แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาในพรรษา เป็นบุพพาปรลำดับสืบต่อธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนามาแล้วในวันก่อนๆ
วันนี้เป็นวันที่สมมุติกัน เป็นวันพระ เป็นวันอุโบสถ เป็นวันธรรมสวนะ แล้วยังตรงกับวันทำบุญ ตา ยายกันอีกด้วย วันนี้เรียกว่าวันธรรมสวนะ เพราะว่าเป็นวันสำหรับฟังซึ่งธรรม เรียกว่าเป็นวันอุโบสถ เพราะว่าเป็นที่เข้าอยู่อุโบสถ เข้าถืออุโบสถของบุคคลผู้ถืออุโบสถ ก็ชื่อว่าเป็นวันพระคือเป็นวันสำหรับทำความดี คนที่ทำปาณาติบาตก็ยังจะหยุดทำปาณาติบาตเลี้ยงชีพในวันนี้ คนทำไร่ทำนา ก็ยังจะหยุดการทำไร่ไถนา ในวันเช่นวันนี้ ล้วนแต่ว่ามีอะไรๆที่จะต้องรักษาไว้ให้เป็นพิเศษ จึงได้เรียกว่า วันพระ เราจะต้องมีวันพระมีวันธรรมสวนะและมีวันอุโบสถกันอย่างนี้เรื่อยๆไป ด้วยความมุ่งหมายว่า วันเช่นวันนี้จะเป็นวันที่ทำให้ เกิดความเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจ ตามทำนองคลองธรรมของพระศาสนา ถ้าจะถือว่าเป็นวันพักผ่อนก็ยังได้ คนเราถ้าจิตใจไม่รู้จักพักผ่อนเสียเลย ก็จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจ วิปริต ผิดปกติเป็นแน่นอน เมื่อจิตใจวิปริต ผิดปกติแล้ว มันก็ต้องมีปัญหา คือความยุ่งยากลำบากจนกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาดังนี้ นี้เรียกว่าเพียงแต่ไม่มีการพักผ่อนเท่านั้น ก็ยังมีโทษถึงอย่างนี้แล้ว
ทีนี้วันเช่นวันนี้ ยังเป็นวันสำหรับจะสร้างความเจริญในทางจิตใจ ถ้าสมาทานอุโบสถศีลก็เพิ่มคุณสมบัติในทางกาย ทางวาจา โดยตรง เพิ่มคุณสมบัติในทางจิตใจ มีความเข้มแข็งตั้งมั่นแห่งจิตใจเป็นต้น มันก็เป็นการได้อะไรที่มากขึ้นไปกว่าเดิม ถ้าเป็นวันธรรมสวนะก็คงจะมีอะไรฉลาดขึ้นบ้างเกี่ยวกับการฟังธรรมในครั้งหนึ่งๆ ดังนั้น วันพระนี้จึงเป็นวันที่ จำเป็นสำหรับมนุษย์เราจะต้องมี ใครไม่มีวันพระคนนั้นจะหมดความเป็นมนุษย์ลงไปทุกที จนกระทั่งไม่เป็นมนุษย์ก็ได้ ขอให้ระวังให้ดี จะได้มีวันพระอยู่เป็นประจำ เพราะว่าวันพระนี้เราตั้งใจทำอะไรให้ดี รักษาศีลเป็นพิเศษ ฟังธรรมเป็นพิเศษ พักผ่อนทางจิตใจเป็นพิเศษ ทำให้มีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ขอให้รู้จักใช้วันพระให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้ด้วยกันจงทุกคนเถิด
บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาในฐานะที่เป็นวันธรรมสวนะ โดยหัวข้อว่า อิธ ภิกฺขเว อริยสาวโก เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ในศาสนานี้เป็นผู้ได้สดับแล้ว เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า เป็นผู้ที่เขาแนะนำดีแล้ว ในธรรมของพระอริยเจ้า เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ เป็นผู้อันเขาแนะนำไปดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษดังนี้ ข้อความนี้ทั้งหมดเป็นการแสดงถึงลักษณะของมนุษย์ชนิดที่เรียกว่า อริยสาวก ซึ่งเราทุกคนควรจะมีความเข้าใจกันให้เพียงพอสำหรับคำๆนี้ มันเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า ปุถุชน คำคู่นี้มีอยู่ ๒ คำ คือคำว่า พระอริยเจ้า กับคำว่า ปุถุชน
พระอริยเจ้าแตกต่างกับปุถุชนอย่างตรงกันข้ามอย่างไร ก็ควรจะเป็นที่เข้าใจกันไว้บ้าง จึงได้นำมาวิสัชนา โดยหัวข้อพระบาลีที่กล่าวแล้ว ว่าลักษณะของพระอริยสาวกนั้น เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาแล้วในธรรมของพระอริยเจ้า ได้เห็นพระอริยเจ้า ได้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ถูกเขาแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยเจ้า ดังนี้เป็นต้น ส่วนปุถุชนนั้น ตรงกันข้ามจึงสมกับความหมายของคำ ๒ คำนี้ ที่ต่างกันอยู่ อริย แปลว่า ประเสริฐ หรือจะแปลโดยแยกศัพท์ให้ละเอียดออกไปว่า เป็นผู้ไกลแล้วจากข้าศึก เป็นผู้ไม่มีข้าศึก กล่าวคือ กิเลส นั่นเอง กิเลสคือความเศร้าหมอง กิเลสคือต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่เศร้าหมองและไม่เกิดความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า อริยบุคคล
ส่วนปุถุชนนั้นไม่มีความเป็นอย่างนี้ คือไม่ได้ยินได้ฟัง ถึงแม้ได้ยินได้ฟังก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่เอาใจใส่ที่จะยินจะฟัง ไม่เคยเห็นพระอริยเจ้า ไม่เคยฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ถูกแนะนำดีในธรรมของพระอริยเจ้า มันจึงตรงกันข้ามคือหนาไปด้วยกิเลส เรียกว่าเป็นคนที่มีธุลีในดวงตาที่มาก ที่หนา จนตามองไม่เห็นอะไร นี้เรียกว่า ปุถุชน ส่วน พระอริยเจ้า หรือพระอริยสาวกก็ตาม ไม่เป็นอย่างนั้น เป็นของตรงกันข้ามอย่างนี้ ทุกคนก็เคยได้ยินได้ฟังคำว่า พระอริยเจ้า ถึงแม้ปากจะไม่พูดในใจก็ยังคิดว่า การเป็นพระอริยเจ้านี้คงจะเป็นการได้ที่ดี จึงพยายามที่จะทำตามเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า อยู่ด้วยกันในใจเป็นความมุ่งหมาย แต่ว่าอาจจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในข้อนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงเอามาวิสัชนา ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์เถิด
