แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะสมควรลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เนื่องด้วยวิสาขบูชาเป็นวันอภิลักขิตกาล กำหนดถึงการประสูติ การตรัสรู้และการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ควรที่พุทธบริษัททั้งหลายจะได้ตั้งใจ ได้กระทำในใจให้แยบคายเป็นพิเศษให้สมควรแก่กัน วันอันเป็นอนุสรณ์เครื่องรำลึกทั้งหลายในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่มากด้วยกัน แต่ว่าไม่มีวันใดจะสำคัญเท่ากับวันเช่นวันนี้ คือวันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน มีความหมายว่า ถ้าปราศจากเสียซึ่งอาการประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีศาสนาเกิดขึ้นในโลก ไม่ได้มีพระพุทธศาสนาปรากฏเกิดขึ้นในโลกนั่นเอง ดังนั้นจึงถือว่าวันอันเป็นอภิลักขิตกาลเช่นวันนี้ เป็นวันพิเศษอย่างยิ่ง ควรจะทำในใจถึงความหมายอันนี้ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งด้วยกันทุกคน เพราะว่าการระลึกนึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพิเศษในกรณีเช่นนี้ และในกาละเช่นนี้ จะเป็นเครื่องช่วยให้บุคคลเกิดศรัทธาปสาทะในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าในการประพฤติปฏิบัติและพอใจในผลอันจะพึงได้จากการปฏิบัตินั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นการทำให้ใกล้ชิดพระศาสนา เป็นการทำให้ถึงพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้นนั่นเอง จึงสมควรที่จะกระทำในใจให้แยบคายเป็นพิเศษดังที่กล่าวแล้ว
ธรรมเทศนาในวันนี้ จะอาศัยหัวข้ออันเนื่องด้วยการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนสำคัญ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น มีบทบาลีว่า อิธะตะถาคะโต โลเกอุปปันโน อะระหังสัมมา สัมพุทโธ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งมีใจความว่า พระตถาคตบังเกิดขึ้นแล้วในโลกเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้ คำว่าพระตถาคตเกิดขึ้นในโลกดังนี้ นี้ฟังดูก็คล้ายกับว่าจะไม่มีความหมายอันลึกซึ้งอะไร แต่บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมพิจารณาเห็นความหมายอันลึกซึ้งและกว้างขวาง จนกระทั่งเห็นชัดว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นหมายถึงอะไร ดังจะได้วิสัชนาเป็นลำดับไป
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นที่สุดหรือคนที่ถือเอาวัตถุเป็นประมาณก็จะเล็งถึงข้อที่พระพุทธเจ้าประสูติจากพระครรภ์มารดา ถ้าสูงไปกว่านั้นก็จะหมายถึงการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาได้ เรียกว่าการเกิดขึ้นในโลก ถ้าลึกซึ้งไปกว่านั้น ก็จะเห็นได้ว่า หมายถึงการที่พระธรรมอันเป็นเครื่องดับทุกข์นั้น ได้ปรากฏออกมาในโลก โดยการเปิดเผยแสดงกระทำให้แจ้งของพระพุทธเจ้านั่นเอง เพราะว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกมีความหมายก็ที่ตรงนี้ มีความหมายตรงที่ว่า ทำให้โลกนี้มีแสงสว่าง รู้ทิศทางที่จะเดินไป ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ดังนั้น การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็หมายถึง การที่สัตว์โลกทั้งหลายได้พบแสงสว่างของพระธรรมนั่นเอง ใจความสำคัญจึงอยู่ที่นี่ แสดงชัดอยู่แล้วว่า เกิดขึ้นในโลกเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า การที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นนี้ เล็งถึงการที่ประสูติจากพระครรภ์มารดาด้วย เล็งถึงการที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย และเล็งถึงการปรินิพพานคือ ดับทุกข์ ดับสังขารสิ้นเชิงด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีการดับทุกข์ ดับสังขารสิ้นเชิงแล้ว ก็ไม่ชื่อว่ามีการเกิดของพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นต้องมีการดับเย็นของความทุกข์ ของสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นเครื่องหมาย เหมือนกับว่าแสงสว่างเกิดขึ้นมาเพื่อจะดับความมืดให้หายไปดังนี้ นี่แหละคือความหมายอันแท้จริงอยู่ตรงที่มีผลทำให้ความทุกข์ในโลกนี้สูญสิ้นไป การสูญสิ้นไปของความทุกข์ทั้งหลายนั้นแหละคือการเกิดขึ้นของพระตถาคตในโลกนี้โดยสมบูรณ์ คำว่าปรินิพพานในที่นี้ หมายถึงความดับสิ้นเชิง หมายถึงการดับของความรู้สึกที่ว่ามีอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ โดยสิ้นเชิง ถ้าดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้สิ้นเชิงเมื่อไร ก็ชื่อว่ามีการปรินิพพานเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเราอย่าได้มุ่งหมายเอาการดับขันธ์ ซึ่งเป็นอาการของความตายโดยสมมตินั้นเป็นส่วนสำคัญเลย จงได้ถือเอาอาการแห่งความดับของความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวว่าตน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การดับของความทุกข์นั้น ซึ่งมีมูลมาจาก สังขารทั้งหลายปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าหากว่าหมายถึง ความดับทางวัตถุเนื้อหนังร่างกายแล้ว มันก็มีอยู่เป็นธรรมดา ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไร แต่ถ้าเป็นความดับ ของกิเลสตัณหา ของอุปาทาน หรือความสิ้นสุดไปแห่งกรรม และผลของกรรมดังนี้แล้ว ย่อมจะมีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องเฉพาะคน สำหรับพระพุทธเจ้าของเรานั้น เราจะมองเห็นได้ว่า การดับขันธ์ก็เป็นเช่นเดียวกับการดับขันธ์ของคนทั่ว ๆ ไป ผิดกันอยู่ก็แต่ว่า ในภายในพระหฤทัย หรือภายในความรู้สึกของพระองค์นั้น ได้ดับความมีตัวมีตน หมดจดสิ้นเชิงแล้ว จึงได้ชื่อว่าเป็นความดับที่เรียกว่า ปรินิพพาน ในที่นี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเรากล่าวกันว่า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนี้ ก็ควรเข้าใจคำว่าปรินิพพานนั้น ให้หมายถึงความดับทุกข์ หรือดับกิเลสสิ้นเชิงนั่นเอง การประสูติ หมายถึงข้อที่ร่างกายปรากฏออกมา เป็นการอุบัติขึ้นในทางร่างกาย ส่วนการตรัสรู้นั้น หมายถึง การรู้ คือแสงสว่างเกิดขึ้น ส่วนปรินิพพานนั้น หมายถึงข้อที่แสงสว่างนั้นทำหน้าที่ถึงที่สุด คือดับกิเลสสิ้นเชิงและความทุกข์ก็ดับไป จึงมีความดับเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นความดับที่แท้จริง ก่อนแต่นี้ ไม่เป็นความดับที่แท้จริง เพราะเป็นเพียงการดับของวัตถุ เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของสังขารในรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวว่า อิธะ ตะถาคะโต โลเกอุปปันโน พระตถาคตเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ก็ต้องหมายความว่า มีการประสูติ มีการตรัสรู้ และมีการปรินิพพาน เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ไม่ต้องหมายอะไรมากไปกว่าการเกิดขึ้นของ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน แต่เราเพ่งเล็งกันเฉพาะบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เราจึงเล็งถึงการประสูติจากพระครรภ์มารดา และเล็งถึงการที่พระพุทธเจ้าได้มีพระองค์ทรงทรมานอยู่ในโลกนี้ เป็นอยู่ในโลกนี้ คือเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า และทำหน้าที่สั่งสอนสัตว์จนตลอดเวลาของพระองค์ นี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก คือมีบุคคลผู้สามารถทำตนให้พ้นจากกิเลสแล้ว สอนการประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลาระยะยาวระยะหนึ่ง ซึ่งกล่าวกันว่ามีระยะเวลาถึง ๔๕ ปี เวลาตลอด ๔๕ ปีนี้ เป็นเวลาที่พระตถาคตปรากฏอยู่ในโลกและทรงแสดงธรรม เมื่อเป็นดังนี้ ก็ยังเป็นอันกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของพระธรรมนั้น รวมอยู่ในการเกิดขึ้นของพระตถาคตด้วย เพราะพระตถาคตเกิดมาเพื่อแสดงธรรม การเกิดขึ้นของพระตถาคตก็เท่ากับการเกิดขึ้นของพระธรรม การเกิดขึ้นของพระธรรมก็เท่ากับการเกิดขึ้นของพระตถาคต ดังบทพระบาลีว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ดังนี้เป็นต้น
