แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่5นี้ อาตมาจะได้กล่าวถึง จุดปลายทางของจริยธรรม แต่เนื่องจากจะได้กล่าวต่อจากที่ค้างไว้แต่วันก่อนเรื่องกิเลส จึงจำเป็นที่จะต้องบรรยายเป็นแนวไป จากกิเลสไปสู่ความว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นจุดปลายทางของจริยธรรม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา เรื่องสิ่งที่เรียกว่ากิเลส อาตมาจึงขอร้องให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายสนใจ
ความมุ่งหมายที่จะแก้ไขสถานการณ์ทางจริยธรรมของเรานั้น นับว่าเป็นความมุ่งหมายที่ดี ที่เลิศ ที่สำคัญ และจะต้องเอาจริงเอาจัง และอุปสรรค ศัตรู ความรวนเร ความพังทลายของจริยธรรมก็อยู่ตรงที่กิเลสอย่างเดียว แต่สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้นมีมากมาย หลายรูป หลายแบบ หลายเลี่ยม หลายพู มนุษย์ไม่ฉลาดพอที่จะควบคุมมันได้ มันจึงทำให้โลกเราเป็นทุกข์หรือระส่ำระสายโดยที่ไม่ควรจะเป็น ฉะนั้นในศาสนาทุกศาสนาจึงเปรียบกิเลสว่าเป็นเสมือนภูตผีปีศาจ โดยชื่อจะเรียกว่าอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น เช่นจะเรียกว่าซาตานหรือเรียกว่าอะไรก็ได้ ในพุทธศาสนาก็เรียกว่ามารหรือพญามาร แต่เมื่อไม่เรียกโดยสมมติคือเรียกกันตรงๆแล้วก็ต้องเรียกว่ากิเลส ซึ่งคำนี้แปลว่าสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง แม้ที่แปลกันเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำๆเดียวกัน คือคำว่า defilement ซึ่งแปลว่าสิ่งที่ทำความเศร้าหมอง หรือบางทีก็คำว่า corruption ที่แปลว่าจุดที่แปดเปื้อน ทำความเศร้าหมองอย่างไร ก็ขอให้เปรียบเทียบกันกับสิ่งทางวัตถุ เช่นสิ่งที่ไม่สะอาดสกปรกมาแปดเปื้อนสิ่งที่สะอาด สิ่งนั้นก็หมดความบริสุทธิ์หมดความสว่างไสวหมดความสงบเรียบร้อย อย่างนี้เป็นต้น จิตที่ต้องการจะให้สะอาดสว่างสงบนั้น ไม่อาจจะสะอาดสว่างสงบได้ก็เพระอำนาจของกิเลส ฉะนั้นขอให้ถือเอาความหมายของกิเลสตามตัวหนังสือก็คือ สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง ซึ่งเราเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า สกปรก ไม่สะอาด
ทีนี้ขอให้ทบทวนถึงการบรรยายในครั้งที่สามที่พูดถึงเรื่องอุปสรรคศัตรูของจริยธรรมคือกิเลส เพราะสิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้นถ้าเมื่อกล่าวโดยแม่บท คือต้นตอที่สุดแล้ว ก็มีเพียงอย่างเดียว คืออวิชชา แปลว่าสภาพที่ปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อยังมีสภาพที่ปราศจากความรู้ที่ถูกต้องอยู่เพียงใดแล้ว สิ่งต่างๆจะเป็นไปในทางเศร้าหมอง อย่างน้อยก็เศร้าหมองเพราะความไม่รู้นั้นเอง ต่อเมื่อสภาพที่ตรงกันข้ามคือวิชชาเข้ามา เป็นสภาพที่เต็มไปด้วยความรู้ที่ถูกต้องหรือสภาพที่เป็นความรู้อันถูกต้องปรากฏขึ้นแก่จิต เมื่อนั้นสิ่งต่างๆก็เป็นไปในทางไม่เศร้าหมอง คือสะอาด สว่าง สงบ ฉะนั้นจึงจำกัดต้นตอของกิเลสลงไปที่อวิชชา แต่เรียกว่ากิเลสในฐานะที่เป็นประธานหรือเป็นแม่บทมีชื่อว่าอวิชชา ถ้าดูต่อไปก็จะเห็นว่า อวิชชาแสดงอาการออกไปเป็นสาม โลภะ โทสะ โมหะ หมายความว่าสภาพที่ปราศจากความรู้นั้น ถ้าเป็นไปในลักษณะที่เที่ยวกวาด เที่ยวกอบโกยรวบรัด อะไรเอาเข้ามาหาตัวด้วยความไม่รู้นั้นแล้วเรียกว่าความโลภ หรือ ราคะ แต่ถ้าสภาพของความไม่รู้นั้นแสดงอาการไปในทางที่จะผลักไสหรือว่าทำลายสิ่งอื่นๆแล้ว ก็เรียกว่า โทสะหรือ โกธะ แต่ถ้าสภาพที่ปราศจากความรู้นั้นเป็นไปในลักษณะที่สงสัย แล้วก็เที่ยวทำไปด้วยความไม่รู้สงสัย ไม่แน่ใจ มัวเมาอย่างนี้ก็เรียกว่าโมหะ ฉะนั้นจึงได้เป็นสามกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ตามที่เราเรียกกัน
กิเลสสามประเภทนั้น อาจจะแสดงอาการปลีกย่อยออกมา หรือคลอดเป็นกิเลสน้อยๆออกมา เป็นอุปกิเลส 16 ประการ มีลักษณะต่างๆ ตรงตามที่มักเกิดขึ้นแก่คนเราเป็นประจำทุกวันหรือทุกชั่วโมง มีรายละเอียดดังที่กล่าวแล้วในวันก่อน ข้อนี้ก็มุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นอาการปลีกย่อยของกิเลสซึ่งเป็นประธาน และเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้ดี ให้ละเอียดลออ จนรู้เท่าทันมันและควบคุมมันได้ ฉะนั้นลายละเอียดต่างๆเหล่านี้ขอให้จดจำไว้เป็นอย่างยิ่ง หรือว่าถ้าไม่สามารถจดจำไหว ถ้าหากว่าชุมนุมการอบรมนี้ได้เกิดพิมพ์สำเนาคำบรรยายเหล่านี้ขึ้น ก็ขอให้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องลายละเอียดของกิเลส ศึกษาจนเข้าใจ จึงจะสามารถใช้ความรู้ทางพระพุทธศาสนานี้ไปแก้ปัญหาทางจริยธรรม หรือว่าจะเอาชนะเด็กๆได้ คือนำเด็กๆไปได้ ตามความประสงค์ของเรา เพราะว่าสิ่งต่อต้านนั้นไม่มีอะไรนอกจากกิเลส ถ้าเรารู้เท่าทันเราก็บังคับมันได้ และหมวดถัดไปจะได้กล่าวถึงสังโยค 10 ประการ ซึ่งเป็นกิเลสชั้นละเอียดที่นอนอยู่ในส่วนลึกของจิต เขาเรียกว่าสันดาน นั้นก็คือระบุถึงกิเลสที่แท้จริงอย่างยิ่ง ดังที่ได้บรรยายแล้วในวันก่อนนั้น พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าถ้าจะนำมาใช้เป็นหลักสำหรับให้เด็กๆประพฤติปฏิบัติละแล้ว เราจะต้องจำกัดความหมายของสังโยคทั้งสิบประการ แต่ละอย่างอย่างไร นี้ก็ขอให้สนใจเป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นหลักที่ง่ายและสะดวกมากในการที่จะอบรมเด็กๆของเราให้เข้าร่องเข้ารอยของพระพุทธศาสนาไปตั้งแต่ต้น และไม่ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์อะไรเลยจนกระทั้งเติบโต จนกระทั้งเป็นคนแก่ชราทีเดียว ถ้าเราจะยึดถือเอาหลักสิบประกานั้นเป็นแนวสำหรับปฏิบัติ ขอวิงวอนท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายให้สนใจเป็นพิเศษทั้งเพื่อตัวท่านเองและเพื่อเด็กๆของท่าน ถ้าท่านประหยัดเวลาคือไม่อยากจะเสียเวลามาก ก็ขอให้สนใจเรื่องนี้เถอะ ซึ่งจะกินเวลาน้อยกว่าเรื่องอื่น ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ได้บรรยายแล้วในการบรรยายครั้งที่สาม แต่เรื่องกิเลสนั้นยังไม่จบ จึงขอถือโอกาสกล่าวต่อไปในวันนี้ในตอนต้น แล้วตอนท้ายจะได้กล่าวถึงความว่างจากกิเลส
กิเลสหมวดต่อไปที่จะเอามาบรรยายให้ท่านทั้งหลายศึกษาก็คือสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน ซึ่งมีอยู่สี่อย่าง คนไทยเราพอได้ยินคำว่า อุปาทาน ก็มีความหมายมีความรู้สึกแล่นไปในความหมายที่แคบมาก ไม่เต็มตามความหมายของอุปาทานในพุทธศาสนาเลย ฉะนั้นควรจะศึกษาเรื่องอุปาทานให้เข้าใจ ให้ตรง สิ่งที่เรียกว่าอุปาทานก็คือกิเลสนั้นเอง แต่มามองกันดูในเหลี่ยม อีกเหลี่ยมหนึ่งคือเหลี่ยมที่มันทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ต้องเศร้าหมองแน่นอน เป็นอันว่าอาการที่มันยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เป็นอาการของกิเลส อุปาทานตามตัวหนังสือก็แปลว่ายึดมั่นถือมั่น ทำนองเดียวกับการยึดมั่นถือมั่นด้วยมือ แต่นี้เป็นการยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจ ท่านแบ่งเป็นสี่อย่างคือ กามุปาทาน-ยึดมั่นในทางกาม ทิฏฐุมาทาน-ยึดมั่นในความคิดความเห็น สีลัพพตุปาทาน-ยึดมั่นด้วยความงมงายตามที่เคยชินมาก่อน อัตตวาทุปาทาน-ยึดมั่นด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกู คำบาลีทิ้งเสียก็ได้ ดังที่ท่านครูบาอาจารย์หลายคนได้ยื่นคำถามเข้ามาว่า คำบาลีนั้นทำความยุ่งยากและเป็นเหตุให้เด็กๆไม่สนใจ ถ้าไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับคำบาลี ก็ต้องสนใจในคำภาษาไทยซึ่งค่อนข้างจะยืดยาว คำบาลีมีประโยชน์ตรงที่มันสั้นแล้วอมความหมายเอาไว้หมด ถ้าเราจำได้และมีประโยชน์มากกว่าที่จำไม่ได้ แล้วอีกไม่เท่าไหร่คำบาลีก็จะกลายเป็นคำไทยไปเอง แต่เพราะเหตุที่เราไม่ค่อยสนใจนั้นเอง มันจึงเป็นคำต่างประเทศอยู่เรื่อย อย่าลืมว่าในภาษาไทยเรามีคำบาลีตั้งแปดสิบเปอร์เซ็นต์ หนังสืออย่างหนังสือสามก๊ก แบบเรียนภาษาไทยอย่างหนังสือสามก๊ก ครูบาอาจารย์คงคิดว่านั้นเป็นภาษาไทยแท้ แต่ขอให้ไปทำสถิติดูทุกๆหน้าเถอะ จะมีภาษาบาลีอยู่ในทุกๆหน้าโดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าหน้าละ 13 คำ หนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทยแท้ๆ รู้สึกว่าเป็นภาษาไทยแท้ๆ ถ้าเป็นหนังสือเรื่องอื่นหรือหนังสือธรรมดาด้วยแล้ว จะมีภาษาบาลีมากกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดกันอยู่เรื่อยทำความเข้าใจกันอยู่เรื่อย เราก็จะชนะภาษาบาลี จะเอามาใช้ได้โดยสะดวกและมีประโยชน์มาก ในฐานะที่เป็นคำบัญญัติเฉพาะ หรือ technical terms อยู่ในตัว ประหยัดเวลาได้มาก ฉะนั้นอย่าเพิ่งเบื่อหน่ายอึดอัดในภาษาบาลี ทำไปไม่เท่าไรก็ชิน หรือถ้ายังทำไม่ได้ก็สนใจภาษาไทย
อุปาทานที่หนึ่ง ความยึดมั่นถือมั่นในทางกามนั้น กามก็คือความใคร่ ความยึดมั่นถือมั่นจึงยึดด้วยความใคร่ที่เรียกว่ากาม และก็ยึดมั่นสิ่งนั้นๆในฐานะที่เป็นกาม คือสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความใคร่ และสิ่งที่จะถูกยึดมั่นก็ไม่มีอะไรอื่น ก็คือโลก โลกก็ไม่มีความหมายอะไรอื่นนอกจาก รูป กลิ่น เสียง รส สัมผัส ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เป็นภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นแหละคือโลก ขอให้เข้าใจสำนวนโวหารชนิดนี้ไว้บ้างจะช่วยได้มาก อาจจะคิดว่าโลกเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆอย่างนั้นอย่างนี้ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านอย่าง แต่แล้วทั้งหมดทุกอย่างนั้นมันไม่มีอะไรมากไปกว่า รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้นหู กลิ่นที่จะได้รู้ด้วยจมูก และรสที่จะได้รู้ด้วยลิ้น ตลอดถึงความรู้สึกทางผิวหนังที่จะรู้ได้ด้วยความรู้สึกทางผิวหนัง ฉะนั้นโลกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันโลกหรือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นเองเป็นตัววัตถุสำหรับความยึดมั่นด้วยกามุปาทาน ยึดมั่นด้วยความใคร่ ในฐานะเป็นสิ่งที่น่าใคร่ คำว่ายึดมั่นนี้มีความหมายถึงกับว่าไม่รู้สึกตัว เพราะว่าถ้ารู้สึกตัว มีความรู้ถูกต้องแล้วย่อมไม่ยึดมั่น เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอาอะไรเป็นหลักฐานพยาน เรื่องราวในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวันนี้ จะเห็นได้ว่ามีคนตายหรือฆ่าตัวเองตายด้วยอำนาจของกามุปาทานไม่เว้นแต่ละวัน ในบางประเทศที่เจริญศิวิไลซ์แล้ว สถิติที่แสดงออกมาปรากฏว่ามีการฉุดคร่าอนาจารทุกๆสองนาทีในประเทศนั้น ขอให้เราคิดดูว่าเป็นไปด้วยอำนาจอะไร ก็คือสิ่งที่เราไม่ค่อยจะรู้จักมัน ในนามว่ากามุปาทานนั้นเอง ทำลายโลกนี้ให้เศร้าหมองไม่น่าดูไปมากน้อยเท่าไร มันจึงเป็นเหมือนปีศาจหรือพญามารที่มองไม่เห็นตัว เร้นลับอย่างยิ่ง และก็ทำลายมนุษย์เราอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง และมันอยู่ที่ไหน มันกลายมาเป็นอยู่ในจิตใจของคนทุกคน ถ้าควบคุมไว้ได้ก็ไม่เกิด ถ้าควบคุมไม่ได้ก็ปรากฏออกมาเป็นอาการทางกาย ทางวาจา ที่คนที่เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรีนี้ ไม่แสดงอะไรออกมาก็เพราะว่าควบคุมสิ่งนี้ไว้ได้ เมื่อควบคุมไว้ไม่ได้มันก็แสดงออกมาเป็นการกระทำอย่างภูตผีปีศาจอย่างซาตานอย่างพญามารในลักษณะหนึ่งทีเดียว ฉะนั้นเราจะนำเด็กๆของเราไปอย่างไรก็ลองคิดดู
ถัดไปเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจความคิดเห็นตลอดถึงความเชื่อ ความคิดเห็นนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อหรือความเชื่อก็มีมูลมาจากความคิดเห็น มันอาศัยกันอยู่ แต่รวมกันแล้วเรียกว่าทิฐิ หรือความคิดเห็นจะดีกว่า เมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรแล้วคนเราก็ทำไปตามความคิดเห็นไม่ยอมเชื่อคนอื่น ฉะนั้นจึงไม่เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งปวง ทั้งๆที่ทุกคนถือว่าตนมีความจริงของตนเอง ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าความจริงของคนๆหนึ่ง มันจึงเป็นแต่เพียงความจริงเท่าที่เขารู้เขามองเห็นเท่านั้น ไม่ใช่ถึงที่สุด ไม่ใช่ความจริงที่แท้จริงที่เด็ดขาดถึงที่สุด ที่เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ หรืออะไรทำนองนั้น ใครๆต่างมีความจริงของตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นใครๆจึงต่างยึดความคิดความเห็นของตนทั้งนั้น อุดมคติของมนุษย์เราจึงต่างกันเป็นคนๆไปเป็นพวกๆไปเป็นประเทศๆไปหรือเป็นมุมโลกแต่ละมุมไป จึงรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกันได้ ที่เป็นส่วนตัวบุคคลนั้นน่าอันตรายอยู่ก็ตรงที่ว่าไม่อยากลอง ไม่กล้าลองในสิ่งที่แปลกมา เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นมาแต่เดิมว่า ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ไปตามความยึดมั่นความคิดเห็นของตัวไปหมด ตัวอย่างเช่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ทางบ้านนอกยังไม่กล้าใช้ยาสมัยใหม่ ยาแก้โรคสมัยใหม่ ยึดมั่นถือมั่นในยาแผนโบราณ ก็ด้วยทิฐิอย่างนั้น กระทั่งไม่ยอมกินหรือกลัว และเกิดเรื่องแปลกๆน่าหัวขึ้นเป็นอันมาก อาตมานำมาให้เห็นถึงตัวอย่างว่า สิ่งที่เรียกว่าทิฏฐุปาทานนั้น ไม่ใช่ของที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนเรา มันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนทุกคน แต่แล้วไม่มีใครจับตัวมันขึ้นมาดู
อุปาทานถัดไปก็คือยึดมั่นถือมั่นด้วยความงมงาย ในสิ่งที่ทำมาเคยชิน อย่างเคยชิน อย่างบรรพบุรุษเคยทำมาอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้นต่อไป เช่นบางบ้าน ปู่ย่าตายาย เคยมีศาลพระภูมิ ลูกหลานก็ต้องมีต่อไป มันมีความกลัว มันมีความว้าเหว่ใจ เพราะถูกทำให้เข้าใจอย่างนั้นให้ยึดมั่นอย่างนั้นมาตั้งแต่เล็ก หรือว่าเห็นปู่ย่าตายายแขวนเครื่องราง พระเครื่องหรือตะกรุดหรืออะไรก็สุดแท้ ก็กลัวไม่กล้าที่จะเลิกละสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องทำไป ตลอดถึงพิธีรีตองเล็กๆน้อยๆ จะต้องเสกน้ำล้างหน้า จะต้องหันหน้าทางทิศ จะต้องดูหมอ จะต้องอะไรต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระทำที่ไม่ตั้งอยู่ในอำนาจของเหตุผล ความที่ไม่ตั้งอยู่ในอำนาจของเหตุผลนี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือว่าระเบียบปฏิบัติที่ดีงามต่างๆที่มีผลอันแท้จริง ก็ไปเข้าใจผิดจนกลายเป็นของขลังทำไปอย่างขลัง อย่างเรื่องว่าเถรส่องบาตร การที่พระจะต้องเอาบาตรมาส่องนั้นเป็นเรื่องของวินัย เพื่อจะตรวจดูว่าบาตรยังเรียบร้อยอยู่ตามวินัยหรือไม่ ถ้าชำรุดต้องซ่อม ไม่ซ่อมเป็นอาบัติหรือว่าถ้าชำรุดถึงขนาดที่ต้องเปลี่ยนใหม่ก็ต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็เป็นอาบัติ ฉะนั้นจึงต้องตรวจดู ทีนี้อาจารย์ก็ส่องดูอย่างนั้น ทิ้งลูกศิษย์ไม่รู้เรื่องก็เลยส่องดูทำตามกันอย่างนั้น ไม่รู้ว่าส่องทำไม กระทั่งต่อมาการส่องบาตรกลายเป็นระเบียบขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ไป จนเรียกว่าเถรส่องบาตร คือทำอะไรตามๆกันเท่านั้นเอง ตัวอย่างเหล่านี้มีอยู่ทั่วไป แทบจะว่าทุกอย่างในชีวิตประจำวันของคนเราที่เกิดมาแล้วก็พบกันเข้ากับพิธีรีตองต่างๆนานา เข้าใจไม่ได้หรืออย่างงมงาย ที่งมงายมาแต่เดิมก็งมงายต่อไป ที่ถูกที่จริงที่มีเหตุผลก็ถูกทำให้งมงายไป ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผล ถ้ายืดมั่นถือมั่นอยู่ในการกระทำอย่างนี้เราเรียกว่า ยึดมั่นถือมั่นใน สีลัพพตปรามาส เป็นเครื่องหมายของมนุษย์ที่ยังต่ำต้อยน้อยการศึกษา ยังเป็น Barbarian เหมือนกันสมัยที่ยังไม่มีการศึกษา แล้วก็ติดมาจนกระทั่งบัดนี้ก็ละไม่ได้ การไหว้ภูตผีปีศาจ ไหว้ฟ้า ไหว้ดิน ไหว้อะไรต่างๆ มันมีมูลมาจากความกลัวของคนที่ยังไม่มีความรู้ ก็ยังสงวนกันเอาไว้จนกระทั่งมาถึงบัดนี้ พยายามให้คำอธิบายต่างๆเป็นการแก้ตัวให้คนปฏิบัติต่อไปได้ เรียกว่าเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นจึงได้เรียกว่าเป็น อุปาทาน
อุปาทานที่สี่เรียกว่า ยึดมั่นถือมั่นด้วยความรู้สึกว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี้เกือบจะเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ทั้งหลายที่มีความรู้สึกเป็นตัวเราเป็นของเราเสมอ เมื่อเกิดมีตัวเราขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวเรา คือเป็นที่เรียกว่า egoism รู้สึกว่าเราเป็นเราขึ้นมาก่อน เมื่อควบคุมไว้ไม่ได้ก็เรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวที่เรียกว่า selfishness ขอครูบาอาจารย์สนใจกับสิ่งที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัวนี้ให้มาก เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและแก่เด็กๆของเรา ปัญหาต่างๆมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น มันจึงเป็นอุปาทานที่ร้ายกาจมาก จริงอยู่ที่ว่าอุปาทานเหล่านี้ อุปาทานโดยเฉพาะข้อที่สี่นี้ ถ้าตัดได้นั้นเป็นถึงพระอรหันต์ มีสถานะถึงกันเป็นพระอรหันต์ คือบริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด เราไม่เอาถึงอย่างนั้น เราเอาแต่เพียงว่าควบคุม selfishness ไว้ได้ ส่วน egoism นั้นก็จะต้องปล่อยไปก่อน เพราะทำอย่างไรเสียมันก็ยังละมันไม่ได้ เป็นปุถุชนที่ไม่เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ตัวน้อย ถ้าจะเป็นตัวจะมีตัวก็เป็นตัวที่ดีไม่เป็นตัวที่เลว คือยึดมั่นฝ่ายดีแท้ที่จริงไว้ก่อน แล้วค่อยให้บางไปบางไปจนกว่าจะหมด
นี้คืออุปาทานสี่ จะเห็นว่ามีอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งของครูบาอาจารย์และของเด็กๆ จะแก้ปัญหาได้มากถ้าเข้าใจเรื่องนี้ นี้เป็นการกล่าวถึงกิเลสในรูปของความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้กิเลสอีกรูปหนึ่งก็เป็นรูปของการหมักดองหรือหมักหมมอยู่ในสันดาน นั้นก็คือสิ่งที่คล้ายๆกันหรือประเภทเดียวกัน แต่เราไปมองในเหลี่ยมที่มันเป็นความดองในจิตในใจ เหมือนกับเชื้อหมักต่างๆ ซึ่งจะค่อยๆกลายเป็นสิ่งมากมายขึ้นมาได้ มันเป็นเพียงส่วนน้อยแต่เมื่อหมักดองถูกวิธี มันก็กลายเป็นของมากมายขึ้นมาได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า เชื้อนี้ถ้ายังคงมีอยู่แล้วมันหมักได้เรื่อยไป อย่างเขาหมักส่าเหล้าหรือหมักอะไรอย่างนี้ เก็บเชื้อไว้เพียงนิดเดียวเท่านั้นมันจะหมักได้เรื่อยไปไม่มีทีสิ้นสุด กิเลสในแง่ของความหมักดองอย่างนี้ก็แจกเป็นสี่หรือบางทีก็เป็นสาม ถ้าเป็นสามก็เป็นกามอย่างหนึ่ง ความรู้สึกว่าเป็นนั้นเป็นนี้อย่างหนึ่ง และอวิชชาคือความไม่รู้อย่างหนึ่ง รวมเป็นสามอย่าง เหล่านี้หมักดองอยู่ในสันดานโดยไม่มีใครรู้สึก ถ้าจะให้เป็นสี่อย่าง ก็เติมทิฐิเข้าไปอีกอย่างหนึ่งเป็นสี่อย่าง ชื่อนี้ไม่สำคัญแต่ว่าดูว่าเราประสบความยุ่งยากลำบากบังคับตัวเองไม่ได้ทั้งๆที่อยากจะบังคับให้ได้ ทั้งๆที่รักตัวสงวนตัวอย่างยิ่ง แต่ก็พ่ายแพ้แก่อำนาจฝ่ายต่ำอยู่บ่อยๆ เพราะว่าเราฆ่ามันตายเดี๋ยวนี้แต่เชื่อมันยังอยู่ มันก็หมักขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นกิเลสสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่อีก จึงต้องรู้ถึงเชื้อส่วนลึกและฆ่าเชื้อส่วนลึก ฉะนั้นท่านจึงมีการสอนการแนะให้พิจารณาให้เห็นชัดจนทำลายกิเลสในลักษณะที่เป็นเชื้อหมักนี้เสียได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า อาสวะ แปลว่าสิ่งหมักดอง มีอยู่สี่หรือสามตามแต่ที่จะยกขึ้นมากล่าว
ที่นี้อีกปริยายหนึ่งซึ่งอาตามาจะกล่าวเป็นข้อสุดท้ายก็คือว่า กิเลสในเหลี่ยมของความท่วมทับเหมือนกันน้ำท่วม เราช่วยตัวเองไม่ได้ถ้าหากว่ามันมีอะไรท่วม มันหายใจไม่ออกมันจะจมน้ำตายอย่างนี้ เหมือนกันที่เราตกลงไปในน้ำแล้วมันก็มีแต่จมน้ำตาย เพราะน้ำมันท่วมปาก ท่วมตา ท่วมหู ท่วมจมูก ท่วมตัว กิเลสมีอาการท่วมใจสัตว์ ท่วมวิญญาณของสัตว์ วิญญาณของสัตว์จึงจมลงไปในน้ำคือกิเลส แล้วก็จมน้ำตายคือตายในทางวิญญาณ ทั้งที่ร่างกายยังเดินได้ วิ่งได้ พูดได้ หัวเราะได้ แต่ทางวิญญาณนั้นจมน้ำตายแล้ว การที่ตกไปสู่อำนาจฝ่ายต่ำจนโงไม่ขึ้น แล้วก็ไม่มีอะไรอีกท่านก็ระบุชื่อเป็นกาม เป็นทิฐิ เป็นภาวะหรือความเป็นนั้นเป็นนี่ ความรู้สึกว่าตนเป็นนั้นเป็นนี่ แล้วก็อวิชชาอีกเหมือนกันกัน ฉะนั้นชื่อเหล่านี้จะจำได้ก็ได้ จำไม่ได้ก็ได้ ถ้าจำได้ก็ยิ่งดี แต่ให้รู้ความหมายของมันว่า บรรดากิเลสทั้งหลายนี้มีเหลี่ยมพูที่จะมองดูมันได้ในแบบหรือในรูปในลักษณะต่างๆกัน มันเป็นเรื่องทำให้มืดเหมือนกับกลางคืนและยิ่งกว่ากลางคืนก็มีเรียกว่าอวิชชา มันทำให้เศร้าหมองสกปรกเหมือนแปดเปื้อนของสกปรกก็มีเรียกว่ากิเลส แล้วเปื้อนเล็กเปื้อนน้อยไปเสียเรื่อยทั้งวันทั้งคืนเรียกว่าอุปกิเลส ผูกมัดรัดรึงไม่ให้หลีกออกไปได้จากความทุกข์เขาเรียกว่าสังโยค เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นด้วยความสมัครใจอย่างนี้เขาเรียกว่าอุปาทาน ที่เป็นเครื่องหมักดองในสันดานเขาเรียกว่าอาสวะ ที่ท่วมทับวิญญาณอยู่เสมอเขาเรียกว่า โอฆะ แต่ขอให้สังเกตดูสักหน่อยว่าการท่วมของกิเลสนี้ไม่ได้ปรากฏติดต่อกันไปตลอดกาล ฉะนั้นจึงมีมาปรากฏออกมาต่อเมื่อมีเหยื่อของกิเลสเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันจะพร้อมที่จะล้นขึ้นมาท่วม ฉะนั้นเวลาที่ว่างจากกิเลสก็พอจะมีอยู่ตามธรรมชาติ เราต้องขอบคุณธรรมชาติในข้อนี้ ถือว่าเราเป็นหนี้พระธรรมในฐานะที่เป็นธรรมชาติอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เพราะว่าถ้าไม่ให้โอกาสว่างเสียเลยเราก็คงเป็นโรคเส้นประสาทเป็นโรคจิตถึงกับตายกันหมดแล้ว ไม่รอดชีวิตอยู่ได้ธรรมชาติจัดมาให้ว่างอยู่ตามสมควรพอที่จะไม่ต้องตายเสีย พอเหมาะพอสมที่จะมีชีวิตอยู่ จึงมีชีวิตอยู่ได้ นั้นคือลักษณะของความว่างจากกิเลสที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ เป็นธรรมะของธรรมชาติ เราควรรู้สึกตัวขอบใจไว้แล้วก็จะได้ขยับขยายให้มากขึ้นไปจนถึงกับว่าเราทำเพิ่มขึ้นได้ นี้เรียกว่าเรื่องของกิเลสหรือมีหัวข้ออย่างนี้ จะจำแนกได้อย่างนี้
ที่นี้อาตมาจะได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นแห่งกิเลส มีครูบาอาจารย์หลายคนยื่นความประสงค์ในแผ่นกระดาษนี้มาว่าขอให้บรรยายเรื่องปฏิจจสมุปบาท อาตมาก็งง คืองงในข้อที่ว่าไม่คิดเลยว่าจะมีครูบาอาจารย์สนใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะดีใจก็ดีใจที่ว่าความก้าวหน้าได้มีขึ้นแล้วในวงของครูบาอาจารย์ถึงกับทำให้สนใจเรื่องที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนาด้วยเรื่องหนึ่งรูปหนึ่ง คือบอกเรื่องทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรและจะดับไปได้อย่างไร หรือกิเลสก่อรูปขึ้นมาอย่างไรและจะสลายลงไปได้อย่างไร และยังเป็นหัวใจของพุทธศาสนาในข้อที่ว่าพระพุทธศาสนาเรานั้นไม่ต้องมี personal God หรือพระเจ้าอย่างที่เป็นตัวตนบุคคลอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเป็นเทวดาอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย เรามองเห็นชัดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปได้ตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ฉะนั้นเราจึงบัญญัติว่าความทุกข์นี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ในตัวมันเอง ไม่ต้องมีพระเป็นเจ้ายื่นมือเข้ามา แต่ถ้าจะให้มีพระเป็นเจ้าก็ได้เหมือนกันคือกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั้นเองเป็นพระเป็นเจ้าซึ่งใครต้านทานไม่ไหว พระเป็นเจ้าอย่างนี้ไม่ใช่ personal God ที่ไม่ใช่พระเป็นเจ้าอย่างเป็นคนหรือเป็นเทวดา แต่ว่าเป็นพระเป็นเจ้าที่ยิ่งไปกว่านั้นมาก ที่เฉียบขาดศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่านั้นมาก นั้นแหละคือกฎธรรมชาติ คำว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นควรจะถือเอาความหมายตามตัวหนังสือนั้นแหละ ปฏิจจะ แปลว่าอาศัย สมุปบาทะ แปลว่าเกิดขึ้นพร้อม รวมกันแล้วก็แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า dependent origination, origination ก็แปลว่าการก่อรูปขึ้นมา dependent ก็แปลว่าซึ่งอาศัยกันเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าจะให้เด็กๆเข้าใจความหมายของคำว่า dependent origination ละก็ ลองเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังว่า ดวงอาทิตย์นี้มีอยู่ อย่างในวิทยาศาสตร์เราก็ถือว่าเป็นต้นตอที่มาของสิ่งทั้งปวงอยู่แล้ว เมื่อดวงอาทิตย์มีอยู่ ก็ต้องใช้คำว่า “เพราะ” เพราะดวงอาทิตย์มีอยู่จึงมีความร้อน เพราะความร้อนมีอยู่น้ำจึงถูกเผา เพราะน้ำถูกเผาด้วยความร้อนจึงมีไอระเหยเกิดขึ้นและระเหยไป เพราะมีไอระเหยของน้ำระเหยขึ้นไปจึงมีเมฆ เพราะเมฆมีอยู่จึงมีฝนตกลงมา เพราะมีฝนตกลงมาถนนก็ลื่น เพราะถนนลื่นรถยนต์ของนาย ก.ก็ลงไปในคู นาย ก.ก็เจ็บจะต้องไปหาหมอซึ่งหมายถึงความทุกข์ และหมอก็ต้องทำงาน เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่ต้องมีอะไรมาเกี่ยวข้องนอกจากตัวมันเองในกลุ่มนั้นอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาการอย่างนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เราให้เด็กๆของเรามีหลักที่จะเข้ากันได้กับพุทธศาสนาก็คือไม่เชื่องมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุผล ให้เขามีหลักเกณฑ์อยู่ในอำนาจของเหตุผล พิสูจน์สิ่งต่างๆด้วยเหตุผลแล้วจึงยอมรับ ไม่ต้องฝากไว้กับสิ่งอะไรก็ไม่รู้ มองไม่เห็นตัว เชื่อไว้ก่อนอย่างดำมืดไปอย่างนั้นในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะนำไปสู่ สีลัพพตุปาทานหรือความทุกข์อย่างอื่น เมื่อเราชำระพื้นฐานแห่งจิตใจของเด็กๆของเราให้อยู่ในอำนาจเหตุผลเสียก่อน สิ่งต่างๆจึงจะง่ายสำหรับการอบรมจริยธรรมแก่เด็กของเรา ฉะนั้นจึงนับว่าความหมายแท้จริงของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพุทธบริษัท
ทีนี้เรื่องจริงของปฏิจจสมุปบาทนั้นก็มีอยู่ว่า เพราะอวิชชาคือสภาพที่ปราศจากความรู้มีอยู่ จึงมีสังขาร คืออำนาจที่จะบันดาลให้สิ่งทั้งหลายปรุงแต่งกันขึ้นแล้วเป็นไป ไม่ให้หยุดอยู่กับที่ เพราะสังขารอย่างนี้มีอยู่วิญญาณธาตุจึงเกิดขึ้นหรือปรากฏขึ้นในลักษณะที่จะทำหน้าที่ของมันได้ เมื่อวิญญาณธาตุมีอยู่ สิ่งที่เรียกว่านามและรูปคือกายกับใจก็ทำหน้าที่ของมันได้ คือเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ของมันได้ เมื่อนามรูปคือกายกับใจมีอยู่ สื่อที่จะรับอารมณ์จากภายนอกที่เรียกว่าอยาตนะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเองก็มีอยู่ เมื่ออายตนะจะรับอารมณ์อย่างนั้นมีอยู่ มันก็เป็นเหตุให้มีผัสสะ คือการกระทบกันกับอารมณ์ภายนอกนั้นได้ ฉะนั้นจึงมีการกระทบอารมณ์ภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างที่กล่าวแล้วคือโลกนั้นเอง ใจจึงกระทบกับโลกได้ เพราะผัสสะมีอยู่ก็มีเวทนา คือเมื่อกระทบแล้วเกิดความรู้สึก เป็นความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร ทางตา ทางหู ทางจมูก สวยไม่สวย หอมหรือเหม็น พอใจไม่พอใจ อย่างนี้เรียกว่าเวทนา เพราะเวทนามีอยู่ จึงเกิดความอยากในเวทนานั้น คือตัณหา ถ้าเวทนานั้นถูกใจก็อยากได้ อยากเป็น อยากเอา ถ้าไม่ถูกใจก็อยากที่จะทำลายเสีย อยากให้พ้นไปเสีย อยากตายเสียหรือว่าแต่อยากทำลายตัวเองเสียเพื่อไม่ให้ประสบกับเวทนานั้น ล้วนแต่เรียกว่าตัณหาทั้งนั้น เพราะมีเวทนาจึงเกิดความอยากคือตัณหา ทีนี้เพราะมีตัณหาคือความอยากนั้นจึงมีอุปาทาน คือยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนอยากโดยลักษณะที่กล่าวแล้วข้างต้นในเรื่องของอุปาทานสี่ประการ ที่เพราะมีอุปาทานเต็มรูปอย่างนั้นหมายความว่ามันมีตัวกูผู้อยากรู้สึกขึ้นมาในใจทีเดียว เป็นตัวเราอยากจะได้และยึดมั่นอะไรไว้โดยความเป็นของเรา ยึดมั่นตัวเองว่าเป็นตัวเรา ยึดมั่นสิ่งภายนอกว่าเป็นของเรา ถ้าความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นอย่างนี้มีอยู่แล้วก็เรียกว่าพร้อมแล้วที่จะเกิดออกมาเป็นรูปเป็นร่างโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นจึงกล่าวว่าเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นนั้นแหละจึงมีความมีความเป็นที่เรียกว่าภพ ภาวะหรือภพ หมายความว่าถ้าเรารู้สึกขึ้นในใจว่าเราเป็นอะไร นั้นก็แปลว่าเราได้ภพอย่างนั้น ภ-พ อ่านว่าภพแปลว่าความเป็น ฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ได้ก็เกิดมีเป็นผู้ได้ขึ้นมา หรือรู้สึกตัวเองอย่างมนุษย์ก็เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา รู้สึกตัวเองอย่างเทวดาก็เป็นเทวดาขึ้นมา รู้สึกตัวเองไปในทางต่ำทรามสำเร็จความรู้สึกไปในต่ำทรามก็เกิดเป็นสัตว์นรกขึ้นมา คำว่าภพแปลว่าพร้อม พร้อมบริบูรณ์ที่จะเป็นนั้นเป็นนี่ออกมา เพราะมีภพก็มีชาติคือความเกิดออกมา เป็นรูปว่าบุคคลนั้นเป็นอะไร นี่เรียกว่าชาติคือความเกิด หมายถึงความเกิดในทางวิญญาณไม่ใช่คลอดจากท้องแม่ที่เป็นความเกิดทางวัตถุทางร่างกายหรือทาง Physic ส่วนชาติ ความเกิดในที่นี้หมายถึงทาง Spiritual คือทางฝ่ายวิญญาณ เกิดขึ้นมาในความยึดมั่นถือมั่นจนเต็มที่สมบูรณ์เต็มที่แล้วแสดงออกมาทางกาย เมื่อมีชาติอย่างนี้แล้วไม่ต้องสงสัย มันหมายถึงความเกิดขึ้นของความทุกข์ เพราะว่าความรู้สึกนั้นเป็นความยึดมั่นถือมันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว พอเต็มรูปขึ้นมาก็เป็นความทุกข์คือความหนักเพราะความยึดมั่นถือมั่นนั้น จะขอชี้ที่นี่เลยว่าเราเข้าใจพุทธศาสนาไม่ได้และผิดหมดนี่เพราะเข้าใจคำว่าชาติ ชา-ติ ผิดหมด คือไปหมายความว่าคลอดจากท้องแม่ไปเรื่อย ซึ่งคนหนึ่งก็คลอดทีเดียวเท่านั้นแล้วก็อยู่ไปตั้งประมาณร้อยปี แล้วก็เน่าเข้าโลงไป แล้วจะมีปัญหาอะไร ที่พระพุทธเจ้าว่า "ชาติ" เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทุกชาติ เป็นทุกข์เสมอไปนั้นหมายถึง "ชาติ" ในทางวิญญาณในทางจิตใจ ที่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นอะไรขึ้นมาครั้งหนึ่ง เต็มที่แล้ว ก็เรียกว่าชาติหนึ่ง ขอให้มองดูจนเห็นชัดว่าแม้เราจะได้คลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว แต่ถ้ายังไม่มีความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ยังไม่ควรจะเรียกว่าเป็นชาติหรือเป็น ชา-ติ ที่สมบูรณ์เลย มันคลอดออกมาแต่ทางร่างกายทาง Physical เท่านั้น แต่ทางจิตทางวิญญาณยังไม่ได้คลอดออกมาสักที ต่อเมื่อเด็กนั้นสามารถจะรู้สึกทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางผิวหนังก็ตามเถอะ เกิดความรู้สึกเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เอาอย่างนั้นเอาอย่างนี้ จนเป็นตัวกูหรือของกูขึ้นมาได้แม้จะในรูปน้อยๆก็ตาม เมื่อนั้นจึงจะเรียกว่าชาติของเขาสมบูรณ์ อย่าได้ถือแต่เพียงว่าพอคลอดออกมาแล้วก็เป็นชาติที่สมบูรณ์แล้ว มันเป็นเพียงก้อนวัตถุเท่านั้น มันต้องมีจิตใจที่มีความรู้สึกเป็นตัวกูเป็น egoism ที่สมบูรณ์เสียก่อนแล้วจึงจะเรียกว่าชาตินั้นสมบูรณ์ ฉะนั้นชาติจึงสมบูรณ์ต่อเมื่อรู้สึกคิดนึกในทางยึดมั่นถือมั่นตัวตน เมื่อความรู้สึกคิดนึกยึดมั่นตัวตนเกิดขึ้นก็เรียกว่าชาติ พอความรู้สึกเหล่านี้ดับไปก็เรียกว่าดับลงไปคือตายไปชาติหนึ่ง แล้วประเดี๋ยวก็มารับอารมณ์ตาหูหรือจมูกเข้าอีก แล้วก็มีความรู้สึกที่เป็นชาติขึ้นมาอีก จนกว่าจะสิ้นเรื่องของมันแล้วก็ดับไปคือตายไปชาติหนึ่ง เดี๋ยวก็มาอีกชาติหนึ่งอย่างนี้เรื่อยไป ชาติอย่างนี้ต่างหากที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายในปฏิจจสมุปบาท ดังที่กล่าวนี้ และต่อให้ใครมาพิสูจน์อย่างไรมันก็ต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ทุกที เพราะมันเกิดออกมาจากตัวกูของกูที่เป็นอุปาทานที่เกิดมาจากความอยากที่อาศัยเวทนาเป็นที่ตั้ง ขอให้เข้าใจคำว่าชาติไว้ในลักษณะเช่นนี้จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนในพระบาลีจริงๆ มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นไปในรูปของปฏิจจสมุปบาทที่คนชั้นหลังอธิบาย ที่แสนจะฟั่นเฟือ คิดจะเรียนอย่างไรก็ไม่อาจจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ มันเป็นคำอธิบายของนักปราชญ์เพ้อเจ้อในรุ่งหลัง ที่อาตมาขอท้าอย่างนี้ด้วย ช่วยกันจดจำไว้ด้วย แล้วก็ไปตรวจสอบในต้นตอของพระบาลีดูว่าคำว่าชาตินี้จะมีความหมายอย่างไร และยืนยันต่อไปว่าถ้ายังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชาติคือความเกิดนี้อย่างถูกต้องแล้ว เป็นไม่อาจจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ และถ้าเข้าใจได้ถูกต้องแล้วก็ง่ายนิดเดียวที่จะเข้าใจพุทธศาสนาว่าเรามีชาติเมื่อไรเป็นมีทุกข์เมื่อนั้น ไม่มีชาติก็ไม่ทุกข์ สิ้นชาติคือถ้า "ชาติ" ชนิดนี้ไม่เกิดแล้วก็คือนิพพาน ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีตาย ถ้าไม่อย่างนั้นจะต้องเกิดแก่ตายวันหนึ่งหลายหนหลายสิบหนและเป็นทุกข์ทุกชาติ ฉะนั้นถ้าความรู้มีมากพอสามารถจะควบคุมไม่ใช้เกิดชาติทำนองนี้แล้วมันก็ว่างไปเลย คือไม่มีชาติ หมายความว่าไม่มีตัวที่จะแก่ จะเจ็บ จะตาย นี่คือปฏิจจสมุปบาท ที่แท้ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันแก่ทุกคนและทุกเวลา แม้แต่ฝันก็ยังเป็นเรื่องอย่างนี้ได้
