แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สวดมนต์บาลี นาทีที่ 00.10-00.46
ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับสืบต่อธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาไปแล้ว ซึ่งมีใจความว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งที่ประสบความทุกข์อยู่เพราะอำนาจของ กิเลส ตัณหา เป็นต้น ก็หาได้เอาใจใส่ในการที่จะเอาชนะความทุกข์ หรือกิเลสตัณหานั้นไม่ มีมูลมาจากความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุให้ยึดถือสิ่งต่างๆ ในทางที่ผิด มีความหลง, งมงาย, เข้าใจผิดไปทุกอย่างทุกทาง จึงไกลต่อการที่จะรู้หรือถอนตนออกมาจากกองทุกข์ได้ ความข้อนี้มีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า สัตว์เหล่านั้นเมื่อไม่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระอริยเจ้า-ก็ไม่รู้ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า-ก็ไม่เชื่อ แล้วจะช่วยกันได้อย่างไร? ขอให้ลองคิดดู คือไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ก็ไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง, เมื่อได้ยินได้ฟังก็ไม่เชื่อ, ได้ยินได้ฟังก็ไม่ยอมคิด ในที่สุด ก็พลาดจากการที่จะรู้หรือจะเข้าใจ ไม่มีทางที่จะปฏิบัติให้ถอนตนออกจากทุกข์ได้ ความติดอยู่ในสิ่งต่างๆ ตลอดถึงติดอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติที่ตนเห็นว่าเป็นของดีวิเศษ มาอย่างงมงายนั้นก็ถอนไม่ได้ เป็นความดื้อดึงต่อการที่จะถอนตัวออกจากความทุกข์ พิจารณาแล้วก็ยิ่งน่าสมเพชเวทนา เพราะเหตุว่าคำสั่งสอนนั้นๆ สอนเพื่อให้ตัวรอด แต่แล้วก็ยังดื้อดึง ยึดถือเอาความดื้อดึงนี้เป็นสรณะ-ไม่ยอมแพ้ ขอแต่ให้ได้ดื้อก็แล้วกัน
มีผู้เล่านิทานสำหรับจะได้กำหนดได้ง่ายๆ ไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งอยากจะให้ทุกคนกำหนด ข้อสำคัญสำหรับกำหนดในที่นี้ก็มีอยู่ว่า ความดื้อดึงของคนเรานั้น นำตัวไปสู่ความล่มจมได้อย่างไร? ความดื้อดึงนี้เป็นเหมือนกับยาเสพติด ยิ่งกว่าฝิ่น เป็นต้นเสียอีก คนที่เคยชอบดื้อหรือกำลังดื้ออยู่นั้นย่อมรู้จักดี
นิทานนั้นเล่าว่า มีตายาย ๒ คนสามีภรรยา ฝ่ายตานั้นเป็นคนเชื่อฟังขนบธรรมเนียมประเพณี เชื่อฟังคำสอนของพระอริยเจ้า ฝ่ายข้างยายนั้นตรงกันข้าม เชื่อแต่ตัวเอง จึงมีความดื้อดึง จนกระทั่งเขาจะพูดผิดหรือพูดถูก ไม่เอาใจใส่ทั้งนั้น ขอแต่ให้ได้ยึดถือ ความคิด ความเห็น หรือ คำพูด ของตัวก็แล้วกัน คือว่า ให้ได้รั้น ถือรั้นของตัวเองก็แล้วกัน ผิดถูกไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องเอาเป็นประมาณ เมื่อเป็นดังนี้หนักเข้า, หนักเข้า ข้างตาก็ทนไม่ไหว เมื่อทำอะไรไม่ถูกขึ้นมา ก็คิดว่าจะต้องบริจาคยายคนนี้เสียแล้ว คือ เอาไปใส่เหวให้เหวจัดการดีกว่า ตาก็ดำเนินเรื่องตามความคิดของแก คือ แกล้งห้ามยายว่า วันนี้อย่าไปที่ใกล้เหว ยายก็เถียงตามเคยว่า
“จะไป”
ตาว่า “อย่าไปให้มันใกล้ริมปากเหวนัก”
ยายก็ยิ่งว่า “จะเข้าไปให้ใกล้”
ตาว่า “อย่าแบกก้อนหินหนักๆ ไปด้วย”
ยายก็ยิ่งเอาก้อนหินหนักๆ มาแบกจนโซเซ ร้องห้ามตะโกนว่า อย่ายิ่งไปใกล้ปากเหว ก็ยิ่งใกล้เข้าไปทุกที จนกระทั่งยายตกไปในเหวเองโดยที่ตาไม่ต้องทำอะไร นอกจากพูดยั่วให้ยายดื้อมากขึ้นเท่านั้น
พอยายตกลงไปในเหว เรื่องก็มีต่อไปว่า ผีที่อยู่ในเหวนั้นก็ขึ้นมา ผีตัวนี้ถูกสาปมานานแล้วว่า ถ้าไม่มีคนหัวดื้อตกลงมาอยู่แทน ก็ไม่มีโอกาสจะขึ้นจากเหวได้ บัดนี้ มียายหัวดื้อตกลงไปแทน ผีก็ขึ้นมาจากเหวได้ พอผีขึ้นมาจากเหวก็พบกับตาที่ปากเหว ไต่ถามได้ความว่าเป็นผี ตาก็ขอร้องว่า
“ถ้าเป็นผีก็อยู่แต่ผี อย่าไปยุ่งกับคน”
ผีควรจะขอบใจตาบ้างในการที่ได้ทำให้ขึ้นมาจากเหวได้ คือ บริจาคยายให้คนหนึ่ง อ้างเอาบุญคุณอย่างนี้ขอสัญญากับผีว่า “ผีอย่าไปยุ่งกับคน”
ผีก็รับปากว่า “จะไม่ไปยุ่งกับคน” แล้วก็จากกันไป
ตากลับมาอยู่ที่บ้านตามเคย หลายวันต่อมา, ตาได้ยินเสียงเอ็ดตะโรพิลึกกึกก้องที่บ้านๆ หนึ่ง จึงรีบไปดูว่ามันเกิดอะไรกัน? เพราะเสียงอย่างนี้ไม่เคยมีมาแต่...มาแต่กาลก่อนเลย เพิ่งจะได้ยินกันคราวนี้ ตาก็ยิ่งสงสัยมากในการที่ได้ยินเสียงที่แปลกประหลาดเหลือประมาณ เสียงนั้นเป็นเสียงคนที่ผีเข้า จึงเป็นของแปลกประหลาด เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีคนผีเข้า เพราะผียังไม่ขึ้นมาจากเหว ไม่มีอยู่ในโลกนี้เลย
พอตาเดินไปถึงบ้านคนที่ผีเข้า ผีตัวนั้นเองมันมาเข้า พอผีเห็นตาเดินมาแต่ไกลก็ตกใจ เพราะได้สัญญากับตาไว้แล้วว่าจะไม่มายุ่งกับมนุษย์ ผีคิดสั้น, คิดไม่ทันก็ออกวิ่งหนี คือ ออกจากคนที่ผีเข้า วิ่งหนีไปต่อหน้าต่อตา ข้างตาก็เห็นได้ว่าผีตัวนี้เองที่ได้สัญญากันไว้ มาโกหกกันได้ เป็นธรรมเนียมของผีที่จะต้องหลอกเสียเรื่อยไป ก็เลยเอาไม้ไล่ตีผี ผีวิ่งหนีไปเรื่อยๆ ตาก็เอาไม้ไล่ตีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผีล้มลงตาย ศีรษะของมันแตกกระจาย น้ำมันในศีรษะผีนั้นกระจายไปตามที่ต่างๆ ไปติดอยู่ที่ไหนก็ทำให้ของสิ่งนั้นกลายเป็นของเสพติด
เขาเล่าว่า เอ่อ, เขาเล่าต่อไปว่า น้ำมันของผีนั้นลงไปใน ยาฝิ่น ก็ทำให้คน ติดฝิ่น, ลงไปใน เหล้า ลงไปใน น้ำกระแช่ - น้ำเมา ก็ทำให้คนเมา แล้วก็ ติดเหล้า ติดน้ำเมา, ลงไปที่ บ่อนไพ่ ก็ทำให้คน ติดไพ่ ในที่สุดแต่ลงไปใน น้ำชา, กาแฟ, บุหรี่ ก็ทำให้คน ติดน้ำชา, กาแฟ, บุหรี่ ลงไปใน เชี่ยนหมาก ก็ทำให้คน ติดหมาก, ลงไปในอะไรๆ ก็ล้วนแต่ทำให้คนเสพติดสิ่งนั้นๆ ไปทั้งนั้น จนต้องเป็นทาสของผีกันทุกคน อย่างคนที่เงี่ยนหมาก คิดดูเถิดว่ามันเหมือนกับผีสิงหรือหาไม่? คนที่กำ...คนที่กำลังเงี่ยนหมาก, เงี่ยนบุหรี่เต็มที่นั้น มันก็คือลักษณะของคนที่ผีสิงนั่นเอง เขาจึงอ้างว่าเพราะน้ำมันของผีกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ลงไปในสิ่งที่ทำให้คนติดสืบต่อมาจนบัดนี้ น้ำมันผีที่ก้อนใหญ่ๆ ก้อนโตๆ มากๆ ก็ติดแรง เช่น ยาฝิ่น เป็นต้น ที่เล็กๆ น้อยๆ ก็ค่อยยังชั่ว เช่น บุหรี่หรือหมากพลู เป็นต้น แต่มันเหมือนกันตรงที่ว่าถ้าลงติดแล้วก็ไม่รู้สร่าง และเมื่อไม่ได้กินตามที่ต้องการ เกิดเงี่ยนขึ้นมาก็แสดงอาการของผีออกมาให้เห็นชัดๆ ยืดยาวมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ น้ำมันของผีก็ไม่รู้จักหมดจักสิ้น ติดอยู่ในของเสพติด ให้ลูก, ให้หลาน, ให้เหลนของตายายนั้นได้เป็นทุกข์ ลำบากยากเข็ญกันด้วยของเสพติด ดังที่เราเห็นกันอยู่แล้วว่า ไม่มีทางที่จะสร่างจะสิ้นไปได้เลย เรื่องก็จบ