ทีนี้ น่าจะนึกเลยไปถึงพระสงฆ์ ถ้านึกก็จะมองเห็นว่า ธรรมที่พูดนั้น ที่แสดง ที่กล่าว ที่ทำให้แจ้งนั้น ต้องทำแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหมู่ใดหมู่หนึ่งเป็นธรรมดา ถ้าไม่มีบุคคลผู้ฟังหรือผู้รับฟังแล้วจะแสดงได้อย่างไร ดังนั้น มีการแสดงธรรมที่ไหน ย่อมมีผู้ฟังและได้รับผลของการฟังที่นั่น ดังนั้น จึงมีพระสงฆ์รวมอยู่ด้วยในพระธรรม จึงมีครบทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นของพระตถาคตในโลกนี้จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้โดยปริยาย โดยแท้จริงแล้วย่อมเป็นอย่างนั้นเสมอ จะเกิดขึ้นแต่พระพุทธเจ้า ไม่แสดงธรรม อย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ แสดงธรรมโดยไม่มีผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงมีทั้งผู้แสดงธรรม และธรรมะที่แสดง และผู้ฟังธรรมะและปฏิบัติตามธรรมะนั้น ดังนั้นจึงครบทั้ง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุที่มีการเกิดของพระตถาคตขึ้นมาในโลกนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเราสวดพระพุทธคุณ หรือทำความรู้สึกที่เป็นความสังเวชว่า อิธะตะถาคะโต โลเกอุปปันโน ดังนี้แล้ว จงให้ถือเอาความหมายให้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่า มีอะไร ๆ เกิดขึ้นมาพร้อมกัน พ่วงอยู่ด้วยกัน ครบถ้วนบริบูรณ์ คือเป็นทั้งพระพุทธ ทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ในส่วนพระพุทธเจ้านั้น ก็มีอาการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในส่วนพระธรรมนั้น ก็มีทั้งที่เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม ในส่วน ส่วนพระสงฆ์นั้น มีทั้งผู้ที่ปฏิบัติสำเร็จลุล่วงถึงที่สุด และผู้ที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่เพื่อความลุล่วงถึงที่สุดในโอกาสต่อไป นี้คือความสมบูรณ์ของพระรัตนตรัยโดยแท้จริง ที่ได้เกิดขึ้นในโลกนี้โดยอาศัยบทบาลีเพียงแต่สั้น ๆ ว่า อิธะ ตะถาคะโต โลเกอุปปันโน
วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันจัดไว้เป็นที่ระลึกเฉพาะการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุด ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าหรือของพระตถาคต ซึ่งกล่าวอีกทีหนึ่งก็คือการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ของวัตถุทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังนี้ จะเรียกว่า เป็นวันสำคัญถึงที่สุดเพียงไรหรือไม่ ก็ขอให้ลองคิดดูด้วยตนเอง ด้วยกันจงทุกคน ให้สมกับที่วันนี้ เป็นวันที่ควรระลึกนึกถึงเป็นพิเศษจนเกิดความสลดสังเวชในธรรมที่เกี่ยวกับสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง และที่เนื่องกันอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สังเวคปริกิตตนปาฐะ แปลว่าคำกล่าวซึ่งเป็น เครื่องเรี่ยราย กระจายออกซึ่งความสลดสังเวช เป็นสิ่งที่ควรนำมาระลึกนึกถึงในวันนี้เป็นอย่างยิ่ง คือว่าเราควรระลึกนึกกันโดยละเอียดลออ ทุกแง่ ทุกมุม เพื่อให้เกิดความสลดสังเวชเนื่องกับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความสลดสังเวชอันใดที่มีอยู่ในโลกนี้ คงจะไม่มีความสลดสังเวชอันใดที่ยิ่งไปกว่าความทุกข์ หรือความที่สัตว์ทั้งหลายต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ และทั้ง ๆ ที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัตว์ทั้งหลายก็หาได้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักประพฤติปฏิบัติเพื่อถ่ายถอนซึ่งความทุกข์ได้ไม่ เพราะมีความประมาท มัวเมาหลงใหลมากเกินไป นี่แหละคือข้อที่ควรสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสเช่นวันนี้ ถ้าท่านผู้ใดยังไม่มีจิตใจประกอบไปด้วยความสลดสังเวชแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับบุคคลผู้นั้นที่จะทำวิสาขบูชา หรือบำเพ็ญบุญกุศลในวันวิสาขบูชา ถ้าท่านทั้งหลายอยากจะให้วันนี้เป็นวันวิสาขบูชาโดยแท้จริงแล้ว จะต้องทำความไม่ประมาท จะต้องทำความสลดสังเวช ในจิตในใจเต็มไปด้วยการระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คุยสนทนาพาทีสนุกสนานกันให้ฟุ้งไป หรือว่าจะเปิดบทเพลงขึ้นมาฟัง หรือว่าจะทำสนุกสนานรื่นเริงอย่างอื่น นั้นเป็นความประมาท นั้นเป็นความหลงใหลมัวเมา นั่นไม่ใช่เป็นความสลดสังเวช อันควรแก่อานุสสติในวันเช่นวันนี้ ดังนั้นในวันเช่นวันนี้ น่าจะมีการระลึกนึกถึงกันตั้งแต่ต้นวัน คือตั้งแต่เวลาเริ่มวัน ระลึกนึกถึงความที่สัตว์โลกทั้งหลายทนทรมานอยู่ในกองทุกข์ และมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดที่เขาถือเอาไม่ได้ เพราะมีความประมาทนั่นเอง และมีความสลดสังเวชตลอดลงมาถึงตัวเรา ถ้าหากว่าอยู่ในสภาพเช่นนั้นกับเขาด้วย ก็ควรจะสลดสังเวช หรือว่าถ้าเรายังได้รับประโยชน์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ น้อยเกินไป ก็ควรจะสลดสังเวช หรือว่าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันแต่เพียงปากว่า หรือว่าแต่เพียงพิธีรีตอง ดังนี้ก็ควรจะสลดสังเวช ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญาจริง มีความไม่ประมาทจริง ก็ควรจะจัดวันเช่นวันนี้ให้น่าดูกว่านี้ ให้มีประโยชน์มากกว่านี้ ให้เป็นวันที่ช่วยให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้ากันได้จริง ๆ จึงจะเป็นการบูชาด้วยปฏิบัติบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมกับวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งแปลว่า เป็นการบูชาเนื่องในโอกาสแห่งวิสาขฤกษ์ อันเป็นฤกษ์ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เดี๋ยวนี้ เรายังเห็นกันอยู่ว่า แม้กระทั่งในวันนี้ เราก็เต็มไปด้วยความประมาท หลงระเริงไปตามเรื่องตามราวของชาวบ้าน ชาวเมือง ตามธรรมดา จะนึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้นึกมากไปกว่าวันอื่น จะสวดมนต์ภาวนา ทำบุญให้ทาน ก็ไม่ได้นึกมากไปกว่าวันอื่น ดังนั้น จึงไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าวันอื่น อย่างนี้ก็ควรจะสลดสังเวชด้วยเหมือนกัน เมื่อมีความสลดสังเวชเพียงพอแล้ว จิตใจก็เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมะยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้สมกับที่วันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน คือพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นดับความทุกข์ของโลก ทำโลกนี้ให้สงบเย็นเป็นความดับ เมื่อความจริงมีอยู่ดังนี้ เราทุกคนมองแล้วก็จะสลดสังเวชขึ้นมาได้จริง ๆ ว่าเรายังมีความบกพร่องอยู่ ว่าเรายังมีความประมาทหลงใหลอยู่ ไปเห็นสิ่งที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ แล้วก็ละเลยสิ่งที่เป็นสาระอย่างยิ่งนั้นเสีย ถ้าอย่างไรในโอกาสต่อไป เราควรจะได้มีความสลดสังเวชที่แท้จริง มีความไม่ประมาทโดยสมควรแก่กรณี ประพฤติธรรมะให้เป็นอย่างยิ่ง ให้เป็นพิเศษ ในวันเช่นวันนี้ คือวันวิสาขบูชา โดยไม่ต้องมีใครว่ากล่าวชักชวนตักเตือน เราก็สมัครทำกันเอง ระเบียบวินัยที่ดีนั้น ไม่ควรจะมีการว่ากล่าวตักเตือนหรือบังคับ เพียงแต่บอกให้ทราบถึงสิ่งที่ควรกระทำ แล้วทุก ๆ คนก็ตั้งหน้าตั้งตากระทำ คอยระมัดระวังกระทำให้ถูกให้ตรงตามกาลสมัย จะเป็นวันวิสาขบูชาก็ตาม มาฆะบูชาก็ตาม อาสาฬหบูชาก็ตาม หรือวันอื่นใดก็ตาม เราย่อมทำในใจถึงวันเหล่านั้นไว้เสมอ เมื่อถึงเข้าจริงก็ประพฤติปฏิบัติให้สมควรแก่กัน และก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง ก็ควรจะเตรียมตัว เตรียมเนื้อ เตรียมใจ เตรียมสถานที่ เตรียมวัตถุสิ่งของให้พรักพร้อม แม้ที่สุดแต่ว่าธูปเทียนวันนี้ก็ยังไม่ได้หามา ยังต้องเที่ยววิ่งหาที่นั่นที่นี่ กว่าจะได้มาจุด มาบูชา นี้ก็เพราะว่าไม่ได้เตรียมไว้ตั้งแต่วานนี้ ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันวิสาขบูชานั่นเอง จึงได้ขาดตกบกพร่องแม้แต่ธูปแต่เทียนที่จะจุดขึ้นบูชา นี้จะไม่เรียกว่าความประมาทอย่างไรเล่า ถ้ามีความระลึกนึกถึงอยู่เสมอแล้ว อาการชนิดนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แม้แก่ภิกษุสามเณร ซึ่งโดยมากก็ไม่ได้นึกถึงวิสาขบูชา หรือนึกถึงก็นึกแต่พอเป็นพิธีรีตอง ไม่ได้นึกถึงกิริยาอาการอันเป็นที่ตั้งของความสลดสังเวชโดยแท้จริง คือการประสูติ ตรัสรู้และการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ที่ยังเป็นหมันไม่มีประโยชน์อะไรแก่สัตว์โลกที่โง่เขลา และประมาทหลงใหลมัวเมาเหล่านั้น เราจงพิจารณาดูออกไปให้กว้างขวางถึงเพื่อนมิตรสหายของเราเต็มบ้านเต็มเมือง ยังตั้งอยู่ในฐานะที่มีความประมาทอย่างไร แล้วนึกถึงเด็ก ๆ ที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวว่ายังตั้งอยู่ในฐานะของความประมาทอย่างไร แม้สุดแต่เด็กตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในการบังคับบัญชา อบรมสั่งสอนของเราก็ยังตั้งอยู่ในฐานะที่ประมาทอย่างไร เราก็ควรจะได้ชักชวนมิตรสหายและเด็ก ๆ ลูกหลานเหล่านั้น ให้ได้รู้ได้เข้าใจ ได้ประพฤติได้กระทำ ในทางของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ เดี๋ยวนี้ เราก็ยังเฉย ละเลยต่อคนเหล่านั้น เช่นเดียวกับที่เฉย ละเลยต่อตัวเราเอง จนกระทั่งทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นหมันไปไม่มีประโยชน์ คุ้มกัน เช่นว่าวัด ๆ หนึ่งสร้างขึ้นมาได้ก็ต้องเสียเงินมาก เสียเรี่ยวเสียแรงมาก แต่แล้วก็ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรสักกี่มากน้อย เพราะทุก ๆ คนมัวแต่ประมาทหลงใหล ไม่รู้ สิ่งที่ควรจะรู้ จึงไม่สามารถจะใช้วัด หรือใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ นอกจากทำอะไรไปพอเป็นเพียงพิธี หรือตามขนบธรรมเนียมประเพณีพอให้แล้ว ๆ กันไปเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่ามันยังได้น้อยเกินไป ไม่สมกับที่สร้างวัดขึ้นมา และยังได้น้อยเกินไปในเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความดี ความงาม ความประเสริฐของพระศาสนา หรือคุณค่าอันสูงสุดของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม และของพระสงฆ์ นี่แหละคือข้อที่ควรสลดสังเวชอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้แล้ว เพราะว่ามันเท่ากับเป็นการขาดทุน สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรเหลือเลย คือว่าสิ่งที่ควรจะได้นั้นมากมายมโหฬาร แต่เราไม่ได้เลยหรือเราได้น้อยเกินไป หรือเราได้พอเป็นพิธีรีตองเท่านั้น ไม่ได้โดยแท้จริงและให้มีมากพอสมควรแก่กัน นี่แหละคือวัตถุที่ตั้งของความสลดสังเวชโดยแท้จริง ที่กำลังเป็นอยู่แก่พวกเราในเวลานี้ เพื่อจะแก้ไขข้อบกพร่องอันนี้ ก็จะต้องปรับจิตปรับใจตั้งอธิษฐานกันเสียใหม่ว่าจะพยายามทำตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจ สะอาด สว่าง แจ่มใส สงบมากขึ้น แล้วอุตส่าห์เสียสละชักจูงซึ่งกันและกันให้ดำเนินไปในทางนี้ นี่แหละคือการบำเพ็ญบุญกุศลอันสูงสุด ชักจูงเด็ก ๆ ให้รู้จักหนทาง ๆ นี้ ก็ยิ่งเป็นบุญเป็นกุศลอันสูงสุดยิ่งขึ้นไป เพราะว่าเด็กเหล่านั้นโตขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร มันก็แล้วแต่ว่าผู้ใหญ่ในวันนี้อบรมสั่งสอนชี้แจงว่าอย่างไร ถ้าเราอุตส่าห์อบรมสั่งสอนชี้แจง ชักจูงไปในทางที่ดี ที่ถูกที่ควรแล้ว เด็กเหล่านั้นก็จะเป็นคนที่เป็นคนดี เป็นสัตบุรุษในโอกาสข้างหน้า ทำโลกนี้ให้มีความสงบสุข และเราผู้ชี้แจงก็ได้บุญ ได้กุศล ไม่มีบุญกุศลอะไรจะยิ่งไปกว่านี้แล้ว การชักชวนบุคคลให้ประกอบความดีจึงนับว่าเป็นบุญกุศลอันใหญ่หลวง หาประมาณมิได้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นการให้ทาน ก็เป็นการให้ทานความดี ให้ทานบุญ ให้ทานกุศล ให้ทานวิชาความรู้ ซึ่งจัดว่าเป็นการให้ทานที่สูงสุด ดังนั้นเราจงพยายามเกลี้ยกล่อมชักจูงเด็ก ๆ และมิตรสหายทั้งหลายให้ตั้งตนอยู่ในความดี ให้ขยันในความดี ให้เสียสละพร้อมเพรียงกันปฏิบัติความดี อย่าปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำ หมักหมมอยู่ในสันดานมากเกินไปเหมือนอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ คือชักชวนกันไปในทางทำความดี ก็ยังไม่มีใครเอา ยิ่งชักชวนไปในทางทำสาธารณประโยชน์เป็นส่วนรวมแล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครจะเอา ก็ต่างคนต่างมีความเห็นแก่ตัว การที่มีความเห็นแก่ตัวอย่างนั้น นั่นแหละคือช่องหรือโอกาสของพญามารที่จะทำลายล้างมนุษย์ให้สูญสิ้นไปจากโลก เพราะว่าเมื่อมีความเห็นแก่ตัวจัดกันขึ้นมาทุกคนแล้ว ก็ต้องมีการเบียดเบียนกันโดยไม่ต้องสงสัย ในที่สุดโลกนี้ก็จะมีแต่ความเบียดเบียนเพราะว่าโลกนี้มีแต่ความเห็นแก่ตัวของคนทุกคนในโลก ดังนั้นเมื่อเรานับถือพระพุทธ นับถือพระธรรม นับถือพระสงฆ์แล้ว ก็จงเสียสละในการชักชวนซึ่งกันและกัน ให้ทำลายความเห็นแก่ตัว อุตส่าห์เกลี้ยกล่อมชักจูงด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพื่อให้คนทั้งหลายบรรเทาความเห็นแก่ตัว เช่นชักชวนกันไปเพื่อทำประโยชน์ส่วนรวม อย่าเอาเป็นของตัวเองอย่างนี้ ทำไป ๆ ๆ เรื่อย ๆ มันก็จะเป็นการบรรเทาความเห็นแก่ตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน จนกระทั่งมีความคิดนึกเข้าใจในเรื่องนี้เพียงพอแล้ว ก็จะสามารถบรรเทาความเห็นแก่ตัวในภายใน คือความเห็นแก่ตัวเอง เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเอง หรือความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัว ว่าของตัวนี้ได้ไปตามลำดับ นี้คือความที่เป็นไปในหมู่มนุษย์เราอย่างที่เรียกว่า ควรจะนำมาคิด มานึกให้เกิดความสลดสังเวชในโอกาสแห่งวันวิสาขบูชานี้อย่างยิ่ง
วันวิสาขบูชานี้ ควรจะเป็นวันที่ระลึกนึกถึงความดับทุกข์ ระลึกนึกถึงความที่สัตว์โลกยังดับทุกข์ไม่ได้ ระลึกนึกถึงหนทางที่จะช่วยกันและกัน ให้ออกจากทุกข์ให้ได้ เราจึงมาพูดกันถึงเรื่องนี้ ปรึกษาหารือกันถึงเรื่องนี้ คือเรื่องที่จะช่วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้นำตนออกจากทุกข์ให้ได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ในวันนี้ ก็เพื่อจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรม ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ควรระลึก ควรระลึกเพื่อความสลดสังเวชเกี่ยวแก่พระพุทธเจ้าโดยตรง เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่พระธรรม เป็นผู้ให้กำเนิดแก่พระพุทธศาสนา เป็นหนทางปฏิบัติเพื่อสัตว์จะได้ก้าวล่วงออกจากความทุกข์
