แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภการบำเพ็ญกุศลเนื่องด้วยเอ่ยบุพรเศรษฐชน(นาทีที่00:52) ผู้ล่วงลับไปแล้วตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัททั้งหลาย การกระทำนี้นอกจากเป็นขบบธรรมเนียมประเพณีแล้ว ยังเป็นการถูกต้องตามทำนองคลองธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย เพราะว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว มีการประพฤติธรรม เช่น ความกตัญญูกตเวทีเป็นต้นนี้ นับว่าเป็นคุณธรรมที่ไม่ต่ำเลย เราทั้งหลายจึงได้ชวนกันพยายามประกอบกุศลในวันเช่นวันนี้ เต็มความสามารถทุกปีมา นับว่าไม่เสียทีที่ได้เป็นพุทธบริษัท ที่ได้สดับพระธรรมคำสอนของพระอริยเจ้าสืบๆ กันมาหลายชั่วอายุคน ถ้าจะนับได้ ถ้าจะนับก็จะนับด้วยท่าน ข้อที่มีจิตใจฝักใฝ่ และมีการประพฤติปฏิบัติเกี่ยวข้องกับศาสนาเช่นนี้ ทำให้ชาวไทยเรามีความเป็นอยู่อย่างผาสุก เห็นได้ชัดว่ามีความสงบเย็นกว่าชนทั้งหลายเป็นอันมากซึ่งไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก คือมองเห็นไม่ได้สำหรับบางคน และบางคนก็ไม่สนใจจะมองจึงไม่ได้ทราบ ไม่ได้ซาบซึ้งถึงอานิสงค์ของพระศาสนา ไม่ได้สนใจในธรรมให้พอสมควรกัน เป็นการสนใจในธรรมพอเป็นประเพณี พอเป็นพิธีเสียเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะได้ปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก จะให้มีการประพฤติกระทำที่เกี่ยวข้องกันกับพระธรรมหรือกับพระศาสนายิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ก็จักอยู่เย็นเป็นสุขกันยิ่งไปกว่านี้
ในวันนี้เป็นการบำเพ็ญกุศล เพื่อบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วที่เรียกว่าปู่ย่าตายาย พิจารณาดูแล้วก็ยังทำเป็นประเพณีอยู่มาก เพราะว่าเป็นการกระทำโดยไม่ได้คิด ไม่ได้นึก ก็ว่าจะทำตามอย่างกันเท่านั้นเอง ถ้าคิดนึกให้มากสักหน่อยก็คงจะทำได้มากกว่านี้ และข้อนี้ก็ได้แก่ข้อที่ได้กล่าวกันแล้วทุกปีๆ เตือนกันแล้วเตือนกันอีกทุกปีๆ ว่าควรจะบำเพ็ญกุศลให้ตายายนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปทุกปี ให้แทนคุณของตายายให้สูงให้ยิ่งขึ้นไปทุกๆ ปี อย่าทำพอสักแต่ว่าเป็นประเพณี เป็นท่าเป็นทาง เป็นกิริยาท่าทางอย่างเดียว ส่วนจิตใจนั้นยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ข้อที่ว่าให้ทำให้ยิ่งขึ้นไปในการตอบแทนคุณของตายายนั้นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าสมมติว่าตายายมาดูมาเห็นลูกหลานในทุกวันนี้ก็จริงแล้ว จะรู้สึกอย่างไรและจะต้องการอย่างไร ข้อแรกที่สุดที่เตือนให้คิดอยู่เสมอนั้นก็คือข้อที่ว่า ลูกหลานเดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวจัดยิ่งขึ้นทุกที (กระแอม) ลูกหลานสมัยนี้ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวจัดยิ่งขึ้นทุกที ไม่เหมือนคนสมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งมีจิตใจกว้างขวางเห็นแก่ผู้อื่นมากกว่าคนสมัยนี้ คนสมัยนี้อะไรๆ ก็ยึดมั่นแต่ในส่วนได้ของตน ถือเอาได้ของตนเองเป็นประมาณ ส่วนปู่ย่าตายายมีจิตใจเป็นธรรมมากกว่านี้คือเห็นแก่ผู้อื่นอยู่มาก เดี๋ยวนี้ในโลกเรานี้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว หรือความเอารัดเอาเปรียบกันอย่างยิ่งไปทั่วทุกหัวระแหง เพราะว่าความเจริญอย่างใหม่ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้เอง คือทำให้คนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ส่วนตัวจัดยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้เบียดเบียนกัน ฆ่าฟันกันอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ และเมื่อกลัดกลุ้มมากไปกว่านั้นก็ทำลายตัวเอง ทำลายบุตรภรรยาของตัวเองอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ นี่แหละคือโทษของการที่ไม่เอื้อเฟื้อในธรรม เป็นไปแรงกล้าหนักยิ่งขึ้น การที่บุคคลในสมัยนี้ไม่สนใจในธรรมนั้น คงจะมีคนคิดกันต่างๆ นานาว่าไม่สนใจอยู่ได้เพราะว่าเรื่องมันมาก อย่างนี้มันก็ถูกเหมือนกัน บางคนก็คิดเลยไปเสียว่าธรรมะนี้ไม่จำเป็นเสียแล้ว หาแต่เงินแต่ทองไว้ให้มากก็พอแล้ว เพราะว่าสมัยนี้เค้าเอาเงินเอาดีที่ทองกัน คิดอย่างนี้ก็ได้เหมือนกันไม่มีใครห้ามได้ แต่แล้วในที่สุดผลมันก็จะแตกต่างกัน คือจะได้รับผลไม่เหมือน กัน ถ้าลองทุกคนเห็นแก่ตัวทำนองนี้ก็มีแต่จะเบียดเบียนครั่นคร้าม(นาทีที่08:11) กันยิ่งขึ้น แล้วก็จะไปโทษใครไม่ได้ เพราะเรื่องหันเหไปในทางผิด หรือเห็นชอบเป็นผิด หรือเห็นผิดเป็นชอบกันไปมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีเงินมีทองมีข้าวมีของมากมายอย่างไรก็หาความสุขไม่ได้ เพราะว่าเต็มไปด้วยความเบียดเบียนกันและกันเสียแล้ว และทางข้างในนั้นก็เหมือนกัน คือทางในจิตในใจนั้นแม้ว่าจะมีเงินมีทองมากก็ยังหาความสุขไม่ได้เพราะว่าจิตใจมีความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์เป็นร้อนมากมากขึ้นทุกที นี่แหละลองพิจารณาดูให้ดีว่าแม้จะมีเงินมีทอง มีข้าวมีของอะไรมาก แต่ถ้าข้างนอกก็เต็มไปด้วยการเบียดเบียนกันและกันแล้ว ข้างในก็เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ยึดมั่นถือมั่นทำให้นอนไม่หลับ อย่างนี้แล้วจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะลองนึกเปรียบเทียบดูกัน ถึงสมัยปู่ย่าตายายเค้าไม่ต้องมีอะไรมากมายนักแต่ก็อยู่เป็นสุข เพราะว่าข้างนอกก็ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ในข้างในก็มีจิตใจสงบได้ด้วยตนเอง เยือกเย็นอยู่ได้ด้วยตนเอง ท่านจึงมีความสุขโดยแท้จริงได้โดยไม่ต้องมีเงินมีทองมีข้าวมีของมากเหมือนคนสมัยนี้ ความแตกต่างกันอย่างนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดดูหรือไม่ ที่จริงเป็นสิ่งที่น่าคิดดูอย่างยิ่ง เพราะว่าเราจะเหน็ดจะเหนื่อยกันไปทำไมถ้าเป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความเบียดเบียนกัน จะเบียดเบียนตนเองด้วยการที่คนไม่เห็นโทษของความเบียดเบียนนี้ จะเรียกว่าเป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิต ถ้าพูดตามพระพุทธเจ้าตรัส ก็คือต้องถือว่าเป็นคนพาลอย่างยิ่ง เป็นผู้ไม่เห็นโทษของการเบียดเบียนแม้เป็นผู้กระทำการเบียดเบียนอยู่ ก็ยังไม่เห็นโทษของการเบียดเบียน นี้เรียกว่าเป็นคนพาลอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเราจะต้องสนใจกันในเรื่องการไม่เบียดเบียนทั้งภายนอกและทั้งภายใน ควรจะกำหนดจดจำกันไว้ให้แม่นยำว่า การเบียดเบียนภายนอกและการเบียดเบียนภายในนี้อันไหนมันสำคัญกว่ากัน การเบียดเบียนภายนอกคือคนอื่นมาเบียดเบียนเรา การเบียดเบียนภายในคือความโง่ ความหลงอวิชชา กิเลสตัณหาของเรา เบียดเบียนเราเอง สองอย่างนี้อันไหนมันร้ายกาจกว่ากัน เด็กอมมือคงจะพูดว่าการเบียดเบียนของคนภายนอกร้ายกาจ เพราะว่าน่ากลัว ทำให้เจ็บปวด แต่การเบียดเบียนภายในคือกิเลสนั้นไม่รู้สึกเจ็บปวด บางทีก็สนุกสนานดี ถ้าคิดอย่างนี้ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรี่องคิดอย่างเด็กอมมือ ถ้าคิดอย่างผู้ใหญ่แล้วต้องคิดให้ถูกว่า การเบียดเบียนภายนอกนั้นมาจากการเบียดเบียนภายในเสมอไป ถ้าการเบียดเบียนภายในไม่มีแล้ว การเบียดเบียนภายนอกยากที่จะมีได้ ข้อนี้หมายความว่าบุคคลนั้นนั้นมีกิเลสในภายในของตัว เบียดเบียนตัวเองอยู่ และกิเลสนั่นแหละจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับผู้อื่นทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ทางน้ำใจ มันเป็นการสร้างศัตรู คู่เวร คู่ภัยกันขึ้นมา แล้วจึงได้เบียดเบียนกันในทางภายนอก บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านถือว่าการเบียดเบียนภายนอกนั้นมาจากการเบียดเบียนภายในเสมอ เพราะว่าถ้าใครเป็นคนที่ไม่มีการเบียดเบียนภายใน คือไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วจะไม่มีการเบียดเบียนภายนอกเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่รู้จริงนั่นแหละ ทำให้เราคิดผิด พูดผิด ทำผิด แล้วมันจึงสร้างศัตรูภายนอกขึ้นมา หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ถ้าเราหลงไม่ฉลาดนั่นแหละ ถึงได้กระทำอะไรไปในทางที่ให้เกิดเป็นเวรเป็นภัยกันขึ้นมาโดยไม่มีเรื่องไม่มีราว จึงเป็นการยุ่งยากลำบากเพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์ หรือที่เรียกว่าโมหะชนิดหนึ่งนั่นเอง ถ้าเราทุกคนสนใจเรื่องการเบียดเบียนตนนี้ให้มาก แล้วกำจัดเสียให้มาก การเบียดเบียนภายนอกก็จะไม่มี เมื่อแต่ละคนๆ มีธรรมะมากขึ้นตามส่วนแล้ว ก็จะไม่มีการเบียดเบียนภายใน ในที่สุดก็จะไม่มีการเบียดเบียนภายนอก กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็ว่า ถ้าคนในโลกทุกคนนี้มีธรรมะ ไม่เบียดเบียนตนเองในภายในแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะเบียดเบียนกันในภายนอกจนรบราฆ่าฟันกันเป็นต้นได้เลย เดี๋ยวนี้ทุกคนมีข้าศึกอยู่ในตนเบียดเบียนตนเองอยู่ในภายในของตน เป็นข้าศึกแก่ตนเสียแล้ว สิ่งต่างๆ ก็ดำเนินไปผิดทางคือผิดไปหมด เป็นไปแต่ในทางที่จะกระทบกระทั่งกัน แม้แต่บุคคลข้างเคียง แล้วกระทบออกไปเป็นวงกว้างเป็นระหว่างงู ระหว่างธรรมะ ระหว่างชาติ เรื่องก็ไม่มีที่จะสิ้นสุดลงได้เพราะเหตุที่ว่า มีกิเลสอันเป็นข้าศึกในภายในอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงกล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกยิ่งไปกว่ากิเลสเลย อย่าได้เห็นคนนั้นคนนี้ พวกนั้นพวกนี้เป็นข้าศึกศัตรูเลย แต่จงเห็นกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความโง่ ความหลงของตัวเองนั่นแหละว่าเป็นข้าศึกที่แท้จริง และพยายามบรรเทาในส่วนนี้นี้เสีย ก็จะเป็นการบรรเทาในส่วนลึกที่สุดของจิตใจ ตัดต้นตอตัดทางมาของข้าศึกได้อย่างแท้จริง การที่เรานับถือพระพุทธศาสนากันก็เพราะเหตุนี้ คือ การที่เราทำมากไปกว่านั้น เช่น การออกไปบวช ไปเรียนเป็นพระ เป็นเณร เป็นต้น ก็เพื่อความประสงค์อันนี้ คือ เพื่อความประ สงค์เพื่อจะชนะข้าศึก คือกิเลสในภายในนั่นเอง เรื่องมันจึงมีแต่เพียงเท่านี้ ที่มาเห็นลูกหลานสมัยนี้เราเปรียบเทียบกันดูแล้ว รู้สึกว่าทำไมมันจึงช่างหนาไปด้วยกิเลสภายใน ไม่เหมือนกับปู่ย่าตายายที่หลับตาตายไปแล้วนั้น แม้ว่าจะไม่สวยสดงดงามร่ำรวยหรูหราอย่างพวกลูกหลานสมัยนี้ แต่ก็อยู่กันเป็นผาสุก ด้วยความสงบสุขยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ มีกิเลสในภายในน้อยกว่าลูกหลานสมัยนี้ ถ้าเอาเรื่องนี้มาคิด เราก็คงจะคิดได้ต่อไปว่าปู่ย่าตายายคงจะเสียอกเสียใจมากในข้อนี้ เกี่ยวกับการที่ลูกหลานเสื่อมทรามลงในทางจิตใจ เห็นแก่ตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เบียดเบียนกันมากขึ้น เมื่อเห็นดังนี้แล้วทำไมจึงไม่ตอบแทนคุณของปู่ย่าตายายด้วยการกลับตัวกันเสียใหม่ให้ถูกใจปู่ย่าตายาย คือเป็นคนเห็นแก่ตัวน้อยลง และมีการเบียดเบียนกันและกันน้อยลง และอบรมลูกเล็กๆ ลูกหลานเล็กๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องในข้อนี้กันให้มากขึ้นเล่า ทำไมจึงปล่อยไปตามสบาย ผู้ใหญ่นี้คิดว่าไปเล่นไพ่เสียให้สนุกกว่าที่จะมาเอาใจใส่กับลูกหลานเล็กๆ ไปกินเหล้าเมายา หัวหกก้นขวิดกันเสียสนุกกว่า ที่จะมาคอยชี้แจงพร่ำสอนลูกหลานเล็กๆ เมื่อมาคิดกันซะอย่างนี้แล้วลูกหลานเล็กๆ ก็ถูกปล่อยปละละเลย ซัดไปที่คนโน้น ซัดไปที่คนนี้ ไม่มีใครรับ ผิดชอบว่าลูกหลานเล็กๆ นี้จะถูกอบรมเพียงพอหรือไม่ นี่คือข้อที่ความเห็นแก่ตัวจัดนั้นมันเป็นไปเลยขอบเขตเสียแล้ว เห็นแก่ตัวจัด เห็นแก่ตัวเองจัดจนกระทั่งไม่เห็นแก่ลูกหลานเล็กๆ ตาดำๆ เหมือนในตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว พอพ่อมันจะไปกินเหล้ากินยา และสนุกสนาน ลูกมันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยไปตามเรื่อง นี้เรียกว่าพ่อมันเห็นแก่ตัวมากเกินไปเสียแล้ว ไม่เห็นแก่ลูกหลานตาดำๆ จึงไม่คอยเฝ้าดูแลระวังรักษา ป้องกันไม่ให้ทำผิด คิดผิด หรือว่าอบรมสั่งสอนให้รู้ถูกยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เรียกว่าเด็กๆ ถูกปล่อยปละละเลย เพียงเด็กด้วยเหตุผลสักแต่ว่าพ่อมันถือว่าไปกินเหล้ากินยาซะดีกว่า หรือแม่มันก็ถือว่าไปเล่นไพ่ซะดีกว่า หรือไปทำอะไรบางอย่างบางประการที่เป็นสนุก สนานส่วนตนนั้นซะดีกว่า ที่จะมาคอยติดตามลูกหลานเล็กๆ ว่ามันจะทำอย่างไรกัน มันจะไปเล่นกันในคลอง หรือในไร่ ในนา หรือที่ไหนก็ไม่รู้ หรือปล่อยไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องการพูดจา กิริยาท่าทาง เด็กๆ จึงเป็นเด็กที่กระด้าง แล้วก็ไปซัดให้ครูที่โรงเรียนจะเป็นผู้อบรมสั่งสอน เรื่องมันก็ไม่พอกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นเด็กๆ ที่ไม่ควรจะเป็นไปในลักษณะบางอย่างบางประการนั้นมากขึ้น เรียกว่า เสื่อมลงในทางจิตใจ ไม่เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิต มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น แม้ปู่ย่าตายายที่ได้ตายไปแล้วเกิดมามองเห็นเข้า ก็จะเกิดสมเพช เวทนา เสียอกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
ฉะนั้นจึงหวังว่าเราทุกๆ ทุกคนควรจะตอบแทนบุญคุณปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้วนั้น ด้วยการช่วยกันปรับปรุงแก้ไขให้ความเป็นอยู่ของพวกเราในสมัยนี้ บริสุทธิ์สะอาดแจ่มใส สว่างไสวยิ่งขึ้นจงทุกคน เพื่อให้ความเห็นแก่ตัวนั้นน้อยลง ให้เห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวมากเกินไปเสียแล้ว เห็นแก่ตัวจนจะเชือดคอตน เองแล้ว หมายความว่า ถ้าความเห็นแก่ตัวมันมากหนักเข้าแล้วมันก็มืด มืดจนไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้ถูกต้อง มันจึงทำผิด จนกระทั่งทำลายตัวเองก็ยังเห็นเป็นการถูกอยู่ ทำตัวเองให้เสื่อมเสียก็ยังเห็นเป็นการถูกอยู่ นั่นแหละคืออาการของคนมืด แล้วมันมืดยิ่งขึ้นเพราะการเห็นแก่ตัวที่เป็นไปหนักขึ้นๆ เห็นแก่ตัวด้วยความโลภ เห็นแก่ตัวด้วยความโกรธ เห็นแก่ตัวด้วยความหลง มันล้วนแต่เป็นเห็นแก่ตัวทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนที่โลภมากนั้นก็เป็นคนที่คิดว่าจะรวยใหญ่ จะเอาให้ได้มากนั่นเอง แต่แล้วมันกลับไม่ได้แล้วยังกลับเสียหายนี่เรียกว่าความมืด ถ้ามีความสว่างแล้วก็จะรู้จักทำให้พอเหมาะพอดี ไม่ให้เสียไปในทางที่ไม่ควรจะเสีย มีแต่จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะ ฉะนั้นแหละจึงได้กล่าวว่า เห็นแก่ตัวมากเกินไปแล้วก็จะเชือดคอตัวเองเป็นแน่นอน ไม่ต้องมีใครมาเบียดเบียนจากข้างนอกเลย เพราะจะเบียดเบียนตนเองได้มากยิ่งกว่าที่คนข้างนอกจะเบียดเบียนเสียอีก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ระวังศัตรูข้างใน ศัตรูข้างในก็คือจิตใจที่ตั้งไว้ผิด จงจำไว้ให้ดีๆ เป็นคำสั้นๆ ว่า จิตใจที่ตั้งไว้ผิด จิตใจที่ตั้งไว้ผิดนี้เป็นศัตรูของมนุษย์ยิ่งกว่าศัตรูใดๆ มันเป็นศัตรูข้างในและทำอันตรายยิ่งกว่าศัตรูข้างนอก ใจตั้งไว้ผิดแล้วเป็นศัตรูข้าศึกใหญ่หลวงทีเดียว