ทีนี้เรามักจะมีปัญหากันในตอนที่ว่าพอมีอัตตาแล้วมันก็มีเวทนา พอมีเวทนาแล้วก็มีตัณหา ติดถี่กันยิบไปไม่มีทางที่จะแทรกแซงได้ เราไม่สามารถจะหยุดกระแสของปฏิจจสมุปบาท ที่ไม่ให้ผัสสะวกกลับไปเป็นสติปัญญา และว่าเราไม่อาจจะหยุดที่เวทนา ผัสสะก็เป็นเวทนาไปเรื่อย แล้วเวทนาก็เป็นตัณหา ตัณหาก็เป็นอุปาทานต่อไปไปเรื่อยอย่างนี้เลยท้อถอย เลยวางมือคือยอมแพ้ มันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพุทธศาสนาเพราะยอมแพ้ข้อนั้น ที่นี้ขอให้เข้าใจว่าเรื่องทางจิตนี้ เมื่อมันเกิดเร็วมันก็ต้องเปลี่ยนได้เร็วหรือว่าไวต่อการที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มันต้องเปลี่ยนได้คือมีการแทรกแซงระหว่างที่อายตนะกับผัสสะ ให้หยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะ หรือระหว่างผัสสะกับเวทนา เวทนากับตัณหาให้หยุดอยู่เพียงแค่เวทนา ไม่ปรุงเป็นตัณหานี้ต้องได้ วิเคราะห์เปรียบเทียบเหมือนอย่างว่าในทางวัตถุทางสสาร สิ่งที่เลื่อนกันเป็นสายแว็บไปเลยนั้นมันก็ยังแบ่งเป็นส่วนๆได้ เช่นว่าหนังที่ถ่ายด้วยสปีดเร็วถึง 64 ภาพต่อวินาทีแล้วนำมาฉายเป็นหนัง slow motion นั้นก็เพราะว่าเขาถ่ายได้ถึง 64 ภาพต่อวินาที ในหนึ่งวินาทียังแบ่งออกไปได้ถึง 64 ส่วน ก็แปลว่ามันต้องมีแบ่งได้เป็นส่วนๆๆ ฉะนั้นมันจึงมีโอกาสที่จะแทรกแซงเข้าไปได้ที่ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งใน 64 ส่วนนั้นเสมอไป ทางวัตถุยังแทรกแซงได้อย่างนี้ทางจิตใจซึ่งมันเร็วกว่านั้นมันก็ยิ่งแทรกแซงได้ง่าย แต่ต้องด้วยอาการที่ไวทันกันเท่านั้น ฉะนั้นจึงสามารถแทรกแซงระหว่างผัสสะกับเวทนาให้กระแสของปฏิจจสมุปบาทหยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะหรือกระทบทางตา ทางหูแล้วไม่ให้ปรุงเป็นเวทนารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาก็ได้ หรือว่าจะแทรกแซงเข้าไปตรงระหว่างเวทนากับตัณหา โดยกระทบแล้วรู้สึกแล้วว่าอร่อยหรือไม่อร่อย หอมหรือเหม็น ถูกใจไม่ถูกใจ หยุดอยู่เพียงแค่นั้นอย่าปรุงเป็นความอยาก อย่างนี้ก็ต้องมีทางจะทำได้
เรื่องของจิตนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดลออมาก ตามที่จะกล่าวให้ฟังว่า ถ้าจะแยกให้ละเอียดแล้วความรู้สึกทางจิตนี้ท่านแบ่งเป็น 10 ระยะในชั่วขณะที่เราเห็นรูปหรือฟังเสียงและกว่าที่จะเกิดเวทนาและตัณหาอย่างนี้ ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์อย่างที่เรียกว่าอภิธรรมคือแยกให้มันละเอียดออกไป ธรรมดาจิตของคนเรานั้นสงบนิ่งอยู่ในตัว คือไม่มีงานทำนั้นเขาเรียกว่า ภวังคจิต ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก มันจึงจะทำหน้าที่รับอารมณ์และทำหน้าที่ต่างๆเป็นลำดับไป หลายลำดับ พอเสร็จเรื่องแล้วมันก็ตกลงสู่ภวังค์หรือว่าง ว่างงานอยู่ตามเดิม ก็ขอให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วยการเปรียบเทียบอีกตามเคยว่า เหมือนกับแมงมุมตัวหนึ่งมันชักใยเป็นแผ่นแล้วมันก็นอนอยู่ที่สะดือของใย ตรงศูนย์กลางของใยของรัง คอยจนกว่าจะมีแมลงบินมากระทบที่ใยที่มุมใดมุมหนึ่งเพราะว่าใยของแมงมุมมันต้องแผ่กว้างและเป็นเหลี่ยมๆ แล้วแต่แมลงจะมากระทบตรงที่เหลี่ยมไหน เหมือนกันเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งใจด้วยเป็น 6 เหลี่ยม แล้วอารมณ์จะมากระทบทางไหน พอมีแมลงมากระทบเข้าที่ใยนั้นแมงมุมจะต้องรู้สึก ขณะที่รู้สึกว่ามีอะไรมากระทบก็เป็นขณะจิตอันหนึ่งแล้ว แมงมุมก็จะต้องขยับตัวจากที่นอนว่างงานอยู่ตรงสะดือของรังก็เคลื่อนไหว มองไปดูหรือว่าทำความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งไปยังสิ่งที่มากระทบ นี่เป็นการกำหนดที่อารมณ์นั้นว่ามันเป็นอะไร สักระยะหนึ่งแล้วคอยสักระยะหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้นมันก็มีระยะที่แมงมุมนั้นจะต้องพิจารณาดูว่ามันเป็นอะไร แล้วเมื่อรู้ว่ามันเป็นอะไรแล้ว มันดิ้นไประยะหนึ่งแล้ว มันจะถึงระยะที่มันจะตัดสินใจว่ามันจะทำอะไรอีกทีหนึ่ง แล้วเมื่อมันตัดสินใจแล้วมันจะทำอย่างไรและมันจะวิ่งเข้าไปหา ก็เป็นอีกระยะหนึ่ง เมื่อมันวิ่งเข้าไปแล้วมันก็ทำหน้าที่เจาะศีรษะของแมลงตัวนั้นดูดเลือดของแมลงตัวนั้นกิน ก็เป็นระยะหนึ่ง แล้วมันก็รู้สึกเพียงพอคืออิ่มก็อีกระยะหนึ่ง แล้วมันก็วิ่งกลับไปที่สะดือของรังตามเดิม เหมือนกับจิตที่มันเสร็จเรื่องในการรับอารมณ์แล้วมันก็กลับไปสู่ความเป็นภวังคจิตอย่างเดิม ขอให้เข้าใจว่าจิตที่จะมีอาการเห็นรับอารมณ์เป็นผัสสะและเกิดเป็นเวทนา เป็นตัณหาเพียงเท่านี้ มันแบ่งได้เป็นตั้งสิบกว่าระยะ ฉะนั้นจึงมีระยะใดระยะหนึ่งที่แทรกแซงเข้าไปได้ หรือถ้าท่านสนใจในทางจิตวิทยาของพุทธศาสนาในแง่นี้ละก็ลองฟังดู ซึ่งอาตมาจะว่าไปตามลำดับ
เมื่อแมงมุมนอนอยู่ที่รังในตอนแรกนั้นเหมือนภวังคจิต เมื่อมีอะไรมากระทบ มันไหวตัวคือมันตื่นจากหลับ มันเคลื่อนจากภวังค์อย่างนี้ก็เหมือนกับมันจุติจะเป็นแมงมุมขึ้นมาแล้ว ก่อนนี้มันมีค่าเท่ากับตายอยู่ ทีนี้มันก็จุติคือเคลื่อนจากความตายมาสู่ความเป็นตัวแมงมุมเป็นปฏิสนธิขึ้นมา แล้วมันก็กำหนดสิ่งที่มากระทบนั้น เรียกว่า อาวัชชนกิจ แล้วแต่จะเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายอะไรก็ได้ อาการอย่างนี้เรียกว่า adverting (นาทีที่ 00:54:10) คือรู้สึกต่ออารมณ์นั้นหรือกำหนดอารมณ์นั้นได้ว่าเป็นอะไร ต่อมาคือรับอารมณ์นั้นเอาไว้ก่อนเรียกว่า สัมปฏิจฉันนจิต หรือ receiving คือรับ เมื่อรับแล้วมันจึงจะพิจารณา ในขั้นจึงเรียกว่า สันตีรณจิต คือพิจารณา investigating หมายความว่าค้นดู พิจารณาดูด้วยใจว่าอันนี้เป็นอะไรควรทำอย่างไร แม้แต่แมงมุมมันยังฉลาดว่าสิ่งที่มาติดที่ใยบางชนิดเข้าไปหาไม่ได้ มันจะกัดเอาแมงมุมเองตาย อย่างนี้ก็เรียกว่า สันตีรณจิต หรือ investigating ต่อจากนั้นจึงจะมีอาการที่เรียกว่าตัดสินลงไปว่าควรจะทำอย่างไรเรียกว่า โวฏฐัพพนจิต หรือ deciding เมื่อแน่ใจแล้วมันจึงจะรี่เข้าหาที่เรียกว่า ชวนจิต หรือ impulsion มี impulse ต่อสิ่งนั้น รี่เข้าหาหรือว่าเจาะศีรษะดื่มเลย แล้วมันจึงจะรู้รสเอร็ดอร่อยอิ่มเอิบของสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่า ตทาลัมพนจิต registering หมายความว่าประทับลงไปในสิ่งนั้นในรสของอารมณ์นั้น จนเสร็จเรื่องเมื่ออิ่มแล้วมันจึงกลับไปสู่สภาพที่เรียกว่า ภวังค คือเป็นจิตหลับหรือจิตตายอยู่ตามเดิม เมื่อมันมีมากมายอย่างนี้มันมีหลายระยะอย่างนี้ มันก็หมายความว่าโอกาสที่แทรกแซงนั้นมีมากครั้ง มีได้มากระยะเช่นเดียวกัน ถ้าท่านได้อบรมมีภาวนาที่อบรมดีแล้วก็แทรกแซงได้ ไม่ให้ผัสสะปรุงเป็นเวทนาได้ หรือไม่ให้เวทนาปรุงเป็นตัณหาได้ในที่ระยะใดระยะหนึ่ง ถ้าท่านสนใจที่จะเข้าใจลายละเอียดเกี่ยวกับจิตวิทยาทางจิตหรือที่เรียกกันว่าอภิธรรมที่นับรวมอยู่ในคัมภีร์อภิธรรมนี้ ก็ขอให้สนใจหาตำรับตำรามาอ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออภิธรรมที่ Mrs. Rhys David รวมกับนางสาวล่าอวง คนพม่า ช่วยกันทำขึ้นไว้ เรียกว่าหนังสือ Compendium of Philosophy (Shwe Hsan Aung, b. 1871; Davids, Caroline A. F. Rhys (Caroline Augusta Foley Rhys), 1857-1942) คือเรื่องอภิธรรมมัตถสังคหะโดยสมบูรณ์ พิมพ์ขึ้นเมื่อ 20-30 กว่าปีมานี้ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องที่สุดหรือหนังสือที่เรียกว่า Philosophy of Buddhism ที่ท่าน Chakravarti (นาทีที่ 00:57:30) พิมพ์ขึ้นเมื่อเร็วๆนี้สองเล่มจบก็เหมือนกัน คือหนังสืออภิธรรมมัตถสังคหะที่อธิบายอย่างถูกต้องที่สุด ถ้าครูบาอาจารย์คนไหนที่สนใจมากที่จะเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็ หามาอ่านดูเถอะ เป็นคำอธิบายที่อ่านง่ายที่สุด แล้วจะรู้เรื่องตลอดทั้งหมดของสิ่งที่เรียกกันว่าอภิธรรม แต่ที่แท้ก็คืออภิธรรมมัตถสังคหะ ไม่ใช่อภิธรรมปิฎกโดยสมบูรณ์ซึ่งมีมากมายตั้งหลายสิบเล่ม อภิธรรมมัตถสังคหะคือใจความย่อของอภิธรรมปิฎกทั้งหมดเป็นหนังสือไม่กี่หน้าก่อน แล้วก็อธิบายไปเป็นหนังสือประมาณสองเล่ม หรือว่าที่เราจะเรียนตามศาลาวัดตามที่สอนในประเทศพม่าลังกา เมืองไทยอยู่เดี๋ยวนี้ก็ยังได้ แต่ถ้าให้สะดวก หนังสือสองเล่มที่ว่านี้ให้ความสะดวกมากที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ ถ้าท่านเรียนแล้วอย่างน้อยจะพบว่าโอกาสที่จะควบคุมจิตได้ตามต้องการได้นั้นมีแน่และมีทางที่ทำได้อย่างไร แต่ถ้าไม่อยากจะเรียนให้ยุ่งยากลำบาก เพราะมันที่แท้มันก็ไม่จำเป็น ก็มีทางที่จะทำได้โดยการที่มีความแน่ใจในการที่จะฝึกฝนความมีสติสัมปชัญญะทุกครั้งที่อารมณ์มากระทบ หากน้อมจิตไปในทางมีสติปัญญาหรือว่ามีสติปัญญาอยู่เสมอไปก็แล้วกัน
