แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาเนื่องด้วยมาฆบูชา จัดว่าเป็นธรรมเทศนาพิเศษดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว
ข้อที่จะวิสัชชนาในวันนี้ ก็คือเรื่องอันเกี่ยวกับมาฆบูชานั่นเอง วันที่เรียกว่าวันมาฆปุรณมีเช่นวันนี้ ตามปกติก็เป็นเพียงวันในปฏิทินวันหนึ่ง คือเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ในเมื่อเสวยมาฆะ นักขัตฤกษ์ วันอย่างนี้ก็มีทั่วๆ ไปตามปกติ แต่ที่ได้กลายเป็นวันพิเศษขึ้นมานั้น เนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง คือเป็นวันที่พระอรหันต์ทั้งหลาย จำนวน ๑,๒๕0 รูป ประชุมกันเป็นพิเศษในพระเวฬุวัน มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และทรงแสดงวิสุทธิอุโบสถ ประกาศยืนยันหลักพระธรรมในพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างไร การกระทำสังฆสันนิบาตถึงปานนี้ถือว่าเป็นพิเศษ
โดยนัยยะแห่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นวันมาฆปุรณมีอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพระขีนาสพคือ เป็นพระอรหันต์ทุกองค์นี้อย่างหนึ่ง และทุกองค์ล้วนแต่ได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา และประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมาย และพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในที่สังฆสันนิบาตนั้น ทรงแสดงวิสุทธิอุโบสถ นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเพราะมีความประหลาดน่ามหัศจรรย์ และมีแต่เพียงครั้งเดียว ดังที่กล่าวแล้ว
เมื่อท่านทั้งหลายได้ทราบถึงเหตุการณ์อันนี้แล้ว จะตั้งปัญหาถามขึ้นว่ามีความสำคัญอย่างไร เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็ย่อมจะเห็นได้ด้วยตนเองอยู่ในตัวแล้วว่า สำคัญตรงที่วันนี้เป็นวันของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นประธานก็เป็นพระอรหันต์ และเรียกว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ส่วนพระสาวกที่เป็นพระอรหันต์นั้นเรียกกันว่า อะระหัง ขีณาสโว ดังนี้เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่วันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ ถ้าเราจะทำวันนี้ให้เป็นวันสำคัญโดยแท้จริงแล้ว ก็จะต้องทำจิตใจให้ระลึกนึกถึงพระอรหันต์ มีคุณของพระอรหันต์เป็นอารมณ์อยู่ในใจตลอดเวลา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการทำมาฆบูชาที่ถูกต้องตามความหมาย ไม่ใช่เพียงแต่ว่ากล่าวคำบูชา กระทำการเวียนประทักษิณ แล้วก็จะเป็นมาฆบูชาโดยสมบูรณ์ ก็หาไม่
นั่นเป็นแต่เพียงพิธีทางกายบ้างทางวาจาบ้าง ส่วนทางจิตใจนั้นเล็งถึงความหมาย คือความรู้สึกถึงความสำคัญ หรือความหมายของวันเช่นวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ แต่ถ้าจะกล่าวอย่างระบุเจาะจงลงไป ก็คือระลึกถึงพระอรหันต์นั่นเอง และคำว่า “ระลึก” ในที่นี้ มิได้หมายความแต่เพียงว่านึกถึงอย่างเดียว จะต้องระลึกนึกถึงคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งปวง มากระทำไว้ในใจให้แจ่มแจ้ง จนกระทั่งมีปีติปราโมทย์ มีศรัทธา มีความเลื่อมใส มีความพออกพอใจ เจริญงอกงามขึ้นตามทางธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะความพอใจในคุณของพระอรหันต์นั่นเอง เมื่อทำได้ดังนี้จึงจะได้ชื่อว่า กระทำมาฆบูชาอย่างสมบูรณ์ สำเร็จประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่เสียทีที่ได้พยายามมากันจากที่ไกล จนมาถึงที่นี่ด้วยหวังว่าจะทำมาฆบูชา
เพราะฉะนั้นจึงขอเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งว่า จงกระทำมาฆบูชาด้วยการทำไว้ซึ่งคุณของพระอรหันต์เป็นอารมณ์ อยู่ในใจให้มากเป็นพิเศษในโอกาสเช่นนี้ด้วยกันจงทุกคนเถิด
เมื่อมีความมุ่งหมายดังนี้ ปัญหาย่อมจะมีขึ้นบ้างเป็นธรรมดา สำหรับคนบางคนว่าเราจะทำอย่างไร คือว่าคุณของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร แล้วเราจะมากระทำไว้ในใจอย่างไร ดังนี้เป็นต้น
ถ้าจะกล่าวให้ฟังง่ายที่สุด ควรจะกล่าวว่าเราจะกระทำตามพระอรหันต์ มีความหมายมั่นในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ตามร่องรอยของพระอรหันต์ เรียกว่ากระทำตามพระอรหันต์ แต่คนบางคนก็ยังจะสงสัยต่อไปว่าทำอย่างไร เพราะฉะนั้นจะต้องอธิบาย ให้เป็นที่เข้าใจเกี่ยวกับข้อนี้ ว่าเราทำอย่างไรจึงจะเป็นไปในร่องรอยพระอรหันต์ คำว่า “พระอรหันต์” นั้น ถ้ากล่าวโดยประวัติหรือโดยตำนานแล้ว ย่อมมีมานมนานมากก่อนพุทธกาลเสียอีก คือประชาชนในประเทศอินเดีย แม้ในสมัยก่อนพุทธกาล เขาก็ยังมีพูดกันถึงพระอรหันต์ มีคำๆ นี้ใช้เรียก หมายถึงบุคคลที่ประเสริฐที่สุด คือเป็นมนุษย์ถึงจุดสูงสุดของความประเสริฐนั่นเอง
เพราะฉะนั้นย่อมแล้วแต่ว่าคนทั่วไปในสมัยนั้น เขาจะถือกันว่าความประเสริฐนั้นเป็นอย่างไร การที่จะถือกันว่าความประเสริฐเป็นอย่างไรนั้น มันเนื่องอยู่หรือมันขึ้นอยู่กับความรู้หรือสติปัญญาของเขานั่นเอง เพราะฉะนั้นคนในประเทศอินเดีย ในสมัยก่อนพุทธกาลนั้น มีความคิดมีความเชื่ออย่างไร ก็บัญญัติเอาว่าอย่างนั้นเป็นพระอรหันต์ และเรียกบุคคลที่เป็นพระอรหันต์กันทั่วๆ ไปในลัทธิศาสนา แล้วแต่ว่าตนจะถือลัทธิศาสนาอะไร
ครั้นพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมา ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ตามแบบของท่าน ท่านก็บัญญัติความหมายของพระอรหันต์ว่าเป็นอย่างนั้นๆ โดยสรุปก็คือ เป็นผู้หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนว่าของตน โดยประการทั้งปวง เป็นเหตุให้อยู่เหนือความครอบงำของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ไม่ว่าจะจำแนกกิเลสนั้น ออกไปในรูปไหน ลักษณะอย่างไร ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็หมายความว่า ผู้เอาชนะกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
ดังนั้น พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา จึงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันกับพระอรหันต์ในศาสนาอื่น ที่พร้อมสมัยกันหรือว่ามีอยู่ก่อนพุทธศาสนา เราไม่มีเวลาที่จะศึกษา เกี่ยวกับพระอรหันต์ของชนเหล่าอื่น เวลามีเพียงสำหรับจะกำหนดพิจารณาถึงพระอรหันต์ในพุทธศาสนา โดยเฉพาะแต่ฝ่ายเดียว และแม้ความหมายของคำว่า “พระอรหันต์” ในพุทธศาสนานี้ก็ยังมีมากมาย จนเหลือที่จะนำมากล่าวได้ ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เราจะพรรณาคุณของพระอรหันต์ จะใช้เวลาตั้งหลายวัน หรือตั้งหลายเดือนก็ยังจะทำได้ แต่บัดนี้โอกาสมีเพียงเท่านี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องกล่าว แต่เฉพาะใจความ รวบรัดเอาแต่เฉพาะใจความ ที่เป็นใจความสำคัญของคำว่า “พระอรหันต์”
ที่กล่าวว่าพระอรหันต์มีทั่วๆ ไปในทุกลัทธินั้น เป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่สุดในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล คนที่เป็นนักปกครอง เช่น เป็นพระราชา เป็นต้น ต้องยอมรับนับถือพระอรหันต์ทุกลัทธิ ว่าล้วนแต่เป็นพระอรหันต์เสมอกัน นั้นจึงถือว่าเป็นพระอรหันต์เสมอกันในสังคมนั้นๆ เพราะถ้าไปตั้งข้อรังเกียจขึ้น แก่พระอรหันต์ประเภทใด ความโกลาหลวุ่นวายก็เกิดขึ้น พระเจ้าแผ่นดินที่มีวิธีการปกครองที่ดี จึงได้ยอมรับนับถือพระอรหันต์ทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพระอรหันต์ ตามความนิยมของสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีพระอรหันต์ในรูปต่างๆ กัน แม้ที่สุดแต่เปลือยกายก็ยังมี ประพฤติวัตรอย่างแปลกๆ ประหลาดอย่างยิ่งก็ยังมี นี้เรียกว่าพระอรหันต์ในลัทธิอื่นหรือในศาสนาอื่น
ส่วนพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนานั้น เพ่งเล็งถึงข้อที่เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือกิเลสโดยประการทั้งปวง ดังที่ได้กล่าวแล้ว ถ้าจะจำแนกกิเลสออกเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ให้ถือว่าเป็นผู้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยประการทั้งปวง ดังนั้นเมื่อจะถือเอาหลักเกณฑ์อันนี้ เป็นเครื่องระลึกถึงคุณพระอรหันต์แล้ว ทุกคนจงได้มองย้อนเข้าไปที่ตัวตนที่ตัวเอง ว่าตัวเองมีความโลภอย่างไร ความโกรธอย่างไร ความหลงอย่างไร แล้วว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้มีพิษร้ายอย่างไร กำลังทำความยุ่งยากลำบากให้เราและผู้อื่นอย่างไร และมันละได้แสนยากอย่างไร ให้พิจารณาไปโดยละเอียดสุขุมที่สุด ในที่สุดก็จะพบว่า การละกิเลสได้สิ้นเชิงนี้ ช่างเป็นของประเสริฐเสียจริงๆ และเป็นความประเสริฐสูงสุดกว่าความประเสริฐชนิดไหนหมด
เมื่อเป็นอย่างนี้ จิตใจก็จะแจ่มกระจ่างในคุณของพระอรหันต์ ว่าพระอรหันต์ประกอบอยู่ด้วยคุณอย่างไรบ้าง ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าจะรู้จักพระอรหันต์ ก็ต้องมองดูที่กิเลสของตัวเอง ว่ากำลังสกปรกอย่างไร กำลังเร่าร้อนอย่างไร กำลังมืดมนอย่างไร มีความสลดสังเวชใจในข้อนั้นแล้ว คำนึงถึงภาวะที่ตรงกันข้าม คือความที่ไม่สกปรก ไม่มืดมัว ไม่หม่นหมอง ไม่เร่าร้อน ก็จะเกิดพอใจในคุณของพระอรหันต์ขึ้นมาอย่างแท้จริง
