แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำสวดนาทีที่ 00.19-00.52
ณ บัดนี้ ก็ได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปํญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อนัยยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาเนื่องด้วยวันมาฆบูชา อันเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่แล้ว การที่เราประกอบพิธีมาฆบูชาเช่นนี้นั้น เพื่อความมุ่งหมายก็เพื่อที่จะได้ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าเป็นประมุขก่อน แล้วจะได้ดำเนินตนไปตามร่องรอยของพระอรหันต์ทั้งหลาย และในที่สุดให้ได้บรรลุถึงสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์เราควรจะลุจะถึง ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายได้บรรลุนั่นเอง และสิ่งที่กล่าวนั้น ถ้าจะเรียกอย่างสั้นๆก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่จะเรียกว่าธรรมหรือธรรมะ การเข้าถึงธรรมะถึงที่สุดนั่นเอง เรียกว่าการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับ
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราจะได้วิสัชชนากันโดยหัวข้อสั้นๆว่า คนถึงธรรมหรือว่าธรรมถึงคน คนถึงธรรมก็หมายความว่า คนเราได้ลุถึงธรรมะ ธรรมะถึงคนก็หมายความว่า เดี๋ยวนี้ธรรมะได้ถึงซึ่งบุคคลเหล่านั้นอีกที ก่อนนี้ธรรมะนั้นไม่อาจจะถึงบุคคล เพราะว่าคนไม่สามารถที่จะทำ ทำตนให้เหมาะสมสำหรับที่จะถึงธรรม เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า คนถึงธรรมกับธรรมถึงคนนั้นมีใจความอย่างเดียวกัน แต่จะมีผิดกันอยู่บ้างก็ในเมื่อที่พิจารณาดูโดยละเอียด
คนถึงธรรม หมายความว่า คนได้พยายามปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนถึงที่สุด จนถึงกับว่าคนนั้นได้เข้าถึงธรรม ส่วนข้อที่ว่าธรรมถึงคนนั้น มันเป็นผลของการกระทำของบุคคลนั้นเอง แต่ธรรมะจะต้องถึงคนโดยแน่นอน ในเมื่อคนถึงธรรมะ ถ้าพิจารณาดูให้ดีในข้อนี้แล้ว มันยังมีความหมายอย่างอื่นซ่อนเร้นอยู่ ข้อนี้ก็คือข้อที่คนเราตามธรรมดาไม่ถึงธรรมะ และธรรมะก็เลยไม่มาวี่แววแผ้วพานกับคน ต่างคนต่างอยู่ แต่แล้วคนทั่วไปก็ยังอวดโอ้ว่าตนเป็นผู้ถึงธรรมะ นั่นมันคนว่าเอาเอง คนนั้นก็ถึงธรรมตามประสาของเขาเอง แต่ธรรมะหาได้ถึงคนๆนั้นไม่ ดังนี้แหละเป็นข้อที่จะต้องวินิจฉัยดูให้ดีๆด้วยกันทุกคน จนมองเห็นว่าเราเข้าใจว่าเราถึงธรรมะ แต่แล้วธรรมะหาได้มาถึงเรา หาได้ถึงเราไม่ จริงดังนี้หรือไม่
คนธรรมดาเข้าข้างตัว อะไรๆก็ว่าตัวถึงธรรมะไปหมด แต่ธรรมะนั้นไม่เข้ากับใคร แต่เมื่อคนประพฤติดีประพฤติชอบจริงๆ จึงจะถึงคน ให้ดูตรงนี้แหละ คนจึงถึงธรรมะกันแต่ปาก ว่าเอาเองทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่ง หลงใหล ไม่รู้บ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง บ้าน้ำลาย พูดไม่หยุดหย่อนบ้าง ก็ล้วนแต่ว่าเอาเองทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของคน ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้แน่นอน ให้มีผลดีถึงที่สุด มันต้องให้เต็มพร้อมกันจริงๆทั้ง ๒ อย่างที่ว่า ธรรมถึงคนคนถึงธรรม หรือ ธรรมถึงคนครบถ้วนบริบูรณ์ตามนี้จริงๆจึงจะได้ แต่ว่านั่นแหละ ความเป็นพระอรหันต์ก็จะมีอยู่ทั่วไปในโลกนี้ หรือทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ สมกับความมุ่งหมายของการทำมาฆบูชา จึงทราบกันแล้วว่าเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงควรตั้งอกตั้งใจให้เป็นอย่างดีสำหรับในวันนี้ เพราะเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลายดังกล่าวแล้ว
พุทธภาษิตที่ทรงแสดงในวันที่ตรงกับวันมาฆบูชาที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาตนั้น มีหัวข้อสั้นๆ แต่เป็นใจความสำคัญที่สุด ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทขั้นต้นนั่นเอง สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลหรือความดีให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนเองให้ขาวรอบหรือผุดผ่อง เอตัง พุทธานะสาสะนัง ๓ อย่างนั้นเป็นพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่าการกระทำทั้ง ๓ อย่างนั้นแหละ เป็นเครื่องแสดงถึงการถึงธรรมอย่างสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว ที่ว่าการที่จะเข้าถึงธรรมนั้น ก็จะต้องเว้นจากการทำบาปทั้งปวง ทำความดีให้เต็มเปี่ยม และชำระจิตให้หมดจดจากเรื่องเศร้าหมองของจิตทุกประการ ๓ อย่างนี้ถ้าทำบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว เป็นการถึงธรรมะ ผู้กระทำนั้นเองเป็นผู้ถึงธรรมะ และธรรมะย่อมถึงบุคคลผู้กระทำนั้น เมื่อไม่ทำบาป เมื่อทำกุศลให้บริบูรณ์ และทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง ก็แปลว่า ธรรมะซึ่งไม่เคยถึงมาแต่กาลก่อนนั้นได้มาถึงท่านแล้ว ได้แต่ความสะอาด สว่าง สงบ ดังที่เราฝันถึงกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่าโอวาท ๓ ประการนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้คนถึงธรรมะ หรือทำธรรมะให้ถึงคน เป็นว่าเป็นการสมควรอยู่แล้วที่เราจะพูดกันถึงเรื่องนี้ และในวันนี้ซึ่งสมมุติเป็นวันมาฆบูชาของปีนี้
ทีนี้จะได้วินิจฉัยกันต่อไป โดยหลักที่ว่าคนถึงธรรมได้อย่างไร ในชั้นแรกนี้จะได้กล่าวอย่างย่อๆ ในฐานะที่เป็นหลักทั่วไปก่อน โดยแยกคำ ๓ คำนี้ออกเป็นคำๆ แล้วจะได้วินิจฉัยกันทีละคำๆ ๓ คำก็คือ คนถึงธรรม คนคำหนึ่ง ถึงคำหนึ่ง แล้วก็ ธรรมคำหนึ่ง รวมเป็น ๓ คำ คนก็หมายถึงคนที่จะถึงธรรม คำว่าถึงก็หมายถึงกริยาอาการที่จะลุถึง ธรรมก็หมายถึงสิ่งที่จะลุถึง
สำหรับคำว่าคนนั้น ท่านนิยมแบ่งออกเป็น ๒ พวกคือ พวกที่หลับหูหลับตา ไม่รู้ต้นปลายเหนือใต้ มืดมิดอยู่ นี่ก็พวกหนึ่ง ทีนี้อีกพวกหนึ่งก็คือ พวกที่ไม่เป็นอย่างนั้น ได้แก่พวกที่อยากจะรู้ และอาจจะเข้าใจธรรมะได้ แม้พวกนี้ก็ยังต้องแบ่งออกเป็นพวกๆด้วยเหมือนกัน เพราะยังสูงต่ำกว่ากัน เช่น ที่ท่านแบ่งไว้ว่า อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตตัญญู หรือ เนยยะ
อุคฆฏิตัญญู หมายความว่า พอเอ่ยชื่อออกมาคำเดียวเท่านั้น เขาก็รู้ได้อย่างทั่วถึง เหมือนอย่างที่เราได้ยินได้ฟังในพระพุทธประวัติที่มีกล่าวว่า พระสิทธัตถะนั้น พออาจารย์เอ่ยปากขึ้นว่าจะสอนเรื่องอะไรเท่านั้นเอง ก็เป็นว่ารู้เรื่องนั้น และอธิบายให้อาจารย์ฟังเสียอีกว่าถูกต้องไหม โดยใจความก็หมายความว่า บอกแต่หัวข้อของเรื่องก็พอแล้ว เขาเข้าใจได้โดยตนเองว่ามันเป็นอย่างไร เพราะว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพอที่แทงตลอดสิ่งนั้นๆได้ด้วยตนเอง ตามลำพังตนเอง นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากอย่างยิ่ง
ทีนี้ ถัดไปก็คือพวก วิปัจจิตัญญู พวกนี้ต้องอาศัยคำอธิบายชี้แจงบ้าง จึงจะเข้าใจได้ แต่ก็ยังนับว่าเป็นพวกที่เข้าใจได้รวดเร็วมาก คือเพียงแต่ชี้แจงครั้งแรกก็เข้าใจได้แล้ว
พวกที่ถัดไปเรียกว่า เนยยะ หมายความว่า เป็นผู้ที่จะต้องได้รับการพร่ำสอน ชี้แจง พร่ำสอนอยู่เป็นประจำ จึงจะสามารถเข้าใจสิ่งนั้นๆได้ นับว่าเพลาลงมา แต่อย่างนั้นก็จัดไว้ในฐานะที่เป็นสัตว์ที่อาจจะรู้ได้
ทั้ง ๓ พวกนี้เรียกว่าเวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่อยู่ในวิสัยที่จะรู้แจ้งได้ นับรวมกันเข้ากับพวกสุดท้าย คือคนมืด คนที่หนามากจนไม่อาจจะรู้อะไรได้ เรียกว่า ปทปรมะ ก็เลยเป็น มีบุคคล ๔ พวกด้วยกัน ๓ พวกแรกเอาตัวรอดได้ ส่วนพวกหลังนี้ก็ยังต้องเป็นหลักตอปักในวัฏฎะสงสารอย่างแน่นแฟ้นไปพลางก่อน
นี่แหละ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า สิ่งที่เรียกว่าคน คนนั้นมันหาเหมือนกันทุกคนไม่ มันต่างกันมากมาย ถึงกับเป็นอย่างนี้ ควรที่เราทั้งหลายจะระลึกนึกด้วยความไม่ประมาทว่า เราอยู่ในสถานะเช่นไร แล้วจะต้องแก้ไขมันด้วยความไม่ประมาท
พวกปทปรมะ แปลว่ามีบทเป็นอย่างยิ่ง ก็หมายความว่า มีเครื่องถ่วงเป็นอย่างยิ่ง มีเครื่องปิดบังเป็นอย่างยิ่ง นี่ก็เพราะมันประมาท มันทำเอาเอง ไม่ใช่มีใครทำให้ เป็นผู้ที่สร้างสมมาแต่ในทางที่จะให้มืดมัว หมายความว่าพอใจในสิ่งที่ทำความมืดมัว ไม่พอใจในสิ่งซึ่งเป็นความสว่างไสว เพราะเห็นแก่สิ่งที่ง่ายๆ ต่ำๆ หรือ พูดตรงๆก็เรียกว่า เห็นแก่ปากแก่ท้อง เป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของธรรมชาติชั้นต่ำๆมากเกินไป
