แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้ อาตมาจะได้กล่าวถึงการธำรงรักษาและการเผยแผ่จริยธรรม ขอได้โปรดทบทวนความเข้าใจในหัวข้อของการบรรยายเรื่อยๆมาแต่ต้น เพราะในครั้งแรกที่สุดเราได้ทำความเข้าในกันถึง แนวทางหรือหลักเกณฑ์หรือความหมายทั่วๆไปของสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม ในครั้งที่สองได้กล่าวถึงแนวซึ่งมีอยู่เพียงแนวเดียวของจริยธรรม กล่าวคือ การฝึกเพื่อความไม่ยึดมั่นตัวตนหรือเห็นแก่ตน ซึ่งเป็นแนวที่ใช้ได้หมดในทุกกรณี ในครั้งที่สาม ได้กล่าวถึงอุปสรรคศัตรูความรวนเรและการพังทลายของจริยธรรม และในครั้งที่สี่ เป็นครั้งพิเศษ เป็นวันอาทิตย์ ได้กล่าวถึง มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรมสำหรับมนุษย์ในยุคปรมาณู มีความหมายอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้นชัดเจนแล้ว เพราะว่าการที่จะไม่มีความบันเทิงในทางธรรมนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายและไม่เป็นที่ตั้งของความเข้าใจ การเข้าใจธรรมะนั้น มีหลักตามแนวที่เป็นพระพุทธภาษิตว่าจะต้องมีปิติและปราโมทย์เป็นพื้นฐานจิตจึงจะเป็นปัตตัตทิ (นาทีที่ 2:24:7) คือสงบระงับ ปิติปราโมทย์นี้หมายถึงตามทางธรรม ไม่ได้ทำจิตให้ฟุ้งซ่านเหมือนปิติปราโมทย์อย่างโลกียวิสัย เมื่อจิตเป็นปัตตัตทิ ระงับแล้ว (นาทีที่ 2:41) ย่อมเป็นสมาธิ ก็ย่อมเห็นสิ่งสมควรตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่าการมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งให้เกิดความบันเทิงในทางธรรมนั้นเป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ที่สุดแต่การที่จะเผยแผ่อบรมสั่งสอนจริยธรรม ซึ่งท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะต้องสังวรไว้ในเรื่องนี้ ส่วนในครั้งที่ห้านั้นได้กล่าวถึงความว่าง ซึ่งหมายถึงว่างจากกิเลสตัวตนของตนนี้ ก็เป็นจุดหมายปลายทางของจริยธรรม ที่เรามุ่งหมายจะให้เป็นผู้ที่มีจิตว่าง จากตัวตน เพื่อให้มีสติปัญญาเต็มที่ ถ้าจิตไม่ว่างจากตัวตนไม่อาจจะมีสติปัญญาเต็มที่ คือจิตไม่เป็นตัวมันเอง มันถูกกิเลสประเภททำให้เห็นแก่ตัวตนหรือเป็นตัวเป็นตนนี้ครอบงำอย่างยิ่ง ขอให้ถือว่านี่เป็นจุดประสงค์ของเรา ในการที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ด้วยจิตที่ว่างและใช้จิตที่ว่างในลักษณะเช่นนี้โดยเฉพาะ เป็นเครื่องมือในการศึกษา ในการปฏิบัติการงานให้ได้ผลอย่างดีอย่างประณีต ในครั้งที่หกนั้นได้กล่าวถึงตัวแท้ของจริยธรรม ในลักษณะที่เป็นมรรค มีองค์แปดเป็นตัวพรรมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านครูบาอาจารย์จะต้องสนใจกับองค์ทั้งแปด หรือ ธรรมะทั้งแปดนี้ให้ละเอียดจนเข้าใจด้วยตนเอง จึงจะสอนเด็กได้ ในหัวข้อของธรรมะที่ง่ายและชัดเจนและไม่น่าเบื่อ ได้รับปัญหามากในเรื่องนี้ ก็ขอย้ำในลักษณะอย่างนี้ อย่างที่ได้อธิบายแล้ว ในครั้งที่เจ็ด จะใช้ชีวิตประจำวันให้ประกอบอยู่ด้วยจริยธรรมอย่างไร หรือว่าจะใช้จริยธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไร ก็ได้ให้ตัวอย่าง ที่พอจะนำไปคิดนึกด้วยตนเองได้ ในครั้งที่แปดก็ได้กล่าวถึงจริยธรรมประเภทที่เป็นเครื่องมือแก่กันและกัน เมื่อเรามีความประสงค์จะปฏิบัติธรรมะที่เป็นตัวการดับกิเลสโดยตรงนั้นบางทีต้องใช้ธรรมะข้ออื่นที่เป็นเครื่องมือให้เกิดธรรมะประเภทนั้นขึ้นมาโดยง่ายดายอีกก็มี นี่เรียกว่าธรรมะซ้อนธรรมะ แม้หลักเกณฑ์อันนี้ก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายสนใจให้มากในเรื่องที่ธรรมะซ้อนธรรมะ เป็นเครื่องมือแก่กันในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างยิ่งเป็นวิธีที่จะต้องใช้อย่างยิ่งในการอบรมสั่งสอนธรรมะ ส่วนในครั้งที่เก้านี้อาตมาจะได้กล่าวถึงวิธีการเผยแผ่จริยธรรมนั้นโดยตรง รวมทั้งการธำรงรักษาให้ยังคงอยู่ด้วย ถ้าไม่ยังคงอยู่แล้วก็ไม่มีทางให้เผยแผ่จริยธรรมนี้อย่างไรได้
นี้เกี่ยวกับที่อธิบายไปแล้ว มีทางเกิดความเข้าใจผิดบางอย่างบางประการอยู่มากเหมือนกัน เช่นว่า มีปัญหาว่าถ้ามีความรู้สึกว่างจากตัวตนไม่มีตัวตนหรือของตน ก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นถึงกับว่า ก็ไม่ต้องเคารพบิดามารดา ครูบาอาจารย์ หรือไม่มีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีบุญคุณเหล่านี้เป็นต้นเพราะว่างจากตัวตนปัญหาข้อนี้ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจที่ไขว้กันอยู่ ที่ไม่มีตัวตนนั้นเป็นหลักธรรมะในชั้นลึก ที่เรามีตัวตนตามโลกสมมตินั้นเป็นหลักจริยธรรมในขั้นต้นๆทั่วไป จึงมีเรา ผู้ที่เป็นหนี้บุญคุณ หรือ เป็นเจ้าบุญคุณต่อกันและกันเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในเรื่องของสัมมาทิฐิ ประเภทที่เป็นโลกียะ พอมีความรู้สึก มีความเชื่อ มีความเข้าใจ มีความเห็นถูกต้อง ในข้อที่ว่า บิดามารดามี ครูบาอาจารย์มี นรกมีสวรรค์มี นี้ก็เพื่อว่า จะได้รู้จักหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ผู้ที่มีปัญญาถึงขนาดทราบว่าตัวตนหรือของคนไม่มีนั้น หมายความว่ามีปัญญาพอที่จะรู้ว่าอะไร เป็นเรื่องที่กล่าวอย่างสมมติตามความหมายอย่างโลก หรือโลกียะ และอะไรเป็นเรื่องความจริงที่เด็ดขาดในลักษณะที่เป็นโลกุตระ ความรู้ที่ว่าไม่มีตัวตนนี้มันเป็นความรู้ที่จริงเด็ดขาดเป็นชั้นโลกุตระ แต่เราพยายามที่จะเอาหลักเกณฑ์อันนี้มาใช้ทั่วไป แม้ในเรื่องที่เป็นโลกียะ เพราะว่าลำพังความรู้เรื่องโลกียะ หรือธรรมะประเภทโลกียะเนี่ย ใช้ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ได้ จะเป็นเหตุให้มีความทุกข์เหลืออยู่เป็นอันมากที่ดับไม่ได้ ดังนั้นจึงใช้ความรู้ประเภทที่เป็นไปเพื่อโลกุตระเนี่ยเข้ามาช่วย ดังที่ได้กล่าวว่า เอาความหมายหรือหลักการเรื่องนิพพานมาใช้เป็นประจำวัน คือเรื่องมีความรู้สึกว่างจากตัวตนอยู่เสมอในการปฏิบัติหน้าที่การงาน การแข่งขัน การสอบไล่ การประกอบอาชีพต่างๆ ในตัวอย่างที่ได้ยกมาให้ฟังอย่างละเอียดแล้ว นั่นแหละขอให้เข้าใจชัดลงไปเถอะว่าเป็นการนำเอาหลักการเรื่องนิพพานหรือไม่มีตัวตนมาใช้ในกรณีประจำวัน
นี้มีบางท่านเข้าใจไม่ถูกเลยถามว่าจะเอานิพพานมาใช้ได้อย่างไร นั่นเป็นความเข้าใจที่ไขว้กันอยู่ เราไม่ได้เอานิพพานโดยตรงลงมาใช้ แต่ว่าเอาหลักเกณฑ์หรือหลักการหรือความหมายของนิพพานนั้นมาใช้ โดยมาปรับปรุงให้เข้ากันได้กับชีวิตประจำวัน อันหลักการเรื่องไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกูที่พลุ่งพล่านอยู่ในใจนั่นแหละ จะทำอะไรไปด้วยสติปัญญาบริสุทธิ์เรียกว่าหลักการของนิพพานที่มาใช้ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น ที่เกี่ยวกับความรัก เช่น รักบิดา มารดา บุตร ภรรยา สามี นี้ มันไม่ถูกทำลายไปไหน แต่ว่าเป็นความรักหรือเป็นความกตัญญูกตเวทีด้วยสติปัญญา ที่สมบูรณ์เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้เกิด ความรู้สึกที่รุนแรง จนถึงกับเกิดความกลัว เกิดความกร้าว เกิดความว้าเหว่อะไรขึ้นได้ เท่ากันกับความรัก ที่รักคือความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นจึงสอน ธรรมะระเบียบที่ว่าจะต้องทำอะไรไปด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกูด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา แต่ถ้าจะมีตัวตนก็ให้มีตัวตนของธรรมะที่เรียกว่าธรรมะคือสติปัญญา ฉะนั้นเราจึงรักใคร่กัน สงเคราะห์กัน ตอบแทนบุญคุณซึ่งกันและกันได้อย่างดีเสียอีก และไม่มีความรู้สึกผูกพันที่ทำให้เมื่อลูกตายแล้วก็ร้องไห้ น้ำตานองไปหมด หรือว่าพ่อตายแล้วลูกก็ร้องไห้น้ำตานองไปหมด เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นผิดวิธี ไม่ต้องกลัวว่าเราจะเกิดเป็นคนทารุณโหดร้าย ไม่เห็นแก่ใครขึ้นมา ทั้งนี้เพราะหลักการของความว่างนั้นมุ่งหมายอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว ขอได้โปรดจำคำว่าความไม่เห็นแก่ตัวไว้ให้แม่นยำ เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้วนั่นแหละคือจะทำสิ่งที่ดีที่งาม เช่น ความกตัญญูกตเวทีเป็นต้นได้ การที่บุตรบางคนไม่กตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา นั้นก็เพราะความเห็นแก่ตัว มีตัวมีตนจัด บางทีมอบหน้าที่บ่าวหรือคนใช้ ให้บิดามารดาที่แก่เฒ่าแล้วทำ ก็ยังมี เนี่ยคือความเห็นแก่ตัวจัดของบุตร แม้จะได้รับการศึกษาแบบใหม่มาอย่างเต็มปรี่ ก็ยังปล่อยให้บิดามารดาทำหน้าที่คนใช้ก็ยังมี ครั้นไอ้เรื่องของโลกที่เป็นไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นนั้นจะเป็นไปในทางที่ไม่น่าปรารถนา เพราะมีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน ดังนั้นต้องควบคุมความเห็นแก่ตัวให้พอเหมาะพอสม ถ้ามีตัวก็ต้องมีตัวที่ดี คือยึดมั่นถือมั่นในทางดี และยึดมั่นถือมั่นแต่น้อย จึงจะมีสติปัญญาเข้ามาควบคุมได้
ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าหลักการเรื่องนิพพาน หรือความดับความว่างจากตัวกูของกูนี้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง จึงจะนำไปใช้สอนเด็กได้ ให้รวมใจความสำคัญอยู่ตรงที่ความไม่เห็นแก่ตัวไว้เรื่อยไป อย่าทิ้งหลักอันนี้ ความไม่มีตัวนั้นน่ะคือไม่มีตัวอย่างกิเลส มีตัวอย่างประกอบด้วยธรรมะ ถ้ามีตัวอย่างประกอบด้วยธรรมะมีธรรมะเป็นตัวแล้วมันก็จะว่างจากตัวอย่างที่เป็นกิเลส
ชีวิตประจำวันต้องมีตัวที่ชนิดเป็นธรรมะหรือเป็นสติปัญญา ทั้งที่แท้ไม่ใช่ตัว ไอ้ที่ตัวนั้นคือกิเลสตัณหา ความรู้สึกที่เกิดกิเลสตัณหา คือเป็นตัวกู เป็นของกูจัด อันนั้นต้องขจัดออกไปให้ว่าง ปล่อยความรู้สึกอย่างนี้ไปแล้ว ว่างแล้ว ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั้นย่อมเป็นสติปัญญาอยู่ในตัวมันเอง และมากยิ่งขึ้นเท่าที่มีการอบรม ก็ได้โปรดเข้าใจอันนี้ให้ถูกต้องและถือเป็นพื้นฐานสำหรับการเผยแผ่จริยธรรม ก็คือว่าเราจะเผยแผ่ลัทธิที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกที่เป็นการยึดมั่นตัวกูของกูนั่นเอง โปรดพิจารณาคำว่ายึดมั่นถือมั่นเนี่ย ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เรามีตัวกูของกู ด้วยสติปัญญาคือไม่ต้องยึดมั่นไม่ต้องถือมั่น นั่นจึงได้เป็นตัวกูที่เป็นธรรมะอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา เนี่ย ไอ้ธรรมะเป็นตัวตนซะเองอย่างนี้มันไม่ใช่ตัวตนของตัณหาอุปปาทาน มันเป็นตัวของธรรมะซึ่งหมายถึงมีสติปัญญา ขจัดตัวตนอย่างตัณหาอุปปาทานอยู่เสมอไป
