แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๖ นี้ อาตมาจะได้กล่าวถึง ตัวแท้ของจริยธรรม ตัวแท้ของจริยธรรม ในทีนี้อาตมาระบุไปยังทุกสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอที่ เรียกว่า มรรคมีองค์แปด คำว่ามรรคนี้ เป็นสิ่งสุดท้ายในสิ่ง ๔ สิ่งที่เรียกว่าอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการ ก็คือ ทุกข์ ประการหนึ่ง ความทุกข์ประการหนึ่ง มูลเหตุให้เกิดความทุกข์ประการหนึ่ง แล้วก็สภาพที่เป็นความดับสนิทของความทุกข์ไม่มีความทุกข์เหลือนั้นประการหนึ่ง และประการสุดท้ายคือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงสภาพชนิดนั้นและเรียกกันว่า มรรค ที่ได้กล่าวว่าเป็นตัวแท้ของจริยธรรมนี้ โดยมีเหตุผลพร้อมทุกประการ แม้ว่าเราจะเอาคำว่าจริยธรรมโดยตัวพยัญชนะเป็นหลักก็แปลว่า ธรรมที่ควรประพฤติ จริ แปลว่า ประพฤติ จิยะ แปลว่า ควร จริย แปลว่า ควรประพฤติ จริยธรรมก็แปลว่า สิ่งที่ควรประพฤติ ในบรรดาสิ่งที่ควรประพฤติทั้งหลายไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การประพฤติที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ความดับทุกข์นั้น เราขยายได้ออกได้เป็นอย่างกลาง อย่างสูง อย่างต่ำ ทั้งจริยธรรมจะอยู่ในระดับไหนก็สุดแท้ แต่ต้องรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ควรประพฤติหรือหนทางที่ควรจะเดินนั้นเอง ตอนนี้อยากจะให้ย้อนระลึก ย้อยไปถึงคำบรรยายครั้งแรกที่ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ซึ่งคำว่า ธรรมะ โดยทั่วไปแล้วก็แปลว่า สิ่ง เท่านั่นเอง สิ่ง ทุกสิ่ง คือ ธรรมะ หมายถึงทุกสิ่ง คือทั้งตัววัตถุ และตัวจิตใจ และตัวการประพฤติ กระทำและผลของการกระทำล้วนแต่เรียกว่า ธรรมะ หรือสิ่งไปทั้งนั้น ทีนี้เราอาจจะแยกธรรมะหรือสิ่งออกเป็น ๒ ประเภท โดยหลักใหญ่ๆ คือ ธรรมะที่เป็นตัวผลที่เรามุ่งหมายอย่างหนึ่ง และธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตัวเหตุหรือตัวเครื่องมือที่จะทำให้ได้ผลอันนั้นมา ดังนั้น ธรรมะหรือสิ่งที่เป็นเหตุหรือตัวเครื่องมือนี้เอง ที่เราเรียกว่า จริยธรรม หรือที่เรียก จะเรียกว่า มรรคในพระพุทธศาสนาก็ตาม
ขอให้ได้สนใจคำว่ามรรคไว้ในฐานะเป็นตัวแท้ หรือเป็นตัวทั้งหมดของการปฏิบัติใน พระพุทธศาสนา คำว่า มรรค แปลว่า หนทาง มีมูลมาจากคำสามัญธรรมดาที่คนทั่วไปใช้พูดคือ ถนนหนทางที่ใช้เดินด้วยเท้ากันอยู่ตามธรรมดา นั้นแหละ ก็เรียกว่า ทาง หรือ มรรค เหมือนกันในภาษาบาลี ก็เมื่อมีระบบศาสนาเกิดขึ้นเป็นเรื่องทางจิตทางใจค้นพบวิธีปฏิบัติที่จะทำให้จิตใจก้าวหน้าไปสู่ภูมิธรรมอันสูงกระทั่งอยู่เหนือความทุกข์ เขาเลยยืมเอาคำว่า ทาง ถนนหนทางไปใช้เรียกระบบการปฏิบัติทั้งหมดนั้น เรียกว่า ทาง คำว่าทางมีความหมายดีอยู่ในตัวมันเอง และใครๆ ก็รู้จัก พอพูดว่าทางก็ฟังถูก พูดว่าทางเดินเท้าก็ยิ่งฟังง่าย ส่วนที่เป็นทางจิตทางใจก็ต้องได้รับการศึกษาบ้าง
ท่านผู้เฒ่าสูงอายุอยู่ที่นี่ก็มีอยู่หลายคน คงจะได้เห็นหรือฟังบางท่านก็อาจจะต้องการเสียเองว่าต้องให้มีคนบอกทางเมื่อใกล้จะตาย เมื่อใกล้จะตายมีธรรมเนียมบอกทางให้คนใกล้จะตายนั้นระลึกถึงทาง บางทีก็บอกว่า อรหันต์ เอ่ยชื่อพระอรหันต์ขึ้นมา บางทีก็บอกว่าไปไหว้พระศรีอาริยะเมตไตรบนสวรรค์เหล่านี้เป็นต้น เขาเรียกว่าบอกทาง นั่นเป็นสิ่งที่เลือนมาเต็มทีแล้ว ที่จริงบอกทางนี่ก็คือเตือนให้ระลึกถึงธรรมที่ว่ามีแนวอยู่อย่างไร มีลู่มีทางเป็นแนวเป็นอย่างไรให้ระลึกให้ได้ให้ประจำใจแล้วก็ดับจิตไปด้วยความรู้สึกอันนั้น นั่นคือบอกทาง ต่อมาเหลือแต่เพียงเป็นประเพณีตะโกนว่า พระอรหันต์ดังลั่นบ้านไปหมด บอกทางแก่คนที่จะตายจะขาดใจตายอยู่แล้วหูก็ไม่ได้ยินแล้ว นี่มันเป็นพิธีที่น่าหัวเราะ ระเบียบที่วางไว้ดีถูกทำให้เป็น สีลัพพตปรามาส ไปด้วยเหตุนี้ ที่ว่าระเบียบที่วางไว้ดีก็หมายความว่า เมื่อเขายังมีสติพอระลึกนึกคิดอะไรได้ ญาติข้างเคียงหรือผู้หลักผู้ใหญ่บอกให้เขาระลึกถึงหลักธรรมต่างๆ อย่างสั้นที่สุด ไม่ให้ฟั่นเฟือน ให้เขาถือเอาเป็นเครื่องทำให้จิตใจให้มั่นคงไม่หวั่นไหวต่อโรคภัยไข้เจ็บไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย มีจิตปกติ สงบเย็นเป็นสุขแล้วดับไปนี้ ก็มากลายเป็นพิธีตะโกนให้หนวกหูไปอย่างนี้เป็นต้น คำว่าทาง ก็เป็นสิ่งที่ประสงค์กันอยู่อย่างยิ่งถึงอย่างนี้ ทีนี้ คำว่ามรรคหรือทางในที่นี้ ประสงค์เอาทางวิญญาณหรือทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุ คือถนนหนทางที่ราดยางราดซีเมนต์สำหรับเดินนั่นเป็นทาง ในทางฝ่ายวัตถุหรือรูปธรรม แต่ว่าทางที่เราจะกล่าวกันในทางศาสนานี้ เป็นทางเดินของวิญญาณ จึงเป็นทางทางฝ่ายวิญญาณ บางท่านคงจะนึกตะหวาดอาตมาอยู่ในใจว่า อะไร อะไรก็วิญญาณอะไร อะไรก็วิญญาณน่ารำคาญอย่างยิ่ง อยู่อย่างนี้ก็ได้ ถ้าอย่างนี้ก็ขอยืนยันว่า มันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอร้องให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เข้าใจสิ่งซึ่งเป็นทางฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณยิ่งขึ้นทุกที จู้จี้พิรี่พิไร พูดถึงทางฝ่ายวิญญาณนี่ให้เข้าใจ แจ่มแจ้งกันจนได้และยิ่งๆขึ้นไป ตั้งต้นตั้งแต่ว่าครูเป็นผู้นำทางวิญญาณเป็นไกด์ผู้นำให้เดินทางแต่เป็นทางวิญญาณ ถ้าครูไม่รู้จักทางวิญญาณมีไว้สำหรับวิญญาณเดินแล้วจะป็นผู้นำได้อย่างไร จึงควรจะสนใจทางวิญญาณนี้ให้มาก แท้ที่จริงแล้วก็น่าจะกล่าวว่า แม้แต่สถาบันครูก็เป็นฝ่ายวิญญาณหรือทางฝ่ายวิญญาณ สถาบันแท้จริงของครูไม่น่าจะเป็นอาคารสถานที่หรือเป็นตัวบุคคลแต่เป็นสถาบันทางจิตทางวิญญาณร่วมกันทั้งโลก มีอยู่ในโลกก็จูงจิตวิญญาณทั้งหลายของสัตว์โลกให้สูงขึ้นไป เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิทางวิญญาณคุ้มครองสัตว์โลก จูงนำสัตว์โลก อย่ามองสถาบันของครูที่อาคารสถานที่หรือที่ตัวกลุ่มของครู หรือแม้แต่ตัวการปฏิบัติงานของครู ขอให้มองลึกไปที่ตัว spirit ทางความเป็นครูในส่วนลึกของจิตใจมีวิญญาณแห่งความเป็นครูเต็มไปด้วยเมตตากรุณาจนถึงกับว่า ในหัวใจของครูนี้ ถ้าผ่าออกดูได้ต้องให้เห็นเมตตากับปัญญานอนเคียงคู่กันอยู่ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ไม่มีจิตที่คิดที่จะหาเงินเอาเปรียบนายจ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของลูกจ้าง ในหัวใจลูกจ้างถ้าผ่าออกดูจะเห็นแต่อย่างนั้น คือไม่เห็นเมตตากับปัญญานอนเคียงคู่กันแต่มีความเห็นแก่ตัว ความจะเอาเปรียบนายจ้างจนกระวนกระวายต่างๆ อยู่ นี่เป็นหัวใจของลูกจ้าง ในหัวใจของครูมีสิ่งสองสิ่งคือ เมตตากับปัญญานอนเคียงคู่กันอยู่ ดังที่กล่าวแล้ว นั้นแหละคือสถาบันของครู เป็นฝ่ายนามธรรม ไหนๆ ก็ได้พูดทางฝ่ายวิญญาณมาแล้ว ก็จะพูดต่อ เลยภายในโอกาสนี้ทีเดียวว่า
แม้แต่การสมรส การแต่งงานนี่ก็อยากจะกล่าวว่าการสมรสทางวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ทางเนื้อหนังหรือทางร่างกาย ด้วยเหมือนกัน คำว่า สมรสก็แปลว่า มีรสเสมอกัน สะมะ แปลว่า เสมอ รส แปลว่า รส สมรสแปลว่า มีรสเสมอ คือ มีรสนิยมอย่างเดียวกัน เสมอกัน นั่นถ้าคนมีจิตใจตรงกันโดยทุกวิถีทาง เสียสละเพื่ออุดมคติอย่างเดียวกันจนตายไปด้วยกัน แต่เนื้อหนังไม่เคยถูกต้อง ไม่เคยแตะต้องกันเลย อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นการสมรสทางวิญญาณได้ หรือว่าผู้ที่จะเรียนตำรับตำราคัมภีร์ที่มากมายเช่น พระไตรปิฎกนี้ ท่านอาจารย์แต่เก่าแก่ยังแนะให้สมรสกับนางฟ้าชื่อ วาณี เสียเลย ภิกษุ ผู้จะเรียนพระไตรปิฎก ท่านแนะให้มีการสมรสกับนางฟ้าชื่อว่า วาณี เสียเลย วาณีนางฟ้าคือ พระไตรปิฎกนั้นเอง “มุนิน ทะ วะ ทะนำภุชะ ภะคะวะ สัม วะ สุนทรี วาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปี นะยะตัง มะนัง” นี่แหละคาถาที่จะสมรสกับนางฟ้าคือ วาณี หรือพระไตรปิฎก วาณี นางฟ้า กล่าวคือ พุทธะวัจนะออกจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าจอมแห่งมุนีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จงทำใจของข้าพเจ้าให้ลุ่มหลง ข้อความนั้นแปลว่าอย่างนี้ นั้นพระไตรปิฎกแม้จะมากมายก่ายกองก็เรียนกันจบได้
อาตมายังจะกล่าวว่าถ้าดียิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ควรจะสมรสกับนางสาวสุญญตาเสียเลย สุญญตา ซึ่งแปลว่าภาวะแห่งความว่างจากกิเลสจากความทุกข์อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นๆ นั่นแหละ มีลักษณะเป็น eternity คือ เป็นปัจจุบันธรรมอยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลตามเวลา มีอยู่เป็นนิรันดร เราเข้าถึงสิ่งนี้โดยจิตใจปฏิบัติอย่างถูกต้องจะลุ่มหลงแต่ในสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า สมรสกับนางสาวสุญญตา ทำไมถึงเรียกว่านางสาว ท่านอธิบายกันว่า เพราะสิ่งนี้ไม่เคยแก่เลย สิ่งที่เรียกว่า eternity เป็นปัจจุบันกาลอยู่เรื่อย เพราะไม่มีการเกิด และการตาย และไม่มีการเปลี่ยนแปลง สดชื่นอย่างยิ่งอยู่เสมอ จึงควรแก่นามว่า นางสาวสุญญตา เพราะว่าเป็นนางสาวที่ไม่ ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงจากความเป็นสาว คือมีความสดชื่น แจ่มใสไร้ความทุกข์อยู่เสมอ นี่ก็เรียกว่าเป็นการสมรสกับนางสาวสุญญตา โดยโวหารพูด เป็นการสมรสในด้านจิตด้านวิญญาณเหมือนกัน กับสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง คำพูดอย่างนี้จะเป็นสำนวนโวหารเล่นลิ้น หรือจะเป็นสำนวนโวหารที่แสดงความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ขอให้ลองไปคิดไปนึกดูเอง ถ้าคิดนึกดูเอง ถ้าคิดนึกดูเองถูกวิถีทางแล้วจะพบวิถีทางความหมายว่า อะไรอะไรก็ทางวิญญาณไปทั้งหมดได้โดยง่าย ดังนั้นขอให้เป็นว่า เรายังมีอาหารทางวิญญาณ มียาแก้โรคทางวิญญาณ มีเครื่องนุ่งห่ม ทางวิญญาณ มีที่อยู่อาศัยทางวิญญาณ มีชีวิตจิตใจ มีการมีชีวิตอยู่ ครองชีวิตอยู่ในด้านวิญญาณ อาหารทางวิญญาณก็คืออะไร ไม่ได้หมายถึงข้าวปลาอาหารที่เราบริโภคเป็นประจำวัน แต่หมายถึงอาหารที่จิตใจบริโภคก็คือ ธรรมะที่ควรแก่การบริโภคของจิตใจนั่นเอง ก็ไม่พ้นไปจากจริยธรรมแขนงใด แขนงหนึ่ง ซึ่งจิตใจต้องการจะบริโภค บริโภคแล้ว จิตใจ สะอาด สว่าง สงบ จึงเรียกว่า อาหารทางวิญญาณ ยาแก้โรคก็เหมือนกัน