เพราะฉะนั้น เราควรจะได้วินิจฉัยกันถึง กฏเกณฑ์ของธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทั้งหลาย หรือบังคับสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างแน่นแฟ้นกันดูบ้างว่ามันเป็นอย่างไร เรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งด้วยสติปํญญา จึงจะมองเห็นได้ว่า ธรรมชาติมันกำกับไว้อย่างไร บังคับไว้อย่างไร ท่านทั้งหลายจึงต้องพิจารณาดู ให้เห็นตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติกันเสียบ้าง ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจได้
คำว่าธรรมชาตินี้ก็แปลว่า สิ่งที่เป็นไปเองตามธรรมชาติธรรมดา อยู่เป็นปกติของธรรมดาธรรมชาติ แล้วแต่จะเรียก แต่ใจความสำคัญมันมีอยู่ตรงที่ว่า มันมีอยู่เอง มันเป็นอยู่เอง มันเป็นไปเอง ไม่ต้องมีใครทำที่ไหนอีกแล้ว ตามธรรมดาสัตว์ทั่วไปย่อมมีความต้องการตามธรรมชาติอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน นี่หมายความว่า จิตใจตามธรรมดาสามัญของสัตว์ จะเกิดความรู้สึกนึกคิดที่เป็นความต้องการ ๓ ประการนี้ขึ้นมาได้โดยลำพังตัวมันเอง
๓ ประการนี้ พอที่จะแยกได้ ให้แตกต่างกันออกไปเป็นคู่ๆ คือว่า ทางร่างกายเป็นส่วนใหญ่นั้น มันต้องการอาหาร ต้องการเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือ อยากได้ โลภ นี้เรียกว่าเป็นความต้องการของจิตที่เป็นไปในทางกาย จนกระทั่งเราเรียกว่าความต้องการของกาย เพราะมันมีร่างกายนั้นเป็นมูลเหตุ เป็นปัจจัยอันใหญ่หลวงให้ต้องการ คือมันต้องการมีอาหารกิน ต้องการมีเครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกาย ต้องการที่อยู่อาศัย และต้องการสิ่งบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ นี่เรียกว่าร่างกายมันต้องการ เป็นของจำเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ได้ชัด ถ้าไม่ได้สิ่งทั้ง ๔ นี้แล้ว ร่างกายมันอยู่ไม่ได้ มันแตกทำลายไป ชีวิตมันก็พลอยสูญไปด้วย จึงเรียกว่าเป็นความต้องการของชีวิตในส่วนที่เป็นร่างกาย นี้อย่างหนึ่ง
ทีนี้อย่างถัดไปเรียกว่า ความต้องการของจิตใจ นี้หมายถึง จิตใจที่แม้จะมีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีอะไรพร้อมในทางกายแล้ว มันยังไม่พอ มันยังต้องการความไพเราะ ความสวยงาม ความสูง ความประเสริฐ ความดี ความเด่น ความมีหน้ามีตา อะไรมากขึ้นไปอีก หรือถ้าจะเรียกกันให้ชัด ก็ควรเรียกว่ากามคุณ หมายความว่า มีแต่อาหารกิน มีที่อยู่อาศัย อะไรพร้อมบูรณ์อย่างนั้น มันยังไม่พอ ใจมันยังต้องการสิ่งที่เรียกว่ากามคุณอีกส่วนหนึ่ง จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ ธรรมมารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึก คิด นึก อะไรก็ตาม รวมกันแล้วก็เรียกว่ากามคุณ คือสิ่งซึ่งสนองความใคร่แก่จิตใจที่มากไปกว่าความจำเป็นในทางกาย นี้เราเรียกว่าชีวิตในส่วนจิตใจมันต้องการ เป็นอย่างที่ ๒
ทีนี้ อย่างที่ ๓ นั้น มันยังมีความต้องการตามธรรมชาติธรรมดาสามัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งข้อนี้เป็นความต้องการของทิฐิ ความคิด ความเห็น หรือ สติปัญญา ก็ได้ สติปัญญา หรือ ทิฐิ นั้น มันไม่ได้ต้องการกามคุณมากมายอะไรนัก แต่มันต้องการอะไรอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งมันจะมาเป็นเครื่องบำบัดเสียซึ่งความหวาดกลัว ความสงสัย ความระแวง เป็นต้นว่าตายแล้วจะไปทางไหน จะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่า โชคดีโชคร้ายในชาติปัจจุบันนี้ มันขึ้นอยู่กับอะไร นี่แหละคือสิ่งที่สติปัญญา หรือ ทิฐิ ความคิด ความเห็น มันต้องการ และสิ่งนั้นก็ได้แก่ สิ่งที่เราเรียกกันว่า ลัทธิ หรือ ลัทธิศาสนา หรือ พระธรรม เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกต้องการสิ่งที่จะเป็นเครื่องทำความอุ่นใจให้แก่สติปัญญา หรือ ทิฐิ ความคิด ความเห็นแล้ว เราเรียกว่าเป็นความต้องการของสติปัญญา หรือ ทิฐิ ความคิดความเห็น
ทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ได้เป็นอย่างเดียวกันเลย อย่างแรก ร่างกายต้องการของกินของใช้ เท่าที่จะไม่ตาย อย่างที่สอง จิตใจต้องการสิ่งที่สวยงาม หรูหรา ฟุ่มเฟือย เหลือจนเกินความจำเป็น อย่างที่ ๓ ทิฐิ ความคิด ความเห็น ต้องการลัทธิอย่างใดอย่างหนึ่งมาถือไว้เป็นหลักประจำใจ คนโง่ๆก็ถือลัทธิโง่ๆ ไปตามประสาคนโง่ คนมีปัญญาก็ถือลัทธิธรรมะหรือศาสนา ไปตามประสาคนที่มีสติปัญญา เพราะฉะนั้นแหละ สิ่งที่ต้องพินิจพิจารณากันในที่นี้ก็คือ ความต่างกันระหว่างสิ่งทั้ง ๓ นี้
อันแรกก็คือ เรื่องเห็นแก่ปากแก่ท้อง กลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวไข้ ก็ต้องการสิ่งต่างๆมารักษา มาเยียวยา อย่างนี้เรียกว่าต่ำที่สุด เพราะว่าคนโง่เขลาที่สุดเท่าไร ก็รู้จักต้องการสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องปากเรื่องท้องทั้งนั้น ส่วนเรื่องที่ ๒ นั้นเป็นเรื่องกาม คือเรื่องที่เห็นนี่ หรือเหลือเฟือ แต่ถึงอย่างนั้น สามัญสัตว์ก็รู้จักต้องการ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังรู้จักต้องการ เพียงแต่ว่ามันเห็นละเอียดหรือหยาบกว่ากันบ้างเท่านั้น แต่แล้วก็รู้จักต้องการเหมือนกันทั้งนั้น ส่วนที่ ๓ คือลัทธิต่างๆนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดูไม่เห็น หรือสัมผัสไม่ได้ ต้องใช้สติปัญญา จึงยากที่คนจะเลือกเอาได้ ฉะนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นสัตว์เดรัจฉานจึงทำไม่เป็น สัตว์เดรัจฉานทั้งที่รู้จักปรารถนาอาหาร หรือปรารถนากาม มันก็ไม่รู้จักปรารถนาลัทธิ หรือธรรมะ หรือศาสนา ไปได้เลย
เราจึงเห็นได้ว่า สิ่งที่ ๓ แหละ ที่เป็นหลักสำคัญ ที่จะเป็นเครื่องวัดจิตใจของคนว่า เขากำลังอยู่ในพวกไหน คนที่มืด มีจิตใจมืดมากมัวมาก ไม่รู้จักปรารถนาลัทธิธรรมะลัทธิศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดาเหมือนกัน แต่ว่าถ้าจะพิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็ยังเห็นได้ดีว่า ถ้าเป็นคนแล้วถึงจะโง่สักเท่าไร ก็ยังรู้จักสร้างลัทธิต่างๆขึ้นมายึดถือไว้ได้บ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นลัทธิของคนโง่ มีอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งยังงมงาย เข้ากันไม่ได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้า มันจะมีอะไรบ้าง ก็ลองคิดดูเองเถิด ถ้าจะว่าออกไป มันก็จะเป็นการกระทบกระเทือนมากไปก็ได้
แต่ว่า ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า ลัทธิบางสิ่งบางอย่างที่เคยยึดถือกันมาอย่างปรัมปรานั้น บางอย่างก็เป็นลัทธิที่โง่เง่าหรืองมงายอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่วายที่คนยังถือกันอยู่ ทั้งๆที่บอกผู้อื่นว่าตัวเองเป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการเป็นอุบาสกอุบาสิกานั้นว่าเอาเอง เพราะไม่ได้ถึงธรรมะจริงๆ แต่ว่าเอาเองว่าถึงธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงมีอุบาสกอุบาสิกาชนิดหนึ่ง หรือพวกหนึ่ง คือพวกที่ไม่ถึงธรรมะที่แท้จริง แต่ว่าเอาเองนี่แหละ มีลัทธิที่งมงายโง่เง่ายืดถืออยู่อย่างมากมาย เป็นการประจานตัวเองว่ายังงมงาย ไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท เป็นการตู่พระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าก็สอนเช่นนี้ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอน เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในทางที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นความโง่เง่างมงายแล้ว จงระมัดระวังให้มาก พยายามพิจารณาดูให้ดีด้วยสติปัญญาที่ได้รับมาใหม่ๆจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าเรามีจิตใจอยู่ในสภาพที่ต่ำ เห็นแก่เรื่องกิน เห็นแก่เรื่องกาม และถือลัทธิโง่เง่างมงายไร้สาระอยู่ตลอดเวลาแล้ว จงรู้เถิดว่า นั่นแหละคือบุคคลจำพวกปทปรมะ คือบุคคลจำพวกที่ ๔ ที่ไม่มีวันจะรู้จะถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ เป็นบุคคลที่ไม่สามารถนับเข้าในจำพวก ๓ จำพวกแรก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตตัญญู และ เนยยะ ได้เลย จะต้องถูกจัดเป็นปทปรมะ คือบทบังอย่างยิ่ง ไปตามเดิม นี้เป็นข้อแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันของคำว่าคน
