แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๘ นี้ อาตมาจะได้กล่าวถึง จริยธรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือ แท้ที่จริงธรรมะหรือจริยธรรมทั้งปวงย่อมเป็นเครื่องมือบำบัดความทุกข์ของโลกด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าธรรมะหรือจริยธรรมข้อไหน แต่ถ้าในวันนี้นั้น อาตมาอยากจะชี้ให้เห็นจริยธรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือของจริยธรรมด้วยกันอีกส่วนหนึ่งด้วย คือธรรมะประเภทหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือของธรรมะประเภทอื่น นี้ก็ต้องเรียกว่าเครื่องมือเหมือนกัน ที่ว่าจริยธรรมทั้งปวงเป็นเครื่องมือบำบัดทุกข์นั้น ควรจะทราบได้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้นำมาวินิจฉัยให้ฟัง ตั้งใจแต่จะวินิจฉัยจริยธรรมส่วนที่เป็นเครื่องมือของจริยธรรมอื่นที่สูงขึ้นไป หรือที่เป็นตัวการสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย
ในข้อแรก เราจะพิจารณาดูกันถึงคำว่าเครื่องมือ สิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือนี้สำคัญมาก สำคัญน้อยเพียงไรนี่ ขอให้สนใจเป็นพิเศษ คืออย่าให้ลำเอียงแก่สิ่งสิ่งนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า เครื่องมือนั่น ถ้าขาดเสียแล้วบางอย่างทำอะไรไม่ได้เลย เช่นว่าเราจะตัดไม้ จะเป็นไม้ต้นใหญ่หรือต้นเล็กก็ตามนี่ ถ้าไม่มีเครื่องมือจะตัดอย่างไร จะเอาฟันกัดหรือว่าจะทำยังไง หรือแม้ที่สุดแต่เรื่องของความเจริญที่เจริญขึ้นมาแล้ว ถึงขนาดที่มีรถ มีเรือ มีเรือบินใช้ ถ้าไม่มีเครื่องมือ สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นหมันลงในวันใดวันหนึ่ง นั้นขออย่าได้ตีค่าเครื่องมือนี้ว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยเลย มันจะสำคัญมากหรือสำคัญน้อยกว่าของจริงนั้นลองวินิจฉัยกันดูให้ดีๆ สิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือเหล่านั้น ถ้าไม่ถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นเครื่องมือแล้ว มันก็ไม่มีค่าอะไร คือเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่เป็นเครื่องมือ ต่อเมื่อนำมาใช้จริงๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์และก็เป็นเครื่องมือขึ้นมา แต่ถ้าใช้ไม่เป็นมันก็ไม่มีประโยชน์และเกิดความเสียหายขึ้นด้วย และถ้าใช้ผิดยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็กลายเป็นอันตราย เช่น ใช้เป็นอาวุธ เครื่องทำลายกันไปเลย ที่เราจะได้ยินได้ฟังว่า คนทะเลาะวิวาทและตีกันด้วยเครื่องมือ ซึ่งไม่ใช่อาวุธเลย แต่ก็ใช้เป็นอาวุธได้ ธรรมะนี้ก็เหมือนกับเครื่องมือนั้น ถ้าใช้ไม่เป็นก็บาดมือได้เหมือนกัน คือบาดบุคคลผู้นั้น ทำอันตรายบุคคลผู้นั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พรหมจรรย์ที่ลูบคลำไม่ดี ย่อมเป็นอันตรายแก่ภิกษุนั้นเหมือนหญ้าคาที่จับไม่ดีแล้วดึงมาย่อมบาดมือผู้จับนั้น นี้ขอให้เข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกกันว่าเครื่องมือ และรู้ว่ามีประโยชน์นี่ มันต้องใช้และใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก ใช้ให้ดี เราได้เห็นการใช้ธรรมะหรือจริยธรรมนี้ ในลักษณะอย่างไรบ้าง เราจะเห็นว่าส่วนมากมีการใช้ไปในทางแสวงหาประโยชน์อย่างอื่นซึ่งไม่ตรงตามความหมายของธรรมะเลย คือไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือนั่นเอง หรือจะเป็นเครื่องมือก็เป็นเครื่องมือที่ผิดทาง เช่นเอาไว้พูดกัน ไว้อวดกัน ไว้เถียงกัน ไว้ทะเลาะวิวาทกัน ด้วยอำนาจของธรรมะ ด้วยความรู้เรื่องธรรมะ อย่างนี้เรียกว่าใช้ผิดทาง ไม่ได้ใช้อย่างเครื่องมือ ก็เกิดความแตกแยก เกิดความผิดพร่องหมองใจกัน กลายเป็นอันตรายไปเสีย และกลับเป็นโทษแทนที่จะเป็นคุณ เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจให้ชัดเจนลงไปว่า จริยธรรมหรือธรรมะนี้จะต้องใช้ให้ถูกต้องในฐานะเป็นเครื่องมือโดยวิธีที่ถูกทางเสมอไป มิเช่นนั้นแล้วก็เป็นอันตรายเท่าๆ กันกับที่เป็นคุณ อยากจะยกตัวอย่างว่า แม้ว่าเราจะช่วยกันพยายามพิมพ์พระไตรปิฎกให้มากมายท่วมโลก และศาสนาไหนต่างก็พยายามพิมพ์พระไตรปิฎก คือพิมพ์พระคัมภีร์ของตนนั้น ออกให้ท่วมโลกไปหมด ทุก กันทุกศาสนา มันก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ยังไม่มีหวังว่าจะช่วยอะไรได้ เพราะว่ายังไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือ และอีกที่หนึ่งก็ใช้เป็นเครื่องมือผิดๆ โดยเรียนรู้มาก แล้วก็อวดกันด้วยความรู้ ทะเลาะวิวาทกัน ข่มขี่กัน ดูหมิ่นดูถูกกัน เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งว่า ธรรมะนี้เหมือนพ่วงแพสำหรับข้ามฝาก แต่สาวกบางพวกนั้นแทนที่จะใช้แพข้ามฟากนี่ กลับเอาไปขายเสีย เอาไม้ไผ่ไปขายเสีย หรือว่าชักไม้ไผ่เอามาหวดตีกันชุลมุนไปเลยอย่างนี้ นั้นอย่าประมาทว่ามีจริยธรรม หรือพิมพ์ตำรับตำราขึ้นไว้ให้เป็นหลักแล้วจะเป็นอันปลอดภัยหรือวางใจได้ ขอให้เข้าใจว่าพระไตรปิฎกนั้นจะต้องถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาและสำหรับปฏิบัติ ธรรมะจึงจะเกิดขึ้นเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดความทุกข์สืบไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะชักช้ารีรออยู่ไม่ได้และไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกที เพราะเหตุว่าโลกเรานี้หมุนเร็วยิ่งขึ้นทุกที แต่ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้บางท่านอาจจะนึกสงสัย บางท่านอาจจะนึกขบขัน หรือหัวเราะอยู่ในใจว่าโลกหมุนเร็วยิ่งขึ้นทุกที แต่อาตมายืนยันว่าโลกหมุนเร็วขึ้นทุกที ผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องโลกดี รู้เรื่องไอ้ก้อนโลกรกๆ นี้ดี คงจะยืนยันว่ามันก็ยังหมุนรอบ ๒๔ ชั่วโมง รอบ ๒๘ วัน ๓๖๕ วันอะไรของมันเท่าเดิม นั่นก็จริง นั้นก็ถูก เพราะว่าเค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ทางวัตถุ เค้าจึงรู้ว่ามันยังคงที่อยู่ หมุนคงที่อยู่ นี้เราไปดูในหัวใจของพวกนักการเมืองหรือพวกนักสงครามหรือนักเศรษฐกิจอะไรดู เราจะเห็นว่าใจของเค้ากำลังร้อนเป็นไฟ ค่าที่สิ่งต่างๆ มันไปเร็ว เปลี่ยนแปลงไปเร็ว จนเค้าทำไม่ทัน วันหนึ่งคืนหนึ่งกลับมีเวลาน้อยมาก ที่ให้เค้าทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ทันเวลา ราวกับวันหนึ่งมีสัก ๑๕ ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง นี้ในทางธรรมะนั้น ท่านสอนให้รู้สึกว่าความทุกข์ที่เกิดมาจากความแก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อะไรทำนองนี้ บีบคั้น รบเร้าหนักขึ้น ตามที่เราได้อยู่ในโลกมานานพอที่จะรู้จักสิ่งต่างๆ กว้างขวางจนมีความอยาก มีความทะเยอทะยาน ความหลงใหลมากขึ้นตามอายุ นี่ขอให้เข้าใจว่าถ้าเรามองกันในทางวัตถุ หรือทางรูปธรรมแล้ว โลกก็ยังหมุนอยู่เท่าเดิม แต่ถ้ามองกันในทางวิญญาณแล้ว โลกนี้หมุนเร็วยิ่งขึ้นทุกที ท่านทั้งหลายกำลังรู้สึกว่าขาดแคลนอยู่อะไรมากมาย ขาดแคลนอะไรอยู่มากมายทีเดียว และกำลังมากมายยิ่งขึ้น คือไม่เพียงพอแก่ความต้องการยิ่งขึ้น ยังมีสิ่งที่จะต้องรู้ ต้องทำ ต้องแก้ปัญหา ต้องสะสางต่างๆ มากขึ้นอย่างนี้ นี้เรียกว่าเป็นเรื่องที่มองให้เห็นชัดในทางวิญญาณว่าโลกนี้มันยิ่งหมุนเร็วขึ้นอย่างไร ถ้าเรามัวมัวมองกันแต่วัตถุ เราไม่อาจจะเข้าใจธรรมะหรือจริยธรรมได้ ถ้าเรารู้จักมองใจทางวิญญาณ ในทางด้านลึก ของจิตใจ เราอาจจะได้ความเข้าใจที่ถูกต้องกว่า ที่มีประโยชน์แก่เรื่องการดับทุกข์ของเราเร็วยิ่งกว่า สมมุติว่าเราจะมองไก่ตีกัน แมวกัดกัน สุนัขกัดกันนี้ เราก็เฉยๆ ไม่เห็นมีอะไร เห็นว่ามันผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันก็กัดกัน แต่ทีคนกัดกันเนี่ย ทำไมถึงไม่เห็นอย่างนั้นบ้าง นี่เพราะเราไปมองด้านวิญญาณและด้านลึก ด้านจิตใจ พวกนักการเมืองในประเทศกัดกันนี่ระหว่างกลุ่ม หรือประเทศ ระหว่างประเทศกัดกันนี่ หรือว่าค่ายระหว่างค่ายหลายๆ ประเทศรวมกันแล้วกัดกันเนี่ย ทำไมเราจึงไม่รู้สึกเฉยๆ เหมือนกับที่สนุขกัดกัน ไก่ตีกันอย่างนี้บ้าง นี้เพราะเรามองในด้านวิญญาณสูงขึ้นไปนั่นเอง แต่ก็น่าแปลกที่ว่าทำไมเราจึงไม่รู้สึกที่มันเหมือนกับอีกอย่างหนึ่ง แล้วเกลียดมันเท่าๆ กัน คือในข้อที่ว่า ต่างก็ลุ่มหลงในวัตถุนิยมด้วยกันทั้งนั้นจึงได้กัดกัน จะเป็นสุนัขกัดกัน หรือแมวกัดกัน หรือไก่ตีกัน มันก็เรื่องวัตถุนิยมเป็นมูลเหตุ ที่คนรบกัน ทำสงครามยืดเยื้อต่อกันนี้ ก็เรื่องวัตถุนิยมเป็นต้นเหตุ จึงแปลกอยู่ที่ว่าทำไมจึงไม่เกลียดวัตถุนิยมที่คนหลงใหล แล้วไปนึกดูหมิ่นดูถูกไก่ สุนัขกัดกัน อย่างนี้เป็นต้น นั้นขอให้เรารู้จักมองในด้านลึก คือด้านจิต หรือด้านวิญญาณ ยิ่งขึ้นไปจนเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องมีเครื่องมือ ในการที่จะกำจัดภัย อันตรายของวัตถุนิยม ซึ่งเป็นมูลเหตุของการกัดกันนี่ ขออภัยที่จะใช้คำง่ายๆ ตรงๆ นี้เพื่อประหยัดเวลา เพราะแสดงความหมายได้ดีกว่า ถ้าเราพยายามมองให้ละเอียดด้วยสติปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็จะมองเห็นได้ชัดทีเดียวว่าธรรมะหรือจริยธรรมนี้เป็นเครื่องมืออย่างวิเศษ ที่จะควบคุมวัตถุ ที่จะเป็นพิษขึ้นมาคือวัตถุนิยมนั่นเอง และโดยทั่วๆ ไปจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอ คือจริยธรรม ถ้าเป็น เป็นจริยธรรมแท้แล้ว ไม่ว่าของศาสนาไหนจะต้องทำหน้าที่อย่างนี้ทั้งนั้น แต่แล้วมันก็มีปัญหาอย่างที่ว่ามาแล้ว เพราะต่างคนต่างฝ่ายกลับหันหลังให้ศาสนาของตนหรือบางพวกถึงกับไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศาสนาเอาเสียเลย พวกที่มีศาสนาก็เฉยเมยหรือหันหลังให้ศาสนาของตน เล่นตลกหรือแก้ตัวได้ต่างๆ นานาในปัญหาที่เป็นเกี่ยวกับศาสนา นั้นบาปกรรมจึงเกิดขึ้นเป็นส่วนรวม ทำให้โลกเราประสบวิกฤตการณ์ถาวรอยู่เรื่อย เพราะว่าเราไม่ใช้ศาสนา หรือธรรมะ หรือจริยธรรม เป็นเครื่องมือให้ถูกวิธีดังที่กล่าวแล้ว นั้นจึงหวังว่าท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะได้พยายามมองดูในแง่นี้ ให้เห็นความสำคัญที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมนั้น แล้วนำไปใช้ให้เต็มที่ของความหมายของเครื่องมือ ทีนี้อาตมาอยากจะแนะให้พิจารณาเป็นพิเศษลงไปในข้อที่ว่า ธรรมะหรือจริยธรรมบางอย่างบางประเภทนั้นเป็นเครื่องมือของจริยธรรมประเภทอื่นที่ยิ่งขึ้นไปหรือสูงขึ้นไป สรุปความก็คือว่าธรรมะก็เป็นเครื่องมือให้แก่ธรรมะได้เหมือนกัน เมื่อธรรมะทั้งหมดเป็นเครื่องมือ ได้โดยสมบูรณ์แล้วมันก็บำบัดความทุกข์ของโลกเราได้ นี้ปัญหายากมันมีอยู่ที่ว่า การปฏิบัติธรรมะในขึ้นสูงหรือขั้นลึกนั้นมันยาก แต่เราจะแก้ได้ด้วยการมีธรรมะประเภทหนึ่งเป็นเครื่องมือแก้ไขความยากนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอน หรือทรงแนะธรรมะอีกประเภทหนึ่งในฐานะที่เป็นเครื่องมือ เช่น ธรรมะหมวดที่เรียกว่า อิทธิบาท เป็นต้น มันก็เป็นธรรมะประเภทเครื่องมือสำหรับให้ปฏิบัติธรรมะที่ยาก เช่น โพชฌงค์ เป็นต้น ให้สำเร็จไปได้โดยง่ายดังนี้ นั้นขอให้สนใจให้ดีๆ โดยเราจะตั้งต้นดูไปจากสิ่งที่เรารู้จักดีกว่า คือ การศึกษา ๔ ประเภท ซึ่งท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายช่ำชองดี เราได้ยินอยู่แล้วว่า พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา เรามองดูความหมายของสิ่งทั้ง ๔ นี้ให้ประจักษ์ เราจะพบว่า พุทธิศึกษา หมายถึง ความรู้ดี จริยศึกษา หมายถึง ความประพฤติดี พลศึกษา หมายถึง มีกำลังวังชาดี หัตถศึกษา หมายถึง มีปัจจัยเครื่องยังชีวิตนี้ดี มันไม่ซ้ำกันเลย แต่ดูให้ดีอีกทีหนึ่งว่า แต่ละอย่างละอย่าง นั้นมันไปได้ตามลำพังรึเปล่า ถ้าดูให้ดีแล้วเห็นว่าจะต้องอาศัยกันทั้งนั้น นั่นน่ะคือความที่ มันเป็นเครื่องมือให้แก่กันและกัน แม้ว่าทุกอย่าง แม้ว่าแต่ละอย่าง ละอย่าง ทุกอย่างนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดความทุกข์ กำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอยู่ได้ในตัวมันเองก็ตาม แต่พร้อมกันนั้นต่างก็เป็นเครื่องมือแก่กันและกัน นั้นจึงอย่าขอร้องว่าอย่ามองข้ามส่วนนี้เสีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ทำไมจึงว่าสำคัญ เพราะว่าถ้าท่านทั้งหลายไม่ใช้สิ่งทั้ง ๔ นี้ให้เป็นเครื่องมือแก่กันและกันแล้ว อาจจะล้มเหลวไปหมดก็ได้ หรือได้ผลแต่น้อยที่สุด บางยุคบางสมัยนึกถึงกันแต่เรื่อง พุทธิศึกษา หรือวิชาความรู้ ผลก็เกิดเสียหายมากมายจนเห็นค่าของจริยศึกษาขึ้นมา ที่นี้มาพบต่อไปว่าถ้าสนใจแต่เรื่องความรู้และจริยศึกษา ถ้าอนามัยทางกายและทางจิตไม่ดี ก็ไปไม่ไหวอีกเหมือนกัน นั้นจึงเกิดมีพละศึกษาหรือการศึกษาประเภทนี้ขึ้นมา นี้ต่อมาพบว่าถ้าเค้าไม่คล่องแคล่วในการใช้มือใช้เท้า ใช้อวัยวะให้คล่องแคล่วในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ ก็ไปไม่ไหวอีกเหมือนกัน จะเอากำลังกายมาจากไหน มันจะมีปัญหายุ่งยากไปหมด จึงอาศัยการฝึกฝนกำลังกาย เครื่องอวัยวะ เครื่องที่จะใช้นี้ ให้ดีขึ้นอีกส่วนหนึ่งเพื่อเป็นความเฉลียวฉลาดด้วย เพื่อเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพด้วย เราจึงมีขึ้นมาครบทั้ง ๔ นี้เรียกว่าเป็นเครื่องมือแก่กันและกัน อย่างที่จะขาดเสียไม่ได้ และเมื่อเป็นเครื่องมือแก่กันและกันแล้ว มันก็แน่นแฟ้นมั่นคงถึงที่สุดด้วยกัน แล้วไปใช้เป็นเครื่องมือบำบัดทุกข์ได้ดี ได้จริง ได้ตลอดชีวิต ของบุคคล คนนั้นไป นั้นขอให้สนใจธรรมะในฐานะที่มีลักษณะเป็นเครื่องมือ มีหน้าที่เป็นเครื่องมือ และใช้ให้ถูกต้องนี้เป็นอย่างมาก ทีนี้เราจะดูกันให้ละเอียดต่อไปว่า สิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือที่แท้จริง และถึงที่สุดอย่างนี้นั้น เราไปใช้เพื่อทำอะไรกัน ในการที่ว่าเพื่อบำบัดทุกข์นั้น หมายถึงทำอะไร และส่วนใหญ่ที่สุด ที่เป็นพื้นฐานที่สุดนั้น หมายถึงใช้เพื่อทำอะไร เพื่อความรู้รอบครอบของท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาอยากจะแนะสิ่งที่เป็นศัตรูพื้นฐานที่สุดของมนุษย์เรา ศัตรูนี้เราจะเรียกว่าธรรมชาติก็ได้ มันถูกอยู่มากมาย อย่างมากมาย คือธรรมชาติที่ไม่อำนวยสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ของเรานั่นเอง เราจะต้องต่อสู้มันเอาชนะมันให้ได้ เช่นธรรมชาติแห่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมชาติแห่งความที่สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เราจึงต้องบังคับหรือต่อสู้ หรือจัดหรือทำมันให้ได้เพียงพอแก่ที่เราต้องการ และที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือไม่ให้มันเป็นทุกข์ขึ้นมาได้ ไม่ให้ทำความทุกข์แก่เราได้ ก็เอาเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เหนือนอกนั้นก็ตามใจธรรมชาติเถอะ จะเป็นไปอย่างไรก็สุดแท้ ปัญหาส่วนลึกนั้นมันอยู่ที่ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราจึงถือว่ามันเป็นเหมือนกับที่เค้าเรียกกันว่าบาปดั้งเดิม หรือ Original Sin ในฝ่ายคริสเตียน ที่เค้าถือว่าอดัมกับอีฟได้ทำผิดตั้งแต่วันแรก แรกที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลก แล้วความผิดของอดัมกับอีฟ ถือเป็น Original Sin ของมนุษย์ทั้งหมด ตกทอดมาถึงลูกหลานสมัยนี้ที่ต้องทุกข์ยากลำบากอย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะต้องพึ่งพระเจ้า พึ่งพาพระเป็นเจ้าอยู่เรื่อย เพราะไอ้บาปดั้งเดิมนั้นยังไม่ขาดตอน ยังมีมาถึงยุคนี้ นี่อย่างนี้ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ที่รบเร้าส่งปัญหาถามมากมายหลายท่านว่า ขอให้เปรียบเทียบ ขอให้ยกตัวอย่าง ขอให้อุปมานี้ อาตมาก็กำลังอุปมา และขอให้ฟังให้ดีก็แล้วกัน ว่าในฝ่ายพุทธเรานี้ พุทธศาสนาเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า Original Sin บาปดั้งเดิมนี้เหมือนกัน แต่ถ้ามองไม่เห็นก็กลับหัวเราะเยาะว่าบาปมันก็เป็นคริสเตียนไป ที่จริงมันก็ไม่ใช่ ไม่ว่ามนุษย์คนไหน ล้วนนี้จะมีภาวะที่เรียกว่าบาปดั้งเดิมนี้ รบกวนกันอยู่ทั้งนั้น คือความโง่ ความหลง หรืออวิชชาที่เป็นเหตุให้ทำอะไรผิดพลาดอยู่ด้วยกันทั้งนั้น อาตมาอยากจะเล่านิทานอีกจะดีกว่า ไม่เสียเวลามากนัก เพราะว่ามันแสดงได้ในตัวมันเอง นิทานที่ชอบเล่าเรื่อง Original Sin นี้ เล่าว่าเมื่อพระเจ้าต้องการสร้างโลกขึ้นมาใหม่ๆ นี้ พระเจ้าเห็นว่าสร้างโลกขึ้นมาเสร็จแล้ว ว่างเปล่าอยู่ไม่มีอะไรนี้ ไม่ได้ความ ไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ด้วยความหวังว่าเพื่อทำโลกนี้ให้มีประโยชน์ นี่โปรดช่วยจำว่า ช่วยกำหนดจดจำให้แม่นยำว่า สร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้เพื่อให้โลก (นาทีที่ 23.48.4) นี้มีประโยชน์ อย่าเป็นดินเปล่าๆ เป็นโลกเปล่าๆ ที่มนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นมานี้ มันไม่รู้แม้แต่ตัวมันเองนี่ เหมือนกับเด็กๆ คลอดออกมาจากท้องแม่นี่ มันไม่รู้จักแม้แต่ตัวมันเองว่าเป็นอะไรนี่บาปดั้งเดิมมีอย่างนี้ มันไม่รู้จักว่าตัวมันเองคืออะไร ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมาหยกๆ ใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เป็นคนแรกในโลก ก็งง จนถึงจะต้องถามพระเจ้านั่นน่ะว่านี่ฉันเป็นใคร พระเจ้าบอกว่าแกเป็นคน ฉันก็งงอยู่นี่ เป็นคนเป็นทำไม ก็เป็นเพื่อทำให้โลกนี้มีค่า มีประโยชน์หรือมีความงดงามน่าอยู่น่าดูขึ้น แล้วถามว่าจะให้อยู่นานเท่าไร ต้องทำอะไรมากน้อยเท่าไรนี้ พระเจ้าบอกว่าให้อยู่ ๓๐ ปี ทำประโยชน์ในโลกนี้ ๓๐ ปี แล้วปล่อยให้มนุษย์นั้นทำไป นี้พระเจ้าเห็นว่า ถ้ามนุษย์ไม่เป็นสัตว์ที่เป็นเครื่องมือ เพราะเครื่องมือนี่สำคัญ แล้วมนุษย์จะทำมาหากินอย่างไรได้ จึงได้สัตว์ประเภท สร้างสัตว์ประเภทวัว ควาย ที่จะเป็นเครื่องมือทำนา เลี้ยงชีวิตนี่ ทำกสิกรรม เกษตรกรรมต่างๆ ขึ้นมา วัวก็ถามพระเป็นเจ้าด้วยความงงเหมือนกับที่มนุษย์เคยถามนี่ ว่าฉันเป็นอะไร ว่าแกเป็นวัว เป็นทำไม เป็นเครื่องมือให้มนุษย์ทำกิน ทำนา ไถนา แล้วทำนานเท่าไร ทำกี่มากน้อย ก็บอกว่า ๓๐ ปี นี้วัวเอาปัญญาจากไหนมาจากไหนก็ไม่ทราบ หรือจะต่อมาก็ได้ มันค้านว่า ๓๐ ปีนี่นานเกินไปสำหรับทำงานหนัก