ในพระบาลีนี้มีอยู่ชัดแล้วว่า ผู้ที่เป็นอริยสาวกนั้น ต้องเป็นผู้ได้รับการ มีการสดับตรับฟัง นี้หมายความว่า ฟังด้วยดี ไม่ใช่สักแต่ว่า ฟัง ฟัง เหมือนที่เป็นกันโดยมาก มีบาลีกล่าวไว้ชัดเจนว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ คือฟังด้วยดีจึงจะได้ปัญญา ถ้าฟังไม่ดีฟังเท่าไหร่มันก็ไม่ได้ มันได้ยินอย่างที่เรียกว่า เหมือนเข้าข้างหูหนึ่ง แล้วก็ไปออกทางหูหนึ่ง นี้เป็นคำด่าอยู่ในตัว ไม่ได้ยินก็หมายความว่าไม่เข้าใจ ธรรมดาคน ถ้ายังมีหูก็ต้องได้ยินเสียง แต่ได้ยินแล้ว มันยังมีปัญหาอยู่ว่า เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ คนบางคน นั่งฟังอยู่ข้างธรรมาสน์ ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ชรา หัวหงอก ตาย เน่าเข้าโลงไป แต่ก็ไม่รู้อะไร เสียเลย อย่างนี้ก็มีอยู่ ไม่ใช่เป็นเรื่องแกล้งพูด ไม่ใช่เป็นเรื่องคาดคะเน เคยเห็นมาแล้ว คือเป็นผู้จัดการอะไรต่างๆ ข้างธรรมาสน์ตามหน้าที่ ที่เขาจ้างไว้ให้ทำอย่างนั้น และยังเป็นคนปากจัดเสียด้วย กล่าวถ้อยคำ ค่อนแคะ ภิกษุที่ไปเทศน์บนธรรมาสน์นั้นอยู่บ่อยๆ นี้เป็นตัวอย่างว่า ฟังไม่ได้ยิน เขาก็ฟังทุกที ที่มันจำเป็นจะต้องฟัง หรือต้องได้ยิน แต่แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เรียกว่าคนที่ไม่ได้ยินได้ฟัง
ฟังแล้วต้องเข้าใจว่ามันว่าอะไร โดยเฉพาะในความหมายที่เกี่ยวกับ ความทุกข์ และความดับทุกข์ ถ้ามีความเข้าใจในส่วนนี้ก็เรียกว่าได้ยิน ได้ฟัง คือ สุตวา เป็นผู้ได้สดับแล้ว บทที่ว่า ทสฺสาวี แปลว่าเป็นผู้ได้เห็นๆ พระอริยเจ้า หรือเห็นสัตบุรุษ นี้ก็เหมือนกันอีก ใครๆก็มีตา ตามันก็มองเห็นว่านั่นเป็นอย่างไร รูปอะไร สีอะไรไป ผู้หญิง ผู้ชาย อันนี้ตามันก็มองเห็น แต่ก็หารู้ไม่ว่า คนนั้นเป็นอย่างไร โดยจิตใจ โดยแท้จริง เมื่อไม่เข้าใจบุคคลนั้นแล้ว ก็เรียกว่าไม่เห็นบุคคลนั้น เช่นเดียวกับคนเป็นอันมาก ในครั้งพุทธกาล เขาก็เห็นพระพุทธเจ้าเดินมา แต่ก็ไม่รู้จัก แล้วก็ไม่สนใจ บางคนรับจ้างด่าพระพุทธเจ้าก็ยังมี ข้อความเหล่านี้ไปหาอ่านดูได้จากพระบาลีนั้นๆที่เป็นการอิจฉาริษยาของลัทธิศาสนาอื่น
โดยทั่วไปคนเป็นอันมากก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าทั้งที่เดินสวนทางกันอยู่นั้น จึงไม่รับนับถือพระพุทธศาสนา ทีนี้แม้แต่คนที่นับถือพุทธศาสนาแล้วก็ยังไม่เห็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม สาวกของพระพุทธเจ้าบางคนที่ยังไม่เห็นธรรม เพียงแต่ว่าสมัครเป็นสาวกตามๆ เขามาเท่านั้นเอง อย่างนี้ก็เรียกว่ายังไม่เห็นพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อได้เห็นธรรมคือเข้าใจในเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์แล้ว ตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้อย่างไร นี่แหละคือผู้ที่เห็นพระพุทธเจ้า คำที่ว่าเห็นพระอริยสาวกหรือเห็นสัตบุรุษนี้ก็เหมือนกัน
เห็นพระอริยเจ้าหมายความว่า เห็นพระอริยเจ้าทั่วๆ ไป รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วยก็ได้ เห็นสัปบุรุษทั้งหลายก็คือเห็นบุคคลผู้มีความสงบระงับ เดี๋ยวนี้คำว่าสัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ หมายถึงบุคคลผู้มีคุณธรรมเป็นเครื่องสงบระงับ ตามธรรมดาสามัญเท่านั้น จนกระทั่งว่าใครเข้าวัดบ้างแล้วก็เรียกว่า สัปบุรุษ แต่คำว่า สัปบุรุษนี้ เคยมี ความหมายสูงกว่านี้ คือหมายถึงการเป็นพระอรหันต์ เมื่อเขาขุดค้นพระสถูปสาญจี ที่ประเทศอินเดีย พบผอบหินเป็นอันมาก มีฝาผอบจารึกชื่อ พระอรหันต์นั้นๆและก็ใช้คำว่า สปฺปุริสธ คือเรียกพระอรหันต์นั้นว่า สัปบุรุษ เท่านั้นเอง ไม่มีคำว่าพระอรหันต์ใช้เลย เพราะคำว่า สัปบุรุษ ในกรณีอย่างนั้นหมายถึงพระอรหันต์
นี่แหละขอให้เข้าใจเถอะว่า คำว่าพระอริยเจ้าก็ดี คำว่า สัปบุรุษ ก็ดี ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายไปยัง พระอรหันต์ หรือผู้ที่กำลังจะเป็นพระอรหันต์ ด้วยการปฏิบัติพยายามอยู่ทุกวิถีทางเพื่อความเป็นพระอรหันต์ เรียกว่าพระอริยเจ้าก็ได้ เรียกว่า สัปบุรุษ ก็ได้ แต่ว่าเป็นชั้นที่รองๆลงมา จนกระทั่งว่าเป็นกัลยาณปุถุชน ก็ได้ เรียกว่า สัตบุรุษด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อมีคำกล่าวรวมๆอย่างนี้ เช่นคำว่า อริยานํ ทสฺสาวี หรือ สปฺปุริสานํ ทสฺสาวี เป็นผู้มีปกติเห็นอริยเจ้าหรือเห็นสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว ขอให้เข้าใจว่า หมายถึง เห็นธรรมที่ทำบุคคลนั้นๆให้เป็นพระอริยเจ้า หรือเป็นสัตบุรุษนั่นเอง หาได้เล็งถึงตัวบุคคลแต่อย่างเดียวไม่ เพราะว่าไม่อาจจะเข้าใจได้ในเมื่อเห็นแต่ตัวบุคคล แต่ว่ามันก็เนื่องมาจากการเห็นบุคคลนั้นก่อนจึงค่อยเห็นธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจของบุคคลนั้น แล้วเข้าใจบุคคลนั้นๆได้ ทั้งทางโดยร่างกายและทางจิตใจ จึงเรียกว่าเป็นผู้เห็นบุคคลนั้นๆครบทั้งภายนอกและภายใน และลึกซึ้งถึงกับว่ามีคุณธรรมอย่างไร นี้จึงจะเรียกว่า เห็นพระอริยเจ้า หรือเห็นสัตบุรุษ