คนพวกที่จะถึงธรรมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้จักใช้สติปัญญา รู้จักใช้ทิฐิความคิดความเห็นของตน ให้รู้จักปรารถนาสิ่งซึ่งจะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้จริงๆ คือลัทธิธรรมะหรือลัทธิศาสนาที่ถูกต้องนั่นเอง ไม่ใช่ลัทธิ สีลัพพตปรามาส โง่เง่างมงายต่างๆ อย่างที่เรียกว่าลัทธิ ลัทธิแล้วมันจะถูกไปหมดนั้นหาใช่ไม่ ลัทธิที่ผิด เป็นของโง่เง่างมงายสำหรับคนโง่ก็ยังมี ลัทธิที่ถูกต้องก็มี ก็ต้องเลือกเอาลัทธิ เลือกเอาฝ่ายที่ถูกต้อง ยึดถือลัทธิที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำแล้ว ก็สามารถจะเป็นบุคคลที่เข้าถึงธรรมกันได้โดยแน่นอน นี่เรียกกันว่าวินิจฉัยกันในคำว่าคนที่จะถึงธรรม
ทีนี้ จะได้วินิจฉัยกันถึงกิริยาอาการที่เรียกว่าถึง หรือถึงธรรม คำว่าถึง ใครๆก็ทราบว่ามันหมายความว่าอะไร คือหมายความว่า ของ ๒ อย่างมาถึงกันเข้า ก็เรียกว่าถึง ในที่นี้เราต้องการให้คนกับธรรมหรือธรรมะนั้นถึง ถึงกัน แต่กริยาอาการที่เรียกว่าถึงนั้น มันก็มีอยู่ ๒ อย่าง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเองคือ ถึงข้างนอกอย่างหนึ่ง ถึงข้างในอย่างหนึ่ง ถึงข้างนอกนั้น ก็มีไว้สำหรับพวกปทปรมะ มีบทเป็นอย่างยิ่ง คืองมงาย ถึงข้างในนั้น ก็มีไว้สำหรับพวกอุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตตัญญู และ เนยยะ คือพวกที่มีสติปัญญา มีหู มีนัยน์ตาอันสว่าง
สำหรับการถึงอย่างข้างนอกนั้น ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีรีตอง สวดร้อง ท่องบ่น หรือแม้แต่การศึกษาค้นคว้าที่ทำไปแต่ลำพังตัวหนังสือหรือคำพูด ที่เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นหมายถึงว่า ถือกันมาอย่างไรแต่โบรมโบราณ ไปยึดมั่นถือมั่นเอาว่านั่นพอแล้ว ขอให้ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีก็แล้วกัน ก็เชื่อว่าถึง เหมือนอย่างว่าพ่อแม่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ลูกคลอดออกมาก็เป็นพุทธบริษัท พูดกันได้อย่างนี้ การพูดอย่างนี้มันถูกแต่เพียงว่าถึงอย่างข้างนอก คือถึงตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั่นเอง พ่อแม่เป็นจีน ลูกก็ต้องเป็นจีน พ่อแม่เป็นฝรั่ง ลูกก็ต้องเป็นฝรั่ง เมื่อพ่อแม่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ลูกเกิดออกมาก็เป็นพุทธบริษัท อย่างนี้เรียกว่าตามขนบธรรมเนียมประเพณี ถ้าจะเรียกว่าถึงธรรมะ ก็ถึงตามขนบธรรมเนียมประเพณี
ลองคิดดูเองเถิดว่ามันจะสำเร็จประโยชน์สักกี่มากน้อย มันคงจะสำเร็จประโยชน์บ้างสักนิดหนึ่ง คือเป็นเหมือนกับพืชพรรณหรือเมล็ดพันธุ์ สำหรับจะเอาไปเพาะไปหว่านอีกต่อไป แต่ถ้ามันเอาไปเพาะเอาไปหว่านแล้ว มันจะอย่างไรก็ลองคิดดูเถิด หรือเอาไปเพาะไปหว่านแล้วผิดที่ผิดทาง หรือโปรยลงไปในไฟนี้ มันจะงอกได้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดูด้วยกันทุกคนว่า การถึงธรรมะด้วยอาการสักว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น มันจะมีผลเป็นอย่างไร
ทีนี้ ก็มาถึงพิธีรีตอง พิธีรีตองหมายความว่า ระเบียบพิธีบางอย่างที่เขาจัดวางขึ้นไว้พอเป็นพิธีสำหรับคนที่ยังโง่ยังเขลา ยังไม่เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นได้ ก็เรียกว่าทำพอเป็นพิธี อย่างว่าจับตัวมาวัดให้ทำพิธีปฏิญานเป็นพุทธมามกะ รับศีลเป็นอุบาสกอุบาสิกา หรือว่าเอาไปขึ้นทะเบียนให้เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นทหาร เป็นต้น หรือว่าที่สุดแม้แต่ทำพิธีบวชพระบวชเณร มันก็เป็นเพียงพิธี ทำจบก็เป็นเพียงจบพิธี มันยังเป็นพระเป็นเณรตามพิธีเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติให้ถึงธรรมะอย่างแท้จริง ก็ยังต้องเป็นพระเป็นเณรไปตามพิธีรีตองต่อไป นี่แหละ ระวังให้ดี เหมือนกับคือว่าบวชแก้บน หรือว่ารับศีลพอเป็นพิธี หรือว่าบวชพอสักว่าเสร็จพิธี เหล่านี้มันก็เรียกว่าเป็นเรื่องพิธีรีตองทั้งนั้น มันช่วยอะไรได้บ้าง ทุกคนก็ย่อมจะรู้ดีว่า ที่ทำอะไรพอเป็นพิธีนั้น มันเป็นเรื่องหลอกๆ หลอกคนอื่นบ้าง หลอกตัวเองบ้าง จึงไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่จะถึงธรรมะเลย
หรือถัดขึ้นไปอีก เป็นเรื่องสวดร้องท่องบ่น นี้หมายความว่าไอ้กายนั้นจำได้มาก และก็สวดร้องท่องบ่นให้ลั่นไปหมด แต่บางคนก็ไม่รู้ความหมาย เพราะมันเพียงแต่สวดได้ท่องได้ ไม่สนใจว่าความหมายนั้นมันมีอยู่อย่างไร และจะต้องเอาไปประพฤติปฏิบัติอย่างไร บางคนสวดโดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเลยก็มี เพราะเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งนักบวชที่ถือศาสนาคริสต์บางคนก็สวดภาษาละติน ทั้งที่ตนไม่รู้ว่าอะไร ที่ถือศาสนาอิสลาม ก็สวดภาษาอาหรับทั้งที่ตนไม่รู้ว่าอะไร ที่ถือศาสนาพุทธ ก็สวดภาษาบาลีทั้งที่ตนไม่รู้ว่าอะไร นี้เป็นเรื่องสวดร้องท่องบ่นล้วนๆ ไม่สำเร็จประโยชน์อันใด ทีนี้เอาละ เอาละว่าเมื่อรู้ข้อความนั้นแล้ว แต่ก็รู้อย่างที่รู้เฉยๆ ไม่พ้นจากความเป็นนกแก้วนกขุนทอง เช่น ที่เราแปลเป็นไทย สวดก็พอจะรู้เรื่องบ้าง แต่ก็รู้แต่บางตัวหนังสือ ไม่รู้ความหมาย เมื่อเอาไปคิดไปนึก ก็ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง มันก็ยังเป็นการสวดร้องท่องบ่นคล้ายกับนกแก้วนกขุนทองอยู่นั่นเอง นี้เรียกว่าถึงธรรมะด้วยการสวดร้องท่องบ่นเท่านั้น น่าขบขันอยู่มากเหมือนกัน
ทีนี้ก็มาถึงการศึกษา เอาตำรับตำรามาศึกษา เอาพระไตรปิฎกแท้ๆมาศึกษา แต่ก็ศึกษามันอย่างเป็นนิจที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการจะสอบไล่ให้ได้ ต้องการจะเอาประกาศนียบัตร ต้องการจะเอาชื่อเสียง ต้องการจะเอาเกียรติยศในความเป็นผู้คงแก่เรียน เหล่านี้มันก็เบนไปไกลทางหนึ่ง คือถึงธรรมะแต่เรื่องตัวหนังสือทั้งนั้น ไม่เป็นธรรมะชนิดที่เป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้เลย เป็นธรรมะตัวหนังสือหมด เป็นธรรมะประกาศนียบัตรลาภยศชื่อเสียงไปหมด นี้ก็เป็นไปอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้ เลื่อนขั้นไปอีกชั้นหนึ่งคือเป็นคนค้นคว้า เอาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์ สารพัดอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น มาทำการค้นคว้ารวบรวมเอามาสำหรับรู้อย่างแตกฉานในเรื่องนั้นๆ พูดได้ อธิบายได้ สอนคนอื่นก็ได้ ก็เป็นผลของการค้นคว้า แต่แล้วก็เป็นอย่างเดียวกันอีก ธรรมะที่ถึงด้วยการค้นคว้านั้น มันก็เป็นธรรมะสร้างๆไปเท่านั้นเอง หาใช่ธรรมะที่แท้จริง ซึ่งเป็นความหลุดพ้นจากความทุกข์แต่ประการใดไม่
ทั้งหมดนี้เรียกว่าถึงข้างนอกทั้งนั้น ถึงโดยขนบธรรมเนียมประเพณี ถึงโดยพิธีรีตอง ถึงโดยสวดร้องท่องบ่น ถึงโดยการศึกษา ถึงโดยการค้นคว้า ในที่สุด มันเป็นเรื่องเปลือกไปทั้งหมดทั้งสิ้น จึงจัดไว้ว่าถึงข้างนอก เพราะเป็นเรื่องเปลือก
ทีนี้ เราก็มาเรื่องถึงข้างในซึ่งไม่ใช่เปลือก ถึงข้างในที่ไม่ใช่เปลือกนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เป็นสิ่งที่ตรงตามความประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตรงตามความประสงค์ของนักศึกษาค้นคว้าที่แท้จริง คือเขาศึกษาค้นคว้าสำหรับปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์ ไม่ใช่ศึกษาค้นคว้าเพื่อหาลาภผล สักการะ เกียรติยศ ชื่อเสียง ในการศึกษาค้นคว้านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ที่มีคนบางพวกศึกษาค้นคว้าจบแล้ว ก็อยากจะประพฤติปฏิบัติตามที่ได้ศึกษาค้นคว้านั้นมา
แม้แต่พวกฝรั่งก็ยังเป็นอย่างนี้ ที่นี่เราก็ยังได้รับข่าวคราว ได้รับหนังสือจดหมายของชาวต่างประเทศบางคน ที่แสดงความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะมาขอความช่วยเหลือ ในเรื่องที่จะให้ได้เข้าถึงด้วยจิตใจในภายใน กับความหมายแท้จริงของความเป็นพุทธบริษัท เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ชีวิตแท้จริงของพุทธบริษัท เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ชีวิตที่แท้จริงของพุทธบริษัทบ้าง หรือศิลปะที่แท้จริงของความเป็นพุทธบริษัทบ้าง นี้หมายความว่า เป็นชีวิตถึงที่ ถึงธรรมะอย่างแท้จริง จึงเรียกว่าเป็นชีวิตของพุทธบริษัท ไม่ใช่ชีวิตของชาวบ้านธรรมดาสามัญ เห็นแก่เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรทำนองนั้น แม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ก็หาใช่เป็นไปในทางของธรรมะไม่ เป็นการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือหาสิ่งเหล่านั้นไปเสียหมด
เพราะไม่ต้องการอย่างนั้น เขาต้องการให้ได้ผลเป็นความดับทุกข์แท้จริง ตรงตามที่ได้อ่านได้ฟังมาจากพระคัมภีร์ หรือบางคนเขาก็เรียกสิ่งนี้ว่า ศิลปะของการมีชีวิตอยู่อย่างพุทธศาสนา อันนี้เข้าใจยากหน่อย ที่เผอิญว่าคำว่าศิลปะนั้น ในประเทศ ในภาษาไทยเราหมายถึงของแกล้งทำก็ได้ แต่คำว่าศิลปะที่แท้จริงทั่วๆไปนั้น เขาหมายถึงสิ่งที่ทำยากและงดงามอย่างยิ่ง สิ่งนั้นต้องทำยากอย่างยิ่ง และทำแล้วแสดงความงดงามอย่างยิ่ง
ดังนั้นเขาจึงหมายถึงการที่เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรให้น่าดู ให้งดงาม ให้น่ากราบ ให้น่าไหว้ ให้น่าบูชา ให้เป็นเหมือนกับพระศาสนาอยู่ในของพระพุทธเจ้า คือมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในเบื้องปลาย ให้ชีวิตมีความงามอย่างนั้น ให้น่าดูน่ากราบไหว้บูชาอย่างนั้น และให้ทำยากอย่างยิ่งเหมือนอย่างนั้น เขาจึงเกิดเรียกว่าเป็นศิลปะ เพราะความหมายของคำว่าศิลปะย่อมเป็นอย่างนั้นเอง เหมือนว่า เหมือนอย่างว่า ศิลปะแห่งการจัดดอกไม้ให้สวย มันไม่ใช่ของง่ายเลย ทำได้ยากอย่างยิ่ง และถ้าทำได้แล้ว มันก็สวยจริงๆด้วยเหมือนกัน นั่นจึงจะเรียกว่าศิลปะ
สำหรับศิลปะของการมีชีวิตอย่างพุทธบริษัทนั้น เขาหมายความอย่างนี้ คือหมายความว่า จะมามีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตรงตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ให้ทุกอย่างทุกประการ ในการต่อสู้กับกิเลสจนเอาชนะกิเลสได้ มีความสะอาด สว่าง สงบ เต็มที่และสมบูรณ์ เป็นอยู่ด้วยความสะอาด สว่าง สงบนั้นอย่างงดงามที่สุด จนใครเห็นแล้วก็ต้องยกมือไหว้ ทีนี้ตัวเองมองตัวเองแล้ว ก็ยังต้องยกมือไหว้ตัวเอง อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นศิลปะแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างพุทธบริษัท
พวกฝรั่งชาวต่างประเทศเขาต้องการสิ่งนี้ ถ้าเขาจะมาบวชที่เมืองไทย ก็เพื่อจะให้ได้สิ่งนี้ เพื่อให้ได้มีโอกาสที่จะประพฤติกระทำสิ่งนี้ เพราะถือว่าเป็นเมืองที่มีพุทธศาสนาเจริญ นี่แหละ ขอให้พิจารณาดูให้เข้าใจว่า คำว่าถึงข้างในนั้น มันมีความหมายอย่างนี้ หมายความว่าจะต้องทำให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของพระธรรมอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จนมีพระธรรมในส่วนที่เป็นผลของการปฏิบัตินั้นปรากฎออกมา
ฉะนั้นจึงกล่าว จึงกล่าวได้ว่า ถ้าเราเรียนก็ต้องเรียนจริง ถ้าปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติจริง ถึงจะได้ปฏิเวธจริง คือทำลายกิเลสได้จริง และถูกต้องและสมบูรณ์ เรื่องนี้ต้องทำถูกต้อง และความถูกต้องนั้น ไม่ใช่ถูกต้องเพียงครึ่งๆกลางๆ ต้องถูกต้องอย่างสมบูรณ์ด้วย จึงต้องใช้คำว่าทั้งถูกต้องและทั้ง (นาทีที่ 45:15 – 45:19 ไม่มีเสียง) ต้องถูกต้องอย่างสมบูรณ์ด้วย จึงต้องใช้คำว่าทั้งถูกต้องและทั้ง สมบูรณ์ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้ง ๓ อย่างนี้ ต้องถูกต้องและต้องสมบูรณ์
ปริยัติคือเย็น ปฏิบัติก็คือกระทำลงไป ปฏิเวธคือเห็นแจ้งแทงตลอดในกิเลสที่ตนได้ทำลายแล้ว เมื่อปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์จริงๆแล้ว นั่นแหละถึงจะได้ชื่อว่าเป็นการถึงข้างใน ตรงกันข้ามกับถึงข้างนอกดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น
ถึงข้างนอกก็คือ ถึงตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตามพิธีรีตอง ตามวิธีสวดร้องท่องบ่น ตามวิธีศึกษาหาประกาศนียบัตร หาชื่อเสียง หาลาภผล หรือการค้นคว้าที่จะทำให้เป็นเพียงนักปราชญ์ เป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่พอใจในการเล่าเรียน ทั้งหมดนี้เรียกว่าถึงข้างนอก
ถ้าถึงข้างใน ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นก็ได้ หรือจะเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ก็เกี่ยวในฐานะเป็นเรื่องที่ต้องกระทำในเบื้องต้น และก็เขยิบเข้ามาให้เป็นการรู้จริง ปฏิบัติจริง ได้รับผลจริงที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ถึงจะเป็นการถึงข้างใน
พร้อมกันนี้ ท่านก็เห็นได้เองว่า คนที่มีบทเป็นอย่างยิ่ง มีเครื่องปิดบังเป็นอย่างยิ่งนั้น มักจะไม่สนใจ ในข้อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะอย่างแท้จริง มักจะไปติดอยู่แค่ขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีรีตอง ทีนี้คนที่ฉลาดก็กลับไปที่ทางหนึ่ง คือว่าฉลาดแต่ในทางเล่าเรียน หาความรู้ หาชื่อเสียง หาลาภหาผล หาประกาศนียบัตร แทนที่จะมาหาการดับทุกข์โดยตรง เป็นว่าปัญหามันก็ยังเหลืออยู่อย่างเดียวกัน ทั้งคนโง่และทั้งคนฉลาด คนโง่ไปติดพิธีรีตอง คนฉลาดก็ไปติดผลของการศึกษาเล่าเรียน เป็นลาภ เป็นสักการะ เป็นต้น มันล้วนแต่เป็นการถึงข้างนอกไปเสียทั้งนั้น ไม่เป็นการถึงข้างในแต่ประการใด เพราะฉะนั้นจึงได้นำมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเตือน และตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้สนใจในการถึงอย่างถึงข้างในให้มากเป็นพิเศษ ดังที่กล่าวมานี้
(48.09-48.21 ไม่มีเสียง)
ทีนี้ ก็มาถึงที่คำที่ ๓ คือคำว่าธรรม คนถึงธรรม คำว่าคนก็ได้อธิบายมาแล้ว คำว่าถึงก็ได้อธิบายมาแล้ว ยังเหลืออยู่ก็แต่คำว่าธรรม คำว่าธรรมซึ่งจะถึงนั้น มันเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก กว้างขวางจนเราไม่จำเป็นจะต้องถึงธรรมะไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงธรรมะแต่ควร แต่ที่ควรเข้าถึงก็พอแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรจะเข้าใจคำว่าธรรมะนี้ให้พอสมควรแก่สติปัญญา สำหรับจะได้เดินให้ถูกทาง หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เนิ่นช้าเสีย เดินไปแต่ในหนทางที่จะทำให้ลุถึงได้โดยเร็ว
คำว่าธรรมในภาษาไทยนั้น มาจากคำว่าธรรมะในภาษาบาลี จะเรียกว่าธรรม หรือธรรมะ ก็มีความหมายเหมือนกัน แต่คำว่าธรรมในภาษาบาลีนี้ มันมีความหมายกว้างขวางจนหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไรเลย อย่างที่เราได้ยินได้ฟังว่า รูปธรรมนามธรรม หมายความว่าสิ่งนั้นก็มีรูปให้เห็นตัวได้ สัมผัสได้ก็ตาม ไม่มีรูป สัมผัสไม่ได้ก็ตาม ก็เรียกธรรม จะเป็นอย่างกลาง อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ล้วนแล้วแต่เรียกว่าธรรม จะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรม ยิ่งกว่านั้นอีก จะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก เรื่องไม่ผิดไม่ถูก เราก็เรียกว่าธรรม ดีหรือชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วนี้ก็เรียกว่าธรรม ที่เป็นความทุกข์ทรมานนี่ก็เรียกว่าธรรม ที่หลุดพ้นไปจากความทุกข์ความทรมาน ก็เรียกว่าธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ ที่ไม่ถูกเรียกว่าธรรม เพราะคำว่าธรรมะเป็นคำกลางๆหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง ซึ่งมีความหมายให้เรารู้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร คำว่าธรรมมีความหมายกว้างอย่างนี้โดยทั่วไป
ทีนี้ในวงแคบเข้ามา คำว่าธรรมหรือธรรมะนี้ ถูกบัญญัติให้แคบเข้ามา เหลือแต่สิ่งที่ถูกต้องเรียกว่าธรรม สิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้องเรียกว่าอธรรม คือไม่ใช่ธรรม อย่างนี้ก็มี แต่แล้วอย่าลืมว่า คำว่าธรรมหรืออธรรมในลักษณะเช่นนี้ มันมีความหมายพิเศษคือแคบเข้ามา คล้ายๆว่าธรรม หมายถึงแต่สิ่งที่ถูกต้อง หรือยุติธรรม ตรงกับความต้องการของบัณฑิตนักปราชญ์ ตรงที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่ตรงกับความต้องการของบัณฑิตนักปราชญ์นั้น แม้มันจะเป็นธรรม ก็เรียกว่าอธรรม คือไม่ใช่ธรรมชนิดที่บัณฑิตนักปราชญ์ต้องการหรือประสงค์
หรือว่าแคบเข้ามาอย่างหนึ่ง คำว่าธรรมก็หมายถึงธรรมดา เช่นมีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา หรือจะเรียกว่ามีเกิดเป็นธรรม มีแก่เป็นธรรม มีตายเป็นธรรม เพราะเป็นธรรมดา หรือบางทีก็หมายความว่า มันเกิดเองตามธรรมชาติ แล้วเรียกว่าธรรมทั้งนั้น นี้ตรงตามตัวหนังสือของคำๆนี้ ที่แปลว่าทรงตัวอยู่ได้
