แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาในอภิลักขิตกาล ที่กำหนดไว้เฉพาะสำหรับวิสาขบูชา เนื่องด้วยพุทธบริษัททั้งหลายประชุมกันเพื่อเป็นที่ระลึกแก่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมมติให้เป็นวันที่สำคัญกว่าวันทั้งหลายในพระพุทธศาสนา ดังที่ได้ทราบกันทั่วไปแล้ว สิ่งที่จะต้องระลึก ก็คือข้อที่ว่า วันนี้ เป็นวันประสูติ เป็นวันตรัสรู้ เป็นวันปรินิพพาน ตรงเป็นวันเดียวกันในวันเพ็ญวันนี้ นี้เป็นคติของฝ่ายพุทธบริษัท ฝ่ายเถรวาท ส่วนฝ่ายมหายานนั้นหาได้ถือว่าตรงเป็นวันเดียวกันเช่นนี้ไม่ วันประสูติก็วันอื่น วันนิพพานก็วันอื่น นี่ควรจะคิดดูว่า เป็นเพราะเหตุอย่างไร ถ้าฝ่ายเถรวาทนี้ถือว่าวันประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ตรงเป็นวันเดียวกันเช่นนี้ ก็คงจะมีการยืนยันว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ มีเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ คือตรงเป็นวันเดียวกันถึง ๓ อย่างเช่นนี้ ดังนี้ก็ได้ พวกอื่นที่ถือลัทธิอื่น ศาสนาอื่นคงจะไม่เชื่อก็ได้ ส่วนฝ่ายมหายานก็รอดตัวไป ก็ไม่ได้กล่าวว่าเหตุการณ์ทั้ง ๓ นี้ตรงเป็นอันเดียวกัน ที่นี้พวกเราทั้งหลายฝ่ายเถรวาทนี้จะมีคำตอบว่าอย่างไร ถ้ามีบุคคลผู้ใดจะไม่เชื่อ ทางที่จะตอบ ก็ย่อมจะตอบได้ ไม่มีใครมาบังคับเรา เราจะตอบว่าเหตุการณ์ทั้ง ๓ นี้ตรงเป็นเวลาเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนหกนี้ก็ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นอัฉริยมนุษย์ เป็นบุคคลพิเศษ สิ่งเหล่านี้ก็มีได้ แต่ถ้าเราจะไม่คิดอย่างนั้น จะคิดอย่างที่เรียกกันว่าแหวกแนวดูบ้าง ก็ยังจะทำได้ คือจะต้องคิดไปข้อ ไปถึงข้อที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าประสูติกับสิ่งที่เรียกว่าตรัสรู้ และสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้น พวกคนเขลาๆ อาจจะเห็นว่าแตกต่างกันมากทีเดียว จึงได้เป็นขึ้นมาถึง ๓ อย่าง แต่พวกที่มีสติปัญญา เข้าถึงใจความของพุทธศาสนาแล้ว อาจจะมองเห็นชัดทีเดียวว่า การประสูติก็เป็นเช่นเดียวกับการตรัสรู้ การตรัสรู้ก็เป็นเช่นเดียวกับการปรินิพพาน การปรินิพพานก็เป็นเช่นเดียวกับการประสูติ เพราะว่าทั้ง ๓ อย่างนี้มีความหมายหรือใจความสำคัญที่เหมือนกันอย่างไม่ผิดแปลกแตกต่างกันเลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานก็เป็นสิ่งที่มีในวันเดียวกันได้ เพราะว่ามี เพราะว่าหมายความว่าเป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน นี้ทำให้เกิดหลักเกณฑ์บางอย่างบางประการขึ้น คือหลักเกณฑ์ที่จะมองให้เห็นกันว่า ถ้ามองผิว ๆ เผินๆ ข้างนอกนั้นมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้ามองด้วยสติปัญญาของพระอริยเจ้าให้ลึกซึ้งถึงที่สุดแล้ว มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จะยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน เช่นเรื่อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คนโง่ ๆ ก็เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น ๓ อย่าง คนฉลาดก็เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเพียงอย่างเดียว นี่แล้วแต่ว่าความเขลาหรือความฉลาดนั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร คนตามธรรมดาปกติที่เรียกว่าปุถุชนนั้น ต้องเรียกว่าเป็นคนเขลาเป็นธรรมดา ภาษาบาลีเรียกว่าคนพาล นาทีที่ 0.07.29 คำว่า พาล (พา-ละ) นี้แปลว่า อ่อน ไม่ได้แปลว่าคนคดโกงเหมือนอย่างความหมายในภาษาไทยในปัจจุบันนี้ คำว่า พาล แปลว่าคนอ่อน เด็กเพิ่งคลอดก็เรียกว่า พาลในทางกาย คนที่โง่ ไม่มีสติปัญญา ก็เรียกว่า พาล ในทางจิตใจ คำว่า พาล (พา-ละ) หรือ พาล หรือคนพาลนี้ แปลว่าคนที่ยังอ่อน ยังไม่แก่ ยังไม่เจริญ ถ้ายังไม่เจริญทางร่างกายก็เหมือนกับเด็กอ่อน ถ้าไม่เจริญทางจิตใจก็เหมือนกับคนโง่ เพราะฉะนั้น คนพาลกับบัณฑิตนั้นเหมือนกันไม่ได้ คนพาลจะต้องเห็นอะไรไปอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่บัณฑิตเห็น ทีนี้เราเอาพระรัตนตรัยมาให้ดู คือเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาให้ดู คนพาลก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง บัณฑิตก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจะต้องมีความแน่ใจในข้อนี้กันเสียก่อนจึงจะได้ คือจะเห็นได้ต่อไปว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของคนธรรมดาสามัญนั้น แยกกันเด็ดขาดเป็น ๓ อย่างทีเดียว
พระพุทธเจ้า หมายถึง บุคคลอีกคนหนึ่งที่เกิดที่เมืองกบิลพัสดุ์ ในราชตระกูล แล้วก็ออกบวช แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตัวของท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ปรินิพพานไปแล้วตั้ง ๒,๐๐๐ ปีเศษ เหลือแต่พระพุทธรูป เป็นต้น เป็นเครื่องระลึกถึงท่าน บุคคลนั้น เรียกว่า พระพุทธเจ้า ส่วนพระธรรมนั้น คือ คำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ได้ตรัสรู้อย่างไร ก็สั่งสอนให้คนอื่นรู้ตาม ปฏิบัติตาม พระธรรมนี้เป็นนามธรรม ไม่มีวัตถุ รูปร่าง ตัวตน แต่แล้วก็ถูกจารึกลงไปในกระดาษ ในศิลา ในอะไรต่าง ๆ ให้เป็นวัตถุ ให้มีตัวมีตนขึ้นมา คนก็เลยเข้าใจพระคัมภีร์เป็นต้น นั้นว่าเป็นพระธรรม นี้เป็นอย่างเขลาที่สุด แม้คนที่จะถือว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระธรรม นี้ก็ยังไม่ใช่คนที่ฉลาดสักกี่มากน้อยเลย สำหรับพระสงฆ์นั้น คือผู้ได้ฟังแล้วปฏิบัติตาม ก็หมายถึงบุคคลเป็นคน ๆ จำนวนใหญ่ จำนวนมาก อีกจำนวนหนึ่ง ความเข้าใจอย่างนี้เป็นของคนธรรมดาที่เรียกว่า คนพาล คนเขลา ตามปรกติของปุถุชน ส่วนคนที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ของพระอริยเจ้านั้น มองลึกไปกว่านั้น คือมองลึกเข้าไปข้างใน จนเห็นว่าหัวใจของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร หัวใจของพระธรรมเป็นอย่างไร หัวใจของพระสงฆ์เป็นอย่างไร ในที่สุดก็เกิดไปเห็นว่าหัวใจของสิ่งทั้ง ๓ นี้คือสิ่งเดียวกัน เลยเหมือนกัน ถ้าจะมองพระพุทธเจ้าให้ถึงหัวใจ ก็จะต้องมองว่าร่างกายนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า ขันธ์ ทั้ง ๕ ขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นเปลือก