แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มาฆบูชา ปี 2503 กัณฑ์ที่ 2 ……
นโม ตัสสะ ภควโต อารหโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นโม ตัสสะ ภควโต อารหโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นโม ตัสสะ ภควโต อารหโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
ตัสมา ติ หโว ธรรมทิณโน เอวัง สุขิตตทัง
เย เต สุตตันตา ตถาคต ภาสิตะ คัมภีรา คัมภีรัตถา โลกุตตรา สุญญตัปปฏิสังยุตตา
เต กาเล น กาลัง อุปปสัมปัชชวิ หริสามาติ
(นาทีที่ 0:56-1:04 เทปชำรุด)
สุญญโต โลกัง อเวกขสสุ โมฆะราชะ สทา สโต
อัตตานุ ทิฏฐิง อูหัจจะ เอวัง มัจจุตะโรสิยา
เอวัง โลกัง อเวกขันตัง มัจจุราชา นะปัสสติ
นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง ติ
ณ บัดนี้ จะได้วิสัจฉนาพระธรรมเทศนา เป็นปุพพาปรลำดับ ดำเนินความตาม พระพุทธภาษิต ที่ยกขึ้นไว้ข้างต้นนั้นซึ่งเป็นการแสดงใจความสำคัญของการทำความดับทุกข์เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เราทั้งหลายทำในใจถึง พระอรหันต์ บูชาคุณของท่าน และยังทำในใจในการที่จะทำใจของเราเอง ให้ว่างเว้นจากความทุกข์ พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง และโดยใจความสำคัญนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ โดยตรงแก่บุคคลผู้จะทำในใจถึงพระอรหันต์ในวันเช่นวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้เลือกเอา พระพุทธภาษิตที่กล่าวถึงสุญญตา คือ ความว่าง มาเป็นหัวข้อสำหรับแสดง หวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้ตั้งอกตั้งใจฟัง เพื่อจับใจความให้ได้ อย่างน้อยก็จะเข้าใจถึงเรื่องสุญญตา ซึ่งถือกันว่าเป็นเรื่อง ยากยิ่งในพระพุทธศาสนา หรือว่าจะเข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นเรื่องสูงสุดใน พระพุทธศาสนาดุจจะกัน ข้อนี้ย่อมอยู่ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง และการแสดงซึ่งเป็นการแสดง ตรงไปตรงมา โดยเรื่องของคนเราตามธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีการกล่าวถึงเรื่องธรรมดา ก็อย่าได้ดูหมิ่นว่าไม่เกี่ยวอะไรกันกับเรื่องของพระอรหันต์
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนเช้านี้ว่า เรื่องของพระอรหันต์จำเป็นสำหรับปุถุชน เช่นเดียวกับ เรื่องน้ำ จำเป็นสำหรับเรื่องไฟ เพราะว่าน้ำอาจจะดับไฟได้ ถ้าคนที่ไม่มีไฟไหม้ ก็ไม่ต้องการน้ำ เพราะไม่ต้องการจะเอาไปทำอะไร แต่ถ้าเกิดไฟไหม้ก็ย่อมต้องการน้ำอย่างยิ่ง คนเรานี้ก็เหมือนกัน ยิ่งเป็นปุถุชนเท่าไร ก็ยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นปุถุชนนั่นแหละ ยิ่งต้องการ ธรรมะที่เป็นเครื่องดับทุกข์ของพระอรหันต์มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ทำตนเป็นคนที่กำลัง มีทุกข์ ให้ถูกให้ตรงตามความเป็นจริง แล้วแสวงหาสิ่งซึ่งอาจจะดับทุกข์ได้ ให้มาก ให้สุดความ สามารถของตน และให้คู่ควรกัน
ในวันนี้ ที่จะแสดงถึงเรื่องของสุญญตา คือ ความว่าง นั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ท่าน ทั้งหลาย อาจจะเข้าใจได้โดยง่าย สิ่งที่เรียกว่าความว่างนั้น ไม่ยากไม่เย็นอะไรในการที่จะเข้าใจ ขอให้ลองพิจารณาดูทีเถิดว่า ความว่างนี้มันสำคัญอย่างไร? และใครๆ ก็ชอบอย่างไร? ขอให้ลองนึกดูว่าใครๆ ก็ชอบเวลาว่าง เวลาที่ทำงานยุ่งไม่มีใครชอบ เวลาว่างงานทุกคนก็ชอบ หรือกล่าวสั้นๆ ว่า เวลาที่ว่างไม่มีอะไรกวน ไม่มีอะไรวุ่นวายระส่ำระสายนั้น ทุกคนย่อมจะชอบ ซึ่งกล่าวได้ว่าทุกคนย่อมชอบความว่าง แต่ไม่ชอบความวุ่น ทุกคนชอบความว่างอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อมีใครมาชวนไปวัด ไปฟังเทศน์ ไปศึกษาธรรมะ ก็ตอบว่าไม่ว่าง…ไม่ว่างที่จะไปฟังเทศน์ ไม่ว่างที่จะไปวัดหรือไปฟังธรรมะ กลายเป็นคนหลอกตัวเอง ทำหน้าไหว้หลังหลอกกับตัวเอง ที่ว่าชอบความว่าง แต่แล้วก็ไม่มีความว่าง แม้แต่ที่จะไปวัดฟังเทศน์ แต่ถ้าชวนเข้าป่าหาฟืน หาผัก หาหญ้า กระทั่งหาปู หาปลา ก็ล้วนแต่มีเวลาว่างด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าชวนมาวัด เพื่อจะศึกษาเรื่อง ความว่าง กล่าวคือ พระนิพพานแล้ว… ไม่มีว่างเลย ล้วนแต่ปฎิเสธว่าไม่มีเวลาว่าง เพราะเป็นคน หลอกตัวเองอย่างนี้ จึงได้จมอยู่ในความโง่ ความหลง ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลาสร่าง
ขอให้คิดดูเถิดว่า เรื่องของความว่างนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่เราควรจะศึกษา หรือกล่าว อีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่า เรื่องของความว่าง ก็คือเรื่องของ พระนิพพาน ดังที่มีพระพุทธภาษิตว่า ..ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ซึ่งแปลว่านิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่ง ซึ่งได้ใจความสั้นๆว่า ถ้าเราว่างถึงที่สุด นั่นแหละคือนิพพาน ถ้าเราไม่ว่างเสียเลยนั่นแหละคือ วัฏฏสงสาร หรือคือนรก ถ้าเราว่างบ้างไม่ว่างบ้าง ก็ค่อยยังชั่วสักหน่อย อยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ที่พอ จะดีได้ เพราะฉะนั้นควรจะสนใจในเรื่องความว่างเรื่อยๆ ไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงความว่างที่สุด ความว่างอย่างยิ่ง กล่าวคือพระนิพพานดังกล่าวแล้ว และอีกประการหนึ่งพึงทราบว่าเรื่องของ ความว่างนี้ เป็นเรื่องตัวแท้ตัวจริงของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ ธัมมทินอุบาสก ถึงเรื่องนี้ โดยมีหัวข้อเป็นใจความสำคัญๆ ว่า
เย เต สุตตันตา - สูตรอันแสดงเนื้อความจำกัดเหล่าใด…
ตถา คตะ ภาสิตา - อันเป็นคำที่ตถาคตกล่าวแล้ว…
คัมภีรา - ลึกซึ้ง….
คัมภีรัตถา - มีเนื้อความอันลึกซึ้ง…
โลกุตตรา - อยู่เหนือโลก …
สุญญตัปปฏิสังยุตตา - ประกอบเฉพาะแล้วด้วยสุญญตาคือความว่าง
เต กาเล น กาลัง อุปปสัมปัชชวิ หริสามะ - เราจะเข้าถึงธรรมนั้นตลอดกาล โดยกาล แล้วเป็นอยู่…
นี้หมายความว่า ธรรมที่แท้จริงซึ่งกล่าวถึงความว่างนี่แหละ ทุกคนจะต้องเข้าถึงให้ได้ ตลอดกาล โดยกาล ที่ว่า “โดยกาล” ก็คือ ตามสมควรแก่เวลา …“ตลอดกาล” ก็คือ กาลเวลา ที่เราจะสามารถอยู่ในความว่างได้มากเท่าไร แต่ข้อสำคัญที่สำคัญที่สุดนั้น คือคำว่า ตถา คต ภาสิตา ซึ่งแปลว่า เป็นคำที่ตถาคตกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่พระสาวกชั้นหลังกล่าว
ข้อนี้พึงทราบว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทหนึ่งเป็น พระพุทธภาษิตแท้ คือพระพุทธองค์ได้ตรัสโดยพระองค์เอง เป็นของจริง ส่วนอีกพวกหนึ่งนั้นเป็น คำที่พระสาวกในชั้นหลังกล่าว ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันตรงที่ว่า ชั้นที่พระองค์ตรัสเองนั้นเนื่องเฉพาะ ด้วย สุญญตา คือว่า ทรงแสดงถึงเรื่องความว่างโดยตรงเท่านั้นเอง จึงได้มีความลึกซึ้ง มีอรรถอัน ลึกซึ้งและอยู่เหนือโลก ส่วนคนในชั้นหลังนั้นไม่กล่าวเรื่องนี้ ไปกล่าวที่ประดิดประดอยให้เป็น ความไพเราะถูกใจผู้ฟัง ประจบผู้ฟัง ชักชวนให้ทำอย่างนั้น ชักชวนให้ทำอย่างนี้ แสดงว่าเป็นความ สวยสดงดงามให้วุ่นวายไปหมด ไม่ชักชวนในเรื่องของสุญญตา คือความว่างเลย
จงคิดดูเถิดว่ามันจะต่างกันอย่างไร? พระพุทธเจ้าท่านชวนไปในเรื่องความว่าง แต่สาวก ชั้นหลังชวนไปในเรื่องความวุ่น วุ่นจนตาย วุ่นจนเข้าโลง ก็ไม่รู้จักจะหมดสิ้นความวุ่นสักที แต่ธรรม ของพระตถาคตนั้น สุญญตับปฏิสังยุตตา ประกอบพร้อมเฉพาะแล้ว ด้วยความว่าง ท่านลองคิดดู ให้ดีๆว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้นเราควรจะสนใจในเรื่องที่เป็นตัวแท้ ของคำของ พระพุทธองค์ซึ่งกล่าวถึงแต่เรื่องความว่างอย่างเดียว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็มีอยู่ชัดๆ แล้วว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง -ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือพระนิพพาน พระองค์ทรงสั่งสอนเรื่องนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงทรงสั่งสอนเรื่องความว่าง ไม่สั่งสอนเรื่องความวุ่น ไม่สั่งสอนชักจูงให้ไปที่นั่น มาที่นี่ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ได้รับผลอย่างนั้น ได้รับผลอย่างนี้ วุ่นวายไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเป็น เรื่องของความว่างแล้ว มันหยุด มันนิ่ง มันสงบ คือมันว่างนั่นเอง เพราะฉะนั้นควรจะมีความแน่ใจ ในข้อที่ว่าเราจะเลือกเอาเรื่องความว่าง หรือว่าจะเลือกเอาเรื่องความวุ่น?