แล้วก็ดึงศัตรูข้าศึกข้างนอกรอบด้านเข้ามาทีเดียว ก็เลยวินาศกันหมดไม่มีเหลือ ก็มีศัตรูทั้งข้างนอกและข้างในดังนี้ เพราะฉะนั้นจงระวังศัตรูข้างในคือ จิตใจที่ตั้งไว้ผิดนี้ให้มาก จงพยายามสอดส่องมองให้เห็นแล้วพยายามฆ่า ทำลายมันเสีย คือ การละความเห็นผิด ละการที่ตั้งไว้ผิดนั้นเสียเอง ให้กลายเป็นการตั้งไว้ถูก ถ้าไม่สามารถจะทำได้ด้วยตนเอง ก็อาจจะศึกษาได้จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ดื่นดาษ ดาษดื่นแพร่หลายที่สุดแล้ว ให้เอาไปเป็นเครื่องชำระ ชะล้างความผิดนั้นเสียให้เป็นผู้ตั้งใจไว้ถูก เมื่อจิตใจตั้งไว้ถูกแล้วก็จะกลายเป็นมิตรที่ดี ไม่มีมิตรอันใดจะยิ่งไปกว่า จิตใจที่ตั้งไว้ถูกนั่นแหละจะเป็นมิตรที่ดียิ่งกว่ามิตรใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นผู้ช่วยให้รอดจากความทุกข์ทั้งปวง เรื่องมันจึงเหลืออยู่นิดเดียวเพียงสองคำว่า จิตใจที่ตั้งไว้ผิดนั้นอย่างนึง จิตใจที่ตั้งไว้ถูกนั้นอย่างนึง จิตใจที่ตั้งไว้ผิดก็เป็นข้าศึกศัตรูอย่างร้ายกาจ ไม่มีข้าศึกศัตรูอันใดจะร้ายกว่า จิตใจที่ตั้งไว้ถูกนั้นก็เป็นมิตร เป็นสหาย เป็นผู้สงเคราะห์ เป็นผู้ช่วยเหลือค้ำชูอย่างยิ่งไม่มีมิตรอันใดจะดียิ่งไปกว่า เดี๋ยวนี้เรามีจิตใจที่ตั้งไว้ผิดหรือตั้งไว้ถูก เราควรจะพิจารณาดูให้ดี ที่ต้องพิจารณาดูให้ดีเพราะว่า มันพิจารณายากมาก คนที่เมาก็เถียงว่าตัวไม่เมา คนที่บ้าก็เถียงว่าตัวไม่บ้า คนที่ตั้งจิตไว้ผิดก็เหมือนกันจะต้องมีความรู้สึกว่าตนตั้งใจไว้ถูกเสมอนั้น จึงหลอกลวงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งใจไว้ผิดก็เห็นเป็นตั้งใจไว้ถูก มันจึงได้ทำไปได้กระทำไปอย่างนั้น คือตามที่ตั้งไว้ผิด ดังนั้นอย่าได้ประมาทเลย อย่าได้ประมาทเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เป็นเรื่องที่ยากจะมองเห็นได้จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสย้ำแล้วย้ำอีก ย้ำนักย้ำหนาในเรื่องความไม่ประมาท เราควรจะเชื่อฟังท่านเป็นอย่างยิ่งในข้อที่จะไม่ประมาท แล้วมาคิดดูให้ดีด้วยจิตใจที่เป็นธรรม เที่ยงตรง ตรงไปตรงมา อะไรผิด อะไรถูก ตั้งไว้ผิด หรือตั้งไว้ถูกอย่างนี้ต้องตัดสินกันให้เป็นธรรม ถ้าเห็นว่ามันผิดแล้วก็จะต้องละเสีย ถ้าเห็นว่ามันผิดแล้วยังไม่ละ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีประโยชน์อะไร การที่ตั้งใจไว้ผิดแล้วไม่ละ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการผิดสองซ้อนสองซ้ำเข้าไปทีเดียว หรือมีบางสิ่งบางอย่างมาบีบบังคับทำให้ละไม่ได้ เช่น ติดการเล่นไพ่ รู้ว่ามันผิดแต่มันก็ละไม่ได้ หรือติดสุรายาเมาทั้งที่ก็รู้ว่ามันไม่ควร มันก็ละมันไม่ได้ นี้ เรียกว่า ไม่มีการบังคับตัวเองที่เพียงพอ และยังต้องยอมรับว่าจิตนั้นยังตั้งไว้ผิดอยู่นั่นเอง จะถือว่าตั้งไว้ถูกไม่ได้ เพราะว่าถ้าตั้งไว้ถูกได้มันก็ต้องเป็นเรื่องละได้แน่นอน บังคับตัวเองได้แน่นอน นี่แหละคือข้อที่จะต้องคิดแล้วสำหรับลูกหลานสมัยนี้ ในเมื่อเรานึกถึงปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วนั้นว่าท่านมีหลักเกณฑ์อย่างไรกัน ท่านมีการเป็นอยู่อย่างไรกัน และต่อจากนั้นก็จะได้พยายามทำให้ถูกใจปู่ย่าตายายยิ่งขึ้น
เรื่องที่จะต้องกล่าวต่อไปในคราวนี้ ต่อไปจากที่กล่าวมาแล้วแต่ปีก่อนๆ ก็ควรจะมี เราไม่จำเป็นจะต้องพูดซ้ำซากกันทุกปีในเรื่องเดียวกัน แต่ให้เอาใจความสำคัญบางอย่างบางประการมากล่าวกันซ้ำๆ เพื่อกันลืม สำหรับเรื่องที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้ สมัยสำหรับคราวนี้ก็มีอยู่ว่า เราน่าจะลองนึกถึงข้อที่ปู่ย่าตายายมีอะไรดีๆ ที่เราจะเอาของท่านมาบ้าง มาได้บ้าง เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตายายนักหนาแล้ว เดี๋ยวนี้เราจะเรียกเอาอะไรจากตายายบ้าง คิดดูแล้วก็ไม่เห็นอะไรดีไปกว่า ตัวอย่างที่ดีของปู่ย่าตายายอีกนั่นเอง ถือว่าความดีบางอย่างบางประการที่ปู่ย่าตายายได้ทำไว้ ข้อนี้เราต้องระลึกนึกถึงสิ่งที่ปู่ย่าตายายได้มีไว้ ได้ทำขึ้นชนิดที่พวกเราเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นถ้าจะสรุปพูดกันให้สั้นๆ ก็ต้องพูดว่าปู่ย่าตายายสมัยโน้นรู้ธรรมรู้ธรรมะเข้าใจธรรมะดีกว่าพวกเราสมัยนี้ ขอยืนยันซ้ำอีกทีนึงว่า ปู่ย่าตายายของเราสมัยโน้นรู้ธรรมะดีกว่าพวกเราสมัยนี้ ทีนี้คนที่พูดบางคนก็จะเถียงว่า สมัยปู่ย่าตายายไม่ได้เรียนอะไรมากมาย หนังสือสักเล่มก็หาแทบจะไม่ได้ มีสักเล่มก็ยืมกันจนไม่เหลือสักกี่ใบ ขาดแล้วขาดอีก และคนสมัยนี้มีหนังสือมาก มากมายนับไม่ไหว แล้วก็สอนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง แล้วทำไมปู่ย่าตายายจึงรู้ธรรมะได้มากกว่าคนสมัยนี้ ข้อนี้มันไม่จริงอย่างที่พูดไปแล้ว คือว่าคำว่ารู้ธรรมะนี้ มันมีหลายรู้ ไอ้รู้ชนิดเรียนๆ จำๆ ขีดๆ เขียนๆ จดๆ ไว้นี้มันก็เป็นการรู้เหมือนกันแต่เป็นการรู้ชนิดที่ผิวเผิน เป็นการรู้ที่ไม่ได้ฝังอยู่ในจิตใจ เป็นเพียงความจำไว้พูด ไว้เถียง ไว้อวดดีกันซึ่งเป็นเหตุให้ลูกหลานสมัยนี้ บ้าน้ำลายในการพูดยิ่งกว่าปู่ย่าตายายซึ่งไม่ค่อยรู้อะไรแล้วก็พูดไม่ค่อยเป็น สมัยนี้มันเรียนมากมันก็เลยพูดบ้าน้ำลายได้มาก มันไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริงที่อยู่ในใจ นี่จึงคิดดูว่าความคิดชนิดไหนจะดีกว่ากัน คือว่าความรู้ชนิดไหนจะดับทุกข์ได้มากกว่ากัน ความรู้ที่สำหรับพูดนั้น มันมีแต่จะสร้างเรื่องทะเลาะวิวาทกันขึ้นมากกว่า และจะสร้างเรื่องความเห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน หรืออะไรทำนองนี้กันขึ้นมากกว่า หรือว่าอย่างดีที่สุดมันก็รู้สำหรับเอาไปพูด เอาไปหลอกคนอื่น เพื่อหาประโยชน์เป็นเงินเป็นทองมากกว่า ไม่ใช่รู้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติทำลายข้าศึกในภายใน เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด ดังนี้ก็หาไม่ ส่วนความรู้ของปู่ย่าตายายนั้น บางทีรู้ถึงขนาดที่พูดออกมาไม่ได้ พูดออกมาไม่เป็น พูดออกมาไม่ออก แต่ก็รู้พอที่จะหยุดยั้งกิเลสหรือความรู้สึกที่ต่ำที่ทราม กลายเป็นคนที่มีจิตใจสะอาดดี สว่างดี สงบดีกว่าคนที่รู้มาก หรือพูดได้มากในสมัยนี้ไปเสียอีก ดังนั้นขอให้ทุกคนจับใจความสำคัญให้ได้ว่าที่ว่ารู้รู้นั้น มันเป็นหลายรู้ด้วยกันมันไม่เหมือนกัน ถ้ารู้จริงต้องหมายความว่าดับข้าศึกหรือกิเลสในภายในแทนได้ ถึงจะเรียกว่ารู้จริง ถ้าดับกิเลสที่ข้าศึกในภายในไม่ได้ แม้จะรู้หมดทั้งพระไตรปิฎกก็เท่ากับไม่รู้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นลูกหลานสมัยนี้ จะ ต้องคิดดูเสียใหม่ก่อนที่จะพูดว่าตายายไม่รู้อะไร ถ้าหากว่าเราจะได้พิจารณาดูกันอย่างละเอียดด้วยความยุติธรรม ด้วยความเคารพ แล้วจะพบว่าปู่ย่าตายายรู้อะไรอย่างแท้จริงและลึกซึ้ง แม้ว่าจะพูดไม่ได้แต่ก็รู้จริงและลึกซึ้ง พูดออกมาได้สักคำหนึ่งก็ถูกมากมาย เป็นหลักเป็นฐานมากมาย เพราะว่ากันตามที่จริงแล้ว เราจะเห็นได้ว่าปู่ย่าตายายรู้ธรรมะมากถึงขนาดที่พูดได้เหมือนกันแม้จะไม่ทุกคน ถ้าเรายังยังได้เห็นแม้แต่ว่าบทเพลงสำหรับกล่อมลูกให้นอน อย่างบทเพลงเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์หรืออะไรทำนองนี้ มันก็เป็นบทเพลงธรรมะอย่างสูงถึงเรื่องนิพพาน แต่ว่าลูกหลานสมัยนี้มันโง่จนถึงขนาดที่ไม่รู้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องนิพพาน เข้าใจว่าเป็นเรื่องมะพร้าวธรรมดาแล้วก็เลยงงไม่รู้ว่ามันจะเป็นได้อย่างไร แล้วก็เลิกกัน แม้จะเอามากล่อมลูกเล่นด้วยบทๆ นี้ก็ไม่รู้ความหมายอะไรเลย นี้เป็นเครื่องชี้ว่า ปู่ย่าตายายนั้นรู้เรื่องนิพพานถึงขนาดเอามาผูกเป็นคำกลอน สำหรับให้เด็กๆ กล่อมน้องกล่อมลูกก็ยังได้ แล้วคนสมัยนี้ทำได้มั๊ย ลิเกมีทำที่ไหนบ้าง มันก็มองเห็นได้ว่าไม่มีทางที่จะทำได้ เพราะมัวแต่ไปกินเหล้า เล่นไพ่ หรือมัวแต่ไปทำอะไรบาง อย่างซึ่งตรงกันข้ามเสมอ จะมาสนใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร
ทีนี้จะมานึกดูกันอีกทีหนึ่งว่า ในบรรดาธรรมที่ปู่ย่าตายายรู้ธรรมะดีแล้วพูดไว้สั้นๆ นั้นมันมีธรรมอะไรบ้าง ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาให้ฟังซักสองสามธรรม ปู่ย่าตายายได้สรุปธรรมะหมดทั้งพระไตรปิฎกทีเดียว สรุปไว้เป็นคำสั้นๆ ไม่กี่ธรรม เช่นว่า งามนั้นอยู่ที่ผี ดีนั้นอยู่ที่ละ พระนั้นอยู่ที่จริง นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เพียงสี่คำเท่านั้น ท่านทั้งหลายลองคิดว่าปู่ย่าตายาย พูดผิดหรือพูดถูก พูดไปอย่างไม่รู้หรือว่าพูดอย่างรู้ แล้วเป็นคำที่มีใจ ความกว้างขวาง ครอบงำคำสอนทั้งหมดได้หรือไม่ ลองฟังดูใหม่ที่ตายายพูดว่า งามอยู่ที่ผี ผีในที่นี้คือซากศพที่เหม็นเน่า ว่างามอยู่ที่ผี แล้วก็ดีนั้นอยู่ที่ละ แล้วพระนั้นอยู่ที่จริง นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย นี้เรามาพิจารณาดูความหมายของคำสี่คำนี้กันดีกว่า เพื่อจะได้รู้จักตายายของตัวเองดีขึ้น ข้อที่ตายายว่างามอยู่ที่ผีนั้นหมาย ความว่า ลูกหลานสมัยนี้มันงามอยู่ที่แต่งเนื้อแต่งตัว เอาสิ่งต่างๆ มาลูบไล้ฉาบทา ดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขเนื้อหนัง ให้มีความงามแล้วก็หลงใหลกันว่างาม ส่วนตายายนั้นบอกว่างามอยู่ที่ซากผี ให้ลองไปคิดดูว่าของใครจะถูกของใครจะจริงกว่ากัน ไอ้เรื่องงามอยู่ที่การประดับตกแต่งนี้มันมีความหมายอย่างไร ทุกคนก็พอจะมองเห็นได้ว่า มันตกเป็นบ่าวเป็นทาส เป็นขี้ข้าของกิเลสตัณหา มันจึงจะเห็นว่างามอยู่ที่ประดับตกแต่ง ถ้าจิตใจไม่เป็นทาส เป็นบ่าวของกิเลสตัณหาแล้ว มันจะไม่มัวเหน็ดมัวเหนื่อยอยู่ด้วยการประดับตกแต่ง จะไม่สิ้นไม่เปลืองอยู่ด้วยการประดับตกแต่ง เพราะมันเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น มันเป็นเรื่องมายา หลอกตนเองด้วย หลอกคนอื่นด้วยให้เห็นว่างาม ก็เลยหยุดกัน ไม่ไปหลงงามที่เรื่องมายาอย่างนั้น นี้มาดูว่างามที่ซากผีนั้นมันงามอย่างไร ข้อนี้มันจะเห็นได้แต่คนที่มีจิตใจสูง สูงกว่าที่จะไปคิดไปเห็นไปคิดผิดๆ ไปหลงผิดๆ นั้นมันจึงจะมองเห็นได้ เพราะถ้ายังไปหลงขนาดว่าเรื่องอบายมุขต่างๆ มีสุรายาเมาการพนันเสเพลต่างๆ เป็นของดีแล้ว คนเช่นนั้นจะมาเห็นซากผีว่างามไปไม่ได้ คนที่เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูกอย่างแท้จริงแล้วเท่านั้นจึงจะมาเห็นว่างามนี้อยู่ที่ผี หมายความว่า ถ้ามีสติปัญญาถูกต้องอยู่กับเนื้อกับตัว มองดูที่ซากผีแล้ว ก็จะเห็นอะไรต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นเครื่องเกื้อกูล ไม่ให้โง่ ไม่ให้หลง แต่กลับจะชักจูงไปในทางที่จะประพฤติถูก ประพฤติดี และประพฤติอย่างสูงคือปล่อยวาง ประพฤติไปในทางที่จะกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงเสีย อย่างถ้าจะมองดูที่โครงกระดูกที่แขวนอยู่ข้างหน้าเรานี้ใครจะมองเห็นว่างามบ้าง เว้นไว้เสียแต่คนบางคนจะมองเห็นว่า มันแสดงให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และช่วยให้จิตใจสงบเย็นลงไปทันที มันเป็นมิตรสหายแก่เรา มันแสดงสิ่งที่มีประโยชน์แก่เรา หรือว่ามันแสดงของจริงอยู่ที่นั่น แสดงความจริงอยู่ที่นั่น คือที่ซากผีนั่นแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เต็มตัว แสดงความจริงบางอย่างบางประการอยู่เต็มตัว ยิ่งมองยิ่งเห็น ยิ่งเห็นก็ยิ่งรู้สึกว่างดงาม คือทำให้ว่างจากของสกปรกคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง ของสกปรกอย่างยิ่งนั้นคือกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ถ้าไปเห็นของสกปรกเหล่านั้นว่าดีว่างามเสียแล้ว มันก็ไม่อาจจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นว่างามได้ มันจึงไม่เห็นว่าซากผีนี้งาม แต่ถ้าเป็นคนรักที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รักที่จะมีจิตใจสงบแล้ว เห็นซากผีย่อมจับตาและจับใจยิ่งกว่าคนที่ประดับตกแต่งสวยสดงดงามตามภาษามายาหลอกลวง ซึ่งไม่ใช่ของจริง เดี๋ยวนี้มาเห็นของจริงที่ซากผีจึงเห็นว่างามแล้วก็พอใจที่จะดู ฉะนั้นปู่ย่าตายายของเราฉลาดมากหรือฉลาดน้อยลองคิดดูกันข้อนี้ก็แล้วกัน ที่ปู่ย่าตายายกล่าวว่างามอยู่ที่ผี ถ้าคนเราที่เป็นลูกหลานนี้มางามกันอยู่ที่ผีกันให้ได้ทุกคนแล้วบ้านเมืองจะดีกว่านี้ จะอยู่เย็นเป็นสุขกันกว่านี้ เดี๋ยวนี้มันไปงามอยู่ที่ของหลอกลวง ทีนี้เราลองพูดกลับกันเสียใหม่ให้มันสมน้ำหน้าคนสมัยนี้ว่า ไอ้คนที่แต่งตัวสวยสดงดงามลูบไล้ปรุงแต่งกันเป็นอย่างยิ่งนั่นแหละ มันคือผี เพราะมันเป็นการหลอกลวง หลอกลวงด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง น้ำมูกน้ำมัน แป้งหอมต่างๆ ที่เอามาลูบมาทาจนดูว่างาม พอแต่งเสร็จมันก็เป็นผี คือ มันหลอกคนอื่นให้เห็นว่างามทั้งที่ข้างในไม่งาม เพราะฉะนั้นการที่คนปู่ย่าตายายพูดว่างามอยู่ที่พวกผีนั้นมันก็ถูกดีแล้วเหมือนกัน แต่เรื่องมันกลับกัน ในการที่จะพูดว่างามอยู่ที่ซากผีเพราะมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ดูนี้มันก็ถูก แต่ถ้าจะว่างามอยู่ที่พวกประดับประดาตกแต่งของปฏิกูลให้ดูเป็นงาม มีอาการคล้ายกับกับผีเพราะหลอกลวงนั้นมันก็ถูกเหมือนกัน งั้นคำพูดของปู่ย่าตายายของเรามันถูกทั้งขึ้นทั้งล่อง มันไม่มีทางที่จะผิดได้ดังนี้ แล้วทำไมเรายังไม่รู้จักนับถือปู่ย่าตายายกันเสียบ้างเล่า ควรจะคิดดูให้ดีๆ ให้เข้าใจคำกล่าวข้อนี้ แล้วเอาไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ด้วยกันทุกคน
ทีนี้เราลองดูข้อต่อไปซิว่า ดีอยู่ที่ละ ตายายท่านว่าดีอยู่ที่ละ ส่วนคนสมัยนี้ว่าดีอยู่ที่ได้ ลูกหลานสมัยนี้พูดว่าดีอยู่ที่ได้ ได้เอามามากๆ ได้มาเท่าไรยิ่งมากยิ่งดี ได้ถ้าได้แล้วก็เป็นดี ส่วนตายายนั้นว่าดีอยู่ที่ละคือสละให้มันหมดไป สละออกไปๆ สละออกไปให้หมดมันจึงจะดี ลูกหลานสมัยนี้เอามาให้มาก เอาเข้ามาให้ไม่รู้จักสิ้นสุดจึงจะดี มันเถียงกันอยู่อย่างนี้ ขอให้ลองวินิจฉัยกันดูว่า ปู่ย่าตายายผิดหรือถูก เรานี้เป็นผู้ผิดหรือผู้ถูก ปู่ย่าตายายพูดไปด้วยความหมายอย่างไร เราเห็นได้ว่าท่านมีความหมายเหมือนพระพุทธเจ้า ในข้อที่กล่าวว่ายิ่งยึดมั่นถือมั่นเอา ไว้เท่าไรก็ยิ่งเป็นความทุกข์มากเท่านั้น คือยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น เพราะนั้นละเสียแม้โดยจิตใจ ละออกไปไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนี้ก็ยังไม่เป็นทุกข์แล้ว ฉะนั้นมันจึงดีอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์และดีอยู่ที่ละออกไป ไอ้ที่เอาเข้ามาเอาเข้ามาได้แล้วว่าดีนี่มันดีอยู่ที่กิเลสตัณหา มันดีอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น เอามาสำหรับเผารนตัวเองให้เร่าร้อน และจะต้องทะเลาะวิวาทแย่งชิงกันไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นใครจะดีกว่ากันก็ลองนึกดู สำหรับตายายนั้นเข้าข้างพระพุทธเจ้าแท้ เพราะยิ่งละออกไปก็ยิ่งไม่มีความทุกข์ ละออกไปกิเลสก็ยิ่งเบาบาง ถึงแม้จะมีอยู่เก็บไว้ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นของมีอยู่เป็นของตน