ดังนั้น จึงมีวิธีพิจารณากันได้มากมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจำแนกกิเลสนี้ออกไปอย่างไร ที่น่าสนใจอีกหมู่หนึ่งก็คือ การจำแนกกิเลสออกไปในรูปของอุปาทาน ที่เรียกว่าอุปาทานทั้ง ๔ คือ
กามุปาทาน ยึดมั่นในกาม
ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความคิด ความเห็น
สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในการประพฤติโง่เง่า งมงาย ประพฤติมาอย่างไร้เหตุผลจนเคยชิน
และอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นโดยความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู ว่าของกู
รวมกันเป็น ๔ ประการดังนี้
ท่านจงทบทวนดูให้ดีว่า อุปาทานทั้ง ๔ นี้ มันมีอยู่ในบุคคลแต่ละคนๆ รวมทั้งตัวเราด้วยอย่างหนาแน่นเพียงใด มีพิษร้ายอย่างไร ทำให้สกปรกมืดมัว เศร้าหมอง เร่าร้อนอย่างไร ในที่สุดก็จะเกิดความพอใจในคุณของพระอรหันต์อย่างใหญ่หลวง ว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาจากอุปาทานทั้งหลายเหล่านี้
อุปาทานข้อแรกที่เรียกว่า กามุปาทานนั้น หมายถึงความที่ทุกคน มีจิตใจยึดมั่นหรือติดพันอยู่อย่างเหนียวแน่นในสิ่งที่เรียกว่า กามคือสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่ คือของกิเลสตัณหานั่นเอง จะอยู่ในลักษณะของรูปที่เห็นทางตาก็ได้ ในลักษณะของเสียงที่ได้ยินทางหูก็ได้ ในลักษณะของกลิ่นที่รู้ได้ด้วยจมูกก็ได้ ในลักษณะของรสที่รู้ได้ด้วยลิ้นก็ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สัมผัสผิวหนัง และความคิดนึก กลัดกลุ้มอยู่ในใจ ซึ่งอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสเหล่านั้น เหล่านี้เรียกว่ากามในที่นี้
ที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ รสที่เกิดมาแต่เพศตรงกันข้ามโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกามชนิดที่มีอำนาจมาก มีพิษร้ายมาก และยากที่ใครๆ จะเอาชนะมันได้ เมื่อพิจารณาดูด้วยความบริสุทธิ์ใจของตนเองแล้ว ย่อมจะเห็นข้อที่ตัวเองก็ตกจมอยู่ในเปลือกตม กล่าวคือกามนี้อย่างไม่รู้จักสร่าง ราวกับว่าปลาจะต้องอยู่ในน้ำฉันใด สัตว์ทั้งหลายในกามาวจรภูมินี้ ก็มีจิตใจที่หมกจมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ากามฉันนั้น เราไม่อาจจะให้ปลามาอยู่บนบกได้ฉันใด มันก็ยากที่คนธรรมดาสามัญจะถอนจิตใจของตน ออกมาเสียจากความพัวพันในกามได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดมีจิตใจเกลี้ยงเกลาสะอาดไปจากกาม ก็จะเป็นผู้ประเสริฐสักเพียงไร เป็นสิ่งที่คิดดูได้ด้วยกันทั้งนั้น นี้เรื่องหนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่สอง คือทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือความคิดความเห็น ตนมีความคิดเห็นอย่างไร ก็เห็นเป็นถูกไปหมด คนอื่นก็ผิดไปหมด ยึดมั่นในความคิดความเห็นของตัวอย่างนี้ ก็เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ได้ทั้งนั้น ที่เป็นส่วนใหญ่หรือส่วนสำคัญนั้น ก็คือความสำคัญผิด ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าไม่ทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา มีความสำคัญผิดอย่างนี้ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่รู้สร่างซา หรือว่ามีความสำคัญผิดในเรื่องอันเกี่ยวกับความทุกข์ อันเกี่ยวกับมูลเหตุให้เกิดความทุกข์ อันเกี่ยวกับความดับทุกข์ที่แท้จริง และเกี่ยวกับวิธีหรือหนทางที่จะดับทุกข์ที่แท้จริง
มีความเห็นผิดในข้อนี้แล้ว ก็ไปเข้าใจผิดในเรื่องความทุกข์และมูลเหตุให้เกิดทุกข์และความดับทุกข์ จึงได้แสวงหาความดับทุกข์ผิดๆ เพราะมีความเห็นผิดอย่างนี้ ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องมาเสียตั้งแต่ทีแรก มีความคิดความเห็นความเข้าใจถูกต้องมาเสียตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้คล้ายๆ กับว่าพอเกิดมา ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เห็นเป็นสิ่งสวยงาม น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่ายึดมั่นถือมั่น ไปเสียทั้งหมด แล้วก็มีแต่การศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจอย่างนั้นยิ่งขึ้น เพราะความโง่เพราะความหลงที่มีอยู่แต่เดิมบ้าง ที่ได้รับเพิ่มใหม่บ้าง เพราะการสังคมการสมาคมกับคนพวกที่โง่เขลางมงาย มีความคิดวิปลาส ไม่อยู่ในร่องรอยของธรรมะบ้าง จึงได้มีความคิดเห็นผิดออกไปทุกที จึงกลายเป็นอุปาทาน ที่ถอนได้โดยยาก
ตนมีความคิดเห็นอย่างไรก็ถือเอาความคิดเห็นอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป แม้ใครจะมาฆ่าให้ตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดความเห็น นี้คือเครื่องหมายหรือเครื่องวัดที่แสดงให้เห็นว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตัวนั้น มันมากมายและร้ายกาจสักเพียงไร คนเราทะเลาะวิวาทกัน เบียดเบียนกัน ที่มีมูลมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน นี้ก็มีเป็นอย่างมาก แม้ที่สุดจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน ว่าคนหมู่มากในโลกนี้เขามีความคิดเห็นแบ่งกันเป็นพวกๆ พวกหนึ่งว่าจะต้องจัดโลกโดยวิธีนี้ โลกนี้จึงจะมีสันติภาพ พวกอื่นก็แย้งว่าจะต้องจัดโดยวิธีโน้น จึงจะมีสันติภาพ แล้วเขาก็รบกัน เพราะต้องการจะแย่งกันจัดโลกนี้ให้มีสันติภาพ ด้วยเหตุที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน มันจึงเป็นเรื่องระส่ำระสาย โกลาหลวุ่นวายกันทั้งโลก
ขอให้พิจารณาดูพิษร้ายของความเห็นผิด หรือการยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิด ทีนี้แม้ที่สุดแต่ในครอบครัวซึ่ บุตร ภรรยา สามี ทะเลาะวิวาทกัน เป็นข้าศึกแก่กัน ทำอันตรายแก่กันและกัน ถึงเลือดตกยางออกอย่างนี้ ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก ที่เนื่องมาจากความคิดเห็นไม่ลงรอยกันเท่านั้น ไม่ได้มีมูลมาจากสิ่งอื่นเลย ทำให้เบียดเบียนกันได้ แม้คนในครอบครัวเดียวกัน เป็นสามีภรรยากันก็ยังทะเลาะวิวาทกัน แม้ที่สุดแต่บิดามารดา กับลูกกับหลานก็ยังทะเลาะวิวาทกัน มีความคิดความเห็นชนิดที่ขัดแย้งต่อกันอยู่ตลอดเวลา ดังนี้ก็มี เลยไม่มีความสงบสุขในครอบครัวนั้น จะปรับให้ใคร ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิด มันก็ล้วนแต่ผิดด้วยกันทั้งนั้น เพราะยังมีความเห็นวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ถ้ามีความเห็นที่ถูกที่ตรงแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทะเลาะวิวาทกันได้เลย ความเห็นผิดนี้เป็นมูลเหตุก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบากนานาประการแก่มนุษย์เรา และผูกพันจิตใจไว้อย่างเหนียวแน่น ถ้าหากว่าบุคคลผู้ใด มีจิตใจสะอาดเกลี้ยงเกลา ไปจากทิฏฐุปาทานเหล่านี้แล้ว จะเป็นบุคคลที่ประเสริฐ น่ากราบไหว้บูชาสักเท่าไร ก็ขอให้ลองคิดดูอีก
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่สามที่เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร ที่ประพฤติปฏิบัติมาอย่างงมงายไร้เหตุผล ข้อนี้ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน พิจารณาดูให้ดีเป็นพิเศษ เพราะดูเหมือนว่ามันจะมีอยู่ทั่วไป และมีอยู่อย่างมากมายเกินกว่าที่เคยนึกเคยฝันก็ได้ เพราะว่าข้อนี้หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างใดก็ตาม ที่พุทธบริษัทพากันประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ ถ้าไม่เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุผล แต่เป็นไปด้วยความเชื่อที่โง่เขลางมงายแล้ว มันก็ล้วนแต่เป็นสีลัพพตปรามาสไปหมดสิ้น แม้แต่การไหว้พระสวดมนต์ของบุคคลชนิดนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส การให้ทาน การรักษาศีล การอะไร ทำอะไร ของบุคคลที่ไม่มีเหตุผล ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผล ทำไปด้วยความเชื่ออย่างงมงายนั้น ล้วนแต่เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วก็ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ขอให้สอบสวนดู พิจารณาดู ว่าการไหว้พระสวดมนต์ของบุคคลใดยังเป็นไปในลักษณะที่งมงาย ก็จงรีบแก้ไขให้ถูกต้อง อย่าได้เป็นเพียงพิธีรีตองที่งมงาย การทำบุญทำทานของบุคคลใด เป็นไปอย่างงมงายก็ต้องรีบแก้ไขเสียให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นไปอย่างงมงาย เครื่องหมายของความงมงายมันมีอยู่ทั่วไปแล้ว ขอให้พิจารณาดูให้ดี อย่าต้องให้ระบุออกมาให้ชัดเจนนักเลย มันเหลือที่จะทราบหรือจะเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่พึงจับหลักใหญ่ๆ ที่เป็นหลักสำคัญให้ได้ว่า การกระทำที่ไม่งมงายนั้น ต้องเป็นการกระทำที่ล้วนแต่เป็นไปเพื่อดับความทุกข์โดยตรง เพื่อจะกำจัดกิเลสอันเป็นมูลเหตุของความทุกข์โดยตรงเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกำจัด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าการประพฤติกระทำนั้นมันเพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว แม้จะทำอยู่ในรูปที่เรียกกันว่าบุญกุศล มันก็เป็นบุญกุศลไปไม่ได้ มันเป็นความงมงาย ดังจะยกตัวอย่างสักข้อหนึ่งว่า การให้ทาน ถ้าให้ด้วยเหตุผลแล้ว หมายความว่า ต้องการจะทำลายความเห็นแก่ตัวของตัวเอง โดยเฉพาะก็คือความตระหนี่ขี้เหนียว โดยพิจารณาเห็นว่า ความตระหนี่ขี้เหนียวนี้ มันเป็นโทษเป็นภัยแก่คนทุกคน รวมทั้งตัวเราเองด้วย ความตระหนี่ขี้เหนียว ทำให้เราหมดความสุข ทำให้คนอื่นไม่ได้รับประโยชน์จากเรา ทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยากัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำลายความเห็นแก่ตน วิธีการทำลายความเห็นแก่ตนนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการบริจาค บริจาคอะไร ก็บริจาคสิ่งที่ทำให้ตนเห็นแก่ตนนั่นแหละออกไป หรือสิ่งทำให้ตนเห็นว่าเป็นของตนยิ่งขึ้นนั่นแหละออกไป