ลองพิจารณาดูด้วยตนเองเถิด คนเราถ้าวุ่น วุ่นมากเข้า มันจะเป็นอย่างไร? อย่างน้อยที่สุดมัน ก็จะต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ถ้ามากไปกว่านั้นมันก็เป็นโรคเส้นประสาท ถ้าวุ่นไปกว่านั้นอีก ก็ต้องไป โรงพยาบาลบ้า ซึ่งใครๆ ก็เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไปว่า ก็ถ้ามันวุ่นในใจไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว เป็นไม่แคล้ว โรงพยาบาลบ้า…นี่มันต่างกันระหว่างความว่าง กับ ความวุ่น อย่างนี้ เราควรจะเลือกเอาเรื่อง ความว่าง หรือ ความวุ่น ดี? ขอให้เปรียบเทียบกันดู
พระพุทธภาษิตก็มีอยู่เป็นคู่ว่า สังขารา ปรมา ทุกขา…นิพพานัง ปรมัง สุขัง ที่ว่า สังขารา ปรมา ทุกขา…สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งนั้น อธิบายว่ามันวุ่นนั่นเอง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? คนที่มีความรู้ในทางภาษาบาลีด้วยตนเอง ย่อมเข้าใจได้ทันที คำว่า “สังขารา” นั้นแปลว่าปรุง…
สัง แปลว่าพร้อม ขา-ระ แปลว่า ทำ …สัง-ขา-ระ แปลว่าทำพร้อม คือทำไม่หยุด ทำทุกอย่าง ซึ่งเรา เรียกง่ายๆ ว่า “ปรุง” …สังขาร แปลว่า ของปรุง หรือของที่ถูกปรุง แล้วปรุงสิ่งอื่นต่อไป แล้วมัน จะว่างได้อย่างไร? มันก็ต้องมีแต่วุ่น เพราะฉะนั้นคำว่า “สังขาร” ซึ่งแปลว่าของปรุง หรือของถูกปรุง มันก็หมายถึงของวุ่น เห็นแต่ง่ายๆ ว่า ถ้าใครทำอะไรอย่าหยุด คือมีการปรุงเรื่อยไม่มีหยุด มันก็เป็น ความวุ่น และไม่ว่าง…
สังขารา ปรมา ทุกขา -สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ก็หมายความว่า ความวุ่นไม่หยุด คือปรุงเรื่อยนั่น เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ส่วนข้อที่ตรงกันข้ามนั้น เรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง - นิพพานคือความดับสนิท หรือความดับเย็นสนิท หรือความว่างอย่างยิ่ง ดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เป็นความสุขอย่างยิ่ง อันโน้นเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง แต่อันนี้เป็นความสุขอย่างยิ่ง อันที่เป็นความ สุขอย่างยิ่งนี้ มีชื่อว่า “นิพพาน” สิ่งที่มีชื่อว่านิพพานนี้ คือสิ่งที่ว่างอย่างยิ่ง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง - ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน
จึงพูดได้ง่ายๆว่า วุ่น..เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ว่าง..ก็เป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดๆอยู่ทีเดียว และเราก็เห็นได้โดยประจักษ์ชัด จากการเป็นอยู่ของเราเองว่า เวลาไหนมันวุ่น เวลานั้นมันก็จะ กลุ้มใจตายอยู่แล้ว…ถ้าเวลาไหนมันว่าง เวลานั้นมันก็จะสงบเย็น แม้แต่เพียงสักนาทีเดียว….
(นาทีที่ 15:59-16:17 เสียงสวดมนต์แทรกเข้ามา)
…ถ้ามันวุ่นไม่ว่างแล้ว มันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้ามันว่างแล้วมันก็ไม่มีทุกข์เลย ทำไมเราจึงไม่ชอบใจ ในความว่างกันเล่า?...เมื่อเขาชวนมาวัด ก็คือมาศึกษาเรื่องความว่าง เพื่อทำความว่าง คือเรื่อง นิพพานนั่นเอง ทำไมจึงตอบว่าไม่ว่างเสียเล่า? แต่ถ้าชวนไปขุดหอยขุดปู ทำไมจึงมีเวลาว่างมากเล่า? ...ก็แปลว่า เมื่อชวนไปวุ่น ก็กลับมีเวลาให้ไป แต่ถ้าชวนมาว่างแท้ๆ เป็นของประเสริฐแท้ๆ กลับไม่มี เวลามา มีหลายคนคิดว่า เรื่องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ ไม่จำเป็นเท่าเรื่องหาปลา หาปู…ไม่จำเป็นเท่าเรื่องทำงานที่บ้าน เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธที่จะมาฟัง ที่จะมารับคำอบรมสั่งสอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องความว่างนี้
ขอให้พิจารณาดูให้ดีเถิดว่า อันไหนจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อกันอย่างไร ในระหว่าง ความว่าง กับ ความวุ่น แต่ถ้าถือเอาตามพระพุทธภาษิตเป็นหลักแล้ว ย่อมเห็นได้ทีเดียวว่า ความว่าง นั่นแหละ เป็นหัวใจแท้ของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องสูงสุดของพระพุทธศาสนา และเป็นเรื่องสุงสุดของ ความสุขซึ่งเรียกว่านิพพาน จึงเป็นการสมควรแล้วที่เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของพระพุทธองค์ และเป็น เรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสโดยตรง เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงชักชวนโดยตรง ผิดกับเรื่องวุ่นๆ ยุ่งๆ ซึ่งคนนั้นคนนี้ ผู้นั้นผู้นี้ ชักชวนกันในชั้นหลัง สอนกันในชั้นหลัง เป็นอันว่าเราจะได้กล่าวถึงเรื่อง ของความว่างกันเท่าที่ควร
ข้อแรกที่สุดนั้น จะต้องระลึกนึกถึงว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงความว่างนี่ แสดงแก่ใคร? แสดงแก่พวกพระที่อยู่ป่าอย่างนั้นหรือ? ข้อนี้หาเป็นดังนั้นไม่…ในพระบาลีนั่นเอง ในพระไตรปิฎก นั่นเอง มีกล่าวถึงฆราวาส อย่างพวกท่านทั้งหลายนี่แหละ ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ไปขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข เกื้อกูลสิ้นกาลนาน เขาไปกราบทูล ชัดๆว่า พวกข้าพระองค์เป็นฆราวาส นอนแออัดอยู่ด้วยบุตรภรรยา ลูบไล้ของหอมกระแจะจันทร์ อันมาแต่เมืองกาสี ดังนี้เป็นต้น ขอให้ทรงแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน … ทั้งที่ฆราวาสไปขออย่างนี้ พระพุทธองค์ก็ยังตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ..เรื่องสุญญตา ซึ่งพระองค์ถือว่า เป็นคำตรัสของพระองค์ เป็นของลึกซึ้ง เป็นของเป็นไปเหนือโลก…นี้เป็นเครื่องแสดงให้ชัดแล้ว ว่า เรื่องสุญญตา คือเรื่องความว่างหรือเรื่องนิพพานนั้น เป็นเรื่องสำหรับฆราวาสด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นแต่เรื่องของพวกพระที่มาอยู่ป่าอยู่ดง อยู่ถ้ำ อยู่เขา แม้ฆราวาสที่อยู่บ้านเรือน แออัดอยู่ด้วย บุตรภรรยาสามี ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องสุญญตา พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ ถ้าท่านทั้งหลาย ไม่เข้าใจ ก็จงคิดดูใหม่ด้วยคำเปรียบที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง ว่าคนที่ต้องการของเย็นมากที่สุด ก็คือคนร้อนที่สุด แล้วใครเล่าเป็นคนร้อนที่สุด? ไม่ใช่พวกชาวบ้านนี้ดอกหรือ? พวกพระที่อยู่ตาม ป่าตามเขา มีความร้อนน้อยกว่าเป็นไหนๆ พวกที่อยู่ที่บ้านนั่นแหละร้อนที่สุด เพราะฉะนั้นพวก ที่อยู่ที่บ้านนั่นแหละควรจะต้องการของเย็นที่สุด มันจึงจะถูก มันจึงจะตรงกับเรื่องกับราว จึงหวังว่า จะได้ไปคิดพิจารณากันเสียใหม่ ในการที่จะตั้งอกตั้งใจ ค้นหาให้พบตัวจริงของธรรมะ หรือของพระ ศาสนา ซึ่งเป็นของจริง ของถูก ของตรง ของสมเด็จพระบรมศาสดา กล่าวคือเรื่องว่าง อย่าได้ไปหลง ในเรื่องวุ่น ที่คนฉลาดในการตบตาคนอื่น คิดขึ้นสอน เขียนขึ้นสอน ชักชวนคนอื่นให้วุ่นไปตามตน เพื่อประโยชน์แก่ตนอีกต่อไปเลย
เรื่องของความว่าง เป็นเรื่องสำหรับท่านทั้งหลายที่วุ่น ถึงกับขนาดที่ว่าจะต้องเป็นโรค เส้นประสาท หรือจะต้องไปสู่โรงพยาบาลสำหรับกักขังคนวิกลจริต เพราะฉะนั้นจงอาศัยเครื่องราง อันศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ สุญญตา นี้เป็นเครื่องป้องกัน ก็แม้เราจะอยู่ที่บ้านที่เรือน ก็อย่าให้มีความร้อน หรือความวุ่น ถึงขนาดที่จะต้องเป็นโรคเส้นประสาท หรือไปอยู่โรงพยาบาล จงรู้จักทำจิตใจให้ว่าง แล้วก็จะมีความสะอาด สว่าง สงบเย็น เป็นธรรมดา โดยไม่ต้องสงสัยเลย มีแต่ความดี ความงาม ความเจริญ หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นบุญ ก็ขอให้เป็นบุญกันตรงนี้ อย่าให้เป็นเรื่องเกิดสวย เกิดรวย เกิดดี ทำนองนั้น เป็นต้นเลย อย่างนั้นแหละมันจะวุ่นมากขึ้น จนต้องไปอยู่โรงพยาบาลบ้า เรื่องดี เรื่องสวย เรื่องรวย นั่นแหละพาคนเข้าโรงพยาบาลบ้า และพาคนเป็นโรคเส้นประสาท ต้องกินยา ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ส่วนเรื่องความว่าง ความสะอาด ความสว่าง และความสงบนั้น ไม่ทำใคร ให้เป็นอย่างนั้นเลย มีแต่ให้ความสงบเย็นไม่ต้องไปโรงพยาบาลชนิดนั้น และไม่ต้องกินยาอะไร อีกด้วย เพราะว่าได้กินยาสูงสุด เป็นโลกุตตร กล่าวคือพระธรรมนี้เอง นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกลัว เป็นสิ่งที่ควรกล้านำมาใส่ตน อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องว่างๆ เปล่าๆ แล้ว มันไม่มีอะไร มันไม่ใช่ว่างเปล่า อย่างไม่มีอะไร มันว่างเปล่าชนิดที่ให้สิ่งทั้งหลายทั้งหมด ส่วนเรื่องวุ่นๆ นั้นมันทำลายสิ่งทั้งหลาย ให้สูญเสียไปหมด ส่วนเรื่องว่างของพระพุทธเจ้านี้ นำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มาให้ทั้งหมด ทั้งสิ้นทีเดียว นี่แหละเป็นสิ่งที่ควรสนใจ เป็นแง่ที่ควรจะสนใจ ควรจะคิดนึกพิจารณาดูให้ดี เราโง่ถึงขนาดว่าแสวงหาความสุข แต่ไปชอบความวุ่น เกลียดความทุกข์ แต่แล้วก็กลับเกลียด ความว่าง นี่มันเป็นเรื่องเล่นตลก เป็นเรื่องหลอกตัวเองชัดๆ แล้วมันจะพบความสงบสุขกันได้ อย่างไร? ถ้าเราต้องการความสงบสุขจริง เราต้องหลีกเลี่ยงความวุ่น หันมาใฝ่ความว่าง แต่ว่าเรา จะต้องมีสติปัญญาพินิจพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรมันวุ่นกันแน่ ว่าอะไรมันว่างจริงๆ อย่าได้หลงผิด ไปเห็นความวุ่นเป็นความว่าง หรือไปบูชาความวุ่น ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก การที่ไปวุ่นวายจน ไม่มีเวลามาหาธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนเรื่องความว่างนั่นแหละ เรียกว่าวุ่นจนไม่มีเวลาเข้าใจ พระพุทธเจ้า ไม่มีเวลาประพฤติปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้า กลายเป็นวุ่นถึงที่สุด จนกระทั่งเน่า เข้าโลงไป เกิดมาทั้งทีก็มีแต่ความวุ่น ตั้งแต่เกิดจนตาย คือจนเน่าเข้าโลงไป แล้วมันจะได้อะไรว่าเป็น สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ หรือว่ามันจะได้อะไรในคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งตัวเองนับถือ นักนับถือหนาว่าเราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วก็ถึงแต่ปาก เพราะไม่ได้รับ อะไรจาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่คุ้มกัน นอกจากได้แต่ลมๆ แล้งๆ ว่าเราได้ หรือว่าเราถึง หรือว่าเรานับถือ ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ก็แปลว่ายังวุ่นอยู่ตามเดิม บางทีจะวุ่น มากไปเสียอีกหน่อยหนึ่งด้วยซ้ำไป ตรงที่ต้องพูดว่า เรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หุบปากนิ่งๆ อยู่เฉยๆ จะไม่ดีกว่าหรือ ที่จะมาเสียเวลาพูดคำนี้ออกมาด้วยจิตใจที่วุ่นวาย
เพราะฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้คิดนึกในข้อนี้กันให้เป็นพิเศษ ว่าสิ่งที่เรียกว่า ความว่าง นี้เป็นคุณธรรม ที่ทำบุคคลให้เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไรกัน? ถ้าจะถือเอาพระพุทธภาษิตสักบทหนึ่ง เป็นหลักก็ยังมีอยู่ว่า
สุญญโต โลกัง อเวกขัสสุ โมฆะราช สทา สโต - ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติเห็นโลก โดยความ เป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด….
