แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาในอัฏฐมี นับแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นมา ซึ่งเป็นกาลเวลาที่พุทธบริษัทพยายามประพฤติธรรมะปฏิบัติให้ดีเป็นพิเศษ การที่ได้มีฟังธรรมเทศนามากขึ้นกว่าโอกาสธรรมดา ก็ด้วยความมุ่งหมายในข้อนี้ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้สนใจในการที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และประพฤติปฎิบัติในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นให้มากเป็นพิเศษดุจเดียวกัน
ธรรมเทศนาในวันนี้ อยากจะปรารภหัวข้อของคำว่า ธรรมะ ซึ่งมีอยู่หลายข้อด้วยกัน ข้อแรกที่สุด เราจะต้องนึกกันก่อนว่าการเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมะในพระศาสนานี้ หรือการเข้าวัดเข้าวานี้ เพื่อประโยชน์อย่างไรกันแน่ ถ้าหากว่ามาเข้าวัดเข้าวาเพียงสักว่าเอาบุญ ปัญหาหรือเรื่องราวก็มีไม่มาก เพราะเพียงแต่มาเกี่ยวข้องกับวัดหรือให้ทานบ้าง หรือทำพิธีต่างๆ บ้าง ก็เป็นการได้บุญที่เพียงพอแล้ว แต่ว่าการกระทำเพียงเท่านี้นั้น ไม่ตรงตามความประสงค์ของพุทธศาสนาหรือของความมุ่งหมายของพระธรรมในพระศาสนานี้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับให้ใครประพฤติปฏิบัติพอสักว่าเป็นพิธี หรือทำตามๆ กันไปโดยปราศจากปัญญา อย่างน้อยที่สุด เขาจะต้องมีปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจึงมาขวนขวายหาธรรมะเป็นเครื่องแก้ปัญหาหรือดับความเดือดร้อนข้อนั้น
หรือกล่าวให้กว้างไปกว่านั้น ก็กล่าวได้ว่าคนเราอยู่ในโลกนี้ มีหนทางที่จะเกิดความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตใจมากมายหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่างหรือหลายพันอย่าง เพราะฉะนั้นคนเราจึงมีความทุกข์ ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ จนเหลือที่จะกลบเกลื่อนไหว สิ่งที่จะกลบเกลื่อนความทุกข์นั้น ก็กลบเกลื่อนได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ไม่สามารถจะกำจัดความทุกข์ให้สิ้นไปได้ ถ้าอย่างไรเราจะได้พยายามเสาะหาสิ่งที่จะกำจัดความทุกข์นั้นให้ยิ่งไปกว่าการกลบเกลื่อน คือให้เป็นการกำจัดความทุกข์ได้โดยแท้จริง
หรือถ้าจะพูดให้ยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือว่า สามารถที่จะอยู่ในโลกนี้โดยมีความทุกข์แต่น้อยที่สุด หรือถึงกับไม่มีความทุกข์เลย แล้วแต่ความสามารถของตนๆ ถ้าว่าโดยแท้จริงแล้ว ธรรมะนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ คือสามารถเอาชนะความทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องวิ่งหนีไปอยู่ตามป่าตามเขา หรือไม่ถึงกับต้องหนีไปบวชอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่าหนีโลก แม้จะยังอยู่ในโลกก็ยังอยู่ด้วยชัยชนะ คือมีความทุกข์น้อย หรือเอาชนะความทุกข์ได้มากจนมีความทุกข์น้อย หรือว่าสามารถเอาชนะความทุกข์ตามประสาโลกๆ นั้นได้โดยสิ้นเชิง
อย่างนี้ก็ลองพิจารณาดูเถิดว่าอานิสงส์ของธรรมะนี้จะมีมากน้อยเพียงไร จะเป็นสิ่งที่ควรสนใจมากน้อยเพียงไรถ้าว่า...โลกไป(นาทีที่ 07:36) เพราะว่าการหนีโลกโดยทางร่างกายนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าทุกคนจะต้องอยู่ในโลกอยู่บนแผ่นดิน กินข้าวปลาอาหาร มีบ้านมีเรือน มีที่อยู่อาศัยในโลกนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นโดยทางร่างกายคนไม่อาจจะหนีโลกไปไหนได้ สมมติ...(นาทีที่ 08:06) แต่ว่ายังมีปัญหาบางอย่างทางร่างกายนี้เหลืออยู่ และโดยเฉพาะก็ที่เนื่องกับร่างกายโดยตรง เช่น การต้องกินอาหาร การต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น และยังจะได้รับการกระทบกระทั่งเบียดเบียนจากสิ่งแวดล้อมอีกเป็นอันมาก ทำอย่างไรเราจึงจะมีจิตใจที่ไม่เป็นทุกข์ด้วยสิ่งเหล่านั้น นั่นต่างหากซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างชาวบ้านก็ดี อย่างชาวป่าหรืออย่างนักบวชฤาษีชีไพรก็ดี มันก็ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับโลกนี้ไม่น้อยเลย แม้ที่บวชอยู่ตามวัด ก็ยังมีความทุกข์ที่เกี่ยวกับโลกนั้นติดตามมา ทำให้ผู้ที่บวชแล้วนั้นก็ยังมีความทุกข์ ยิ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่การงานมาก เช่น เป็นสมภารเจ้าอาวาสเป็นต้น ก็ยังมีความทุกข์ตามแบบที่เรียกว่าความทุกข์อย่างโลกๆ นั่นเอง เหมือนๆ กันกับชาวบ้าน เพราะว่าไม่สามารถจะขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลกๆ หรือเนื่องอยู่ด้วยโลกนั้นให้สิ้นไป เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า เมื่อยังมีร่างกายเป็นอยู่ในโลกนี้แล้ว ก็มีปัญหาเหล่านี้ด้วยกันทุกคน อะไรจะแก้ได้ ธรรมะเท่านั้นจะแก้ได้
ทีนี้มาถึงเรื่องทางจิตใจ ไม่ต้องพูดเรื่องร่างกายกันแล้ว พูดเรื่องทางจิตใจโดยตรง คนเราก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก ไม่ว่าชาววัดหรือชาวบ้าน มันมีความทุกข์เสมอกัน โดยอำนาจของความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นต้น หรือด้วยอำนาจของความโง่ ความโกรธ ความหลง ครอบงำแล้วทำจิตใจให้เร่าร้อน เหมือนกับถูกสุมไฟเป็นต้น อย่างนี้เป็นปัญหาที่ละเอียดลงไปในทางจิตใจหรือทางวิญญาณ อะไรจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องธรรมะอีกนั่นเอง ไปๆมาๆ ก็หนีธรรมะไปไม่พ้น ในการที่คนเราจะดับความทุกข์หรือจะเอาชนะความทุกข์โดยทุกๆ ประการ