ทีนี้เราจะได้พิจารณากันต่อไปถึงการที่จะธำรงรักษาหรือเผยแผ่จริยธรรม ซึ่งมีหลักพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานก็จะเผยแผ่ลัทธิที่ไม่เห็นแก่ตัวเนี่ย ออกไปได้อย่างไร หรือที่เราชอบกล่าวกันมากก็คือว่าเผยแผ่ธรรมะ เผยแผ่ศาสนาเนี่ยออกไปได้อย่างไร มาระบุยืนยันให้ชัดลงไปว่า ธรรมะหรือศาสนาที่จะเผยแผ่นั้นจะต้องเลือกเอาแต่ที่เป็นจริยธรรมของการไม่เห็นแก่ตัวซึ่งมีมูลมาจากการไม่ยึดมั่นในตัวหรือของตัว ดังที่กล่าวแล้ว เกี่ยวกับการเผยแผ่ แบบฝึกหัดและ (นาทีที่ 17:13) ธำรงรักษาและเผยแผ่จริยธรรมนี้ อาตมาอยากจะขอร้องให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ไม่รังเกียจคำหรือศัพท์ ที่ใช้กันอยู่ในวงการของพระศาสนา เช่น คำว่าสืบอายุพระศาสนา นี้หมายความว่าการธำรงไว้ได้ซึ่งพระศาสนาหรือธรรมะหรือจริยธรรมนั่นเอง ทีนี้ในบัดนี้เรามีปัญหาเฉพาะหน้าคือการธำรงรักษาหรือการอบรมสั่งสอนจริยธรรม เราแยกออกเป็นสองหัวข้อว่า ธำรงรักษาอย่างหนึ่งและเผยแผ่อย่างหนึ่ง เผยแผ่คืออบรมสั่งสอน ให้เราธำรงรักษาไว้ให้ได้ จึงจะมีโอกาสสำหรับอบรมสั่งสอนหรือเผยแผ่ ถ้าเราธำรงรักษาไว้ไม่ได้แล้วจะเอาอะไรสั่งสอนเผยแผ่ เพราะว่าตัวจริยธรรมนั้นไม่ใช่คำพูดหรือตัวหนังสือที่พิมพ์ไว้มากๆแล้วก็จะมีอยู่ในโลกนี้ไม่ใช่ ดังที่ได้กล่าวแล้วแต่วันก่อนว่าจะช่วยกันพิมพ์พระไตรปิฎกของแต่ละศาสนาขึ้นไว้ให้เต็มโลกนี้มันก็ยังช่วยไม่ได้ การธำรงรักษาจริยธรรมก็ดี การสืบอายุพระศาสนาก็ดี ไม่ได้หมายถึงการรักษาหนังสือเล่มๆหรือบันทึกเสียงอะไรไว้มากๆ มันต้องมีการกระทำที่เป็นการทำให้มีการปฏิบัติจริยธรรมหรือการปฏิบัติศาสนาจริงๆ อยู่ที่เนื้อที่ตัวของบุคคล อยู่ที่ร่างกายจิตใจของบุคคล สืบทอด (นาทีที่ 19:00) อายุพระศาสนาให้อยู่ที่เนื้อที่ตัวของคน มีเนื้อมีตัวของคนมีร่างกายจิตใจของคนเป็นที่ตั้งที่เกาะของจริยธรรม หรือของศาสนา นั้นจึงหมายความว่าเรามีศาสนาอยู่ที่ตัวคน ไม่ใช่อยู่ในตู้พระไตรปิฎก อย่างนี้เป็นต้น
การสืบอายุพระศาสนาเป็นสิ่งที่สำคัญ จนถึงกับถือว่าเป็นเรื่องที่ได้บุญกุศลอย่างยิ่ง แม้แต่คนจะบวชขึ้นมาในพระศาสนานี้ถ้าให้ถูกต้องก็ต้องเป็นการบวชที่สืบอายุพระศาสนา คือบวชจริงหรือเย็นจริง(นาทีที่ 19:40) ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบสอนต่อๆกันไปจริงๆเนี่ย จริงอย่างนี้จึงจะเรียกว่าสืบอายุพระศาสนา ไม่เพียงแต่พิมพ์อักษรไว้ในแผ่นอิฐมากๆแล้วฝังดินไว้หรือว่าจารึกไว้ในใบลานในตู้พระไตรปิฎก ไอ้การธำรงรักษาจริยธรรมของเราก็เหมือนกัน เราจะต้องทำให้มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวของครูบาอาจารย์ แล้วถ่ายทอดจากใจโดยใจ จากการกระทำโดยการกระทำนี้ให้ไปติดอยู่ที่เนื้อที่ตัวของศิษย์ การที่เราจำเป็นที่จะต้องธำรงรักษาพระศาสนาหรือจริยธรรมไว้นี้ เราต้องเข้าถึงอุดมคติไม่งั้นจะเบื่อ คือว่ามันต้องเนื่องมาจากการไม่เห็นแก่ตัวกู หรือ ของกู อีกนั่นเอง มันต้องมีจิตใจกว้างพอที่จะเห็นแก่โลก แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลก เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทั้งหมดรวมทั้งสัตว์เดรัจฉานด้วย อย่างนี้จึงจะเกิดกำลังใจในการที่จะสืบอายุของจริยธรรมหรือศาสนา ดังนั้นท่านจึงชอบเปรียบหรืออุปมาว่าช่วยกันปลูกต้นโพธิ์ของโลกและรดน้ำพรวนดินไว้ให้ดี เราก็จะมองที่มโนภาพมองไปยังต้นโพธิ์ของโลกว่าคืออะไร ถ้าจะมีต้นโพธิ์ซักต้นหนึ่งมุงบังโลกนี้ให้ร่มเย็น มันจะคืออะไร มันก็ต้องไม่ใช่คืออะไรอื่นนอกไปจากธรรมะในรูปของจริยธรรมนี่เอง คือธรรมที่ควรประพฤติที่ต้องประพฤติ เราช่วยกันรดน้ำพรวนดินต้นโพธิ์นี้ด้วยการศึกษาให้เข้าใจ แล้วมีการปฏิบัติให้สมบูรณ์อยู่ที่เนื้อที่ตัวของคนทุกคน นั่นก็คือการรดน้ำพรวนดินลงไปที่ต้นโพธิ์ของโลก เราต้องมองให้เห็นชัดถึงกับว่าพระศาสนา หรือธรรมะนี้ยังมีอยู่ในโลกแล้วก็โลกนี้ยังคงมีต้นโพธิ์คุ้มครองโลกไม่ให้เกิดการแตกสลายหรืออยู่ด้วยความร้อนระอุ เราควรจะมองให้ลึกลงไปอีกว่าในบรรดาพุทธบริษัทเรา เราก็มีหน้าที่ของเรา ศาสนาอื่น ลัทธิอื่นเขาก็มีหน้าที่ของเขา แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์นั้นมันมีอยู่ว่า แม้แต่เพียงพวกเราทำ คนอื่นไม่ทำ ก็ยังทำให้ต้นโพธิ์ของโลกนี้ยังคงมีอยู่ได้ คือว่า ศาสนานี้มันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ว่าถ้ามีอยู่ในโลกแล้วจะต้องถ่วงโลกไว้จากความล่มจมเสมอไป เป็นเครื่องถ่วงชนิดที่ไม่ให้โลกล่มจม ไม่ได้หมายความว่าทุกคนปฏิบัติได้ เพราะมันไม่มีอะไรไปบังคับให้ทุกคนปฏิบัติได้ แต่เมื่อส่วนหนึ่งปฏิบัติได้มันก็หล่อเลี้ยงธรรมะให้ยังคงมีอยู่ในโลก โลกนี้ไม่คว่ำไม่ล่มจมไปเพียงไรแล้ว ทุกคนได้รับประโยชน์แม้พวกที่ไม่ชอบธรรมะ พวกที่เป็นมิจฉาทิฐิ พวกที่เป็นศัตรูต่อธรรมะก็ยังได้รับประโยชน์จากการที่โลกนี้ไม่ล่มจมไป เนี่ยเรียกว่าเราแสวงหาบุญกุศลด้วยการห้ามล้อโลกนี้ไว้ไม่ให้หมุนไปสู่ความล่มจม ด้วยอาศัยธรรมะหรือจริยธรรมนี้เป็นเครื่องมือ พอเรามองเห็นอย่างนี้เราก็จะพอใจหรือศรัทธา พอใจเลื่อมใสในการที่จะ เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คือการธำรงรักษาไว้ก็ตาม การเผยแผ่ให้กว้างออกไปก็ตาม คือการอบรมสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปลูกฝังลงไปในยุวชนของโลก ต้องใช้คำว่าของโลก ทีนี้เราจะดูกันต่อไปว่าในการที่จะธำรงรักษาจริยธรรมให้ยังคงมีอยู่ในโลกนี้เราจะมีหลักการอย่างไร เราจะมีหลักการตามอุดมคติของพุทธศาสนาคือว่า
ถ้าครบทั้งสามอย่างนี้ก็เรียกว่า ครบองค์ของการธำรงจริยธรรมไว้ในโลก การทำดีนี้ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ว่าคำว่าทำดีนี้จะหมายถึงการประพฤติธรรมะ ก็ยังมีการกำชับว่าต้องประพฤติธรรมะให้สุจริต เนี่ยฟังดูแล้วน่าขันที่ว่าจงประพฤติธรรมะให้สุจริต โดยบทว่า
ธมฺมํ สุจริตํ จเร น ตํ ทุจฺจริตํ จเร - จงประพฤติธรรมะให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมะให้ทุจริต
ประพฤติธรรมะทุจริตเนี่ย หมายความว่ายังไง ข้อนี้หมายความว่าเป็นผู้ที่มีตัวกูของกูจัดแล้วมาประพฤติธรรมะ เพื่อหวังประโยชน์แก่ตัวกูของกู อย่างนี้เรียกว่าประพฤติธรรมะไม่สุจริต คือเป็นทุจริต ต้องประพฤติธรรมะเพื่อธรรมะ จึงจะสุจริต ถ้าประพฤติธรรมะเพื่อเงินหรือเพื่อความสุขแก่ตัวกู ของกู แล้วก็เรียกว่าไม่สุจริต เป็นความเห็นแก่ตัวประเภทที่ทุจริต ให้เราจงดูให้ดีๆว่าการไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่การงานของตน นั่นแหละคือประพฤติธรรมะทุจริต ฉะนั้น ถ้าครูบาอาจารย์คนไหนเกิดประพฤติไม่ตรงต่อหน้าที่ของตน ต่ออุดมคติของความเป็นครูขึ้นมาอย่างนี้ นี้เรียกว่าประพฤติธรรมะทุจริต เพราะมีกริยาอาการทางการประพฤติธรรมะแต่ความหมายนั้นทุจริต ท่านจึงมีกำชับว่าจงประพฤติธรรมะให้สุจริต ไม่เปิดโอกาสแห่งการแก้ตัวให้แก่กิเลสตัณหา จงดูให้ดี ทุกคนจงดูให้ดี มีการประพฤติธรรมะทุจริต เล่นตลกหน้าไหว้หลังหลอกต่อตัวเองอยู่ที่ตรงไหนบ้าง ดูให้ดีเถอะจะมีด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย มีความคิดนึกที่จะแก้ตัวให้แก่กิเลสหรือเรียกอีกอย่างก็คือแก้ตัวให้แก่ตัวเอง เพื่อไปตามอำนาจของกิเลส เนี่ยจะมีอยู่ด้วยกันทุกคน ตามมากตามน้อย เพราะว่าถ้าสิ่งนี้ไม่มีแล้วการประพฤติธรรมะจะเข้มแข็ง เฉียบขาด แน่นอน แน่นแฟ้น ยิ่งกว่านี้มาก นี่มีการหละหลวมรีๆรอๆเล่นตลก ระหว่างธรรมะกับตัวเองอยู่เรื่อย อย่างนี้ไม่เรียกว่าการทำดี เราจะต้องมีการทำดีที่เรียกว่า”ดี”จริงๆ ทีนี้การสอนให้ทำดีนั้น หมายถึงเรามีความคิดคืบหน้าไปว่าทำดีอยู่คนเดียวเนี่ย มันช้า ในการที่จะทำโลกให้มีต้นโพธิ์ที่มีร่มเงาดี จึงสอนผู้อื่น คำว่าสอนผู้อื่นนี้ไม่ใช่ไปตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์ เหนือเขาเอาบุญคุณแก่เขาเอาอะไรตอบแทนจากเขา คำว่าสอนผู้อื่นนี้ก็ทำหน้าที่เพียงว่าให้ธรรมะนี้แผ่กว้างออกไปยังบุคคลจำนวนมาก เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทำ ท่านไม่ได้เป็นผู้ทำเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นค่าจ้างหรือเป็นอะไรทำนองนั้น เพราะฉะนั้นการสอนที่ประกอบด้วยอุดมคติของครูบาอาจารย์นั้นจะต้องเป็นอย่างที่อาตมาได้กล่าวแล้วในการบรรยายครั้งก่อน คือในฐานะเป็นผู้นำในทางวิญญาณของโลก ลืมตัวกู ลืมของกู ลืมค่าจ้างค่าออน (นาทีที่ 28:57) ลืมประโยชน์อะไรต่างๆ ที่จะพึงได้แก่ตัวกูของกู ทำหน้าที่ให้เต็มตามอุดมคติแล้ว สิ่งที่จะเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้นั้นน่ะ มันจะมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าเอง ใช้สำนวนค่อนข้างจะหยาบคายก็ขอได้โปรดไปคิดว่ามันมีความจริงอย่างไร เราอย่าได้ก้มศีรษะลงไป เพื่อรับสิ่งนั้น เราจะชูศีรษะไว้สูงเสมอไปในการที่จะประพฤติหน้าที่ของเราให้ถูกต้องตามอุดมคติ และสิ่งเหล่านั้นน่ะคลานมา ปลิวมาสู่ใต้ฝ่าเท้าเรา เป็นเครื่องบูชาคุณของเรา ในการกระทำหน้าที่อันนี้ เมื่อทำอย่างนี้จึงจะเป็นการสอนธรรมะหรืออบรมธรรมะหรือเผยแพร่ธรรมะ ที่ถูกต้องตามอุดมคติของธรรมะ
ในทางพุทธศาสนาก็ถือว่า ในบรรดาการให้หรือการบริจาคเนี่ย ไม่มีอะไรจะสูงไปกว่าการให้ธรรมะหรือบริจาคธรรมะ เรียกว่า
สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ – การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
หมายความว่าเราต้องบริจาคความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน มันจึงจะมีการให้ธรรมะได้ แม้แต่ธรรมะบางคนก็ยังหวง ความดีบางคนก็ยังหวง แล้วถ้าไม่เสียสละเป็นความเหน็ดเหนื่อยแล้วจะไปให้ธรรมะได้อย่างไร การไปทำคนให้ธรรมะให้มีธรรมะนั้น มันต้องลงทุนด้วยความยากลำบากมากมายเพราะมันไม่อาจจะทำได้ด้วยเงิน หรือลำพังแต่เงิน มันต้องอาศัยความรัก ความเอ็นดู ความเมตตา กรุณา ความเสียสละ ตั้งจิตตั้งใจ พยายามทุกอย่างทุกทางที่จะทำให้คนนั้น มองเห็นธรรมะให้แน่นแฟ้นลงไป จนไม่ถอยกลับ พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงพยายามอยู่ตั้งหลายวันหลายเวลา กว่าจะเอาชนะคนได้สักคนหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นจึงเรียกว่าชนะการให้ทั้งหลายจริงๆ เรียกว่าเป็นการให้จริงๆ นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังจะต้องให้ความเสียสละเหนื่อยยากลำบากอีกด้วย จึงจะทำคนสักคนหนึ่งให้เข้าถึงธรรมะได้ ครูบาอาจารย์ก็มีศิษย์ ท่านจะต้องให้ธรรมะแก่ศิษย์ แล้วมันศิษย์หลายคน ดังนั้นก็เสียสละมันก็ต้องมีมากขึ้นตามส่วน ปัญหาที่แท้จริงมันจึงอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าจะสอนธรรมะอย่างไร มันมากกว่าอยู่ตรงที่จะต้องรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะด้วยตน แล้วเสียสละด้วยตน นี้มากกว่า