อัตตานุ ทิฏฐิง อูหัจจะ เอวัง มัจจุตะโรสิยา - เมื่อท่านถอนความคิดเห็นว่าตัวตนเสียได้แล้ว ก็จะเป็น ผู้อยู่เหนือมัจจุราช…
เอวัง โลกัง อเวกขันตัง มัจจุราชา นะปัสสติ - เมื่อท่านเห็นโลกอยู่ดังนี้ มัจจุราชก็จะไม่เห็นท่าน…
ความข้อนี้อธิบายว่า ถ้าผู้ใดเห็นโลกทั้งหลายทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ ถอนความยึดถือว่าตัวตนว่าของตนออกเสียได้แล้ว ก็จะอยู่เหนือความตาย “ความตาย” ในที่นี้ หมายถึงความหมดดี หมายถึงความที่เดือดร้อน ระส่ำระสายกระวนกระวาย อยู่ด้วยปัญหาเรื่อง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คือต้องตายนั่นเอง จะเป็นตายทางร่างกาย เน่าเข้าโลงไป ก็เรียกว่าตาย หรือจะเป็นการตายทางจิตใจ คือมีจิตใจเสื่อมทราม ตกต่ำมีแต่ความทุกข์ท่วมทับ ไม่มีเวลาที่จะว่างหรือสงบเย็น นี้ก็เรียกว่าความตายเหมือนกัน คือมันมีผลเท่ากับคนตาย ยังจะทน ทุกข์ยิ่งกว่าคนตาย ทนทุกข์แบบเดียวกันกับสัตว์ในนรก คือว่ามีแต่ความเร่าร้อนระส่ำระสาย ตลอดเวลา มันยิ่งไปกว่าความตาย
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงได้คิดค้นหาวิธีต่างๆ นาๆ ที่จะอยู่เหนือความตาย คนๆ นี้มาเฝ้า พระพุทธเจ้า ทูลถามถึงวิธีที่จะอยู่เหนือความตาย พระพุทธองค์ก็ทรงให้ของอย่างเดียวกันนั่นเอง …กันอีกนั่นเอง คือความว่าง และว่าพระพุทธองค์จะทรงสอนแต่เรื่องความว่าง อะไรๆ ก็เป็นเรื่อง ความว่าง แต่ว่าเรียกชื่อต่างๆ กัน เช่นเรียกเป็นนิพพานก็มี เรียกเป็นความดับทุกข์ก็มี เรียกว่าอยู่ เหนืออะไรๆ ทั้งหมดก็มี ทั้งหมดนี้แหละคือความว่าง เพราะว่าถ้ามันว่างแล้วมันไม่ทุกข์ มันไม่ว่ายเวียน มันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พระองค์จึงทรงยื่นความว่างนี้ให้แก่บุคคลนั้น โดยตรัสว่า..จงมองดูโลกโดยความเป็นของว่างเถิด คำว่า “โลก” นี้เป็นคำๆ เดียว สั้นๆ ก็จริง แต่มัน หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร หมายความว่าจะเป็นในโลกนี้หรือโลกไหน พรหมโลก เทวโลก มารโลก หรือโลกนรกก็ตาม รวมเรียกว่า “โลก” หรือจะแยกเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มีอยู่ใน โลกนี้หรือโลกไหนก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่า “โลก”ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าคนเราอยู่ในโลก มันก็มีความหมาย อยู่ตรงที่จะได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่เอง…ถ้าหากว่าในโลกนี้ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ตัวไหนที่อยากจะมาเกิดในโลก แต่เพราะเหตุที่ในโลกนี้มีความหมาย อยู่ตรงที่มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สัตว์ทั้งหลายจึงมีตัณหา คือความอยาก ในการที่จะมาเกิดใน โลกนั้น โลกนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีเหยื่อของตัณหามากนั่นเอง เหมือนกับที่บุคคล ตั้งอกตั้งใจทำบุญกุศลจะเอาสวรรค์วิมานนั้น ก็หมายถึงต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชนิดที่ เป็นทุกข์ ที่ประณีต ที่ละเอียด…หารู้ไม่ว่า นั่นก็ยังเป็นเพียงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเป็นของ อย่างเดียวกันในโลกทั้งสิ้น แต่ว่ามันแตกต่างกันเป็นชั้นๆ เท่านั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านี้ มันทำให้ว่างหรือมันทำให้วุ่น? ขอให้ลองคิดดูเถิดว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในโลกมนุษย์เรา ในบ้านเรือนเรานี่เอง มันทำให้ว่างหรือมันทำให้วุ่น? เรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ไหนบ้าง ที่ทำให้ว่าง ที่ไม่ทำให้วุ่น? การที่ต้องทนทำไร่ทำนา ทำทุกสิ่งทุกอย่าง หานั่นหานี่ รักษานั่นรักษานี่ มันก็เพื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่การต้องการไปสวรรค์ มันก็เพื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ดีที่ประณีตยิ่งขึ้นไป เป็นอันว่าไม่มีอะไรนอกจากเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วมันเป็น เรื่องวุ่นหรือมันเป็นเรื่องว่าง? ขอให้ลองคิดดู แม้ว่าจะไปได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยู่ในโลก สวรรค์ มีวิมาน มีบริวาร อย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องว่างหรือเรื่องวุ่น? ขอให้ลองคิดดูให้ดีๆ นี่แหละ จะเข้าใจได้ในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า..จงมองดูโลกเหล่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้นให้เห็นตามที่จริง ว่ามันเป็นของว่าง อย่าให้มันเป็นของวุ่น ที่ตัวเองสำคัญผิด ไปคิดในแง่ที่เป็น เรื่องวุ่น มันก็วุ่นขึ้นมา แต่ถ้ามีสติปัญญามองเห็นให้ชัดตามที่เป็นจริงแล้ว ก็อาจจะทำให้มันว่างได้
ที่ว่าเราพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นของว่างได้ ถ้าเราพิจารณาไม่เป็นคิดไม่เห็น มันก็เป็น ของวุ่นอยู่ตลอดไป ที่จะพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นของว่างนั้น ก็คือพิจารณาให้เห็นว่ามันเป็น ของหลอกลวง มันเป็นของมายา สิ่งที่เป็นของหลอกลวงและมายานั้น มันให้ความทุกข์หรือ ให้ความสุข? มันมีตัวมีตนที่ไหน? ..สิ่งใดเป็นมายาสิ่งนั้นก็เป็นของหลอกลวง ไม่มีตัวตนที่แท้จริง นี่หมายถึง ความวุ่น ความวุ่นไม่มีตัวตนที่แท้จริง แต่เราก็เห็นว่ามีตัวมีตน เป็นตัวเป็นตน เหมือนกับ คนเห็นรูปในพยับแดด ว่าเป็นตัวเป็นตนอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่กำลังละเมอเพ้อฝันอยู่ด้วยกิเลสตัณหา ย่อมเห็นความวุ่นเหล่านี้ โดยความเป็นตัวเป็นตน ไม่อาจจะเห็นโดยความเป็นของว่างได้เลย เว้นแต่เมื่อใด จะมีสติสมบูรณ์ทุกเมื่อ จึงจะเห็นโลกโดยความเป็นของว่างได้ ข้อนี้หมายถึงการถอน อัตตานุทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่าตัวว่าตนออกเสียได้ เห็นว่าเป็นมายา เป็นของหลอกลวงแล้ว ก็ถอนความสำคัญ ผิดว่าตัวว่าตน ว่าของๆตน เสียได้ แต่เดี๋ยวนี้เราทั้งหลายได้ถอนความยึดถือว่า ตัวตนอย่างนั้นแล้วหรือยัง? พิจารณาดูเถิดว่าในบ้านในเรือนของเรายังเต็มไปด้วยคำว่า “กู” ว่าของกู นั่นก็ของกู นี่ก็ของกู เงินก็ของกู ทองก็ของกู ก็ได้ยินแต่คำว่าตัวกู และของกูนี้อยู่ไปทั่วทุกหน ทุกแห่ง เสียงนั่นเอง คือ อัตตานุทิฏฐิ ที่แสดงออกมาให้เห็น ว่ายังมีความสำคัญผิดว่ายึดถือโดย ความเป็นตัวตน หรือของๆตน อยู่ในที่ทั้งปวง แล้วมันจะว่างอย่างไรกัน? ถ้ายึดถือว่า นี่ตัวตน นี่ของตนแล้ว… มันก็ต้องจัด ต้องทำ ต้องเก็บ ต้องรักษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องร้อนใจ เรื่องจัด เรื่องทำ เรื่องเก็บ เรื่องรักษา ในทางร่างกายนั้นไม่สำคัญเท่าไร แต่มันสำคัญอยู่ตรงที่หัวใจ จะวุ่นหรือไม่เท่านั้นเอง ร่างกายวุ่น ท่านไม่เรียกว่าวุ่น แต่ถ้าหัวใจวุ่นด้วย ท่านจึงเรียกว่าวุ่น
เพราะเหตุฉะนั้นแหละ มันจึงต้องจัดการกันที่จิตใจ เรื่องทางฝ่ายกายนั้นไม่สำคัญเลย ความคิดแท้ๆ หรือความวุ่นจริงๆ นั้นอยู่ที่ใจ สิ่งที่เรียกว่าของปรุง หรือการปรุง หรือสังขารนั้น มันอยู่ที่ใจ หรืออยู่ที่จิตที่คุขึ้นมา ด้วยอำนาจกิเลสตัณหานั่นแหละคือของปรุง หรือสังขาร ถ้าคิด แล้วก็ทำ นั้นก็เป็นการปรุงอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อทำอยู่มันก็คิดเรื่อย มันเป็นห่วงวิตก กังวลเรื่อย มันมีความอยากทะเยอทะยานอย่างใดอยู่เรื่อย ก็แปลว่ามันคิดปรุงเรื่อย มันเป็น