ไม่ยุติธรรมควรจะให้อยู่น้อยกว่านั้น พระเจ้าก็เห็นจริงก็เอออวยด้วย ว่าวัวนี้ไม่ต้องอยู่ถึง ๓๐ ปี คือไม่ต้องทนทำงานนานถึง ๓๐ ปี มีอายุเพียงสักประมาณ ๑๐ ปีก็แล้วกัน เนี่ยคิดดูสิว่าแม้แต่วัวก็ยังรู้จักว่ามันมากเกินไป มันทนทุกข์ทรมานมากเกินไปนั่นน่ะไม่ไหว แต่มนุษย์ไม่เห็นพูดอะไรสักคำ ๓๐ ปี ก็ ๓๐ ปี มิหนำซ้ำมนุษย์นี้ค่อยยอบ ค่อยคลานเข้ามาหาพระเป็นเจ้า แล้วก็ขอร้องวิงวอนอย่างยิ่งว่า ๒๐ ปีที่ลดให้วัวนั้นนะ ขอให้ท่านเอาเพิ่มให้แก่คนเถอะ พระเป็นเจ้าเกลียดน้ำหน้าคนที่ตะกละหรือละโมบ ไม่รู้ว่าจะลงโทษอย่างไรดี ให้สาสมกัน แต่แล้วก็พบว่าไอ้ที่เพิ่มให้มันอีก ๒๐ ปีนั่นแหละเป็นการลงโทษที่สาสมกัน คือให้มันได้ของวัวไป ๒๐ ปีเอาไปบวกให้มนุษย์เป็น ๕๐ ปีให้มีอายุอยู่ได้ ๕๐ ปี นี้ต่อมาพระเจ้าเห็นว่ามนุษย์ยังไม่มีสัตว์ประเภทช่วยอารักขา ไม่มีเครื่องมือสำหรับการอารักขา จึงได้สร้างสัตว์ประเภทสุนัขเฝ้าบ้านขึ้น ช่วยมนุษย์ในการอารักขา สุนัขก็งงเหมือนอย่างที่มีมาแล้วจึงถามพระเจ้าว่าฉันเป็นอะไร พระเจ้าบอกว่าเป็นสุนัข เป็นทำไม ก็ช่วยเฝ้าทรัพย์เค้า อย่าหลับอย่านอนเสีย เป็นนานเท่าไร ๓๐ ปี พระเจ้าเอาเกณฑ์ ๓๐ ปีมาใช้ สุนัขมานึกดูว่าอดนอนตั้ง ๓๐ ปีนี่ ไม่สนุกไม่ยุติธรรม อ้างเหตุผลต่างๆ นานาให้ลด พระเป็นเจ้าก็ต้องลด ด้วยความเห็นใจ ก็คือลดให้ ๒๐ ปีอีก ก็สัตว์ประเภทสุนัขนี่มีอายุอยู่ประมาณ ๑๐ ปีโดยประมาณก็แล้วกัน ก็เลยตกลงกันได้ เลยเป็นว่าสุนัขมีอายุประมาณเหล่านั้น นี่คนนี่อุตส่าห์แข็งใจ ยอบ คลานเข้ามา พินอบพิเทา กระเซ้าพระเป็นเจ้าอีกว่า ที่ลดให้สุนัข ๒๐ ปีนี้ ได้กรุณาโปรดเอามาเพิ่มให้กับคนเถอะ นี่พระเป็นเจ้ายิ่งโมโหหนักขึ้นกว่าทีแรก คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันสาสมกับมนุษย์นี้สักที แต่แล้วก็ไม่พบวิธีไหนดีกว่าที่จะต้องเพิ่มให้มันอีก นั้นก็เพิ่มให้มันอีก คือยอมให้มันตามที่ต้องการอีก ๒๐ ปี เป็นว่าคนนี่ก็ได้ของสุนัขมาอีก ๒๐ ปี รวมเป็น ๗๐ ปีแล้ว ทีนี้ต่อมาพระเจ้าเห็นว่าสัตว์ที่เป็นเครื่องบันเทิงเริงรื่นของมนุษย์นี้ยังไม่มี คือเครื่องมือให้หัวเราะนี้ยังไม่มี มนุษย์ไม่ได้หัวเราะเดี๋ยวก็เป็นโรคอะไรบางอย่าง ตายไป ปอดไม่แข็งแรง นั้นจึงได้สร้างสัตว์ที่ช่วยให้เกิดการหัวเราะ ก็คือลิง เป็นต้น พระเจ้าสร้างลิงมันขึ้นมาแล้ว ก็เหมือนกันอีก ก็คือลิงมันก็งง ก็ถามว่าเป็นอะไร ว่าเป็นลิง เป็นทำไม ช่วยให้คนได้หัวเราะ ให้อยู่กี่ปี ก็ ๓๐ ปีอีก นี้ลิงก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานาว่างานนี้หนักมาก เป็นงานศิลปะที่หนักมากให้ลดจนได้ ก็ลดให้ ๒๐ ปีอีกเหมือนกัน กฎเกณฑ์ ๒๐ ปีนี้ใช้ได้เรื่อย ก็เป็นอันว่าลิงนี้มีอายุอยู่ ๑๐ ปีโดยประมาณ ๒๐ ปีลดให้ ไม่ต้องทนอยู่ มนุษย์ก็แข็งใจยอบคลานเข้ามาพินอบพิเทา กระเซ้ากระซี้ถึงที่สุด ว่าแม้ที่ลดให้ลิง ๒๐ ปีก็เพิ่มให้แก่มนุษย์เถอะ พระเป็นเจ้าโมโห ๓ เท่า แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยลงโทษมันให้สาสมกันด้วยการเพิ่มชนิดของลิงนี้ให้ไปอีก ๒๐ ปี นี่แล้วก็ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามที่ตกลงกันอย่างที่ ไม่แก้ ไม่แก้ไข ไม่ยอมแก้ไข อย่างนี้ท่านทั้งหลายลองคิดดูทีเถอะว่า มันจะจัดเป็นบาปดั้งเดิมหรือออริ Original Sin ของมนุษย์ได้หรือไม่ เรียกชื่ออย่างเดียวกันกับของคริสเตียนได้หรือไม่ อาตมาเห็นว่าตรงกันแท้ คือมนุษย์คนแรก คนดั้งเดิมนั่นน่ะ ได้ทำผิดอย่างนี้ แล้วตกทอดมาถึงลูกหลาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อมนุษย์นั้นได้เกิดมาแล้วมีอายุ ๓๐ ปีนั้น มันพอดูได้ คนเราอายุตั้งแต่ ๑ ปีถึง ๓๐ ปีนี้ มันสวยสดงดงามพอดูได้ เกิดมาก็เจริญวัยแล้วก็สวยขึ้นทุกที แข็งแรงขึ้นทุกที น่าดูยิ่งขึ้นทุกที นี้พอจะเรียกว่ามนุษย์ได้ เข้ารูปเข้ารอยกันดีกับที่จะทำให้โลกนี้งดงาม ไม่ ไม่รกร้าง ว่างเปล่า แต่นี้พอมนุษย์มีอายุเลย ๓๐ ปี ไปจนถึง ๕๐ ปีนี้ ก็มีอาการเป็นมนุษย์วัวขึ้นมาทีเดียว คือต้องเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ต้องลากแอกลากไถ คือภาระต่างๆ นานาที่สุมทับอยู่บนบ่า ภาระส่วนตัว ภาระครอบครัว ภาระประเทศชาติ ภาระทุกสิ่งทุกอย่างนั่น มันจึงมีลักษณะเหมือนกับวัวที่ลากไถอยู่กลางนา จนบ่าถลอกปอกเปิกนี้ นี่ทุกคนเป็นมนุษย์วัวในระยะนี้ นี้ต่อมาก็ถึง ๗๐ ปี ๕๐ ปีถึง ๗๐ ปีตอนนี้มนุษย์เอาของสุนัขมาก็เลยต้องเป็นมนุษย์สุนัข คือนอนหลับยาก คนที่อายุถึงขนาดนี้ นอนหลับยากมาก นึกถึงลูกถึงหลานที่ไปเรียนอยู่อเมริกาบ้าง ที่ไหนบ้าง แม้แต่กระทั่งว่าประตูปิดแล้วรึยัง หน้าต่างปิดแล้วรึยัง เงินในธนาคารเป็นยังไงบ้างนี่ มันนอนไม่ค่อยจะหลับหรือนอนไม่หลับเลย น่ะเป็นมนุษย์สุนัขไป ถึง ๗๐ ปี ทีหลังจาก ๗๐ ปีถึง ๙๐ ปีที่ไปเอาของลิงมานั้นน่ะ ก็คือคนแก่ๆ แสดงอาการปั้มเป๋อให้ลูกหลานเหลนหัวเราะเฮฮา สวนเสกันไปตามเรื่อง กินแล้วว่าไม่ได้กินอย่างนี้ มีอะไรต่างๆ นานา แม้แต่หน้าตาหัวหู ก็ดูน่าหัวเราะไปหมด นี่เพราะไปเอาของลิงมา ๒๐ ปี ที่ว่าบาปดั้งเดิมนี้ คิดดูตรงนี้ก็แล้วกันว่าใครทำให้ ใครทำให้ พระเจ้าไม่ได้ทำให้ พระเจ้าเสียอีกไม่ปรารถนาให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่ามนุษย์เอง คะยั้นคะยอ ไปบีบคั้นเอามาจากพระเป็นเจ้า ทีละ ๒๐ ปี ทีละ ๒๐ ปีทั้งที่เป็นของวัวก็ไม่รังเกียจ ทั้งที่เป็นของสุนัขก็ไม่รังเกียจ ทั้งที่เป็นของลิงก็ไม่รังเกียจนี่ ดูความตะกละของมนุษย์นี่ ที่บาปกรรมอันนี้ ยังติดอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดู ถ้าครูบาอาจารย์จะไปหัด Make up เล่านิทานอย่างนี้ให้เด็กฟังได้ทุกข้อของธรรมะละก็ การเรียนจริยธรรมจะสนุกสนานมาก แต่ดูเหมือนว่าท่านไม่สนใจ ท่านอยู่หน้ากระจกแต่งตัวเสียมากกว่า ไปร้านเสริมสวยเสียมากกว่า ที่เป็นผู้ชายก็เป็นไก่แจ้ หรือเป็นนกยูงลำแพนเสียมากกว่านี่ นั้นความคิดความนึกที่จะนึกอะไรให้ลึกซึ้งถึงกับเอาชนะลูกเด็กๆ ของเราได้นี้ จึงไม่ค่อยจะมี นี้ชาวบ้านเค้าว่ากันอาตมาเอามาเล่าให้ฟัง เพื่อว่าถ้าอย่างไรเราจะสนใจ แต่ที่จะทำบทเรียนจริยธรรมนี้ ให้สนุกสนาน แล้วการเปรียบเทียบอุทาหรณ์ โดยที่ใดที่หนึ่ง อย่างที่ได้พยายามยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้วหลายเรื่องหลายราวตั้งแต่วันก่อนๆ มานี่ ให้เค้ารู้สึกว่าตามธรรมชาตินั้น เรามีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างนี้บังคับอยู่ เช่นว่าเราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จะต้องเป็นไปด้วยอวิชชา ความโง่ ความหลง ดั้งเดิมที่ไปเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไปรับเอาสิ่งที่ไม่ควรรับมาเป็นของตัว อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็จะเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งขึ้นมาทันทีอย่างหนึ่งว่า แหมนี้ต้องหาเครื่องมืออะไรมาใช้ทำลายสัญญาผูกมัดกับพระเป็นเจ้านี้เสียที ชำระบาปดั้งเดิมนี้ให้สิ้นไปเสียที นี้เป็นเหตุให้เราต้องระลึกนึกถึงการที่จะแสวงหาเครื่องมืออันประเสริฐ วิเศษที่สุด ของพระพุทธเจ้าที่มีไว้ให้แก่เรา ซึ่งถ้าเราสามารถเอามาใช้แล้วมันจะทำลายไอ้ข้อผูกมัดหรือฉีกสัญญาระหว่างเรากับพระเป็นเจ้าเสียได้ แม้ Original Sin ชนิดไหนของศาสนาไหนก็ตาม กล้าท้าว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ ที่เป็นสากลที่สุดเหมือนกับที่อธิบายให้ฟังแล้วตั้งแต่เมื่อวันก่อนนี้ จะสามารถทำลายบาปดั้งเดิมที่ผูกมัดเป็นสัญญานั้นได้โดยเด็ดขาด หมายความว่ามนุษย์ตอนที่หนุ่มๆ นี่ มีความสวยสดงดงามดี ก็พยายามให้ดีอย่างยิ่ง คือให้งามทั้งร่างกาย ให้งามทั้งทรัพย์สมบัติ ให้งามทั้งวิชชาความรู้ ให้งามทั้งความประพฤติ อย่างนี้มันก็งามหมดจริงๆ เหมือนกัน เป็นหนุ่มสาวที่งดงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือจริยธรรมอันงามโดยจริยธรรมนั้นแหละเป็นสิ่งสูงสุด บอกแล้วว่าเรางามกันได้ถึง ๓๐ ปี ทีพอมาถึงตอนที่จะมาเป็นมนุษย์วัวนี่ เราอาศัยธรรมะเรื่องว่างจากตัวตน เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น ที่จะทำจิตใจให้ไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกเบื่อ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์แต่ประการใดเลย ที่ได้อธิบายยืดยาวแล้วนั้นน่ะ มาใช้เป็นเครื่องมือ ก็จะไม่รู้สึกเหมือนกับลากแอกอยู่กลางทุ่งนา ลากเกวียนอยู่ตามท้องถนนเหมือนวัว คือไม่ต้องเป็นวัวนั่นเอง ธรรมะนั้นจะเป็นเครื่องมือให้มากถึงอย่างนั้น ขอให้ไปพิจารณาดูดังที่กล่าวมาแล้วหลายวันนั้นเถอะ แม้ว่าจะต้องอยู่มาถึงเป็นมนุษย์สุนัข นอนไม่หลับอย่างที่ว่านั้น ถ้ามีธรรมะเรื่องความว่างจากตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งปวงเข้ามาใช้ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว จะนอนหลับ นอนหลับโดยไม่ต้องกินยานอนหลับ จะหลับอย่างสบายยิ่งขึ้นทุกที ทุกอย่างเป็นไปถูกต้อง ไม่มีผิดพลาด ก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีนี่เอง นี่ไม่ต้องเป็นมนุษย์สุนัขเลย แม้จะอยู่ไปจนแก่เฒ่าก็ไม่หลงไม่ลืม ไม่ฟั่นไม่เฟือน