แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หมายเหตุ |
นาทีที่ ๐๐.๓๑-นาทีที่ ๐๐.๔๙ เสียงสวดมนต์ นาทีที่ ๔๙.๑๖- นาทีที่ ๔๙.๒๓ เทปเสีย |
เริ่มเทศนา: ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับ (นาทีที่ ๐๐.๕๐) สืบต่อจากที่วิปัสสนาแล้ว ในข้อที่ว่า คน ศีลธรรม ในข้อที่เป็นโลกียธรรม จนกระทั่งเข้าถึงธรรมประเภทที่เป็นโลกุตตรธรรม ผู้ที่มีสติปัญญาอยู่ในโลกนี้ หาได้มัวเมาไปตามโลกไม่ แต่อยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นสติ สัมปชัญญะ รู้สึกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ เป็นเครื่องมือสำหรับให้ศึกษา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีไว้สำหรับให้บุคคลนั้นศึกษาแทนที่จะมีไว้สำหรับให้มัวเมา
ถ้าว่ากันโดยที่จริงแล้ว โลกนี้ก็วิจิตรงดงามและจะมองกันในแง่ที่ไม่เกี่ยวกับกิเลสตัณหาโดยตรง ก็ยังมีความงดงามเป็นที่น่าสนใจ เป็นที่น่าติดพันอยู่เป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้นก็หาได้มีความหลงใหลในลักษณะที่น่าสนใจหรือน่าติดพันของโลกไม่ข้อนี้ก็อาศัยสิ่งที่เรียกว่า สติปัญญา ที่เดินมาตามลำดับเพราะเป็นบุคคลที่เข้าถึงสิ่งที่มีความหมายอันสูงสุดในตัวชีวิต มิได้เห็นหรือมิได้ถือเอาความสวยงาม ความไพเราะของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านั้นว่าเป็นสาระแก่นสาร แต่ได้ถือเอาความสะอาด สว่าง สงบ หรือความว่างจากสิ่งรบกวน ว่างจากสิ่งยั่วยวน นั่นแหละเป็นสรณะ
คำที่กล่าวว่าชีวิตที่เป็นด้านใน มันหมายถึงความสงบ คือความไม่ต้องเกิดๆ ดับๆ ความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เกิดๆ ดับๆ แล้วก็ความที่ไม่ต้องหมุนเวียนไปตามเหตุ ตามปัจจัย หรือความที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ แล้วก็มี
ความหยุด มีความสงบเพราะความหยุดนั้น ไม่มีความเร่าร้อน กระวนกระวาย เพราะว่างจากสิ่งที่รบกวน แต่มีความสว่างไสวแจ่มแจ้ง รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เพราะไม่มีอะไรมารบกวนให้หวั่นไหวได้ ไม่มีอะไรมายั่วยวนให้หวั่นไหวไปตามสิ่งเหล่านั้น ลักษณะอาการของความสะอาด สว่าง สงบที่รวมกัน นั่นแหละคือลักษณะของสิ่งที่สดชื่น เยือกเย็น สมตามความหมายของคำว่าชีวิต จงได้พิจารณากันดูถึงคำๆนี้ให้ได้ความหมายที่ถูกต้องประจักษ์ชัดแก่ตนตรงทุกๆ คนเทอญ
คำว่าชีวิต ใครๆ ก็ทราบด้วยกันทั้งนั้นว่า การเป็นอยู่ หมายถึงความไม่ตาย แต่ถ้ามันมีอะไรมาปรุงแต่งได้
ก็หมายความว่า มันมีอะไรมาทำให้ตายได้ คือจิตถูกปรุงแต่งแล้ว ย่อมมีการเกิดดับๆ ไปตามอารมณ์ที่มาปรุงแต่ง เสร็จจากเรื่องนี้แล้ว ก็ดับ แล้วก็ไปถือเอาเรื่องใหม่ ไม่ว่าเป็นเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันใด ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องปรุงแต่งให้จิตมีความเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูไปพักหนึ่ง แล้วก็ดับไป อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นความมั่นคงได้อย่างไร เพราะมีการตายอยู่เสมอ จะเรียกว่าสดชื่นได้อย่างไร เพราะมีการระหกระเหินเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ มีการฟูๆ แฟบๆ แล้วมีการเหี่ยวแห้งไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาที่เผารน
เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นที่สบอารมณ์แล้ว มันก็เป็นไปในทางที่จะให้เหี่ยวแห้งแล้วตายไป เพื่อแสวงหาอารมณ์ใหม่
ลักษณะอย่างนี้ไม่เรียกว่า มีชีวิตเพราะไม่ได้มีความคงที่ เพราะเมื่อมีลักษณะที่เป็นความคงที่ตลอดกาล
เป็นความสดชื่นนิรันดร นั่นแหละจึงจะเรียกว่าชีวิต หรือจะเรียกกันในลักษณะที่เป็นความเป็นหนุ่ม เป็นสาว
ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเฒ่า ไม่รู้จักชรา ก็ต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทิ่มแทงได้ ไม่มีอะไรมาทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงได้เท่านั้นเอง ดังคำเปรียบที่มักจะเปรียบกันว่า ความว่างนั้น เรียกว่านางสาว สุญญตา เพราะว่ามีความเป็นสาว ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สุญญตา คือความว่างนั้น มันว่างจากเหตุ ปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลง ไม่มีว่างอะไรมากไปกว่านั้นก็พอแล้ว การที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลง ว่างจากเหตุ จากปัจจัย ทำให้เกิดความคงที่ ความคงที่นั่นแหละเป็นความงดงาม น่าดู เมื่อมีความคงที่ งดงาม น่าดู ไม่เปลี่ยนแปลง จึงถูกเปรียบว่าเหมือนนางสาวที่สาวเสมอ ไม่มีความแก่ชรามาครอบงำ ความพูดเป็นอุปมาอย่างนี้ก็เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจมานำแนวของสิ่งที่ทุกคนต้องการ เช่นความหนุ่มเสมอ ความสาวเสมอ ไม่มีความแก่ชราที่คนปรารถนากันอย่างลมๆ แล้งๆ เพราะไม่รู้ว่า อะไรจะเป็นสิ่งที่มีความหนุ่มเสมอ หรือความสาวเสมอ ใครๆก็ไม่อยากแก่ ใครๆ ก็ไม่อยากตาย แต่ก็ไม่รู้เลยสักนิดเดียวว่า สิ่งที่ไม่รู้จักแก่หรือไม่รู้จักตายนั้น มันคืออะไรและอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น จึงตกอยู่ในลักษณะของคนโง่ ต้องเที่ยวหาหนวดเต่า เขากระต่ายอยู่ร่ำไป ได้ยินเขาว่ามีเต่าที่มีหนวด มีกระต่ายที่มีเขา ก็เที่ยวหา ทั้งที่ไม่รู้ว่า มันจะมีได้อย่างไร
คนที่ต้องการความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย โดยที่ไม่รู้ว่า ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น
คืออะไร อยู่ที่ไหน จึงตกอยู่ในลักษณะของบุคคลที่คงคว้าหาน้ำเหลวอยู่เรื่อยไป ที่ต้องเป็นเช่นนั้น ก็เพราะ
มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหา อุปาทาน แต่ในสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยึดมั่น ถือมั่นจะให้สิ่งที่มีการเกิดอยู่เป็นธรรมดานั่นแหละเป็นของไม่เกิด ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นความแก่ตามธรรมดานั่นแหละจะให้ไม่มีความแก่ ยึดมั่นในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา หรือเจ็บไข้เป็นธรรมดานั่นแหละ จะไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ไข้ และไม่ให้ตาย
แล้วมันจะได้อย่างไรกัน ทำไมไม่เหลียวมองไปที่สิ่งที่ไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายบ้างเล่า นี่ก็เพราะว่ามัว
แต่ติดพัน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอุปมาไว้ด้วยนิทานหรือที่เราเรียกกันว่าชาดก แต่ว่าคนที่หูเหมือนกับหูหม้อ หูกระทะก็ยังหาฟังความข้อนั้นออกไม่ ยังคงยึดมั่น
ถือมั่นในสิ่งที่มีความเกิด แก่ เจ็บตายอยู่อย่างเดิม แสวงหาสิ่งที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปตามเดิม
ด้วยความรู้สึกที่อยากจะได้สิ่งที่ไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
นิทานหรือชาดกเรื่องนั้นเล่าว่า พระยาลิงตัวหนึ่งเป็นนายฝูงลิงมีบริวารเป็นอันมาก พญาลิงตัวนี้เป็น
ลิงโพธิสัตว์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะเผลอติดบ่วงของนายพรานผู้ฉลาดในการล่อ แล้วจับเอาลิงตัวนั้น
ไปถวายเจ้านาย เลี้ยงไว้ในพระราชวัง เลี้ยงไว้ดูเล่น จนกระทั่งเบื่อ ก็ปล่อยกลับมา พระยาลิงโพธิสัตว์ถูกเขาปล่อยกลับมาอย่างนี้ พวกลิงบริวารก็พากันยินดี มารุมหน้ารุมหลัง ไปถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ในรั้วในวังมีอะไรและในหมู่มนุษย์นั้น มีอะไรที่เป็นสิ่งประเสริฐ น่าสนใจ มัวแต่ถามกันว่ามีอะไรในหมู่มนุษย์ที่ดีไปกว่าในฝูงลิง
ลิงที่เป็นโพธิสัตว์ได้ตอบว่า ....ภาษาบาลี.....(นาทีที่ ๑๓.๑๘ – ๑๓.๒๕) ในหมู่มนุษย์นั้น เราได้ยินกันแต่คำว่า เงินของเรา ทองของเรา เงินของเรา ทองของเรา อย่างนี้อยู่ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน หมายความว่า เสียงคำว่า เงินของเรา ทองของเรา เป็นต้นนี้ มันดังอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน กลางวันก็พูดกันด้วยเรื่องนี้ กลางคืน
ก็พูดกันด้วยเรื่องนี้ ในที่สุด ลิงที่เป็นบริวารทั้งหลายนั้นได้พากันวิ่งไปล้างหูที่ลำธาร พากันพูดว่า เพิ่งจะได้ยินเสียงที่สกปรกหูวันนี้เอง อะไรๆ ก็ของกู นี่พูดถึงกันแต่เรื่องเงินของกู ทองของกู ลูกของกู เมียของกู ผัวของกู อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของกู
ชาดกเรื่องนี้ มีความหมายอย่างไร ขอให้ลองพิจารณาดู และชาดกเรื่องนี้ก็มีชื่อว่า ครหิตชาดก แปลว่า ชาดกเรื่องผู้ที่ถูกติเตียน แล้วผู้ที่ถูกติเตียนนั้น มันคือใครกัน มันก็คือมนุษย์ที่ร่ำรวยด้วยคำว่าของกูๆ นั่นเอง
แล้วใครเล่าเป็นผู้ติเตียน มันก็ฝูงลิงเล็กๆ ที่เที่ยววิ่งอยู่เป็นฝูงๆตามลำธาร แล้วมันก็ติเตียนด้วยอาการอย่างไร
มันติเตียนด้วยการวิ่งไปล้างหูว่า หูเพิ่งสกปรกวันนี้เอง แล้วหูนั้นมันสกปรกด้วยเรื่องอะไร มันสกปรกด้วยเรื่องได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวของพวกมนุษย์ และเรื่องราวของพวกมนุษย์มีว่าอย่างไร เรื่องราวของพวกมนุษย์ก็มีอยู่
แต่ว่า ตัวกู ของกู ตัวกู ของกู ไม่มีสิ้นสุดทั้งกลางวันและกลางคืน ที่มีเรื่องว่าตัวกู ก็หมายถึงการยึดมั่นถือมั่นตัวตนว่าดีกว่าคนอื่น เที่ยวรังแกข่มเหงคนอื่น หรือแม้แต่ข่มเหงซึ่งกันและกันในวงครอบครัว บางทีสามีก็ข่มเหงภรรยาด้วยความรู้สึกว่า ตัวกูมันใหญ่กว่า แต่บางทีมันก็ตรงกันข้าม ภรรยานั่นเองก็ข่มเหงสามี ด้วยความรู้สึกว่าตัวกูก็ใหญ่กว่า มันก็มีการเซ็งแซ่ ระเบงเซ็งแซ่กันไปด้วยคำว่าตัวกู คือการด่าทอ ทิ่มแทงกันด้วยหอก คือปากที่พ่นออกไปว่าตัวกูๆ บางทีก็มีคำว่าของกู นี่หมายถึงการยึดมั่นถือมั่น หวงแหนสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า เป็นของกูๆ เช่น เงินของกู ทองของกู วัวควายไร่นา ช้างม้าของกู อะไรๆก็เป็นของกู
แต่มันไม่ได้ของกูลมๆ แล้งๆ อย่างนกเขาที่ขันอยู่ตามยอดไม้เลย นกเขามันจะตัวกูอยู่ตามยอดไม้ มันก็หามีอุปาทานที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกูเหมือนกับคนไม่ คนนี่มันไม่ได้ตัวกูของกูแต่ปาก มันประกอบไปด้วยอุปาทาน มีกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เป็นตัวกูที่ยกหูชูหางเร่อร่าอยู่เสมอไป เดินหน้าอุปาทานอย่างนั้น แล้วก็มีการตอบรับการยึดถือว่าของกูอยู่ในอุปาทานนั้นๆ ซึ่งกามุปาทานเป็นเหตุให้ยึดมั่นว่าของกู หรือ ทิฏฐุปาทาน เป็นเหตุให้ยึดมั่นว่าตัวกู มีทิฎฐิมานะไปในทางที่จะยกหู ชูหาง ของตัวกูอยู่ร่ำไป สีลัพพัตตุปาทาน นั้นเล่า ก็ชวนให้ยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกูเคยทำมาอย่างนี้ พ่อแม่ปู่ย่าตายายของกูก็เคยทำมาอย่างนี้ กูก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ด้วยอำนาจของสีลัพพัตตุปาทานนั่นเองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ หรือมนุษย์ใหม่ขึ้นมาไม่ได้ บางสิ่งบางอย่างก็ต้องโง่เขลา งมงายไปตามเดิมที่ปรัมปรากันมานานแล้ว แต่เป็นไปในทางที่ผิด แม้ที่เป็นไปในทางที่ถูก เป็นของถูก ก็ยึดมั่นถือมั่นเสียจนไร้ความหมาย ทำของถูกนั้นให้ผิดไป เพราะเป็นไม่รู้ความมุ่งหมาย
แม้จะให้ทานก็ไม่รู้ความมุ่งหมายว่า การให้ทานที่แท้จริงนั้น มันมีความหมายอย่างไร หรือจะรักษาศีล
ก็ไม่รู้ว่าความมุ่งหมายของศีลที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร หรือจะทำสมาธิภาวนา ก็ไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้จริงว่า
จะทำสมาธิ วิปัสสนากันไปทำไม ก็เลยกลายเป็นสีลัพพัตตุปาทาน ด้วยอำนาจของสีลัพพตปรามาสที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปทุกที จึงทำให้ทาน ศีล และวิปัสสนาเหล่านั้น ผลัดออกไปนอกพุทธศาสนา ไม่สำเร็จประโยชน์
เป็นการบรรเทากิเลส ไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่จะถ่ายถอนตัวกูหรือของกู มันเป็นอย่างนี้ ด้วยอำนาจของ
การยึดมั่นถือมั่นนั้น และในที่สุด อัตตวาทุปาทาน ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั่นแหละ ก็ถ่ายถอนตัวกูหรือของกูไม่ได้
หูตาก็ยังมืดมัว หรือบางทีก็ยังหลับอยู่ หรือบางทีก็ยังตาบอด หูหนวกอยู่ด้วยซ้ำไป แล้วจะเอาปัญญาอันไหน
มาถ่ายถอนอัตตวาทุปาทาน เพราะฉะนั้น จึงถูกหุ้มห่อพัวพันอยู่ด้วยอุปาทานทั้งหลาย มีกามุปาทาน เป็นต้น
เหมือนกับแมงด้วง แมงไหมที่ชักใยพันตัวเอง หุ้มห่ออยู่อย่างมืดมิด ไม่เห็นแสงเดือน แสงตะวันเลย
แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นรักใคร่หวงแหนในใย ที่ชักขึ้นพันตัวเองเหล่านั้นอย่างไม่มีวันสร่างซา นี่แหละเรียกว่า จมอยู่ภายใต้อุปาทานจมอยู่ภายใต้อุปาทานนั้นมันหมายถึงจมอยู่ภายใต้สิ่งอื่นๆ อีกด้วย ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทานนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นการเหมาะสมกันแล้วที่มนุษย์เหล่านี้ควรจะถูกลิงล้างหู ส่ายหน้าให้ ว่าเป็นของสกปรกสักเพียงใด แต่แล้วมนุษย์เหล่านั้น ไม่ระคายผล ไม่มีความละอาย เหมือนกับคนไม่นุ่งผ้า กลับมาเที่ยวเดินว่อนอยู่ตามถนนหนทาง ก็ไม่ละอาย เพราะมันไม่รู้สึกว่า มีอะไรที่น่าละอาย เป็นพุทธบริษัท
เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นภิกษุ สามเณร แต่แล้วก็ยังไม่สนใจในสิ่งที่ควรจะรู้ ควรจะปฏิบัติ ไม่ละวาง
สิ่งเหล่านี้ให้สมกับที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือภิกษุสามเณร หรือเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่มีความละอาย อย่างนี้แหละเรียกว่า เป็นคนไม่นุ่งผ้า เกิดมาแล้ว ชีวิตก็ยังไม่มี แล้วแถมผ้าก็ยังไม่นุ่ง เพราะมันไม่รู้จักละอาย เพราะชีวิตไม่มีนั่นเอง มันถึงไม่ละอาย ไม่มีชีวิต หมายความว่า ไม่มีความรู้อย่างแท้จริง อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้จักสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย รู้จักแต่สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา แล้วไปเหมาเอาว่า เป็นสิ่งที่น่ารัก น่ายึดถือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ยึดถือสิ่งเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดกว่าสิ่งทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น จึงไปเหมาเอาว่า นิพพานอยู่ที่กามคุณบ้าง นิพพานอยู่ที่สิ่งอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจ
ของตนบ้าง ไม่มีความรู้เรื่องนิพพานที่แท้จริง ที่เป็นธรรมที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ซึ่งไม่มีทางเกิดความดับนั้น