สังขารเรื่อย มันไม่มีว่างเลย มีแต่วุ่นทั้งนั้น
นี่คือผลของ อัตตานุทิฏฐิ คือความสำคัญว่าอะไรๆ เป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน เราจึงต้องวุ่นกันดังนี้ ถ้ามีตัวตนอย่างนี้แล้ว ความทุกข์ก็ครอบงำได้ ที่เรียกว่าความตาย ครอบงำได้ แต่ถ้าทำลายตน สลัดตนออกไปเสียให้เป็นของว่างแล้ว ความทุกข์มันจะครอบงำใคร? ความตายมัน จะครอบงำใคร? …เพราะมันว่างจากตัวตน
พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เมื่อถอนความยึดถือว่าตัวตนเสียได้ ก็จะเป็นผู้อยู่เหนือความตาย เมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ดังนี้ ความตายก็ไม่เห็นผู้นั้น คือความตายจะจับตัวผู้นั้นไม่ได้ เพราะเป็นของว่างไป นี้เป็นอันว่า ผู้นั้นก็ดี โลกก็ดี ล้วนแต่เป็นของว่าง…เป็นความว่าง จนถึงกับ มัจจุราชหรือความตายหาตัวไม่พบ ถ้าพูดตรงๆ อย่างธรรมาธิษฐาน ก็กล่าวว่า..ไม่มีตัว มีตนเหลืออยู่ ให้ความทุกข์ครอบงำอีกต่อไป จึงเป็นอันว่าการทำตนให้เป็นของว่าง นี้เป็นหนทางที่จะเอาชนะ ความทุกข์และความตายโดยประการทั้งปวง
การทำตนให้เป็นของว่างนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเอาไปใส่ครกตำให้ละเอียด แล้วเอาไปเผาไฟให้เป็นขี้เถ้า หรือเป็นควันไฟไปให้หมดแล้วจึงว่าง ดังนี้ก็หาไม่ แต่หมายความว่า ให้ทำด้วยสติปัญญา อย่าให้จิตคิดนึกยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ร่างกายก็เป็นสักว่าร่างกาย จิตก็เป็นสักว่าจิต เจตสิกก็เป็นสักว่าเจตสิก ไม่มีอะไรส่วนไหนที่เป็นตัวเป็นตน หรือเป็น
ของๆ ตนเลย เมื่อเป็นดังนี้ นั่นแหละจึงจะเรียกว่ามีความว่าง หรือมีการเห็นความว่างอยู่ใน เบญจขันธ์นั้น เป็นเบญจขันธ์ที่มีความบริสุทธิ์ เพราะไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวเป็นตน ส่วนเบญจขันธ์ใดเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ความยึดถือว่าตัวตน เบญจขันธ์นั้นไม่ว่าง คือมีตัวตนให้ ความทุกข์จับฉวยเอาไป มีตัวตนให้ความทุกข์ครอบงำ มีตัวตนให้ความตายย่ำยี…สมน้ำหน้าแล้ว ที่มันไม่รู้จักทำให้ว่าง มันจึงมีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนไปตั้งแต่เกิดจนตาย
ท่านทั้งหลายอาจจะเห็นได้โดยพระพุทธภาษิตนั้นว่า…สุญญตา ความว่างแท้จริงก็คือนิพพาน นิพพานก็คือความว่างแท้จริง เพราะว่าพอเราทำให้ว่างได้เท่านั้น ความตายก็ทำอะไรไม่ได้ ความทุกข์ ก็ทำอะไรไม่ได้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่า นิพพาน เพราะฉะนั้นในที่มากมายหลายแห่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสุญญตา คือความว่างนี้ โดยความเป็นนิพพาน หรือแทนคำว่านิพพาน หรือ ในที่แห่งนิพพาน
สุญญตา จึงเป็นเครื่องทำบุคคลให้หมดไป ให้ว่างไป ให้เหลือแต่เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ หรือความตายอีกต่อไป เพราะว่าในนั้นไม่มีอัตตานุทิฏฐิ เหลืออยู่อีกเลย
ในที่อื่นพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า …เมื่อเห็นว่างจากตัวตน หรือเห็นความว่าง หรือพอใจใน ความว่างแล้ว จิตจักเลื่อมใสในอายตนะ…อายตนะ ในที่นี้หมายถึง นิพพาน หมายความว่าคนเรา จะต้องเห็นความว่าง ว่าเป็นความสงบสุขเสียก่อน จึงจะพอใจในเรื่องของพระนิพพาน ถ้าไม่เห็น ความจริงข้อนี้แล้ว ไม่อาจจะพอใจในนิพพาน แม้จะพูดว่าเราพอใจในนิพพาน ก็เป็นเรื่องพูดแต่ปาก คือพูดถึงสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งตนไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ เพียงแต่ได้ยินเขาว่า ว่ากันว่าดี ว่าสูง ว่าประเสริฐ ว่าเลิศ ก็พลอยต้องการไปตามเขา นี่แหละคือบุคคลที่ปรารถนานิพพานไปตามเขา ทั้งที่ไม่รู้ว่านิพพานนั้นคืออะไร แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า..ถ้าเมื่อใด ได้เกิดเห็นคุณของความว่าง ขึ้นมา เมื่อนั้นแหละคนๆ นั้นจึงจะชอบนิพพานนั้นจริงๆ คือชอบอย่างถูกต้อง
ขอให้ลองเปรียบเทียบกันดูตั้งแต่ต้นกันอีกทีเถิดว่าความวุ่น กับความว่าง นั้นต่างกันอย่างไร? ถ้าเรายังหลงอยู่ในความวุ่นแล้ว อย่าไปพูดถึงนิพพานให้ป่วยการ จิตใจมันไม่ชอบพระนิพพาน ไปได้ดอก แต่ถ้าเราเกิดนิยมชมชอบในความว่าง เมื่อนั้นแหละมันจึงจะพอใจในนิพพาน ถ้าเรารู้จัก ความว่างให้ถูกต้อง แล้วพอใจในความว่างให้ถูกตรง จิตก็จะพอใจในนิพพาน เลื่อนไหลไปในทาง ของพระนิพพาน โดยไม่ต้องสงสัยเลย ถ้าลงได้ชอบใจในคุณของความว่างแล้ว พระพุทธองค์ทรง พยากรณ์ไว้ว่า บุคคลนั้นจะหลุดพ้นได้ด้วยปัญญาในชาติเป็นปัจจุบันนี้ คือเป็นพระอรหันต์ประเภท ปัญญาวิมุติ ได้ในชาตินี้ หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ก็จะเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ คือความเป็นอยู่และ ความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น
อากิญจัญญายตนะ นั้น แปลว่าความรู้สึกที่ว่าไม่มีอะไรสักหน่อยเดียวที่น่าเอา น่าเป็น เมื่อบุคคลมีความเป็นอยู่อย่างนี้ ก็นับว่าความทุกข์ครอบงำไม่ได้ พระพุทธองค์เองแม้เป็น พระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังทรงอยู่ด้วยความว่าง การทรงอยู่ด้วยความว่างชนิดนั้นของพระพุทธองค์นั้น เรียกว่า สุญญตาวิหาร พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ ได้ยืนยันกับพระอานนท์ว่า ...แม้ตถาคต ก็ได้ใช้เวลาเป็นส่วนมากที่สุดให้สิ้นไปในสุญญตาวิหาร
สุญญตาวิหาร นี้ไม่ใช่โรงที่ปลูกขึ้นแล้วเรียกว่าสุญญตา…สุญญตาวิหาร คือการอยู่ด้วยจิตใจ ที่ว่างจากสิ่งทั้งปวง “วิหาร” แปลว่าความเป็นอยู่ ..“สุญญตา” แปลว่าความว่าง ความเป็นอยู่ ด้วยความรู้สึกว่าว่าง ว่าง ว่าง นั่นแหละคือสุญญตาวิหาร พระพุทธองค์แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยัง อยู่ด้วยสุญญตาวิหารไปตามเดิม คืออยู่ด้วยจิตใจที่ว่าง ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของๆตน ไม่มีความวุ่นวายเลย แม้ว่าพระองค์จะได้เสด็จไปนั่น มานี่ เพื่อสั่งสอนคนนั้น คนนี้ ไม่มีเวลาหยุด อย่างน่าเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ไม่มีความวุ่นเลย ในใจไม่มีกิเลสตัณหา จึงไม่มีความวุ่นใจ ถ้าร่างกายนั้น ไม่เป็นความวุ่นเพราะใจไม่วุ่น เป็นไปตามเคลื่อนไหว เป็นไปธรรมดา ไม่มีความหมายของคำว่า ความวุ่น
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จะทรงนั่งอยู่นิ่งๆ ก็ดี หรือทรงดำเนินไปที่ไหนก็ดี เรียกว่าเป็น ผู้อยู่ในสุญญตาวิหารได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ประสงค์ในที่นี้หมายความว่า ถ้าหากว่ามีเวลาว่าง ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหน จะทรงนั่งอยู่นิ่งๆ แล้ว ก็ทรงทำในใจถึงความว่างมากขึ้นเป็นพิเศษ คือความว่างจาก กิเลสตัณหา ว่างจากทุกๆ สิ่ง..อันเป็นความว่างที่ได้มาด้วยการตรัสรู้นั่นแหละ ยังคงทำจิตใจให้ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่าว่างดังนั้น แล้วก็เป็นความสงบสุขของพระองค์ ทำให้ร่างกายผ่องใส ข้อที่ความว่างทำให้เรามีความสุขสบาย ร่างกายผ่องใสนั้น รู้ได้ด้วยสูตรต่อไป ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระสารีบุตร ในเมื่อพระสารีบุตรมีผิวพรรณผ่องใส ทรงซักถามกันขึ้น พระพุทธองค์จึงแนะให้พระสารีบุตรสังเกตเห็นว่าความว่างนั่นเอง…การเป็นอยู่ด้วยความว่าง นั่นเอง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส ความว่างในลักษณะเช่นนี้ท่านเรียกว่า มหาปุริสสวิหาร… มหาปุริสสวิหาร ก็คือ มหาบุรุษวิหาร คือวิหารของมหาบุรุษ ..