ที่นี้อะไรที่มีอยู่ในนั้น คือ คุณธรรม ความรู้แจ้ง ความบริสุทธิ์สะอาด ความสว่างไสว ความสงบเย็น ที่จะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ความสะอาด ความสว่าง ความสงบนี้ มีอยู่ในหัวใจของท่าน เลยเอาหัวใจนี่เป็นหัวใจของพระพุทธเจ้า หรือเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง จึงได้เกิดคุณธรรมที่หมายถึง คุณสมบัติมีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นต้น ที่นี้ก็ไปมองกันที่พระธรรม พระคัมภีร์ก็เป็นวัตถุ เสียงก็เป็นเพียงเสียง เสียงที่แสดงธรรมนี้ก็เป็นเพียงเสียง ข้อความที่มีอยู่ในเสียงนั้น ความหมายที่มีอยู่ในเสียงนั้น ก็เป็นเพียงความหมาย แต่ว่าในนั้นยังมีลึกเข้าไปอีก คือว่าข้อความเหล่านั้น เมื่อมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติแล้วมีผลอย่างไรขึ้น นั้นเรียกว่าหัวใจของพระธรรม ในทางคำสอน หัวใจของพระธรรมก็คือ คำสอนเรื่อง ความสะอาด สว่าง สงบ ในทางปฏิบัติหัวใจของพระธรรมก็คือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ ในทางปฏิเวธคือผลของการปฏิบัติ ก็ได้แก่ตัว ความสะอาด สว่าง สงบ ที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัตินั้น เพราะฉะนั้น หัวใจของพระธรรม จึงได้แก่ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นตัวพระธรรมแท้ มันก็เหมือนกันกับหัวใจของพระพุทธเจ้า
ที่นี้ก็มาถึงพระสงฆ์ บุคคลซึ่งออกบวช ตัวบุคคลนั้นไม่ใช่พระสงฆ์ เป็นเพียงเปลือก แต่เมื่อเรียนรู้และปฏิบัติ สำเร็จประโยชน์เป็นคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาในจิตใจ ถูกต้องตามสมควรแก่ธรรมแล้ว นั่นแหละคือหัวใจ คือหัวใจของพระสงฆ์ที่มีอยู่ในพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ศึกษาและปฏิบัติในเรื่องความสะอาด สว่าง สงบ จนในหัวใจของท่านมีความสะอาด สว่าง สงบ พระสงฆ์ก็มีหัวใจอย่างเดียวกันกับหัวใจของพระพุทธ พระธรรม ดังนี้ ดังนั้นผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิตจึงกล่าวว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ อย่างนี้ ต่างกันแต่โดยทางวัตถุ แต่เป็นอันเดียวกันโดยใจความ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เคยมีถึง ๓ อย่างนั้น ก็กลายเป็นเพียงมีอยู่แต่อย่างเดียว นี้เรียกว่าเป็นความแตกต่างระหว่างการมองหรือความเข้าใจของคนพาลกับบัณฑิต คนพาลย่อมมองเห็นไปอย่างหนึ่ง บัณฑิตย่อมมองเห็นไปอย่างหนึ่ง คนพาลที่เคยมองเห็นเป็น ๓ อย่างนั้นแหละ ขอให้ขยันศึกษา คือมองให้ละเอียด ให้สุขุม ให้ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ไม่เท่าไรก็จะเห็นอย่างเดียวกับที่บัณฑิตเห็น คือกลายเป็นบัณฑิตไปได้ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายไม่ควรจะประมาทในเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างข้อหนึ่งก่อน ว่าสิ่งที่เคยมองกัน ๓ อย่างนั้น มองข้างนอกอย่างผิวเผิน ถ้ามองข้างในแล้วก็เป็นอย่างเดียวกัน
ที่นี้เราก็มาถึงเหตุการณ์อันสำคัญทั้ง ๓ ประการดังที่กล่าวแล้ว คือการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ทั้ง ๓ อย่างนี้มันจะเหมือนกันอย่างไรได้ คือจะเป็นของสิ่งเดียวกันอย่างไรได้ คนเขลา ๆ ก็จะต้องแย้งยัน ไม่ยอมโดยเด็ดขาด ถ้าประสูติหมายถึงการเกิดจากท้องมารดา ตรัสรู้หมายถึงการออกไปบวชแล้วได้รู้ ปรินิพพานนั้น คือแตกตายทำลายขันธ์ ไม่มีเชื้อเหลือ อย่างนี้แล้วจะให้เหมือนกันอย่างไรได้ นี้มันก็เหมือนกันกับที่ได้กล่าวมาแล้วในกรณีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ที่มีปัญญามองเห็นการประสูติเป็นอย่างเดียวกันกับการตรัสรู้ ก็เพราะว่า เขามองไปในแง่ที่ว่า การประสูติก็ตาม การตรัสรู้ก็ตาม หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า การประสูติมีความหมายในข้อที่ ประสูติมาเพื่อเป็นประพุทธเจ้า หรือเกิดขึ้นในโลกเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ ก็คือการเป็นพระพุทธเจ้าในขั้นสุดท้าย การประสูติจึงเป็นการเป็นพระพุทธเจ้าในขั้นตระเตรียม แม้จะพูดว่า การที่จุติลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธเจ้า นี้ก็ต้องเรียกว่า เป็นการเป็นพระพุทธเจ้าในขั้นตระเตรียม เหมือนกับเมล็ดพืช ที่เราได้เมล็ดพืชมา เพราะหว่านลงไป มันก็ต้องขึ้นหน่อ แล้วก็เติบโตเป็นต้นไม้ จนเป็นต้นไม้หนุ่ม เป็นต้นไม้ที่สามารถจะมีดอกมีผลในที่สุด นี้เราเรียกว่าการเกิดขึ้นของต้นไม้นั้น ทั้งนั้น การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ให้เห็นเสียว่าประสูติก็เพื่อตรัสรู้ การตรัสรู้ก็เป็นผลเนื่องมาจากการที่เกิดขึ้นมาในโลก แต่ว่าเพียงเท่านี้ ก็ยังไม่ใช่ ไม่ใช่ความฉลาดอะไรมากมายนัก จะต้องนึกไปถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าประสูติ หรือพระพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ มันมีอะไรเกิดขึ้นมา ถ้ามองดูให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่า แสงสว่างเกิดขึ้นมาในโลกนี้ บรรดาแสงสว่างทั้งหลาย ไม่มีแสงสว่างอันใดยิ่งไปกว่าธรรมะ หรือพระธรรม ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าพระธรรมยังไม่ส่องแสง หรือยังไม่ส่องแสงถึงที่สุดได้ เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ธรรมะก็ส่องแสงได้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้ากับการเกิดขึ้นของพระธรรมนั่นแหละ เป็นของอย่างเดียวกันเสียแล้ว และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ต้องไปพูดถึงการประสูติจากท้องมารดาก็ยังได้ คือไปเพ่งเล็งกันแต่ที่ว่าพระธรรมเกิดขึ้นแล้ว ทีนี้การปรินิพพาน การเสด็จปรินิพพานหรือนิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าไปเพ่งเล็งกันที่ร่างกายของพระพุทธเจ้า แตกดับลงไป มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุ ไม่ใช่เรื่องของคนมีปัญญา เรื่องของคนมีปัญญาเขาไม่ไปสนใจกับเรื่องกายเน่าที่จะต้องแตกทำลายไปตามธรรมดา แต่เขาจะสนใจกันที่ความดับของสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความทุกข์ หรือกิเลส ขึ้นชื่อว่าความดับนี้ หมายถึง ดับทุกข์ ดับกิเลส ต้องดับกิเลสจึงจะดับทุกข์ เพราะฉะนั้นสำคัญอยู่ที่ดับกิเลสดีกว่า