ทีนี้ถัดไปหมายถึงการช่วยเมื่อผู้อื่นทำดี เราก็ทำดี แล้วสอนผู้อื่นให้ทำดี แล้วยังขอร้องอีกอย่างหนึ่งว่าจะต้องช่วยเมื่อผู้อื่นทำดี อย่างน้อยก็โดยการรับรู้นี้ก็เรียกว่าช่วยเหมือนกัน รับรู้ว่าเขาทำดี เขาจะได้มีจิตมีใจเพราะเรายอมรับรู้ว่าเขาทำดี อันนี้นี่สำคัญมากที่สุดสำหรับเด็กๆ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่คอยรับรู้ คือไม่แสดงให้เด็กทราบว่าอาจารย์รับรู้ในการที่เด็กทำดีแล้วไม่มีทางที่จะจูงเค้าไปได้ ไม่มีทางที่จะทำให้เขารับธรรมะหรือจริยธรรมหรือจริยศึกษานี้ได้ จะเบื่ออย่างมาก เหมือนที่ในปัญหาที่ส่งเข้ามานี้ว่าประสบปัญหายากที่สุดก็เรื่องเด็กเกลียดจริยศึกษา เกลียดจริยธรรม เราต้องตั้งต้นด้วยการรับรู้ ในการที่เขาประพฤติดีแล้วก็ช่วยเหลือ หรือ เพิ่มกำลังให้
เกี่ยวกับทางศาสนานั้น เรารับรู้ซึ่งกันและกันในวงพุทธบริษัท และช่วยเหลือกัน และเพิ่มกำลังให้แก่เจ้าหน้าที่โดยตรง เจ้าหน้าที่โดยตรงนี่อาตมาหมายถึงภิกษุ บรรพชิต ผู้เป็นเจ้าหน้าที่เผยแผ่ธรรมะหรือสืบอายุพระศาสนานี้อย่างยิ่ง ต้องได้รับการเพิ่มกำลังที่ถูก ที่ควร และเต็มตามที่ควรจะได้ นี้เรียกว่ามีการช่วยเมื่อผู้อื่นทำดี ลองคิดดูว่าเราเคยมีจิตใจอย่างนี้รึเปล่า ที่จะคอยรับรู้ในเมื่อผู้อื่นทำดี คอยช่วยเหลือ หรือคอยเพิ่มกำลังให้แก่เขาหรือเปล่า หรือว่า ตัวกูของกูนี้กำลังจัดอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ใช่เรื่อง ของเรา เนี่ยคือการประพฤติธรรมะไม่สุจริต ประพฤติธรรมะคดๆงอๆ ไม่รับรู้ในเมื่อมีผู้ประพฤติธรรมะ ไม่อนุโมทนาด้วย ซึ่งเป็นการทำให้เกิดบุญกุศลอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าบุญเพราะการอนุโมทนา ไม่ช่วยเหลือไม่เพิ่มกำลังให้ ไม่เคยบริจาคเพื่อกิจการนี้ สะสมไว้เพื่อตัวกู เพื่อของกูไม่มีที่สิ้นสุด ให้มีอีกกี่เท่า กี่สิบเท่า กี่ร้อยเท่า ก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง แล้วจะไปโทษใคร ในการที่โลกนี้ไม่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยธรรมะ เพราะว่าประพฤติธรรมะคดๆงอๆ ไม่สุจริตกันในหมู่มนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้เอง ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน ศาสนาไหน ล้วนแต่มีตัวกู ของกู ที่จูงไปสู่วัตถุนิยมทั้งนั้น ฉะนั้นเราจะต้องมีจิตใจกว้าง มองไปทั่วโลกทั่วสากลโลก ที่มีสัตว์ที่มีชีวิตมีปัญหาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย รู้และมองให้เห็นจนเห็นชัดจนรู้ชัดว่ามันขาดการทำดี ขาดการสอนผู้อื่นให้ทำดี ขาดการช่วยเหลือหรือรับรู้ในเมื่อผู้อื่นทำดี อย่างนี้เป็นต้น มีแต่ต่างคนต่างแสดงละครทั้งนั้น ประพฤติธรรมะ พูดธรรมะก็เป็นเรื่องแสดงละครชนิดที่ให้คนอื่นชอบตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้ชอบธรรมะ โปรดฟังประโยคข้อนี้ให้เข้าใจ ว่าที่ไปเทศน์ ไปแสดงปาฐกถา ไปอธิบายธรรมะหรือพูดจ้อกันอยู่เองตามบ้านตามเรือนตามศาลาวัดนี้ เพื่อให้เค้าชอบตัวผู้พูดทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อให้ชอบธรรมะเนี่ยคือการประพฤติธรรมะที่คดๆงอๆ เพราะฉะนั้นไอ้การสอนอบรมจริยธรรมแก่เด็ก ก็เหมือนกัน เราจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน คือเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นประธาน ให้ทุกคนหันหน้าเข้าหาธรรมะ ไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ครูผู้สอนหรือเพื่อประโยชน์ของครูผู้สอน หรือจะเอาเด็กมาเป็นลูกน้องสนับสนุนตัวเราเอง อย่างนี้ไม่ใช่ เราต้องรักเขายิ่งกว่ารักตัวเรา ด้วยการไม่มีตัวกูหรือของกูนี้ เสมอไปแล้วการกระทำทุกอย่างจะเป็นธรรมะไปทั้งเนื้อทั้งตัว อาการอย่างที่ว่านี้คือการธำรงรักษาจริยธรรมหรือสืบอายุพระศาสนา เพราฉะนั้นเราจึงมีการทำดี สอนให้คนทำดี ช่วยเหลือเมื่อมีผู้ทำดี เนี่ยจะเป็นหลักเกณฑ์ อาตมาอยากจะย้ำถึงข้อความที่กล่าวแล้ววันก่อนว่า ครูดี การสอนดี อุปกรณ์แวดล้อมดี นี้เป็นความสำเร็จของการสั่งสอน แต่ถ้าไปมัวแบ่งเป็นสามอย่างอยู่อย่างนี้ละก็ มันคงอืดอาดมาก ล่าช้ามาก และเกี่ยงงอนกันมาก ครูดี การสอนดี อุปกรณ์แวดล้อม หมายตลอดถึงผู้ปกครองของเด็กก็ดี สิ่งแวดล้อมอื่นก็ดีนี้ ยังไงๆก็ครู เนี่ยยอมเสียสละและยอมรับภาระว่าเอาภาระทั้งหมดมาให้ครูคนเพียงเดียวก็แล้วกัน เหลือเพียงหนึ่ง เป็น ครูดี โดยมีหลักว่า ถ้าครูดีแล้วจะต้องมีการสอนดีและจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆให้ดีได้ อย่าไปหวังพึ่งคนอื่นเลย ครูดี เพียงข้อเดียวเท่านั้นก็จะมีการสอนที่ดี จัดสิ่งแวดล้อมทุกอย่างให้ดีได้ ตลอดจนบิดามารดาของเด็กก็จะดีขึ้นมาได้ เพราะครูดี เราไม่มัวแบ่งเป็นสามจะให้เหลือหนึ่ง การทำดี สอนคนอื่นให้ทำดี ช่วยเหลือเมื่อผู้อื่นทำดี อยู่ที่ครูคนเดียวนี้ เนี่ยเรียกว่าความเสียสละของครู เท่าๆกับความเสียสละของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีสี่อสงไขย แสนกัป เนี่ยไม่มีตัวกูของกู ที่จะเห็นแก่ตัวกูของกู มีแต่การเสียสละอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการธำรงรักษาจริยธรรมหรือธรรมะ อันนี้ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้บางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นอุดมคติเลยเถิดไปเสียแล้ว ปฏิบัติไม่ได้ อย่างนี้ก็ตามใจ อาตมาไม่เห็นลู่ทางอันอื่น เห็นแต่ลู่ทางอันนี้ ถ้าผู้ใดเห็นว่าไม่ใช่เลยเถิดละก็ลองช่วยเอาไปคิดไปนึก เพื่อจะแก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกนี้ให้ได้ ด้วยการที่ยุคเรานี้ บุคคลในยุคเรานี้ ช่วยกันเสียสละซักยุคหนึ่งเถิด เพื่อจะแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลกให้คนที่จะเกิดทีหลังนั้นได้รับความสุข ความผาสุก หากว่าบุคคลในยุคเรานี้ทุกคนไม่ช่วยกันเสียสละ ยังมีตัวกูของกูหราอยู่ทั้งหมดละก็มันก็จะสืบต่ออายุของความไม่มีจริยธรรมยิ่งขึ้น ก็จะมีความรวนเรและความพังทลายของจริยธรรมยิ่งขึ้นในโลกนี้ งั้นในยุคนี้เราชวนกันเสียสละสักทีจะเป็นไร อะไรๆก็จะต้องเสียสละได้ ถ้าเพื่อธรรมะ ไม่ใช่เพื่อตัวตนของใครโดยเฉพาะแต่ว่าเพื่อธรรมะ ควรจะสละได้ทุกอย่างทุกทางที่สละได้ เพื่อประโยชน์แก่การธำรงรักษาไว้ซึ่งจริยธรรม ทีนี้มาจะได้กล่าวต่อไปถึงปัญหาที่สองคือการเผยแผ่จริยธรรม หรือเผยแผ่ธรรมะ ขอวิงวอนให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายช่วยกรุณานำไปคิด ถึงวิธีการเผยแผ่ สำหรับอาตมาขอร้องให้พิจารณานี้ว่ามีอยู่สามวิธี หรือ สามขั้นด้วยกัน คือว่า เราจะถือเอาตามหลักของพระพุทธศาสนาทีเดียว ที่ว่าพระธรรมนี้มีอยู่สามประเภท คือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม
ปริยัติธรรมคือคำสอนหลักวิชาต่างๆของธรรมะนั้น เรียกว่า ปริยัติธรรม การสอน การเรียน การบอก การกล่าว หรือตัวบทของพระธรรมนั่นเอง รวมกันเข้าแล้วทั้งหมด กระทั่งโรงเรียนโรงร่ำ ที่สอน ครูบาอาจารย์อะไรก็ตามเนี่ย รวมเข้าไปในคำว่าปริยัติธรรมเพียงคำเดียว
อันที่สองก็คือปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมมะ คือการปฏิบัติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ จริงๆ
อันที่สามเรียกว่าปฏิเวธธรรม ได้ผลเป็นมรรคผลนิพพานมา มีหลักอยู่สามหลักของธรรมะ สามธรรมะ
ในการเผยแผ่นั้น เราอาจจะต้องทำให้เข้ารูปกัน คือ
ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทบทวนใหม่ว่า การสอนอย่างที่เราสอนในชั้นเรียนนั้น มันทำได้แต่เพียงให้เกิดความรู้ ความคิด ความเข้าใจ ไม่ให้อะไรมากไปกว่านั้น แต่ว่าการทำให้ดูนั้นแสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัวไม่ต้องพูดเนี่ย มันทำให้เกิดความเชื่อด้วยจิตด้วยใจทั้งหมด เกิดความเลื่อมใส ในคำสอนในหลักการที่สอนนั้นอย่างยิ่ง เกิดความสนใจ ในสิ่งที่สอนนั้นอย่างยิ่ง เท่านี้ยังไม่พอ เราจะต้องประพฤติดีจนมีผลแห่งความดี แสดงเป็นผลของความดีอยู่ที่เนื้อที่ตัวให้ดู อาตมาใช้คำว่ามีความสุขให้ดู อันนี้มันทำให้ไว้ใจยิ่งกว่าเชื่อ คือถึงกับไว้ใจ มอบชีวิตจิตใจแก่คำสอน แก่หลักการอันนั้น แล้วก็อยากจะทำตามตัวอย่างนั้นหรือคำสอนนั้นอย่างยิ่ง จนทนอยู่ไม่ได้ จนต้องทำตามเอง ไม่ต้องบังคับให้ทำตาม ไม่ต้องชักจูงให้ทำตาม ไม่ต้องยักคิ้วหลิ่วตาให้ทำตาม เขาทำตามเองอย่างทนอยู่ไม่ได้ และด้วยความสมัครใจ
ขอได้โปรดใช้วิธีอบรมสั่งสอนศิษย์ด้วยหลักการของพุทธศาสนาที่ว่ามีอยู่สามอย่าง อย่างนี้ คือสอนด้วยปาก ด้วยเสียง ด้วยรูปภาพ ด้วยอะไร ก็สุดท้ายนี่เรียกว่าการสอน ในส่วนพุทธิศึกษา ก็ทำไปอย่างเต็มที่ ทีนี้ที่เนื้อที่ตัวของครูบาอาจารย์ต้องแสดงตัวอย่างแห่งการปฏิบัติอย่างนั้น อยู่อย่างเต็มที่ แล้วที่ทำได้มากกว่านั้นก็คือ เป็นผู้มีความสุข มีความแจ่มใส ชนะตัวเองได้ คือชนะกิเลสได้ มีความสงบสุขให้ดูอยู่ตลอดกาล เรียกว่ามีความสุขให้ดู ขอได้โปรดจำหัวข้อแต่เพียงสามข้อนี้ไว้เท่านั้น ก็จะเป็นการเพียงพอ จะแก้ปัญหาที่อาตมาได้รับมากมาย ที่ว่าวิธีการที่จะสอนจริยธรรมให้สำเร็จได้อย่างไร โดยเฉพาะแก่เด็กเนี่ย อาตมากำลังตอบอยู่เดี๋ยวนี้ ว่ามีวิธีถ่ายความรู้ หรือถ่ายธรรมะ หรือถ่ายจริยธรรมนี้ด้วยอุบายสามอย่างด้วยกัน
