แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิปัสสนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษเนื่องด้วยวันมาฆปุณมีดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว ข้อสำคัญมีอยู่ที่ว่าในวันพิเศษเช่นวันนี้นี้เราทั้งหลายจะต้องกระทำในใจโดยแยบคาย คือระลึกนึกถึงอยู่ซึ่งความที่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประธาน ได้ประชุมกันในลักษณะที่เป็นพิเศษอย่างยิ่ง กล่าวคือทุกองค์เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแต่ทุกองค์เป็นภิกขุ เอหิ อุปสัมปทา คือได้บวชต่อสมเด็จพระบรมศาสดาโดยระเบียบเอหิภิกขุด้วยกันทั้งนั้นและทุกองค์มิมีใครบอกเล่าเชื้อเชิญได้มาสู่ที่ประชุมนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ราวกับว่านัดหมายกันไว้อย่างครบถ้วน และก็ผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันนั้นซึ่งเป็นวันเพ็ญมาฆปุณมีเหมือนวันนี้ อาการทั้งสี่นี้นับว่ายากที่จะมีครบพร้อมกันได้ทั้งสี่เช่นนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้กล่าวว่าจาตุรงคสันนิบาตเห็นปานนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้นมีแต่เพียงครั้งเดียว มิได้มีอีกเป็นครั้งที่สองที่สาม เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงลงไปในวันเช่นวันนี้นั้น ก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งพิเศษอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน และสิ่งนั้นก็ได้นามว่าโอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์นี้แปลว่า ธรรมะเป็นประธานแห่งพระพุทธวัจนะทั้งหมดทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ หมายความว่าบรรดาธรรมะทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น อาจจะสรุปย่อลงได้ในคำไม่กี่คำเท่าที่พระองค์ได้ทรงแสดงในวันนี้ซึ่งมีใจความสำคัญว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ ...(นาทีที่ 04.18-04.21) การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ขาวผ่อง เอตํ พุทธาน สาสนํฯ ทั้งสามอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ใจความสำคัญนี้ทุกคนควรจะกำหนดจดจำไว้เป็นอย่างดีโดยแม่นยำที่สุด ว่าสรุปแล้วก็คือไม่ทำบาปแต่ทำกุศลและทำจิตของตนให้ขาวผ่องครบสามอย่างด้วยกัน ทุกคนควรจะเข้าใจคือรู้จักพินิจพิจารณาให้เห็นชัดด้วยตนเองว่าทั้งสามอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน เป็นคนละอย่างละอย่างต่างๆ กัน ข้อแรกหรือเบื้องต้นที่สุดนั้นเป็นการบอกไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ได้แก่บาปหรือความชั่วทั้งปวง ที่สูงขึ้นไปเป็นข้อที่สองนั้นให้ทำสิ่งที่เป็นกุศล คือจะตัดเสียซึ่งบาปอันละเอียดยิ่งขึ้นไป และทำให้อยู่กันผาสุกกล่าวคือเป็นความดีความงามที่ทุกคนควรจะต้องสร้างต้องทำนับตั้งแต่การตั้งตัวได้ในโลกนี้ และเอาชนะโลกหน้าทั้งหลายได้ทุกๆ โลกส่วนข้อสุดท้ายซึ่งเป็นข้อที่สามนั้นมีระบุชัดว่าให้ทำจิตของตนให้ขาวผ่อง ข้อนี้เป็นธรรมะที่สูงที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป หมายความว่าแม้คนจะไม่ทำบาปหรือจะทำบุญอยู่อย่างเต็มที่แล้ว แต่จิตอาจจะยังไม่ขาวผ่องก็ได้ เพราะว่ายังมีความอยาก ยังมีความโกรธ ยังมีความหลงหรือแม้ที่สุดแต่ความกลัว หรือแม้ที่สุดแต่ความโศกเศร้าเสียใจ เพราะสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการ ความเศร้าหรือความกลัวเหล่านี้ทำให้จิตหม่นหมองไม่ขาวผ่องเช่นเดียวกับกิเลสอย่างอื่นด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเห็นได้ว่า แม้คนเราจะรวยทรัพย์หรือรวยบุญอย่างไร แต่ก็ยังมีความกลัวต่อความตายเป็นต้น หรือบางทีก็ยังต้องร้องไห้เพราะสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการ เพราะว่าแม้แต่บุญก็ยังรู้จักหมดจักสิ้น เพราะว่าแม้คนที่มีบุญก็ยังต้องเป็นทุกข์ร้อนไปตามแบบตามประสาของคนมีบุญ ขอให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ จนให้เห็นชัดว่า เพียงแต่มีบุญนั้นใจยังไม่ขาวผ่องก็ได้ เพราะยังกลัวนั่นกลัวนี่ เช่นกลัวว่าบุญจะหมดไป และมีบางสิ่งบางอย่างซึ่งยังต้องการอีกมากหรือต้องการบุญนั่นเองอีกมาก และเมื่อจะสิ้นบุญก็มีความดิ้นรนเร่าร้อน กระวนกระวายมาก หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีปัญหาเรื่องความเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่ครอบงำย่ำยีอยู่ทุกถ้วนหน้า คนมีบุญที่ยังไม่หมดกิเลสคือจิตยังไม่ขาวผ่องนั้นย่อมกลัว ย่อมร้องไห้ ย่อมกระวนกระวาย เพราะฉะนั้นแม้จะมีบุญอย่างไร ก็จะต้องรู้จักทำใจให้ขาวผ่องอีกชั้นหนึ่ง จึงได้จัดไว้เป็นข้อที่สาม เรียงลำดับกันดังที่กล่าวแล้วว่าไม่ทำความชั่ว แต่ทำความดีหรือบุญ แล้วก็ทำจิตให้ขาวผ่องดังนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่นับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาของตนแล้ว ควรจะจำหลักแห่งพระพุทธศาสนาข้อนี้ สามข้อนี้ไว้ให้ได้ เผื่อว่าถูกคนต่างศาสนาเขาถามก็จะได้ตอบถูก หรือว่าตนเองก็จะสามารถปฏิบัติของตนเองได้โดยไม่หลงใหล โดยไม่เข้าใจผิด ซึ่งทำให้ปฏิบัติไม่ครบไม่ถ้วนไม่บริสุทธิ์ไม่บริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความจดจำอย่างแม่นยำในสามข้อนี้ และมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าแต่ละอย่างๆ นั้นเป็นอย่างไร ข้อที่ว่าไม่ทำความชั่วนั้น ย่อมจะเป็นที่เข้าใจกันอยู่ทุกคน ว่าความชั่วนั้นคืออะไร ความลำบากมันอยู่ตรงที่ละไม่ค่อยจะได้ ดูเหมือนแต่ว่าสมัครรักความชั่วอยู่มากทีเดียวจึงละไม่ค่อยจะได้ สำหรับความดีหรือบุญกุศลนั้นก็เหมือนกันย่อมรู้กันอยู่ดีทุกคนว่าเป็นอย่างไร แต่ความยากลำบากนั้นอยู่ตรงที่ไม่ค่อยสนใจจะทำ มักจะเป็นผู้ประมาทเสียว่าไม่เป็นไรไว้ค่อยทำก็ได้ ไม่มีใครละโมบบุญเหมือนกับละโมบเงินทองเรื่องเงินเรื่องทองนั้น ละโมบโลภลาภกันไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะยุ่งยากลำบากเพราะเหตุนั้นก็ยังละโมบอยู่นั่นเอง แต่เรื่องบุญกุศลนี้หามีใครละโมบเหมือนเรื่องเงินเรื่องทองไม่ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่ามันยากลำบากอยู่ตรงที่ไม่ค่อยจะสนใจและมักจะถูกบอกกันว่าทำอะไรสักนิดนึงก็ได้บุญตั้งมากมายมหาศาลทีเดียว ข้อนี้มันเนื่องมาจากคนบางพวกหลอกคนบางพวกให้ทำบุญแก่พวกของตน ทำแล้วทำอีกจนเบื่อไม่อยากจะทำ จึงต้องล่อหลอกด้วยวิธีต่างๆ ให้ทำ บุญอย่างนี้จึงมักจะเป็นบุญชนิดที่ล่อหลอก ไม่เป็นบุญอย่างแท้จริง คือว่าคนทำไม่ได้มีสติปัญญาของตนเอง ให้เห็นชัดว่ามันจะเป็นบุญได้อย่างไร เพียงแต่เขาชวนก็ทำไปๆ หาได้คิดไม่ ถ้าเขามาเรี่ยรายแล้วก็เรียกว่าเป็นบุญทั้งนั้น ข้อนี้เนื่องมาจากไม่มีสัมมาทิฏฐิหรือสติปัญญาที่เพียงพอ บุญที่ทำจึงได้น้อยเกินไป ไม่มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองตามที่ควรจะได้รับทั้งส่วนตนเองและส่วนบุคคลอื่น ไม่สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เลือกเฟ้นเสียก่อนแล้วจึงทำ นี่หมายความว่าการที่จะทำบุญอะไรลงไปนั้น ให้คิด ให้ค้น ให้เลือก ให้เฟ้นให้ดีให้เห็นว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเและแก่บุคคลอื่นโดยแท้จริงแล้วจึงทำ ไม่ใช่ทำตามที่เขาชักชวนปาวๆไปดังนี้ โดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย นี้เรียกว่าการรู้จักทำบุญให้เป็นบุญ และให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ สำหรับเป็นเครื่องประคับประคองตน ให้ตั้งตนอยู่ในโลกนี้ได้โดยความเป็นผาสุกโดยแท้จริง จึงเป็นอันว่าสิ่งที่ไม่ควรทำจะต้องเว้นโดยเด็ดขาด สิ่งที่ควรทำจะต้องทำให้มากยิ่งขึ้นไป ทีนี้ก็มาถึงข้อที่สามที่ว่าในการจะเว้นไม่ทำสิ่งที่ควรทำก็ดี ในการที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่ควรทำก็ดี ควรจะมีจิตใจที่ขาวผ่องอยู่เสมอ คนที่เว้นจากสิ่งที่ควรอยู่ทำด้วยความกลัดกลุ้ม บางทีก็ต้องร้องไห้อย่างนี้เรียกว่ายังไม่ถูกต้อง ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเราจะเว้นความชั่วหรือจะทำความดีก็ตาม ต้องมีจิตใจที่ขาวผ่องคือรอบรู้อย่างแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงในสิ่งนั้นๆ และมีความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับยิ่งๆ ขึ้นทุกที เพราะแม้สิ่งเหล่านั้นที่เราทำลงไปนั้น จะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน ทำไปเพียงเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ความเป็นไปของอัตภาพนี้ เพื่อจะมีชีวิตอยู่สำหรับการศึกษาเล่าเรียนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ไม่มีอาการที่ต้องหัวเราะ ไม่มีอาการที่ต้องร้องไห้ ไม่มีอาการที่ขึ้นๆ ลงๆ ฟูๆ แฟบๆ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีจิตขาวผ่อง และเป็นอยู่ด้วยความเป็นปกติ เป็นอิสระไม่มีอะไรเบียดเบียน ไม่มีอะไรครอบงำจิตใจให้หม่นหมองได้แต่ประการใด เรียกว่าได้บรรลุถึงธรรมะที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้โดยแท้จริง คนที่มีจิตใจขาวผ่องถึงที่สุดจริงๆ นั้นไม่มีบุคคลใดนอกจากพระอรหันต์จำพวกเดียว แม้แต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี เป็นต้น ก็ยังไม่ได้มีจิตใจขาวผ่องถึงที่สุด แต่ว่ามีความขาวผ่องยิ่งขึ้นตามลำดับ และมีความถึงที่สุดเมื่อเป็นพระอรหันต์ ส่วนคนที่เป็นบุถุชนคนธรรมดาสามัญนั้น ไม่อาจจะมีความขาวผ่องมากไปกว่านั้น คือว่าขาวผ่องเป็นครั้งเป็นคราวแล้วก็กลับมืดมัวไปอีก และมืดมัวมากตามธรรมดาของคนที่เป็นคนบุถุชนซึ่งแปลว่าคนหนา คำว่า “บุถุชน” แปลว่าคนหนา เพราะเหตุว่ามีสิ่งซึ่งปกปิดปัญญาไว้หนาเกินไปจึงมองไม่เห็นอะไร เปรียบเหมือนกับว่าดวงตาที่มีฝ้าจับหนา ย่อมไม่เห็นอะไร หรือเห็นแต่สลัวๆ ลางๆ ไม่ชัดเจน คนธรรมดาสามัญที่เรียกว่าบุถุชนจึงไม่มีดวงตาแจ่มใสก็คือไม่มีจิตใจขาวผ่องนั่นเอง แม้ว่าบางครั้งบางคราวจะขาวผ่องบ้างก็เป็นส่วนน้อย ด้วยเหตุเช่นนี้แหละจึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่จะต้องคิดว่าเราเกิดมาเพื่อทำอะไรกันแน่ เกิดมาเพื่อหาเงินหาทองอย่างเดียวแล้วมีจิตใจเร่าร้อนกระวนกระวายเพราะการได้การมีเหล่านั้น อย่างนี้จะเป็นการเพียงพอแล้วหรือยัง และนึกว่า