ที่เคยพูดว่าดับทุกข์นั้นก็เป็นโฆษณาชวนเชื่อให้คนสนใจ เพราะว่าคนเราเกลียดทุกข์ และอิดหนาระอาใจต่อความทุกข์อยู่ทั้งนั้น พอพูดว่าดับทุกข์ก็สนใจ แต่พอพูดว่าดับกิเลสก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องและไม่ค่อยสนใจ จึงต้องพูดว่า ความดับแห่งทุกข์ คำว่าความดับนี้ คือคำว่า นิพพาน นิพพานแปลว่า ความดับสนิท ไม่มีอะไรเหลือ การเล็งถึงดับความทุกข์และดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือ นี่แหละคือกิริยาอาการที่พระธรรมได้สำแดงฤทธิ์เดชออกมาอย่างปรากฏชัดและถึงที่สุดแล้ว ฤทธิ์เดชของพระธรรมก็คือ ดับกิเลสและความทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า นิพพานหรือ ปรินิพพานนั้น ไม่มีความหมายอะไรที่แท้จริงยิ่งไปกว่าการดับกิเลสและความทุกข์ มีธรรมะที่ไหนและเมื่อไร ก็ย่อมจะดับกิเลสและดับความทุกข์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อสักว่าเกิดขึ้นในโลกเท่านั้น นิพพานก็ทำหน้าที่ดับกิเลสและความทุกข์ของสัตว์เสียแล้ว อย่างน้อยก็ดับกิเลสและความทุกข์ของพระสิทธัตถะก่อนคนอื่น กิเลสและความทุกข์ของพระสิทธัตถะดับไปแล้ว นิพพานแล้ว ตั้งแต่ตรัสรู้ เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เรียกว่าตรัสรู้ กับสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ก็มีเนื้อความอย่างเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน มีหัวใจอย่างเดียวกัน ตรงเป็นอันเดียวกัน คือการเกิดขึ้นของธรรมะบดขยี้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสหรือความทุกข์นั้นให้สูญหายไป ไม่เหลือหลอ นี้คือสิ่ง ๆ เดียวที่ได้เกิดขึ้นจริง คือธรรมะปรากฏขึ้นในโลก แล้วก็ดับกิเลส ดับความทุกข์ ไม่เหลือหลอ การประสูติก็ดี การตรัสรู้ก็ดี การปรินิพพานก็ดี มีความหมายเพียงอย่างเดียวที่ตรงนี้ คือธรรมะเกิดขึ้นในโลก เพื่อดับกิเลสและความทุกข์ หรือจะสมมติว่า เป็นแสงสว่างกำจัดความมืดในโลกนี้ให้หายไปก่อน เหมือนกันทั้งนั้น แล้วแต่เราจะเปรียบธรรมะนี้ ว่าเหมือนกับอะไร หรือได้แก่อะไร ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำตนให้เป็นผู้ดำเนินตามรอยของพระอริยเจ้า คือมองอะไรในแง่ลึกให้เสมอไป อย่าได้หยุดสุด0.24.48ชะงักลงอยู่เพียงเท่านั้น คือเท่าที่เป็นอยู่ จนกระทั่งตายไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันคืนล่วงไป ๆ เราจะต้องฉลาดขึ้นทุกวัน เดือนหนึ่งล่วงไป ๆ ก็ต้องฉลาดขึ้นทุกเดือน ปีหนึ่ง ๆ ล่วงไป ก็ต้องฉลาดขึ้นทุกปี เดี๋ยวนี้วิสาขะมาถึงอีกหนหนึ่งแล้ว ก็เรียกว่าปีหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นวิสาขะปีนี้ของเราควรที่จะฉลาดกว่าวิสาขะปีกลาย ถ้าผู้ใดไม่คิดอย่างนั้น ไม่คิดอย่างนี้ คนนั้นคือคนที่จะขุดหลุมฝังตัวเอง ให้เป็นหลักตอที่ปักแน่นอยู่ในวัฏสงสาร ไม่เขยื้อน และก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่าที่รู้อยู่ในบัดนี้ และในอดีต และทั้งในอนาคตก็จักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงเปรียบบุคคลชนิดนี้ว่า เป็นหลักตอที่ปักแน่นอยู่ในวัฏฏะ นี้เป็นสิ่งที่น่าละอายมาก นี้เป็นคำด่าที่หยาบคายที่สุดในพระพุทธศาสนา ถ้าถูกด่าว่า เป็นหลักตอปักแน่นอยู่ในวัฏฏะนี่ ควรจะรู้สึกว่า ได้รับความเจ็บปวดยิ่งกว่าความด่า คำด่าทั้งหลาย ที่เขาด่า ๆ กันอยู่ในโลกทั้งหมดทั้งสิ้น และเดี๋ยวนี้ความเป็นคนพาลมีมากเกินไป เลยไม่รู้สึกเจ็บ แม้จะมีใครมารุมกันด่า ว่าเป็นหลักตอปักแน่นอยู่ในวัฏฏะ ก็ยังจะยิ้มเฉยอยู่ก็ได้ บางทีจะชอบใจเสียด้วยซ้ำไปก็ได้ นี่แหละลักษณะของคนพาล ขอให้สังเกตดู ว่าเราอยู่ในจำนวนนั้นกับเขาด้วยคนหนึ่งหรือไม่ ถ้ารู้สึกว่ารวมอยู่ในพวกนั้นด้วยคนหนึ่งแล้ว ก็ควรจะละอายให้มาก นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า หิริและโอตตัปปะอันสูงสุด อย่าไปรู้จักแต่หิริ-ตัปปะ หิริโอตตัปปะของเด็กเล่น ๆ เหมือนทำอะไรให้เขาหัวเราะเยาะได้ ก็ละอาย หรือจะนุ่งห่มให้มิดชิดเพราะกลัวความละอายอย่างนี้ ล้วนแต่เป็น หิริ โอตตัปปะ ของเด็กเล่น ชนิดของเด็กเล่น ชนิดเด็กอมมือ ถ้าเป็นหิริ โอตตัปปะ ของพุทธบริษัทที่แท้ ที่ถูก ที่จริงแล้ว ต้องละอายให้มากต่อการที่ตนไม่ก้าวหน้าไปตามทางธรรมในพระพุทธศาสนาให้ยิ่งขึ้นไปทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ด้วยเหตุดังนี้จึงได้กล่าวว่าวันวิสาขะปีนี้ ขอให้เป็นความสะอาด สว่าง สงบ ที่ยิ่งไปกว่าปีก่อนด้วยกันจงทุกคน
การพิจารณาเห็นความสำคัญเพียงอย่างเดียว คือความที่ธรรมะเกิดขึ้นโลกนี้ ว่านี่แหละเป็นหัวใจของการประสูติ นี่แหละเป็นหัวใจของการตรัสรู้ และนี่แหละเป็นหัวใจของปรินิพพาน แล้วเราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมพระอาจารย์ทั้งหลายในกาลก่อนจึงได้กล่าวว่า การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานนี้ มีในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือน ๖ ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็ต้องหันไปคิดอย่างที่คิดกันอยู่ เชื่อกันอยู่โดยมาก ว่ามันบังเอิญด้วยความอัศจรรย์ เพราะความเป็นอัจฉริยมนุษย์ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีในวันเดียวกันก็ได้ ท่านทั้งหลายจะชอบอย่างไหน หรือจะต้องตอบคำถามของบุคคลเหล่าอื่นในลักษณะเช่นไร ก็จงรู้สิ่งที่ถูกที่ควรสำหรับท่านทั้งหลาย อาตมานำมากล่าวในโอกาสเช่นวันนี้ ก็เพื่อจะซักซ้อมความเข้าใจที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเกี่ยวกับวิสาขบูชา