ข้อที่เขาสอนไว้ในนิทานเรื่องนี้ ที่เราทุกคนควรจะนึกจะคิดก็คือว่า ความดื้อดัน ถือรั้นนั้น มันมีมูลมาจากอวิชชา เพราะความดื้อดึง ถือรั้นอันมีมูลมาจากอวิชชานี่เอง จึงได้ทำให้สิ่งที่ไม่เคยมีในโลก เกิดขึ้นในโลก เช่น ยาเสพติด เป็นต้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น ก็คือ ทำให้ผีเกิดมีขึ้นในโลก เพราะว่าก่อนหน้านี้ผีไม่มีอยู่ในโลกเลย ทุกคนลองคำนวณดูเถิดว่า ถ้าผีไม่มีอยู่ในโลกนี้-โลกของเรานี้จะสะดวกสบาย, จะน่าอยู่กว่านี้มากมายสักเท่าไร? พอเกิดมีผีขึ้นมาอยู่ร่วมในโลกนี้ด้วยมันก็ยุ่งยากไปหมด เพราะว่าขึ้นชื่อว่า ผี แล้วมันก็ต้อง หลอก คือ ต้องโกหก หรือต้องหลอกลวง ต้องหลอกหลอน เราก็พลอยลำบาก เพราะ ถูกผีโกหก หลอกลวง หลอกหลอนกันต่างๆ นานา ถ้าอย่าต้องมีผีขึ้นมาทำอย่างนี้ เราก็จะสบายกันกว่านี้มาก เพราะฉะนั้น น่าจะเกลียดกลัวสิ่งที่ทำให้เกิดผีขึ้นมาในโลกนี้กันให้มากทีเดียว ข้อนี้ก็คือ อวิชชา ซึ่งเป็นเหตุให้คน โง่ แล้วก็ ดื้อ ดื้ออย่างยายคนนั้น ดื้อจนถึงกับตาบริจาคให้ลงไปในเหวได้ ด้วยคำพูดเพียง ๒-๓ คำ ความดื้อ หรือความอะไรของยายคนนี้ ทำให้ผีขึ้นมาจากเหวลึก มารบกวนคนในโลก แล้วยังทำให้เกิดโทษยุ่งยากลำบาก คือ เกิดของเสพติดหลายร้อยหลายพันอย่างขึ้นมาในโลก ทำให้คนยากจน ข้นแค้น ทำให้คนฉิบหาย
น้ำมันผีก้อนใหญ่ๆ ถ้าถามกันว่าตกที่ไหน? คนทุกวันนี้ก็คงจะถือกันว่า ตกอยู่ในสลากกินแบ่งฯ หรือเลขท้าย ๓ ตัว ก็เห็นกันได้ชัดๆ ว่าใครๆ ก็มึนเมา เสพติดสิ่งเหล่านี้กันเป็นการใหญ่ ออกหน้าออกตากว่าสิ่งทั้งหลาย จนทำให้อยู่กันไม่สุข ต้องเที่ยวซื้อ, ต้องเที่ยวขอ, ต้องเที่ยวรบกวนคนนั้นคนนี้ให้ช่วยบอก
นี่แหละพิจารณาดูเถิดว่าความยุ่งยากลำบาก ที่ไม่เคยมีนั้นมันเกิดมีขึ้นมา แล้วมากมายเหลือเกิน ผลสุดท้ายมันก็มีมูลมาจากความดื้อดึง, ไม่เชื่อฟังคำสอนของพระอริยเจ้า ความดื้อดึงนี้ก็มีมาจากความโง่, ความหลง หรือ อวิชชา เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าเกลียด, น่ากลัว, น่าขยะแขยงที่สุด ก็คือ อวิชชา หรือ ความโง่ ซึ่งเป็นเหตุให้คนดื้อดึง ดื้อเข้าไปหาความฉิบหายทำลายตัวเอง นี่ จะเป็นของที่ให้โทษ มากหรือน้อยเพียงไรก็จงได้พิจารณาดูเถิด
ความโง่, ความหลง นี้มีมูลมาจากการที่ขาดการศึกษา, ขาดการได้ยินได้ฟังคำสอนของพระอริยเจ้า เป็นเหตุให้บุคคลนั้นสมัครใจเข้าไปหาความทุกข์ด้วยความพอใจของตัวเอง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ขอร้องว่า “ช่วยเอามาสวมหัวให้ฉันที” เจ้าของกงจักรเขาบอกว่า “นี่! มันกงจักรนะ ไม่ใช่ดอกบัว” คนนั้นก็ยังเห็นว่าเป็นดอกบัว ขอร้องเอามาสวมหัวของตนจนได้ แล้วก็สลัดทิ้งไม่ได้ จึงต้องถูกกงจักรทับหัว มีความทุกข์อยู่ตลอดกาล ข้อนี้รู้ได้ด้วยนิทานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้เล่ากันไว้เพื่อเป็นเครื่องกำหนดจดจำอีกเหมือนกัน นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า
เมื่อครั้งแรกทีเดียวที่เขาสร้างโลกขึ้นมานั้น เขาไม่ได้สร้างสำหรับให้มนุษย์มีความทุกข์ เขาสร้างมนุษย์มาเป็นสัตว์สำหรับมีความสุข คือว่า พระเป็นเจ้าได้พิจารณาเห็นว่าสร้างโลกขึ้นมาเปล่าๆ ไม่มีมนุษย์นั้น โลกนี้ไม่งดงาม, โลกนี้ไม่น่าชื่นใจ จึงคิดที่จะสร้างมนุษย์ขึ้นมาสำหรับทำให้โลกนี้งดงาม, ให้มีค่า, ให้มีราคาสูง จึงได้คิดสร้างมนุษย์นี้ให้เป็นสัตว์ที่ดีที่สุด, ฉลาดที่สุด, งดงามที่สุด อะไรๆ ก็ที่สุด แต่ว่ากำหนดอายุไว้เพียง ๓๐ ปี อายุ ๓๐ ปีนี้ใครๆ ก็พอจะเห็นได้ ว่าถ้าคนเราเกิดมาแล้วมีอายุ ๓๐ ปี เหมือนกับที่กำลังหนุ่มสาวเต็มที่ หรือเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ทั้งผู้หญิงหรือผู้ชาย คือ ดูได้ที่คนอายุ ๓๐ ปีเต็มๆ นั้นก็จะเห็นได้ว่า มันสวยสดงดงาม ไม่มีอะไรที่น่าอิดหนาระอาใจ, น่าขยะแขยง เพราะฉะนั้น จะต้องเห็นว่าพระเป็นเจ้านั้นสร้างมาถูกแล้ว คิดมาถูกแล้ว ที่ให้มนุษย์มีอายุเพียง ๓๐ ปี กำลังสวยสดงดงาม-แล้วก็ตาย
ทีนี้ มนุษย์ถามว่า “สร้างมาทำไม?”
บอกว่า “สร้างมาสำหรับทำโลกนี้ให้น่าอยู่น่าดู”
“ให้มีอายุกี่ปี?”
“๓๐ ปี”
มนุษย์นึกในใจว่า ๓๐ ปีนี้น้อยนัก ถ้าอย่างไรก็ค่อยขอเพิ่มเติม
ครั้นพระเป็นเจ้าสร้างมนุษย์เสร็จแล้วก็สร้างสัตว์เพื่อให้รับใช้มนุษย์ เพราะกลัวว่ามนุษย์จะเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป จะลำบาก ยุ่งยากต่างๆ นานา จึงได้สร้างสัตว์พาหนะ เช่น วัว, เช่น ควาย ขึ้นมาสำหรับให้มนุษย์ใช้สอย
พอสร้างวัว, สร้างควายเป็นต้นขึ้นมาแล้ว วัวควายก็ถามพระเจ้าว่า
“นี่สร้างมาทำไม?”
พระเจ้าบอกว่า “สร้างมาสำหรับให้มนุษย์ใช้สอย”
ถามว่า “ให้มีอายุกี่ปี?”
พระเจ้าบอกว่า “๓๐ ปี”
วัวควายก็ตกตะลึงว่า สร้างมาเป็นบ่าวเป็นทาสเขาแท้ๆ แล้วยังให้อยู่ตั้ง ๓๐ ปี อย่างนี้มันมากเกินไป “ไม่ยุติธรรม! พระเจ้าควรจะลดเวลาสำหรับทนทุกข์ทรมานของเขานั้นให้น้อยลงอีก”
พระเป็นเจ้าก็เห็นใจว่าถูกของวัวของควายแล้ว จึงตกลงกันใหม่ว่า พวกวัวพวกควายนี้มีอายุอยู่ประมาณ ๑๐ ปีเถิด คือ ลดเสียตั้ง ๒๐ ปี
มนุษย์ได้ฟังอยู่ดังนั้นก็ยอบคลานเข้ามาหาพระเป็นเจ้าว่า
“ที่ลดให้วัว ๒๐ ปีนั้นเอามาเพิ่มให้มนุษย์เถิด”
พระเป็นเจ้าได้ฟังดังนั้นก็ชังน้ำหน้ามนุษย์ ที่รู้จักโลภขึ้นมาเสียแล้ว, รู้จักอยากใหญ่, ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เสือกเข้ามาขอเอาอายุของวัวไปเพิ่มให้แก่ตัวโดยไม่รู้ความหมายดังนี้ พระเป็นเจ้าโกรธขึ้นมาก็เลยประชดให้ว่า “เอ้า, ๒๐ ปีของวัวนี้ให้แก” มนุษย์ก็เลยได้เพิ่มอีก ๒๐ ปี
พระเป็นเจ้าเห็นว่าสร้างวัวควายสำหรับมนุษย์รับใช้...เอ่อ, สำหรับรับใช้มนุษย์นั้นไม่พอ ต้องสร้างสิ่งที่จะช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของมนุษย์ขึ้นมาด้วย จึงได้สร้าง สุนัข เป็นต้น ขึ้นมาให้ช่วยเฝ้าบ้าน, ช่วยระวังขโมย คือ เป็นสัตว์ที่ไม่ต้องนอน เพราะจะต้องทำหน้าที่แขกยาม พอสร้างสุนัขขึ้นมาแล้ว สุนัขก็ถามพระเจ้าว่า
“สร้างมาทำไม?”
พระเจ้าก็บอกว่า “ให้ช่วยเฝ้ามะ เอ่อ ให้ช่วยเฝ้าบ้านของพวกมนุษย์”
ถามว่า “มีอายุกี่ปี?”
พระเจ้าบอกว่า “ ๓๐ ปี”
มนุษย์ก็ตก... เอ่อ, สุนัขก็ตกตะลึงว่า
“ตั้ง ๓๐ ปี อดหลับอดนอน มันมากเกินไป ไม่ยุติธรรม ให้ลด”
พระเจ้าก็เห็นใจเลยตกลงว่าจะลดให้สุนัขอีก ๒๐ ปี ให้สัตว์ประเภทสุนัขนี้มีอายุประมาณสัก ๑๐ ปีก็แล้วกัน มนุษย์ที่ไม่รู้จักละอาย, ไม่รู้จักประสีประสา ก็ยอบคลานเข้าไปหาพระเป็นเจ้าอีกว่า “ที่ลดให้แก่สุนัข ๒๐ ปีนั้นช่วยเอามาเพิ่มให้แก่มนุษย์ด้วย” พระเป็นเจ้าก็ยิ่งโมโห ยิ่งเกลียดน้ำหน้าแต่พร้อมกันนั้นก็ยิ่งประชดมนุษย์ คือเพิ่มให้อีก ๒๐ ปี ที่ลดให้แก่สุนัขเอามาเพิ่มให้แก่คน คนก็เลยได้มาอีก ๒๐ ปี รวมเป็น ๗๐ ปีเข้าไปแล้ว
ต่อมา, พระเป็นเจ้าเห็นว่ามนุษย์นี้ควรจะได้มีสิ่งสนุกสนานบ้าง จึงได้สร้างสัตว์ประเภทลิงขึ้นมาให้มนุษย์ได้หัวเราะ ลิงถูกสร้างขึ้นมาใหม่ๆ ก็ฉงนเหมือนกันว่า
“สร้างขึ้นมาทำไม?”
ถามพระเป็นเจ้าก็บอกว่า “สร้างมาให้ทำหน้าที่ ทำให้มนุษย์สบายใจ ให้ได้หัวเราะร่าเริง”
ลิงก็ถามว่า “อยู่กี่ปี?”