ฉะนั้น สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือก็บริจาคออกไป เราจึงบริจาคทาน เราไม่จำเป็นจะต้องทำอย่างมากมายเหมือนอย่างพระเวสสันดร เราทำเท่าที่คนธรรมดาสามัญจะพึงกระทำได้ แต่ขอให้เป็นไปเพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตนก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น คือถ้าทำทาน ทำบุญทำทานออกไปสักบาทหนึ่ง ก็ได้หวังว่าจะได้วิมานสักหลังหนึ่ง สักวิมานหนึ่งในชาติหน้า ส่วนในชาตินี้ก็ต้องการให้เป็นคนมีโชคดี รวยอย่างนั้น รวยอย่างนี้ขึ้นมาทีเดียว อย่างนี้ลองพิจารณาดูเถิดว่า มันเพิ่มความโลภ หรือว่ามันบรรเทาความโลภ มันเพิ่มความเห็นแก่ตัว หรือว่ามันบรรเทาความเห็นแก่ตัว
ถ้ามันเพิ่มความโลภหรือเพิ่มความเห็นแก่ตัวแล้ว มันไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลแล้ว มันเป็นความงมงาย เพราะฉะนั้นจึงว่ามันเป็นการให้ทานที่งมงาย และต้องถูกนับไว้ในพวกที่เป็นศีลวัตรที่ไม่ใช่พุทธศาสนา คือเป็นสีสัพพตปรามาส อันเรียกว่าศีลพรตที่ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล เพราะเป็นไปอย่างงมงาย
แม้ที่สุดแต่การไหว้พระสวดมนต์ ถ้าทำไปด้วยหวังผลอย่างเดียวกัน คือจะให้สวยให้รวย ให้ตายไปเกิดสวยเกิดรวยอีก อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องงมงาย แต่ถ้าไหว้พระสวดมนต์เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใส เพื่อการศึกษาวิชาความรู้ที่ยิ่งขึ้นไปอย่างนี้ มันก็อยู่ในอำนาจของเหตุผลไม่งมงาย เพราะฉะนั้นขอให้ชำระสะสางการไหว้พระสวดมนต์ การทำบุญให้ทานและการประพฤติทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระศาสนาของเรานี้ ให้พ้นจากความงมงาย อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ด้วยความงมงาย ดังที่เคยทำมา อย่างที่ใครมาคัดง้างไม่ได้ ใครมาแนะนำไม่ได้
นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่มาก เป็นสิ่งที่มีอยู่แก่เราทุกคนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงความโง่เง่างมงายในทางไสยศาสตร์ หรือโง่เง่างมงายในทางโชคทางลางอย่างนี้เป็นต้น ความโง่เช่นว่า พอจิ้งจกร้องทักก็สะดุ้งขึ้นมาทีเดียว ว่าเป็นความผิด เป็นความร้าย เป็นความชั่ว เป็นลางร้ายอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นลักษณะของคนที่ยังโง่และยังงมงาย ในสีลัพพตปรามาสอย่างต่ำที่สุด ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องละ
ดังนั้นการถือโชคถือลาง หรือว่าการถือโชคชะตาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม หรือการถือของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ เครื่องลาง เครื่องคุ้มครอง ที่มีไว้สำหรับหลอกขายกันอยู่ในที่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งนั้นก็ตาม หรืออะไรๆ ที่คล้ายกันในทำนองนี้แล้ว ล้วนแต่เป็นความงมงายชนิดที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาสทั้งนั้น แม้จะเอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ ถ้าแขวนอยู่ด้วยความงมงายแล้ว การแขวนพระพุทธรูปนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เป็นเหตุให้มืดมนอย่างยิ่ง ในการที่จะทำความดับทุกข์ให้แก่ตน เรียกว่าเป็นคนงมงายอย่างยิ่งเพราะเหตุนั้น ทั้งที่มีพระแขวนอยู่ที่คอก็ยิ่งมีความงมงาย
จึงจำเป็นที่จะต้องคิดดูให้ดี ว่าถ้าเราจะเอาพระมาแขวนคอ จะต้องแขวนเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็จะต้องเป็นไปเพื่อคอยเตือนจิตเตือนใจ ให้ประพฤติตามร่องตามรอยของพระพุทธเจ้า อย่าให้ลืมเสีย พระพุทธเจ้ามีการประพฤติ กระทำ ความคิด ความนึก การพูด การจาอย่างไร เราก็จะได้มีการคิด การกระทำหรือการพูดจาอย่างนั้นบ้าง แล้วความดีที่เราทำนั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองเรา ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ซื้อมา ๑๐ บาท ๒๐ บาทนั้นจะคุ้มครองเรา แต่ว่าความดีความงามที่เกิดขึ้น เพราะเราเอาพระพุทธรูปนั้น มาเป็นเครื่องเตือนใจนั่นแหละ จะคุ้มครองเรา เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองเรา
ถ้าเราเป็นคนขี้ลืม เราก็เอาพระพุทธรูปมาแขวนคอเพื่อกันลืม แต่ถ้าเราไม่ใช่คนขี้ลืมมันก็ไม่จำเป็นอะไร ที่จะต้องมาแขวนให้รุงรัง เพราะว่าถึงความขลาดความกลัว เราก็ต้องรู้ตามที่เป็นจริงว่า อาศัยความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะกำจัดความกลัวได้อย่างแท้จริง ความเชื่อที่งมงายนั้นกำจัดความกลัวได้อย่างงมงาย อย่างชั่วครู่ชั่วยาม หรือเพียงบางสิ่งบางอย่าง นั้นถ้าเราจะเอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ เพื่อป้องกันความกลัวหรือกำจัดความกลัว มันก็กำจัดได้อย่างงมงายหรือเพียงเอกเทศ ถ้าจะกำจัดความกลัวให้ได้ เราจะต้องนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าให้ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ความกลัวจึงจะหายไป
นี้ก็ได้แก่การที่ให้ประพฤติความดีความงาม จนเป็นเครื่องอุ่นใจว่าเราเป็นผู้ประพฤติความดี มีความดีเพียงพอนี้ก็อย่างหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นอย่างระดับธรรมดาสามัญ ถ้าให้สูงขึ้นไปขอให้ศึกษา จนกระทั่งเข้าใจถึงความจริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ความกลัวจึงจะหายไปโดยประการทั้งปวง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเรา ไม่มีตัวเราที่จะต้องตาย ไม่มีของเราที่จะต้องตาย อย่างนี้มันก็ไม่กลัว
นี้ก็เพราะอาศัยการประพฤติกระทำที่ถูกต้อง ไปตามร่องรอยของเหตุผล มันจึงหายกลัว ก็คือธรรมะนั่นเองช่วยให้หายกลัว ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ซื้อมา ๑๐ บาท ๒๐ บาท มาแขวนคอแล้วจะทำให้หายกลัว แต่ว่าอาจจะเนื่องกันอยู่ในข้อที่ว่า พระพุทธรูปนี้จะช่วยเตือนใจให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความกลัว ผู้ชนะกิเลสได้โดยประการทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ที่ไม่มีตัวตนสำหรับจะมีอะไรมาทำให้ต้องตาย ดังนั้นจึงไม่กลัว นี้จิตใจที่กล้าหาญประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างนี้ นี้ก็เรียกว่าการแขวนพระพุทธรูปของบุคคลนั้น ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส แต่ถ้าเอามาแขวนด้วยความเชื่อ ไปตามคนที่ทำพระพุทธรูปขายอย่างนี้แล้ว ไปตามคำโฆษณาของคนที่ทำพระพุทธรูปขายอย่างนี้แล้ว การแขวนพระพุทธรูปนั้น ก็เป็นสีลัพพตปรามาสหรือความงมงาย โดยไม่ต้องสงสัยเลย
ขอให้เปรียบเทียบกันดูเป็นคู่ๆ อย่างนี้ตลอดไป ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นสีลัพพตปรามาส และทำอย่างไรจึงเป็นสีลัพพตปรามาส แล้วเราก็เว้นเสียซึ่งวิถีทางของสีลัพพตปรามาส เป็นผู้บรรเทาความงมงาย ให้หายไปโดยลำดับ จนเป็นผู้อยู่ในอำนาจของความจริง ไม่มีความงมงายเหลืออยู่ดังนี้ เรียกว่าเป็นผู้เอาชนะสีลัพพตปรามาสได้
เดี๋ยวนี้เรายังเป็นอย่างไร พอจิ้งจกร้องทักก็ยังสะดุ้ง ไม่ต้องพูดถึงอะไรมาก ยังโง่มาแต่ดึกดำบรรพ์ถึงขนาดนี้ และจะมีการละสีลัพพตปรามาสที่สูงกว่านั้นขึ้นไปอย่างไรได้ ข้อนี้ทุกคนควรจะพิจารณาตนด้วยจิตใจที่เป็นธรรมอย่าเข้าข้างตน คนไหนพบความโง่เขลางมงาย ประเภทสีลัพพตปรามาสทั้งหลายให้ครบถ้วน แล้วตั้งความพยายามพากเพียร ที่จะละมันเสียตามลำดับๆ แล้วพร้อมกันนั้นก็มาระลึกนึกถึงข้อที่ว่า ถ้าบุคคลใดละสีลัพพตปรามาสโดยประการทั้งปวงได้ดังนี้แล้ว จะเป็นผู้ประเสริฐสักเพียงไร
พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ละอุปาทานในสีลัพพตปรามาสได้ ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่งอีกลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ละความยึดมั่นถือมั่นในกามเสียได้ ละความยึดมั่นถือมั่นความคิดความเห็นหรือทิฐิเสียได้ ละความยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติปฏิบัติ ที่กระทำมาอย่างงมงายจนเคยชินนี้เสียได้ ล้วนแต่เป็นความประเสริฐทั้งนั้น