คนเรามีโรคทางวิญญาณทางจิตใจอยู่ชนิดหนึ่งคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เสียบแทงจิตใจอยู่ เหมือนกับที่ความป่วยไข้ ได้ป่วยทางเนื้อหนัง นี่ก็เสียบแทงเนื้อหนังอยู่ เป็นคู่กันอย่างนี้ โรคทางกายก็แก้ด้วยยาทางกาย โรคทางวิญญาณก็ต้องแก้ด้วยยาทางวิญญาณ เราพิจารณาดูทีว่า ใครบ้างไม่เป็นโรคทางวิญญาณ ที่ว่าเครื่องนุ่งห่มก็เหมือนกัน เสื้อผ้านุ่งห่มให้แก่ร่างกาย แต่ธรรมะนั้นนุ่งห่มให้แก่จิตใจ คนไม่มีธรรมะ เหมือนกับคนเปลือยกาย แม้เขาจะนุ่งห่มสักกี่ชั้นๆ ด้วยผ้าผ่อนอาภรณ์เนี่ย ก็เป็นคนเปลือยกายอยู่นั้นแหละ นั่นกลางถนนเราจะเห็นคนเปลือยกาย เป็นหมู่ๆ ฝูงๆ อยู่ก็ได้ คือพวกคนที่ไม่มีธรรมะนั่นเอง ส่วนคนที่มีธรรมะ นุ่งผ้านั้นซ่อนเร้นอยู่ในห้องไม่กล้าออกมาก็ได้ เพราะไม่กล้าเบียดเสียดกับคนเปลือยกายเหล่านั้นตามท้องถนน นี่คือเครื่องนุ่งห่มทางวิญญาณ ที่อยู่อาศัยในทางวิญญาณ หมายถึงมีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของจิตใจ พวกที่เป็นพรหม ก็อยู่ด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ส่วนพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านอยู่ด้วย สุญญตาวิหาร คืออยู่ด้วยธรรมะว่าง เป็นเครื่องว่างจากตัวกู จากของกู นี่คือที่อยู่อาศัยในทางวิญญาณ ที่เรามีชีวิตอยู่ในทางวิญญาณก็หมายความว่า มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ไม่ได้อยู่ในบ้านเรือน นั่นเป็นเรื่องทางฝ่ายกาย ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายรู้ความหมายของคำว่าทางวิญญาณ ทางวิญญาณให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปทุกวัน กว่าจะถึงวันสุดท้าย
ธรรมะสูงสุดก็คือ สุญญตา ความว่าง ดังที่กล่าวแล้ว จนถึงกับพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านอยู่ด้วยความว่างอย่างนี้ ว่างจากความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวเลย คุณค่าของสุญญตาหรือความว่างนี้มีมากมายอย่างนี้ ควรจะเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง แก้ปัญหาได้ทุกประการ การที่เพชฌฆาตฆ่าคนไม่เป็นบาป เพชฌฆาตไม่เป็นบาป หรือทหารปฏิบัติหน้าที่ของตนยิงปืนออกไปไม่เป็นบาป ตุลา-การพิพากษาประหารชีวิตคนไม่เป็นบาป ไม่ต้องเป็นบาป ก็เพราะอำนาจของสุญญตา ธรรมะชั้นสูง ที่ทำให้เห็นความว่างจากตัวตนหรือของตน ไม่มีความเห็นแก่ตน เห็นแก่ธรรมอย่างเดียว อย่างเพชฌฆาตเขาทำหน้าที่ของเขาด้วยจิตใจบริสุทธิ์แล้ว เขาก็ต้องมีธรรมะเป็นหลักยึด เพราะเขาทำไปนี้เพื่อผดุงธรรมะไว้ไม่ให้สูญไปจากโลก ถ้าเจตนาของมีอย่างบริสุทธิ์อย่างนี้ เขาไม่บาป เว้นไว้แต่ถ้าเพชฌฆาตบ้าๆ บอๆ กินเหล้าเข้าไปแล้วมีความทะนงตัวทำหน้าที่นั้นมันก็ต้องบาป ธรรมดา ทหารก็เหมือนกัน ถ้าลั่นไกปืนออกไปพร้อมด้วยมีจิตใจมุ่งมั่นแต่จะผดุงความยุติธรรมของโลกอย่างเดียวเท่านี้ ไม่เห็นแก่ใครหมด ไม่เห็นแก่ตัวเอง ไม่เห็นแก่ใครหมด ไม่เห็นแก่หน้าไหนหมด เห็นแก่ความเป็นธรรมของโลก ว่างจากตัวตน ของตน มีธรรมะบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว เขาไม่ต้องเป็นบาปเพราะ การยิงปืนออกไปและทำให้คนตายเพราะเจตนาของเขาบริสุทธิ์อย่างนั้น หรือว่า ตุลาการวินิจฉัยไปตามตรงแม้จะต้องสั่งพิพากษาสั่งประหารชีวิตใครเพราะทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่จะผดุงความเป็นธรรมของโลกไม่เห็นแก่ตัวเอง ไม่เห็นแก่หมู่ไหนคณะไหน หรือแม้แต่ประเทศชาติโดยตรงแต่ว่าเห็นแก่ธรรมะอย่างเดียว ไม่มีตัวกูของใครเข้ามาเจือแล้วก็ต้องไม่รับบาปเพราะเหตุนั้น คือความรู้เรื่องความเป็นไปในทางฝ่ายวิญญาณ ซึ่งลึกซึ้งละเอียดลออสุขุมยิ่งกว่าทางฝ่ายร่างกาย ถ้าเรานำมาใช้ปฏิบัติได้ถูกต้อง สิ่งต่างๆ จะหมดปัญหา จะไม่มีความทุกข์ จึงแนะนำให้สนใจทางด้านจิตหรือทางด้านวิญญาณนี้ยิ่งๆ ขึ้นไป หรือจะกล่าวอีกที่หนึ่งก็ว่า ธรรมะในด้านจิตด้านวิญญาณขั้นสูงสุดคือ เรื่องสุญญตานี้ จะทำให้คนเราอยู่เหนือโชค เหนือโชคชะตา อยู่เหนือกรรม เหนือโชค เหนือกรรมนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ลองนำไปลองคิดดูซิ มันมีเรื่องที่ต้องอธิบายกันมาก ไม่มีเวลาพอ แต่คนใดที่เชื่อโชคชะตา ไปดูหมอมา จะว่าอย่างใดก็ตาม ถ้าอยู่เหนือโชคเหล่านั้นก็ต้องศึกษาเรื่อง สุญญตาให้ถูกต้องอย่างมงายจะเป็นผู้มีจิตใจหรือวิญญาณอยู่เหนือโชคที่โชคชะตานั้นทำอะไรไม่ได้ อย่าว่าแต่โชค แม้แต่กรรม คือกรรมดี กรรมชั่ว ที่เด็ดขาดเที่ยงแท้แน่นอนนี้ ก็ยังมีกรรมที่สาม ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ประพฤติปฏิบัติ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ที่จะกล่าวต่อไปนี้เอง เป็นเครื่องทำให้อยู่เหนือกรรมดี กรรมชั่ว ไปหมดเหนือโลกไปหมดเรียกว่ากรรมที่สามเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดี กรรมชั่ว นี้อยู่เหนือไปหมด เหนือหัวเราะหรือร้องไห้ เหนือทุกอย่างที่มนุษย์เป็นๆ กันอยู่นี้ สามารถเขย่าพรหมโลกให้ทลายลงมาก็ได้ ในบรรดาสิ่งที่มนุษย์ถือว่าสูงสุด ไม่มีอะไรเชื่อถือกันว่า สภาพที่เรียกว่าพรหมโลกสูงสุดมั่นคงที่สุด แต่ถ้ามาผูกเข้ากับเรื่องสุญญตาแล้ว พรหมโลกก็จะพังทลายลงมาทีเดียว เรื่องทางฝ่ายวิญญาณที่เป็นฝ่ายลึกอย่างนี้ นั้นอย่าไปอิดหนาระอาใจก็จะคิดนึกในทางฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณ
อาตมาจะกล่าวถึงเรื่องทาง คือทางฝ่ายวิญญาณนี้ต่อไป คำว่า มรรคแปลว่า ทาง คำว่าทางคือทางเดิน เดินด้วยกายก็ได้ เดินด้วยใจก็ได้ แต่ในที่นี้เราหมายถึงเดินด้วยใจ คำว่าทาง หรือ หนทางนี้ มันศักดิ์สิทธิ์มาก ศักดิ์สิทธิ์จนถึงกับสร้างสถาบันของตัวมันเองขึ้นมาได้ ในบรรดาลัทธิศาสนาที่สูงและที่ประเสริฐแล้วก็จะต้องมีคำว่าทาง และใช้คำว่าทางนั่นเองเป็นตัวแท้ของศาสนา เช่น ศาสนาพุทธของเรานี้มีคำว่า มรรคมีองค์แปดนี้ เป็นตัวศาสนา เป็นตัวแท้ของศาสนา แต่บางทีก็เรียกว่าพรหมจรรย์ หรือเรียกโดยชื่ออื่นก็ได้ มรรคมีองค์แปดนั้นคือ พรหมจรรย์ ปฏิบัติพระศาสนาอย่างนี้ก็มีแต่เอาคำว่าทางเป็นหลัก อาจจะใช้คำนี้ มัชฌิมาปฏิปทา ปฏิปทา ก็แปลว่าทาง มรรคก็แปลว่าทาง ทางสายกลางนี้ เป็นตัวศาสนา ก็แปลว่าเขาจะใช้คำว่าทาง เป็นตัวศาสนามาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยซ้ำไป เพราะเป็นคำที่เหมาะสมและเป็นไปเองตามธรรมชาติ เพราะน้ำหนักของคำคำนี้ ศาสนาที่เก่าแก่ของประเทศจีน ลัทธิเต๋า คำว่าเต๋า ก็แปลว่า ทาง คำนี้เอามาใช้ แทน ธรรมะ ในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาในยุคแรกๆ เอาตัวคำว่า เต๋า คำแปลของคำว่า ธรรมะ และตัวเต๋า ก็แปลว่า ทาง ผู้ตั้งลัทธิเต๋า คือเล่าจื้อ หรือก่อนเล่าจื้อ มองเห็นความหมายของคำว่าทางมาแล้วทั้งนั้น ศาสนาที่เก่าแก่ในเปอร์เชีย คือศาสนา ซูรุสเตอร์ ก่อนพุทธกาลนั้น ก็มีคำว่าทาง เหมือนกัน ซึ่งหมายถึงตัวธรรมะในศาสนานั้น ที่มองดูศาสนาใหม่ๆ เช่น ศาสนาคริสเตียน ก็มีคำว่าทาง เช่นพระเยซู กล่าวว่า ข้าพเจ้านี่แหละคือทาง เรานี้คือตัวทาง เรานี่แหละคือ ทาง เป็นต้น หมายความว่า ทาง ทางพระเยซูนี้ เข้าถึงพระเป็นเจ้าในสวรรค์ ได้ มีความหมายสำคัญอยู่อย่างนี้ในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นจึงถูกนำมาใช้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาทุกศาสนาก็ว่าได้ คืออาจจะมองเห็นได้ไม่โดยตรง หรือก็โดยอ้อม อาตมาจึงกล่าวว่า คำว่า ทางนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก จนถึงกับมันสร้างสถาบันเกี่ยวกับตัวของมันเองขึ้นมาได้ที่เดียว เป็นทาง เป็นแนว อยู่อย่างประจักษ์ อย่างศักดิ์สิทธิ์ อย่างใครมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วมีหลักอยู่อย่างนั้น ตายตัว ด้วยอำนาจของธรรมชาติ มีแต่ว่าใครจะรู้จักหรือไม่รู้จัก หรือจะเดินหรือไม่เดินเท่านั้นเอง ทาง มันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าใครไม่เดิน จะโทษทางไม่ได้ ต้องโทษคนที่ไม่เดิน เรียกว่าทางเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถึงกับตั้งตัวเองอยู่ได้ ยกตัวเองขึ้นเป็นสถาบันได้
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ทาง มีองค์แปด อัดถัง ธิกะ แปลว่า มีองค์แปด องค์นี้ ขอให้เข้าใจคำว่าองค์ คือตรงกับคำว่า factor หรือ ... นั่น คำว่าทางจึงไม่ได้มีแปดทางเหมือนกับที่พูดกันผิดๆ โดยสับเพร่า โดยประมาท พูดกันว่า มรรคแปด มรรคแปด พูดกันเกร่อไปหมด มันผิดทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่า มรรค แล้วต้องหนึ่ง เท่านั้น เหมือนกับที่กล่าวแล้ววันก่อนว่า เป็นทางเดียว สำหรับบุคคลคนเดียว จุดหมายเดียว และคนเดินคนเดียว ตั้งสามเดียว เส้นเดียวสำหรับบุคคลเดียวสำหรับจุดหมายเดียว สู่จุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว มันเดียวถึงอย่างนี้ สามเดียว เส้นเดียวต้องระบุคนเดียวเพื่อจุดหมายปลายทางเพื่อสิ่งๆ เดียว อย่าไปพูดว่า แปดทาง มรรคแปด แปดทางทำนองนั้นมันผิดอย่างน่าสมเพช องค์แปด นั่นก็คือ เห็นชอบ ดำริชอบ พูดชอบ ทำชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พากเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ อย่างที่ได้เคยยินได้ฟังกันอยู่แล้วตั้ง แปด แปดชอบนี้แปดชนิดรวมกันแล้วจึงจะรวมเป็นทางเส้นเดียวขึ้นมา เราลองนึกถึงว่า เราที่จะมี การศึกษาดีนี้ การศึกษาจริยธรรม โดยเฉพาะสำเร็จประโยชน์แก่ นักเรียน ก็ต้องมีองค์ ๓ เป็นอย่างน้อย เช่นว่า มีครูดีองค์หนึ่ง สิ่งแวดล้อมดีองค์หนึ่ง มีวิธีการสอนดีองค์หนึ่ง รวมเป็นสามดี สามองค์ สำเร็จประโยชน์ในการศึกษา หรือการอบรมจริยธรรม ก็ต้องมีครูดี ครูดีหมายถึงครูประพฤติดี ถ้าครูประพฤติไม่ดี จะเอามาสอน นักเรียน มาขู่เข็ญนักเรียนสักเท่าไรนักเรียนก็ไม่ทำตามเพราะครูไม่ประพฤติดีเอง ไม่ทำตนเป็นตัวอย่าง ครูที่มีความรู้มากแต่ประพฤติไม่ดี ไม่สำเร็จประโยชน์ในการสอน เพราะนักเรียนจะไม่เคารพและเชื่อฟัง และจะต้องมีครูที่มีความรู้ดีอย่างนี้เป็นต้น องค์หนึ่ง สิ่งแวดล้อมดีก็หมายความว่า มีบิดามารดาของเด็กนักเรียนดี มีโรงเรียนดี เครื่องใช้เครื่องสอยดี เครื่องมือดี เรียกว่า สิ่งแวดล้อมดี และก็มีวิธีการสอนที่ดี คือฉลาดในการสอนนำจิตใจของเด็กไปได้จริง สามดีอย่างนี้แล้วก็ ครบสามองค์ ครบองค์สาม อย่างน้อยครบองค์สาม จะมีกี่องค์อีกก็ตามใจ แต่ว่าอาตมายกตัวอย่างว่าเพียงสามองค์นี้ก็ดูเหมือนว่าจะพอ แล้วก็สำเร็จประโยชน์ เป็นหนทางขึ้นมา คือมีการเดินทางที่ดี สำเร็จขึ้นมา เพราะครบองค์สาม เด็กมีวิญญาณที่เดินไปตามทางถูกต้อง ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะการสอนนั้นสมบูรณ์ แต่สำหรับตรงนี้อยากจะขอบอกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าดูเหมือนว่า ท่านเล็งถึง ครูดี มากว่าอย่างอื่นหมด เพราะถ้ามีครูดีอย่างเดียว ย่อมบันดาลสิ่งอื่นๆ ได้หมด บันดาลสิ่งแวดล้อมให้ดี หรือบันดาลวิธีการสอนให้ดีได้ไม่ยากเลย ให้ครูดีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ
คราวหนึ่งพระอานนท์มาทูลแสดงความเห็นของท่านกับพระพุทธเจ้าว่า ท่านเห็นว่า มิตรดี กัลยาณมิตรเป็นความสำเร็จของมนุษย์เราตั้ง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่ใช่อย่างนั้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย กัลยาณมิตรเป็นความสำเร็จของคนเรา ในสิ่งที่ประสงค์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ก็คล้ายกับว่า ถ้า กัลยาณมิตร ย่อมบันดาลอะไรให้ได้หมด โปรดเข้าใจว่า ในทางธรรมะนั้น เขาเรียก “ครู” ว่ากัลยาณมิตร เช่นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐาน เขาเรียกว่า กัลยาณมิตร เขาไม่เรียกว่าครูหรืออาจารย์ นั้นขอให้สนใจว่า องค์หลายๆ องค์นี้มันจะรวมกันเป็นสิ่งๆ เดียวได้อย่างไร ถ้าจะยกตัวอย่าง วัตถุตรงๆ ก็เช่นว่า เชือกเส้นเดียวมีแปดเกลียว แปดเกลียวรวมกันเป็นเชือกเส้นเดียว เราไม่เรียกว่า เชือกแปดเส้น ฉะนั้นอย่า ได้เรียกว่า มรรคแปด อีกต่อไป ขอให้เรียกว่า มรรคมีองค์แปด และ ก็ มรรคเดียว หรือว่าทางเดินเท้าสายหนึ่งมันต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย แปดองค์ จะมีแต่ถนนลาดยางอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ถนนเส้นนั้นต้องมีการคุ้มครอง จากโจรผู้ร้าย จากเสือ จากราชสีห์ อะไรเป็นต้น ถนนเส้นนั้นจะต้องมีอาหารซื้อหากินได้ในระหว่างทาง มีร่มเงามีสะพาน มีสิ่งจำเป็นอย่างอื่นๆ ที่จำเป็นแก่การเดินทาง หนทางนั้นจึงสำเร็จประโยชน์ กี่รวมกันสักองค์ก็ได้ เรียกว่ารวมกันแล้วเป็นทางหนึ่งขึ้นมาได้ ในพุทธศาสนาเรา สิ่งที่เรียกว่า มรรค หรือ ทาง จำแนกเป็นองค์ แปด องค์ อย่างที่ระบุชื่อมาแล้ว ที่จะขอถือโอกาสบอกเล่าอีกนิดหนึ่งว่า ศาสนาคู่แข่งขันกันกับศาสนาพุทธเรา คือ ศาสนา ไทยนะ เขามีสามองค์เท่านั้น คือ สัมมา ศรัทธา ความเชื่อถูกต้องนั้นองค์หนึ่ง สัมมา ญาณ ความรู้ถูกต้อง องค์หนึ่ง และสัมมากรรม การกระทำถูกต้อง นี่องค์หนึ่ง นี่ ๓ องค์รวมเรียกว่า มรรค หรือทาง ส่วนเรามีถึงแปด ดังที่ขยายออกไปให้ฟังแล้ว ฟังดูก็เข้าที ที่ว่าเชื่อถูกต้อง รู้ถูกต้อง กระทำถูกต้องก็พอแล้ว เพราะสามอย่างนี้อาจขยายออกเป็นแปดหรือเป็นเท่าไรก็ได้ เหมือนพุทธศาสนาเราก็ได้ แต่แล้วมันผิดกันอยู่ตรงที่ว่า หนทางของฝ่ายไทยนะ นั้น เขากล่าวว่า เมื่อเดินไปถึงจุดหนึ่งถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไปมีตัวตนที่ถาวร เรียกว่า เกยวัลยะ หรือ ที่เรียกว่า ไกลวัล เรามักจะแปลว่า ไกลวัลทั้งปวง ไกลวัลนี้เป็นชื่อจุดหมายปลายทางทั้งปวงของศาสนา ไชยนะ คือเป็นอัตตาที่ทั้งหมดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเทียบได้กันกับนิพพานของเรา แต่ความหมายไม่เหมือนกัน แปลว่าทางทั้งหมดนั้น มีจุดมุ่งหมายปลายทางเป็นสุดยอดเป็นนิพพาน หรือเป็นไกลวัล หรือเป็นอะไรก็ได้เหมือนกันทั้งนั้น และต้องทราบว่าเมื่อพระพุทธเจ้าออกจากพระราชวังไปเป็นนักบวชนั้น ทรงกระเสือกกระสนไปตามสำนักต่างๆ นั้น ได้ไปเป็นลูกศิษย์ของลัทธิไชยนะ อยู่นานมาก เพราะว่าในเวลานั้น ศาสนาไชยนะกำลังแพร่หลายและสั่งสอนอยู่ เพราะในพระไตรปิฎกของเรา เมื่อสำรวจดูแล้วจะพบว่ามีตั้ง ๑๔ สูตรที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าของเราไปเป็นลูกศิษย์ไชยนะ เป็นลัทธิที่เราเรียกว่า เดียรถี นิครน ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้มีอยู่อย่างที่ดีกว่าลัทธิอื่นทั้งหมด ศาสดาชื่อ ปารวานาถสอนอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อตายไปแล้วมันก็ยังสอนกันอยู่ก็ยังสอนกันอยู่ พระพุทธเจ้าได้เข้าไปศึกษาอย่างมากมายจนถึงที่สุดจึงได้ผละออกไป เพราะจึงได้ยืม คำ ต่างๆ ในลัทธิไทยนะนั้นมาใช้ เช่นคำว่า อรหันต์ เช่นคำว่า มรรค เช่นคำว่าอะไรด้วยชื่อธรรมดาสามัญ เหมือนกันคำเดียวกัน แต่มาให้ความหมายใหม่หมด เพราะท่านไม่เห็นด้วยความหมายที่มีอยู่เดิม คำว่านิพพานจะให้เป็นอัตตา เป็นไกลวัล ถาวรนั้นไม่ได้ จึงต้องมามีความหมายว่าเป็นสุญญตา อย่างนี้เป็นต้น นั้นหลักการต่างๆ มันจึงคล้ายกันมากจนปนเปกันได้ ขอให้เข้าใจไว้ด้วย อย่าได้เผลอถึงกับทำยุ่งในเรื่องนี้ นั้นหลักที่ว่า มรรคมีองค์แปดมีอะไรบ้างก็ต้องสนใจให้ถูกต้องและแม่นยำ คำว่า องค์แปด มีความหมายอย่างนี้ คำว่า องค์ มีความหมายอย่างนี้ และก็มีแปด เหมือนกับเชือกแปดเกลียว ปั้นเป็นเชือกเส้นเดียวสำเร็จประโยชน์ หรือว่าครูดี สิ่งแวดล้อมดี มีวิธีสอนดีแล้วก็รวมเป็นหนทางทางเดียวทางเอกสำเร็จประโยชน์ในการเดินทางของเด็ก อย่างนี้ เป็นต้น
ทีนี้เรามาพูด ถูกต้องหรือสัมมากัน มรรคแต่ละองค์ แต่ละองค์ สัมมา สัมมานำหน้า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง สัมมาสังกัปโป ความดำริถูกต้อง สัมมาวาจา คำพูดถูกต้อง สัมมากัมมันโต มีการกระทำถูกต้อง สัมมาอาชีโว มีอาชีวะถูกต้อง สัมมาวายาโม พากเพียรถูกต้อง สัมมาสติ รำลึกประจำใจถูกต้อง สัมมาสมาธิ ปักใจมั่นถูกต้อง จะมีสัมมา สัมมา ตั้งแปดสัมมา ในแปดถูกต้องนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ความถูกต้องทางฟิกสิกข์ คือถูกต้องทางกายทางวาจา ถูกต้องทางใจก็มี คือมีสติรำลึกชอบ มีความปักใจมั่นชอบ หรือมีความพากเพียรชอบ และทาง spiritual คือสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ มีดำริชอบ ทาง physical ก็ถูกต้อง ทาง mental ก็ถูกต้อง ทาง spiritual ก็ถูกต้อง ท่านฯ จึงจำแนกเป็นทาง เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาในแปดองค์นั่นแหละ สององค์ที่แรกเป็นปัญญา สามองค์ถัดไปเป็นศีล สามองค์ถัดไปเป็นสมาธิ ขอให้สนใจว่าเป็นความถูกต้องครบหมดจนไม่เหลืออันไหนไว้ให้ คือทางกายก็ถูกต้อง ทางกายก็ถูกต้อง ทาง spiritual ซึ่งไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไร แปลว่า วิญญาณก็ถูกต้อง โดยเป็นความถูกต้องหมด ถ้าอยากจะเห็นชัด ลองไม่ให้มันปนกัน ลองสังเกตอย่างนี้ว่า ถูกต้องทางกาย ทางวาจา คือ ดำรงกาย ดำรงวาจาไว้ดี ถูกต้อง ถูกต้องทางใจนั้นแหละ ดำรงใจไว้ดี เช่น ในการรับอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ ดำรงไว้ถูก ในลักษณะที่จะชนะ ไม่พ่ายแพ้ ที่ถูกต้องในทาง spiritual ส่วนลึก ส่วนวิญญาณ หมายถึงทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความรู้ ความเชื่อ มันถูกต้อง ความมีเหตุผลอย่างถูกต้อง นี้เป็นส่วนสูงส่วนลึกเลยที่เดียว แปลว่าถูกต้องไม่มีส่วนเหลืออะไร ไม่บกพร่องเลย นั่นคือคำว่า สัมมาของพระพุทธเจ้า ที่เอามาใช้กับ มรรคมีองค์แปด จึงเป็น สัมมามรรค คือเป็นหนทางที่ถูกต้อง ตรงกันข้ามกับ มิจฉามรรค ซึ่งมีอยู่ชุดหนึ่งเหมือนกันซึ่งเรียกว่า ทางผิด ก็คือตรงกันข้ามทุกอย่างนั่นเอง นี่เรียกว่าความถูกต้องของมรรคแต่ละองค์ ละองค์ ซึ่งมีรายละเอียดอย่างไร เราจะได้กล่าวกันต่อไป และจะกล่าวรวมๆ ชนิดที่ความหมายรวมเสียก่อน หนทางมีองค์แปด และก็ถูกต้องที่มีคำว่า อริยะคือ ประเสริฐ เข้ามาอีก กำกับให้แน่นแฟ้นเข้ามาว่า อริยมรรค มรรคที่เป็นอาริยะ คือ ประเสริฐ อาริยะนี้ แปลว่า ประเสริฐ ซึ่งมักจะแปลกันว่า nobel หรือ holy ก็ได้ แต่ความหมายทางตัวหนังสือนั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านนิยม แปลว่า ไปจากข้าศึก อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่าไป อริยะแปลว่า ไปจากข้าศึก ข้าศึก คือความทุกข์ ไปจากข้าศึก ก็ คือ อริยะ อริยมรรคคือหนทางที่จะไปจากข้าศึก ที่เราอาจจะประนีประนอมให้ปรองดองกันได้ก็ว่า เพราะไปจากข้าศึกได้ จึงประเสริฐเป็น nobel หรือเป็น holyขึ้นมา นี่เรียกว่า อริยมรรค และก็มีองค์แปด อย่างที่กล่าวแล้ว ทีนี้ สิ่งที่เรียกว่า มรรค หรือทาง ใช้ได้กว้าง กับเรื่องทางโลก ก็ใช้ได้ เรื่องทางธรรมก็ใช้ได้
น่าสมเพชเวทนาพวกเราในสมัยปัจจุบันนี้ ที่บาง บางคน บางท่านเข้าใจไปว่า ศาสนานี้ เป็นอุปสรรคอย่างร้ายของความเจริญของโลก นี้เขาสู่ศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาด้วยคำเท็จอย่างยิ่ง ไม่มีคำเท็จอะไรจะเสมอเหมือน โปรดช่วยบอกกล่าวกันให้ทั่วกันด้วยว่า เขาเป็นคน กล่าวตู่พระพุทธศาสนาด้วยคำเท็จอย่างไม่มีอะไรเสมอเหมือน คือ ผู้ที่กล่าวว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ขวางความเจริญของบ้านเมือง ขวางความเจริญของโลก ดังนี้เป็นต้น บางทีเขาก็เป็นเจ้าหน้าที่ ที่จะจัดบ้านเมืองให้เป็นสุข ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขเสียด้วยซ้ำไป เขาจึงได้พยายามกีดกันด้วยซ้ำไปที่จะไม่ให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมะ หรือศาสนา โดยกลัวว่า ศาสนาจะทำให้คนของประเทศนี้ เกียจคลานบ้าง ทำตนเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญของประเทศบ้าง นี้เป็นเรื่องที่ผิดอย่างยิ่ง ไม่ตรงตามความจริงแม้แต่นิดเดียว ธรรมะนั้นย่อมมีให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายโลก หรือฝ่ายธรรมะ ขอให้นำไปใช้ให้ถูกก็แล้วกัน ซึ่งถ้าจะพูดจะกล่าวอย่างรวบรัดที่นี่ อาตมาก็กล่าวว่า มรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นหนทางไปพระนิพพาน นี่แหละ เอามาใช้สร้างความเจริญในบ้านเมืองในโลกนี้ ทันในชีวิตนี้ในชาตินี้ เห็นกันด้วยตาดำๆ นี้ ก็ได้ ขอให้ศึกษาเข้าใจให้ดี ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ความใฝ่ฝันถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง ดำรงสติถูกต้อง ปักใจมั่นคงถูกต้อง นี้มันขัดขวางอะไรกับที่จะสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองของเรา หรือแก่โลก เพราะมันเป็นความหมายที่กว้าง นำมาใช้ในกรณีไหนในทางที่ถูกที่ควรได้ทั้งนั้น มันเป็นข้าศึกอุปสรรคก็แต่ในทางที่จะทำผิดทำชั่วเท่านั้น ถ้าเป็นในทางที่เป็นการทำดี ทำชอบแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นอุปสรรคเลย เพราะเหตุฉะนั้นแล้ว ในหลักพุทธศาสนา จึงได้แบ่ง มรรคมีองค์แปดนี้ไว้ เป็น ๒ ประเภท ด้วยกัน เรียกว่า โลกียมรรค อย่างหนึ่ง และ โลกุตตรมรรค อีกอย่างหนึ่ง