ส่วนที่ว่า อริยธมฺมสฺส โกวิโท , สปฺปุริสธมฺมสฺส โกวิโท นี้ก็หมายถึงความเป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า หรือเป็นผู้ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ คำนี้ระบุไว้ชัดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือระบุไว้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้ามีธรรมอย่างไร คนนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งทั่วถึง สัตบุรุษ หรือ สัปบุรุษ มีความเป็นอยู่อย่างไร มีจิตใจอย่างไร คนนั้นก็มีความเข้าใจทั่วถึง ธรรมของพระอริยเจ้าก็คือ ธรรมที่ทำความเป็นพระอริยเจ้านั่นเอง จะเล็งถึงปรากฏการณ์ภายนอกคือธรรมชาติ ของความเป็นพระอริยเจ้า ที่แสดงออกมาทางภายนอกก็ได้เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นผลของการที่เป็นพระอริยเจ้าอยู่ข้างใน แล้วมันแสดงออกมาข้างนอก คนฉลาดแล้วก็จะรู้จักอย่างครบถ้วนทีเดียวว่า พระอริยเจ้ามีธรรมะข้างในอย่างไร และมีธรรมะแสดงออกมาที่เนื้อที่ตัวให้คนอื่นเห็นนั้นอย่างไร ใจความสำคัญรวมอยู่ที่ว่าเป็นผู้บรรเทากิเลสเป็นผู้บรรเทาความทุกข์ เป็นผู้ไม่มีกิเลส เป็นผู้ไม่มีความทุกข์ในที่สุด มีความเข้าใจแจ่มแจ้งทั่วถึงในคุณธรรมเหล่านี้ ของพระอริยเจ้าก็ดี ของสัปบุรุษก็ดี เรียกว่าเขาเป็น อริยธมฺมสฺส โกวิโท หรือเป็น สปฺปุริสธมฺมสฺส โกวิโท ดังนี้
ส่วนข้อที่ว่า อริยธมฺเม สุวินีโต นี้แปลว่าเป็นผู้อันบุคคลนำไปดีแล้วในธรรมของพระอริยเจ้า สปฺปุริสธมฺเม สุวินีโต เป็นผู้อันบุคคลนำไปดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ สุวินีโต แปลว่าถูกเขานำไปดีแล้ว ตามตัวหนังสือ แต่โดยความหมายก็คือ เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนแนะนำอย่างดี อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว ในธรรมของพระอริยเจ้า หรือในธรรมของสัปบุรุษ นี้มันก็แสดงว่าเขาเป็นพระอริยเจ้าในระดับใดระดับหนึ่ง เป็นสัปบุรุษในระดับใดระดับหนึ่งนั่นเอง ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของพระอริยเจ้า หรือแม้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระอริยสาวก เป็นสาวกของพระอริยเจ้า ก็มีลักษณะอย่างนี้ เป็นพระอริยเจ้าเสียเอง มันก็มีลักษณะอย่างนี้ อย่างน้อยที่สุดก็หมายความว่า กำลังทำให้เหมือนกันอยู่ ทำได้ถึงที่สุดก็เป็นพระอริยเจ้าในชั้นสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ ที่รองลงมาก็มีพระอนาคามี พระสกิทาคามีและพระโสดาบัน
แม้ที่สุดแต่กัลยาณปุถุชน ผู้ตั้งตนไว้ดี พยายามที่จะก้าวหน้าไปในทางของพระอริยเจ้าแล้ว ก็เรียกว่า อริยสาวกได้ด้วยเหมือนกัน ขอให้ท่านทั้งหลาย มีความเข้าใจไว้อย่างนี้ ว่านี้คือ อริยสาวก ที่มีความตรงกันข้ามกับปุถุชน ปุถุชนเป็นคนหนาไปด้วยกิเลส จึงมีแต่สิ่งที่เรียกว่า กิเลสและผลของกิเลส คือความมืดมัว ความเร่าร้อน ความสกปรก ที่เรียกว่า เป็นลักษณะของกิเลส ในภายในก็มีกิเลส ในภายนอกก็มีกริยาอาการที่กิเลสแสดงออกมานี้เรียกว่าปุถุชน คนหนาไปด้วยกิเลส เราจะรู้จัก พระอริยเจ้าได้ดี ก็ต่อเมื่อรู้จักปุถุชนดี ถ้าเราจะรู้จักปุถุชนได้ดี ก็ต่อเมื่อรู้จักพระอริยเจ้าได้ดี เพราะว่าเป็นคู่ตรงกันข้ามแก่กันและกัน ดังนั้นจึงควรจะฟังเรื่องนี้พร้อมๆกันไป ว่าพระอริยเจ้าเป็นอย่างไร และปุถุชนนั้นเป็นอย่างไร ดังจะได้กล่าวต่อไปพอเป็นตัวอย่าง เท่าที่เวลาจะมี
ในพระพุทธภาษิต สูตรหนึ่งได้กล่าวไว้ถึงลักษณะที่จะเป็นเครื่องสังเกตความแตกต่างระหว่างปุถุชน กับพระอริยเจ้า โดยการยกเอาสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ขึ้นมาเป็นตัวเรื่องสำหรับพินิจพิจารณาหาความแตกต่างนั้น สิ่งที่เรียกว่า เวทนาก็คือสิ่งที่เกิดอยู่แก่มนุษย์ทุกคนและทุกวัน ไม่มีใครที่จะหลีกพ้นไปได้จากเวทนา เดี๋ยวเวทนาก็เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือว่าทางใจเองอยู่เป็นประจำในทุกวัน เมื่อเวทนาเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็กล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้เสวยเวทนานั้น เมื่อมีการเสวยเวทนานั้นแล้ว มันต่างกันอย่างไร ในระหว่างปุถุชน กับ อริยบุคคล?