ที่นี้เราจะได้พิจารณากันดูต่อไปถึงข้อที่ว่า การเกิดขึ้นของธรรมะ ซึ่งเป็นหัวใจของประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้น มันหมายถึงอะไรกันแน่ ธรรมะชนิดไหนเกิดขึ้นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะระลึกนึกถึงธรรมะที่เป็นแสงสว่าง ที่ทำลายความโง่ ความเขลา ซึ่งเปรียบเหมือนกับความมืด คิดอย่างนี้ดี เพราะว่าการคิดอย่างนี้ มันเป็นการคิดเรื่องของเราเอง เรื่องที่กำลังเกิดอยู่กับเนื้อกับตัวของเราเอง ไม่ใช่เรื่องของพระคัมภีร์ที่จะต้องมัวท่อง มัวจด มัวจำ มัวถก มัวเถียงกัน ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้มาจับปัญหากันที่ปัญหาจริง ๆ ที่เกิดอยู่แก่เนื้อแก่ตัวของเราจริง ๆ คือความโง่ ความหลง ความเป็นคนอ่อน ความเป็นคนเขลา หรือที่รวมเรียกสั้น ๆ ว่าความเป็นคนพาล หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ปุถุชน คำว่าคนพาล แปลว่าคนอ่อนดังที่กล่าวมาแล้ว และหมายถึงอ่อนในทางจิตใจ ในทางวิญญาณ คือโง่ ที่นี้ปุถุชนนั้น แปลว่า คนหนา ปุถุ แปลว่า หนา ทีนี้ หนา หมายถึง ความหนาข้อนี้หมายถึงความมืดที่หุ้มห่อจิตใจ หนามากจนตามองอะไรไม่เห็น ตา คือสติปัญญา หรือสติปัญญาของจิตนี้เปรียบเหมือนดวงตา ที่นี้มีไม่ได้เพราะอวิชชาหรือความมืดหุ้มห่อหนาเกินไป ความที่มีอวิชชาอย่างหนาเกินไปจนจิตไม่อาจจะส่องแสงได้นี่แหละ คือความหมายของคำว่า ปุถุชน นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายตั้งแต่กาลก่อนพระพุทธเจ้าก็ดี หรือพระพุทธเจ้าเองก็ดีได้ยืนยันเป็นอันเดียวกันว่า สิ่งที่เรียกว่า จิต นี้ เป็นสิ่งที่รู้อะไรได้ในตัวมันเอง ที่เขาเรียกว่า มน (มะ-นะ) หรือ มโน นี้ คำนี้แปลว่า รู้ หมายความว่า ธรรมชาตินี้เป็นธรรมชาติที่รู้ได้ในตัวมันเอง เพราะมันมีคุณสมบัติรู้ เช่นเดียวกับว่า ไฟมีคุณสมบัติร้อน หรือมีคุณสมบัติเผาสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปสัมพันธ์ ไฟมีคุณสมบัติอย่างตายตัวอย่างนี้ ที่นี้สิ่งที่เรียกว่าจิต หรือธาตุจิต หรือมโนธาตุนี้ก็เหมือนกัน มีคุณสมบัติตายตัวอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า รู้ เพราะว่ามันมีแสงสว่างอยู่ในตัวมันเอง แต่ที่นี้ถ้าหากว่าเอาโคลนไปหุ้มให้หนา ๆ เข้าไว้ มันก็ส่องแสงออกมาไม่ได้ เหมือนว่าเราเอาเพชรสักเม็ดหนึ่งมาหมกโคลนไว้ รัศมีของเพชรจะส่องออกมาได้อย่างไร ที่แท้มันก็ส่องอยู่ แต่ว่ามันถูกปิดบังไว้ด้วยโคลน เราจึงไม่มองเห็นรัศมีของเพชร จิตนี้ก็เหมือนกันถ้าอย่ามีสิ่งที่เรียกว่าความโง่เข้าไปปกปิดหุ้มห่อแล้ว จิตนี้ก็รู้อะไรได้ ตามคุณสมบัติในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราจึงมีอยู่แต่เพียงว่าช่วยแกะโคลนนั้นออก เราไม่มีหน้าที่ ๆ จะทำจิตให้มีรัศมี เพราะว่าจิตมีรัศมีของมันเองแล้ว เรามีหน้าที่เพียงแกะโคลนออก ให้จิตเป็นอิสระ มันก็ส่องรัศมีของมันเอง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ยาก มันจึงไม่เหลือวิสัย ระลึกดูว่า พอเราเกิดมาเป็นเด็กอ่อนนอนอยู่ในเบาะ ทำไมเราจึงรู้อะไรได้ รู้จักกินนม รู้จักอย่างนั้น รู้จักอย่างนี้ จนกระทั่งรู้จักคลาน รู้จักเดิน อย่างไฟเรารู้เมื่อไหร่ว่ามันร้อน แต่ไม่เท่าไหร่เราก็รู้ เพราะเราเคยไปจับเข้าที่ไฟแล้วมันก็ร้อน แล้วก็หดมือ แล้วก็ฉลาด ว่าไฟนี้ร้อนไม่ควรจับ นี้ก็เรียกว่าแกะโคลนออกไปทิ้งจนได้ชิ้นหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งแล้ว เด็กคนนี้จึงมีปัญญารู้ว่าไฟร้อน ในเรื่องอื่นก็เหมือนกันหมด กี่สิบเรื่อง ร้อยเรื่อง พันเรื่อง มันก็เจริญเป็นสติปัญญาขึ้นมาด้วยลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น เมื่อเป็นดังนี้ คงจะมีผู้คิดสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น มันก็ต้องฉลาดกันไปเรื่อยจนบรรลุนิพพานในเวลาอันสั้น แต่ที่จริงมันไม่เป็นอย่างนั้น มันแกะโคลนอย่างหนึ่งทิ้งออกไปได้เป็นส่วนน้อย แต่มันเพิ่มโคลนอย่างอื่นเข้ามาใหม่เป็นส่วนมาก คือเมื่อเด็กนั้นเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา ถ้าเผอิญไปลุ่มหลงในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเพศแล้ว ขอให้รู้เถิดว่า โคลนขนาดภูเขาเลากาได้ไหลมาท่วมทับจิตใจดวงนั้นแล้ว เป็นอวิชชาที่งอกงามมากขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า ดังนั้นจึงวกวน หลีกห่างไปจากทางของนิพพาน ไม่ได้ฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้นอย่างสม่ำเสมอแต่ต้นจนปลายเหมือนตั้งแต่แรกเกิดมา ถ้าหากว่าคนเราได้ฉลาดจริงตามลำดับอย่างสม่ำเสมอเหมือนตั้งแต่แรกคลอดออกมาเป็นทารกแล้ว จริงทีเดียวไม่กี่ปีก็จะต้องบรรลุนิพพาน แต่เดี๋ยวนี้พอยิ่งโตขึ้นมาไม่ทันจะเป็นรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ก็เริ่มหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส บางประเภท เฉออกไปนอกทางแล้ว พอเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาเต็มที่ ก็ลุ่มหลงในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รสนี้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นคนละคนไปแล้ว ทำอะไรไม่ถูก ต้องเป็นโรคเส้นประสาทก็เพราะเหตุนี้ วิกลจริตก็มี ฆ่าตัวตายก็มี เพราะเหตุที่ลุ่มหลงในสิ่งใหม่ ๆ นี้ แทนที่จะเรียกว่าเจริญไปตามทางธรรม ก็กลับเจริญไปในทางตรงกันข้าม คือเป็นไปในทางอวิชชา เพราะฉะนั้นยิ่งเดือน ยิ่งปี ก็ยิ่งมีโคลนหุ้มห่อมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนจิตไม่สามารถจะส่องรัศมีอะไรออกมาได้ ถ้าจะมีรัศมีส่องออกมาก็เป็นรัศมีของโคลน ที่ทำให้ถือตัว ถือตน ยกหู ชูหาง เป็นตัวกู เป็นของกู ฟัดเหวี่ยงกัน เบียดเบียนกัน โดยทางร่างกายบ้าง โดยทางสติปัญญาบ้าง และก็เพิ่มความทุกข์ให้แก่บุคคลนั้นอีกเพราะไม่ใช่รัศมีของจิตที่บริสุทธิ์ แต่เป็นรัศมีของโคลนที่เข้ามาหุ้มห่อจิต ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็เข้าใจได้ทันทีว่ามันเริ่มเดินผิดทางเสียแล้ว ทีแรกก็ตั้งตนมาดี เกิดมาจากท้องแม่ก็ฉลาดขึ้นทุกวัน เมื่อยังอยู่ในท้องแม่นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์ คล้าย ๆ จิตใจพระอรหันต์ แต่พอออกมาจากท้องแม่ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นมีความรู้ ความเข้าใจ ความเจริญ ในลักษณะที่จะตะครุบเอาสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้มาเป็นของตน จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว มีอำนาจมีกำลังที่จะทำอะไรได้ตามใจตัวเอง ตามใจตนเอง ก็เลยกระทำตามใจตนเองยิ่งขึ้น เราจึงได้เห็นบุคคลหลงใหลในเรื่องกามารมณ์ หลงใหลในเรื่องเงิน หลงใหลในเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียงจนเรียกได้ว่า หลงใหลในเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ แทนที่จะหลงใหลในความสะอาด สว่าง สงบ ๓ ส นั้น มาหลงใหลในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เป็น ๓ ก ตัว ก