ขอให้เราเปรียบเทียบดูเอาเองว่า การสอนด้วยปาก กับการทำตัวอย่างให้ดูนี้ มันจะมีน้ำหนักกว่ากันกี่มากน้อย แล้วไปเทียบกับการมีความสุขให้ดูอีก มันจะมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีกเท่าไหร่ ถ้าเทียบกันแล้ว จะเข้าใจได้ดี ว่าเราควรใช้วิธีไหน อาตมาอยากจะกล่าวว่า ถ้าสมมติว่า การสอนด้วยปาก มีราคาสองไพ แล้วก็ การทำตัวอย่างให้ดู มีราคาเท่ากับตำลึงทองเชียว แล้วที่มีความสุขให้ดูนั้นน่ะ จะมีค่าเท่ากับชั่งหนึ่ง ชั่งทองหนึ่งเลย หรือร้อยชั่งพันชั่งของทองคำไปเลย ถ้าเทียบว่าการสอนด้วยปากมีราคาสองไพ แล้วการทำ ปฏิบัติให้ดู สอนด้วยการทำปฏิบัติให้ดู สอนด้วยการปฏิบัติให้ดูนี้จะมีค่าเท่ากับตำลึงทอง มีความสุขให้ดูจะมีค่า มีอำนาจในการจูงใจ แล้วทำให้มีค่าตั้งชั่ง หรือร้อยชั่งทองคำไปเลยนี้เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกการสอนด้วยปาก มันเป็นสิ่งที่เลิกไม่ได้ จะต้องทำอย่างดีที่สุด เพราะว่าเป็นอุปกรณ์ของข้อที่สองข้อที่สามนั่นเอง เราต้องเรียนให้รู้ถูกต้อง จึงจะปฏิบัติถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้องจึงจะเกิดความสุขขึ้นมาได้สมจริง ฉะนั้นมันมีไม่ได้ ถ้าเรามองดูอีกเหลี่ยมหนึ่งเราจะเห็นว่าความจำเป็นอย่างยิ่งมีอยู่ที่การสอนอย่างถูกต้องในเบื้องต้นนั่นเอง ถ้ากลับกันอย่างนี้แล้วการสอนนั้นก็จะมีค่าในทางความจำเป็นมากอีกเหมือนกัน แต่ในทางที่จะชักจูงใจนั้น มีน้อย มีน้อยกว่ามาก แต่ว่าพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำในเบื้องต้นแล้วก็มีมากเป็นภูเขาเลากา ฉะนั้นเราต้องทำให้ดี ให้บริสุทธิ์ ให้เต็มที่ไปหมด
ในการสอนด้วยปาก ด้วยวิธีของพุทธิศึกษาของเรานี้ เราจะต้องทำให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง และจนกระทั่งสามารถนำเอาไปพิจารณาศึกษาได้ด้วยตนเอง ให้เกิดความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก ขอจำกัดความว่า “ต้องทำให้เกิด ความรู้ที่ถูกต้อง ความคิดนึกที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้หองจนสามารถนำไปพิจารณาด้วยตนเองอย่างถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป” เดี๋ยวนี้เรามักจะสอนชนิดที่เรียกว่า เครื่องจักร ยังจะสอนเรื่องธรรมะในขั้นต้นๆ เรื่องหิริโอตัปปะ ขันติ โสรัจจะ เราก็บอกให้จด ว่า หิริโอตัปปะ แปลว่าอะไร มีกี่อย่าง ขันติ โสรัจจะ แปลว่าอะไร มีกี่อย่าง สติสัมปชัญญะ คืออะไร มีกี่อย่าง บอกเสร็จแล้ว จดเสร็จแล้วก็พับสมุดเก็บ ผลมีเพียงเท่านี้ แล้วเวลาสอบไล่นั้น ไม่มีโอกาสที่จะสอบไปได้ แม้สักหนึ่งในพัน หรือหนึ่งในหมื่น ของสิ่งที่ให้เรียนนั้น มันก็ไม่รู้ว่าเขารู้หรือไม่รู้ แม้แต่เพียงว่าจำได้ หรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะการสอนอย่างนี้มันไม่เกิดความรู้ความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเพียงพอ อย่างจะสอนหิริ โอตัปปะอย่างนี้ ต้องอธิบายจนเห็นว่ามันมีอยู่ที่เนื้อที่ตัวของใครบ้าง และมันไม่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวของใคร และคนนั้นเป็นอย่างไร แล้วครูจะต้องคอยติดตามชี้ตัวอย่างของเด็กที่ไม่มี หิริ โอตัปปะ กำลังทำตนเป็นภัยแก่หมู่คณะ แก่โรงเรียน แต่ประเทศชาติอย่างไร หรือแม้แต่เป็นเรื่องดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือพิมพ์ เราก็ยังจะต้องชี้หาโอกาสชี้ว่ามีธรรมะข้อไหนอย่างไร ไม่มีธรรมะข้อไหนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตัวเด็กเอง จะต้องมีวิธีที่ชี้ให้เขาเห็นขณะที่เขามีธรรมะหรือไม่มีธรรมะด้วยอุบายที่แยบคายไม่ให้เขาโกรธหรือเกลียดขึ้นมา แต่ให้เกิดความเชื่อ ความเคารพนับถือ พร้อมกับให้เห็นโทษของการที่ไม่มี หิริ โอตัปปะ พร้อมกับให้เห็นคุณของการมี หิริ โอตัปปะ ไม่เท่าไหร่เด็กของเราต้องมี หิริ โอตัปปะ ถ้ามัวแต่บอกให้จด บอกคำบอกให้จด จดแล้วก็ปิดสมุดเลิกกัน สอนเท่าไหร่ๆมันก็ไม่มี หิริ โอตัปปะได้ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็มีไม่ได้ อย่าว่าแต่เด็กเลย อย่างในเรื่องสติ สัมปชัญญะนี่ ก็ต้องสอนถึงขนาดที่เรียกว่ารู้จักสิ่งนั้นดี เอามาใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเด็ก ในเวลาเรียนในเวลาเล่น ในเวลาอยู่ที่บ้าน ว่าสติ สัมปชัญญะถูกใช้ไปอย่างไร ไม่ถูกใช้ไปอย่างไร สมุดบันทึกประจำตัวเด็ก น่าจะมีช่องที่ให้บันทึกสิ่งเหล่านี้ลงไป เราก็จะมีหลักการที่แน่นอนว่าเด็กชั้นไหน เราจะสอนธรรมะข้อไหน กี่ข้อ สอนทั้งหมดนี้ไม่ไหว ถ้ากำหนดไว้ว่าจะอบรมธรรมะสิบข้อ เช่น หิริ โอตัปปะ กตัญญูกตเวที สติ สัมปชัญญะ ขันติ จาคะ รวมกันสิบข้อนี้ ต้องมีแผนการที่แน่นอน ในการที่จะคอยชี้อย่างไร คอยทักอย่างไร คอยท้วงอย่างไร คอยแสดงโทษอย่างไร คอยแสดงอานิสงค์อย่างไร ตลอดถึงให้เขายกตัวอย่างมาบ่อยๆของผู้ที่ไม่มี หิริ โอตัปปะกับมี หิริ โอตัปปะ แต่เป็นตัวอย่างที่จริงที่เกิดขึ้นในวงสังคมของเด็กนั่นเอง อย่างนี้แล้วจะเป็นการได้ผลเร็วที่สุด และได้ผลที่แท้จริง แม้ว่าจะต้องเสียเวลามาก มันก็ได้ผล ส่วนการทำวิธีอื่นนั้นแม้จะเสียเวลามากเท่าไร มันก็ไม่เคยได้ผลเลย เรียกว่าทำจริงนี้ ทำถูกวิธีนี้ แม้แต่นิดหนึ่งมันก็ยังให้ผลมาก ทำไม่ถูกวิธีแล้วทำเท่าภูเขาเลากา มันก็ไม่ได้ผลเลย
เรื่องความรู้ที่ถูกต้องและสอนด้วยของจริงนี้ อาตมาอยากจะยกตัวอย่างที่น่าตกใจสักอย่าง และเกี่ยวข้องกันอยู่กับธรรมะอย่างมาก เหมือนอย่างเรื่องสอนเรื่องธาตุสี่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ ที่สอนกันอยู่ตามโรงเรียน โรงเรียนนักธรรมนั้น ก็ชี้ธาตุดิน ไปที่ดิน ธาตุน้ำ ไปที่น้ำ ชี้ธาตุไฟ ไปที่ไฟ ชี้ธาตุลม ไปที่ลมนี้ มันน่าหัวเราะอย่างยิ่ง คือมันไม่ถูกสิ่งที่เป็นตัวจริง ผิดตัวจริง ผิดของจริง และเป็นการสอนที่ไม่ถูกต้อง เป็นความรู้ที่ไม่ถูกเลย ความรู้ที่ถูกต้องและเป็นของจริงนั้นจะต้องหยิบดินมาสักก้อนหนึ่งแล้วก็จะสอนให้เห็นว่าส่วนที่มีคุณสมบัติแข็ง กินเนื้อที่นั้นน่ะ มันคือธาตุดิน ส่วนคุณสมบัติที่เปลี่ยนรูปไปตามภาชนะที่มีการเกาะตัวอยู่อย่างละเอียด มีลักษณะเป็น cohesion นั้นน่ะ ในดินก้อนนั้นก็มี ส่วนน้ำน่ะในดินก้อนนั้นก็มี เพราะฉะนั้นในคุณสมบัติของก้อนดินส่วนที่เป็นน้ำ เป็นธาตุน้ำนั้นก็มี ทีนี้อุณหภูมิของดินก้อนนั้นก็มี เพราะดินก้อนหนึ่งย่อมมีอุณหภูมิอยู่ตามมากตามน้อยของสิ่งแวดล้อมดินก้อนนั้น เพราะฉะนั้นธาตุไฟก็มีอยู่ที่ดินก้อนนั้น ทีนี้ธาตุลม มีคุณสมบัติของการขยายตัว ระเหยออกไปนี้ คืออาการของแก๊สนี้ ก็มีอยู่ที่ดินก้อนนั้น เรียกว่าลมในท้อง ลมในไส้ ลมหายใจนี้ ก็คืออาการที่แก๊สเคลื่อนที่และขยายตัว คุณสมบัติอย่างนี้เราเรียกว่าธาตุลม ในดินก้อนหนึ่งที่หยิบมาให้ดูนี้ ต้องชี้ให้ดูว่าส่วนไหนเป็นธาตุดิน ส่วนไหนเป็นธาตุน้ำ ส่วนไหนเป็นธาตุไฟ ส่วนไหนเป็นธาตุลม เพราะว่าถ้าครูบาอาจารย์ขืนสอนว่าชี้ธาตุดินไปที่ดิน ชี้ธาตุน้ำไปที่น้ำ เหมือนที่สอนกันอยู่ตามศาลาวัดแล้วโรงเรียนก็รับมาสอนอย่างนี้แล้ว เป็นการทำลายสถาบันของศาสนาอย่างยิ่งคือทำให้คนสมัยนี้เห็นไปว่า ทางพุทธศาสนานี้ สอนอย่างโง่เขลาที่สุด ที่ชี้ธาตุดินที่ดิน ธาตุน้ำที่น้ำ ธาตุไฟที่ไฟ ธาตุลมที่ลมที่พัดอยู่นี้ โดยที่แท้แล้วธาตุดินต้องหมายถึงคุณสมบัติที่กินเนื้อที่คือของแข็งที่กินเนื้อที่ และธาตุน้ำนั่นคือคุณสมบัติที่เกาะตัวกันเป็นของเหลวของอ่อนแล้วเกาะตัวกัน จึงเปลี่ยนรูปไปตามภาชนะได้ อาตมาไม่ทราบจะใช้คำว่าอะไร ก็ใช้คำว่า cohesion ดังที่ครูบาอาจารย์ บอกว่า ก็จะต้องเข้าใจได้ดี ธาตุใดมีคุณสมบัติเป็น cohesion อย่างนี้ ก็เรียกว่าธาตุน้ำ เพราะฉะนั้นในขณะใดวัตถุอันหนึ่งมันมีคุณสมบัติอันนี้ ในขณะนั้นเราต้องเรียกมันว่าธาตุน้ำ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า สสารชนิดหนึ่งนั้น เมื่ออุณหภูมิต่างกัน ย่อมปรากฏตัวเป็นของเหลวบ้าง ของข้นแข็งบ้าง หรือว่าที่ยิ่งกว่าของเหลวก็ระเหยไปเลยบ้าง เราจะไปชี้ระบุที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นธาตุนั้นธาตุนี้ เหมือนพวกสอนธรรมะตามศาลาวัด สอนแยกธาตุสี่อย่างนี้ไม่ถูก เขาสอนไม่ถูกตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะมาสอนในโรงเรียนให้ผิดต่อไปอีกแล้ว มันก็ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ดูหมิ่นดูถูกหลักคำสอนในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ว่าสอนอย่างโง่เง่างมงายของคนสมัยหินเลยทีเดียว ถ้าเรารู้จักธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อย่างในของพุทธศาสนานี้ให้ถูกต้องอย่างนี้ ยกตัวอย่างที่มันคาบเกี่ยวกันระหว่างวงการศาสนากับวงการที่โรงเรียนจะต้องเอามาสอนให้เข้าใจ เพราะทำอย่างไรเสียก็จะต้องสอนธรรมะในรูปนี้เป็นแน่นอน จึงว่าท่านจะมี(นาทีที่57:15) จะสอนด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ด้วยของจริงและเป็นความจริง อย่างว่าดินก้อนหนึ่งนี้ สามารถจะสอนให้เห็นภาพทั้งสี่ อย่างนี้เป็นต้น หรือเราจะตักน้ำมาจากแม่น้ำสักขันหนึ่งนี้ ในน้ำขันนั้น เราจะชี้ให้เห็นธาตุดินที่มีอยู่ในน้ำนั้น ก็คือส่วนสสารที่ละลายอยู่ในน้ำนั้น แล้วก็ธาตุไฟ ก็คืออุณหภูมิของน้ำในขันนั้น ธาตุลมก็คือแก๊สบางๆที่ระเหยอยู่ด้วยอำนาจของความร้อนหรืออะไรอย่างนี้ คุณสมบัติที่ระเหยขยายตัวใหญ่ออกเรื่อยนี้เราเรียกว่าธาตุลม แล้วส่วนที่มันเหลวเป็นคุณสมบัติเหลว cohesion นั้นก็คือธาตุน้ำ ดังนั้นแม้น้ำขันหนึ่งก็สามารถชี้ธาตุทั้งสี่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้เพื่อให้เห็นชัดและถูกต้องตามความจริง เพราะฉะนั้นเราจะสอนอะไร เราก็จะต้องสอนให้ถูกต้อง ตามความจริงในลักษณะอย่างนี้เสมอไป จึงจะเรียกว่าไม่ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา คือทำลายสถาบันของการสอนธรรมะให้เป็นที่ดูถูกดูหมิ่น ของการศึกษาสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปทุกที อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้เกี่ยวกับการที่จะสอนเขานั้น พระพุทธเจ้าท่านมีหลักว่า จะสอนอะไร ตัวเองต้องทำได้ก่อน มีพระบาลีว่า:
อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย - ตั้งตัวเองให้อยู่ในรูปที่สมควรกันเสียก่อน
อถญฺญมนุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต - เสร็จแล้วจึงจะสอนคนอื่น จึงจะไม่เป็นบัณฑิตสกปรก
ไล่ตามตัวหนังสือว่าอย่างนี้ กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต นี้แปลว่าบัณฑิตที่สกปรก คำว่าครูหรือผู้สอนก็ตามจะเกิดเป็นบัณฑิตสกปรกขึ้นมาได้ โดยการที่ไม่ทำตัวเองให้อยู่ในคุณสมบัติที่สมควรกันเสียก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น