แต่เนื่องจากธรรมะนี้เป็นของลึก คนบางคนเข้าไม่ถึงธรรมะ ไม่รู้ธรรมะ ไม่สามารถปฏิบัติธรรมะ แต่ก็กลัวความทุกข์ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นด้วยอำนาจความกลัวนั่นเอง จึงพยายามทำไปตามที่ตนจะสามารถทำได้ หรือตามที่เขาเล่าลือกันว่าทำอย่างนั้นเป็นการทำให้มีบุญมีกุศล จะเอาชนะความทุกข์ได้ ถ้าไม่ชนะความทุกข์ที่นี่เดี๋ยวนี้หรือในชาตินี้ ก็จะเอาชนะความทุกข์ในโอกาสข้างหน้าหรือในชาติหน้าได้ดังนี้เป็นต้น การที่ทำไปด้วยความเชื่อเพียงเท่านี้ ยังไม่จัดเป็นธรรมะที่ถูกต้อง เป็นเพียงธรรมะที่ผิวเผิน เป็นเพียงธรรมะที่เชื่อตามๆ ที่เขาว่าๆ กัน เพราะฉะนั้นเราควรจะได้สนใจในตัวธรรมะที่แท้ ซึ่งเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้โดยชัดเจนอย่างไรกันเสียบ้าง เพื่อให้เราสามารถจะเอาธรรมะนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดความทุกข์ทุกชนิดได้จริง จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนใจในปัญหาข้อนี้ให้มากเป็นพิเศษ คือข้อที่ว่าเราจะเป็นผู้หมดทุกข์หรือประสบสุขได้ ก็ด้วยอาศัยธรรมะ หรือว่าธรรมะนั่นแหละจะรักษาเรา จะคุ้มครองเรา ไม่ให้ความทุกข์เข้ามาถูกต้องเราได้ดังนี้
สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ นั้นคืออะไร นี้เป็นปัญหาที่ยุ่งยากลำบากที่สุด เพราะว่าคำว่า ธรรมะ ในภาษาบาลีนั้น มันหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องสูงเรื่องต่ำ เรื่องวัตถุสิ่งของหรือเรื่องจิตใจก็ตาม เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น นั้นมันหมายความว่าสิ่งทุกๆ สิ่งเหล่านั้น ล้วนแต่มีความจริงที่เราจะต้องรู้จะต้องเข้าใจมันให้เพียงพอ เพราะว่าเราจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งมากสิ่งด้วยกัน หรือจะเรียกว่าทุกสิ่งที่เราจะต้องเกี่ยวข้องก็ได้ เพราะว่าในเรื่องผิด เรื่องเลว เรื่องชั่วเรื่องบาป เราก็ต้องรู้ ในเรื่องบุญเรื่องดี เรื่องสูงเรื่องประเสริฐ เราก็ต้องรู้ เรื่องที่เป็นกลางๆ เราก็ต้องรู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าเราจะต้องรู้ทั้งหมดนั่นเอง ความหมายของคำว่า ธรรมะ อย่างนี้ ก็หมายความว่าทุกสิ่งที่เราจะต้องรู้ เราจะต้องรู้ว่าความจริงของสิ่งทุกสิ่งนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ว่าสิ่งทุกสิ่งมีความจริงเป็นอย่างไรแล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติตัวเราเองให้เข้ากันได้กับสิ่งทุกสิ่ง ให้เหมาะสมกับสิ่งทุกสิ่ง เช่น ที่เป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็หลีกเลี่ยงเสีย เพราะเรามีความรู้เรื่องสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นดี สำหรับสิ่งที่ให้เกิดความพ้นทุกข์ เราก็เข้าเกี่ยวข้องด้วย เพราะเรารู้เรื่องสิ่งที่ทำให้เกิดความพ้นทุกข์นั้นดี หรือแม้ที่สุดแต่ที่เราจะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งนี้มันเป็นอย่างไร น่ารัก น่ายึดถือ น่าพอใจหรือไม่ อย่างนี้ก็ต้องรู้ และรู้ในทุกๆ สิ่ง จนกระทั่งรู้ตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งปวงทุกสิ่งนั้นไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจที่ปักแน่นฝังแน่นลงไป ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของๆ เราดังนี้ อย่างนี้เรียกว่ารู้สิ่งทุกสิ่ง ในฐานะที่เป็นธรรมะ ไม่ยกเว้นอะไรเลย รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้ด้วยสัจธรรม คือด้วยธรรมะที่เป็นความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เรารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยความรู้ที่เรียกว่าสัจธรรม
สัจธรรมเป็นคำบรรยายหรือคำบอกให้รู้ถึงลักษณะความเป็นไปของสิ่งทุกสิ่ง
โดยสรุปรวมแล้วก็บอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเสมอ เป็นทุกขัง คือทำให้เกิดความทุกข์แก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือหรือว่าไปพิจารณาดูแล้วสิ่งทุกสิ่งนั้น น่าเอือมระอาไปหมด เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นมารยา หลอกลวง มีลักษณะอาการของความทุกข์ประจำอยู่ในสิ่งทุกสิ่ง พร้อมที่จะทำอันตรายแก่บุคคลที่เข้าไปยึดถือหรือผู้ที่ไม่รู้ความจริง และว่าสิ่งทุกสิ่งนั้นเป็นอนัตตา คือไม่เป็นไปตามอำนาจของบุคคลผู้ใดเลย บุคคลผู้ใดจะปรารถนาว่าสิ่งนี้จงเป็นอย่างนี้ๆ จงเป็นไปตามที่เราต้องการดังนี้ ก็ไม่สามารถทำให้สิ่งใดๆ เป็นไปอย่างนั้นได้ มีแต่มันจะเป็นไปตามเรื่องตามราวของมันเอง บางทีก็ตรงกับความต้องการของเรา บางทีก็ไม่ตรงกับความต้องการของเรา และเนื่องจากความต้องการของเรามีขอบเขตจำกัด อาการที่ไม่ตรงกับความต้องการของเรานั้นมันมีมาก เพราะฉะนั้นเราจึงประสบแต่ความผิดหวัง กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดความผิดหวังนั้นมีอยู่มากมายหลายสิบหลายร้อย แต่สิ่งที่จะทำให้สมหวังนั้นมีเพียงหนึ่งหรืออย่างเดียว แล้วเราจะไม่ประสบความผิดหวังมากมายกว่าความสมหวังอย่างไรได้
นี้แสดงว่า การที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นไปตามลำพังมันเอง หมุมเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาธรรมชาติของมันนั้น ยากที่จะตรงกับความประสงค์ของบุคคลผู้มีความประสงค์ได้ และมันเป็นไปตามเรื่องตามราวของมัน มันไม่เชื่อฟังใครดังนี้ จึงไม่ควรที่บุคคลผู้ใดจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ว่าจงเป็นอย่างนี้เถิด จงอย่าเป็นอย่างนี้เลย นี่แหละคือความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ผู้ใดเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะเอาให้เป็นไปตามความต้องการของตนดังนี้แล้ว ก็มีแต่จะทำตนให้มีความทุกข์มากขึ้น อยู่เฉยๆ เสียยังดีกว่า มีเรื่องอะไรก็ทำไปตามเรื่องตามราว อย่าไปปักใจยึดมั่นถือมั่น บังคับสิ่งทั้งหลายให้เป็นตัวตนหรือเป็นของตนขึ้นมา