กับ ตัว ส ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ถ้าใครไม่รู้ ก็เป็นคนโง่ที่สุด ซึ่งเหลือวิสัยที่ใครจะช่วยอธิบายให้ได้ ถ้ารู้ว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินี้ เป็นอันตราย เป็นเหมือนกับสิ่งที่จะชักจูงจิตไปในทางผิดแล้ว ก็จะได้ระวังให้ดี คือจะได้มีปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินี้ ให้ถูกต้อง นี่แหละธรรมะมีประโยชน์ในส่วนนี้ ธรรมะจะมีประโยชน์ในการที่จะช่วยให้บุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรตินี้ให้ถูกต้อง แล้วไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเป็นโรคเส้นประสาท ไม่ต้องเป็นโรคจิต ไม่ต้องฆ่าตัวตาย เหมือนคนเขลาจำนวนมากมายที่ได้ตายไปแล้วเพราะความโง่ข้อนี้ เพียงเท่านี้ ธรรมะก็มีประโยชน์มีอานิสงส์ต่อเรา เหลือหลายยิ่งกว่าบุญคุณของบิดามารดา ยิ่งกว่าบุญคุณของผู้ที่รักใคร่เรารวมกันทั้งโลกด้วยซ้ำไป ถ้ามองเห็นบุญคุณของพระธรรมในข้อนี้แล้ว ก็ย่อมมองเห็นบุญคุณของพระพุทธเจ้า มองเห็นบุญคุณของพระสงฆ์ พร้อมไปในตัว ในคราวเดียวกัน และเหมือนกันเป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน จึงทำให้เห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นสิ่งๆ เดียวกันยิ่งขึ้นไปอีก ธรรมะนี้จะเป็นแสงสว่างช่วยให้เด็ก ๆ เดินถูกทาง ให้รู้จักเอาชนะ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือที่จะต้องเกี่ยวข้อง แล้วเด็กๆ ของเราก็มีสติปัญญา รู้จักเล่นกับไฟ ไม่ปล่อยให้ไฟเป็นอันตราย แต่กลับใช้ให้เป็นประโยชน์ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่จำเป็น เพราะว่าการเกิดมาในโลกนี้ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะร่างกายนี้มีต่อม Gland ต่าง ๆ อยู่เต็มไปทั้งตัว เจริญงอกงามขยับขยายออกไปตามหน้าที่ของธรรมชาติ ดังนั้นจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีความคิดนึกไปในทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นานาประการ แต่ว่ายังมีที่พึ่งอยู่อย่างหนึ่งคือธรรมะนี้ ถ้ามีความรู้เพียงพอแล้ว จะช่วยควบคุมให้เอาชนะสิ่งเหล่านั้นได้ คนหนุ่ม คนสาวที่มีธรรมะก็สามารถจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้ ควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ พ่อบ้าน แม่เรือน คนเฒ่าคนแก่ ก็ยิ่งเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้นไปอีก เป็นอันว่าเกิดมาทีหนึ่งตั้งแต่ต้นจนปลายล้วนแต่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ไม่ประกอบด้วยโทษเลย เพราะอาศัยแสงสว่างของธรรมะนี้ นี่แหละธรรมะมีอานิสงส์อย่างไรท่านทั้งหลายลองคิดดู วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน ทั้ง ๓ สถานนี้มีความหมายอยู่ตรงที่ ธรรมะได้เกิดขึ้นเป็นที่พึ่งแก่สิ่งที่มีชีวิต มีความนึก มีความคิดโดยเฉพาะคือมนุษย์เรา ให้เป็นผู้เอาชนะสิ่งที่เรียกว่า เป็นศัตรู เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคได้โดยประการทั้งปวง ถ้าจะพูดอย่างสมมติก็คือช่วยให้จิตใจนี้ยังคงเป็นจิตใจที่อิสระ ไม่ถูกหุ้มห่อด้วยโคลน คือ อวิชชา อวิชชา ตั้งไม่ติด เกาะไม่ติดเหมือนกับเพชร ที่เราคอยล้างไว้เสมอ โคลนจับไม่ติด ฝุ่นจับไม่ติด มันก็รุ่งเรืองอยู่ได้ เราจงศึกษาธรรมะให้ก้าวหน้าไป ในลักษณะที่จะช่วยให้จิตนี้เป็นอิสระยิ่งขึ้นทุกที คือ มีความก้าวหน้าไปในทางของความรู้ที่ถูกต้องที่แท้จริงยิ่งขึ้นทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่กี่ปีก็ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องรอว่าชาติหน้าหรือชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเมอเพ้อฝัน ไม่มีประโยชน์อะไร เราจงนึกถึงแต่เรื่องที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้เป็นอิสระ ให้มาก ให้เร็ว เท่าที่จะทำได้ แล้วก็จะเป็นจิตที่มีสติปัญญารู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่ไปหลงยึดมั่นนั่นนี่ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เพราะฉะนั้นหลักธรรมะที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา จึงมาสรุปรวมอยู่ที่คำสั้นๆ ว่า ไม่ยึดมั่น ถือมั่น
พระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นสรุปรวมอยู่ในคำสั้น ๆ ว่า ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ถ้าสอนก็สอนให้ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ถ้าปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น ถ้าได้ผลของการปฏิบัติก็คือไม่ยึดมั่น ถือมั่น โดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ถ้าเราไม่ยึดมั่น ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลสเหลือ ความยึดมั่นนั่นเองเป็นกิเลส เป็นต้นตอของกิเลส มาจากความโง่ความหลง คืออวิชชา คนเราขาดศีล ก็เพราะยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตของเราไม่เป็นสมาธิ ก็เพราะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ที่ไม่ควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หรือคนเราไม่มีปัญญา เป็นคนโง่ ก็เพราะกำลังยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่ ถ้าไม่มีความยึดมั่น ถือมั่นอย่างเดียวแล้ว คนเราก็มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ให้สังเกตดู ให้พิจารณาดู ให้สอบสวนดูตัวเอง ก็อาจจะรู้ได้ว่า ในขณะใดที่จิตของเราเป็นอิสระผ่องใส ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ในเวลานั้นศีลของเราก็สมบูรณ์ จิตของเราก็เป็นสมาธิชนิดที่แท้จริงและถูกต้อง และเวลานั้นแหละเป็นเวลาที่เราฉลาดที่สุด หรือได้รับผลของความฉลาดที่สุด จงระวังจิตให้เป็นอิสระ ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่ง ไม่มีอะไรมาปรุง อยู่เสมอไปก็จะสมบูรณ์อยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เสมอไป จนกว่าจะถึงโอกาสหนึ่งซึ่งถึงที่สุดเด็ดขาดและตายตัวลงไป จึงยืนยันในที่ทุกแห่งว่าหัวใจของพุทธศาสนา คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ซึ่งแปลว่า ธรรม ทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นหัวใจพุทธศาสนา คำสอนทั้งหมด สรุปลงในข้อนี้