ถ้าอยากจะรู้คำบาลีบ้าง ก็ควรรู้ไว้ว่า คำว่าธรรมนี้แปลว่า สิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ สิ่งที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง มันก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงนั่นเอง คือตัวความเปลี่ยนแปลงนั่นเองเป็นตัวมันเอง ส่วนสิ่งที่มันไม่เปลี่ยนไม่เคลื่อน ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย มันก็เอาตัวความเที่ยงความไม่เปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นตัวมันเอง เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก็ต้องเอากระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไหลเป็นเกลียวไปนั่นเองเป็นตัวมันเอง ยกตัวอย่าง เช่น แม่น้ำ ที่จริงแม่น้ำก็คือ น้ำเม็ดเล็กๆเป็นอณูที่ดูด้วยตาไม่เห็น เพียงมันไหลเทไปทางเดียวกัน เป็นกระแสแห่งแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล เราก็ต้องเอากระแสแห่งความไหลไปของน้ำนั่นเองว่าเป็นตัวแม่น้ำ เพราะมันไม่มีอะไรอื่นมากไปกว่านั้น ครั้นสิ่งใดมีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไหลไปอยู่เป็นนิจ ก็เอาความไหลไปนั่นเองเป็นตัวมันเอง
ส่วนสิ่งใดซึ่งเที่ยง เช่น ธรรมะที่เป็นอสังขตะ เป็นที่สิ้นสุดของความทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน นี้เราก็เอาความเที่ยงนั่นเองเป็นตัวมันเองที่เรียกชื่อว่าอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น สิ่งทุกสิ่งล้วนแต่เรียกว่า ธรรมะเสมอกัน เพราะทุกสิ่งมันมีการทรงตัวมันเองอยู่ได้ในรูปใดรูปหนึ่งทั้งนั้น อย่างแรกก็ทรงตัวมันเองอยู่ได้ในลักษณะที่เป็นมายาหรือหลอกลวง ก็เอามายาหรือหลอกลวงนั่นเองเป็นตัวมันเอง อย่างหลังเป็นของจริงแท้ ไม่มีมายา ไม่มีหลอกลวง ก็เอาความจริงนั่นเองเป็นตัวมันเอง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมี ๒ อย่างอย่างนี้ แต่รวมกันเข้าแล้วก็เป็นธรรมอย่างเดียวกันหรือธรรมเดียวกัน
คำว่าธรรมะมีความหมายมากถึงอย่างนี้ เราจึงแบ่งเป็นพวกที่มายาบ้าง ไม่มายาบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นของจริงบ้าง เป็นของเท็จบ้าง ที่เป็นของจริง ถ้าเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องของความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ เราก็เรียกว่าสัจจธรรม เช่น อริยสัจ เป็นต้น ซึ่งก็ยังเรียกว่าธรรม
ทีนี้ ก็ยังมีคำว่าธรรมอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแปรรูปไปเป็นบุคลาธิษฐาน คือพูดให้เป็นบุคคลขึ้นมาอย่างนี้ก็ได้แก่ ธรรมะซึ่งอยู่ในรูปของอำนาจ หรือกำลังอันมองไม่เห็นตัว แต่เป็นสิ่งที่เด็ดขาดเฉียบขาด ทรงไว้ซึ่งอำนาจและกำลังเป็นอย่างยิ่ง จนเขานิยมควบกันกับคำว่าพระเป็นเจ้าของศาสนาอื่น แต่ในศาสนาเรา ศาสนาพุทธเราไม่มีพระเป็นเจ้า แต่แล้วก็มีคำว่าธรรมหรือธรรมะนี่เอง ซึ่งตรงกันกับคำว่าพระเป็นเจ้า เหมือนอย่างศาสนาอื่นเขาก็จะต้องพูดว่า โลกนี้พระเจ้าสร้างขึ้นมา พระเป็นเจ้าสร้างขึ้นมา
ถึงเราก็ต้องยอมรับว่าโลกนี้มันเป็นเองไม่ได้ มันต้องมีอะไรบันดาลสร้างขึ้นมา แล้วอะไรเล่า บันดาลให้โลกนี้เกิดขึ้นมา ให้พระอาทิตย์ ให้ดวงจันทร์ ให้ดวงดาว ให้ต่างๆปรากฎออกมา ให้หมุนไป ให้เปลี่ยนไป ให้ตั้งอยู่อย่างเป็นระเบียบ ไม่มีอำนาจอันนั้นแล้ว สิ่งต่างๆจะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็จะไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นระเบียบมากจนถึงกับว่าพระอาทิตย์กับโลกนี้เกิดชนกันขึ้นแล้วจะทำอย่างไร นี่หมายความว่าจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอำนาจมากบันดาลให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น แล้วควบคุมสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามระเบียบ
พวกโน้นเขาเรียกสิ่งนั้นว่าพระเป็นเจ้า แต่พวกเราเรียกสิ่งนั้นว่าธรรมอีกเหมือนกัน ธรรมะหรือธรรม หรืออำนาจของธรรมนั่นแหละ ที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าโลกนี้ขึ้นมา เกิดพระอาทิตย์พระจันทร์ขึ้นมา เกิดดวงดาวขึ้นมา เกิดอะไรต่างๆขึ้นมา แล้วควบคุมมันอยู่เป็นระเบียบคราวหนึ่ง แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปจนเสียระเบียบหมด แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปจนแตกทำลายสูญหายไปหมด แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปจนจับรูปก่อร่างก่อตัวกันขึ้นมาใหม่อีก วนเวียนกันไปอย่างนี้ไม่รู้กี่กัปป์กี่กัลป์ กี่แสนกัปป์กี่แสนกัลป์ กี่อสงไขยกัปป์กี่อสงไขยกัลป์
และนั่นมันคืออำนาจของอะไร ตอบได้ง่ายๆอย่างพระพุทธศาสน์ อย่างหลักพระพุทธศาสนาของเราเขาว่า ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะนั่นแหละเป็นสิ่งสร้างโลกขึ้นมา ธรรมะนั่นแหละมีอำนาจควบคุมโลกให้เป็นอยู่อย่างนี้
เกี่ยวกับความข้อนี้ เราเข้าใจได้ง่ายๆ โดยพูดไปตามบุคลาธิษฐานของพวกที่ถือพระเป็นเจ้า เราได้ยินได้ฟังพวกพราหมณ์ พวกคริสต์ พวกอิสลาม หรือพวกอื่นที่ถือพระเป็นเจ้า เขาพูดกันอยู่ว่า พระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าควบคุมโลก พระเจ้าทำลายล้างโลก พระเจ้าช่วยโลก พระเจ้านำสัตว์ให้เดินถูกทาง พระเจ้ามีหูมีตาคอยดูอยู่ทุกหนทุกแห่ง พระเจ้าเป็นใหญ่เป็นโตกว่าใครในทุกหนทุกแห่ง พระเจ้าเป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่พระเจ้าไม่รู้ แต่ถ้าเปรียบอย่างน่าหัวเราะอีกทีหนึ่งก็ว่า พระเจ้านั้นเป็นเหมือนกับหนังสือปทานุกรมที่สมบูรณ์ที่สุด คือไปเปิดดูเรื่องอะไรหรือคำอะไร ย่อมมีอยู่ในนั้นหมด คือมีอยู่ในพระเป็นเจ้านั้นหมด
ส่วนพวกเราที่เป็นชาวพุทธศาสนาเล่า เรามีอะไรเหมือนอย่างนั้นหรือเปล่า เราก็ตอบได้ว่าเรามีอย่างเดียวกัน เท่าเทียมกัน แต่เราไม่ยักจะเรียกว่าพระเป็นเจ้า เราไปเรียกว่าธรรมะ หรือพระธรรม ถ้าใครสร้างโลก พระธรรมสร้างโลก ถ้าใครควบคุมโลก พระธรรมควบคุมโลก ใครจะทำลายโลกในที่สุดให้สูญสิ้นไป ก็พระธรรมอีกนั่นเอง ใครเป็นคนช่วยสัตว์โลกทั้งหลาย ก็พระธรรมนั่นเอง ใครนำโลกให้เดินไปถูกทาง ก็พระธรรมนั่นเอง ใครมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับว่ามีหูมีตาคอยสอดส่องดูคนอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ก็คือพระธรรมอีกนั่นเอง ใครโตกว่าใครในที่ทุกแห่ง ก็คือพระธรรมอีกนั่นเอง ไม่มีใครโตกว่าพระธรรม แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงยอมรับว่าเล็กกว่าพระธรรม คือยอมเคารพพระธรรม
แปรเป็นความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามีในสากลโลก หรือทั่วทั้งหมดทั้งสิ้น ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ในคำว่าพระธรรม หรือเป็นพระธรรมนั่นเอง และอะไรจะเป็นปทานุกรมทั้งหมดทั้งสิ้นของสากลจักรวาล และเหนือ นอกเหนือไปกว่าสากลจักรวาล ก็คือคำว่าธรรมคำเดียวนั่นแหละ ในนั้นมีให้หมด แล้วแต่ว่าเราต้องการเรื่องอะไร เป็นปทานุกรมที่ใหญ่ยิ่งกว่าปทานุกรมใดๆหมด นี่เรายกตัวอย่างมาเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า คำว่าธรรมะคำเดียวเท่านั้นแปลก แปลก แปลกประหลาดอย่างยิ่ง และอาจจะเทียบกันได้โดยตรงกับสิ่งที่พวกอื่นเขาเรียกกันว่าพระเป็นเจ้า เขาจนอะไรสักอย่างหนึ่งกระมัง เขาจึงไม่เรียกว่าธรรม แต่ไปเรียกว่าพระเป็นเจ้า แต่แล้วความหมายก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรม
ขอให้เรารู้จักคำว่าธรรมในที่นี้ว่าในลักษณะอย่างนี้เถิด อย่าให้โง่ๆ ง่ายๆ แคบๆ เล็กๆ ต่ำๆ เหมือนที่นึกเอาเอง ถ้าใครเกิดเรามา คงจะตอบว่าพ่อแม่ แต่แล้วใครเกิดพ่อแม่มา ก็คงจะตอบว่าพ่อแม่ของพ่อแม่ พ่อแม่ของพ่อแม่ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วใครเกิดพ่อแม่คนแรกมา คงจะหมดปัญญา จะตอบว่าเกิดมาจากลิง ก็กระดาก จะตอบว่ามาจากพระเจ้า ก็ไม่ได้ถือพระเจ้ากับเขาสักนิดหนึ่ง แต่แล้วก็ไม่รู้ว่าที่แท้นั้นคือธรรม ธรรมเท่านั้นหรือพระธรรมเท่านั้น ที่สร้างสรรค์สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมา ธาตุดินก็มาจากธรรม ธาตุน้ำก็มาจากธรรม ธาตุลมก็มาจากธรรม ธาตุไฟก็มาจากธรรม อากาศธาตุก็มาจากธรรม วิญญาณธาตุก็มาจากธรรม บรรดาสังขตธาตุทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นก็ล้วนแต่มาจากธรรม ทีนี้ ฝ่ายนิโรธธาตุ เช่น นิพพาน เป็นต้น มันก็มาจากธรรม จึงไม่มีอะไร ไม่มีธาตุไหนเลยที่ไม่มาจากธรรม จะเป็นรูปธาตุก็ดี อรูปธาตุก็ดี นิโรธธาตุก็ดี ล้วนมาจากธรรม หรือมาจากพระธรรม จึงเป็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่มาจากธรรม
