แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เรียกตนเองว่าเป็นครูทั้งหลาย ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีเป็นประธาน อาตมาจะไม่กล่าวการบรรยายนี้โดยมุ่งหมายบุคคลประเภทอื่น นอกจากประเภทที่เรียกตัวเองว่าเป็นครู เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าการบรรยายนั้นไม่สมบูรณ์สำหรับผู้อื่นนอกจากวงของบุคคลผู้เรียกตัวเองว่าเป็นครูก็ อาตมาก็ต้องขออภัย
สำหรับการบรรยายในวันแรกนี้ อาตมาเห็นว่าเป็นความเหมาะสมหรือว่าจำเป็น ที่จะกล่าวได้แต่เพียงข้อความนำเรื่องในแนวสังเขปทั่วไป เท่าที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องกล่าวก่อน เพื่อให้เข้าใจการบรรยายครั้งหลัง ๆ ได้ดีนั่นเอง เพราะฉะนั้นข้อความที่จะกล่าวในวันนี้จะเป็นทำนอง Introduction ไปแทบทั้งหมด เพื่อให้ท่านที่สนใจโดยเฉพาะ คือจะรับการอบรมในแนวของจริยธรรมเพื่อประโยชน์แก่การสอนยุวชนนั้น ได้เข้าใจแนวสังเขปล่วงหน้ากันทุกแง่ทุกมุมที่ควรจะเข้าใจ
ทั้งนี้เพราะว่าเราได้เข้าใจแม้แต่คำต่าง ๆ นี้ต่างกันมาก ในความหมายที่ต่างกันมาก แม้แต่คำว่าครู จงได้ให้โอกาสแก่อาตมาหรือให้อภัยแก่อาตมา ในการที่จะแสดงทัศนะต่าง ๆ ออกไป ตามที่เห็นว่าเป็นไปตามอุดมคติของพุทธศาสนา แม้ที่สุดแต่คำว่าครู อาตมาก็ยังเห็นว่า เมื่อกล่าวไปตามอุดมคติของพุทธศาสนา ก็ยังจะมีความหมายผิดแปลกแตกต่าง จากที่เคยเข้าใจกันอยู่ตามธรรมดาไม่มากก็น้อย
ดังนั้นข้อแรกที่จะขอร้องให้สนใจพินิจพิจารณา ก็คือความหมายของคำว่าครู ถ้าเราเปิด Dictionary สันสกฤต ชนิดที่อาศัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ ดูที่คำว่าครู เราจะพบคำแปลว่า Spiritual Guide ไม่มีคำว่า Teacher หรืออะไรทำนองนั้นเลย อันนี้ก็เป็นจุดตั้งต้นอันหนึ่งแล้ว ที่จะแสดงว่าความหมายของคำว่าครูนี้คืออะไรกันแน่
และถ้ายิ่งเราไปเล็งถึงคำว่าพระบรมศาสดา ซึ่งแปลว่าพระบรมครูด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นว่าความหมายของคำว่าครูนั้นคือ Spiritual Guide ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาบรมศาสดาของเรานั้น ท่านเป็นผู้นำในทางวิญญาณจริง ๆ ถือเป็นผู้นำในทางด้านจิตคือด้านวิญญาณจริง ๆ
พวกที่เขียน Dictionary ให้ท่านแปลว่า Spiritual Guide นั้น เขาไม่ได้เป็นพุทธบริษัท เขาเป็นคนธรรมดา แต่เมื่อถือเอาความหมายตามที่มีอยู่ในประเทศอินเดียทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะในสมัยที่แล้วมา มันทำให้เขาจัดความหมายได้อย่างนั้น เมื่อจะสอบถามกันอย่างไรก็ได้ความหมายเป็น Spiritual Guide เรื่อยไป แทนจะเป็นคำว่า Teacher หรืออะไรตื้น ๆ
ดังนั้นจึงขอให้เราทั้งหลายทุกคน ถือเอาความหมายของคำว่าครูนี้คือ Guide หรือผู้นำในด้านจิตหรือด้านวิญญาณ จะเป็นการถูกต้องตามความหมายเดิมของคำ ๆ นี้และเป็นไปตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาด้วยพร้อมกันไปในตัว และการที่เราถือเอาความหมายของคำว่าครูตามอุดมคตินี้เท่านั้น ที่จะช่วยให้ครูทั้งหลายตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล พ้นจากความเป็นลูกจ้าง
ขอให้ ขอร้องท่านทั้งหลายได้สนใจความหมายของคำว่าปูชนียบุคคลกับคำว่าลูกจ้างอีกครั้งหนึ่ง สมัยนี้มีคนชอบพูดกันว่าข้าราชการเป็นลูกจ้าง แต่อาตมาอยากจะขอร้องให้สนใจความหมายเดิมว่า Spiritual Guide นี้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น Spirit แท้จริงของครูจะเป็นลูกจ้างไม่ได้ ตั้งแต่โบราณกาลมาจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ แต่ที่ครูบางคนทำตนกลายเป็นลูกจ้างไปนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องพิเศษจะเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้
แม้คำบัญญัติในวงราชการว่า ข้าราชการเป็นลูกจ้างประชาชน นี้ก็ต้องไม่เอามาใช้แก่ครูซึ่งมี Spirit ของครูจริง ๆ เพราะว่าถ้าครูตกเป็นลูกจ้างเสียแล้ว จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นเป็นอันมาก ปูชนียบุคคลจะต้องมีอุดมคติที่เป็นอิสระเสมอไปในการที่จะทำหน้าที่ของตน ถ้าจะให้เป็นลูกจ้างก็ควรจะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งที่แท้มันก็ไม่ควรจะเป็นลูกจ้าง เช่นบรรพชิตมีหน้าที่สอนผู้อื่น แล้วก็รับปัจจัยสี่เพียงมีชีวิตอยู่ได้ ใครบ้างจะเรียกปัจจัยสี่ที่ได้รับนั้นว่าค่าจ้าง คงจะไม่มี
เพราะฉะนั้นขอให้ครูถือเอาอุดมคติอย่างนี้อย่างเดียวกัน และไม่สำนึกตัวเป็นลูกจ้าง สำนึกตัวเป็นบุคคลที่เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ และทำหน้าที่สุดความสามารถ และรับประโยชน์เท่าที่จะมีชีวิตอยู่ได้เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ เพียงไม่ต้องไปทำไร่ทำนาเองก็มีชีวิตอยู่ได้ อย่างนี้ก็จะเป็นปูชนียบุคคล เข้ากลุ่มสาวกของ spiritual guide ไปทันที พ้นจากความเป็นลูกจ้าง ทั้ง ๆ ที่ใครเขาจะเหมาว่าเป็นลูกจ้าง
การที่เรามีอุดมคติอย่างนี้จะช่วยให้เป็นการง่ายมาก ที่ครูจะมีความเสียสละและนิยมชมชอบในสถานะของตน ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามสถานะของครูว่าเป็นเพียงเรือจ้าง มาเป็นครูเพียงเพื่อจะอาศัยโอกาสเวลาศึกษาวิชาความรู้อย่างอื่น แล้วก็สอบผ่านไปดำรงตำแหน่งหรือมีอาชีพอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ครู นี้คือผลของการเข้าใจผิดว่าสถานะของครูคือปูชนียบุคคล จึงได้เกิดดูถูกเหยียดหยามกลายเป็นอาชีพเรือจ้างชั่วครั้งชั่วคราวไป
ถ้าเราจะบำเพ็ญตนเป็นครูที่สำเร็จประโยชน์แท้จริงแล้ว ขอให้ถืออุดมคติที่ว่า ครูคือบุคคลผู้นำในสถานะทางจิตหรือทางวิญญาณเสมอไป และถ้าเราจะดูกันให้กว้าง ๆ มันก็ยังพอจะเข้ากันได้ในทางที่จะกล่าวว่า วิชาความรู้ทุกอย่างล้วนแต่เป็นการยกสถานะทางวิญญาณให้สูงขึ้นทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่วิชาเลข วิชาวาดเขียน ถ้าทำกันจริง ๆ ก็ช่วยให้เกิดความฉลาดในทางจิตใจ เกิดสติสัมปชัญญะที่ดีกว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการยกสถานะทางวิญญาณได้บ้างเหมือนกัน
ดังนั้นเราจะมุ่งหมายให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปในลักษณะที่เป็นการยกสถานะทางวิญญาณทั้งนั้น แม้ว่าการยกสถานะทางวิญญาณแท้จริงนั้น หมายถึงการอบรมสั่งสอนในด้านจิตใจโดยตรง ให้เป็นผู้มีดวงจิตหรือวิญญาณอยู่เหนือการครอบงำของธรรมชาติฝ่ายต่ำหรือกิเลส ซึ่งสรุปรวมอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว ซึ่งที่แท้นั่นแหละคือเป็นที่รวมของกิเลสทั้งหมด ในบรรดาชื่อของกิเลสทั้งหลายในพุทธศาสนา ซึ่งเราจะได้กล่าวกันในวันหลัง
เพราะฉะนั้นอาตมาอยากจะขอร้องวิงวอนให้ถืออุดมคติที่ว่า การเคลื่อนไหวของครูทุกกระเบียดนิ้วและทุก ๆ นาทีทุกเวลานี้ ให้เป็นไปในลักษณะที่เป็นการยกสถานะทางวิญญาณของคนในโลกเสมอไป นับตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ขึ้นไป เมื่อมีความมุ่งหมายดังนี้แล้วจะเกิดอาการที่เป็นไปเองคือเป็นอัตโนมัติ คือว่าไม่ว่าจะสอนวิชาอะไรจะมีความแจ่มแจ้งเกิดขึ้น ในทางที่จะทำให้สถานะทางวิญญาณของเด็กเล็ก ๆ สูงขึ้นไปตามลำดับ ไม่เพียงแต่สอนให้รู้เรื่องธรรมดาสามัญอย่างเดียว นี้เรียกว่าความหมายของคำว่าครู ซึ่งอยากจะให้มองเห็นกันโดยแนวนี้ เป็นการ Introduce ครูเข้าไปสู่พระบรมครู คือพระศาสดาของเรา