บัดนี้ เราจะได้พิจารณากันถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นต่อไป เมื่อจะระลึกนึกพระธรรมให้เป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชแล้ว ก็ระลึกได้โดยปาถะบาลีว่า ธัมโม จะ เทสิโต นิยยานิโก อุปะสะมิโก ปะรินิพพานิโก สัมโพธะคามี สุคะตัปปะเวทิโต ธัมโม จะ เทสิโต อนึ่งพระธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว นิยยานิโก เป็นเครื่องมือนำกลับออกไปเสียจากความทุกข์ อุปะสะมิโก เป็นเครื่องทำความสงบระงับดับเย็น ปะรินิพพานิโก เป็นไปเพื่อปรินิพพานคือดับสิ้นสุดของความทุกข์ สัมโพธะคามี เป็นหนทางนำไปให้ถึงความรู้พร้อม สุคะตัปปะเวทิโต เป็นสิ่งที่พระสุคตได้ทรงกระทำให้บุคคลอื่นรู้แจ้งแล้ว การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีลักษณะเป็นไปดังที่กล่าวมานี้ รวมความแล้ว ก็คือดับทุกข์นั่นเอง ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ มีพระนิพพานเป็นที่สุด แต่ว่าสิ่งที่น่าสลดสังเวชนั้น ก็คือข้อที่ว่า คนทั้งหลายมักจะรู้จักพระธรรมกันแต่ในฐานะที่เป็นเพียงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเฉย ๆ รู้แต่เพียงว่า พระธรรมคือคำสั่งสอนอย่างนี้ก็พอแล้ว ความสนใจก็ไม่ได้เกิดขึ้นว่า สอนอย่างไร สอนวิธีใด ถ้าจะให้ดีแล้ว เมื่อถามว่าพระธรรมคืออะไร ก็ควรจะตอบว่าพระธรรมคือเครื่องดับทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้แก่เรา พระธรรมนั้น อย่าได้เป็นเพียงคำพูดเฉย ๆ เป็นเพียงพระปริยัติธรรมเฉย ๆ เหมือนที่เข้าใจกันโดยมาก แต่ให้ต้อง แต่ต้องให้เข้าใจว่าพระธรรมนั้น เป็นตัวเครื่องมือ โดยตรง เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ และใช้เครื่องมือนี้เพื่อทำลายความทุกข์ให้หมดไป คำพูดล้วน ๆ นั้น ใช้ดับทุกข์ไม่ได้ คำพูดเฉย ๆ ใช้เป็นเครื่องมือดับทุกข์ไม่ได้ ต่อเมื่อเป็นการปฏิบัติโดยแท้จริงจึงจะเป็นการดับทุกข์ได้ ตัวธรรมะจริงจึงหมายถึงการประพฤติ การกระทำ ชนิดที่เป็นเครื่องประหัตประหารความทุกข์เท่านั้น ตัวหนังสือประหัตประหารความทุกข์ไม่ได้ แต่การประพฤติปฏิบัติ ทางกาย ทางวาจา และทางจิตของบุคคลนั้น เป็นเครื่องทำลายความทุกข์ได้ นั่นแหละคือตัวพระธรรมจริง ดังนั้นธรรมสั่งสอนหรือการแสดงธรรมจึงเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับเครื่องดับทุกข์เท่านั้น ถ้าเข้าใจกันได้อย่างนี้ ก็คงจะสนใจในธรรมะมากไปกว่าการท่อง ๆ บ่น ๆ สวด ๆ ร้อง ๆ เดี๋ยวนี้เราถือกันเป็นส่วนใหญ่ว่า ไหว้พระสวดมนต์ได้ก็พอแล้ว พระธรรมจึงเป็นเพียงคำสอนคำสวดไปเสียอย่างเดียว ไม่เป็นการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าเมื่อใดเราทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อนั้นจึงจะเป็นการปฏิบัติ เราระลึกนึกดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวหรือไม่ ถ้าเป็นการเห็นแก่ตัวก็ต้องทำลายมันเสีย นั่นแหละคือการประพฤติปฏิบัติ ยกตัวอย่างเหมือนว่า เราคิดจะเอาเปรียบเขา มีความคิดอยู่ในใจว่าจะเอาเปรียบคนนั้นคนนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เรามาคิดดูอีกทีว่า คิดจะเอาเปรียบเขานั้นเป็นความเห็นแก่ตัวหรือไม่ ย่อมเห็นชัดได้ว่าเป็นความเห็นแก่ตัว ดังนั้นเราต้องถอยหลังออกมาเสียจากความคิดที่เอาเปรียบเขา อย่าได้คิดเอาเปรียบเขา แต่เราก็คิดในทางตรงกันข้ามคือคิดช่วยเหลือเขาหรือยอมให้เขาเอาเปรียบจะเป็นการดีที่สุด ถ้าเรายอมให้เขาเอาเปรียบได้ เราก็ได้ทำลายความเห็นแก่ตัวของเรา เรากลับได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด นี่แหละเราจึงไม่ทะเลาะวิวาทกันในเมื่อถูกคนอื่นเอาเปรียบ เพราะว่าการถูกเขาเอาเปรียบนั้นเป็นการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เรา คือการทำลายความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ว่าของตนนั้นได้ตามสมควร ตามสัดตามส่วน เรากลับได้สิ่งที่ดี ที่ประเสริฐที่สูงสุดยิ่งขึ้นไปเพราะว่าเขาเอาเปรียบเรา แต่เดี๋ยวนี้คนโดยมากไม่เป็นอย่างนั้น พอรู้สึกว่าใครเอาเปรียบเข้าสักนิดหนึ่งหรือรู้สึกว่าใครลบหลู่ก็สักแต่นิดหนึ่ง หรือรู้สึกว่าใครกระทำล่วงเกินมากไปเสียแล้วอย่างนี้ แทนที่จะมีความคิดนึกไปในทางที่ผสมโรง ทำลายความเห็นแก่ตัวของตัวนั้น กลับจะโกรธ กลับจะเกลียด กลับจะพยาบาท กลับจะประชดประชัน จนกระทั่งมีการทะเลาะวิวาทกันในที่สุด นี่แหละคือการที่ไม่เข้าใจตามที่เป็นจริงว่าธรรมะที่แท้นั้นคือ เครื่องมือสำหรับประหัตประหารความเห็นแก่ตัว ถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว เมื่อใดมีโอกาสที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อนั้นเราก็จะยินดีอย่างยิ่ง เราก็จะพอใจให้คนอื่นเอาเปรียบ พอใจให้คนอื่นลบหลู่ กระทั่งพอใจให้คนอื่นใช้เราอย่างกับเป็นทาสทีเดียว เพราะว่าเป็นเครื่องบรรเทาตัวกูและของกูได้มากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่มีตัวกูของกูจัดอยู่ในเวลานี้ มีตัวกูของกูซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกลับในเวลานี้ ขอให้มีความคิดอย่างนี้ด้วยกันทุกคนเถิด ไม่กี่มากน้อยก็จะก้าวหน้าไปพรวดพราด ไปตามทางธรรมะของพระพุทธเจ้า มีความเจริญในธรรมะของพระพุทธเจ้า ทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวม เพราะว่านี่แหละมันเป็นหนทางที่จะออกไปเสียจากความทุกข์เป็น ไปเพื่อการทำความสงบระงับดับเย็น และเป็นการทำความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของ ๆ เราดังนี้ แต่เดี๋ยวนี้ทั้งพระ ทั้งเณร ทั้งฆราวาส ทั้งชาวบ้านก็เหมือน ๆ กันไปหมด ในข้อที่ไม่ยอม ในข้อที่ไม่ยินยอม เพื่อจะให้เกิดการทำลายความเห็นแก่ตัว แต่กลับยกหัว ยกหาง ยกหูมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ธรรมะจึงช่วยไม่ได้ นั่นแหละคือข้อที่ควรสลดสังเวชอย่างยิ่งในโอกาสนี้ที่เกี่ยวกับพระธรรม
ในวันวิสาขบูชานี้ ควรจะระลึกนึกถึงพระธรรมกันในแง่นี้ คือในแง่ที่ว่าพระธรรมนี้มีไว้สำหรับกำจัดความเห็นแก่ตัว แต่เรากลับพอกพูนความเห็นแก่ตัวให้มากยิ่งขึ้น เท่ากับที่มีอายุมากขึ้นทุกวัน ๆ ก็ยิ่งมีความเห็นแก่ตัว มีตัวกูของกูที่ยกหู ชูหาง มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างนี้แล้วจะไม่ควรสลดสังเวชอย่างไรกันอีกเล่า ลองคิดดูเถิด ถ้าจะให้วันวิสาขบูชานี้มีความหมายเป็นพิเศษจริง ๆ แล้ว ก็ต้องนึกคิดถึงพระธรรมกันในแง่นี้ ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแล้ว นิยยานิโก เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ อุปะสะมิโก เป็นเครื่องทำความสงบระงับ ปะรินิพพานิโก เป็นไปเพื่อปรินิพพาน คือความดับเย็น สัมโพธะคามี เป็นหนทางให้ถึงการตรัสรู้ เมื่อรวมความกันแล้ว ก็เป็นไปเพื่อบรรเทากิเลส บรรเทาความทุกข์โดยตรง ดังนั้น เราควรจะมีความไม่ประมาทในการที่จะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น หรือความเห็นแก่ตัวโดยนัยดังที่กล่าวมา การที่จะเป็นดังนี้ได้ก็ต้องอาศัยพิจารณาในธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วอย่างไร และเกิดความรู้ขึ้นมาอย่างไร ที่เป็นชั้นละเอียดลึกซึ้งถึงที่สุดนั้น ท่านแสดงไว้โดยบทพระบาลีว่า มะยันตัง ธัมมัง สุตะวาเอวัง ชานามะ พวกเราทั้งหลายได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ได้มีความรู้อย่างนี้ว่า ชาติปิ ทุกขา แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ มะระณัมปิ ทุกขัง แม้ความตายก็เป็นทุกข์ โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา แม้ความโศก