โลกียมรรค ก็เป็นในทางที่ให้สำเร็จประโยชน์ตามวิสัยของโลก ส่วนโลกุตตรมรรค คือให้สำเร็จประโยชน์ที่จะอยู่เหนือวิสัยโลก หมายถึง การบรรลุมรรคผลนิพพาน ที่อยู่ในวิสัยโลกก็หมายความว่า อยู่ดีกินดีในลักษณะที่เป็นธรรมะอย่างที่เราเรียกกันว่า มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ แต่ยังอยู่ในวิสัยโลกก็แปลว่า ยังมีจิตใจพอใจอยู่ในความเป็นอย่างนั้น หรือในโลกนั้นเอง งั้นบางทีก็ต้องร้องไห้บ้างเป็นธรรมดา ทั้งบางทีก็ไม่ได้ทำผิดทำชั่วอะไร ก็ยังต้องร้องไห้เป็นธรรมดา ในเมืองสวรรค์ก็มีการร้องไห้ ขอให้เข้าใจอย่างนั้น เพราะมันยังอยู่ในวิสัยโลก ยังอยู่ภายใต้อำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้ไม่ทำผิดทำชั่ว ทำดีอยู่โดยประการทั้งปวง เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา เช่น ความตายมาถึง ก็ต้องร้องไห้อย่างนี้ เป็นต้น และว่าเขาก็เป็นคนดีมีความสุขตามวิสัยโลกอย่างนี้ เรียกว่า มนุษย์สมบัติ หรือสวรรค์สมบัติแล้วแต่จะเรียก
ส่วนโลกุตตรมรรคนั้นนำไปสู่นิพพานสมบัติ คือมีจิตใจอยู่เหนือที่จะหัวเราะหรือร้องไห้อีกต่อไป เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกทั้งหมดนี้เหมือนกับของเด็กเล่น มีจิตใจว่างจากความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกูโดยประการทั้งปวง มันจะเป็นจิตใจที่เป็นอิสระสูงสุด เข้าอยู่สิ่งเดียวกับความว่างคือ ความที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความที่ไม่ต้องเป็นไปตามกาลเวลา หรือตามเหตุตามปัจจัย มันสูงสุดอย่างนั้น แต่แล้วก็ใช้มรรคมีองค์แปดอย่างเดียวกันทั้งนั้น คือรูปร่างอย่างเดียวกันทั้งนั้น มีองค์แปดอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นเอง เมื่อเป็นดังนี้ องค์มรรคทุกองค์ นับตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้นไปทั้ง แปดองค์นั่นแหละ ก็เลยต้องแบ่งเป็น โลกียะ หรืออย่าง โลกุตตระ เป็นสองอย่างไปตามองค์มรรคที่ ๑ คือ
สัมมาทิฏฐิ คือถูกแบ่งเป็น โลกียะ หรือโลกุตตระ ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าต่างกันอย่างไร สัมมาทิฏฐิ ความเห็น ความเชื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องนั้นที่เป็นโลกียนั้น มีแนวอยู่ว่า เขามีความเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามี ครูบาอาจารย์มี นรก สวรรค์มี สัตว์เป็นโอปาปาติกะ มี อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเชื่ออย่างนี้เห็นอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิแล้ว แต่เป็นไปอย่างโลกีย ที่ว่ามีดีมีชั่ว มีบุญมีบาปนั้น หมายความว่า เพราะเชื่อว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว เพราะว่าเมื่อทำดี มันก็ดีแล้ว ตั้งแต่เมื่อทำ เพราะเราบัญญัติการกระทำนั้นว่า ดี เพราะเมื่อทำชั่วก็ชั่วแล้ว ตั้งแต่เมื่อทำ เพราะเราบัญญัติที่ตัวการกระทำนั้นว่า ชั่ว เพราะเมื่อทำลงไปแล้วก็ต้องชั่วแล้ว นี่อย่าเอาผลพลอยได้เป็นเกณฑ์เช่น เงินหรือชื่อเสียงที่พลอยได้ นี่มันเป็นหลักไม่ได้ แต่มันเป็นหลักได้อยู่อย่างหนึ่ง ว่าถ้าเงินมาจากการทำชั่วต้องเป็นเงินชั่ว ถ้าเงินมาจากการทำดี ก็เป็นเงินดี เงินชั่วก็ทำเจ้าของให้เป็นคนชั่วกินใช้เข้าไปก็ทำให้เลือดเนื้อเป็นภูตผีปีศาจไปหมด เงินดีเอามากินมาใช้ก็มีความสุขอย่างปกติเป็นคนดี ชื่อเสียงก็เหมือนกัน ถ้าเป็นชื่อเสียงปลอมได้มาจากการทำชั่ว มันก็ทำคนนั้นให้เป็นภูตผีปีศาจไป ถ้าชื่อเสียงดีมาจากการทำดี ก็ทำให้คนนั้นเป็นคนดีจริงๆ ได้เหมือนกัน นี่มันเป็นผลพลอยได้ไม่ใช่ตัวกรรม ไอ้กรรมดี ดี ทำดี ดี นั้น ทำชั่ว ชั่ว นั้นเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ เพราะเราได้บัญญัติตัวการกระทำนั้นแล้ว ว่าดีหรือว่าชั่ว ส่วนผลพลอยได้นั้นก็มีทั้งดี และชั่วตามกันไปอีก เงินดีก็มี เงินชั่วก็มี ชื่อเสียงดี ก็มีชื่อเสียงชั่วก็มี ฉะนั้นอย่าได้ไปเข้าใจว่าทำดีเกือบตายแล้วไม่เห็นได้เงินได้ชื่อเสียงอย่างนี้ มันผิดมาก เพราะมันดีเสร็จแล้ว แต่ว่าผลพลอยได้ไม่ทันจะได้ มันอาจจะได้ทีหลังก็ได้ แล้วก็ไปคิดว่า บางคนทำชั่วทำเลวอยู่หลังฉากกลับได้รวยได้ชื่อเสียง นั่นมันต้องชั่วแล้ว คนนั้นต้องชั่วแล้ว แล้วเงินที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินชั่ว ชื่อเสียงก็ชื่อเสียงปลอมเอามาเป็นภูตผีปีศาจไม่ใช่มาเป็นมนุษย์ เอามาหล่อเลี้ยงชีวิตลูกเมียพลอยเป็นภูตผีปีศาจกันไปหมดทั้งบ้านทั้งครอบครัวอย่างนี้ หากเข้าใจอย่างนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องบุญเรื่องบาป ที่ว่าบิดามารดามี ครูบาอาจารย์มี นั้น หมายความว่า พวกมิจฉาทิฏฐิไม่ยอมรับว่าบิดามารดาเป็นบิดามารดา เขาถือว่าท่านทั้งสองนี้อาศัยความสุขสนุกส่วนตัวท่านต่างหาก ไม่ได้ตั้งใจจะให้เราเกิดมาอย่างนี้เป็นต้น เขาไม่ถือว่ามีบิดามารดา และเขาไม่ถือว่ามีครูบาอาจารย์ เพราะว่ามีแต่คนที่รับจ้างสอนหนังสือ เป็นลูกจ้าง และเขาไม่ถือว่ามี อุปาปาติกะกำเนิด ที่ว่า ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนรก เพราะเขาไม่มองเห็นว่า คนเรานี่นั่งอยู่ทีนี้ พอเราคิดอย่างสัตว์นรกเกิดเป็นสัตว์นรกแล้ว เราคิดอย่างเทวดาเกิดเป็นเทวดาแล้ว คิดเป็นโจร คิดอย่างโจร เกิดเป็นโจรแล้ว คิดอย่างสุภาพบุรุษ ก็เป็นสุภาพบุรุษแล้ว ที่ตรงนี้เอง ด้วยความคิด สักว่าขณะจิตหนึ่งเท่านั้น เกิดเป็นนั้นเกิดเป็นนี้ เกิดเป็นโน้น นี่คืออุปมา โอปาปาติกะกำเนิด พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิจะต้องเชื่อว่า โอปาปาติกะกำเนิดอย่างนี้มี แล้วเขาก็กลัว ที่จะไปเกิดชั่ว เป็นเหตุให้เขาเชื่อ ที่ว่านรกมีจริง สวรรค์มีจริง ไปเกิดในนรกก็เป็นได้จริง ไปเกิดสวรรค์ก็เป็นได้จริง เท่านี้ก็พอแล้ว เรียกว่า โลกียสัมมาทิฏฐิ มีแต่จะทำคนให้ดี ทำคนให้ขยันในความดี ขะมักเขม้นในความดี มีปัญญารู้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ไม่เป็นที่ขัดขวางแก่ความเจริญทางไหนเลย
แต่ว่าสัมมาทิฏฐิเพียงเท่านี้ยังไม่ทำให้อยู่เหนืออารมณ์ เหนือโลก เหนือความบีบคั้นของความเกิดแก่เจ็บตายได้ ฉะนั้นจะเป็นแต่เพียงคนดีก็มีการร้องไห้อย่างคนดีนี้เป็นธรรมดา หรือทำให้พูดอย่างลึกซึ้งไปว่า คนมีบุญก็ทุกข์ไปตามประสาคนมีบุญ คนมีบาปก็เป็นทุกข์ไปตามประสาคนมีบาป เช่นเดียวกับที่คนเป็นเศรษฐี ก็มีความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่งตามประสาของคนเป็นเศรษฐี ไม่ใช่เหมือนกับคนขอทาน อย่างนี้ หรือว่าถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีความทุกข์อีกแบบหนึ่งตามแบบของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่แบบเดียวกับราษฎร อย่างนี้เป็นต้น จึงเรียกว่า นั้นยังไม่พ้นจากความทุกข์ แต่ละแบบมีความทุกข์ตามแบบของตน แต่ว่ารวมกันทั้งหมดแล้ว มีความทุกข์เพราะปัญหา คือ ความเกิดแก่เจ็บตาย หรือเพราะว่าธรรมชาติที่เด็ดขาดนั้น ไม่เออออกับใครหมดมีกฎเกณฑ์ของมันอย่างไร มันเป็นไปอย่างนั้น เพราะเพียงอำนาจของสัมมาทิฎฐิโลกียะนี้ ไม่พอ ที่จะดับทุกข์ทั้งปวงได้ เราจึงมีสัมมาทิฏฐิประเภทโลกุตตระขึ้น ทีนี้สัมมาทิฏฐิประเภทที่สูงขึ้นไปนี้ ก็คือ รู้เรื่อง อริยสัจ ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร นิพพานคือดับทุกข์สนิทเป็นอย่างไร มรรคคือปฏิบัติเพื่อถึงนิพพานนั้นเป็นอย่างไร มันสูงขึ้นไปจนถึงอมความทุกข์ทุกชนิดไว้ รู้อย่างนี้แล้วสามารถจะดับทุกข์สิ้นเชิง หรือว่ามีความรู้เรื่องกรรมที่สาม คือว่า กรรมอริยมรรค นี่เอง ที่ปฏิบัติแล้วทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นว่าตัวกูของกู ไม่ยึดถือในกรรมดี กรรมชั่วอีกต่อไป คือมีจิตใจที่อยู่เหนือความรู้สึกที่จะยึดถือของดีหรือของชั่ว เป็นจิตใจที่เป็นอิสระอยู่เหนือ อย่างนี้เรียกว่า เป็นกรรมที่สาม หรือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าสิ่งต่างๆ อาศัยกันแล้วเป็นไปอย่างนั้นอาศัยกันแล้วเป็นไปอย่างนั้น อาศัยกันแล้วเป็นไปอย่างนั้น เหมือนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่ต้องมีใครที่ไหนยื่นมือเข้ามา ไม่มีเทวดาศักดิสิทธิ์ หรือพระเจ้าศักดิสิทธิ์ที่ไหนยื่นมือเข้ามา อาศัยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย หรือเหตุผลล้วนๆ สิ่งต่างๆ ก็เป็นไปได้ นี่เรียกว่ารู้เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท แต่ในที่สุดก็คือต้องรู้เรื่อง ไตรลักษณ์ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ สรุปความว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อนิ เวสายะ” สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดเลยที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เรียกว่า โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบในชั้นที่เป็นโลกกุตตระ ทำให้อยู่เหนือวิสัยโลก ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก ไม่ทำให้บุคคลนั้น รู้สึกสะเทือนใจ อยู่เหนือความหวั่นไหวไปตามโลก แต่แล้วก็ไม่เป็นอุปสรรคศัตรูแก่การสร้างความเจริญที่ไหน การที่เป็นผู้มีจิตใจว่างชนิดนี้นั้นเสียอีก จะช่วยให้ทำอะไรได้ไม่ผิด ทำได้เก่ง อย่างที่อาตมากล่าวถึงอานิสงส์ของการมีจิตว่างเป็นตัวอย่างแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมาอย่างนี้เป็นต้น สัมมาทิฏฐิประเภทนี้มีความมุ่งหมายเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานโดยตรง มีจิตใจอยู่เหนือวิสัยโลก สัมมาทิฏฐิจึงต้องแบ่งเป็นโลกียะ และโลกุตตระ อย่างนี้
ทีนี้ สัมมาสังกัปโป ความดำริใฝ่ฝันชอบ นี้ก็เหมือนกัน ดำริชอบไปตามเรื่องราวของโลก ที่ถูกที่ชอบก็เรียกว่า สัมมาสังกัปโปอย่างโลก ถ้าดำริเพื่อนิพพานเหนือโลกก็เป็น โลกุตรสัมมาสังกัปโป ส่วนการพูดจานั้น พูดจาเรื่องโลกๆ อย่างถูกต้อง การพูดจาถูกต้องไปตามวิสัยโลก ก็เป็นสัมมาวาจาอย่างโลกียะ พูดจาเรื่องเหนือโลกพ้นโลก ก็เป็นสัมมาวาจาอย่างโลกุตตระ