แต่ประการใดเลย แล้วก็หาละอายไม่ พอตนเกิดมามีอายุตั้งเท่านี้แล้ว ก็ยังไม่มีชีวิต แล้วก็ยังไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้ให้ทันแก่เวลาก็หาละอายไม่ นี่แหละจึงกล่าวว่าที่เดินกันอยู่เป็นฝูงๆ ตามถนนหนทาง ตามตลาดนั้น ล้วนแต่
คนไม่มีชีวิต ล้วนแต่คนไม่นุ่งผ้าด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนพวกที่มีชีวิตและมีความละอายนั้น สู้มันไม่ไหว สู้พวกคนไม่มีชีวิตและไม่นุ่งผ้านั้นไม่ไหว ทำให้ต้องหลบซ่อนอยู่ในห้อง หรือว่าหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ ในป่า ในดง ตามคูห้วย ภูเขา นี่แหละลองคิดดูเถิดว่า
โลกสมัยนี้มันเป็นอย่างไร มันเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีชีวิตและไม่มีความอาย แออัด เนื่องแน่นไปหมด จนถ้าใครเผอิญจะมีชีวิต มีความละอายขึ้นมาสักคนแล้ว ก็ต้องหลบต้องซ่อน เบื่อหน่ายที่จะต้องเบียดเสียดยัดเยียด หรือจะต้องกระทบกระทั่งกันกับคนที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความละอายเหล่านั้น เพราะว่าพวกที่ไม่มีชีวิตและไม่มี
ความละอายเหล่านี้ มันต้องการแต่สิ่งที่ทำให้ลิงต้องล้างหูอยู่ร่ำไป ไม่หยุดไม่หย่อน แล้วมันเยาะเย้ยถากถางบุคคลที่มีชีวิตหรือนุ่งผ้าเสียอีก
แล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร กำลังจะหมุนไปในลักษณะเช่นใด ขอให้เราพิจารณากันดูจงทุกๆคนเถิด
แล้วใครจะเป็นพวกที่จะช่วยกู้สถานะอันร้ายกาจเลวทรามนี้ให้กลับคืนดีได้ ถ้าหากว่าไม่ใช่พุทธบริษัท
แล้วถ้าหากว่าพวกพุทธบริษัทมาเป็นเสียเอง คือเป็นคนไม่มีชีวิต ไม่นุ่งผ้าเสียเองแล้ว โลกนี้จะเอาที่พึ่ง
มาจากไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่า เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทจะต้องสนใจว่า มันมีสิ่งใดบ้างที่เป็นเครื่องยั่วยวน ผูกพันให้เราติดอยู่กับอารมณ์อันนั้น จนไม่สามารถที่จะถอนตนออกมาจากอารมณ์อันนั้น มันต้องอยู่ในฐานะแห่งบุคคลผู้เป็นอิสระ มีความสะอาด สว่าง สงบกันได้ นี่แหละ จงคิดดูให้ดีๆ อย่าเข้าใจว่า นิททานนี้เป็น
เรื่องของคนโง่ แต่มันเป็นเรื่องของคนฉลาด เกินกว่าที่เราจะรู้จักได้ด้วยซ้ำไป
ว่าที่จริงแล้ว นิทานทุกเรื่องย่อมมีคติ ที่สอนใจทั้งนั้น แต่ว่าบางเรื่องมันอาจจะลึกสำหรับคนที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้จะเข้าใจได้ แปลว่านิพพานนั่นเอง เป็นเครื่องรักษาธรรมะเอาไว้ สำหรับให้ธรรมะยังมีอยู่ไม่สาบสูญ
ไปเสีย เป็นความรู้ของคนในโลก เพราะว่าในสมัยโบราณนั้น ไม่มีการขีด การเขียน ไม่มีหนังสือเป็นเล่มๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะมันไม่มีกระดาษจะเขียน ไม่มีหมึกจะพิมพ์ ไม่มีโรงพิมพ์จะพิมพ์ แล้วคำสอนต่างๆ นั้น
มันจะอยู่ได้กับอะไรที่ไหน มันต้องอยู่ที่ปากคน ทีนี้ปากคน มันชอบพูดเรื่องที่เป็นนิทาน ที่เป็นเรื่องเป็นราว
ให้ได้หัวเราะกันบ้าง มันก็ยิ่งดี คืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้มันน่าอัศจรรย์ น่าขบขัน เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องเอาธรรมะใส่ไว้ในรูปของนิทานที่น่าอัศจรรย์ หรือน่าขบขัน เป็นการจ้างกันโดยไม่รู้สึกตัว ให้คนมันเล่ากันสืบๆ มาเป็นเวลานับด้วยพันๆ ปี หรือหมื่นปี จนกว่าจะมาถึงสมัยที่มีการเขียนการพิมพ์ลงเป็นเล่มหนังสือได้
นี่แหละขอให้เข้าใจเถิดว่า ความรู้อันประเสริฐนั้น ในชั้นแรกนั้น เขาไม่มีกระดาษ กระดานหรืออะไรที่จะเขียนกัน แต่เขาฉลาดใส่ไว้ที่ปากคน นี่แหละบรรพบุรุษของเราฉลาดสักเท่าไร หรือขยันสักเท่าไร แล้วมาถึง
ชั้นลูกหลานนี่ มันโง่สักเท่าไร มันขี้เกียจสักเท่าไร แม้แต่ที่เขามีๆ ไว้ให้อ่านอย่างมากมายก่ายกองนี้ มันก็ยัง
ขี้เกียจจะอ่าน แม้แต่อ่านแล้วมันก็ยังโง่ ถึงขนาดไม่รู้ความหมายของสิ่งที่ตนอ่าน เห็นเป็นนิทานไร้สาระเหลวไหลไปเสียก็มี จึงขอตักเตือนกันใหม่ว่า จงตั้งอกตั้งใจให้ดีๆ ในการที่จะมีสติปัญญาจับฉวยเอาคติอันมีค่าออกมาจากเรื่องที่บางคนเห็นว่า มันเป็นเพียงนิทาน โดยที่ไม่รู้เลยว่า คนที่ฉลาดนั้น เขาสามารถที่จะควักเอาเพชรออกมาจากหิน หินเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีใครต้องการอะไรนัก มีอยู่เกลื่อนกลาดไป แต่ว่าในใจกลางของภูเขา หรือว่าในหินนั้นแหละ มันมีเพชร เพราะฉะนั้นจึงพังทลายภูเขาเพื่อค้นหาเพชร แล้วเอาเพชรออกมาได้ ขายแพง เม็ดนิดเดียวก็ขายเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนก็มี
เมื่อคนฉลาดแสวงกันแต่ในเรื่องวัตถุอย่างนี้ คนเอาเพชรมาจากหินก็ได้ แต่ว่าเพชรชนิดนั้น มันเป็นเพียงวัตถุเท่านั้นเอง สวยก็สวยทางตา แพงก็แพงในทางวัตถุ ซื้อขายกันเป็นเงินเป็นทอง ส่วนเพชรที่แท้จริงยิ่งไปกว่านั้น คือ โลกุตตรธรรม ที่อาจจะแสวงหาได้จากสิ่งทั้งปวงนี้ หามีใครค้นคว้าไม่ ไม่มีใครเสาะหาเลย แล้วมองเห็น
เป็นสิ่งที่ไม่มีค่าเสียอีก นี่แหละเป็นเหตุให้เพชรที่แท้จริง ไม่ปรากฏออกมาแก่คนที่ไม่นุ่งผ้าและไม่รู้จักอายเหล่านี้ ทั้งที่ปากก็ร้องอยู่ว่า พระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าก็เป็นรัตนะ พระธรรมก็เป็นรัตนะ พระสงฆ์ก็เป็นรัตนะ แต่หารู้ไม่ว่า ความเป็นรัตนะหรือเป็นเพชรของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์นั้นอยู่ที่ตรงไหน
คงคว้าได้มาแต่เปลือกเท่านั้น เปลือกของพระพุทธ เปลือกของพระธรรม เปลือกของพระสงฆ์ เกลื่อนกลาด
ไปหมด ที่ว่าเอาเอง สร้างขึ้นเอง ทำเอาเอง มายึดถือกอดรัดไว้ ส่วนเนื้อแท้ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ที่เป็นเพชรโดยแท้จริงนั้น หาได้ไม่ นี่เพราะว่ามัวไปหลงใหลในรัตนะที่เป็นวัตถุ เป็นแก้วแหวนเงินทอง เพชรพลอยอะไรต่างๆ เหล่านั้นไปเสียสิ้น การที่ไม่รู้จักทำจิตใจให้แหลมคม ให้แทงตลอดจนทะลุสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหุ้มห่อปิดบังนี้ มันเนื่องมาจากความลุ่มหลงในวัตถุที่รักใคร่หวงแหน จนร้องว่า ตัวกู ของกู ตัวกู ของกู ยิ่งกว่านกเขาตามยอดไม้ อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน จนพวกลิงต้องเอาไปล้างหู ไม่มีวันสิ้นสุดนั่นเอง
เราที่เป็นพุทธบริษัททั้งหลาย จงได้พิจารณาดูเรื่องนี้กันให้มาก ว่าที่จริง พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ห้ามปรามว่า อย่าไปเกี่ยวข้องกับวัตถุ ท่านไม่ได้ห้ามปรามว่า อย่ามีแก้วแหวน เพชรพลอย เงินทอง ภายนอกที่เป็นวัตถุเหล่านั้นกันเสียเลย ใครจะมีบ้าง ก็มี ไปตามเรื่อง ตามราว ตามธรรมดา ตามประสาของคนที่อยู่ในโลก เขานิยมใช้สอยอะไรกัน ก็มีสิ่งนั้น คือใช้สอยสิ่งนั้นไปตามเขาก็ได้ แต่ว่าควรจะรู้จักสิ่งซึ่งเป็นความหมายอันแท้จริง ตามความหมายของสิ่งเหล่านั้นกันเสียบ้าง เช่นว่า เพชรพลอยหรือรัตนะ นี่มันเป็นสิ่งที่มีความหมายว่า ทำเจ้าของให้เกิดความยินดี แต่แล้วมันทำให้เจ้าของเกิดความยินดีในลักษณะที่เป็นของชั่วคราว หรือของคนโง่ เหมือนกับว่า ข้าวสุกข้าวสารก็ทำให้ไก่ยินดีได้ แต่ว่าเพชรพลอยซึ่งมีลักษณะเท่าข้าวสาร มันก็หาทำให้ไก่นั้นยินดีไปได้ไม่ เพราะฉะนั้น ไก่เหล่านั้นจึงไม่ต้องการเพชรพลอย แต่ต้องการข้าวสารในฐานะที่เป็นสิ่งที่น่ารัก
น่ายินดีนัก น่าปรารถนา น่าพอใจ ไม่มีไก่ตัวไหนที่ยินดีในเพชรพลอย คนทั้งหลายส่วนมาก ก็มีลักษณะอาการเป็นเหมือนกับไก่ รู้จักแต่ข้าวสาร ก็คือ แก้วแหวนเงินทองชนิดที่เอาไปซื้ออะไรกินได้ แต่รัตนะที่แท้จริง
มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นต้นนั้น ไม่รู้จักจึงทิ้งเสีย ไปเอาข้าวสาร หรือว่าเหมือนกับลิงที่เขาเอาแก้วมาให้ มันก็คงจะทิ้งเสีย แล้วก็วิ่งไปหาตุ้มหาแตงมาเป็นสิ่งที่ยึดถือหวงแหน ยิ่งกว่าเพชรพลอย
ถ้าฤษีคนไหนจะพยายามเอาแก้วดวงใหญ่ๆ ไปยื่นให้ลิง ก็คงจะถูกหาว่าเป็นฤษีที่โง่เง่า บ้าบอที่สุด
มันก็ถูกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ฤษีที่ฉลาดจึงเบื่อในการที่จะเอาแก้วไปยื่นให้กับลิง คงให้แต่ตุ้มแต่แตง
ไปตามเรื่องตามราว จนกว่ามันจะพ้นจากความเป็นลิงมาเป็นคน รู้จักว่าเพชรพลอยเหล่านั้น มันมีค่ากว่า
ตุ้มกว่าแตง นี่จึงจะพูดกันรู้เรื่อง ทีนี้มันจะเป็นลิงกันไปอีกกี่ร้อยปี กี่พันปี กี่หมื่นปี กี่แสนปี นี่ลองคิดดูเถิดว่า
มันน่าทุเรศ น่าสมเพช เวทนา สักกี่มากน้อย ถ้ายังจะต้องเป็นลิงที่รู้จักกันแต่เรื่องตุ้มเรื่องแตง ไม่รู้จักเรื่อง
เพชรพลอยแท้จริงกันเสียบ้าง
การที่คนเรามันรู้จักกันแต่เรื่องทางวัตถุสิ่งของที่เป็นอารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสียอย่างเดียว
ไม่รู้จักธรรมะที่สูงไปกว่านั้น คือรู้จักแต่ชีวิตด้านนอก ไม่รู้จักชีวิตด้านในเสียเลยแล้ว มันดีกว่าพวกลิงที่รู้จัก
แต่ตุ้มแต่แตงนั้นจะกี่มากน้อยอีก เป็นสิ่งที่น่าคิดดูว่า นี่เป็นความไม่ละอาย หรือเป็นความน่าละอายสักเพียงใด
นี่แหละคือสิ่งที่จะแสดงให้ทราบถึงความหมาย หรือคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า โลกุตตรธรรม อยากจะเล่านิทานที่สั้นที่สุดสักอีกเรื่องหนึ่งว่า คุณยาย คุณตา อ้อนวอนหลานชายคนหนึ่งให้บวช หลานชายคนนั้นก็ตอบว่า ฉันจะค่อยไปบวชในสวรรค์ของคุณยายและคุณตา คุณยาย คุณตาก็เลยดีใจใหญ่ นี่นิทานก็จบ
ลองคิดดูว่า คุณยาย คุณตานี่ฉลาดสักเท่าใดในการที่หลงใหลในสวรรค์ ยึดเอาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตามที่เขาเล่าลือกันว่า สวรรค์นั้นมันเป็นสิ่งที่วิเศษสุด ประเสริฐสุดกว่าสิ่งทั้งหลายแล้ว คำว่ามรรค ผล นิพพานนั้น ฟังไม่เข้าใจ หลานชายคนนั้นก็ต้องบวชให้คุณตา คุณยายนั้น....(นาทีที่ ๓๘.๓๒) ได้สนิท หรือที่เรียกว่า สุขยิ่งกว่าสุข เพราะว่าในสวรรค์นั้น มันไม่มีอุปัชฌาย์ที่จะบวชให้ได้ ไม่มีพระในสวรรค์เลย ที่จะมานั่งหัตถบาทให้ได้ มันมีแต่พวกบ้ากามคุณของตัวผู้และตัวเมีย ไม่ว่าเทวดาตัวผู้หรือเทวดาตัวเมีย เพราะฉะนั้น ไอ้ลูกไอ้หลานชายคนนั้นก็ไม่ต้องบวช ถึงแม้จะตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ คุณยาย คุณตาจะเอาอะไรให้มันบวชได้ มันไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีการบวชในสวรรค์ หรือไม่มีศาสนา
นี่แหละขอให้พิจารณาดูเถิดว่า สวรรค์ซึ่งเป็นที่มุ่งหมายของคุณยาย คุณตานั้น มันมีอะไรบ้าง เสร็จแล้วมันเป็นที่ติดมั่น ติดแน่น ยึดมั่นถือมั่นของคนเหล่านั้นสักเท่าใดที่มองเห็นแท้ๆ อยู่ที่นี่ว่า มันมีศาสนา มีการศึกษาเล่าเรียน มีการประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ จะบวชก็ได้ เสร็จแล้วยังไม่พอใจ ไม่จุใจ เอาไว้ค่อยไปบวชกันในสวรรค์เถอะ เพราะมีเสียงเล่าลือว่า อะไรๆ ก็ล้วนแต่ประเสริฐไปทั้งนั้น นี่ถ้าจะเปรียบเทียบกัน สวรรค์มันก็เหมือนกับตุ้มกับแตง หรือข้าวสุก ข้าวสารที่พวกลิง พวกไก่ปรารถนากันนักเท่านั้นเอง คือเรื่องที่เหนือไปจากสวรรค์นั่นแหละ มันคือเรื่องที่มีสาระแก่นสาร เหมือนกับเพชร กับพลอย เพราะมันไม่ต้องเกี่ยวข้องกันกับความเอร็ดอร่อย สนุกสนานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แต่แล้วทำไมจึงไม่ปรารถนากัน
เพราะพอเอ่ยชื่อถึงมรรค ผล นิพพานก็สั่นหัว บางคนก็กลัวเป็นเหมือนกับว่า ถ้าเอาเรื่องนี้เข้ามา
เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะอดตาย จะไม่ต้องทำมาหากิน จะยากจนลงเหล่านี้ เป็นต้น คือเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วว่า
เรื่องของธรรมะ เรื่องของศาสนาหรือพระเจ้าพระสงฆ์นี่ เป็นที่รังเกียจ อิดหนาระอาใจของพวกคนที่ลุ่มหลง
ทางวัตถุ เรื่องที่จะทำบาปทำกรรม ทำสิ่งที่เป็นอกุศลนั่นแหละ
อย่างพวกที่จะทำประมง พวกที่จะจับช้าง จับม้า หรืออะไรเหล่านี้ เขาดูหมิ่น ดูถูกพระว่าเป็นตัวเสนียด เข้าไปใกล้ไม่ได้ ถ้าเข้าไปใกล้แล้วจะจับปลาไม่ได้ จับช้างไม่ได้ เข้าไปในไร่แตงแล้ว ก็เหี่ยวหมด ตายหมด เหล่านี้ มันเกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าหากว่าไม่ได้เกิดมาจากความเข้าใจผิด จนถึงกับไปลุ่มหลง
ในสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป แล้วก็ห่วงวิตกกังวลกลัวไว้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้น อย่าเข้ามาเป็นอันขาด
แล้วทำให้ไม่รู้เรื่องของสิ่งที่ตรงกันข้าม มีแต่จะหลงใหลไปในเรื่องของวัตถุ หรือเรื่องที่เป็นโลกกันมากขึ้นทุกที
ทีนี้ก็เลยเล่านิทานเรื่องลูกกบเสียสักหน่อยว่า ลูกกบกับแม่กบมันทะเลาะกัน แม่กบเล่าเรื่องบนบกให้
ลูกกบฟัง ลูกกบมันก็ไม่เชื่อ แล้วมันก็ด่าเอาด้วยซ้ำว่า แม่หรือพ่อนี้พูดโกหก เอาเรื่องที่ไม่มีจริงมาเล่าให้ฟัง
ลูกกบหมายความว่า ลูกตัวเล็กๆที่คล้ายกับปลา ยังว่ายอยู่ในน้ำที่เรียกว่า ลูกรวก (นาทีที่ ๔๒.๔๘) ลองไปนั่งดูลูกรวก (นาทีที่ ๔๒.๔๔) ที่ว่ายอยู่ในน้ำว่าแล้วมันจะฉลาดสักกี่มากน้อย แล้วมันจะรู้เรื่องบกที่สมมุติว่า พ่อแม่ไปเล่าให้ฟังได้อย่างไร มันเหมือนกับคนที่ลุ่มหลงแต่ในเรื่องทางวัตถุแล้ว ก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องทางอุดมคติ หรือ
ทางจิตใจที่สูงขึ้นไปในทางจิต ทางวิญญาณ โดยเฉพาะก็คือเรื่องนิพพาน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ชอบคนที่พูดถึงเรื่องนิพพาน
คนส่วนมากก็ตายเสียก่อนที่จะรู้เรื่องนิพพาน เหมือนกับลูกรวก (นาทีที่ ๔๓.๓๒) ส่วนมากนั่น มันตายเสียก่อนที่จะได้ขึ้นมาเป็นกบบนบก ลูกรวก (นาทีที่ ๔๓.๔๐) ตั้งหมื่นตั้งแสนตายเสียในน้ำ เป็นเหยื่อของ
สัตว์อื่นๆเสียตั้งแต่อยู่ในน้ำ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาบนบกเลย จึงไม่รู้เรื่องบก นี่มันเหมือนกับคนที่ลุ่มหลงในวัตถุแล้ว มันก็ตายไปกับวัตถุ ไม่เคยมีความรู้เรื่องโลกุตตระซึ่งสูงกว่าโลก น้อยตัวนักที่จะหลุดออกไปได้ ท่านจึงเปรียบ
ไว้ว่า จำนวนคนที่จะหลุดออกไปได้จากโลกนั้น เหมือนกับเขาโค ซึ่งตัวหนึ่งมีเพียงแค่ ๒ เขา ส่วนคนที่ตายเหมือนกับลูกรวก (นาทีที่ ๔๔.๑๙) ที่ตายในน้ำนั้น มีจำนวนเท่ากับขนของโค
ไปคิดดูเองก็แล้วกันว่า โคตัวหนึ่งนั้นหรือวัวตัวหนึ่งนั้นมีขนกี่เส้น นั่นแหละคือจำนวนของคนที่ไม่มีชีวิต ไม่นุ่งผ้า ส่วนคนที่มีชีวิตและนุ่งผ้านั้นมีเท่ากับจำนวนของเขาโค เมื่อรวมกันทั้งโลกจำนวนขนโคมันก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ จำนวนเขาโคมันก็ยังน้อยอยู่นั่นเอง นี่แหละ เราควรจะนึกดูว่า การเป็นลูกกบที่ดื้อดึงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่มีความสนใจในเรื่องของโลกุตตรธรรมนั้นมันจะเป็นอย่างไร มันมากจนถึงกับด่าคนที่พูดความจริงจะได้หรือไม่ ขอให้คิดดูในส่วนนี้ให้มากเป็นส่วนใหญ่ แต่แล้วมันก็ตายในน้ำ มากเท่ากับความโง่ของมันนั้นเหมือนๆกัน
ทำไมเราไม่มองดูธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมันสอนเรายิ่งกว่าจะสอน ผู้ที่มีปัญญาจึงพูดว่า ธรรมชาติ