นึกต่อไปว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า จงทำจิตใจให้ขาวผ่อง ข้อนี้ก็เพราะว่าในขณะใดที่จิตใจไม่ขาวผ่อง ในขณะนั้นย่อมมีความทุกข์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือไม่อย่างหยาบก็อย่างละเอียด จิตใจไม่ขาวผ่องหมายความว่ามีอะไรมาห่อหุ้ม ปิดบัง กดทับ เผาลน เสียดแทงจิตใจ จิตใจจึงดิ้นรนกระวนกระวายไม่ขาวผ่อง เพราะฉะนั้นคำว่าจิตใจไม่ขาวผ่องก็คือมีความทุกข์ทางใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะเป็นคนรวย คนสวย คนแข็งแรง คนมีบุญมีวาสนาก็ตาม แต่เมื่อจิตใจไม่ขาวผ่องแล้วก็ยังมีความทุกข์เหมือนๆกันทั้งนั้น ก็ยังต้องร้องไห้ คับอกคับใจ หรือถึงกับฆ่าตัวเองตายได้ด้วยกันทั้งนั้น จึงนับว่ายังไม่ได้อะไรที่ดี ยังไม่ได้อะไรที่สูงหรือที่ประเสริฐพอสมควรกัน ยังเป็นสัตว์ธรรมดาสามัญเหมือนกับสัตว์ทั้งหลาย แม้จะเปรียบกับสัตว์เดรัจฉานก็คงไม่แตกต่างกันนัก เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ไม่ได้มีความทุกข์ร้อนอะไรมากมาย บางทีจะมีความทุกข์น้อยกว่าคนไปเสียอีก จึงไม่สู้จะได้เปรียบเสียเปรียบมากกว่ากันนัก คนเสียอีกถ้ายิ่งคิดผิด ก็ยิ่งจะมีความทุกข์มากกว่าสัตว์ สัตว์คิดไม่เป็นคิดไม่เก่ง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่อาจจะทุกข์หรือมีความทุกข์อย่างลึกซึ้งเหมือนกับคนซึ่งคิดเป็นคิดเก่ง เพราะฉะนั้นลองคิดดูให้ดีเถิดว่าคนที่สร้างคิดนั่นแหละมักจะมีความทุกข์มาก คิดจนถึงกระทั่งได้ฆ่าตัวตายเป็นที่สุด นี่คิดเก่งจนถึงกับว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการไปฆ่าตัวตายเสีย นี่เรียกว่าเป็นความคิดที่ประหลาดที่สุด เราไม่เคยเห็นสัตว์เดรัจฉานชนิดใดฆ่าตัวมันเองตายเลย นี่ต้องถือว่ามันยังเก่งกว่าคนเพราะว่ามันไม่ต้องฆ่าตัวเองตาย ส่วนคนนั้นมีอยู่บ่อยๆ ที่ไปฆ่าตัวเองตายเพราะคิดอะไรเก่งเกินไป แต่ว่าเก่งไปในทางที่ผิด ฉะนั้นจึงอย่าได้ประมาทว่าเกิดมาป็นคนแล้วจะต้องดีกว่าสัตว์เสมอไป ในบางปริยายนั้นคนยังสู้สัตว์ไม่ได้ก็ยังมี เพราะว่าคนมักจะประมาทอวดดียิ่งไปเสียกว่าสัตว์ เพราะฉะนั้นจึงต้องช่วยตักเตือนซึ่งกันและกัน ว่าอย่าได้เป็นผู้ประมาทเลย พระธรรมคำสอนในพระศาสนามีอยู่อย่างไรก็อย่าได้ประมาทเลย จงเอาไปคิด ไปนึก ไปพิจารณาดูให้ดีให้รอบคอบ นำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นั่นแหละจึงจะเรียกว่า สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาทำมาฆบูชากันอยู่ดังที่ทำกันในวันนี้ อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องคิดนึกว่าเราจะทำมาฆบูชาทำไม ทำไมจะต้องมากันถึงที่นี่ซึ่งเดินไกลหรือเหน็ดเหนื่อยลำบาก ข้อนี้จะต้องนึกดูจนกระทั่งเห็นแจ่มแจ้งว่าต้องทำอย่างนี้เพราะเหตุใด วันนี้เป็นวันที่ระลึกแด่พระอรหันต์ เราต้องการจะทำความเคารพแด่พระอรหันต์ให้มากเป็นพิเศษ เราจึงชวนกัน มากระทำเป็นพิเศษ เป็นพิเศษตรงที่ว่าอย่างน้อยก็ให้ตั้งอกตั้งใจทำ บางแห่งเขาไม่ตั้งอกตั้งใจทำ เราสู้ไม่ไหวก็ต้องหนีมา เพื่อให้ได้โอกาสอันสงัดสงบ ให้ได้สถานที่อันสงัดสงบ ซึ่งเป็นการง่ายแก่การที่จะทำให้ลึกซึ้งให้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งอกตั้งใจเสียสละทุกอย่างเพื่อทำด้วยความสงบสงัด ด้วยความตั้งอกตั้งใจจริง ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องรบกวนทั้งทางกายและทั้งทางใจ ให้สมกับที่ว่าพระอรหันต์นี้เป็นบุคคลประเสริฐสูงสุดจริงๆ เราจึงอุตส่าห์ทนลำบากมาบูชาท่านด้วยอาการที่ทำ เมื่อคิดได้ดังนี้จึงจะมีจิตใจขาวผ่อง แม้ว่าจะต้องเหนื่อย แม้ว่าจะต้องลำบาก แม้ว่าจะต้องอดหลับนอน ก็ยังมีจิตใจขาวผ่องอยู่ด้วยธรรมปีติคือความยินดีในทางธรรม นี่แหละเป็นอาการที่ทำมาฆบูชาอย่างตั้งอกตั้งใจ อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้สมกับที่ว่าปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียว และให้สมกับที่ว่าเป็นวันประเสริฐสุดเพราะเราอุทิศแด่พระอรหันต์ทั้งหลายที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ดังนั้นในวันเช่นวันนี้เราจะต้องน้อมระลึกถึงคุณของพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามาสู่จิตใจของเรา และให้แจ่มกระจ่างอยู่ในจิตใจของเราดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง เรื่องราวที่ประเสริฐที่สุดอันเกี่ยวกับพระอรหันต์นั้นไม่มีเรื่องใดยิ่งไปกว่าเรื่องความดับทุกข์หรือความไม่มีทุกข์ ท่านทั้งหลายจะต้องระลึกนึกให้ดีว่า คำว่า “อรหันต์” หรือ “อรหํ” นั้นมันหมายความว่าอย่างไร คำว่า “อรหํ” นั้นถ้าจะพูดเป็นไทยๆ แล้วก็ต้องแปลว่าเป็นมนุษย์สุดยอดทีเดียว เป็นมนุษย์ผู้เลิศประเสริฐที่สุดกว่ามนุษย์ทั้งหลาย จนได้นามว่าเป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้อย่างยิ่ง ไม่มีบุคคลประเภทใดจะเสมอเหมือน ข้อนั้นก็เพราะเหตุว่า พระอรหันต์เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง เมื่อหมดกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้วก็ย่อมหมายความว่าหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวงด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงได้กล่าวเปรียบเทียบหรือกล่าวอย่างอุปมาว่าพระอรหันต์นั้น คือบุคคลผู้หักกงล้อแห่งสังสารจักรเสียได้ สังสารจักรนั้นแปลว่า วงล้อของสังสารวัฏ หมายความว่าวงกลมที่หมุนไปไม่มีหยุด ในกระแสแห่งการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนเจ็บ เวียนตาย หรืออีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า เวียนอยู่ในวงเวียนของกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นได้รับผลกรรมแล้วก็หล่อเลี้ยงกิเลสไว้ให้ยังคงมีอยู่สำหรับเป็นเหตุให้ทำกรรมอีกต่อไป แล้วก็รับผลกรรมใช้กรรมหล่อเลี้ยงกิเลสไว้สำหรับกระทำกรรมอีกต่อไป อย่างนี้ก็เรียกว่าวงกลมเหมือนกัน คือเป็นวงกลมในส่วนที่เป็นต้นเหตุ เรียกว่ากิเลสกรรมและผลกรรม เมื่อต้องเป็นไปตามกรรมเช่นนี้ก็หมายความว่า จะต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ซึ่งเป็นวงกลมในส่วนที่เป็นผล เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรจะรู้จักสังสารวัฏหรือสังสารจักรนี้ไว้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่สัตว์ต้องหมุนไปตาม ด้วยอำนาจของเหตุคือกิเลส กรรม และวิบาก แล้วได้รับผลคือความเกิด ความแก่ความเจ็บ ความตาย ชนิดที่วนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเมื่อใดหยุดวงกลมนี้เสียได้ไม่ให้หมุน ราวกับว่าเราทำลายวงล้อให้แตกหักออกเสียแล้ว มันหมุนไปไม่ได้เพราะมันไม่กลมอีกต่อไป อาการอย่างนั้นแหละเปรียบเหมือนกับที่พระอรหันต์ท่านทำลายสังสารวัฏเสียได้ จึงได้นามว่าผู้หักสังสารจักรเสียได้ดังนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบ โดยที่แท้แล้วก็เพราะท่านหมดกิเลสและหมดความทุกข์นั่นเอง เดี๋ยวนี้เราจะต้องนึกต้องคิด ว่าทำไมเราจะต้องระลึกนึกถึงพระอรหันต์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งอื่นนั้นมีแต่จะทำให้จิตใจยุ่งยากลำบากมากขึ้น มีความทุกข์อันเกิดมาจากความกลัว ความโศกเศร้าต่างๆ นานานั้นมากขึ้น และอีกประการหนึ่งก็เพราะเนื่องจากว่าโลกในสมัยนี้นั้น มีอะไรที่ดึงบุคคลให้จมลงไปในกองทุกข์ยิ่งขึ้นทุกที จงพิจารณาดูเถิดว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ถ้าจะสมมติว่าเราจะลองนึกดูว่าเวลานี้ที่ตลาดนั่นเขาทำอะไรกันบ้าง ลองนึกดูสักแวบหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ที่ตลาดนั่นเขากำลังทำอะไรกันบ้าง ที่โรงหนัง ที่โรงละคร หรือที่ออกงานออกร้านอะไรต่างๆ นั้นเขาทำอะไรกันบ้าง หรือว่าจะนึกต่อไปถึงว่าที่บ้านดอน ที่กรุงเทพฯ ที่เมืองต่างๆ เมืองใหญ่เมืองโตนั้นเขากำลังทำอะไรกันบ้าง หรือจะลองนึกต่อไปว่าที่โลกทั้งหมดคือประเทศทั้งหลายในโลก ที่เขากำลังรบราฆ่าฟันกันด้วยวาจาบ้าง ด้วยเครื่องมือบ้าง ด้วยอาวุธบ้างนั้นเขากำลังทำอะไรกันบ้าง แล้วมาเปรียบเทียบกันดูกับพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่เวลานี้ ในความสงบสงัดจะมีจิตใจระลึกนึกถึงแต่พระอรหันต์อย่างเดียวเท่านั้น แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร เมื่อระลึกได้ในข้อนี้ก็ยิ่งทำให้พอใจในพระคุณของพระอรหันต์ทั้งหลายมากขึ้น ทั้งที่เราอาจจะนึกละเอียดลงไปถึงว่า แม้คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาเรียกตัวเองว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาอยู่แท้ๆ แต่เดี๋ยวนี้เขาอาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ระลึกนึกถึงพระอรหันต์อย่างแท้จริงก็ได้ อาจจะกำลังสรวญเสเฮฮาอยู่ด้วยการเวียนเทียนก็ได้ แต่ในจิตใจนั้นไม่สงบพอที่จะระลึกนึกถึงคุณของพระอรหันต์ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ถือเอาแต่อาการเพียงสักว่าเวียนเทียนแล้วจะเป็นการเพียงพอ เพราะว่าการเวียนเทียนนั้นเป็นแต่เพียงการแสดงความเคารพ ในทางร่างกายเท่านั้นเอง ในทางจิตใจนั้นจะต้องทำให้ดีเป็นพิเศษมากกว่านั้น เช่น กำลังฟัง กำลังนึก กำลังส่งใจไปตาม นี้ต่างหากจึงจะเรียกว่าเป็นการแสดงความเคารพด้วยใจที่สมบูรณ์จริงๆ ที่เราจะอดกลั้นอดทนนั่ง ฟัง และคิดนึก ด้วยความรู้สึกที่ละเอียดละออแยบคาย ให้จิตใจซึมซาบจริงๆ ในพระคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพและบูชาคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย และจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เราทั้งหลายจริงๆ นี้แหละจึงจะเรียกได้ว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์ โดยความหมายที่สำคัญตรงที่ว่าหมดกิเลสและหมดความทุกข์ จนเปรียบว่าท่านทุบตีพังทลายกงล้อของความทุกข์เสียได้ ไม่ให้มันหมุนไปได้อีกต่อไป มันหยุดลงโดยเด็ดขาดที่นี่และเดี๋ยวนี้ กล่าวคือไม่ใช่ต้องต่อเมื่อตายแล้วจึงจะหมดทุกข์ อย่างนั้นไม่ใช่ อย่างนั้นเป็นความโง่ความเขลามากมายทีเดียว จะต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้คือในชาตินี้ในชีวิตนี้ ที่เราจะต้องได้เห็นความดับทุกข์ของเรา หรือความเอาชนะความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ คือเอาชนะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายให้ได้ เช่นเดียวกับที่พระอรหันต์ท่านทำได้ ท่านต้องระลึกนึกดูให้ดีๆ ว่า คำพูดก็มีอยู่ว่าพระอรหันต์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอีกต่อไป นับตั้งแต่ที่ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ข้อนี้ไม่ใช่หมายความว่า ต่อเมื่อพระอรหันต์นิพพานแล้วจึงจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อย่างนั้นไม่ใช่ ต้องหมายความว่าเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วแม้ยังไม่ตายชีวิตยังอยู่ร่างกายยังมีอยู่นี่ ก็ต้องไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายแล้วด้วยเหมือนกัน เพราะคำว่า “นิพพาน” นั้นไม่ได้หมายแต่เพียงว่าร่างกายตายไปจึงจะเรียกว่านิพพาน ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่ก็เรียกว่านิพพานได้เหมือนกัน คือการบรรลุคุณธรรม ในชั้นที่เป็นนิพพาน นิพพานแปลว่าดับสนิท ดับสนิทแห่งอะไร ก็คือดับสนิทแห่งความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่ ถ้าความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่ก็หมายความว่าไม่ได้ดับ ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่นั่นแหละจึงจะเป็นการดับ หรือจะพูดให้ฟังง่ายที่สุดก็ว่าความรู้สึกว่าตัวกูความรู้สึกว่าของกูนี่ ถ้ามันยังมีอยู่แล้วก็เรียกว่ายังไม่นิพพาน คือยังไม่ดับ ถ้าความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูดับสนิทจริงๆ ก็เรียกว่านิพพาน แต่ร่างกายนั้นจะไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป แม้ว่าร่างกายนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอาการของความแก่ ความเจ็บ และความตาย ก็หาได้มีความทุกข์ไม่ เพราะว่าเดี๋ยวนี้จิตใจได้เปลี่ยนเป็นลักษณะอันอื่นไปเสียแล้ว คือเป็นจิตใจที่ไม่อาจจะรู้สึกว่าเป็นเราหรือเป็นของเราได้อีกต่อไป ไม่รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราหรือของเรา ไม่รู้สึกว่าจิตใจนี้เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นแก่ร่างกายหรือแก่จิตใจก็ตาม จิตใจจะไม่มีความรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นแก่เราหรือเกิดขึ้นเป็นของเรา เพราะฉะนั้นอาการที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น จึงไม่ได้เกิดขึ้นเป็นของเรา ไม่มีแก่เรา นี่เรียกว่าเราอยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คนทั้งหลายไม่มีสติปัญญาอย่างนี้ มีแต่ความรู้สึกไปตามธรรมชาติ พออะไรเกิดขึ้นนิดหนึ่งก็เรียกว่าเกิดขึ้นแก่เราเสมอ ทั้งในทางดีทั้งในทางชั่ว คือทั้งในทางที่ถูกใจและทั้งในทางไม่ถูกใจ เช่น ทำการทำงานได้เงินมาก็รู้สึกว่าได้แก่เรา หรือพอความเจ็บไข้ได้ป่วยมาก็รู้สึกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของเรา เพราะฉะนั้นมันจึงหัวเราะบ้าง จึงร้องไห้บ้าง คือดีใจบ้าง เสียใจบ้าง สลับกันไป นี่แหละคืออาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอย่างยิ่ง เพราะมันเจ็บที่ใจมันเจ็บที่ความรู้สึก มันแก่ชราที่ใจหรือแก่ชราที่ความรู้สึก แล้วมันก็ตายไปสำหรับเกิดใหม่ คือหมดความรู้สึกในเรื่องนี้แล้วก็ไปเอาความรู้สึกในเรื่องอื่นมาอีก มีเรื่องได้ๆ เสียๆ วันหนึ่งๆ นั้นไม่รู้สักกี่ครั้ง เมื่อละจากเรื่องนี้ไปสู่เรื่องอื่นก็เปรียบเหมือนกับว่า ตายแล้วไปเกิดใหม่ๆ อยู่เรื่อยไป ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัทให้ได้จริงๆ ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ คือความเข้าใจในข้อที่ว่าตายเกิดๆ วันหนึ่งๆ ไม่รู้สักกี่ครั้งกี่หนนั่นเอง ข้อนี้มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า ที่เรียกว่าความเกิดๆ นั้นมันหมายถึงความเกิดของความรู้สึกขึ้นมาว่าตัวกูเป็นตัวกู ตามธรรมดาความรู้สึกว่าตัวกูเป็นตัวกูนี้ไม่ค่อยจะเกิด แต่จะเกิดทุกคราวเมื่อได้อะไรเข้ามากระทบตน จะเป็นเรื่องที่ตนชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ถ้ายึดถือว่าเกิดขึ้นแก่ตนแล้ว มันก็มีความรู้สึกว่าตนได้เกิดขึ้นมาแล้ว เพื่อได้หรือเพื่อเสียเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น นั่นแหละคือการเกิดขึ้นแห่งตัวกู จะต้องเปรียบเทียบจะต้องพิจารณาดูให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป ว่าเหมือนกับเราอยู่ที่นี่นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ถ้าไม่มีความรู้สึกคิดนึกไปในทางที่เป็นตัวเป็นตนก็เรียกว่ายังว่างอยู่ คือจิตใจยังว่างอยู่ยังหาได้มีอะไรเกิดขึ้นมาไม่ แต่ถ้าความคิดนั้นน้อมนึกไปในทางที่มีอะไรเป็นของตน ตนได้อะไรตนเสียอะไรลงไปอย่างนี้ เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนได้เกิดขึ้นมาแล้ว มีตัวตนเป็นผู้อยาก มีตัวตนเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกว่ามีตัวตนได้เกิดขึ้นมาแล้ว พอตัวตนเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องเป็นห่วง เหมือนกับบ่วงคล้องไว้ทีเดียว คือคล้องอยู่กับสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของๆ ตนนั่นเอง เพราะฉะนั้นตัวตนกับของๆ ตนนั้นก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เมื่อใดมีผัสสะกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย แล้วเกิดเป็นความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่าเป็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว หลังจากเวทนา จิตใจก็มีความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ในเวทนานั้น ถ้าเวทนานั้นเป็นสิ่งที่ถูกใจก็อยากได้ อยากเอา อยากยึดครอง ถ้าเวทนานั้นไม่ถูกใจก็เกิดความเดือดร้อนรำคาญเกิดความโกรธความแค้น ซึ่งเรียกว่าอยากจะให้มันพ้นไปเสียหรืออยากตีมันให้ตายอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเรียกว่าเป็นความอยากเหมือนกันเพราะฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ภายหลังจากเวทนาแล้วต้องมีความอยาก นี้เป็นการกล่าวสำหรับคนทั่วไป คือคนที่ยังมีกิเลส เมื่อได้อะไรมาหรือมีอะไรมากระทบตนเป็นความรู้สึกขึ้นในใจแล้ว ก็ต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมดา ถูกใจก็อยากได้อยากเอาไม่ถูกใจก็อยากผลักออกไปหรืออยากตีให้ตาย หรืออยากให้มันพ้นหูพ้นตาไปเสีย ขึ้นชื่อว่าความอยากแล้วไม่ว่าอย่างไหนหมด ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว เราได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมาแล้ว อย่างนี้เรียกว่าอุปาทานเกิดมาจากความอยาก ท่านต้องคิดพินิจพิจารณาดูให้ดีๆ ในหัวใจของตัวเอง ว่าถ้ามีความอยากในสิ่งใดแล้ว มันต้องมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ในฐานะที่เป็นตัวเราบ้าง ในฐานะที่เป็นของของเราบ้าง นั่นแหละเรียกว่าอุปาทานคือความยึดถือ เพราะฉะนั้นเรื่องจึงได้กลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้จิตได้เกิดความยึดถือขึ้นมาแล้ว ยึดถือตัวตนบ้าง ยึดถือของตนบ้าง เมื่อตะกี้นี้จิตว่างจากความยึดถือ ไม่ได้ถืออะไรเอาไว้ ยังเป็นเหมือนกับบุคคลที่มีมือว่างเปล่าอยู่ ไม่ได้ยึดถืออะไรเอาไว้ แต่บัดนี้มากลายเป็นบุคคลที่มีมือไม่ว่างเสียแล้ว คือมีมือที่ได้ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไว้แล้วด้วยการหอบด้วยการหิ้ว หรือด้วยการแบกการทูนก็ตาม เพราะฉะนั้นลองเปรียบเทียบดูเถิดว่า ในขณะที่จิตใจยังว่างอยู่ยังไม่ได้แบกถือยึดถืออะไรนั้น มันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้จิตใจได้เกิดยึดมั่นถือมั่นอะไรเหมือนกับหอบหิ้วอะไรเข้าไว้แล้ว มันเป็นอย่างไร มันก็ต้องผิดกันมากๆ คือว่า มือที่หิ้วอะไรไว้นั้นมันก็ต้องเหนื่อยต้องหนัก มือที่ไม่ถืออะไรมันก็เบาสบาย จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ถืออะไรไว้มันก็เป็นจิตใจที่เบาสบาย ถ้าได้ยึดถืออะไรเข้าไว้มันก็เป็นจิตใจที่หนัก จิตใจที่หน่วงหนัก อันนี้เองเรียกว่าเป็นอาการของความทุกข์ คือต่อเมื่อยึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวเป็นตนเป็นของตนเท่านั้น จึงจะเป็นความทุกข์ขึ้นมา ความสำคัญในข้อนี้มีอยู่มาก จะต้องระมัดระวังให้ดีว่าความทุกข์นั้นมันได้แก่ตัวความยึดถือ ถือสิ่งซึ่งมีความยึดถือนั่นเป็นตัวทุกข์ ส่วนความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น เป็นเพียงอาการของความทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่มันอาจจะไม่เป็นทุกข์ก็ได้ถ้าไม่ยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือในความเกิดแล้วความเกิดก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือในความแก่แล้วความแก่ก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือในความเจ็บแล้วความเจ็บก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือในความตาย ความตายก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ที่พูดว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เป็นต้นนั้น มันไม่ได้ทุกข์อยู่ที่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่มันเป็นทุกข์อยู่ตรงที่ยึดมั่นถือมั่นในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คือไปยึดมั่นถือมั่นว่าความเกิดเป็นความเกิดของเรา ความแก่เป็นความแก่ของเรา ความตายเป็นความตายของเรา อย่างนี้เป็นต้น มันจึงได้เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่มีความยึดถือในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นแล้ว ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นก็หาได้เป็นความทุกข์ไม่ เพราะฉะนั้นแหละพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้ไม่ให้เราเข้าใจผิด คือได้ตรัสไว้ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ซึ่งแปลว่า เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วคือกล่าวโดยย่อแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นเป็นตัวทุกข์ หาใช่ที่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้นไม่ นั่นเป็นเพียงอาการของขันธ์ ถ้าไม่ยึดถือขันธ์หรือไม่ยึดถืออาการของขันธ์แล้วมันหาเป็นทุกข์ไม่ ท่านจึงตรัสว่าเบญจขันธ์ที่มีความยึดถือเท่านั้นจึงจะเป็นตัวทุกข์นี้ หมายความว่าถ้าเราไปยึดถืออะไรว่าเป็นเราเป็นของเราแล้วจะต้องเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของเราแล้วมันก็หาเป็นความทุกข์ไม่ จงมองดูให้เห็นชัดลงไปในข้อที่ว่า เบญจขันธ์คือร่างกายกับจิตใจของเรานี้ เรามีอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ ใครๆ ก็มีร่างกายมีจิตใจ แต่ว่าร่างกายและจิตใจนี้จะเป็นทุกข์หรือไม่ทุกข์นั่น มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเมื่อใดเกิดนึกขึ้นมาว่าร่างกายกับใจเป็นของเราแล้ว เมื่อนั้นก็มีความทุกข์ทันที ถ้าจิตอยู่ว่างๆ เฉยๆ ไม่รู้สึกยึดถือร่างกายและจิตใจว่าเป็นของเราแล้ว มันก็หามีความทุกข์ไม่ จงเข้าใจความข้อนี้ไว้ให้ดี มิฉะนั้นแล้วจะสับสนวนเวียน จะหลงไปหมดจนไม่รู้ว่าความทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน จนไม่รู้ว่าความทุกข์ที่แท้จริงนั้นมันอยู่ที่ไหนกัน คือค้นไม่พบว่าอะไรเป็นตัวแท้ตัวจริงของความทุกข์ เมื่อได้มองเห็นในข้อนี้โดยแท้จริงแล้วก็จะเห็นได้ว่ามันทุกข์อยู่ตรงที่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราจะมีอะไรก็มีได้ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ทั้งนั้น ร่างกายและจิตใจนี้ที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่เป็นประจำนี้ ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของเราแล้วมันก็หาเป็นทุกข์ไม่ แต่เมื่อใดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราเป็นของเราแล้วก็มีความทุกข์ตลอดเวลาทีเดียว นี่เรียกว่าเป็นของภายในคือร่างกายกับใจ ยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ ทีนี้มองดูไปยังของภายนอกบ้าง เช่น ทรัพย์สมบัติ เงินทอง วัวควาย ไร่นา นั่นก็เหมือนกันอีก ถ้าเมื่อใดเกิดความรู้สึกว่าเป็นของเราขึ้นมาแล้วเมื่อนั้นก็เป็นทุกข์ทันที กลัวมันจะหายบ้าง กลัวจะถูกขโมยบ้าง กลัวอย่างนั้นอย่างนี้ไปต่างๆ นานา เอามายึดมั่นถือมั่นไว้ในใจมันก็เป็นทุกข์ได้ทั้งนั้น เหมือนตัวเราอยู่ที่นี่เงินทองอยู่ที่บ้าน แต่ก็เอามาเป็นทุกข์ได้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง แต่ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นคือไม่มีความรู้สึกคิดนึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้ว แม้แขวนอยู่ที่คอมันก็หาเป็นทุกข์ไม่ เราจึงเห็นได้ว่าความทุกข์เกี่ยวกับเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัตินี้ มันเกิดขึ้นเพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราหรือว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ให้เป็นทุกข์แล้ว เราก็รู้จักทำจิตใจของเราให้ขาวผ่อง คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนั่นเอง จะหามันมาก็อย่ามีจิตใจยึดมั่นถือมั่น คือหาไปด้วยสติปัญญา อย่าไปหามันด้วยกิเลสตัณหาซึ่งเป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นการหาเงินหาทองก็ไม่เป็นทุกข์อะไร ถ้าหาด้วยจิตใจที่ขาวผ่องคือไม่ยึดมั่นถือมั่น และเมื่อได้เงินได้ทองมาแล้ว ก็ต้องได้มาด้วยจิตใจที่ขาวผ่องอย่างเดียวกันอีก คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นในการได้ ถ้ายึดมั่นถือมั่นในการได้เมื่อไรแล้วก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจสั่นระรัว นี้เรียกว่าเป็นคนโง่ ได้ไม่เป็น คือได้ชนิดที่เอามาทำให้ใจเป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นคนฉลาดแล้วมีจิตใจปกติมีสติปัญญาอยู่แล้ว การได้เงินได้ทองเหล่านั้นก็หาเป็นทุกข์ไม่ นี้เรียกว่าเป็นคนฉลาด ไม่ทำให้การได้อะไรมานั้นเป็นความกระวนกระวายใจแก่ตน ทีนี้การมีไว้หรือการเก็บรักษาก็เหมือนกัน จะมีเงินมีทองหรือเก็บรักษาเงินทองไว้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคนโง่แล้วก็ย่อมมีความทุกข์ มีความหวั่นไหว มีความวิตกกังวลเป็นทุกข์เปล่าๆ เมื่อโง่แล้วก็ไม่รู้จักเก็บให้ปลอดภัย เก็บยังไงๆ ก็มีคนลักคนขโมยหรือสูญเสียไปได้ เพราะความโง่ แต่ถ้าเป็นคนมีสติปัญญาจะเก็บรักษาก็ปลอดภัย และจิตใจก็ไม่เป็นห่วงและไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะการมีเงินมีทองหรือมีทรัพย์สมบัติอย่างอื่น เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าถ้าจะมีอะไรก็มีให้มันเป็น อย่ามีอย่างคนโง่มี มันย่อมมีความทุกข์เสียเปล่าๆ ท่านเล่านิทานสั้นๆ ไว้เรื่องหนึ่งว่า มีคนสีซอขอทานคนหนึ่ง แกสีซอขอทานเลี้ยงชีวิตอยู่เป็นประจำวัน ได้มาก็ใช้หมดไม่มีความทุกข์อะไร ค่ำลงก็นอนหลับสบาย ก่อนนอนก็สีซอเล่น แต่วันหนึ่งเกิดมีคนให้เงินมากตั้งร้อยบาท ได้มาแล้วไม่รู้จะเก็บอย่างไรก็เป็นทุกข์เป็นร้อน ยิ่งนึกก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ว่าจะเก็บมันอย่างไร ในที่สุดก็นอนไม่หลับ คืนนั้นก็ไม่ได้สีซอ คนที่อยู่ข้างบ้านเห็นผิดประหลาดจึงถามว่าเมื่อคืนทำไมไม่สีซอ คนนั้นก็บอกว่าเพราะเป็นห่วงเงิน ที่ได้มาเป็นพิเศษ คนนั้นก็เลยแนะว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาไปคืนเขาเสียสิ คนนั้นก็เลยเอาเงินไปคืน ค่ำลงก็นอนหลับและสีซอได้อย่างเดิม นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะมีอะไร มีให้เป็น ถ้ามีไม่เป็นแล้วมันก็เป็นเครื่องทรมานแก่บุคคลนั้นเอง คนเรามักจะมีความโง่ความหลงชนิดที่มองไม่เห็นอยู่บ่อยๆ ยากที่จะนึกเหมือนกับเส้นผมบังภูเขาก็ยังมี เหมือนกับที่เขาเล่านิทานไว้อีกเรื่องหนึ่งว่า คนฉลาดคนหนึ่ง ซึ่งใครๆ ก็ยกย่องเขาว่าเป็นคนฉลาดเล่าเรียนอะไรได้มาก มีปัญญามาก ถึงขนาดที่เกิดความรู้สึกว่าบ้านเรือนนี้เป็นความทุกข์ เขาจึงออกจากเรือนไป เป็นคนไม่มีเรือนเหมือนกับนักบวช แต่ว่ายังเอากระโหลกใส่น้ำไปกินใบหนึ่งด้วย จึงต้องหิ้วกระโหลกใบหนึ่งไป ว่าจะไม่มีอะไรทีเดียวก็ยังมีกระโหลกใบหนึ่งหิ้วไปสำหรับใส่น้ำกิน ทีนี้วันหนึ่งเขาเดินไปตามหนทาง เขาได้เห็นวัวตัวหนึ่งกินน้ำได้อยู่ที่ริมคูโดยไม่ต้องมีกระโหลก เขาจึงเกิดสติปัญญาขึ้นมาว่า ถึงแม้กระโหลกของเราก็ไม่จำเป็นเพราะว่าเราอาจจะวักน้ำด้วยมือกินได้ เขาก็เลยขว้างกระโหลกเสีย นี้เป็นเครื่องอธิบายว่า บางทีคนเราก็นึกไม่ได้แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น นายคนนี้มีปัญญามากจนเป็นนักปราชญ์แล้วก็ยังนึกไม่ได้ว่าเราไม่ต้องมีกระโหลกก็กินน้ำได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราจะได้เอาไปคิดไปนึกไปเปรียบเทียบดู เพราะบางทีเราก็มีความคิดวนเวียน ชนิดที่ว่าเป็นเส้นผมบังภูเขาอยู่บ่อยๆ สิ่งที่ควรจะคิดนึกได้ง่ายๆ มันก็หาคิดนึกได้ไม่ เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะเป็นบุคคลที่ไม่ประมาทในเรื่องนี้ให้เป็นอย่างมากทีเดียว คนโง่เท่านั้นที่เป็นคนประมาท ส่วนคนฉลาดนั้นจะไม่เป็นคนประมาทเลย เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวได้อย่างกลับกันทีเดียวว่า คนประมาทคือคนโง่ คนไม่ประมาทก็คือคนฉลาดนั่นเอง แต่แล้วเราก็ได้เห็นคนเป็นอันมากที่ยังโง่และยังประมาทอยู่นั่นเอง ข้อนี้ได้แก่ คนที่สะเพร่า มองไม่เห็นสิ่งที่ควรจะเห็นได้โดยง่ายๆ ข้อนี้ก็คือเรื่องที่เป็นวัตถุสิ่งของแท้ๆ ก็ยังมองไม่เห็น ว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยหรือได้ผลดี เรื่องเป็นวัตถุเป็นชิ้นเป็นอันเห็นได้ด้วยตาอย่างนี้เขายังมองไม่เห็นเสียแล้ว จะไปมองเรื่องที่ลึกลับเป็นเรื่องของธรรมะไม่มีตัวไม่มีตนได้อย่างไรกัน นี่แหละขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงได้สนใจในข้อนี้คือความไม่ประมาทในข้อนี้ด้วยกันทุกคนเถิด จะได้มีความก้าวหน้าในเรื่องทางจิตทางใจ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ว่าจะต้องปล่อยวางอย่างไรจึงจะเอาชนะความทุกข์ได้ นาทีที่ 57.17-57.22 เสียงขาดหาย มันแตกต่างกันสักกี่มากน้อย มันคงจะแตกต่างกันมากทีเดียว อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้แล้ว เราต้องไปนึกถึงเรื่องนั้นจริงๆ คือนึกให้เห็นว่ากลิ้งครกลงภูเขานั้นเราปล่อยก็กลิ้งลงมาเองได้ แต่จะให้กลิ้งครกขึ้นภูเขานั้นเราจะผลักจะดันอย่างไรมันก็จะตกอยู่เรื่อย เราจึงเหน็ดเหนื่อยมากลำบากมากปลุกปล้ำกันอยู่ที่ตรงนั้นเอง มันผิดกันมากอย่างนี้ ข้อนี้ก็เหมือนกันกับที่เราจะปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ ถ้าเราโง่ไปนิดเดียวมันก็จะยากลำบากเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่ถ้าเราฉลาดให้เพียงพอกันแล้ว มันก็จะสะดวกสบายเหมือนกับกลิ้งครกลงจากภูเขา แม้ที่สุดแต่เรื่องรักษาศีลนี้ก็เหมือนกัน ถ้าทำผิดวิธีแล้วมันไม่อาจจะรักษาได้ มันมีแต่ศีลที่ขาดแล้วขาดเล่าอยู่นั่นเอง แต่ถ้าทำถูกวิธีด้วยสติปัญญาแล้วมันก็มีศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นที่พอใจของตนทีเดียว ข้อนี้ได้แก่การที่มีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะ และมีสัมมาทิฏฐิ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่เพียงพอกันนั่นเอง ศีลมันอยู่ได้เพราะความรู้หรือสติปัญญา ที่จะอยู่ได้ด้วยการบังคับนั้นมันเป็นการปลุกปล้ำเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา ถ้าใครจะคิดว่าเราจะรักษาศีลให้ได้ด้วยการบังคับเอาๆๆ มันก็เป็นเรื่องกลิ้งครกขึ้นภูเขา มันก็ขาดแล้วขาดเล่าอยู่นั่นเอง แต่ถ้าจะใช้วิธีของบัณฑิตนักปราชญ์ เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้นแล้ว ต้องเอาสติปัญญามาก่อนมาคิดมานึกพิจารณาดูให้ดี ว่าศีลนี้มันขาดไปเพราะอะไร ในที่สุดก็จะพบว่าศีลนี้มันขาดไปเพราะความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวกูในเรื่องของกูนี่เอง มันจึงหันไปเล่นงานความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนี้เสียก่อน ให้ความยึดมั่นตัวกูของกูนี้บรรเทาลงเสียก่อน แล้วศีลมันก็ตั้งขึ้นมาเอง งอกงามขึ้นมาเอง เพราะเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูเรื่องของกูแล้ว มันไม่มีหนทางที่จะไปฆ่าเขา ไปลักเขา ไปประพฤติผิดในกามต่อเขา หรือจะไปโกหกหลอกลวงเอาของของผู้อื่นมา หรือว่าไม่โง่ไปถึงกับไปเที่ยวดื่มน้ำเมาให้กลายเป็นคนบ้า ไปทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นคนดีอยู่แล้ว มันโง่มากถึงขนาดที่ว่าเป็นคนดีมีใจคอปกติอยู่แล้ว ก็ไปดื่มไปกินน้ำที่ทำให้กลายเป็นคนบ้า อย่างนี้มันจะดีอย่างไรจะดีที่ตรงไหนนั่นแหละคือความโง่ของคนที่ไม่รู้จักเท่าทันกิเลสตัณหาที่เรียกว่าตัวกูหรือของกู