สัมมากัมมันโตก็อย่างเดียวกันอีก สัมมากัมมันโต ท่านจำแนกเป็น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร อาตมาจะมีข้อที่จะบอกกล่าวประหลาดอยู่อย่างหนึ่งว่า ในพระบาลีพุทธภาษิต ที่กล่าวถึงมรรคมีองค์แปดนี้ เมื่อกล่าวถึงสัมมากัมมันโต แม้กล่าวกับภิกษุสงฆ์ก็ยังมีบาลีจำแนกเป็น ปาณาฏิบาท อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ได้เปลี่ยนอันที่สามนี้ว่าเป็น อพรหมจริยา เลย นี่ประหลาด ก็อย่างเดียวกับที่กล่าวกับ ฆราวาส ศีลฆราวาสนี้ เพราะฉะนั้นท่านต้องเข้าใจคำนี้ให้ดีๆ คำว่า กาเมสุมิจฉาจารนี้ให้ดีๆ ปาณาติบาต ไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว หมายถึงการเบียดเบียน หรือการทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของสัตว์อื่น ด้วยเจตนาที่เห็นแก่ตัวกูของกู อทินนาทานก็เหมือนกันถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ด้วยความเห็นแก่ตัวกูของกู พอมาถึงกาเมสุมิจฉาจารานี้ คนโดยมากมักจะเข้าใจเสียว่า น่าจะประพฤติผิดทางชู้สาวเท่านั้น เลยทำให้เด็กๆ ไม่ต้องถือศีลข้อนี้ เพราะเด็กเล็กๆ ขนาดอนุบาลนี้จะผิดศีลชู้สาวได้อย่างไร อาตมายืนยันมานักหนาแล้วว่า ข้อนี้ต้องแปลให้ถูกตามตัวหนังสือที่มีอยู่ว่า กาเมสุมิจฉาจารา นี้ แปลว่า ประพฤติผิดในของรักของใคร่ทั้งหลาย สุมีวิภัติ เป็นพหุวัจนะ นี้แปลว่า ทั้งหลาย กาเมสุ แปลว่า ในกามทั้งหลาย คือ ในของใคร่ทั้งหลาย มิจฉาจารา แปลว่า ประพฤติผิด ถูกแล้วการประพฤติผิดในเรื่องชู้สาวนี้ ประพฤติผิดในกาม ในของใคร่อย่างหนึ่งนั้นแน่นอน แปลว่า เด็กๆ เล็กๆ ที่ประพฤติผิดในของรัก ของใคร่บุคคลอื่น เช่น เด็กคนหนึ่งรักตุ๊กตามาก แล้วเด็กคนหนึ่งไปทำให้สกปรกหรือย่ำยีเล่นหรือทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ อย่างนี้ ต้องผิดศีลข้อนี้ อย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ต้องอธิบายให้เด็กรู้จักถือศีลข้อสามด้วย อย่าว่ายังไม่เป็นรุ่นหนุ่มรุ่นสาวแล้ว ไม่ถือศีลข้อนี้ แต่เมื่ออาตมาอธิบายอย่างนี้ มีผู้รู้บางคนเอาไปกระแนะกระแหนทางวิทยุกระจายเสียงด้วยซ้ำไปว่า อธิบาย บ้าๆ บอๆ ว่าเอาเองนี้ มายืนยันที่นี้อีกครั้ง หนึ่งว่า กาเมสุมิจฉาจารานี้ ต้องแปลอย่างนี้ ต้องมีความหมายอย่างนี้ ขอฝากไว้ด้วย ทุกคนถ้าประพฤติผิดในของรักของบุคคลอื่นในลักษณะใดเช่นใดแล้ว เรียกว่าประพฤติผิดศีลข้อที่สามนี้ทั้งนั้น มันไม่เหมือนกับไปฆ่าเขา เพราะมันไม่ได้ไปฆ่าเขา มันไม่ได้เหมือนกับไปลักของเขา เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องทำให้เขา เจ็บช้ำน้ำใจ หรือเสียหาย ในเรื่องที่เกี่ยวกับของรักทั้งนั้น เพราะ กาม แปลว่า ของรักหรือใคร่ ในของรักของใคร่ทั้งหลาย อย่าได้ไปประพฤติผิดเข้าเป็นอันขาด เพียงแต่ว่า คนหนึ่งเขาซื้อรถจักรยานมาใหม่ๆ เขากำลังรักของเขาอยู่นี้ มีคนหยาบคายคนหนึ่งไปทำให้สกปรก หรือยู่ยี่ไป มันไม่อาจผิดศีลข้ออื่นได้ก็จริง มันต้องผิดศีลข้อนี้ ไม่มากก็น้อย ถ้าเรารักษาศีลข้อนี้ให้สะอาดได้ โลกนี้ก็จะสะอาดขึ้นอีกเป็นอันมาก ทีนี้เรื่องศีลอย่างนี้ จะเป็นโลกียะ หรือโลกุตตระได้อย่างไร ฟังต่อไป ขึ้นชื่อว่า โลกียะแล้ว ไม่ว่าอย่างไหนหมด มันคือยังชั้นเด็กสอนเดินทั้งนั้น เด็กอมมือ หรือเด็กสอนเดินทั้งนั้น คือมันทำด้วยความตั้งเจตนาทำ โดยเนื้อแท้ ความรู้สึกส่วนลึกนั้น ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังไม่แจ่มแจ้ง นั่นจึงต้องเจตนาทำ เช่นว่า จะรักษาศีลนี้ ต้องไปสัญญากับพระที่วัดว่าจะรักษาให้ผูกมัดตัวเองเข้า แล้วก็มาตั้งอกตั้งใจเพื่อจะรักษา แต่แล้ว เดี๋ยวก็ตบยุงบ้าง เดี๋ยวก็เอาเปรียบคนนั้น อย่างนั้น อย่างนี้บ้าง เดี๋ยวก็ไปล่วงของรักของคนอื่นเข้าแล้ว ศีลนี้ ลุ่มๆ ดอนๆ เว้าๆ แหว่งๆ ด่างๆ พร่อยๆ อยู่เรื่อย รักษาจนตายมันก็ไม่เคยบริสุทธิ์สักที ไม่เป็นอริยกรรมศีล ชนิดที่พระอริยเจ้าพอใจได้เลย มันแบบโลกียะ มันอาศัยเจตนา ความตั้งเจตนา พยายามระมัดระวัง
ถ้าเป็นศีลแบบโลกุตตระแล้ว มันมาเหนือเมฆ ใช้คำว่าอย่างนี้ แม้ว่าจะโสกกระโดกไปบ้าง ก็โปรดให้อภัย เพื่อรวบรัดเวลานี้ว่า มันมาโดยหลักที่ว่า เข้าไปศึกษาไม่มีอะไรที่ควรจะถือว่า ที่ควรเป็นตัวกูหรือของกูเลย เมื่อจิตมันว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูนี้แล้ว แล้วมันลักของใครไม่ได้ มันฆ่าใครไม่ได้ มันไปประพฤติล่วงเกินของรักของใครไม่ได้ มันเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ทุกลมหายใจเข้าออกเลย ศีลที่เป็นโลกุตตระ มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันทำจิตให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของเด็กเล่นไปเสียก่อนแล้ว มันอยู่เหนือวิสัยโลกแล้ว เลยไม่มีจิตใจที่ไหน เจตนาที่จะฆ่าเขา ลักเขา ประพฤติล่วงเกินของรักของเขา มันจึงเป็นศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ เรียกว่า อริยกันตศีล เป็นบาทฐานของการบรรลุมรรคผลอย่างแท้จริง เมื่อศีลโลกียะล้มลุกคลุกคลาน รักษาศีลจนตายไม่เคยบริสุทธิ์นี้ มันก็เป็นไปตามเรื่องชาวโลก เพราะชาวโลกชนิดที่ยังไม่สามารถจะทำอะไรให้ดีกว่านั้นได้ ทีนี้ครูบาอาจารย์ของเราเป็นชนชั้นปัญญาชนคือมีสติปัญญามีความสามารถพอที่จะฟังเรื่องสุญญตานั้นเข้าใจ ดังนั้นขอให้เข้าใจ ขอให้สนใจเถิดไม่เสียหลาย จะทำให้รักษาศีลได้ง่ายๆ เหมือนว่าเล่น และศีลบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นที่ชอบใจของพระอริยเจ้าได้ เพราะมันเป็นการห้ามกันอย่างเด็ดขาดอยู่ในภายในเสียเองไม่ต้องมาตั้งสำรวม ห้ามกันข้างนอก ซึ่งกิเลสมันทะลุข้างนอกมันจะฆ่า มันจะลัก เอาเปรียบกันอยู่ทุกเมื่อ มันไม่ไหว มันสู้ไม่ไหว จึงเป็นโลกียศีลอยู่เรื่อย ไม่สำเร็จประโยชน์ เผลอเข้าต้องไปอยู่คุกอยู่ตาราง มันจะคอยแต่พุ่งออกมาเรื่อย แต่ถ้าตัดต้นต่อมันข้างในได้แล้วเป็นศีลที่จะน้อมนำไปฝ่ายโลกุตตระมันสบาย รักษาศีลสักเท่าไร เท่าไรก็ไม่รำคาญ ไม่เดือดร้อนไม่มากไม่ยุ่งยากเลยจะมีศีลมาให้รักษาสักกี่ร้อยก็ยังรักษาได้ ถ้ามันรักษาตัวเดียวในเรื่องว่างจากตัวกูของกูนี้
ทีนี้สัมมาอาชีโว เกือบจะไม่ต้องกล่าวอธิบายอะไรให้มากมายนัก เพราะว่า พอจะเข้าใจกันได้ ว่า ฆราวาสมีอาชีพอย่างไร บรรพชิตมีอาชีพอย่างไร หรือแม้แต่พระพุทธเจ้ามีอาชีพอย่างไร ก็ยังพอจะกล่าวได้ นั้น ต่างๆ กัน คนธรรมดามีอาชีพด้วยเหงื่อไคล ก็ทำไปตามธรรมดา คนที่ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น อาชีพด้วยสติปัญญาก็ทำไป แต่ให้มันไม่เป็นการผิดธรรมะก็แล้วกัน ที่สูงไปกว่านั้น เช่น พระอรหันต์ พระอริยเจ้าท่านมีอาชีพเป็นเจ้าหนี้ เหมือนพวกครูนี้ อาตมาหมายถึงครูในอุดมคติที่ปฏิญญาตัวเองว่า เป็นครู ตามอุดมคตินี้ จะมีอุดมคติอย่างเดียวกับพระอรหันต์ หรือพระอริยสาวกมีอาชีพเป็นเจ้าหนี้ อาชีพเป็นเจ้าหนี้นี้ เขาเรียก ว่า สามิบริโภค สามิ แปลว่า นายหรือเจ้าหนี้ บริโภค ก็แปลว่าบริโภค อย่างเจ้าหนี้หรืออย่างนาย คือว่าสิ่งที่เราได้ทำให้ไปแก่ผู้อื่นนั้น มันมีค่ามากมาย จนเหลือที่เขาจะตอบแทนไหว เขาเป็นลูกหนี้อย่างยิ่ง เขาผ่อนใช้หนี้ที่ละนิดละนิดเท่าที่เขาจะสามารถใช้ได้ ใช้ให้เราแก่เราได้ หรือว่าพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้านี้ท่านมีประโยชน์แก่สัตว์โลกมากมายจนคำนวณไม่ไหวทีเดียว แล้วสัตว์โลกผ่อนใช้หนี้ให้ท่านเท่าที่จะใช้หนี้ให้ได้ ทั้งการบริโภคปัจจัย ๔ ของท่านนั้นมันเป็นการบริโภคอย่างเจ้าหนี้ อาชีพเป็นเจ้าหนี้ ขอให้ฟังดูให้ดี นี้ถ้าครูบาอาจารย์ของเรามีอุดมคติอย่างที่กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ กันไปนั้น นี้ก็เพื่ออุดมคติของครูจะได้บริบูรณ์เป็นปูชนียบุคคลเลยกลายเป็นเจ้าหนี้ แล้วก็มีอยู่อย่างเดียวแต่ว่าสัตว์โลก ประชาชาวโลกผ่อนใช้หนี้ มันจึงเป็นอาชีพที่ประหลาดอย่างหนึ่ง เป็นอาชีพของปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้างอย่างนี้เป็นต้น อาตมายกตัวอย่างอาชีพต่างๆ กันมาให้ฟังมานี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องเข้าใจชัดเจนว่า อาชีพมีหลายอย่าง ขออย่างทำไปผิดวิธีแล้วก็จะเป็นสัมมาอาชีวะไปหมด แต่ทว่า นักบวช หรือบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งไม่ทำหน้าที่ของบรรพชิตมันก็หมดอาชีพนั้นทันที เป็นอาชีพลูกหนี้ทันที เมื่อทำงานไม่คุ้มค่าข้าวสุกก็เป็นบาป หรือถึงกับเป็น ตกนรกไปเลย อย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องยกเว้นใคร ไม่เฉพาะแต่ชาวบ้าน แม้แต่บรรพชิตก็ยังอยู่ในกฎเกณฑ์อันเดียวกันนี้ อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้สัมมาวายาโม แปลว่า พากเพียรชอบ โดยหลักนั้นท่านวางไว้ว่า ไม่ทำให้ผิดให้ชั่ว นี้พากเพียรที่จะไม่ทำให้ผิดให้ชั่ว และพากเพียรที่จะละผิดละชั่วที่มีอยู่ก่อนแล้วเสียนี้คู่หนึ่ง และคู่หนึ่งก็พากเพียรที่จะให้มันถูกให้มันดีขึ้นมา และก็พากเพียรที่จะรักษาที่ถูกที่ดีอยู่แล้วนั้นให้คงอยู่ และเจริญยิ่งขึ้นไป คู่หนึ่ง เลยเป็นสองคู่ นี้คือแนวประมวลทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่า ความเพียร คิดดูเถอะว่า หลักนี้ มันจะเป็นอุปสรรคศัตรูแก่การสร้างบ้านเมืองให้เจริญอย่างไร ไม่ได้อย่างไร ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีความพากเพียรไปตามแบบบรรพชิตเอามาปนกันไม่ได้ เป็นชาวบ้านก็พากเพียรไปตามแบบชาวบ้าน และมันอยู่ในร่องในรอยของอริยมรรคมีองค์แปดด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับ สัมมาสติ นั้น หมายถึง การที่ทรงตัวให้ทรงอยู่ได้ในลักษณะที่อารมณ์ คือโลกมาทำให้หวั่นไหว เปลี่ยนแปลงง่อนแง่นคลอนแคลนไม่ได้ หมายความว่า ไม่มีอะไรมายั่วให้ลุ่มหลงไปตามได้ เพราะว่าจิตใจของเรานี้ถ้าถูกอะไรมาดึงมาจูงไปได้แล้ว มันก็มีเสียการทรงตัวอยู่ได้ ก็มีแต่จะพลัดตกไปในฝ่ายต่ำ ทั้งสติจะต้องสมบูรณ์ในการที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วทรงตัวอยู่ได้อย่างไม่เสียหลักไม่ว่ารูปจะเข้ามาทางตา เสียงจะเข้ามาทางหู กลิ่นมาทางจมูก หรือทางไหนก็ตาม มีสติสัมปชัญญะพร้อมบริบูรณ์อยู่ที่จะรู้อยู่เสมอว่าอะไรเป็นอะไร โดยที่ถูกก็คือจะไม่ยึดมั่นว่าอะไรเป็นตัวกู เป็นของกู นั่นเองนี่เรียกว่า สัมมาสติ สติที่ถูกต้องอย่างยิ่ง หรืออีกชื่อหนึ่งก็ชื่อว่า ความไม่ประมาท ความมีสติอย่างนี้ เรียกว่า ความไม่ประมาท เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทพอเสียหลักทรงตัวอยู่ไม่ได้ไม่มีสติแล้วก็เรียกว่า เป็นผู้ประมาทแล้ว