ไม่ปั้มเป๋อ เพราะว่าได้สามารถฝึกฝนระเบียบปฏิบัติ เช่น อานาปานสติภาวนา เป็นต้น คือกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมนั่นน่ะมาเป็นอย่างดี แต่ขอยืนยันอานาปานสติว่าดีกว่าอย่างอื่น เมื่อฝึกอยู่เป็นนิสัยก็ไม่มีความเลอะเลือน ฟั่นเฟือน เหมือนกับที่คนแก่ตามธรรมดาเป็นกัน จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะดั่งที่ฝึกอยู่เป็นประจำนั้น จนกระทั่งวาระสุดท้ายทีเดียว นี่ก็คือไม่ต้องเป็นมนุษย์สุนัข ไม่ต้องเป็นมนุษย์วานรนั่นเอง ไม่ต้องปั้มเป๋อให้ใครหัวเราะเยาะ นี่เครื่องมือนี้จะวิเศษไหม จะวิเศษสักกี่มากน้อยขอให้ลองคิดดู จำเป็นแก่ชีวิตคนเราอย่างยิ่งไหม นั้นขอให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายได้สนใจ ได้พิจารณาให้ลึกซึ้งจนถึงกับว่า จริยธรรมหรือธรรมะนี้ช่างเป็นเครื่องมือเสียจริงๆ เป็นเครื่องมืออย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือทั้งทางร่างกายและทางฝ่ายวิญญาณ ทางฝ่ายร่างกายก็เอาชนะได้ กินความไปถึงวัตถุภายนอก ทั้งทรัพย์สมบัติ อำนาจ วาสนาด้วย ไม่มีอะไรเป็นพิษเป็นโทษขึ้นมาได้เลย แล้วทางฝ่ายวิญญาณนั้นเล่า ก็มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งรบกวนของธรรมชาติ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวเปรียบในนิทานเรื่องบาปดั้งเดิมนั้น นั้นจึงเห็นว่ามันเพียงพอกันแล้ว สมควรกันแล้วที่เราจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อธรรมะ จะเพื่อศึกษาธรรมะก็ตาม เพื่อปฏิบัติธรรมะก็ตาม เพื่อเผยแผ่ธรรมะหรือสั่งสอนก็ตาม นี่เราจะมีหน้าที่ที่ต้องประพฤติต่อจริยธรรมหรือจริยศึกษาโดยเฉพาะนี่ เป็นอย่างนี้หรือถึงขนาดนี้ทีเดียว แล้วสิ่งต่างๆ ก็จะไม่มีปัญหา จะไม่มีปัญหามากหรือยุ่งยาก หยุมหยิม ดังปัญหามากมายที่อาตมาได้รับ อาตมาขอตอบอย่างนี้ทีก่อน จะว่าเอาเปรียบก็สุดแท้ แต่ที่จริงก็ไม่ใช่เอาเปรียบเลย ความจริงมีอยู่อย่างนั้น คือตอบเป็นส่วนรวมเป็นประเด็นใหญ่อย่างนี้เสียทีก่อน แล้วจึงค่อยตอบโดยปลีกย่อยเฉพาะราย เพราะปัญหาต่างๆ จะหมดไป ถ้าเราสนใจจริยธรรมนี้ให้สมกับค่าของมันว่ามีมากน้อยเท่าไร เดี๋ยวนี้เราไม่เข้าใจ ไม่อาจจะตอบปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเองก็เพราะยังมีความสนใจน้อยอยู่ นั้นขอให้เสียสละอุทิศต่างๆ คุณเสียสละสิ่งที่เราไม่ค่อยเสียสละต่างๆ นี้ งัดมาใช้เป็นเวลาสำหรับสนใจ ศึกษา ค้นคว้า ในเรื่องจริยธรรมที่เป็นเครื่องมือประเสริฐที่สุด สำหรับ สำหรับเราเองก็รอดพ้น สำหรับเด็กๆ ของเราก็รอดพ้น สำหรับเพื่อนมนุษย์ของเราทั้งโลกก็จะรอดพ้น นี้ต่อไปนี้อาตมาก็จะได้กล่าวถึงธรรมะที่จะเป็นเครื่องมือ ให้เด่นชัดโดยรายละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เท่าที่เวลาจะอำนวย ข้อที่แรกจะชี้ถึงเครื่องมือ ชนิด ชนิดที่เป็นการส่งต่อเป็นทอดๆ กันไป เหมือนอย่างว่า เราจะชี้กันว่า พุทธิศีกษาส่งให้มีจริยศึกษาดี จริยศึกษาดีส่งให้มีพลศึกษาดี มีหัตถศึกษาดีอย่างนี้ก็ได้ ก็พอจะเห็นได้เหมือนกัน แต่ที่เกี่ยวกับหลักธรรมะโดยตรงนั้น ควรจะดูให้เห็นชัดว่า ธรรมะอย่างหนึ่งก็ส่งต่อถึงธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ธรรมะส่งต่อเป็นทอดๆ ไปจนถึงวาระสุดท้ายที่ได้ผล เช่น การเรียนหรือปริยัติธรรมะเนี่ย ส่งให้เกิดการปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะก็ส่งให้เกิดผลการปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิเวธคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน นั้นในพระศาสนานี้จึงมีปริยัติธรรม คือพูดจา ศึกษา ไต่ถาม สอบทานต่างๆ ให้เข้าใจหลักของธรรมะ นี้เรียกว่าปริยัติธรรม ครั้นได้หลักอันนี้ซึ่งเป็นเหมือนแผนที่ที่ดีแล้ว ก็ไปปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดเห็นทั้งหมดเต็มที่ ทีนี้ก็ส่งให้เกิดผล คือความดับทุกข์ขึ้นมาตามสมควร เรียกว่า มรรคผลนิพพาน หรืออีกหมวดหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์คุ้นเคยมาก ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลให้เกิดสมาธิ สมาธิให้เกิดปัญญา ได้ตามลำดับ แต่แล้วปัญญาก็ย้อนกลับมาส่งศีลน่ะ ส่งกำลังของ เพิ่มกำลังให้แก่ศีล และสมาธิ เรื่อยไปเป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ มันจึงก้าวหน้าไปได้เรื่อย เป็นปัญญาที่สูงถึงขนาดที่จะตัดกิเลสได้ เราดูธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือแก่กันและกันอย่างนี้ เพื่อให้เห็นว่าเราจะกระโดดไปประพฤติที่พระนิพพาน การบรรลุนิพพานทีเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ การที่ต้องการให้ช่วยอธิบายว่าจะ อธิบายธรรมะเรื่องนิพพาน ให้เด็กอายุ ๑๓ ขวบ ๑๔ ขวบ เข้าใจได้อย่างไรนั้น มันก็ยากอยู่เหมือนกัน ยากที่จะทำได้และยากที่จะอธิบาย เพราะว่าแม้แต่ตัวผู้ถาม ซึ่งไม่ใช่เด็ก อายุ ๑๓ ๑๔ ขวบก็ทำไม่ได้ แล้วบางทีก็ยังไม่สนใจด้วยซ้ำไป อาตมาจึงกล่าวได้แต่เพียงว่าจะต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกตในขณะที่มีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกอะไรรบกวน ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่มีอะไรกวนใจนั่นแหละ เรียกว่านิพพานหรือความหมายของนิพพาน คือลักษณะของนิพพาน เป็นความว่างระดับหนึ่ง แต่เราที่ แต่เท่านั้นยังไม่พอ นั้นเราต้องมีการศึกษาเรื่อยไป การปฏิบัติเรื่อยไป เพื่อทำให้มันว่าง ไม่มีอะไรกวนใจ คือไม่มีอะไรมากวนใจได้ เป็นอิสระถึงขนาดที่ไม่มีอะไรมากวนใจได้นั้นให้เด็ดขาดลงไปจึงจะเป็นนิพพานจริง ครั้นจึงต้องอาศัยเครื่องมือ นี้เรียกว่าเครื่องมือประเภทธรรมะ ธรรมะประเภทเครื่องมือส่งต่อๆ ต่อกันไป ให้ก้าวหน้าไปถึงที่สุด ทีนี้ทำธรรมะอีกประเภทหนึ่ง เป็นเครื่องมือในฐานะที่เป็นสมุฏฐานหรือเป็นรากฐาน นี่ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ท่านสนใจให้ดีๆ ก็ได้รับปัญหาอย่างนี้มาก ที่ว่าจะอธิบายธรรมะให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร ตัวอย่างของธรรมะประเภทนี้ก็เช่น หิริ และโอตัปปะ หิริแปลว่าความละอาย โอตัปปะแปลว่าความกลัว ละอายต่อความชั่ว กลัวความชั่วอย่างยิ่ง นี้เรียกว่าหิริโอตัปปะ ถ้าคนเราไม่รู้จักอาย ไม่รู้จักกลัวก็เรียกกันว่า คนด้าน คนที่ละอายกลัว รู้จักอาย รู้จักกลัวนี้ ไม่กล้าทำอะไรให้ผิด ส่วนคนที่ตรงกันข้ามนั้น ทำได้อย่างหน้าเฉยตาเฉย การที่เรามีศีลไม่ได้หรือมีการประพฤติดีอย่างอื่นๆ ไม่ได้ก็เพราะเราไม่มีหิริและโอตัปปะ นั้นจะต้องสร้างพื้นฐานคือหิริโอตัปปะนี้ให้ยังคงมีอยู่ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าที่มันติดมาแต่กำเหนิด เราต้องนึกดูให้ดีว่า สัตว์นี้มันก็มีเชื้อแห่งความละอายและความกลัวมาแต่กำเหนิดเหมือนกัน แต่บางทีมันไม่ได้เบิกบาน มันรีบตายไปเสียก่อน ดูให้ดีๆ ว่าแม้แต่เด็กเล็กๆ เค้าก็รู้จักอาย เค้าไม่รู้จักธรรมะ เค้าไม่ ไม่ ไม่อยากทำอะไรที่น่าอาย เค้ามีความละอายอย่างนี้ นี้ก็แปลว่ามีวัฒนธรรมหรือมีอะไรแวดล้อมดี ทำให้เค้ารู้จักละอาย ไม่ทำอะไรที่ละอายที่กลางถนนหนทาง ไม่มีเผลอเป็นอันขาดในเรื่องนี้ แต่ทีเรื่องธรรมะอย่างอื่นน่ะ กลับเผลอเก่ง นี่เพราะว่าไม่มีความละอาย และไม่มีความกลัวนี่มากเท่ากัน นั้นเราจะต้องสร้างให้เค้ามีความละอาย ความกลัวมากเท่ากัน แม้ไม่ใช่เรื่องที่ไปทำอะไรน่าละอายกลางถนนหนทาง แม้ว่าเรื่องสอบไล่ตกนี้ เค้าก็ต้องกลัวและละอายให้มาก แม้แต่ว่าเรียนไม่ดีอยู่ในชั้นนี่ เค้าต้องกลัวให้มาก ละอายให้มาก หรือแม้แต่ว่าเค้าทำอะไรได้ไม่สมกัน ไม่ทันเพื่อน ไม่เสมอเพื่อนอย่างนี้ เค้าก็ควรจะกลัว ควรจะละอาย หรือว่าเค้าทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอย่างนี้ เค้าควรกลัว ควรละอาย หรือว่าเค้าคิดนึกอยู่คนเดียว คิดนึกไปในทางต่ำ ในทางทรามนี้ เค้าควรจะละอาย ถ้าเราพอกพูนนิสัยแห่งหิริโอตัปปะได้แล้ว สิ่งต่างๆ จะง่ายไปหมด นี่คืออานิสงค์ของธรรมะประเภทเครื่องมือ อาตมาอยากจะระบุไปยัง ไอ้บุคคลที่สูงอายุด้วยว่า คนสูงอายุก็ไม่ละอาย ให้กลัว คือทำผิดในเรื่องการควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดยินดี ยินร้าย ไม่ให้หลงใหล ไม่ให้เผลอสติ เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบอย่างนี้ เค้าก็ไม่ละอาย มันก็กระทบได้ในลักษณะที่เป็นโทษ เป็นภัยมากยิ่งขึ้น หรือว่าเค้าไปยึดมั่นนี่นั่น นี่ว่าตัวกู ว่าของกู ว่าตัวตน ว่าของตน ที่นี้ทำไมเค้ายิ่งไม่ละอาย เค้ากลับเอามาอวดกัน นี่ของฉันมีมากเท่านั้น ของฉันมีใหญ่เท่านี้ กว้างกว่าของใคร ให้ใหญ่กว่าของใคร ให้สูงกว่าของใคร ให้ดีกว่าของใครอยู่เรื่อย ว่าเป็นของฉัน ของฉัน ของฉัน นี่มันจึงถูกลิงด่า เหมือนกับชาดกเรื่องหนึ่ง ที่ว่าลิงนี่ เป็นนายฝูงถูกจับมาเลี้ยงในวัง พอถูกปล่อยกับออกไป พวกลูกสมุนลิงนั่นเค้าอยากรู้ว่าในเมืองมนุษย์มีอะไรบ้าง นายลิงนั้นก็เล่าว่าในเมืองมนุษย์น่ะมีแต่ได้ยินว่า เงินของกู ทองของกู ลูกของกู ผัวของกู เมียของกู มีอย่างนี้ทั้งนั้น นั่นน่ะในเมืองมนุษย์ แล้วลูกลิงบริวารก็วิ่งกรูไปที่ลำธาร ไปล้างหูกันหมด