อันสงบนั้นมันได้ร้องตะโกนอยู่ด้วยเสียงอันดังลั่น ยิ่งกว่าเสียงฟ้าผ่าว่า อะไรเป็นอย่างไรๆ แต่แล้วพวกคนหูหนวก เกิดมาไม่มีชีวิต ไม่นุ่งผ้าเหล่านี้หาได้ยินไม่ เพราะหูตาหรือจิตใจของมันไปมัวสนใจแต่ทางเรื่องวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง ทางเอร็ดอร่อย ทางหู ทางตา ทางจมูก อะไรๆ นั้นเสียสิ้น จนเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงว่า ตัวกู ของกู อย่างนี้ไปหมด จนลิงต้องล้างหู ไม่มีวันสิ้นสุดดังที่กล่าวแล้วถ้าหากว่าได้พิจารณากันดูด้วยความระมัดระวังให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนากันจริงๆ แล้ว คงจะดีกว่านี้มากที่เป็นลูกกบที่ไม่ตายกันเสียตั้งแต่ในน้ำได้ หรือจำนวนคนที่หลุดพ้นออกไปได้นั้น ก็จะมากกว่าจำนวนของเขาโคเป็นแน่นอน แล้วก็จะไม่ถูกติด้วยการล้างหูอีกต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงสภาพตามที่เป็นจริงที่กำลังเป็นอยู่ในหมู่มนุษย์ซึ่งเป็นมานานแล้ว ก็เห็นจะแน่ เพราะว่าเรื่องลิงล้างหูนี่มันเป็นเรื่องชาดกที่มีอยู่ในพระคัมภีร์เก่าแก่อย่างน้อยก็เท่ากับอายุของพระพุทธศาสนา อย่างน้อยก็สองสามพันปีมาแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดมันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะว่าคนที่ฟังถูก และเข้าใจ มันก็ยังมีอยู่ คือคนที่มีชีวิต มีความอายต่อการที่ไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด มันก็ยังมีอยู่ หมายความว่า คนที่ดีกว่าลิงที่ล้างหูนั้น มันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน คืออย่างน้อยก็คือพวกลิงที่ล้างหูนั่นเอง มันยังดีอยู่ มันยังน่าดูกว่า
คนจำนวนมาก มันจึงล้างหูเป็นในเมื่อได้ยินสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้น เราจะต้องสนใจในสิ่งที่ลึก หรือที่เป็นด้านใน หรือที่สูงไปกว่าความรู้สึกตามธรรมดาสามัญที่เห็นแต่เรื่องข้าวสุก ข้าวสาร เรื่องตุ้ม เรื่องแตง เหมือนกับไก่กับลิงบางชนิดนั้น เราจะเป็นลิงที่เห็นแก่ตุ้ม
แก่แตงหรือเป็นลิงที่รู้จักเพชรพลอย ถึงกับรู้จักล้างหูที่ลำธาร มันจะเป็นอย่างไหนกันแน่ นี่แหละมันจะช่วยตัวเองได้ด้วยวิธีใด จึงจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้น
พิจารณาดูแล้ว ไม่เห็นทางอื่นเลย ไม่มีทางไหนที่จะช่วยแก้หน้าพวกมนุษย์นี้ได้ นอกจากจะต้องอาศัย
สติปัญญาที่เป็นการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพชรพลอยที่แท้จริงนั้น มันมีอยู่แล้วในภูเขา หรือในมหาสมุทรแห่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.................. (เทปเสียช่วงนาทีที่ ๔๙.๑๖- นาทีที่ ๔๙.๒๓) บรรลุมรรค ผล นิพพานนั่นแหละ มันคืออาวุธที่แหลมคมอย่างยิ่ง ที่จะเจาะแทงทะลุเครื่องปิด เครื่องกั้น เครื่องหุ้มห่อทั้งหลายไปได้
ในบรรดาเครื่องหุ้มห่อทั้งหลายแล้ว ไม่มีอะไรแข็งหรือหนาไปกว่าความโง่ของมนุษย์เอง ซึ่งเรียกว่าอวิชชา ท่านจึงกล่าวว่า อวิชชาเป็นเครื่องหุ้มห่อ ปิดกั้นอย่างยิ่ง มันปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงเพชรพลอยอย่างแท้จริง กล่าวคือ โลกุตตรธรรมที่จะทำความดับทุกข์สิ้นเชิงได้ หมายความว่า เราต้องอาศัยสิ่งนี้จึงจะเข้าถึงความว่างและอยู่เป็นอันเดียวกันกับความว่าง ถ้าผิดจากนี้แล้ว ก็ต้องอยู่เป็นอันเดียวกันกับความวุ่น เปรียบเทียบความว่างกับความวุ่น ดูกันก็แล้วกัน มันวุ่นจนถึงขนาดไม่รู้ว่าเป็นความวุ่นแล้ว
เห็นไหม ลองพิจารณากันดูทุกๆ คนเถิด มันวุ่น เพราะว่าเป็นบ่าว เป็นทาสของกิเลส ปัญหา มันวุ่นเพราะตกเป็นทาสของเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรทำนองนี้ทั้งนั้น มันวุ่นชนิดที่เรียกว่า เป็นทาสก็ยัง
ไม่รู้สึกว่าวุ่น ถูกเบียดเบียน ข่มเหงในลักษณะที่เป็นทาสก็ไม่รู้สึกว่า ถูกข่มเหง เพราะสมัครใจที่จะเป็นทาสของความวุ่นนั้นตลอดไป ไม่เคยอยู่กับความว่างเลย นั่นแหละมันคือโทษของความที่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่า
ตัวกูหรือของกูจัดเกินไปนั่นเอง ความที่วุ่นวายนั้น ไม่ได้วุ่นวายในเรื่องอย่างอื่น วุ่นวายในเรื่องเห็นแก่ตัวกู
เห็นแก่ของกูทั้งนั้น
ไอ้เรื่องตัวกูหรือของกูนั้น มันเป็นเพียงมายา เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวจริง แต่มันก็ทำให้จิตใจนี่ถูกปรุงแต่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้จิตใจนี่หันเห วนเวียน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ไม่มีวันหยุด เพราะความล่อลวงของสิ่งที่เป็นมายาที่ว่า ความรู้สึกว่าตัวกูเป็นมายานี่ก็เพราะว่า ความรู้สึกว่าตัวกูนี่มันเกิดมาจากอวิชชา ความโง่ ความหลงไปตามสิ่งต่างๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งคิดขึ้นในใจเอง
กล่าวคือเมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาเกิดขึ้นที่ทวารตา เป็นต้นแล้ว มันก็มีเวทนา
อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น เป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง คือว่า ทำความพอใจให้บ้าง ทำความไม่พอใจให้บ้าง
ตอนนี้เองก็เกิดความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้นว่า สิ่งนี้อยากได้ อยากเอา หรือสิ่งนั้นไม่อยากได้ ไม่อยากเอา แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่อยากได้ว่า มันเป็นสิ่งที่น่าอยากได้ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อยากได้นั้นว่า มันเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง ทีนี่ตัวกูมันก็เกิดขึ้น สำหรับอยากได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ จนถึงกับตกเป็นทาสสิ่งนั้น สิ่งนี้ หรือว่าตัวกูมันก็เกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ จนต้องไปโกรธ ไปเกลียด ไปวางตัวกับสิ่งนั้น ในฐานะที่เป็นตัวกูเหมือนกัน แต่เป็นตัวกูที่เข้าไปเกลียด ตัวกูอีกตัวหนึ่งก็เป็นตัวกูที่เข้าไปรัก มันจึงมีแต่ตัวกูที่เกิดขึ้นสำหรับเกลียดบ้าง สำหรับรักบ้าง สลับกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งล้วนแต่เป็นมายาทั้งนั้น
ขอให้เข้าใจดีๆว่า ตัวกูหรือตัวตนที่เป็นตัวกู หรือของกูนี้มันเป็นมายาทั้งนั้น ก็นั่นแหละที่เขาเรียกว่า
เป็นอนัตตา อนัตตาก็แปลว่าไม่มีตัวตนที่แท้จริง คือเป็นเพียงมายา ซึ่งเกิดมาหรือเกิดในใจอยู่หยกๆนี่เอง เพราะตัวกูรักของสิ่งนี้หรือว่าตัวกูเกลียดของสิ่งนี้ ก็เพราะมีตัวกูที่เป็นผู้รัก หรือผู้เกลียดดิ้นเต้นเร่าๆ อยู่ กระโดดเร่าๆ อยู่ในการที่จะเอาบ้าง ในการที่จะฆ่ากันเสียให้ตายได้ แล้วแต่ว่าเรื่องมันจะเกิดขึ้นอย่างไร
พอเรื่องนั้นผ่านไปแล้ว มันก็สิ้นสุดกัน ตัวกูมันก็ตายไป ส่วนแล้วต่อมา เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบตา หู เป็นต้นอีก ตัวกู ตัวใหม่มันก็เกิดขึ้นมาอีก มันเกิดขึ้นมาทุกที มันก็บ้าบอทุกที มันจึงเป็นทุกข์ทุกที ดังที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้เป็นหลักที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์
ทุกคราว เพราะมันเป็นการเกิดของตัวกูนี่เอง และมันเกิดได้ วันหนึ่งได้หลายครั้ง หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง
ก็ได้ แต่แล้วเกิดทุกคราวมันก็เป็นทุกข์ทุกคราว