ถึงเรียกว่าเป็นการละอยู่ตลอดเวลาก็เลยไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นท่านจึงพอใจที่จะกล่าวว่าดีนั้นอยู่ที่ละ ไม่ใช่ดีอยู่ที่เอาเข้ามาเอาเข้ามา นี่เป็นหลักธรรมะทั้งหมดใน พระพุทธศาสนา ที่ว่าความทุกข์เกิดมาจากตัณหาและอุปาทาน ตัณหาคือความอยาก อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์เกิดมาจากตัณหาและอุปาทาน ถ้าไม่มีตัณหาอุปาทานก็ไม่มีทุกข์ ฉะนั้นปู่ย่าตายายว่าดีอยู่ที่ละก็เป็นการถูกอย่างยิ่ง คือ ดีอยู่ที่ไม่มีตัณหาอุปาทาน แปลว่าท่านเข้าข้างพระพุทธเจ้าเต็มที่ แล้วคำพูดนี้ก็ถูกต้องอย่างเต็มที่ว่ามันดีอยู่ที่ละ ไม่ใช่ดีอยู่ที่เอาเข้ามา ถ้าเราจะเป็นลูกหลานของปู่ย่าตายายแล้วเรามาประพฤติตนเป็นดีที่ได้ ดีอยู่ที่ตรงที่ได้อย่างนี้แล้ว จะเป็นลูกหลานของปู่ย่าตายายได้อย่างไร ในเมื่อปู่ย่าตายายถือหลักว่าละออกไปจึงจะดี ฉะนั้นลูกหลานมาถือหลักว่าเอาเข้ามาจึงจะดี แล้วมันจะเป็นลูกหลานเป็นตาเป็นยายกันได้อย่างไร ในที่สุดต้องแยกทางกันเดิน ปู่ย่าตายายอยู่ด้วยความเป็นสุขสงบ ลูกหลานก็อยู่ด้วยความเร่าร้อน เร่าร้อนมากถึงขนาดที่เรียกว่า กลางคืนก็อัดควัน กลางวันก็เป็นไฟ หาความสงบสุขไม่ได้ทั้งหลับและทั้งตื่น นี่การที่ลูกหลานมาพลิกไปเสียว่าได้จึงจะดี ไม่ยอมรับว่าละออกไปจึงจะดี ข้อที่ว่าได้จึงจะดีนี้ มันหมายถึงได้ในทางวัตถุ เป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ เป็นเหยื่อของกิเลสตัณหาทั้งนั้น ไม่ใช่ได้มรรคผลนิพพาน เรื่องได้มรรคผลนิพพานนั้นเป็นเรื่องละ คน เราจะต้องมีการละ และจะมีมรรคมีผลมีนิพพานอยู่ในตัวการละนั้น การละต่างหากเป็นตัวมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ตัวการได้ อย่าได้เข้าใจผิดไปว่าสิ่งที่ว่าได้แล้วก็จะเป็นการดี มันไม่มีทางที่จะเป็นการดีที่ตรงไหน นอกจากจะเป็นปัญหายุ่งยากไปทั้งนั้น แม้จะได้มาโดยสุจริต เอามายึดถือไว้ว่าเป็นตัวกูเป็นของกูอย่างนี้ มันก็เผารนหรือขบกัดบุคคลนั้นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีสร่าง มันจึงไม่มีดีที่ตรงไหน ถึงแม้ว่าได้มาเก็บรักษาไว้แต่อย่ารู้สึกว่าได้ ในใจต้องละออกไปจากความเป็นของตนนี้เรียกว่าละ มันจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไม่วิตกกังวล เพราะการที่มีอะไรไว้ หรือได้อะไรมา ให้เห็นได้ว่าคำพูดของปู่ย่าตายายนี้ ในข้อที่ว่าดีที่อยู่ละนี้ไม่มีทางที่จะผิดเลย เป็นการถูกต้องโดยสมบูรณ์ ไม่มีส่วนบกพร่องอย่างใด และลูกหลานก็ยังไม่สนใจ หรือลูกหลานก็ยังไม่ยินดีที่จะประพฤติตามนี้ ก็เรียกว่าเราไม่ได้รับของดีจากตายายทั้งที่หวังจะได้ งามอยู่ที่ซากผีนั้นก็ไม่เอาอย่างหนึ่งแล้ว และให้ดีตรงที่ละนี้ก็ไม่เอาอีก นี่ลองพิจารณาดูว่า ข้อถัดไปที่ว่า พระอยู่ที่จริง อือ ว่าตายายหมายความว่าอย่างไร ตายายไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่วัด ไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่โกนหัวนุ่งเหลือง หรือไม่ได้พูดว่าพระอยู่ที่ต้องทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไอ้กรรมอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าพระอยู่ที่จริง ตายายหมายความว่าคนที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบอายุศาสนาจริง ครบทั้งห้าจริงนี้จึงจะเรียกว่าเป็นคนจริงและเป็นพระ ไม่ได้พูดเป็นอย่างอื่นเลย พูดว่าจริงสั้นๆเพียงคำเดียวว่า พระอยู่ที่จริง นี้คือของเรานี้จะต้องว่าบวชก็จริง เรียนก็จริง ปฏิบัติก็จริง ได้ผลก็จริง สอนผู้อื่นก็จริง ทีนี้คนฟังบางคนอาจจะคิดว่าต้องบวชเป็นพระเป็นเณรเสมอไปจึงจะเป็นพระ ความจริงนั้นไม่เป็นอย่างนั้น ความจริงนั้นมีอยู่ว่าถ้าใครเป็นคนจริงคนนั้นก็เป็นพระ แม้อยู่ที่บ้านที่เรือนมีครอบครัวก็เป็นพระได้ เพราะเรายอมรับกันว่าพระโสดาบันอยู่บ้านอยู่เรือนมีภรรยาสามีก็มี พระสกิทาคาอยู่บ้านอยู่เรือนมีสามีภรรยาก็มี พระอนาคามีเป็นฆราวาสอยู่บ้านไม่อยู่วัดก็ยังมี แล้วทำไมพระจะอยู่ที่บ้านไม่ได้ พระอยู่ที่บ้านได้ก็เพราะว่าที่ไหนมีเรื่องจริง พระก็มีอยู่ที่นั่น จะมีการรู้จริง ปฏิบัติจริง ดับกิเลสได้จริง เป็นผู้ดับทุกข์จริง มันก็เรียกว่าเป็นพระได้ ข้อที่ว่าบวชจริงนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องบวชอย่างพระอย่างเณรเสมอไป บวชอย่างชาวบ้านก็ได้ บวชอย่างชาวบ้านก็คือเป็นพุทธบริษัทที่ดี เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดี เพราะคำว่าบวชนี้แปลว่าเว้นเท่านั้นเอง เมื่อเว้นสิ่งที่ควรเว้นได้แล้วก็เรียกว่าบวชทั้งนั้น เพราะคำว่าบวชแปลว่าเว้น ท่านทั้งหลายจงจำคำว่าบวชนี้ให้ดีๆ ว่าคำว่าบวชนี้ แปลว่า เว้น ถ้าที่ไหนมีการเว้นจากสิ่งที่ควรเว้นแล้วที่นั้นก็มีการบวช ฉะนั้นเราเลิกพูดเรื่องอยู่ที่บ้านหรือยู่ที่วัดกันเสียที พูดถึงกันแต่ว่าที่ไหนมันมีการเว้นจริง ที่นั้นก็มีความจริงชนิดที่ทำให้คนเป็นพระได้ เป็นพระโสดา สกิทาคา เป็นอนาคา ก็ยังได้ถ้าให้มันจริง เรามาสนใจที่จริงกันดีกว่า สนใจกันที่คำว่าจริงคำเดียวก็พอแล้ว ก็ทำอะไรให้มันจริง อย่าให้มันเป็นเท็จ เป็นมายา เป็นหลอกลวง ตัวเองและผู้อื่นต่อไปอีกเลย เมื่อชั่วก็ให้มันชั่วจริงจะได้ละเสียจริงๆ ถ้าว่าดีก็ให้ดีจริงจะได้ประพฤติปฏิบัติกันให้จริงๆ อย่าเห็นว่าชั่วแล้วมันก็ยังไม่ยอมละแล้วบังคับตัวเองให้ละไม่ได้อย่างนี้มันเรียกว่าไม่จริง เช่น เล่นไพ่ก็รู้ว่าไม่ดีและไม่จริง กินสุรายาเมาก็รู้ว่าไม่ดีไม่จริง แต่แล้วก็ยังไม่ยอมละ นี้คือว่าไม่จริง ถ้าจริงมันก็ต้องละทันที แล้วมันก็มีการเว้นจริง มีผลดีจริง มีอะไรเป็นจริงขึ้นมา มันก็เป็นพระได้เหมือนกัน อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลย แม้แต่เด็กเล็กๆ ถ้ามันมีอะไรจริงก็จงยกมือไหว้มันเถิด เพราะว่ามันก็เป็นพระเหมือนกัน มันเป็นพระอยู่ที่จริง อยู่ที่ความจริงดังนี้ นี้ปู่ย่าตายายพูดถูกมากหรือถูกน้อยก็ลองคิดดูว่า พระอยู่ที่จริงนี้มันเป็นอย่างไร เราจะได้สนใจกันแต่เพียงเรื่องเดียวสั้นๆ ว่าจริงกับไม่จริง และเราจะได้พบพระจริงๆ ไม่ ใช่พบพระแต่เพียงว่าเป็นพิธี เราจะได้รู้จักพระจริงๆ พบพระจริงๆ จะได้มีพระที่แท้จริง ไม่ใช่มีพอสักว่าเป็นพิธี ปู่ย่าตายายของเราพูดสั้นที่สุดว่าพระอยู่ที่จริง แต่ลูกหลานก็หาพระนั้นไม่พบ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วยังไปสนใจผิดพระแล้วยังไปติดต่อผิดพระ ไปทำบุญผิดพระ อย่างนี้ก็ยังมีได้ เพราะไม่นิยมนับถือว่าพระอยู่ที่จริงนั่นเอง ฉะนั้นขอให้มีหลักเกณฑ์ที่แน่วแน่กันเสียใหม่ว่าพระนั้นอยู่ที่จริง นี้จะเอามั๊ย บางทีจะเอาได้ง่ายกว่า คือมันง่ายกว่าที่จะให้งามที่ผี หรือว่าให้ดีที่ละนั้นมันยากเกินไปสำหรับคนเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเอาพระอยู่ที่จริงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย เพราะมันยังไม่ค่อยน่ากลัวมากเหมือนอย่างนั้น ตัวเองก็จะได้อาศัยความจริงนี้ลากแขนตัวเองขึ้นมา ให้สูงขึ้นมาได้ตาม ลำดับ