พระบาลีมีกล่าวไว้ชัดว่า ปุถุชนเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมมีความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ เหมือนกับว่าถูกยิงโดยลูกศรดอกหนึ่งแล้ว ก็ยังถูกยิงซ้ำด้วยลูกศรอีกดอกหนึ่ง มันก็มีความเจ็บปวดมาก ส่วนพระอริยบุคคลนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็มีแต่ความทุกข์ในทางกายอย่างเดียว เหมือนกับถูกยิงด้วยลูกศรเพียงดอกเดียวเฉียดๆ ไปอีกดอกหนึ่งนั้นยิงผิด จงเปรียบเทียบดูเถิดว่า คน คนหนึ่ง ถูกยิงด้วยลูกศรดอกหนึ่งแล้ว ยังถูกยิงซ้ำอีกดอกหนึ่งด้วย จะเจ็บปวดเท่าไร คนหนึ่งถูกยิงดอกหนึ่งแล้ว ดอกที่สองนั้นยิงผิดไป มันก็ต้องเจ็บปวดน้อยกว่ากันเป็นธรรมดา อย่างน้อยก็เท่าตัว
นี้หมายความว่าปุถุชนนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็มีความทุกข์มาก ทั้งทางกายและทางใจ ทางกายมันก็เจ็บปวดไปตามภาษาของทุกขเวทนา แต่ทางใจนั้นมันมีความยึดมั่นถือมั่น ในทุกขเวทนานั้น มันก็เลยเจ็บที่ใจเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่เพียงแต่เจ็บที่กายอย่างเดียว นี้จึงเปรียบว่าเหมือนกับถูกยิงด้วยลูกศรซ้ำกันถึงสองดอก ส่วนพระอริยเจ้านั้น เสวยทุกขเวทนาเป็นไปแต่ทางกายอย่างเดียว ทางจิตใจไม่มี เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเวทนานั้นว่าเป็นของเราดังนี้ มันจึงมีแต่ทุกขเวทนาทางกาย ไม่มีทุกขเวทนาทางจิตหรือทางใจ หรือที่จะเรียกว่าทางวิญญาณก็ตามพูดให้ดีไปกว่านี้ ก็ต้องพูดว่า ลูกศรที่ยิงมานั้นถูกแต่ผิวนอกหรือถูกแต่เปลือกนอก ไม่ถูกหัวใจ ไม่ระคายผลเลย มันต่างกันกับปุถุชน ถูกยิงด้วยลูกศรนั้นมันถูกที่หัวใจด้วย มันถูกที่ร่างกายด้วย มันจึงมีความทุกข์ มีความเจ็บปวดจนตาย หรือเจียนตาย ส่วนพระอริยเจ้านั้นไม่ระคายผลเลย เพราะว่าลูกศรที่ยิงถูกหัวใจนั้นไม่มี มีแต่ระคายผิวหนัง ชั้นเปลือกนอกบ้างเท่านั้น
นี่แหละขอให้เข้าใจเรื่องนี้ แล้วเปรียบเทียบพิจารณาดูให้ดี ก็พอจะเข้าใจว่าความเป็นพระอริยเจ้ากับความเป็นปุถุชนนั้น มันต่างกันอย่างไร ตัวเองเป็นปุถุชนทั้งทีก็ควรจะมี ความเข้าใจในเรื่องความเป็นปุถุชนที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ พออะไรเจ็บปวดขึ้นมาที่ร่างกาย มันไม่หยุดอยู่แต่ที่ร่างกาย มันยึดมั่นถือมั่น ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน มันจึงเจ็บลึก ไปจนถึงส่วนลึกของจิตของวิญญาณ คือทั้งหมดทั้งสิ้น เรื่องนิดเดียวก็เอาไปยึดมั่นถือมั่นให้มันมาก มาก สำหรับจะได้กลัว มากสำหรับจะได้เจ็บมาก เป็นคนบ้าไปเลย นี่แหละ คือการที่ว่าทุกขเวทนา ของปุถุชน กับของพระอริยเจ้ามันต่างกันอย่างนี้ แล้วก็เป็นเรื่องที่เรา เกี่ยวข้องกันอยู่เป็นประจำทุกวัน เมื่อใดใครนั่งน้ำตาไหลอยู่แต่เหตุอะไรก็มองดูให้ดีๆที่ว่ามันร่ำรวยเกินไป ด้วยความเป็นปุถุชน เรื่องในลักษณะอย่างนั้น มันจะทำให้ พระอริยเจ้า หรือพระอริยสาวก น้ำตาไหลไม่ได้ อาจจะหัวเราะได้ด้วยซ้ำไป มันจึงต่างกันอย่างนี้ ไอ้ที่เรียกว่า คับอกคับใจนั่นแหละ มันเป็นเรื่องทางจิตใจ ที่ว่าคับเนื้อที่ คับร่างกายนี้มันเป็นเรื่องทางร่างกาย เราอย่ามีความคับในทางจิตใจ มีแต่ความคับในทางร่างกาย มันก็ยังไม่เท่าไหร่ เรื่องทางจิตใจ มันสำคัญกว่าอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็อย่าให้มันเสียดแทงจิตใจเลย เพราะมันเกิดขึ้นทางกาย เพราะว่ามันต้องผ่านร่างกาย หรือมันจะผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ให้มันอยู่ แต่ที่นั่น อย่าให้มันเข้าไปถึงจิตใจ นี่แหละคืออุปมาที่ว่า พระอริยเจ้านั้นถูกยิงโดยลูกศรได้เพียงเฉียดๆผิวหนัง แต่ทางกาย ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ส่วนปุถุชนนั้นร่างกายก็ถูก จิตใจก็ถูก เต็มที่ด้วยกันทั้งนั้น มันก็เลยมีความทุกข์มาก สมน้ำหน้าของการที่มันอยากเป็นปุถุชน ไม่รู้จักสิ้นจักสุด อยู่ดังนี้ นี้เป็นการเปรียบและยกเอาทุกขเวทนามา เป็นเครื่องเปรียบเทียบ
ทีนี้จะดูกันที่ตัวเรื่องนั้นจริงๆโดยไม่ต้องการเปรียบเทียบ ก็ยังมีคำตรัสไว้ว่า ปุถุชนเสวยเวทนาด้วยความโง่ พระอริยเจ้าหรือพระอริยสาวก เสวยเวทนา ด้วยความฉลาด มันต่างกันอย่างตรงกันข้ามอย่างนี้ ปุถุชนเสวยเวทนาด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสตัณหา ไม่ว่าเวทนาชนิดไหนจะเป็นสุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อทุกขมสุขเวทนาก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสัญชาติปุถุชนแล้ว มันก็เสวยเวทนานั้น ด้วยความโง่ คือด้วยอวิชชา หรือด้วยกิเลสตัณหา มันจึงดิ้นเร่าๆไป ไม่ว่าเวทนา ชนิดไหนจะเข้ามาจะเป็นสุขเวทนามันก็ดิ้นเร่าๆไป จะเป็นทุกขเวทนามันก็ยิ่งดิ้นเหมือนกับคนบ้า แม้จะเป็นอทุกขมสุขเวทนา มันก็ยังดิ้นไปอีกแบบหนึ่ง เพราะว่ามันเสวย เวทนานั้นๆ ด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส ตัณหา ส่วนพระอริยเจ้านั้น เสวยเวทนาด้วยวิชชา ด้วยโพธิ ด้วยปัญญา ไม่ว่าจะเสวยเวทนาชนิดไหน จะเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา พระอริยเจ้าหรือพระอริยสาวกก็ตาม เกี่ยวข้องกับเวทนานั้นด้วยสติปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยวิชชารู้ว่ามันคืออะไร มันจะต้องทำอย่างไร แล้วก็ทำไป ตามที่มันควรจะทำ ไม่มีการดิ้นเร่าๆ ด้วยความยินดี หรือด้วยความยินร้าย หรือด้วยความพะวงสงสัย เหมือนสัญชาติปุถุชน