พระเจ้าบอกว่า “๓๐ ปี”
ลิงก็ต่อรองว่า “ทำงานหนักมากตลอดเวลานานเช่นนั้น-ต้องลด ให้พอเหมาะพอสมกันหน่อย”
พระเป็นเจ้าก็ลดให้ ๒๐ ปี ให้สัตว์ประเภทลิงมีอายุประมาณ ๑๐ ปี มนุษย์ได้ยินดังนั้นก็แข็งใจเข้าไปพินอบพิเทาพระเป็นเจ้าอีกครั้งหนึ่งว่า “แม้ที่ลดให้แก่ลิง ๒๐ ปีนั้น ก็ได้กรุณาเอามาเพิ่มให้แก่มนุษย์เถิด”
พระเป็นเจ้ายิ่งโมโหหนักขึ้นไปกว่าก่อน ยิ่งเกลียดน้ำหน้ามนุษย์มากยิ่งขึ้นไปกว่าก่อน ก็ยิ่งประชดมนุษย์ให้มากกว่าก่อน โดยเพิ่มอายุที่ลดมาจากลิงนั่นให้แก่มนุษย์อีก ๒๐ ปี มนุษย์เลยได้ตั้ง ๙๐ ปี ทั้งๆ ที่พวกวัวควายก็ได้กันเพียง ๑๐ ปีโดยประมาณ สุนัขก็ได้กันเพียง ๑๐ ปีโดยประมาณ ลิงเป็นต้นก็ได้กัน ๑๐ ปีเพียงประมาณโดยประมาณ ส่วนมนุษย์ได้ถึง ๙๐ ปี ขอให้คิดดูให้ดีว่าเป็นของตัวเองจน ๓๐ ปี ไปเอาอย่างของวัวมา ๒๐ ปี เอาอย่างของสุนัขมา ๒๐ ปี เอาอย่างของลิงมา ๒๐ ปี
ในที่สุด พระเป็นเจ้าก็ปล่อยให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามที่ตกลงกัน มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่น่าดูงดงามแจ่มใสร่าเริงอยู่ได้เพียง ๓๐ ปีเท่านั้น คือ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงอายุปีที่ ๓๐ เพราะว่านั่นเป็นระหว่างอายุที่เป็นของตัวแท้ๆ เป็นสัตว์ที่สวยสดงดงามน่าดูอยู่ แต่พอหลังจาก ๓๐ ปีไปแล้ว ก็ต้องเป็น มนุษย์วัว เพราะได้ไปเอาของวัวมา ๒๐ ปี เพราะฉะนั้น ในระหว่าง ๒๐ ปีนี้ คือ ตั้งแต่ ๓๐ – ๕๐ นี้ก็ต้องเป็น มนุษย์วัว คือ ต้องลากแอก ลากไถของความเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือน ลองคิดดู, พ่อบ้านแม่เรือนคนไหนที่ไม่ต้องลากแอกลากไถของความเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือน คนที่เคยเป็นพ่อคน-แม่คนมาแล้วย่อมรู้ดีว่า มันสนุกหรือมันเป็นทุกข์กันสักเพียงไหนในการที่ต้องเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือน ต้องรับภาระหนักเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ต้องรับภาระหนักในการที่จะแสวงหาวัตถุปัจจัยต่างๆ นานามาเลี้ยงลูก-เลี้ยงหลาน ต้องป้องกันตัวเอง ต้องป้องกันลูก ต้องป้องกันหลาน ต้องรักษาทรัพย์สมบัติ มีภาระเพิ่มมากขึ้นอย่างหนักถึงที่สุด เหมือนกับวัวที่ลากแอกหนักๆ นั้นเหมือนกัน
เป็น มนุษย์วัว ไปได้ ๒๐ ปี อายุก็เข้ามาถึง ๕๐ ปี ทีนี้ก็ต้องเป็น มนุษย์สุนัข กันบ้างแล้ว เพราะว่าได้เอาของสุนัขมา ๒๐ ปี นี้คือ อาการที่คนนอนหลับยาก เมื่ออายุล่วงมาถึงขีดนี้มีวิตกกังวลมาก คิดมาก มีลูกมีหลานมีเหลนเต็มบ้านเต็มเมือง อะไรๆ ก็เป็นห่วงไปเสียหมดจนนอนไม่หลับ จะนอนหลับได้อย่างไร? ก็ลูกคนนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองโน้น ลูกคนโน้นเขาไปมีเหย้ามีเรือนอยู่ที่เมืองโน้น ยุ่งกันไปหมด มีลูกมีหลานก็มาก เงินทองก็ไม่ค่อยพอใช้ อะไรๆ ก็ล้วนแต่ระส่ำระสาย กลัวโจรกลัวขโมย มันหนักอกหนักใจอยู่บนคนแก่ๆ เหล่านี้ เด็กๆ นอนหลับสบาย คนแก่นอนหลับไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้เป็นระยะที่ไปเอาอายุของสุนัขมา มันจึงนอนไม่หลับเหมือนสุนัข เป็นห่วงทรัพย์สมบัติ เป็นห่วงว่าประตูบ้านปิดแล้วหรือยัง แม้แต่ประตูคอกวัว, คอกควายใต้ถุน คอกเป็ด, คอกไก่ก็ยังเป็นห่วงไปตามประสาคนแก่ที่อายุขนาดนี้
เมื่อเป็น มนุษย์สุนัข นอนไม่หลับมา ๒๐ ปี ถึงปีที่ ๗๐ แล้ว ก็เริ่มเข้าเป็น มนุษย์วานร คือ มีอะไรป้ำๆ เป๋อๆ ให้เด็กเขาหัวเราะเล่น มีกิริยาท่าทางผิดแปลกไปกว่าแต่ก่อน ทำอะไรก็งกๆ เงิ่นๆ น่าขบขันไปทั้งนั้น กินแล้วก็บอกว่าไม่ได้กิน ไปกินสิ่งที่ไม่ควรกินเข้าก็มี ล้วนแต่เป็นที่ตั้งของการหัวเราะของคนที่ได้พบได้เห็น เป็นอาการของลิงซึ่งมีหน้าที่ที่ทำให้คนได้หัวเราะ จนกระทั่งถึงปีที่ ๙๐ แล้วก็เข้าโลงไป
พิจารณาดูกันใหม่ตั้งแต่ต้นอีกครั้งหนึ่ง ว่าอายุเพียง ๓๐ ปีนั้นเป็นมนุษย์เต็มตามความหมายของความเป็นมนุษย์ คือ สดใส แต่พอหลังจากนั้นก็ไม่ได้เป็นมนุษย์เสียแล้ว ต้องเติมวัว, เติมสุนัข, เติมลิงเข้าไปข้างท้าย เป็น มนุษย์วัว บ้าง, เป็น มนุษย์สุนัข บ้าง, เป็น มนุษย์วานร บ้าง ไม่ใช่เป็นมนุษย์สมบูรณ์ตามความหมายของคำว่า มนุษย์ โดยตรง ก็ต้องทนทุกข์ทรมานไปตามข้อตกลงนั้นๆ หลีกเลี่ยงอีกไม่ได้ เพราะไม่มีใครทำให้มันทำเอง มันเข้าไปขอเอามาจากพระเป็นเจ้าเอง ทั้งๆ ที่พระเป็นเจ้าเขาไม่ได้กำหนดไว้สำหรับมนุษย์ แต่มนุษย์เสือกเข้าไปหา เข้าไปขอเอามาเอง ได้รับเอาห่วงนี้เข้ามาคล้องคอของตัวเอง ในลักษณะที่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เหมือนที่กล่าวแล้วข้างต้น ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ความทุกข์, ความยาก, ความลำบาก ทั้งหลายนี้ไม่ได้มีใครทำให้ มันเป็น ความโง่, ความหลง ของตัวเองที่สมัครใจเข้าไปรับเอามาใส่ตัวเอง จนกระทั่งเกิดเป็นข้อผูกพันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทนทุกข์ทรมานไปจนตาย
ทุกคนจะต้องมองให้เห็นว่า อำนาจของอวิชชา, ความโง่, ความหลง นี้มีอยู่อย่างไร? ถ้าอย่ามีสิ่งนี้อย่างเดียวเท่านั้น คนเราก็จะไม่ต้องมีความทุกข์ยากลำบากกันมากเหมือนเท่านี้, เหมือนที่กำลังเป็นอยู่นี้ จะรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่น่าเสน่หาเลย แต่ก็เข้าไปรับเอามาเป็นของตัว ไปดึง ไปดูด เอามาเป็นของตัว จนกระทั่งได้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะเหตุนั้น ถ้าใครนึกคิดได้หรือมองเห็นความจริงข้อนี้แล้ว คนนั้นก็จะเกลียดกลัว อวิชชา หรือ ความโง่, ความหลง อย่างมากเช่นเดียวกันอีก เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าความทุกข์ยากลำบากไม่เคยมีในโลก ก็เกิดมีขึ้นในโลกเพราะ อวิชชา ของยายแก่ มนุษย์ที่เขาสร้างมาสำหรับให้มีความสุขนั้นก็เสือกไปเอาหน้าที่ของวัว ของสุนัข หรือของวานรมาเป็นหน้าที่ของตัว ถ้าใครเก่งก็ลองเอาไปคืนให้พระเป็นเจ้า อย่าต้องเป็น มนุษย์วัว, เป็น มนุษย์สุนัข, หรือเป็น มนุษย์วานร กันอีกเลย คนนั้นแหละจะไม่ต้องทนทุกข์ตามข้อผูกพัน แต่เราจะเลิกร้างสัญญากับพระเป็นเจ้าได้อย่างไรในเมื่อมี ความโง่, ความหลง หรือ อวิชชา เต็มที่อยู่ดังนี้ เราจะต้องหันไปหาพระพุทธเจ้า ไปขอร้องเอาวิชชา หรือปัญญา หรือแสงสว่าง หรือจักษุมา เพื่อให้รู้เห็นตามที่เป็นจริง แล้วเรื่องความที่ต้องเป็น มนุษย์วัว หรือเป็น มนุษย์สุนัข เป็น มนุษย์ลิง เป็นต้นนั้นออกไปเสียให้พ้นจากตัว แม้อายุจะเลย ๓๐ ขึ้นมาถึง ๕๐ ก็จงอย่าได้หลงใหลในภาระอันหนักนั้น จงรู้จักปล่อย รู้จักวาง แม้อายุจะมากขึ้นมาในระหว่าง ๗๐ ถึง ๙ เอ่อ,... ในระหว่าง ๕๐ – ๗๐ ก็อย่าได้วิตกกังวลสิ่งต่างๆ ถึงกับนอนไม่หลับอีกเลย แม้อายุจะมากขึ้นไปจนถึง ๗๐ และ ๙๐ ก็อย่าได้ป้ำๆ เป๋อๆ ให้เด็กหัวเราะเลย คือ จะต้องประพฤติปฏิบัติในทางที่ให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไปเสียตั้งแต่แรก ตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลบำเพ็ญภาวนา เช่น อานาปานสติกรรมฐาน เป็นต้น ก็จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แม้อายุมากแก่เฒ่าก็ไม่หลงไม่ไหล จนกระทั่งตายก็ ไม่มีการหลงใหล เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่ป้ำๆ เป๋อ ๆ ให้เด็กหัวเราะ อยู่ถึง ๑๐๐ ปีก็ไม่หลงไม่ไหล ไม่ต้องตกเป็น มนุษย์วานร ให้เด็กหัวเราะ
นี่, ก็เพราะอำนาจบารมีของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งได้วางระเบียบปฏิบัติไว้สำหรับให้มนุษย์ปฏิบัติแล้ว จะไม่ต้องหลง ต้องไหล, ไม่ต้องเลอะ ต้องเลือน, ไม่ป้ำๆ เป๋อๆ จึงเป็นการเอาตัวรอดได้ เท่ากับฉีกสัญญาระหว่างมนุษย์กับพระเป็นเจ้าได้ ในขณะที่เป็นพ่อบ้าน-แม่เรือนก็อย่างเดียวกัน ถ้ามีความรู้ธรรมะในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เพียงพอแล้ว ก็ไม่หลงใหลในภาระหนัก, ไม่ต้องทุกข์หนัก, รู้จักปล่อยรู้จักวาง แต่ก็รู้จักทำไปตามสติกำลังโดยไม่ต้องมีความยึดถือ ไม่ต้องหนักอกหนักใจก็ทำงานได้ จะทำไร่ทำนาก็ได้, ค้าขายก็ได้, หรือทำอะไรก็ได้ไปทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีความหนักอกหนักใจ เพราะเหตุว่ามีสติปัญญาสว่างไสวแจ่มแจ้งอยู่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องยึดถือ ทำไปตามสะดวกสบายก็พอแล้ว
เมื่อได้ทรัพย์สมบัติมามาก ก็ไม่จำเป็นจะต้องห่วงหรือวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามเหมาะสมด้วยอำนาจของสติปัญญา ก็ยังนอนหลับสนิทได้ นี้, ด้วยอำนาจบารมีของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ที่ทำให้คนเราพ้นจากข้อผูกพัน ที่ผูกพันกันอยู่ว่าจะต้องเป็น มนุษย์จริงๆ ๓๐ ปี, แล้วเป็น มนุษย์วัว ๒๐ ปี, แล้วเป็น มนุษย์สุนัข ๒๐ ปี, แล้วเป็น มนุษย์วานร ๒๐ ปี นี้เป็นการบอกล่วงหน้าให้ท่านทั้งหลายทุกคนทราบอยู่ดีแล้ว ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นหรือไม่? มันแล้วแต่ใจของท่าน เป็นการเตือนไว้ล่วงหน้าสำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง ๕๐ ปี และบอกคนที่อายุถึง ๕๐ ปีแล้วว่าจะต้องจัดการกันอย่างไรจึงจะถอนข้อผูกพันนั้นให้แก่ตนได้?