แต่พวกคนไม่นุ่งผ้า ไม่มีความอายเหล่านั้นหาได้เข้าใจเรื่องนี้ไม่ ก็สนใจแต่เกิดจากท้องแม่กันหมด เกิดจากท้องแม่นั้น ถ้ายังไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกูแล้ว มันก็ยังเท่ากับไม่ได้เกิดมา ไม่มีปัญหาตรงที่เกิดจากท้องแม่ แต่เมื่อเกิดมาแล้ว เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นรูป เป็นร่าง เป็นกายขึ้นมาแล้ว มันก็ยังไม่มีความหมาย จนกว่าเมื่อไรจะมีความรู้สึกที่เป็นตัณหาอุปาทานผุดขึ้นมาเป็นคราวๆ ก่อน มันจึงจะเป็นการเกิดที่แท้จริง ชนิดที่เรียกว่า
ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์
ตัวกูเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็เป็นชาติๆ หนึ่ง แล้วมันก็เป็นทุกข์ชาติหนึ่ง แล้วมัน ต่อมามันก็แก่ ต่อมามันก็ตาย วันหนึ่งมันเกิด มันแก่ มันตายได้ไม่รู้จะกี่ตัว ตัวกูจะเกิดขึ้นวันหนึ่งหลายตัว หลายสิบตัว หลายร้อยตัว และทุกตัวก็ต้องแก่และต้องตาย เพราะฉะนั้น มันจึงมีแต่ความทุกข์ไปตลอดทั้งวัน ทั้งคืน นี่แหละคือความทุกข์
ที่แท้จริง ต้องมองให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นอย่างนี้
อย่านึกเอง หรืออย่าเชื่อไปตามคำสอนที่สอนผิดๆ ว่า เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว เกิดมาจากท้องแม่
แล้วก็ตายเข้าโรงไป แล้วมันจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอุปาทานเข้ามายึดครองระหว่างที่เกิดขึ้นมานั้น สมมุติว่ามีอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าไม่มีตัวกูโผล่หัวมาให้เห็นแล้ว มันไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไป
โทษแม่ อย่าไปโทษโรง มันไม่มีความทุกข์ เพราะแม่เกิดมา หรือมีความทุกข์ก็ต้องเข้าโรง แต่มันมีความทุกข์เพราะความเกิดของตัวกู ความแก่ของตัวกู ความตายของตัวกู ที่เกิด แก่ ตายอยู่วันหนึ่งไม่รู้จะกี่ตัว กี่สิบตัว
กี่ร้อยตัวทุกครา ที่ตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้สัมผัสรส และกายได้สัมผัสทางผิวกาย หรือเกิดไปคิดนึกฝันสัญญาณในอดีตขึ้นมาเอง ก็ปรุงเป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทานคือเป็นตัวกูได้เหมือนกัน
ความเกิด แก่ ตายของตัวกูครั้งหนึ่งก็เรียกว่ารอบหนึ่ง ซึ่งเป็นความทุกข์โดยบริบูรณ์ แล้วมันเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีที่สิ้นสุดในวันหนึ่งๆ นั่นแหละคือความเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เป็นไปในความทุกข์ จมอยู่ในความทุกข์ ไม่โผล่ขึ้นมาได้เลย
ทีนี้เราจะอยู่เหนือความทุกข์ โผล่ขึ้นมาเหนือความทุกข์ ให้จิตใจอยู่เหนือความทุกข์ได้อย่างไร ที่เรียกว่า อยู่เหนือทุกข์ เหนือโลก หรือเป็นโลกุตตรธรรม มันจะต้องทำลายตัวกูนั้นให้หมดไป อย่าให้ตัวกูหรือของกูนี้ครอบงำเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แล้วจะทำอย่างไรกัน เรื่องมันก็อยู่ตรงที่ว่าจะต้องมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังในเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น อย่าให้มันปรุงเป็นเวทนาขึ้นมา ให้มันเป็นเพียงผัสสะ คือการกระทบที่ตา ที่หู พอรู้ว่าเป็นรูปเป็นเสียงแล้วก็ดับไป อย่าให้กลายเป็นเวทนามีรส มีชาติ อย่างนี้ขึ้นมา สติที่บริบูรณ์ที่สุดนั้น มันมีอยู่อย่างนี้ คือคอยคุมที่ตา ที่จมูก ที่หู ที่ลิ้น ที่กาย เป็นต้น คือ เมื่อมีอารมณ์มากระทบที่นั่นแล้ว ให้รู้ทันท่วงทีว่านั่นสักว่ารูป นั่นสักว่าเสียง นั่นสักว่ากลิ่น นั่นสักว่ารส มีลักษณะอาการเป็นเช่นนั้นๆ อย่าทำให้เป็นเวทนาว่า เอร็ดอร่อย หรือไม่เอร็ดอร่อยขึ้นมา หรือว่า ถ้าจะต้องจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ก็จัดการไปด้วยสติสัมปชัญญะในลักษณะที่เป็นเพียงผัสสะก็ได้เช่นว่ากินอาหารเข้าไปในปาก ก็รู้แต่เพียงว่ามันเป็นสิ่งที่กินได้ แล้วก็กินเข้าไป อย่าไปสนใจในข้อที่ว่า มันอร่อยหรือไม่อร่อยก็แล้วกัน นี่เรียกว่า รู้สึกเพียงผัสสะ แล้วก็กินอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ ไม่มีปัญหาว่าอร่อยหรือไม่อร่อย มันก็ปลอดภัยอย่างยิ่ง
ทีนี้สมมุติว่า พ่ายแพ้แก่มันในขั้นนี้ ควบคุมให้เป็นเพียงผัสสะไม่ได้ เป็นเวทนาขึ้นมาเสียแล้ว อร่อยหรือไม่อร่อยเสียแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ต้องต่อสู้กับมันอีกยกหนึ่ง คือว่า ควบคุมเวทนานั้นไว้ อย่าให้ปรุงเป็นตัณหาขึ้นมาได้ ให้เวทนาสักว่าเวทนาแล้วก็ดับไป คือ เวทนาที่เป็นความอร่อยแล้ว ที่พอรู้สึกว่าอร่อยแล้ว ก็ขอให้ดับไป อย่าให้ปรุงความอยากหรือตัณหาขึ้นมา หรือว่าเวทนาที่เป็นความไม่อร่อย เพราะรู้สึกว่า ไม่อร่อยแล้ว ให้ดับไป อย่าให้เป็นความอยากอย่างโน้น อย่างนี้ขึ้นมา ที่ตรงกันข้ามขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่า เวทนานั้นไม่ปรุงให้เป็นตัณหา เวทนาที่อร่อยก็ไม่ปรุงกามตัณหาหรือภวตัณหา เวทนาที่ไม่อร่อยก็ไม่ปรุงวิภวตัณหา
แม้ว่าตัณหาทั้ง ๓ ไม่ถูกปรุงขึ้นมาด้วยอำนาจของเวทนาใดๆ หมด มันก็หยุดกันเพียงเท่านั้น คือมันไม่มีตัณหาเกิดขึ้น ความทุกข์ก็ไม่มี แต่ถ้าเวทนาปรุงเป็นตัณหาขึ้นมาแล้ว มันช่วยไม่ได้ เพราะว่าหลังจากตัณหาแล้ว
ตัวกูก็โผล่หัวออกมาทันที เป็นเจ้าของตัณหา เป็นตัวกูที่จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ ยึดถืออย่างนั้น ยึดถืออย่างนี้ เป็นตัวกูที่เปิดออกมา เป็นชาติ เป็นภพ เป็นชาติ แล้วมันก็ต้องทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าถ้าเป็นตัณหาเสียแล้วมันก็จะต้องทุกข์โดยแน่นอน เพราะมันปรุงเป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาตินั่นเอง ถ้าลองเป็นชาติแล้ว มันจะต้องมี ชรา มรณะ ซึ่งล้วนแต่เป็นความทุกข์ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นจงระวังชาติชนิดนี้ให้มาก ซึ่งมันจะเกิดทุกคราวที่ตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้กระทบกลิ่น เป็นต้น
สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้เอง พระพุทธศาสนาทั้งหมด ทั้งสิ้น สรุปรวมแล้ว ก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ที่มากระทบ จึงพูดได้สั้นๆ ประโยคเดียวว่า ควบคุมที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดเป็นเวทนา หรือตัณหาขึ้นมาเท่านั้น เราก็จะอยู่เหนือโลกทั้งหลายได้ เพราะโลกทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้นนั้น อยู่แค่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แต่อารมณ์ทั้งหมดนั้นจะมีอยู่กี่ร้อยอย่าง หมื่นอย่าง พันอย่าง แสนอย่าง มันก็มีความหมายเพียงให้เกิดเวทนาเท่านั้นเอง เวทนานั้นจะมีกี่ร้อยอย่าง พันอย่าง หมื่นอย่าง แสนอย่างก็ตามอารมณ์อันนั้น มันก็มีความหมายตรงที่ปรุงให้เกิดตัณหาเท่านั้นเอง แล้วควบคุมอารมณ์ทางตา ทางหู ให้เป็นเพียงผัสสะ ไม่ให้เป็นเวทนา เรื่องมันก็จบกันตั้งแต่ทีแรก หรือตั้งแต่แรกเห็น หรือแรกได้ยิน แต่ถ้าพ่ายแพ้ที่ตรงนี้เกิดเป็นเวทนาเสมอ ก็ต่อสู้ ควบคุมอีกครั้งหนึ่ง ตรงที่ไม่ให้เป็นตัณหาขึ้นมาให้เวทนาดับไป โดยไม่ต้องปรุงเป็นตัณหาขึ้นมา
ลักษณะอาการที่เรียกกันว่าปฏิจจสมุปบาทมีความสำคัญอย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและปฏิบัติเป็นประจำวันอย่างนี้ ตัวกูจึงจะไม่เกิดขึ้น ความทุกข์จึงจะดับไป เราสามารถทำให้ไม่มีชาติ ไม่มีชาติแห่งตัวกูเกิดขึ้นมานั่นเองชาตินี้ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ดังที่กล่าวแล้ว หรือถ้าพูดว่าเกิดจากท้องแม่ ก็ต้องพูดว่า แม่ของมันนั้นคืออวิชชา ไม่ใช่แม่ที่เป็นเพศหญิง อยู่กับบิดาที่เป็นเพศชายแล้วเกิดเราออกมา ที่จริงแม่ของมันนั้นคืออวิชชา