เป็นอันว่าเรื่องการเกิดขึ้นของกิเลสมันมีอยู่อย่างนี้ นับตั้งแต่ว่าเมื่ออวิชชามีอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว การกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ไหนเมื่อไรอย่างไรก็ตาม เมื่อปล่อยไปตามคลองของปฏิจจสมุปบาทแล้วมันต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราจะตัดสังสารวัฏอันนี้ เราก็ต้องตัดตรงที่ไม่ให้ผัสสะปรุงเวทนา หรือไม่ให้เวทนาปรุงตัณหา ดังที่กล่าวแล้วนั้นเอง นี้แปลว่าการเกิดขึ้นของกิเลสมี processing อย่างที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเองเป็นฝ่ายเกิดทุกข์ ทีนี้ฝ่ายที่จะไม่ให้มีกิเลสหรือฝ่ายดับทุกข์มันก็ต้องถอยหลังกลับ คือว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติข้างใน เพราะดับอวิชชาเสียได้คือมีวิชชามาดับอวิชชาเสีย สังขารก็ดับ พอสังขารดับ วิญญาณธาตุก็ไม่ทำหน้าที่เป็นวิญญาณธาตุคือวิญญาณธาตุดับ เมื่อวิญญาณธาตุดับกายกับใจก็ไร้ความหมาย เป็นของที่ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ เรียกว่านามรูปดับ เมื่อนามรูปดับอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายก็ไร้ความหมาย คือมีค่าเท่ากับดับเพราะนามรูปดับ เพราะอายตนะนั้นดับผัสสะก็มีไม่ได้ เพราะผัสสะมีไม่ได้เวทนาก็มีไม่ได้คือดับ เวทนามีไม่ได้ตัณหาไม่มีทางจะเกิดได้คือดับ พอตัณหาดับเวทนาก็ดับ พอเวทนาดับภพก็ดับ พอภพดับธาตุก็ดับ พอธาตุดับทุกข์ก็ดับ มีทุกข์ไม่ได้อย่างนี้ เป็นเรื่องฝ่ายดับ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน คืออาศัยกันดับ ฝ่ายโน้นอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นกิเลสและเป็นความทุกข์ ฝ่ายนี้อาศัยกันดับลงเป็นความไม่มีกิเลสและความทุกข์ นี้คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ถ้ากล่าวโดยตรงก็คือการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์และการดับไปแห่งความทุกข์ที่มีกฎเกณฑ์ของมันเองเป็นไปได้ในตัวมันเอง เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่เราจะต้องเข้าใจเพื่อดับทุกข์หรือดับกิเลส เมื่อเราควบคุมไม่ได้กระแสของปฏิจจสมุปบาทก็เป็นไปในทางกิเลส และยิ่งยุวชนเด็กๆของเราก็ยิ่งควบคุมมันไม่ได้ ฉะนั้นมันจึงเป็นไปในทางกิเลสที่ทำลายตัวเขามากขึ้น แล้วใครจะช่วยเขา จะไปอ้อนวอนพระเป็นเจ้าที่ไหน ก็เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทนี้มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็เลยไม่มีพระเป็นเจ้าที่ไหนจะช่วยได้หรือพระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ ทั้งๆที่ท่านสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ท่านมาช่วยดับทุกข์ดับกิเลสให้ไม่ได้ แปลว่าเขาต้องศึกษาจนรู้เองและควบคุมมันเองหรือว่าดับมันด้วยตนเอง นี้คือความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรื่องจะดับทุกข์อย่างไรหรือว่าจะดับกิเลสอย่างไร ซึ่งเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมดที่จะแก้ไขสภาพที่ไม่น่าปรารถนาคือกิเลสหรือความทุกข์นั้น นี้เรียกว่าความเกิดขึ้นของกิเลส
ที่จะให้น้อยลงมาอีก จะให้ต่ำลงมาอีกสำหรับเด็กๆ ก็พยายามชี้ให้เห็นอาการที่อวิชชาแสดงออกมาอย่างไร เป็นความดื้อดึงอย่างไร อาตมาอยากจะตอบคำถามที่มีถามมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ที่ถามว่าจะสอนเด็กอย่างไรให้เข้าใจเรื่องยากๆเช่น ปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่บอกให้รู้ว่าเพราะอย่างนั้นจึงเป็นอย่างนั้นเพราะเป็นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น บางทีก็ไม่สนใจ ทีนี้บางทีเราต้องชี้ให้เห็นว่าเพราะมีอวิชชาที่ทำให้ดื้อ สิ่งที่เรียกว่าผีคือกิเลสจึงขึ้นมารังแก ฉะนั้นอาศัยเรื่องเปลือกกับเนื้อ คือนิทานที่เป็นเหมือนภาชนะที่ใส่เนื้อในที่จะบริโภคได้ เพราะอีกตามเคยจะยกตัวอย่างที่ง่ายหรือเรียกว่าต่ำที่สุดจนถึงกับเรียกว่าเล่านิทานเรื่องยายกับตา นิทานเรื่องยายกับตาใครๆต้องถือมันว่ามันเป็นเรื่องต่ำต้อยหรือกลางบ้านที่สุด แต่แล้วเขาก็ยังทำ make up ชนิดที่เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ make up อย่างนี้มันส่งเสริมจริยธรรม อย่าเข้าใจว่าทำ make up แล้วมันจะยุ่งไปหมด มัน make up อย่างอื่นต่างหากที่ทั้งเปลืองทั้งยุ่งยากเป็นเหตุให้ต้องเป็นต้องตายกัน เรียกว่า make up เล่านิทานขึ้นมาสอนเด็กนี้ จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ตัวอย่างนิทานเรื่องยายกับตานี้เล่ากันว่า ยายกับตาสองคนผัวเมีย ตาเป็นสัมมาทิฐิ ส่วนยายนี้ตรงกันข้าม คือเป็นคนมิจฉาทิฐิ คือหมายความว่าดื้อดึงทำอะไรเป็นที่ขัดขวางตาไปทุกอย่าง นานเข้ามีหรือที่ตาจะทนภรรยาที่รักกันอย่างยิ่งไหว เมื่อทนไม่ไหวตาต้องตัดสินใจสละ แล้วตาก็ว่าวันนี้จะไปป่า ยายก็บอกว่ากูจะไป ตาว่าถ้าไปจะทูนก้อนหินไปใกล้เหว ยายบอกว่ากูก็จะทูนและจะทูนสองก้อน ทำอย่างนั้นมันก็พลัดตกลงไปในเหวโดยไม่ต้องมีใครแกล้ง เรื่องที่เขาเล่ามีต่อไปว่า เมื่อมีคนหัวดื้อลงไปในเหวแทน ปิศาจก็กรูก็ขึ้นมาจากเหวได้ โดยพ้นสาปขึ้นมาในโลกนี้แล้ว เรื่องของปิศาจนี้มันก็ต้องเป็นของแปลกใหม่สำหรับโลก แต่ตานี้ยังเรียกบุญคุณต่อปีศาจว่า เพราะตาเป็นคนทำให้ผีปีศาจได้ขึ้นมาจากเหวนี้ก็ควรจะสนองคุณ คือปิศาจอย่ามายุ่งกับคนขอให้อยู่กันแต่ปิศาจ ปีศาจหลอกลวงตาคือมายุ่งกับคนมาสิงคน สภาพผีสิงซึ่งมีเป็นครั้งแรกในโลกเราคราวนี้เอง ก็โกลาหลวุ่นวายกันทั้งหมู่บ้าน ตาก็มาดู ผีเห็นตามาแต่ไกล กลัวละอายที่ผิดสัญญา ออกวิ่งหนีจากคนที่มันสิง กลิ้งโครมๆไปทีเดียว ตาก็เอาไม้ไล่ตี ผีก็หนีเรื่อย จนกระทั้งผีล้มลมศีรษะฟาดภูเขา น้ำมันในกะโหลกผีกระเด็นไปทุกทิศทุกทาง ไปลงในสิ่งที่ทำความยุ่งยากให้แก่มนุษย์เรามากที่สุด เช่นไปลงในขวดแม่โขง คนที่กินแม่โขงเข้าไปก็เป็นผีขึ้นมาทันที ไม่ได้กินแม่โขงก็เป็นผี ได้กินแม่โขงก็เป็นผี ไม่ต้องถึงแม่โขงหรอก ที่ลงไปในตะบันหมากหรือมีดหมากกล่องหมากของคุณย่าคุณยาย ไม่ได้กินหมากก็เป็นผีขึ้นมาทันที กินหมากเข้าไปมากก็มีอาการใจสั่นเป็นผีขึ้นมาเหมือนกัน หรือว่าลงไปในบ่อนไพ่อย่างนี้ ก็นั่งถือไพ่อยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนไม่ต้องลุกไปกินอาหารที่อื่น ต้องกินอาหารตรงนั้นเพื่อจะเล่นไพ่ 24 ชั่วโมง แต่พอชวนไปวัดฟังเทศน์ไม่มีเวลา แต่ว่านั่งเล่นไพ่ 24 ชั่วโมงนั้นยิ่งกว่ามีเวลาเสียอีก หรือว่าที่ร้ายกาจที่สุดคือลงไปในสิ่งที่รุนแรงที่สุด เป็นอย่างสมัยนี้มีเฮโรอีน ต้องถือว่ามันเป็นน้ำมันผีก้อนใหญ่ที่สุด เป็นอันว่าสิ่งที่เป็นน้ำมันผีระบาดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหนือที่จะเจียระไนได้ ให้เด็กๆสังเกตดู แล้วตั้งปัญหาว่าจะเอาอะไรล้างน้ำมันผีเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะสอนธรรมเรื่องสัจจะ ธรรม ขันติ จาคะ ที่จะแก้สิ่งเหล่านี้ได้ตามแบบของพระพุทธเจ้า ทีนี้สิ่งที่เราจะต้องบอกเขาว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่างไร มันมีอยู่ที่ว่าทีแรกไม่มีอะไรเลย เด็กๆคลอดมาจากท้องแม่เหมือนผ้าสะอาด ผ้าขาวสะอาด จนกว่าเมื่อได้สัมผัสโลก มีตัณหาอุปาทานในโลก เมื่อนั้นจะเกิดดื้อดึงขึ้นมา คือตกเหวแล้วมีผีขึ้นมา หมายความว่าถ้าโลกคือตัวเด็กแล้วละก็ ก่อนนี้ก็ไม่เคยมีผี ผีเพิ่งปรากฏขึ้นมาในโลกก็เพราะว่ามียายหัวดื้อนั้นตกลงไป เพราะเด็กหลงในอารมณ์จนเกิดดื้อดึงขึ้นมาต่อบิดามารดาครูบาอาจารย์นั้นก็แปลว่าผีได้เกิดขึ้นในโลก และมีอะไรอีกในทุกแง่ทุกมุม ที่ว่าเมื่อผีเห็นตาเดินมาแต่ไกลก็ออกวิ่งหนี นี้ก็คือเรื่องธรรมดาๆที่ว่าคนผิดหรือคนกินปูนร้อนท้องไม่คิดหน้าคิดหลัง กระทำสิ่งที่ไม่ฉลาด ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำแล้วกลับเป็นอันตรายแก่ตัวเอง เหมือนอย่างถ้าว่าถ้ายืนอยู่เฉยๆก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร ถ้าออกวิ่งหนีก็คือจำเลยนั้นเองคือตัวผู้ร้ายนั้นเอง อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่านิทานมันจะสอนข้อคิดได้ตลอดทุกประโยคของคำพูดที่พูดออกไป อย่างนี้ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่ากิเลสเกิดขึ้นมาอย่างไรในนิสัยสันดานปรากฏออกมาที่ตัวเด็กที่กายวาจาของเด็กได้อย่างไร จึงเป็นอันมองเห็นได้ว่าแม้แต่นิทานเรื่องยายกับตานี้ ก็ยังใช้สอนธรรมได้และคงจะไม่ง่วงนอน และภาชนะนั้นหรือเปลือกนั้นจะรักษาเนื้อในไว้เสมอไป เพราะการจะให้เด็กจำชื่อกิเลสอันเป็นภาษาบาลีต่างๆนั้นคงจำไม่ไหว แต่ถ้าจะไว้ในรูปของน้ำมันผีหรือผีอะไรทำนองนี้ มันง่ายจนไม่ต้องจำมันก็จำได้ นิทานที่ครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กๆหลายสิบปีมาแล้วก็ยังจำได้มาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ นี้แหละคือผลของภาชนะที่ดี ฉะนั้นครูบาอาจารย์ควรจะระลึกนึกถึงภาชนะที่ดี ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสื่อที่ดีที่จะถ่ายทอดธรรมะที่เป็นธรรมาธิษฐาน ไปสู่บุคคลาธิษฐาน และฝังแน่นลงไปในความรู้สึกความจดจำของเด็กของเรา ตัวอย่างของการที่ว่าจะสอนเขาอย่างไรโดยวิธีที่สนุกสนาน กลายเป็นโรงมโหรสพทางวิญญาณไปในห้องเรียนนั้นเองหรือในวันอาทิตย์ก็ได้ ครูบาอาจารย์มีสติปัญญามากพอที่จะไปหาวิธี make up เอาเอง ซึ่งดีกว่า make up อย่างอื่นที่เปลืองมากหรือจะนำความยุ่งยากมากไม่เอาชนะเด็กได้
ทีนี้เวลาที่เหลือก็จะพูดกันถึงเรื่องตรงกันข้าม คือความว่างจากกิเลส ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากิเลสสมบูรณ์ต่อเมื่อปรุงเป็นความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมานั้น ถ้ายังไม่ถึงนั้นเรียกว่ายังไม่เป็นตัวเป็นตนยังไม่คลอดออกมา ในขณะแห่งตัณหามันเป็นเหมือนตั้งครรภ์เท่านั้น ในขณะแห่งอุปาทานนั้นแหละคือครรภ์แก่เข้าๆ เป็นตัวกูเจริญขึ้นอยู่ในครรภ์ ในขณะที่เป็นภพนั้นแหละสมบูรณ์คือแก่เต็มที่ครบเก้าเดือนสิบเดือนจะคลอดแล้ว ในขณะแห่งชาติก็คลอดออกมาเป็นตัวกู เป็นของกู เป็น selfishness ชัดเจนอย่างนั้นอย่างนี้ทีเดียว นี้คือสมบูรณ์แห่งกิเลส เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แห่งกิเลส ไม่ว่างจากกิเลสคือวุ่นไปด้วยตัวกูและของกู นี้ส่วนหนึ่งหรือพวกหนึ่งเป็นภาคต้นที่เป็นเรื่องของความทุกข์ ทีนี้ที่เป็นภาคปลายที่เป็นเรื่องของความว่างจากกิเลสว่างจากทุกข์นั้นก็ต้องหมายความว่ามันว่างจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนั้นเอง และเรื่องนี้ก็ต้องกล่าวให้สิ้นเชิงว่าความว่างอย่างนี้มันว่างได้ตามธรรมชาติเองเป็น coincident ก็ได้ อย่างที่กล่าวเมื่อก่อนหน้านี้ว่าธรรมดาเราก็ว่างอยู่มากไม่เช่นนั้นก็เป็นโรคเส้นประสาทหรือเป็นโรคจิตตายกันไปเสียแล้ว แต่ความว่างอย่างนี้ยังไม่พอที่จะช่วยเราได้เป็น ตทังควิมุติ มันฟลุ๊คเป็นไปเอง ทีนี้ว่างอีกอย่างก็คือว่าในขณะที่ทำสมาธิให้จิตเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมันเป็น วิขันภนวิมุติ อย่างนี้ก็ว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูของกูเหมือนกัน แต่มันชั่วขณะที่ทำสมาธิอยู่ เหมือนกับชั่วขณะที่เราเอาหินไปทับหญ้าไว้มันไม่งอกได้ก็จริง ไม่ปรากฏว่ามีหญ้าก็จริง แต่พอเอาหินออกไม่เท่าไรมันงอกขึ้นมาอีกอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นต้องมีวิธีที่เด็ดขาดเฉียบขาดกว่านั้นที่เรียกว่าวิธีที่เป็นไปเพื่อ สมุจเฉทวิมุติ นี้คืออำนาจของสติปัญญาหรือวิชชาที่เรากำลังถกเถียงศึกษาหารือกันอยู่มาหลายวันแล้ว