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้สำหรับประโยชน์ข้อนี้เอง มีไว้สำหรับช่วยมนุษย์ที่โง่เขลาจนหลงตกไปเป็นทาสของความทุกข์ หรือของกิเลสตัณหา จะต้องคิดต่อไปให้เห็นความจริงข้อหนึ่งว่า ทีแรกเกิดมานั้นเป็นอิสระไม่ใช่ต้องเป็นทาสของอะไร แต่ในที่สุดมนุษย์ก็สมัครเป็นทาสเอง คือ สมัครไปรับเอาของวัวมาบ้าง ของสุนัขบ้าง ของวานรบ้าง มันจึงต้องตกเป็นทาส มีคำล้ออยู่ว่า ตัวเกิดมาเป็นอิสระแท้ๆ แต่กลับแส่ลงไปหาความเป็นทาส มันช่างน่าขันจริงๆ นะคนเรา ที่เกิดมาเป็นอิสระแล้วสมัครใจลงไปเป็นทาสดังนี้
พิจารณาดูให้ดีจะยิ่งเห็นว่า ความจริงข้อนี้มันกำลังครอบงำคนอยู่ทุกคน เกิดมาเป็นเด็กเล็กๆ นั้นเป็นอิสระร่าเริงสดใส พอโตขึ้นมาหน่อยก็เป็นทาสของสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยเฉพาะก็เรื่องอาหารการกิน, การแต่งเนื้อแต่งตัว พอตกเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เป็นทาสของกามอารมณ์ (กามารมณ์) โดยสิ้นเชิง ที่ไม่เคยเป็นทาสก็มาตกเป็นทาส ต้องระส่ำระสาย, กระวนกระวาย, เดือดร้อนเพราะการเป็นทาส พอเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือนก็ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติโดยสิ้นเชิง ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเพราะเรื่องทรัพย์สมบัติ ยิ่งอยู่ไป อยู่ไป ก็ตกเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ที่ตนรู้จักรวบเอามา สะสมเพิ่มเติมให้มันมากขึ้นท่วมหัวท่วมตาเป็นภูเขาเลากาไปทีเดียว ซึ่งจะเห็นได้จากคนแก่ๆ ที่อะไรๆ ก็เก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นร้อนไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ยอมปลง, ไม่ยอมวาง, ไม่ยอมแบ่งปันให้คนอื่นเลย จะเอาไว้คนเดียวให้หมด นี่, เป็นการชี้ให้เห็นอยู่ชัดๆ แล้วว่า ยิ่งอายุมากเข้าก็ยิ่งสมัครเป็นทาสมากเข้า
เมื่อเกิดมานอนอยู่ในเบาะวันแรกๆ ยังไม่ได้เป็นทาสของสิ่งใดนอกจากอาหารการกินบ้าง แต่พอโตขึ้น รู้จักคิด จักนึก, รู้จักแสวงหาความสนุกสนานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างนี้แล้ว ก็เป็นทาสของอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากขึ้น, มากขึ้น เป็นทาสของตน เพื่อตนคนเดียวไม่พอ ก็คิดมากไปถึงกับต้องเป็นทาสแทนลูก, แทนหลาน, แทนเหลนไม่มีที่สิ้นสุด นี้เรียกว่าเป็นทาสเพื่อตนคนเดียวไม่พอ ไปช่วยเป็นทาสแทนคนอื่นด้วย เหมือนกับที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ อย่างว่าจะมาวัดก็ต้องช่วยเลี้ยงควายให้ลูก เลี้ยงเป็ดให้หลาน จะมาฟังเทศน์ก็ไม่ได้เพราะว่าติดธุระของลูกของหลานดังนี้ จะไม่ให้เรียกว่าเป็นทาสของลูกของหลานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดได้อย่างไรกัน ความเป็นทาสนี้ขยายตัวมากออกไปทุกทีๆ ตามที่อายุมันมากขึ้น การที่เขาหัวเราะเยาะว่า เกิดมาเป็นอิสระ แล้วก็สมัครไปเป็นทาส ดังนี้ มันช่างน่าขันจริงนะคนเรา จงได้นำไปพินิจพิจารณาดูให้ดีเถิด บางทีจะช่วยแก้ตัวของตัวให้หลุดออกมาจากความเป็นทาสได้บ้าง หรือจะได้เป็นทาสน้อยเข้าสักหน่อยพอจะทนได้ ไม่มากเกินไป
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้สำหรับเปลื้องคนจากความเป็นทาส คนเราเป็นทาสของกิเลสตัณหา ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งสมัครเป็นทาสมากขึ้นจนถอนไม่ออก เว้นไว้แต่จะได้พบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นที่พึ่งจึงจะถอนตนออก แต่เมื่อมีความดื้อดึง ไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมฟังก็จะพบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างไรกันเล่า? ขอให้คิดดูเถิด หรือว่าพบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็พบกันแต่ปาก พบกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่เข้าถึงความหมาย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นๆ ว่าไม่รู้จักพระอรหันต์ ก็เกลียดกลัวความเป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป นี้, คือ ความโง่ ความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการดื้อดึง มีตัณหาในสิ่งใดฝังแน่นประจำอยู่ในใจก็ถอนออกไม่ได้ มีการปฏิบัติโง่เขลางมงายอย่างใด เคยปฏิบัติยึดถือมาแต่กาลก่อนก็ถอนไม่ได้ เหมือนกับยายคนนั้น-อดดื้อไม่ได้ เป็นผู้ติดอยู่ในสิ่งที่ยั่วยวน จึงได้ไปรับเอาอายุของวัว, ของสุนัข, ของลิงมาเพิ่มให้แก่ตัว เพราะอำนาจของตัณหา ที่ขยายออกไปไม่มีขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุดดังนี้
คนที่ตกอยู่ในลักษณะที่หลงอย่างมากมายเช่นนี้ จะประพฤติปฏิบัติสิ่งใดให้เป็นไปเพื่อถอนตนออกจากความทุกข์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ประพฤติก็จะต้องประพฤติเพื่อให้มีตัณหามากขึ้น, เพื่อให้ตกเป็นทาสมากขึ้นเท่านั้นเอง ข้อวัตรปฏิบัติของเขาจึงเศร้าหมอง คือ เป็นไปแต่ในทางที่จะเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว จิตใจของบุคคลประเภทนี้จึงหลุดพ้นออกไปจากความทุกข์ไม่ได้ เห็นได้ที่ยิ่งสมัครเป็นทาสไม่มีที่สิ้นสุดมากขึ้นนั่นเอง ไม่ถึงฝั่ง-ไม่ถึงตลิ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้มันเหมือนกับการเดินทาง จะด้วยทางบกหรือทางน้ำก็ตาม ซึ่งจะต้องเดินไปให้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง คือว่า หลุดพ้นจากความทุกข์ แต่คนไม่รู้จักเดินก็ยิ่งเดินเข้าไปหาความทุกข์ เรียกว่า ไม่ถึงฝั่ง-ไม่ถึงตลิ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนควรจะคิดจะนึกในข้อนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มีทางที่จะคิดได้ด้วยกันทั้งนั้น เด็กๆ ก็ควรจะรู้ไว้ทีก่อนว่า เกิดมานี้-เกิดมาทำไมกัน? ถ้าเข้าใจถูกต้องก็พอจะมองเห็นได้ว่า เกิดมาเพื่อเฉลียวฉลาด รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้นทุกที แล้วถอนตนออกจากความทุกข์ให้ได้ในที่สุด กระทั่งอายุมาก, กระทั่งเข้าโลง ก็ให้มีความสดใสแจ่มใสอย่างมนุษย์ มีสติปัญญาสมบูรณ์ ไม่ใช่งมงายหลับตาตายเข้าโลงไป
ความข้อนี้มีข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า คนเราจะรู้อะไรไม่ได้เว้นไว้แต่จะได้ผ่านสิ่งนั้นๆ มาเสียก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อเราเกิดมาในโลกนี้ ได้ผ่านโลกนี้มากขึ้นๆ เราก็มีสติปัญญามากขึ้น คนแก่ๆ จึงควรจะรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดี, รู้จักถอนตนออกมาจากความทุกข์, รู้จักดับทุกข์ให้แก่ตนได้ จึงจะเหมาะสมกับการที่เป็นคนแก่ จะไปเกณฑ์ให้เด็กๆ มันดับความทุกข์นั้น-เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะมันยังไม่รู้จักอะไร คนแก่ๆ ได้ผ่านโลก, ผ่านชีวิต, ผ่านสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมามากแล้ว -ควรจะรู้ดี รู้เท่าสิ่งทั้งปวงว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ไม่ตกไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น จึงสดใส แจ่มใส ร่าเริง เบิกบานเหมือนกับดอกไม้ที่แย้มบาน เพราะสติปัญญาได้เบิกบานขึ้นมาถึงขนาดเต็มที่แล้ว เด็กๆ นั้นสติปัญญายังหลับอยู่ ยังไม่บาน ยังไม่แจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้น จะต้องทำผิดๆ ถูกๆ ไปตามภาษาตามประสาของเด็กๆ ไม่ควรจะถือเอาเป็นโทษ แต่ถ้าคนแก่ทำอย่างนั้นก็ควรจะต้องถือเอาเป็นโทษทีเดียว เพราะว่าไม่สมกับที่แก่ ไม่สมกับที่อยู่ในโลกนี้มานาน ซึ่งควรจะรู้จักโลกนี้ดีว่าอะไรเป็นอย่างไร? เมื่อไม่รู้ก็ทำไปผิดๆ จนยุ่งยากกันไปหมด กลายเป็นคนแก่ที่เหี่ยวแห้ง ยิ่งแก่ยิ่งเหี่ยวแห้ง ไม่ใช่ยิ่งสดใสเบิกบาน นั่นแหละคือ คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเหี่ยวแห้ง ทรุดโทรมทั้งทางกายและทางใจจนกระทั่งเข้าโลงไป