ทีนี้ก็มาถึงคำว่าการศึกษา เมื่อคำว่าครูมีความหมายว่าผู้ยกสถานะทางวิญญาณแล้ว คำว่าการศึกษาก็เป็นอย่างเดียวกัน คือการยกสถานะทางวิญญาณ สำหรับข้อนี้อยากจะขอให้เพ่งเล็งถึงคำว่า สิกฺขา ในภาษาบาลี ซึ่งตรงกับคำว่า ศึกษา ในภาษาไทย หรือ ศิกฺษา ในภาษาสันสกฤต
ในภาษาบาลีที่เป็นหลักธรรมะโดยตรงเรามีคำว่า ไตรสิกขา คือ สิกขา ๓ อย่างหรือการศึกษา ๓ อย่าง แต่แล้วสิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นการยกสถานะทางวิญญาณโดยแท้ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นการกระทำที่เป็นการยกสถานะทางวิญญาณทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการบอกเล่าให้ท่องจำตอบปัญหาได้แล้วก็เพียงพอ แต่ว่าต้องเป็นการ เป็นตัวการปฏิบัติชนิดที่ให้เกิดความสูงในทางจิตทางวิญญาณจริง ๆ ดังนั้นจึงถือว่าคำว่าสิกขานี้ มีความหมายเป็นการประพฤติปฏิบัติ มิได้หมายเพียงการศึกษาเล่าเรียน เป็นการประพฤติปฏิบัติชนิดที่ทำวิญญาณหรือจิตใจให้สูงจริง ๆ
ทีนี้เราจะเอามาใช้กับการศึกษาทั่วไปนี้ได้อย่างไร เรื่องก็คงจะไม่ยาก เรื่องก็จะมีอยู่ว่า เราจะไม่ให้การศึกษาแต่เพียงสักว่าวิชาความรู้ สำหรับจดจำไปตอบปัญหาได้ สอบผ่านไปได้แล้วก็เลิกกัน แล้วจะต้องให้สิ่งที่เรียกว่าการศึกษานั้นเป็นการประพฤติเป็นการกระทำ หรือเป็นการอบรมให้มีการประพฤติกระทำชนิดที่ให้เกิดความสูงในทางจิตหรือทางวิญญาณจริง ๆ
ถ้าเป็นดังนี้แล้ว คำว่าศึกษาในภาษาไทยเราก็จะเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่า ศิกฺษา หรือ สิกฺขา แม้ในสมัยพุทธกาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในวงการของพุทธศาสนา ดังนั้นคำว่าศึกษาของเราก็เป็น ยังคงเป็นคำที่มีความหมายบริสุทธิ์ผุดผ่องและสมบูรณ์ ไม่เว้า ๆ แหว่ง ๆ คือเป็นเพียงการพูดให้ฟังแล้วการจดการจำแล้วก็ตอบปัญหาให้ได้เท่านั้น แต่จะเป็นการทำชนิดที่มีผลจริง ๆ คือเป็นการทำให้จิตใจหรือวิญญาณของผู้รับการศึกษานั้นสูงขึ้นจริง ๆ
นี้คือคำว่าการศึกษา ซึ่งเมื่อคำว่าครูกับคำว่าการศึกษามีอุดมคติอย่างนี้แล้ว จะเข้าใจหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาต่อไปได้โดยง่ายที่สุด ดังนั้นอาตมาจึงขอร้องหรือวิงวอนว่า ลองตั้งแนวคิดกันใหม่ไปในรูปนี้ เพื่อความเข้าใจพุทธศาสนาโดยเร็ว
ทีนี้สิ่งที่จะต้องปรับความเข้าใจคำหนึ่งก็คือคำว่าธรรมะ เพราะว่าเราประสงค์จะอบรมสั่งสอนสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือรู้ธรรมะและปฏิบัติธรรมะ และได้ผลจากธรรมะ ไม่มีอะไรนอกไปจากธรรมะ แม้สิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมในที่นี้ ที่เป็นความมุ่งหมายของการเปิดการอบรมในที่นี้ ก็ยังคงรวมอยู่ในคำว่าธรรมะนั่นเอง แต่ว่าอาตมาจะขอถือโอกาสกล่าวเสียเลยในที่นี้ว่า สำหรับเราพุทธบริษัทควรจะเข้าใจคำว่าธรรมะนี้ ให้เต็มตามความหมายของคำ ๆ นี้ เพื่อประโยชน์แก่ความรู้ที่กว้างออกไป
คำว่าธรรมะ ๆ นี้หมายถึงสิ่งทุกสิ่ง หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า คำว่าธรรมะนั้นแปลว่าสิ่งเท่านั้นเอง คือแปลว่า Thing สิ่งเท่านั้นเอง และหมายถึงทุกสิ่งด้วยไม่ยกเว้นอะไร ถ้ากล่าวอย่างโวหารธรรมดาสามัญที่สุดก็ว่า นับตั้งแต่สิ่งที่ไร้ค่าที่สุดเช่นฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง จนกระทั่งถึงเรื่องทางจิตทางใจถึงพระนิพพานทีเดียว ทั้งหมดนั้นรวมอยู่ในคำว่าธรรมะ
นี้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาที่ ๆ ชัดเจน ก็ควรจะเพ่งดูกันให้ละเอียดไปกว่านั้น คำว่าธรรมะนั้น ที่ว่าทุกสิ่งนั้น ควรจะแยกได้เป็นส่วน ๆ คือว่า สิ่งที่เรียกว่ารูปธรรมและนามธรรมเป็นคู่แรกก่อน รูปธรรมคือสิ่งซึ่งใจจะรู้จักได้ นามธรรมคือตัวใจที่จะรู้จักสิ่งทั้งหลายได้ ดังนั้นจึงเกิดมีเป็น ๒ ฝ่าย รูปธรรมก็เป็นฝ่าย Objective นามธรรมก็เป็นฝ่าย Subjective แต่ละฝ่าย ๆ มีมากมายหลายเหลือที่จะกล่าวได้ว่ากี่อย่าง ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมะ
นี้การกระทบกันระหว่าง ๒ ฝ่าย คือจิตที่ไปรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ภายนอกนั้นเรียกว่าการกระทบกัน แม้ตัวกิริยาอาการที่กระทบเป็นความรู้สึกขึ้นมานี้ก็เรียกว่าธรรมะ หลังจากการกระทบระหว่างใจกับสิ่งต่าง ๆ ภายนอกนี้แล้ว ย่อมเกิดผลขึ้นมา มีผลขึ้นมาอย่างไรก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมะ
มีผลในทาง Mechanism เช่นว่าเกิดรัก เกิดโกรธ เกิดเกลียด เกิดอะไรขึ้นมานี้ ก็เป็น Mechanism ทางจิตใจ อันนี้ก็เรียกว่าธรรมะ หรือแม้จะมีผลเป็นสติปัญญาขึ้นมา ก็ยังคงเรียกว่าธรรมะ ดังนั้นสติปัญญาที่เกิดขึ้นแก่เราทุกวัน ๆ หรือ Experience ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่เราทุกวัน ๆ ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมะ แล้วค่อยมีผลก่อรูปเป็นสติปัญญามากขึ้นตามเวลาที่มันผ่านไป ๆ
นี้สติปัญญาที่เกิดขึ้นที่เป็นธรรมะนี้ มีผลให้เกิดการปฏิบัติหรือการกระทำชนิดที่จะเอาชนะ เอาชนะความทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดมีระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ในทางศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ได้ แม้เหล่านี้ก็ยังคงเรียกว่าธรรมะ นี้ผลที่เกิดขึ้นในครั้งสุดท้ายชั้นสุดท้าย เป็นมรรคผลหรือนิพพานก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็ยังคงเรียกว่าธรรมะ นั่นน่ะท่านจะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ สำหรับภาษาบาลีไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่ธรรมะ
นี้การรู้ธรรมะก็หมายความว่ารู้อะไร ก็คือรู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเราอาจจะรู้ทุกสิ่งหรือต้องรู้ทุกสิ่ง เราจะรู้เท่าที่จำเป็นหรือสมควรจะรู้ ที่ชี้ให้เห็นนี้เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ทุกสิ่งเรียกว่าธรรมะ เพราะว่าศัพท์บาลีคำนี้เป็นอย่างนี้เอง
ดังนั้นการ ตัววัตถุธรรมก็ดี พวกนามธรรมคือจิตใจก็ดี การกระทบระหว่างสองฝ่ายนี้ก็ดี ผลเกิดขึ้นเป็นความดีความชั่วหรือไม่ดีไม่ชั่วก็ดี กระทั่งสติปัญญาก็ดี ระบอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะสติปัญญานั้นก็ดี และมรรคผลนิพพานก็ดี เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น
นี้ทำให้เรานึกถึงคำที่พระสวด ที่เรียกว่าสวดอภิธรรมว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา แปลว่าสิ่งซึ่งเป็นฝ่ายดีทั้งหลาย สิ่งซึ่งเป็นฝ่ายไม่ดีทั้งหลาย และสิ่งซึ่งยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่าดีหรือไม่ดีทั้งหลาย เพียง ๓ คำนี้ก็หมดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมากไปกว่านี้ นี้คือคำว่าธรรมะ
ดังนั้นในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ ถ้าถูกถามว่าธรรมะคืออะไรแล้ว ก็อย่าได้เสียทีในการที่จะตอบให้ตรงตามหลักของพระพุทธศาสนา เพราะว่าเรากำลังพูดกันถึงหลักพระพุทธศาสนา นี้ธรรมะนี้โดยตัวพยัญชนะแท้ ๆ แปลว่าสิ่งซึ่งทรงตัวเองอยู่ จึงเกิดมีเป็น ๒ พวก คือว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งกับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็ทรงตัวเองอยู่ได้ในตัวการเปลี่ยนแปลง คือมีการตัวเปลี่ยน อ่า, มีตัวการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นตัวมันเอง จึงเรียกว่าธรรมะประเภทที่เปลี่ยนแปลง คือสังขารธรรมหรือสังขตธรรม และอีกพวกหนึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม พวกนี้ก็มีตัวไม่เปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นตัวมันเอง มัน ๆ ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง ก็เลยหมดกันไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีกแล้ว นี้คือความหมายของคำว่าธรรมะ