ทีนี้เราลองพิจารณากันถึงคำว่า ธรรมทั้งปวง ที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นได้แก่อะไร คำว่า ธรรมทั้งปวงในที่นี้หมายถึง สิ่งทุกสิ่ง ถ้ายังจับหลักไม่ค่อยจะได้ ยังเข้าใจยาก ก็อยากจะแนะไปตามหลักตามแนวที่เรียกว่าเป็นหลักวิชชา หรือหลักวิทยาศาสตร์ก็ได้ว่า ธรรมหรือสิ่งทั้งปวงนี้ หมายถึง สิ่งใหญ่ ๆ แบ่งออกไปได้เป็น ๓ ประเภท ตัวคำว่าธรรมหรือสิ่งนี้แบ่งออกไปได้เป็น ๓ ประเภท ประเภทแรก คือตัวธรรมชาติต่าง ๆ ประเภทที่ ๒ คือ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติเหล่านั้น ประเภทที่ ๓ คือหน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น คำว่าธรรมชาตินี่ เราหมายถึงทุกสิ่ง จะเป็นรูปธรรม วัตถุ สิ่งของก็ได้ จะเป็นนามธรรม คือ จิตใจ ความรู้สึกคิดนึกก็ได้ หรือจะเป็นตัวการกระทำก็ได้ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวกที่เป็นเหตุก็ได้ พวกที่เป็นผลก็ได้ ล้วนแต่เรียกว่าเป็นธรรมชาติทั้งนั้น หรือจะเรียกว่าพวกที่ปรุงแต่ง และพวกที่ไม่ปรุงแต่งเลยก็ได้ นี้ก็เรียกว่าธรรมชาติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรหมด จนกระทั่งถึงพระนิพพานเป็นที่สุดนี้ก็เรียกว่าธรรมชาติ มันมีลักษณะเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ก็ได้แก่ทุกสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางรูปธรรมและทางนามธรรม ที่นี้พวกที่ ๒ คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น ก็ได้แก่กฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปอย่างนั้น สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลนั้นเป็นธรรมชาติ แต่กฎแห่งเหตุผลนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงดูว่า วัตถุ ร่างกาย จิตใจนี่มันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานี้ มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และทำนิพพานให้เกิดขึ้น เป็นธรรมชาติอันสุดท้าย นี้เรียกว่ารู้ตัวธรรมชาติ รู้ตัวกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่นี้พอรู้ ๒ ข้อนี้แล้ว ก็รู้จักเลือกว่าเพียงเท่าไรเป็นหน้าที่ ๆ เราจะต้องทำ เพราะว่าเราไม่จำเป็นจะต้องไปทำทั้งหมด ไปเกี่ยวข้องทั้งหมด ไปศึกษาทั้งหมด เราศึกษา หรือรู้ หรือเกี่ยวข้องแต่เท่าที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องทำเพียงเพื่อไม่ให้มีความทุกข์ ดังนั้นเราจึงเลือกได้แต่ในส่วนที่เป็น เญยยธรรม คือธรรมที่จะนำสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ โดยเฉพาะก็คือระเบียบปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง เพื่อให้อยู่ในโลกนี้โดยไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นี้เรียกว่าหน้าที่ ทั้งศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นหน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องรู้และปฏิบัติ กระทั่งถึงการทำมาหากินให้สะดวกสบายอยู่ได้ในโลกนี้ก็เรียกว่า หน้าที่ เพราะเป็นสติปัญญารวมอยู่ในพวกของปัญญาที่จะต้องรู้ให้ถูกต้องและทำไปให้ถูกต้อง จะได้มีความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์ ความประเสริฐสูงสุดมันอยู่ตรงที่ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ไม่เป็นทุกข์อย่างแท้จริงได้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นความถูกต้องทั้งนั้น เป็นหลักพระพุทธศาสนาทั้งนั้น คือเป็นหน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งนั้น เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว คือว่า รู้ตัวธรรมชาติ รู้ตัวกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ รู้หน้าที่ ๆ มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น นี่เรียกว่าธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีความหมายอย่างนี้ ที่นี้ที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นหมายความว่า อย่าได้ไปหลงเข้าใจไปในทางที่เกิดอุปาทาน เกิดมีตัวเราขึ้นมา เพราะเหตุที่รู้สึกคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ได้ก็เกิดความหลงไปว่า นี้เป็นตัวเราเพราะคิดรู้สึกคิดนึกเอาได้ตามชอบใจ แล้วก็มีความคิดขยับขยายออกไปว่า มีอะไรที่เป็นของเรา คือสิ่งที่เรารักใคร่พอใจนี้เป็นของเรา แล้วสิ่งใดที่เป็นอันตรายแก่ตัวเราหรือแก่ของ ๆ เรานี้เป็นศัตรูของเรา เราจึงเกิดความรักส่วนที่เราถูกใจ และเกิดความเกลียดในส่วนที่เราไม่ชอบ อย่างนี่เรียกว่าเป็นตัวเราขึ้นมาเต็มที่ เป็นอหังการ มมังการ ขึ้นมาอย่างเต็มที่ คือจิตถูกครอบงำด้วยอุปาทานหรือด้วยอวิชชาแล้วอย่างเต็มที่ ก็เกิดเป็นความทุกข์ นั่นคือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเรา ยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นทำนองนี้ ก็เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ข้อปฏิบัติข้อนี้มีหลักเกณฑ์เป็นอันเดียวกันตั้งแต่เบื้องต่ำที่สุดจนถึงเบื้องสูงที่สุด เบื้องต่ำที่สุด เช่น เรามีเงินมีทอง มีไร่ มีนา มีบุตร ภรรยา สามี ถ้ายึดมั่นจะต้องเป็นทุกข์ทันที ถ้าไม่ยึดมั่นก็ไม่มีความทุกข์เลย นั้นจงสัมพันธ์กัน จงเกี่ยวข้องกัน โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น หรือยึดมั่นถือมั่นแต่น้อยที่สุด ทั้งที่ในจิตใจมีความคิดที่จะยึดมั่นถือมั่นก็ต้องควบคุมไว้ อย่าให้เกิดการยึดมั่นถือมั่น ควบคุมไว้ได้เท่าไหร่ก็จะช่วยได้เท่านั้น คือมีความทุกข์น้อยลง หรือดับทุกข์ได้เท่านั้น คือว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเสียเลย ให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ควรเกี่ยวข้องทุกสิ่งแต่ว่าอย่าเกี่ยวข้องด้วยความโง่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น แต่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความฉลาด คือสติปัญญา สมมติว่า มีวัวควายอยู่ ๒ - ๓ ตัว ถ้าโง่ก็จะต้องร้องไห้เพราะวัวควายเหล่านั้น ถ้าฉลาดก็จะไม่ต้องร้องไห้เพราะวัวควายเหล่านั้น ที่ว่าโง่ก็คือยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของเรา มันก็ห่วง มันต้องวิตกกังวล แล้วถ้ามันสูญหายไปจริงก็ต้องร้องไห้ ส่วนคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่มีสติปัญญานั้น