ทีนี้ก็มาถึงข้อสุดท้าย ที่เรียกว่าละอัตตวาทุปาทานเสียได้ ข้อนี้ได้แก่การละความยึดมั่นถือมั่นด้วยความสำคัญว่าตัวตนเสียได้ นี้เป็นเรื่องใหญ่มากและยิ่งละเอียดมาก คนทุกคนมีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว ไม่ต้องคิดต้องนึก มันก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในตัวเองเสร็จแล้ว ที่ทำให้เรากลัวตาย ที่ทำให้เราสะดุ้งเมื่อมีนิมิตของความตายแสดงออกมา หรือว่าทำให้เรารัก หรือโกรธ หรือเกลียดชัง หรืออะไรต่างๆ ทุกอย่างได้ เพราะความที่ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนหรือมีของตน ยิ่งพิจารณาไปก็จะยิ่งเห็นว่า ความสำคัญหรือรกรากที่สำคัญหรือมูลเหตุที่สำคัญ นั้นอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราหรือว่าของเรานี่เอง
อาจจะกล่าวได้ว่าความทุกข์ทั้งหลาย มาจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นนี้ มันเป็นเหตุให้เกิดความหนัก เกิดความต้องทน แม้จะยึดมั่นถือมั่นในฝ่ายดีหรือฝ่ายบุญมันก็ยังต้องหนักต้องทน เหมือนว่าเราจะแบกกระบุงก้อนหินมันก็หนัก แต่แม้เราจะแบกกระบุงที่เต็มไปด้วยเพชรด้วยพลอยมันก็หนัก เพราะว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นนั่นเองมันจึงได้หนัก ฉะนั้นการยึดมั่นถือมั่นในบาปนั้นไม่ต้องพูดถึงมันหนักและมันทรมาน แต่ว่าการยึดมั่นถือมั่นในความดีมันก็ยังหนักอย่างเดียวกัน มันจึงมีความทุกข์ไปตามแบบตามประสา ของคนดี คนสวย คนรวย หรือคนมีบุญ พอไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวงเท่านั้น จึงจะไม่หนักและเป็นคนเบาสบาย กระบุงก้อนหินก็ไม่แบก กระบุงแก้วแหวนเงินทองก็ไม่แบก ถ้ามีอะไรก็มีไว้ที่ฝ่าเท้า ไม่ยกขึ้นมาแบกมาทูนไว้มันจึงไม่หนัก
ถึงแม้ว่าเป็นข้อที่ลึกซึ้งหรือเป็นข้อที่สำคัญ ในการที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนไว้ ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่ว่าสิ่งไหนหมด หรือว่าฝ่ายดีก็ตาม ฝ่ายชั่วก็ตาม ฝ่ายบุญก็ตาม ฝ่ายบาปก็ตาม ฝ่ายสุขก็ตาม ฝ่ายทุกข์ก็ตาม ทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ใจมันจึงจะว่างและอยู่เหนือความสุขความทุกข์ อยู่เหนือความดีความชั่ว อยู่เหนือบุญเหนือบาป จิตใจของพระอรหันต์เป็นอย่างนี้เอง แล้วจะประเสริฐหรือจะไม่ประเสริฐก็ขอให้ลองพิจารณาดูด้วยกันทุกคนเถิด ยิ่งพิจารณาข้อนี้แล้ว จะยิ่งพอใจในคุณของพระอรหันต์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นหมด เพราะว่าเป็นชั้นที่ละเอียดสุขุมอย่างยิ่ง
คนเราทุกคนมีความยึดมั่นถือมั่นตัวตน อยู่โดยไม่รู้สึกดังที่กล่าวแล้ว เพื่อจะให้เข้าใจง่ายๆ อยากจะชี้ให้สังเกตไปยังความรู้สึก ที่รู้สึกขึ้นมาว่าตัวกูหรือว่าของกู สองคำเท่านั้นไม่ต้องมากกว่านั้น เรียกว่าตัวกูนี้เป็นเหตุให้ไม่ยอมใคร รู้สึกว่าของกูนี้เป็นเหตุให้รักใคร่หวงแหน แล้วคนเราก็เป็นทุกข์ไปด้วยความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้อยู่ทุกวันทุกคืน จนถึงกับมีการเล่านิทานเปรียบด่าไว้ว่า โพธิสัตว์ที่เป็นลิงถูกจับมาเลี้ยงอยู่ในวัง พอเขาปล่อยกลับออกไป ลิงลูกสมุนถามว่าที่ในวังมีอะไรบ้าง ลิงโพธิสัตว์ที่เป็นนายฝูงบอกว่า ไม่มีอะไรนอกไปจากมีแต่เสียงว่าเงินของกู ทองของกู บุตรของกู ภรรยาของกู สามีของกู อะไรๆ ก็ล้วนแต่ของกู พวกลิงทั้งฝูงก็พากันไปล้างหูที่ลำธาร เพราะว่าได้ยินของสกปรกหูอย่างยิ่ง
นี้ขอให้คิดดูว่า ถ้าเป็นเพียงลิงก็รู้จักความสกปรกถึงขนาดนี้แล้ว คนจะเป็นอย่างไร เพราะว่าคนนั้นเป็นเจ้าของคำพูด ว่าตัวกู ว่าของกู เพราะว่าคนนั่นแหละเป็นผู้พูดว่าของกู ของกู อยู่ทั้งวันทั้งคืน นี้มันพูดออกมาด้วยอะไร มันพูดออกมาด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งอยู่ในภายใน โดยไม่ต้องคิดต้องนึก โดยไม่ต้องเจตนา เพราะมันเป็นความเข้าใจผิดเห็นผิดอย่างเต็มที่อยู่ตลอดเวลา มันจึงพลุ่งเป็นความรู้สึก ว่าตัวกูว่าของกู ออกมาได้ทุกโอกาสที่มีอะไรๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกูดังนี้แล้ว ลองคิดดูต่อไปเถิดว่า มันจะเกิดความรู้สึกอะไรต่อไปอีก มันก็ต้องเกิดความรู้สึกที่เป็น ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเป็นอุปาทานอย่างอื่น กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน อัตตวาทุปาทาน สีลัพพตุปาทานเป็นต้น ที่ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้นเอง
คนเราลำบากอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู นี้หรือไม่ ขอให้พิจารณาดูด้วยความตั้งอกตั้งใจ ให้เข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยกันทุกคน แล้วก็จะมีความพอใจเลื่อมใสในคุณของพระอรหันต์ คือความที่พระอรหันต์ทั้งหลายหมดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกูหรือว่าของกู ดังที่กล่าวแล้ว ส่วนปุถุชนคนธรรมดานี้ เต็มอัดอยู่ด้วยความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู คือในจิตใจก็เต็มอัดอยู่ด้วยความรู้สึกอันนี้ ในส่วนลึกของจิตใจคือในสันดาน ก็เต็มอยู่ด้วยเชื้อของความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู พร้อมที่จะเกิดขึ้นมาในรูปอย่างนั้น ในรูปอย่างนี้เสมอ ตัวกูชนิดหนึ่งก็เป็นเหตุให้โลภไม่มีสร่าง ตัวกูชนิดหนึ่งก็เป็นเหตุให้โกรธ วิวาทกันไม่มีสร่าง ตัวกูอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุให้หลงใหล มัวเมา ไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงได้ เพราะมัวแต่ยึดมั่นถือมั่นไปตามเดิมเสียตะพึดตะพือ นี่แหละคือโทษของความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู ซึ่งเป็นอุปาทานข้อสุดท้าย ซึ่งละได้แล้วก็เป็นพระอรหันต์โดยสมบูรณ์ พระอริยบุคคลขั้นต้นๆ ต่ำๆ ก็ยังละไม่ได้
เมื่อเราพิจารณาดูโดยนัยยะดังที่กล่าวมานี้ ก็จะเห็นคุณอันแท้จริงของพระอรหันต์ ทั้งที่เป็นคุณในส่วนตัวท่าน และเป็นคุณที่เนื่องมาถึงพวกเรา คุณในส่วนตัวท่านก็คือความประเสริฐสูงสุดของท่าน คุณที่เนื่องมาถึงเราก็คือท่านเป็นตัวอย่างที่ดี ให้เราประพฤติตามท่าน คือทำตามรอยของพระอรหันต์นั่นเอง แล้วคุณของท่านก็เนื่องมาถึงเรา มาคุ้มครองเราให้พ้นจากภัยที่เกิดมาจากกิเลส เราได้รับประโยชน์อันนี้ถือว่าได้รับประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงพอใจในคุณของพระอรหันต์ เรามีความเลื่อมใสในพระอรหันต์ มีความพอใจ มีความแน่ใจ มีความเต็มอกเต็มใจ ที่จะทำสักการะบูชา ดังที่เราได้กระทำไปแล้วเมื่อตะกี้นี้ จึงเรียกว่า มาฆบูชา คือบูชาคุณของพระอรหันต์นั่นเอง
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนมีความเข้าใจ ในการกระทำที่กระทำไปแล้วเมื่อตะกี้นี้ในลักษณะอย่างนี้ จึงจะไม่กลับกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไปเสียอีก อย่าได้ไปคิดว่าการเวียนเทียนนี้เป็นของขลังเป็นของศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะของสีลัพพตปรามาส แต่ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า การกระทำประทักษิณเวียนเทียนนี้ เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่เคารพบูชาอย่างสูงสุด เราเคารพบูชาอย่างสูงสุดก็เพราะเห็นคุณของพระอรหันต์ดังที่กล่าวแล้ว มันทำให้ทนอยู่ไม่ได้ ดิ้นรนที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏ จึงแสดงปรากฏออกมาทางกาย คือการกระทำประทักษิณหรือที่เรียกว่าเวียนเทียน ดังที่กล่าวแล้ว หรือว่าแสดงออกมาทางวาจา ก็คือคำบูชาที่เราได้กล่าวออกไปนั่นเอง
ทีนี้ในส่วนจิตใจของเรา ก็เต็มอยู่ด้วยความเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณของพระอรหันต์ มีคุณของพระอรหันต์เป็นอารมณ์ มีใจซึมซาบอาบอิ่มอยู่ด้วยคุณของพระอรหันต์ เป็นความรู้สึกสูงสุดของจิตใจ เท่าที่จะเป็นจิตใจสูงสุดได้ นี้เรียกว่าเป็นการทำการบูชา ที่แสดงออกมาครบด้วยไตรทวาร อย่างแท้จริงและสมบูรณ์แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน จงปรับปรุงจิตใจของตนให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ ในวันที่สำคัญเช่นวันนี้ แล้วกระทำมาฆบูชา ให้สำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่มีการจำกัดอยู่ตรงที่เวียนเทียนหรือกล่าวคำบูชา อย่างที่ทำไปแล้วเมื่อตะกี้นี้ แต่ว่าเวลาเดี๋ยวนี้ก็ตาม เวลาต่อไปก็ตาม เรายังสามารถจะทำมาฆบูชาได้อยู่นั่นเอง คือด้วยการคิดนึกที่ถูกต้อง เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคุณของพระอรหันต์ดังที่กล่าวมานี้
ให้คุณของพระอรหันต์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้น แจ่มแจ้งอยู่ในใจของเรา จนเราพอใจที่จะเสียสละแม้แต่ว่าชีวิตนี้ก็เสียสละได้ เพื่อบูชาคุณของพระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เห็นคุณของพระอรหันต์ และบูชาคุณพระอรหันต์ได้เต็มตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน ทั้งหมดนี้เป็นการบูชาครบด้วยไตรทวาร