รวมความว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงเสมอ เป็นทุกข์ คือทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือ หรือพิจารณาดูแล้วน่าเอือมระอาไปทั้งนั้น และเป็นอนัตตาคือไม่เชื่อฟังใคร
นี้คือลักษณะของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แปลว่าถ้าเรารู้จักความหมายข้อนี้ ก็เป็นอันว่ารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดี สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี่เอง เมื่อเรารู้ลักษณะสำคัญของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังนี้แล้ว เรียกว่ารู้สัจธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่สัจธรรมในลักษณะเช่นนี้ ยังไม่ตอบปัญหาโดยตรงที่เกี่ยวกับความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราควรจะศึกษาให้รู้ต่อไปอีกว่า ความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุไรมันจึงเป็นทุกข์ ความไม่มีทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะได้ความไม่เป็นทุกข์นั้นมา
นี้ก็อาศัยการพิจารณาเนื่องกันมากับข้อที่กล่าวมาแล้ว คือว่าเพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร มันจึงเกิดเป็นความทุกข์ชนิดที่เรียกว่าเป็นความแก่ เป็นความเจ็บ เป็นความตายเป็นต้น หรือเป็นความปรารถนาแล้วไม่ได้สมหวัง ได้ประสบพบกันเข้ากับสิ่งที่ตนไม่อยากพบ จะต้องวิบัติพลัดพรากจากสิ่งที่ตนอยากพบอยากเห็นอยู่ร่ำไปดังนี้ หรือว่าพิจารณาดูให้ดีแล้ว ทุกสิ่งล้วนแต่ไม่น่าไว้ใจ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวของมันเอง ไม่เชื่อฟังใคร จะเป็นเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ หรืออะไรก็ตาม ล้วนแต่มันพร้อมที่จะเป็นไปตามเรื่องตามราวของมันเอง ไม่เชื่อฟังบุคคลผู้เป็นเจ้าของ หรือแม้แต่บุคคลที่พูดกันรู้เรื่อง เช่น บุตร ภรรยา สามี เป็นต้น ก็ล้วนแต่มีทางที่จะต้องเป็นไปตามกรรมของตน เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของตน ไม่มีใครป้องกันได้ ฉะนั้นจึงเป็นที่น่าเอือมระอา ทำให้เกิดความทุกข์แก่บุคคล เพราะไปคิดว่ามันจงเป็นอย่างนี้เถิด จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย
หรือพิจารณาดูอีกทางหนึ่งซึ่งใกล้ชิดเข้ามาอีกว่า แม้แต่ตัวเราเอง ตัวของเราเองแท้ๆ มันก็ยังไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา ร่างกายของเราก็ดี จิตใจของเราก็ดี ล้วนแต่ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา มันเปลี่ยนแปลงไปในทางอื่นอย่างอื่น ต้องการให้เป็นอย่างนี้ ก็กลายไปเป็นอย่างอื่นเสีย เช่นร่างกาย ต้องการจะให้สวยงามหรือสะดวกสบายอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นไปไม่ได้ จิตใจต้องการให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น จะให้จำเก่ง ให้คิดเก่ง ให้เฉลียวฉลาด ให้เยือกเย็น อย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ ที่เกี่ยวกับเนื้อตัวเราแท้ๆ ยังเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ไปตามใจหวังทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ มันจึงเกิดขึ้น เป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายก็ดี เป็นความทุกข์ลำบากทางกายทางใจ ปริเทวะร่ำไร เหือดแห้งใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็ดี พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ดี ประสงค์สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการก็ดี อาการทั้งหลายเหล่านี้ รวมกันแล้วเรียกว่าดูแล้วน่าสั่นหัวทั้งนั้น ดูแล้วน่าเอือมระอาทั้งนั้น อาการที่ดูแล้วน่าเอือมระอานั่นแหละ คือตัวความทุกข์แท้ จะเห็นชัดว่ามันเป็นเหมือนกับศัตรู มันเป็นเหมือนกับอุปสรรคที่จะทำอันตรายบุคคลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่างเว้นเลย คือมันจะก่อความยุ่งยากลำบากกายลำบากใจให้ตลอดเวลา ไม่ว่างเว้นเลย นี่คือลักษณะอาการที่เรียกว่าความทุกข์ เป็นสัจธรรมข้อสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งจะต้องดูให้เห็นเสียก่อน
ทีนี้มีปัญหาถามต่อไปว่า ความทุกข์เหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน คำตอบก็มีอยู่ว่า เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าเราไปรัก ไปอยาก ไปยึดถือสิ่งเหล่านั้นเข้า มันจึงเป็นทุกข์ อย่าไปรัก อย่าไปอยาก อย่าไปยึดถือสิ่งเหล่านั้นว่าเรา ว่าของเรา มันก็ไม่ทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามีความอยากที่เรียกว่าตัณหา หลายประการด้วยกัน แต่เมื่อสรุปย่อแล้วก็มีอยู่ ๓ ประการ
กามตัณหา อยากได้ตามความใคร่ในสิ่งที่ตัวใคร่ นี่อย่างหนึ่ง
ภวตัณหา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ตามที่ตนอยากให้มันเป็น นี้อย่างหนึ่ง และ
วิภวตัณหา อยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น ตามที่ตนอยากไม่ให้มันเป็น นี้ก็อย่างหนึ่ง รวมเป็น ๓ อยาก ๓ ประเภทด้วยกัน