ก็เลี้ยงดูมันไปตามเรื่อง ใช้งานมันไปตามเรื่อง ถ้ามันสูญหายก็ไปตามมันมา ตามไม่ได้จริง ๆ แล้วก็ไม่ต้องเสียใจ หาเอาใหม่ นี้เรียกว่าไม่มีความทุกข์เลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนพาล คนเขลา ที่เป็นปุถุชนนี้ มีวัวก็ต้องเป็นทุกข์เพราะวัว มีบุตรก็ต้องเป็นทุกข์เพราะบุตร มีทรัพย์ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะทรัพย์ เพราะว่าเป็นคนพาล ส่วนคนที่เป็นบัณฑิตนั้นจะมีอะไรก็ไม่มีความทุกข์เพราะเหตุนั้น เพราะฉะนั้นจะมีเงินทอง ข้าวของ มีเกียรติยศ มีอะไรมากเท่าไหร่ก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น นี่แหละคือความแตกต่างกันระหว่างความยึดมั่นกับความไม่ยึดมั่น เมื่อพระพุทธศาสนานี้ต้องการจะสอนแต่เรื่องความดับทุกข์แล้ว จึงได้สอนแต่เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น คือสอนอย่าให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันเป็นมาเองแล้วได้โดยง่าย ตามธรรมชาติ คือเด็ก ๆ เกิดขึ้นมาฉลาด แต่แล้วก็ค่อย ๆ โง่ลง โง่ลง เพราะมีสิ่งที่มายั่วให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นทุกที มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ประณีตยิ่งขึ้นทุกทีมายั่วให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นไม่เท่าไร ไม่ทันจะเป็นหนุ่มเป็นสาวด้วยซ้ำไป เขาก็เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว จึงได้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่สอนกันอีกให้ยึดมั่นถือมั่น แต่ไปสอนสิ่งที่ตรงกันข้าม คือไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเหลือวิสัยในชั้นแรกก็สอนให้ยึดมั่นถือมั่นในลักษณะที่มีความทุกข์น้อยที่สุด คือเป็นไปในทางที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง แล้วจะเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นอย่างฉลาดสักหน่อย อย่างนี้ก็พอจะฟังได้ แต่เข้าใจว่ามันเป็นไปด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ที่แท้เราประสงค์จะไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ยังทำไม่ได้ เหมือนอย่างว่าพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ซึ่งเป็นอริยะบุคคล แต่ยังมีครอบครัว มีการครองเรือน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความยึดมั่นน้อยที่สุด คือด้วยจิตใจที่เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะในโทษของความยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ด้วยสติสัมปชัญญะอันนั้นแล้ว ก็ย่อมมีทุกข์น้อยที่สุด น้อยกว่าปุถุชนคนพาล เป็นไหน ๆ นี่แหละคืออานิสงส์ของความไม่ยึดมั่นถือมั่นในการที่จะเป็นอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร จะมี วัวควาย ไร่นา เกียรติยศ ชื่อเสียง ได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเหมือนเขาทั้งหลาย หรือไม่ต้องเป็นทุกข์เสียเลยก็ยังทำได้ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนักหนาอะไรเกินไป ความยึดมั่นถือมั่นในของภายนอกนี้ยังไม่เหนียวแน่นเท่ากับความยึดมั่นถือมั่นในภายใน เช่น ยึดมั่นตัวตนเป็นต้น ถ้าศึกษาให้สมควร ให้พอสมควรแล้ว ก็อาจจะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นได้มากทีเดียว จะปกติได้ในทุกกรณี มีอะไรมาทำให้ดีใจก็ไม่ดีใจตื่นเต้นไปตาม มีอะไรมาทำให้ทุกข์ร้อนก็ไม่ทุกข์ร้อนเลย นี้เรียกว่าได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนที่สุดแล้ว ความประเสริฐของธรรมะอยู่ที่นี่ และควรจะพูดว่าความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานก็รวมอยู่ที่นี่ รวมอยู่ที่ความฉลาด ทำไม่ให้เป็นทุกข์ในการที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ให้มีชิวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะเสมอไป อย่าได้เป็นผู้พ่ายแพ้เลย มีความทุกข์เมื่อไรก็เรียกว่าเป็นผู้แพ้เมื่อนั้น มีกิเลสครอบงำเมื่อไร ก็เรียกว่าเป็นผู้พ่ายแพ้เมื่อนั้น การอยู่อย่างเป็นผู้พ่ายแพ้นั้น ไม่สมควรที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้ามีความหมายว่าเป็นผู้ชนะ ชนะทุกสิ่งทุกประการ สาวกของท่านจะมากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ไปอย่างนี้ ไม่เป็นการเหมาะสมแม้แต่ประการใด ท่านจงมีหิริ และมีโอตตัปปะให้มากในการที่จะเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างนี้ อย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เลย คนโดยมากเห็นแก่ปาก แก่ท้อง ก็พ่ายแพ้ในเรื่องเหล่านี้เสียแล้ว เห็นแก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เล็ก ๆน้อย ๆ ก็พ่ายแพ้แก่สิ่งเหล่านี้เสียแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศตรงกันข้ามก็เป็นความพ่ายแพ้ไปตั้งแต่ต้นมือ อย่างหลับหูหลับตา ไม่รู้สร่างเสียแล้ว กลายเป็นเรื่องพ่ายแพ้ไปสิ้น ไม่เหมาะสมกับคำว่าเป็นพุทธบริษัท ไม่เหมาะสมกับเวลาที่เรียกว่า วิสาขปุรมี ซึ่งเป็นโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของธรรมะ ที่เราเรียกกันว่า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายจงกำหนดจดจำข้อความสั้น ๆ ว่า หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น รวมอยู่ที่คำสั้น ๆ ๒ - ๓ พยางค์ว่า ไม่ยึดมั่น ถ้าขยายความไปว่า ไม่ยึดมั่นสิ่งใด ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นว่าเป็นตัวกู หรือเป็นของ ๆ กู นี่เท่านี้ก็พอแล้ว ปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะขาดศีลแม้แต่ประการใด มีศีลโดยอัตโนมัติ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง มีของศักดิ์สิทธิ์ กายสิทธิ์ คือ หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ในตน มีของสิ่งเดียวเท่านั้นก็คุ้มได้หมดไม่ขาดศีลข้อไหน และยังแถมยังได้กำไรที่เป็นสมาธิ และเป็นปัญญาอยู่ในตัวมันเองดังนี้ นี้คืออานิสงส์ของธรรมะที่มีหัวใจเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง
พระพุทธภาษิตมีสืบต่อไปว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ เมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ถูก ถูกเพิกถอนแล้ว เมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงถูกเพิกถอนแล้ว สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ วาทบถทั้งหลายทั้งปวงก็ควรจะถูกเพิกถอนด้วย ก็ถูกเพิกถอนด้วย ธรรมทั้งปวงถูกเพิกถอนแล้วหมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของเราแล้ว โดยความเป็นตัวเราหรือของเราแล้ว คำพูดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นก็เป็นการถูกเพิกถอนไปด้วย หมายความว่า เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ เราก็ต้องพูดตามภาษาของชาวโลกนี้จึงจะฟังกันถูก เช่น ยังจะต้องพูดว่าเรา ว่าเขา ว่าของคุณ ของฉัน ของแก อย่างนี้อยู่ตามธรรมดา แต่ว่าในคำพูดเหล่านั้นได้ถูกเพิกถอนความหมายแล้วด้วยเหมือนกัน แม้ปากจะพูดว่าของเรา ก็ไม่มีความหมายที่เป็นของเราโดยทางจิตใจเป็นแต่เพียงปากพูดว่าตามภาษาชาวบ้าน นี้เรียกว่า วาทบถนั้นไม่เหมือนอย่างก่อนแล้ว เมื่อก่อนนี้เราพูดอย่างไร ความยึดถือของเราเป็นอย่างนั้น เช่น พูดว่านี้ของฉัน นี้บ้านของฉัน มันก็ได้ยึดถือว่าเป็นบ้านของฉันจริง ๆ แต่เดี๋ยวนี้แม้จะพูดว่าบ้านของฉัน ก็เป็นการพูดตามธรรมเนียม เป็นการพูดตามภาษาชาวบ้าน ชาวโลก หรือตามภาษากฎหมาย หรือตามภาษาอะไรก็แล้วแต่จะเรียก แต่ว่าในวาทบถนั้นเป็นเพียงคำพูดล้วน ๆ ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นเหลืออยู่เลย ดังนั้นจึงเรียกลูก เรียกหลาน เรียกทรัพย์สมบัติ เรียกอะไรต่าง ๆ ว่าเป็นของเรา ว่าเราต้องดูแลคุ้มครอง ว่าเราต้องเกี่ยวข้อง ว่าเราต้องใช้สอย อะไรต่าง ๆ นานาได้สารพัดอย่างได้เหมือนกับทีแรก หากแต่ว่าความยึดมั่นถือมั่น มิได้มีอยู่ในคำพูดเหล่านั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นได้ถูกเพิกถอนเสียจากอุปาทานแล้ว คำพูดเหล่านั้นก็ถูกเพิกถอนแล้วด้วยเหมือนกัน ทั้งที่กำลังใช้อยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อจะต้องพูดกันตามธรรมเนียม ตามภาษาชาวบ้านอย่างไรก็จงพูดไปตามนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องประดิษฐ์คำพูดอะไรขึ้นมาให้ลำบากยุ่งยากขึ้น บางทีก็เป็นความล้มเหลว เป็นของน่าขัน เป็นของใช้ประโยชน์อะไรไปได้ในที่สุด คงพูดไปตามธรรมเนียม ตามภาษาของชาวโลกแต่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แม้คนอื่นจะมีความยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่หมดความยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงไม่ยึดมั่นถือมั่น และคงพูดกันเข้าใจและรู้เรื่องอยู่นั่นเอง เรื่องยึดมั่นจึงกลายเป็นยึดมั่นตามธรรมเนียม ตามสมมติ ตามที่ชาวโลกก็ต้องใช้พูดกัน ส่วนจิตใจนั้น มีแสงสว่างเต็มที่ จึงไม่มีความยึดมั่นแต่ประการใด ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ทั้งภายนอกและภายใน ในภายในคือกิเลสทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นไม่ได้ ในภายนอกนั้นก็ไม่ยุ่งยากลำบากในการที่จะสังคมกับคนอื่น เรียกว่าเป็นบัณฑิตแท้ คือมีสติปัญญาดำเนินกิจทั้งหลายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่มีอะไรบกพร่องสมกับที่เป็นพุทธบริษัท สาวกของพระพุทธเจ้า คือฉลาดถึงที่สุด และฉลาดจนคนอื่นไม่รู้ด้วยซ้ำไป หมายความว่า ปุถุชนคนพาลทั้งหลายก็มิได้รู้ว่าคน ๆ นี้เป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับบุคคลเหล่านี้ กับบุคคลคนนี้ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ทำปัญหายุ่งยากอะไรให้เกิดขึ้นเลย การที่ไม่ได้ทำปัญหาอะไรที่ยุ่งยากให้เกิดขึ้นนี่แหละ เป็นลักษณะเฉพาะ เป็นลักษณะที่ถูกต้องของพุทธบริษัท ของพระพุทธเจ้า ถ้าใครได้ทำปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้แล้ว เรียกว่ายังเป็นคนเขลาอยู่ตามเดิม ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ทั้งของตนเอง และทั้งของบุคคลอื่น ดังนั้น เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็จงเข้าใจเรื่องสุดท้ายอีกเรื่องหนึ่ง คือว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในคำพูดเหล่านั้นด้วย คืออย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่นจนพูดอะไรกับใครไม่ได้ เพราะว่าไม่ยอมพูดว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของเรา ของเขาอย่างนี้ มันพูดอะไรกับใครไม่ได้ แต่จะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรแล้วคงพูดกันกับคนทั้งหลายได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วท่านก็ยังพูดว่า ของเราตถาคตบ้าง ของเธอทั้งหลายบ้าง เหล่านี้อยู่นั่นเอง แต่ว่าวาทบถเหล่านั้น หรือระเบียบแห่งคำพูดเหล่านั้นได้ถูกเพิกถอนเสียแล้วจากอุปาทานเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นตรงที่ควรยืนยันกำชับเป็นอันดับสุดท้ายว่า สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ วาทบถทั้งหลายก็ถูกเพิกถอนแล้วดังนี้ ขอให้กำหนดจดจำหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ตามหัวข้อที่ได้นำมาแสดงแล้วในวันนี้ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ เมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงถูกเพิกถอนแล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ ระเบียบแห่งการพูดจาทั้งหลายก็เป็นอันถูกเพิกถอนแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นดังนี้ด้วยกันทุก ๆ คน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้รับ ได้ฟัง ได้เข้าใจ สิ่งซึ่งเป็นหัวใจของพระธรรมอันเป็นความหมายสำคัญเพียงคำเดียว ของคำว่า การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีได้มีแล้วในโอกาสแห่ง วิสาขปุณณมี คือวันคล้ายวันนี้ ซึ่งเราจะได้ประชุมกันแสดงออกมาซึ่งความเคารพ ความเลื่อมใส ความพอใจ ความยินดี ปิติ ปราโมทย์ในธรรมนั้น เพื่อส่งเสริมธรรมะนั้นให้แพร่หลายออกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง โดยสมควรแก่คติวิสัย ไม่มีอะไรที่ควรทำยิ่งไปกว่านี้ สำเร็จเป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ท่าน เป็นประโยชน์อย่างโลกนี้ และเป็นประโยชน์อย่างโลกอื่นครบถ้วนทุกประการ โดยนัยดังวิสัชนามา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้