เพราะว่าเพิ่งได้ยินเสียงสกปรกเป็นครั้งแรกนี้ ชาดกในพระคัมภีร์มีอยู่อย่างนี้ นี่จึงทำไมไม่ละอายลิงเหล่านั้นบ้าง ถ้าเรามีหิริโอตัปปะอย่างนี้กันบ้างแล้ว การศึกษาธรรมะ แม้เรื่องมรรคผลนิพพานจะสะดวกดายกว่านี้ ในการเข้าใจก็ตาม ในการปฏิบัติก็ตาม ในการบรรลุผลก็ตาม มันขาดคุณธรรมคือ หิริโอตัปปะ อยู่มาถึงอย่างนี้แล้วก็ยังไม่รู้จักอาย ไม่รู้จักกลัว ต่อสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งคือความทุกข์นั่นเอง รวมทั้งกิเลสด้วย กิเลสกับความทุกข์นี้ก็จัดไว้เป็นชุดเดียวกัน กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์เกิดมาจากกิเลส นั่นมันเนื่องกัน นี่คือสิ่งที่น่าละอาย และสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เรียกว่าธรรมะประเภทเป็นเครื่องมือในฐานะที่เป็นสมุฏฐานเป็นรก เป็นรากที่ดี ที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังอย่างนี้ แล้วยังมีทำธรรมชื่ออื่นอีกซึ่งทำหน้าที่อย่างนี้ เช่น สัมมาทิฐิ หรือ ปัญญาเป็นต้น ที่ได้อธิบายแล้วอย่างมากมายในการบรรยายครั้งก่อนๆ ว่า สัมมาทิฐินั้นเป็นธรรมะรากฐานอย่างไร ทีนี้ธรรมะที่เป็นเครื่องมือประเภทกระตุ้น กระตุ้นให้เกิดไฟ กระตุ้นให้เกิดกำลังนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ระบุธรรมะที่เรียกว่า ศรัทธา หรือ ฉันทะ เป็นต้นไว้ ศรัทธานั้นแปลว่าความเชื่อ แต่คนโดยมากเข้าใจผิด ว่าความเชื่อพอได้ฟังแล้วก็เชื่อ ได้ยินพระเทศน์แล้วก็เชื่อ เห็นมีเขียนอยู่ในพระไตรปิฎกแล้วก็เชื่อ อย่างนี้มันผิดหมดเพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แม้แกจะได้ฟังไปจากปากฉันเอง ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องไปคิดดูก่อนว่ามันจริงหรือไม่ คือท่าน เมื่อท่านพูดว่าทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้ ก็ต้องไปคิดดูเสียก่อนให้เห็นชัดว่ามันดับทุกข์ได้จริง ก็ทำตามนั้นแล้วจึงเชื่อ แล้วค่อยปฏิบัติตาม พระสารีบุตรเป็นผู้ที่กล้ายืนยันที่จะเฝ้าพระภักตร์ของพระพุทธเจ้าว่าท่านก็ทำอย่างนั้นต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น นี้จึงจะเรียกว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นคำว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเราจึงไม่เหมือนในลัทธิอื่น ไม่เหมือนความเชื่อหรือความภักดีเป็นต้น ในลัทธิศาสนาอื่น พวกเราที่เป็นพุทธบริษัทควรจะทำเรื่องนี้ให้บริสุทธิ์สะอาด อย่าให้เกิดความงมงาย ไม่น่าดูขึ้น ด้วยความเชื่องมงายเหมือนที่เป็นอยู่โดยมากนี่ จะต้องระบุออกมาเลยว่าอะไรบ้างจะเป็นที่รำคาญ แต่ขอยืนยันว่าศรัทธาที่มีอยู่นั้นยังไม่ใช่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา อยู่เป็นส่วนใหญ่ มันจึงกระตุ้นไปผิดทาง กระตุ้นไปเข้ารกเข้าพง กระทั่งอาจจะทำผิดจนตัวเองเดือดร้อน ทำให้ตกนรกทั้งเป็นก็ได้ ถ้าให้ศรัทธาชนิดนี้กระตุ้นไป สำหรับสิ่งที่เรียกว่าฉันทะนั้น แปลว่าความพอใจ เดี๋ยวนี้เราพอใจในธรรมะหรือในจริยธรรมนี้ เหมือนกับแก้วแหวนเงินทอง เครื่องแต่งตัวนั้นหรือเปล่า นี่ลองนึกดูเอง เพราะตัวเองก็รู้จักตัวเองกันอยู่ดีด้วยกันทุกคน มีคำอุปมาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะ ในพุทธศาสนาก็เขียนภาพเปรียบเป็นการได้แก้วทีเดียว การได้ธรรมะนั่นต้องเหมือนการได้แก้ว คือเพชร พลอยนั่นแหละ ก็ดีใจ ชื่นอกชื่นใจ แล้วก็เอาไปทำให้มันสมควรกันแก่คุณค่าของมัน นั้นเราจะต้องมีความพอใจ ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือจริยธรรมนี่ให้ควรแก่คุณค่าของมัน ท่านพิสูจน์เอาได้ตามลำพังตนเองไม่ต้องเชื่อตามใครว่าจริยธรรมหรือธรรมะนี่ มีคุณค่าเป็นราคาสักเท่าไร เอาไปเปรียบกับแก้วแหวน เพชรพลอย เงินทอง บุตรภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ สารพัด สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ อะไรก็ตามดูเถอะว่ามันมีค่าเมื่อเปรียบเทียบกันกับธรรมะนี่ ได้รับได้ผลอย่างไรบ้าง คือใครมากน้อยกว่ากันอย่างไร ต่อเมื่อเห็นคุณค่าของธรรมจริงเท่านั้นน่ะ จึงจะมีสิ่งที่เรียกว่าฉันทะตัวจริง เดี๋ยวนี้ฉันทะถูกบังคับ ฉันทะสมัครเล่น ฉันทะปล่อยไปตามเรื่องตามราว นั้นสิ่งที่เรียกว่าฉันทะ จึงไม่เป็นธรรมะประเภทที่เครื่องมือกระตุ้นให้ไปถึงคุณธรรมชั้นสูงได้ นี่เราก็ไม่ต้องโทษใคร มันเป็นเรื่องความที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจในการที่จะใช้เครื่องมือของเราเอง ทั้งที่เครื่องมือนี้มีให้อย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าท่านมีให้อย่างเต็มที่ แล้วก็ไม่มีใครหวง สร้างขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ใช้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่แล้วเราก็ไม่เกี่ยวข้องเอง ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเอง
ทีนี้อาตมาอยากจะกล่าวต่อไปถึงธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือในการป้องกัน คุ้มครองป้องกันรักษา เมื่อเราจะแนะให้เด็กๆ เห็นว่าอะไรจะเป็นเครื่องป้องกัน ทำความปลอดภัยให้แก่เรามากที่สุดนี้ เราก็ควรจะชี้ให้เค้าเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า มันไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าธรรมะอีกเหมือนกัน จะพ่อแม่ผู้ปกครองนี้มันยังไม่เท่ากับเราประพฤติตัวให้ดี เพื่อการคุ้มครองเรา เหล่านี้เป็นต้น จะให้พี่ชายน้องชาย มิตรสหาย ชาวเกลอที่ไหนช่วยพิทักษ์รักษาคุ้มครอง มันก็ยังไม่เท่ากับที่ให้ธรรมะคุ้มครอง เพราะว่าพอประพฤติธรรมะแล้วมันไม่มีอันตราย มีภัยมีเวรที่ไหนมาแตะต้อง ถ้าไม่ประพฤติธรรมะแล้ว ต่อให้เอาทหารมาเป็นหมื่น เป็นแสนมาคอยล้อมอยู่ มันก็ต้องประสบอันตราย สำหรับธรรมะประเภท ประเภทที่เป็นการคุ้มครองนั้น ท่านระบุไปที่สติสัมปชัญญะ อินทรียสังวร เป็นต้น สติหมายถึงความรำลึกที่ถูกต้อง ไม่เผลอ ไม่ประมาทอยู่เสมอ สัมปชัญญะก็คือรู้สึก ความถูกต้องนั้นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะนี้เป็นเกลอกันไม่แยกกัน ไปด้วยกันเรื่อย จึงรวมเรียกเสียว่าสติสัมปชัญญะเป็นของสิ่งเดียวก็ได้ เราไม่มีสติสัมปชัญญะก็เผลอเรื่อย หากเผลอไม่เท่าไหร่ ก็ลืมเลือน ฟั่นเฟือนไม่ทันแก่ ไม่ทันเฒ่าก็ชักจะเลือนแล้ว ในความที่ไม่ฝึกสติสัมปชัญญะไว้ให้แม่นยำ ให้มั่นคง ไปเห็นแก่สิ่งอื่นมากเกินไปกว่าสิ่งที่มีค่า การปฏิบัติธรรมะในพระศาสนาทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลักว่า สติ เป็นเครื่องป้องกัน หรือคุ้มกันอย่างยิ่ง จะกันโจร กันขโมย กันอะไรก็ต้องด้วยสติ จะกันโรคภัยไข้เจ็บก็ต้องด้วยสติ กันกิเลสก็ต้องด้วยสติ กันความทุกข์ไม่ให้มาแตะต้องนี้ก็ต้องด้วยสติ นั้นเราควรจะศึกษาเรื่องสติสัมปชัญญะกันให้เพียงพอ ที่เรียกว่า อินทรียสังวร คือสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นมันก็เรื่องสติสัมปชัญญะอีกเหมือนกัน มีอะไรมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก อย่างนี้ถ้าไม่มีสติมันก็ปล่อยไปตามอารมณ์ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพเป็นชาติ หรือเป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกู กันวุ่นวายระส่ำระสายทีเดียว เรียกว่าไม่มีเครื่องกั้นกระแสของความทุกข์ สติทำหน้าที่ สำรวมอินทรีย์นี้ กั้นกระแสแห่งความทุกข์ ให้หยุดอยู่ตรงได้เสียที่การกระทบ อย่างว่าได้ยินเสียงปืน ปั้ง นี่แทนที่จะเกิดกลัวเป็นทุกข์นี้ มีสติสัมปชัญญะมาว่ามันคืออะไร อย่างไง เพื่ออะไร จัดการอย่างไร อย่างนี้ไม่ดีกว่า ที่จะไปเป็นเวทนา เป็นกลัว เป็น เป็นทุกข์ไปเลย วกกลับมาเป็นสติปัญญา จัดการกับมันให้ถูกต้อง ด้วยสักว่าเพียงได้ยินเสียงเท่านั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการกั้นกระแสแห่งกิเลส แห่งความทุกข์ได้มากมาย มีตัวอย่างมากมายถ้าขืนนำมากล่าวทุก ทุกๆ อินทรีย์แล้วก็เวลาคงหมดแน่ นั้นจึงให้ไว้ได้แต่ตัวอย่าง เมื่อเราจะกล่าวต่อไปถึงธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือ สำหรับการละสิ่งที่ต้องละ เรามีปัญหายุ่งยากมากในการที่จะละสิ่งที่ต้องละ แล้วละไม่ได้ ครูบาอาจารย์บางคนกำลังจะเดือดร้อนด้วยซ้ำไปว่าแม้แต่จะละบุหรี่ก็ไม่ได้ ละมากี่ครั้งแล้วก็รู้อยู่ดีว่ามันไม่เคยสำเร็จ จะเป็นการละสุรา ละเครื่องมึนเมาที่ยิ่งขึ้นไป กระทั่งละกิเลสที่ร้ายกาจยิ่งขึ้นไปนั้น จะละได้ด้วยธรรมะอะไร ธรรมะช่วยละนี้ก็มีหลายอย่าง แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เฉพาะนั่นมีอยู่ ๔ อย่าง เป็นธรรมะชุดหรือ team work คือต้องมาใช้ร่วมกันคือสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ซึ่งครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ต้องเคยได้ยินชื่อ และรู้จักมันว่า ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาสโดยตรง คือ สัจจะ ความจริงใจ ทมะ การบังคับตัวเอง ขันติ การอดกั้นอดทน จาคะ การสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนให้ออกไปจากตน นี่ ๔ อย่างนี้ อย่าได้เข้าใจแต่เพียงว่าเป็นธรรมะสำหรับฆราวาส