียงเท่าที่ตาของเรา หูของเรา จมูกของเรา ลิ้นของเราหรือผิวหนังของเรามันช่วยติดต่อให้เรา แล้วใจของเราก็ทำความรู้สึก และเกิดความรู้สึกหรือความคิดนึกหรือ conception อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาว่าอย่างไร แล้วเราก็ยึดติดเอาว่านั้นคือความจริงของสิ่งนั้นหรือของความรู้ความเห็นของเรา เรารู้ได้เพียงเท่านี้ เราไม่รู้ไปถึงตัวจริงของสิ่งเหล่านั้น เรารู้อยู่เพียงแค่ความรู้สึกหรือ conception ในใจของเรา สิ่งต่าง ๆ จึงรวมอยู่ที่จิตอย่างเดียว ดังคำกล่าวที่ถือมาเป็นหลักว่าชีวิตก็ดี อัตภาพก็ดี ความสุข ความทุกข์ทั้งหมดก็ดี สำเร็จอยู่ที่จิตดวงเดียว ก็นอกไปจากที่จิตรู้สึกได้นั้น เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้ จิตมันรู้สึกอย่างไรมันก็มีเพียงเท่านั้น มันโง่มันฉลาดอย่างไรมันก็ได้รับมาเพียงเท่านั้น ดังนั้นจิตใจของสัตว์ธรรมดาสามัญซึ่งมีอยู่มากมายก็ตรง ๆ กันหมดในสิ่งต่าง ๆ จึงรู้จักสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไรสิ่งนี้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อกิเลสตัณหาครอบงำเหมือน ๆ กัน ความรู้สึกก็เหมือน ๆ กัน คำพูดที่อาจเกิดมาจากความรู้สึกจึงเลยเหมือน ๆ กันมีความหมายอย่างเดียวกัน เขาใช้พูดกันแต่ในหมู่คนที่มีความรู้สึกอย่างเดียวกันและเลียนแบบต่อ ๆ กันไป
ด้วยเหตุนี้แหละย่อมเป็นเหตุผลหรือประจักษ์พยานที่เพียงพอและประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า เราจะถือว่าจริงตามคำพูดที่ชาวบ้านพูดกันนั้นไม่ได้ และยิ่งกว่านั้นเราจะถือเอาตามที่จิตใจของเรารู้สึกจริง ๆ ว่าเป็นอย่างนั้นก็ยังไม่ได้ เพราะว่าจิตของเรายังประกอบอยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันจึงเป็นเพียงความจริงเพียงเท่านั้น หรือเพียงแค่ความรู้สึกของตัณหา อุปาทานให้มันเกิดความรู้สึกที่เป็นการกระทำหรือปฏิกิริยาขึ้นมา แล้วรู้สึกต่อ ๆ ไปจนกระทั่งเรารู้สึกว่าความรู้สึกนั้นยังผิด เป็นความรู้สึกของตัณหาอุปทาน แล้วเราก็ค้นหาต่อไปใหม่ถึงความรู้สึกที่ถูกต้อง นี้เรียกว่าเรื่องของคนหรือสิ่งต่าง ๆ ที่คนรู้สึก รู้จัก รู้รส รู้เสวยอารมณ์เหล่านี้ มันสำเร็จอยู่เพียงที่จิตอันไปตัดตอนเด็ดขาดอยู่ตรงที่ความรู้สึกของจิต ของจริงเป็นอย่างไรยังไม่รู้ เราจึงไม่รู้จักตัวธรรมชาติแท้ ๆ แม้แต่ตัววัตถุแท้ ๆ ก็ไม่รู้จักโดยสมบูรณ์หรือโดยความจริง จึงไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือความทุกข์ตามที่เป็นจริงเพราะมันยากหรือมันลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นมาก เมื่อเราจะถามขึ้นว่าชีวิตนี้มาจากอะไร เราก็ควรจะมองให้ลึกตามทางของธรรมะ หรือวิธีการมองในทางฝ่ายวิญญาณยิ่ง ๆ ขึ้นไปจากสิ่งที่รู้สึกแก่จิตใจมาแล้วแต่หนหลังประมวลกัน เพื่อจำง่ายควรจะเรียกตามที่เขาเรียกกันว่า spiritual experience คือความรู้สึกในทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ในส่วนลึกซึ้งที่ปรากฏแก่เราอยู่ทุกวัน ๆ ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกายหรือของวัตถุหรือผลหรือความมุ่งหมายทางวัตถุ แต่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระเป็นของจริงอยู่ในตัวมันเอง ที่มันปรากฏชัดแก่ความรู้สึกของเราที่เราสะสมไว้เรื่อยมา เรามองดูจากความรู้สึกแท้จริงทางจิตทางวิญญาณชนิดนี้ เราก็จะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ตามที่เป็นจริง แม้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตคือความทุกข์ เรามีความรู้สึกในสิ่งต่าง ๆ ได้หลายชั้นหลายระดับซับซ้อนกันอยู่ เช่นเรากินอะไรเข้าไปรู้สึกอร่อยที่ลิ้น โดยทั่ว ๆ ไปหรือความรู้สึกของคนทั่วไปก็รู้สึกว่าความอร่อยนี้น่าเสน่หา น่าต้องการ แล้วก็หลงใหลเพลิดเพลิน แต่ถ้ามองดูด้วยสติปัญญาหรือความรู้ที่เพียงพอตามวิธีการในทางฝ่ายวิญญาณแล้ว จะรู้สึกว่าการกินที่อร่อยหรือความอร่อยหรือความรู้สึกที่กำลังอร่อยอยู่นั้น ก็เป็นการทำงานชนิดหนึ่ง เป็นการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไหลเวียนชนิดหนึ่งของการต้องทนชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เหตุปัจจัยของมันเองมีอยู่อย่างไร ดังนั้นมันจึงไม่แตกต่างกับความที่ไม่อร่อย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่บูชาความอร่อย ไม่ตกเป็นทาสของความอร่อย อย่างนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าพวกแรกมองไปตามความรู้สึกอย่างผิวเผินภายนอก อิงอาศัยวัตถุเป็นที่ตั้ง พวกหลังมองอย่างลึกซึ้งของผู้มีสติปัญญาใช้วิธีการมองในทางฝ่ายวิญญาณหรือฝ่ายธรรมะ
คำว่าวิญญาณในที่นี้ อย่าเอาไปปนเข้ากับคำวิญญาณตามธรรมดาของชาวบ้าน มันคนละเรื่องกัน แต่เนื่องเราเนื่องจากเราไม่มีคำอย่างอื่นใช้เราก็ใช้คำนี้ไปตามที่สะดวก ขอให้เข้าใจว่าคำว่าวิญญาณนั้นพิเศษมาก พิเศษกว่าที่คนทั่วไปรู้จักกันอยู่ คนทั่วไปรู้จักวิญญาณแต่เพียงว่าจิตใจที่ยังไม่ตาย หรือวิญญาณเข้าจากร่างออกจากร่าง ตามความรู้ที่ได้รับมาจากการพูดจาหรือการแนะนำทางวัฒนธรรมของคนไทยซึ่งมีความเชื่ออย่างนั้นสืบต่อ ๆ มาจากชนชาติอื่นก็ได้ แต่คำว่าวิญญาณนั้น วิ แปลว่า แจ้งหรือวิเศษ ญาณ แปลว่า รู้ วิญญาณ แปลว่า รู้แจ้งหรือวิเศษ เข้ามาใช้เป็นเครื่องรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างนี้ ถ้าเป็นการรู้อย่างวิเศษก็รู้ไปตามที่มันรู้ทางวัตถุ รู้วัตถุนิยม รู้เข้าใจตามแบบของวัตถุ ไม่ใช่ทางนามธรรม ไม่ใช่ทางวิญญาณที่จะเรียกกันต่อไป อย่างนี้คำว่าวิญญาณ หมายถึง รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก
ทีนี้คำว่าวิญญาณที่มีความหมายสูงขึ้นไปก็หมายถึงรู้แจ้งด้วยสติปัญญาว่าอะไรเป็นอย่างไร วิ แปลว่า แจ้ง วิเศษญาณ แปลว่า รู้ วิญญาณ แปลว่า รู้แจ้งอย่างวิเศษ คือรู้ความจริงของธรรมชาติ ในส่วนลึกก็ยังเรียกว่าวิญญาณได้เหมือนกัน แต่คนไม่ใช้พูดกันอย่างนี้ มันจึงไม่อยู่ในระบบที่เราใช้พูดกัน แต่ที่จริงมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้สูงสุดขึ้นไปมีที่มาในพระไตรปิฎกเอง คำว่าวิญญาณหมายถึงนิพพานก็มี หมายถึงว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้แจ้งอย่างวิเศษ จะต้องเข้าถึงได้ด้วยความรู้แจ้งอย่างวิเศษ ในสภาพแห่งวิญญาณนั้นมีแต่ความรู้แจ้งอันวิเศษ จะมีอวิชชาความโง่หลงเจืออยู่ไม่ได้ ดังนี้ก็มี คำว่าวิญญาณในความหมายอย่างนี้ นี่แหละนับว่าสูงสุดลึกซึ้ง น่าจะอาจพอจะเอามาใช้กับความมุ่งหมายของเราที่เรียกว่าโรงละครในทางวิญญาณ เป็นต้น หรือว่าให้สอนให้ดูอะไรให้มองอะไรก็สอนให้มองอย่างลึกซึ้งในทัศนะของทางฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่ทางฝ่ายวัตถุ คำว่าวิญญาณเพียงคำเดียวก็ไม่ใช่เป็นคำเล็กน้อยเสียแล้ว จะทำเล่น ๆ กับมันไม่ได้ และในที่นี้หรือต่อไปก็ตาม พอพูดถึงคำว่ามองในทางฝ่ายวิญญาณหรืออะไร ๆ ในทางฝ่ายวิญญาณแล้ว ก็ขอให้ถือว่าอาตมามีความมุ่งหมายหรือมีความหมายอย่างนี้เอง
ดังนั้นที่พูดว่าชีวิตมาจากอะไร แล้วตอบว่ามาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมนั้นก็เพราะว่าเรามองกันในแง่ลึกซึ้งที่สุดตามทางฝ่ายวิญญาณดังกล่าวแล้ว สิ่งที่เรียกว่าชีวิตตามทางวิญญาณ คือสิ่งที่ดิ้นรนไปตามอำนาจของตัณหา ดังนั้นจึงมาจากการปรุงแต่งของตัณหาซึ่งผสมอยู่ด้วยอวิชชา อุปาทาน และการกระทำในทางฝ่ายจิตนั้นเอง
คำว่า กรรม ในที่นี้หมายถึงการกระทำของการปรุงแต่ง อวิชชาปรุงให้เกิดตัณหา อุปาทาน นี่ก็เรียกว่าเป็นกรรม อวิชชา ตัณหา อุปาทานสร้างความคิดนึก สร้างความหวัง สร้างความต้องการ สร้างความอะไรขึ้นมานี้ก็เรียกว่ากรรมด้วยเหมือนกัน แต่คำว่ากรรมที่จำกัดโดยรวบลัดในที่นี้ หมายถึง ความคิดที่กำลังจะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เข้าใจให้ถูกต้องว่ายังไม่ทันเกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกู แต่ในขณะนั้นความโง่กำลังจะปรุง มันกำลังปรุงความรู้สึกขึ้นมาตามลำดับชั้นตามลำดับชั้น เพื่อจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ถ้าความรู้สึกนั้นแน่นอนถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูแล้ว ก็เรียกว่ากรรมในที่นี้ ไม่เกี่ยวกับวาจาหรือกาย เกี่ยวกับจิต แต่แล้วก็เกี่ยวกับจิตในส่วนลึกยิ่งขึ้นไปอีก คือส่วนที่เนื่องอยู่ในสันดาน นอนอยู่ในสันดาน จิตใต้สำนึกเป็น subconscious ไม่ใช่ conscious มีการกระทำอยู่ภายใต้สำนึกเพื่อจะปรุงความรู้สึกว่าตัวกูของกู แม้การกระทำนั้นก็เรียกว่ากรรม กรรมนี้ก็ไม่แยกออกจากความโง่ หรือความอยาก หรือความยึดมั่นถือมั่น ก็มันต้องเกี่ยวเนื่องกัน มันจึงจะปรุงกันอย่างวกวนไปมา ดังนั้นมันจึงเป็นกรรมพร้อมกันไปในตัวกับความโง่ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่น หรือความอยาก เอาให้เป็นว่าสิ่งทั้งหมดนี้รวมเข้าเป็นอันเดียวกันได้อย่างไรแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการดิ้นรนไปตามอำนาจของตัณหา และเราเรียกการเคลื่อนไหวหรือการดิ้นรนอันนี้ว่าชีวิต ดังนั้นในทางของวิญญาณหรือในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ได้นั้น เรามองสิ่งที่เรียกว่าชีวิตกันอย่างนี้ และถือว่ามันออกมาจากอวิชชา หรือตัณหา อุปาทาน กรรม รวมกันปรุงเป็นมายาอันนี้ขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ได้ แล้วเป็นความรู้สึกที่ดิ้นรนอยู่ใต้อำนาจของตัณหา จึงเป็นความรู้สึกที่ร้อน เกิดเป็นทุกข์ มีรูปร่างไม่สะอาด ไม่น่าดู อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่าเรามองกันในข้อที่ ๒ เพื่อตอบคำถามว่าชีวิตนี้มาจากอะไร