นี้คือการต่างกันระหว่างปุถุชนกับอริยบุคคล ในการเสวยเวทนา ฉะนั้นผลมันจึงต่างกันว่า วันหนึ่ง คืนหนึ่งตลอดเวลานั้น ปุถุชนเต็มอยู่ด้วยความยินดียินร้าย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหวาดระแวง ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ความสงสัย ความหวาดหวั่น อย่างนี้ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น ส่วนพระอริยสาวกนั้นมีความปกติ ในทางกาย ทางใจ สนุกสนาน เพราะการได้ทำงานถึงเวลานอนก็นอนหลับสนิท ถึงเวลาตื่นก็ชื่นบาน เป็นผู้มีชีวิตตลอดกาล ไม่มีความตายเข้ามาสลับ ส่วนปุถุชนนั้นมันคล้ายกับตายอยู่เรื่อย มันชีวิตนิดๆ หน่อยๆ แล้วมันก็ตายอยู่เรื่อย เดี๋ยวยินดี เดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวกลัว เดี๋ยวระแวง เดี๋ยวสงสัย เดี๋ยวหวาดเสียวอยู่อย่างนี้ แม้แต่นอนหลับแล้ว มันก็ยังสะดุ้ง นี้คือความต่างกันในส่วนที่เป็นผล ของความเป็นปุถุชน หรือความเป็นพระอริยเจ้า
เมื่อปุถุชนถูกรบกวนอยู่ด้วย ความรู้สึกที่เป็นความทนทรมานอย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นกลับเป็นปกติ ใช้คำว่าปกติคำเดียวก็พอ เกิดทุกขเวทนา ใจคอก็ยังปกติ เกิดสุขเวทนาใจคอก็ยังปกติ เกิดอทุกขมสุขเวทนา ใจคอก็ยังปกติ เพราะเป็นผู้รู้เท่าทันซึ่งเวทนานั้นในฐานะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่โดยแท้จริง มันจึงปกติได้ หัวเราะเยาะได้ ได้มาก็หัวเราะ เสียไปก็หัวเราะ ไม่ได้ไม่เสียก็หัวเราะ เห็นว่าเป็นของที่เป็น สักว่า เป็น มายา เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดา ของสังขารในโลกนี้ จะต้องไปยินดี ยินร้ายกับมันทำไม ทีนี้ เมื่อถึงคราวที่ทำการทำงาน กลับจะมีความสนุกสนาน เพราะว่าได้เคลื่อนไหว ในทางกาย ทางใจ ได้ออกกำลัง จึงสนุกในการทำงานนั้นๆ ไม่ใช่ว่าจะทำงานเอาร่ำ เอารวย ด้วยความยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าทำในฐานะที่ว่า สิ่งที่มีชีวิตนั้น มันต้องเคลื่อนไหว มันต้องทำการงาน มันต้องทำการหมุนเวียน คือว่าหาอาหาร กินอาหาร แล้วก็ถ่ายออกมา แล้วก็หาอาหาร แล้วก็กินอาหาร แล้วก็ถ่ายออกมา เพื่อชีวิตนี้มันมีอยู่ได้ กลายเป็นของเล็กๆน้อยๆ น่าหัวเราะ หรือน่าสนุก ไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไร โดยความเป็นตัวกู หรือเป็นของกู ดังนั้นมันจึงนอนหลับสนิท ไม่ต้องเป็นโรคเส้นประสาท ไม่ต้องเป็นโรคจิต วิปริต เหมือนที่เขาเป็นกันมากขึ้นทุกที
ในโลกทุกวันนี้ เพราะว่ามันนอนไม่หลับสนิท เมื่อนอนก็สะดุ้ง หวาดเสียว เมื่อตื่นขึ้นมันก็หาความเบิกบานไม่ได้ เหมือนที่กล่าวไว้ว่า กลางคืนอัดควันกลางวันเป็นไฟ กลางคืนมันนอนอัดควัน ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความทะเยอ ทะยานอยาก พอสว่างตื่นขึ้นมาก็วิ่งไปหาเหยื่อ หาสิ่งที่ตัวต้องการเรียกว่า ขนาดที่ว่าเป็นฟืน เป็นไฟนี่ ในบาลีก็มีอุปมาอันนี้ กล่าวไว้ว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ ได้แก่สัญชาติปุถุชนนั้นเอง จงรู้จักปุถุชน ในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็รู้จักพระอริยเจ้าในลักษณะที่มันตรงกันข้าม ไม่มีกลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ แต่ปกติ ทั้งกลางคืน ทั้งกลางวัน ถ้าต้องทำการงานก็สนุกสนาน ถ้าต้องพักผ่อนก็หลับสนิท ตื่นอยู่ก็ชื่นบาน สดชื่นเหมือนมีชีวิตครบร้อยเปอร์เซ็นต์ และตลอดเวลา นี้เรียกว่า เป็นความที่ไม่รู้จักตาย อยู่ในตัวมันเองแล้ว ส่วนปุถุชนนั้นไม่เป็นอย่างนี้ คือเป็นอย่างตรงกันข้าม จงพิจารณาดู ให้เห็นความแตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามในข้อนี้เถิด
โดยสรุปว่า ปุถุชนเสวยเวทนาด้วยความโง่ อริยสาวกเสวยเวทนาด้วยความฉลาด ปุถุชนจะเป็นอยู่ด้วยความขึ้นๆลงๆ ไปตามอำนาจความผลักไส ของกิเลส ตัณหา ส่วนอริยสาวกนั้นอยู่ด้วยความเป็นปกติ