ขอให้ระลึกย้อนกลับไปถึงว่าหยุดอยู่เพียงแค่ผัสสะนี้ เป็นการกระทำอย่างเก่งที่สุดที่ไม่ให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมาได้หรือไม่ให้ตั้งครรภ์ทีเดียว คุมกำเนิดไม่ให้ตั้งครรภ์ได้เลย ถ้าหยุดอยู่ได้เพียงแค่ผัสสะ ถ้ามาถึงเวทนาจึงหยุดได้ก็คล้ายๆว่ามันตั้งครรภ์แล้วทำให้แท้งไปได้ ไม่ปรุงเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ก็ได้เหมือนกัน แต่ยังไม่สู้เก่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็เอาตัวรอดได้ มันไม่คลอดออกมาเป็นความทุกข์ ฉะนั้นคำว่าว่างที่แท้จริงจึงต้องให้วิธีที่ฉลาด ที่จะทำไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้เลย ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแม้ในขณะที่เป็น egoism ขึ้นมาได้เลย ว่างอยู่เรื่องอย่างนี้เรียกว่าว่างจากกิเลสหรือว่างจากความทุกข์ คนเราตามธรรมดาไม่เข้าใจคำนี้ กล่าวได้ว่าแทบทั้งหมดไม่เข้าใจคำว่าว่างอย่างนี้ เพราะว่าพอพูดว่า "ว่าง" แล้วหมายถึงไม่มีอะไรเลย ขอให้ครูบาอาจารย์จงจำไว้ว่า ว่างนั้นมีสองอย่าง คือว่างทางสสารทาง material อย่างหนึ่ง หมายถึงว่าไม่มีสสารอันใดปรากฏอยู่ เรียกว่าว่าง แต่เป็นว่างทางสสารไม่ใช่ว่างที่เรากำลังพูดนี้ ว่างทาง mental หรือ spiritual นี้หมายถึงจิตว่างหรือว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตนของตนเท่านั้น หมายความว่าถ้าตัวตนของตน ตัวกูของกูไม่โผล่มาก็คือยังว่างอยู่ จิตก็ว่างกายก็ว่างอะไรๆก็ว่าง แม้แต่ผัสสะก็ว่าง แม้แต่เวทนาก็ว่าง แต่ถ้าปรุงไปในทางรู้สึกเป็นตัวเป็นตนแล้วมันไม่ว่างเสียแล้ว มันเป็นตัณหา มันเป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติเสียแล้ว ฉะนั้นคำว่าว่างที่จะไม่ทุกข์นี้ ต้องเป็นว่างทาง spiritual อย่าไปเอาว่างอย่างทาง physic หรืออะไรทำนอนนั้น จึงเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณแท้ ซึ่งเรียกว่าว่าง ว่างก็ทางจิต วุ่นก็ทางจิต รู้จักคำสองคำนี้ให้ดีคือว่างกับวุ่น เมื่อวุ่นนั้นแหละเป็นทุกข์ เมื่อว่างนั้นแหละไม่ทุกข์ ฉะนั้นจิตเดิมแท้ยังว่างอยู่ ต่อเมื่อมีอะไรมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายปรุงแต่งกระทั้งเป็นตัณหาอุปาทานแล้ว เมื่อนั้นวุ่นคือไม่ว่าง เมื่อวุ่นนั้นแหละคือทุกข์ เมื่อว่างก็ยังไม่ทุกข์ และเพื่อประโยชน์แก่ท่านที่ไม่เคยสนใจมาก่อนอาตมาจะยกตัวอย่าง เหมือนอย่างว่าคนๆหนึ่งเป็นคนแจวเรือจ้างเลี้ยงชีวิต เขาต้องแจวเรือกลางแดดหรือทวนน้ำหรือเหน็ดเหนื่อยมากซึ่งครูบาอาจารย์ของเรานี้ไปทำไม่ไหว อ่อนแอดมากจนถึงกับไปแจวเรือจ้างไม่ไหวถ้าเราไปเอาคนแจวเรือจ้างจริงๆเป็นเกณฑ์ ในขณะใดที่เขาแจวเรือจ้าง เฉิบ เฉิบ ร้องเพลงไปพลาง ขณะนั้นถือว่าจิตของเขายังว่างจากอุปาทานว่าตัวกูว่าของกู ความรู้สึกที่นึกในใจของเขาในเวลานั้นไม่น้อมไปทางมีตัวกูของกูเลย เรียกว่าว่างจากตัวกูของกู ฉะนั้นเขาไม่เป็นทุกข์ไม่มีความทุกข์ แจวเรือ เฉิบ เฉิบ ร้องเพลงไปพลาง ได้เงินมาเลี้ยงชีวิต ไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้ถ้าเผอิญมันเป็นไปได้ว่าตาคนนั้นวันหนึ่งหรือต่อมาประเดี๋ยวหนึ่งจะเกิดมีอะไรผ่านเข้ามาในจิตใจ ทำให้คำนึงถึงความรู้สึกที่เป็นน้อยเนื้อต่ำใจอับโชคอับวาสนาเป็นตัวกูที่ยากจน เป็นของกูที่ไม่มีอะไร เป็นความเสียอกเสียใจขึ้นมา เกิดตัวกูของกูอย่างนี้แล้วเรียกว่าไม่ว่าง ฉะนั้นแกก็เป็นทุกข์ทันที งานก็ยังคงทำอย่างเดียวกัน คือแจวอย่างนั้น เรือก็ลำนั้น เวลาก็เหมือนกัน ทวนน้ำก็อย่างเดียวกัน กลางแดดก็อย่างเดียวกัน แต่ว่าถ้าจิตว่างจากตัวกูก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าจิตวุ่นอยู่ในตัวกูก็มีความทุกข์ จึงได้ประโยคที่น่าสนใจประโยคหนึ่งว่า “ถ้าจิตว่างการงานเป็นสุข ถ้าจิตวุ่นการงานเป็นทุกข์” ขอให้จำไว้ให้ดี แม้เป็นการงานอันเดียวกัน หรือเหมือนกับว่าแม่บ้านคนหนึ่งจะถูพื้นหรือคุณนายเองจะถูพื้นก็ตามใจ ถ้าจิตวุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกสำนึกในตัวกูตัวตน ตัวกูเป็นอย่างไร ฐานะอย่างไร ของกูเป็นอย่างไรแล้ว ถูพื้นไปพลางก็ด่าคนนั้นคนนี้ด่าผีสางเทวดาไปพลาง ถ้าจิตว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู งานถูพื้นกลับสนุกสนานหัวเราะร้าทำเพลินไปทีเดียวจนห้องไม่พอให้ถู มันยังสนุกอยู่อย่างนี้ ถ้าจิตว่างแล้วมันไม่มีความทุกข์เลย จะไปโกยท้องร่องที่เหม็นอุตุก็ได้ ไม่มีความทุกข์เลยสนุกไปหมด ถ้าจิตวุ่นแล้วแม้แต่ถูพื้นก็ไม่สนุก แม้แต่ทำอะไรที่สนุกสนานสวยสดงดงามก็ไม่สุขไปทั้งนั้นถ้าจิตมันวุ่นอยู่ด้วยตัวกูของกู ในตัวอย่างที่กล่าวมานี้ขอให้คอยแยกเอาความหมายของคำว่าว่าง ว่าวุ่น ไว้ให้ดีด้วยตนเอง นี้เรียกว่าถ้าจิตว่างแล้วทุกอย่างเป็นสนุกไปหมด ถ้าจิตวุ่นแล้วทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด นิดเดียวก็เป็นทุกข์มากมายเท่าภูเขาเหล่ากา
ทีนี้เราจะดูกันต่อไปถึงหน้าที่ การทำหน้าที่ที่ละเอียดที่ประณีต เช่นว่าจะยิงปืน เพื่ออะไรก็ตาม เพื่อประกวดฝีมือก็ตาม ถ้าจิตปรุงวุ่นอยู่ด้วยตัวกูของกูแล้วเป็นยิงผิดแน่ ที่ว่าปรุงวุ่นอยู่ในตัวกูของกูคือในขณะนั้นเขาระงับความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนว่าของตนไม่ได้ ความรู้สึกว่าถ้ากูยิงผิดเขาก็ฮากันใหญ่ เสียชื่อเสียงของกู เสียชื่อเสียงของหมู่คณะ โรงเรียนของกูเป็นต้น หรือถ้ายิ่งว่าแฟนของเขามาคอยนั่งดูอยู่ด้วยแล้วเขายิ่งกระสับกระส่ายในทางตัวกูของกูมากขึ้นไปอีก มันก็สั่นทั้งมือสั่นทังใจสั่นทั้งระบบประสาทไม่เป็นเรื่องเป็นราว มันวุ่นไม่ว่าง ฉะนั้นไม่มีทางที่จะยิงถูกได้ ทีนี้ต้องลืมหมด กระทั่งโลกนี้เขาก็ลืม กระทั่งตัวเองเขาก็ลืม สิ่งที่ปรากฏอยู่ในความรู้สึกก็มีแต่สติสัมปชัญญะกับสมาธิที่จะยิงออกไปอย่างไรปัญญาจะยิงออกไปอย่างไร มันก็ยิงถูกเหมือนปาฏิหาริย์ นั้นแหละคือว่าง ไม่ใช่ว่าว่างแล้วแข็งทื่อเป็นก้อนหินท่อนไม้กระดิกไม่ได้ จิตไม่รู้สึกคิดนึกอะไรไม่ใช่ แต่กลับเป็น active ไปหมดทั้งกายทั้งใจนั้นแหละคือว่าง ฉะนั้นมันว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูเท่านั้น เหมือนกับจัดดอกไม้ในแจกันก็เหมือนกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา ครูบาอาจารย์ฝ่ายเคหะศาสตร์ เทคนิคเคหะศาสตร์ ลองจำไปสังเกตดูไปค้นคว้าดูว่าจะจัดแจกันดอกไม้ด้วยจิตที่วุ่นกับจิตที่ว่างจากตัวกูของกูมันจะต่างกันสักกี่มากน้อย อันไหนจะเป็นศิลปะลึกซึ้งเป็นที่สนใจของนักปราชญ์หรือศิลปิน อย่างนี้เป็นต้น ไอจิตวุ่นมันคงเป็นแจกันที่ประหลาดที่สุด เพราะว่าจิตใจกำลังวุ่นเหมือนกับปีศาจสิง หรือว่านักเรียนจะสอบไล่มันต้องมีจิตว่างจากตัวกูของกู มีแต่สติปัญญามีแต่สมาธิ ความอยากสอบได้ความตั้งใจจะสอบได้นั้นมีในเบื้องแรกแล้วก็ให้ระงับไป เหลืออยู่ในบัดนี้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์ลองไปช่วยอบรมเด็กให้สามารถบังคับจิตได้ถึงอย่างนี้ โดยวิธีนี้ โดยแนวนี้ เด็กๆในชั้นของท่านจะเรียนเก่งที่สุด จะจำเก่งที่สุด จะคิดเก่งที่สุด และจะสอบไล่ได้ผลดีที่สุด ด้วยเรื่องว่างด้วยเรื่องวุ่นสองคำนี้เท่านั้น ท่านเห็นได้ว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เด็กๆของเรารู้เรื่องพุทธศาสนาในขั้นที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาคือเรื่องความว่าง ซึ่งมีความหมายเป็นนิพพานหรือความดับทุกข์ แต่ในระยะต่ำเรียกว่าเป็นนิพพานในระยะต่ำ ในระยะสำหรับเด็ก ถึงในระยะชิมลอง แต่ความหมายมันเหมือนกันคือว่างจากกิเลสและว่างจากความทุกข์ หากแต่ว่ามันในระดับต่ำหรือในระยะกาลเวลาจำกัดหรือชั่วคราวเท่านั้นเอง ถ้ามันเป็นไปได้ถึงที่สุดและเด็ดขาดแล้วมันก็คือนิพพานเต็มรูปในพระพุทธศาสนา และนั้นก็ถือว่าว่างอย่างยิ่งนั้นแหละคือนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ว่างอย่างยิ่งนั้นแหละคือนิพพาน
ที่นี้เพื่อจะให้ยิ่งไปอีกเรามาดูถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเราจะรวบรวมประมวลได้เป็นหมวดๆเช่นว่า ศิลปะ ดนตรี วรรณคดีเป็นต้น ที่อาตมาชอบยกตัวอย่างสิ่งเหล่านี้เพราะว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์เรากำลังหลงใหลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมากที่สุด และกำลังเห่อกันมากกว่า พูดอย่างนี้แม้จะหยาบไปก็ขออภัย เพราะคนในโลกนี้กำลังเห่อศิลปะ กำลังเห่อวรรณคดี กำลังเห่ออะไรทำนองนั้น ความมุ่งหมายที่แท้จริงของศิลปะบริสุทธิ์นั้นหมายความว่าต้องการจะดึงจิตหรือว่าพรากจิตของผู้เห็นศิลปะนั้นออกมาเสียจากความวุ่นด้วยตัวกูของกูให้มันว่าง เหมือนดังว่าเราเห็นศิลปะสวยงามบริสุทธิ์เราก็ลืมเรื่องวุ่นวายใจทางบ้านทางช่องทางกิจการงานได้ เพราะศิลปะนี้ดึงดูดใจมายึดเอาไว้หมด และศิลปะนั้นเองก็ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกู ศิลปะนั้นจึงมีค่าสูงสุดมีค่าทำกับธรรมะ ศิลปะคือธรรมะ ธรรมะคือศิลปะไป แต่ว่าเป็นธรรมะที่แสดงออกในรูปของวัตถุหรือศิลปะ จึงน่าบูชา แต่เดี๋ยวนี้ศิลปะเหล่านั้นมันเปื้อนไปด้วยน้ำมันผีในกะโหลกผีที่กล่าวมาแล้วไปหมด มันกลายเป็นเครื่องมือของภูตผีปีศาจ แสดงสิ่งลามกอนาจาร เมื่อมนุษย์ไม่มีจิตใจที่เป็นอิสระแก่ตัว เปื้อนไปด้วยน้ำมันผีเหล่านี้แล้ว ก็อ้างอิงด้วยเหตุผลเป็นคุ้งเป็นแควทีเดียวในการจะเอาสิ่งลามกอนาจารมาเป็นศิลปะ ศิลปะจึงมีแต่รูปเปลือยในหมู่ภูตผีปีศาจเหล่านี้ ทุกชิ้นล้วนแต่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูกลุ้มไปหมด แล้วกำลังนิยมว่ารูปเปลือยเท่านั้นเป็นศิลปะ ศิลปะบริสุทธิ์นั้นหายไปไหน มันหายไปไหนก็เพราะว่าเดี๋ยวนี้ตลาดที่ต้องการนั้นมันมีแต่คนที่เปื้อนไปด้วยน้ำมันผี อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ศิลปะของโลกจึงเฮไปในทางที่ก่อให้เกิดกามราคะหรือตัวตนที่เป็นไปในทางกามราคะ เป็นตัวกูเป็นของกูยิ่งขึ้นไป เป็นศิลปะทำลายโลก ไม่ใช่ศิลปะที่จะผดุงโลกนี้ให้งดงาม อย่างนี้เป็นต้น นี้พูดถึงภาพ จะเป็นภาพเขียนหรือภาพแกะสลักปั้นอะไรต่างๆ แม้แต่ภาพวิว ภาพอะไรก็สุดแท้ ถ้าจะเป็นศิลปะบริสุทธิ์เป็นตัวเดียวกับธรรมะแล้วก็ มันต้องระงับความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูได้เหมือนกัน เมื่อเราเห็นวิวสวยๆเราก็ลืมความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู เพลินไปด้วยวิวสวยๆที่ชายทะเล ที่ภูเขาอย่างนี้ มันก็เป็นศิลปะ แม้จะก็เป็นศิลปะของธรรมชาติหรือว่าเราเอามาเขียนประดับฝาบ้านมันก็เป็นศิลปะบริสุทธิ์ที่นำไปสู่ความว่าง แต่ว่าศิลปะอย่างนี้มันหมดไปๆ ตามความที่น้ำมันผีมันเปื้อนคนในโลกมากขึ้น อาตมาจะยกตัวอย่างง่ายๆว่าที่เมืองท่าเมืองชายทะเลตากอากาศที่ประเทศที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในยุโรป อย่าออกชื่อประเทศดีกว่า ที่ตากอากาศชายทะเลนั้น เมื่อสิบปีก่อนเขาเขียนภาพโปสเตอร์หรือภาพวิวที่นั้นที่สวยที่สุด โฆษณาไปตามจังหวัดต่างๆเพื่อชวนให้คนไปตากอากาศที่นั่น เพื่อเก็บเงินเพื่อได้ประโยชน์ แต่ต่อมาไม่กี่ปีภาพอย่างนั้นไร้ความหมายในการโฆษณา เอาภาพชาตินิยมเช่นเรือรบที่มีชื่ออย่างเดียวกับสถานที่ตากอากาศนั้นเป็นภาพโฆษณา อาศัยความรู้สึกตัวกูของกูทางชาตินิยมมายั่วคนให้ไปตากอากาศที่นั้น อีกไม่กี่ปีต่อมาภาพเรือรบที่ปลูกความรู้สึกทางชาตินิยมก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว ก็ใช้ภาพหญิงในชุดบิกินีเป็นฝูงๆในท่าทางที่ลามกอนาจารโฆษณาให้คนไปตากอากาศที่นั้น เพียงชั่วสิบห้าปีเท่านั้นมันก็เปลี่ยนแปลงมากอย่างนี้ นี้เป็นเครื่องวัดว่าจิตใจของคนเราเป็นอย่างไร และสิ่งที่เรียกว่าศิลปะนั้นจะเป็นเครื่องสนับสนุนสันติภาพทางจิตใจหรือทางสังคมหรือไม่ หรือสนับสนุนอะไรกันแน่