ทีนี้มีถามมากเหมือนกัน ที่ว่าครูบาอาจารย์หรือผู้หลักผู้ใหญ่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของยุวชนในประเทศนี้ เลยสอนจริยธรรมเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ นี้มันก็จริง พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าอย่างนี้
ส่วนที่จะให้อาตมาตอบปัญหาว่าจะไปแก้ผู้หลักผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์เหล่านั้นอย่างไรนั้น อาตมาถือว่ามันอยู่นอกหน้าที่ ไม่ควรจะพูดกันในที่อย่างนี้ มันจะเป็นเรื่องกระทบกระทั่ง จะพูดเป็นหลักการทั่วไปว่า ทุกคนมาพยายามทำตน ในสิ่งที่ตนทำได้ ไม่เนื่องด้วยผู้อื่น ด้วยการที่ทำตนอยู่ในคุณสมบัติที่สมควรแก่การสอนผู้อื่น ไม่เป็นผู้สอนที่เศร้าหมองเสียก่อนเท่านั้น บางทีจะมองข้ามความจริงข้อนี้กันเสียเป็นส่วนมากก็ได้ หรือว่า ตามที่เป็นอยู่จริงนั้น ครูบาอาจารย์บางคนมักจะว่าเรามีหน้าที่แต่เพียงสอนตามชั่วโมง ตามเวลา คือมาเป็นเครื่องจับพ่นคำพูดออกมาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของใคร ของมัน ของอะไรที่ไหน ถ้าอย่างนี้แล้ว มันไม่แคล้วที่จะต้องล้มละลายและอยู่ในลักษณะที่เป็นผู้สอนที่เศร้าหมองด้วยกัน อุดมคติที่ว่าครูบาอาจารย์เป็นผู้ยกสถานะทางวิญญาณของโลกนี้ มันต้องใช้เสมอไปในทุกกรณี อันนี้ก็ข้อหนึ่งที่จะต้องสังวรไว้ ทีนี้ อยากจะแนะว่าเราจะต้องมีอุบายหรือมีวิธีที่จะทำให้เด็กๆยุวชนของเรานี้ คิดเอาเองให้มาก คือให้รู้จักคิดก่อน หมายถึงคิดให้เป็น ถ้าไม่คิดนี่ ไม่มีทางจะรู้ แต่ถึงแม้จะคิด แต่ถ้าคิดไม่เป็น ไม่ได้ฝึกอบรมเรื่องคิด มันก็คิดไม่ได้ แล้วยิ่งกว่านั้นหมายความว่าต้องให้คิดเอง อย่าบอกเป็นเครื่องจับกันไปตะพึด เราต้องมีปัญหาที่เหมาะที่ให้เขาคิด แล้วอย่าได้เข้าใจเหมือนที่เดี๋ยวนี้กำลังเข้าใจกันอยู่มากว่าธรรมะนี้สูงเกินไป เอามาสอนทำไม เอามาพูดทำไม ที่อาตมาได้รับมากที่สุดในบัตรที่เสนอขึ้นมานี้ แม้แต่เรื่องนิพพานอย่างนี้ ก็ถูกมองข้ามไปหมดว่าเอามาสอนเด็กไม่ได้ ที่เห็นที่จะพอเชื่อว่าจะพอสอนได้ก็ยังไม่ทราบว่าจะสอนอย่างไร นี้ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วเมื่อในคราวก่อนนั้นว่า ให้เขารู้จักคิดในทางเปรียบเทียบ อย่างว่าต้องหัวเราะอยู่ตลอดเวลาจะเอาไหม ต้องร้องไห้อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้จะเอาไหม ถ้าว่างไม่ต้องเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอิสระไม่ต้องเป็นอย่างนั้น มันจะดีไหม อย่างนี้เป็นต้น อย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาเข้ามาสู่สมองของเด็ก เพราะนั่นน่ะคือต้นเงื่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจจริยธรรมที่ดับทุกข์ได้
คือว่าเราจะให้เด็กคิดปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไม เนี่ยลองดูบ้างก็จะเป็นไร เขาคงจะตอบน่าเอ็นดูมาก น่าสงสารมากทีเดียวถ้าคุณครูนี้จะออกการประกวดให้เด็กแข่งกันตอบปัญหาว่า ให้ออกความเห็นว่าคนเรานี้เกิดมาทำไม ให้หนูตัวเล็กๆนั้นก็จะออกความคิดความเห็นตามประสาของตัว แล้วครูก็จะมีโอกาสชี้ทีเดียวว่า อย่างไหนดีกว่ากัน อย่างไหนดีกว่ากัน อย่างไหนดีกว่ากัน ประกวดกันมาตามลำดับ จนกระทั่งรู้ว่า โดยที่แท้นั้นเกิดมาทำไม ทำอย่างนี้แม้จะกินเวลาบ้างแต่ว่าประหยัดเวลามากที่สุด ที่จะให้เข้าใจธรรมะในอันดับต่อไปที่สูงขึ้นไป โดยง่าย โดยง่าย โดยง่ายอย่างยิ่ง หรือว่าจะให้เขาคิดว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ อย่างนี้ก็ได้ ให้ออกความคิดเห็นตั้งแต่ตัวน้อยๆ โตขึ้นมาก็ยังคงออกความเห็นเพื่อตอบคำถามข้อนี้กระทั่งเป็นชั้นมัธยม เป็นชั้นเตรียม ชั้นอุดม ก็ยังจะต้องตอบปัญหาข้อนี้ ถ้าคนเราขยันคิดนึกเพื่อตอบปัญหาข้อนี้ว่าเกิดมาทำไมอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว มันจะเดินเข้าไปในทางของธรรมะโดยไม่รู้สึกตัวอย่างง่ายดายที่สุด ถ้าเด็กๆหัดตอบปัญหาที่ว่าความทุกข์ชนิดไหนบ้างที่แม้จะมีเงินมากก็แก้ไม่ได้ คือความทุกข์ที่เงินแก้ไม่ได้ เพราะเขากำลังคิดว่าเงินนี่เป็นสารพัดอย่าง เป็นแก้วสารพัดนึก สารพัดอย่าง ใช้ทำอะไรได้หมดเลย แล้วยังไม่คิดที่จะหาอื่นที่ดีไปกว่าเงิน ก็แปลว่าติดอยู่ที่เงิน ซึ่งเป็นเรื่องของวัตถุ นำไปสู่วัตถุนิยม เราต้องให้เขาคิดว่า อะไรบ้างที่เงินช่วยทำให้ไม่ได้ ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้รู้ว่าอะไรที่ดีกว่าเงิน อย่างนี้เป็นต้น นี้คือการเรียนธรรมะหรือการสอนธรรมะที่ถูกวิธีของธรรมะ ไม่ใช่เปิดหนังสือแล้วบอกคำบอกให้จด อย่างที่ทำกันอยู่ทั่วๆไปหรือบังคับให้ท่องนั้นท่องนี้ ท่องกันอย่างพระสวดมนต์อย่างนี้ ที่พระสวดมนต์นี้ก็เป็นเรื่องท่องๆนี้ก็มาก ก็ไม่เข้าใจธรรมะเหมือนกัน มันต้องเกี่ยวกับการคิดนึกพิจารณาไปตามทางของธรรมะ รู้สึกไปตามทางของธรรมะเท่านั้น ที่จะรู้ธรรมะได้เร็ว ในธรรมะชั้นสูงขึ้นไปอีก ก็จะต้องมีอุบายที่ทำให้เด็กของเรา รู้จักสังเกต เช่นเดียวกับในหลักการของการสอนวิทยาศาสตร์นี้ ครูบาอาจารย์เข้าใจดีอย่างยิ่ง รู้จักทำให้เด็กรู้จักสังเกตลึกซึ้งในห้องเรียนวิทยาศาสตร์อย่างนี้ แต่ชั่วโมงสอนจริยศึกษาทำไมไม่ทำอย่างนั้นบ้าง ทำไมจึงทำหวัดๆ พอแล้วๆไป เพราะธรรมะนั้นน่ะมันละเอียดกว่าเรื่องวิทยาศาสตร์หรือวัตถุทางวิทยาศาสตร์ ทางเคมี ทางฟิสิกส์ อะไรทำนองนี้เสียอีกเพราะมันดูด้วยตาไม่เห็นยิ่งไปกว่านั้นอีก ต้องสอนให้เขารู้จักสังเกต สิ่งที่เกิดขึ้นหรือรู้สึกอยู่ในจิตใจของเขา เกิดขึ้นอย่างไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในขั้นต้นๆง่ายๆนี้ เราจะเกิดรักขึ้นมาได้อย่างไร จะเกิดเกลียดขึ้นมาได้อย่างไร จะเกิดโมโหขึ้นมาได้อย่างไร จะเกิดกลัวขึ้นมาได้อย่างไร จะเกิดเศร้าขึ้นมาได้อย่างไรนี้ ขอให้รู้จักสังเกตและตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ไม่เท่าไหร่เด็กๆของเราจะฉลาดในธรรมะ โดยไม่ต้องออกชื่อธรรมะที่เป็นบาลียุ่งยาก
อาตมาเห็นด้วยกับที่ครูบาอาจารย์หลายคนเสนอขึ้นมาถึงอุปสรรคของภาษาบาลี จริงอุปสรรคของภาษาบาลีมีอยู่มากเราควรจะทำเป็นคำไทย แต่พร้อมกันนั้นเราก็ให้จำบาลีไปพลาง ไม่เท่าไหร่มันก็จะเป็นคำไทยไปเอง จนคำไทยคำบาลีนี้ อาตมาได้พูดเปรียบให้ฟังคราวหนึ่งแล้วว่าในภาษาไทยของเรานี้ เต็มไปด้วยภาษาบาลีตั้ง 60 % หนังสือที่เขียนกันสมัยใหม่นี้ก็เป็นภาษาบาลีตั้ง 60% ไปเปิดดูหน้ากระดาษไหนก็ได้ หนังสือรุ่นแรกๆที่เป็นภาษาไทยมาก เช่นหนังสือสามก๊ก หนังสือราชาธิราชอย่างนี้ ก็เป็นภาษาบาลีอยู่ตั้ง 20-30% เหมือนกันในหน้าๆหนึ่ง มีตั้ง 20 คำแต่ไม่ไปสังเกตโดยละเอียดไม่ไปขีดมันทีละคำไม่รู้ เห็นเป็นภาษาไทยไปหมด เนี่ยรกรากของภาษาไทยนั้นมีภาษาบาลีสันสกฤตเจืออยู่มากเพราะว่าชาวอินเดียเขาเข้ามาที่ดินแดนนี้ตั้งพันกว่าปีหรือตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว เราไม่รังเกียจภาษาบาลี แต่เราพยายามใช้ให้มันเป็นภาษาไทยมากขึ้น อย่ากันออกไป ไม่อย่างนั้นจะเพิ่มความลำบากมากขึ้น สอนแต่ภาษาไทยให้รู้ภาษาบาลีพร้อมกันไปในตัว เช่น คำว่าพระพุทธเจ้านี้ก็เป็นบาลี คำว่าพระธรรมก็เป็นบาลี พระสงฆ์ก็เป็นบาลี จริยธรรมก็เป็นบาลี พุทธิศึกษาก็เป็นบาลี จริยศึกษาก็เป็นบาลี พละศึกษาก็เป็นบาลี อันนี้ เห็นใช่ไม๊ว่ามันล้วนแต่เป็นบาลีไปหมด แต่เพราะใช้จนชิน มันจึงเป็นอย่างนั้น ไม่เท่าไหร่ คำว่า นิพพาน วัฏฏะสงสาร กรรม อันนี้จะมาเป็นภาษาไทยได้หมดเหมือนกัน ภาษาอังกฤษคำว่ากรรมนี้ เป็นภาษาอังกฤษไปแล้ว เขาใช้คำว่า Karmic Karmic….(นาทีที่ 1:08:29) เนี่ย เป็นภาษาอังกฤษจ๋าไปเลย แต่คำนั้นคือคำว่า กรรม ในภาษาสันสกฤตและบาลี อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นโปรดมีใจตรง และไม่ลำเอียงเกี่ยวกับภาษาบาลีและภาษาไทยนี้ ให้ถูกต้องสักหน่อย มันจะเป็นไปเพื่อผลอันดี ที่ตั้งข้อสังเกตมาดูเหมือนว่า ตั้งข้อรังเกียจในภาษาบาลีมากไปหน่อย ทั้งหมดนี้เรียกว่าการสอนชนิดที่ทำให้เกิดความรู้ความคิด ทีนี้ต่อไปก็คือการทำให้ดู อบรมสั่งสอนด้วยการทำให้ดู ให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส ความสนใจอย่างยิ่ง อาตมาอยากยกตัวอย่างง่ายๆเหมือนอย่างว่า แม่ไก่ มันสอนลูกของมันให้เขี่ยดินเป็น ให้วิ่งเป็น ให้บินเป็น ก็เขี่ยให้ดู วิ่งให้ดู บินให้ดู มันไม่ได้พูดกันเลยเห็นไหม ทีลูกไก่ทีฟักด้วยเครื่องฟักในห้องฟักนี้ มันเขี่ยไม่เป็น เลี้ยงจนโตแล้วก็ยังเขี่ยไม่เป็น งุ่มง่ามจนเขาต้องเลี้ยงอยู่เรื่อย จนกระทั่งบางตัวไม่เคยเขี่ยจนตลอดชีวิต ไม่เห็นตัวอย่างในการเขี่ย แต่ลูกไก่ป่านั้นเขี่ยเป็นในวันที่หนึ่งวันที่สอง เพราะแม่มันเขี่ยให้ดู ไม่ได้พูดกันเลย ตัวอย่างที่ทำให้ดูนั้น มันมีค่ามากมายมีน้ำหนักมากมาย เราก็มักจะพูดกันว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นนี้ คือมัวแต่พูดด้วยปาก มันก็ต้องสิบเท่า จึงจะเท่ากับเห็นตัวอย่างด้วยตาทีหนึ่ง