ความโง่เง่า ไม่รู้ตามที่เป็นจริง มันทำให้เกิดมาเป็นอุปาทาน เป็นตัวกู หรือเป็นของกู
นี่ต้องระวังแม่อวิชชานี้ไว้ให้มาก อย่าให้คลอดเป็นตัณหาหรืออุปาทานออกมา หรือว่าการที่เวทนาจะปรุงให้เป็นตัณหานั้น มันก็เพราะอวิชชาด้วยเหมือนกัน พออวิชชาไม่มี มีแต่วิชชาแล้ว เวทนาจะปรุงให้เกิดเป็นตัณหาขึ้นมาไม่ได้ มันจึงไม่เกิด แล้วก็ไม่แก่ ไม่ตาย และไม่มีความทุกข์ด้วยเหตุนี้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนมาก จึงตรัสมาก ในบรรดาคำสอนทั้งหลาย ให้มีสติสัมปชัญญะ
ในขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นได้รส กายได้โผฏฐัพพะ เป็นต้น ให้มากที่สุด หรือที่เขาสอนกันเป็นธรรม สมมุติง่ายๆ ปรัมปราๆ ว่า ให้ควรระวัง งดอินทรีย์ทั้ง ๕
งดอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะไปทำให้เกิดเรื่องราวเท่าที่อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราฆ่า งดอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ให้ตาย ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้
การฆ่า งดอินทรีย์ให้ตาย ก็หมายความว่า ทำให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ไม่รับอารมณ์ในฐานะที่เป็นเวทนาหรือเป็นตัณหานั่นเอง ทำให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้หมดความหมายในการที่จะรับอารมณ์เข้ามาเป็นเวทนา
เป็นตัณหา เราฆ่ามันให้ตายก็ด้วยสติสัมปชัญญะหรือปัญญาที่มาควบคุมอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น ใจ กาย ก็เลย
ไม่กลายเป็นงดอินทรีย์ ชนิดที่จะกินเหยื่อแล้วทำให้เกิดความทุกข์ แล้วจะพูดกันโดยแง่ไหน โดยปริยายไหน โดยอุปมาอย่างไร มันก็ไม่พ้นไปจากการป้องกันหรือกำจัดไม่ให้ตัวกูเกิดขึ้นมา ไม่ให้ของกูเกิดขึ้นมา ไม่ให้
ลิงต้องล้างหูอีกต่อไป
รวมความว่า ถ้าเอาชนะตัวกูได้อย่างเดียวเท่านั้น จิตนี้ก็จะเข้าถึงความว่างจะรู้ถึงโลกุตตรธรรม หรือสภาวะที่อยู่เหนือโลก ที่เราเรียกกันว่ามรรค ผล นิพพาน นั่นเอง แต่เราเรียกกันเสียจนชิน จนไม่รู้ความหมายว่า มรรค ผล นิพพานที่แท้จริงนั้น คืออะไร หรือเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นสิ่งที่น่าสมเพช เวทนาอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่น่าอดสู น่าละอายอย่างยิ่ง แต่แล้วก็หาละอายกันไม่
รวมความว่า จิตที่ประกอบไปด้วยสติ ปัญญา ไม่ลุ่มหลงไปตามอารมณ์เหล่านั้นแล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะก่อให้เกิดตัวกูหรือของกูขึ้นมาได้ หมายความว่า กิเลสตัณหาไม่มีทางที่จะก่อรูป ก่อร่างขึ้นมาในจิตชนิดนี้ได้ ร่างกายนี้จึงบริสุทธิ์ สะอาด จิตใจนี้จึงบริสุทธิ์ สะอาด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้จึงสะอาด คือไม่ถูกอุปาทานเข้ายึดครอง เป็นเบญจขันธ์ที่ปราศจากอุปาทาน เป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ด้วยโลกุตตรธรรม ซึ่งเราเรียกกันว่า เบญจขันธ์บริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นบุคคลสูงสุดที่เราพากันมา ประชุมกันแล้วทำมาฆบูชา เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น อันมีพระพุทธเจ้าเป็นจอม.....(นาทีที่ ๐๑.๐๗.๔๔)
พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นมีขันธสันดานบริสุทธิ์ คือมีเบญจขันธ์บริสุทธิ์ ไม่มีอุปาทาน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เรามาทำการบูชาท่านด้วยมาฆบูชาแล้วทำไมไม่เอาอย่างท่านทำไมไม่ตั้งปณิธานหรืออธิษฐานในการที่จะดำเนินตามรอยของท่าน นี่แหละคือมันเป็นการหลอกตัวเอง ไม่มีความจริง ไม่มีความอาย ไม่มีความกลัว ไม่รู้จักเข็ดไม่รู้จักหลาบ ในการที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏฏสงสาร เราควรจะได้ศึกษาเรื่องเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานยึดครองนี้กันให้มาก จึงจะเข้าใจเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตาจนสามารถที่จะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่าเป็นชีวิตชาวพุทธแท้
ชีวิตชาวพุทธแท้ก็คือชีวิตที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีกิเลส เรื่องให้เศร้าหมองมืดมัวเร่าร้อนนั่นเอง เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู หรือของกู จนร่างกายและจิตใจ ที่เป็นถ้าเปรียบแล้วก็เหมือนเครื่องจักร
คือกายกับใจล้วนๆ บริสุทธิ์ล้วนๆ เคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจของสติปัญญาล้วนๆ กาย ใจล้วนๆ ก็คือไม่มีกิเลส ปัญญา อุปาทานเข้ามายึดครอง สติปัญญาล้วนๆ นี่ออกจากพูดเกินไปหน่อย สติ ปัญญาล้วนๆ หมายความว่า
ไม่มีความโง่เจือปนอยู่เลย ที่จริงไม่มีความโง่เจือปนอยู่เลยนั้น มันก็เป็นสติปัญญาแท้ๆ เป็นสติปัญญาบริสุทธิ์
หรือว่าสติปัญญาบริสุทธิ์ มันก็ไม่ต้องเจือด้วยความโง่ ความหลง แต่ประการใด
เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่าสติปัญญาที่แท้จริง ที่ได้อบรมมาตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า ธรรมนี่แหละหนา (นาทีที่ ๐๑.๐๙.๕๐) เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร แล้วก็อีกส่วน ๒ ส่วนก็คือร่างกายกับจิตใจ คือรูปธรรมกับนามธรรมประกอบอยู่กับสติปัญญา ไม่มีกิเลสตัณหาเข้ามาแทรกแซง
แล้วเครื่องจักรนี้ก็หมุนไปในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์เลย ลองคิดดูว่า ถ้าสมมุติว่าเหมือนเป็นเครื่องจักร มันไม่มี
ความยึดถือว่าตัวกูหรือของกูเซ็งแซ่อยู่ในนั้น มันเป็นเครื่องจักรไปทั้งนั้น
กายนี้ก็เป็นสักแต่ว่าธาตุในฝ่ายรูปธาตุ ใจนี้ก็เป็นสักแต่ว่าธาตุในส่วนนามธาตุ สติปัญญาก็เป็นเพียงว่าธาตุในส่วนนามธาตุ ให้มันเป็นธาตุล้วนๆ ไม่มีอุปาทานยึดถือว่าตัวตน ตัวอยู่ในนั้นเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล
ไม่มีตัว ไม่มีตนเจืออยู่ในนั้น ให้เป็นแต่สักว่าธาตุล้วนๆ เป็นธาตุกาย เป็นธาตุใจ เป็นธาตุธรรม รวมกันเป็นธาตุ
เป็นกลุ่มแห่งธาตุ ๓ ธาตุ ร่างกายเป็นธาตุกาย จิตใจเป็นธาตุใจ สติปัญญาเป็นธาตุธรรม ธาตุธรรมะ แล้วมันก็เป็นเครื่องจักรเท่านั้นเอง เป็นชีวิตเครื่องจักรที่หมุนไปได้ ไม่ตายด้าน ไม่หยุดนิ่ง กายกับใจบริสุทธิ์ หมุนไปด้วยอำนาจของสติปัญญาบริสุทธิ์ แล้วการหมุนไปไม่หยุดนิ่งนั่นแหละมันผลิตเป็นประโยชน์ออกมา เหมือนกับเครื่องจักรทั้งหลายย่อมผลิตเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมา ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็นต้องมีตัวกู ไม่มีของกู
นี่แหละน่าจะเอาอย่างเครื่องจักรที่มันหมุนอยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน มันก็ยังทำได้ ให้มันไม่มีตัวกู ไม่มี
ของกู ถึงอย่างนั้นมันก็ยังผลิตเป็นของนั่น ของนี่ออกมา ให้เราใช้สอยเต็มไปหมด มันไม่มีความทุกข์เลย