ความอยากทั้ง ๓ ประเภทนี้ เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ ไปอยากทำสิ่งใดก็เป็นความทุกข์ขึ้นเพราะเหตุนั้น ความอยากนี้เกี่ยวสัมพันธ์กันกับความยึดถือ เช่น สิ่งที่เป็นกามหรือเป็นกามคุณ ก็มีความยึดถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารักน่าปรารถนา มันจึงได้อยาก ถ้าไม่ยึดถือมันก็ไม่อยาก หรือมันอยากก็ต้องอยากด้วยความยึดถือ สัมพันธ์กันทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างนี้ มันจึงเป็นต้นเหตุของความทุกข์
ที่เป็นภวตัณหาก็เหมือนกัน อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ เพราะไปอยากเป็นมันเข้า มันจึงได้ทุกข์ ที่ไปอยากเป็นเพราะยึดถือว่าเป็นอย่างนั้นนั่นมันดี ไปอยากเป็นหญิง อยากเป็นชาย อยากเป็นนาย อยากเป็นบ่าว อยากเป็นคนอย่างนั้น อยากเป็นคนอย่างนี้ เปลี่ยนได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งส่วนมากก็อยากเป็นคนรวย คนมีอำนาจวาสนาดังนี้ เพราะไปอยากจะเป็นอย่างนั้น ไปอยากจะเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่ได้เป็นสมอยาก มันก็ต้องเป็นทุกข์ การที่เราอยากนั้น มีหวังที่จะสมประสงค์ได้เพียงส่วนเดียว มีไม่สมหวังได้ตั้งร้อยส่วนพันส่วน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกข์ มีโอกาสที่จะเป็นทุกข์ได้มากกว่าที่จะได้สมประสงค์
แต่ว่าเมื่อได้เป็นหรือได้อยาก เมื่อได้สมประสงค์ในสิ่งที่ตนอยากจะเป็นหรืออยากจะได้แล้ว มันก็หาได้เป็นสุขไปได้ไม่ เพราะว่าสิ่งนั้นมันก็มีแต่จะทำให้เกิดความหนักอกหนักใจมากขึ้นเพราะความยึดถือ ถ้าเรายึดถือในสิ่งที่ได้มาหรือสิ่งที่ได้เป็นนั้นแล้ว มันก็ยึดถือด้วยความรักใคร่หวงแหน กลัวว่ามันจะกลายเป็นอย่างอื่น มันยังไม่ทันจะกลายเป็นอย่างอื่นก็หนักอกหนักใจเพราะกลัวจะกลายเป็นอย่างอื่น นี้เรียกว่าความวิตกกังวล ความวิตกกังวลเหล่านี้ทำให้มีความทุกข์ตลอดกาล ทั้งหลับทั้งตื่น แม้แต่ฝันก็เป็นทุกข์ มันจึงมีมูลมาจากความยึดถือตัวเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิดความทุกข์ ถ้าแก้ความยึดถือเสียได้ มันก็จะไม่เป็นทุกข์
อีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าความอยากไม่ให้มีไม่ให้เป็นนั้น มันก็มีมูลมาจากความยึดถือ เพราะว่าเราไปยึดถือว่าอย่างนี้น่าเอาน่าเป็น อย่างโน้นไม่น่าเอาไม่น่าเป็น มันจึงไปเกิดอยาก ที่จะไม่ให้เป็นชนิดที่เราไม่อยากให้มันเป็น ความที่อยากไม่ให้มันเป็นนี้ มีได้มากทั่วๆ ไปเหมือนกัน เช่น เราไม่อยากจะเห็นหน้าคนที่เราเกลียดคนที่เป็นศัตรู บางทีเราก็มีความทุกข์เสียแล้วว่าเดินไปทางนี้จะพบหน้าคนที่เราไม่อยากเห็น เรากลัวตาย เราไม่อยากเจ็บอยากไข้ เราอยากไปในทางที่จะไม่ให้เจ็บไม่ให้ไข้ เราจึงอยากที่จะไม่ให้เจ็บไม่ให้ไข้ ไม่อยากให้เจ็บให้ไข้ กลัวความตาย ความอยากอย่างนี้ก็เป็นทุกข์
การกลัวความตายนั้น มีได้ทั่วไปไม่ว่าที่ไหน อยู่ในบ้านก็กลัวอย่างหนึ่ง เข้าไปในป่าก็กลัวอย่างหนึ่ง อยู่ในที่สว่างก็กลัวไปอย่างหนึ่ง อยู่ในที่มืดๆ ก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะดูเหมือนว่าความตายนี้จะมีไปทั่วทุกหนทุกแห่ง คนจึงได้ดิ้นรนที่จะต่อสู้กับความตายหรือสิ่งที่ตนไม่อยาก บางคนได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เกลียดเบื่อหน่ายเอือมระอา อยากให้เป็นอย่างอื่น เมื่อดิ้นรนไปดิ้นรนมา ก็ถึงกับไม่อยากจะเป็นคนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ถึงกับต้องฆ่าตัวตายไปก็มี
ความอยากเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์เสมอกันหมด มันยึดถือเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับความเป็นคน เกี่ยวกับความเป็นอย่างนั้นความเป็นอย่างนี้ เอามาเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆ แล้ว ก็เกลียดข้างหนึ่งและรักข้างหนึ่งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นมันจึงมีความอยากได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง คือฝ่ายข้างหนึ่งที่น่ารักน่าพอใจมันก็อยากได้ อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันก็อยากไม่ให้ได้ อยากให้หายไปเสีย อยากไม่ให้มาปรากฏ เราจึงมีต้นตอของความทุกข์มากมายไปทุกหัวระแหง ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเรามีความคิดที่ผิดๆ อย่างนี้ นี้จึงเห็นได้ว่า ถ้าเรามารู้เสียให้ชัดเจนว่า ความอยากหรือความยึดถือนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้แล้ว เราก็รู้ความจริงหรือสัจธรรมข้อที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะจัดว่าเป็นข้อที่ ๒
ทีนี้เราจะศึกษาต่อไปว่า ความไม่มีทุกข์เลยนั้นเป็นอย่างไร คำตอบนี้ง่ายมาก เพราะข้อที่แล้วมาก็บอกให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าความทุกข์เกิดมาจากความอยาก ความไม่มีทุกข์มันก็ต้องเกิดมาจากการดับความอยากนั้นเสีย อย่าให้มีความอยากหรือมีความยึดถืออะไรเหลืออยู่