ทีนี้แม้แต่ดนตรีที่ถือเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะ ถ้าดนตรีบริสุทธิ์ก็สามารถที่จะดึงดูดจิตใจให้ว่างจากตัวกูของกูได้เหมือนกัน เพลินไปในทางดนตรีนั้น แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน เข้าใจว่าเป็นอุบายอันหนึ่งที่จะหยุดความรู้สึกว่าตัวกูของกูอันเดือดพล่านเสียได้ โมโหใครมาฟังดนตรีก็หาย หรือว่ากำหนัดในทางกามฟังดนตรีบริสุทธิ์อีกแบบหนึ่งก็หายกำหนัดในทางกามอย่างนี้เป็นต้น ดนตรีบริสุทธิ์ยังช่วยได้ในทางที่จะระงับความทุกข์หรือความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู แต่เดี๋ยวนี้มีดนตรีประเภท rock and roll หรืออะไรทำนอนนั้น ซึ่งแม้แต่เพียงชื่อก็ไม่น่าจะเอามาเอ่ยถึงแล้ว มันก็เป็นดนตรีที่เปื้อนไปด้วยน้ำมันผีอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นเอง แทนที่จะเป็นดนตรีนำไปสู่ความเยือกเย็นสงบจากตัวกูของกู มันก็เร้าความร้อนในเรื่องตัวกูของกูมาขึ้น โลกเรามัวเมาในดนตรีอย่างนี้ยิ่งขึ้นไปอีก และก็เป็นโลกที่เปื้อนด้วยนำมันผีหรือเป็นโลกของพวกผีปีศาจมากเท่านั้นเอง เหมือนอย่างที่อาตมากล่าวในวันก่อนว่าดนตรีชนิด 80 เปอร์เซ็นต์คือไทยสากลที่มีเนื้อร้องและทำนองเหมาะสำหรับหญิงโสเภณีปะเหลาะผู้ชายหรือผู้ชายปะเหลาะหญิงโสเภณี ซึ่งตรงกันอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเพลงสากลเพลงไทยสากลทั้งหมดนั้น เพลงเหล่านี้ไม่ช่วยระงับความร้อนในทางความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูแต่กลับส่งเสริม แต่ถ้าลองไปฟังเพลงไทยแท้ๆของเราแต่โบราณในบางเพลง มันตรงกันข้าม และแม้เพลงไทยโบราณบางเพลงที่พูดถึงความรัก ที่พูดถึงความรู้สึกระหว่างเพศอย่างนี้ ก็ยังเยือกเย็นอยู่นั่นเอง ไม่ร้อนระอุเหมือนกับเพลงชนิด 80 เปอร์เซ็นต์อย่างว่า และเราจะเห็นว่าในแม้ในบทขับบทร้องในเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอนนี้ซึ่งพาดพิงการกระทำหรือความรู้สึกระหว่างเพศอยู่มาก แต่ก็ยังไม่ให้ผลเท่ากับเพลงชนิด 80 เปอร์เซ็นต์นี้เลย นี้คือวัฒนธรรมอันสูงสุดของพุทธบริษัทชาวไทยเราที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม และกำลังแปดเปื้อนไปหมด หมายความว่าเมื่อจิตใจแปดเปื้อนไปด้วยน้ำมันผีเหล่านี้แล้วละก็ สิ่งเหล่านี้จึงถูกดัดแปลงหันเหไปหมด จึงมาสู่ความเหมาะสมแก่ความรู้สึกที่ว่าเป็นจิตใจที่เปื้อนด้วยน้ำมันผีนั้นเอง เราจะได้เห็นคนบางคนมัวเมาดื่มด่ำในเพลงชนิด 80 เปอร์เซ็นต์นี้ เป็นหญิงสาวที่นั่งเปิดเพลงชนิด 80 เปอร์เซ็นต์เกี้ยวตัวเองอยู่ ให้วิทยุช่วยเกี้ยวตัวเองอยู่ แล้วก็สบายอกสบายใจไปด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู แล้วจริยธรรมของโลกเรานี้หรือประเทศไทยเราก็ตามจะเป็นไปอย่างน่าชื่นใจได้อย่างไร เพราะมันแปดเปื้อนไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าน้ำมันผีไปเสียหมด ทั้งหมดนี้ที่พูดนี้ไม่ใช้เพื่ออะไรอื่นเลยนอกจากเพื่อให้เข้าใจคำว่าว่างกับคำว่าวุ่น และให้เข้าใจว่าสิ่งต่างๆที่แวดล้อมตัวเราอยู่ในยุคนี้มันไม่ส่งเสริมความว่างเสียเลย มันเพิ่มหนทางหรือลู่ทางที่จะวุ่นมากขึ้น มันเพิ่มความยุ่งยากลำบากอย่างเท่าภูเขาเหล่ากาให้แก่องค์การหรือสถาบันที่มีหน้าที่คุ้มครองสงวนจริยธรรมรับผิดชอบในด้านจริยธรรม เช่นกระทรวงศึกษาธิการเราเป็นต้น แล้วมันก็ไม่พ้นใคร คือมือของครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นเอง มันเป็นอุปสรรคศัตรูกับเราอย่างเรา เราควรจะรู้จักมันไว้ในฐานะมันเป็นอุปสรรคศัตรูอย่างไร
หากมองดูที่วรรณคดีก็อย่างเดียวกันอีก วรรณคดีที่ไพเราะแล้วก็จะต้องหยุดความรู้สึกเดือดพล่านด้วยตัวกูของกูได้ ทีนี้เราลองเปรียบเทียบว่าถ้าเราอ่านวรรณคดีอย่างขุนช้างขุนแผนกับอ่านปฐมสมโภชอย่างนี้มันต่างกันอย่างไร วรรณคดีไหนเร้าตัวกูของกูให้พล่านขึ้นมา วรรณคดีไหนทำตัวกูของกูให้เยือกเย็นสงบไป แต่แล้วใครชอบอ่านหนังสือปฐมสมโภชยิ่งกว่าเรื่องขุนช้างขุนแผน หรือว่าถ้าจะเปรียบอย่างเรื่องนิราศนรินทร์นี้มันเป็นอย่างไรบ้าง ที่ครูบาอาจารย์ที่เป็นสุภาพสตรียังสาวอยู่ เมื่อต้องอธิบายบทโครงนิราศนรินทร์บางบทแล้วก็แทบไม่รู้ว่าจะทำหน้าทำตาอย่างไร รู้สึกกันอยู่เต็มที่แล้ว กระมิดกระเมี้ยนอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็ยังไม่พอ เพราะว่าวรรณคดีชนิดนั้นมันเร้าความรู้สึกที่เป็นตัวกูเป็นของกูและเป็นไปในทำนองกามราคะทั้งแก่ฝ่ายครูและฝ่ายศิษย์ (เสียงขาด 1:35:10)
เราก็จะได้รับประโยชน์มากมายโดยไม่ต้องลงทุนมาก คือเราไม่สร้างสิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคศัตรูของจริยธรรมขึ้นมา ไม่เกิดอาการรวนเรหรือพังทลายแก่จริยธรรมขึ้นมา ทีนี้เราจะได้พูดกันถึงความว่างชนิดที่เด็กเข้าใจ ถ้าเราต้องการให้เด็กเข้าใจคำว่าความว่าง เราควรจะคิดว่าเด็กไม่ควรจะมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่อาตมากล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่าเคยได้ยินมาแต่ในพระคัมภีร์ว่า เด็กจะเป็นพระอรหันต์ได้ก็มีแต่อายุเกิน 15 ปี และมีพระอรหันต์เด็กอยู่ไม่กี่คน สัก 2-3 คน ในประวัติศาสตร์ของพุทธสาสนา ก็แปลว่าต่ำกว่า 15 ปีคงยากที่จะเข้าใจเรื่องความว่าง แต่อย่างน้อยก็คงจะเข้าใจได้บ้าง เหมือนอย่างจะเอาเด็กมาแล้วก็บอกให้คิดดูว่า ถ้าให้หัวเราะเรื่อยจะเอาไหม ถ้าให้ร้องไห้เรื่อยจะเอาไหม นี้มันต่างกันระหว่างหัวเราะกับร้องไห้ หัวเราะเรื่อยเขาก็สู้ไม่ได้ ร้องไห้เรื่อยก็ยิ่งไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องหัวเราะไม่ต้องร้องไห้คือว่างนั้นพอจะสู้ได้และดูเยือกเย็นดี หรืออีกอย่างหนึ่งว่าความกระวนกระวายเมื่อยังไม่ได้สิ่งที่ตัวอยากนั้น มันกระวนกระวายเหลือทนเด็กๆเขารู้สึกดี พอได้สิ่งที่ตัวรักตัวอยากมาแล้วมันก็หึงหวงมันก็เป็นห่วงไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง แม้จะเป็นเพียงตุ๊กตาก็ไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง แปลว่าความรู้สึกหลังจากที่ได้แล้วก็ไม่ไหวเหมือนกัน ฉะนั้นจึงสู้ความรู้สึกที่อยู่ตรงกลางคือยังว่างอยู่นั้นไม่ได้ หรือเอากันว่าความรักกับความเกลียด ให้มีความเกลียดมันก็รู้สึกร้อน ให้มีความรักมันก็รู้สึกร้อน ถ้าอยากต้องรักและต้องเกลียด อยู่ตรงกลางมันพอทนได้หรือสบาย นี้คือวิธีที่เด็กๆเล็กๆจะรู้เรื่องความว่างและเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา หรือที่ครูบาอาจารย์บางคนมักจะถามว่าจะทำให้เด็กสนใจในเรื่องนิพพานหรือความหมายของคำว่านิพพานได้อย่างไร อาตมาก็ยกตัวอย่างอย่างนี้ขึ้นมาให้ฟัง แล้วถ้าเด็กๆของเราได้รับการกล่อมเกลามาในลักษณะที่ให้บูชาความว่างแม้ในลักษณะเล็กน้อยเช่นนี้มาแต่แรกแล้ว มันง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงธรรมะตามลำพังตัวเอง เพราะฉะนั้นคำว่าว่างนี้มันมีความหมายอย่างนี้ ดังตัวอย่างต่างๆที่กล่าวมานี้ ขอครูบาอาจารย์ทั้งหลายเข้าใจในลักษณะเช่นนี้ อย่าได้เข้าใจผิดอีกต่อไป
เราจะต้องถือว่าหลักเกณฑ์ต่างๆที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ไม่ควรจะถูกประณามว่าคร่ำครึหรือพ้นสมัยอะไรทำนองนั้น จะต้องถือว่าถูกอย่างยิ่งไว้ก่อน แล้วก็เอามาศึกษาพิจารณาดูให้เข้าใจอย่างเรื่องความว่างนี้เป็นต้น มันมีอยู่แต่เพียงว่าเรามองแต่เพียงให้ด้านวัตถุเท่านั้นจึงไม่รู้เรื่องความว่าง มองแต่ในด้านสสารหรือทางวัตถุ มองภายนอกตัวไปหมด ไม่มองไปในทางจิตทางใจฉะนั้นจึงไม่เข้าใจเรื่องความว่างที่แท้จริงที่เป็นเรื่องทางจิตใจ รู้แต่เรื่องทางวัตถุทางสสารไปหมด พอพูดถึงว่าง ก็ว่างจากสสาร เป็นรสเทียม 1:38:45 ไม่มีอะไร ไม่มีร่างกาย ไม่มีความคิดนึก ไม่มีความรู้สึกอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฐิไปเลย ไม่ใช้ความว่างที่เป็นสัมมาทิฐิในพุทธศาสนา ฉะนั้นอุปสรรคข้อหนึ่งมันก็อยู่ตรงที่ว่าเราเคยชินกับการที่จะมองสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุและเป็นภายนอกตัวเรามากเกินไป ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า (เสียงขาด 1:39:12)
มหาวิทยาลัยทั้งโรงนี้มันอยู่ที่ร่างกายนี้ อาตมาใช้คำอย่างนี้ คือคำที่ท่านตรัสมีอยู่ว่า ความทุกข์ก็ดี เหตุแห่งทุกข์ก็ดี ความดับสนิทไม่เหลือแห่งทุกข์ก็ดี วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายซึ่งยาวเพียงประมาณ "วา" หนึ่งนี้เท่านั้น ที่มีพร้อมทั้งสัญญาและใจ ที่ว่ามีพร้อมทั้งสัญญาและใจนี้หมายความว่าให้เอาร่างกายที่เป็นๆไม่ใช่ร่างกายที่ตายแล้ว และในช่วงที่ยาววาหนึ่งนี้ มีมหาวิทยาลัยสำหรับศึกษาเรื่องความทุกข์ มีวัตถุสำหรับศึกษามีความรู้สำหรับศึกษา มีความรู้สำหรับศึกษาความดับทุกข์ที่เป็นผลของการศึกษาอยู่ในนั้นหมดเลย ไม่ต้องสนใจไปภายนอกกาย ฉะนั้นก็หมายความว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจล้วน เราทำตนเป็นนักศึกษาทางด้านจิตด้านวิญญาณบ้างแล้วก็จะง่ายที่สุด ถ้าเรายังคงไม่ประสีประสาต่อเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ตกไปเป็นทาสทางวัตถุไปหมดแล้วไม่มีทางที่จะเอาชนะความทุกข์ได้เลย ไม่อาจจะควบคุมจริยธรรมจริยธรรมให้เป็นไปในร่องรอยที่น่าปรารถนาได้ เราจึงหลงใหลแต่เรื่องทางเนื้อทางหนังทางรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเหล่านี้ไปหมด ก็เรียกว่าตกเป็นทาส เป็นทาสทางวิญญาณไม่ใช่ทาสทางซื้อขายทางผูกมัดทางวัตถุอย่างนี้ โดยทางวิญญาณเราตกเป็นทาสของอารมณ์ เป็นทาสของโลกของอารมณ์ในโลก ฉะนั้นปัญหามันจึงเกิดขึ้นมาจากสิ่งๆเดียวนี้ คือการที่ว่าคนในโลกในยุคนี้ล้วนแต่ตกเป็นทาสของอารมณ์ในโลก ถ้าหากปฏิวัติกันได้ในข้อนี้คือไม่ตกเป็นทาสอารมณ์ในโลกแล้วปัญหาต่างๆจะสิ้นสุดลงไปในพริบตาเดียว คือกลับเป็นโลกที่บริสุทธิ์สะอาดสว่างสงบน่าอยู่น่าดู ไม่มีปัญหายุ่งยากอะไรเลย นอนก็ไม่ต้องปิดประตูเรือน ใช้โวหารโบราณก็ต้องว่าอย่างนั้น