แล้วทำไมเราจึงไม่รู้จักต้นตอหรือที่มาดั้งเดิมของเราอย่างนี้บ้างเล่า ทำไมรู้อย่างโง่ๆงายๆแต่เพียงว่ามาจากพ่อแม่ และแสวงหาอย่างโง่ๆง่ายๆเพียงแต่เรื่องปากเรื่องท้อง ไม่แสวงหาเรื่องธรรมะซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดประเสริฐสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำจิตใจให้สงบ ระงับ หยุดเสียซึ่งความกระหาย และความเวียนว่ายโดยประการทั้งปวงเล่า นี่แหละคือโทษของการที่ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักพระธรรม ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรม จงได้สนใจกันให้มากเป็นพิเศษ ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือพระธรรมเสียทีก่อน จะได้เป็นวัตถุที่ประสงค์มุ่งหมายสำหรับที่จะเข้าให้ถึงสิ่งนั้นให้จนได้ เพราะเรากำลังพูดกันถึงเรื่อง คนถึงธรรมธรรมถึงคน คนถึงธรรมหรือธรรมถึงคน แล้วแต่จะพูด ขอแต่ให้ถึงกันให้ได้ก็แล้วกัน จะเป็นเรื่องคนถึงธรรม หรือธรรมถึงคน ก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้มันถึงให้ได้ก็แล้วกัน
อย่าให้เป็นสัตว์ชนิดที่ไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็ไม่อาจจะรู้จักธรรมะ แล้วมันไม่อาจจะถึงธรรมะได้ มันเป็นความเข้าใจผิดอย่างเดียว มันจึงมีแต่ร่างกายกับจิตใจที่เต็มอัดอยู่ด้วยความโง่ ความหลง คืออวิชชาเท่านั้นเอง แล้วเรื่องมันก็ยุ่งไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลย เกิดมายิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น ก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุที่ไม่รู้ธรรม ไม่เข้าถึงธรรมนั่นเอง
ทีนี้ เราจะได้พิจารณากันต่อไปถึงธรรมะเฉพาะในส่วนที่จะควรเข้าถึงให้ได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเรื่องธรรมะนั้น มันมากมายยืดยาวเหลือเกิน ไม่หวาดไม่ไหวในการที่จะจดจะจำจะคิดจะนึก เพราะฉะนั้นเราควรเสียในส่วนที่ไม่จำเป็นจะต้องสนใจ แล้วเรามาสนใจในสิ่งที่ควร ที่ควรจำเป็นที่จะต้องสนใจ ในที่นี้ก็ได้แก่ ธรรมะในฐานะที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์โดยตรง ถ้าจะแบ่งก็พอจะแบ่งได้เป็น ๒ ฝ่ายคือ ธรรมะฝ่ายที่ยังเนื่องอยู่กับโลก และธรรมะฝ่ายที่พ้นไปจากโลก
ธรรมะฝ่ายที่เนื่องกันอยู่กับโลกนี้ เขาเรียกว่าโลกียธรรม โลกียธรรมแปลว่าธรรมะที่ยังเป็นวิสัยของโลก ยังเนื่องกันอยู่กับโลก คือเป็นธรรมะสำหรับสัตว์ที่ยังไม่มีจิตใจสูงพอที่จะสละโลก สัตว์เหล่านั้นยังมีจิตใจอ่อนแอ ยังไม่มีความรู้พอ ยังไม่มีความกล้าหาญพอ ยังมีจิตใจที่จะต้องพึ่งพาอาศัยโลกไปพลางก่อน ธรรมะสำหรับสัตว์ชนิดนี้ เขาก็มีไว้ให้ประเภทหนึ่งเรียกว่าโลกียธรรม คือธรรมที่จะทำให้คนมีความสุขหรือดับความทุกข์ได้ และอยู่เป็นคนไปในโลกนี้หรือโลกหน้าแล้วแต่จะพอใจ แต่มันยังต้องเป็นไปในโลก ยังต้องเกิดต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามประสาสัตว์โลก เอาแต่ว่าค่อยยังชั่วหน่อย คือไม่ทุกข์มากเกินไปนั่นเอง ธรรมะอย่างนี้เรียกว่าโลกียธรรมทั้งนั้น
ที่สำหรับประพฤติปฏิบัติเอาผลทันตาเห็น ก็เรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือธรรมที่จะนำซึ่งประโยชน์ในปัจจุบันทันตาเห็น สำหรับต่อไปข้างหน้าก็เรียกสัมปรายิกกัตถประโยชน์ คือธรรมะสำหรับประพฤติเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในชาติต่อๆไป นี่แหละคิดดูเถิดว่า ถ้ายังชอบมีตัวมีตนมีซากมีการเกิดอีกอยู่แล้ว มันมากมายอย่างนี้ มันต้องดิ้นรนทนทรมานแบกหามกันไป ไม่รู้ที่สิ้นที่สุดอย่างนี้ ชาตินี้เป็นทุกข์อย่างไร ชาติหน้ามันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น
ชาตินี้ทำนาเหนื่อยเท่าไร ชาติหน้ามันก็จะต้องทำนาเหนื่อยเท่านั้น แม้ชาติต่อๆไป มันก็จะเหนื่อยเหมือนกันถ้าต้องทำนา ฉะนั้นถ้าเมื่อชาตินี้ยังรู้จักแต่เรื่องทำนา ยังสมัครแต่เรื่องทำนา ตายไปชาติหน้ามันก็ไม่แคล้ว แต่ถ้ารู้จักเรื่องที่ดีกว่าทำนา หรือจะเรียกโดยสมมุติว่าทำนาอย่างของพระพุทธเจ้ากันเสียบ้าง เกิดชาติหน้ามันคงจะไม่ต้องทำนาชนิดที่ทำด้วยควาย เหนื่อยทั้งคนทั้งควาย
ทำนาชนิดที่มีอมตะเป็นผล หรือว่าทำนาชนิดของพระพุทธเจ้านั้น มันหมายถึงการประพฤติธรรมะประเภทโลกุตรธรรม คือให้ขึ้นอยู่เหนือโลก ให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก ให้มีจิตใจอยู่เหนือความรู้สึกคิดนึกว่ามีตัวกูหรือมีของกู ถ้ามีจิตใจสูงจนไม่มีตัวกูไม่มีของกูอย่างนี้แล้ว โลกมันก็ไม่มีสำหรับบุคคลประเภทนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลประเภทนั้นจึงเรียกว่า พ้นจากความเป็นคน พ้นจากความอยู่ในโลก เขาจึงจัดธรรมะสำหรับบุคคลประเภทนั้นว่าโลกุตรธรรม บางทีก็เรียกว่าปรมัตถธรรม บางทีก็เรียกว่านิยยานิกธรรม บางทีก็เรียกว่าอริยธรรม หรือนิพพานธรรม เป็นต้น
มันต่างกันมากกับพวกแรก คือพวกโลกียธรรม ที่เขาเรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกกัตถประโยชน์ หรืออะไรเหล่านี้ เพราะว่าประโยชน์เหล่านี้ มันมีแต่วนเวียนอยู่ในโลก ไม่ออกไปจากโลกได้ ส่วนปรมัตถประโยชน์นั้น มันยิ่ง มันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือเหนือโลก เพราะฉะนั้นจึงได้จัดว่าเป็นนิยยานิกธรรม
นิยยานิกธรรมคำนี้ ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้วเป็นแน่ แต่ก็ขอทายตามเคยว่า คงไม่รู้ว่ามันว่าอะไร คงจะว่าได้แต่ นิยยานิโก อุปะสะมิโก หรืออะไรทำนองนั้นอย่างนกแก้วนกขุนทอง แล้วก็ไม่รู้ว่านิยยานิโกนั้นหมายความว่าอะไร นิยยานิโก แปลว่า เป็นเครื่องนำสัตว์ออกไปข้างนอก เหมือนกับยานพาหนะสำหรับนำออกไป มันนำออกไปจากอะไร ก็มันนำออกไปจากโลก นำออกไปที่ไหน ก็นำออกไปสู่ภาวะแห่งความดับทุกข์ หรือดับโลกสิ้นเชิง คือนิพพาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่านิยยานิกธรรมนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่นำสัตว์ออกไปจากความว่ายเวียน หรือวนเวียนอยู่ในโลก การที่ออกไปจากความว่ายเวียนเสียได้นั้นเป็นความประเสริฐ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าอริยธรรม
เขาไม่เรียกการทำไร่ทำนา ค้าขาย หาเงินหาทอง เหล่านี้ว่าอริยธรรม และเขาไม่เรียกการทำบุญไปเกิดในสวรรค์ ในพรหมโลก เหล่านั้นว่าเป็นอริยธรรม เพราะมันยังไม่ประเสริฐพอที่จะเรียกว่าอริยธรรม ต่อเมื่อใดมันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้อยู่เหนือโลก เหนือทุกข์ เหนือความว่ายเวียน เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกว่าอริยธรรม หรือบางทีก็จะเรียกว่านิพพานธรรม ซึ่งแปลว่าธรรมเป็นที่ดับสนิทแห่งความทุกข์ทั้งปวง
นี่แหละเราจะเข้า เข้าถึงธรรมะชนิดไหนกัน ก็ขอให้พิจารณาดูด้วยสติปัญญา ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าให้เลือกเอาโลกุตรธรรม เพียงแต่บอกว่าโลกุตรธรรมกับโลกียธรรมนั้น มันต่างกันมากอย่างนี้ ส่วนข้อที่ท่านทั้งหลายจะเลือกเอาอย่างไหนนั้น ก็แล้วแต่ความพอใจ มันช่วยไม่ได้ ในการที่จะให้ฝืนความรู้สึก ฝืน ฝืนจิต ฝืนใจ ให้ชอบอะไรเหมือนกันไปหมดนั้น มันทำไม่ได้ มันทำได้แต่เพียงบอกว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร อย่างแท้จริง อย่างเด็ดขาด แล้วก็ไปเลือกดูเอาเองว่าควรจะเอาอย่างไหน และเมื่อแน่ใจว่าจะเอาอย่างไหน จงค่อยศึกษาแล้วปฏิบัติไปตามเรื่องนั้นหรือตามอย่างนั้น เพื่อให้ได้ลุถึงสิ่งที่ตนปรารถนา
และมีความแน่นอนอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะสมัครเอาอย่างอยู่ในโลกเป็นโลกียธรรม ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะอยู่ในโลกอย่างไร หรือถ้าจะเลือกเอาโลกุตรธรรมเป็นการรีบด่วน ถ้าเป็นการแน่ใจเพียงพอ มันก็ต้องประพฤติปฏิบัติกันไปอีกทางหนึ่ง ไม่ให้เป็นการรีๆขวางๆ ขัดขากันเองอยู่ในตัว คือจะเป็นโลกียธรรมก็ไม่ใช่ เป็นโลกุตรธรรมก็ไม่เชิง นี่ก็เพราะไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ว่ามันต่างกันอย่างไร แต่ถ้าเรารู้จักทิศเหนือทิศใต้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เราก็สามารถจะจัดจะทำให้ตัวเราในขณะนี้ในบัดนี้เป็นอยู่ในโลกอย่างสุขสบาย แล้วส่งเสริมแก่การที่จะข้ามขึ้นจากโลกไปสู่โลกุตรธรรมพร้อมกันไปได้ในตัว