มันจึงไปบำรุงบำเรอกิเลสตัณหาที่เรียกว่าตัวกูของกูนั้นด้วยน้ำเมา ให้มันสมแก่ความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกูของกู เราจึงเห็นได้ว่าถ้ามีปัญญาในข้อนี้คือข้อที่ทำลายตัวกูของกูให้ได้แล้ว การรักษาศีลก็ง่ายดายเหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา ก็จะเป็นศีลที่บริสุทธิ์บริบูรณ์งอกงามอยู่ได้ในตัวมันเองดังนี้เป็นต้น นี้เรียกว่ามันมีศีลเพราะอำนาจของปัญญา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการไว้ ในลักษณะที่เอาปัญญามาก่อน ไม่ใช่เอาศีลมาก่อน แต่ให้เอาปัญญามาก่อน คือได้ตรัสถึงสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เสียก่อนเป็นเรื่องของปัญญา แล้วจึงตรัสเรื่องสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม ซึ่งเป็นเรื่องของศีล อย่างนี้แหละมันง่ายดีเหมือนกับการกลิ้งครกลงจากภูเขา เพราะว่าถ้าปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิมาก่อนแล้ว อะไรๆ มันก็สะดวกสบายไปหมดไม่มีข้อขัดข้องเลย ไอ้ข้อที่จะเอาศีลมาก่อนทั้งยังงมงายไม่รู้เหนือรู้ใต้ไม่มีปัญญาเลยนั่นแหละ มันไปไม่รอด มันติดเปะปะไปหมด มันเป็นเรื่องรักษาศีลตามเขาว่า หรือเป็นเรื่องรักษาศีลอย่างนกแก้วนกขุนทอง เพราะว่าปาณาติปาตาเวรมณีได้ก็แล้วกัน มันร้องอย่างนั้นได้ก็จริงแต่ศีลจริงๆ มันหามีได้ไม่ เพราะมันบังคับตัวกูบังคับของกูไว้ไม่ได้ มันเห็นแก่ตัวกูเห็นแก่ของกูมันก็ตะกละตะกลาม ไปทำทุกอย่างที่เป็นการขาดศีล แม้จะมีศีลอยู่ได้ก็ชั่วขณะชั่วครู่ชั่วยามแล้วมันก็ขาดแล้วขาดอีก เหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขามันก็กลิ้งลงมาอีก ผลักขึ้นไปอีกมันก็กลิ้งลงมาอีก ผลักขึ้นไปอีกมันก็กลิ้งลงมาอีกอย่างนี้อยู่เรื่อยไป มันยากลำบากตรงที่ไม่เอาปัญญานำหน้านี่เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้เป็นหลักที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องจดจำและเข้าใจ คือข้อที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง (นาทีที่ 01.03.48) สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง ซึ่งแปลว่าล่วงพ้นความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ก็เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิในข้อนี้ก็คือปัญญานั่นเอง แม้จะเรียกว่าสัมมาทิฏฐิก็คือปัญญานั่นเอง แม้จะเรียกเป็นชื่ออย่างอื่นว่าญาณ ว่าญาณทัศนะเป็นต้น ก็ตามมันก็คือปัญญานั่นเอง คือความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงนั่นเอง เรียกว่าปัญญา ถ้ามีปัญญารู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว จะล่วงพ้นจากความทุกข์ได้จริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราทั้งหลายมีความทุกข์ก็เพราะไม่รู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร หรือไม่รู้ว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร คือไม่รู้ต้นเหตุของความทุกข์นั่นเอง นี้เรียกว่าไม่มีปัญญาในเรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ยังไม่รู้ต่อไปว่าความดับทุกข์สิ้นเชิงนั้นมันมีลักษณะอย่างไร แต่ทั้งไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ความดับทุกข์นั้นมา นี้เรียกว่าไม่มีปัญญาในเรื่องของความดับทุกข์ ในเรื่องความทุกข์ก็ไม่มีปัญญาในเรื่องความดับทุกข์ก็ไม่มีปัญญา แล้วจะไม่ให้มันทุกข์นั้นมันช่วยไม่ได้มันก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่จะล่วงความทุกข์ก็ต้องล่วงด้วยปัญญาเสมอไป ปัญญานั่นเป็นเหตุให้มีความเพียรมีความอดกลั้นอดทน ทำทุกสิ่งให้สำเร็จ เช่น รักษาศีลก็สำเร็จ ทำสมาธิก็สำเร็จ เพราะอำนาจของปัญญานั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าปัญญานี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด กว่าธรรมะข้ออื่นข้อใดทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยกัน จนกล่าวว่า ปัญญายะ ปริสุชติ (นาทีที่ 01.05.54) คือบุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญาดังนี้ หาได้กล่าวว่าบริสุทธิ์ได้เพราะสิ่งอื่นไม่ แต่กล่าวว่าบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญา คือล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ก็เพราะปัญญานั่นเอง จึงควรถือเอาปัญญาเป็นหลักใหญ่ พยายามสร้างสมพอกพูนขึ้นมาให้ได้ตามที่ท่านเตือนไว้ว่า จงพอกพูนทางของปัญญา หนทางใดจะเป็นทางเกิดขึ้นของปัญญาแล้วจงพอกพูนหนทางนั้น ซึ่งท่านได้จำแนกไว้ว่า การฟัง การคิด การถาม และการจำ ๔ อย่างนี้เป็นหนทางของปัญญา ถ้าพ้นจากการฟัง การคิด การถาม และการจำเสียแล้ว จะเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญาได้อย่างไรกัน เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะพอกพูนทางของปัญญาควรจะมีการฟัง การคิด การถาม การจำ ข้อนี้เขาเอามาใส่ไว้เป็นเครื่องเตือนใจเด็กนักเรียนเรียกสั้นๆ ว่าสุ จิ ปุ ลิ สุก็มาจากคำว่า “ฟัง” จิก็มาจากคำว่า “คิด” ปุก็มาจากคำว่า “ถาม” ลิก็มาจากคำว่า “จดหรือจำ” มันจึงต้องมีการฟัง การถาม การคิด และการจำ ฟังนี้ก็หมายถึงอ่านด้วยก็ได้ ต้องขยันอ่านขยันฟังเป็นข้อที่หนึ่ง แล้วก็ต้องขยันคิดเพียงแต่อ่านเฉยๆ ฟังเฉยๆ ไม่คิดนั้นไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วไม่เท่าไรก็ลืม จะฟังเท่าไรจะอ่านเท่าไรไม่เท่าไหร่ก็ลืม แต่ถ้ามาคิดให้เข้าใจแล้วมันลืมยาก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้เข้าใจแจ่มแจ้งแตกฉานกว้างขวางออกไป นี้เรียกว่าต้องคิด ถัดไปต้องถาม หมายความว่าบางอย่างถ้าคิดไม่ไหวจริงๆ แล้วก็ต้องถามคนที่รู้ให้เขาบอกให้ อย่าได้มีความกระดากอายในข้อนี้เลย ควรถามในโอกาสที่ควรจะถาม และเมื่อทั้งฟัง ทั้งคิด และทั้งถามเสร็จแล้ว ต้องขยันเก็บไว้ในใจซึ่งเรียกว่าความจำ ไม่ใช่เขียนไว้ในสมุดในกระดาษแล้วก็เลิกกัน มันต้องเขียนไว้ในใจคือจำให้ได้ รวมกันเป็นฟัง คิด ถาม และจำ ๔ อย่างนี้เรียกว่าเป็นหนทางของปัญญา แม้จะเกิดมาเป็นคนชาวไร่ชาวนาโง่เขลาอย่างไร ถ้าได้อาศัยการพอกพูกหนทางแห่งปัญญาคือการฟัง การคิด การถาม และการจำแล้ว ไม่นานเลยจะเป็นผู้มีปัญญารู้จักบำเพ็ญประโยชน์ตนให้สำเร็จบริบูรณ์ได้โดยง่ายดาย เหมือนกับการกลิ้งครกลงจากภูเขาฉันใดก็ฉันนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะที่สูงขึ้นไปก็จะสามารถเข้าใจได้ จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมที่ทำให้จิตใจขาวผ่องไม่มีความทุกข์ได้นี้ เรียกว่าอาศัยอำนาจของปัญญาที่เราได้พอกพูนขึ้นมาตามหนทางของมัน คือการฟัง การคิด การถาม และการจำ ดังที่กล่าวแล้ว แต่สังเกตดูเถิดว่าตามที่ปรากฎอยู่จริงนั้น ไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะฟัง ไม่ค่อยมีคนสนใจที่จะคิดจะถามและจะจำ มีแต่ทำอะไรเพ้อๆ แป่วๆ เปล่าๆ ไป ตามธรรมเนียมตามพิธีวันหนึ่งๆ เท่านั้นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วกี่เดือนกี่ปีมันก็ไม่มีปัญญาขึ้นมาได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วจะไปโทษใคร จะไปโทษใครมันก็ล้วนแต่น่าหัวเราะทั้งนั้น คือมันไม่โทษตัวเองที่เป็นคนประมาท ไม่รู้จักพอกพูนทางของปัญญา แม้จะฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักถาม ไม่รู้จักจำ จะฟังเทศน์ก็ฟังพอเป็นพิธีๆ ความคิดจึงไม่เกิด จึงไม่มีโอกาสที่จะถามแล้วมันก็ไม่รู้ว่าจะจำอะไร มันเป็นคนมือเปล่า มีอะไรเปล่าอยู่ตลอดเวลาดังนี้ มีอยู่ก็แต่พิธี คือทำพอเป็นพิธีๆ เท่านั้นเอง มันก็รวยไปด้วยลม ในมือก็มีลม ในหีบในห่อก็มีลม ในยุ้งในฉางก็มีแต่ลม เพราะว่ามีแต่ทำอะไรไปตามพิธีกี่เดือนกี่ปีก็ยังไม่มีปัญญาดังนี้ นี้อย่าได้ไปโทษคนอื่นนักเลย อย่าได้ไปโทษผีสางเทวดาโชคชะตาเคราะห์กรรมอะไรที่ไหนเลย จงได้โทษความประมาทของตนเองที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักแม้แต่จะทำสิ่งที่เห็นด้วยตานี้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ แล้วจะไปทำสิ่งที่ลึกลับไม่เห็นด้วยตานั้นได้อย่างไรกัน การเป็นพุทธบริษัทของเราก็มีอยู่ที่ตรงนี้ คือมีอยู่ตรงที่ทำให้มีปัญญามีจิตใจสว่างนั่นเอง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะต้องมาเป็นพุทธบริษัททำไมจะต้องมาวัดมาวาทำไม ป่วยการ ถ้าไม่ใช่มาเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อที่อื่นไม่ให้เกิดปัญญาก็จงไปในที่ที่ให้เกิดปัญญา เพราะเหตุฉะนั้นเราจึงเข้ามาสู่พระศาสนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่ให้เกิดปัญญา มีวัดวาอารามนี้เป็นเหมือนกับที่ให้เราฝึกฝนอบรมปัญญา เป็นสำนักงานของพระศาสนา เมื่อเรามาสู่สำนักงานของพระศาสนาก็หมายความว่ามาฝึกฝนปัญญา ให้รู้ตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้นไป เพื่อจะกีดกันเอาความทุกข์ ความคับอกคับใจ ความหม่นหมองของจิตใจนั้นออกไปเสียให้ได้ ให้เป็นคนที่มีจิตใจขาวผ่องทุกข์ร้อนไม่เป็น นั่นแหละจึงจะเรียกว่าได้รับประโยชน์จากพระศาสนา ไม่เสียทีที่เข้ามาเกี่ยวของกับพระศาสนาเลย จึงหวังว่าทุกคนจะได้มองเห็นอานิสงส์ข้อนี้แล้ว เป็นผู้ขวนขวายในทางของปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นการเดินตามรอยของพระอรหันต์ทั้งหลาย ในข้อที่ว่ารู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง มีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้แล้ว ก็เอาชนะความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ สัมมาทิฏฐิการเห็นตามที่เป็นจริงนั้น ก็คือการเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเราหรือว่าเป็นของเรานั่นเองดังที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น เพราะเราต้องไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรเป็นตัวเราหรือว่าอะไรเป็นของเรา ใจของเราจึงจะขาวผ่อง ถ้าไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นเราเป็นของเราแล้ว ใจมันก็ดำมืด ดำมืดไปด้วยความโลภบ้าง ด้วยความโกรธบ้าง ด้วยความหลงบ้าง เพราะไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ถ้าเห็นน่ารักน่าพอใจก็โลภ ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โกรธ ถ้ายังสงสัยอยู่ก็หลงว่ามันจะเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างนี้เรียกว่าใจมืดไม่ขาวผ่อง ข้อนั้นหมายถึงความทุกข์นั่นเอง แต่ถ้ารู้ตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเราแล้ว มันก็ไม่โลภขึ้นมาได้ ไม่โกรธ ไม่หลง ขึ้นมาได้ มีแต่สติปัญญาว่าสิ่งนี้มันควรทำอย่างไร หรือมีสติปัญญาว่าสิ่งนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือว่าสิ่งนี้ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วมันจะได้เว้นสิ่งที่ไม่จำเป็นเสีย เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเข้าไปทำแต่สิ่งที่จำเป็นและควรจะทำ แล้วก็ทำมันด้วยสติปัญญาอย่าไปทำมันด้วยกิเลสตัณหาคือไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา นั่นแหละมันจะเป็นความทุกข์ไปตั้งแต่ต้นมือและเป็นความทุกข์ไปตลอดสาย กระทั่งตายแล้วก็ยังเป็นทุกข์ แต่ถ้าว่าไปเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญาอย่าไปหลงยึดมั่นว่าเราว่าของเราแล้วมันไม่เป็นทุกข์เลย ไม่เป็นทุกข์ไปตั้งแต่ต้นมือไม่เป็นทุกข์ไปจนตลอดสาย แล้วกลับทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้เก่ง ทำอะไรได้เร็ว ทำอะไรไม่มีผิดพลาด มันก็ได้สิ่งต่างๆ มาตามที่ตัวต้องการ และได้มาแล้วก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเราดังที่ได้อธิบายแล้วข้างต้นนั้นเหมือนกัน การได้มานั้นจึงไม่เป็นความทุกข์ การมีไว้ในครอบครองก็ไม่มีความทุกข์ การเก็บรักษาไว้ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี้แหละเรียกว่าถ้าจะได้อะไรก็ต้องได้ให้เป็น อย่าได้อย่างโง่ๆ มันจะเป็นทุกข์ หรือว่าถ้าจะมีอะไรไว้ก็มีให้เป็น อย่ามีไว้อย่างโง่ๆ มันจะเป็นทุกข์ หรือว่าในที่สุดถ้าจะเป็นอะไรก็จงเป็นให้เป็น ถ้าเป็นไม่เป็นมันก็จะเป็นทุกข์ เช่นว่าเป็นผู้ชายก็เป็นให้เป็น เป็นผู้หญิงก็เป็นให้เป็น เป็นมารดาบิดาก็เป็นให้เป็น เป็นลูกเป็นหลานก็เป็นให้เป็น จะเป็นคนรวยก็เป็นให้เป็น จะเป็นคนจนก็เป็นให้เป็น แม้จะเป็นมนุษย์ก็จงเป็นให้เป็น อย่างนี้เรียกว่าเป็นอะไรก็เป็นได้เป็น มันก็ไม่มีความทุกข์เลย ที่ว่าเป็นไม่เป็นนั้นน่ะมันเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันมักจะเย่อหยิ่งจองหอง มันมักจะวิตกกังวลมีจิตใจเร่าร้อนไปหมดอย่างนี้ มันก็เป็นทุกข์ไปหมดเหมือนกัน ทว่าเป็นให้เป็นแล้วมันก็ไม่มีความโง่ความหลงแต่ประการใด เช่น ไม่เย่อหยิ่ง ไม่จองหอง ทำตนได้เหมาะสมที่จะเป็นชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ ถ้ากล่าวให้ถูกกว่านั้นอีกก็กล่าวได้ว่า ไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรเลย ในจิตใจอย่ารู้สึกว่าเราเป็นอะไรดีกว่า อย่ายึดมั่น อย่าทะนงว่าเราเป็นนั่นเราเป็นนี่ เราเป็นอย่างนั้นเราเป็นอย่างนี้ เราดีกว่าเขาเราเลวกว่าเขา เราเสมอกันกับเขาหรืออะไรทำนองนี้อย่าได้ไปนึกเลย มีแต่สติปัญญารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างก็แล้วกัน แล้วเราก็ทำไปด้วยสติปัญญานั้น อย่างนี้ก็ไม่หนักอกหนักใจอะไร ประโยชน์ทั้งหลายก็ทำไปได้ นี้แหละเรียกว่าเป็นมนุษย์เป็น หรือเป็นคนเป็น เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชายอะไรก็เป็น เป็นบิดามารดาเป็นบุตรเป็นหลานเป็นอะไรก็เป็น เป็นอย่างที่เรียกว่าเป็นผู้ฉลาด ไม่เป็นคนโง่ นี้เรียกว่าถ้าเป็นอะไรก็เป็นให้เป็น มันจะได้ไม่เป็นทุกข์ เมื่อรวมกันแล้วมันก็เป็นเรื่องถูกต้องไปหมด คือเป็นเรื่องของสัมมาทิฏฐินั่นเอง เป็นสัมมาทิฏฐิที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน แม้อยู่ในโลกนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ จะมีความก้าวหน้าไปตามลำดับจนถึงบรรลุมรรคผลนิพพานอยู่เหนือโลก นั่นแหละคือที่สุดของปัญญา ที่สุดของสัมมาทิฏฐิ คือแม้ว่าจะตกจมอยู่ในวัฏสงสารนี้บ้างก็ให้มีสติปัญญาว่ายน้ำให้เป็น มันก็ไม่จมน้ำตาย แล้วก็มีปัญญาว่ายเข้าหาฝั่ง แล้วมันก็ขึ้นบกได้ เพราะอำนาจของสติปัญญานั้น แม้ว่าคนเราจะตกอยู่ในฐานะที่จะต้องหัวเราะหรือร้องไห้ ก็มีสติปัญญาอย่าต้องไปร้องไห้อย่าต้องไปหัวเราะมันเลย มีจิตใจที่วางไว้เป็นปกติ เป็นกลางอยู่เหนือความร้องไห้ความหัวเราะนั้นจะดีกว่า แล้วค่อยๆศึกษาไปปฏิบัติไป จนมีจิตใจก้าวสูงขึ้นไปตามลำดับ อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรมาทำให้หัวเราะหรือร้องไห้ได้โดยไม่ต้องฝืนโดยไม่ต้องบังคับ ก็ไม่มีอาการที่ต้องหัวเราะหรือร้องไห้ คือไม่ขึ้นไม่ลง ไม่กระวนกระวาย ไม่ระส่ำระสาย มีจิตใจที่ขาวผ่องนั่นเอง การที่คนเราต้องขึ้นๆ ลงๆ ต้องฟูๆ แฟ่บๆ อยู่ด้วยหัวเราะด้วยร้องไห้นี้ ดูให้ดีแล้วมันก็เป็นความทนทรมานนี่แหละ ต่อเมื่อเป็นปกติอยู่ได้คือนิ่ง สงบเฉยอยู่ได้ด้วยสติปัญญาเท่านั้น จึงจะไม่เป็นการทรมาน เราจะต้องคิดดูในข้อนี้ให้มาก แล้วอยู่อย่างไม่เป็นความทนทรมานกันเถิด อยู่อย่างหัวเราะให้เขาเชิดเป็นหุ่น ตนเป็นคนดีให้เขาเชิดอย่างนี้มันสนุกไหม ลองคิดดู หรือว่าอีกทางหนึ่งเป็นคนที่ไม่ดีให้เขาดูหมิ่นดูถูกได้อย่างนี้มันสนุกไหม มันก็ไม่สนุกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสู้อยู่เป็นคนปกติกลางๆ ไม่ให้เขาเชิด ไม่ให้เขาดูหมิ่นรวมกันทั้งสองอย่างนั่นแหละจะสบายกว่า แต่เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร เราห้ามเขาไม่ได้เพราะฉะนั้นเราต้องห้ามใจตัวเราเองว่า เมื่อเขาเชิดก็อย่าลอยขึ้นไป เมื่อเขาดูหมิ่นก็อย่าตกต่ำลงไป มันไม่จำเป็นอะไรที่ต้องไปเที่ยวลอยไปลอยมาหรือเที่ยวตกจมลงไป เราประคับประคองจิตใจไว้ด้วยสติปัญญา อย่าให้เลื่อนลอยไปตามคำสรรเสริญหรือตามคำนินทา มันก็เป็นปกติสุขอยู่ได้ ด้วยอาศัยอำนาจของความรู้แจ้งเห็นจริง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง คำสรรเสริญก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คำนินทาก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรที่ต้องยึดมั่นถือมั่น ก็อยู่เป็นกลางๆ ก็สบายดี นี่แหละเรียกว่ามันว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูของกู คนที่โง่นั้นพอเขาสรรเสริญเข้าหน่อย ก็มีตัวกูยกหูชูหางขึ้นมาทีเดียว คือเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจเป็นตัวกูที่เลิศลอยขึ้นมาทีเดียว นี้ก็เป็นตัวกูขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องให้เขาเชิดและเป็นทุกข์ไปตามประสาของคนที่ถูกเขาเชิด ทีนี้ถ้าถูกเขานินทามันก็เจ็บเป็นตัวกูขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง เป็นตัวกูอย่างยักษ์อย่างมารขึ้นมาทีเดียว เร่าร้อนเป็นไฟตกนรกทั้งเป็นขึ้นมาทีเดียว นี้มันก็ได้ความทุกข์เหมือนกัน นั้นเรียกว่ามันมีตัวกูเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาได้ทั้งถูกสรรเสริญและทั้งถูกนินทา ครั้นเรามีจิตใจที่ผ่องใสไม่มีใครเชิดได้ คำสรรเสริญก็ไม่ทำให้เกิดตัวกูชูหางขึ้นมาได้ ความนินทาก็ไม่ทำให้เกิดตัวกูหดหางลงไปได้ มันก็ไม่ยกหูชูหางไม่หดหางไม่อะไรทั้งหมด มันก็เป็นคนที่อยู่ได้เป็นปกติ ผ่องใสร่าเริง เยือกเย็นอยู่เสมอ สมกับที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานโดยแท้จริง นี่แหละคืออานิสงส์ของปัญญาที่ได้มาจากพระพุทธศาสนาที่สอนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และบอกให้เรารู้ว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าลงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว แม้แต่ความตายก็ไม่เป็นทุกข์เลย เพราะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเอาความตายนี้มาว่าเป็นความตายของเรา มันเป็นเพียงความแตกดับของสังขารตามปกติตามธรรมชาติตามธรรมดาของมันเท่านั้น ไม่ให้จิตไปรู้สึกว่าเราตายอย่างนี้ ความตายก็ไม่เป็นความทุกข์แก่จิตใจชนิดนั้นเลย นี่แหละเรียกว่าอานิสงส์ของความไม่ยึดมั่นถือมั่นที่จะป้องกันความทุกข์เสียได้ แม้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมาจากความตาย สำหรับความเจ็บไข้ ความชรา อย่างอื่นนั้นมันยังน้อยกว่าความตาย เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีความทุกข์ หรือว่าถ้ามันจะมากเท่ากับความตายก็ไม่มีความทุกข์อย่างเดียวกัน เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นเอาความแก่ ความเจ็บเหล่านั้นว่าเป็นของตัว หรือเป็นตัวดังที่กล่าวแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันซ้ำซากทีเดียว เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจอยู่อย่างซ้ำซาก กี่วันกี่เดือนกี่ปีมาแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดซ้ำซากให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ เมื่อวันอันเป็นที่ระลึกถึงพระอรหันต์เวียนมาบรรจบครบรอบเข้าอีกครั้งหนึ่ง เราก็ต้องพูดกันถึงเรื่องนี้อีก ไม่พูดเรื่องอื่นเลย แต่จะพูดเรื่องที่เอาชนะความทุกข์ให้ได้ อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ให้ได้ให้เหมือนกับที่พระอรหันต์ท่านเป็น แม้ว่าเราจะไม่ทำได้เหมือนท่านก็ต้องทำอย่างเดียวกันกับท่าน และทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปทุกเดือนทุกปี จนมีความใกล้ชิดความเป็นพระอรหันต์ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งหมายความว่ามีความทุกข์น้อยลงตามลำดับ จนกระทั่งหมดไป และข้อปฏิบัติส่วนใหญ่นั้นมันมีอยู่ตรงที่ระมัดระวังด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูดังที่กล่าวแล้ว ในธรรมะชั้นสูงสุดนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ในธรรมะชั้นต่ำสุดนั้นก็ไม่มีอะไรน้อยลงไปกว่านี้ มันมีแต่เรื่องเดียวนี้เท่านั้น คือเรื่องอย่ายึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั่นเอง เรื่องต่ำๆ อย่างโลกๆ ที่ทำมาหากินอยู่ในโลกนี้ก็อย่าได้ยึดมั่นถือมั่น มันจะได้เป็นทุกข์น้อยหรือไม่ทุกข์เลย ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะเป็นทุกข์ไปหมดทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ นี้ต้องสอนกันให้บรรเทาความยึดมั่นถือมั่น ให้รักษาความมีจิตใจเป็นปกติไว้ได้อย่าขึ้นอย่าลงเพราะความยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าเรื่องทางโลกเรื่องทำมาหากินแท้ๆ ก็ยังเป็นอย่างนี้ คนโง่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไปทะเลาะกับควายก็ได้ ไถนาอยู่แท้ๆ ก็ทะเลาะกับควายไปพลาง เพราะความยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นเรื่องที่น่าสมเพศเวทนาน่าอดสูเพราะเจ้าของควายนั้นมันโง่เกินไป มันมีความยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปมันจึงทะเลาะกับควายก็ได้ บางทีก็มีอาการเป็นควายเสียเองอย่างนี้ก็ยังมี นี่ยกเอาตัวอย่างเรื่องต่ำที่สุดแล้วมาเป็นตัวอย่างว่า แม้แต่เรื่องจะทำกับควายก็อย่าได้เป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นให้มากมายไปเลย ควายมันโง่อยู่แล้ว คนจะไปโง่ซ้ำเข้าอีกฝ่ายหนึ่งมันก็เป็นสองโง่มันก็เลยได้ความทุกข์กันทั้งคนและทั้งควาย นี้กล่าวแค่เป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวไปทุกเรื่องทุกราวหรือทุกแง่ทุกมุม แต่จะกล่าวให้เป็นตัวอย่างว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย จงทำไปด้วยใจคอที่ปกติมีสติสัมปชัญญะ มีสติปัญญา ในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น มีกาย วาจา ใจ อันสงบ มีร่างกายปกติ มีวาจาปกติ มีจิตใจปกติ แล้วก็ไถนาหรือทำอะไรไปได้ทุกอย่างทุกประการ นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ดำเนินชีวิตประโยคกิจทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย หรือไม่มีกิริยาอาการอันใดที่น่าเกลียดน่าชังเลย เรียกว่าน่านับถือน่าบูชาว่า เป็นบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาโดยแท้จริง ถึงแม้จะเป็นชาวไร่ชาวนาก็ไม่มีอะไรที่น่าติเตียนที่ตรงไหน ยังจะถูกยกย่องสรรเสริญโดยบุคคลทั่วไป หรือแม้โดยพวกเทวดา ว่าบุคคลนี้เป็นคนสัมมาทิฏฐิ เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่เที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไรจนเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ซึ่งเกิดมาทั้งทีก็ไม่เสียชาติเกิด คือได้รับความสงบเย็น อันเกิดมาจากการปฏิบัติถูกต้องตามทำนองครองธรรมของธรรมชาติ เป็นความลับของธรรมชาติซึ่งพวกเรารู้เองไม่ได้ เราต้องอาศัยสติปัญญาของพระพุทธเจ้า เราจึงรู้ความลับของธรรมชาติในข้อที่ว่าเราจะต้องประพฤติอย่างไรชีวิตนี้จึงจะไม่เป็นความทุกข์ขึ้นมา นี่แหละคืออานิสงส์ของการที่เรามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นี่คือพระคุณของพระพุทธเจ้าที่บอกให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร และนี่แหละคือพระคุณของพระธรรมที่แสดงอยู่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร และนี่แหละคือคุณของพระสงฆ์ที่สืบความจริงข้อนี้จากพระพุทธเจ้าจนมาถึงเรา และทำตัวอย่างให้เราดูว่าเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเอาชนะธรรมชาติที่เป็นความทุกข์ได้ ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระรัตนตรัย สมกับที่ยกเอาเป็นสรณคมน์ ประจำจิตประจำใจของเราอยู่ตลอดกาลเวลาดังนี้ ข้อนี้มีความหมายอยู่ตรงที่ว่า เราจะต้องทำจิตใจของเราให้เหมือนกับจิตใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่เสมอไปนั่นเอง คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ติด ไม่พัน ไม่เกาะ ไม่เกี่ยวในสิ่งใดด้วยกิเลสตัณหา แต่ว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงด้วยสติปัญญา ทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยสติปัญญา ซึ่งกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ว่าจงมีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญาอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยกิเลสตัณหาเลย ถ้าจะประกอบการงานสิ่งใดก็จงประกอบอยู่ด้วยปัญญา อย่าได้ประกอบอยู่ด้วยกิเลสตัณหาเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าได้เกิดขึ้นเลย เพราะอำนาจความที่เราไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูเรื่องของกูนี้เอง เพราะฉะนั้นจะต้องรู้จักเกลียดชังภูตผีปีศาจที่มีนามว่าตัวกูที่มีนามว่าของกูนี้ให้มาก อย่าให้ภูตผีปีศาจตัวนี้ทำอันตรายได้เลยเป็นอันขาด และยิ่งกว่านั้นก็คืออย่าได้เป็นภูตผีปีศาจเสียเอง ระวังให้ดีถ้าระวังไม่ดีแล้วก็จะกลายเป็นภูตผีปีศาจแห่งตัวกูของกูเสียเอง นั่นแหละได้แก่คนที่มีความกลัดกลุ้มจัด เป็นตัวกูเป็นของกูจัด แผดเสียงจ้าละหวั่นไปหมด ด้วยเรื่องของตัวกูด้วยเรื่องของกู แม้ในวัดในวานี้ก็ไม่เลือก นี้กลายเป็นภูตผีปีศาจแห่งตัวกูของกูเสียเอง ไม่สมควรเลย ควรจะระลึกนึกให้มากในข้อนี้ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตราย เป็นเครื่องทำลายให้สูญสิ้นความดีความงาม ทีนี้ก็มักจะมีคนแก้ตัวว่าทำไม่ได้ๆๆ แก้ตัวว่าทำแล้วก็ทำไม่ได้อยู่นั่นเอง เหลือวิสัยที่จะทำได้อย่างนี้มันไม่จริงไม่ถูกเลย ที่ทำไม่ได้นั้นเพราะมันโง่ ไม่ใช่เพราะมันทำไม่ได้เพราะว่าไม่ใช่เพราะเรื่องนี้ทำไม่ได้ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ทำได้สำหรับคนมีปัญญา เพราะฉะนั้นจงเป็นคนมีปัญญากันเสียบ้าง อย่ารู้แต่เรื่องหาใส่ปากใส่ท้องอย่างเดียว จงได้สนใจในเรื่องของปัญญาหรือบุคคลที่มีปัญญาเสียบ้าง อย่าพอใจแต่คนที่เอาอะไรมาให้กิน จงรู้จักพอใจในคนที่มาสอนให้มีปัญญาเสียบ้าง อย่าขอบใจคนที่เอาอะไรมาให้กินนั้นมากกว่าคนที่เขาเอาสติปัญญามาให้ เพราะว่าสติปัญญานั้นมีค่ามากกว่าของที่กินได้ ขอบใจคนที่เอาอะไรมาให้กินนั้นน้อยกว่าคนที่เอาสติปัญญามาให้จึงจะถูก เพราะว่าสติปัญญานั้นมันแพงกว่าของที่กินได้ เราจงนิยมชมชอบเคารพนับถือคนที่มีสติปัญญา มากกว่าคนที่เอาอะไรมาให้กิน ถ้าทำอย่างนี้ไม่เท่าไรก็จะหายโง่ และกลายเป็นคนมีสติปัญญาขึ้นมาได้โดยแน่นอน ทีนี้พิจารณาดูต่อไปให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ที่ว่าทำไม่ได้ๆ นั้น มันเป็นเพราะคนนั้นมันไม่รู้จักละอาย เพราะคนนั้นมันไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักอาย ไม่รู้จักกลัวกันเสียบ้างเลย มันเป็นคนโง่ที่หน้าด้าน ไม่รู้จักอาย ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักอายในข้อที่ว่ามันโง่แล้วมันไม่รู้จักอาย มันโง่เท่าไรๆ มันก็ไม่รู้จักอายว่ามันเป็นคนโง่ มันจึงไม่ขวนขวายที่จะให้เกิดเป็นคนฉลาดหรือมีปัญญา มันจึงได้โง่ไปตามเดิม เพราะมันไม่รู้จักอายในความโง่ของมัน ข้อนี้ดูให้ดีจะเห็นได้ว่า เราเป็นพุทธบริษัทถ้าทำอะไรไม่สมไม่ควรแก่พุทธบริษัทแล้วมันน่าอาย แต่แล้วทำไมมันไม่อาย ถึงอยู่ในวัดแท้ๆ ก็ไม่ทำอะไรให้สมกับที่เป็นพุทธบริษัท แล้วทำไมมันจึงไม่อาย ความหน้าด้านหรือความเก้อยากไม่ค่อยจะเก้อเขินกับเขาได้มันอยู่ที่ตรงนี้ มันอยู่ตรงที่ไม่รู้จักอาย ในเมื่อควรจะละอาย เช่นว่าถ้าได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสแล้ว ไปเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูเข้านี้มันเป็นเรื่องที่น่าอาย แต่แล้วมันก็ไม่อาย มันก็ยิ่งไปละโมบโลภลาภในเรื่องยึดมั่นถือมั่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นมากขึ้นทุกที ทั้งที่เป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา นี้เพราะมันไม่ละอาย เมื่อมันไม่รู้จักละอายอย่างนี้แล้วมันจะปฏิบัติได้อย่างไร มันก็เผลอเก่งมากขึ้นทุกที มันก็เผลอเก่งในทางที่จะยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้นทุกที ถ้ามันรู้จักละอายเสียบ้างมันก็เผลอไม่ได้ มันเผลอได้ยาก ถ้ามันไม่เผลอเปลือยกายออกไปนอกถนนหนทาง นี้ก็เพราะมันรู้จักอาย แต่ทำไมมันจึงรู้จักอายแต่เรื่องนี้ มันไม่รู้จักอายในเรื่องยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูกันเสียบ้าง มันเที่ยวด่าเขาปาวๆ ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู แต่แล้วมันก็ไม่รู้จักอาย แล้วมันก็เที่ยวด่าเขาจนตายไม่รู้จักอาย แม้ในวัดมันก็ด่ากันได้อย่างนี้เป็นต้น เพราะมันไม่รู้จักอายนั่นเอง ถ้ามันรู้จักอายในข้อนี้เหมือนกับที่ไม่กล้าเปลือยกายออกไปที่ตลาดแล้ว มันก็หยุดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนี้เสียได้เป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นการรักษาศีลก็จะไม่ลำบาก การเพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่ลำบาก คือมันจะรักษาศีลได้ มันจะเพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูเสียได้ แล้วมันก็จะไม่เป็นทุกข์เท่านั้นเอง นี้เรียกว่ามันทำกันไม่ได้เพราะมันไม่รู้จักอาย ถ้ามันรู้จักอายกันเสียบ้างมันก็ไม่เผลอ เมื่อไม่เผลอมันก็ทำได้ คือมันไม่เผลอเที่ยวยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่เป็นเรื่องตัวกูเป็นเรื่องของกูนั่นเอง นี้เรียกว่ารู้จักอาย ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือมันไม่รู้จักกลัว สิ่งที่ควรกลัวอย่างยิ่งนี้มันไม่รู้จักกลัว สิ่งอื่นๆ ที่เล็กๆ น้อยๆ มันรู้จักกลัว เช่น ไม่มีอะไรจะกินมันรู้จักกลัว มีอะไรจะเสียหายเล็กๆ น้อยๆ มันก็รู้จักกลัว มันระมัดระวังมาก แต่ทีเรื่องเสียหายใหญ่ๆ อย่างนี้มันกลับไม่กลัว เสียชื่อเสียเสียงก็ไม่กลัวแต่เสียเงินสตางค์สองสตางค์มันกลัว หรือจะเสียหายทางจิตใจอย่างใหญ่หลวงเป็นเรื่องตกนรกทั้งเป็นอย่างนี้มันก็ไม่กลัว เพราะมันไม่มองเห็นว่าเป็นเรื่องตกนรกทั้งเป็น เพราะฉะนั้นมันจึงได้ทำอะไรไปในลักษณะที่น่าเกลียดน่าชังอย่างยิ่งแล้วมันก็ยังไม่กลัว เสื่อมเสียจนไม่มีอะไรจะเสียมันก็ยังไม่กลัว คือเสียธรรมะไปหมดสิ้นมันก็ยังไม่กลัว มันก็ยังทำอะไรที่น่าเกลียดน่าชังอยู่นั่นเอง มันจึงรักษาศีลไม่ได้ จึงละความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะไม่รู้จักกลัว นั้นขอสักสองอย่างเท่านั้นคือว่ารู้จักอาย รู้จักกลัวกันเสียบ้าง ไม่เท่าไรมันก็จะฉลาดขึ้นโดยแน่นอน เดี๋ยวนี้โง่เท่าไรๆ มันก็ไม่ละอายโง่เท่าไรๆ มันก็ไม่รู้จักกลัว ว่าความโง่นี้มันเป็นของน่ากลัว มันก็ต้องได้โง่ได้หลงกันเรื่อยไป ไม่บรรเทาความโง่หรือความหลงเสียได้ แต่ถ้าเมื่อใดมันรู้จักอายเพราะความโง่นี้เป็นสิ่งที่น่าบัดสีอย่างยิ่ง ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะให้ใครรู้ว่ามี มีความละอายบัดสีในเรื่องมีความโง่ให้มากอย่างนี้แล้ว ไม่เท่าไรมันก็จะหายโง่ ไม่กล้าเผลอให้โง่อีกต่อไป ไม่กล้าเผลอทำอะไรอย่างเขลาๆ อีกต่อไป แล้วก็จะขยัน รีบเรียน รีบศึกษา