นี้ถ้าจะมองกันในคำถามที่ ๓ ต่อไปว่าชีวิตนี้เพื่ออะไร ในทางวัตถุก็ต้องเพื่อกิน เพื่อเล่น เพื่อเอร็ดอร่อย ทางเนื้อทางหนังนั้นคนละเรื่องกัน เมื่อมองตามทัศนะทางฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นความจริงแท้แล้ว ต้องถือว่าชีวิตนี้ดิ้นรนมานี้ก็เพื่อจะเกิดผลเป็นความหยุดหรือความสิ้นสุดของการดิ้นรนนั้น เหมือนอย่างว่าเราวิ่งไปที่ไหน ก็เราวิ่งเพื่อถึงที่นั่นแล้วจะได้หยุดวิ่ง หรือว่าเรากินอะไรเข้าไปก็กินเพื่อให้อิ่มและได้หยุดกิน เพราะว่าเราจะทำอะไรก็ตามเราทำเพื่อให้สำเร็จตามความต้องการแล้วจะได้หยุดทำ แล้วที่เราจะหยุดวิ่ง หยุดกิน หยุดทำ ได้หรือไม่นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราโง่เราไม่รู้เราก็ถูกหลอกให้วิ่ง ให้กิน ให้ทำได้ตลอดเวลา แต่สำหรับความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นมีมากแต่เพียงพอไปในทางที่จะทำให้เกิดความหยุดแก่สิ่งที่ดิ้นรนหรือเป็นทุกข์นั้นได้ ดังนั้นจึงได้บัญญัติความดับสนิทแห่งความทุกข์หรือโลกหรือชีวิตนี้ไว้อีกส่วนหนึ่ง ระบุไปยังการดับต้นเหตุของชีวิตนั่นเอง คือดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม หรือหยุดอำนาจของสิ่งเหล่านั้นเสียให้ได้ อย่าให้มีอำนาจปรุงแต่งต่อไป มันก็เกิดความหยุดขึ้นมาเอง ถ้าเราถือว่ามันเหมือนกับการเดินทาง เราก็ต้องถือว่าเดินเพื่อไม่ต้องเดินเพราะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เมื่อเรารู้ว่าจุดหมายปลายทางของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตคือความหยุดสงบเป็นชีวิตใหม่ เป็นชีวิตสดชื่น เป็นชีวิตจริงแท้ เป็นชีวิตอนันตกาลนิรันดรอะไรทำนองนี้แล้ว เพราะไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความอยู่โดยไม่ต้องมีการอยู่อย่างนิรันดรดังนี้แล้ว เราก็ต้องมีวิธีทำที่เป็นพิเศษเฉพาะเรื่องนั้นโดยตรง นี่แหละคือหลักธรรมในส่วนที่เป็นหัวใจหรือเป็นสาระ เป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา จะทำให้ชีวิตถึงจุดหมายปลายทางและหยุดลงได้ ไม่เวียนว่ายไปในวัฏสงสารอีกต่อไปดังนี้
ผู้ที่มองเห็นความจริงข้อนี้จะมองเห็นว่า ทุกคนเกิดมาเพื่อนิพพาน แต่พอพูดอย่างนี้อาจารย์ตามศาลาวัดก็ร้องว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ยอมให้เชื่อ และคนส่วนมากก็ไม่ยอมเชื่ออยู่แล้ว มันก็สมน้ำหน้ากันพอดีตรงที่ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ว่า ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อถึงที่สุดของความดิ้นรน คือความสงบนั่นเอง แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ยืนยันไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ที่สุดของชีวิตของโลกของความทุกข์นั้นมีอยู่ เป็นจุดหมายปลายทางที่สังขารทั้งหลายจะระงับดับลงเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่ดับหรือที่สิ้นแห่งกรรมทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วดังนี้ การประพฤติกระทำเพื่อให้ชีวิตถึงจุดหมายปลายทางนี้ไม่ใช่กรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว แต่เป็นกรรมที่ ๓ คือเป็นกรรมที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าดีหรือชั่ว และกรรมซึ่งทำที่สุดให้แก่กรรมทั้งสอง คือ กรรมดี กรรมชั่ว ถ้ายังหลงในกรรมชั่วหรือแม้แต่หลงในกรรมดีอยู่เพียงใดแล้ว ก็ไม่อาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เพราะมันไม่เอร็ดอร่อย ไม่สนุกสนาน ไม่โลดโผนเหมือนผลของกรรมดี กรรมชั่ว อันมีแต่ความบริสุทธิ์สะอาดสว่างไสวแจ่มแจ้งสงบเย็น ซึ่งคนทั่วไปรู้สึกหรือว่าเดาหรือว่าสันนิษฐานเอาว่ามันเป็นของจืดชืด ไม่มีรสมีชาติอะไร สู้หมกอยู่ในกรรมชั่วก็ไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น มันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าท่านพยายามที่จะมองตามวิธีการของทางฝ่ายวิญญาณแล้วก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตนี้มีความมุ่งหมายในที่สุดก็คือ ความหยุดและความสงบ เช่นเดียวกับเราเดินทางเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทาง แล้วไม่ต้องเดินอีกต่อไปนั่นเอง เดี๋ยวนี้ถ้าเรามองดูเราก็กำลังเดินอยู่แล้ว เราก็ต้องเดินให้มันถูกทาง ให้ถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อจะไม่ต้องเดินอีกต่อไป ถ้าเราไม่เดินหรือเดินไม่ถูกทาง เราก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาข้อที่ ๓ นี้ได้
ดังนั้นจึงต้องสนใจว่าอะไรเป็นทางซึ่งเป็นคำตอบของปัญหาข้อสุดท้ายหรือข้อที่ ๔ ซึ่งถามว่าชีวิตนี้จะถึงจุดหมายปลายทางได้โดยวิธีใด เมื่อพูดถึงคำว่าทาง ขอให้เข้าใจว่าเป็นคำพิเศษ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งในโลกกะเขาด้วยคำหนึ่งเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านเรียกสิ่งที่ประเสริฐสุดที่ช่วยมนุษย์ได้นี้ว่าทาง คือมรรคมีองค์ ๘ เรียกพรหมจรรย์ทั้งหมด เรียกศาสนาทั้งหมด เรียกการปฏิบัติทั้งหมด หรือเรียกวิธีการอาจทำความดับทุกข์ทั้งหมดนี้ว่าทาง มรรคมีองค์ ๘ สำคัญอยู่ที่คำว่าทาง ภาษาทางนามธรรมนี้เลียนแบบมาจากภาษาทางรูปธรรม คือทางเดินที่คนเดินอยู่ตามธรรมดา ที่เราเดินกันตามธรรมดาทั่วไปจุดหมายปลายทาง ยืมเอาคำ ๆ นี้มาใช้ในเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ การปฏิบัตินี้จึงได้ชื่อว่าทาง เรียกโดยภาษาบาลีว่า มรรคมีองค์ ๘ คำว่าทางที่เราเหยียบย่ำกันด้วยตีนนั้นมีความหมายศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้