วิหารของมหาบุรุษ คือสุญญตา หรือ ความว่าง ความว่างหรือสุญญตานั้น คือวิหารของมหาบุรุษ ถ้าลงได้เข้าไปอยู่ในวิหารนี้แล้ว จะมีผิวพรรณผ่องใส เพราะไม่มีความทุกข์แต่ประการใด มีแต่ความสงบเย็น มีแต่ความสะอาด สว่างสงบอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีความผ่องใสทั้งทางกายและทางใจ จึงเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส เพราะอำนาจการอยู่ในความว่างนั้นเป็นประจำ เป็นสุญญตาวิหาร หรือเป็น มหาปุริสสวิหาร แต่ถ้ากล่าวกันในทางของการปฏิบัติ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรมานุตตรสุญญตา ข้อนี้หมายถึง เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต มีจิตผ่องใส จนพ้นจากอาสวะทั้งสาม นี้หมายความว่าสุญญตาอย่างยิ่ง สุญญตา ที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า ได้แก่สมาธิ ที่ไม่ประกอบด้วยนิมิตอะไร นอกจากความว่างอย่างเดียว และมีความว่างเป็นจิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ความเป็นอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด ไม่ว่าในพวกไหน ไม่ว่าในยุคไหน หรือเวลาไร คือพระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า จะเป็นในศาสนานี้ หรือในศาสนาไหน ก็ตาม ความว่างอันนี้ต้องถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดเสมอไป และว่า ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน จะยุคพุทธกาล หรือยุคปัจจุบันของเรานี้ หรือยุคอนาคตก็ตาม ความว่างนี้ก็ยังเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดกว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงได้ถือเอาว่าความว่างเป็นสิ่งสูงสุด ดังพระพุทธภาษิตว่า “ นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา - ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่า เป็นสิ่งสูงสุดหรือเป็นบรมธรรม” คือเป็นธรรมสูงสุดกว่าธรรมทั้งปวง นิพพาน ก็คือความว่างนั่นเอง ความว่างถึงที่สุดนั่นเอง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
จึงเป็นอันว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่างนั้น เป็นสิ่งสูงสุด เป็นสิ่งที่ทำบุคคลให้ประสบความสงบ ทำผิวพรรณให้ผ่องใส เป็นวิหารธรรมที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงดำรงอยู่ในความว่างนั้น จึงเป็น สิ่งที่ทุกคนควรจะสนใจ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจ ทำให้เกิดมีขึ้นในตน มีหลักประจำใจของตน มุ่งหมายแต่ความว่างอย่างเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดกันให้มากเรื่อง ไม่ต้องคิดนึกกันให้มากเรื่อง ไม่ต้องทำกันให้มากเรื่อง คงเอาแต่เรื่องเดียว …ทั้งคิด ทั้งพูด ทั้งทำ คือเรื่องความว่าง เพราะว่ามัน เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องที่รวมเรื่องทุกๆ เรื่องไว้ ในนี้เบ็ดเสร็จ จะเป็นเรื่องที่คนเรา เกี่ยวข้องกันอยู่แท้ๆ ว่าถ้าเราไม่ว่างขึ้นมาเมื่อไร เราก็ทุกข์เมื่อนั้น คือวุ่นเมื่อนั้น…ถ้าเราว่างขึ้นมา เมื่อไร เราก็สบายเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ชัดๆ ว่า เราไม่มีความสุขก็เพราะเราไม่ว่าง พอเราว่างขึ้นมา เราก็มี ความสุข ขอให้ถือหลักอันนี้เป็นหลักเงื่อนต้นเสียก่อน แล้วจะได้สืบสาวหาเงื่อนต่อๆ ไป จนบรรลุถึงความว่างได้จริงๆ อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องมีความเชื่อเสียก่อนว่า ถ้าไม่ว่างแล้ว เป็นไม่มีสุข ถ้ามีสุขแล้ว ก็มีเพราะความว่าง
ทีนี้จะได้ตั้งปัญหาต่อไปว่า ไม่ว่างเพราะอะไร? ถ้าตอบตามทางธรรมะแล้ว ก็ตอบว่าเราไม่ว่าง เพราะเราวุ่น คือเราปรุงมันเรื่อย เราไม่ยอมหยุด เราทำการปรุงเรื่อย เราปรุงอะไรที่ไหน? คือเราคิด นึกด้วยกิเลสตัณหา ยึดมั่นถือมั่น นั่นนี่ว่าเป็นตัวตนของตน แล้วมีกิเลสตัณหา คือความอยาก อย่างนั้นอยากอย่างนี้ เราทำอะไรไปด้วยความอยาก เพราะความคิดปรุงเหล่านี้เอง มันจึงทำให้ไม่ว่าง เราอย่ามามีกิเลสตัณหามาคิดมาปรุง มันก็จะว่างไปหมด แม้ว่าร่างกายจะทำอะไรอยู่ มันก็ยังเป็น ความว่างไปหมดอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีการคิดปรุง
ขอให้เข้าใจไว้ให้ดีๆ หรือจำไว้ให้ดีๆ ว่าความคิดปรุง…ความคิดปรุงนี้ มันปรุงด้วยกิเลส ตัณหา ไม่ใช่ปรุงด้วยสติปัญญา ถ้าสติปัญญาเข้ามา…มันไม่ปรุง มันไม่ต้องเป็นสังขารที่คิดปรุง มันรู้จักทำให้ว่าง มันเป็นไปแต่ในทางความว่าง แต่ถ้าสติปัญญาไม่มา กิเลสตัณหาเข้ามาแทนแล้ว… มันปรุง คือมันทำให้วุ่น
เพราะฉะนั้น ความไม่ว่างนั้นมีเพราะการคิดปรุง เราจะต้องขจัดความคิดปรุงด้วยอำนาจของ กิเลสตัณหานี้เสียให้ได้ หรือให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
ทีนี้เราคิดต่อไปว่า ทำไมมันจึงคิดปรุง? ข้อนี้ ก็เพราะเหตุว่า มันหลงอยู่ในของที่เป็นคู่ๆ ของที่เป็นคู่ๆ นี้ คือสิ่งที่คนทุกคนกำลังหลงอยู่ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ของที่เป็นคู่ๆ นั้น พิจารณาดู ก็จะเห็นได้ทันทีว่ามีอะไรบ้าง
คู่แรกที่เราหลงกันมากก็คือ เรื่องดี - เรื่องชั่ว เรื่องบุญ - เรื่องบาป เรื่องสุข - เรื่องทุกข์
ของคู่เหล่านี้เรามีความเข้าใจผิด หรือหลงใหลกันอยู่อย่างไร? ของคู่นั้นมีมากด้วยกัน เช่น
ความมี - ความจน นี้ก็คู่หนึ่ง..ความได้ลาภ - ความเสื่อมลาภ นี้ก็คู่หนึ่ง..ความเป็นผู้แพ้ - เป็นผู้ชนะ นี้ก็คู่หนึ่ง..การได้ - การเสีย นี้ก็คู่หนึ่ง อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นคู่ๆ ความเป็นหญิง - เป็นชาย นี้ก็เป็น เรื่องของความเป็นคู่..ความรัก - ความเกลียด นี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นคู่..ความพอใจ - ความไม่ พอใจ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของความเป็นคู่..ของหอม - ของเหม็น ของไพเราะ - ของไม่ไพเราะ ของสวย - ของไม่สวย เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นคู่ๆ ของที่เป็นคู่นี้มีมากมายแทบจะนับไม่ไหว แต่ก็เป็น ที่ตั้งแห่งความหลง เป็นที่ตั้งของความคิดปรุง
ความคิดที่ประกอบด้วยกิเลสตัณหานั้น มันก็หยาบตามที่กิเลสตัณหาต้องการ ความคิดปรุง มันก็ปรุงไปตามนั้น เช่น ไม่ชอบความไม่สวย ก็ต้องไปชอบความสวย ความคิดปรุง ก็คิดไปในทาง ที่จะทำให้สวย ไม่ชอบความยากจน ก็คิดปรุงไปในทางที่จะทำให้มั่งมี ย่อมเนื่องกันอยู่ดังนี้ คือจะต้องเป็นคู่กันอยู่ดังนี้ มันจึงจะอยาก หรือมีกิเลสตัณหาได้ ถ้ามันมีแต่เพียงอย่างเดียว คือไม่เป็น คู่แล้ว ความคิดจะคิดไปไม่ได้ มันก็หยุดคิดไปเอง แต่นี่มันมีของคู่มาให้เปรียบ เช่นว่า มีดีกับมีชั่ว … (นาทีที่ 53:34 - 53:40 เสียง drop ฟังไม่ชัด) ….มันก็ไม่มีความหมายอะไร หรือถ้าว่าความดีไม่มี ความชั่ว ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะความชั่วมาเทียบเคียงกันเข้ากับความดี ความดีจึงเป็นของมีค่าขึ้นมา (นาทีที่ 53:55 – 54:00 เสียง drop ฟังไม่ชัด) ….ความสุขจึงกลายเป็นของดีของแพง ถึงแม้ความทุกข์ก็เถอะ ถ้าไม่มีความสุขมาเป็นคู่เปรียบแล้ว ความทุกข์ก็ไม่น่ากลัวอะไร เพราะเหตุที่ว่ามันมากันเป็นคู่ๆ มันก็เท่ากับมาเสนอให้เราเลือกเกลียด ข้างหนึ่ง และเลือกรักข้างหนึ่ง นั่นแหละคือความหลง หรือคือกิเลสตัณหา ที่เป็นไปแรงกล้า แต่ถ้าเมื่อใดเราจะเกิดความฉลาดขึ้นมา ไม่เอามันเสียทั้งสองอย่าง เมื่อนั้นแหละเราจึงจะว่าง คือดีเราก็ไม่รัก ชั่วเราก็ไม่เกลียด เราอยู่เฉยๆ ก็เป็นความว่างเท่านั้นเอง… สุขเราก็ไม่อยาก ทุกข์เราก็ไม่เกลียด เราอยู่เฉยๆ มันก็เป็นสันติ หรือเป็นความว่าง หรือเป็นนิพพาน แต่ถ้าเราหลงใหล ในความสุข ซึ่งที่แท้ไม่ใช่ความสุข หมายถึงโลกิยสุขทุกอย่าง จะเป็นสุขในมนุษย์ หรือสุขในสวรรค์ หรือสุขในพรหมโลกก็ตาม ทั้งหมดนั้นยังเป็นของลวง เป็นของคู่กันกับความทุกข์ หาใช่นิพพานไม่