ทีนี้เรามาพิจารณากันต่อไป ถึงข้อที่จะทำให้การปฏิบัติบูชานี้เป็นการบูชาที่ยิ่งขึ้นไป ทั้งในทางที่จะบูชาคุณของท่าน และทั้งในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง ขอย้ำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า การบูชานั้น พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ สิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติบูชา มากกว่าบูชาด้วยอามิสบูชา อามิสบูชานั้นคือการบูชาด้วยสิ่งของ มีดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ไม้สอย เป็นต้น นี้เรียกว่าอามิสบูชา
ส่วนการบูชาด้วยการปฏิบัติ คือการประพฤติตามด้วยความเชื่อความเลื่อมใสนั้นเรียกว่า ปฏิบัติบูชา ทีนี้เราก็ได้กระทำการบูชา ประเภทอามิสบูชาเสร็จไปแล้ว แล้วยังได้ทำการปฏิบัติบูชาบางอย่างเสร็จไปด้วย แต่ยังกล่าวได้ว่าไม่เป็นไปถึงที่สุด และยังไม่สำเร็จประโยชน์เต็มตามที่เราควรจะได้รับ นั้นเวลาที่เหลือนี้ เรามาพิจารณากันถึงข้อนี้ คือข้อที่จะเดินตามรอยของพระอรหันต์อย่างไร ให้เป็นไปอย่างที่จะกล่าวได้ว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เราโดยแท้จริง
แต่ท่านทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า เมื่อตะกี้นี้ได้กล่าวมาแล้วว่า การบูชาที่แท้จริงคือปฏิบัติบูชา และการปฏิบัตินั้นก็คือการเดินตามรอยของท่าน นั้นถ้าเราจะบูชาพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เราก็ต้องบูชาด้วยการเดินตามรอยของท่าน หรือแม้ว่าเราจะบูชาพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างแท้จริงก็ต้องบูชาด้วยการเดินตามรอยของท่าน ซึ่งได้แก่การปฏิบัติ เมื่อมีหลักส่วนใหญ่หรือใจความสำคัญอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็จะต้องรู้ต่อไปว่าร่องรอยของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร เราจะเดินตามร่องรอยนั้นได้อย่างไร เกี่ยวกับข้อนี้ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า มีถ้อยคำที่จะกล่าวได้มากมาย กล่าวเป็นวันๆ เป็นเดือนๆ ก็ไม่จบ แต่ว่าเราอาจจะสรุปให้สั้นที่สุดได้ สำหรับเป็นหลักประพฤติปฏิบัติและใช้ได้แก่คนทุกคนด้วย
ดังนั้นในวันนี้อาตมาจะได้ถือเอาโอกาส ประมวลเอาใจความสำคัญเหล่านั้น มากล่าวไว้ในถ้อยคำที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกสักคำหนึ่งหรือประโยคหนึ่งสำหรับปีนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี ว่าการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น เพื่อให้ถูกต้องตามร่อยรอยของพระอรหันต์นั้น เราอาจจะสรุปไว้ด้วยถ้อยคำที่ต่างกัน ดังเช่นที่ได้กล่าวแล้วในปีก่อนๆ
สำหรับในปีนี้นั้น อยากจะสรุปไว้ด้วยถ้อยคำที่สั้นที่สุด และที่เคยชินแก่หูของท่านทั้งหลายทุกคนมากที่สุดด้วย ถ้อยคำประโยคที่สั้นที่สุดที่กำลังจะกล่าวนี้ ก็คือจะกล่าวว่า การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้น ให้สรุปไว้ในถ้อยคำสั้นๆ ว่า ให้รู้อยู่ที่รู้
รู้อยู่ที่รู้ เป็นคำที่สั้นที่สุดแล้ว ให้รู้อยู่ที่รู้นี้ เป็นคำที่สั้นที่สุดแล้ว พวกอุบาสกอุบาสิกาตามศาลาวัด ก็พูดกันถึงคำสั้นๆ นี้มาก พวกอุบาสกอุบาสิกาที่อวดอ้างว่าอยู่ในสำนักที่ประพฤติดีประพฤติชอบ มีความรู้สูง ก็ชอบใช้ประโยคนี้ มาบอกกล่าวแก่คนอื่น บางคนถึงกับอวดอ้างว่า เป็นหัวข้อที่สั้นที่สุดที่ตัวคิดขึ้นมา แต่นำมาแจกจ่ายแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็หารู้ความจริงของคำๆ นี้ไม่ ครั้นถูกซักเข้าสักหน่อย ก็พูดอ้อมแอ้มอ้อมค้อมไปในที่สุดก็เลิกกัน ด้วยการตัดบทเสียว่า ท่านไม่อาจจะเข้าใจได้ ในข้อที่ว่ารู้อยู่ที่รู้ เลยทำให้ประโยคสั้นๆ ที่ว่ารู้อยู่ที่รู้นี้ กลายเป็นของลึกลับไป จนกระทั่งมากลายเป็นมนต์ขลังหรือมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของคนที่ชอบสอนผู้อื่นบางคน หรือคนที่ถูกคนอื่นสอน เรื่องก็กลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป ด้วยการที่มัวข้องอยู่ประโยคที่ว่า รู้อยู่ที่รู้ รู้อยู่ที่รู้ ดังนี้ เป็นนกแก้วนกขุนทองไปก็มี หรืออมพะนำเงียบๆ อยู่ในตนก็มี
ดังนั้นในโอกาสนี้ เรามาวินิจฉัย ความหมายของคำว่า “รู้อยู่ที่รู้” นี้กันเสียให้ชัดเจน จะเป็นการดี แล้วจะได้นำเอาไปสอบสวนกันกับที่คนบางคน ที่เขาอวดอ้างว่ารู้ความหมายของประโยคๆ นี้ แล้วเที่ยวสอนคนอื่นอยู่ในที่ทั่วๆ ไป ว่ามันมีความเท็จจริงอย่างไร
คำว่า “รู้อยู่ที่รู้” นี้ ถ้าฟังอย่างผิวเผิน มันก็ไม่ได้ความอะไร คนที่จดจำไว้ในฐานะเป็นมนต์ขลังหรือมนต์ศักดิ์สิทธิ์ มันก็ได้แต่จดจำไว้ในฐานะเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ไป ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัทที่มีสติปัญญานั้นเขารู้ คือว่าให้รู้สึกตัวอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง รู้อยู่ที่รู้ รู้อันแรกหมายความว่ารู้สึกตัว รู้อยู่ที่รู้ รู้อันหลังหมายถึงความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้องมีอยู่อย่างไร ให้เรารู้สึกอยู่ที่ความรู้นั้นตลอดไป โดยไม่ต้องมีตัวเราเป็นผู้รู้
ถ้าไม่รู้อย่างนี้ มันก็มารู้อยู่ที่ตัวกูหรือของกู แล้วมันมีตัวผู้รู้ ตัวกูผู้รู้ขึ้นมาทีเดียว เพราะฉะนั้นระวังให้ดีเถิด คนที่ไปเที่ยวบอกคนอื่นว่ารู้อยู่ที่รู้นั้น มันมีตัวตนของตนเที่ยวบอกคนหรือเปล่า มันมีตัวตนของตนเป็นผู้รู้อยู่หรือเปล่า ถ้ามันมีตัวตนของตนเป็นผู้รู้แล้ว มันผิดถนัดทีเดียว ไม่ตรงกับคำที่กล่าวว่า รู้อยู่ที่รู้ หรือว่าข้อปฏิบัติทั้งหลายนั้นให้สรุปลงเหลืออยู่เพียงแต่ รู้อยู่ที่รู้ คือมีความรู้โดยไม่ต้องมีตัวผู้รู้ มีจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา จนถึงกับว่าไม่มีตัวกูไม่มีของกู และจิตใจหรือสติปัญญานี้มันรู้อยู่ที่ความรู้ ที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงอย่างไร แล้วก็ควบคุมกาย วาจา ใจนั้น ให้ประพฤติให้กระทำไปตามความรู้นั้น ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกูขึ้นมา
จะยกตัวอย่างให้ฟังจะดีกว่าที่มัวแต่อธิบายคำพูด ซึ่งชวนแต่จะให้วนเวียน ตัวอย่างที่จะยกมานี้ก็เหมือนอย่างว่าเรา กระทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งกันอยู่กับเพื่อนของเรา แล้วมันเกิดกระทบกัน แล้วเพื่อนคนนั้นเขาแสดงกริยาอาการกระฟัดกระเฟียดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา นี้เราจะทำอย่างไร ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลัก ที่เรียกว่า รู้อยู่ที่รู้แล้ว ก็หมายความว่า เราไม่ปล่อยให้ความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นความรู้สึก ว่าตัวกูถูกเขาประชดแล้ว แต่ให้มีความรู้สึกอยู่แต่เพียงว่า ตามที่เป็นจริงนั้นมันเป็นอย่างไร คือตามที่เป็นจริงนั้น เพื่อนของเรากำลังโง่กำลังหลง มีความโกรธขึ้นมาแล้วอย่างนั้นๆ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติต่อเขาอย่างไร ที่เป็นเรื่องของสติปัญญา ไม่ใช่เรื่องของกิเลสตัณหาที่เป็นความโกรธ ว่าเขาได้ลบหลู่เรา หรือกระทบกระแทกแดกดันเราเข้าแล้ว ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกแต่เพียงว่าเสียงอย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้ว เสียงอย่างนี้มันมีมูลเหตุหรือรกรากมาจากอะไร แล้วเราควรจะประพฤติกระทำต่อบุคคลที่กำลังมีความรู้สึกคิดนึกเช่นนั้นอย่างไร แล้วก็ประพฤติกระทำไปโดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่า ตัวกูถูกเขากระทบหรือกระแทกแดกดันแล้ว อย่างนี้เป็นต้น
หรือว่าถ้าให้ง่ายขึ้นมาอีก เป็นบิดามารดาถูกลูกหลาน กล่าวคำประชดประชันกระทบกระแทกแดกดันเข้าแล้ว บิดามารดาที่เป็นอุบาสกอุบาสิกานั้นจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผู้ถือหลักว่ารู้อยู่ที่รู้ ก็หมายความว่าอุบาสกอุบาสิกาผู้นั้น ควบคุมสติสัมปชัญญะไว้ได้ รู้สึกแต่เพียงว่าเด็กคนนั้นมันกำลังมีความรู้สึกอย่างไร จะต้องแก้ไขกันอย่างไร แล้วก็ทำไปเท่านั้น ไม่เผลอจนถึงกับความรู้สึกว่า กูเป็นแม่แล้วก็ถูกไอ้ลูกเล็กๆ นี้ ประชดประชันกระทบกระแทกแดกดันเข้าแล้ว จะต้องด่ามันให้สมใจ หรือว่าจะต้องตบตีมันให้เข็ดหลาบ อย่างนี้เป็นต้น นั่นความรู้สึกพลุ่งเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมาเสียแล้ว มันไม่ใช่รู้เสียแล้ว มันไม่ใช่รู้อยู่ที่รู้เสียแล้ว แต่มันกลายเป็นอุปาทาน ว่าตัวกูว่าของกูเสียแล้ว อย่างนี้มันไม่ใช่ความรู้ ดังนั้นมันจึงไม่อาจรู้อยู่ที่รู้ คือไม่อาจจะรู้อยู่ที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน
อย่างนี้ความมืดมนครอบงำแล้ว พลุ่งพล่านเป็นตัวกูเป็นของกูแล้ว เป็นความโง่หลงอย่างเต็มที่ มืดบอดอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ความรู้ รู้อยู่ที่รู้เสียแล้ว แต่ได้เกิดเป็นความมืดมนอย่างภูตผีปีศาจชนิดหนึ่งไปเสียแล้ว ไม่มีความรู้อยู่ที่รู้เสียแล้วดังนี้ เป็นต้น อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นบิดามารดา มีลูกมีหลาน มีการกระทบกระทั่งกันอยู่ได้เสมอๆ ถ้าอยากจะรู้ว่ารู้อยู่ที่รู้นั้น คือปฏิบัติอย่างไรแล้วก็จงจำ จดจำเอาความข้อนี้ไป
ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องระหว่างมิตรสหาย คือเพื่อนกับเพื่อนก็เหมือนกันอีก ถ้าเพื่อนคนหนึ่งเผลอสติบันดาลโทสะขึ้นมาแล้ว ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่แท้จริงนั้น จะต้องรู้อยู่ที่รู้เสมอไป คือมีสติสัมปชัญญะหยุดอยู่เพียงแค่ ความรู้สึกที่ถูกต้องว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร ความโกรธก็ไม่เกิดขึ้น สติสัมปชัญญะก็มีอยู่เต็มที่ สติปัญญาก็เกิดขึ้นแทน เป็นเหตุให้รู้ว่าควรปฏิบัติต่อเพื่อนคนนั้น ที่โกรธจัดเสียแล้วนั้นอย่างไร แล้วนี้ก็เรียกว่า รู้อยู่ที่รู้
จะพิจารณากันในแง่ไหนก็ตาม ความหมายของคำว่ารู้อยู่ที่รู้นั้น ย่อมมีความหมายจำกัดตายตัวลงไปว่า ให้เป็นไปเพียงความรู้ของสติสัมปชัญญะว่า ความรู้ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร เราจึงขยายความออกไปได้นิดนึงว่า ที่ว่ารู้อยู่ที่รู้นั้น ด้วยมีแต่ความรู้อยู่ว่า ความรู้ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร เราจะรู้สึกแต่ความรู้ที่ถูกต้องเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้หยุดอยู่เพียงแค่รู้อยู่ที่รู้ นี้เป็นการอธิบายด้วยโวหารธรรมดาสามัญที่สุดแล้ว ว่ารู้อยู่ที่รู้นั้นเป็นอย่างไร
ทีนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลาย ได้มองเห็นต่อไปว่า ทำไมจึงได้กล่าวว่า หลักของพระพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ สรุปได้เพียงแต่ว่าให้รู้อยู่ที่รู้ ข้อนี้ท่านที่เป็นนักศึกษาทั้งหลาย ย่อมทราบอยู่แล้วว่า หลักปฏิบัติ เช่น สติปัฏฐานทุกข้อนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องรู้อยู่ที่รู้ทั้งนั้น สติปัฏฐานทุกข้อ ทุกชื่อ จะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ตาม หรือจะเป็นสติปัฏฐานในรูปอื่นแบบอื่นก็ตาม ล้วนแต่เป็นการตั้งไว้ซึ่งสติ ให้หยุดอยู่เพียงความรู้ที่ถูกต้อง อย่าได้เลยเป็นอุปาทาน ว่าตัวกูว่าของกูขึ้นมา
เรื่องกาย เรื่องของกายเป็นอย่างไร ก็มีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของกาย เรื่องของเวทนาเป็นอย่างไร ก็มีความรู้อย่างถูกต้องอยู่ในเรื่องของเวทนา เรื่องของจิตเป็นอย่างไร ก็มีความรู้อย่างถูกต้องอยู่ในเรื่องของจิต เรื่องของธรรมคือสิ่งทั้งปวงที่เนื่องกันอยู่กับกายหรือจิต เป็นอย่างไร ก็มีความรู้อย่างถูกต้องอยู่ที่เรื่องของธรรม อย่าให้เลยไปจนถึงกับมีตัวเรา หรือมีของเรา แต่ให้รู้อยู่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างไร
นี้เรียกว่าสรุปไว้ในคำว่า “รู้อยู่ที่รู้” ด้วยกันทั้งนั้น ข้อปฏิบัติชนิดนี้ แม้ว่าจะฟังยาก แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะกลายเป็นของฟังง่าย ที่ว่าฟังยากนั้น ก็มันอยู่ตรงที่ว่า รู้แต่ไม่มีผู้รู้ ความรู้หรือการรู้นี้ แล้วก็รู้เสร็จแล้วด้วย แต่ไม่มีผู้รู้ เพราะเขาควบคุมให้เป็นความรู้สึกเพียงสติสัมปชัญญะ หรือสติปัญญาอย่างเดียว ไม่ต้องมีผู้ที่เป็นเจ้าของสติปัญญา หรือที่กล่าวไว้โดยนัยยะอย่างอื่น ก็กล่าวว่า การกระทำมีแล้วแต่ผู้กระทำไม่มี หรือว่าการเป็นทุกข์ก็มีแล้วแต่ตัวผู้เป็นทุกข์ไม่มี หรือว่าการเดินทางก็เดินไปเสร็จแล้วแต่ตัวผู้เดินไม่มี ข้อนี้หมายความว่า ให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องมีความรู้สึก ว่ามีตัวกูเป็นผู้ปฏิบัติ แล้วตัวกูจะได้ผลของการปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าให้ความรู้สึกมันเลยไปเป็นตัวกูผู้เดิน เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้ทุกข์ ผู้สุข หรือผู้อะไรต่างๆ
ให้จิตโชติช่วงอยู่แต่ด้วยความรู้สึกต่อความรู้ที่ถูกต้องว่า มันเป็นอย่างไร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อมีผู้มาเหยียดหยาม ความรู้สึกอย่าได้เกิดขึ้นว่าเรา เป็นผู้ถูกเขาเหยียดหยาม ความรู้สึกจงเป็นไปแต่ในทางของสติปัญญาว่า เราจะนิ่งจะดี หรือว่าเราจะพูดกับเขาอย่างไรดี จึงจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่เขาและแก่เรา อย่างนี้แม้จะเต็มไปด้วยคำว่าเขาว่าเรา แต่มันไม่เป็นความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นเพียงความรู้ด้วยสติปัญญา ว่าสังขารกลุ่มนี้ คือคนๆ นี้จะต้องประพฤติต่อสังขารกลุ่มโน้น หรือคนๆ โน้นอย่างไร ไม่มีตัวกูตัวฉัน ที่เป็นผู้ถูกเขาด่าและจะด่าตอบ หรือว่าจะเอาบุญเอาคุณแก่เขา ในการที่จะสั่งสอนเขา ให้เกิดเป็นผู้ถูกผู้ดีขึ้นมา ดังนี้เป็นต้น
ถ้าจะให้ง่ายไปกว่านี้ ก็คือว่า เราอย่าไปมีผู้ผิดหรือผู้ถูกกันเลย พออะไรเกิดขึ้น เราระวังอย่าปล่อยให้เกิดความรู้สึกว่า ใครเป็นผู้ผิดใครเป็นผู้ถูกกันเลย แต่ว่าให้สติปัญญาเกิดขึ้นว่า มันจะต้องทำอย่างไรก็แล้วกัน เพื่อให้มีแต่ความผิดหรือความถูก อย่ามีผู้ผิดหรือผู้ถูก ให้มีแต่ความผิดหรือความถูก แล้วแก้ไขความผิดนั้นเสีย ให้คงเหลืออยู่แต่ความถูก นั้นจึงมีแต่การกระทำ ที่เป็นการแก้ไขความผิดให้กลายเป็นถูก ไม่มีตัวผู้ผิด ไม่มีตัวผู้ถูก เลยไม่ต้องทะเลาะกัน
เหมือนว่าอย่างคนสองสามคน ช่วยกันหาบหาม หรือทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องช่วยพร้อมๆ กันหลายๆ คน พอมันเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา ก็จะได้ทำความรู้สึกไปทำนองว่า มันเป็นความผิดของใคร ใครเป็นผู้ผิด ใครเป็นผู้ถูก แต่ให้รู้สึกแต่เพียงว่ามันผิดอย่างไร และอย่าให้มันผิดอย่างนั้น ทำเสียให้มันถูก แล้วมันก็เลยกลายเป็นการทำถูก แล้วไม่มีโทษมีทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พอมีอะไรพลาดพลั้งขึ้นมา ทุกคนล้วนแต่มีตัวกู ทุกคนล้วนแต่จะแก้ตัวให้แก่ตัวกูว่ากูไม่ได้เป็นฝ่ายผิด เขาต่างหากทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันจึงพลาดลงไป แล้วเสียหายด้วยกัน เลยทะเลาะกันเลยเถียงกัน จนกระทั่งทำร้ายแก่กันและกัน
นี่เพราะมีตัวกูเพราะมีของกู เกิดเป็นอุปาทานความรู้สึกว่า ตัวกูของกูขึ้นมาอย่างนี้เสียแล้ว ไม่เรียกว่ารู้อยู่ที่รู้เลย เพราะความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน ว่าตัวกูนั้น เขาไม่เรียกว่าความรู้ และมันไม่ใช่ความรู้ มันเป็นอุปาทาน คือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู เพราะฉะนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า ในขณะนั้นบุคคลผู้นั้น ไม่ได้ปฏิบัติไปตามหลักว่า รู้อยู่ที่รู้ ได้เผลอปล่อยเต็มที่ เกิดเป็นตัวกูเป็นของกู มีเขามีเขี้ยวขึ้นมาทีเดียว จึงได้ทะเลาะวิวาทกัน ด้วยการแก้ตัวให้ตัวกูบ้าง แล้วไปทับถมคนอื่นบ้าง
นี้เราทุกคนอยู่ร่วมกันในวัดๆ เดียวกันในกิจการงานที่ร่วมกัน เมื่อทำอะไรอยู่ด้วยกัน มีความสำเร็จเกิดขึ้นก็ตาม มีความพลั้งพลาดเกิดขึ้นก็ตาม จงได้รู้อยู่ที่รู้ คือรู้อยู่แต่เพียงว่า มันเป็นความผิดอย่างไร เป็นความถูกอย่างไร อย่าได้เลยไปถึงว่ามีใครผิดมีใครถูก เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยบุคคล ที่เอาแต่จะแก้ตัวให้ตน ยกความผิดไปใส่บุคคลอื่นเสมอ เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นภิกษุ เป็นสามเณรแท้ๆ ก็ยังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นภิกษุสามเณร ไม่เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา แต่มันเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นภูตผีปีศาจชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวกูเป็นตัวเป็นตน เป็นหูเป็นหัว เกิดขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ ป้ายความผิดให้คนอื่น แล้วก็แก้ตัวให้แก่ตัวตะพึดตะพือไป แล้วก็มีการทุ่มเถียงทะเลาะวิวาทกันอยู่อย่างนั้นเอง
นี่แหละคือข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักที่ว่า รู้อยู่ที่รู้ มันได้กลายไปเป็น ความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู เป็นตัณหาอุปาทานเสียแล้ว สติปัฏฐานไม่เหลืออยู่เลยในขณะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเหลืออยู่ มันก็จะหยุดอยู่แต่เพียงแค่ที่ว่า รู้อยู่ที่รู้ ไม่มีตัวกูหรือตัวเขา เป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก มีแต่ว่ามันผิดอย่างไรก็แก้ไขให้มันถูก เท่านั้นเอง นี้เรียกว่า รู้อยู่ที่รู้ ถ้าทุกคนถือหลักหรือถือกฏเกณฑ์อย่างนี้แล้ว การทะเลาะวิวาทจักไม่เกิดขึ้น ทางสังคมก็จะอยู่กันเป็นสุข ทีนี้สำหรับการประพฤติปฏิบัติที่สูงขึ้นไปเพื่อมรรคผลนิพพานนั้น มันก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน เช่นว่าพอมีตา พอมีรูปมากระทบตา มีเสียงมากระทบหู มีกลิ่นมากระทบจมูก หรือมีรสมากระทบลิ้น หรือสัมผัสมากระทบกาย ทางผิวกายอย่างนี้
ก็ให้มีความรู้สึกที่เป็นสติสัมปชัญญะ ว่ามีการกระทบว่าจะต้องจัดการอย่างไร คือให้ผัสสะเป็นเพียงผัสสะ หรือว่าเป็นเวทนาแล้วก็ให้เป็นเพียงเวทนา อย่าให้เวทนานั้นปรุงเป็นตัณหา แล้วตัณหาปรุงเป็นอุปาทาน เป็นตัวกู มีหัว มีหู ขึ้นมา นี้เรียกว่ารู้อยู่แค่รู้ หรือรู้อยู่ที่รู้ ว่ารูปนี้เป็นรูปอะไร เสียงนี้เป็นเสียงอะไร กลิ่นนี้เป็นกลิ่นอะไร มีความเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร จะต้องประพฤติกระทำต่อมันอย่างไร แล้วก็กระทำไป เท่าที่ควรประพฤติกระทำ ต่อผัสสะหรือต่อเวทนานั้น แล้วให้มันดับไป อย่าได้ปรุงเป็นตัณหาคือความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมีตัวกูเป็นคู่อยากขึ้นมาอย่างนั้น อย่างนี้ เต้นแร้งเต้นกาไป อย่างนี้เรียกว่ามันเลยรู้อยู่ที่รู้เสียแล้ว จนไปกลายเป็นตัวกูของกู อย่างนั้นอย่างนี้เสียแล้ว
ถ้าหยุดอยู่ได้เพียงแค่ผัสสะเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้แล้วก็หยุดไป ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน แต่ไปเกิดเป็นสติปัญญาขึ้นมาว่า ในรูปเสียงกลิ่นรสเหล่านี้ เราจะต้องประพฤติกระทำ จัดการกับมันอย่างไร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติไปตามธรรม หรือตามความรู้ที่ถูกต้อง คือสติปัญญานั่นเอง นี้เรียกว่ารู้จักสิ่งเหล่านั้นอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง คือรู้จักรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้องว่า มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้จึงเรียกว่ารู้อยู่ที่รู้ ขอให้ฟังดูให้ดีๆ ว่ามันเป็นเพียงความรู้อยู่ที่ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่มีตัวตนไม่มีคนนั้นคนนี้ ไม่มีเขา ไม่มีเราเกิดขึ้น ไม่มีการได้การเสียเป็นของเขาของเราเกิดขึ้น
มีแต่ว่าธรรมทั้งปวงเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย แต่มันมาเกี่ยวข้องกับสังขารกลุ่มนี้อย่างไรก็รู้ และจะต้องประพฤติกระทำในทางที่เป็นธรรม คือตามความรู้ที่ถูกต้อง ที่ถูกที่ควรอย่างไร แล้วก็ประพฤติกระทำไป มันก็เลยเป็นการ รู้อยู่ที่รู้ คือมันหยุดอยู่ที่ความรู้ต่อความรู้ที่ถูกต้อง ไม่เลี้ยววกไปในทางที่จะเกิดเป็นอุปาทาน ว่าตัวกูหรือว่าของกู นี่แหละคือสติปัฏฐานที่แท้จริง เป็นสติปัฏฐานที่จะเป็นที่พึ่งได้ และเป็นวิปัสสนาที่แท้จริง คือเป็นวิปัสสนาที่เป็นแสงสว่างจริง เป็นวิปัสสนาที่จะเป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่วิปัสสนาหากิน มีตัวกูเป็นเจ้าของวิปัสสนา แล้วใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์นั้น มันเป็นตัวกูเป็นของกู ไปเสียตั้งแต่ต้นมือแล้ว มันจึงไม่ใช่รู้อยู่ที่รู้
ถ้ามันเป็นวิปัสสนาจริง เป็นกรรมฐานจริง เป็นสติปัฏฐานจริงนั้น จะคงหยุดอยู่แต่เพียงว่ารู้อยู่ที่รู้เสมอไป ไม่เกิดเป็นตัวกูหรือตัวเขา หรือตัวเราอะไรขึ้นมาในส่วนไหน ฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า อาการที่รู้อยู่ที่รู้นั่นแหละเป็นทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และเป็นความว่างอย่างยิ่ง เพราะมันว่างจากตัวตน มันว่างจากของตน มันมีแต่ความรู้ที่ถูกต้อง ในความรู้ที่ถูกต้องนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีของตน ดังนั้นในความรู้ที่ถูกต้องนั้น จึงมีความว่าง และมีความว่างอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่เรียกว่านิพพาน เพราะมันไม่มีตัวกูไม่มีของกู ถ้ามันว่างได้ตลอดไปโดยเด็ดขาด มันก็เป็นนิพพานสมบูรณ์ ถ้ามันว่างได้ชั่วครั้งชั่วคราว ก็เป็นนิพพานชั่วคราว คือยังไม่แท้จริง แต่มันก็ยังมีลักษณะของนิพพาน คือดับลงแห่งตัวกู หรือของกูอยู่เรื่อยไป ไม่ปรากฏตัวกูของกูโผล่ขึ้นมา นี้คืออาการของสิ่งที่เรียกว่านิพพานหรือความดับ
เพราะดับตัวกูของกูได้ จึงว่างจากตัวกูของกู นี้คือความรู้ที่หยุดอยู่แค่รู้ จะได้สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางไหนก็ตาม มันมาหยุดอยู่ที่รู้อยู่ที่รู้เท่านั้น ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกูขึ้นมาได้เลย ฉะนั้นมันจึงเป็นทั้งหมดในส่วนปริยัติ และเป็นทั้งหมดในส่วนปฏิบัติ และเป็นทั้งหมดในส่วนปฏิเวธ คือว่าถ้าเราจะเรียนก็เรียนเพื่อให้รู้ โดยวิธีที่ให้มันรู้อยู่แค่รู้ และถ้าเราจะปฏิบัติ เราก็จะปฏิบัติให้มันเปลี่ยนเป็นเพียงรู้อยู่แค่รู้ แล้วถ้าเราจะได้รับผลของการปฏิบัติ ก็ให้เพียงแต่รู้สึกอยู่ว่ารู้ตามความเป็นจริงอย่างไร ไม่มากไปกว่านั้น จึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เกิดขึ้นในส่วนไหน มันจึงมีอยู่แต่เพียงความรู้ ซึ่งรู้อยู่ต่อความรู้ที่ถูกต้อง
เป็นความรู้สึกในความรู้ที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา รู้อันแรกหมายถึงรู้สึก รู้อันหลังหมายถึงความรู้ที่ถูกต้อง รู้สึกต่อความรู้ที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลานี้เรียกว่า รู้อยู่ที่รู้ เมื่อเป็นดังนี้สติปัฏฐานก็สมบูรณ์ ตัวตนก็เกิดขึ้นไม่ได้ ผัสสะเกิดขึ้นแล้วดับไป เวทนาเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ปรุงตัณหา ไม่ปรุงอุปาทาน กล่าวได้ว่า ว่างจากตัวตนอยู่โดยสมบูรณ์
ความที่ว่างจากตัวตนอยู่โดยสมบูรณ์นั้นแหละ ให้ถือว่าเป็นความรู้ในส่วนปฏิเวทที่สมบูรณ์ หรือถ้ากล่าวอย่างสมมติก็คือ ที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานนั่นเอง นั้นคำว่า “มรรคผลนิพพาน” ก็ดี เป็นเพียงความรู้ที่รู้อยู่ต่อความรู้ คือรู้อยู่ที่รู้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ว่ามันเป็นในขั้นที่ประพฤติกระทำสำเร็จ จนเป็นผู้ที่รู้อยู่ที่รู้อย่างแท้จริงและตลอดเวลา
ดังนั้น ตัณหาและอุปาทานจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จึงไม่มีความทุกข์เลย นี้เรียกว่าในส่วนผลของการปฏิบัติหรือผลของความรู้นั้น มันทำให้เกิดผลเป็นความไม่ทุกข์ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้ นั้นในเรื่องปริยัติ ก็คือเรื่องเรียนให้รู้ว่า เราอย่าไปรู้สึกอะไรให้มากไปกว่ารู้สึกต่อความรู้ที่ถูกต้องว่ามีอยู่อย่างไร ดังนั้นในการปฏิบัตินั้นก็เหมือนกัน เราควบคุมสติสัมปชัญญะ ให้รู้สึกอยู่แต่เพียงว่า ที่ถูกที่จริงที่ควรนั้นมันเป็นอย่างไร แล้วก็ประพฤติไปให้ถูกให้ควร อย่ามีเขามีเราเป็นผู้ผิด ผู้ถูกแล้วทะเลาะวิวาทกัน
ในส่วนปฏิเวธนั้น ขอให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบ อยู่ด้วยอำนาจของความรู้อยู่ที่รู้ ดังที่กล่าวแล้ว ไม่มีตัวตนเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ ดังนั้นจึงเป็นอันสรุปความได้อย่างสั้นที่สุดว่า รู้ทีแรกคือสติสัมปชัญญะ รู้ทีหลังคือความจริงในข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น รู้อยู่ที่รู้ รู้ทีแรกคือสติสัมปชัญญะ รู้ทีหลังคือความรู้ที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่ให้มีหลักอย่างนี้ก็เพราะว่า หลักเกณฑ์ทั้งหมด หรือความจริงทั้งหมด มันสรุปอยู่ในตัวเองแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นถ้าเอาความรู้ หรือเอาความจริงในข้อนี้มาเป็นหลักอยู่ตลอดเวลาแล้ว มันก็จะรู้อยู่เพียงแค่รู้ ไม่เลยไปจนเกิดตัวตนที่ไหนได้
ถ้ามันตัดบทเสียแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าความรู้ข้อนี้มันโชติช่วงอยู่ในใจแล้ว ความรู้ของจิตใจ มันก็มาหยุดอยู่เพียงที่นี่ ไม่เลี้ยวไม่วกไปหา ความรู้สึกที่เป็นตัณหาหรืออุปาทาน มันหยุดอยู่ที่นี่ คือหยุดอยู่ที่ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มันจึงเรียกว่า รู้อยู่ที่รู้ อย่าให้เลยไปหรือให้วกไปหา ความรู้สึกที่เป็นตัณหา อุปาทาน ว่าตัวกูว่าของกู
นั้นให้เราทุกคน ที่จะดำเนินตนตามร่องรอยของพระอรหันต์นั้น จงได้พยายามประพฤติปฏิบัติ โดยหลักที่ว่า รู้อยู่ที่รู้ เพราะว่านี่แหละคือสติปัฏฐานอย่างยิ่ง และนี่แหละคือสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง ทีนี้เราพิจารณากันอีกหน่อยหนึ่ง เราก็ยอมรับกันอยู่แล้ว โดยไม่ต้องอธิบายกันมากมาย ว่าถ้าเราจะกล่าว เป็นคำถามขึ้นมาว่า พระอรหันต์คือบุคคลชนิดใด คำตอบก็มีอยู่อย่างแจ่มแจ้ง แก่ท่านทั้งหลายทั่วไปแล้วว่า พระอรหันต์คือบุคคลผู้มีสติสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ ว่าพระอรหันต์คือบุคคลที่มีสติสมบูรณ์ ฟังดูมันจะง่าย บางคนอาจจะนึกว่ามันง่าย แต่ถ้าใครนึกอย่างนั้นคือคนโง่ เพราะว่าความมีสติสมบูรณ์นี้ ไม่ใช่ของง่าย คือเป็นการปฏิบัติในขั้นสูงสุดและสมบูรณ์
การมีสติสมบูรณ์นั้นก็คือมีความรู้อยู่ที่รู้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้นั่นเอง คำว่า “สติ” นั้นหมายถึง รำลึกหรือว่ารู้แจ่มแจ้งอยู่เสมอ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอะไรก็ตาม สติในเรื่องทั้งหมดนี้ มีความหมายตรงกันหมด เป็นเรื่องเดียวกันหมด คือรู้สึกตัวอยู่ว่า สิ่งทั้งหมดนั้นยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นั่นแหละคือสติที่สมบูรณ์ และเป็นได้แต่พระอรหันต์เท่านั้น พระอริยบุคคลขั้นที่รองๆ ลงมา เช่น พระโสดา สกิทาคา อนาคาอะไรเหล่านี้ ก็ยังไม่มีสติสมบูรณ์ เพียงแต่มีสติบ้าง ตามสมควรแก่ชั้นแก่ภูมิของท่าน พระอรหันต์เท่านั้นมีสติสมบูรณ์
ทีนี้เราจะเดินตามรอยพระอรหันต์ ก็คือการที่เราเป็นผู้ทำตนให้มีสติสมบูรณ์ พยายามทำตนให้มีสติสมบูรณ์ โดยอาศัยหลักที่ว่ารู้อยู่ที่รู้ เพื่อให้มันรวบรัดสั้นๆ ให้ง่ายต่อการประพฤติปฏิบัติ จึงมีสติแต่ในทางที่จะ รู้สึกตัวอย่างถูกต้องอยู่เสมอว่า อะไรเป็นอะไร แล้วก็ประพฤติกระทำไปตามความรู้นั้น อย่าให้เลยเถิดเป็นความรู้สึก ว่ามีตัวกูของกู มีตัวกูเป็นผู้กระทำ มีตัวกูเป็นผู้ได้ มีตัวกูเป็นผู้เสีย หรือมีตัวกูอย่างไหนก็ตาม เพราะถ้าเลยไปเป็นมีตัวกูแล้ว ไม่ใช่สติเสียแล้ว เป็นผู้หลงอย่างยิ่งแล้ว เป็นผู้ปราศจากสติอย่างยิ่งแล้ว แต่ถ้ายังตั้งสติไว้ได้ ก็ยังเป็นสติปัฏฐานอยู่แล้ว มันก็ยังรู้อยู่ที่รู้เท่านั้น ไม่เลยไปเป็นมีตัวตน นั่นแหละคือการประพฤติสติปัฏฐาน เพื่อให้เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ ตามร่องรอยของพระอรหันต์