ทีนี้ขอให้ร่ายไปตามลำดับว่า ไอ้วัตถุธรรม วัตถุทั้งหลายก็คือธรรมะ จิตก็คือธรรมะ การกระทบความรู้อะไรต่าง ๆ ก็เป็นธรรมะ แล้วธรรมะส่วนไหนเล่าที่เป็นจริยธรรมที่เราต้องการ ดังนั้นเราจะต้องเล็งถึงสติปัญญาที่เกิดขึ้นเป็น Spiritual Experience ประจำวันของเรา ทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมาได้เองว่า เราจะต้องคิด ต้องทำ ต้องพูด อย่างไรความทุกข์จึงจะไม่เกิดขึ้น มันสอนได้ในตัวมันเองเป็นส่วนใหญ่ เช่นว่าไปจับไฟเข้าแล้วมันร้อน มันก็สอนให้เพื่อการไม่จับอีกต่อไป
เรื่องของความทุกข์ในทางจิตใจก็เหมือนกัน พระศาสดาเกิดขึ้นก็เพราะเป็นผู้ เกิดขึ้นได้นี้ก็เพราะเป็นผู้สังเกตในเรื่องนี้ ค้นคว้าในเรื่องนี้ หรือคลำไปในเรื่องนี้ ขออย่าได้ โปรดอย่าได้ถือว่าเป็นคำหยาบคายที่อาตมาจะกล่าวว่า อาจารย์ของพระพุทธเจ้าของเรานั้นชื่อนายคลำ เพราะว่าท่านไม่ยอมเชื่อใคร แต่ท่านจะพยายามคลำของท่านไปเองตลอดเวลา จนท่านพบสิ่งที่ท่านประสงค์จะพบ พวกเราเป็นลูกศิษย์ของท่านก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะท่านได้สั่งไว้อย่างนั้นว่า ความเชื่องมงายไปตามคำพูดของผู้อื่นทันทีนั้นใช้ไม่ได้
แม้แต่พระตถาคตผู้ตรัสเองก็ไม่ต้องเชื่อทันที จะต้องคลำด้วยสติปัญญาของตนจนเห็นว่า ที่พูดนั้นจริง คือที่พูดว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ นั้นเป็นความจริงแล้วจึงจะเชื่อ เช่นว่ารัก โลภะ อ่า, ละโลภะ โทสะ โมหะ เสียจะอยู่เย็นเป็นสุข อย่างนี้มันต้องมองจนเห็นเอง แล้วจึงปฏิบัติจนละโลภะ โทสะ โมหะ เสียดังนี้เป็นต้น
ทีนี้เราก็จะได้เห็นชัดขึ้นมาว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่จำเป็นจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ก็คงอยู่แต่พวกที่จะใช้ดับทุกข์เท่านั้น ที่ไม่เกี่ยวกับการดับทุกข์แล้ว ไม่จำเป็นแม้แต่จะต้องเรียน เพราะว่ากิจรีบด่วน ปัญหารีบด่วนมันอยู่ที่เรื่องดับทุกข์ ดังนั้นในวันหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าท่านเสด็จ กำลังเสด็จเดินทางอยู่กลางป่า ท่านก็ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง ชูขึ้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้กำมือเดียวนี้กับทั้งป่านี้อันไหนจะมากกว่ากัน
ใคร ๆ ก็ย่อมเห็นได้ว่า ใบไม้กำมือเดียวนี้มันน้อยกว่าที่จะเทียบกับใบไม้ทั้งป่า ก็ต้องทูลอย่างนั้นทั้งนั้น นี้ท่านก็เลยทรงย้ำเป็นการประกาศิตว่า สิ่งที่ฉันจะสอนแก่พวกเธอก็คือเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือเรื่องทุกข์ เรื่องมูลเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องสภาพแห่งความไม่มีทุกข์เลย และวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อให้ถึงสภาพอันนั้น ถ้าเปรียบเทียบกันกับธรรมะที่ได้ตรัสรู้ทั้งหมดแล้วจะเท่ากับใบไม้กำมือเดียว เพราะว่าวง ๆ ขอบวงแห่งการรู้ของสัพพัญญูนั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่นำมาสอนแก่เวไนยสัตว์นี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว
สิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมต้องรวมอยู่ในใบไม้กำมือเดียวนี้ ในธรรมะกำมือเดียวนี้ คือเป็นส่วนของการประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้เท่านั้น ดังนั้นเราไม่ต้องกลัว เราไม่ต้องท้อถอย ในการที่จะรู้ธรรมะให้เต็มตามที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์ เพราะว่ามันเท่ากับใบไม้กำมือเดียว นี้ถ้าเราไม่สามารถจัดกับเรื่อง ๆ กำมือเดียว ก็แปลว่าเราไร้ความสามารถ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราก็ต้องสารภาพว่าเราเป็นคนไม่มีสติปัญญาหรือโง่เง่ามากกว่าที่จะพูดว่าอย่างอื่น
ขอให้สนใจให้ตรงจุดของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ในส่วนที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งไปหมด แต่จะทุกสิ่งเฉพาะที่จำเป็น จะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ หรือจะต้องปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นมาเท่านั้น นี่คือขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม ที่เราจะต้องสนใจกันต่อไป
เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าศาสนากันแทนคำว่าธรรมะ นี้ก็ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า ในครั้งพุทธกาลนั้นไม่มีคำว่าศาสนาใช้เลย ไม่ใช่โวหารพูด ไม่ใช่คำพูดที่ใช้พูดอยู่ตามธรมดา เพิ่งจะมามีในสมัยนี้ ในสมัยพุทธกาลใช้คำว่าธรรมะทั้งนั้น เพราะธรรมะของพระสมณโคดม ธรรมะของนิครนถ์นาฏบุตร ธรรมะของสัญชัยเวลัฏฐบุตร ก็แปลว่าศาสนาของพระสมณโคดม ศาสนาของนิครนถ์ อย่างที่เราพูดกันเดี๋ยวนี้ ดังนั้นถ้าเดี๋ยวนี้เราพูดถึงคำว่าศาสนา ก็คือคำที่เขาพูดกันว่าธรรมะในครั้งพุทธกาล เราจึงควรถือเอาคำศาสนากับคำว่าธรรมะเป็นสิ่งเดียวกันได้ใน ๆ ๆ บัดนี้
นี้คำว่าธรรมะหรือศาสนาในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมีปัญหาขึ้นมามาก ไม่น้อยเลยเพราะว่าเวลาได้ล่วงมาตั้งสองพันกว่าปี ซึ่งท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เวลาได้ล่วงมาตั้งสองพันกว่าปี อะไรได้เกิดขึ้นบ้างในระหว่างสองพันกว่าปีนี้ มันคงจะมากทีเดียว
ดังนั้นเท่าที่อาตมาอยากจะขอร้องให้สนใจไว้ และจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะใช้มันให้ถูกต้อง นี่ก็คือหลักเกณฑ์ที่ว่า เราควรจะทราบไว้ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนานั้น อย่างน้อยที่สุดก็กล่าวได้ว่ามีอยู่สัก ๖ รูปหรือ ๖ แบบด้วยกัน แต่ใน ๖ รูปหรือ ๖ แบบนั้น ก็มีอยู่เพียงแบบหนึ่งเท่านั้นที่เราจะต้องสนใจ และขอถือโอกาสกล่าวเผื่อการบรรยายครั้งต่อ ๆ ไปด้วย
จึงได้กล่าวถึงพุทธศาสนาหรือธรรมะ ๖ รูปหรือ ๖ แบบนี้ ซึ่งจะต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานไว้ก่อน เราถึงเข้าใจเลยไปถึงว่า ไม่เพียงแต่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนา แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม หรือศิลปะ หรืออะไรก็ตาม ก็อยู่ในลักษณะที่จะต้องผันแปรไปในรูป ๖ รูปหรือ ๖ แบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นควรจะถือไว้เป็นหลักทั่วไปได้
ที่ว่า ๖ รูป ๖ แบบนี้ก็คือว่า แบบแรกที่สุดก็คือ Origin หมายถึงธรรมะหรือศาสนาชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านพูดตรัสเองสอนเอง เดินดำเนินไปมาตรัสสอนเอง ว่าอย่างไรเป็นอย่างไร นี้เราเรียกว่า Origin สำหรับ Origin นี้เมื่อล่วงมาถึงสองพันกว่าปีนี้ มันยากมากที่เราจะ Identify
อย่างว่าเราจะถือว่าพระ พระพุทธรูปองค์ไหนมีพระพักตร์คล้ายพระพุทธเจ้าที่สุด อย่างนี้เราไม่มีทางที่จะทราบได้ เพราะพระพุทธรูปตั้งมากมายนี้ล้วนแต่มีพระพักตร์ต่างกัน นี่ข้อนี้ฉันใด และยากที่จะ Identify ว่าคำไหนประโยคไหนเป็น Origin ดังนั้นเราต้องใช้สติปัญญามากสักหน่อย แต่ต้องถือว่า Origin นี้ก็มีอยู่จริง