ทีนี้ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ คือ ความปักใจไว้มั่นคง ชอบ คำว่าชอบนี่ ภาษาบาลีขยายความออกไปเป็น กัมมันนีย กัมมันนีย แปลว่า ควรแก่การกระทำการงาน จิตเป็นสมาธินั้นมีหลักว่า บริสุทโธ สมาหิโต กัมมันนีโย บริสุทโธ แปลว่า บริสุทธิ์หมดจด สมาหิโต แปลว่า ตั้งมั่น กัมมันนีโย แปลว่า ควรแก่การงาน แล้วเอาความหมาย กัมมันนีโย ควรแก่การงานนี้เป็นหลักสำคัญ เพราะถ้ามันบริสุทธิ์มันก็ย่อมควรแก่การงาน ถ้ามันมั่นตั้งมั่นมันย่อมควรแก่การงาน เพราะฉะนั้น เราเอาคำว่า ควรแก่การงานนี้ เป็นหลัก ในเวลาใดจิตแน่วแน่ควรแก่การคิด การนึก การตัดสินใจ การพิจารณา การแทงตลอดปัญหาเหล่านี้ เมื่อนั้นเรียกว่า กัมมันนีโย นั่นแหละ คือ ความหมายของ สมาธิ ดูแล้วตรงกับคำว่า active กัมมันนียะ นี้ตรงกับ คำว่า active ไม่ใช่ หมายความว่า มันวิ่งวุ่นลนลาน ว่องไวถึงขนาดลนลานอย่างนั้น ไม่ใช่ มันไวต่อการทำงานที่ถูกต้อง แล้วใครบ้างที่ไม่ต้องการ จิต ชนิดนี้ ไม่ว่าเรื่องโลก ไม่ว่าเรื่องธรรม ไม่ใช่ว่า สัมมาสมาธินี้ ไปนั่งตัวแข็งอยู่ที่ในป่า ในถ้ำ ไม่ทำอะไร นั้น ไม่ใช่ นั้นมันว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่า สัมมาสมาธิของท่านต้องหมายถึง บริสุทธิ์โธ บริสุทธิ์ สมาหิโต ตั้งมั่น กัมมันนีโย ควรแก่การงานเสมอ ใช้ได้ทุกกรณี นี้ องค์ทั้งแปดนี้ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิมาถึงสัมมาสมาธิเป็น factor อันหนึ่ง factor อันหนึ่งๆ รวมกันเข้าเป็นเรื่องเดียว คือมรรค นั้นจึงแปลว่าทาง เดินไปสู่นิพพาน ต่อเมื่อครบทั้งแปดองค์รวมเป็นทางๆ เดียว บาลีว่า สัมมาทิฏฐิ คำว่าทิฏฐินี้ เขาแปลกัน ว่า view บ้าง ว่า believe บ้าง ว่า understanding บ้าง รวมความแล้วก็จะว่า อย่างไรก็ท่านครูบาอาจารย์ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน คำว่า สัมมาสังกัปโป ดำริชอบนี้ เขาแปลกันว่า aim หรือจะให้รุนแรงถึง ambition ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในควบคุมของสติปัญญา ไม่อยู่ในควบคุมของกิเลสตัณหา ส่วนสัมมาวาจาก็หมายถึง การพูดจา เขาแปลกันว่า “speech” ตามธรรมดานี้เอง การพูดจาที่ถูกต้อง สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบนี้ ไม่ใช่การทำการ คือการกระทำเท่านั้น เขาแปลว่า “conduct” “right conduct” ทีนี้ สัมมาอาชีโว อาชีพนี้เขาแปลว่า “livelihood” “conduct” กับ “livelihood” ต่างกันอย่างไร ครูบาอาจารย์ก็รู้ดีนั้นมันไม่ปนกันได้ แต่อย่าแปล กัมมันโตว่าทำการงานชอบเข้า เดี๋ยวจะเป็นการทำอาชีพไป เขาหมายถึงการประพฤติทางกายเช่นเป็นเหตุให้ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ล่วงเกินของรักของเขานี้ สัมมาวายาโม เขาใช้คำว่า ความเพียร คือ effort นั่นเอง คำว่า สติ เขาใช้คำว่า right consciousness ที่หมายถึง การดำรงความสำนึกอยู่อย่างไม่เสียความทรงตัว ส่วนสมาธินั่น เขาใช้คำว่า concentration , concentrate หมายความว่า รวม หรือ sub- remain สิ่งที่มันฟุ้งซ่านมันใช้อะไรไม่ได้ให้มันเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ดีที่สุด รวมกันทั้งหมดก็เรียกว่า ทาง ทีนี้ ทางนี้ ในบาลีมีพุทธภาษิตบาลีว่า แม่น้ำทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ยมุนา หรื แม่น้ำอะไรก็ตาม ล้วนแต่มีความลุ่มลาด ไปทางมหาสมุทร ดังนั้น น้ำไม่มีทางไปทางอื่น มันไปในมหาสมุทรหมด ทีนี้อริยมรรคตถาคตบัญญัติแล้วก็เหมือนกันมีความลาดเอียงไปทางนิพพานคือที่สิ้นสุดของความทุกข์ ถ้าเห็นตนเองลงไปในร่องในรอยของอริยมรรคจะง่ายเหมือนกลิ้งครกลงภูเขาเลยทีนี้ คือจะไหลไปตามกระแสของอริยมรรคนี้ ไปสู่ความดับทุกข์ได้โดยง่าย ท่านรับรอง หรือท่านรับประกันไว้เป็นอย่างนี้ ทีนี้คนที่พูดว่าแหมยากเหลือวิสัย แหมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เอาแล้วอย่างนี้ นั้นมันเป็นเรื่องข้อแก้ตัวของคนขี้-เกียจของคนไม่เข้าใจ ของคนไม่เคารพตัวเอง เป็นต้น เขาเป็นที่ยืนยันได้ว่า ถ้าเป็นอริยมรรคของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของคนอื่นนะ จะต้องมีลักษณะลาดเอียงไปสู่ที่สุดของความทุกข์ ฉะนั้นเราพยายามแต่ทีแรกๆ เหมือนว่าสะพานโค้งสูงนี้ ถ้าเราจะถีบรถจักรยานนี้เราต้องพยายามแต่ทีแรกๆ ที่มันไปถึงจุดสูงสุดของสะพานโค้ง ว่าที่ขาลงนั้นมันคล่องอย่างไร ขอให้ตั้งใจว่า อริยมรรคของพระพุทธเจ้านี้ ตั้งต้นตั้งแต่สูงสุดของสะพานโค้งแล้วลงไปทางฝ่ายต่ำนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการง่าย ไม่เหลือวิสัยที่เราจะเดินในร่องในรอยของอริยมรรคมีองค์แปด อาตมาระบุลงไปว่านั่นแหละคือ ตัวจริยธรรม
ทีนี้อีกความหมายหนึ่งต้องเข้าใจว่า สัมมา สัมมา โดยชอบ โดยชอบนี้ รวมกันแล้วมันคือเป็นอยู่ชอบ มีชีวิตอยู่ชอบ มีลมหายใจอยู่ชอบ มีความถูกต้องทั้งทางกายทั้งทางใจทางวิญญาณ ขอให้เป็นอยู่ชอบในลักษณะเช่นนี้เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านี้ แล้วนอกนั้นมันจะเรียกว่าเป็นไปเอง ลูกบอลจะกลิ้งไปเอง ว่า เป็นอยู่ชอบนี้จะทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระบาลีมีว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำว่า เป็นอยู่โดยชอบไซร้ ท่านหมายความว่า เป็นอยู่โดยอริยมรรค ชอบแปดประการนี้ แล้วไม่เห็นอันไหนที่จะเหลือวิสัยเลย และไม่เห็นอันไหนที่จะเป็นโทษเป็นอันตรายขึ้นมาได้เลย ทั้งแปดองค์นี้ ที่ท่านจะแย้งว่า ถ้ามันง่ายเกินไปจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ความลับมันมีอยู่ในข้อที่ว่า เหมือว่าอย่างว่าเราเอาเสือ หรือเราล้อมเสือหรือหรือล้อมสิงโต หรือสัตว์ร้ายอะไรก็ได้ ไว้ในกรงล้อมได้ ล้อมได้ป่าทั้งป่าที่มันมีสัตว์ร้ายอยู่ในนั้นไม่มีทางที่จะให้อาหารสัตว์ที่เป็นอาหารของสัตว์ร้ายนั้นเข้าไปให้มันกินได้ มัน boycott หมดทุกทาง แล้วสัตว์ตัวนั้นมันจะอยู่ได้ ไม่ตายวันนี้ มันก็ต้องตายในหลายๆ วัน หรือหลายๆ สิบวันข้างหน้า เพราะมันหิวดู แล้วมันอด แล้วมันผอม แล้วมันตายเมื่อเราเป็นอยู่ชอบตั้งแต่แปดประตูน แปดเหลี่ยม แปดประตูกิเลสในสันดานมันไม่ได้อาหารทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าเป็นอยู่ชอบหมดตามองค์แปดของมรรคนี้ กิเลสก็มีลักษณะที่เหมือนเสือที่ถูกล้อมนี้ มันไม่ได้อาหาร นั้นเราไม่ต้องทำอะไร เป็นอยู่ให้ชอบเท่านั้น มันจะตายเอง พระพุทธเจ้าท่านยังยืนยันว่าถ้าเป็นอยู่โดยวิธีที่ถูกต้องแล้ว โลกไม่มีว่างจากพระอรหันต์ ก็จะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกเรื่อยไป แต่ถ้านั้นเราก็ไม่สนใจให้เพียงพอกันกับที่หลักธรรมะเหล่านี้มีคุณสมบัติ มีคุณภาพ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ นี่อย่างทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม ที่เป็นตัวมรรคมีองค์แปด
ทีนี้อาตมาอยากจะชี้ให้ละเอียดประจำวันลงไปอีก ว่า ทาง สิ่งที่เรียกว่า ทาง ที่จะไปสู่ที่สุดของทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ข้อนี้ต้องข้อร้องให้ย้อนระลึกไปถึงคำบรรยายที่แล้วมาที่พูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าจิตใจของคนเราตามธรรมดาสามัญนั้น มันมีทางของมันเองอยู่ทางหนึ่งเป็นทางของกิเลสของธรรมชาติ ตามธรรมชาตินั้น พอเมื่อได้กระทบทางตา ทางจมูก ทางลิ้น เป็นผัสสะแล้ว มันไม่หยุดอยู่แค่ผัสสะ มันย่อมปรุงเป็นเวทนารู้สึกพอใจไม่พอใจอย่างนี้ขึ้นมา พอเป็นเวทนาขึ้นมาแล้วมันไม่หยุดอยู่แค่เวทนามันปรุงเป็น ตัณหา คืออยากอย่างนั้น อย่างนี้ตามที่รู้สึกต่ออารมณ์นั้นอย่างไร ดี สวยก็อยากได้ ไม่ดีก็อยากตีให้ตาย มันเป็นเรื่องอยากขึ้นมา เป็นตัณหาขึ้นมา และเมื่อมีตัณหาอยาก เป็นความอยากแล้ว มันต้องมีความรู้สึกว่า กู หรือตัวเรา ตัวฉัน ข้าพเจ้านี้เป็นผู้อยาก และมีสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้าตามความอยาก มันจึงมีตัวกู ของกู egolism อย่างรุนแรงขึ้นมา นี้เรียกว่า อุปาทาน ตัณหาย่อมทำให้เกิดอุปาทาน นี้อุปาทานนี้ มันทำให้เกิดความพร้อม สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็จะแสดงออกมาทางภายนอกจะทำให้เห็น เรียกว่า ภพ แล้วเมื่อไรมันแสดงออกมาชัด เป็นตัวกู ของกู ให้คนอื่นเห็นกิริยาท่าทางของตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้ ให้คนอื่นเห็นโดยสมบูรณ์ หรือว่าตัวเองก็เห็นโดยสมบูรณ์ สำเร็จในเรื่องนี้ ในเรื่องเป็นไปตามความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูโดยสมบูรณ์เขาเรียกว่า ชาติ คือเกิดเป็นตัวเราอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาโดยสมบูรณ์เลย เหมือนอย่างที่กล่าวเมื่อตะกี้ว่า คิดอย่างสัตว์นรกก็เป็นเกิดในนรก คิดอย่างเทวดาก็เกิดเป็นเทวดาอย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่า ชาติ แล้วมีทุกข์ไปตามแบบของตน ของตน นี่แหละทางของกิเลส ไม่ใช่ทางอริยมรรค ที่ว่า จากผัสสะเป็นเวทนา จากเวทนาเป็น ตัณหา จากตัณหาเป็นอุปาทาน อุปาทานเป็นภพเป็นชาติ เป็นทุกข์นี้ เป็นทางโลกลื่นไปเลย ทางใหญ่ที่เดินอยู่เป็นนิสัย