แต่ถ้าเป็นคนโชคดีได้รับบารมีของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาจริงๆ แล้ว เป็นอันหวังได้ทีเดียวว่ายิ่งแก่ยิ่งเฒ่าจะยิ่งสดใส, จะยิ่งเบิกบาน, จะยิ่งสดชื่นเต็มที่ด้วยอำนาจสติปัญญาที่รุ่งเรืองเต็มที่ แล้วก็เข้าโลงไปด้วยความสดใสร่าเริง คือ ไม่หลับตาตาย ไม่ทำ กาลกิริยา ด้วยความหลง ทำ กาลกิริยา ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ก็ยิ้มตาย คือ ไม่ตาย เพราะมีจิตใจที่อยู่เหนือความตาย เข้าใจความหมายของ ความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย จนไม่อาจจะทำจิตใจให้เป็นทุกข์ได้เพราะ ความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย นี่แหละคือ บุคคลที่อยู่เหนือความตาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นเมื่อตอนกลางวัน คนนี้เป็นคนสดใสยิ่งขึ้นทุกทีและสดใสถึงที่สุดจนกระทั่งเข้าโลง แต่ส่วนคนอื่นที่ตรงกันข้ามนั้น มันเริ่มเหี่ยวมาตั้งแต่อายุผ่านหนุ่มสาวมาแล้ว ก็เริ่มเหี่ยว, แล้วก็เริ่มเหี่ยว, แล้วก็ตายไปอย่างเหี่ยวแห้ง มีลักษณะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงอย่างนี้เพราะมันดำเนินมาต่างกัน คนหนึ่งเป็นทาสของกิเลสมากขึ้น คนหนึ่งเปลื้องตนออกมาเป็นอิสระได้มากขึ้น คนหนึ่งได้รับแสงสว่างของพระพุทธเจ้า แต่อีกคนหนึ่งไม่ได้รับเลย จึงไม่มีอะไรมาหล่อเลี้ยงให้เกิดความสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นเท่าที่อายุมันมากขึ้น แต่กลับเหี่ยวแห้งไปตามที่อายุมันมากขึ้น เพราะต้องเป็น มนุษย์วัว, มนุษย์สุนัข และ มนุษย์วานร ดังที่ได้กล่าวแล้ว
เราแยกบุคคลได้เป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) พวกที่อวิชชาครอบงำไม่รู้สร่าง และ
(๒) พวกที่ถอนตนออกมาจากอวิชชาได้
(๑) คนที่อวิชชาครอบงำไม่รู้สร่าง ก็ต้องตกเป็น ทาสของอวิชชา จะต้องเป็น มนุษย์วัว, มนุษย์สุนัข, มนุษย์วานร ไปตามข้อผูกพัน
แต่ (๒) ผู้ที่เอาชนะอวิชชาได้นั้นไม่ต้องเป็นอย่างนั้น กลับเป็นมนุษย์ที่ดีที่งามยิ่งขึ้นไปกว่าทีแรกเสียอีก เพราะว่าเขาเอาชนะพระเป็นเจ้าได้ โดยมาพึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาอำนาจบารมี คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ไปลบเลิกข้อตกลงกับพระเป็นเจ้าเสียได้ เราชนะพระเป็นเจ้าได้ด้วยอำนาจบารมีของพระพุทธเจ้า เราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของพระเป็นเจ้า คือ อวิชชา หรือ ตัณหา อีกต่อไป พระเจ้าก็สร้างเราไม่ได้ ที่เราเคยหลงให้พระเจ้าสร้างนั่นสร้างนี่มาแต่กาลก่อน บัดนี้ เราก็เพิกถอนเสียจนหมดสิ้น ไม่ตกอยู่ใต้การควบคุมของพระเป็นเจ้าอีกต่อไป จึงไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพระเป็นเจ้าเพื่อทนทุกข์ทรมานไปจนตาย เหมือนกับคนที่ไม่ได้พบแสงสว่างของพระรัตนตรัย
นี่, เท่าที่แสดงมานี้เป็นตัวอย่างเครื่องกำหนดกันง่ายๆ ว่า คนเราต้องตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์นั้น เพราะ อวิชชา, เพราะ ความโง่, ความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้ ดื้อดึง เหมือนกับยายแก่ทำโลกนี้ให้เต็มไปด้วยความทุกข์ โลกที่ไม่เคยมีความทุกข์ก็กลับมีความทุกข์ โลกที่ไม่เคยมีความยุ่งยากมาแต่กาลก่อนก็กลายเป็นมีความยุ่งยากมากกว่าแต่กาลก่อน เกิดมาไม่ใช่สำหรับเป็นทาสก็มากลายเป็นเกิดมาสำหรับเป็นทาส และเป็นทาสมากยิ่งๆ ขึ้นทุกทีเพราะเหตุ อวิชชา ความหลง หรือความดื้อดึงนั้นๆ
หวังว่าท่านทั้งหลาย, ผู้เป็นพุทธบริษัท ที่ยังรักเกียรติยศของการเป็นพุทธบริษัทอยู่ จะได้นำไปพินิจพิจารณาดูให้ดี เพื่อจะถอนตนออกมาเสียได้จากอำนาจของ อวิชชา หรือ กิเลส หรือ ความทุกข์ ยังจะมีทางเอาตัวรอดได้ ยังมีโอกาสข้างหน้าเพียงพอ เพราะว่าถ้าเราทำให้ถูกวิธีแล้ว การหลุดพ้นนั้นจะมีขึ้นได้โดยง่ายดาย ไม่ต้องใช้เวลามากมายอะไรนัก แต่ถ้าทำผิดวิธีแล้ว ตลอดชาติก็ไม่สามารถจะเปลื้องตนออกมาจากความทุกข์ได้ ได้มีคำกล่าวไว้ดังที่ได้ยกเป็น นิเขปบท ข้างต้นว่า
ตณฺหาธิปนฺนา วตฺตสีลพทฺธา
คือ สัตว์ทั้งหลายถูก ตัณหา ครอบงำเอาแล้ว, ยึดมั่นด้วย ศีลวัตร แล้ว
ลูขํ ตปํ วสฺสสตํ จรนฺตา
ประพฤติอยู่ซึ่งวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็เศร้าหมอง แม้จะประพฤติปฏิบัติอยู่ตั้งร้อยปีพันปีก็ตาม
จิตฺตญฺจ เนสํ น สมฺมา วิมุตฺตํ
จิตของคนเหล่านั้นก็หาสามารถจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้ไม่
หีนตฺตรูปา น ปารงฺคมา เต
คนที่มีความต่ำทรามเป็นลักษณะเช่นนี้ไม่อาจจะถึงฝั่งแห่งพระนิพพานไปได้เลย
พระพุทธภาษิตนี้มีใจความสำคัญสั้นๆ ว่า
คนขี้เหร่มัวติดอยู่ในศีลวัตรที่เคยยึดถืออย่างงมงายนั้น จะถึงฝั่งแห่งพระนิพพานไปไม่ได้
ทำไมจึงเรียกคนขี้เหร่?
เพราะเหตุว่าตกเป็นทาสกันเสียงอมแงมอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้เรียกว่า คนขี้เหร่ อย่างไร
ทำไมจึงเรียกว่าติดมั่นในศีลวัตร?
ก็เพราะเหตุว่าปฏิบัติสิ่งต่างๆ อย่างงมงาย ไม่มีปัญญารู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นอะไร ได้ยินได้ฟังอะไรสักหน่อยก็ยึดถือโดยความเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ปฏิบัติสิ่งต่างๆ ก็ในทางขลัง ในทางศักดิ์สิทธิ์อย่างงมงาย หาใช่มีเหตุผลชนิดที่จะเจาะแทงทำลาย กิเลส ให้สูญสิ้นไปไม่ มีแต่จะพอกพูน กิเลส คือ ความโง่, ความหลง ให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น จึงเรียกว่าเป็นคนขี้เหร่แล้วติดมั่นใน ศีลวัตร ที่เคยปฏิบัติมาอย่างงมงายสืบต่อกันมาไม่มีที่สิ้นสุด แล้วจะถึงฝั่งโน้น คือ พระนิพพานอันไม่มีทุกข์ได้อย่างไรเล่า?
ปัญหาข้อนี้มีความสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการจะทำตามรอยของพระอรหันต์ ถ้าเรายังสมัครใจที่จะทำตามรอยของพระอรหันต์อยู่ ก็พึงสนใจในปัญหาข้อนี้ คือ ข้อที่เป็นคนขี้เหร่ติดมั่นใน ศีลพรต ถอนตัวออกมาไม่ได้ สมัครเป็นทาสของ อวิชชา มากขึ้นตามตัวที่มีอายุมากขึ้น ทุกคนจะต้องระลึกนึกดูให้ดีว่าการที่ถอนตนออกมาไม่ได้นั้น มันเพราะความสมัครใจของเราเอง คนอื่นจะมาทำคนอื่นให้ติดเป็นทาสนั้นไม่ได้ ตัวเองสมัครเป็นทาสเองแล้วใครจะช่วยได้ ลองพิจารณาดูถึงข้อนี้ให้มาก ก็จะป้องกันการตกลงไปเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย ตัวอย่างในการเป็นทาสของ กามารมณ์ นี้ใครเป็นคนใช้คนสอย ถ้าไม่ใช่ตัวสมัครใจตัว สมัครด้วยใจของตัวเองเพราะอำนาจ อวิชชา ความโง่ ความหลง แล้วใครจะมาช่วยตัวได้ ถ้าตัวไม่ช่วยตัวของตัว?