ทีนี้ยังมีข้อความที่กล่าวไว้ ให้เปรียบเทียบอีกชั้นหนึ่ง คือว่านอกจากจะมีกิเลสและไม่มีกิเลส อย่างนี้แล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า มีอนุสัย หรือไม่มีอนุสัยอีกต่อหนึ่ง กิเลสนั้นหมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นๆ ส่วนอนุสัยหรือสังโยชน์นั้น หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นเป็นความเคยชิน คือ ความเคยชินของกิเลสนั่นเอง เรียกว่าอนุสัย เช่นว่า ความโกรธเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่ากิเลส กิเลสที่เป็นความโกรธเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว มันก็สร้างอนุสัย หรือนิสัยของ ความเป็นคนขี้โกรธเพิ่มขึ้นครั้งหนึ่ง เกิดความโกรธ ๑๐ ครั้งมันก็เพิ่มความเคยชินที่จะเป็นนักโกรธนี้ ๑๐ เท่า ถ้ามันโกรธถึง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง มันก็สร้างความเคยชินที่จะเป็นนักโกรธ หรือนักขี้โกรธนี้ ๑,๐๐๐ เท่า ๑๐,๐๐๐ เท่า ๑๐๐,๐๐๐ เท่า อย่างนี้เขาเรียกว่า อนุสัย คือเพิ่มความเคยชินสำหรับที่จะเป็นคนมีกิเลสอย่างนั้นๆ เป็นความโลภก็ได้ เป็นความโกรธก็ได้ เป็นความหลงก็ได้ มันเพิ่มอย่างนี้เสมอไป
ปุถุชนมันจึงพอกพูนจิตใจ ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงจนท่วมหัวท่วมหู ส่วนพระอริยสาวกนั้น หาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะว่าไม่รู้จักโกรธ ไม่รู้จักเกลียด ไม่รู้จักโลภ ไม่รู้จักหลง กิเลสมันไม่เกิดแล้ว อนุสัยมันก็จะเกิดได้อย่างไร เพราะเมื่อไม่โกรธแล้ว ความเคยชินในการโกรธ มันก็มีไม่ได้ เมื่อไม่โลภแล้ว ความเคยชินในความโลภ มันก็มีไม่ได้ เมื่อไม่โง่แล้ว ความเคยชินในความโง่ ในการโง่ มันก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอนุสัย ไม่มีสังโยชน์ ส่วนปุถุชนนั้นไม่เป็นอย่างนั้น
ขอให้ฟังดูให้ดีๆ ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ปุถุชนเมื่อเสวยทุกขเวทนา เสร็จแล้วมันก็เกิด ปฏิฆานุสัย คือ อนุสัยสำหรับจะมีความกระทบกระทั่งแห่งจิตใจ มีความไม่พอใจ คือความโกรธนั่นเอง เรียกว่า ปฏิฆะ อนุสัย ปฏิฆะคือความหงุดหงิด อนุสัยคือความเคยชิน มันเสวยทุกขเวทนาแล้ว มันก็สร้างความเคยชิน สำหรับจะหงุดหงิด ขึ้นมาครั้งหนึ่งเป็น ปฏิฆานุสัย
ทีนี้เมื่อปุถุชนนั้นเสวยสุขเวทนา มันก็สร้างความเคยชินที่จะเกิด ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ ราคะแปลว่าความกำหนัดรัก เมื่อมันเสวยสุขเวทนาครั้งหนึ่ง มันก็เพิ่มความเคยชินสำหรับที่จะมีความกำหนัดรัก ในสิ่งที่เป็นที่พอใจ นี้เรียกว่ามันก็สร้างราคานุสัย
พอปุถุชนนั้นได้เสวย อทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ จะว่าสุขก็ไม่ใช่จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่เป็นเวทนาอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว มันก็สร้าง อวิชชานุสัย คือความโง่ เพิ่มความโง่ให้มากขึ้นทุกที เทียบดูกันอย่างนี้ ว่าเมื่อเกิดทุกขเวทนา ปุถุชนเสวยทุกขเวทนาแล้วเกิด
ปฏิฆานุสัยส่วนพระอริยสาวกนั้นไม่เกิด คือเฉยๆ แม้จะเจ็บปวดก็เจ็บเฉยๆ ไม่เกิดกิเลส และไม่เกิด ปฏิฆานุสัย เมื่อเกิดสุขเวทนาขึ้นมา ปุถุชนก็เสวยด้วยความโง่และก็ยินดี และก็เกิดราคานุสัย เพิ่มราคานุสัย ส่วนพระอริยสาวกนั้นเฉยๆไม่เกิดราคานุสัย แม้จะสะดวกสบาย ก็สะดวกสบายเฉยๆ ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่ให้ความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ที่เรียกว่าความสนุกสนาน ก็ยังเฉยๆ อยู่ได้ เมื่อเกิดอทุกขมสุขเวทนา ปุถุชนก็เกิดอวิชชานุสัย คือความโง่ ความพะวง ความสงสัย ความทึ่ง ความสนใจ ชนิดที่ยังดับลงไปไม่ได้ เพราะมันยังสงสัยอยู่ว่ามันจะมีอะไร ที่มีค่าหรือดีอยู่ในนั้น ปุถุชนจึงเพิ่มอวิชชานุสัย ส่วนพระอริยสาวกนั้นไม่เกิด อวิชชาและไม่เกิด อวิชชานุสัยแต่ว่ากลับฉลาดยิ่งไปกว่าเดิม เมื่อปุถุชนเกิดความโง่ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระอริยสาวกกลับฉลาดขึ้นไปกว่าเดิม คือรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนานั้นในลักษณะที่เป็นเวทนาอย่างไร เป็นเพียงมายาของสังขารอย่างไรเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร พระอริยสาวกนั้นก็กลับฉลาดขึ้นไปกว่าเดิม ในเมื่อปุถุชนมันกลับโง่ลงไปกว่าเดิม
นี่ขอให้เทียบกันดูอย่างนี้ ให้เข้าใจอย่างนี้ โดยสรุปว่า เมื่อได้รับความทุกข์ ปุถุชนก็เกิดความคับแค้นใจ แล้วก็เพิ่ม ปฏิฆานุสัย ส่วนพระอริยสาวกนั้นเฉยๆแม้จะเจ็บปวดก็เจ็บปวดเฉยๆ เมื่อได้เสวยสุขเวทนาเป็นที่พอใจ ปุถุชนนั้นมันก็เกิดความยินดีความกำหนัดรัก เพิ่มราคานุสัย แต่พระอริยสาวกนั้นไม่เกิดอะไร แม้จะสะดวกสบายก็สะดวกสบายเฉยๆ เมื่อเกิดสิ่งที่ยังคลุมเครือ ไม่สุข ไม่ทุกข์แน่ แต่เป็นที่ตั้งแห่งความฉงนสงสัย ปุถุชนมันก็พะวงสงสัย แล้วมันก็โง่เพิ่มขึ้น ส่วนพระอริยสาวกนั้นกลับฉลาดขึ้นกว่าเดิม
ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ ก็จะรู้ว่าปุถุชนกับพระอริยสาวกนั้นจะเดินกันคนละทางเสมอ ไม่เดินทางเดียวกันได้ คนหนึ่งจะโง่ลง คนหนึ่งจะฉลาดขึ้น คนหนึ่งจะมีความเจ็บปวด คนหนึ่งจะเฉยๆ คนหนึ่งจะมีความยินดี แต่คนหนึ่งจะเฉยๆ ความเฉยๆ นั้นหมายถึงความรู้เท่าทัน ความรู้เท่าทันนั้นย่อมหมายถึงความฉลาดแล้วก็ฉลาดขึ้นไปกว่าเดิม
ดูให้ดีเถิด ปุถุชนนั้นอยู่ในลักษณะที่ว่า ที่น่าเวทนาสงสาร เป็นอย่างยิ่ง ส่วนอริยสาวกนั้นอยู่ในลักษณะที่น่าเคารพบูชา น่าจะเอาอย่าง น่าจะทำตาม เพื่อว่าจะได้เดินออกไปเสียจากกองทุกข์ ความเป็นปุถุชนกับความเป็นพระอริยสาวก มีความต่างกันอย่างนี้ ทีนี้ก็จะดูกันอีกนิดหนึ่งว่า พระอริยสาวกนั้น ท่านเป็นกันอย่างไร ข้อนี้เคยอธิบายมากมายมาแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า กิเลสหรืออนุสัยคือความเคยชิน ในสันดานนั้น เป็นสิ่งที่ต้องละออกไป ใครละได้ออกไปเท่าไหร่ก็มีความเป็นพระอริยเจ้ามากขึ้นเท่านั้น
อนุสัย ความเคยชินที่นอนอยู่ในสันดานนั้นมีอยู่ ๑๐ อย่างด้วยกัน
อย่างแรกที่จะต้องละก่อนนั้นคือความโง่ว่า ตัวกูว่าของกู ในขั้นที่โง่ที่สุด ที่หยาบที่สุด ที่ต่ำที่สุด กระทั่งเห็นว่าร่างกายนี้เป็นตัวกูนี้ เป็นความโง่ อันแรกที่ต้องละ
ถัดมาเป็นความโง่ คือ ความลังเล ความโง่ทำให้ลังเล หรือความลังเลทำให้โง่คือลังเลหรือโง่ ในข้อที่ว่า เกิดมาทำไมก็ไม่รู้จะไปทางไหนก็ไม่รู้เพราะฉะนั้นจึงลังเล ในการที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ลังเลในการที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อดับเสียซึ่งความทุกข์ เพราะมันไม่รู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร เพราะว่ามันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เมื่อเขามาสอนเรื่องความดับทุกข์มันก็ลังเล เพราะมันไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไร แม้แต่ความทุกข์ มันก็ไม่รู้จักเสียแล้ว มันจะไปรู้จักหรือเข้าใจ ความดับทุกข์ได้อย่างไร จึงเป็นคนลังเลอยู่เรื่อยไปว่าจะไปนิพพานดี หรือว่าอยู่ที่นี่ดี จะบวชดี หรือว่าจะสึกดี จะเป็นทาสเงินดี หรือว่าจะเป็นทาสของพระพุทธเจ้าดี มันก็ลังเลอยู่อย่างนี้ ไม่แน่นอน ปากมันว่านับถือพระพุทธเจ้า นับถือพระธรรม นับถือพระสงฆ์ แต่ความประพฤติ ปฏิบัติมันยังตรงกันข้ามอยู่เรื่อยไป เขาเอาเงินมาให้ ๒-๓ บาทจ้างให้ด่าพระพุทธเจ้าก็จะต้องเอา ก็ยังจะเอา ความลังเลมันมีมากถึงขนาดนี้ เรียกว่า วิจิกิจฉา เป็นความโง่ที่ ๒ ที่จะต้องละ
ทีนี้ ความโง่ที่ ๓ เรียกว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่าความโง่ชนิดนี้มันลูบคลำ ทำศีลวัตรให้สกปรก ศีลก็คือ ศีลอย่างที่ศึกษาปฏิบัติ สมาทานกันอยู่ เป็นประจำ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอะไรก็ได้ ส่วนวัตรนั้นคือการปฏิบัติธรรม ตามที่เรารู้และศึกษาปฏิบัติกันอยู่ แต่ที่มันมีความโง่เข้ามาลูบคลำ ทำให้ศีลวัตรนี้สกปรก เศร้าหมองไป มันไม่รู้ตามที่เป็นจริงในเรื่องของเหตุผล มันถือศีลวัตรนี้ในฐานะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของที่มีอะไรก็ไม่รู้ซึ่งเข้าใจไม่ได้ เป็นพระเจ้า เป็นผีสาง เป็นเทวดา เป็นอะไรมา มีอำนาจในการที่จะทำให้คนเรานี้ ดีขึ้นหรือเลวลง นี้เรียกว่าไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผล ความโง่ชนิดนี้เป็นความโง่ที่สาม ที่จะต้องละ ใครละความโง่ ๓ อย่างนี้ได้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน คือเป็นพระอริยเจ้าในอันดับแรก
ทีนี้ถ้าละความโง่ ๓ อย่างนี้ได้ด้วย แล้วยังมี โลภะ โทสะ โมหะ ในแง่อื่นเบาบางลงไปอีกบ้างด้วย ก็เรียกว่า เป็นพระอริยเจ้าในอันดับ ๒ คือเป็นพระสกิทาคามี พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ไม่สู้แตกต่างอะไรกันนัก มีความสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องละความโง่ ๓ อย่างแรกนั้นให้ได้เสียก่อน ทีนี้ต่อไปอีก เป็นพระอริยเจ้าขั้นที่ ๓ จึงจะละกามราคะ และปฏิฆะ กามราคะก็คือจิตที่ยินดีในสิ่งที่เป็นวิสัย เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี คือกามารมณ์หรือกามคุณ ความกำหนัดในกามารมณ์หรือกามคุณนั้น เรียกว่า กามราคะ นี้เป็นกิเลส ประเภทราคะ ที่จะต้องละ
กิเลสต่อไปก็คือ ปฏิฆะ นี้หมายความถึง ความที่รู้สึกที่ไม่ชอบ หงุดหงิด โกรธแค้น เรียกว่าปฏิฆะ เป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่งคือเป็นกิเลสประเภทโทสะ ถ้าละ ๒ อย่างนี้ได้ก็เป็นพระอนาคามี