ที่เป็นนิพพานนั้นไม่เกี่ยวกับความสุข หรือความทุกข์เลย คือเป็นของว่าง แต่ว่าเราก็ชอบ สมมติเรียกกันว่าความสุขอีกนั่นแหละ เพราะเราติดในความสุขเหมือนกับติดฝิ่น มาตั้งแต่ก่อน อะไรๆ ก็จะให้เป็นความสุขไปทั้งนั้น จึงมีคำพูดว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ขึ้นมาให้ ก็เพื่อว่าจะ ให้ละความสุขต่ำๆ ต้อยๆ เหล่านั้นเสีย หันมาสนใจความสุขในชั้นนิพพาน เมื่อมาสนใจในเรื่องนี้ แล้ว ก็จะต้องพบความว่าง เพราะว่านิพพานเป็นชื่อของความว่าง
เพราะฉะนั้นอย่าได้เข้าใจว่า ความสุขในชั้นนิพพานนั้น เหมือนกับความสุขที่เรานึกๆ คิดๆ กันอยู่ ว่าจะต้องได้อย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ โดยที่แท้แล้วความสุขในชั้นนิพพานนั้น เป็นความว่างโดยประการทั้งปวงจริงๆ นั่นแหละคือไม่มีคู่ คือไม่มีทุกข์ - ไม่มีสุข ไม่มีดี - ไม่มีชั่ว ไม่มีบุญ - ไม่มีบาป ถ้ายังมีดี - มีชั่ว มีบุญ - มีบาป มันก็ต้องเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร ไปเป็นคนดี ไปเป็นคนชั่วอยู่ในวัฏสงสาร ไม่เป็นนิพพานไปได้เลย ต่อเมื่อข้ามขึ้นพ้นจากความดี - ความชั่ว อยู่เหนือบุญ - เหนือบาป เหนือความปรารถนาสุข - ปรารถนาทุกข์ โดยสิ้นเชิง นั่นจึงจะเป็น ความว่าง และเป็นนิพพานขึ้นมา
เพราะฉะนั้น นิพพาน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของคู่ ผู้ที่ลุถึงนิพพาน มีจิตใจไม่หลงใหลอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นคู่ แต่อยู่เหนือความเป็นคู่คือความว่างนั่นเอง ท่านทั้งหลายลองใช้สติปัญญาพิจารณา ดูทีเถิดว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่างนั้น มันจะเป็นคู่ได้อย่างไร สิ่งที่จะเป็นคู่ คู่กันได้นั้น มันต้องไม่ใช่ ความว่าง คือมันต้องเป็นชิ้น เป็นดุ้น เป็นก้อน เป็นอัน อะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มาจัดว่า อันนี้ดี - อันนี้ชั่ว อันนี้สั้น - อันนี้ยาว อันนี้สูง - อันนี้ต่ำ อันนี้ดำ - อันนี้ขาว เหล่านี้มันไม่ว่างเลย มันมี เป็นชิ้นๆ ดุ้นๆ แต่ถ้าเกิดเป็นความว่างขึ้นมาโดยประการทั้งปวงแล้ว มันก็เป็นคู่กับใคร? จะไปจับ เอาอะไรมาเป็นคู่กับใครได้? มันเป็นความว่าง
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ต่อไปว่า ของเป็นคู่ๆ นั้น มันอยู่ที่ความวุ่น มันไม่อยู่ที่ความว่างเลย ถ้าเกิดเป็นความว่างขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่มีของที่เป็นคู่ ของเป็นคู่จะมีอยู่แต่ในเรื่องของความวุ่น
ถ้าเราไม่ต้องการจะให้จิตคิดปรุง เราต้องรู้เท่าทันของสิ่งที่เป็นคู่ ถ้ายังไม่รู้เท่าทันอยู่เพียงไร มันก็ต้องคิดปรุงอยู่เพียงนั้น เมื่อคิดปรุงมันก็ไม่ว่าง เมื่อไม่ว่างมันก็ต้องทุกข์
เพราะฉะนั้น เราจะต้องมองให้เห็นให้ชัดว่า บรรดาของคู่ๆ เหล่านั้น เป็นของหลอกที่จะทำ ให้วุ่น ถ้าเราต้องการความว่างเราจะต้องอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น เราอย่าไปมองเป็นคู่ เราไปมองให้เห็น ว่างไปเสียทั้งหมด มันก็สมตามประสงค์
บรรดาของเป็นคู่ๆนั้น เราอาจจะสรุปให้เหลือเพียงคู่เดียวก็ได้ คู่เดียวที่ว่านี้ก็คือ คุณและโทษ ทางหนึ่งเป็นคุณ ทางหนึ่งเป็นโทษ…คู่ๆ เดียวนี้ พอแล้ว เพราะว่าสิ่งใดที่เราไม่ชอบเราก็ถือว่า เป็นโทษ สิ่งใดที่เราชอบเราก็ถือว่าเป็นคุณ และในสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีคุณและโทษ คู่นี้ อยู่จริงๆ ประจำกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไร สิ่งที่เรารักมากที่สุดนั้น ขอให้ดูให้ดีเถิดว่า ส่วนที่เป็น คุณมันก็มี ส่วนที่เป็นโทษมันก็มี..เท่ากัน แต่ว่าเราเลือกมองแต่ในด้านคุณ ไม่มองในด้านโทษ เราจึงหลงรักสิ่งเหล่านั้น หรือสิ่งๆ นั้น หรือบุคคลนั้น อย่างหลับหูหลับตาทีเดียว โดยไม่มีการคำนึง ว่าสิ่งทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยคุณและโทษ
จะขอยกตัวอย่าง อย่างว่า ศาลาโรงธรรมหลังนี้ มันมีคุณหรือมีโทษ ท่านที่มีสติปัญญา ท่านจะมองเห็นได้ชัดว่า มันมีทั้งส่วนคุณและส่วนโทษ ส่วนคุณ เราก็อาศัยมันได้ ส่วนโทษ มันก็ ทำให้เราลำบาก นับแต่เราต้องสร้างมันมา เราต้องรักษา เราต้องบริหาร ต้องปัด ต้องกวาด ต้องขัด ต้องล้าง ต้องถู ต้องคอยป้องกันต่างๆ นานา นี้เป็นส่วนที่เป็นโทษ แต่ว่าเราก็ได้คุณ ได้นั่งนอน
อาศัยอยู่ดังนี้ มันเป็นของที่มีทั้งโทษและคุณ คู่กันดังนี้ เราไปหลงมันเข้า เราไปรักมันในส่วนที่ เป็นคุณและเกลียดในส่วนที่เป็นโทษ เราก็ได้รับทุกข์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ความรักก็เหนื่อยไปอย่างความรัก ความเกลียดก็เหนื่อยไปอย่างความเกลียด ทั้งความรักและความเกลียดนี้เป็นของวุ่น ไม่ใช่เป็น ของว่าง ไม่ใช่เป็นของสงบ
ทีนี้เราจะพิจารณาดูต่อไปว่า สมมติว่าสิ่งที่มีค่ามากกว่าโรงธรรมหลังนี้ เช่นมีเงินสักล้านหนึ่ง เงิินล้านหนึ่งนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ? ขอให้คิดดูให้ดีๆ สมมติว่าเราหาเงินมาได้ ด้วยวิธีที่สุจริต ไม่คดโกงใคร ได้เงินมาล้านหนึ่ง เราชอบใจมาก ถือว่าเป็นคุณ และลองคิดดูถึงโทษของมันบ้าง ที่เราจะต้องเหน็ดเหนื่อยในการหา เราก็ต้องเหนื่อยล้านหนึ่งเหมือนกัน…ถ้าเราได้มาล้านหนึ่ง เราก็ต้องเหนื่อยล้านหนึ่ง ที่เราจะต้องลงแรง เรี่ยวแรงไปล้านหนึ่ง มันจึงจะได้เงินมาล้านหนึ่ง เพราะฉะนั้นโทษของมันก็ล้านหนึ่ง คุณของมันก็ล้านหนึ่ง แต่เราโง่ ไปหลงมองในเรื่องคุณด้านเดียว เราจึงพอใจว่าเงินล้านหนึ่งนี้ ช่างวิเศษวิโสเสียจริงๆ
ทีนี้ถ้าสมมติว่าเงินล้านหนึ่งนี้ ได้มาด้วยทุจริต คือโกงเขามา มันก็มีโทษล้านหนึ่งอยู่อีก เหมือนกัน คือเราเป็นคนชั่วคนเลวตั้งล้านหนึ่ง มันจึงได้เงินมาล้านหนึ่ง เราโง่มากขึ้นไปอีก พอใจในเงินล้านนี้ว่าเราได้ของดีวิเศษมา โดยไม่รู้ว่าเราเลวตั้งล้านหนึ่ง เพราะการได้เงินล้านนี้มา…
ทีนี้ก็สมมติว่า เราได้รับมรดกจากพ่อแม่เป็นเงินมาล้านหนึ่ง เราจะถือเป็นของดีวิเศษ อย่างนั้นหรือ? ถ้าคิดดูกันให้ดีๆ แล้ว ก็หมายความว่ามันมีโทษอยู่ล้านหนึ่งเหมือนกัน คือเราเป็น คนที่โง่ที่สุดล้านหนึ่งทีเดียว ทำงานอะไรไม่เป็น ต้องรับมรดกจากพ่อแม่ ได้เงินมาล้านหนึ่ง มันก็โง่ ล้านหนึ่ง สมน้ำหน้าของมัน…นี้คือโทษ ของการที่ได้เงินรับมรดกมาล้านหนึ่ง ส่วนที่เป็นคุณ จะไปใช้อะไรก็ตามใจ มันก็ต้องคู่กันกับโทษ คือความโง่ล้านหนึ่ง
ฉะนั้นเป็นอันว่า ไม่มีอะไรเลย ที่จะประกอบไปด้วยคุณโดยส่วนเดียว มันต้องประกอบ ไปด้วยโทษ เท่ากันเสมอไป ทีนี้เราลองพิจารณาดู ถึงสิ่งที่เราเปรียบธรรมกันบ้าง ของสกปรก เช่น อุจจาระ คนบางคนอาจจะคิดว่ามันประกอบไปด้วยโทษโดยส่วนเดียว ทั้งเหม็น ทั้งน่าเกลียด ทั้งรำคาญ แต่ที่แล้วทำไมไม่มองในด้านคุณของมันบ้างเล่า? มันก็มีประโยชน์ ในการที่จะทำอะไรได้ ตามหน้าที่ของมัน เช่นใช้เป็นปุ๋ยก็ได้ ทำให้แผ่นดินนี้ดีก็ได้ ทำให้การไหลเวียนของสิ่งทั้งหลาย ในโลกนี้เป็นปรกติก็ได้ หรืออย่างน้อยถ่ายอุจจาระออกมา คนๆ นั้น มันจึงไม่ตาย ลองไม่ถ่ายอุจจาระ มันก็ต้องตาย เป็นอันว่าแม้ในของที่เราเกลียดที่สุด มันก็มีทั้งคุณและโทษอยู่โดยเท่ากัน