ทีนี้ข้อต่อไปซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่เรียกว่านิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ถ้าพูดว่านิพพานอยู่ที่ไหน ลูกหลานโง่ๆ ก็อวดชี้ไปบนฟ้าบ้าง หรือที่ไหนบ้างจนไม่รู้ว่าจะชี้อย่างไร และกำหนดเวลาไว้ว่าหลังจากตายไปแล้ว จึงจะได้นิพพาน นี้เป็นความโง่ยี่สิบเท่าที่ว่าตายไปแล้วจึงจะได้นิพพาน ส่วนปู่ย่าตายายของเราพูดว่านิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ลูกหลานโง่ๆ ก็ฟังออก อ่า ฟังไม่ออกอีกตามเคย ไม่รู้ว่าจะให้ตายเสียอย่างไรก่อนตาย มันรู้แต่เรื่องตายเข้าโลงแล้วนำไปเผาไปฝัง แล้วให้ตายเสียก่อนนั้นมันทำไม่ถูก แต่ปู่ย่าตายายทำถูก ปู่ย่าตายายทำเป็น คือตายเสียก่อนตายนี้ท่านทำเป็น ท่านจึงได้สอนลูกหลานไว้ว่านิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย อย่าให้ทันเข้าโลง อย่าให้ทันไอ้ดับชนิดที่เอาใส่โลงนั้นน่ะให้ตายเสียก่อนนั้น ข้อนี้หมายความลึกซึ้งมาก ถ้าผู้ใดไม่สนใจกับธรรมะบางอย่างบางประการมาก่อนแล้วอาจจะเข้าใจไม่ได้เลย ไม่อาจจะเข้าใจได้เลย เพราะคำว่าตายในที่นี้มีความหมายลึก คือไม่ใช่ตายทางร่างกาย แต่ว่าเป็นตายของกิเลสตัณหา เป็นตายของจิตของใจที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู คือท่านถือกันว่าเมื่อมีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูอยู่นั้นน่ะ คือเกิดขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูแล้วนั้นว่าคือดับลงไป คือตาย อย่ามีตัวกูนี้เรียกว่าตาย พอรู้สึกว่ามีตัวกูก็เป็นเกิด ความรู้สึกว่ามีตัวกูของกูนี้ ขอให้มันหมดสิ้นเสีย อย่าให้มีเชื้อเหลือ ให้หมดสิ้นไปเสียตั้งแต่ก่อนร่างกายตาย นี้คือหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์เสียตั้ง แต่ก่อนร่างกายตาย เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องเป็นพระอรหันต์กันให้ยุ่งยาก พูดกันแต่เพียงเรื่องตายเสียก่อนตาย ว่าไอ้ความยึดมั่นถือมั่น อะไรว่าตัวกูว่าของกูนี้ให้หมดเสียก่อนร่างกายตาย คือหมดอุปาทานที่ยึดมั่นว่าร่างกายนี้ของกูว่าอะไรของกูนี้เสีย ให้หมดเสียก่อนแต่ร่างกายตาย มันก็มีค่าเท่ากับตายแล้วก่อนตายเพราะว่าตัวเราไม่มี ตัวเราไม่มีอยู่ ตัวเรามิได้มีอยู่ มีแต่ร่างกายล้วนๆ จิตใจล้วนๆ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเรา ร่างกายล้วนๆ จิตใจล้วนๆนั้นจะไปตายไปดับเมื่อไรก็ตามใจมัน แต่ส่วนตัวกูของกูที่เป็นอุปาทานนี้ต้องดับก่อนเดี๋ยวนี้ได้ยิ่งดี ดับให้เสร็จเร็วๆ ได้เท่าไหร่ยิ่งดี และอย่างน้อยก็ให้เสร็จก่อนที่ร่างกายตายจึงจะได้ชื่อว่าตายเสียก่อนตาย ก่อนแต่ที่ร่างกายจะตายลงไปนี้ เรารีบทำให้ความยึดมั่นว่าตัวเรานั่นดับไปเสียโดยสิ้นเชิง อย่าให้เกิดมาอีกได้ ความยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั้นน่ะให้สิ้นสูญเด็ดขาดไปเสียก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย ทำได้อย่างนี้เรียกว่าตายเสียก่อนตาย ตายอย่างนี้ไม่มีตายอีกต่อไป เพราะว่าตัวกูไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วมันจึงไม่ตายอีกต่อไป มันจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนไปของสังขารเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกมันว่าไม่ตาย อย่างนี้แหละคือไม่ตาย ตัวกูไม่มีแล้วก็ไม่มีอะไรตาย มีแต่สังขารร่างกายเปลี่ยนไปๆ ก็เป็นเรื่องเปลี่ยนไปๆ ของดินน้ำลมไฟ อากาศ วิญญาณ ของธาตุ ของขันธ์ ของอายตนะ ไม่ ใช่ของกู ส่วนตัวกูนั้นไม่มีอยู่แล้ว ตายเสร็จแล้วตั้งแต่หมดอุปาทาน ใครทำได้อย่างนี้ก่อนร่างกายแก่ตาย คนนั้นเรียกว่าตายก่อนตาย ตายเสร็จแล้วก็ตาย แล้วปู่ย่าตายายของเรายืนยันว่านิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ไม่ได้อยู่ภายหลังจากตายแล้ว เหมือนที่คนทั้งหลายเข้าใจกันโดยมาก คนโดยมากเข้าใจว่าต้องทำอะไรหลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ หลายแสนชาติ จึงจะได้นิพพาน จึงมัวแต่พูดอย่างนกแก้วว่า นิพพานะปัจจโยโหตุ นิพพานะปัจจโยโหตุ ไม่รู้จักสิ้นจักสุด ขอจงเป็นปัจจัยแก่นิพพานอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ แล้วก็ไม่รู้นานสักเท่าไหร่ นี้หมายความว่า ถ้ามันหวังไปอีกร้อยชาติจึงจะนิพพาน มันก็คือโง่ร้อยเท่า ถ้ามันหวังว่าอีกพันชาติจึงจะนิพพาน มันก็โง่พันเท่า ถ้ามันหวังว่าอีกอสงไขยชาติจึงจะนิพพาน มันก็โง่ตั้งอสงไขยเท่า เพราะว่าตายายบอกว่า นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตายคือที่นี่และเดี๋ยวนี้
ทีนี้ถ้าว่าจะพูดเป็นชาติๆ กันบ้าง ตายายมีวิธีพูดอย่างอื่น ด้วยตัวกูเกิดขึ้นมาทีหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่ง ตัวกูเกิดขึ้นมาทีหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่ง ฉะนั้นวันหนึ่งๆ มันเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติ เกิดเก่งตั้งหลายร้อยชาติก็มีถ้าคนนั้นมันเก่งมาก มันมีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูตัวเราขึ้นมาวันนึงหลายๆ สิบครั้ง ก็มันคือเกิดหลายสิบครั้ง แล้วก็ตายหลายสิบครั้งเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าว่าจะนิพพานหลังจากเกิดตายหลายสิบชาติ ก็ให้มันเป็นการเกิดตายหลายสิบชาติชนิดนี้ เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งมันก็หลายสิบชาติแล้ว เมื่อหลายสัปดาห์หลายเดือน มันก็หลายร้อยหลายพันชาติ หลายปีเข้ามันก็หลายหมื่นหลายแสนชาติ ร่างกายยังไม่ทันเข้าโลงมันก็ทำให้สิ้นตัวกูเสียภายในไม่กี่หมื่นกี่แสนชาติ ร่างกายยังไม่ทันเข้าโลงมันก็ได้เหมือนกัน นี่ถ้าให้ตายายมาพูดอย่างลูกหลานเขลาๆ พูดแล้วก็ต้องเปลี่ยนคำว่าชาตินี้ให้มาเป็นการเกิดของตัวกู ที่เกิดขึ้นวันหนึ่งหลายหน หลายสิบหน หลายร้อยหน และหลายวัน หลายเดือน หลายปีเข้ามันก็พอแล้วสำหรับเกิดหลายร้อยชาติ แสนชาติ หมื่นชาติ นั้นก็ควรจะตายเสียก่อนตายคือนิพพานได้ ก่อนที่ร่างกายจะเข้าโลง ถ้าเข้าใจคำว่าชาติกันอย่างถูกต้องอย่างนี้แล้ว มันก็พอพูดให้ตายายรู้เรื่อง ที่ตายายยืนยันว่านิพพานคือตายเสียก่อนตาย แต่ถ้าเป็นลูกหลานเขลาๆ ไม่รู้อะไร เดาสุ่มๆ ตามๆ กันไปว่าชาติเข้า โลงทีหนึ่งชาติหนึ่งเข้าโลงทีหนึ่งชาติหนึ่งอย่างนี้แล้ว มันก็ต้องโง่หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติไปตามเดิม แล้วมันหวังอะไรที่ไหนได้ ว่าเข้าโลงไปแล้วจะไปเอาอะไรที่ไหน ในเมื่อยังไม่เข้าโลงแท้ๆ มันก็ยังเอาอะไรไม่ได้ มันยังเขลา ยังโง่เกินไปกว่าที่จะเอาอะไรได้เดี๋ยวนี้ที่นี่ และจะไปเอาตอนตายนั้นมันจะได้อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนอย่างนั้น คำว่าชาติของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้หมายถึงการเข้าโลง แต่หมายถึงการเกิดอุปาทานว่าตัวกูของกูครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง เมื่อมีรูปเสียงกลิ่นรสเป็นต้น มากระทบตาหูเป็นต้น เกิดเป็นผัสสะ เกิดเป็นเวทนา และเกิดเป็นตัณหาอยากอย่างนั้นอย่างนี้ มีตัวกูเป็นผู้อยากขึ้นมา เรียกว่าอุปาทานดังนี้แล้ว ก็เรียก ว่าเกิดครั้งหนึ่ง เรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วมันก็เป็นทุกข์ทุกชาติ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งมันเกิดได้หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ พระพุทธเจ้าท่านหมายถึงชาติอย่างนี้อย่างหนึ่ง ส่วนจะหมายถึงชาติเกิดมาจากท้องแม่ครั้งหนึ่ง ตายเข้าโลงครั้งหนึ่งนั้น มันชาวบ้านพูด พระพุทธเจ้าท่านก็พูดเหมือนกัน แต่ถ้าต้องพูดอย่างชาวบ้านพูด แต่ท่านพูดอย่างท่านพูดของท่านเอง ท่านไม่พูดอย่างนั้น ท่านพูดว่าการเกิดแห่งอุปาทานครั้งหนึ่งก็คือชาติๆ หนึ่ง นั้นวันหนึ่งมันเกิดกี่สิบชาติ กี่ร้อยชาติก็ได้