ในกรณีอย่างอื่นก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น คนเหล่านั้นจะต้องพยายามคิดนึกระลึกให้มากอยู่เสมอ ว่า ตนจะต้องช่วยตนของตน จะให้คนอื่นมาช่วยตนนั้นย่อมไม่มีหวัง คนจำนวนมากหวังว่าจะให้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาช่วย ในลักษณะที่เหมือนกับว่าเพื่อนฝูงช่วยกันทำการทำงาน ช่วยให้เงินให้ของ เหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ในกรณีที่เกี่ยวกับ กิเลส หรือความทุกข์ เพราะว่า กิเลส หรือความทุกข์นั้นเป็น ของเฉพาะตน จะต้องดับด้วยตน เช่นเดียวกับที่ได้สร้างขึ้นมาด้วย ตน จะหวังการช่วยเหลืออย่างอื่น เช่น การรดน้ำมนต์ เป็นต้น นั้นเป็นสิ่งที่หวังไม่ได้ ความบริสุทธิ์ไม่มีได้เพราะการรดน้ำมนต์ เหมือนกับที่คนโดยมากเข้าใจรดแล้วรดอีกมันก็ยังดีขึ้นไม่ได้ ความบริสุทธิ์จะมีได้เพราะ ตน ทำให้บริสุทธิ์ถูกต้องตามเหตุผล รู้ว่าความไม่บริสุทธิ์เกิดมาจากอะไร แล้วก็พยายามถอนตนออกมาเสียจากสิ่งเหล่านั้น คนโง่ๆ ก็พากันหลงโทษนั่น โทษนี่ โทษผี โทษเทวดา จนต้องตกไปเป็นบ่าว เป็นทาสของผี, ของเทวดาอีกต่อหนึ่ง เป็นคนแท้ๆ ยังสมัครเป็นทาสของผี ต้องไปงอนง้อผีให้ผีช่วย นี่จะเห็นได้ว่ามันน่าอับอายขายหน้าสักเท่าไร เป็นมนุษย์มีจิตใจสูงก็ยังต้องก้มศีรษะลงไปขอความช่วยเหลือจากผี ที่มันเป็นผี-มันไม่มีอะไรดี มีแต่ความหลอกลวง คนที่ไม่รู้จักละอายอย่างนั้นก็ยังถือผี ยังนับถือผี ยังอ้อนวอนผี ยังบนบานให้ถูกเลข ๓ ตัวเพราะอำนาจของผี แล้วจะเดินตามร่องรอยของพระอรหันต์ได้อย่างไรกัน
ขอให้ลองคิดดูเรื่องง่ายๆ สั้นๆ ก็มาเป็นอย่างนี้เสียแล้ว เรื่องใหญ่ๆ ยาวๆ คือ การเดินไปถึงพระนิพพานนั้นมันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น อีกทางหนึ่งคนที่เขลาเหล่านั้นไปโทษนั่น โทษนี่ กระทั่งไปโทษเนื้อตัว โทษดิน โทษน้ำ โทษลม โทษไฟ แต่ไม่ได้โทษ กิเลส ของตัว ไม่ได้โทษความโง่ ความหลงของตัว ไปโทษว่าเกิดมาไม่ดีบ้าง ไปโทษว่าพืชพรรณไม่ดีบ้าง ไปโทษว่าต้องทำลายตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียก่อนจึงจะไม่มีความทุกข์ดังนี้บ้าง นี้เป็นความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ข้อหนึ่งว่า
“พวกแกจงตัดป่าสิ อย่าไปตัดต้นไม้เลย อันตรายมันเกิดมาจากป่า มันไม่ได้เกิดมาจากต้นไม้”
ข้อนี้ใครฟังถูกบ้าง ขอให้ลองคิดดูต่อไป พระพุทธเจ้าท่านห้ามว่า อย่าไปตัดต้นไม้ - ให้ตัดป่าสิ คนที่จะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าจะตัดป่าได้อย่างไรโดยไม่ต้องตัดต้นไม้? ข้อนี้อธิบายว่า
ป่า นั้นหมายถึง อันตรายหรือความรกรุงรัง เราสะสางความรกรุงรังให้หมดไปโดยไม่ต้องตัดต้นไม้ แต่กลับเอาต้นไม้ยืนต้นไว้เป็นร่มเป็นเงา ได้รับความสะดวกสบายเยือกเย็นด้วยซ้ำไปเพราะเราไม่ตัดต้นไม้ แต่เราตัดความรกรุงรัง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์ร้ายต่างๆ นานาที่จะมาเบียดเบียนเรานั้นเสียให้หมดสิ้น ไม่มีที่บังที่อาศัยสำหรับสัตว์ร้ายอีกต่อไป มีแต่ต้นไม้ที่โล่งโถง ที่เยือกเย็นสบาย ให้ความสุขแก่บุคคลนั้น นี่แหละคือความหมายของคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ตัดป่าสิ อย่าตัดต้นไม้เลย เพราะว่าอันตรายไม่ได้เกิดมาจากต้นไม้แต่มันเกิดมาจากป่า”
คำว่า ป่า ในที่นี้หมายถึง กิเลส คำว่า ต้นไม้ ในที่นี้หมายถึง นาม-รูป ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ กิเลส แล้วจะมาทรมานกายให้ลำบากยุ่งยากลำบากไปทำไม? อันตรายไม่ได้อยู่ที่ นาม-รูป แต่อยู่ที่ กิเลส เราจะต้องจัดการกับ กิเลส ชำระ นาม และ รูป นี้ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ต้องทำลาย เบญจขันธ์ แต่ว่าชำระสิ่งที่มารบกวน เบญจขันธ์ ซึ่งได้แก่ กิเลส นั่นเอง พยายามทำลาย กิเลส โดยไม่ต้องพยายามทำลาย นาม และ รูป หรือ เบญจขันธ์ นี้ท่านเรียกว่า ตัดป่าโดยไม่ต้องตัดต้นไม้ คนเขลาๆ พากันตัดต้นไม้เสียโครมคราม จนวินาศไปหมดสิ้น ในที่สุดก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัย กลับยุ่งยากลำบากไปกว่าเก่า ไม่เอาใจใส่บำรุงต้นไม้ให้อยู่ดี ให้มีประโยชน์ จึงไม่ได้รับประโยชน์ กลายเป็นโทษ คือ ได้รับอันตรายเพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว
พระพุทธเจ้าท่านสอน ให้ตัดกิเลส, ให้ทำลายกิเลส, ให้ทรมานกิเลส แต่ ไม่ต้องทรมานตัว คือ ไม่ต้องทรมานร่างกายหรือจิตใจ ผู้ที่มีปัญญาควรจะรู้จักแยก กิเลส ออกไปจากร่างกายและจิตใจให้มันเป็นคนละส่วนกัน แล้วก็จัดการทำลาย กิเลส นั้น หรือบั่นทอน กิเลส นั้นๆ ไม่ให้อาหารแก่กิเลสนั้นๆ ให้กิเลสนั้นผอมลง ผอมลง จนกว่าจะตายไปในที่สุด คือ เหือดแห้งไปในที่สุด นี้เรียกว่าเป็นความฉลาด-ไม่เข้าใจผิด คนที่เข้าใจผิดกลับไปบำรุง ป่า หมายถึงไปบำรุง กิเลส ด้วยการหลงใช้ร่างกายหรือจิตใจนี้ให้เป็นเหยื่อของ กามาอารมณ์ พอกพูนปริมาณของ กามาอารมณ์ ก็เท่ากับการพอกพูน ป่า ให้มันมากขึ้น เลยกลายเป็น บำรุงป่า แทนที่จะ ตัดป่า ป่ามันก็รกขึ้น หนาขึ้น อันตรายอันเกิดจากป่ามันก็มีมากขึ้น นี้เป็นการทำตรงกันข้ามกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ว่า
เฉตฺวา วนญฺจ วนถญฺจ นิพฺพนา โหถ ภิกฺขโว ซึ่งมีใจความว่า
“เมื่อพวกแกตัดป่าและหมู่ป่าที่หนาแน่นนั้นออกแล้ว ก็จะเป็นคนไม่มีป่า คือ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอันตราย อันเกิดมาจากป่านั่นเอง”
คำว่า ไม่มีป่า ในที่นี้ก็หมายความว่า ไม่มีกิเลส เป็นคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีป่ารกชัฏอยู่ในจิตในใจ คือ ไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลส-ก็ไม่มีความทุกข์ เพราะว่า ความทุกข์จะเกิดมาได้จากกิเลสเท่านั้น ถ้าเราไม่มีป่าเสียแล้วสัตว์ร้ายก็อาศัยไม่ได้ ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว-ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ จึงเป็นคนไม่มีป่า คือ ไม่มีกิเลส อยู่เป็นสุขสบาย สมกับที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกตนเองว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือเป็นพุทธบริษัท เป็นพุทธมามกะได้เต็มตามความหมาย
ผู้ที่ไม่มองเห็นความจริงอันนี้ก็มัวแต่หลงผิดสำคัญผิด ทำไปในทางที่ให้เกิดกิเลสมากขึ้นเท่านั้น หนักเข้าก็สมัครเป็นสัตว์ของกิเลส ยินดีที่จะนอนจมอยู่ในกองกิเลสจนกระทั่งเข้าโลงไป นี้ มันช่วยไม่ได้เพราะเหตุที่ว่าเป็นผู้ไม่รู้จักป่า เป็นผู้ไม่รู้จักกิเลส จึงได้สมัครเป็นทาสของกิเลส ทั้งๆ ที่เกิดมานั้นเป็นอิสระด้วยกันทุกคน เขาเป็นผู้มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสจนได้รับภัยอันใหญ่หลวง คือ ความทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า นกติดบ่วงนั้นน้อยตัวที่จะหลุดไปได้
บ่วง คือ กิเลส นี้ครอบงำบุคคลอยู่เป็นประจำ และน้อยคนที่จะหลุดไปจากบ่วงนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีใครหลุดไปจากบ่วงเสียเลย เมื่อทำให้ถูกวิธีแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะหลุดจากบ่วงได้ แต่อย่าได้หลงใหลไปว่าเป็นนกแล้วจะต้องติดบ่วง ครั้นติดบ่วงแล้วก็ไม่ต้องคิดที่จะไถ่ถอนให้หลุดออกมาเสียจากบ่วง ยินดีที่จะตายในบ่วง ดังนี้ นั่นเป็นความคิดที่ผิดพลาด เรื่องที่ล่วงมาแล้วก็เป็นอันล่วงไปแล้ว แต่เรื่องที่กำลังเป็นอยู่นี้จะต้องจัดการให้ถูกต้อง ให้ดี คือ จะต้องเปลื้องตนออกจากบ่วงถ้ากำลังติดบ่วงอยู่ และจะต้องระวังไม่ให้หลงเข้าไปในบ่วงในเมื่อเรายังไม่ติดบ่วง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลอดอันตรายจากบ่วง คือ กิเลส หรือความทุกข์นั้นๆ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า
อิจฉา นะรัง ปะริกัสสะติ -
ความอยาก, ความใคร่ นั่นแหละเป็นผู้ชักนำคนไปหาบ่วง
อิจฉา โลกัสมิง ทุชชะหา
ความอยากหรือความใคร่นั้นเป็นสิ่งที่ละได้แสนยาก มันมีประจำอยู่ในตนแล้ว มันก็ต้องลากไปหาบ่วง
อิจฉา พัทธา ปุถู สัตตา ปาเสนะ สะกุณี ยะถา
ปุถุชนคนเขลาทั้งหลายเหล่านั้น ติดแน่นอยู่ในความอยากมันจึงติดบ่วง เหมือนกับนกที่ติดบ่วงหลุดไปไม่ได้
นกที่ติดบ่วงแล้วจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเจ้าของบ่วง คือ นายพราน ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่ติดบ่วงของกิเลสแล้วจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพญามาร ซึ่งจะทำนำไปสู่ความพินาศโดยประการทั้งปวง เสื่อมเสียทุกอย่างทุกทาง ไม่มีทางที่จะเป็นอิสระ ไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดได้ เหมือนกับสัตว์ที่ติดบ่วงของนายพรานแล้ว ก็จะต้องถูกฆ่า, ถูกแกง, ถูกนำไปทำให้เป็นอาหาร สูญสิ้นไปไม่มีอะไรเหลือ ดังนี้
การที่สัตว์มี ความอยาก หรือมี ความใคร่ เป็นเครื่องชักนำไปหาบ่วงนั้นเป็นความจริง ที่เราจะต้องระลึกนึกถึงอยู่เสมอ ว่าพระอรหันต์นั้นท่านเป็นอย่างไร? พระอรหันต์ไม่อยู่ในบ่วง เป็นผู้หลุดจากบ่วงโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะว่าเป็นเหมือนกับนกที่แสนรู้ มีสติปัญญาสามารถรู้เห็นตามที่เป็นจริง ว่าอะไรเป็นบ่วง? ว่าอะไรเป็นแร้ว? ว่าอะไรเป็นเหยื่อล่อคนไปหาบ่วง? ว่าอะไรเป็นที่ปลอดภัยไม่มีบ่วงไม่มีเหยื่อ? ดังนี้ มีความรอบรู้ มีสติปัญญา เป็นนกแสนที่จะรู้-ก็ไม่ต้องหลงติดอยู่ในบ่วง ถอนตนออกมาจากบ่วงเสียได้ เป็นพระอรหันต์อยู่เหนือความทุกข์ เป็นผู้ที่เราทุกคนยึดถือเอาเป็นตัวอย่าง เอาเป็นสรณะ เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างนี้ในวันนี้ๆ ก็เพื่อบูชาคุณของพระอรหันต์นั่นเอง แล้วเราจะทำตนของตนให้ตรงกันข้ามจากปฏิปทาของพระอรหันต์กันอย่างไรเล่า? ควรจะได้พยายามตั้งหน้าตั้งตา หรือตั้งตนกันใหม่ ให้เดินตามร่องตามรอยของพระอรหันต์ยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมา คือ ให้เอาชนะความทุกข์ให้ได้ จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับทันตาเห็น