ผู้ใหญ่สมัยนี้ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดเนี่ยนะ ไม่ใช่จะกระทบกระทั่งผู้ใหญ่ แต่ไปที่ไหนๆก็มักเจอ คำแต่ว่าผู้ใหญ่ไม่ทำตัวอย่างที่ดี ในการสัมมนาก็พูดถึงกันแต่อย่างนั้น ในปัญหาบัตรที่ยื่นเข้ามานี้ก็มีแต่อย่างนี้มาก ข้อที่ว่าผู้ใหญ่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดี แปลว่า(นาทีที่ 1:10:34:9) ผู้ใหญ่ถูกเอ่ยถึงมากในทางที่เป็นตัวอย่างไม่ดี นี้จะจริงหรือไม่จริงนี้อาตมาไม่ค่อยจะทราบนักเพราะว่าไม่ค่อยได้เข้ามาอยู่ในบ้านในเมืองกับเขา เรียกตัวเองว่าเป็นพระเถื่อนอย่างนี้ ได้โปรดเข้าใจว่าตรงตามความจริง เพราะอาตมาอยู่แต่ในป่า เป็นเรื่องที่ครูบาอาจารย์จะต้องเข้าใจเอาเอง ว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่มันก็น่าจะจริงเพราะว่าทำไมมันมีข้อที่พูดถึงกันมากขึ้น ถ้าว่าตัวอย่างไม่ดีอยู่เพียงใดแล้วมันก็ต้องมีอุปสรรคในการอบรมสั่งสอนตามวิธีนี้เป็นอันมาก เราก็ต้องเห็นอกเห็นใจกัน หวังดีต่อกัน ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงไปโดยวิธีที่สุภาพและเหมาะสม ยอมรับว่าสิ่งชั่วร้ายที่ตำตาอยู่ทุกวันๆ นั้นแหละ อิทธิพลใหญ่หลวงที่พายุวชนของเราไปสู่ความรวนเรทางจริยธรรม เราช่วยกันทุกอย่างทุกทางที่จะขจัดสิ่งชั่วที่จะตำตาอยู่เสมอ เราจะต้องระลึกนึกให้ดีว่าไอ้สิ่งที่เรากำลังนิยมทำกันอยู่นี้ อย่าง championship ใครเป็นพระเอกเป็นเด่นอะไรขึ้นมาทางนักมวย ทางแข่งรถ ทางอะไรก็ตามนี้ มันก็ดูว่ามันมีจริยธรรมรึเปล่า บางทีมันก็เห่อๆไปตามคนที่เป็น champion นั้น เขาแต่งตัวอย่างไร เขานุ่งห่มอย่างไร เขาทำหน้าอย่างไร เขายิ้มอย่างไรนี้ ก็เอาอย่าง เด็กๆเอาอย่างกันเป็นแถวหมดนี้ โดยไม่มีความหมายว่าเพื่ออะไร ไม่มีความรู้ว่าเพื่ออะไร เพราะสิ่งเหล่านี้ตำตามากที่สุด อย่างแฟชั่นโชว์ที่ชอบแห่กันไปดูจนยอมเสียค่าบัตรผ่านประตูนี้ก็เหมือนกัน มันมีความหมายของจริยธรรมที่ตรงไหนบ้าง แล้วทำไมมันจึงมีมากมายแล้วก็ดึงเวลาไปหมด นี้เรียกว่าล้วนแต่ท่านคิดดูว่าธรรมเหล่านี้ท่านจะเข้าใจว่าอะไร ว่ามันเป็นตัวอย่างในทางไหน หรือมันให้ความหมายให้ความรู้สึกไปในทางไหน ควรจะเรียกมันว่า championship สมกับความหมายของคำๆนี้หรือไม่ บางทีไอ้ตัว championship นั้นไม่มีคุณค่าทางจริยธรรมที่ทำโลกให้เป็นสันติภาพถาวรเลย มีทำแต่ให้ฟุ้งเฟ้อไปในทางวัตถุนิยมบ้าง ไปในทางที่จะมีตัวกู ของกู จัดขึ้นเท่านั้นเอง เราครูบาอาจารย์นี้จะต้องสอนเด็กให้รู้จักสังเกต ว่าจะถือเอาใครเป็นตัวอย่าง เอา champion ไหนเป็นตัวอย่าง เป็นที่นิยมชมชอบแล้วก็มันต้องมีความหมายในทางจริยธรรม คือมีประโยชน์แก่ชีวิตแก่ความดับทุกข์ของคนเราเสมอไป นี่กลัวว่าครูบาอาจารย์หนุ่มๆสาวๆนี้จะคอยแต่ฮือจะคอยแต่เฮไปตามเขา ถ้า champion แล้วเป็นใช้ได้ ถ้าแฟชั่นโชว์แล้วก็ถือเป็นหลักได้ อย่างนี้เป็นต้น ไม่รู้จักเป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้จักตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองนี้ เราก็เสียเวลาไปตามเขาหมดเลย ไม่มีอะไรที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ให้อยู่ในร่องในรอยได้ เพราะสิ่งที่ตำตา หรือนิยมชมชื่นกันนั้นเป็นไปในรูปนั้น นี้มองดูให้กว้างไปทั้งโลก ก็จะพบว่ามนุษย์ในโลกเราทั้งหมดนี้ เสียเวลาเสียเงินเสียทองไปเพราะเหตุนี้เป็นอย่างมากมายทีเดียวแล้วในที่สุดก็เสียอย่างยิ่ง เสียสิ่งที่มันสำคัญอย่างยิ่งคือเสียความทรงตัว เสีย balance เสียความทรงตัวในทางจิตทางวิญญาณ มีความล้มละลายในทางจิตทางวิญญาณตามเข้ามา นี่คือต้นเหตุของวิกฤตการณ์ถาวรของโลกเรา เพราะงั้นเราอย่าได้ไปเห่อ พวกใหม่ๆหรือแม้จะเป็นที่เขานิยมกันว่าเมืองนอกเมืองนา พวกฝรั่งก้าวหน้านี้ ต้องดูก่อนว่ามันก้าวหน้าไปในทางล้มละลายของวิญญาณหรือเปล่า จริยธรรมวัฒนะธรรมศาสนาของตะวันออกเรานี้ แม้จะไม่ก้าวหน้าแต่มันก็คงอยู่ในร่องรอยของจริยธรรมหรือเปล่า เราดูด้วยจิตใจที่เป็นอิสระอย่างนี้ เราก็จะรู้จักเลือกตัวอย่าง รู้จักเลือกตัวอย่างไม่ใช่ของเล็กน้อยไม่ใช่คำพูดที่เล็กๆน้อยๆ เมื่อเรารู้จักเลือกตัวอย่างแล้วเราก็ได้ตัวอย่างที่ดี ให้แก่ตัวเราเองให้แก่ศิษย์ตาดำๆตัวเล็กๆของเรา นำเขาไปสู่ทางได้
นี้มันก็มาถึงข้อสาม ที่เรียกว่ามีความสุขให้ดู เผยแผ่อบรมสั่งสอนให้มีความสุขให้ดู คุณครูจะต้องมีอนามัยดีทั้งทางกายและทั้งทางจิต มีความรื่นเริงแจ่มใส ไม่มีความทุกข์ที่เรียกว่ามีอินทรีย์ผ่องใส นี้เป็นเหตุให้เด็กไว้ใจ เคารพนับถือไว้ใจอยากทำตามคำพูดคำสอน ทนอยู่ไม่ได้ ข้อนี้จะขอยกตัวอย่างความสำเร็จที่ประสบมาแล้วในทางเผยแผ่พระศาสนา เช่นว่า พระอัสสชิ เป็นพระสาวกองค์หนึ่งในชุดแรกที่สุด ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านส่งออกไปประกาศพระศาสนา พระอัสสชิท่านมีอินทรีย์ผ่องใส มีอิริยาบถงดงามแสดงแววตาของความสุข นี้ก็มีอุปปติสะ โกลิตะ ศิษย์เอกฝ่ายปริพาชก ที่ต่อมามาเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เขาไม่ได้รับความพอใจในลัทธิศาสนาที่เขากำลังศึกษาอยู่ เผอิญเขาเดินที่ถนนสวนทางกับพระอัสสชิเท่านั้น ไม่ได้พูดจาอะไรกันเลย เพียงแต่เห็นอินทรีย์ผ่องใส ของพระอัสสชิ ก็สนใจอย่างยิ่งจึงได้เชื่อแน่ว่านี่คือบุคคลที่มีธรรมะ หรือเข้าถึงธรรมมะ เพราะฉะนั้นจึงได้ติดตามไปเสร็จการบิณฑบาตแล้วจึงได้ถามจึงได้รู้เรื่องหลักธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ว่าสิ่งทั้งปวงมาแต่เหตุ เป็นไปตามเหตุ ดับเพราะเหตุ ซึ่งรวมความแล้วคือว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นเอง จึงได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงมาบวชในพระศาสนานี้ จึงมาเป็นพระสาวกเอกของพระพุทธเจ้า คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ นี้ขอให้ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า การมีความสุขให้ดูนั้น เผยแผ่ศาสนาได้อย่างเฉียบขาดที่สุด ในการสอนจริยธรรมศีลธรรมแม้ในโรงเรียนก็เหมือนกัน ควรจะสอนด้วยการแสดงผลดีให้ดู มีผลดีแสดงให้ดูอยู่ที่เนื้อที่ตัวของครูที่หมู่คณะของเรา รวมทั้งให้เด็กรู้จักสังเกตที่มีอยู่แก่ประเทศชาติของเรา ในระบอบวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของเรา มันจะเป็นการแผ่พระศาสนาแผ่ธรรมะที่ดีที่สะดวก ไม่ยุ่งยากไม่ลำบากอะไรหมด ขอให้ประพฤติดี ตั้งตนอยู่ดี แสดงความสุขให้คนอื่นดูนั้นน่ะ ต่างคนต่างจะเป็นผู้แผ่ธรรมะแผ่พระศาสนาอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่พระเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ ซึ่งมีค่าสองไพเบี้ย ในเมื่อมีการปฏิบัติให้ดู มีความสุขให้ดูนี้ มีค่าตำลึงทอง หนึ่งบ้าง หรือชั่งทอง สิบชั่งทองบ้าง ขอให้เราตั้งตนอยู่ในธรรมะมีลักษณะของธรรมะปรากฏอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่กายวาจาใจ มีแววตาที่แสดงความเป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่ตกนรกทั้งเป็น ซ่อนอยู่ภายใน มีลักษณะแห่งความเป็นผู้ไม่มัวเมาอยู่ด้วยตัวกูของกูอยู่เสมอ นั่นแหละคือวิธีเผยแผ่อบรมที่ดี เราต้องการครูบาอาจารย์ที่แจ่มใส ที่มีความประพฤติดี มีความสุขไม่มีปัญหาส่วนตัว ครอบครัว ส่อให้เด็กเห็นว่าแม้แต่ครูก็เอาตัวเองไม่รอด แม้แต่ครูก็ยังเร่าร้อนอย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้มีบาลีที่ท่านทั้งหลายทุกท่านจะต้องได้ยินได้ฟัง เพราะว่าต้องมีสวด เมื่อสวดมนต์เย็นที่บ้าน ตามบ้าน ตามงานต่างๆ ที่เรียกกันว่ามงคลสูตร มีอยู่ข้อหนึ่งว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ และต่อท้ายอย่างนี้ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ในบรรดา มงคลสิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดนั้น มีข้อที่ว่า การได้เห็นสมณะนี้ รวมอยู่ด้วย การได้เห็นสมณะ เป็นมงคลสูงสุด
ทีนี้สมณะคืออะไร สมณะที่แท้จริงคืออะไร พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสว่า เอาผ้าเหลืองมาคลุมแล้วเป็นสมณะ ท่านก็ปฏิเสธหมดว่า ไม่ได้เป็นสมณะเพราะโกนหัวให้โล้น ไม่ได้เป็นสมณะเพราะเอาผ้ากาสายะมาพันที่ตัว แต่เป็นสมณะเพราะมีความสงบระงับ ตามความหมายของคำว่า สมณะ สม (นาทีที่ 1:20:48) แปลว่าสงบ สมณะ แปลว่าผู้สงบ ผู้สงบก็สงบจากความวุ่นวายของตัวกู ของของกู อีกนั่นเอง ความยึดมั่นถือมั่น ในตัวกูของกู ที่ให้เกิดวุ่นวายเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้มันไม่มี เพียงแต่ได้เห็นสมณะเท่านั้น ท่านว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง มันมีความดึงดูดอย่างยิ่งเหมือนกับที่พระอัสสชิมีแก่อุปปติสะ โกลิตะ อย่างที่กล่าวแล้ว เพราะงั้นครูก็เป็นสมณะได้ ครูบาอาจารย์ที่สอนอยู่ในห้องเรียนนี้ก็เป็นสมณะได้ ขอให้มีความสงบระงับ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางความรู้สึกคิดนึก ทิฐิความคิดความเห็นความเชื่ออะไรต่างๆนี้ ให้มันเป็นไปในทางของความสงบ ไม่พลุ่งพล่านอยู่ด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวายด้วยอำนาจของความยึดมั่นถือมั่น อย่างที่กล่าวแล้วนั่นเอง เนี่ย โวหารนี้เขาใช้เรียกบรรพชิต ว่าเป็น ทัศนานุตริยะ การเห็นสมณะนี่เป็นทัศนานุตริยะอย่างหนึ่งเหมือนกัน กล่าวได้ว่าการได้เห็นผู้มีความสุขนี้ มันเป็นสิ่งมีอิทธิพลมาก ที่จะดึงผู้นั้นมาสู่การปฏิบัติตามจนทนอยู่ไม่ได้ มันไว้ใจอย่างยิ่งที่สอนนี่ไม่เกิดความไว้ใจ จะเกิดความรู้ความคิดความสงสัยลังเลด้วยซ้ำไป ความไม่เชื่ออย่างเต็มที่ ไม่เลื่อมในอย่างเต็มที่ แต่ว่าปฏิบัติให้ดูนี่ชักจะเชื่อจะเลื่อมใส แต่ความไว้ใจยังไม่เต็มที่ ต่อเมื่อได้ประสบความสำเร็จให้ดู คนเราจึงจะไว้ใจเต็มที่ อยากทำตาม จนไม่ต้องมีใครชักชวน ในทางวัตถุทางเนื้อหนัง ทางวัตถุนี้เราเห็นได้ชัดกันว่า ถ้าใครประดิษฐ์อาชีพ การค้าการอุตสาหกรรม อะไรขึ้นมาได้ใหม่อย่างหนึ่งมีผลดีนี้ ก็เฮกันทำตามอย่างยั้งไม่อยู่ จนอันนี้ล้นหรือเฟ้อไปอีก ไม่ต้องจูงต้องลากต้องเข็นอะไรกันเลย เพราะมันแสดงให้ดูด้วยการประสบความสำเร็จ มีผลเป็นเงินเป็นทองให้ดู นี้เป็นเครื่องเปรียบเทียบ ในทางธรรมะก็เหมือนกัน เราจะต้องดูบุคคลที่ปฏิบัติให้ดู และมีความสุขให้ดู จึงจะเกิดความสมัครใจในการที่จะปฏิบัติตามจนทนอยู่ไม่ได้ จึงถือว่าเป็นเครื่องมือการเผยแผ่หรือเป็นวิธีเผยแผ่แบบหนึ่งอย่างยิ่ง อย่างที่สุดทีเดียว เนี่ยจะเห็นได้ว่าการเผยแผ่จริยธรรมหรือธรรมะซึ่งมันมีอยู่ในห้องเรียนในโรงเรียนด้วยนี้ จะต้องใช้อุบายวิธีสามวิธีดังที่กล่าวแล้ว คือ สอนให้เกิดความรู้ความคิด ความเข้าใจ ปฏิบัติให้ดูเพื่อให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ความสนใจอย่างยิ่ง แล้วก็มีความสุขให้ดู เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ อยากปฏิบัติตามจนทนอยู่ไม่ได้ ขอได้โปรดนำหลักการคร่าวๆนี้ไปพิจารณาดูอย่างละเอียด แล้วนำไปใช้ให้ได้ในการปฏิบัติงานประจำวันของครูบาอาจารย์นี้เป็นการตอบปัญหาหลายปัญหาทีเดียวที่ถามอยู่นี้ ไปในตัวนี้