นี้ตายายของเรา รู้ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าดีกว่าพวกเรา ตายายของเราจึงพูดว่า นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย นี้ลูกหลานที่ยึดมั่นถือมั่นในบุญกุศลหรืออะไรของแกที่สะสมไว้มากๆ แกก็จะรออยู่เรื่อยไป ไว้ให้เข้าโลงตายแล้ว เกิดมาเข้าโลงหลายๆ ร้อยหลายๆ พันชาติจึงจะนิพพานนี้มันคนละเรื่องกัน ถ้าเราจะคิดว่า เราไม่เข้าข้างใครหมด เราจะเอาเหตุผลชนิดที่จะเป็นประโยชน์ เห็นได้ชัดแล้วเราต้องคิดดูกันใหม่ ว่าเราคิดอย่างไหน เรายอมรับอย่างไหนมันจะเป็นประโยชน์แก่เรามากที่สุด แล้วเราก็จงเอาอย่างนั้นก็แล้วกัน ถ้าถือหลักอย่างนี้เราก็คงจะมองเห็นด้วยกันทั้งนั้นว่า ผู้คิดว่า เกิดตัวกูในความรู้สึกขึ้นมาครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่งนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องการเกิดจริงๆ ถ้าไม่เกิดความรู้สึกอย่างนี้แม้ร่างกายจะเกิดมาจากท้องแม่มันก็เหมือนท่อนไม้อยู่นั้นเอง ถ้าจิต ใจมันมีความคิดไปในทางอื่น ไม่เป็นไปในทางตัวกูของกู มันก็ไม่มีความหมายเป็นการเกิด แม้ว่าได้เกิดออกมา แล้วจริงๆ เฉพาะเวลาที่จิตใจมันมีความรู้สึกเป็นตัวกูเท่านั้น เมื่อนั้นในร่างกายมันพลอยจะมีการเกิดไปด้วย ดัง นั้นมันจึงต้องมีหลักว่าในร่างกายที่กำลังมีความรู้สึกว่าตัวกูเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นชาติ หรือความเกิด แม้ร่างกายที่กำลังปราศจากความรู้สึกว่าตัวกูหาได้มีชาติหรือความเกิดไม่ เช่น ในเวลาหลับเป็นต้น หรือในเวลาที่ไม่ได้คิดนึกไปในทางเป็นตัวกูของกูเป็นต้น ให้ถือว่าเป็นเพียงขันธ์ธาตุ อายตนะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยล้วนๆ ก็แล้วกัน ไม่มีตัวกู เฉพาะเวลาที่จิตปรุงแต่ง คิดนึกเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนั้นเรียกว่าชาติ แล้วชาตินั้นมันอยู่กี่นาทีก็ตามใจ หรือกี่ชั่วโมงก็ตามใจ แล้วมันดับไป ก็เรียกว่าสิ้นไปชาติหนึ่ง กว่ามันจะเกิดใหม่ ชาติอย่างนี้มันมีระยะอันสั้น ทำให้เราสามารถที่จะปรับปรุงมันได้ ควบคุมมันได้ แก้ไขมันได้ เอาชนะมันได้ และสามารถทำให้มันสิ้นสุดลงได้ อย่างนี้มันได้เปรียบข้างเรา ดังนั้นเรามาเอาข้างนี้อย่างนี้กันดีกว่า ดีกว่าที่ไปเอาชาติทางวัตถุ เกิดมาจากท้องโดยร่างกายแล้วอยู่ไปจนเข้าโลงอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ตายตัว ทำอะไรไม่ได้ แล้วความทุกข์ก็มันไม่ได้อยู่ที่นั่น ความทุกข์มันอยู่ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูนี้ต่างหาก แม้ร่างกายจะมีมา ถ้าไม่ยึดว่าเป็นตัวกูเป็นของกู มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แม้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายจะมีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ยึดว่าเป็นของกูมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานเท่านั้นจึงจะเป็นทุกข์ คือ ไปยึดแค่ว่าเป็นความเกิดของเรา เป็นความเจ็บของเรา เป็นความแก่ของเรา เป็นความตายของเรา มันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทานไปยึดอย่างนั้น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นเรื่องเพียงธรรมชาติเฉยๆ ไป ดังนั้นท่านจึงถือว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ว่าตัวเราหรือว่าของเรา ดังนั้นเมื่อยึดมั่นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ความที่ไปยึดมั่นเข้าทีแต่ละทีนั่นแหละเรียกว่าความเกิด เพราะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าตัวกูว่าของกู คำว่าชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อเราถือหลักอย่างนี้เราก็ควบคุมได้ คือควบคุมไม่ให้มันเกิดได้ ในเมื่อตากระทบรูป หูกระ ทบเสียง จมูกกระทบกลิ่นเป็นต้น หรือว่าเมื่อใจมันจะน้อมนึกคิดไปทางไหนก็ตาม เราก็ควบคุมมันได้ ให้เป็นไปในเรื่องของความรู้และสติปัญญาอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูดังนี้ เราจึงหยุดความเกิดนั้นเสียได้ คือทำให้ความตายของอุปาทานนั้นสิ้นสุดลงไปได้ แล้วเราก็สามารถตายเสีย ก่อนตายเหมือนที่ปู่ย่าตายายสอนให้ แล้วเราก็ได้รับประโยชน์เต็มที่ คือ นิพพาน ไม่มีจิตใจที่มีกิเลสหรือเป็นทุกข์อีกต่อไป เพราะสามารถตายเสียก่อนตายดังนี้
นี่คิดดูเถิดว่าลูกหลานสมัยนี้จะอวดดีไปถึงไหน เพียงแต่ตายายพูดว่าตายเสียก่อนตายก็ยังฟังไม่ถูก แล้วจะเอาปัญญาไหนมาพูดเองว่าตายเสียก่อนตาย ตายายพูดให้ฟังก็ยังพูดก็ยังฟังไม่ถูก แล้วตัวเองพูดเองคงจะเหลือวิสัยโดยแน่นอน ดังนั้นลูกหลานสมัยนี้อย่าได้อวดดีไปนักเลย จงยินดีรับเอาสิ่งที่ตายายมีให้กันเสียบ้าง ว่าตายายมีอะไรให้ก็จงรับเอามาแล้วก็จงมาพิจารณาดู มันมีอยู่หลายอย่างเหมือนกัน แต่ว่าอย่างดีที่ที่เป็นอย่างดีที่สุดที่ควรจะรับเอาทันทีเร็วๆๆ นั้น เห็นว่าข้อนี้เอง คือข้อที่ตายายพูดว่า งามอยู่ที่ผี แล้วก็ดีอยู่ที่ละ แล้วก็พระอยู่ที่จริง แล้วก็นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เพียงสี่ข้อนี้เท่านั้น แล้วก็จะได้อะไรทั้งหมดที่ตายายมีให้เราและดีที่สุดด้วย และเรายังแถมได้อะไรๆ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุดด้วย คือหมดทั้งพระไตรปิฎกทีเดียว เพราะว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้นก็ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากเรื่องเอาชนะกิเลส ตัณหา ดับอุปาทานเสียให้ได้ อย่าให้มีอุปาทานยึดมั่นว่าตัวเราว่าของเรานั่นเอง พระไตรปิฎกทั้งสิ้นมีใจความเพียงเท่านี้ ที่คำพูดมันมีมากก็เพราะว่าเป็นคำอธิบาย ฉะนั้นตายายพูดนั้นก็เป็นพูดหมดทั้งพระไตรปิฎกด้วยเหมือนกัน นี้เป็นการสะดวกแก่ลูกหลานที่ได้ยินได้ฟังแล้ว เอามาคิดมานึกประพฤติปฏิบัติ เพียงสั้นๆ เท่านี้ก็จะบรรลุนิพพานได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตายายไม่พูดอะไรกี่คำ ตายายพูดแต่ว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เท่านี้ก็พอแล้ว พอเหมือนกับที่ลูกหลานสมัยนี้จะพูดเป็นชั่วโมงๆ เป็นเดือนๆ ปีๆ หรือจนตลอดชีวิต มันก็ไม่พูดอะไรให้มากไปกว่าสี่คำนั้นได้ นี่เรียกว่าเราพ่ายแพ้ตายายอย่างหลุดลุ่ยทีเดียว หรือจะคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ตายายนั้นรู้อะไรมากกว่าเรา ทั้งๆ ที่ไม่มีหนังสือจะเรียนแต่ก็รู้อะไรมากกว่าเรา เรารู้พร่าหรือเลือนจนไม่รู้ว่าจะไปจับจุดที่ตรงไหน จนตายายนั้นพูดไว้อย่างไม่พร่าไม่เลือน มีจุดเฉพาะ ถูกตรงตามเรื่องตามราว ให้ตั้งต้นอยู่ด้วยการเห็นงามอยู่ที่ผีก่อน คืออย่าไปหลงในสิ่งสวยงาม อย่างที่ชาวบ้านว่างามนั้นเข้า แล้วให้ไปเห็นงามที่ซากผี ที่แสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่แสดงทางมาของมรรคผลนิพพาน แล้วก็พอใจ แล้วก็ชื่นอกชื่นใจด้วยการเห็นนั้น นี้เรียกว่าเห็นงามอยู่ที่ผีก่อน แล้วก็นี้ก็พยายามที่จะละสิ่งที่ควรละ ให้ยึดหลักที่ว่าดีอยู่ที่ละ มันเห็นชัดออกไปแล้วว่าอันไหนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อันไหนเป็นเหตุให้ไม่ทุกข์ นั้นก็ละไอ้ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือที่ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ว่าเป็นตัวกูของกูนั่นเอง ทีนี้มันก็เกิดเป็นพระขึ้นมา คือเป็นพูดจริงขึ้นมาแล้ว ก็เดี๋ยวนี้คนนั้นรู้จริงแล้ว มองเห็นจริงแล้วอยู่ในตัวว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละนั้นก็ตาม หรือว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ที่ซากผีนั้นก็ตามอย่างนี้เรียกว่าเห็นจริงแล้ว รู้จริงแล้ว เป็นพระขึ้นมาแล้ว เป็นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน เพราะการรู้จริง เห็นจริงนั้น นี้เกิดเป็นพระขึ้นมาแล้ว เมื่อเกิดเป็นพระอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว มันก็หมายความว่าตายแล้วนั่นเอง ตายแล้วก่อนตายนั่นเอง เพราะดับตัวกูของกูได้เสียก่อนแต่ร่างกายจะแตกดับนั่นเอง นี้เรียกว่านิพพานแล้วตั้งแต่ก่อนตาย นิพพานเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนที่ร่างกายตาย เรื่องมันก็หมดกัน ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะต้องพูดหรือต้องวินิจฉัยอะไรกันอีกต่อไป สิ้นสุดอยู่ที่คำเพียงสี่คำ ว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตายดังนี้ ตายายได้ขุดค้นเหมือนกับว่าขุดค้นเพชรที่อยู่ในหิน ภูเขาลูกใหญ่ลูกโตมหึมาเท่าเขาพระสุเมรุ มีเพชรฝังอยู่ใจกลางเม็ดเดียว ตายายก็ขุดได้ ส่วนลูก หลานนั้นค้นแล้วจนตายแล้วตายอีกก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเพชรอยู่ที่ไหน อย่างนี้จะขืนอวดดีไปว่าลูกหลานสมัยนี้ไม่สนใจกับคำพูดของตายาย ไม่สนใจกับข้อปฏิบัติของตายายอย่างนี้ มันเหลือที่จะทนทานได้สำหรับผู้รู้ทั่วไป ฉะนั้นจึงได้รับความตอบแทน การตอบแทนสาสมกัน คือเป็นลูกหลานที่อยู่ด้วยความทนทุกข์ทรมานเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ตัวเองเป็นสัตว์นรกทั้งเป็น ตัวเองเป็นเปรตทั้งเป็น ก็ยังไม่รู้สึกตัว กลับไปหาว่าปู่ย่าตายายเป็นเปรตจะมารับทานในวันนี้ ส่วนข้อที่ตัวเองเป็นนรกหรือเป็นเปรตอยู่ทั้งเป็นนี้มองไม่เห็น ทำไมจึงว่าอย่างนี้ เพราะว่าลูกหลานสมัยนี้ มีจิตใจเร่าร้อนเหมือนกับสัตว์นรก หิวกระหายอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่มจักพอเหมือนกับเปรต เพราะฉะนั้น จึงถือว่าเป็นสัตว์นรกหรือเป็นเปรตอยู่ทั้งเป็นแล้วโดยไม่ต้องแก้ตัว ส่วนปู่ย่าตายายที่กล่าวคำว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริงเป็นต้นนั้น ไม่มีจิตใจที่จะเป็นสัตว์นรก หรือเป็นเปรตได้เลย เพราะเป็นผู้เห็นธรรมะ มีจิตใจเยือกเย็นสะอาดสว่างสงบ ไม่เป็นสัตว์นรก ไม่เป็นเปรต แล้วไปถูกลูกหลานหาว่าเป็นเปรต มาอย่างเปรต มาขอกินอย่างเปรต อย่างนี้ มันเป็นความเขลา ความงมงายของลูกหลานที่เป็นเปรตอยู่แล้วนั่นเอง เราจึงต้องคิดดูเรื่องนี้เสียใหม่ว่า ใครเป็นเปรตหรือใครเป็นสัตว์นรกกันแน่ คนที่มีจิตใจอยู่อย่างชนิดที่เรียกว่ากลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟนั้น เป็นเปรตหรือไม่ เป็นสัตว์นรกหรือไม่ ข้อนี้ต้องยืนยันเป็นหลักกันอยู่ก่อนว่า เปรตหมายความว่าสัตว์ที่หิวอย่างยิ่งตลอดเวลา นรกหมายความว่าเร่าร้อนกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา เปรตหิวอยู่ตลอดเวลา สัตว์นรกร้อนอยู่ตลอดเวลา นี้ลูกหลานที่กลางคืนอัดควัน กลางวันอัดไฟนั้นหิวอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ ร้อนอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ แล้วใครจะเป็นเปรตจริงหรือเป็นสัตว์นรกกันจริง ฉะนั้นอย่าได้กล้าพูดอย่างงมงายพูดหรือหลับตาพูดว่ามาต้อนรับตายายที่เป็นเปรต เอาของมาเลี้ยงดูตายายที่เป็นเปรต หรือว่าทำบุญกุศลอุทิศให้ตายายที่เป็นเปรต ถ้าคิดดูใหม่แล้วมันจะกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงก็ได้ เพราะให้นึกเสมอว่าตายายเป็นผู้พูดว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย คำนี้ลูกหลานไม่ได้พูด คำนี้ตายายพูด ดังนั้นใครเป็นคนรู้ธรรมะข้อนี้ มันก็ต้องยกให้แก่ตายาย แล้วว่าใครจะเป็นเปรตตามความหมายของคำว่าเปรต หรือเป็นสัตว์นรกตามความหมายของคำว่าสัตว์นรก ก็ต้องไปคิดดูอีก ถ้าใครเร่าร้อนอยู่ในใจ หิวกระหายอยู่ในใจ ไม่มีสิ้นมีสร่างแล้ว พวกนั้นแหละเป็นสัตว์นรกและเป็นเปรตอยู่แล้ว ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งหลับและทั้งตื่น เพราะว่าแม้แต่ฝันมันก็ยังฝันไปในทางเช่นนั้น ฝันไปในทางไม่รู้จักอิ่มจักพออยู่เช่นนั้น ฝันอยู่ในทางเร่าร้อนกระวนกระ วายอยู่เช่นนั้น ก็ต้องยอมรับว่านรกหรือเปรตมันอยู่ที่นั่น และมันเกิดขึ้นกระทันหันเมื่อไรก็ได้ เพราะว่าการเกิดอย่างนี้มันเกิดได้รวดเร็วเหมือนยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ถ้ามันหิวกระหายไม่มีสร่างขึ้นมา มันก็เป็นเปรต ถ้ามันร้อนกระวนกระวายไม่มีสร่างขึ้นมามันก็เป็นสัตว์นรก ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ อยู่ที่วัดก็ได้ อยู่ที่บ้านก็ได้ มันล้วนแต่ได้ไปทั้งนั้น นั้นสิ่งที่ดีที่ถูกที่จริงที่แน่นอนที่ตายตัวนั้น มันต้องอยู่ที่คำกล่าวว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตายนั้นเสมอไป โดยไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นได้โดยแน่นอน
ทั้งหมดนี้ตามที่นำมากล่าวเพิ่มเติมต่อจากปีที่แล้วแล้วมานี้ เพื่อให้รู้จักบุญคุณของตายายนี้ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะปล่อยไว้ไม่ได้ ที่จะต้องเอามานึกมาคิดและมาจัดมาทำเสียใหม่ให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นไปอย่างผิดๆ อย่างงมงายอยู่ตามเดิม ทำบุญให้ตายายปีหนึ่งๆ ก็ควรจะมีอะไรที่ก้าวหน้า ถูกทางดีขึ้น คราวละนิดคราวละหน่อยเสมอไป ให้เป็นการทำบุญตายายที่มีความหมายที่แท้จริง ให้สำเร็จประโยชน์จริงๆ อย่าทำอย่างละเมอๆ เหมือนอย่างที่ทำๆ กันสักกี่สิบปีกี่ร้อยปีมันก็ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้น มีความงมงายเท่านั้นแหละเพิ่มขึ้น อย่างอื่นไม่ได้เพิ่มขึ้น คือ มันเหมือนอย่างเดิมอยู่ร่ำไป แต่มันมากปีขึ้นทุกปี ฉะนั้นจึงถือว่าความงมงายเท่านั้นแหละมันเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากรู้จักคิด รู้จักนึกกันเสียใหม่ให้ถูกให้ตรง ให้ความเป็นธรรมแก่ตายายบ้าง ว่าตายายเป็นอย่างไร ลูกหลานเป็นอย่างไร สมัยก่อนเป็นอย่างไร สมัยนี้เป็นอย่างไร ถ้าทำให้มันถูก ให้มันสมกัน นี่เรียกว่าให้ความเป็นธรรมแก่ตายาย ถ้าลูกหลานสมัยนี้มันหันหลังให้แก่ศาสนามากเกินไปเสียแล้ว ก็รู้จักเอาอย่างตายายที่หันหน้าเข้าหาศาสนากันเสียบ้าง จะได้ทำอะไรถูกต้องมากขึ้น แล้วก็จะเข้าใจตายายดีที่สามารถแต่งบทร้องกล่อมลูกให้เป็นเรื่องของนิพพานก็ได้ และกล่าวพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้นร้อยในคำสั้นๆ สี่คำว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตายดังนี้ก็ได้ เรื่องก็จะต้องเป็นในทางดียิ่งขึ้นโดยแน่นอน ทั้งฝ่ายลูกหลานและฝ่ายตายาย ไม่เสียทีที่มาประชุมกันในวันนี้ บำเพ็ญกุศลอุทิศการกระทำทุกๆ อย่าง เพื่อประโยชน์แก่ปู่ย่าตายายนั่นเลย และการกระทำก็จะเป็นการกระทำที่กล้าท้าให้ใครพิสูจน์ ให้บัณฑิตนักปราชญ์พิสูจน์ ให้เทวดาพิสูจน์ ให้ใครๆ ก็พิสูจน์ว่ามันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ว่ามันเป็นไปถูกตรงตามหลักของพระพุทธเจ้า หรือไม่เป็นไปตามหลักของพระพุทธเจ้า ในที่สุดเราก็พอใจด้วยการที่ทนต่อความพิสูจน์ โดยที่พิสูจน์ก็ยิ่งเห็นว่ามันถูกต้องแล้วทีนี่มีความพอใจ และมีความอิ่มใจในการกระทำของตน และความอิ่มใจนั่นเองเรียกว่าบุญ เรียกว่ากุศล ที่เกิดขึ้นแล้วแก่คนทุกคน เพราะการกระทำที่ถูกต้อง และทนต่อการพิสูจน์เช่นนี้ พิสูจน์เท่าไหร่ๆ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นของงมงายไปได้ ตรงกันข้ามคือยิ่งพิสูจน์ยิ่งเห็นว่าถูกว่าจริง ขอให้มีการกระทำอย่างนี้ พยายามแก้ไขให้มีการกระทำอย่างนี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกๆ ปีและทุกๆ คนเถิด ก็จะมีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายได้ทุกอย่างทุกประการ ดังกับประธานวิสัชนามา สมควรแก่เวลาเอวังตุมมี(นาทีที่01:26:08) ด้วยประการฉะนี้