ความที่ต้องตกอยู่ในความทุกข์นั้น เพราะมีความสำคัญผิดในสิ่งที่ตนปรารถนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คนเราติดมั่นยึดมั่นใน ความดี หรือ ความสุขสนุกสนาน ตามที่ตนจะเห็นว่าดีอย่างไร ครั้นมาถูกชักชวนให้ละความดี ให้อยู่เหนือความดี ให้สูงไปกว่าความดี ก็กลัวว่าจะหมดสนุก-เลยไม่เล่นด้วย, ไม่เอาด้วย ในที่สุด ก็ต้องติดอยู่ในบ่วงตามที่ตนเห็นว่าอะไรเป็นความสุขสนุกสนาน ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ได้เวียนว่ายอยู่ใน วัฏฏสงสาร ชนิดละเอียด ประณีต สุขุม ซ่อนเร้นไม่ให้เห็นว่าเป็นบ่วง ไม่ให้เห็นว่าเป็นความทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า
ปุญญะปาปะปะหีนัสสะ นัตถิ ชาคะระโต ภะยัง
ภัย หรือ อันตรายจะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ตื่นอยู่ คือ ละเสียได้ทั้งบุญและบาปนั้น-ไม่ได้
นี้,พระพุทธเจ้าท่านเรียกคนที่ละเสียได้ทั้งบุญและบาปนั้นว่าเป็น คนตื่นอยู่ ถ้ายังละไม่ได้ก็หมายความว่า ยังหลับอยู่ ยังหลงใหล ทำผิดในเรื่องบุญและเรื่องบาปอยู่เป็นอันมากทีเดียว มีค่าเท่ากับคนหลับ หลับอยู่ในกองบุญกองบาป ก็ได้เวียนว่ายล่องลอยไปใน วัฏฏสงสาร ตามอำนาจของบุญและบาป นี้เรียกว่า หลับด้วยอำนาจของอวิชชา ครั้นมารู้ว่าสิ่งที่ยั่วให้เกลียด-ก็เป็นอันตราย สิ่งที่ยั่วให้รัก-ก็เป็นอันตราย ทำจิตใจให้อยู่เหนือสิ่งที่ยั่วให้เกลียดและยั่วให้รักเสียทั้ง ๒ อย่าง-ก็จะพ้นจากอันตราย
แต่เดี๋ยวนี้คนเราไม่สมัครกันอย่างนั้น สิ่งไรที่น่ารักก็แร่เข้าหา ก็เร่เข้าหาด้วยอำนาจของ กิเลส จนตกอยู่ในบ่วงของสิ่งนั้น ก็คือ หลับตาเข้าไปหาบ่วง แล้วจะเรียกว่าเป็นคนตื่นได้อย่างไรกันเล่า? มันเลยกลับตรงกันข้ามกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ว่าสำหรับคนที่ตื่นอยู่ก็ละเสียได้ทั้งบุญและบาปนั้น จะไม่มีภัยอันตรายเลย เราควรจะพิจารณาให้ละเอียดลออจนถึงกับเห็นว่า การเว้นจากการเว้นจากความชั่ว หรือการทำความดีให้สมบูรณ์นั้น ยังไม่เป็นการบริสุทธิ์สะอาดที่เพียงพอ ต้องทำจิตให้หมดจดจากความยึดถือทั้งความดีและความชั่ว ดังที่ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ตอนกลางวันนั้นเสียก่อน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ตื่นอยู่ คือ ไม่หลับตา ถ้ายังหลับตาก็หมายความว่า ยังมี อยาก ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ หรือว่าถ้ายังมี อยาก ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ก็หมายความว่า ยังหลับตา จึงเอา ความอยาก นี่แหละเป็นเครื่องวัด เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวัดว่า ถ้ายังมี ความอยาก อยู่แล้วก็ยังคือคนหลับตา เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่มีอะไรที่น่า อยาก คนทุกคนจงสำรวจจิตใจของตนด้วยตนเองก็แล้วกันว่ากำลัง อยาก อะไรอยู่บ้างหรือหาไม่? ถ้ายังมี อยาก ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ก็ต้องจัดตัวเองเป็นคนที่ยังหลับตาอยู่ แล้วไม่ต้องสงสัย-คนที่หลับตานั้นจะปลอดภัย, ปลอดจากอันตรายไปไม่ได้ มันจะต้องทนประสบกับอันตรายโดยไม่ต้องสงสัยเลย
เมื่อรู้ว่า ความอยาก นั่นแหละ คือ เครื่องหมายของการหลับตาอยู่ดังนี้แล้ว ก็จะต้องหาทางกำจัด ความอยาก ให้หมดไป ให้สิ้นไป จะได้เป็นคนลืมตากันเสียที ข้อนี้ก็ต้องอาศัยการพินิจพิจารณา ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นหลัก คือ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นเอง ไปๆ มาๆ ก็ไม่พ้นเรื่องนี้ จนถึงกับบางคนอาจจะรำคาญแล้วก็ได้ ว่ามัวกล่าวแต่เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น นี้มันช่วยไม่ได้เพราะเรื่องมันมีอยู่เพียงเท่านี้ มันสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ เพราะไม่รู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ จึงได้ตกเป็น เหยื่อของกิเลสตัณหา หรือจึงได้หลับหูหลับตาสมัครเข้าไปเป็น ทาสของกิเลสตัณหา แล้วถอนออกไม่ได้จนกระทั่งเข้าโลงไป เกิดมาสำหรับทุกข์อย่างเดียว ไม่ใช่เกิดมาสำหรับดับทุกข์ ถ้าเมื่อใดมารู้แจ้งเห็นจริงในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว เมื่อนั้นแหละจะเป็นการแสดงว่าได้มีการตื่นขึ้นมาแล้ว, ลืมตาแล้ว, จะไม่ตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายได้อีกต่อไป ดังนี้ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น มีเครื่องกำหนดสังเกตตรงที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ถอยหลังต่อสิ่งที่เคยหลงรัก หลงยึดถือ ถ้าไม่มีอาการอย่างนี้-ไม่เรียกว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเอามาท่องกันให้จ้อไปนั้น แม้จะท่องเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะจิตยังไม่เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ยังไม่ถอยหลังต่อสิ่งที่เคยยึดถือและหลงใหล อย่าได้ประมาทว่าตนรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว อย่าได้ประมาทว่ามันรู้ได้ง่ายๆ เพียงแต่พูดเอาก็ได้ ดังนี้ คนแก่ๆ มักจะอวดดีว่ารู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ลืมตัว แต่แล้วในที่สุดก็ปรากฏว่าไม่ได้รู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรเลย รู้แต่ปากว่าเหมือนนกแก้ว นกขุนทอง จึงไม่มีอะไรที่ได้เปรียบเด็กๆ คือ ต้องมีความทุกข์เท่าเด็ก หรือมากไปกว่าเด็กด้วยซ้ำไป
ถ้าจะรู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กันจริงๆ แล้ว ต้องเอาหลักเกณฑ์กันตรงที่ว่า ทำให้ถอยหลัง เบื่อหน่าย คลายกำหนัดต่ออันตราย ก่อนหน้านี้เร่เข้าไปหาอันตรายด้วยความสมัครใจ ยินดีพอใจในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ถ้าเมื่อใดเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว เมื่อนั้นจะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ และได้พบทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด คือ พระนิพพาน อันเป็นบทสวดที่เราสวดกันอยู่เป็นประจำที่เรียกว่า ธัมมนิยามสูตร ว่าเมื่อใดเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนัตตา เมื่อนั้นจะเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เป็น ทุกข์ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ยิ่งรักยิ่งหลงใหลในสิ่งที่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเท่านั้น จึงจะได้เบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ไม่ยินดีในสิ่งที่เป็นทุกข์อีกต่อไป นี่แหละคือ หนทางแห่งพระนิพพานอันเป็นความหมดจด
เราจะต้องพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นแจ้งจริงๆ จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะต้องอาศัยสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้วด้วยตนเองจริงๆ ว่าอะไรเป็นอย่างไร? จนรู้ความน่าเบื่อหน่าย น่าอิดหนาระอาใจของสิ่งนั้นๆ จึงจะได้ชื่อว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างสมมติว่า ได้ผ่านความมีเงิน, มีทอง, มีทรัพย์สมบัติมาแล้ว จนเกิดความเห็นแจ้งว่าเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทั้งนั้น แล้วเบื่อหน่ายในการที่ต้องเป็นอย่างนั้น นี่แหละ จึงจะเรียกว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในทรัพย์สมบัติ ในเงินทอง แก้วแหวน ถ้าผิดจากนี้แล้วก็ยังไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะต้องตกเป็น ทาสของกิเลสตัณหา ที่ลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ เงินทอง แก้วแหวนนั้นต่อไปอีก เป็นผู้ที่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาเสียแล้ว จะเป็นอิสระของตัวได้อย่างไร? จะมาเป็นทาสของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างไร? ย่อมไม่มีหนทาง เมื่อตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์ ต่อเมื่อสมัครมาเป็นทาสของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ จึงจะคลายจากความทุกข์ ค่อยๆ ถอนตนออกจากความทุกข์ ไม่ต้องเป็นทาสของสิ่งใดทั้งหมด นั่นแหละ จึงจะนิพพาน
พระอรหันต์ได้ปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เรื่อยมาตามลำดับจนหมดสิ้นจึงเป็นพระอรหันต์ ก่อนหน้านี้ก็มีความยึดถืออย่างเราท่านทั้งหลายทุกคน แต่ว่าไม่เป็นผู้หลับตาอยู่ที่นั่น เป็นผู้ลืมตาแล้วก้าวเดินออกมาเสียจากที่นั่น มาสู่ความเป็นอิสระ จึงสามารถเอาชนะสิ่งต่างๆที่ครอบงำ ย่ำยี พัวพัน หุ้มห่อเหล่านั้น มาเป็นอิสระ คือ เป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด ไม่มีอะไรที่จะยึดถือสำหรับอยากได้, อยากมี, อยากเป็น, อยากเอาอีกต่อไป นี่แหละเรียกว่า เป็นผู้ที่ถึงที่สุดของการดับตัณหา มีจิตใจอยู่เหนือการปรุงแต่งของกิเลส ไม่มีตัณหาและทิฏฐิฉาบทาจิตใจของท่าน เป็นผู้ตื่นอยู่อย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้หลับได้อีกต่อไป จึงได้เรียกว่าเป็น พระอรหันต์