ส่วนทางอริยมรรคนั่น หมายความว่า พอกระทบเป็นผัสสะแล้ววกมาที่ทางสติปัญญา อย่าไปทางนั้น อย่าไปทางกิเลสตัณหาอย่างว่านั้น มาที่ทางด้วยทางสติปัญญา สติสัมปชัญญะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือรู้ว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ว่าเป็นของเรา นั่นเอง ถ้าวกไม่ได้ตรงผัสสะ ก็วกตรงเวทนา อย่าให้ไปเป็นตัณหา อุปาทาน วกมาเป็นสติปัญญา ว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวกู ของกู หรือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู แล้วจิตก็ไม่เป็นกิเลสตัณหาได้ เป็นสติปัญญาชนิดที่จะรู้ว่าควรจัดการอย่างไร กับสิ่งที่มากระทบเราทางตา ทางหู ทางจมูก อย่างนี้แล้วมันไม่เป็นทุกข์ เพราะการกระทบ และไม่เป็นทุกข์ เพราะการที่จะต้องจัดต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งที่มากระทบนั้นต่อไปนี้ ที่เรียกว่าเดินมาทางอริยมรรคนั้น อย่าเดินไปตามทางของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์อย่างนั้น คนโบราณเขาผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า ทางใหญ่อย่าพึงจร ทางใหญ่อย่าพึงจร ก็คืออย่าปล่อยให้กระแสจิตไหลไปตามทางใหญ่ที่มันลื่นแล้ว ที่มันเดินมาตั้งกี่โกฐ กี่กัป แล้วของคนทั้งหมดนั้นไปสู่ทุกข์ทั้งนั้น วกมาทางอริยมรรคซึ่งพิเศษเฉพาะของผู้มีปัญญา สาวกของพระพุทธเจ้านี้ อย่างนี้คือ อริยมรรค เมื่อเป็นอย่างนี้ก็แปลว่า การเดินทางนั้นมันไม่เป็นไปในทางทุกข์มันมาที่สุดทุกข์ ซึ่งเราเรียกกันว่านิพพาน ไม่ใช่คำว่า นิพพานนี้ จะมีความหมายเร้นลับ หรือว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่มันอยู่ที่ในจิตใจของคนเราในขณะที่ไม่มีความทุกข์ ในขณะใดว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเราหรือไม่พุ่งขึ้นมาเป็นตัวกูของกูเมื่อนั้นเป็นนิพพาน หรือเป็นตามความหมายของพระนิพพาน ทั้งนั้น ผิดกันอยู่ว่าอย่างแท้จริงหรืออย่างชั่วคราวเท่านั้น คืออย่างเด็ดขาด หรืออย่างชั่วคราวเท่านั้น ตัวอย่างแท้จริงหรืออย่างชิมลองทั้งนั้น แต่เป็นความหมายของทาง ทั้งนั้น นั้นขณะที่เรามีจิตใจโปร่งสบายที่สุด ไม่มี egolism ใดๆ แม้แต่นิดเดียวปรากฏออกมา ขณะนั้นเรียกว่า อยู่กับความว่าง หรือว่านิพพาน แล้วสนใจลักษณะอย่างนี้ให้มากเถอะ จะเข้าใจคำว่านิพพานสมบูรณ์คือ เป็นความไม่ทุกข์ที่เด็ดขาดได้ ในเวลาที่ไม่นานเลย คือทันได้ในชาตินี้
นิพพานก็แปลว่าที่สุดของความทุกข์ ที่มันยังมีดีถึงกับว่า แม้เรายังไม่ถึงที่สุดก็ขอให้เดินไปถูกทาง ขอให้เราเป็นผู้ที่กำลังเดินไป เดินไปเดินไปอย่างถูกทางเท่านั้นก็พอแล้ว ก็อยู่ในแนวของอริยบุคคล ไม่ออกไปนอกแนวของอริยมรรค ไม่ออกไปนอกแนวของอริยมรรค ก็อยู่ในแนวของอริยบุคคล อุปมาข้อนี้ที่เป็นพุทธภาษิต มีศัพท์ว่า เหมือนกับคนหลายๆ ประเภท หลายๆ พวก พวกหนึ่งตกน้ำจ๋อมจมหายมิดเลยไม่เคยโผล่เลย ตายอย่างไรก็ไม่ทราบ ตายไปใต้น้ำเลย นี้ก็พวกหนึ่ง แล้วพวกหนึ่งตกน้ำจ๋อมแล้วก็ยังโผล่ขึ้นมาได้ สองสามครั้ง แล้วจมหายไปตายใต้น้ำเหมือนกัน นี้มันเป็นพวกที่ต้องตายที่ไม่เคยเห็นแสงสว่างของธรรมะ
ทีนี้พวกต่อไปนี้ ก็คือพวกที่ตกน้ำจ๋อมไปแล้วโผล่ขึ้นมาได้ หรือจะจมไปอีกก็โผล่ขึ้นมาได้ จมไปอีกก็โผล่ขึ้นมาได้ ไม่จมน้ำตาย มองเห็นทิศทาง ไหนเป็นฝั่งนอก ไหนเป็นฝั่งใน ก็ริเอาว่ายน้ำมุ่งหน้าเข้าไปหาฝั่งนี้ก็มี ก็เรียกว่าเป็นพวกที่จะรอดตัวเพราะเห็นฝั่งเพราะรู้ทิศทาง เพราะไม่หลงทาง นั่นแหละคือพวกที่รู้กระแสของอริยมรรค คือ ที่เรียกว่า พระโสดาบัน พวกเห็นทิศทาง พวกมีธรรมจักษุ ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร นั่นจึงตั้งหน้าตั้งตาว่ายเข้าหาฝั่ง นี่คำเปรียบของพระโสดาบัน ทีนี้พวกที่ว่ายใกล้ฝั่งเข้าไปมากแล้ว ก็เป็นคำเปรียบของพระสกิทาคามี แล้วพวกที่เข้าไปถึงเขตน้ำตื้นยื่นเท้าถึงดินหรือกำลังเดินด้วยเท้าอยู่ไม่ต้องว่ายน้ำนี้ แต่ว่ายังอยู่ในน้ำ นี้ก็เหมือนกับพระอนาคามี แล้วพวกหนึ่งก็ขึ้นบก แห้งสนิทแล้ว นั่งนอนสบายอยู่บนเกาะ เปรียบเหมือนกับพระอรหันต์ แล้วเกาะที่ไม่มีความทุกข์เลยนั้นเปรียบเหมือนกับนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น
เรานึกถึงหลักเกณฑ์อันนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่องมรรคผลนิพพานนี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับใคร นอกจากมีไว้สำหรับคนตกน้ำ ทีนี้เราดูตัวเราที่กำลังตกน้ำอยู่ว่าตกน้ำอยู่ชนิดไหน ในลักษณะอย่างไรนี้ จะดีกว่า นั้นคำว่าดวงวิญาณ ทางจิต ทางวิญญาณของเรานี้ กำลังตกน้ำชนิดไหนอยู่ จมตายลงไปวันหนึ่ง วันหนึ่งกี่ครั้ง สูญเสียความเป็นมนุษย์ สูญเสียความเป็นสุภาพบุรุษจมน้ำตายวันหนึ่ง วันหนึ่ง กี่ครั้ง ขอให้สนใจอย่างนี้แล้วรู้เรื่องมรรคผลนิพพานได้โดยประจักษ์ เพราะฉะนั้นจึงได้รบกวนรบเร้าว่า ให้สนใจคำว่า ทางวิญญาณ ทางวิญญาณ ทางวิญญาณ อย่าได้รู้สึกอิดหนาระอาใจ เรื่องคำว่าทางวิญญาณ ทางวิญญาณ เพราะว่าจะเข้าใจจริยธรรมส่วนลึกซึ่งเป็นรากฐานของจริยธรรมทั่วไป แล้วมันจะง่ายดายเหมือนกับกลิ้ง กลิ้งครกลงภูเขา เหมือนยกตัวอย่างเมื่อตะกี้ที่ว่า ถ้ารักษาศีลด้วยอุดมคติ เรื่องไม่มีอะไรเป็นตัวกูของกูแล้วศีลบริสุทธิ์เองโดยไม่ต้องทำอะไร มีเองสมบูรณ์ แต่ถ้ารักษาศีลอย่างละเมอไป งมงายไป หรืออย่างเครื่องจักร มันก็เหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา มันมีแต่ผลักตกลงมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้สนใจแต่เพียงเรื่องทางวัตถุ ทางระเบียบที่วางไว้ แล้วจะบังคับเอาให้ได้ อย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ มันเหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขามันจะต้องเข้าถึงอุดมคติที่ลึกกว่านั้น และเมื่อยึดอุดมคตินั้นได้แล้ว สิ่งต่างๆ เป็นไปเอง นี้ข้อนี้เป็นข้อที่พวกเราจะต้องสนใจเป็นพิเศษ อย่าให้เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเลย
อาตมาไม่เลื่อมใสในอุดมคติ เอมอาเอ ก็เพราะว่า มาถึงก็ชวนว่า อ้าว ซื่อตรงที่สุด ไม่เห็นแก่ตัวที่สุด อ่อนน้อมที่สุด เป็นการบังคับให้ทำอย่างนี้ มันไม่เป็นเรื่องกลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่ถ้าเรามีอุดมคติ หรือจะเรียกว่า ประรัตทยา หรือจะเรียกอะไรก็สุดแท้ แต่ อาตมาเรียกว่า สัจจธรรม หรือธรรมะนี้ ที่ชี้แจงให้เห็นเรื่อง กรรม เรื่องปฏิจจสมุปบาท และโดยเฉพาะเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นก็เห็นชัด มันจะเป็นเองโดยไม่มีใครเชื้อเชิญบังคับที่จะซื่อตรงที่สุด ไม่เห็นแก่ตัวที่สุด อ่อนน้อมที่สุด เปิดเผยที่สุด มันเป็นไปได้เอง เพราะเรามีหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนานี้ ที่จะทำอะไรให้เป็นรกเป็นรากได้ผลสมบูรณ์ ชนิดที่ทำให้คำกล่าวของ เอมอาเอนั้นแหละ เป็นของเด็กเล่นไปเลย เป็นของเด็กอมมือไปเลย นี้จึงไม่เลื่อมใส ไม่ใช่ว่าจะดูถูกเขา หรืออะไรเขา ไม่ใช่ เพราะว่าเขารู้อย่างนั้น หรือเขาถืออย่างนั้น แต่เราต้องถืออย่างนี้ เราต้องมีหลักอย่างนี้ เพราะเราจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะมีอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ จบลงด้วยสัมมาสมาธิ
เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจเทคนิคโดยธรรมชาติของมันนี้อย่างถูกต้องว่า สัมมาทิฏฐิท่านยกเอามาไว้ข้างหน้า เป็นตัวนำ สัมมาสังกัปโปก็อยู่ติดกับสัมมาทิฏฐิ สองอันนี้เป็นปัญญา แล้วท่านเอาปัญญามาก่อนแล้วศีลกับสมาธิตามมา เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า สัมมาทิฏฐิหรือปัญญานั้นมันเหมือนกับ ตัวนำร่อง คือเข็มทิศ หรือกองหน้า กองหน้ามีหน้าที่ที่จะดูอะไรเป็นอะไรข้างหน้า ส่วนสัมมาสมาธิเหมือนกับทับหลวงหรือตัวกำลังใหญ่มันมาข้างหลัง ท่านจึงว่าสัมมาทิฏฐินี้ เหมือนรุ่งอรุณ ถ้ารุ่งอรุณโผล่เป็นแสง อรุณแล้วก็มันแน่นอนว่ากลางวันั่นแหละ ต้องมาแน่ ต้องเป็นกลางวันแน่ นี้ถ้าเป็นรุ่งอรุณขึ้นมาก่อน จึงต้องมีสัมมาทิฏฐิ หรือปัญญานี้นำอยู่ข้างหน้า แล้วสัมมาสมาธิ อยู่ข้างหลัง เหมือนว่าการที่จะฝาดฟัน การเจาะ การแทง ความคมอยู่ที่สัมมาทิฏฐิตัวแรกที่สุด ส่วนน้ำหนักที่จะให้ความแหลมทำงานคือตัวสัมมาสมาธิที่อยู่ด้านหลังที่สุด เพราะความคมกับน้ำหนักนี้ ต้องทำงานร่วมกัน มันถึงจะตัดขาด ตัดอะไรออกไปได้ ถ้าคมอยู่เฉยๆ ถ้ามันมีน้ำหนักไปตัด มันก็ไม่ไหว มันก็ตัดขาดไม่ได้ แล้วถ้ามันมีแต่น้ำหนัก ไม่มีความคมเสียเลยนี้ มันก็เหลือที่จะตัดให้ขาดได้ มันยุ่งยาก โกลาหลมาก มันก็ต้องมีความคมและมีน้ำหนักที่ทำงานร่วมกัน นอกนั้นก็เป็นอุปกรณ์ไปตามสมควร อุปกรณ์เช่น ด้าม เช่น เครื่องหล่อลื่น หรืออะไรก็สุดแท้เป็นอุปกรณ์ไปเลย มันสำเร็จอยู่ที่ประโยชน์ อยู่ที่มีความคมกับมีน้ำหนัก
ท่านจึงว่า มรรคมีองค์แปด นี้ ต้องรวมเป็นสิ่งเดียว เรียกว่า สมังคี มีองค์เสมอกันกลายเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว จะเรียกว่าเป็นอยู่ชอบ คือ ตัดกิเลสได้ในตัวมันเอง หรือว่าเผาลนกิเลสให้สูญสิ้นไปได้ในตัวมันเอง นี่จิตก็เป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยแผดเผาหุ้มห่อร้อยรัดผัวพันครอบงำ เป็นจิตที่ สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้เลย นี้คือหลักของอริยมรรคมีองค์แปด ที่เรียกว่าเป็น จริยธรรมสากล เป็นตัวแท้ของจริยธรรม ซึ่งอาตมาได้กล่าวในวันแรกว่า น่าขันอย่างยิ่งที่เหลือบดูแล้ว ทำไมมันไปตรงกับว่าการศึกษาทั้งสี่ของเรานี้ เข้าคู่กันพอดีกับองค์แห่งมรรคทั้งแปดองค์ เช่นว่า พุทธิศึกษานี้ เป็นสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปโป จริยศึกษาคือ สัมมาวาจากับสัมมากัมมันโต สัมมาสองอย่างนี้ ถ้ามีหัตถศึกษาก็ไว้ที่สัมมาอาชีโว นั้นเหลือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธินั้น เป็นพละศึกษาไปหมด คือเป็นตัวกำลังทั้งนั้น ความเพียรก็ดี สติก็ดี สัมมาสมาธิร่วมกันแล้วเป็นตัวกำลัง ทั้งนั้น กำลังกาย กำลังใจ ส่วนสัมมาอาชีโวนี้ เรามุ่งหมายแต่เพียงส่วนน้อยส่วนหนึ่ง คือว่ามีทางเครื่องเลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะสมเป็นอยู่ได้แล้ว แล้วก็เพื่อทำสิ่งที่ดีที่งามกว่านั้น สัมมาวาจา พูดจาดี สัมมากัมมันโตมีการกระทำทางกายดี ก็เป็นตัวจริยศึกษา สัมมาทิฏฐิ เชื่อ เข้าใจ คิดเห็น รวมกันนี้ ถูกต้อง เป็นทิฏฐิ เป็นทิฏฐิที่ถูกต้อง สัมมาสังกัปโป คือดำริ มี aim มี ambition ถูกต้อง เป็นพุทธิศึกษา รวมกันทั้งหมดเป็นจริยธรรม