ทีนี้ที่เหลืออยู่อีกเล็กน้อยนี้ก็อยากจะกล่าวเสียเลยว่า บรรดาสิ่งต่างๆนี้จะต้องมีแผนการที่เรียกว่า อุบาย หรือ กุศโลบาย เสมอไป ข้อนี้เป็นเรื่องของปฏิภาณ ของความไหวพริบไม่อาจ(นาทีที่ 1:24:44:5)จะนำมากล่าวได้ เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่อง เฉพาะกาล เฉพาะเวลา เฉพาะคน จะพยายามเสาะหาหรือว่าคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลา ว่าจะต้องใช้อุบายอย่างไร แม้แต่ในการเผยแผ่จริยธรรมทั้งสามวิธีนี้ ก็เรียกว่าเป็นอุบายหรือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง เรายังจะต้องมีการใช้อุบายในการกลับใจคน ซึ่งมีเรื่องมากมาย แม้แต่เรื่องนิทานเล็กๆน้อยๆ นิยายเล็กๆน้อยๆ ก็ยังมีให้อ่าน ให้นำไปคิดไปนึกเป็นตัวอย่างได้ แล้วยังมีอุบายกลับใจคน ขนาดที่เรียกว่าเอาคนเข้าบ่วง เข้าบ่วงที่ดีนะ บ่วงที่จะดึงไปในทางที่ดี ไม่ใช่เอาไปทำลาย เราจะต้องดึงเอาลูกศิษย์ตาดำๆของเรามาเข้าบ่วงของธรรมะให้จงได้ อุบายอย่างนี้มันมีมากเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ฝากไว้ให้สนใจเอาเอง อย่างนิทานชาดกเรื่องสุตโสมนี้ กล่าวย่อๆสั้นๆว่าพระสุตโสมถูกยักษ์โปริสาทจับไปจะกิน แล้วก็ยังเอาตัวรอดได้ ข้อที่ว่าสุตโสมขอปัดว่าอย่าเพิ่งกิน เพราะได้สัญญาไว้กับนักศึกษาคนหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ ว่าจะให้ฟังอะไรอย่างหนึ่งที่ประเสริฐที่สุด สุตโสมเป็นนักศึกษามากถึงอย่างนี้ ไม่ได้ผลัดเพื่อเอาชีวิตรอด ผลัดเพื่อไปฟังข้อนั้นตามที่ได้ตกลงกันไว้ ยักษ์ไม่ค่อยจะเชื่อ แต่เชื่อเครดิต เพราะว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เคยเป็นพระเจ้าแผ่นมาก่อนเหมือนกันยักษ์นี้ สุตโสมนี้ก็เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เชื่อเครดิตกันก็ปล่อยให้ไป สุตโสมได้ฟังความรู้ธรรมะประเสริฐสุด ที่ถือกันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ พระชาดกนี่หมายถึงเรื่องที่เกิดก่อนพระพุทธเจ้าองค์นี้ พอได้ฟังแล้วก็กลับมา ยักษ์นี้ก็ฉงนว่าทำไมมันถึงกลับมา แล้วไม่กลัวตาย ชะรอยสิ่งที่ได้ฟังมามันจึงทำให้สุตโสมไม่กลัวตาย ยังกลับมาสู่ความตายอีก จริงๆหลุดมือไปแล้วควรจะเตลิดหนีไปเลย นี่ทำไมกลับมาอีก งั้นสิ่งที่ได้ฟังนั้นคงจะช่วยให้สุตโสมกล้า หรือเป็นผู้รักษาความสัตย์ไม่กลัวตาย ยักษ์นั้นเลยเกิดอยากจะฟังสิ่งที่สุตโสมไปฟังมา สุตโสมก็กล่าวธรรมะนั้นให้ฟัง ยักษ์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพาล หรือว่าไม่อยู่ในเหตุผล ไม่มีความรู้สึกที่เป็นหลักเกณฑ์ของธรรมะเสียทีเดียว เคยเป็นนักศึกษาเคยเป็นเจ้าแผ่นดินมาก่อนเหมือนกัน พอได้ฟังธรรมะก็พอใจในธรรมะ ไม่ให้เสียธรรมเนียมว่าได้ยินได้ฟังธรรมะจากใคร ควรจะบูชาคุณคนนั้นบ้าง ก็เลยให้สุตโสมเลือกเอาพรสักอย่างหนึ่ง ขอพรได้ ก่อนที่จะตาย สุตโสมก็ขอพรว่าขอให้เราได้เห็นท่านมีอายุยืนร้อยปี สุตโสมขอพรว่าขอให้ตนเองได้เห็นยักษ์มีอายุยืนร้อยปี ลองคิดดูเถอะ ท่านครูบาอาจารย์ลองคิดดู ว่ายักษ์ ข้ามดวง (นาทีที่ 1:28:21) ของสุตโสมยังไง ยักษ์ก็ต้องเอออวยว่า ก็ยอมตกลง หรือบางทีจะยิ่งยินดีด้วยซ้ำเพราะเขาปรารถนาความสุขสวัสดีแก่ตัวให้มีอายุยืนร้อยปี แล้วก็รีบตกลง เรื่องมันก็มีว่าถ้าให้สุตโสมได้เห็นยักษ์มีอายุยืนอยู่ร้อยปี ก็หมายว่าสุตโสม ไม่ต้องตายสิ มันจะเห็นยักษ์มีอายุยืนร้อยปีได้ ยักษ์ก็กินไม่ลง กินไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น คำตอบที่ตอบออกไปว่าขอให้ได้เห็นท่านมีอายุยืนร้อยปีนี่ มันเหมือนกับอุบาย ที่ฉลาดที่ดึงคนมาเข้าบ่วงของธรรมะไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวอย่างเดียว เขายังมีจิตใจที่ว่างจากตัวกู ของกู ไม่ขลาดไม่กลัว มีจิตใจแจ่มใส จึงจะมีอุบายต่างๆเป็นปฏิภาณไหวพริบเกิดขึ้น เนี่ยคืออุบายในการที่เราจะพาลูกเด็กๆตาดำๆของเราไปเข้าบ่วงของธรรมะซึ่งมีอยู่มากมายเหลือที่จะเอามากล่าวได้ อย่างนี้เป็นต้น
ตัวอย่างนี้อาจจะสูงเกินไป แต่ไม่สูงเกินไปสำหรับเรื่องของธรรมะ สำหรับผู้ใหญ่ คิดซะว่าเรื่องเด็กก็เอาไปย่อส่วนเอาตามสมควรก็แล้วกัน นี้รวมความว่า การเผยแผ่นี้ เรามีอุบายที่จะเผยแผ่ด้วยวิธีทั้งสาม เราจะมีอุบายกลับใจคน เราจะมีอุบาย ในการเอาคนเข้าบ่วงของธรรมะอย่างแยบคายที่สุดจึงจะได้ชื่อว่าเป็นครูบาอาจารย์แท้จริงที่เฉลียวฉลาดในการยกสถานะทางวิญญาณของคนในโลกได้จริง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมให้คงมีอยู่ในโลก เป็นการสืบอายุจริยธรรม เหมือนปลูกต้นโพธิ์ไว้ประจำโลกแล้วก็รดน้ำพรวนดินอยู่เรื่อยไป นี้ถ้ามันมีพืชพรรณขยายต่อไปมากต้น ก็ด้วยการเผยแผ่ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าใช้อุบายสามวิธี ด้วยการสอน ด้วยการทำเป็นตัวอย่างให้ดู มีความสุขให้ดู มีอุบายในการปรับใจเขา คือดึงเขาเข้ามาในบ่วงของธรรมะ นี้เป็นแนวคร่าวๆทั่วไปอย่างนี้ เท่าที่เวลามันอำนวยให้กล่าวได้ให้อธิบายได้ ดังกล่าวมานี้ อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้เพราะสิ้นสุดลงแห่งเวลาเพียงเท่านี้
ถาม: กระผมรู้สึกเลื่อมใสในการบรรยายธรรมท่าน แล้วก็ได้ติดต่อถึง เกี่ยวกับ หนังสือเกี่ยวกับพระธรรมที่ท่านได้บรรยาย ที่ท่านได้เขียนไว้ ก็มีอยู่ว่า วัตถุเป็นอาหารของกาย ธรรมะเป็นอาหารของจิต หรือวิญญาณ สำหรับในเรื่องนี้กระผมอยากจะขอให้ท่านบรรยาย ชี้แจงให้เห็นจริงว่า ธรรมะนั้นเป็นอาหารของจิต ถ้าแม้นว่าไม่มีอาหารจิตแล้ว คนนั้นจะเป็นอย่างไร แล้วก็ ถ้าหากว่าส่วนรวม มีแต่อาหารกายอย่างเช่นในโลกทุกวันนี้ หรือว่าใช้วัตถุเป็นอาหารกายเท่านั้น มิได้ใช้ธรรมะเป็นอาหารของจิตด้วย จะทำให้โลกของเราดำเนินการต่อไปเป็นอย่างไร เฉพาะบุคคลและเฉพาะส่วนรวม
ท่านพุทธทาส: อาตมาได้ยินบ้าง ฟังถนัดบ้าง ไม่ถนัดบ้าง เกี่ยวกับอาหารกาย อาหารใจนี้ ความจริงก็จะไม่มีปัญหาสำหรับผู้ที่เคยมองชีวิตในสองส่วนอย่างนี้มาก่อนแล้ว คือว่าถ้าคนเรารู้จักแต่ร่างกายก็แสวงหาอาหาร ให้แต่ร่างกาย ทีนี้บางคนผิดมากไปเป็นแต่เรื่องกิจอย่างเดียว หนักไปแต่เรื่องกิจก็ยังมี ในครั้งพุทธกาล ในครั้งก่อนพุทธกาล มันสุดเหวี่ยงไปหมด คือกายก็สุดเหวี่ยง จิตก็สุดเหวี่ยง อย่างนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ของพุทธศาสนา ซึ่งถือความเหมาะสมเป็นกลางคือความพอเหมาะสม เรียกว่า มัชฌิมานี้ เหมาะสม เรามีอาหารเหมาะสม มีอาหารจิตเหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่กายกับจิตนี้มันต้องอาศัยกันจึงเป็นไปด้วยกันได้ ในปัจจุบันนี้ โลกมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่ามันมีอะไรอย่างหนึ่งซึ่งยากที่จะชี้ตัวระบุตัวให้เห็นชัด จูงคนในโลกให้หันหลังให้เรื่องทางจิตใจ ไม่นิยม เกิดความไม่นิยม ในเรื่องทางจิตใจ เช่น อาหารใจอย่างนี้เป็นต้น มีธรรมะพอเป็นพิธี มีศาสนาพอเป็นพิธี นี่เป็นอย่างมาก นี้คือไปหมด ในทางฝ่ายร่างกายหรือเรื่องอาหารกาย แม้แต่นักบวชไม่ได้บรรพชิตของแต่ละศาสนา ก็เผลอตัวมากถึงขนาดนั้นเหมือนกัน มันเลยเป็นเหตุให้ส่วนใหญ่ของโลกนี้เทไปในทางวัตถุนิยม แล้วเราก็ยังหลงมากไปถึงว่าอะไรๆ ……………. (นาทีที่ 1:34:24 – 1:34:34) ได้เคยใช้ครั้งหนึ่ง ทีนี้เมื่อเราจะเอาชนะน้ำใจกัน ก็ต้องมีแต่ให้เงิน ให้ของ ให้เงิน ให้ของ ให้เงิน ให้ของ เพื่อที่จะชนะน้ำใจเขา เอามาเป็นพวกเรา นี้มันจึงยุ่งยากมากขึ้น ถ้ามันไม่เป็นไปตามหลักของ ความเหมาะสม หรือเหตุผล หรือความจริง มันเป็นเรื่องจ้าง เรื่องออน กันไปหมด มันก็เลยไม่ได้พวกที่แท้จริง คือไม่มีอุดมคติตรงกัน แต่ว่าเป็นรับจ้างไปทำนองนั้น โลกเราทั้งโลกจึงระส่ำระสายไปด้วยเรื่องกาย หรือเรื่องอาหารกาย ที่เป็นวัตถุ ไปกลัวแต่จะอดตายอย่างเดียว ไม่ได้กลัวว่าความเสียหลักในทางจิตใจนั้นน่ะ ยิ่งไปกว่านั้นอีก ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาแล้วที่จะถามว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น
ทีนี้การที่จะดึงโลกกลับมาสู่ความสนใจเรื่องอาหารใจนี้ มันก็ยากมาก เพราะว่าการที่เฮกันไปในทางอาหารกายนั้นไม่ใช่ว่ามันเพิ่งเป็น มันเป็นอยู่ตามปกตินั้นส่วนหนึ่งแล้ว และมันยิ่งเป็นไปมาก ในยุคนี้ สมัยนี้ นั่นอีกส่วนหนึ่งซึ่งมากมาย และเป็นเวลานานมาแล้ว งั้นจะให้ถอยหลังกลับในเวลาเพียงหนึ่งนาที ในเมื่อมันเดินไปมากตั้งปีๆ นี้มันจะถอยได้ยังไง แล้วจะทำยังไงในเรื่องนี้ มันก็ไม่มีทางอื่นที่ว่ายังจะต้องใช้หลักที่ถูกต้อง ทำคนเราให้มีมนุษยธรรม มีความเห็นถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรม หรือสัจจะธรรมของธรรมชาติอยู่นั้นเอง แปลว่าถ้าทำไม่ได้ เราก็ยอมตาย หรือยอมสิ้นชีวิตไป เพราะเหตุที่ยึดมั่นถือมั่นอุดมคติเรื่องนี้ เราไม่ต้องสมัครใบสมัครผิด ถือหลักผิดๆ นิยมวัตถุ บูชาอาหารกาย ไปตามเขา เพราะเราตายเสียดีกว่าที่จะทำอย่างนั้น ถ้าเรามีพรรคพวกอย่างนี้มากขึ้น เราก็จะดึงโลกนี้กลับมาได้ มันไม่อยู่ที่คนอื่น มันอยู่ที่พวกเราที่จะเรียกตัวเองว่า เป็นผู้มีธรรมะถือหลักพระพุทธศาสนา ถือหลักธรรมะนี้ จะกล้าไหม กล้าเสียชีวิตเพื่อตายกับธรรมะไหม ถ้าใครกล้าพลีชีวิตบูชายันต์ต่อธรรมะ อย่างนี้สักจำนวนหนึ่งเท่านั้น จะดึงโลกกลับมาสู่ระบบทางจิตใจได้อย่างประหลาด เราต้องการไม่มากมาย ไม่ต้องถึงทั้งโลก หรือ ครึ่งโลก หรือ หนึ่งในสี่ของโลก ต้องการจำนวนน้อยๆจำนวนหนึ่ง เท่านั้น ใครจะสมัครบ้าง ขอให้ลองนึกดู คิดดู เปรียบเทียบดูว่าใครกล้าพอที่จะสมัครอย่างนี้บ้าง หรือว่าบุคคลหมู่คณะสังคมในประเทศไหนที่จะยึดหลักอย่างนี้บ้าง หรือถ้าเราจะถือว่าประเทศไทยเรามีธรรมะมีพุทธศาสนารุ่งเรืองกว่าประเทศอื่นนี้ ลองหาดูสิว่าจะได้สักกี่คน ที่ยอมตายเพื่อธรรมะ ยอมตายเพื่อธรรมะ เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อให้คนสนใจในธรรมะเหมือนพระเยซูนี้ จะมีสักกี่คน เรื่องอาหารกาย เรื่องอาหารใจนี้ มันก็มีความลำบากอย่างนี้ ที่เรายังไม่มุ่งมั่นที่จะทำงานใหญ่ขนาดนั้น ขนาดที่สละชีวิตขนาดนั้น เอาแต่ว่าจะปลูกความเข้าใจที่ถูกต้องกันเรื่อยๆไปในหมู่พวกเรา ชำระสะสางพวกเรานั้นน่ะ ในวงพวกเราเท่านั้นน่ะ ให้มีความเข้าใจถูกต้องมีความบริสุทธิ์สะอาดขึ้น ในด้านสร้างจิตใจ เป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องอย่างที่สุดแล้ว