อย่าได้เข้าใจว่าโลกียธรรมและโลกุตรธรรมนั้น มันจะเป็นข้าศึกขัดขวางขัดคอกันเสียร่ำไป ทั้งนี้เพราะว่าถ้าคนผู้ใดสามารถบำเพ็ญโลกียธรรมให้เข้าร่องเข้ารอย เข้าหลักเข้าเกณฑ์ ของพระธรรม แล้ว การประพฤติปฏิบัติหรือการเป็นอยู่นั้น จะเป็นไปเพื่อความกลมกลืนกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน จนกระทั่งอยู่ในโลกนี้ก็เป็นการส่งเสริมเพื่อการออกไปนอกโลก หรือข้ามขึ้นเหนือโลกได้ ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้แนะนำพวกฆราวาสถึงเรื่องสุญญตา ก็หมายความว่า ถ้าฆราวาสเหล่านั้นมีจิตใจสูงพอสมควรแล้ว ก็จะสามารถอยู่ในโลกนี้ได้ ด้วยความรู้สึกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างจากตัวตน เมื่อโลกนี้เป็นโลกที่ว่างจากตัวตน พร้อมกับอยู่กับมันในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นของว่างจากตัวตนก็แล้วกัน นั่นแหละจะได้ไม่มีความทุกข์ นั่นแหละจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยสนับสนุนหรือส่งเสริมแก่พระนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้า
แต่ถ้าเรามองเห็นในลักษณะที่ตรงกันข้ามแล้ว ก็จะเกิดความกลัว เช่น บางคนกลัวจนไม่กล้ามาวัด เพราะเข้าใจว่า ถ้ามาวัดแล้วจะหากินไม่ได้ หรือเกิดซวย จะอับโชควาสนาในการทำมาหากิน จนพวกคนบ้าๆบอๆบางคนว่า พอแบกปืนลงเรือนเจอะพระแล้ว วันนั้นเป็นวันไม่ได้ยิงอะไรแน่ แหมมันไม่เรื่อง ไม่ใช่เรื่องของพระ มันเป็นเรื่องของจิตใจของคนๆนั้นเอง
หรือบางคนเป็นเอามากจนถึงกับว่า ถ้าพระเกิดเดินเข้าไปในไร่แตงแล้วเป็นฉิบหายหมด นี่ถึงกับมีความเกลียดกลัวพระ ในฐานะเป็นสิ่งที่เป็นข้าศึกศัตรูของเรื่องทำมาหากินไป เพราะไม่รู้ไปเสียหมด ไม่รู้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างว่า การทำมาหากินนั้นเป็นอย่างไร การปฏิบัติธรรมะนั้นเป็นอย่างไร เข้ากันได้หรือไม่ หรือว่าพระนั้นเป็นอย่างไร คนชาวบ้านนั้นเป็นอย่างไร เข้ากันได้หรือไม่
ลัทธิที่ถือผิดเช่นนั้นแหละ เป็นสีลัพพตปรามาส เป็นลัทธิงมงายปรัมปรา สำหรับบุคคลที่ไม่อาจจะรู้ธรรมะ ไม่อาจจะเข้าใจธรรมะ เพราะมันไม่ใช่เหตุผล ถ้ามันเป็นเรื่องมีเหตุผลแล้ว มันจะต้องนึกไปในทางอื่น หรือรู้ให้ถูกให้จริงว่า มันเป็นเพราะเหตุไร ที่ว่าถ้าพระเข้าไปในไร่แตงแล้วต้นแตงจะตายหมด หรือมันมีอะไรที่หลุดร่วงลงไปจากพระไปทำให้ต้นแตงตาย อย่างนี้มันก็ควรจะรู้ มันไม่ควรจะเหมาๆเอาว่า ถ้าพระเข้าไร่แตงแล้วมันก็ตายหมด ด้วยความเชื่อล้วนๆ
นี่ก็เห็นได้ว่าสติปัญญา หรือทิฐิ ความคิดความเห็นนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะต้องจับต้องทำ ต้องปรับต้องปรุง ให้มันเข้ารูปเข้ารอยกัน ให้โลกนี้เป็นเสมือนหนึ่งที่พักผ่อนในกลางกลางทาง เพื่อจะเดินทางต่อไปข้างหน้า เพื่อให้ถึงพระนิพพาน อันเป็นที่หมายปลายทาง อย่าได้ไปเข้าใจว่า โลกนี้เป็นวัตถุที่ประสงค์มุ่งหมายของคนเรา ที่จะหมกจมอยู่ในโลกนี้ ไม่มีวันถอนขึ้น แล้วมันจะเป็นอย่างไร ไปคิดดูเองเถิด มันจะลุ่มหลงหมกจมอยู่ในโลกนี้สักเท่าไหร ก็ไปคิดดูเองเถิด
แต่ถ้าเผอิญคนใดมีความคิดว่า ชีวิตที่เกิดมานี้ หรือโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นเหมือนกับศาลาพักร้อนกลางหนทาง เราเดินมาร้อนๆ เราก็พักให้หายเหนื่อยเพื่อจะเดินต่อไป ไม่ใช่จะมาติดอยู่ที่ศาลานั้นโดยไม่ ไม่มีการเดินต่อไป จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน การที่มีภูมิต่ำมาหลงใหลในเรื่องปากเรื่องท้องอยู่อย่างนี้นั้น มันไม่ใช่จุดหมายปลายทาง เราจะต้องรู้อะไรที่ดีกว่านั้น โดยถือเอาโอกาสที่เรากำลังอยู่ในโลกนี่แหละ ทำการศึกษา ทำการพินิจพิจารณา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งรู้ว่าเราจะต้องเดินไปทางไหนต่อไป
คือรู้ว่าเราเกิดมานี้ เราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อหาใส่ปากใส่ท้องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้จักกี่กัปป์กี่กัลป์อย่างนั้นหรือ หรือว่าเราเกิดมานี้เพื่อเลี้ยงลูก และเลี้ยงหลาน และเลี้ยงเหลน จนเราเข้าโลงไปก็ยังไม่หมดไม่สิ้น และก็ไม่รู้จักกี่กัปป์กี่กัลป์ต่อไปข้างหน้าในอนาคตอย่างนั้นหรือ นี่ก็ให้มันรู้ไป
หรือว่าเราเกิดมานี้ เราจะมาอาศัยสิ่งเหล่านี้ แล้วสอนเราให้หายโง่ อย่าต้องตกเป็นบ่าวเป็นทาสของมันอีกต่อไป รู้จักทำจิตทำใจ รู้จักเรื่องจิตเรื่องใจ ออกมาเสียจากการผูกมัดรัดดึง ให้จิตใจของเราเป็นอิสระ โล่งจากสิ่งหุ้มห่อร้อยรัดพัวพันเหล่านั้น นี่อย่างไรเขาเรียกว่ามีจิตใจอยู่เหนือโลก มันเป็นจิตใจที่ความทุกข์ย่ำยีไม่ได้ จัดลักษณะอย่างนี้ไว้ในฐานะโลกุตรธรรมหมด แล้วก็โลกุตรกันที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อเมื่อตายแล้ว หรือชาติหน้าโน้น มิฉะนั้นเราก็จะต้องเป็นคนร้อนแล้วร้อนอีก สุกแล้วสุกอีก เผาแล้วเผาอีก สุกแล้วสุกอีกอยู่นั่น ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วกี่ร้อยชาติพันชาติกันเล่า มันจึงจะได้พบกับความสงบเย็นกันสักที
เพราะเหตุผลอย่างว่ามานี้เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ต้องเดี๋ยวนี้ ต้องที่นี้ และต้องเดี๋ยวนี้ คือรู้จักมองให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ไปยึดถือเข้าไม่ได้ อย่าไปยึดถืออะไรบางอย่างว่าตัวเรา และอย่าไปยึดถืออะไรบางอย่างว่าของเรา ไม่มีอะไรเป็นเรา ไม่มีอะไรเป็นของเรา มันก็ไม่หนักอยู่ที่จิตใจ ก็แปลว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มาครอบงำจิตใจ ก็แปลว่าเรื่องโลกๆเหล่านั้นไม่มาครอบงำจิตใจ จิตใจอยู่นอกเหนือความครอบงำของเรื่องโลกๆ เหล่านั้นเองที่เรียกว่าโลกุตรธรรม ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
แม้ว่าจะต้องแบ่งเป็นมรรคผลนิพพาน แบ่งเป็นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๙ ทั้ง ๙ ชั้น ๙ ระดับอย่างนี้ มันก็มีความหมายอย่างเดียวกันหมด มีความหมายอยู่ตรงที่เรื่องต่างๆในโลกครอบงำเราไม่ได้ และไม่ยึดถือศาลาพักทางว่าของเรา แต่เราก็อาศัยมันให้สำเร็จเสร็จประโยชน์ในการพักทาง แล้วก็เดินต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
นี่แหละคือข้อที่ว่า ไม่ใช่เราเกิดมาเพื่อจะฝังเป็นหลักเป็นตออยู่ในวัฏฏะสงสาร ไม่มีวันถอนขึ้นเลย เราไม่เกิดมาเป็นหลักเป็นตอปักแน่นฝังลงไปในวัฏฏะสงสาร แต่เราจะเกิดมาอย่างคนเดินทาง เดินต่อไปเรื่อย เดินต่อไปเรื่อย จนออกไปนอกวัฏฏะสงสาร หรือพ้นไปจากวัฏฏะสงสาร ถ้าจะมาลงหลักปักตอลงที่ไหน มันก็จะเกิดเป็นโลกียธรรมขึ้นมาที่นั่น แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังสอนว่า ลงหลักปักตอก็ทำให้ดีๆ หรือว่าจะไปแวะเวียนอยู่ที่ไหน มันก็เป็นโลกียธรรมขึ้นมาที่นั่น
แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังสอนว่า ให้แวะเวียนให้ดีๆ อย่าไปหลงจิตอยู่ในสิ่งที่แวะเวียนนั้น ให้เดินต่อไป จนสุดท้ายก็เป็นเรื่องโลกุตรธรรมไปในตัว เพราะเราไม่ได้หมายมั่นปั้นมือที่จะไปปักหลักปักตอ ลงล็อกลงรากอยู่ที่วัฏฏะสงสารอันไหน แต่เราต้องการจะเดินไป ก้าวหน้าไป สูงขึ้นตามลำดับ จนจิตใจได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาเลย และสิ่งนั้นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าโลกุตรธรรม จึงเรียกว่ามรรคผลนิพพาน ฟังดูก็จะสูงมากไป เดี๋ยวก็จะเกิดกลัวเสียอีก แต่ถ้าเรียกว่าโลกุตรธรรม คือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่เหนือความทุกข์บรรดามีอยู่ในโลกนี้ ความทุกข์ทั้งหลายบรรดามีอยู่ในโลกนี้มีมากเท่าไร เรานึกดู พิจารณาดู ก็จะเห็นเอง
ถ้าเราพยายามที่จะให้มันอยู่เหนือให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาแปดเปื้อนเรา จงดูลูกสาวหลานสาว ลูกชายหลานชาย ที่กำลังรักสวยรักงาม ระวังไม่ให้ของสกปรกเน่าเหม็นมาเปื้อน ทาแต่แป้ง ทาแต่น้ำหอม รักษาความสะอาดของเสื้อผ้ายิ่งกว่าชีวิตด้วยซ้ำไป นี่ก็เพราะมันรักสวยรักงามตามประสาของมัน
แต่ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาแล้ว จะต้องรู้จักรักจิตรักใจ เพื่อรักษาจิตใจให้สะอาด ปราศจากสิ่งต่างๆมาแปดเปื้อนเศร้าหมองให้มาก เหมือนกับคนรักสวยรักงามเกลียดกลัวของสกปรกนั้นด้วยเหมือนกัน นั่นแหละ จึงจะเรียกว่ามีความใฝ่ฝันต่อโลกุตรธรรม คือความอยู่เหนือความสกปรกเศร้าหมอง ความอยู่เหนือความสับสนวุ่นวายเดือดร้อน อยู่เหนือความโง่เง่ามืดมิดงมงาย ให้อยู่เหนือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาต่างๆเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ถ้าผิดจากนี้แล้วไม่มีใครช่วยเราได้ แล้วก็ต้องเกิดมาอย่างหลับตา เราก็ต้องเกิดตายไปอย่างหลับตา แล้วก็จะต้องเกิดมาอย่างเป็นทาสลูกทาสหลาน แล้วก็จะต้องตายไปอย่างเป็นทาสลูกทาสหลาน แล้วก็จะต้องเกิดมาเป็นทาสปากทาสท้อง แล้วก็ต้องตายไปอย่างเป็นทาสปากทาสท้อง มันมีวันที่จะพอกันเมื่อไร มันมีวันที่จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน ดูๆก็ไม่เห็นมี