พระอรหันต์นั้นถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่งแล้วท่านกล่าวว่า เป็นผู้ที่ไม่มีประมาณ คือว่า เป็นผู้ที่ใครๆ จะกล่าวท่านว่าเป็นอะไรไม่ได้ อย่างจะกล่าวว่าพระอรหันต์นี้เป็นคน หรือไม่ใช่คนดังนี้-ก็กล่าวไม่ได้ เพราะว่าถ้าเป็นคนก็เป็นเหมือนอย่างท่านทั้งหลายที่กำลังมีความทุกข์อยู่ ถ้าไม่ใช่คนก็อาจจะเป็นผี เป็นสาง เป็นเทวดา อมนุษย์ไปก็ได้ เพราะว่าพระอรหันต์นั้นไม่มีกิเลสตัณหาจึงไม่เหมือนกับอะไรหมด ผีสางหรืออมนุษย์นั้นก็ยังมีกิเลสตัณหาทั้งที่มันไม่ใช่คน พระอรหันต์จึงไม่อาจจะถูกกล่าวว่าเป็นคนหรือไม่ใช่คน อย่างจะกล่าวได้ก็กล่าวว่าเป็นพระอรหันต์ คือ ผู้ไม่มีกิเลสตัณหา เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาแล้วก็ไม่มีความอยากในสิ่งไร จิตใจของท่านจึงเป็นจิตใจพิเศษ คือ จิตใจที่ใครๆจะเอาชนะไม่ได้ เป็นจิตใจที่ใครๆวัดไม่ได้ว่าสูงหรือต่ำเท่าไร? มันสูงจนพ้นสูง จะว่าสูงก็ไม่ได้ จะว่าต่ำก็ไม่ได้ จะว่าท่านเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะท่านอยู่เหนือความเป็นคนดีหรืออยู่เหนือความเป็นคนชั่ว ถ้าท่านเป็นคนดีก็ต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี แต่พระอรหันต์ไม่มีความทุกข์เลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วไปไม่ได้ จะเรียกว่าพระอรหันต์อยู่ที่นั่น หรืออยู่ที่นี่ หรืออยู่ที่ไหนก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะไม่มีจิตใจเกาะเกี่ยวอยู่ในสิ่งใด จะว่าพระอรหันต์อยู่ที่วัดหรืออยู่ในป่าอย่างนี้ก็ไม่ถูก พระอรหันต์ไม่มีจิตใจเกาะเกี่ยวอยู่ในวัดหรืออยู่ในป่า คือ มีจิตใจชนิดที่ไม่อยู่ที่ไหนหมด นั่นมันจึงแปลกคนทั้งปวง จะเรียกว่าท่านอยู่ป่าก็ไม่ได้ จะเรียกว่าอยู่วัด, อยู่บ้านก็ไม่ได้ เพราะไม่มีจิตใจที่จะอยู่ที่ไหน จะเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นคนมีสุข หรือเป็นคนมีทุกข์ก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านไม่ต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่อยู่เหนือ ความสุข-ความทุกข์ เพราะว่า ความสุข-ความทุกข์ นี้มันเป็นของหลอกๆ มันเป็นของที่เป็นไปตามเหตุ-ตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง พระอรหันต์มีจิตใจอยู่เหนือการปรุงแต่ง จึงไม่มาหลงสุขหรือหลงทุกข์เหมือนกับพวกเรา ท่านจึงไม่ใช่คนมีสุขหรือคนมีทุกข์ แต่ท่านเป็นพระอรหันต์ คือ อยู่เหนือความสุขหรือเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง
เราเสียอีกตั้งหน้าตั้งตาคิดนึกว่าเราจะมีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ จะอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต จะสร้างบ้านสร้างเรือนให้สบาย แล้วอยู่อาศัยจนตลอดชีวิตที่นั่นที่นี่ ดังนี้เป็นต้น นั้น คือ ความเป็นคนพาล, คือ ความเป็นคนหลง โดยหลงไปว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเที่ยงแท้แน่นอน เอาอย่างไรได้อย่างนั้น ส่วนพระอรหันต์นั้นไม่มีความยึดถืออย่างนั้น ไม่มีความหวังในสิ่งใดหมด ไม่หวังว่าจะเป็นอย่างไร ไม่หวังว่าจะอยู่อย่างไร หรือนานเท่าใด เป็นผู้ไม่มีความสนใจในสิ่งใดๆ ไม่รู้สึกทึ่ง หรือไม่รู้สึกฉงนในสิ่งใดๆ หมด เพราะไม่ต้องการอะไร คนธรรมดามัวแต่จะสงสัยเอาใจใส่สิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าอะไรมันดีกว่าอะไร ที่มีอยู่แล้วนี้มันไม่ค่อยจะดี จะหาใหม่ให้ดีกว่านี้ จึงคอยทึ่ง คอยสงสัยว่ามีอะไรที่ไหนอีกที่ดีกว่านี้ ดังนี้เป็นต้น
วันคืนมันจึงล่วงไปด้วยความอยาก ด้วยความสงสัย ด้วยความหวัง ด้วยความวิตกกังวลต่างๆ นานา หาความสงบสุขไม่ได้ นั่นคือ คนธรรมดา ส่วนพระอรหันต์ไม่มีความเป็นอย่างนั้น มีแต่จิตใจที่บริสุทธิ์ มีแต่ เบญจขันธ์ ที่บริสุทธิ์ ไม่มีการฉาบทาของ กิเลส ตัณหา หรือ ทิฏฐิ เป็นต้น จึงเป็น เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ เป็นเบญจขันธ์ที่บุคคลธรรมดาเข้าใจได้ยากว่าบริสุทธิ์อย่างไร? เว้นเสียแต่จะได้ปฏิบัติไป, ปฏิบัติไป จนกระทั่งตน เป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์อย่างนั้นบ้าง เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์นั้น หมายถึง นาม-รูป ล้วนๆ ไม่มี กิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่มีความยึดถือว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ในเบญจขันธ์นั้นเลย เบญจขันธ์นั้นจึงไม่เป็นของหนักแก่จิตใจที่มีความรู้สึกในเบญจขันธ์นั้น นั่นแหละเรียกว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีประมาณ จะเอาอะไรไปวัดพระอรหันต์ไม่ได้ว่าท่านเป็นอะไร? อย่างไร? มากน้อยเพียงใด? อยู่ที่ไหน? ดังนี้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกเพิกถอนแล้วหมดจดสิ้นเชิงในกรณีที่เกี่ยวกับพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่มีคำเรียก คำกล่าว ที่จะไปกล่าวเรียกพระอรหันต์ว่าท่านเป็นอะไร? ไม่มีทางที่จะกล่าวว่าเป็นคนหรือเป็นสัตว์? ไม่มีทางที่จะกล่าวว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา? ไม่มีทางที่จะกล่าวว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว? ไม่มีทางที่จะกล่าวว่าเป็นคนสุขหรือคนทุกข์? ได้แต่กล่าวว่าเป็น พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งมีความหมายว่าอยู่ เหนือดี-เหนือชั่ว, เหนือสุข-เหนือทุกข์, เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง, เหนือไปหมด จนจัดไว้เป็นพวกที่อยู่ เหนือโลก อันเราเรียกว่า โลกอุดร หรือ โลกุตตระ มีจิตใจอยู่เหนือวิสัยโลกโดยประการทั้งปวง โลกนี้ครอบงำย่ำยีไม่ได้ โลกนี้มีปัญหาก็แต่คนที่ยังติดอยู่ในโลก มีจิตใจต่ำจนจมอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก ยึดมั่นติดพันในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก จึงต้องมีความทุกข์ทรมานไปตามวิสัยโลก ส่วนพระอรหันต์นั้นอยู่เหนือโลก อยู่เหนือวิสัยที่โลกจะครอบงำย่ำยีได้ เหมือนกับว่าอยู่ในที่สูงสุดจนน้ำท่วมไม่ถึง แล้วก็ไม่ต้องเปียกเปื้อนด้วยน้ำอีกต่อไป ดังนี้ ความดีก็เปียกเปื้อนท่านไม่ได้ ความชั่วก็เปียกเปื้อนท่านไม่ได้ จึงอยู่เหนือ ความดี และ ความชั่ว, จึงอยู่เหนือ ความสุข และ ความทุกข์ อีกต่อหนึ่ง
พระพุทธเจ้าหรือพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นจอมพระอรหันต์นั้น เป็นผู้ที่ได้ทรงค้นหาหรือเสาะหาอุบาย สำหรับที่จะถอนตนหรือถอนสัตว์ทั้งหลายให้ขึ้นอยู่เหนือน้ำ คือ ความดี-ความชั่ว หรือ ความสุข-ความทุกข์ พระองค์ได้ทรงพบความจริงในข้อที่ว่า ถ้ามีกิเลสตัณหายึดถือตัวตนเป็นตน ของตน หรือยึดถือโลกนี้โดยความเป็นตัวตน หรือมีตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้อยู่แล้ว จิตใจนี้ก็จะต้องมีความทุกข์เพราะอำนาจความยึดถือซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความอยากนั่นอยากนี่ เพราะฉะนั้น ทางที่จะรอดพ้นจากความทุกข์จึงมีอยู่ตรงที่ มองเห็นโลกนี้ตามที่เป็นจริง คือ ให้เห็นว่าว่างจากตัวตนที่น่าเสน่หาโดยประการทั้งปวง จึงได้พบวิธีที่จะทำให้ไม่เกิดกิเลสตัณหา เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาก็ไม่มีความทุกข์ เรียกว่า ได้พบวิธีที่จะอยู่เหนือความทุกข์ เป็นวิธีที่จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง อันเราเรียกว่า ปฏิปทา ที่เป็นเครื่องดับแห่งทุกข์โดยไม่มีเหลือ ดังที่ได้นำมาสวดสรรเสริญกันอยู่เป็นประจำ เป็นการแสดงถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่เหนือพวกเรา ว่าเพราะอาศัยสติปัญญาของพระพุทธเจ้าหรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เราจึงได้พลอยรู้ความจริง, เรื่องทุกข์, เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์, เรื่องความดับทุกข์ และ ปฏิปทาสำหรับให้ได้ความดับทุกข์นั้นไปตามพระพุทธเจ้าด้วย เราจึงพลอยพ้นจากความทุกข์ โดยสารตามพระพุทธเจ้าไปด้วยได้นี้ เป็นพระกรุณาคุณที่เราสำนึกระลึกนึกถึงอยู่แล้ว พากันทำการบูชาเหมือนที่ได้กล่าวสรรเสริญ แล้วก็ทำการเวียนประทักษิณ แสดงออกมาทางกายอีกต่อหนึ่งให้ครบถ้วนทั้ง ทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ว่าเรายอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นจอมแห่งพระอรหันต์นั้นเป็นที่กำหนด เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง ที่ระลึกถึง สำหรับจะเอาเป็นตัวอย่างแล้วพากันดำเนินตาม
เราเวียนเทียน – เราเวียนไปข้างขวา นั้นหมายความว่า เราจะเดินตามพระอรหันต์เหล่านั้น ถ้าเราเวียนไปข้างซ้าย ก็สมมติว่า เราจะเวียนไปหาภูตผีปีศาจหรือกิเลส จะสมัครไปเป็นบ่าวเป็นทาสของภูตผีปีศาจ คือ กิเลส แต่ถ้าเราเวียนไปข้างขวา หมายความว่า เราจะเดินตามพระอรหันต์ เวียนไปสู่พระนิพพาน คือ ความดับทุกข์สิ้นเชิงตาม ปฏิปทา ที่พระบรมศาสดาได้ทรงวางไว้ ให้เป็นเครื่องถอนตนของสัตว์ทั้งหลายดังที่วิสัชนามา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมันมีมูลมาแต่ความดื้อดึง ไม่ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า ไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ก็ประพฤติปฏิบัติผิดๆ ในสิ่งทั้งปวง ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติผิดๆ ของมนุษย์เรานี่เอง เป็นผู้ที่หลงผิดแล้วก็เร่เข้าไปหาความทุกข์ รับเอาความทุกข์มาเป็นของตนโดยสมัครใจ เหมือนกับโลกนี้ที่ไม่เคยมีความทุกข์เพราะผียังไม่ขึ้นมา ก็มามีความทุกข์เพราะผีขึ้นมาจาก อวิชชา ของคนนั่นเอง เป็นอันว่า คนนั่นแหละได้สร้างความทุกข์ขึ้นใส่ตน หรือใส่โลกนี้ แล้วมันก็เป็นหน้าที่ของคนอีกนั่นแหละ ที่จะต้องช่วยกันดับความทุกข์ ขจัดผีปีศาจให้หมดไปจากโลก โลกนี้จะได้น่าอยู่ คือ เป็นโลกที่มีความสุข มีความสบายกันได้ด้วยกันทุกคน จึงหวังว่าผู้ที่มองเห็นความจริงข้อนี้ จะได้ช่วยกันเดินตามร่องรอยของพระอรหันต์ ให้สมกับการที่เราพยายามทำมาฆบูชา อ้างเอาคุณพระอรหันต์เป็นเบื้องหน้า
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้