ทีนี้ธรรมะหรือศาสนารูปต่อมาก็คือ Evolution ซึ่งจะต้องถือเป็นหลักว่า สิ่งที่เป็นวัตถุหรือเป็นนามธรรมก็ดี เมื่อเวลาล่วงไปย่อมมี Evolution หรือวิวัฒนาการนี้เข้ามาแทรกแซงทั้งนั้น ข้อนี้หมายถึงไม่ได้มีใครไปทำมัน แต่มันเป็นไปเอง การที่เราให้เวลา ๆ ล่วงไปนี้ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนาของพระพุทธเจ้าก็มีการเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์นั้นโดยไม่มีใครเจตนาจะให้เป็น นี้ก็ส่วนหนึ่ง มันจึงมีพระพุทธศาสนาหรือธรรมะขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปในตัวมันเอง
แล้วต่อมาก็มีอีกรูปหนึ่งเป็นรูปที่ ๓ คือ Development นี้หมายถึงมนุษย์เรานี่ มือของมนุษย์เรานี่ เข้าไปแตะต้อง คือไปแก้ไข ไปปรับปรุง ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นเราจึงมีบาลี มีอรรถกถา มีลัทธิอะไรแปลก ๆ ออกไป กระทั่งถึงเรามีคัมภีร์อภิธรรม เมื่อพ.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ อย่างนี้เป็นต้น หรือมีคำสอนที่ถูกปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะแก่กาลเทศะมากขึ้น เป็น Developed Buddhism ขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง
ทีนี้ที่ร้ายไปกว่านั้นก็มีอาการที่เรียกว่า Transition ระยะที่หัวเลี้ยวหัวต่อที่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสถานที่ ทำให้เกิดพุทธศาสนาแบบที่กำลังเปลี่ยนรูปไปจากเดิม ได้แก่การที่พุทธศาสนาเข้าไปในบางประเทศ หรือล่วงมาถึงยุคใดยุคหนึ่งซึ่งมีการต่อสู้กันระหว่างศาสนาเป็นต้น มันทนอยู่ไม่ได้ที่จะให้คงอยู่ในรูปเดิม จึงต้องเขียนคัมภีร์ขึ้นใหม่ ซึ่ง ๆ มองดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า ทิ้งหลักเดิมโดยปริยายใดปริยายหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด พระพุทธศาสนาหรือธรรมะในรูปนี้น่าอันตรายมาก
ทีนี้ยิ่งกว่านั้น เมื่อเวลาล่วงไปนานเข้าและพุทธศาสนาตกไปอยู่ในอิทธิพลของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าก็เกิด Influenced Buddhism ขึ้นมาอีก คือพุทธศาสนาที่ถูก Influence อย่างว่าระบบการศาสนาตกเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของเจ้าผู้ครองนคร เกิดมีภิกษุประเภท Royalist อะไรขึ้นมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแต่งตั้งให้เมื่อไรก็ได้ ถอดเสียเมื่อไรก็ได้ แล้วแต่ความชอบใจของพระเจ้าแผ่นดินหรือของผู้มีอำนาจในยุคนั้น ๆ
Influenced Buddhism นี้ยิ่งน่าอันตรายมากไปอีก นี้ตกมาถึงสมัยนี้แล้วอยากจะกล่าวว่า แม้แต่หม้อข้าวหม้อแกงของพวกทายกทายิกาก็มี Influence เหนือภิกษุสงฆ์ ซึ่งทำให้เกิดการผันแปรในหลักธรรมะ นี่ขอให้ระวังพุทธศาสนาแบบนี้
ทีนี้ก็มาถึงอันสุดท้ายคือว่า Application พุทธศาสนาอันไหนที่เป็น Application ที่จะใช้ได้กับชีวิตประจำวันโดยแท้จริงและบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ตามเดิม แล้วไล่มาตามลำดับ ๆ เราจะต้องค้นให้พบพุทธศาสนาที่ประยุกต์หรือ Apply แก่เราได้
นี่คือปัญหาที่ออกจะยากหรือลำบากสำหรับผู้ที่ไม่เคยสนใจมาก่อน เราจะกระโดดแป๊บเดียวไปถึง Origin ก็คงเหลือวิสัย ถ้าเราไล่มาตามลำดับ เราก็จะเจอะแต่ Evolution, Development, Transition, Influence เหล่านี้ทั้งนั้น แล้วเดี๋ยวนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ Applied Buddhism มา
นี่พระพุทธศาสนาหรือธรรมะของพุทธศาสนาย่อมมีอยู่ในรูป ๖ รูปอย่างที่กล่าวมานี้ ๖ ชนิดดังที่กล่าวมานี้ เราจะต้องสนใจที่จะแยกคัดออกมาให้ได้ให้ถูกต้อง ในส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกของท่านว่า กำมือเดียวให้พวกแก แต่ที่มากมายเท่ากับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงนั้นน่ะ มันก็คือทั้งหมด คือทั้ง ๖ แบบหรือว่าหรือยิ่งกว่า ๖ แบบ ดังนั้นเราจะต้องสนใจกันในส่วนนี้ ซึ่งจะได้กล่าวกันให้ละเอียดชัดเจนในวันหลัง เพราะวันนี้ได้กล่าวแล้วว่าเป็น Introduction ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น
ทีนี้พุทธศาสนาที่เราจะใช้ได้กับชีวิตประจำวันของเราจริง ๆ นี้มันยังมีปัญหาอีกมาก เพราะว่ามนุษย์เรานี้มันรู้มากยากนาน มันจู้จี้พิถีพิถันเกินไป จะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ ไอ้ความรู้ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ๆ นี้ล้วนแต่ไม่อยู่ในร่องในรอยว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เรากล่าวไปตามอำนาจของสติปัญญาที่แตกฉานไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องมันก็ยิ่งมากขึ้น หนักเข้าก็เป็นประเภทรู้กันมากมายแต่แล้วก็ทำความสงบหรือสันติภาพให้แก่โลกไม่ได้ เป็นเรื่องความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดอยู่ตลอดเวลา
นี้เราก็ควรจะกำหนดให้แน่นอนลงไปว่าเราจะเอาในรูปไหนกัน แม้พุทธศาสนาหรือธรรมะในส่วนที่จะใช้เป็นประโยชน์แก่เราได้จริง ๆ นี่ก็ยังมีหลายเหลี่ยม อาตมาใช้คำว่าหลายเหลี่ยม หรืออย่างน้อยเท่ากับ ๖ เหลี่ยมอีกเหมือนกัน ไอ้จำนวน ๕ หรือ ๖ นี้ไม่ใช่ว่าตายตัว แต่อาตมาจะนำมากล่าวเท่าที่จะเป็นเครื่องเปรียบเทียบคือเป็นตัวอย่าง
ธรรมะหรือศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนานั้นก็เหลี่ยมหนึ่งแล้ว ธรรมะในฐานะที่เป็นศาสนาหมายความว่าเพื่อประพฤติดับความชั่ว ที่กาย ที่วาจา ได้กันโดยตรงตามระเบียบปฏิบัติที่วางไว้อย่างชัดเจนนี่ ที่ว่าธรรมะในฐานะที่เป็นศาสนาหรือเป็น Religion คำว่า Religion นี้อย่าได้ไปถือเอาความหมายให้คลุมเครือจน ๆ ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี บางอย่างที่เถียงกันอยู่
ขอให้ถือเอาความหมายของคำว่า Religion นี้ว่า เป็นสิ่งที่จะขจัดความทุกข์ในด้านจิตด้านวิญญาณได้เท่านั้นก็พอแล้ว เราใช้คำว่าศาสนาเป็นภาษาไทย มันก็หมายแต่เพียงคำสั่งสอน ถ้าอย่างนี้มันไม่พอ เพราะมันไม่ใช่เพียงแต่คำสั่งสอน มันต้องเป็นการปฏิบัติแต่มีผลของการปฏิบัติด้วย แต่เราไปใช้คำว่า Religion ซึ่งมีรากศัพท์ว่าผูกพันหรืออะไรทำนองนี้ ก็ต้องถือเอาความหมายให้ถูก เช่นว่าผูกพันจิตวิญญาณไว้กับพระเป็นเจ้าหรือสภาพที่ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้มันก็ใช้ได้
แล้วความหมายของคำว่า Religion นั้นน่ะ ก็เอามาใช้กับคำว่าศาสนาได้ คือวิธีปฏิบัติที่จะผูกพันดวงจิตวิญญาณไว้กับสภาพที่ไม่เป็นทุกข์ หรือจะถือว่าคำนี้มีความหมายว่า ระเบียบปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระเป็นเจ้า มันก็ใช้ได้ว่าเราจะมีระเบียบปฏิบัติที่เข้าถึงความไม่ดับ อ่า, ความไม่มีทุกข์หรือความดับทุกข์ ให้ความหมายของคำว่าพระเป็นเจ้าเป็นสภาพที่ไม่มีทุกข์ มันก็ตรงกันได้ไม่ว่าภาษาไหน เราจะถือเอาคำว่าศาสนาในภาษาไทยเป็นหลักก็ให้มีความหมายอย่างนี้ว่า ธรรมะในฐานะที่เป็นศาสนานี้มีอยู่เหลี่ยมหนึ่ง
ที่นี้เหลี่ยมถัดไปก็คือธรรมะในฐานะที่เป็นปรัชญา ซึ่งชอบพูดกันนักและฝรั่งก็สนใจกันมากใน ๆ ๆ เหลี่ยมนี้ เหลี่ยมนี้เองเป็นเหลี่ยมที่นำไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุดของสติปัญญา เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าปรัชญาคืออะไรนั้น บรรดาท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามัน ๆ คล้ายๆ กับหลักปักเลนอยู่มาก ครั้นมีประโยชน์ก็เรียกว่าไม่แน่นแฟ้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยิ่งมีคนสนใจมากกว่าในเหลี่ยมที่เป็นศาสนาเสียอีก เพราะว่ามันสนุกดี มันสนุกมาก เป็นเหยื่ออย่างดีของปัญญาหรือบุคคลผู้มีปัญญา ดังนั้นคนจึงสนใจธรรมะในแง่ของปรัชญากันมากกว่าที่จะในแง่ของตัวศาสนา