แล้วมันก็ยังทำประโยชน์อย่างใหญ่หลวงได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา หรือความทุกข์นั้นจึงสามารถบำเพ็ญประโยชน์อย่างแท้จริงให้แก่บุคคลอื่นได้ จงดูตัวอย่างที่พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลายท่านบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลายอย่างยิ่ง อย่างไม่มีอะไรจะเปรียบเสมอเหมือนได้ แล้วท่านก็ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูที่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์เพราะบุคคลใด นั่นแหละมันจึงเหมือนเครื่องจักรแท้ๆ เคลื่อนไหวไปแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่แล้วสัตว์ที่ไม่นุ่งผ้า ไม่มีชีวิตเหล่านั้น ก็หารู้จักขอบพระเดช พระคุณของพระพุทธเจ้าไม่ หาได้กตัญญูต่อพระพุทธเจ้าให้มาก ให้พอ ให้สมกันไม่ นี่มันเป็นความไม่รู้ เป็นความหลับอยู่ตลอดเวลา
ทำไมจึงไม่ตื่นขึ้นมาด้วยสติปัญญา ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ดังที่
พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมคือสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเรา หรือเป็นของๆ เรา เป็นนี้ ในที่สุด ถ้าบุคคลใดมองเห็นความจริงในข้อนี้ คือ เห็นชีวิตในด้านใน หมายความว่า รู้จักสิ่งที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์เลย ไม่ใช่ชีวิตด้านนอก ที่อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อความทุกข์เสียทั้งนั้นแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าถึงโลกุตตรธรรม ทำบุคคลนั้นให้มีความเป็นอันเดียวกันกับความว่าง ซึ่งเป็นธรรมะอย่างยิ่ง นั่นแหละถึงเรียกว่า เป็นผู้ถึงที่สุดของธรรมะ คนถึงธรรม และธรรมถึงคนได้ถึงที่สุดกัน ก็เพราะเข้าถึงความว่างนี้เอง ความว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน
ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจธรรมตัวนี้ไว้ และยอมรับความจริงข้อนี้ว่า ความว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือ นิพพาน ว่างไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ว่างจากตัวกูหรือของกูโดยสิ้นเชิง นั่นแหละคือนิพพาน นั่นแหละคือโลกุตตรธรรม ทำไมจึงจะห่วงตัวกูหรือของกูอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่เข้ามาสู่ความว่างนี้เล่า แล้วคนจะถึงธรรมหรือธรรมจะถึงคนได้อย่างไร เพราะว่าตัวกูหรือของกูอันร้ายกาจนั่นแหละมันปิดกั้นไปเสียหมด มันปิดกั้นยิ่งกว่ากำแพงหรือภูเขามาปิดกั้น คนจึงไม่ถึงธรรมะ ธรรมะจึงไม่ถึงคน
คนไม่ถึงธรรม ธรรมไม่ถึงคนก็เพราะไอ้นี่เอง มันปิดกั้น คือตัวกูหรือของกูนี่เอง แล้วจะต้องทำลายภูเขาอันนี้ หรือกำแพงอันนี้ให้พังทลายไป คนก็จะถึงธรรม ธรรมก็จะถึงคน เพราะว่าที่แท้มันพร้อมที่จะถึงอยู่ทุกเมื่อ
เชื่อวันแล้ว มันจ่อในการที่จะถึงกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว ขาดแต่ว่าตัวกูหรือของกูนี้มันโพล่งขึ้นมาเป็นเครื่องกั้นอยู่เสมอไป เอาตัวกูออกไปเสียได้เมื่อใด คนกับธรรมก็จะกลายเป็นสิ่งๆ เดียวกันโดยไม่ต้องสงสัยเลย
คนมันหายไปเพราะตัวกูมันหายไป มันก็เหลือแต่ธรรม นี่แหละเรียกว่าคนกับธรรมกลายเป็นสิ่งอันเดียวกัน
หรือถ้าจะเรียกว่าคนมันก็ต้องเป็นคนชนิดที่ไม่ใช่ตัวกูหรือของกู แต่ต้องเป็นคนชนิดที่เป็นตัวธรรม
นั่นแหละคือชีวิตที่แท้จริง ถ้าให้เข้าถึงสิ่งนี้ จึงจะเรียกว่ามีชีวิตและนุ่งผ้า จึงเป็นอันกล่าวได้ว่า เมื่อใดคนถึง
ธรรมนั้น หรือธรรมถึงคนแล้ว เมื่อนั้น มันจะมีสิ่งที่เป็นชีวิตนิรันดรและนุ่งผ้าอย่างสวยงาม คือลักษณะ
แห่งธรรมที่ประกอบอยู่ที่ชีวิตนั้น ในตัวชีวิตนั้น และแท้ที่จริงแล้ว มันก็คือความว่างอย่างยิ่ง ว่างจากตัวกู
ว่างถึงที่สุด จนถึงกับกล่าวได้ว่า ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน
เพราะฉะนั้น ชีวิตอนันตกาลหรือชีวิตนิรันดรก็ได้แก่ นิพพานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรอย่างอื่นมาก
ไปกว่านั้น แม้สภาวะอันนั้นไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความเกิด ไม่มีความดับ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็น
ความทุกข์ ความเร่าร้อนหรือความระส่ำระสาย ซึ่งคนโง่ คนหลงมายึดเอาเป็นตัวกูหรือของกู หรือเข้าใจว่าไปมีชีวิตกันที่นั่น แท้ที่จริงแล้ว จะหาชีวิตที่แท้จริงในสิ่งที่เป็นสังขาร ในสิ่งที่มีการปรุงแต่งให้มีการไหลเวียน
เกิดดับนั้น หาได้ไม่ จะต้องไปมองหาชีวิตที่แท้จริงกันในสิ่งที่เป็นความว่างจากตัวกูหรือของกูโดยสิ้นเชิง
คือเป็นตัวธรรมะที่สูงสุดยิ่งกว่าธรรมะทั้งหลาย สมตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า นิพพานัง ปรมัง ประฐัน ติพุทธา (นาทีที่ ๐๑.๑๗.๓๘) พวกผู้รู้ทั้งหลายได้กล่าวนิพพานว่าเป็นธรรมะอย่างยิ่งหรือเป็นบรมธรรม บรมธรรมนั้นคือธรรมะอย่างยิ่ง หรือธรรมะสูงสุด นั่นแหละคือสิ่งที่ควรจะเรียกว่า เป็นตัวชีวิตอันแท้จริง เพราะเป็นธรรมอันสูงสุดนั่นเอง แต่แล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความว่างอย่างยิ่ง หรือว่างจากตัวกู หรือคือนิพพาน เรื่องของเราจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำลายตัวกูหรือของกูเสียให้หมดไปจากสันดาน ถ้าไม่สามารถจะทำลายให้สิ้นเชิงได้ ก็ควบคุมไว้ให้ดี ให้อยู่ในโลกหรือโลกียธรรมที่มีทุกข์แต่น้อยที่สุด ควบคุมให้ดำเนินไปด้วยดีอย่าได้ไปหลงอยู่ในโลกียธรรมเหล่านั้น ให้เป็นเหมือนกับเครื่องมือสำหรับศึกษาให้รู้จักโลก หรือโลกียธรรมเหล่านั้นถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่เท่าไรก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดอย่างถูกต้องขึ้นมาเอง
เมื่อมีความคลายกำหนัดแล้วจะต้องมีการหลุดออกไปเอง จะรู้ว่าเราเป็นผู้หลุดแล้วจากโลกียธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงสิ่งสูงสุดคือบรมธรรมนั้น เป็นอันว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย นี่แหละคือเรื่องของคนถึงธรรมหรือธรรมถึงคน ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือเป็นหัวใจอันเป็นความหมายอันแท้จริงของคำว่าพระอรหันต์ อันเป็นบุคคลที่หลุดพ้นแล้วจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เป็นบุคคลที่ควรจะถือเอาเป็นตัวอย่าง จนถึงกับเราพร้อมใจกันมาเสียสละ อดหลับ อดนอน ประกอบมาฆบูชาเป็นเครื่องบูชาแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น
เพื่อเป็นสติอุทธาหรณ์สำหรับยึดถือเป็นหลักประจำใจ ในการที่จะทำลายตัวกูหรือของกูให้ค่อยๆ หมดไปเหมือนกับที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้กระทำแล้ว แต่โดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังที่ได้กล่าวมาอย่างยืดยาวตั้ง ๓ ครั้ง ๓ คราว แล้วก็หลุดลงได้ในนิเขตบท...(นาทีที่ ๐๑.๒๐.๑๘) แห่งโอวาทปาติโมกข์ว่า.......เป็นภาษาบาลี....................(นาทีที่ ๐๑.๒๐.๒๒) การไม่กระทำความชั่วทุกอย่าง..... .....เป็นภาษาบาลี..................(นาทีที่ ๐๑.๒๐.๒๔) การทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อม............เป็นภาษาบาลี...............(นาทีที่ ๐๑.๒๐.๓๒) ชำระจิตให้หมดจดจากความยึดถือว่าตัวกูหรือของกู ในที่สุดเป็นวาระสุดท้าย ก็จะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง มีความงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายได้แท้จริง
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้….สาธุ อนุโมทนามิ