ทีนี้มองดูไปในทางไกลออกไปในลัทธิของเล่าจื๊อ ซึ่งถือว่าเป็นลัทธิสูงสุด ประเสริฐสุดในสุดฝ่ายตะวันออก ลัทธินี้ก็เรียกสิ่งสูงสุดทั้งหมดในลัทธินั้นว่าทาง คือคำว่าเต๋า ซึ่งแปลว่าทาง อะไร ๆ ก็คือเต๋า อะไร ๆ ออกมาจากเต๋า การกระทำก็คือเต๋า จุดหมายปลายทางก็คือเต๋า ก็สำคัญอยู่ที่การประพฤติให้ถูกนั้นเรียกว่าเต๋า คำว่าทางมีเกียรติสูงสุดอย่างนี้ ยังมีคำในฝ่ายลัทธิอื่น เช่น ลัทธิโซโรอัสเตอร์ ก็ใช้คำว่าทางเป็นคำเรียก คำสั่งสอนทั้งหมด หรือการปฏิบัติทั้งหมด แม้แต่พระเยซูก็พูดว่าเราคือทาง พระเยซูระบุตัวเองว่าเป็นทาง คนโง่ ๆ ก็คงจะเข้าใจผิดจนคิดไปเหยียบย่ำบนพระเยซู นั้นนะเป็นความโง่ของคนเหล่านั้นซึ่งแม้จะเป็นพวกคริสเตียนเสียเองก็ได้ ที่พระเยซูพูดว่าเราก็คือทางนั้นหมายความว่า เราคือทางที่จะให้ถึงพระเป็นเจ้าซึ่งเราเป็นผู้แทนมา เขาจะต้องทำอย่างพระเยซู คือเป็นอย่างพระเยซู แล้วเขาก็จะเข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับพระยะโฮวาห์หรือพระเป็นเจ้าหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกตามแบบของเขา โดยอาศัยพระเยซูเป็นทางอย่างนี้ ยิ่งมองดูไปในลัทธิฮินดูที่แปลก ๆ ออกไปก็ล้วนแต่ให้เกียรติยศหรือความหมายพิเศษแก่คำว่าทางในลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นคำว่าอริยมรรคซึ่งแปลว่าทางอันประเสริฐคำนี้เป็นคำที่สูงสุดกว่าคำทั้งหลาย อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางสูงสุด ทางของพระอริยเจ้า ทางเป็นที่ออกไปจากข้าศึกคือกิเลส หรือจะแปลกันในรูปไหนก็ตาม ก็ยังคงเป็นทางอยู่นั่นเอง ไม่เป็นอะไรมากไปกว่านั้น สำหรับในพระพุทธศาสนาระบุสิ่งที่เรียกว่าทางนี้ก็เป็นทางสำหรับไปสู่จุดปลายทางคือนิพพาน คือสภาพที่ปราศจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง สิ่งที่เรียกว่าทางนั้นประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการด้วยกัน คือล้วนแต่เป็นความถูกต้องทั้งนั้น
องค์ที่ ๑ เรียกว่ามีความเข้าใจหรือความคิดเห็นถูกต้อง องค์ที่ ๒ เรียกว่ามีความดำริใฝ่ฝันปรารถนาถูกต้อง องค์ที่ ๓ เรียกว่ามีการพูดจาถูกต้อง องค์ที่ ๔ เรียกว่ามีการกระทำทางกายถูกต้อง องค์ที่ ๕ เรียกว่าการดำรงชีพเลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง องค์ที่ ๖ มีความพากเพียรพยายามอย่างถูกต้อง องค์ที่ ๗ มีความรำลึกควบคุมตัวเองอย่างถูกต้อง องค์ที่ ๘ มีสมาธิ คือกำลังแห่งจิตใจ ความแน่วแน่แห่งจิตใจอย่างถูกต้อง รวมกันแล้วก็เป็นความถูกต้อง ๘ ประการรวมเป็นอันเดียวกันเหมือนกับเอามาฟั่นเป็นเชือกเส้นเดียวกัน เป็นเชือกพิเศษมีเกลียว ๘ เกลียว เพราะว่าต้องทำไปพร้อม ๆ กัน จะทำคนละอย่างคนละคราวหรือแยกกันอยู่นั้นไม่ได้ จะต้องทำไปพร้อม ๆ กันเหมือนกับเชือก ๘ เกลียวจึงจะสำเร็จเป็นสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคนี้ขึ้นมา และก็เมื่อประโยชน์แก่การที่จะถึงจุดหมายปลายทาง ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าถ้าคนเดินอยู่ตามทางนี้หรือชีวิตนี้เดินอยู่ตามทางนี้ มันก็หมายถึงการเป็นอยู่โดยถูกต้อง ถูกต้องทั้ง ๘ ประการ รวมกันเป็นความถูกต้องอันเอกอันเดียว