ข้อนี้อธิบายยากก็ตรงที่ว่าคนเราจะทำได้อย่างไร หรือมักจะไม่เข้าใจตรงที่ว่าถ้าเราไม่อยากไม่ยึดถือแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป แต่ให้เข้าใจในขั้นต้นเสียก่อนว่า ไม่ต้องมีความอยากก็ทำอะไรได้หรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ ไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตนหรือของๆ ตนก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ มีบ้านมีเรือน มีข้าวมีของ มีเงินมีทองได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าใจไม่อยาก ใจไม่ยึดถือว่าเป็นเราหรือเป็นของๆ เราเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวได้ง่ายๆ ว่า เมื่อใดจิตใจไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดถือแล้ว เมื่อนั้นไม่มีความทุกข์เลย พอจิตใจมีความอยากมีความยึดถือเข้ามาเท่านั้น มันก็เป็นทุกข์ทันที ส่วนเราจะมีเงินมีของมีทองอะไรจริงๆ หรือไม่มีนั้น ไม่เป็นปัญหา มันไม่เกี่ยวกับความทุกข์หรือสุขโดยตรง ความทุกข์มันอยู่โดยตรง ตรงที่ว่าเราไปยึดถือมันเข้า ความไม่ทุกข์มันอยู่ตรงที่เราไม่ยึดถือมัน แต่เรามีเงินเก็บไว้มากๆ ถ้าเรายึดถือว่าเงินของเรา เราก็เป็นทุกข์ทันที กลัวว่ามันจะหายเป็นต้น แต่เมื่อเราไม่ยึดถือมัน เช่น ลืมมันเสียบางขณะ มันก็ไม่เป็นทุกข์ แต่แล้วเงินนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน มันคงมีอยู่นั่นเอง เราจะไปใช้เมื่อไหร่ก็ได้ นี่จึงเป็นอุบายอันหนึ่งที่สำคัญมาก ที่คนเราจะต้องอุตส่าห์ฝึกฝนกันให้มากทีเดียว คือว่ามีอะไรไว้โดยไม่ต้องยึดถือว่าเรามี ทำอะไรลงไปก็ได้แต่ไม่ต้องยึดถือว่าเราทำ ให้มันมีสติปัญญาควบคุมของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีไป ก็ทำไปตามสติปัญญา ไม่ทำไปโดยอำนาจความยึดถือว่าของเราหรือตัวเรา ของกูหรือตัวกูดังนี้ มันก็ไม่มีความทุกข์
ขอให้เข้าใจว่า วัตถุที่จะเป็นที่ตั้งของความยึดถือนั้น ไม่ต้องมากถึงกับเป็นเงินเป็นทองมากมายอะไรเลย แม้แต่ของเล็กนิดเดียวมีราคาไม่ถึงสตางค์ ถ้าหากไปรักไปยึดถือมันเข้า มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงของมากๆ หรือมีราคามากๆ ของเล็กๆ น้อยๆ แท้ๆ เมื่อมีความยึดถือแล้ว ก็มีความทุกข์ได้ พริกสักเม็ดหนึ่ง มะเขือสักลูกหนึ่ง ถ้าเกิดความยึดถือเข้าแล้วก็เป็นทุกข์ได้ โดยส่วนตัวก็เป็นทุกข์ได้ โดยส่วนรวมก็วิวาทฆ่ากันตายได้เพราะพริกเม็ดหนึ่งหรือมะเขือลูกหนึ่งดังนี้ นี่เป็นการชี้ให้เห็นได้ว่าความทุกข์นั้นมันไม่ได้อยู่ที่ของมากหรือของน้อย แต่มันอยู่ที่ความยึดถือมีมากหรือมีน้อย ถ้ายึดถือมากมันก็ทุกข์มาก ถ้ายึดถือน้อยมันก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดถือเลยมันก็ไม่เป็นทุกข์เลย ถ้าเราไม่ยึดถืออะไร เรามีอะไรต่างๆ ได้ ทำอะไรต่างๆ ได้ มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นเราควรจะหัดกันเสียใหม่ว่าจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีการยึดถือ แต่ทำอะไรก็ทำได้โดยไม่ต้องมีความยึดถือ มีแต่สติปัญญารู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำก็แล้วกัน อย่าให้จิตใจเกิดความอยากหรือความยึดถือขึ้นมา มันก็มีแต่ความสงบสุขไปทั้งวันทั้งคืน ทำอะไรก็สนุกสนานไม่มีความทุกข์เลย อะไรจะได้มาก็หัวเราะ อะไรจะเสียไปก็หัวเราะ แต่ว่าหัวเราะนี้ไม่ใช่หัวเราะจะเอาหรือหัวเราะหลงใหล เป็นการหัวเราะเยาะ ได้มาก็หัวเราะเยาะ เสียไปก็หัวเราะเยาะ แล้วมันจะมีความทุกข์ที่ตรงไหน ก็มีแต่การหัวเราะเยาะทั้งนั้น
นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถ้าดับความอยากและดับความยึดถือเสียได้ คนเราก็จะไม่มีความทุกข์เลย นี้นับว่าเป็นสัจธรรมข้อที่ ๓ เป็นสัจธรรมที่สำคัญที่สุด ที่เราเรียกกันว่ามรรคผล ถ้าเป็นไปถึงที่สุดก็เรียกกันว่าพระนิพพาน ถ้าหากว่าดับความอยากหรือดับความยึดถือได้เล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นปุถุชนในชั้นดี ดับได้มากก็เป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงขึ้นไป ดับได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ หรือเรียกว่าบรรลุพระนิพพาน ฉะนั้นจึงได้สนใจเรื่องการดับความอยากหรือดับความยึดถือนี้ให้มากเป็นพิเศษกว่าเรื่องใดหมด เพราะว่าเรื่องอื่นนอกจากเรื่องนี้แล้วต้องเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้นที่จะไม่เป็นความทุกข์ แต่แล้วเราก็ไม่ได้สนใจกันให้มาก เราไปสนใจเรื่องที่จะเกิดความทุกข์นั้นเสียมากมาย ตลอดเวลาก็ว่าได้ ส่วนเรื่องที่จะไม่เกิดความทุกข์ ที่จะดับความทุกข์นี้ เราไม่ได้สนใจเลย เราละเมอๆ ไปวันหนึ่งๆ โดยไม่ได้สนใจในเรื่องที่เป็นความดับทุกข์เลย แล้วจะไปโทษใคร มันอยู่ที่เราประมาท นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องความดับทุกข์ ข้อนี้แหละเรียกว่าความประมาท ไม่ต้องมีเจตนาอะไร เพราะมันเป็นความโง่ ความหลง ความหลับอยู่ ยังไม่ตื่นสักที ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไรดังนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าความประมาท ไม่มีความระลึกนึกได้ที่ตรงไหน ไม่มีความขยันขันแข็งที่ตรงไหน เพราะมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงเรียกว่าความประมาทอย่างแท้จริง มัวเมาสลบไสลอยู่ในอวิชชาคือความไม่รู้ แต่ถ้าเราจะเกิดสนใจกันให้มากเป็นพิเศษในเรื่องนี้แล้ว ความไม่ประมาทก็จะเกิดขึ้นมา ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของมรรคผลนิพพานได้โดยแน่นอน พึงถือว่าเรื่องพระนิพพานหรือความดับทุกข์สิ้นเชิงนี้ ดับกิเลสตัณหาสิ้นเชิงนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาของเรา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจมากกว่าเรื่องอื่น เช่น เรื่องทำไร่ทำนาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนั้น มาเทียบกันแล้ว มันเทียบกันไม่ไหว แต่แล้วทำไมเราจึงสนใจเรื่องปากเรื่องท้องนั้นมากกว่าที่จะสนใจเรื่องพระนิพพานเล่า แล้วจะไปโทษใคร มันก็ต้องทนทุกข์เป็นธรรมดา