นี้เหลี่ยมต่อ ๆ ไปอีกก็คือเหลี่ยมของวิทยาศาสตร์ พวกที่มีหัวหรือมีนิสัยสันดานเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็มองธรรมะได้ในเหลี่ยมของวิทยาศาสตร์ เพราะมันก็มีช่องทางที่จะให้มองเช่นนั้นได้เหมือนกัน ยิ่งธรรมะในพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้โดยกฎเกณฑ์ที่ตั้งอยู่ มันตั้งรากฐานอยู่บนเหตุผลแล้วมันทนต่อการพิสูจน์มาก แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่า Experiment กันก็ยังมีให้ได้แต่ต้องเป็นในทางด้านจิตใจ เพราะมีหลักเกณฑ์ที่เรา ที่ทำให้เราเห็นได้ว่า ธรรมะนี้มีความหมายตามแง่วิทยาศาสตร์ก็มีอยู่เป็นอันมาก
และถ้าเรายิ่งไปแยกความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์เป็นจิตวิทยา หรือเป็นตรรกวิทยา หรือเป็นคณิตศาสตร์ Mathematic เกี่ยวอย่างนี้เป็นต้นเข้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีทางที่จะเอาไปจับกันกับหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นเพียงแต่ในแง่ของวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ หลายแขนงอย่างนี้ พุทธศาสนาก็มีให้อย่างล้นเหลือ ทำให้นักศึกษาบางคนเมาเหมือนกับเมาเหล้า ในการจะใช้สติปัญญาค้นคว้าพุทธศาสนาในแง่ของตรรก หรือในแง่ของจิตวิทยา หรือแม้แต่ในแง่ของคณิตศาสตร์ มันเป็นเรื่องเครื่องน่ะ เป็นเรื่องของเครื่องเรืองปัญญาไปทั้งนั้น ไม่ดับทุกข์เลย
นี้เหลี่ยมที่ไกลออกไปอีกก็คือศิลปะ ธรรมะนี้ถ้า ๆ มี ๆ ๆ ถ้าคนเรามีจิตใจเป็นศิลปินแล้ว จะดูธรรมะเป็นศิลปะได้และจะหลงใหลได้มากเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไปเข้าใจตัวธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมะชนิดที่น่าอัศจรรย์ที่สุด ที่เปลี่ยนจิตใจของคนเราจากสภาพที่ไม่งดงามให้มาสู่สภาพที่งดงามนี้ มันจะจับอกจับใจที่สุด ถ้าเราครองชีวิตอยู่ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่ามีชีวิตอย่างศิลปะที่แท้จริง คือศิลปะแห่งการครองชีวิตชนิดที่เยาะเย้ยท้าทายต่อความทุกข์ความตายอะไรได้
เพราะคำว่าศิลปะมีความหมายกว้างขวาง ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมีส่วนหนึ่งซึ่งส่อแววของศิลปะ แต่เราสนใจได้ในฐานะที่เป็นศิลปะ จึงเกิดมีคำว่า Buddhist art of life ขึ้น ซึ่งเป็นที่สนใจของพวกฝรั่งยิ่งกว่าที่เราสนใจกันอยู่ในเมืองไทย การที่เขาไม่สนใจคำ ๆ บอกเล่าของพวกเราเมืองไทยก็ดูเหมือนจะว่า เพราะเราไม่มีหัวในการที่จะแสดงให้เขาเห็นศิลปะของชีวิตแบบนี้ ซึ่งพวกพุทธศาสนาอย่างเซนของญี่ปุ่นนั้นทำได้ดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นเหลี่ยมนี้ก็นับว่าเป็นเหลี่ยมที่ล่อใจอยู่มาก ทำให้ฝรั่งสนใจแต่เหลี่ยมนี้จนไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนาโดยเร็วก็ยังมี
นี้เหลี่ยมถัดไปก็อย่างว่าเป็นวรรณคดี ธรรมะนี้จะกล่าวกันในรูปตัวหนังสือ หรือเป็นเรื่องเสียง หรือแล้วแต่ความหมายก็ตาม มีลักษณะเป็นวรรณคดีคือมีความไพเราะ ยิ่งเราไปเอาพระไตรปิฎกเป็นตัวธรรมะด้วยแล้วล่ะก็ จะเป็นวรรณคดีที่ยากที่ใครจะมาตีให้แตกได้ คือเป็นวรรณ วรรณคดีที่ดึงดูดใจอย่างยิ่ง มันเสียอยู่แต่ว่าพวกเราไม่ค่อยรู้ภาษาบาลี ไม่รู้ภาษาบาลีถึงขนาดที่จะได้รับทางวรรณคดีจากพระไตรปิฎก
แต่อาตมากล้ายืนยันว่า ถ้าใครรู้ภาษาบาลีดีอย่างรู้ภาษาไทยแล้ว ลองไปอ่านพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี จะเมาวรรณคดีของพระไตรปิฎก ซึ่งมีทั้งร้อยแก้ว มีทั้งกาพย์กลอน และมีทั้งความลึกซึ้งในทางการแสดงความคิดให้ความหมาย เป็นความไพเราะมีลักษณะเป็นวรรณคดี
ถึงแม้ตัวธรรมะเองก็มีความไพเราะอย่างนั้น จนพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พรหมจรรย์นี้งามทั้งข้างต้น งามทั้งตรงกลาง งามทั้งเบื้องปลาย อย่างนี้เป็นต้น และทรงกำชับให้สอนพรหมจรรย์ประกาศพระศาสนานี้ให้งามทั้งข้างต้น ให้งามทั้งตรงกลาง ให้งามทั้งเบื้องปลาย อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นคนอาจจะหลงพระไตรปิฎกในฐานะที่เป็นวรรณคดีจนลืมปฏิบัติธรรมะก็ได้
นี้อาตมาจะยกตัวอย่างเหลี่ยมสุดท้ายว่า อย่างว่าเป็นเรื่องทางอนามัย นี่ดูมันออกจะไกลมากไปแล้ว แต่ก็ยังอยากจะยกให้เห็นว่า ธรรมะนี้ถ้ามองดูกันในแง่ของวิชาอนามัยหรือสุขวิทยาอนามัยก็ยังได้ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมะอยู่แล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าอนามัยนี้ขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทางกายและทางใจเพราะเป็นสิ่งที่เนื่องกัน
คนเราถ้าอนามัยทางจิตดีแล้ว อนามัยทางกายก็ดี การเกิด อ่า, ทางเกิดแห่งโรคทางกายนี้มีมูลมาจากโรคในทางจิต ธรรมะย่อมบำบัดอนามัย ย่อมบำบัดโรคในทางจิตเป็นส่วนใหญ่ และก็มีส่วนเนื่องมาถึงโรคในทางกาย หรือว่าแม้แต่เพียงว่าเราจะเป็นอยู่ให้คล้อยตามระเบียบวินัยทางศาสนาเท่านั้น ก็มีความสบายหรือผาสุกทางกายนี้เป็นอย่างยิ่งโดยไม่เกี่ยวกับจิตใจก็ได้ นี่แม้แต่จะมองกันดูในแง่สุขภาพวิทยาอนามัยนี้ก็ยังได้ นี่จึงเรียกว่ามีหลายเหลี่ยม
แล้วเหลี่ยมไหนเป็นเหลี่ยมที่ถูกต้องที่สุดหรือสำคัญที่สุด ก็ขอได้พิจารณาดู เพราะว่าถ้าเราจับเหลี่ยมผิด ก็คล้าย ๆ กับอุตริไปดื่มเหล้าหรือสูบฝิ่นหรือกัญชาเข้าเป็นแน่ คือติดแล้วก็ไม่มาสนใจในเหลี่ยมที่จะที่ควรจะสนใจ ดังนั้นใน ๖ เหลี่ยมนี้ควรจะถือว่า ในฐา อ่า, เหลี่ยมที่เรียกว่าศาสนานั้นล่ะคือเหลี่ยมที่ประสงค์ ธรรมะในฐานะที่เป็นศาสนานำธรรมะในฐานะที่เป็นปรัชญา ธรรมะในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมะในฐานะที่เป็นศิลปะ และธรรมะในฐานะที่เป็นวรรณคดี และธรรมะในฐานะที่เป็นสุขวิทยาอนามัย เป็นต้น
เหลี่ยม ๆ และแต่ละเหลี่ยมเหล่านี้ เหลี่ยมที่เรียกว่าศาสนานั้นเป็นเหลี่ยมที่ควรประสงค์อย่างยิ่ง แต่เราก็มักจะเห็นเป็นของครึคละไป คนที่ตื่นการศึกษาสมัยใหม่ เมาในความหมายของคำว่าปรัชญา วิทยาศาสตร์อย่างนี้ มักจะรู้สึกว่า เถียงว่าศาสนาหรือธรรมะนั้นเป็นของครึคละไป หันหลังให้ ที่จริงไม่ใช่เขาเป็นคนโง่ แต่เขาเป็นคนที่เผลอเพียงนิดเดียว จึงเกิดอาการที่หันหลังให้ขึ้นมาในตอนแรก แล้วมันจะทราบได้อย่างไร ก็มีอาการหันหลังให้เสียแล้ว
นี่มันจึงอยู่ที่ว่าเราทำผิดนิดเดียว ทำผิดเพียงนิดเดียว ผลก็เกิดเป็นความผิดมากมายไม่สิ้นสุดขึ้นมาได้ เพราะเราไม่รู้จักเลือกธรรมะในรูปที่ถูกต้องและในเหลี่ยมที่ถูกต้อง อย่างน้อยมันก็เกิดผลขึ้นมาว่า แหม, มันมากมายเหลือที่จะเข้าใจได้ หรือว่ามันไม่จำเป็นแก่เราเลย มันไม่จำเป็นแก่ใคร ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่ธรรมะนี้จำเป็นแก่ชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวช วัยไหนรุ่นไหนไปหมด
ซึ่งรวมความว่าความทุกข์ของมนุษย์เรานี้ต้องแก้ไขด้วยธรรมะ และสันติภาพถาวรของโลกนั้นต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยธรรมะ มีรากฐานอยู่บนธรรมะ ซึ่งเราจะใช้คำว่าศาสนา หรือใช้คำว่าพระเป็นเจ้า หรือใช้คำว่าอะไรก็สุดแท้ได้ทั้งนั้น แต่ความหมายมันอย่างเดียวกัน คือธรรมะชนิดที่ประพฤติปฏิบัติกันแล้วช่วยให้เกิดความสงบสุข แต่เมื่อเรามองเห็นสิ่งนี้ อ่า, มองไม่เห็นสิ่งนี้ หรือมองเห็นเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ก็ไม่มีการเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมะ และแม้จะมีการเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมะก็ย่อมเป็นไปอย่างผิดวิธีทั้งนั้น คือไม่เป็นไปตามลักษณะที่จะให้เข้าถึงธรรมะที่แท้จริงได้