ขอยืนยันว่าเป็นธรรมะสำหรับทุกคนทีเดียว ที่จะเป็นบรรพชิต หรือยิ่งกว่าบรรพชิตอะไรก็ตาม ถ้าต้องการจะละอะไรที่ไม่ ไม่พึงปรารถนาแล้วจะต้องใช้ ธรรมะ ๔ อย่างนี้เป็นเครื่องมือ ข้อแรกคือสัจจะนั้นหมายความว่าต้องจริง ต้องจริงใจในการที่จะละ คำว่าสัจจะนี้หมายถึงจริง จริงต่อบุคคล จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่ออะไรต่างๆ ทุกอย่างหมด แต่มาสรุปรวมอยู่ได้ ก็คือ จริงที่ธรรมะ จริงต่อธรรมะ หรือจริงต่อตัวเอง จริงต่อเกียรติยศของตัวเอง นี้เรียกว่าจริงต่อธรรมะ เราต้องรู้จักเคารพตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์ก่อน ซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ อย่างนี้เรียกว่าจริงต่อธรรมะ นี้เมื่อเราอยากจะละบุหรี่เป็นต้นนี้ มันก็เป็นเรื่องเล็กไปทีเดียว เพราะความจริงต่อธรรมะ ต่อเกียรติยศของความมนุษย์นี้ มันใหญ่โตมาก มันสามารถจะบีบบังคับไอ้ความอยากบุหรี่นั้นให้เล็กลงไปได้มาก นี่เรียกว่าจะต้องมีสัจจะเอามาเป็นข้อแรกคือความจริง จริงต่อตัวเรา ต่อเกียรติยศของเรานี้ก่อน ที่นี้มันเนื่องจากว่าจริง ตั้งใจจริงนี่ มันอาจจะจริงไปไม่กี่น้ำ หรือไปไม่ได้ยืดยาว ถ้าหากว่าไม่มี ทมะ คือการบังคับตัวเอง นั้นเพื่อให้มันจริงไปได้ตลอดกาลนี่ พระพุทธเจ้าจึงวางธรรมะข้อสองเรียงลำดับลงไปว่า ทมะ คือการบังคับตัวเอง การข่มใจ หมายถึงการบังคับตัวเอง ให้อยู่ในร่องในรอยของสัจจะ ดังที่ได้ตั้งปณิธานไว้ เราต้องเป็นผู้บังคับตัวเอง อย่าปล่อยไปตามอำนาจฝ่ายต่ำ ดึงไปจูงไป บังคับตัวเองให้ยังคงตั้งอยู่ ในอำนาจของธรรมะฝ่ายสูง เราจะต้องบังคับตัวเองอย่างฉลาด ด้วยอุบายที่แยบคาย เหมือนที่พระพุทธท่านทรงกำชับว่า จงบังคับตัวเองอย่างฉลาด เหมือนนายช้าง ไอ้ควานช้างที่ถือขอบังคับช้างที่ตกมันได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านต้องใช้คำว่าควานช้างที่ฉลาด เพราะควานช้างที่ไม่ฉลาดนั้นน่ะมีแต่จะถูกช้างฆ่าตายมากกว่า ไม่สามารถจะบังคับช้าง ส่วนจิตของคนเราที่ประกอบด้วยกิเลสนั้นน่ะ มันยิ่งกว่าช้างชนิดนั้นเสียอีก คือยิ่งกว่าช้างที่ตกน้ำมันเสียอีก นั้นถ้าเราที่เจ้าของแล้วไม่ฉลาดพอกันแล้ว มันต้องตายแน่ คือต้องจมอยู่ในนั้นแน่ ไม่ ไม่ขึ้นมาได้ นี้ต้องอาศัยความฉลาด เป็นผู้ฉลาดแล้วก็บังคับตนเอง แสวงหาความฉลาดมาให้เพียงพอ ในการให้บังคับตนเอง แล้วก็มีการบังคับตนเอง สัจจะก็ยังคงรุ่งเรืองอยู่ได้ตลอดไป คิดดูต่อไปอีกเถอะว่า ความประเสริฐในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และความฉลาดของพระพุทธเจ้านั้นมีมากน้อยเท่าไร ทีนี่ท่านวางธรรมะอะไรไว้ให้ต่อไปอีกในการที่จะให้เราบังคับตัวเองอยู่ได้ ท่านก็ได้วางธรรมะที่เรียกว่าขันติ ความอดกลั้นอดทนมีไว้ เพราะว่าในการบังคับตัวเองนั้นมันต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา ไปคิดดูเองเถอะว่าในการต่อสู้กันนี้ ต่อสู้กันระหว่างจิตกับธรรมชาติฝ่ายต่ำนี่ มันต้องเจ็บปวดแน่ นี้ถ้าเกิดเจ็บปวดขึ้นมาแล้วไม่ทน ไม่อดทนก็วิ่งหนีเลย เตลิดเปิดเปิงไปเลย เรื่องมันก็ล้มเหลวกันลงเพียงนั้น นั้นจึงวางขันติความอดกลั้นอดทน รอได้ คอยได้ มาให้เป็นลำดับที่สามติดกันมาทีเดียว นั้นเราครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะต้องสั่งสอนนักเรียนให้รู้จักอดกลั้นอดทน รอได้ คอยได้ อย่าใจเร็วด่วนได้ และไม่อดกลั้น อดทน อย่างในการศึกษาเนี่ย ก็ต้องรอคอยจนเวลาเท่าไร จะมีความยากลำบาก เราก็จะต้องมีความอดกลั้นอดทนเท่าไร นี่แม้ในเรื่องที่จะละบุหรี่นี้ถ้ามันเดือดร้อนระส่ำระสายขึ้นมานี่มันก็ต้องอดทนได้ มีความจริงใจ มีการบังคับตัวเอง และมีความอดทน อ้าวทีนี่พระพุทธเจ้าท่านยังฉลาดยิ่งไปกว่าที่เรานึกอีก คือท่านกลัวจะทนไม่ไหวนั่นแหละ ท่านจึงได้ให้ธรรมะข้อสุดท้ายที่เรียกว่าจาคะไว้ จาคะนี่แปลว่าสละ ซึ่งหมายถึงการระบายออกไป ระบายสิ่งที่เรียกว่าไม่ควรจะมีอยู่นี่ออกไป คือระบายสิ่งที่เป็นข้าศึกนั่นออกไป นั้นในกรณีของการละบุหรี่นั้นอะไรที่มันเป็นข้าศึกสำคัญที่จะทำให้ล้มเหลวนั้น ต้องพยายามระบายออกไป คือหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วยให้มันระบายออกไป เช่นว่าอย่าไปที่ของสูบบุหรี่หรือว่าอย่าไปในที่ที่จะทำให้อดไม่ได้นี่ อย่างนี้ก็เรียกว่าจาคะเหมือนกัน คือสละสิ่งที่ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนี่ ถ้าเป็นเรื่องการละกิเลสก็หมายความว่าเพื่อไม่ให้ต้องอดกลั้นอดทนในการต่อสู้กับกิเลสเกินไปนั้นน่ะ ก็มีวิธีอีกระบบหนึ่งเป็นการระบายออกทีละเล็กทีละน้อยอยู่เสมอ อย่าให้มันมีความกดดัน คราวเดียวมาก นั้นอะไรที่เป็นการช่วยได้เล็กๆ น้อยๆ ก็มีไว้ครบถ้วนแล้วก็ระบายออกไปเรื่อยตามรูเล็กๆ ตามช่องเล็กๆ นั้น เช่น การทำบุญ ให้ทาน การสวดมนต์ภาวนา การตั้งอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีอะไรต่างๆ ก็เอามาใช้เป็นเครื่องมือระบายความกดดันนี้ออกไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ต้องทนมากเกินไป จนถึงกับทนไม่ไหว นั้นขันติจึงมีอยู่ได้ด้วยอำนาจของจาคะคือการระบายออกไว้นั้น คือระบายสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจให้ออกไปเสียจากใจ อย่าให้เข้าใจเป็นอย่างอื่น แม้ที่สุดแต่การทำบุญ ให้ทานนั่นนะ ถ้าเป็นจาคะจริง ก็ไม่ใช่เพื่อแลกเอาสวรรค์กลับมา แต่ว่าเพื่อระบายเอาความขี้เหนียว ความเห็นแก่ตัว ให้ออกไปมันจึงเป็นจาคะจริง นี้เป็นต้น นั้นขึ้นชื่อว่าจาคะแล้วต้องเป็นเรื่องระบายออกทั้งนั้น ไม่ใช่รับเข้ามา นี้เมื่อใดเรามี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นทีมเวิร์คช่วยกันทำงานแล้ว ย่อมละอะไรได้ทั้งนั้น นั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์สังเกตดูให้ดีๆ แล้วเอาไปปรับปรุงใหม่ให้ใช้ในการที่จะแก้ไขเด็กๆ ของเราได้ด้วยการสั่งสอนหรือด้วยการอบรมก็ตาม นี้เป็นตัวอย่างของธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือในการละ
ทีนี้ธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือในการประวิงเวลา ข้อนี้หมายความว่า บางอย่างเราสู้มันทันทีไม่ได้ เราต้องประวิงเวลาไว้ก่อน ให้เรามีโอกาสตั้งเนื้อตั้งตัวก่อนเราจึงจะเล่นงานมันได้ เหมือนกับกิเลสบางชนิดนี้จะต้องใช้อุบายอย่างนี้ ธรรมะชื่อนี้ก็มีธรรมะประเภทขันติ โสรัจจะ อะไรทำนองนี้ หรือแม้สุดแต่สิ่งที่เรียกว่าอุเบกขาในระดับต่ำ ขันติคืออดทนได้ โสรัจจะอ่ะยิ้มไว้เสมอ ไม่ใช่ทนอย่างหน้าดำคร่ำเครียด เป็นทุกข์ จึงมีพ่วงกันมาว่า มีพ่วงติดกันมาเป็นขันติโสรัจจะ ความอดทนและความเสงี่ยมงาม ข้อนี้มันเหมือนกับที่เราได้ยินเรื่อง นิ นิทานเรื่องนับสิบก่อน พอจะโกรธใครขึ้นมาให้นับสิบก่อนจึงค่อยโกรธ การนับ ๑-๑๐ เสียก่อนนั้นมันเป็นการประวิงเวลา ให้ธรรมชาติฝ่ายสูงตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ตั้งเนื้อตั้งตัวติด ในการที่จะต่อสู้ธรรมชาติฝ่ายต่ำ คือความไม่โกรธตั้งเนื้อตั้งตัวได้ สำหรับต่อต้านความโกรธ นั้นการขอให้นับสิบก่อนนั้นเป็นอุบายเรื่องประวิงเวลา เช่นเดียวกับธรรมะประเภท ขันติโสรัจจะ อะไรเกิดขึ้นต้องทนก่อน นั้นขันติไม่ใช่แต่เพียงว่าทนเจ็บ ทนปวด ทนหนาว ทนร้อน ทนเค้าด่าเค้าว่า ไม่ใช่ นั้นเป็นเรื่องเด็กอมมือเกินไป ขันติที่แท้จริงก็คือการทนต่อความยั่วของกิเลส กิเลสที่จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรก็ตาม ต้องทนได้ หรือต้องสู้ได้ ต้องปกครองตัวเองไว้ได้ แม้ว่ามันจะยั่วแสนจะยั่ว คือว่าเมื่อทนแล้วเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เช่น ไม่ได้ไปดูหนังโปรแกรมนี้จะขาดใจตายเสียให้ได้นี้ มันก็จะต้องทนได้ และมีความยิ้มแย้มเป็นปกติอยู่ได้ มันจะประวิงเวลาไว้ได้จนกระทั่งว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันจะมีมา แล้วก็จะทำสิ่งต่างๆ ไปโดยถูกทาง คำว่าอุเบกขา ที่จะใช้เป็นหลักตั้งมั่น ในการต่อสู้อารมณ์นี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน อารมณ์กระทบทำอะไรไม่ถูก ก็ให้เฉยไว้ก่อน อย่าเพิ่งโกรธ อย่าเพิ่งเกลียด อย่าเพิ่งรัก อย่าเพิ่งกลัว อย่าเพิ่งเศร้า อะไรทำนองนี้ ประวิงเวลาให้สติปัญญาตั้งตัวขึ้นมาให้ได้แล้วว่าจะจับทำไปอย่างไร นี่ที่ยกตัวอย่างมาทีละอย่างมาทีละอย่างนี้ ก็ด้วยความรู้สึก หรือสังเกตเห็นหรือเชื่อว่าท่านครูบาอาจารย์ประสบปัญหายุ่งยากก็เพราะว่าไม่ดูให้ดีจนถึงกับจับความมุ่งหมายของธรรมะของแต่ละอย่างๆ ได้ว่าธรรมะที่เป็นเครื่องมือที่จะใช้กันในลักษณะไหน หรือประเภทไหน นั้นจึงพยายามจะแยกให้เห็นทั้งๆ ที่ชื่อธรรมะเหล่านี้ก็มีอยู่ในหนังสือเล่มแรก ก.ขอ ก.กา ของธรรมะ คือหนังสือนวโกวาทนั่นเองแต่ท่านไม่เคยสังเกตมันในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่านี่ ขอให้ลองไปคิดดูเองก็แล้วกัน นั้นจึงได้กล่าวพอเป็นตัวอย่างว่าท่านจะถือให้ ก ข ก.กาของธรรมะนี้ในลักษณะอย่างไร