เมื่อมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้องดังนี้แล้ว กิเลสทั้งหลายมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นต้นนั้น ไม่มีโอกาสที่จะได้รับอาหาร อวิชชาก็มีอาหาร ตัณหาก็มีอาหาร อุปาทานก็มีอาหาร กิเลสชื่อไหนก็มีอาหารกิน มันต้องกินมันจึงจะอยู่ได้ แต่ถ้าเราไปอยู่เสียตามทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว มันตัดหนทางการมาแห่งอาหารของกิเลสเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง มันก็เบาบางลงและสิ้นไปในที่สุด มันไม่ปรุงความรู้สึกที่เป็นชีวิตอีกต่อไป ไม่ปรุงตัวกูของกูทำนองนั้นอีกต่อไป มันจึงหยุดเรียกว่าถึงจุดหมายปลายทางได้เพราะการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในขณะที่จะปรินิพพาน คือรวมอยู่ในพวกพินัยกรรมสุดท้ายของพระองค์เหมือนกันว่า สเจเมภิกขุ สัมมาวิหรยง อสัญโยโลโก อรหันเตหิ อัสสะ (ชั่วโมงที่ 1.07.17) ถ้าพระภิกษุเหล่านี้จัดเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ฟังดูแล้วก็สั้นเหลือเกินว่า ถ้าอยู่กันอย่างถูกต้องแล้วโลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เราต้องเข้าใจว่าที่พระพุทธเจ้าท่านว่าอยู่กันโดยชอบหรือโดยถูกต้องนั้น คืออยู่อย่างอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างที่ปิดหนทางแห่งอาหารของกิเลสเสียอย่างสนิท ไม่มีทางที่จะให้ได้อาหารจนมันเหือดแห้งและสิ้นไป แล้วก็เป็นพระอรหันต์คือผู้ถึงที่สุดของการเดินทางได้ด้วยเหตุนี้
นี้คือใจความสั้น ๆ ย่อ ๆ เป็นคำตอบหรือเป็นคำอธิบายของคำว่าทาง ซึ่งจะต้องสนใจกันไว้เป็นพิเศษในฐานะเป็นตัวแท้ของศาสนาของพุทธศาสนารวมทั้งของศาสนาอื่น ๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้วนั้นด้วย รวมความแล้วก็คือเป็นของวิเศษประเสริฐสุดของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งจะพิสูจน์ให้เห็นในการบรรยายต่อ ๆ ไปข้างหน้าว่าประเสริฐสูงสุดอย่างไร
ในที่นี้เราจะพูดกันแต่เฉพาะความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างเดียวให้เป็นการเพียงพอเสียก่อน โดยที่ถือว่าความเข้าใจไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งโดยเฉพาะของพวกเราทุกคน ที่ควรจะนำมาปรับทุกข์หรือหารือกันในโอกาสพิเศษเช่นโอกาสนี้ จึงได้นำมาชี้แจงจำแนกแจกแจงแสดงให้เห็นโดยทุกแง่ทุกมุมของความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าความเข้าใจถูกต้อง แม้ในการทำบุญชนิดที่จะเป็นการต่ออายุหรือล้ออายุให้กำเนิดประโยชน์ได้ ก็อยู่ตรงที่ความเข้าใจถูกต้อง เราสามารถต่ออายุให้ยืนยาวไปได้เพราะความเข้าใจถูกต้อง เราจะล้ออายุเล่นหรือจะอยู่เหนือความครอบงำของอายุนั้น ก็ยิ่งต้องอาศัยความเข้าถูกต้องในระดับสูงสุดของพระพุทธเจ้าทีเดียว ฉะนั้นการที่เราจะพูดกันถึงเรื่องความเข้าใจถูกต้องกันให้ละเอียดลออทุกแง่ทุกมุมนี้คงจะเป็นการกระทำที่เรียกว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะได้กล่าวกันต่อไปจนกว่าจะรู้สึกว่าเพียงพอเพื่อจะกำจัดเสียซึ่งความโง่ ความขี้ขลาด ความอ่อนแอ แม้แต่จะอดข้าวซักวันหนึ่งก็ยังไม่กล้า ดังนี้นั่นเอง ขอยุติการบรรยายหรือการแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับธรรมะในโอกาสนี้ไว้ในตอนนี้ชั่วระยะหนึ่งก่อน จนกว่าจะได้จะถึงโอกาสของการบรรยายในตอนบ่ายอีกครั้งหนึ่ง