ดังนั้นจึงขอวิงวอนว่า ในขั้นแรกนี้เราควรจะสนใจรูปและเหลี่ยมต่าง ๆ ของธรรมะนี้ให้ดี ขอได้โปรดถือว่าอาตมาพยายามที่จะ Introduce ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เข้าถึงจุดที่แท้จริงจุดหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในลักษณะกำมือเดียว ในบรรดาธรรมะทั้งหลายที่เท่ากับใบไม้ทั้งป่า ซึ่งเราจะได้วินิจฉัยกันวันหลัง ทีนี้เราจะอบรมธรรมะในส่วนที่เป็นจริยธรรมกันต่อไปนั้น เราควรจะมีความมุ่งหมายที่ถูกต้อง เพราะว่าธรรมะจะต้องเป็นของถูกเสมอไป ถ้ามันผิดหรือเกิดความรู้สึกว่าผิด ก็ต้องเข้าใจว่าเราเข้าใจธรรมะผิด
ธรรมะนั้นโดยหลักใหญ่ก็จะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือฝ่ายโลกิยะฝ่ายหนึ่งและฝ่ายโลกุตตระอีกฝ่ายหนึ่ง คำ ๒ คำนี้เคยถูกเหยียดหยามมากว่า เป็นคำที่ไม่มีในปทานุกรมและไม่ ๆ จำเป็นจะต้องมีในปทานุกรมของสมัยนี้ก็ได้ แต่จริง ๆ คำนี้ ๒ คำนี้เป็น ๆ คำที่มีความหมายชัดเจนและให้ความหมายที่รัดกุม คำว่าโลกิยะ ธรรมะประเภทโลกิยะนั้นเขาหมายถึงธรรมะประเภทที่จะทำให้บุคคลอยู่เป็นสุขตามวิสัยโลก ส่วนโลกุตตรธรรมนั้นหมายถึงธรรมะที่สูงขึ้นไป คือทำให้บุคคลสามารถจะมีความสุขชนิดที่เรียกว่าเหนือโลก
โลกียธรรมหรือวิสัยโลกนั้นเราจำกัดความกันง่าย ๆ ด้วยอุปมา เหมือนอย่างว่าถ้าเราจะจับปลา เราก็ไม่ควรจะถูกเงี่ยงปลาตำ ถ้าเราจะกินปลา เราก็ไม่ควรจะถูกก้างปลาติดคอ โลกนี้มันเหมือนกับปลาที่มีก้างอย่างยิ่ง โลกเรานี้มันเหมือนกับปลาที่มีก้างอย่างยิ่ง ถ้าเราจับไม่ดีมันจะตำเอาด้วยเงี่ยง และถ้าเรากินไม่ดีก้างมันจะติดคอ
นี้อาตมาหมายถึงการที่เราจะมีชีวิตอยู่ในโลก ในระยะที่เราศึกษาและประกอบอาชีพเพื่อให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งมานี้ เปรียบเหมือนกับจับปลามันมีแต่จะถูกเงี่ยงปลาอยู่เรื่อย ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เรียนหนังสือมาทีเดียว จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ประกอบอาชีพ ทีนี้เมื่อได้ผลมาเป็นทรัพย์สมบัติ เป็นลาภ ยศ ชื่อเสียง บริวาร อย่างนี้เรียกว่าเป็น ๆ ๆ ๆ ตัวปลามาแล้ว ถ้ากินไม่ดีมันยังติดคอและถึงแก่ความตายก็ได้ ดังนั้นข้อปฏิบัติเหล่าใดที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในโลก ชนิดที่จับปลาก็ไม่ถูกเงี่ยง กินปลาก็ไม่ถูกก้าง นี่แหละคือที่เราจะรวมเรียกว่าโลกียธรรม ธรรมะที่จะปฏิบัติไปตามวิสัยโลกเพื่อมีความสุขอย่างวิสัยโลก
ทีนี้ธรรมะอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าโลกุตตรธรรมนั้นเพื่อความสุขอย่างเหนือโลก นี้ถ้า ๆ เปรียบเทียบก็คล้ายกับว่าจะไม่ต้องกินปลาและจับปลาเสียเลย มันเป็นเรื่องที่สูงอย่างที่เรียกได้ว่าตรงกันข้ามก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีก็ยังอยู่ในวิสัยที่มนุษย์เข้าถึงได้ และเมื่อนั้นแหละเราจะได้รับความสุขอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นสุขส่วนตัวบุคคลไม่ใช่ความสุขส่วนสังคม
ดังนั้นเราควรจะรู้จักถือเอาประโยชน์ให้มากว่า ในส่วนปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ นั้น เมื่อจะถือเอาความสุขจากธรรมชาติให้ได้มากเท่าไรแล้วควรจะถือเอาให้ได้ ส่วนทางสังคมนั้นมันเนื่องกันเปะปะไปหมด มันก็ต้องลดลงมาเป็นธรรมดา คือเป็นความสุขอย่างโลก ๆ แต่ถ้าส่วนปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ แล้ว ธรรมชาติสร้างเรามาอย่างเหมาะสม ที่จะกระโดดออกไปไกลถึงกับว่าได้รับความสุขอย่างโลกุตตระก็ได้ นี้ก็เรียกว่าเราจะอยู่เหนือกระแสของโลก อยู่เหนือกรรม อยู่เหนือวัฏสงสารคืออยู่เหนือทุกข์ทั้งปวง
ดังนั้นเราจะสนใจคำว่า กรรม และวัฏสงสาร และทุกข์ กันบ้างพอเป็นเค้า ๆ เพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจในวันหลังต่อไปด้วยเหมือนกัน อาตมาขอถือโอกาสแทรกคำอธิบายตรงนี้เสียเลยว่า เรื่อง ๆ กรรมในพระพุทธศาสนานี้ มีเข้าใจผิดกันอยู่มากที่สุดแล้วก็อวดดีว่าเข้าใจถูก ข้อนี้เป็นการตู่พระพุทธเจ้าและตู่พุทธศาสนาอย่างยิ่ง คือเรื่องมันมีว่า เราเชื่อกันว่าพุทธศาสนาสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วเท่านี้เป็นพุทธศาสนา อย่างนี้ไม่ถูก
นี่ขอให้ฟังไว้ทีก่อนว่า อาตมายืนยันว่าไม่ถูกที่จะกล่าวอย่าง ไม่ ๆ เป็นการถูกต้องที่จะกล่าวเช่นนั้น พระพุทธเจ้าได้กล่าวอะไร ๆ มากกว่านั้น การกล่าวแต่เพียงว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วนี้ ศาสนาไหนก็กล่าว แม้จริยธรรมระบบไหนไม่ถึงขนาดที่เป็นศาสนาก็ยังมีหลักอย่างนั้น ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องกล่าวซ้ำกับคนอื่น ถ้าอย่างนั้นแล้วจะต้องมีพระพุทธเจ้าทำไม
กฎเรื่องกรรมกับพระพุทธเจ้านั้นมีไปถึงว่า เราทำอย่างไรจึงจะอยู่เหนือกรรม ข้อนี้อธิบายว่า ถ้าเราต้องเป็นไปตามกรรมชั่ว เหมือนกับให้ร้องไห้อยู่เรื่อยนี้มันก็ไม่ไหว แล้วถ้าเราจะต้องเป็นกรรมดี มี ๆ กรรมดี เป็นไปตามกรรมดี หัวเราะอยู่เรื่อยอย่างนี้มันก็ไม่ไหว มันกระหืดกระหอบอยู่ด้วยกันทั้งสอง ทั้งสองแบบ ไม่ว่าแบบที่เรียกว่า ดีหรือชั่ว บุญหรือบาปก็ตาม บาปก็กระหืดกระหอบไปตามแบบของบาป แต่บุญก็กระหืดกระหอบอย่างเร้นลับไปตามแบบของบุญ สู้อยู่เหนือนั้นไปเลยไม่ได้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนกรรมที่สาม คือกรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว ข้อนี้คือตัวศาสนา ตัวแท้ของพรหมจรรย์ที่เรียกว่าอริยมรรค ปฏิบัติแล้วเกิดมรรคผลนิพพาน ดังนั้นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานนั้นไม่ใช่กรรมดี แต่เป็นกรรมที่สาม คือกรรมที่อยู่เหนือดีเหนือชั่ว และเป็นกรรมที่จะทำความสิ้นสุดให้แก่กรรมดีกรรมชั่ว กรรมทั้ง กรรมสองกรรมคือกรรมดีกรรมชั่ว ส่วนกรรมที่สามนี้เป็นกรรมที่จะทำความสิ้นสุดให้แก่กรรมดีกรรมชั่ว คือเมื่อเราปฏิบัติในอริยมรรค เช่นมีจิตใจอยู่สูงเหนือที่จะยึดมั่นถือมั่นในความดีหรือความชั่วแล้ว จิตใจจะประสบสันติชนิดที่เรียกว่านิพพาน
นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนกรรมนี้และสอนอย่างนี้ ไม่ใช่สอนเพียงแต่ว่าใคร ๆ ก็พูดได้ว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว เท่านี้ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอะไรต่ำ ๆ เพียงเท่านั้น ท่านสอนสิ่งที่สูงสุดว่าเอาชนะกรรมได้ นี่คือข้อปฏิบัติที่เรียกว่าโลกุตตระ เป็นที่สิ้นสุดของกรรม มันไม่ต้องกินปลา มันไม่ต้องจับปลา แต่ที่เรียกว่าอยู่เหนือสังสารวัฏนั้นก็หมายความว่า ถ้าคนเราต้องเป็นไปตามกรรมแล้วนั่นแหละคือสังสารวัฏ สํสาร แปลว่า ไหล ไหลเวียน วฏฺฏ แปลว่า วงกลม สังสารวัฏ แปลว่า วงกลมแห่งการไหลเวียน
วงกลมแห่งการไหลเวียนก็คือ มีกิเลสเป็นความอยาก แล้วก็มีการทำกรรมตามความอยากนั้น แล้วก็มีผลกรรมเป็นวิบากเกิดขึ้นมา เราได้เสวยผลกรรมนั้นแล้วมันมีความอยากอย่างอื่นต่อไป จึงทำกรรมอย่างอื่นต่อไป แล้วรับผลกรรมอย่างอื่นต่อไป และอยากอย่างอื่นต่อไป แล้วทำกรรมอย่างอื่นต่อไป และรับผลกรรมอย่างอื่นต่อไป เป็นวงกลมที่คล้องกันไปเป็นห้วงๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ในวันหนึ่ง ๆ มันมีกี่วง ลองคิดดูเอง นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนาที่ครอบงำคนให้เป็นทุกข์