รีบประพฤติปฏิบัติให้หายโง่จนได้ ไม่กี่เดือนกี่ปีก็เป็นคนหายโง่ แล้วก็เป็นคนไม่ทุกข์ไม่ร้อนเพราะเรื่องตัวกูเพราะเรื่องของกูนั้นอีกต่อไป เดี๋ยวนี้มันเป็นทุกข์เป็นร้อนเรื่องตัวกูเรื่องของกูอยู่ทุกวัน แล้วพลอยทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อนไปด้วยเรื่องตัวกูของกูนั่นแหละ ทุกข์คนเดียวไม่พอ พลอยทำให้คนอื่นลำบากยุ่งยากไปด้วย ขอให้ทุกคนสนใจในเรื่องนี้ให้มากกว่าเรื่องอื่น เพราะว่ามันไม่มีเรื่องอื่นแล้วที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ และไม่มีเรื่องอื่นแล้วที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละ พระพุทธเจ้าสอนให้ละแต่เพียงอย่างเดียวเรื่องเดียว คือละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั่นเอง ถ้าไม่ละข้อนี้แล้วมันไม่อาจจะละสิ่งใดได้ จะละเรื่องศีลเรื่องความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมันละไม่ได้ ถ้าไม่ละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูเสียก่อน แต่ถ้าละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูได้เสียก่อนแล้ว อะไรๆ มันก็ละได้หมดเอง ความชั่วกี่ร้อยอย่างกี่พันอย่างมันจะละไปหมดเอง เพราะละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู คือละความเห็นแก่ตัวกูนั่นแหละเสีย เมื่อละความเห็นแก่ตัวกูเสียแล้ว มันจะละความชั่วหมดทุกอย่างเพราะว่าเมื่อไม่เห็นแก่ตัวกูแล้วมันก็โลภไม่ได้ ไม่เห็นแก่ตัวกูแล้วมันก็โกรธไม่ได้ ไม่เห็นแก่ตัวกูแล้วมันก็เที่ยวมัวเมาหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ นั้นมันจึงละได้หมดทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง ละได้หมดก็ละความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของตัวกูในเรื่องของของกูนี่เอง ดังนั้น จงจำคำๆ นี้ ไว้ให้แม่นยำว่า เป็นข้าศึกอย่างยิ่งของเราเป็นศัตรูอย่างยิ่งของเรา ที่โมโหขึ้นมาว่าตัวกูของกูนั่นเอง หรือความโลภที่ขึ้นมาว่าตัวกูของกูนั่นเอง ความโกรธความเกลียดความรู้สึกไม่ดีต่างๆ ที่ขึ้นมาเป็นตัวกูของกูนั่นเอง ละตัวกูของกูเสียให้หมดอย่างเดียวเท่านั้น ความรู้สึกคิดนึกที่ชั่วร้ายต่างๆ ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ นี่แหละเมื่อตัวกูไม่มีเท่านั้นมันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าตัวกูหมดสิ้นเด็ดขาดสิ้นรากสิ้นเหง้าแล้วก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย เราจงพยายามให้มากพยายามให้เป็นอย่างยิ่งในการที่จะควบคุมมันไว้ ให้มันอดอาหารให้ตายไปตามลำดับๆ จนกระทั่งตายสนิท ไม่มีตัวกูเหลืออยู่อีกต่อไป นี่คือการเป็นอยู่ให้ถูกต้องอย่าให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมาได้ ในวันหนึ่งๆ นั้นอย่าให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นมาได้ ให้มีสติปัญญาคือมีจิตใจที่ขาวผ่องอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าอะไรจะต้องทำก็ทำไปตามนั้น คือตามสติปัญญา อย่าได้ทำไปด้วยความเห็นแก่ตัวกูหรือของกูเลย ทำไปด้วยความเห็นแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็แล้วกัน แล้วมันก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจนี้ได้เป็นอย่างยิ่งเอง ไม่ต้องเห็นแก่ตัวกูดอก ก็ยังทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ แล้วก็เป็นประโยชน์สูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงกับบรรลุมรรคผลนิพพานทีเดียว นี่แหละคืออานิสงส์ของการควบคุมตัวกูบังคับตัวกูอย่าให้มันได้กินอาหารเป็นอันขาด แล้วมันก็จะผอมไปๆ และตายในที่สุด เรามาระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ไว้ให้ดีๆ อย่าให้เป็นช่องทางของการเกิดตัวกูของกูขึ้นมา เมื่อได้เห็นรูปทางตาก็ระมัดระวังไว้อย่าให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา เมื่อได้ฟังเสียงทางหูก็ให้ระมัดระวังไว้อย่าให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา เมื่อได้กลิ่นทางจมูกก็ระมัดระวังไว้อย่าให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา เมื่อได้รู้รสอะไรทางลิ้นก็ระมัดระวังไว้อย่าให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา เมื่อได้สัมผัสอะไรทางผิวหนังก็ระมัดระวังไว้อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูขึ้นมา แล้วมันก็จะมีแต่สติปัญญารู้แจ่มแจ้งว่าจะต้องจัดการอย่างไร กับสิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหล่านั้น มันมากระทบก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ในทางที่เป็นสติปัญญา อย่าปล่อยให้เกิดเป็นโทษ คือเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมา มันก็จะเป็นจิตใจที่มีแต่ความสงบสุข สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์เลย ทีนี้สติปัญญาอย่างนี้จะเป็นเครื่องราง ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ สิ่งนี้แหละสติปัญญาอย่างนี้แหละเป็นเครื่องรางเหมือนกับพระที่เราแขวนไว้ที่คอ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ ถ้าจะแขวนพระที่หล่อเป็นองค์เล็กๆ ไว้ที่คอ ก็ต้องรู้ว่าแขวนไว้เป็นเครื่องเตือน ให้ระลึกได้ว่า จะต้องมีพระจริงๆ อยู่ในใจ คือมีจิตใจขาวผ่อง ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู หรือว่าเป็นเครื่องเตือนว่าระวังนะอย่าให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมา พอมีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นต้น ก็กุมเอาพระไว้ ให้เกิดความระลึกขึ้นมาให้ได้ว่าอย่าได้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูเป็นอันขาด อย่าได้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ขึ้นมาเป็นอันขาด แต่ให้มีจิตใจขาวผ่องอยู่ตามเดิม ในการที่จะไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสงบสุข ที่เราเรียกว่าเราทำตามรอยพระอรหันต์ การทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำตามรอยพระอรหันต์อย่างยิ่ง ซึ่งในวันนี้เป็นวันมาฆบูชาเราก็เรียกว่าเป็นวันพระอรหันต์ เป็นวันที่เราเอาพระอรหันต์มาใส่ไว้ในใจของเรา คือเราเอาคุณธรรมของพระอรหันต์มาใส่ไว้ในใจของเรา นั่นแหละเรียกว่าเอาพระอรหันต์มาใส่ไว้ในใจของเรา พระอรหันต์ไม่ใช่ตัวคน ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ พระอรหันต์เป็นคุณธรรม ที่เรียกกันว่า อรหัตมรรค อรหัตผล เราเอาสิ่งนั้นมาใส่ไว้ในใจของเรา แม้ว่าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์เสียเอง ก็เอาคุณธรรมของพระอรหันต์มาใส่ไว้ในใจของเรา ให้เราเดี๋ยวนี้มีอะไรๆ คล้ายพระอรหันต์ให้ได้ไว้ทีก่อน แล้วก็รักษาไว้อย่างนั้นตลอดไปให้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทุกที เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ เมื่อเป็นอยู่ชอบอย่างนี้กิเลสตัณหาก็ไม่ได้กินอาหารเลย กิเลสที่ชื่อว่าตัวกูของกูนั่นแหละจะไม่ได้กินอาหารเลย มันจะอดอาหารแล้วมันจะผอมลงๆ แล้วมันก็ตายไป มันสิ้นไปเพราะเราเอาพระคุณของพระอรหันต์มาใส่ไว้ในใจ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้กิเลสได้กินอาหาร เราจึงน้อมรำลึกนึกถึงคุณของพระอรหันต์อยู่เสมอ คือน้อมระลึกนึกเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอ จนกระทั่งเกลียดชังความยึดมั่นถือมั่น คือเกลียดชังปีศาจ เกลียดชังภูตผีปีศาจ ที่มีชื่อว่าตัวกูที่มีชื่อว่าของกูนั่นให้มาก ปีศาจที่ทำให้ตะโกนออกมาดังๆ ว่ากูว่าของกูนั่นแหละเป็นปีศาจที่น่ารังเกียจที่สุด คนที่ตะโกนออกมาว่าตัวกูของกูนั่นก็มีปีศาจอย่างนี้สิงอยู่ในใจเต็มที่ หรือว่าเพราะเป็นปีศาจเสียเองจึงร้องออกมาอย่างนั้น นั่นคือสิ่งที่ควรกลัวอย่างยิ่ง เห็นโทษอยู่แล้วก็จะเกลียดชังมันอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นให้อุตส่าห์พิจารณาให้เห็นโทษของมันอยู่เสมอ มีเวลาว่างเมื่อไรแล้ว ก็จงทำวิปัสสนา ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอไป ให้เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเลย แล้วมันก็จะไม่พลุ่งเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมาได้เป็นอันขาด ให้เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นความจริงข้อนี้อยู่เสมอเถิด แล้วจะเรียกว่าเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จะได้เกลียดชังความยึดมั่นถือมั่นเสีย แล้วจิตใจก็จะได้หันเหไปในหนทางของพระนิพพาน คือหนทางของความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง และเป็นการบรรลุพระนิพพาน คือดับความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูเสียได้โดยสิ้นเชิง ดังนี้ สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักว่า เมื่อใดมองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจิตจะน้อมไปเพื่อความพอใจในอายตนะ กล่าวคือพระนิพพานอายตนะกล่าวคือพระนิพพานนี้ตามธรรมดาไม่เป็นที่ชอบใจของคนธรรมดา เพราะเขาไม่มองเห็นคุณค่าไม่เห็นอานิสงส์ คนโดยมากเกลียดนิพพานเพราะได้ยินเรื่องนิพพานก็สั่นหัวและเกลียดเข้าทีเดียว นั่นคือความโง่ เพราะปีศาจแห่งตัวกูของกูมีมากเกินไป บัดนี้เมื่อได้ระลึกนึกถึงคุณของพระอรหันต์ เต็มเปี่ยมอยู่ในใจดังที่เราทำมาฆบูชาในวันนี้แล้ว ก็จะเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น จิตก็จะน้อมไปพอใจในทางของพระนิพพาน นี่แหละคืออานิสงส์ของการทำมาฆบูชา ที่เราได้ตั้งอกตั้งใจเสียสละทนฝ่าความยากลำบากมา เพื่อจะได้สำรวมจิตสำรวมใจกันที่นี่วันนี้ให้ดีเป็นพิเศษ ให้เข้าถึงพระคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากยิ่งๆ ขึ้นไปทุกปีๆ นั่นเอง และจะได้เอาไปใช้เป็นเครื่องกำกับจิตใจ ไม่ให้เกิดกิเลสตัณหาที่เป็นตัวกูเป็นของกูดังที่ว่ามานั้น และเป็นอยู่ด้วยความสงบสุขไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ เพราะการเป็นอยู่ในโลกนี้มีความสะดวกสบายในการเอาชนะความทุกข์ มีศีล สมาธิ ปัญญา ได้โดยง่ายเหมือนกับกลิ้งครกลงจากภูเขา สมบูรณ์อยู่ด้วยคุณธรรมนั้นมีปีติอิ่มเอิบเป็นสุขอยู่ด้วยพระธรรม มีความพอใจในพระนิพพานเป็นที่สุด ของความปรารถนา ธรรมเทศนายุติลงด้วยเวลา ด้วยประการฉะนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้