อย่างนั้นทำไมไม่รู้จักทำให้มันมีการสิ้นสุด หรือเพียงพอในบางสิ่งบางอย่าง พร้อมกันไปในตัวเล่า มันมีทางที่จะทำได้เหมือนกัน คือโดยจิตโดยใจแล้ว อย่าไปหลงเป็นบ่าวเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าร่างกายจะต้องทำไปตามที่ควรจะทำ อย่างนั้นก็ทำไปด้วยสติปัญญาเถิด อย่าไปทำด้วยความยึดนั่นนี่ว่าเราว่าของเรา จนเป็นทุกข์หนักอกหนักใจ ติดพันอยู่แต่กับสิ่งเหล่านั้น ไม่มีเวลาถอนตัวออกมาหาแสงสว่างแต่ประการใดได้เลย นั่นแหละมันจึงเรียกว่า เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา แม้แต่โลกียธรรมก็ไม่รู้จัก แล้วจะรู้จักโลกุตรธรรมกันได้อย่างไรเล่า ขอให้พิจารณาดูในข้อนี้ให้มาก
ในที่สุด เราจะเห็นได้ว่าธรรมที่เราประสงค์นั้น โดยสรุปแล้วก็มีอยู่เป็น ๒ ชั้น คือ โลกียธรรม กับ โลกุตรธรรม แล้วจงรู้จักจัดรู้จักทำให้โลกียธรรมของเรานี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนโลกุตรธรรมอยู่ทุกเมื่อทุกเวลาเถิด สิ่งต่างๆจะดำเนินไปด้วยดี ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย
ทีนี้ ถ้าจะกล่าวสรุปกันอีกทีหนึ่งก็คือว่า ธรรมะดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มันคือสิ่งทั้งปวง แปลว่าสิ่งทั้งปวงนั้นมีอยู่หลายแง่ เราจงรู้จักธรรมะหรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงกันในลักษณะที่จะทำความดับทุกข์ หรือเอาชนะทุกข์ให้ได้
โดยคร่าวๆกันอีกทีหนึ่ง คือว่าในบรรดาธรรมทั้งหลายนั้น ไม่ว่าธรรมไหนหมด จะเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมที่เป็นเหตุ ธรรมที่เป็นผล ธรรมที่เป็นกฎความจริง หรือธรรมอะไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งสิ้นรวมเข้าด้วยกันแล้ว มันพอจะแบ่งได้เป็น ๓ ฝ่ายด้วยกัน คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งหมุนเวียนนี้ก็พวกหนึ่ง แล้วก็ธรรมอีกพวกหนึ่ง คือธรรมที่เป็นความรู้ความตื่นความเบิกบานขึ้นมา แล้วก็ยังมีธรรมอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นความไม่ตาย เป็นความไม่ทุกข์ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นอมฤตธรรมนิรันดร เป็น ๓ พวกด้วยกันดังนี้
พวกแรกที่ว่า ที่เรียกว่าธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งหมุนเวียนนั้น อันได้แก่ สังขารธรรมทั้งหลายที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันเรื่อยไป นี่แหละเป็นเหตุให้เกิดมีนั่นมีนี่ขึ้นมาในโลกนี้ หรือเป็นเหตุให้มีโลกนี้ขึ้นมา หรือเป็นเหตุให้มีพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวขึ้นมา ก่อนแต่หน้านี้มันไม่เคยมี เดี๋ยวนี้มันก็มีขึ้นมา เพราะด้วยอำนาจของธรรมประเภทที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้หมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งมันก็ปรุงแต่งไปในทางที่สูงขึ้นๆหรือดีขึ้น จึงดูโลกนี้มีวิวัฒนาการสูงขึ้นในทางกายทางใจ จนกระทั่งมนุษย์เรามีสติปัญญาอย่างที่เห็นๆกันอยู่ เพราะฉะนั้นเราจงจัดจงทำให้ธรรมะประเภทนี้ ปรุงแต่งให้มีวิวัฒนาการดีขึ้นๆ จนเกิดความตื่นจากหลับ อย่าได้หลงหลับอยู่เหมือนแต่กาลก่อนเลย จงมีความตื่นจากหลับขึ้นมาตามลำดับ
ในที่สุดจะปรากฎเป็นธรรมะพวกที่ ๒ คือธรรมพวกที่เป็นความรู้หรือความตื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความรู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่ามันเป็นอะไร
เมื่อธรรมะที่เป็นความรู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นอะไรเกิดขึ้นแล้ว ธรรมะประเภทที่ ๓ คือ ธรรมะที่เป็นความไม่ตาย ตลอดนิรันดร หรือพระนิพพานนั้น ก็จะปรากฎออกมา ก็จะเป็นเหตุให้เรามนุษย์นี่แหละ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ กล่าวคือได้รับพระนิพพาน
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงแบ่ง แบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะดังที่กล่าวมานี้ ธรรมะระยะแรกปรุงแต่งให้หมุนเวียนมาในทางดีขึ้นๆ จนมาพบกันเข้ากับธรรมะประเภทที่เป็นความรู้ความตื่น เมื่อธรรมที่เป็นความรู้ความตื่นเกิดขึ้นปรากฎขึ้นเป็นไปอยู่แล้ว ก็มาพบกันเข้ากับธรรมะที่เป็นความไม่ตาย นิรันดร คือพระนิพพาน เป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนาเลย
ธรรมะประเภทแรกที่เป็นธรรม ทำความหมุนเวียนปรุงแต่งนั้น อันได้แก่ อวิชชา ความไม่รู้ ความที่ปราศจากความรู้ มันไปทำเป็นอกุศลเข้าก็เกิดทุกข์ ครั้นไปทำเป็นฝ่ายกุศลเข้าก็เป็นสุข ก็หลงใหลมัวเมาอยู่ในเรื่องทุกข์ๆ สุขๆ ทุกข์ๆ สุขๆ สลับกันไป ด้วยอำนาจของอวิชชา นี่เรียกว่าธรรมะประเภทที่ทำความหมุนเวียน
ทีนี้ หมุนเวียนซ้ำซากๆๆ มันก็ฉลาดขึ้นบ้าง เหมือนกับเอามือไปจับไฟเข้าบ่อยๆ ก็รู้ว่าไฟนี่มันร้อน ก็เลิกจับ จึงเกิดเป็นธรรมะประเภทความตื่นจากหลับขึ้นมา นี่คือวิชชา หรือญาณ หรือปัญญาต่างๆ เกิดขึ้นแล้วทำให้มองเห็นว่า สุขก็มีความทุกข์ไปตามประสาสุข ทุกข์ก็มีความทุกข์ไปตามประสาทุกข์ บุญก็มีความทุกข์ไปตามประสาบุญ บาปก็มีความทุกข์ไปตามประสาบาป หมายความว่าคนดีมีบุญ ก็ต้องได้รับความทุกข์ไปตามประสาคนดีคนมีบุญ เพราะยังเกิดแก่เจ็บตาย คนที่ไม่ดีเป็นบาปเป็นคนชั่ว ก็มีทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว มันจึงไม่ไหวทั้งนั้น
สู้ความไม่สุขไม่ทุกข์ หรือความเป็นอะไร หรือสู้ที่สุดสิ้นสิ้นสุดของความสุขและความทุกข์ไม่ได้ จึงหวังความสิ้นสุดทั้งของความสุขทั้งของความทุกข์ นี่เรียกว่าวิชชาแท้ ปัญญาแท้ หรือเป็นญาณอันถูกต้อง ถ้าเราเห็นเป็นว่าสุขน่าปรารถนา ทุกข์ไม่น่าปรารถนา อย่างนี้แล้วเรียกว่ายังเป็นปัญญาของเด็กอมมือ เหมือนกับชอบกินขนม ไม่ชอบกินบอระเพ็ด อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้ามีปัญญาอย่างผู้ใหญ่ที่โตเต็มที่แล้ว จะสั่นหัวทั้งนั้น เกิดเป็นมนุษย์ก็สั่นหัว เกิดเป็นเทวดาก็สั่นหัว เกิดเป็นพรหมก็สั่นหัว สู้ไม่เกิดเป็นอะไรเลยไม่ได้
นี่แหละจึงเกิดเป็นความตื่นขึ้นมาว่า ความที่ไม่ยึดถือว่าตนเกิดเป็นอะไรนั่นแหละ เป็นความไม่ทุกข์โดยประการทั้งปวง ในที่สุดก็ประจบกันเข้ากับธรรมประเภทที่เป็นความไม่ตาย หรือเป็นพระนิพพาน เป็นความว่างจากทุกข์ เป็นธรรมะสากล เป็นพระพุทธเจ้า อยู่ในตัวเองทุกหนทุกแห่ง เป็นธรรมะอยู่ในตัวเองทุกหนทุกแห่ง เป็นความไม่มีทุกข์เลยอยู่ทุกหนทุกแห่ง
นี่แหละ ท่านจะเห็นได้ในที่สุดว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมะนี้มันจะแบ่งเป็นอย่างไรก็แบ่งได้ แต่แล้วมันก็เป็นเพียงธรรมะเท่านั้นเอง มันเป็นของสิ่งเดียว แต่มองดูได้หลายเหลี่ยม หลายแง่ หลายมุม เหมือนภูเขาลูกหนึ่ง ถ้าเรามองดูทางทิศหนึ่ง มันก็มีรูปร่างไปอย่างหนึ่ง มองดูอีกทิศหนึ่ง ก็มีรูปร่างไปอย่างหนึ่ง ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน มองดูในแง่นี้ก็ปรุงแต่งหมุนเวียนโง่เง่าหลับใหล มองดูในแง่นี้ก็เป็นความตื่นเบิกบาน มองดูในแง่นี้ก็เป็นความไม่ตาย นิรันดร เป็นของมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ตลอดเวลา
เราหลีกธรรมะไม่พ้น เราจะซ่อนเร้นอำนาจของธรรมะไม่พ้น เพราะว่าธรรมะนี้ มันมีอยู่ในรูปของความหลับ หรือความโง่ หรือความไม่รู้มาก่อน แล้วมันจึงค่อยๆเบิกบานเป็นความรู้ความตื่น มันหลับอยู่จนกว่าจะถึงเวลาที่มันจะตื่นขึ้นมา มันซ่อนตัวอยู่จนกว่าจะถึงเวลาที่จะปรากฎตัวออกมา ถ้าปรากฎตัวออกมา ก็แปลว่าคนนั้นแหละได้ถึงธรรมะแล้ว ธรรมะถึงคน คนถึงธรรม เพราะว่าโดยปรมัตถ์ คนไม่มี มีแต่ธรรม แต่ถ้าว่าโดยสมมุติแล้ว ก็ธรรมนั่นแหละคือคน แต่ผลมันเหมือนกัน คือว่าเป็นที่สิ้นสุดของความทุกข์โดยประการทั้งปวง พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ถึงธรรมะ เราเอาเรื่องของท่านมาวินิจฉัยกันโดยละเอียดในวันนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในส่วนนี้ คือในส่วนที่ว่า คนถึงธรรมธรรมถึงคนได้อย่างไร แล้วจะได้วิสัชนากันโดยละเอียดสืบต่อไปในธรรมเทศนาอันจะมีมาโดยลำดับ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
สวดมนต์ตั้งแต่นาทีที่ 01.36.26 เป็นต้นไป