ถึงตอนนี้อยากจะขอแนะให้สังเกตสักหน่อยหนึ่งว่า การที่เป็นพระอริยเจ้านั้นไม่ได้มีการละเรื่องกามราคะ หรือปฏิฆะ ได้โดยเด็ดขาดก่อน แต่จะต้องละความโง่กันก่อน ละความโง่ในขั้นต้นๆต่ำๆ กันเสียก่อน เรื่องกามราคะ เรื่องปฏิฆะนั้นยังยากเกินไป เอาไว้ทีหลัง ไปถึงระดับ ที่จะเป็นพระอนาคามี จึงจะไปละกิเลส ส่วนที่เป็นราคะและโทสะได้ ในส่วนที่จะเป็นพระโสดาบันนี้ จะต้องละความโง่ ความโง่ ความโง่ ๓ โง่ คือโง่ เรื่องว่ากายนี้เป็นตัวกู โง่จนลังเล ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม จะเอาอะไร จะไปที่ไหน แล้วโง่ไปทำของดีๆ มีเหตุผลให้กลายเป็นของไม่มีเหตุผลไป ละความโง่ก่อนจึงจะเป็นพระอริยเจ้า อย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่นเลย ความโง่เป็นสิ่งที่ต้องละก่อน แล้วจึงจะละราคะหรือโทสะ เมื่อละได้อย่างนี้เป็นพระอนาคามีแล้ว ก็เหลืออยู่แต่พระอรหันต์
พระอรหันต์ก็ละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ในขั้นสุดท้ายอีก ๕ อย่างแล้วก็หมดกิเลส หมดอนุสัยกัน
รูปราคะ นี้หมายความว่า มีความพอใจ ในความสุขที่เกิดมาจากสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกามคุณ ถ้ากามราคะหมายความว่ามีราคะในกาม ถ้ารูปราคะ หมายความว่ามีราคะในรูปธรรมอันบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแห่งความสุข อรูปราคะ ก็มีราคะในอรูปธรรมอันบริสุทธิ์เป็นที่ตั้งแห่งความสุข นี้มันสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป แต่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ความกำหนัดที่เลวที่สุดก็คือกำหนัดในกาม ความกำหนัดที่ดีขึ้นไป สูงขึ้นไปคือกำหนัดในรูปอันบริสุทธิ์
ความกำหนัดที่สูงขึ้นไปอีก คือความกำหนัดในอรูป คือสิ่งที่ไม่มีรูปและบริสุทธิ์ พระอนาคามีก็ยังละไม่ได้ เพราะพระอนาคามียังมีจิตใจ พอใจ กำหนัดในความสุข อันเกิดแต่ รูปฌาน และอรูปฌานเป็นต้น พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้ ที่ขึ้นชื่อว่าราคะแล้ว แม้อย่างไหนก็ไม่เอาทั้งหมด
ต่อไปนั้นก็ละ มานะ มีความสำคัญว่าอะไรเป็นอย่างไรในระดับไหน ว่ากูดีกว่า หรือกูเสมอกัน หรือกูเลวกว่า อย่างนี้เรียกว่ามานะ มีความสำคัญตัวว่ามีตัว ว่าเป็นตัว พอสำคัญว่าเป็นตัวขึ้นมาแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเปรียบเทียบกับตัวอื่น ว่ามันดีกว่า หรือมันเสมอกัน หรือว่ามันเลวกว่า ความรู้สึกอย่างนี้ เรียกว่ามานะ ต้องละออกไป
อนุสัยถัดไปเรียกว่าอุทธัจจะ คือความสะดุ้ง หรือความกระเพื่อม แห่งจิตใจ ที่มีได้ง่าย ตามธรรมดา เรามีจิตใจชนิดที่มีความสนใจ หรือมีความทึ่ง หรือมีความสงสัย หรือมีความกระเพื่อม แห่งจิตใจ ไม่ปกตินั้น จะต้องมีจิตใจที่ปกติ ที่คงที่ ที่กระเพื่อมไม่ได้ เพราะอำนาจความทึ่งหรือความสงสัย หรืออะไรก็ตาม อุทธัจจะนี้ ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านอย่างที่เป็นนิวรณ์ ตามธรรมดาสามัญ แต่อุทธัจจะนี้หมายถึงการที่จิตใจกระเพื่อม มีอะไรมาแตะต้อง กระตุ้น นิดเดียวก็หวั่นไหว ละอุทธัจจะนี้ได้แล้ว มันก็ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากอวิชชา
อันดับสุดท้าย คือ อวิชชาที่ไม่รู้จักความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ละอวิชชานี้ได้ก็เป็นอันว่าละอนุสัยได้ครบทั้ง ๑๐ อย่างจึงเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยเจ้าเป็นอย่างนี้ ส่วนความเป็นปุถุชน เป็นอย่างอื่น คือไม่ละอะไรเลย ไม่ละแม้แต่ ความโง่ ในอันดับแรกที่ ๑ ว่า กายนี้เป็นตัวกู มันยังมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่เรื่อยไป ไม่มีการละอะไร ส่วนพระอริยเจ้านั้นละตามลำดับ จนกระทั่งละได้หมด นี้คือความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับพระอริยเจ้า หรือพระอริยสาวก มีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ในวาระสุดท้ายนี้ จะพูดถึงองค์แห่งความเป็นพระอริยสาวกขั้นแรกที่สุด คือองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน คือ คุณธรรมที่จะทำความเป็นพระโสดาบัน ในขั้นเริ่มแรกมีอยู่ ๔ อย่าง คือ พุทธศรัทธา มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ธรรมศรัทธา มีศรัทธาในพระธรรมเจ้า สังฆศรัทธา มีศรัทธาในพระสงฆเจ้า อริยกันตศีล มีศีลเป็นที่พอใจ ของพระอริยเจ้า
ธรรมเทศนานี้สำหรับพุทธบริษัททั้งหลาย จะได้มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นพุทธบริษัทของตนให้ดียิ่งๆขึ้นไป จึงนำมาวิสัชนาในโอกาสแห่งการเข้าพรรษา เป็นบุพพาปรลำดับสืบต่อกันมา ดังนี้ ขอให้ทุกคนนำไปพินิจพิจารณาดูให้ดี เพื่อจะทำความก้าวหน้าของตนให้เจริญงอกงามในทางของพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมพระศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย สมตามความมุ่งหมายทุกประการเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่มา - พรรษากาลเทศนา กัณฑ์ ๘ ลักษณะของพระอริยบุคคล