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ ๔ เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะดับความอยากอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้นเสียได้ นี่แหละคือข้อปฏิบัติ คือการปฏิบัติที่ถูกต้องว่าเราต้องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ลงไปจริงๆ มันจึงจะดับกิเลสดับตัณหา อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ได้ ไม่ใช่เพียงแต่สักว่าทำๆ ไปตามเขาว่า ว่าทำอย่างนี้แล้วก็ได้บุญ ได้บุญแล้วก็ดับทุกข์เอง อย่างนี้มันเป็นการละเมอๆ ไปเหมือนกับคนลืมตาฝัน มันเห่อตามเขาไป ตามที่เขาว่าอย่างไร แล้วก็ทำไปตามพิธี เราจะเห็นกันได้อยู่แล้วว่าทำกันมาอย่างนี้กี่ปีๆ มันก็ไม่เคยดับความทุกข์ในใจของเราได้เลย เพราะเราทำฝากไว้กับความเชื่อชนิดที่เป็นลมๆ แล้งๆ มากกว่าที่จะเป็นสติปัญญาอย่างแท้จริง ฉะนั้นเราจะต้องสนใจเรื่องที่เป็นความจริง เป็นสติปัญญาจริงๆ ให้มากพอ หยุดเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ หยุดทำไปตามความตื่นข่าวเล่าลือนั้นเสีย เสียให้เด็ดขาด มาพิจารณาด้วยสติปัญญาให้เกิดความแจ่มแจ้งว่ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ คือความทุกข์มันเป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดความทุกข์มันเป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์สิ้นเชิงมันเป็นอย่างนี้ และวิธีที่จะดับนั้นมันต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเราก็ทำมันให้มากเข้า
พอเรามารู้ว่าอย่างนี้เป็นการดับทุกข์จริงแล้ว ก็เรียกว่ารู้สัจธรรมข้อที่ ๔ ซึ่งมีความสำคัญเท่าๆ กัน ทั้ง ๔ ข้อนี้เรียกชื่อว่าอริยสัจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์โดยตรง ถ้าจะยกตัวอย่างมา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ดี เรื่องอริยสัจทั้ง ๔ นี้ก็ดี ล้วนแต่เป็นวิชาความรู้ เป็นสัจธรรมคือเป็นความจริงของธรรมชาติหรือสิ่งทั้งปวงซึ่งเราจะต้องรู้ เราจะต้องขวนขวายให้รู้ให้จนได้ ซึ่งเราอาจะสรุปได้ว่าเราจะรู้จักสิ่งทั้งปวงได้ด้วยสัจธรรม คือธรรมะประเภทที่เป็นการแสดงถึงความจริงของสิ่งทั้งปวง นี้ข้อที่แรกนี้เราสรุปว่าเราจะรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายได้ด้วยสัจธรรม
ทีนี้เมื่อเรารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายด้วยสัจธรรมแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป ความจริงที่เรารู้นั้นมันบอกให้เรารู้ว่าเราจะต้องประพฤติปฏิบัติ ทีนี้มาถึงการประพฤติปฏิบัติมันมีอย่างไรบ้าง เราจะต้องพิจารณาดูกันในขั้นทั่วๆ ไปก่อนว่า การที่จะประพฤติปฏิบัติคราวเดียวให้หมดจดสิ้นเชิงนั้น ให้ออกไปจากทุกข์โดยประการทั้งปวงนั้น ดูจะสุดวิสัยอยู่ เพราะฉะนั้นจึงมีแบ่งแยกเป็นการขูดเกลาไปพลางๆ จนกว่ามันจะถึงที่สุดแล้วก็จะหลุดออกไปได้ การขูดเกลานี้เป็นวิธีปฏิบัติชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า สัลเลขธรรม ได้แก่เราทำไปเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง ทุกทางที่จะเป็นการขูดเกลากาย วาจา หรือแม้กระทั่งใจ ให้มีความชั่วเบาบางลง เบาบางลงตามลำดับ ให้มีกิเลสเบาบางลง เบาบางลงตามลำดับ
เป็นเรื่องของการให้ทาน ก็ต้องให้เป็นการขูดเกลา เป็นเรื่องของการรักษาศีล ก็ต้องให้เป็นเรื่องขูดเกลา แม้ที่สุดแต่จะเป็นเรื่องการเจริญสมาธิ ก็ต้องให้เป็นเรื่องขูดเกลา ขูดเกลาหมายความว่าอย่าให้มันมากขึ้น ให้มันน้อยลง แต่ทำให้มันน้อยลง เช่น มีความขี้เหนียวมาก ก็ขูดเกลาให้มีความขี้เหนียวน้อยลงด้วยการให้ทานที่แท้จริง ไม่ใช่ให้ทานด้วยหวังว่าจะเอาผลตอบแทนมาอีกมากมายหลายสิบเท่า อย่างนี้มันไม่เป็นการขูดเกลา เพราะมันจิตหวังผลกำไรมากมายกว่าเดิม มันจะเป็นการขูดเกลาอย่างไร การให้ทานอย่างนี้ไม่เป็นการขูดเกลา เป็นแต่เพียงการพอกพูนหรือการล่อลวงไปในทางอื่น ชักจูงไปในทางอื่น ถ้าจะให้ทานให้เป็นการขูดเกลาแล้ว ต้องให้เพื่อกำจัดความยึดถือหรือความหวงแหนโดยตรงเท่านั้น การรักษาศีลก็เหมือนกัน ถ้าจะให้เป็นการขูดเกลาหรือเป็นสัลเลขธรรมแล้ว จะต้องรักษาศีลเพื่อจะขูดเกลาโทษที่มีอยู่ที่กาย ที่วาจานั้นให้น้อยลง ให้น้อยลง ให้น้อยลงตามลำดับ ไม่ใช่รักษาศีลเอาหน้า ไม่ใช่รักษาศีลแลกสวรรค์วิมาน ซึ่งเป็นการเพิ่มอะไรมากขึ้นอีก เราจะต้องระมัดระวังให้การรักษาศีลของเรานั้น เป็นการขูดเกลากิเลสทุกชนิด เป็นการขูดเกลาความเห็นแก่ตัวทุกชนิด เป็นการขูดเหลาความมัวเมาต่างๆ นานา ทุกชนิด จึงจะเรียกว่าศีลนั้นเป็นสัลเลขธรรมขึ้นมา
การเจริญสมาธิก็เหมือนกัน ในเบื้องต้นนั้นหมายถึงเป็นการเจริญสมาธิที่กำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตใจอยู่เป็นปกติ ให้สูญไป ให้หายไป นี้เรียกว่าเป็นการเจริญสมาธิที่จะเป็นการขูดเกลา แต่ถ้าเจริญสมาธิเพื่อให้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ก็ดี การเจริญสมาธิเพื่อจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามแบบของคนมีสมาธิ เช่น เป็นพรหมพวกนั้นพวกนี้ก็ดี อย่างนี้ก็ยังไม่เป็นการขูดเกลา เราจะต้องเจริญสมาธิเพื่อกำจัดโทษที่ครอบงำย่ำยีจิตใจอยู่ หรือว่ามีฝังแน่นอยู่ในจิตใจนั้นให้จางออกไป จางออกไป การเจริญสมาธินั้นจึงจะเป็นการขูดเกลา การที่คนไปเจริญสมาธิภาวนาทำวิปัสสนาเพื่อจะให้ได้ชื่อเสียง เพื่อจะให้เป็นเครื่องเชิดชูหน้าตา หรือเป็นเครื่องตื่นเห่อตามๆ เขา เหล่านี้ยังไม่เป็นการขูดเกลาเลย เราจะต้องทำให้ปรากฏชัดแก่ใจว่าเมื่อเป็นสมาธิแล้วมันขูดเกลานิวรณ์จริงๆ มันถึงจะเป็นสมาธิชนิดที่เป็นความขูดเกลาหรือเป็นสัลเลขธรรม