ถ้าอยู่เหนือวงเหล่านี้ได้เรียกว่าอยู่เหนือสังสารวัฏ มีจิตใจ สะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด นี่เมื่อเป็นอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเหนือทุกข์ เหนือความทุกข์จริง ๆ ไม่ใช่มี ๆ เงินใช้ มีอะไรแล้วจะ ๆ เหนือทุกข์ไปได้ มันยังมีทุกข์โดยส่วนตัวในทางจิตทางใจ โดยความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่าง ๆ นานานี้ ไม่เหนือทุกข์ไปได้ และแม้แต่จะอยู่เหนือกิเลส เหนือกรรม เหนือสังสารวัฏ ได้ทั้งนั้น ชีวิตประจำวันของเราจึงจะ สดใส เยือกเย็น สะอาด สว่าง สงบ เป็นแบบโลกุตตระไป
ดังนั้นอย่าได้เข้าใจว่าโลกุตตระอยู่ที่นอกฟ้าหิมพานต์ หรืออยู่ที่เหนือสุดเมฆ หรือเหนืออะไรต่าง ๆ แต่ต้องอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังมีจิตมีชีวิตหาย อ่า, เป็นอยู่ไม่ตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ไม่ใช่อาตมาว่าเอาเอง ทั้งโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมนี้ อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้
นี้เราก็แบ่งปันกันได้ว่า อย่างน้อยสังคมของเราก็จะต้องสมบูรณ์ในฝ่ายโลกียธรรม มีความประพฤติถูกต้องในเรื่องของสังคม ส่วนปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ นั้นนอกจากจะประพฤติถูกต้องในเรื่องทางสังคมหรือโลกียธรรมแล้ว ยังจะต้องถือเอาให้ได้ซึ่งประโยชน์ที่ควรจะได้ ที่ธรรมชาติกำหนดไว้ว่ามันเป็นสิ่งที่อาจจะได้ คือโลกุตตรธรรมหรือความสุขที่จะสูงยิ่งไปกว่าที่สังคมจะได้รับนั่นเอง จะทำให้เกิดเป็นสังคมของพระอริยเจ้าหรืออะไรขึ้นมาก็สุดแท้ เราอย่าไปเห็นเป็นของแปลก
แต่ว่าปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ นั้น ถ้าจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ที่เรียกกันทั่วไปในวงปรัชญาว่า Summum Bonum - The utmost goodness that man can get in this very life. นี่เขาให้คำบัญญัติของ Summum Bonum ไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงไอ้ความสุขหรือความสงบในทางสังคม ซึ่งมันไม่ ๆ ๆ สูงไปกี่มากน้อย แต่มันเป็นความสงบสุขในด้านจิตด้านวิญญาณของปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ ที่จะแผ่ถลาออกไปได้ไกลกว่าที่สังคมจะไปถึง
ถ้าเราได้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้ายังไม่ได้ล่ะก็เรายังเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ครึ่งหนึ่ง คือไม่ได้ในส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรมแต่ได้แต่ส่วนที่โลกียธรรม และถ้าในส่วนโลกียธรรมก็ยังไม่ได้เหมือนที่เป็นกันอยู่ในที่บางแห่งแล้ว ก็เรียกว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ คือทั้งสองครึ่งไม่ได้อะไรเลย
นี่การที่เราจะศึกษาอบรมพระพุทธศาสนา ก็โดยวัตถุมุ่งหมายที่จะให้ได้ประโยชน์ทั้งที่เป็นโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมอย่างนี้ และถ้าเรารวมเรียกเป็นคำ ๆ เดียวว่า ประโยชน์จากพระศาสนาหรือจากธรรมะ นี่คือแนวใหญ่ ๆ ทั่ว ๆ ไปที่เราจะสนใจพุทธศาสนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอะไร
ทีนี้สิ่งสุดท้ายที่จะขอให้แนวสังเขปไว้เป็นเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องที่เป็น เอ่อ, ที่ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า เรียกว่าตัวศาสนาหรือหัวใจของศาสนาคือเรื่องอริยสัจจ์ อริยสัจจ์ ๔ ทุกคนทราบดีแล้วว่าอริยสัจจ์ ๔ คือเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์สนิทไม่มีเหลือ แล้วก็เรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้น เป็น ๔ เรื่องด้วยกันเรียกว่าเรื่องอริยสัจจ์
นี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากที่จะกล่าวว่า นี่คือตัวศาสนาในลักษณะที่เป็นแกนเป็นรูปโครงที่แท้จริง เราจะต้องรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เราควรจะรู้ในลักษณะ ๔ อย่าง หรือถ้าจะถือว่าเป็น Factor ของ ๆ Logic ก็ ๆ ต้องว่า คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร และโดยวิธีใด เรารู้ความทุกข์เรารู้ว่าความทุกข์คืออะไร เรารู้กิเลสก็คือรู้ว่าความทุกข์นี้มาจากอะไร เรารู้พระนิพพานก็เรารู้ว่าความทุกข์นี้มันเพื่อดับทุกข์คือนิพพาน และเรารู้เรื่องปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ จากการอันนี้ก็รู้ว่าโดยวิธีอย่างนี้เราจะบรรลุพระนิพพาน
ดังนั้นถ้าท่านครูบาอาจารย์ผู้ใดอยากจะทราบว่า ตรรกในทางพระพุทธศาสนาที่จะถือเป็นหลักได้มีอย่างไรแล้วก็ ควรจะถือเอาเรื่องของอริยสัจจ์นี้เป็นเกณฑ์ แล้วมันง่าย ๆ ลุ่น ๆ เพราะมีอยู่เพียง ๔ หัวข้อ ก็คืออะไร และจากอะไร และเพื่ออะไร และโดยวิธีใด
จริยธรรมคืออะไร มันเพราะเหตุอะไรหรือจากอะไร แล้วก็เพื่ออะไร และก็โดยวิธีใด จริยธรรมของเราก็คือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อไม่เป็นทุกข์ มันเพราะเหตุอะไรหรือจากอะไร เพราะว่าเรา อ่า, โลกกำลังประสบปัญหาเรื่องความทุกข์ และเพื่ออะไร ก็เพื่อจะดับทุกข์เสีย และโดยวิธีใด ก็โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง ถูกต้องทั้งทุกประการแล้วก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนา
ดังนั้นในข้อสุดท้ายที่เรียกว่าโดยวิธีใดนั้น ท่านจึงมีเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่เคยชินแก่ครูบาอาจารย์อยู่ตามส่วนแล้ว และขอให้สนใจมากเป็นพิเศษ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นี่คือตัวพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์มันหมายถึงตัวศาสนา
ในพุทธกาลนั้นคำว่าพรหมจรรย์นั้นน่ะคือคำว่าศาสนา เพราะพรหมจรรย์ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงเขาสังวรในเรื่องพรหมจรรย์แล้วอย่างนี้เป็นพรหมจรรย์ พรหมจารี อย่างนี้ไม่ใช่ ตัวพรหมจรรย์คือมรรคมีองค์ ๘ นี่พระพุทธเจ้าท่านว่า แล้วการปฏิบัติตามนั้นน่ะคือพรหมจารี
มรรคมีองค์ ๘ นั้นคือความถูกต้อง ๘ ประการ ความถูกต้องในทางความคิดเห็นและความเชื่อนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องในความมุ่งหมาย คือส่วนที่เป็น Aim หรือ Ambition นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปโป ๒ อย่างนี้เรียกว่าเป็นเรื่องทางฝ่ายปัญญา เพราะว่ารู้จักคิด รู้จักเชื่อ และรู้จักมุ่งหมาย
ทีนี้ก็มีความถูกต้องทางการพูดจาและทางการกระทำทางกาย นี้เรียกว่าสัมมาวาจาและสัมมากัมมันโต ๒ ข้อนี้ก็เป็นศีล ถ้าอย่างนั้นมีต้อง อ่า, ความถูกต้องทางการเลี้ยงชีวิตอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า สัมมาอาชีโว พูดจาถูกต้องเรียกว่าสัมมาวาจา ประพฤติปฏิบัติถูกต้องเรียกว่าสัมมากัมมันโต เลี้ยงชีวิตถูกต้องเรียกว่าสัมมาอาชีโว ๓ ถูกต้องนี้จัดเป็นประเภทศีล คือประพฤติทางกายทางวาจาที่ถูกต้อง
นี้ถูกต้องอันที่ ๖ ก็คือความพากเพียรอยู่อย่างถูกต้องเรียกว่าสัมมาวายาโม แล้วก็มีระลึก มีการระลึกควบคุมตัวเองอยู่อย่างถูกต้องเสมอนี้เรียกว่าสัมมาสติ แล้วก็มีจิตที่มั่นคงอย่างถูกต้อง ตั้งอยู่อย่างมั่นคงอย่างถูกต้องนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ ๓ อย่างนี้คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่าประเภทสมาธิ
นี่ขอแนะอีกนิดหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับเป็นปัญญา แล้วเป็นศีล แล้วเป็นสมาธิ ท่านไม่ได้เรียงลำดับเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่เรานึกกันโดยมาก ดังนั้นพึงเข้าใจเสียเถิดว่า การที่เรียงลำดับการปฏิบัติเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นการเรียงในลักษณะที่เป็นทฤษฎี หรือทางฝ่ายทฤษฎี พอถึงฝ่ายปฏิบัติเข้าจริง ๆ นั้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้
จะต้องเอาปัญญามาไว้ข้างหน้าแล้วจึงศีลหรือสมาธิ เพราะว่าถ้าปัญญาไม่นำหน้าแล้ว ศีลสมาธิเป็นเข้ารกเข้าพงไปหมด เหมือนที่เราเห็น ๆ กันอยู่ ปัญญาต้องมาก่อน แล้วจึงมีศีล แล้วจึงมีสมาธิ ปัญญาจะจูงศีลจูงสมาธิ สมาธิ อ่า, ศีลและสมาธิมีกำลังเจริญขึ้นเท่าไรก็หล่อเลี้ยงปัญญายิ่งขึ้นไปเท่านั้น แล้วปัญญามันก็ยิ่งจูงศีลและสมาธิได้ดียิ่งขึ้นทุกที ดังนั้นจึงไม่เข้ารกเข้าพง ดังนั้นตามหลักของการปฏิบัติจะต้องเรียงว่า ปัญญา ศีล และสมาธิ ตามหลักทฤษฎีเราจะเรียงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตามใจ
นี้ขอให้สนใจว่า ใน ๘ องค์นี้ท่านวางไว้อย่างที่ท่านทรงท้าทายว่า ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าควรเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ดังนั้นขอให้สนใจ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม นี้ให้ดี ๆ เพื่อเอามาใช้เป็นประโยชน์ Apply กันให้ได้อย่างดีที่สุดกับจริยธรรมที่เรากำลังต้องการ
ที่อาตมาจะแนะต่อไปก็คือว่า ท่านลองสังเกตดูความหมายของคำว่า สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปโป นี้มันเป็นเรื่องปัญญาแท้ รู้จักคิด รู้จักเชื่อ รู้จักใฝ่ฝัน เพราะอันนี้มันก็ควรจะตรงกับคำว่าพุทธิศึกษา องค์มรรค ๒ องค์แรกนี้ดูให้ดีแล้วจะเห็นชัดว่าเป็นพุทธิศึกษา
ทีนี้ถัดไปก็คือสัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต ประพฤติกระทำถูกต้อง สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตถูกต้อง นี้มันตรงกับจริยศึกษาอย่างที่ไม่มีใครอาจจะค้านได้ นี้ถัดไปอีก แล้วถ้า ๆ เราจะแยกตรงนี้ก็ยังแยกได้ว่า สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตถูกต้องนี่ มันควรจะตรงกับสิ่งที่เราเพิ่มขึ้นใหม่ว่าหัตถศึกษา เพราะความหมายของคำว่าหัตถศึกษาต้องเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีวิตโดยตรง
นี้ที่เหลืออีก ๓ คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องทางสมาธิทั้งนั้น นี่คือพละศึกษา เพราะตามหลักของธรรมะถือว่า สติก็ดี ความเพียรก็ดี สมาธิก็ดี เป็นตัวกำลัง ปัญญาเหมือนความคม ส่วนสมาธินี้เป็นตัวกำลังหรือน้ำหนักที่จะให้ความคมนั้นทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นคำว่ากำลังของเรา ๆ มีคำว่าพละศึกษา ซึ่งเราอย่างน้อยก็ไม่ควรจะมุ่งหมายกำลังทางกายอย่างเดียว ควรจะหมายกำลังทางใจด้วย กำลังทางจิตด้วย
มันจะเป็นเรื่อง Fluke หรือ Coincident อะไรก็ตามเถิด อาตมานึกดูแล้วขำที่ว่า ถ้าเราจะดูอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ทำไมมันมาตรงกับคำว่า พุทธิศึกษา จริยศึกษา และพละศึกษา ถ้าเราเอาเพียง ๓ อย่างไม่มีหัตถศึกษา มันก็จะได้เป็นว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี้เป็นพุทธิศึกษา แล้วสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้เป็นจริยศึกษา แล้วก็สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นพละศึกษา แต่ถ้าจะมีหัตถศึกษาเพิ่มขึ้นมา ต้องไปใส่ให้ตรงที่สัมมาอาชีโว คือการเลี้ยงชีวิตถูกต้อง
เราจะพิสูจน์กันอย่างไรมันก็ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น ดังนั้นอยากจะถือเป็นแนวไปทีก่อนว่า เราเอา ๆ ตามแนวนี้ แล้วเราศึกษากันตามแนวนี้ แล้วศึกษาของเราก็จะเป็นตัวพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า เป็นตัวพรหมจรรย์ของพุทธศาสนาทีเดียว นี่คือ Introduction ทั่ว ๆ ไปที่ว่า เราจะปรับแนวจริยศึกษาของเราให้เข้ากับตัวพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
นี้เวลานิดหน่อยที่เหลือนี้ อาตมาอยากจะเล่านิทาน ๑ นาที คือ เรื่องน้ำชาล้นถ้วย ด้วยเหตุที่ว่าข้อนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งของพวกเรา นิทานนี้มีว่า ท่านอาจารย์ในทางธรรมจะเป็นนิกาย เอ่อ, เป็น ๆ นิกายเซน พุทธศาสนาอย่างนิกายเซน ชื่อน่ำอินในประเทศญี่ปุ่น แตกฉานในทางธรรมจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง สอนพุทธศาสนาอย่างสูงสุด คืออย่างที่เรียกว่านิกายเซนนั้นแหละอยู่เป็นประจำ
นี้ Professor เอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งชื่อเสียงกระฉ่อนทั้งบ้านทั้งเมืองเหมือนกัน ไปหาท่านอาจารย์น่ำอินเพื่อขอศึกษาพุทธศาสนาอย่างเซน ท่านอาจารย์น่ำอินก็ต้อนรับตามธรรมเนียม ในการต้อนรับก็ยกถ้วยน้ำชามาวางลง แล้วก็ยกกาน้ำชารินลงไปในถ้วย ท่านอาจารย์อินรินลงไป ๆ ๆ มันเต็ม มันล้น ท่านก็รินเรื่อย มันก็ล้นออกนอกถ้วยลงที่พื้น ท่านก็ยังรินเรื่อย
Professor ก็กลับกระสับกระส่ายว่า มันยังไงกัน ในที่สุดทนมันไม่ได้ก็บอกว่า มันเต็มแล้ว ท่านจะใส่มันลงไปได้อย่างไร ท่านอาจารย์น่ำอินก็ว่า ถึงท่านก็เหมือนกัน ท่านเต็มและล้นอยู่ด้วย Opinions และ Speculations ของท่านอยู่แล้ว ฉันจะใส่เต็มลงไปได้อย่างไร นี่เพียงเท่านี้เท่านั้นน่ะพอ พอไปตั้งครึ่งตั้งค่อนในการสอนเซนให้กับ Professor เพราะว่าพวกเราล้นอยู่ด้วย Opinions ของเราเอง และวิธีการคำนึงคำนวนแต่ ๆ ตามแบบของเราเอง ดังนั้นเราจึงรับพระพุทธศาสนาไม่ได้
อย่าได้ประมาทว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ มีความรู้ มีความคิด มีวิธีรู้วิธีคิด เล่าเรียนมาก แล้วเราจะพร้อมที่จะเข้าใจพุทธศาสนา เรามักจะอยู่ในสถานะที่เหมือนกับน้ำชาล้นถ้วย คือน้ำชาในถ้วยของน่ำอินนี้อยู่เรื่อยไป ดังนั้นอาจารย์น่ำอินจึงบอกว่า ให้เทน้ำชาในถ้วยให้มันว่างเสียก่อน แล้วมันจึงจะใส่อะไรลงไปได้
นี่ถึงแม้ว่าเราจะได้รับการบรรยาย การอบรม การชี้แจงที่มากมายเท่าไร แต่ถ้าถ้วยชาของท่านกำลังล้นอยู่แล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะรับอะไรลงไปอีกได้ มันก็จะยังคงล้นอยู่ด้วยความรู้ชนิดที่สับสนชนปลาย อ่า, จับต้นชนปลายไม่ค่อยจะถูกอยู่นั่นเอง และความรู้เหล่านั้นไม่เป็นไปในรูปของธรรมะแต่รูปใดและเหลี่ยมใด ดังนั้นจึงไม่พอที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจยกสถานะทางวิญญาณให้สูงได้ ทั้งของเราเองหรือของศิษย์หาเด็ก ๆ ของเรา
ดังนั้นต้องปรับปรุงทุกวิถีทางให้มีความรู้ความเข้าใจและให้ใส่ลงไปให้ได้ อย่าให้เป็นเรื่องอัดดันหรือล้นกันอยู่เสมอ และไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร นอกจากความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดของมนุษย์เราในโลก ไม่สามารถสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลกได้ด้วยเหตุนี้
ดังนั้นสรุปความว่า จริยธรรมของเราที่จะอบรมกันต่อไปนั้นน่ะ เท่ากับใบไม้กำมือเดียวไม่มากมายอะไร ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันได้ ทั้งในส่วนที่เป็นโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม แล้วเราไม่ต้องตั้งแนวอะไรขึ้นมาใหม่ ถ้าเอาของพระพุทธเจ้าเป็นเกณฑ์ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าเอาของพวกเราเป็นเกณฑ์ก็คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา พละศึกษา และหัตถศึกษา ดังที่กล่าวแล้ว และในที่สุดเราก็คงจะทำความเข้าใจกันได้ในเวลาอันสั้น
อาตมาของยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้