ธรรมะประเภทเป็นเครื่องมือต่อไปที่จะระบุก็คือ ธรรมะที่เป็นเครื่องมือประเภทสะสม สำหรับการสะสม จะเป็นการสะสมทรัพย์ หรือสะสมเกียรติยศชื่อเสียงหรือสะสมคุณธรรมความดีในทางธรรมะโดยตรงให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปก็ตาม เราเรียกว่าการสะสมทั้งนั้น รวมหมายถึงการสะสมที่ไม่ผิด เป็นการสะสมที่ถูกต้อง อย่างนี้ท่านก็ใช้หลักธรรมะที่เรียกว่าความเพียร ๔ ประการไว้ให้เรา คือท่านมอบธรรมะนี้ให้แก่เราเป็นเครื่องมือ สังวรปธาน เพียรละสิ่งชั่ว สิ่งไม่ดี อย่างนี้ท่านก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่ แต่ทำไมไม่มองให้ชัดยิ่งถึงกับว่าเป็นเครื่องมือได้อย่างไร สังวรปธานป้องกันไม่ให้เกิดความชั่ว สังวรปธานละความชั่วนี้ คู่นี้มันเป็นการปิดอุดทางรั่วเสียก่อน แล้วจึงถึงภาวนาปธาน ปหานปธาน อนุรักขนาปธาน คือสร้างความดีให้ค่อยๆ เกิดขึ้นแล้วตามรักษามันไว้ อย่างความ อย่างระมัดระวังเต็มที่นี้อีกคู่หนึ่ง เป็นการสร้างให้เกิดขึ้น คราวนี้ท่านเอาระบบอุดรูรั่วมาให้ก่อนเป็นคู่แรกแล้วเอาระบบสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกสิ่งนี้ให้เป็นคู่หลัง นับว่าเป็นเทคนิคที่ดีมาก แต่นี้พวกเรา แม้แต่สังคมของเรา ประเทศชาติของเรานี้ จะไม่ได้ใช้ระบบนี้ด้วยกระมัง คือไม่ได้ใช้ระบบอุดรูรั่วต่างๆ นานา ทางวัตถุ ทางจิตใจนี้ ให้มันหยุดรั่วเสียก่อน อย่างที่อาตมาได้กล่าวถึงในวันที่บรรยายถึงเรื่องไอ้เพลงชนิด ๘๐% นั่นให้ฟังแล้ว ว่านั่นเป็นตัวอย่างของรูรั่วอย่างยิ่ง เค้าจะต้องอุดมันก่อน แล้วมันจึงจะประหยัดและพัฒนาให้เป็นสิ่งที่ประสงค์ขึ้นมาได้ นี่ธรรมะเป็นเครื่องมือสำหรับการสะสม มีอยู่อย่างนี้ หรือธรรมะหมวดอื่นๆ เช่น อุฎฐานะสัมปะทา อารักขะสัมปทา,กัลยาณะมิตตะตา สะมะ ชีวีตาติ อะไรก็ตาม ซึ่งท่านครูบาอาจารย์ผ่าน ผ่านหูผ่านตาอยู่เสมอ ก็ต้องเอาไปใช้ให้ถูกให้ตรงตามความหมายแห่งคุณค่าของมันที่จะเป็นเครื่องมือได้อย่างนี้
ทีนี้อาตมาจะกล่าวถึงธรรมะที่เป็นเครื่องมือในฐานะเป็นกำลัง ต่อไป นั้นกำลังนี้หมายถึงทั้งกำลังกายและกำลังใจด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่กำลังทางใจอย่างเดียว นี่ก็เป็นธรรมะ ก.ขอ ก.กา อีกตามเคย ท่องกันให้เกล่อไปว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ อย่างนี้เรียกว่าธรรมเป็นเครื่องทำกำลัง ธรรมะเป็นกำลัง แต่แล้วก็ได้แต่ท่องแต่ขับจานเสียงแล้วเปิดกันดังลั่นอยู่นั่นเอง ไม่สามารถจะเอามาใช้เป็นกำลัง ไม่เคยเอาใช้เป็นกำลัง ถ้าได้เอาธรรมะเหล่านี้มาใช้เป็นกำลังจริงแล้วปัญหาต่างๆ ไม่เกิดมัน เมื่อกับที่เกิดมากแล้วถามหากันจนตอบไม่ทันนี้ ศรัทธาเป็นกำลังอยู่แล้ว ความเชื่อนี่เป็นกำลังอย่างยิ่ง คนเราถ้าลองไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสแล้วไม่มีอะไรผลักดันให้ ให้ไป ให้ไปได้ ให้เป็นไปตามได้ มันต้องมีความเชื่อ ความเลื่อมใส ความพอใจ ในอุดมคติอันนั้นเสียก่อน กำลังจึงจะเกิดขึ้น เหมือนอย่างว่ามีความต้องการที่ไหน ความสำเร็จก็มีที่นั่น หนทางย่อมมีที่นั่นอย่างนี้ นี้มันเป็นศรัทธาและความเชื่อ ความพอใจ ความเลื่อมใส ความเห็นด้วย ความยินดีรับ ความไว้วางใจนี่ เอามารวมไว้ที่คำว่าศรัทธาคำเดียว แล้วก็เป็นกำลังอันแรก เป็นกำลังเริ่มต้น เป็นกำลังในฐานะที่เป็นพืชพันธุ์ที่จะเพาะหว่าน นี้กำลังถัดไปก็คือวิริยะ ความเพียร นี้ก็คือ Energy โดยตรง ใช้เพื่อผลักดันไอ้วัตถุประสงค์หรืออุดมคตินั้นให้เป็นไป มันก็เป็นกำลังอย่างยิ่ง ในลักษณะหนึ่งหรือส่วนหนึ่งหรือมุมหนึ่ง หรือแง่หนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ นี้ถัดไปก็คือสติ ความระลึกอย่างถูกต้องอยู่เสมอนี้เป็นกำลัง เพื่อจะควบคุมไอ้ ไอ้ของสองอย่างที่แล้วมา อย่าให้เฉออกไปนอกทาง ศรัทธาจะกลายเป็นไม่ศรัทธา หรือความเพียร วิริยะจะแล่นเป็นผิดทางนี้ มันก็เกิดขึ้นได้ เป็นได้ แต่สติมีเป็นกำลัง แข็งกล้าควบคุมมันไว้ไม่ให้มันผิดทาง เช่น ว่าทหารใช้ความกล้าหาญของตนผิดทางนี่ผลอะไรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าได้สตินี่มาเป็นเครื่องควบคุมไม่ให้ใช้ความกล้าหาญผิดทางละก็ มันก็ได้ผลเป็นที่น่าชื่นใจ นี่ถัดมาเรียกว่าสมาธิ เป็นกำลังอย่างยิ่ง นี่หมายถึงกำลังทางใจ มีกำลังใจมั่น เพราะว่ารวมหมด สมาธินี่ถือเป็นการรวมกำลังใจทั้งหมดให้เป็นจุดๆ เดียว เหมือนที่เราโฟกัสแสงสว่างพร่าๆ นั้นให้มารวมเป็นจุดเดียวแล้วมันแรงมากส่องได้ไกล เห็นไกลอย่างนี้เป็นต้น นี้ทางวัตถุ แต่ทางฝ่ายนามธรรมหรือทางฝ่ายวิญญาณนั้นเรารวมกำลังใจที่มีพร่าๆ อยู่ตลอดเวลานั้นให้เป็นจุดเดียว เป็นสิ่ง กำลังอันเดียว ส่องไปยังวัตถุที่ประสงค์อันเดียวด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด นั้นมันจึงแทงทะลุตลอดความจริงของสิ่งต่างๆ ได้ นี้เรียกว่ากำลังของสมาธิ แม้แต่เด็กๆ ก็ต้องใช้ในการเรียน ในการจำ ในการคิดการนึก ในการสอบไล่ เหล่านี้เป็นต้น นี้อันสุดท้ายเรียกว่าปัญญา ปัญญาเป็นกำลังนี้ มันอีกแนวหนึ่ง อีกมุมหนึ่งคือความรอบรู้แตกฉาน รู้เท่ารู้ทัน มีไหวพริบทั่วถึงไปหมดนี่ มันควบคุมไปทั้งหมดอีกทีหนึ่ง ไอ้ตัวอย่างขั้นต้นนั้นมันถูกควบคุมด้วยปัญญาเสมอ หรือไม่ให้ไปผิดทางได้ หรือถ้าไปผิดทางแล้วให้กลับมาถูกทางได้ หรืออุปสรรคเกิดขึ้นก็แก้ไขได้ นี่จึงเอาไว้ให้รั้งท้าย รวมกันเป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พละธรรม คือธรรมะที่เป็นกำลัง ช่วยกันสอดส่องให้ดีเป็นพิเศษ ได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดกำลังหรือสร้างกำลังให้แก่เราให้ได้จริงๆ
ทีนี่อาตมาจะกล่าวถึงธรรมะที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ อย่างนี้จึงอยากจะเรียกเป็นไทยๆ ว่า ได้แก่ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรม อุดมคติของพุทธบริษัทเราควรจะขึ้นปากกันอยู่ที่ว่าเรา ศาสนา ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรมอย่างยิ่ง ความดีนี้ หมายถึง สิ่งที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่าความดีในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ความดีอย่างที่คนบางพวกบัญญัติเอาเองว่าถ้าได้มันก็เป็นดี ถ้าเสียแล้วก็ไม่ดีละ จนเกิดเป็นปัญหาเรื่องกรรม ว่าคนนี้เค้าทำไมทำดีจะตายแล้วไม่ ไม่ ไม่รวย ไม่เจริญ ไม่ก้าวหน้า หรือไม่ดีกับเค้า นี่มันพูดกลับกันอยู่เรื่อย พูดเล่นตลกกันอยู่เรื่อย ทำไมไม่ดูไปตามที่จริง เป็นจริงว่าเมื่อทำดีแล้วมันจะไม่ดีได้อย่างไง เพราะใครๆ ก็บัญญัติการกระทำอย่างนั้นนะว่าดี เมื่อการ เมื่อทำการกระทำอย่างนั้นเสร็จลงไปแล้วมันก็ดีแล้ว เพราะมันดีอยู่ในตัวการกระทำนั่น เมื่อมีการกระทำนั่นแล้วมันก็ต้องดีแล้ว นี้จะได้เงินหรือไม่ได้เงิน ได้ชื่อเสียงหรือไม่ได้ชื่อเสียง นั้นมันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เค้าไปเอาไอ้ชื่อเสียงหรือเงินที่จะได้นี้มาเป็นความดี แล้วบางทีมันก็ไม่ได้แล้วก็เลยว่าทำดีไม่ได้ดี อย่างนี้มันผิดอย่างยิ่ง นี่มีครูบาอาจารย์หลายท่านยื่นคำถามเรื่องให้อธิบายเรื่องกรรม มันก็มีหลักพอเท่านี้ว่า ถ้าทำดีก็ต้องดีอยู่ในตัวการกระทำนั้น ส่วนที่ผลพลอยได้ที่จะได้มาเป็นเงิน เป็นชื่อเสียง เป็นอะไรทำนองนั้นๆ น่ะ มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่แล้วมันก็ยังแน่นอนอยู่อีกว่าถ้าเงินนี่ ได้มาจากการทำดีก็ต้องเป็นเงินดี ถ้าเงินนี้ได้มาจากการทำชั่วมันก็เป็นเงินชั่ว ขอให้มองในด้านจิตด้านวิญญาณอย่างนี้กันบ้าง อย่ามองในด้านวัตถุอย่างเดียว จะเห็นเงินเหมือนกันไปหมด ไม่มีเงินดี เงินชั่ว แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว มันต้องจะเห็นได้ชัดว่ามันมีเงินดี เงินชั่วตามที่ได้มาโดยการทำดีหรือทำชั่ว ชื่อเสียงก็เหมือนกัน มันมีชื่อเสียงจริง กับชื่อเสียงปลอม ถ้าทำดีได้ชื่อเสียงมาเป็นชื่อเสียงจริง ทำชั่วได้ชื่อเสียงมาเป็นชื่อเสียงปลอม เงินชั่วหรือชื่อ ชื่อเสียงปลอมมันก็ทำคนได้ชั่วหนักขึ้นไปอีก เมื่อทำชั่วเสร็จมันก็ชั่วไปเสร็จแล้ว แล้วเอาเงินชั่วมากินมาใช้เป็นเลือดเป็นเนื้อ เอาชื่อเสียงปลอมมาหลอกคนเล่นนี่ มันก็ยิ่งชั่วหนักขึ้นไปกว่าเดิมอีก ทีนี้เงินดีชื่อเสียงแท้ก็เหมือนกัน ทำดี ดีเสร็จแล้วเป็นคนดี ตั้งแต่ทำนั่นเสร็จแล้ว เราเองเห็น เทวดาเห็น เพื่อนมนุษย์ยังไม่ทันเห็นก็ตามใจ แต่ว่าเราเป็นคนดีเสร็จแล้ว ทำดี ดีเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ จึงได้เงินดีมากิน มาเลี้ยงโลหิตร่างกายเข้าไปก็ยิ่งเป็นคนดียิ่งขึ้นไปอีก มีชื่อเสียงอย่างนี้มาก็ยิ่งเป็นชื่อเสียงดียิ่งขึ้นไปอีก นี้คือความดี นี้ความงามนั้นก็เหมือนกัน งามด้วยธรรมะเช่นที่พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า พรหมจรรย์นี้งามทั้งเบื้องต้น งามทั้งตรงกลาง งามทั้งเบื้องปลาย เรามีความงามของธรรมะ คือมีธรรมะ มีความงามเป็นที่เกรงขาม เช่นเดียวกับสัตว์ที่มีความงามเป็นที่เกรงขามของสัตว์ที่ไม่มีความงาม เป็นกำลังในการต่อสู้ ความจริงก็คือสัจจะอย่างที่กล่าวมาแล้ว ความถูกต้องนี้ก็เหมือนกัน หมายถึงถูกต้องตามทำนองครองธรรม ที่บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าได้วางหลักไว้ โดยอนุวัฒิตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ว่าผิดอย่างไร ถูกอย่างไร นี่ความยุติธรรมนี้หมายถึงไม่ลำเอียงด้วยอคติ เช่น ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ เป็นต้น นี่ก็คือกำลังในการต่อสู้ หรือธรรมะที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ทำไมเราไม่ชนะคนชั่วด้วยความดี แล้วก็เอาความชั่วไปชนะคนชั่ว จะให้ชนะเค้าด้วยความชั่ว เรื่องมันก็ไปกันใหญ่โต ในหลักธรรมะนี้ถือว่าคนที่ด่าตอบนั่นน่ะเลวกว่าคนที่ด่าทีแรก คือว่าคนแรกด่ามามันก็ใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นคนด่านี้ แต่คนด่าตอบกลับเลวกว่านั้นสองเท่า เค้าไม่พูดอย่างคนเดี๋ยวนี้พูดหรอกว่า จะด่าตอบนั้นเพื่อแก้ให้หลุดกัน แล้วคนด่าตอบนี้ไม่ชั่ว ถูกแล้วยุติธรรมแล้ว เรียกร้องสิทธิอันนี้ได้อย่างเป็นธรรม ให้โลกทั้งหลายเห็นใจยกมือกันสลอน คนในโลกสมัยนี้ แต่ถ้าตามหลักของพระพุทธเจ้าว่าคนด่าตอบนี่เลวสองเท่าของคนด่าทีแรก นั่นนะคือความดีที่ชนะความดี จะต้องใช้เป็นเครื่องมือชนะความดี เพราะว่าเมื่อไม่ด่าตอบนั้นมันเป็นเหตุให้ชนะคนชั่ว ให้หยุดด่าได้ หรือว่าให้เค้าขอโทษได้ แล้วจะต้องชนะความจริง ความไม่จริงด้วยความจริง ชนะความผิดด้วยความถูก ชนะความไม่ยุติธรรมด้วยความยุติธรรม นี่คือหลักธรรมะที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เครื่องมือในการก้าวหน้าท่านวางไว้เป็นวุฒิ ๔ ซึ่งเป็นธรรมะประเภท ก.