ถ้าพิจารณาต่อไปถึงเรื่องทางปัญญา เป็นความรู้ นั่นก็ยังมีส่วนที่จะเป็นการขูดเกลาอยู่มากเหมือนกัน ถ้ายังเป็นปัญญาอย่างต้นๆ ต่ำๆ หรือเป็นโลกิยปัญญา ก็เป็นไปเพื่อการขูดเกลาสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกของปัญญาไปตามลำดับ ข้อนี้ก็หมายถึงการกระทำชนิดที่เป็นการขูดเกลาไปเรื่อยๆ ไปพลางก่อนโดยตรงเท่านั้น และเรียกว่าเป็นการขูดเกลากิเลสโดยอาศัยสัลเลขธรรมคือธรรมะประเภทที่เป็นการขูดเกลา ได้แก่การประพฤติปฎิบัติชนิดที่เป็นการขูดเกลาเรื่อย ไม่เป็นการพอกพูนเลย เมื่อการขูดเกลาทำนองนี้เป็นไปตามลำดับเรื่อยไปๆ ถึงขณะที่บางถึงที่สุดแล้ว มันก็จะมีการหลุดออก นำออกไปจากวัฏสงสารได้ ธรรมะที่สูงถึงขั้นนี้ เราเรียกว่านิยยานิกธรรม แปลว่าธรรมะที่นำสัตว์ออกไปจากภพ หรือออกไปจากสงสาร สังสารวัฏ หมายความว่าเมื่อเราเป็นอยู่ด้วยการขูดเกลาไปเรื่อยๆ เป็นอยู่ด้วยการขูดเกลากิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ สักโอกาสหนึ่งมันก็จะหลุดออกไปได้ ทั้งนี้เพราะว่าการขูดเกลานั่นแหละทำให้ไฝฝ้าที่ปิดบังจิตใจนั้น บางออกๆ ไม่ปิดบังแน่นหนาเหมือนแต่กาลก่อน ทำให้เกิดปัญญา เกิดญาณ เกิดแสงสว่างขึ้นในตอนปลาย และเป็นไปถึงที่สุด มันจึงสามารถทำลายกิเลสตัณหานั้นสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือ จิตจึงปลอดจากกิเลสโดยประการทั้งปวง จิตเป็นอิสระเด็ดขาดจากกิเลสทั้งปวง นี้เรียกว่าจิตออกไปได้จากการผูกพันของกิเลส การออกไปได้อย่างนี้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเป็นที่สุดของพุทธบริษัท
ธรรมะที่แสดงถึงความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาอย่างยิ่ง และมีการประพฤติปฏิบัติชนิดที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นโดยตรง นี้เรียกว่านิยยานิกธรรม ได้แก่การพิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่น่าเอาไม่น่าเป็นโดยประการทั้งปวง มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นว่าเป็นเพียงสิ่งที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ไม่อยากจะไปเกี่ยวข้องด้วย แม้แต่สิ่งที่เรียกกันว่าความดี หรือบุญ หรือกุศล เหล่านี้ มันล้วนแต่เป็นการปรุงแต่งให้เกิดความคิดใหม่ ความเกิดใหม่ เรียกว่าปรุงแต่งให้เกิดภพ เกิดชาติอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เราอยากจะหยุดภพหยุดชาติกันเสียที จึงต้องอาศัยธรรมะในชั้นสูงที่เรียกว่านิยยานิกธรรมนี้ออกไปเสียให้หมด คือออกไปเสียจากความดีความชั่ว ออกไปเสียจากกุศล อกุศล ออกไปเสียจากเครื่องปรุงแต่งทั้งสองฝ่ายนั่นเอง มันจึงจะเป็นนิยยานิกธรรม ที่นำสัตว์ให้ออกไปจากภพและจากสังสารวัฏได้ ไม่ใช่เพียงแต่นำไปให้พ้นจากนรกแล้วก็ไปติดอยู่ที่สวรรค์ ไม่เพียงแต่นำไปให้พ้นจากความชั่วแล้วไปติดอยู่ที่ความดีดังนี้ก็หาไม่
นิยยานิกธรรมจึงหมายถึงหลุดออกไปพ้นจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จากสิ่งซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง สิ่งซึ่งเป็นเครื่องผูกพันโดยประการทั้งปวง นับว่าเป็นธรรมะในขั้นสูงของการปฏิบัติ ธรรมะในขั้นต่ำของการปฏิบัติก็คือสัลเลขธรรมที่กล่าวแล้ว
ธรรมะในขั้นสูงของการปฏิบัติก็คือนิยยานิกธรรม นี่เอง พึงจำใจความของคำ ๒ คำนี้ไว้ให้แม่นยำว่า
สัลเลขะ แปลว่าขูดเกลา สัลเลขธรรมจึงแปลว่าธรรมะที่เป็นเครื่องขูดเกลา
นิยยานิกะ นั้นแปลว่าเป็นเครื่องนำออก นิยยานิกธรรม จึงแปลว่าเครื่องนำออกจากภพจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง หมายถึงธรรมะที่ทำให้เบื่อหน่ายต่อการเวียนว่ายในสังสารวัฏโดยตรง
เป็นอันว่าเราได้มาถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง คือได้ประสบความสุข เพราะว่าไม่มีกิเลสหรือความทุกข์เบียดเบียน ความเป็นอย่างนี้เราเรียกว่าพระนิพพาน หรือจะเรียกเป็นชื่อหนึ่งว่าสันติธรรม ธรรม คือความสงบรำงับอย่างยิ่ง แปลว่าเราพ้นทุกข์ ประสบสุข อยู่ได้ด้วยสันติธรรม
เมื่อได้รู้ถึงสันติธรรมคือความสงบแล้ว มันจึงจะมีอาการชนิดที่เราเรียกกันว่าความสุข ขึ้นชื่อว่าความสุขแล้ว จะอื่นนอกไปจากความสงบนั้นเป็นไม่มี ขึ้นชื่อว่าความสุขแล้วต้องเล็งถึงความสงบทั้งนั้น นอกไปจากความสงบแล้ว ไม่เป็นทางให้เกิดอาการที่เรียกว่าความสุขได้ เป็นว่าเราประสบความสุขได้ด้วยอำนาจของสันติธรรม คือธรรมะที่ทำความสงบ ที่เป็นความสงบอยู่ในตัวมันเอง
เราได้รู้จักธรรมะต่างๆ กัน ในลักษณะหน้าที่ต่างๆ กัน ว่าสัจธรรม ว่าสัลเลขธรรม ว่านิยยานิกธรรม และว่าสันติธรรม อันเป็นข้อสุดท้าย เรามาต่อเนื่องกันทั้ง ๔ ธรรมะนี้แล้ว เราก็จะได้เป็นเรื่องเป็นราวทีเดียวว่าเราอาศัยสัจธรรม เป็นเหตุให้เรารู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอย่างไร เราจึงสามารถประพฤติปฏิบัติในขั้นแรกด้วยสัลเลขธรรม คือขูดเกลาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติก็จะเป็นนิยยานิกธรรม ออกไปจากภพจากชาติได้ แล้วก็ประสบสันติธรรมคือความสงบถึงที่สุดที่เป็นพระนิพพาน
สรุปความสั้นๆ ว่า เรารู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงด้วยสัจธรรม เราขูดเกลากิเลสด้วยสัลเลขธรรม และเราหลุดพ้นจากภพจากชาติได้ด้วยอำนาจของนิยยานิกธรรม และในที่สุดเราก็ได้เสวยสุขที่สมมติเรียกกันว่าบรมสุข คือพระนิพพานนั้น ด้วยอำนาจของสันติธรรมนั้น เราควรจะจดจำคำ ๔ คำนี้ไว้ในฐานะเป็นหลัก ในฐานะที่เป็นขั้นหรือเป็นลำดับ สำหรับการศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติเป็นลำดับไป