ทีนี้เราก็จะมีความรู้ในด้านจิตใจกันให้มากพอจนรู้เรื่องความว่างกันอย่างเพียงพอ และจะรู้สึกว่าได้พบสิ่งที่น่าปรารถนาเป็นสิ่งที่น่าดูดดื่มยิ่งกว่าสิ่งใดๆหมด คือความว่างนี้ รสของความว่างนี้เป็นรสที่ดึงดูดยิ่งกว่ารสของกามรมณ์หรือกามคุณ แต่เพราะเหตุที่เข้าไม่ถึง จึงเข้าถึงแต่รสของกามรมณ์เรื่องทางฝ่ายเนื้อหนังไปหมด ก็เลยไม่รู้เรื่องของความว่าง เท่านั้นยังไม่พอ ก็ยังเกลียดชังความว่างหรือความสงบนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเปื้อนน้ำมันของปีศาจในนิทานยายกับตามากเกินไปนั้นเอง เป็นอันว่านี้เป็นเรื่องความว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นความว่างจากทุกข์จากปัญหายุ่งยากต่างๆพร้อมกันไปในตัว เพราะอำนาจความว่างจากกิเลสนั้น อาตมาจึงถือว่าเป็นจุดปลายทางของจริยธรรม ไม่ว่าจริยธรรมของศาสนาไหน ถ้าเป็นจริยธรรมที่ควรแก่นามว่าจริยธรรมแล้วจะต้องเป็นไปเพื่ออย่างนี้ทั้งนั้น คือเพื่อความหยุดสงบแห่งความวุ่นวายไปด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกู หรือ selfishness นั้นเอง selfishness หายไปจากโลกนี้เมื่อไรโลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ขึ้นมาทันที ไม่ต้องให้คอมมิวนิสต์มาจับหรือไม่ต้องให้ใครมาจับ คอมมิวนิสต์หรือฝ่ายไหนก็ตามไม่สามารถจะจับโลกนี้ให้เป็นโลกพระศรีอารย์ได้ เว้นไว้แต่พวกที่เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงความว่าง เข้าถึงจุดหมายปลายทางของจริยธรรมที่แท้จริงเท่านั้นเอง อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้
ถาม: การยึดมั่นถือมั่นนั้นจะไม่ให้คุณแก่เราบ้างเสียเลยเชียวหรือ โปรดอธิบายซ้ำอีกว่าความยึดมั่นถือมั่นกับการมีอุดมคติหรือยึดมั่นถือมั่นในอุดมคตินั้นคล้ายกันหรือต่างกัน
ตอบ: ถ้าถามว่าการยึดมั่นถือมั่นจะไม่ให้คุณแก่เราเสียบ้างเลยหรือ นับว่าเป็นคำถามที่ดีมากที่ควรจะสงสัย การยึดมั่นถือมั่นนั้นถ้าเป็นไปในทางดีก็ยังดีกว่าการยึดมั่นถือมั่นในทางชั่ว ความยึดมั่นถือมั่นที่แท้จริงนั้นท่านหมายถึงเห็นแก่ตัวกู มีตัวกู มีของกู ความยึดมั่นถือมั่นในอุดมคตินั้นมันมีอยู่ว่ามันมีตัวกูของกูมากน้อยเท่าไร เพราะว่าถ้าอุดมคติแท้จริงต้องเป็นไปในทางไม่มีตัวกูของกู แต่ทีนี้ว่าถ้าสำหรับคนทั่วๆไปแล้วก็ยอมผ่อนให้ลงมาถึงกับว่ายึดมั่นถือมั่นในทางที่มีตัวกูของกูอย่างดี อย่างที่ไม่เห็นแก่ตัวหรือไม่ค่อยเห็นแก่ตัวนั้นก็ใช้ได้ ไม่ถือว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างชนิดที่เป็นความทุกข์
ถาม: มนุษย์เรามีทางนิพพานหรือว่างอย่างพระพุทธเจ้าหรือไม่
ตอบ: ขอตอบว่าขึ้นชื่อว่าว่างแล้วไม่มีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเราทำว่างได้ถึงที่สุดก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่าง แต่ถ้าเรายังทำได้ไม่ถึงก็เป็นแต่เพียงว่านิพพานที่มีหลักการอย่างเดียวกันมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่อยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง
ถาม: หัวใจพระพุทธศาสนา
ตอบ: หัวใจพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนั้นมีอยู่อย่างนี้ กล่าวกันต่างๆนานา อาตมาก็ยืนยันว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่ถ้าวันนี้ยิ่งย่อลงไปอีกก็ขอให้ถือว่า "ว่าง" คำเดียวนี้แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา
ถาม: เรานี้อยู่ที่ไหนมาก่อน ก่อนที่จะมาอยู่ในโลกนี้
ตอบ: ปัญหาอย่างนี้เป็นปัญหาที่ว่าแม้ตอบก็ไม่มีประโยชน์คือเอามาให้ดูไม่ได้ เอามาแสดงให้เห็นไม่ได้ แต่ถ้าจะตอบอย่างหลักเกณฑ์เดียวกันแล้ว ก็ตอบว่าอยู่ที่ว่างมาก่อน แล้วเพิ่งมาวุ่น มาเกิดปรุงเป็นเราเป็นอะไรทีหลัง แต่ตอบอย่างอื่นนั้นจะไม่มีประโยชน์หรือมีแต่ทางเข้าใจผิดยิ่งขึ้น แม้คนเขาจะพูดกันว่าก่อนนี้มีนั้นมีนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้ ไม่เป็นพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะต้องมีหลักว่า ก่อนที่จะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรานั้น มันยังว่างอยู่ ก่อนที่จะวุ่นนั้นมันยังว่างอยู่ แล้วมันมาวุ่นเป็นพักๆ จนกว่าจะรู้จักทำเสียใหม่ให้ไม่มีวุ่น แล้วมันก็ว่างเหมือนอย่างเดิม ให้ความวุ่นนี้ไม่อาจจะเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด แล้วมันก็จะว่างอย่างเดิม
ถาม: การยึดมั่นว่าตัวเราเป็นอะไรนั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่เรียกว่ารู้จักตัวเองโดยประจักษ์ self-realization ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ใช่อย่างเดียวกัน self-realization ถ้าถูกจริงก็เห็นว่าง เป็นไปในทางเห็นว่าง ไม่มีทางยึดเกิดรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราขึ้นมาได้
ถาม: เราจะมีวิธีปฏิบัติให้ว่างอยู่อย่างไรได้ ในเมื่อเราอยู่ในโลกซึ่งมีภาวะที่จะต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆเป็นประจำอยู่ทุกวัน
ตอบ: ขอตอบว่าคำถามมันกลับกันอยู่ หมายความว่าความมุ่งหมายแท้จริงของธรรมะนั้นต้องการให้เรามีอาวุธที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในลักษณะที่จะเอาชนะมันได้ คือให้มีจิตที่ว่างต่อสู้อุปสรรคหรือทำลายอุปสรรค ฉะนั้นเราต้องเข้าใจถูกต้องว่าจิตที่ว่างนี้ย่อมประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง ในขณะใดจิตวุ่นแล้วไม่มีสติปัญญาเลย ถ้าเราได้ปล่อยให้จิตวุ่นไปตามอุปสรรคหรือในปัญหาในชีวิตประจำวันแล้วก็แปลว่าเราหมดสมรรถภาพที่จะต่อสู้กับอุปสรรค เราต้องปรับปรุงตัวเราใหม่ให้มีอาวุธคือความว่างที่จะต่อสู้กับอุปสรรคประจำวัน แล้วมันจะพ่ายแพ้ไปหมด อย่าลืมข้อสั้นๆที่ว่า จะจับปลาก็ไม่ถูกเงี่ยงปลา จะกินปลาก็ไม่ถูกก้างปลา
ถาม: อันนี้ก็เหมือนกัน ถามคล้ายๆกัน มีคำตอบอย่างเดียวกัน ในสิ่งแวดล้อมมีปัญหาทางสังคม ปัญหาเศรษฐกิจเป็นต้น ที่เป็นอยู่นี่ เราจะฝึกอย่างไรเพื่อให้เราไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เพื่อให้ว่างและไม่ให้วุ่น
ตอบ: มีคำอธิบายที่เป็นคำตอบในตัวการบรรยายวันนี้แล้ว ว่าเราจะต้องศึกษาเรื่องว่างเพราะเหตุใด วุ่นเพราะเหตุใด ให้เข้าใจอยู่เป็นพื้นฐาน ถ้าเราระมัดระวังด้วยความไม่ประมาทและรู้จักอายรู้จักกลัวเมื่อทำพลาด เย็นลงเราจะต้องคิดบัญชีดูว่าพลาดคือขาดทุนกี่ครั้ง แล้วเราต้องรู้จักละอายและรู้จักกลัว คือมีหิริโอตตัปปะปะที่แท้จริงในความพลาดของเรา ในฐานะที่เป็นมนุษย์มีจิตใจสูง ไม่ควรจะพลาด รวมความแล้วคือมีสติปัญญาอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีสติสัมปชัญญะทันท่วงทีที่อารมณ์หรือโลกมากระทบ แล้วพอสุดวันหนึ่งๆคิดบัญชีเพื่อจะมีหิริ มีโอตตัปปะปะ ในวันรุ่งขึ้น แล้วเราก็จะได้บุญได้กุศลที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง คือว่าเผลอได้ยากยิ่งขึ้นทุกที เหมือนกับเรามีความรู้สึกละอายหรือกลัวมากในทางวัตถุ เช่นเราไม่อาจเผลอตัวถึงกับเปลือยกายออกไปนอกถนน ทำอย่างไรๆก็ไม่อาจเผลอตัวในเรื่องนี้ เป็นเพราะอะไร ก็เพราะหิริโอตตัปปะปะทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคตมันหนักแน่นเต็มที่ไม่มีใครเผลอตัวแสดงอาการตามถนนหนทาง ในห้องรับแขกนี้ไม่มีทางที่จะเผลอได้ ฉะนั้นในทางที่จะเผลอเกิดรู้สึกเป็นตัวกูของกูนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรากลัวถึงขนาดนั้น ละอายถึงขนาดนั้น มันก็เผลอไม่ได้เหมือนกัน คือไม่เผลอไปในทางปรุงเป็นตัวกูของกูในขณะแห่งผัสสะหรือในขณะแห่งเวทนาก็ตาม สรุปอีกทีหนึ่งว่ามีสติสัมปชัญญะทุกขณะที่มีอารมณ์มากระทบโดยปกติมีสติปัญญารอบรู้แตกฉานอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีหิริโอตตัปปะปะทุกคราวที่มันพลาดลงไป
ถาม: ถามว่ามีความหวังโดยตั้งไว้ในจิตใจนำไปสู่ทางที่ดี ตามผู้ที่มีความก้าวหน้า เข้ากับหลักการที่ทำให้เกิดทุกขเวทนาหรือเปล่า จัดว่าเป็นการเห็นแก่ตัวหรือเปล่า
ตอบ: ก็ได้เคยพูดครั้งหนึ่งแล้วว่า ambition หรือความมุ่งมาตรปรารถนาอย่างแรงกล้านั้นมีอยู่สองอย่าง คือเป็นไปตามอำนาจของความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูที่เป็นอุปาทานนี้ก็ได้ หรือว่าเป็นไปด้วยอำนาจของสติปัญญาบริสุทธิ์ล้วนๆก็ได้ ถ้าเราพยายามจัดให้ความมุ่งมาตรปรารถนาทุกอย่างของเราที่จะทำความก้าวหน้าทันเขาหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นไปด้วยสติปัญญา สติปัญญามันจะมีความรู้สึกแต่เพียงว่าสิ่งนี้คืออะไรสิ่งนี้จะต้องทำอย่างไรเพื่อประโยชน์อะไรเท่านั้น ไม่เลยไปถึงเป็นเพื่อกูหรือตัวกูหรือกูทำ ฉะนั้นจึงไม่ทุกข์ นี้คือเคล็ดลับหรืออุบายที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่โลกนี้ ในลักษณะที่ว่าจับปลาเท่าไรก็ไม่ถูกเงี่ยงปลา แม้เราจะมีความตั้งใจที่จะทำความดีขนาดสูงสุดคือความตั้งใจจริงอย่างยิ่งเป็นสมาธิอย่างยิ่งก็ไม่เป็นตัณหาอุปาทานไปได้ เพราะว่า ambition นี้ถูกควบคุมด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ตัณหาอุปาทานจูงไปเลย ขอให้รู้จักแยกกันออกจากกันอย่างเด็ดขาดอย่างนี้
ถาม: ความเห็นแก่ตัวที่โลกเขาเกลียดนักเกลียดหนากับความเห็นรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนนั้นต่างกันอย่างไร
ตอบ: อาตมาอยากจะขออภัยที่ต้องพูดว่าเรื่องนี้กล่าวแล้วแต่ว่าฟังไม่เข้าใจ ความเห็นแก่ตัวที่คนเขาเกลียดนักเกลียดหนาก็หมายถึงเขาเกลียดความเห็นแก่ตัวของคนอื่นกันทั้งนั้น ทีนี้การเห็นแก่ตัว การเห็นตัวเห็นตนนั้นซึ่งเป็น self-realization มันเป็นการรู้จักตัว เห็นชนิดที่เข้าใจว่าตัวเป็นอย่างไร กิเลสเป็นอย่างไร กิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดตัวตนเป็นอย่างไร นี้เรียกว่ารู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องตัวตนให้เกิดทุกข์อย่างไร อย่างชัดแจ้งอย่างแท้จริง นี้เรียกว่ารู้จักตัวตนต่างหาก เห็นตัวเห็นตนอย่างนี้เรียกว่ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวตนอย่างถูกต้องต่างหากไม่ใช้ความเห็นแก่ตน หรือจะเป็นสำนวนคำพูดที่หลีกเลี่ยงอะไรอยู่มากก็ขอให้เข้าใจเสียใหม่
ถาม: จะหาอะไรเป็นเครื่องยั่วให้เด็กเกิดอารมณ์อยากเข้าใกล้ธรรมะ จะหาอะไรเป็นอุปกรณ์ในการสอนจริยธรรม
ตอบ: อาตมาได้พูดได้อธิบายเท่าที่จะนึกได้อย่างยิ่งในวันนี้ แล้วก็ได้โปรดทราบว่าเวลาที่มีให้พวกเรานี้มันมีน้อย มันจึงชั่วแต่ให้ตัวอย่างเท่านั้น ส่วนวิธีที่จะทำได้อีกมากมายนั้นจะต้องไปค้นคว้าคิดนึก หรือลองไปนึกหัดเอาเอง หมดปัญหาที่อาตมาเห็นว่าเกี่ยวข้องกันและควรจะนำมาตอบในวันนี้