ขอ ก.กา ในนวโกวาทอีกเหมือนกัน ขอให้อยู่ในประเภท ในที่หน้าที่ควรอยู่ คือมีการศึกษาหาได้ในบัณฑิต นักปราชญ์ หาได้ แล้วก็ให้คบกับผู้ที่เป็นคนดี สัตบุรุษหรือบัณฑิต นักปราชญ์ทั้งนั้น แล้วก็ฟังคำสั่งสอน แล้วเอาคำสั่งสอนมาคิดมาใคร่ครวญ แล้วปฏิบัติให้เหมาะสม เหมาะ ให้ ให้ควรกัน อย่างนี้เรียกว่า วุฒิ ๔ หรือ จักร ๔ เป็นเครื่องก้าวหน้าไปสู่ความเจริญ นั้นเราจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์อันนี้ให้ดีๆ ว่าเราชอบไปโรงหนัง หรือว่าจะชอบไปหาผู้รู้ ในเมื่อมันมีเวลาว่างเกิดขึ้นสัก ๒ ชั่วโมงนี้เป็นต้น เมื่อเราไม่พอใจในธรรมะที่เป็นวุฒิหรือเป็นจักรแล้วจะไปโทษใคร มันก็มัวห้ามล้อตัวเองอยู่นั่นเอง
ธรรมะให้เกิดความสำเร็จง่าย โดยง่าย โดยเร็วและแท้จริงนั้น คือธรรมะประเภทอิทธิบาท ๔ นี้ มีอยู่หลายหมวดด้วยกัน อิทธิบาท ๔ นี้ก็เป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือความพอใจ ความพากเพียรอย่างยิ่ง ความเอาใจใส่อย่างยิ่ง ความค้นคว้าสอดส่องอยู่เป็นอย่างยิ่ง นี่มันตกหลักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ธรรมะที่เป็น ทีมเวิร์กชุดนี้ ๔ ข้อด้วยกันนี้ มันทำให้เกิดความสำเร็จ โดยง่ายดาย โดยเร็ว และโดยแท้จริง พระพุทธเจ้าท่านส่งแย้มว่าถ้าต้องการจะมีอายุยืนสักกัลป์หนึ่งก็สำเร็จได้ด้วยการประพฤติธรรมะข้อนี้ให้จริงจัง ขอให้ลองไปคิดดู
ทีนี่ก็มาถึงธรรมะประเภทที่ทำให้เกิดความพอดี ให้ ให้รู้ความพอดี คนเรานี่เสียท่าเสียทีกันมากก็เพราะว่าทำมากเกินไป ทำน้อยเกินไป ทำช้าเกินไป ทำเร็วเกินไป ล้วนแต่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น นี้ด้วยความพอดีนี้ ท่านเรียกว่าสมบัติของสัตบุรุษ คือคนดี คนดีต้องรู้ความพอดีเสมอไป อย่างนั้นดีไปไม่ได้ นั้นสัตบุรุษคือคนดีจึงมีธรรมะคือรู้ความพอเหมาะพอดี ของเหตุ ของผล ของตน ของประมาณ ของเวลา ของบริษัท ของบุคคล เอกชนนี่ มีความรู้เรื่องเหตุเพื่อให้เกิดผลอย่างไร มีความรู้เรื่องผลว่าอันนี้จะมาจากเหตุอันไหน รู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไร รู้ประมาณมากน้อยสูงต่ำว่าเป็นอย่างไร รู้เวลาว่าควรไม่ควร เหมาะไม่เหมาะอย่างไร รู้บริษัทหรือหมู่คณะบุคคลหรือสังคม ว่าสังคมนั้นสังคมนี้เป็นอย่างไร รู้บุคคลเอกชนก็จะพบว่าคนหนึ่งคนนั้นเค้าเป็นอย่างไรนี่ เป็น ๗ อย่างด้วยกัน เป็นเหตุให้รู้ความพอเหมาะพอดี ที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง นี่ไปศึกษาเรื่องนี้เป็นพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ของตน เกี่ยวกับตนเองก็ดี เกี่ยวกับเด็กก็ดี เกี่ยวกับผู้บังคับบัญชาก็ดีนี่ จะอยู่ในกำมือของบุคคลนั้นหมด
ทีนี่ที่สุดอาตมาอยากจะกล่าวถึงธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือในฐานะเป็นอุดมคติรากฐานเป็นปรัชญารากฐาน เป็นอุดมคติรากฐานข้อนี้ก็ได้แก่ ธรรมะที่เคยได้กล่าวให้ฟังว่า อาตมาไม่เลื่อมใสในอุดมคติหรือเรื่องของ MRA เพราะพวกนั้นมีแต่สอนว่าทำอย่างนั้น สอนทำอย่างนี้ๆ ทำอย่างนั้น ถึงที่สุดๆ แต่ไม่บอกว่ามันตั้งรกรากอยู่บนอะไร การบีบคั้นนั้น ก็เป็นการบีบคั้นเหมือนกับข่มเขาโคให้กินหญ้า เมื่อมันไม่สมัครจะกิน แต่เรามีปรัชญาพื้นฐานเป็นอุดมคติเช่นเรื่องกรรมที่ถูกต้อง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ถูกต้อง เรื่องสิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ด้วยตัณหา อุปาทาน ว่าตัวกูของกูนี่ แล้วเรื่องเหตุปัจจัยเป็นไปตามกฎของเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ต้องไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ ถ้ารู้อุดมคติ รู้ปรัชญา เหล่านี้แล้วนี่จะเป็นเครื่องมือให้เกิดความง่ายดายในการกระทำทั้งหมดทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างเรามีอุดมคติของความเป็นครูถูกต้อง ในฐานะเป็นผู้ยกวิญญาณของโลก ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ครูนี่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่คณะบุคคล แต่ว่าเป็นสถาบันอันหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ยกวิญญาณของโลกทั้งโลกพร้อมกันทั้งโลก ถ้าเราเข้าถึงอุดมคติอันนี้ หรือมีปรัชญาอย่างนี้เป็นรากฐานแล้ว ก็ถึงกับเต้นแร้งเต้นกาอยากปฏิบัติหน้าที่ของครูด้วยชีวิตจิตใจทั้งหมด สนุกสนานเป็นควันไปทีเดียว ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเป็นความหม่นหมอง ขาดแคลนร้องทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้เลย นี่ธรรมะประเภทเครื่องมือที่สูงสุด ก็คือธรรมะที่แสดงความจริงในขั้นปรมัตถ์ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร ถ้าไม่ยึดถือเป็นหลักเป็นรากฐานแล้วจะกระตุ้นธรรมะให้อื่นๆ เจริญงอกงามตามกันไปหมด นี่ธรรมะประเภทเครื่องมือหมวดสุดท้าย ทีนี้จะมาถึงข้อที่มักจะสับสนวุ่นวาย ฉงนกันอยู่ในข้อที่ว่า คำว่า เราได้ยินคำว่าอัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนแหละเป็นที่พึ่งของตน ที่มันงงว่าตนจะเป็นเครื่องมือให้แก่ตนอย่างไง ในเมื่อตนก็เป็นทุกข์เสียเองแล้ว เอาตนนั้นเป็นที่พึ่งให้แก่ตนได้อย่างไร นี้จะเป็นเครื่องมือให้แก่ตนได้อย่างไร คล้ายๆ กับว่าพระพุทธเจ้านี้พูดอะไรว่าเสียหลัก หรือผิดหลัก แต่เราต่างหากที่ไม่เข้าใจของท่าน ที่ว่าตนเป็นเครื่องมือให้แก่ตนนั้นมันหมายความถึงว่าไอ้ตน ตนกิเลส ตนโง่ ตนกิเลสนั้น ตนปุถุชนนั้นน่ะ มันเป็นตนที่เป็นเจ้าทุกข์ และตนที่จะเป็นที่พึ่งเห็นตนนั้นได้น่ะ คือตนธรรมะ ถ้าเรารู้ว่าตนที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เนื้อหนังร่างกาย สิ่งที่ควรเรียกว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นแก่นเป็นสาร จริงๆ นั่นนะคือธรรมะ นี้ก็เอาธรรมะเป็นตน แล้วก็เอา สามารถจะเป็นที่พึ่งให้แก่ตน เพราะว่าธรรมะนี้คนอื่นมาหาให้เราไม่ได้ เราต้องหาเอง เราต้องเรียนเอง เราต้องรู้เอง เราต้องปฏิบัติเอง และได้ผลเอง และธรรมะนั้นก็คือตน นั้นจึงแก้ไขตนที่อยู่ในสภาพที่ไม่น่าปรารถนานั้นให้กลายเป็นสภาพที่น่าปรารถนาได้ มันจึงเป็นตนนี้เพื่อตนและด้วยตนสำเร็จขึ้นมาได้ เป็นเครื่องมือให้แก่อะไร ก็ให้แก่ตนนั่นแหละ เราเอาธรรมะให้เป็นตนมันก็เป็นที่พึ่งแก่ตน ได้เคยชี้ให้เห็นแล้วตั้งแต่วันแรกแล้วว่า อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งนั้น นี่ขอให้นึกดูใหม่นึกดูให้ดี ถ้าลืมเสียแล้วก็ขอให้อ่านบันทึกคำบรรยายเหล่านี้ ให้เข้าใจคำว่า ทุกสิ่งเรียกว่าธรรมะนั้น นี้ธรรมะที่เป็นตนประเภทโง่เขลา เป็นทุกข์นั่น จะต้องเอาธรรมะที่เป็นตนประเภทรู้แจ้ง ฉลาดเฉลียว เห็นจริงนั่นน่ะเป็นที่พึ่ง นี่เราควรจะขอบคุณธรรมะที่เป็นเครื่องมือให้แก่เราทุกอย่างทุกประการ นับตั้งแต่ให้เกิดมา นับตั้งแต่ให้มีความรู้ความเข้าใจ ประพฤติดี ปฏิบัติดี เป็นตัวเราก็ได้ เป็นความรอดพ้นของเราก็ได้ เป็นเครื่องมือให้เกิดความรอดพ้นของเราก็ได้ นี่คือธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือ สำหรับบรรเทาทุกข์ทั่วไปและเป็นเครื่องมือช่วยธรรมะด้วยกันเองให้เป็นสิ่งที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นไปอีก เหมือนดั่งที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นนี้ นั้นขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายสนใจเฉพาะในแง่นี้ให้มากเป็นพิเศษด้วย จนท่านมีเครื่องมือขึ้นมาได้จริงๆ มันเป็นเรื่องมือที่ท่านขอร้องนัก ขอร้องหนา ในคำขอที่ยื่นมายังอาตมาหลายสิบฉบับด้วยกัน นี่อาตมาจึงถือโอกาสรวบรวมมาตอบในคราวเดียวกันเท่าที่จะตอบได้ คราวเดียวกันอย่างไร ที่เหลือก็จะไว้ตอบต่อไปในโอกาสหน้า อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ ลงด้วยความสิ้นสุดเวลาเพียงเท่านี้