อาหารทางด้านวัตถุทางร่างกายนั้น ที่แท้มันไม่ใช่อาหารเพื่อกินพอมีชีวิตอยู่ มันเป็นอาหารของกิเลสตัณหาที่ขยายตัวออกไปเกินกว่าที่จำเป็นที่จะต้องกินเพื่อมีชีวิตอยู่ เราไปนึกถึงตู้เย็น ถึงโทรทัศน์ ถึงอะไรทำนองนี้ดูสิว่า นี้มันอาหารกายหรือเปล่า ร่างกายถ้าไม่ได้มีตู้เย็น ไม่ได้มีโทรทัศน์มันจะตายหรือเปล่า เราก็เห็นกันได้ว่าอย่างไร อาหารกายที่เป็นพิษเป็นโทษอย่างยิ่งนั้น คือส่วนที่เหลือเฟือทั้งนั้น ส่วนที่เหลือเฟือแก่การที่มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น คำว่าอาหารกาย นี้ จึงนอกเหนือ ส่วนหนึ่งนอกเหนือไปจากขอบวงของธรรมะเสียแล้ว ถ้าต้องการอาหารกันแต่เพียงว่ากินเพื่อมีชีวิตอยู่ประกอบการงานได้แล้ว โลกนี้ไม่ต้องรบกัน แต่มันต้องอาหารกายสำหรับเนื้อหนังของกิเลสตัณหา ของตัวกู ของกู ที่จะขยายออกไปเป็นรถยนต์หลายๆคัน มีตึกหลายๆหลัง สำหรับคนๆเดียวนี้ อาหารกายอย่างนี้ต่างหาก อาหารกายอย่างนี้มันจะไม่มีวันพอ ไม่มีวันสมดุลได้ เพราะความอยากมันแล่นออกหน้าเรื่อยไป อาตมาหมายถึงอาหารกายทำนองนี้ ที่ว่าเป็นโทษเป็นอันตราย นี้ส่วนอาหารใจนั้นตรงกันข้ามแทบจะไม่ต้องอาศัยวัตถุอะไรมากมาย ก็รู้จักทำจิตใจให้เยือกเย็นเป็นสุขได้ พวกฤาษี บางนิกายเขาไม่ต้องมีผ้านุ่งไม่ต้องมีกุฏิอยู่ ไม่ต้องมีอะไรด้วยซ้ำไป เขายังอยู่ด้วยความพอใจอย่างยิ่งได้เนี่ย มันก็เป็นเรื่องอาหารใจเหมือนกัน มันเป็นเรื่องทางจิตใจเหมือนกัน แต่มันเกินไปสำหรับคนอย่างเราๆ เราลดขึ้นมาอีกก็เพียงแต่ว่า มีอาหารกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย มียาแก้โรคเท่าที่ควรจะเป็น มันก็เป็นอยู่กันในลักษณะที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ถือหลักของพวกคริสเตียนยังจะดีกว่า ว่าใครแสวงหาหรือมีไว้เกินกว่าความจำเป็นคนนั้นมีบาป กระทำบาป เป็นคนทำบาป นี้มันเป็นคำกล่าวที่ถูกที่สุด เพราะเขายังร้อนใจมากเป็นทุกข์มาก และทำให้ผู้อื่นพลอยเดือดร้อน คือมันเกิดการไม่สมดุลขึ้นที่อื่น เมื่อที่มุมโลกนี้กวาดมาไว้มากที่มุมโลกอื่นก็ขาดแคลน แล้วปัญหายุ่งยากก็เกิดขึ้น นี่เรื่องที่ไม่มีความสมดุลในระหว่างความรู้เรื่องอาหารกายอาหารใจเป็นอย่างนี้ ถ้าทุกคนมีความรู้เรื่องอาหารใจดีแล้ว วัตถุในโลกยังเหลือเฟืออยู่ นี่อาตมาขอยืนยันอย่างนี้ว่าวัตถุที่จะประทังชีวิตแต่คนในโลกนี้ยังเหลือเฟืออยู่ ยังไม่ได้ขาดแคลนเหมือนที่โฆษณากัน ก็เพราะเขาต้องการจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปขายไปเปลี่ยนเป็นวัตถุบำรุงเรอเนื้อหนังอย่างอื่นต่างหาก มันจึงไม่พอ อะไรๆก็ไม่พอ แล้วไปมัวทำสิ่งที่เป็นอย่างนั้นเสีย ไม่มีเวลาจะมาทำสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรทำมันก็ยิ่งไม่พอ นี่เรื่องอาหารกายเรื่องอาหารใจนี่มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้เสมอไป ถ้าเรามีความรู้ถูกต้องมุ่งหมายอาหารใจแล้วเราจะรวยกันทุกคน ทุกคนในโลกจะรวย จะรู้สึกว่ามีวัตถุเหลือใช้ ถ้าเรามุ่งอาหารใจอย่างถูกต้อง นี่เราทิ้งหมด ทุกคนระดมไปเอาอาหารของกิเลสตัณหาทางเนื้อหนังที่เหลือความจำเป็นของร่างกายกันทุกคน มันก็มีความไม่พออย่างยิ่งเป็นทวีคูณเป็นร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่า เลย แล้วเมื่อละกิเลสข้อนี้ไม่ได้ มันก็กลัวล่วงหน้าไว้ กลัวจะขาดแคลนกลัวจะไม่มี กลัวจะไม่มีเครื่องมือปราบคนอื่นให้ราบลงไปแล้วกอบโกยเอาวัตถุ มันจึงมีแผนการลึกซึ้งลึกลับ ยิ่งกว่าใต้ดินใต้น้ำที่จะล้างผลาญกันให้วินาศไปเสียฝ่ายหนึ่งแล้วตัวเป็นผู้ครองโลก ก็ได้โปรดสังเกตว่าอาหารกายอาหารใจนี้มีความสัมพันธ์เนื่องกันอยู่กับวิกฤตการณ์หรือสันติภาพของโลกโดยตรง นั่นแหละคือเรื่องของธรรมะที่มุ่งหมายจะสอนเรื่องอาหารกาย เรื่องอาหารใจ อาตมาตอบอย่างนี้
โยม: มีปัญหาเข้ามาอีกหลายปัญหา แต่เวลาเหลือน้อยแล้ว เมื่อกี้นี้มีผู้ส่งขึ้นถวายไปหนึ่งปัญหา ถ้าเผื่อจะกรุณาตอบเฉพาะปัญหานั้น แล้วปัญหาอื่นดิฉันจะถวายไปอย่างนี้ดีกว่า
ท่านพุทธทาส: ที่คุณครูส่งเข้ามาเพิ่มเติม สงสัยว่าฆราวาสปฏิบัติให้ถึงนิพพานไม่ได้ เพราะต้องวุ่นอยู่กับการหาเลี้ยงชีพจึงถามว่าทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติได้ ขอให้ทุกคนได้เป็นพยานว่าอาตมาได้ตอบแล้วหรือเปล่า คือว่าเราไม่ได้ดึงเอานิพพาน มาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเราหรืออย่างของยุวชนเด็กๆของเรา แต่ว่าเอาหลักการของนิพพานมาใช้ปฏิบัติได้ ตามความเหมาะสมตามสัดส่วนที่เหมาะสม ยุ่ง วุ่น ร้อนอยู่กับการหาเลี้ยงชีพนั่นหมายความว่าอยู่ในกองไฟ แล้วทำไมจึงไม่คิดดับไฟ ถ้าคิดดับไฟก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าหลักการของนิพพาน ที่จะหาความสงบเย็นในท่ามกลางกองไฟ
ถาม: การดับกิเลสจะต้องทำให้จิตว่าใช่หรือไม่
ท่านพุทธทาส: นี่ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายังฟังไม่รู้เรื่อง ถูกแล้วกิเลสคือความวุ่น ทำให้ว่างเรียกว่าทำในจิตให้ว่างจากกิเลส นี่ขอดับกิเลสไม่ลง จะทำอย่างไร นี่ไม่มีคำตอบหรือไม่อาจจะตอบ เพราะว่าทำไม่ถูกวิธี ก็ดับไม่ลง ถ้าทำถูกวิธีก็ดับลง เลยตอบกำปั้นทุบดินว่า ทำให้ถูกวิธี
ถาม: วิธีทำให้จิตว่างจะทำอย่างไร อยากทำแต่ทำไม่ได้
ท่านพุทธทาส: นี่ก็เหมือนกับข้อที่แล้วมา คือทำไม่ถูกวิธีแล้วมันก็ไม่ว่าง ศึกษาให้พอตั้งใจให้พอแล้วไปทำให้ถูกวิธี
ถาม: จิตว่างคือไม่มีความรู้สึกสุขทุกข์ใช่หรือไม่
ท่านพุทธทาส: จิตว่างรู้สึกได้ทุกอย่าง รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกอะไรก็ได้ แต่ไม่มีผลแก่จิตใจที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความทุกข์ของเรา เป็นความสุขของเรา ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหว จึงไม่โยกโคลง จึงไม่เปลี่ยนแปลง หรือเรียกว่ามีจิตหลุดพ้นมีจิตเป็นอิสระเป็นจิตว่าง ขอย้ำอีกทีว่า ที่ว่าจิตว่างนั้นรู้สึกอะไรได้ คิดนึกอะไรได้ เฉลียวฉลาดที่สุดเพราะมันว่างจากสิ่งที่เป็นกิเลสที่ทำให้มืดมัว ที่ทำให้โง่ ที่ทำให้หลง ที่ทำให้หลับ ที่ทำให้ทื่อนี้ จิตว่างจึงรู้สึกได้ทุกอย่างทำได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่าง ล้วนแต่ไม่เป็นโทษ เป็นแต่คุณเท่านั้น
ถาม: คำว่า อตฺตา นาม จิตฺตํ แปลว่า จิตนั่นแหละ ชื่อว่าตัวตน กับคำว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ นี่จะเป็นที่พึ่งกันได้อย่างไร?
ท่านพุทธทาส: ก็ได้อธิบายชัดแล้วว่า อัตตาที่เป็นเจ้าทุกข์นั้น เป็นอัตตาของความหลงความไม่รู้จริงคือความยึดมั่นถือมั่น แล้วเป็นทุกข์ขึ้นมา การที่เป็นที่พึ่งได้นั้นหมายถึงอัตตาของธรรมะ มีธรรมะเป็นอัตตา เราไปเอาธรรมะมาเป็นอัตตา ตอนนี้ จิตนั่นแหละ คืออัตตา ก็หมายความว่าจิตนี้มันเปลี่ยนไปทางไหนก็ได้ เปลี่ยนไปทางยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ เป็นอัตตาปลอมก็ได้ จิตเปลี่ยนไปทางธรรมะเป็นจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เป็นอัตตาธรรมะ ควรแก่นามที่เรียกว่า อัตตา จริงโดยสมมติก็ได้ ก็เรียกว่าจิตตัง(นาทีที่ 1:47:50) จิต คือตัวตนนี้ มันไม่ได้ตายตัวว่ามันจะต้องเป็นอัตตา ที่ต้องทุกข์ไปเรื่อย หรือว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไปเรื่อย จิตเป็นเพียงจุดกลาง ศูนย์กลางหรือแกนกลาง มันจะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เข้ามาแวดล้อมหรือหุ้มห่อ ให้เป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นจิตได้นานาชนิดหลายสิบอย่าง
ถาม: ไม่เข้าใจเรื่องสันโดษซึ่งมีผู้ถาม เข้าใจว่าจะมีสันโดษนั้นจะต้องไม่มีอายตนะที่เป็นการกวนสันโดษ ถ้ามีเหตุมากวนใจก็มีสันโดษไม่ได้ใช่หรือไม่?
ท่านพุทธทาส: คำถามนี้ยังไม่ถูกกับเรื่องทั้งหมดเลย มันคนละเรื่อง สันโดษนี้มีความพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรม ตามธรรม หรือถูกธรรม ทำให้เรามีกำลังใจในการที่จะทำต่อไปอย่างยิ่ง คือทำให้เรามีความพักผ่อน หยุดสงบอยู่ได้ ในเมื่อต้องการจะพักผ่อนหรือหยุดสงบ ไม่ต้องมีอายตนะที่เป็นการกวนสันโดษนั้น ไม่เกี่ยวกัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านั้น มันไม่ได้กวนสันโดษได้ ถ้าเรารู้จักทำให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ได้มาตามธรรมนี้เป็นที่ตั้งของสันโดษได้ มีเหตุมากวนใจ มีสันโดษไม่ได้นี้มันคนละเรื่องกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีธรรมะสูง จะยังคงสันโดษอยู่ได้ในธรรมะ และไม่มีอะไรมากวนใจได้
ถาม: พิธีของทางราชการบางอย่างที่เอาศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นพิธีเปิดโรงกลั่นสุรา เปิดโรงฆ่าสัตว์ ผู้เป็นประธาน อ่านรายงานต่อหน้าพระสงฆ์และประชาชนว่า สามารถฆ่าวัวได้วันละเท่านี้ตัว ฆ่าหมูได้วันละเท่านี้ตัว เสร็จแล้วพระก็ให้ศีลว่า ปาณาติปาตา เวรมณี จะเป็นการสมควรหรือไม่อย่างไร จะเป็นมงคลหรือไม่
ท่านพุทธทาส: ตอบเองก็แล้วกันนะว่า คือว่า บางที ในที่บางแห่งหรือบางทีเรายึดถือกันแต่พิธีเท่านั้น ไม่ได้ยึดถือเหตุผล ไม่ได้ยึดถือหลักเกณฑ์ของธรรมะ อาตมาเคยกล่าววันแรกที่สุดของการบรรยายคือวันที่หนึ่ง ว่าพุทธศาสนาหรือธรรมะนี้ มีอยู่หลายรูป มีอยู่รูปหนึ่ง เรียกว่า Influenced Buddhism (นาทีที่ 1:50:40) คือพุทธศาสนาหรือวงการพระพุทธศาสนาที่ถูกอิทธิพลครอบงำแล้ว อย่างนี้มีช่องทางที่จะเกิดการสับสนอย่างนี้ขึ้นมาได้
ถาม: คำว่าครู ศัพท์เดิมแปลว่า คุรุ แปลว่าหนัก ทำไมจึงใช้กับคนที่มีหน้าที่ อย่างนี้ ว่าครู คือหมายความว่าเป็นผู้มีหน้าที่อันหนัก
ท่านพุทธทาส: คำนี้เป็นรูปของกรรมวาจก ผู้อันบุคคลพึงหนัก ผู้อันบุคคลพึงหนัก หมายความว่า อันบุคคล พึงรับรู้ พึงเอาใจใส่ พึงประพฤติต่อ ด้วยความหนัก คือความเคารพนั่นเอง คำว่าครูจึงมามีหน้าที่ที่เรียกว่าคนอื่นจะพึงหนัก ถ้าแปลให้เป็นรูปแบบ กรรตุวาจก เป็น Active Voice (นาทีที่ 1:51:45) ก็คือว่ามันหนักอยู่บนศีรษะคน คือว่าครูที่แท้จริงที่เป็นอุดมคตินั้น จะมีบุญคุณเท่าภูเขาอยู่เหนือศีรษะคนทุกคนในโลก เนี่ยลองจำไว้อย่างนี้เป็นไง ว่าครูที่เป็นครูที่แท้จริงนั้น ที่ทำหน้าที่ยกวิญญาณของคนในโลกให้สูงขึ้นได้จริงๆนั้น มีบุญคุณอย่างภูเขาทีเดียว อยู่เหนือศีรษะคนทุกคนในโลก เงินเดือนที่ครูได้รับนั้นเป็นขยะมูลฝอย เหมือนกับธูปเทียนที่จุดบูชาคุณ เท่านั้น
ถาม: พอเห็นว่าศิษย์ที่กตัญญู ย่อมสำคัญครูว่าเป็นปูชนียบุคคล ส่วนศิษย์บางคนที่อกตัญญูย่อมสำคัญครูว่าเป็นเหมือนเรือจ้าง อันนี้จะถูกหรือไม่
ท่านพุทธทาส: เนี่ยทุกคนคงจะเห็นว่าถูก ศิษย์ที่กตัญญูรู้คุณครู ควรจะเห็นครูเป็นปูชนียบุคคล ส่วนศิษย์ที่อกตัญญูจะเห็นว่าครูเป็นเหมือนเรือจ้างที่อาศัยพวกเราข้ามฟาก เขาจึงไม่เคารพครู ดูหมิ่นครู หรือถือเสมือนว่าผู้รับจ้างชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าผู้ถามเป็นครู ก็เลิกเป็นเรือจ้าง แสดงอาการของความไม่เป็นเรือจ้างนี้ให้ศิษย์เห็นอยู่ทุกเมื่อ ก็จะแก้ศิษย์ที่เป็นอกตัญญูนี้ ให้หมดไปจากวงการของการศึกษาได้เป็นแน่นอน เวลาก็หมดแล้ว