นี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะๆ นั้น เป็นเครื่องมือสำหรับขจัดความทุกข์ได้อย่างไร เป็นเครื่องช่วยให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างมีชัยชนะ ไม่พ่ายแพ้ต่อความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างไร และโดยวิธีใด เราไม่ต้องวิ่งหนีโลกนี้ไปที่ไหน เราอยู่ในโลกนี้ แล้วเราก็ดูโลกนี้ ศึกษาโลกนี้ว่ามันมีความจริงอย่างไร เราก็ประสบสัจธรรม ครั้นรู้จักสัจธรรมนั้นแล้ว เราก็รู้ความที่เราติดแน่นอยู่ในโลก เราก็ขูดเกลาความติดแน่นนั้นด้วยอำนาจของสัลเลขธรรม คือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นการขูดเกลาเรื่อยๆ ไป ในที่สุดเราก็จะมีจิตใจไม่เกาะเกี่ยวกับโลกนั้นอีกต่อไป
แม้ว่าเราอยู่ในโลก ก็เท่ากับเราอยู่เหนือโลกหรือนอกโลก อย่างนี้เรียกว่าเป็นนิยยานิกธรรม ในที่สุดก็มีแต่ความสงบสุขซึ่งเป็นสันติธรรม
ถ้าเราฉลาด เราก็สามารถหาพบสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งสิ้น หาพบธรรมะเหล่านี้ทั้งหมดทั้งสิ้นได้จากโลกนั่นเอง สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งสัญญาและใจ
ข้อนี้อธิบายว่าในตัวเรา ในคนเรา ในร่างกายของเรา มีอะไรให้เราค้นคว้าศึกษาหมดครบถ้วน คือหมดทั้งเรื่องทุกข์และเรื่องดับทุกข์ เราจึงไม่ต้องวิ่งหนีไปที่ไหน กระเสือกกระสนวุ่นวายไปหาอะไรที่ไหน มีหน้าที่แต่จะตั้งหน้าตั้งตาศึกษาทุกสิ่งจากร่างกายของเราที่ยังเป็นๆ อยู่ คือยังมีสัญญาและใจอยู่ ยังคิดนึกรู้สึกอะไรได้อยู่ จากที่นั่นแหละมันจะพบหมดทุกอย่าง ที่เป็นทั้งสัจธรรม และสัลเลขธรรม และนิยยานิกธรรม และสันติธรรม แล้วแต่ว่าเราจะฉลาดมองหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าเราอบรมศึกษาอยู่จนสามารถฉลาดมอง ฉลาดที่จะดูมัน ที่จะพิจารณามันแล้ว เราก็จะพบได้จริงๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหมดนี้มันมีอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้จริงๆ ไม่มากไปกว่านี้เลย
เพราะเหตุเช่นนี้แหละ คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า จึงได้สรุปรวมแนะนำให้เพ่งดูที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยที่แท้ก็คือดูที่กายที่ใจ ที่ประกอบกันเข้าเป็นคน คนหนึ่งๆ นั่นเอง ให้รู้ความจริงทั้งหมดที่เกี่ยวกับกายและใจ เกี่ยวกับตัวกายและใจที่เป็นทุกข์ เกี่ยวกับใจบางส่วนที่เป็นความรู้สึก ที่เป็นกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และเกี่ยวกับความที่ไม่มีกิเลสที่จะปรากฏแก่ใจนั้นว่าเป็นความไม่ทุกข์ แล้วก็รู้จักการที่เราจะใช้กายและใจของเรานี้ให้ประพฤติปฏิบัติดำเนินไปอย่างไร จึงจะได้ความไม่มีทุกข์นั้นมา
เป็นอันว่าอะไรๆ มีให้ครบหมดแล้ว และอยู่ในวงแคบจำกัดนิดเดียว ความโง่ ความไม่รู้ ความหลง ของเราต่างหากที่ทำให้มองดูไปข้างนอกจนไม่พบอะไรเลย มีแต่เที่ยวคว้าเหลวอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นผู้คว้าในวงจำกัด ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เสร็จแล้วว่าในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังกันในเรื่องนี้ให้ดี คือพิจารณาดูให้ดีว่าในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้มันมีอะไรบ้าง ในที่สุดเราจะพบว่ามันมีสิ่งที่วิเศษสุดคือความดับทุกข์อยู่ในนั้นแล้ว เราจงคว้าความดับทุกข์ ค้นหา ศึกษาให้พบความดับทุกข์ที่จะหาพบได้จากร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ให้ได้ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้จริงๆ อย่าได้เที่ยวเสียเวลาให้มากมายไปกว่านั้นเลย อย่าได้ทำผิดจนถึงกับว่าต้องการจะดับความทุกข์ มันกลายเป็นสร้างความทุกข์ หรือว่าต้องการจะขูดเกลาความทุกข์ให้น้อยลง มันกลายเป็นเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้นดังนี้อีกต่อไปเลย
วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยไม่เป็นทุกข์ หรือกล่าวได้ว่าธรรมะนั้นได้ช่วยเราในข้อที่ว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยชนะความทุกข์อยู่ตลอดเวลา สมกับที่เราเสียสละและอุตส่าห์มาหาธรรมะ มาสู่พระศาสนานี้ หรือมาสู่วัดซึ่งเป็นเหมือนกับสำนักงานของการศึกษาและการปฏิบัติธรรมะ เราอย่ามาทนลำบากอยู่เปล่าๆ แต่ว่าเราจะพยายามให้เกิดความก้าวหน้าในการที่จะเข้าใกล้ธรรมะ เข้าถึงธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ คือทั้งสัจธรรม ทั้งสัลเลขธรรม ทั้งนิยยานิกธรรม และทั้งสันติธรรม จงทุกๆ คนเถิด ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย
ในการเข้าพรรษาของเรานี้ ก็เป็นโอกาสดีเป็นอย่างยิ่งแล้ว ที่เราจะได้มีเวลามาก และมีความสนใจมากเป็นพิเศษ ประพฤติกระทำในสิ่งที่ควรทำเหล่านี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป จนกระทั่งพระธรรมที่เป็นความจริงอย่างยิ่งนั้น สามารถที่จะคุ้มครองไม่ให้เกิดความทุกข์ได้จริง อันเป็นจุดที่เราประสงค์ของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ดี ของการที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระธรรมหรือพระศาสนาก็ดี เป็นอันว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้วจริงๆ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา - เทศน์ในพรรษา ปี 2503 กัณฑ์ที่ 4 เรื่อง ธรรมะช่วยให้อยู่ในโลกโดยชัยชนะ