ความร่ำไร รำพันทุกข์กาย ทุกข์ใจ เสียใจ แค้นใจ แห้งใจ ก็เป็นทุกข์ อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ความพบกันเข้ากับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปิเยหิ วิปะโยโค ทุกโข ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ยัมปิจฉัง นะภะติ ตัมปิ ทุกขัง อยากได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันทา ทุกขา แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขันธ์ทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ๕ อย่างนั้น เป็นตัวทุกข์ คือ รูปขันธ์ที่มีอุปาทาน เวทนาขันธ์ที่มีอุปาทาน สัญญาขันธ์ที่มีอุปาทาน สังขารขันธ์ที่มีอุปาทาน และวิญญาณขันธ์ที่มีอุปาทานเป็นที่สุด ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ต่อเมื่อเราได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว เราจึงจะรู้ว่าแม้แต่ความเกิดก็เป็นทุกข์ ตามธรรมดานั้นเราไม่รู้สึกว่าความเกิดเป็นทุกข์ เราจึงอยากเกิด อยากเกิดแล้วเกิดอีก ไม่อยากตาย และไม่ถือว่าความเกิดเป็นทุกข์ จึงได้ดีใจเมื่อมีความเกิด ดังนี้เป็นต้น ก็ทว่าโดยที่จริงแล้ว จะโทษเรานักก็ไม่ได้ในข้อนี้ เพราะว่าเราเป็นผู้ประมาท เป็นผู้หลงใหลไม่รู้ตามที่เป็นจริงมาตั้งแต่ทีแรก แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันควรจะโทษกันได้ก็ตรงข้อที่ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีผู้นำมาแสดงแล้ว เราก็ฟังไม่เข้าใจ และยิ่งกว่านั้น เราก็ไม่สนใจ เราฟังธรรมะเหมือนกับทำบุญทำกุศลชนิดหนึ่ง ก็ถือว่ามานั่งฟังเทศน์ให้จบแล้วก็ได้บุญ ฟังเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ฟังจบแล้วก็ได้บุญ อย่างนี้เรื่อยไป เราจึงไม่รู้ว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น เราไม่มองเห็นอรรถอันลึกซึ้งที่ว่า แม้ความเกิดนี้ก็เป็นทุกข์ได้อย่างไรกัน ข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมว่า แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์นั้นมีความหมายลึกซึ้งตรงที่ว่า คนเราได้ยึดถือความเกิดนั้นว่าเป็นความเกิด และว่าความเกิดนั้นเป็นของเรา คนเราได้ยึดถือความแก่ว่าเป็นความแก่ และความแก่นั้นเป็นของเรา คนเราได้ยึดถือว่าความตายเป็นความตาย มีความหมายเป็นความตาย และความตายนั้นของเรา อย่างนี้เป็นต้น จึงได้มีความทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความตาย แต่ถ้าไม่ได้ยึดถือว่าความเกิด ความแก่ ความตายเป็นของเราแล้ว มันก็หาเป็นทุกข์ไม่ เช่นเดียวกับว่า ความเกิด ความแก่ ความตายนั้น เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย ถ้าอย่าไปยึดถือความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวเรา หรือเป็นของ ๆ เราแล้ว ก็หาเป็นทุกข์ไม่ ท่านจึงกล่าวว่า พระอรหันต์ไม่มีความทุกข์เพราะ ความเกิด ความแก่ และความตาย ทั้งที่พระอรหันต์ก็ยังเกิดอยู่ คือมีชีวิตอยู่ ทั้งที่พระอรหันต์ก็แก่ลงทุกวัน ทั้งที่พระอรหันต์ก็จะต้องดับขันธ์คือตายในที่สุด แต่หาเป็นทุกข์ไม่ พูดให้ตรง ๆ ก็ว่าความเกิด ความแก่ ความตายของพระอรหันต์ หรือบุคคลที่เป็นพระอรหันต์นั้น หาเป็นความทุกข์ไม่ เพราะว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความเกิด ความแก่ และความตายนั่นเอง สำหรับความโศกเศร้า ร่ำไร รำพัน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เสียใจ แค้นใจ ทุกอย่างทุกประการ ก็เหมือนกันอีก ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเราแล้วก็เป็นความทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็หาเป็นความทุกข์ไม่ เช่นว่าเราสูญเสียอะไรไป ถ้าเรายึดมั่นก็มีความทุกข์ ถ้าเราไม่ยึดมั่นก็ไม่มีความทุกข์ หรือว่าลูกของเราตายไป ถ้าเรายึดมั่นก็มีความทุกข์ ถ้าเราไม่ยึดมั่นก็ไม่มีความทุกข์ ยกตัวอย่างเหมือนว่า ลูกของเราจริง ๆ แต่เราไม่รู้ เพราะถูกขโมยไปเสีย ไปเปลี่ยนตัวกันเสียกับลูกของคนอื่น แม้ลูกคนนั้นจะมาตายอยู่ต่อหน้าเรา เราก็หาเป็นทุกข์ไม่ ทั้งที่มันเป็นลูกของเราจริง ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าลูกของเราและเราไม่ได้ยึดมั่นว่าลูกของเรา ดังนี้เป็นต้น ทีนี้ถ้าเป็นลูกของคนอื่น เขาเอามาสับเปลี่ยนเป็นลูกของเราตั้งแต่แรกโดยเราไม่รู้ เรายึดมั่นว่าลูกของเรา พอมันตายลง เราก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ทั้งที่แท้จริงมันไม่ใช่ลูกของเรา เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์ทั้งหลายนั้น เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าลงมีความยึดมั่นถือมั่นที่ไหนแล้ว ก็เป็นมีความทุกข์ที่นั่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือความเป็นทุกข์อย่างใด วิธีไหนก็ตาม มันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะว่ามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ในภาวะอย่างนั้น หรือในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกรณีนั้นเสมอไป ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสรุปย่อที่สุดแล้ว ขันธ์ทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ๕ ประการนั้นเป็นความทุกข์ นี่ก็เพราะว่าบรรดาสิ่งต่าง ๆ จะเป็นร่างกาย จิตใจ วัตถุสิ่งของชนิดไหนหมด ความคิด ความนึก นามธรรมเหล่าใดก็ดี ล้วนแต่รวมอยู่ได้ในคำ ๕ คำ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งนั้น แต่มันก็เท่ากับกล่าวว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง ที่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว เป็นความทุกข์ แต่เรากล่าวเฉพาะที่เป็นภายในคือ เนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจ ความคิดความนึก รู้สึกต่าง ๆ กระทั่งสิ่งต่าง ๆ ที่จิตใจเข้าไปยึดครองไว้ว่าเป็นของ ๆ เรา ความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตในใจนั้นเรียกว่า นามขันธ์ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนร่างกายนั้นเป็นรูป รวมกัน ๕ ประการนี้เรียกว่าเบญจขันธ์ หรือขันธ์ทั้ง ๕ ถ้าไปยึดเข้าที่ส่วนใดว่า เป็นเรา เป็นของเราแล้ว เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ก่อนแต่นี้ เราไม่รู้ ต่อเมื่อเราได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า เข้าใจจริง ๆ แล้ว เราจึงรู้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้ไม่ดี ไปจนกว่าเมื่อเรามีความทุกข์ขึ้นมาเมื่อใด เราก็พิจารณาความทุกข์นั้นเมื่อนั้น ในโอกาสใด วันไหน เวลาไร เรามีความทุกข์ขึ้นมา เพราะร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ต้องพิจารณาถึงความที่เราไปยึดมั่นถือมั่นมันเข้า เราจึงเป็นทุกข์ เมื่อใดสุขเวทนาอันเอร็ดอร่อย พลัดพรากจากเราไป เราก็ต้องพิจารณาในขณะนั้น ซึ่งกำลังเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น ในบางคราวเราเป็นทุกข์เพราะสัญญาเสื่อมไป เช่นความจำไม่ดี จำอะไรไม่ได้ จำอะไรผิดพลาด ทำอะไรไม่ได้เพราะความจำเสื่อมนั้น เป็นทุกข์ขึ้นมา เราก็ต้องพิจารณาดู ให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะเรายึดมั่นเกี่ยวกับสัญญานั้น ข้อนี้จะเป็นไปมาก จะมีได้มาก มีได้ง่าย ในคนแก่ ๆ ที่นับวันแต่จะลืม จะเลือน จะฟั่น จะเฟือนไปเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเมื่อใดเราเกิดความคิดรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา กระสับกระส่ายอยู่ด้วยความอยาก ความดิ้นรนนั้น เมื่อนั้นเราต้องพิจารณาสิ่งนั้นว่า ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้ว ความอยากจึงได้เผาผลาญเรา กิเลสตัณหาจึงได้เผาผลาญเรา อย่างกับว่าเอาไฟทั้งหลายร้อยกองเข้าไปสุมอยู่ในจิตใจดังนี้ และอีกทางหนึ่งในที่สุด คนเรายึดมั่นความคิดนึกได้ รู้สึกได้ที่เรียกว่าจิต ว่าวิญญาณนั้น ว่าเป็นของเรา เราจึงมีความหนักอกหนักใจเป็นห่วงวิตกนานาประการเกี่ยวกับโลกนี้บ้าง เกี่ยวกับโลกอื่นบ้าง มองเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง ล้วนแต่เป็นความมืดมนชนิดที่ตัดสินใจไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ แล้วก็มีความสงสัยลังเลอยู่ตลอดเวลา นี่ก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าบางอย่างแล้ว เพื่อจะให้เป็นตัวเราเป็นของเราอยู่ตลอดอนันตกาล ดังนี้เป็นต้น ถ้าเราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แม้แต่จิต แม้แต่วิญญาณ ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว จิตใจก็จะสงบระงับ จิตใจก็จะปรกติอยู่ได้จนกว่ามันจะดับไป มันจะเกิดขึ้น หรือมันจะตั้งอยู่ หรือมันจะดับไป เราก็ไม่มีความทุกข์เลยดังนี้ นี่แหละคือความจริงอันประเสริฐที่เกิดจากการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และเราได้ยิน ได้ฟัง เรามีความรู้ เรามีความเข้าใจ เรานำมาประพฤติปฏิบัติด้วยการคิดนึกจนรู้แจ้งเห็นจริงแทงตลอดในสิ่งเหล่านี้แล้ว เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่งแล้ว ก็ถอยหลังกลับจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เป็นผู้มีความทุกข์เบาบางลง จนกระทั่งมีความทุกข์สูญสิ้นไป ดังนั้น การพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรานั้น เป็นความทุกข์ เป็นที่ตั้งของความทุกข์ เป็นสภาวะแห่งความทุกข์อยู่ในตัวมันเอง คำสอนข้อนี้ เป็นคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนสาวกทั้งหลายมากกว่าคำสอนเหล่าอื่น ดังที่กล่าวว่า เยสัง ปะริญญายะ ธะระมาโน โส ภะคะวา เอวัง พะหุลัง สาวะเก วิเนติ นี่แหละคือปริยายที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายเป็นอย่างมาก ด้วยอาการอย่างนี้ ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ยังสอน ทรงสอนอยู่ด้วยพระองค์เองนั้น ได้ทรงสั่งสอนข้อนี้มากกว่าข้ออื่นใด คือได้ทรงสั่งสอนข้อที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา นี้แหละมากกว่าคำสั่งสอนข้ออื่นใด คือได้ทรงสั่งสอนโดยหลักว่า สิ่งทั้งหลายที่ยึดมั่นอยู่ในอุปาทาน ๕ พวก ๕ ประการนี่แหละเป็นตัวทุกข์ หรือว่าจะสรุปสั้นอีกทีก็ว่า สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ดังนี้ คำสอนนี้ สอนมากกว่าคำสอนอื่นใดหมด หรือจะกล่าวได้ว่าคำสอนนี้เป็นที่รวบรวมแห่งคำสอนทั้งหลายเหล่าอื่นทั้งหมดทั้งสิ้นเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องความยึดมั่นถือมั่น และทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว ก็เท่ากับรู้ทั้งหมด ถ้าเราได้ประพฤติในการทำลายความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เท่ากับเราได้ประพฤติทั้งหมดโดยไม่ต้องสงสัย และถ้าเรามีจิตใจผ่องใส หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็แปลว่าเราได้รับผลในพระพุทธศาสนานี้ ครบถ้วนทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการแล้ว
ทีนี้ มีข้อที่จะต้องระลึกต่อไปก็คือข้อที่ว่า คำสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ โดยกล่าวเป็นพระพุทธภาษิต เป็นพระพุทธวาจาว่าอย่างไรบ้าง อย่างไรเล่า ข้อนี้อาศัยปาถะบาลีที่ว่า เอวัง ภาคา จะ ปะนัสสะ ภะคะวะโต สาวะเกสุ อะนุสาสะนี พะหุลัง ปะวัตตะติ อนึ่ง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นไปมากในพระสาวกทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นไปอย่างนี้ว่า รูปัง อะนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทะนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อะนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อะนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทะนา อะนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อะนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อะนัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อะนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อะนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนดังนี้ จงพิจารณาดูเถิดว่า การบอกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตนนี้ มีความหมายอย่างไร คำพูดมีอยู่อย่างนี้ ส่วนความหมายนั้นมีอยู่อย่างไร ที่บอกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยงนั้น หมายความว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ไม่ได้หยุดแม้แต่สักขณะเดียว เพราะว่าสิ่งทุกสิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ถาวรในตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่มีอะไรอื่นหลาย ๆ สิ่งมาประชุม ปรุงแต่งกันเข้า แล้วปรากฏเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ออกมา แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่มีหยุด เหมือนว่ามนุษย์คนหนึ่งนี้ คลอดออกมาเป็นเด็กคนหนึ่งนั้น ทำไมมันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ได้คงที่ ข้อนี้ก็เพราะว่า ร่างกายจิตใจที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเด็กนั้น ประกอบด้วยสิ่งหลายสิ่ง หลายอย่าง หลายประการ จนยากจะนับไหวก็ได้ แต่ละอย่าง ๆ นั้น ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวเอง แล้วมาปรุงแต่งกันเข้าเป็นตัวเด็ก ตัวเด็กก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป มันจึงเจริญเติบโตเป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นคนแก่คนเฒ่า และแตกดับไปในที่สุด นี้ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ทุก ๆ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นนั้น ไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ เพราะเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ และใครบังคับให้เปลี่ยน ให้หยุดเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือใครบังคับไปตามต้องการไม่ได้ และตัวมันเองก็บังคับตัวมันเองไม่ได้ อย่างว่าจิตนี้ จะบังคับตัวจิตเองว่าอย่าเปลี่ยนแปลง ให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ มันก็บังคับไม่ได้ ดังนั้นจึงเรียกว่าจิตนี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะมันบังคับตัวเองก็ไม่ได้ ยิ่งเราจะไปบังคับมันก็ยิ่งไม่ได้ สัตว์ สังขารทั้งหลายภายนอกก็เหมือนกัน หรือแม้แต่วัวควาย ไร่นา เราจะบังคับว่าเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ มันก็จะเป็นไปตามที่มันเป็น มันจะต้องเป็น มันควรจะเป็น คือมันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น ไม่มีใครบังคับมันได้ ตัวมันเองก็บังคับมันไม่ได้ ดังนั้นท่านจึงถือว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่เป็นตัวไม่เป็นตนให้แก่ใครได้ ตัวมันเองก็บังคับมันเองไม่ได้ คนอื่นก็ไปบังคับมันไม่ได้ และเราจะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราอย่างไรกัน เราไปบังคับมันไม่ได้ เราขืนไปบังคับมัน มันก็ทำความทุกข์ให้แก่เรา เพราะฉะนั้น เราจะต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้สมกัน คือตามที่มันจะเป็นไปอย่างไร