ทีนี้ สมมติว่าของที่ไม่สกปรกอย่างนั้น เช่นว่าขยะมูลฝอยชิ้นหนึ่งอยู่ที่ตรงนี้ เราถือว่ามัน เป็นโทษล้วนๆ ไม่มีคุณเลย ดังนั้นหรือ? นี้ก็หาเป็นอย่างนั้นไม่ มันย่อมมีคุณอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ใน ขยะมูลฝอยชิ้นนั้น แม้แต่ใบไม้แห้งๆ ใบหนึ่ง หล่นอยู่ที่กลางวัด มันก็มีทั้งคุณและโทษโดยเท่ากัน คนโง่เท่านั้นที่จะไปเห็นมันแต่ด้านเดียว ว่าเป็นคุณอย่างเดียว หรือเป็นโทษอย่างเดียว
เป็นอันว่าไม่มีอะไรเลย ที่จะไม่ประกอบไปด้วยคุณและโทษ และสิ่งต่างๆ นั้นถ้าได้ใช้ เหมาะสมแล้ว มันแสดงคุณออกมาทันที ถ้าไม่มีการใช้ที่เหมาะสมแล้ว มันแสดงโทษออกมาทันที ทั้งนี้เพราะว่ามันมีทั้งคุณและโทษอยู่ในสิ่งนั้น
ฉะนั้นสิ่งที่ดี ที่มีคุณ เมื่อใช้ถูกวิธี ตรงตามความหมายของมัน และมันเป็นโทษออกมาทันที ในเมื่อใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ตรงตามความหมายของมัน อย่างว่าอุจจาระอย่างนี้ ลองไปใช้ให้ถูกวิธีของ มันเถิด มันก็จะประกอบไปด้วยคุณโดยส่วนเดียว แต่พอใช้ผิดวิธี หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกวิธี มันก็เป็นโทษโดยส่วนเดียว มันเป็นโทษเป็นคุณขึ้นมาดังนี้ ก็เพราะความโง่ของบุคคลนั้นต่างหาก ที่แล้วแต่ว่าจะไปยึดถือเอาในด้านไหน โดยที่แท้แล้วมันไม่ควรจะยึดถือโดยประการทั้งปวง ไม่ควรจะยึดถือโดยความเป็นโทษหรือเป็นคุณเลย อยู่อย่างว่างๆ ไม่ต้องไปคิดนึกให้เป็นโทษ - เป็นคุณ ให้เกิดความรักหรือความเกลียด นี่แหละคือความว่าง หรือความสงบ
เพราะฉะนั้น ควรที่ท่านทั้งหลายทุกคนควรจะต้องมีความรู้ของพระพุทธเจ้ามาช่วยตน คือให้สามารถมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง ให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง อย่าให้มีโทษ - อย่าให้มีคุณ แต่ประการใดเลย จิตใจโดยแท้จริง สติปัญญาโดยแท้จริง ให้มองเห็น โดยความเป็นของว่างอยู่ดังนี้ หรือถ้าว่าจะให้มองเห็นโทษ ก็ต้องให้มองเห็นคุณด้วย ถ้ามองเห็นคุณ ก็ต้องให้มองเห็นโทษด้วย จะได้หักลบกลบกันพอดี มันก็จะได้กลายเป็นของว่างขึ้นมา สิ่งใดที่ท่าน เก็บไว้ในหีบ หวงแหนนักหนานั้น ก็จงมองดูให้ดีๆ ว่า มันประกอบอยู่ด้วยคุณและโทษเท่ากัน ก็จะหยุดรัก หยุดหวงแหน หยุดวิตกกังวลเสียได้ จิตใจมันก็จะได้ว่าง แต่ถ้าไปมองดูแต่ด้านคุณ โดยส่วนเดียวแล้ว ก็จะยิ่งรัก ยิ่งพอใจมันหนักขึ้น จนถึงกับนอนไม่หลับ จนถึงกับเป็นโรคเส้น ประสาท จนถึงกับต้องนำไปโรงพยาบาลคนบ้าในที่สุดดังนี้ นั่นแหละคือสิ่งที่มีทั้งคุณและโทษ ที่เก็บใส่ไว้ในหีบ หวงแหนนักหนา
นี่เป็นอันว่า ถ้ารู้จักพิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็จะพ้นจากความเป็นโทษและเป็นคุณ จะพบแต่ ความเป็นของว่าง หรือจะดูให้เห็นคุณ ก็ต้องดูให้เห็นโทษด้วย มันจะได้หักลบกลบกันไป ก็เป็น ของว่างอยู่นั่นเอง แม้นี้ก็เป็นอุบายวิธี ที่จะมองเห็นสิ่งเหล่านั้น โดยความเป็นของว่าง จะเป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง เพชร พลอย อะไรก็ตามที หรือว่าจะเป็นบุคคล สัตว์สังขารที่รักที่พอใจอย่างยิ่งก็ดี จะต้องมองโดยความเป็นโทษและเป็นคุณอย่างเสมอกันแล้ว ก็จะเกิดความวางเฉยหรือความว่าง ขึ้นมาได้ และความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น
เพราะฉะนั้นจึงสอนให้มองโดยความเป็นของว่าง อย่าได้มองโดยความที่เป็นของที่มีคุณและ มีโทษเลย จะไม่เป็นของว่าง และจะเป็นของวุ่น แล้วก็จะเป็นทุกข์ เมื่อใดมองโดยความเป็นของว่าง ถึงที่สุด เมื่อนั้นก็เป็นพระนิพพานขึ้นมาทันทีที่ตรงนั้นเอง เมื่อใดจิตใจประกอบไปด้วยความว่าง เมื่อนั้นจิตใจประกอบไปด้วยนิพพาน ถ้าว่างอย่างเด็ดขาดก็เป็นนิพพานแท้ ถ้าว่างชั่วคราวก็เป็น นิพพานชั่วคราว แต่อย่างนั้นก็ยังดีกว่าที่จะเป็นความวุ่นหรือเป็นความทุกข์ ถ้าเราจะไม่สามารถ ทำให้เกิดความว่างโดยเด็ดขาด เราก็พยายามทำให้เกิดความว่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ทีนี้เราจะได้วินิจฉัยกันถึงความว่างนี้ต่อไป ในข้อที่ว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างนี้ มันไม่ใช่ ความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเรียกนิพพาน หรือถ้าเราจะเรียกไปในชื่อของสิ่งที่เรายึดถือ เคารพนับถือ เช่นคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้ เราก็ต้องมองให้เห็นหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นความว่าง หัวใจของพระพุทธเจ้าก็ว่าง หัวใจของพระธรรมก็ว่าง หัวใจของ พระสงฆ์ก็ว่าง…นี่หมายถึงพระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริง ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างปลอมๆ เหมือนของคนโดยมาก นั่นไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง แล้วเอาไปยึดถือ มันจึงถูกปลอม แล้วมันวุ่น มันไม่ว่าง ถ้าถูกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง มันก็จะต้องว่าง ไม่ไปไหนเสีย ไม่ไปทางอื่นได้ มีแต่เป็นไปในทางว่าง ทำไมว่าหัวใจของ พระพุทธเจ้าว่าง? ก็เพราะว่าหมดกิเลสหมดตัณหา โดยประการทั้งปวง ไม่มีตัวตนที่ยึดถือ… พระธรรมถ้าเป็นพระธรรมจริง ก็หมายถึงตัวความว่างนั่นเอง เป็นผลเกิดมาจากการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่รู้ถึงได้ด้วยการปฏิบัติถูกต้อง ถูกตรง สิ่งที่เป็นความว่าง ก็ปรากฏแก่บุคคลนั้นได้… พระสงฆ์ที่แท้จริง มีหัวใจว่าง คือไม่ยึดถือสิ่งทั้งปวง โดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน พระสงฆ์นั้นไม่ใช่ผ้าเหลือง ไม่ใช่ร่างกายที่คลุมอยู่ด้วยผ้าเหลือง แต่หมายถึงคุณธรรมสูงสุด ที่มีอยู่ในนั้น มันก็ได้แก่ความว่างอีกนั่นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ก็คือความว่าง
ทีนี้ถ้าสมมติว่า เราจะเกิดยึดมั่นถือมั่น ด้วยคำว่าตัวตนขึ้นมาแล้ว เราอย่าได้ไปเอาตัวตน ที่อื่นเลย จงเอาตัวตนที่ความว่าง …เอาสมมติความว่างนั่นแหละว่าเป็นตัวตน อย่าไปตัวตนที่ เนื้อหนัง ร่างกาย หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือจิตใจความคิดนึก รู้สึก อย่างนั้นอย่างนี้ จงเอาตัวตนที่ ความว่าง จึงจะเป็นตัวตนที่ไม่ทุกข์ แต่ว่าการพูดอย่างนี้เป็นการสมมติ ความจริงนั้นมันเป็นตัวตน ไปไม่ได้ เป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือตัวตน หรือจิตจริง ธรรมะจริง หรืออะไรเหล่านี้…มันมารวมอยู่ที่ความว่างหมด ถ้าไม่ใช่ความว่างแล้ว เป็นของปลอม ปลอมคือ ทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน มีความทุกข์ ไม่มีทางที่หลีกเลี่ยงได้
ทีนี้เราลองพิจารณากันดูต่อไปว่า ความว่างนี้มันอยู่ที่ไหน? เราจะไปหาที่ไหนพบ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะอยู่มากทีเดียว ท่านทั้งหลายทุกคนจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี จงตั้งใจคิดนึก ดูให้ดี พิจารณาดูให้ดีว่าความว่างมันอยู่ที่ไหน? ลองยกมือคว้าออกไป จะถูกความว่างหรือไม่? หรือว่าเราจะพิจารณาเหลียวหน้ามองไปทางไหน มันจะเห็นความว่างหรือไม่? ลองเอามือแตะที่จมูก ที่หน้าผากของตัวดู ว่าจะพบความว่างหรือไม่?
ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ความว่างมันอยู่ที่ไหน? ถ้ามีสติปัญญา พิจารณาแล้วจะพบว่า มันมีอยู่ในที่ทั้งปวง รวมทั้งในส่วนที่เราเรียกว่าตัวเราด้วย มันอยู่ในที่ทั้งปวง อยู่ในตัวเรา ถึงขนาด ที่เรียกว่า ไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร… คือมันอยู่มาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม และอยู่จริงๆ ด้วย แต่เราหามันไม่พบ เหมือนกับคนโง่คนหนึ่ง ได้ยินเขาพูดถึงเรื่องหน้าผาก แต่มันไม่เคยเห็นหน้าผาก มันก็ไม่รู้ว่า หน้าผากของมันนั้นมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาที่ไหน ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ถ้าฉลาดเอามือคลำดูมัน ก็พบหน้าผากของตัวที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ฉลาดมันก็มองไม่เห็น ลองคิดดูทีเถิดว่า ใครคนไหน มองเห็นหน้าผากของตัวบ้าง? … แต่ถ้าได้กระจกเงามาส่อง มันก็เห็นหน้าผากของตัวทันที
กระจกเงานั่นแหละคือธรรมะ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระราหุลว่า “ ธรรมะนั้นคือ กระจกเงา ที่มีไว้สำหรับส่องให้รู้จักความจริง” เช่นเดียวกับที่คนเขาส่องกระจกเงาแล้ว มองเห็น หน้าของตัวเองได้ เดี๋ยวนี้เราไม่ส่องกระจกเงา ของพระพุทธเจ้ากันเสียเลย มัวแต่ส่องกระจกเงาที่จะ
ผัดหน้าผัดตา ให้หลอกตัวเองและหลอกเพื่อนฝูงมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็เท่ากับว่าไม่ได้ส่องกระจกเงา ของพระพุทธเจ้า ถ้าได้เอาธรรมะมาส่องเป็นกระจกเงาแล้ว มันจะพบความว่างที่หน้าผากของตัวเอง หมายความว่าเราจะพบความว่างในตัวเรา พบความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในตัวเรา พบสุญญตา คือ ความว่าง ไม่ควรยึดถือแต่ประการใดเลยในตัวเรา เราหาพบได้ในตัวเรา มันมีอยู่ในตัวเราตั้งแต่ ไหนแต่ไรมาแล้ว แต่เราไม่เห็นว่าเป็นความว่าง ท่านพิจารณาดูให้ดีว่า คำว่า “เรา” เรา ในที่นี้ มันคืออะไรกันแน่? ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความว่างนั้น ถ้าเข้าใจถูกก็มี เข้าใจผิดก็มี
เพราะฉะนั้นตัวเราก็เหมือนกัน เข้าใจถูกก็มี เข้าใจผิดก็มี ถ้าเข้าใจผิด ก็ไปเอาร่างกายและ จิตใจว่าเป็นตัวเรา ถ้าเข้าใจถูกก็เอาความว่างมาเป็นตัวเรา ที่เอาความว่างมาเป็นตัวเรานี้ มันเป็น ตัวเราของความว่าง ถ้าเรียกว่า “เรา” ก็เรียกอย่างสมมติ เพราะฉะนั้นตัวเราอย่างที่แท้จริงนี้ มันไม่มี มันมีแต่ความว่าง แต่เราสมมติว่าตัวเรา เมื่อเราทำตัวเราให้ว่างไปได้ดังนี้แล้ว สิ่งต่างๆ มันก็ว่าง ตามไปเอง อะไรๆ มันก็ว่างตามไปเอง ถ้าเราต้องการจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า …จงดูโลกโดยความเป็นของว่างแล้ว ก็จงดูตัวเราให้เป็นของว่างเถิด โลกทั้งหลายก็จะเป็นของว่าง ไปเอง สมตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า …จงถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความตามเห็นว่าตัวตนเสียให้ได้เถิด ตัวตนก็จะว่างไป แล้วโลกทั้งหลายทั้งปวงก็จะว่างไป แล้วก็ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย …อย่าได้เข้าใจโง่ๆว่า ถ้าว่างแล้ว ก็จะพลัดตกลิ่วๆ ลงมา เหมือนกับตกจากฟากฟ้า นั่นเพราะความ เข้าใจเป็นตัวเป็นตน เป็นชิ้น เป็นดุ้น เป็นก้อน มันจึงตก แต่ถ้าเรามองเห็นตัวตนแท้ๆ โดยความเป็น ของว่างแล้วอะไรมันจะตก?…มันไม่มีอะไรจะตก มันเป็นของว่างไปด้วยกัน ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นของว่างไปด้วยกัน ไม่มีอะไรอยู่ ไม่มีอะไรตก มันจึงเป็นความว่างที่แท้จริง
ข้อที่พูดว่าไม่มีอะไรจะยึด จะหน่วงนั้น มันสำหรับคนที่ยังโง่ ยังกลัว แต่บุคคลที่เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงความว่างแล้ว ไม่ต้องยึดต้องหน่วงอะไร ในขณะนี้เราจะหน่วงอะไร? ถ้าอย่างนั้นในขณะนี้เรา จะต้องหน่วงเอาความว่าง เดี๋ยวนี้มันมีแต่ความวุ่น เราจะต้องหน่วงเอาความว่าง พยายามที่จะคว้าให้ พบความว่าง หน่วงหาความว่างให้พบ ให้ตัวตนหมดไป ความทุกข์ก็จะดับไปตาม จิตใจก็ว่าง ร่างกายก็ว่าง อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นความว่าง จึงไม่มีความทุกข์เลย
เราจะมองเห็นชัดว่า ความว่างเท่านั้นที่เป็นของมีอยู่จริง หรือพูดได้ว่าพระนิพพานเท่านั้น ที่เป็นของมีอยู่จริง นอกนั้นมีอยู่อย่างหลอกๆ มีอยู่อย่างเป็นมารยาหลอกลวง หลอกให้เห็นเป็นคู่ๆ ให้รักอย่างหนึ่ง - ให้เกลียดอย่างหนึ่ง แล้วมันก็วุ่นกันไปหมด เป็นสังขาร เป็นของปรุง เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง แต่ถ้าเกิดเห็นควมจริงข้อนี้ขึ้นมา ก็จะเห็นความว่างโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าโลกนี้หรือไม่ว่าโลกไหน รวมทั้งตัวเราเองในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วย มันจึงเป็นความว่างไปหมด มีแต่นิพพานอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เลย สิ่งที่เหลืออยู่โดยประจักษ์แก่ความรู้ก็คือ ความว่าง หรือ พระนิพพานเท่านั้น กายและใจเหลืออยู่แต่ความรู้ กับสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของความรู้ และรู้ว่าว่าง เพราะฉะนั้นความทุกข์จึงไม่มี
กายและใจที่บริสุทธิ์เช่นนี้ ก็คือกายและใจที่เราสมมติกัน เรียกกันว่า เบญจขันธ์บริสุทธิ์ของ พระอรหันต์ แตกต่างจากเบญจขันธ์ของพวกเรา ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา มันจึงไม่ว่าง เบญจขันธ์ ของพระอริยเจ้า มีความว่างเพิ่มขึ้นมีกิเลสตัณหาน้อยลง เบญจขันธ์ของพระอรหันต์…ว่าง โดยประการทั้งปวง ไม่มีกิเลสตัณหาเหลืออยู่ดังนี้ มันจึงเป็นที่สุด ที่จบ ที่สิ้น ของความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย
กายและใจที่ประกอบไปด้วยสติปัญญา ย่อมมองเห็นอยู่แต่ความว่างอย่างนี้ทุกเมื่อ อย่างที่ เรียกว่ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันจึงไม่มีความทุกข์ทุกเมื่อ ด้วยเหมือนกัน มีแต่ความว่าง ไม่มีอะไรมาก กว่านั้น มันไม่มีความทุกข์ก็พอใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความสุขที่มันวุ่นวายขึ้นมา อย่างใด อย่างหนึ่งอีก ที่ว่าของคู่ทั้งหลาย จะเป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตามเป็นเรื่องวุ่น ความว่างอย่างเดียว เท่านั้นจึงจะอยู่เหนือสุข - เหนือทุกข์ เหนือดี - เหนือชั่ว เหนือบุญ - เหนือบาป และเป็นสิ่งที่ พระอรหันต์ท่านมี
บัดนี้เราทุกคนประชุมกันอยู่ที่นี่ ทำพิธีเป็นที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย ประกาศความ ที่เรานับถือพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน นั้นว่าเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้จักจิตใจของท่าน รู้จักอะไรๆ ของท่าน ทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยกัน ว่ามันไม่มี อะไรนอกจากความว่าง เราก็จะได้มีจิตใจที่น้อมไปในทางของความว่างตามท่านไป ในที่สุดก็จะ ประสบความพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้เหมือนท่าน ไม่เสียทีที่ได้ประชุมกัน ทำพิธีมาฆปุณมีบูชา อย่างที่ได้ ทำไปแล้วนั้น นั้นเรียกว่าทำพิธี เพียงจะทำพิธีนั้นไม่พอ เราจะต้องทำให้เป็นความจริงขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องรับเอาความจริงอันนี้ไปศึกษาไปปฏิบัติ จนได้รับผลอย่างเดียวกันกับ พระอรหันต์ทั้งหลายที่เราเคารพสักการะบูชา และถือว่าเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับจะดำเนินตาม
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ทำมาฆบูชาแต่สักว่าพอเป็นพิธี แต่จะได้เอาไปใช้ให้เป็น ประโยชน์จริงๆ คือเข้าถึงความว่างให้ได้ อยู่เหนือความทุกข์ - ความสุข เหนือดี - เหนือชั่ว เหนือบุญ - เหนือบาป เหนือความวุ่นๆ ยุ่งๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกอย่าง เหลืออยู่แต่ความว่างหรือความสงบ สมตามที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา คือเป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระบรม ศาสดา ซึ่งมีให้เราแต่ความว่างอย่างเดียว เหมือนกับที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น จงทุกๆ คนเถิด ก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้รับสิ่งที่พระพุทธเจ้ามีให้เราจริงๆ …ก็จะได้ชื่อว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนาโดยประการทั้งปวง ควรจะกำหนดจดจำถึงข้อที่พระพุทธองค์ ทรงยืนยัน ว่า …ตถาคต สอนแต่เรื่องความว่าง และถ้าจะอยู่เหนือโลก เหนือทุกข์ทั้งหลายแล้ว ต้องมองเห็น โลกโดยความเป็นของว่าง มองเห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง
เรามาทำการเคารพบูชาบุคคลผู้ว่าง บุคคลผู้เข้าถึงความว่าง บุคคลซึ่งมีหัวใจเป็นความว่าง อยู่ดังนี้ นับว่าเป็นการได้ที่ดี เป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อย่าให้เสียที ด้วยกันจงทุกๆ คน ให้รู้จักสั่งสอน แนะนำเพื่อนฝูงด้วยกัน ให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องว่า ความว่างนี้ไม่เป็นของน่ากลัวเลย แต่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง จงรู้จักทำจิตใจของเราให้ว่าง ยิ่งๆขึ้นไป ด้วยกันจงทุกคน
ด้วยอำนาจความที่เรามีความเชื่อความเลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งมีหัวใจ เป็นความว่างด้วยกันทั้งนั้น ในที่สุดก็ไม่ต้องมีอะไรที่จะต้องกล่าว ต้องพูด ต้องทำอีกต่อไป เพราะว่า ได้รับสิ่งที่ควรได้ ควรถึง โดยประการทั้งปวงแล้วจริงๆ
ธรรมะเทศนาเท่าที่แสดงมา ในการสรุปความให้เห็นว่า ความว่างนั่นแหละเป็นความหมาย ของพระอรหันต์ เมื่อวันนี้เป็นวันของพระอรหันต์ เราก็จงเข้าถึงความว่างกันให้ได้ แม้อย่างน้อย ที่สุดเท่าใด ก็ต้องเข้าให้ถึงให้ได้ แม้จะไม่เป็นความว่างโดยสิ้นเชิง ก็ให้เป็นความว่าง บางสิ่ง บางอย่าง ตามสมควรแก่สติกำลังของตนเถิด เหมือนกับที่เรากำลังพูด กำลังฟังถึงเรื่องความว่าง อย่างนี้ เราก็ต้องมีจิตใจว่างบ้างตามสมควร ลองเปรียบเทียบกันดูกับเมื่อเราอยู่ที่บ้านกับที่เรามานั่ง ฟังอยู่ที่นี่ จิตใจของเรา ว่างหรือไม่ว่าง แตกต่างกันอย่างใด? เมื่อเราเข้าใจความข้อนี้แล้ว ก็จะ สามารถเข้าใจความว่าง ที่ยิ่งๆขึ้นไป โดยไม่ต้องสงสัยเลย เราก็จะกลับไป ด้วยความรู้ที่เพียงพอใน เรื่องของความว่าง จนสามารถไปควบคุมตนให้เป็นอยู่ด้วยความว่างยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยกันทุกๆ คนเถิด
ธรรมะเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
(นาทีที่ 1:23:46 – 1:25:08 เสียงพระสวดบทสาธุการ)