ซึ่งในที่นี้ ขอสรุปฝากไว้อย่างสั้นๆ ว่า พระอรหันต์คือผู้มีสติสมบูรณ์ การเดินตามรอยพระอรหันต์ก็คือการพยายาม ทำให้มีสติสมบูรณ์ โดยอาศัยเครื่องช่วยความจำว่า รู้อยู่ที่รู้ อย่าให้ตัวตนเกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำมาฆบูชา ให้เป็นมาฆบูชากันจริงๆ ด้วยการเดินตามรอยพระอรหันต์แล้ว จงใช้หลักเกณฑ์ที่ว่า รู้อยู่ที่รู้ แล้วก็หยุดอยู่เพียงเท่านี้ด้วยกันจงทุกคนเถิด จะเป็นหนทางที่ลัดสั้นที่สุด ในการเดินตามรอยพระอรหันต์ และจะไล่ใกล้ชิดติดพันกันไปทีเดียว แต่ถ้าเผลอเมื่อไรมันก็กระเด็นออกห่างออกไปร้อยโยชน์พันโยชน์ทีเดียว แต่ถ้าไม่เผลอเมื่อไร คือรู้อยู่ที่รู้อยู่แล้ว มันก็อยู่ใกล้ชิดติดกับพระอรหันต์ทีเดียว ปัญหามันมีอยู่แต่ว่า ความรู้อยู่ที่รู้ของเรานี้ เป็นสิ่งที่เด็ดขาดแน่นอนลงไปแล้วหรือไม่เท่านั้น
ถ้ามันยังไม่เด็ดขาดแน่นอน เราก็ต้องพยายามทำไป ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้ อยู่เสมอไปในทุกกรณี ที่วัดก็ตาม ที่บ้านก็ตาม ที่นาก็ตาม ที่สวนก็ตาม ไม่ว่าอยู่ที่ไหน หรือกำลังทำอะไรอยู่ ให้เป็นผู้มีชัยชนะอยู่ด้วยการที่สามารถ เป็นผู้รู้อยู่ที่รู้เสมอไป อย่าเผลอสติปล่อยให้เกิดเป็นตัวตน เป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมาในความรู้สึก ให้มีสติเพียงพอที่จะหยุดอยู่เพียงข้อที่ว่า ความผิด ความถูก ความเท็จ ความจริง ความดี ความชั่ว ความยุติธรรม ความไม่ยุติธรรม เหล่านี้เป็นต้น เป็นอย่างไร แล้วก็จัดให้มันดำเนินไปแต่ในทางของความดี ความจริง ความงาม ความยุติธรรม
อย่าให้เลยเถิดเป็นมีตัวตน ผู้ได้ผู้เสีย ดีว่าคนอื่น เลวกว่าคนอื่น เสมอกันกับคนอื่น อย่างนี้เป็นต้น นั่นไม่ใช่รู้อยู่ที่รู้ นั่นได้ตกต่ำหรือตกจมลงไปในกองของกิเลสตัณหา แทบจะโงหัวไม่ขึ้นอยู่แล้ว แล้วจะเรียกว่ารู้อยู่ที่รู้อย่างไร ผู้ที่รู้อยู่ที่รู้นั้นหมายความว่า ต้องอยู่ในลักษณะที่เห็นแสงสว่าง แจ่มจ้าและสูงสุดอยู่เสมอ ไม่มีการตกจม นี้คือคำอธิบายของคำว่า “รู้อยู่ที่รู้” เป็นที่น่าสมเพชเวทนาในการที่คนบางคน เอาบทอันประเสริฐว่ารู้อยู่ที่รู้นี้ มาสอนคนอื่นอยู่เป็นวรรคเป็นเวร แต่แล้วก็หารู้ไม่ว่ามันหมายความว่าอย่างใด แล้วยังแถมมีตัวมีตน ยกหัวชูหางเป็นครูบาอาจารย์ของเขา เรียกร้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ และมีการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการมีตัวมีตนอยู่ทั้งนั้น แต่ก็สอนเขา ตะโกนว่า รู้อยู่ที่รู้ รู้อยู่ที่รู้ ให้หนวกหูไปหมด
นี้คือข้อที่ว่าไม่เข้าใจ ประโยคที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แล้วก็มาตะโกนกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กระทั่งยกตนข่มผู้อื่น อยู่ด้วยอาศัยธรรมะข้อนี้ ขอให้เราทั้งหลายระมัดระวังกันให้เป็นอย่างดี ให้รู้ว่าธรรมะข้อนี้ หมายถึงการทำเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ของต่ำเตี้ย แต่ว่ากว้างขวางรวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้นไว้ อยู่ในคำพูดเพียงสองสามคำว่า รู้อยู่ที่รู้ คือมีความรู้สึกอยู่ที่ความรู้อันถูกต้อง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อความรู้สึกมีอยู่อย่างนี้ ตัวกูก็ไม่เกิด ของกูก็ไม่เกิด มันจึงเป็น ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นความรู้ที่แท้จริง เป็นอะไรหมดทุกอย่าง ในพระพุทธศาสนา ที่พุทธบริษัทเราจำนงหวังจะได้จะถึง เพื่อการดับทุกข์ของตนโดยสิ้นเชิง
เราอย่าลืมว่าการที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานี้ เพื่อดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อมา เอาเงินเอาทองเอาข้าวเอาของ เอาเกียรติยศชื่อเสียงหรือเอาอะไรทำนองนั้น เพราะว่านั่นเราอาจจะหาเอาได้ จากการกระทำอย่างอื่น โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาก็ได้ เดี๋ยวนี้ปัญหามันมีอยู่ว่า เรามีเงินมีทอง มีข้าว มีของ มีเกียรติยศ มีอำนาจวาสนาเยอะแยะไปหมดแล้ว แต่เราก็ยังเร่าร้อนเป็นไฟ ยังเป็นโรคเส้นประสาทบ้าง ยังอยากจะเป็นยังอยากจะตาย อยู่อย่างโกลาหลวุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรดี ทั้งที่มีเงิน มีทอง มีข้าว มีของ มีบุตร มีภรรยา มีอะไรทุกอย่าง
ทีนี้เรามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ก็เพื่อว่าจะดับทุกข์ข้อนี้เสีย อย่าให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น เกิดเป็นทุกข์เป็นโทษขึ้นมาได้ ให้ควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ ให้อาศัยสิ่งเหล่านั้นเพียงศักดิ์ว่า เครื่องอาศัยเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ให้เป็นสังขารที่ไม่ต้องทนทรมาน ให้สูญเสียความหมายของคำว่า “สังขาร” กลายเป็นนิพพานไปในที่สุด คือความดับเย็นหรือความว่าง จากความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง
เรามานับถือพุทธศาสนาก็ด้วยวัตถุประสงค์อันนี้ เราทำมาฆบูชาก็เพื่อจะให้เข้าถึงคุณของพระอรหันต์ ซึ่งมีความหมายอย่างนี้ คือดับทุกข์เสียได้นั่นเอง เราอย่าได้ทำให้การกระทำทั้งหมดนี้ กลายเป็นสีลัพพตปรามาสไปอีกเลย แต่ให้เป็นการประพฤติกระทำที่ถูกต้อง ในพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไปทุกที ให้สมกับที่วันคืนล่วงไปเป็นเดือนเป็นปี เราก็เลื่อนชั้นตัวเอง คือมีคุณธรรมที่เจริญงอกงามขึ้นในจิตในใจ ห่างไกลจากความรู้สึกว่าตัวกูของกูยิ่งขึ้นไปทุกที คือสามารถจะเป็นผู้รู้อยู่ที่รู้นี้ยิ่งขึ้นไปทุกที ทุกเดือนทุกปีที่เราทำมาฆบูชา ปีหนึ่งครั้งหนึ่ง วันนี้เป็นวันที่ระลึกของพระอรหันต์ เรียกสั้นๆ ว่าเป็นวันพระอรหันต์ เรามาทำมาฆบูชาโดยอุทิศชีวิต ร่างกายทั้งหมดเพื่อเดินตามรอยพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจงได้ถือเอาร่องรอยอันนี้ไป คือร่องรอยที่ว่ารู้อยู่ที่รู้
โดยนัยยะที่ได้วิสัชชนามา พอสมควรแก่เวลาแล้ว เป็นการชี้ให้เห็นความหมายของคำว่า “สติปัฏฐาน” คือการดำรงไว้ซึ่งสติ ให้รู้อยู่อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างไร รู้อย่างนั้นแล้วใช้สติปัญญานั้น ประพฤติประโยชน์ตนประโยชน์ท่านไป โดยสมควรแก่กาลเทศะ ไม่ให้วกมาเป็นความเห็นแก่ตน ด้วยความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกูแต่ประการใด เราก็จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ใกล้ชิดพระรัตนตรัย อันเป็นที่รวมแห่งคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งปวงไว้โดยสิ้นเชิง เรียกว่าการกระทำมาฆบูชาของเรา ไม่เป็นหมันด้วยเหตุนี้ ไม่เป็นการกระทำอย่างนกแก้วนกขุนทองเลย ไม่เป็นการกระทำอย่างสีลัพพตปรามาสเลย แต่เป็นการกระทำชนิดที่เป็นของพุทธบริษัท คือหมู่คณะบุคคลที่มีความรู้ ความลืมหูลืมตา ความรู้อย่างถูกต้อง และมีความเบิกบานด้วยอาศัยอำนาจของความรู้นั้น ถือเอาได้ซึ่งประโยชน์สูงสุดคือ ความสะอาด ความสว่าง และความสงบเย็น ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ นี้เรียกว่าเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้า ท่านทรงสั่งสอน ทรงหวังหรือทรงประสงค์ จะให้เราทุกคนประพฤติปฏิบัติคู่กันไป หรือว่าให้มากกว่าอามิสบูชา อย่าได้ไปหลงแต่เพียงว่า หาธูปหาเทียนมาจุดแล้วทำพิธีกัน มันก็สิ้นสุดเพียงเท่านั้น หรือว่ามันดีที่สุดอยู่เพียงเท่านั้นเลย มันเป็นเพียงอามิสบูชาซึ่งเป็นเพียงพิธีรีตอง ยังไม่มีความหมาย มันเป็นเพียงผลไม้ที่กลวงเป็นโพลง สวยงามแต่ข้างนอกไม่มีเนื้อในที่บริโภคได้ การที่ต้องทำให้เป็นผลไม้ที่เต็มไปด้วยเนื้อใน คือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกตรงตามหลักของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงวางไว้ว่า
คุณของพระอรหันต์นั้นคือความหมดสิ้นแห่งกิเลส เป็นชัยชนะเหนือกิเลส ไม่มีกิเลสอันใดจะมาครอบงำย่ำยีได้อีกต่อไป เป็นผู้นับเนื่องอยู่ในคณะของพระอริยเจ้า คือบุคคลผู้ประเสริฐควรแก่การกระทำทุกๆ อย่างของบุคคลผู้อุทิศผู้เสียสละ ผู้หวังจะอุทิศคือจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวง เป็นอันว่าเขาได้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง ของสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้เพราะเหตุนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ และในลักษณะเช่นนี้
ซึ่งหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณาโดยเป็นอย่างดีแล้ว มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในหนทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย จงทุกๆ คนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้