เราก็ไปบังคับให้มันเป็นไปแต่ในทางที่มันจะเป็นไปอยู่แล้ว แต่ว่าใช้ให้มันเป็นประโยชน์ก็แล้วกัน เช่นวัวควายอย่างนี้ มันต้องเติบโต มันต้องแก่ มันต้องตาย เราก็เลี้ยงดูมันให้เข้ารูปเข้ารอย ใช้มันให้เป็นประโยชน์แก่เรา ถึงมันจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ต้องดีใจ เราก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะมันต้องเป็นไปอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าทำลายความยึดมั่นถือมั่น หรือบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น เพราะเหตุที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั่นเอง เมื่อเราเห็นอยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในใจของเราไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้าน หรือเป็นบรรพชิตอยู่ที่วัด มีความทุกข์แล้วก็มีความทุกข์เหมือน ๆ กันหมด คือมีความทุกข์เพราะไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า ว่าเป็นตัวเป็นตน ดังนั้นแหละพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสยืนยันเด็ดขาดลงไปว่า รูปัง อะนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทะนา อะนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อะนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อะนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อะนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน ดังนี้
ข้อที่ว่า รูปไม่ใช่ตัวตน ร่างกายไม่ใช่ตัวตนนั้น ดูได้ไม่ยากนัก แต่ว่าคนเราประมาท แม้จะดูเห็นบ้าง ในที่สุดก็กลับเป็นไม่เห็น คือลืมเลือนไปเสีย เพราะว่าจิตใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นมากเกินไป ไม่สนใจที่จะพิจารณาสังขารร่างกายนี้ว่าไม่ใช่ตัวตน จึงมองเห็นได้น้อยเต็มที จึงได้มีความประมาท มีความหลงใหลไปตามเรื่องตามราวของคนประมาท แต่สำหรับข้อที่ว่า เวทะนา อะนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตนนั้นเห็นได้ยากมากสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าคนทั้งหลายติดมั่นอยู่ในสุขเวทนา มีจิตใจผูกพันติดมั่นอยู่ในสุขเวทนา จะกินให้อร่อย จะนอนให้อร่อย จะเล่นหัวให้อร่อย จะดมให้อร่อย จะทำอะไรทุกอย่างให้เอร็ดอร่อยเพื่อสุขเวทนานั้น จิตใจกลัดกลุ้มอยู่ด้วยสุขเวทนานั้น จึงไม่อาจจะมองเห็นสุขเวทนานั้นว่าไม่ใช่ตน แต่โดยเนื้อแท้แล้วเวทนานั้นเป็นของหลอก ๆ เพราะเพิ่งเกิดกันขึ้นมาเมื่อตากระทบรูป เมื่อหูกระทบเสียง เมื่อจมูกกระทบกลิ่น เมื่อลิ้นกระทบรส เมื่อกายกระทบสัมผัสทางผิวหนัง ดังนี้เป็นต้นเท่านั้นเอง และเป็นความรู้สึกที่ซาบซ่านไปชั่วแล่นเท่านั้นเอง แล้วก็ดับลง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่ไหน แต่คนเราก็หลงยึดมั่นถือมั่นในสุขเวทนานี้เป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสิ่งอื่น อยากจะมีความสุขอย่างยิ่งในมนุษยโลกนี้ อยากจะมีความสุขอย่างยิ่งในเทวโลกข้างหน้าโน้น อยากจะมีความสุขอย่างสูงขึ้นไปอีกในพรหมโลก และจะมีความสุขถึงที่สุดในเมืองพระนิพพาน ดังนี้เป็นต้น ล้วนแต่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสุขเวทนา มั่นหมายในสุขเวทนาอย่างคลุ้มคลั่งปิดบังความจริงไปเสียหมด ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าต่อเมื่อปล่อยความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาเสียเท่านั้น เราจึงจะมีความสุขหรือไม่เป็นทุกข์ แต่นี้มากลับกันเสียว่าจะเอาสุขเวทนาไว้เต็มที่ และเราก็จะมีความสุขมากถึงที่สุด ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นถ้าเราจะพิจารณากันให้เป็นทางลัดแล้ว มีวิธีลัดอย่างยิ่งก็อยู่ตรงที่อย่าไปหลงใหลในความเอร็ดอร่อยให้มากนัก หรือว่าไม่หลงใหลเลยก็จะเป็นการดี เอาแต่ว่ามันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันสุขหรือทุกข์ก็แล้วกัน ถ้ามันผิดเราก็เว้นเสียเอาแต่ที่ถูก ถ้ามันชั่วเราก็เว้นเสียเอาแต่ที่ดี ถ้ามันเป็นทุกข์เราก็เว้นเสียเอาแต่ที่มันไม่ทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นการประเสริฐอย่างยิ่ง เราจะพูด จะคิด จะทำ จะทำอะไรก็ตามในวันหนึ่ง ๆ นั้น ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้มาก เพื่อให้เป็นไปทางที่ถูกที่ดี ที่ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลัง และเราก็จะพ้น หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความทุกข์ได้ เหมือนกับว่าได้เกิดใหม่เป็นบุคคลที่ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นั่นแหละคือได้รับประโยชน์ ได้รับอานิสงส์แห่งคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านอุตส่าห์พร่ำสอนว่า รูปังอะนิจจัง รูปังอะนัตตา ดังนี้เป็นต้น เราควรจะระลึกนึกถึงด้วยความสลดสังเวชในข้อที่เราไม่เห็นความจริงข้อนี้ แม้เราได้ฟัง ได้ยิน ได้สวดเองอยู่ทุกวัน เราก็ไม่เห็นความจริงข้อนี้เพราะว่าเรามักจะสวดกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง ดังที่กล่าวกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนั่นเอง
ในวันวิสาขบูชาเช่นวันนี้ เราควรจะมีความสลดใจ สังเวชสงสารตัวเอง แล้วก็ปรับปรุงกันเสียใหม่ให้เลื่อนขึ้นมาในลักษณะที่พอจะฟังออกว่า รูปังอะนิจจัง รูปไม่เที่ยง หรือ รูปังอะนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน ดังนี้เป็นต้น เป็นผู้มีความหยุด สงบ ระงับ ดับความอยาก ความเร่าร้อน ความกระวนกระวายต่าง ๆ เสีย เหลืออยู่แต่สติปัญญา ทำอะไรก็ทำไปด้วยสติปัญญา จะทำไร่ทำนา ก็ทำด้วยสติปัญญา ไม่ทำด้วยความโลภ ความอยาก ไม่ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น เราก็เป็นพุทธบริษัทมากขึ้นทั้งที่เป็นชาวนา ทั้งที่ทำไร่ทำนากิน เราก็เป็นพุทธบริษัทมากกว่าคนที่เป็นเศรษฐีที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งกว่าชาวนา นี่แหละแม้ที่เป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ก็ยังมีทางที่จะเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้เท่ากันหรือยิ่งกว่าคนที่เป็นเศรษฐี มันไม่ใช่สำคัญอยู่ที่ตรงเป็นเศรษฐีหรือว่าเป็นชาวนา แต่สำคัญอยู่ที่ว่าเป็นคนรู้หรือไม่รู้ เป็นคนเห็นแจ้งหรือไม่เห็นแจ้ง เป็นคนประมาทหรือเป็นคนไม่ประมาท เป็นคนสังเวชในธรรมหรือว่าเป็นคนไม่สังเวชในธรรม ถ้าเราเป็นคนสังเวชในธรรมอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพิเศษในวันวิสาขบูชาเช่นวันนี้แล้ว เราก็จะไม่เผลอ ไม่ลืมตัว ไม่ตกเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ ไม่สะเพร่าต่อธรรม เรามีความสว่างไสวแจ่มแจ้งในธรรม เห็นธรรม มีความสลดสังเวชในความทุกข์ มีความพยายามในการที่จะดับความทุกข์ให้หมดไปดังนี้ บทที่จะพิจารณาสำหรับ สำหรับทำความสังเวชให้แก่ตัวเองนั้น ท่านได้ผูกไว้เป็นปาถะบาลีว่า โอติณณามหะ ชาติยา ชะรามะระเณนะ โสเกหิ ปะริเทเวหิ ทุกเขหิ โทมะนัสเสหิ อุปายาเสหิ ทุกโขติณณา ทุกขะปะเรตา ซึ่งแปลว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกความเกิดครอบงำแล้ว ความแก่ครอบงำแล้ว ความตายครอบงำแล้ว ความเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ แค้นใจ แห้งใจครอบงำแล้ว ทุกโขติณณา ชื่อว่ามีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว ทุกขะปะเรตา เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ลองคิดดูเถิดว่า เราตามธรรมดาสามัญสัตว์นี้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว คือว่ามีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความร่ำไร รำพัน เป็นต้นนั้น หยั่งเอาแล้ว หมายความว่าเสียดแทงลงไปในจิตใจของเราแล้ว แล้วเราจะเป็นอย่างไรบ้าง ความทุกข์ ความโศกนี้เป็นเหมือนกับลูกศร เมื่อลูกศรนี้เสียบแทงจิตใจของเราแล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู ท่านเรียกสั้น ๆ ว่า ทุกโขติณณา เป็นผู้มีความทุกข์เสียดแทงเอาแล้ว คือหยั่งลงแล้ว อย่างนี้ มันหมายความถึงอะไร มันหมายความถึงข้อที่ว่าแม้เราจะเป็นอยู่อย่างไร มันก็มีจิตใจที่ถูกความทุกข์เสียดแทงเอาแล้วเพราะความยึดมั่นถือมั่น เป็นเศรษฐีมีเรื่องยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็มีเรื่องเสียดแทงจิตใจมาก เป็นคนจนมีเรื่องเสียดแทงจิตใจน้อย ก็มีความทุกข์น้อย แต่ถ้าเป็นคนจนขยันหาเรื่องมายึดมั่นถือมั่นมาก มันก็มีความทุกข์ มีความเสียดแทงมากเท่ากับเศรษฐีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องเป็นเศรษฐีหรือเรื่องเป็นคนจนนี้ จึงไม่เป็นประมาณ มันเป็นประมาณอยู่ตรงที่ว่า มีความยึดมั่นถือมั่นหรือไม่เท่านั้นเอง เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้เสียแล้ว เราก็ต้องเป็น ทุกขะปะเรตา คือมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแต่อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นเลย ทุกขะปะเรตา มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า หมายความว่า มันหวังได้แต่ความทุกข์เท่านั้น อย่าไปหวังความสุขเลย เพราะอะไร ๆ มันก็ยึดมั่นไปเสียหมด ไม่มีการปล่อยวางเลย มันจึงเป็นทุกข์ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น แม้กระทั่งในความฝัน เมื่อเราได้พิจารณาเห็นจนเกิดความสลดสังเวชแก่ตัวเราเอง โดยทำนองนี้ เช่นนี้แล้ว ก็นับว่าเป็นการลืมตาขึ้นมาด้วยความไม่ประมาทแล้ว จึงได้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า หะเตวะนา อิมัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยายะ ปัญญาเยถาติ ซึ่งแปลว่า ถ้าอย่างไร การกระทำที่สุดของความทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้ จงได้มาปรากฏแก่เราเถิด เราได้แต่พร่ำหาว่า ถ้าอย่างไร การสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ทั้งหมดนี้ จงมาปรากฏแก่เราเถิด เราได้ร่ำหาเหมือนกับว่า เราได้ร่ำหาสิ่งซึ่งสูญหายไปนานแล้ว สูญหายไปอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าพวกเปรตร่ำหาส่วนบุญที่บุคคลจะอุทิศไปให้ เพราะว่ามันอยาก มันหิว มันเดือนร้อน มันกระวนกระวายเสียจริง ๆ พวกเปรตเหล่านั้นจึงได้ร่ำหาส่วนบุญที่จะช่วยระงับความหิว ความอยากนั้นเสียได้ พวกเปรตนั้นหิวเหลือประมาณ จนเปรียบว่ามีท้องเท่าภูเขา มีปากเท่ารูเข็ม กินได้ทางรูเล็ก ๆ เท่ารูเข็ม และท้องเท่าภูเขา อย่างนี้เมื่อไรมันจึงจะอิ่มหรือมันจึงจะเต็ม ดังนั้นมันจึงหิวมาก หิวยิ่งกว่าที่จะขาดใจอยู่เสมอ มันหิวมากอย่างนั้น มันจึงได้ร่ำหาส่วนบุญคืออาหารที่คนทั้งหลายจะอุทิศส่งไปให้ มันร่ำหามากอย่างนี้ คนเราก็เหมือนกัน มันมีความอยากมาก มีความหิวมาก มีความทุกข์มาก ท่านเห็นว่ามีความทุกข์มากแล้ว เห็นว่าพระนิพพานเป็นเครื่องดับทุกข์มีอยู่ ก็หวังที่จะได้พระนิพพานนั้น จึงได้รำพันว่า ทำอย่างไรหนอ ที่สุดแห่งความทุกข์ จะได้มาปรากฏแก่เราเสียที นี้แหละคือความรู้สึกของบุคคลที่สลดสังเวชแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทอีกแล้ว เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ต่างคนต่างก็แสวงหา ต่างคนต่างก็ประพฤติปฏิบัติ พวกหนึ่งกระทำไปด้วยการออกบวชจากเรือน ดังบทว่า จิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ อะระหันตัง สัมมาสัมพุทธัง สัทธา อะคารัสมา อะนะคาริยัง ปัพพะชิตา เราจึงมีศรัทธา ออกบวชจากเรือนไปเป็นคนไม่มีเรือน อุทิศพระสัมมา พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพพานตั้งนมนานแล้วก็ตาม นี่แหละคือความรู้สึกของบุคคลที่หมดหนทางแล้ว ไม่รู้จะไปทางไหนนอกจากทาง ๆ เดียว คือทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ จึงได้ออกบวชจากเรือน อุทิศเจาะจงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน เพื่อจะเดินตามพระพุทธเจ้าไปโดยเร็วนั่นเอง ถ้ายังมัวครองเหย้าครองเรือน มันก็งุ่มง่าม มันก็เฉื่อยชา ชักช้าอยู่ที่นั่น ถ้าออกบวชจากเรือน มันก็ไปได้โดยเร็ว ตัสมิง ภะคะวะติ พรหมะจะริยัง จะรามะ เราจะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าเป็นภิกษุก็ว่า ประกอบด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ว่า ประพฤติพรหมจรรย์ของอุบาสกอุบาสิกา ในที่สุดก็ว่า พรหมจรรย์ของเรานั้น จงเป็นไปเพื่อกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้เทอญ ข้อนี้ ถ้าพิจารณาดูก็เป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชมากอยู่ ในข้อที่ว่า บวชแล้วไม่เป็นการออกไปจากความทุกข์เช่นเดียวกับยังอยู่ที่บ้าน แม้ยังอยู่ที่บ้านถ้ามีสติปัญญาก็ยังเป็นการบรรเทาความทุกข์ ข้อที่สลดสังเวชสำหรับผู้ที่บวชแล้ว ไม่ประสบกับความดับทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่สลดสังเวชอย่างเดียว เมื่อละอายได้แล้ว ก็จะสลดสังเวชมากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นแหละจะทำให้กลับตัวได้ ไม่ดิ้นรนไปเป็นทาสของกิเลสตัณหาอีกต่อไป ไม่ดิ้นรนไปเป็นบ่าว เป็นทาส เป็นขี้ข้าของอวิชชา ตัณหา อุปาทานอีกต่อไป เป็นผู้สงบระงับอยู่ในความดับหรือความว่างจากตัวตน กระทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นไปด้วยสติปัญญา คือความไม่เห็นแก่ตัวถึงที่สุดดังนี้ นี้เรียกว่าพรหมจรรย์นี้ได้เป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งความทุกข์โดยสิ้นเชิง
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้นำมาพินิจพิจารณาในโอกาสแห่งวันวิสาขบูชา จนเกิดความสลดสังเวชโดยนัยดังที่กล่าวมานั้นทุกประการ มีความสลดสังเวชสมเพชตัวเองที่ยังอยู่ห่างไกลจาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังอยู่ห่างไกลจากความดับทุกข์ เพราะประมาทมัวเมา หลงใหล มัวยกหูชูหาง ด้วยอุปาทานว่าตัวกูของกูอยู่อย่างหุนหัน ข้างนั้นข้างนี้ ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น นี้ก็อย่างหนึ่ง และถ้าระลึกนึกว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาเพื่อโปรดเราให้พ้นจากความทุกข์ และเราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ถือเอาไม่ได้ นี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสลดสังเวชอีกอย่างหนึ่ง แล้วเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายของเราทั้งโลกนี้ ก็มาพลอยเป็นอย่างนี้ไปเสียด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ชักชวนซึ่งกันและกันให้ทำความดับทุกข์ให้แก่ตน ของตน ของตน แม้นี้ก็เป็นที่ตั้ง แห่งความสลดสังเวชอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง สรุปความแล้วก็คือว่า ภาวะที่น่าสลดสังเวชนั้น ยังมีอยู่มากมายนัก สำหรับคนที่ยังประมาท ยังอวดดี ยังสะเพร่า ยังหลงใหล ขอให้จงสนใจพินิจพิจารณาให้เป็นพิเศษในโอกาสนี้ คือวันวิสาขบูชานี้ ให้เป็นอย่างยิ่งด้วยกันทุกคน ให้กลับใจได้แม้แต่ในวันนี้ก็ยังดี จะเป็นการบูชาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อปฏิบัติบูชา สมควรแก่วันวิสาขบูชาเช่นวันนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังจงมีด้วยประการฉะนี้