อาตมาอยากจะเรียกตามชอบใจว่า จริยศึกษา ทั้ง ๔ นี่ เมื่อกลมกลืนกันเป็น สมังคี เหมือนกับ อริยมรรคทั้งแปดองค์รวมเป็นองค์เดียวกันแล้ว เราจะเรียกว่า จริยธรรม คืออาจจะกระจายจริยธรรมออกไปเป็น พุทธิศึกษา จริยศึกษา พละศึกษา หัตถศึกษา ในที่สุดก็ คือ มรรคมีองค์แปด นั้นเราไม่ต้องว่า เอาเองแล้วทีนี้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้อธิบายไว้อย่างละเอียดลออ น่าเลื่อมใส มีรายละเอียดอย่างที่ครูบาอาจารย์ก็พบในที่ทั่วๆ ไป ในหัวข้อว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ มีรายละเอียดอย่างนั้น ซึ่งควรจะได้กล่าวกันอีกครั้งในวันหลัง รวมความแล้วก็ว่า สัมมาทิฏฐิ กับสัมมาสังกัปโป นี้ เป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้ เป็นศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็น สมาธิ นี้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขยายออกเป็นแปดเป็นมรรคมีองค์แปดที่เราดึงออกมาเป็น ศึกษาทั้ง ๔ ของเรา และรวมกันเป็นจริยธรรม เพราะฉะนั้นคำว่าจริยธรรมจึงตรงกับคำว่า มรรค ซึ่งเมื่อเป็น มรรคในทางของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เรียกว่า อริยมรรคอันประกอบไปด้วยองค์แปด คือ หนทางที่ประเสริฐ เพราะ ออกไปจากข้าศึกได้ ประกอบอยู่ด้วยองค์แปดประการ คือสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น นี่คือ ตัวแท้ของจริยธรรม ซึ่งเราจะได้แยกดูให้ละเอียดจนนำมาใช้เป็นชีวิตประจำวันได้จริงๆ ยิ่งขึ้นไปอีก อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ เพราะหมดเวลาเพียงเท่านี้
คำถามในกระดาษนั้นก็จะได้รวบรวมประมวลส่งให้ท่านเก็บไป ตอนนี้ขอเชิญได้ค่ะ มีปัญหารีบด่วนส่งเข้ามาถึงดิฉันขอให้พระคุณเจ้าตอบเดี๋ยวนี้ คือว่า ถามว่าทหารที่ยิงปืนไม่บาป คนสั่งให้ยิงบาปหรือไม่ แล้วคนที่ก่อสงครามนั้น บาปหรือไม่ ถ้าทำสงครามเพื่อพระพุทธศาสนาแล้วบาปหรือไม่ คำว่าบาป หมายถึงอะไร (ได้ยินหรือเปล่า) ช่วยอ่านอีกครั้ง ช่วยอ่านอีกครั้งหนึ่ง ถามว่า บาป หมายความถึงอะไร และทหารที่ยิงปืนไม่บาป คนที่สั่งให้ยิงบาปหรือไม่
...ที่บัญญัติ เป็นเรื่องกฎศีลธรรม ที่ศาสดาบัญญัติ ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ ของความจริงตามธรรมชาติ หรือสัจธรรม เพราะนั้นเราถือศาสนาไหน ของศาสดาอะไรแล้ว หลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ต้องไปตามบัญญัตินั้นๆ ที่คำว่า บาป นี้ เขาบัญญัติไว้ว่าเป็น บาป คือทำไปเพราะอำนาจของกิเลสมี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ทำไปเพราะความเห็นแก่ตัวกูแก่ของกู นั้นทำให้เกิดแบ่งแยกขึ้นว่า ถ้าการกระทำนั้น มันไม่ได้อาศัยมูลเหตุอย่างนั้นแล้ว บัญญัติว่าเป็นบาป ที่ได้กล่าวว่า เพชฌฆาตฟันคอผู้ถูกตัดสินประหารนี้ ก็ต้องแยกเป็นว่า คนนั้นทำไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ หรือความเห็นแก่ตัวกู ของกูหรือไม่ ถ้าหากว่าเขาเป็นคนที่มีจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง รู้ว่าความยุติธรรมคืออะไร ธรรมะคืออะไร มีจิตใจบริสุทธิ์จริงๆ แล้วฟันคอลงไปด้วยเจตนาว่า ให้สิ่งต่างๆเป็นไปเพื่อการรักษาความยุติธรรมของโลก ของมนุษย์ ของธรรมะเองนี้ มันต่างกันมากกับ เพชฌฆาตเมาเหล้า ที่ทำไปด้วยความเห็นแก่ตัวกูของกู ต้องแยกกัน คนหนึ่งบาป คนหนึ่งไม่บาป คนหนึ่งทำด้วยเจตนาที่เป็นกิเลสตัณหา คนหนึ่งทำด้วยเจตนาที่เป็นสติปัญญาจะผดุงความเป็นธรรมของโลก ธรรมะช่วยคุ้มครองมนุษย์ไม่ให้เป็นบาปได้ถึงอย่างนี้ แล้วที่ว่าทหารขี้เมาจะไปปล้นประเทศของเขา ปล้นผู้หญิงของเขา แล้วก็ยิงปืนออกไปก็ฆ่าเขาอย่างนี้ มันอย่างหนึ่ง นี้ทหารหรือคนทำหน้าที่อย่างทหารที่มีจิตบริสุทธิ์ที่จะลั่นไกปืนออกไปเพื่อรักษาความเป็นธรรมของโลกด้วยเจตนาบริสุทธิ์มีความสำนึกผิดชอบชั่วดีเต็มที่อย่างนี้ มันไม่เหมือนกันกับทหารขี้เมาที่จะไปปล้นเอาอะไรของเขามา เมื่อพวกหนึ่งเป็นบาป พวกหนึ่งต้องไม่บาป แต่ว่าต้องนำสืบได้ถึงเจตนาที่บริสุทธิ์ นี้กล่าวตามหลัก ทฤษฎี ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเรายากที่จะไปสืบเจตนา หรือไปมองดูเจตนาของเขาได้ เพราะฉะนั้นขอให้ถือหลักนี้ เป็นหลัก ข้อเท็จจริงทางการกระทำนั้น มันอีกอย่างหนึ่ง ผู้ก่อสงครามนั้นแหละ ไม่มีข้อยกเว้น เพราะคำว่า ก่อสงครามมันมุ่งหมายมาจากตัวกูของกูทั้งนั้น ไม่มี ไม่มีเหตุผลอันไหนที่ว่าจะก่อสงคราม ทีนี้ผู้ที่ต่อสู้ป้องกันตัวนั้นก็เหมือนกัน มันมีมูลมาจากอะไร ถ้ามีมูลมาจากเห็นแก่ตัวรักตัวก็ย่อมมี โลภะ โทสะ โมหะ ความเห็นแก่ตัวอยู่ประเภทหนึ่ง ทั้งการยิงปืนออกไปด้วยความรักตัวนี้ ถึงแม้จะไม่บาป ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องบาป ๔,๕เปอร์เซ็นต์ ตามเรื่องตามราว ของการเห็นแก่ตัว
ท่านนักศึกษาทั้งหลายควรจะจำหลักว่า กฎทางศีลธรรมที่เป็น manmade คือพระศาสดาบัญญัติ หรืออะไรทำนองนี้ ไม่ใช่กฎธรรมชาตินี้ มันต้องไปตามหลักที่ท่านวางไว้ เพราะเราเอาคำว่าบาปมาพูดจากไหนกัน ถ้าไม่เอามาจากที่ท่านบัญญัติไว้ และมันก็ต้องเอามาจากที่ท่านบัญญัติไว้ เมื่อท่านบัญญัติไว้ว่า เจตนาเป็นอย่างไร กรรมนั้นชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ยิงปืนออกไป หรือฟันคอคนลงไปด้วยเจตนาโกรธเคือง หรือว่า อิจฉาริษยา หรือว่าจะเอาอะไรของเขานี้มันก็อย่างหนึ่ง ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ อย่างผู้พิพากษา ตุลาการ ลงโทษประหารชีวิตนี้ มันต้องด้วยจิตใจที่เป็นปกติที่สุด มีเหตุผล ทั้งทางโลก และทั้งทางธรรมะถึงที่สุด นั้นไม่มีส่วนที่ต้องเป็นบาป เราคงจะมีปัญหากันบ้าง ถึงเรื่องที่จะต้องต่อสู้ ในสงคราม นี้ เรื่องนี้เขาเคยคิดกันมามาก ในทั้งพุทธกาลและเนื่องด้วยศาสนา นี้ อย่างคัมภีร์ของฝ่ายชัยนะ ที่เราเรียกเขาว่าเดียรถี นิครน เดี๋ยวนี้ นักบวช ลัทธิชัยนะ บางที่ก็อ่านว่า เชน ที่จริง ชัยนะ ปาณาติบาตของเขาจะต้องมีเป็นชั้น ชั้น ชั้น ชั้น อย่างว่า ชาวนานี้ไถนา ไส้เดือนตาย ปูนาตาย กบ เขียดตายนี้ ไม่มีขาดศีล เพราะปาณาติบาตสำหรับชาวนานั้นบัญญัติไว้อย่างหนึ่ง นั้นปาณาติบาตเมื่อชาวนาทำอย่างนั้นได้ ไม่ผิดศีลปาณาติบาต แต่ถ้าภิกษุหรือนักบวชไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เป็นผิดศีล ฆ่าสัตว์นี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ทหารก็เหมือนกันมีหน้าที่ ปาณาติบาตโดยหน้าที่นี้ ที่จะทำไปด้วยบริสุทธิ์จริงๆ เพราะฉะนั้นเขาจะกล่อมเกลานิสัยทหารของเขาให้อยู่ธรรมจริงๆ มีคัมภีร์โดยเฉพาะ ทหารเป็นผู้รู้ปรัชญาและมีอุดมคติทั้งนั้น การที่ทหารยิงฝ่ายข้าศึกตายด้วยจิตบริสุทธิ์อย่างนั้น เขาบัญญัติว่าไม่เป็นปาณาติบาต นี่ถ้าอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้ ที่จะทำอย่างนั้น ไม่ได้ มีสิ่งที่ต้องสำรวมระวังไม่ทำให้สัตว์ตาย นี่ถ้าเป็นนักบวชแล้วก็ แม้แต่ทำต้นไม้ตายก็ยังเป็นปาณาติบาต พึงทราบว่า นักบวชฝ่ายเชน ฝ่ายชัยนะนั้นยิ่งกว่านักบวชฝ่ายพุทธศาสนาไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ด้วย แม้แต่ต้นไม้นี้ เขาไปทำให้ตายไม่ได้ บัญญัติว่าต้องเป็นปาณาติบาต อย่างภิกษุในพุทธศาสนาเราถ้าใครแกล้งฆ่าเนื้อ หรือต้มไข่มาให้ฉันโดยเฉพาะถือว่าอุทิศวิมังสะ ฉันไม่ได้ เพราะเขามีวินัยบัญญัติอยู่เป็นผิด ผิดวินัย นี่พวกชัยนะยิ่งไปกว่านั้น ไปรูดผักมากินโดยเฉพาะนี่ก็กินไม่ได้ มีโทษชนิดเดียวกับภิกษุฉันเนื้อสัตว์หรือไข่ที่เขาต้มแกงมาเฉพาะเจาะจงนี้ นี้ขอให้เข้าใจว่าบทบัญญัติที่เป็น manmade อย่างนี้ มันแล้วแต่พระศาสดาบัญญัติไว้อย่างไร พระศาสดาไหนว่าอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร เราเป็นพุทธบริษัทก็มีเหตุผลของเราเอง ไม่งมงาย ศึกษาพระพุทธบัญญัติให้ดีแล้ว ก็จะพบทางออกที่ดี ที่ไม่งมงาย แล้วพอที่จะเป็นอยู่บนโลกนี้ได้ทำหน้าที่ต่างๆ ตามหน้าที่ได้โดยไม่เดือดร้อน อันนี้เองที่เป็นเหตุให้เขาหาว่า หลักศาสนานี้ใช้ไม่ได้ เกาะกะกีดขวางไปหมด บางที่ก็ถ่วงความเจริญ ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่ว่าเข้าใจจริงหรือไม่ เรามีเจตนาบริสุทธิ์จริงหรือไม่ นั้นขอให้ไปพิจารณาดูใหม่ โดยศึกษาสิ่งที่เรียกว่าเจตนาบริสุทธิ์ สติปัญญาแจ่มแจ้งในเรื่องถูกผิดชั่วดี แล้วก็จะตอบปัญหาได้เอง ปัญหาที่ถามนั้นจะตอบได้ด้วยตนเองอย่างที่เห็นแจ้งด้วยตนเองไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น นี้อาตมาตอบอย่างนี้เท่านี้
เรียนว่า ยังมีปัญหาทำนองนี้ส่งเข้ามาอีกหลายฉบับแต่เป็นปัญหาที่มีคำถามคล้ายๆ กันกับที่ดิฉันได้กราบเรียนถามเมื่อกี้นี้ ดิฉันขอเรียนถามแทนสมาชิกอีกปัญหาเดียวเท่านั้น เพื่อให้พระคุณเจ้าตอบก็คือว่า ถามว่า ฆ่าเป็ดฆ่าไก่ขายเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่ ส่วนปัญหานอกนั้นจะถวายไปค่ะ
มันก็ตอบอย่างที่ตอบแล้วแหละว่า ศีลธรรมกับสัจธรรมนั้น ไม่เหมือนกัน ศีลธรรม หรือ ethics หรือแม้แต่ moral นั้น มันแล้วแต่พระศาสดาบัญญัติ เพราะว่าเป็นศีลธรรมที่มนุษย์บัญญัติ ส่วนสัจธรรมนั้นมนุษย์ไม่ได้บัญญัติ ธรรมชาติมีของมันเองมีกฎเกณฑ์ของมันเอง เหมือนอย่าง ฆ่าเป็ดฆ่าไก่ขายนี้ ผู้ถามถือศาสนาอิสลามหรือถือศาสนาอะไรไม่ทราบ เพราะฉะนั้นต้องเอาตามพระศาสดาบัญญัติไว้อย่างไร นี่ถ้าว่าในพุทธศาสนาเรานี้คงจะไม่ต้องถามแหละน่ะ เพราะท่านถือว่า การเลี้ยงชีวิตที่ชอบนี้ มันจะต้องเป็นไปเพื่อหลัก เพื่อกฎเกณฑ์อย่างนั้นๆ มีจิตใจแจ่มแจ้งอย่างนั้นๆ ทำไปอย่างนั้นๆ รวมความแล้วก็คือว่า ไม่เพื่อเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น จึงจะเรียกว่า สัมมาอาชีพ คือเลี้ยงชีวิตชอบ เพราะฉะนั้นจึงได้มีการกล่าวถึงว่า ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยการขายยาพิษ ขายสิ่งมึนเมาเสพติด ขายสัตว์มีชีวิต ขายมนุษย์ อะไรต่างๆ ที่ล้วนกับว่ามันไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เป็นโทษแก่ผู้อื่นโดยตรงโดยอ้อมอยู่ทุกอย่างไป ถ้าจะต้องการให้เป็น ชาวพุทธหรือเป็นพุทธบริษัทนี้ มันก็ควรจะทำให้สมกับที่ว่า คำว่า พุทธะ นี้ แปลว่ารู้ แปลว่าตื่น แปลว่า เบิกบาน พุทธะตัวเดียวนี้ root ของศัพท์พุทธะ ว่า รู้ ก็ได้ ว่า ตื่น เช่น ตื่นนอน ไม่ใช่ตื่นตูมน่ะ ตื่นนอนหมายถึงลืมหูลืมตา สว่างนี้ว่า ตื่น อย่างนี้ก็ได้ ตื่นจากหลับ คำว่าเบิกบาน สดชื่นแจ่มใส ทีนี้เอาคำว่าพุทธะ ว่า รู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบานนี้ ไปวัดกันดูกับการฆ่าเป็ดฆ่าไก่ขายเลี้ยงชีวิตนี้ ของมันจะเป็นอย่างไร ก็จะทราบได้เองว่า เป็นอาชีพที่สมควรแก่ชาวพุทธหรือไม่ และอย่างไรก็อย่าลืมว่า ขึ้นชื่อว่าศีลธรรมแล้ว ต้องไปตามที่พระศาสดาบัญญัติ เรื่องเหล่านี้ท่านบัญญัติไว้ชัดเจน เราอย่ามาตั้งปัญหาวินิจฉัย วิพากษ์วิจารณ์การบัญญัติของท่านเลย จะทำให้เรื่องมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมาก