แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มาฆบูชาปี ๒๕๑๐ กัณฑ์ที่ ๒
(สวดมนต์) นาทีที่ 00.27-01.02
......................................อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สุญญโต โลกัง อเวกขสสุ โมฆะราช สทา สโต
อัตตานุทิฏฐี โอหัจจะ
เอวัง มัจจุตะโรสิยา
เอวัง โลกัง อเวกขันตัง
มัจจุราชา น ปัสสติ ฯ
เริ่มเทศน์นาทีที่ ๑.๐๒ ............
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาธรรมเทศนาอันเป็น ปุพพาปรลำดับ สืบเนื่องจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาไปแล้ว การที่บุคคลมีความประสงค์จะชำระจิตของตน ให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น มีความมุ่งหมายในส่วนใหญ่ ก็คือ เพื่อจะหลุดพ้นไปจากสิ่งที่ยึดถือ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลุดพ้นจากโลก การทำความชั่วและการทำความดีก็ตาม ทั้ง ๒ อย่างนี้ทำให้ติดอยู่ในโลก ส่วนการทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น เป็นการทำให้หลุดพ้นออกไปจากโลก เป็นคนละเรื่องกัน
ข้อนี้ต้องการคำอธิบายอยู่มาก เพราะอาจจะเข้าใจผิดถึงคำว่า ทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง การทำความชั่วนั้นทำให้เศร้าหมอง-ถูกแล้ว แต่การทำความดีก็เป็นการทำให้เศร้าหมองอีกชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่เป็นความเศร้าหมองที่ปราณีตละเอียดจนคนธรรมดาไม่ถือว่าเป็นการเศร้าหมอง ถ้าหากว่าการทำความดี หรือกุศลไม่เป็นความเศร้าหมองชั้นละเอียดแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่จำเป็นจะต้องตรัสข้อที่ ๓ ว่า จงทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองไว้อีก เพราะได้ตรัสว่าให้ทำความดีให้สมบูรณ์ไว้เป็นข้อที่ ๒ แล้ว แต่เพราะเหตุที่การทำความดีให้สมบูรณ์นั้น ยังเป็นเครื่องเศร้าหมองชั้นประณีต คู่กันกับการทำความชั่วที่เป็นความเศร้าหมองชั้นหยาบ การทำความชั่วเป็นเครื่องเศร้าหมองอย่างหยาบๆ และเป็นการทนทุกข์ทรมาน เจ็บปวดนีhเห็นได้ชัดไม่ต้องกล่าว ส่วนการทำความดีหรือกุศลนั้น เป็นการทำให้เศร้าหมองชั้นประณีตและไม่ทนทรมาน แต่ถ้าเป็นการเศร้าหมองเพราะเหตุที่ทำให้ไม่หลุดพ้นออกไปจากสิ่งทั้งปวงได้ ยังพอใจยินดีอยู่ในสิ่งทั้งปวง ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด เพราะอำนาจของความดีที่ได้กระทำไว้ คือ ได้ไปเกิดดี เกิดในสุคติภพ เป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็เป็นเทวดา เป็นพรหมที่ดี แต่ถึงจะไปเกิดดีอย่างไรก็ยังมีความเศร้าหมองเพราะยังเป็น ปุถุชน ยังมีความยึดถือ ตัวตน ยึดถือว่า ของตน พูดอย่างหยาบๆ ภาษาบ้านเราๆก็ว่ายังมีความรู้สึกว่า ตัวกู ยังมีความรู้สึกว่า ของกู อยู่ในใจ ความดีของกู ความสุขของกู อะไรๆก็ของกู ตัวกูก็ดี ตัวกูก็มีสุข ดังนี้ มี ทิฏฐิ มี ตัณหา มี กิเลส อันละเอียดที่เป็นเหตุให้ยึดถือตัวตนหรือของตนนี้อยู่ ยังละไม่ได้ จึงต้องเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น แม้จะได้ทำความดีถึงอย่างนี้ และได้เกิดดีอย่างนี้ ท่านก็ยังจัดว่าเป็นความเศร้าหมอง เป็นความเศร้าหมองชั้นละเอียดอยู่นั่นเอง จึงได้ตรัสสำทับเป็นข้อที่ ๓ ว่า จงทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หมายถึง ทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยสิ้นเชิง สิ้นเชิง ก็คือ เศร้าหมองอย่างหยาบๆ-ก็ไม่มี เศร้าหมองอย่างละเอียดประณีตที่สุด-ก็ไม่มี นั่นแหละจึงจะเรียกว่า หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองสิ้นเชิง ผู้ที่มีความรู้ความสนใจในธรรมะชั้นสูงเช่นนี้ จะต้องระมัดระวังในการที่จะคิดให้เข้าใจอย่างถูกต้อง จนถึงกับรู้ว่าแม้ความชั่วก็เศร้าหมอง แม้ความดีก็เศร้าหมอง ความชั่วเศร้าหมองอย่างหยาบๆและเจ็บปวด ความดีเศร้าหมองอย่างประณีต เร้นลับ สุขุม และไม่เจ็บปวด แต่เป็นความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อยในผลของความดีนั้นๆ แต่ก็ยังจัดเป็นความเศร้าหมองอยู่นั่นเอง
ถ้ายังมีความเศร้าหมองด้วยอำนาจความดีหรือความชั่วดังนี้อยู่ ยังชื่อว่ายังจมอยู่ในกองทุกข์ ยังไม่พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังต้องเวียนว่ายใน วัฏฏสงสาร ยังกลัวว่าตัวเองจะต้องตาย จะวิบัติพลัดพรากไป กลัวจะหมดบุญหมดกุศล อย่างนี้ก็เป็นทุกข์เพียงพอแล้ว จึงถือว่าไม่พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง จะต้องมีการปฏิบัติในข้อที่ ๓ ที่ว่า ทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยสิ้นเชิงเสียอีกชั้นหนึ่งก่อน จึงจะเป็น
การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสหลักปฏิบัติข้อที่ ๓ ว่า สะ จิตตะ ปริโยธะ ปะนัง การทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง ท่านใช้คำว่า ขาวรอบ - ปริโยธะ ปนะ - ชำระจิตให้หมดจด ขาวรอบ ดังนี้ คือ ไม่มีความเศร้าหมองชนิดใดทั้งสิ้น
คนทั่วไปย่อมยึดถือในความดี ครั้นจะต้องสละความดีเสียอีกทีหนึ่งก็เสียดาย จะไปเอาความไม่เศร้าหมองอะไรเลยข้างหน้านั้น ก็หวั่นๆอยู่ว่ามันจะไม่สนุกสนานอะไร จึงมาติดตันอยู่ที่นี่ ไม่มีใครต้องการที่จะทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง เอาแต่เพียงว่า ละความชั่วหมดแล้ว มารวย-ร่ำรวยอยู่ด้วยความดีดังนี้ก็พอใจ จะได้เสวยผลของความดี ความสุข สนุกสนาน ชนิดที่เป็นของทิพย์ ของสวรรค์ หรือในชั้นพรหมโลก เป็นต้น พอใจอยู่อย่างนี้ เพราะอำนาจของ สักกายทิฏฐิ - มีความยึดถือว่ากายนี้ของตน ครั้นได้ยินได้ฟังธรรมที่หลุดพ้นปล่อยวางสิ้นเชิง-ก็สะดุ้งกลัว เหมือนกับคนขี้ขลาดกลัวความตาย ฉันใดก็ฉันนั้น นี่แหละคือ ความผิดแผกแตกต่างระหว่างคนโง่ กับ คนฉลาด ความผิดแผกแตกต่างระหว่าง พระอริยเจ้า กับ ปุถุชน ปุถุชนย่อมกลัวการที่จะหลุดพ้นไปจากโลก เพราะเข้าใจว่าเมื่ออยู่เหนือโลกหรือหลุดพ้นจากโลกแล้ว ก็ไม่มีความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยอะไรเลย สู้อยู่ในโลกอย่างที่เรียกกันว่าอย่างดีนี้ไม่ได้
พอพูดถึงธรรมะที่เป็นที่ดับแห่งตัวตน ก็พากันสะดุ้งกลัวถอยหลัง ไม่กล้าสนใจ อย่าว่าถึงจะประพฤติปฏิบัติเลย เพียงแต่สนใจก็ไม่กล้าสนใจ เพราะกลัวว่าจะพลัดพรากจาก กามคุณ ที่ตนกำลังเสวยอยู่ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ กลัวจะไม่ได้ความสุขอย่าง ฌาณ อย่าง สมาบัติ ชนิดที่เป็นของพรหม ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ปุถุชนในมนุษโลกนี้ก็ดี ปุถุชนในเทวโลกก็ดี ปุถุชนในพรหมโลกก็ดี ล้วนแต่พากันสะดุ้งกลัวธรรมะที่เป็นไปเพื่อการละเสียซึ่ง สักกายะ คือ ละเสียซึ่งตัวตน ดับตัวตนเสียให้สิ้นเชิง
ทีนี้ พุทธบริษัทเราจะเอากันอย่างไรเล่า? ขอให้ลองคิดดู พุทธบริษัทที่ยังอยู่ในระดับต่ำก็ไม่อาจจะเข้าใจคำว่า เสียสละ หลุดพ้น ปล่อยวาง ไม่ยินดีที่จะสละความยึดถือว่า ตัวตน เพราะกลัวว่าจะหมดสนุก เมื่อจิตใจยังเป็นอย่างนี้ก็เห็นได้ว่า ยังถูกหุ้มห่อ พัวพันอยู่ด้วย อวิชชา ด้วย ตัณหา ด้วย อุปาทาน ไม่ประสงค์จะทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง จึงไม่สามารถจะเข้าใจคำว่า พระอรหันต์ ได้ ถึงแม้ผู้ใดจะพยายามอธิบายความหมายของคำว่า พระอรหันต์ ชี้แจงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ เพราะเห็นไปเสียว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วมันก็ไม่มีรส ไม่มีชาติ ไม่สนุกสนาน ไม่น่าปรารถนาแต่ประการใด กลับจะเห็นเป็นการแห้งแล้งจืดชืด หรือว่าสูญหายไปไม่มีอะไรเหลือเป็นตัวเป็นตน ที่จะเสวยความสุขสนุกสนาน เป็นต้น ก็เลยไม่ต้องเข้าใจคำว่า พระอรหันต์ กันตรงนี้เอง แล้วจะมายินดีปรีดาใน พระอรหันต์ ถึงกับทำมาฆบูชาเป็นที่ระลึกแด่ พระอรหันต์ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงทำได้แต่เพียงหลอกๆ สรวลเสเฮฮา ได้เวียนเทียนตามธรรมดา ได้ฟังเทศน์ตามธรรมดา อะไรๆก็ตามธรรมเนียมแล้วก็เลิกกัน
การที่ทำในใจให้แจ่มแจ้งถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ย่อมเป็นความสุดสามารถสำหรับบุคคลพวกนี้ เพราะมีจิตใจต่ำ จนถึงกับไม่อยากจะพ้นไปจากสิ่งที่ตนรัก สิ่งที่ตนปรารถนา หรือสิ่งที่ตนกำลังหลงใหลอยู่ ยังอยากให้มีอะไรๆที่เป็นตัวเป็นตน อยากให้มีอะไรๆที่เป็นของๆตน อยากถูกอกถูกใจอยู่ร่ำไป เลยฟัง
ไม่เข้าใจถึงเรื่องราวอันเกี่ยวกับ พระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้
ทีนี้ สำหรับบุคคลที่ยังมีความประสงค์จะเข้าใจในข้อต่อไปคือข้อที่ ๓ ข้อที่ว่า-ทำจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจอย่างแรงกล้าอยู่นั้น ก็ขอให้พิจารณาต่อไปดังที่กล่าวแล้ว เพราะความชั่วทำให้เศร้าหมองอย่างหยาบๆและเจ็บปวด ความดีทำให้เศร้าหมองอย่างละเอียดประณีตและสนุกสนาน แต่ทั้ง ๒ อย่างเป็นความเศร้าหมอง ยังไม่พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังจะต้องเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร จะต้องมีจิตใจอยู่เหนือความดีและความชั่ว เห็นความว่างเปล่า ไร้สาระ ไม่น่ายึดถือทั้งความดีและความชั่ว ถ้าเข้าใจผิดในข้อนี้ก็จะกลายเป็นคนไม่ทำดี ไม่ทำดีก็ไม่เป็นไร แต่ขออย่ากลับไปทำชั่วอีกก็แล้วกัน แต่คนเข้าใจผิดเหล่านั้นพอได้ยินว่า ความดีก็ยังทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน วัฏฏสงสาร ก็ฉวยโอกาสทำความชั่วยิ่งไปกว่าเดิมนี้-ไม่เข้าเรื่องกัน เพราะได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความชั่วนั้นทำให้เศร้าหมอง ทำให้ทนทุกข์ทรมานเจ็บปวด ต้องเลิกละกันเด็ดขาด มาทำความดีให้ถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำได้ ได้รับผลของความดีแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่มัวหมก ไม่หลงใหล พัวพันในความสุขสนุกสนานเหล่านั้น ถอนจิตใจขึ้นมาเสียให้อยู่เหนือความยึดถือเช่นนั้น จึงจะเป็นจิตใจที่สงบเย็น มีความสะอาด มีความสว่างไสว แจ่มแจ้ง และมีความสงบเย็น ถ้ายังหลงใหลอยู่ในรสชาติของความดี เป็นความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลินตามที่ต้องการแล้ว คิดดูเถิดว่าใจจะสะอาด สว่าง สงบ ได้อย่างไรกัน? เพราะความที่มัวเมาอยู่ในสมบัติในสวรรค์ หรือในพรหมโลกนั้นก็ตามจะสะอาดไป เพราะยินดีอยู่ใน สุขเวทนา เจือ กามคุณ บ้าง ไม่เจือบ้าง แล้วจะสว่างไสวอย่างไรกัน? เพราะหลงรัก หลงติดพันสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตาดังนี้ เมื่อติดพันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ดังนี้แล้วจะสงบเย็นอย่างไรกัน? มันจะต้องเป็นห่วง มันจะต้องวิตกกังวล จะต้องระส่ำระสายไปตามความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ เพราะแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า บุญ มันก็ยังเปลี่ยนแปลง รู้จักหมด รู้จักสิ้น รู้จักเปลี่ยนแปลงด้วยเหมือนกัน
ถ้าไปยึดถือในสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา ดังนี้ มันก็ต้องไม่สงบ เพราะ
เหตุเช่นนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนข้อสุดท้าย ว่าทำใจให้อยู่เหนือความยึดถือ เหนือความติดพันหลงใหลในสิ่งทั้งปวงเสีย นี้ ท่านเรียกว่า ขึ้นเหนือความดีไปอีกชั้นหนึ่ง จัดลำดับกันก็ย่อมจะได้เป็น ๓ ชั้น คือ
ชั้นแรกไม่ทำชั่วเด็ดขาด
ชั้นที่ ๒ ทำดีให้สมบูรณ์
ชั้นที่ ๓ มีจิตใจอยู่เหนือความดี และความชั่วโดยประการทั้งปวง
จึงจะเป็นจิตใจที่มีความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด ไม่ต้องตายยังมีชีวิตอยู่ ก็สะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด เป็นจิตใจที่ไม่มีความทุกข์แก่ประการใดเลย ไม่กลัวตาย และก็ไม่ยินดีในการอยู่ ไม่อยากได้อะไร ไม่ปรารถนาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่มีอะไรที่จะมาทำจิตใจชนิดนี้ให้หลงรัก หลงเกลียด หลงชัง หลงกลัว หรือแม้แต่สงสัยได้อีกต่อไป จึงได้เป็นจิตใจที่ปราศจากความรัก ปราศจากความเกลียด ปราศจากความโกรธ ปราศจากความกลัว ปราศจากความหลงใหล สงสัย วิตกกังวลนานาสารพัดอย่างซึ่งเป็น กิเลส ชั้นละเอียด จึงจัดเป็นจิตใจที่สะอาด และสว่าง สงบ ถึงที่สุดได้จริงๆ อันเรียกว่า จิตใจของพระอรหันต์ นั่น! เป็นเครื่องแสดง
อยู่ในตัวแล้วว่า มันมีข้อปฏิบัติอยู่อีกระดับหนึ่งซึ่งคนธรรมดาไม่ค่อยจะเข้าใจ คือ ข้อปฏิบัติขั้นสุดท้าย-ที่มีจิตใจอยู่เหนือความดีและความชั่วดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อันนั้นเองเป็นลักษณะเฉพาะของจิตใจของผู้หลุดพ้น ซึ่งเราเรียกกันว่า พระอรหันต์ ซึ่งเราประชุมกันทำมาฆบูชาเพื่อเป็นที่ระลึกแก่บุคคลประเภทนี้ในวันนี้ ว่าบุคคลประเภทนี้มีอยู่และมีได้ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบุคคลประเสริฐสุดกว่าบุคคลประเภทใดทั้งหมดทั้งสิ้น เราจึงเอามากระทำไว้ในใจ ระลึกนึกถึงอยู่ในใจ และประกอบการบูชาเป็นพิเศษ สุดความสามารถของเรา ในวันอันกำหนดไว้เฉพาะ เพื่อท่านเหล่านั้น ได้แก่ วันนี้ ซึ่งเรียกว่า วันเพ็ญเดือนมาฆะ
ข้อที่พระอรหันต์มีจิตใจอยู่เหนือความชั่วและความดีนี้ ท่านแสดงไว้ด้วยหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์แห่งการปฏิบัติต่างๆกันหลายเรื่องหลายอย่าง ดังที่ได้ยกมาสำหรับเป็นกระทู้อธิบายในที่นี้สักข้อหนึ่ง คือ บทที่ท่านแสดงไว้โดยบาลีว่า สุญญโต โลกัง อเวกขสสุ เป็นต้นนั่นเอง เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่บุคคลคนหนึ่งซึ่งเข้าไปทูลถามว่า ทำอย่างไรหนอจึงจะอยู่เหนือความตาย? เราจะเห็นสิ่งทั้งปวงหรือโลกทั้งปวงอยู่อย่างไรหนอ-มัจจุราชจึงจะไม่มองเห็นเรา? ดังนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสตอบว่า
ท่านจงมีสติอยู่ทุกเมื่อ
จงมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า
จงถอนความคิดเห็นว่า ตัวตน เสียให้ได้
ถ้าทำได้ดังนี้ก็จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือความตาย
เมื่อท่านเห็นโลกอยู่ว่าว่างเปล่าดังนี้ มัจจุราชก็จะไม่เห็นท่าน
เป็นใจความสั้นๆดังนี้ คำอธิบายในเรื่องนี้มีอยู่ว่า คนเราอยู่เหนือความตายไม่ได้ ถูกความตายครอบงำ หรือถูกความกลัวต่อความตายครอบงำทำให้เป็นทุกข์อยู่เสมอ ก็เพราะเหตุที่เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของๆตน ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า ความกลัวของเราทุกๆคนนั้น มันสรุปรวมอยู่ที่กลัวอะไรถ้าไม่ใช่กลัวตาย จะต้องระลึกนึกว่า การที่กลัวอดกลัวอยาก กลัวจะไม่มีอะไรกินนี้ มันก็เนื่องมาจากความกลัวตาย จะต้องตายเป็นส่วนใหญ่ กลัวโรคภัยไข้เจ็บ เพียงแต่ได้ยินชื่อของโรคบางอย่างก็สะดุ้งกลัวเสียแล้ว แต่ที่แท้นั้น มันคือ กลัวตาย ไม่ใช่กลัวโรค การที่กลัวผี กลัวเสือ กลัวงูเหล่านี้ ก็ล้วนแต่ไปรวมจุดอยู่ที่ความตาย การที่กลัวจะเสื่อมเสียเงิน เสียของ เสื่อมเสียชื่อเสียง อำนาจ วาสนาเหล่านี้ มันก็ไปรวมจุดอยู่ตรงที่กลัวว่า จะต้องตายอย่างอเน็จอนาถ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องต้านทานป้องกัน เพราะสูญเสียอำนาจเงิน อำนาจยศศักดิ์ วาสนาไปหมดแล้ว จะต้องตายอย่างสุนัข อะไรๆก็ไปรวมอยู่ที่ความกลัวว่า ตนจะต้องแหลก จะต้องตายในลักษณะที่ไม่ชอบ หรือจะต้องตาย นั่นเอง ถ้ายังพิจารณาข้อนี้ไม่เห็น ก็แปลว่า ยังไม่รู้จักอำนาจของความตาย ต้องพิจารณาให้เห็นชัดว่า ความกลัวที่กลัวกันนั้น ก็คือ ความกลัวว่าตนจะต้องสูญหายไปไม่มีเหลืออยู่ นั่นเอง
อะไรๆเป็นเครื่องต้านทานให้ตนยังมีอยู่ ตนก็พอใจในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ความกลัวทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ความกลัวว่า ตนจะไม่มี ตนจะสูญหายไปหมดสิ้น ความรู้สึกกลัวเช่นนี้มันมีมูลมาจากความยึดมั่น สำคัญผิดว่า ตัวตน มีอยู่ หรือเป็นตัวเป็นตนของตนนี้ ในภายในก็ยึดถือว่า ตัวตน มีอยู่ ส่วนภายนอกก็ยึดถือว่า อะไรๆก็ล้วนแต่น่าปรารถนาเอามาเป็น ของตน ในโลกนี้มีเงิน มีทอง มีของ มีสิ่งต่างๆสารพัดอย่าง ชนิดที่น่า
เอามาเป็นของตน และจะเอามาเป็นของๆตนได้ เช่นเดียวกับที่มีตัวมีตนเป็นของตนอยู่แล้ว เอาตัว เอาตน ของตนเป็นประธานตั้งขึ้นไว้ แล้วก็จะกวาดล้อมเอาสิ่งต่างๆที่ตนรักตนพอใจมาเป็นของตน มีความยึดถือเป็น ๒ อย่างอยู่ว่า ตัวตน อย่างหนึ่ง ของๆตน อย่างหนึ่งอย่างเหนียวแน่น อย่างที่ถอนยังไงก็ออกไปไม่ได้ ฝังแน่นยิ่งกว่าอะไรๆหมด ท่านจึงเรียกมันว่า อุปาทาน - เป็นการผูกมัดที่เหนียวแน่นยิ่งกว่าความผูกมัดของสิ่งใดๆ คือ ผูกมัดจิตใจให้ยึดถืออยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน หรือ ของๆ ตน ดังนี้ พอมีอะไรมาเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ตนจะต้องตายไป แหลกไป สูญหายไป หรือของๆตนจะต้องสูญหายไป จะต้องวิบัติพลัดพรากจากกัน มันก็เกิดความกลัวขึ้นมาเพราะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นไปมากก็กลัวล่วงหน้า หรือกลัวอยู่ตลอดกาลทั้งหลับและตื่น เป็นผู้สะดุ้งอยู่เสมอว่าสิ่งเหล่านี้จะพลัดพรากจากกันไปบ้าง หรือว่าตัวตนของตนนั่นแหละจะแตกทำลายลงบ้าง จึงหาทางที่จะต่อต้านป้องกันทุกอย่างทุกทางอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับและตื่น ความคิดฝัน คือว่า ความคิดเมื่อตื่นก็ดี ความคิดเมื่อหลับก็ดีที่เป็นไปเอง คือ ฝันไปก็ดี ล้วนแต่เป็นไปเพื่อการต่อต้านเพื่อให้คงมี ตัวตน หรือ ของๆตน อยู่ดังนี้ทั้งนั้น ขอให้ลองคิดดูว่า ความฝันของบุคคลใดบ้างที่ไม่เป็นเรื่อง ตัวตน หรือ ของตน หรือเป็นการต่อต้านความมีอยู่แห่งตัวตน หรือเป็นการหลงใหลยินดีในตัวตนที่มีอยู่ หรือโศกเศร้าเพราะตัวตนที่จะต้องวิบัติพลัดพรากจากกันไป นี่คือ ความฝังแน่นของ อุปาทาน ในจิตของบุคคลที่เป็น ปุถุชน ฝังแน่นอยู่ด้วย อัตตา และ ทิฏฐิ คือความตามเห็นว่า ตัวตน จึงได้มีความกลัวว่าจะต้องตาย หรือต้องวิบัติพลัดพราก เป็นต้น เรียกว่า อยู่ใต้ความตายตลอดเวลา คือ ความกลัวตายครอบงำย่ำยีจิตใจอยู่ตลอดเวลา มัจจุราชมีอำนาจเหนืออยู่ตลอดเวลา บังคับให้ทำสิ่งต่างๆในทำนองที่เชื่อว่าจะไม่ต้องตาย หรือจะบรรเทาความกลัวตาย เป็นผู้ที่มีปัญหาไม่มีที่สิ้นสุดในเรื่องกลัวตาย หรือจะต้องวิบัติพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักตนพอใจ คือ ตัวเองจะตายเองก็ตาม บุคคลอันเป็นที่รักจะตายก็ตาม-มีปัญหาไปทั้งนั้น ก็เลยมีความทุกข์อันละเอียดชนิดหนึ่ง ครอบงำย่ำยีบุคคลชนิดนี้อยู่ตลอดเวลาทั้งหลับและทั้งตื่น ใครอวดดีได้บ้างถึงกับกล่าวได้ว่าไม่มีปัญหาข้อนี้ ถ้ายังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ก็จะต้องมี อุปาทาน ข้อนี้ลับอยู่ในใจทั้งหลับและตื่นโดยไม่ต้องสงสัย เรียกว่า ผู้ที่ยังไม่อยู่เหนือความตาย มีความตายเบียดเบียนจิตใจอยู่ มีปัญหาเรื่องความตายเบียดเบียนจิตใจอยู่ มีความกลัวตายทำให้เป็นปัญหาวุ่นวาย
ไปหมด
การที่ตนยึดถืออะไรไว้อย่างไร ถ้ายึดถือตัว-ของตัว ก็กลัวว่าตัวจะตาย ถ้ายึดถือว่า ภรรยาของตัว
ก็กลัวว่าภรรยาจะตาย ถ้าถือว่าลูกหลานของตัว ก็กลัวว่าลูกหลานของตัวจะตาย ท้ายที่สุดก็ยึดถือเป็ดไก่
สักตัวหนึ่งว่าเป็นของตัว มันก็กลัวเป็ดหรือไก่ตัวนั้นจะต้องตาย เรียกว่า มีปัญหาเรื่องความตายอยู่เหนือจิตใจของบุคคลผู้นั้น ย่ำยีจิตใจ หรือบดถูจิตใจของบุคคลผู้นั้นให้ชอกช้ำอยู่เป็นปกติ ทีนี้ คนเรายึดถือแต่ตัวเอง
อย่างเดียวหรือสิ่งเดียวเมื่อไรขอให้ลองคิดดู คนๆหนึ่งย่อมยึดถือมากมายหลายอย่าง ยึดถือตัวเอง ยึดถือบุตรภรรยา เพื่อนฝูง มิตรสหาย ข้าทาส สัตว์เลี้ยง และยังยึดถือสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ทรัพย์สมบัติต่างๆอีกมากมายหลายอย่าง ทางหนึ่งก็กลัวว่าสิ่งเหล่านั้นจะตาย อีกทางหนึ่งก็กลัวว่าตนจะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ตายแต่ตนจะต้องตายเอง เพราะว่ามันจะต้องตายกันฝ่ายหนึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ หรือว่ายังไม่ทันจะตายก็ยังมีอันตรายแทรกแซงเข้ามาซึ่งจะทำให้ตายก่อนเวลา มันยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก ดังนี้ นี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่อยู่เหนือความตาย เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ถูกความตายเบียดเบียนจิตใจอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด
ขอให้พิจารณาดูเถิดว่า ปัญหาต่างๆที่ท่านมีอยู่นั้นมันมารวมจุดอยู่ที่ตรงนี้ จะเป็นปัญหาเรื่องไม่มีกินไม่มีใช้ ไม่มีอำนาจวาสนา ปัญหาเรื่องทำมาหากิน ปัญหาเรื่องรักษาชื่อเสียง ปัญหาเรื่องทำบุญสุนทาน หรือปัญหาอะไรๆทั้งสิ้น มันมารวมอยู่ที่ปัญหาเรื่องที่ไม่อยู่เหนือความตายนี่เอง ยังอยากอยู่ ยังอยากอยู่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ยังอยากเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องการที่พึ่งที่จะต่อต้านกับภัย คือ ความตาย ของตัวเองบ้าง ของบุตรภรรยาบ้าง ของคนอื่นๆบ้าง แล้วแต่ตนจะยึดถือสิ่งใดอยู่ คนเราจึงเป็นทุกข์กันรอบด้าน จำแนกไม่ไหวว่ามีกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง แต่รวมความแล้ว ก็เพราะกลัวต่อความตายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คือ ถ้าไม่ใช่ของตนเอง ก็ของบุคคลที่ตนรักที่ตนยึดถือว่าเป็นบุคคล ของตน นี้เรียกว่า ไม่อยู่เหนือความตาย ตามปกติของปุถุชนคนสามัญเป็นผู้ที่ต้องมีความทุกข์ประจำอยู่ในใจเสมอ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรก็ต้องวิ่งไป วิ่งมา ต้องร้องห่ม ร้องไห้ แต่ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะตนยังโง่เกินไปกว่าที่จะรู้ได้ว่า ความทุกข์เหล่านี้มีมูลมาจากอะไร? ความตายครอบงำย่ำยีอยู่ หรือเรียกว่า มัจจุราชทำเล่น ให้เป็นทุกข์เล่น ตนก็ยังไม่มีความรู้สึก ไม่มีความหวาดเสียวสะดุ้งกลัวต่อความทุกข์ หรือต่อมูลเหตุของความทุกข์ เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุของความทุกข์ ทั้งที่เป็นความทุกข์แท้ๆก็กลับหลงรัก หลงพอใจ ทั้งที่เป็นมูลเหตุของความทุกข์แท้ๆก็ยังมีความหลงรักหลงพอใจ เพราะมันไปยึดถือแต่ทำนองเป็น ตัวตน เป็น ของๆตน และว่าจะได้สมใจอยาก ของตน ไปเสียทั้งนั้น เห็นโลกนี้ทั้งโลกเต็มไปด้วยอะไรๆที่อาจจะเป็น ของตน ที่อาจจะอำนวยความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยให้แก่ ตน ยึดถือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในลักษณะอย่างนี้แล้ว โลกนี้ก็ไม่เป็นของว่าง แต่จะเป็นของแน่นแฟ้นเต็มไปด้วยที่ตั้งแห่งความยึดถือ แล้วก็ยึดถือเอามาบรรทุกไว้เหนือจิตใจของตนทั้งโลกทีเดียว แล้วมันจะไม่หนักคือไม่ทุกข์ทั้งกลางวันและกลางคืนได้อย่างไร? ตื่นอยู่ก็ทุกข์ หลับแล้วก็ฝันเป็นทุกข์ ไม่มีเวลาที่จิตใจจะเป็นอิสระไปจากความทุกข์ คือ ไม่มีเวลาที่จิตใจจะสะอาด บริสุทธิ์ สว่างไสว แจ่มแจ้ง และสงบเย็นเหมือนจิตใจของ พระอรหันต์ ทั้งหลายเลย มันเหมือนกับสัตว์สกปรกที่อยู่ในบ่อในหลุมสกปรก เกิดที่นั่น อยู่ที่นั่น ตายที่นั่น ไม่มีโอกาสที่จะรู้ถึงเรื่องของความสะอาดนอกไปจากหลุมจากบ่อของมัน ไม่รู้จักแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ไม่รู้จักความสงบเย็นของการที่ไม่ถูกความสกปรกนั้นเบียดเบียน
ความเป็นอย่างนี้ คือ ลักษณะทั่วไปของ ปุถุชน ทุกคนที่จมอยู่ภายใต้ กิเลส ตัณหา มีผลเป็น ความทุกข์ มีความกลัวตายเป็นเครื่องย่ำยีจิตใจ บังคับให้ดิ้นรน กระวนกระวาย ระส่ำระสาย วิ่งไปวิ่งมา หานั่นหานี่ ไม่มีสร่างจนกระทั่งตายไป เพราะการแสวงหานั้นก็มีอยู่มาก ต้องการจะแสวงหาสิ่งที่มาต่อต้านกับความตาย จนตัวตายไปเอง ดังนี้ มันมีลักษณะที่น่าหัวเราะหรือไม่? น่าสงสารเพียงไร? ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนพิจารณาดูให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นจริงแก่ทุกคนอย่างนี้หรือไม่? ถ้าพิจารณาเห็นความจริงข้อนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าจะเกิดความเบื่อหน่าย หรือความปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ตนเคยหลงยึดถือนั้นเป็นแน่ กิเลส ตัณหา หรือ อุปาทาน ก็จะค่อยๆจางออก จางออกจนกว่าจะหลุดออกจากกัน คือ ไม่ยึดถือว่า ตัวตน หรือ ของๆตน อีกต่อไป ดังนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสตอบคำถามของบุคคลที่มาถามโดยหลักใหญ่ๆว่า
ท่านจงมีสติมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ ถอนความเข้าใจว่า ตัวตน เสียให้ได้ แล้วก็จะอยู่เหนือความตาย
ขอให้พิจารณาหลักสำคัญที่มีอยู่ว่า
ต้องมีสติทุกเมื่อนี้-อย่างหนึ่ง
มีสติในการมองให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จนกระทั่งถอน อัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นว่า ตัวตน นั้นเสียให้ได้นี้อย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างด้วยกัน
ที่ว่า มีสติทุกเมื่อ นั้นแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า การแต่เพียงคิดนึกเล่นๆประเดี๋ยวๆนั้นใช้ไม่ได้ คือ ไม่เป็นสติทุกเมื่อ เราจะต้องคิดพินิจพิจารณาให้เห็นแจ้งแทงตลอด แล้วความเห็นแจ้งแทงตลอดนั้นประจำใจอยู่ทุกเมื่อ จึงจะเรียกว่า มีสติทุกเมื่อ เห็นแจ้งแทงตลอดอย่างไร? เห็นแจ้งแทงตลอดว่า-โลกทั้งหมดนั้นเป็นของว่าง ว่างจากอะไร? ว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่า ตัวตน หรือ ของๆตน มีความเข้าใจผิดในข้อนี้กันอยู่เป็นส่วนมาก คือ เข้าใจคำว่า สุญญโต นี้ผิด เข้าใจไปว่า สูญ - ไม่มีอะไรเลย พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ไม่ได้กล่าวว่า โลกนี้สูญ-ไม่มีอะไรเลยตามความมุ่งหมาย หรือตามความหมายของคนที่เข้าใจผิด แต่ได้ตรัสว่า โลกนี้ว่าง ว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่าเป็น ตัวตน หรือ ของๆตน ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย แต่มันจะมีอะไรก็ตาม มีเท่าไรก็ตาม มากมายเท่าไรก็ตาม ทุกสิ่งนั่นไม่ควรยึดถือว่า ตัวตน หรือ ของๆตน เลย แปลว่า ว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่า ตัวตน หรือ ของตน อย่าได้ไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า ตัวตน หรือ ของๆตน เข้าเป็นอันขาด-มันจะผิดความจริง เมื่อผิดความจริงแล้วผลจะเกิดขึ้น คือ ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะว่ามันเป็นไปตามความต้องการของตนไม่ได้ เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ ตัวตน ไม่ใช่ ของตน แล้วไปยึดถือเอาว่าเป็น ตัวตน เป็น ของตน ดังนี้ มันก็เป็นตัวเป็นตนหรือเป็นของๆตนให้ไม่ได้ คือ มันจะต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน ให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน
คนโง่ที่เข้าไปยึดถือนั้นต้องนั่งเช็ดน้ำตา เพราะว่าสิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามความปรารถนา นั่นแหละคือ ผลของการที่เข้าไปยึดถือโลกนี้ว่าเป็น ตัวตน หรือ เป็นของๆตน แต่ถ้ามองเห็นชัดแจ้งว่าโลกนี้หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ยึดถือเอาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามเรื่องของมันเอง ดังนี้แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ผิดหวังเพราะตนไม่ได้หวังอะไรเลย เป็นผู้ไม่มีความหวังว่าอะไรๆจะต้องเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น จงมาเป็นอย่างนี้ ตามความต้องการของตน ดังนี้ คนที่มองเห็นโลกโดย
ความเป็นของว่างจาก ตัวตน นี้ จึงเป็นคนที่ไม่เคยผิดหวังเลย อะไรๆก็ล้วนแต่เป็นไปตามความรู้สึกที่ถูกต้องทั้งนั้น มองเห็นความจริงไว้ล่วงหน้า แล้วสิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามนั้น แล้วจะผิดหวังอย่างไร? ในที่สุดก็ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเป็นทุกข์ เป็นคนที่มีจิตใจปกติสงบอยู่ได้ นี่แหละเรียกว่า อยู่เหนือความตาย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั้น มันจะแตกทำลายวิบัติฉิบหายไปอย่างไร เท่าไร ที่ไหน เมื่อไร ก็ไม่มาทำจิตใจของบุคคลนี้ให้มีความเดือดร้อนได้แม้แต่หน่อยเดียว เพราะเขาไม่ได้ยึดถือสิ่งเหล่านั้นว่าเป็น ตัวตน หรือเป็น ของๆตน มาแต่กาลก่อน จึงเป็นคนที่อยู่เหนือความตายของทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นความตายของมดแมลง หรือเป็นความตายของบุตร-ภรรยาที่เป็นที่รักใคร่หวงแหนก็มีความหมายเท่ากัน ปัญหาเรื่องความตายของใครก็ตาม ไม่ครอบงำจิตใจของบุคคลที่มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างจาก ตัวตน ดังนี้เลย
พระพุทธองค์ทรงกำชับให้พิจารณาให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่างจากตัวตน ดังนี้เสียก่อน และให้มีสติอยู่ด้วยความเห็นดังนี้ เห็นแจ้งเช่นนี้ทุกเมื่อไป ก็จะถอนความเข้าใจว่า ตัวตน เสียได้สิ้นเชิงเด็ดขาดโดยที่สุดในที่สุด และเราเรียกบุคคลชนิดนี้ว่า พระอรหันต์ หรือผู้ที่อยู่เหนือความตายนั่นเอง มฤตยูหรือมฤตยูมัจจุราชหรือความตายนั้น ซึ่งเคยเป็นนายเหนือสิ่งใดๆทุกๆสิ่งนั้น ไม่อาจจะเป็นนายเหนือบุคคลเช่นนี้ มัจจุราชฟังดูก็น่าสยดสยอง คือ มันเป็นพระราชาชนิดที่ครอบงำคนทุกคน แต่แล้วทำไมมาครอบงำ พระอรหันต์ ไม่ได้
มันครอบงำได้แต่ ปุถุชน หรือคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ มันครอบงำยำยีจิตใจของคนทุกคนเล่นได้ตามสบาย แต่มันไม่อาจจะครอบงำย่ำยีจิตใจของพระอรหันต์ได้ เพราะจิตใจของพระอรหันต์อยู่ในลักษณะอีกอย่างหนึ่งจากจิตใจของปุถุชน จิตใจของพระอรหันต์ปราศจากความยึดถือว่าตัวตน เห็นโลกโดยความเป็นของว่างจากตัวตนโดยสิ้นเชิง เมื่อจิตใจอยู่ในลักษณะที่ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงออกไปหมดดังนี้แล้ว ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่มัจจุราชจะครอบงำย่ำยีเล่นได้ตามสบายอีกต่อไป จึงเรียกว่า เป็นผู้อยู่เหนือความตาย และความตายเที่ยวค้นหาท่านไม่พบ ในเมื่อกล่าวอย่างอุปมา คือว่า ความตายเที่ยวตามหาคนทุกๆคนจนพบตัว นำไปทำเล่นได้ตามสบายใจ แต่ความตายจะตามหาตัวพระอรหันต์ไม่พบ และเอาไปทำเล่นตามชอบใจไม่ได้ ความตายหมดอำนาจ หมดความสามารถ หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำอะไรแก่พระอรหันต์ได้ นี้คือ เรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันต์ที่เราจะต้องเข้าใจ ที่เราจะต้องนำมาพินิจพิจารณากันเป็นพิเศษ ในวันที่เราทำอะไรๆเป็นที่ระลึกและบูชาแด่พระอรหันต์เช่นวันนี้
พระพุทธเจ้าเป็นจอมพระอรหันต์ และท่านก็ตรัสไว้ดังนี้ มีปัญหาอยู่ก็แต่ว่า พวกสาวกทั้งหลาย คือ พวกเรานั้นจะถือเอาประโยชน์อันนี้ได้หรือหาไม่? ถ้าถือเอาไม่ได้ มันก็เท่าๆกันกับที่เขากล่าวกันอยู่ทั่วๆไปหลายอย่างหลายประการว่า เป็นลิงที่ได้แก้ว เป็นหัวล้านที่ได้หวี เป็นนิ้วด้วนที่ได้แหวน หรืออะไรทำนองนั้น คือ เอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ บวชเรียนในพระพุทธศาสนาก็ไม่รับประโยชน์อะไรเลย ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนอันแท้จริงซึ่งเป็นหลักของพระพุทธศาสนา ก็เอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เอามาพูดท่องเล่นเฉยๆ เหมือนกับลิงที่ได้แก้ว มันไม่รู้จะเอาไปทำอย่างไร? หรือว่าไก่ตัวหนึ่งได้พบพลอยสักเม็ดหนึ่ง มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร? สู้ข้าวสารเม็ดเดียวก็ไม่ได้ คนปุถุชนทั่วไปได้แก้ว คือ พระรัตนตรัย มาในลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน แต่ก็ยังอวดดี ยังพูดพล่าม ยังดูหมิ่นคนอื่นอยู่ หาสำนึกไม่ว่าตนก็ตกอยู่ในลักษณะที่เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือไก่
ได้พลอย แล้วยังจะเผยอมาทำการบูชาพระอรหันต์ด้วยการทำมาฆบูชาอีกดังนี้ แล้วก็ยังไม่รู้สึกตัวว่าน่าหัว
อยู่นั่นเอง แต่ถ้าสมมติกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าพระอรหันต์ท่านมีตัวตนมีชีวิต มามองเห็นการกระทำของพวกเรา
ในขณะนี้อยู่ ท่านคงจะยิ้มกันเป็นการใหญ่ ว่าเด็กโง่ๆเหล่านี้มันทำอะไรกัน? มันบูชาพระอรหันต์ราวกับบูชาเจว็ดตุ๊กตาตามศาลเจ้า ทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยความโง่เท่าๆกันกับที่เจว็ดเทวดาตุ๊กตาเหล่านั้นเป็นเพียงดินเหนียวที่ปั้นขึ้นมา
เราจะอยู่กันในลักษณะอย่างนี้ได้อย่างไร? หรือว่าจะทนทำกันไปในลักษณะอย่างนี้ได้อย่างไร? ถ้ายังจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัท หรือเป็นชาวพุทธ หรืออะไรก็ตามที่มีความหมายอย่างเดียวกันนั้นให้ถูกต้อง เราได้
ทำให้เวลาเสียมามากมายหลายปีเต็มทีแล้ว ในการที่ไม่สนใจว่าทำมาฆบูชาเพื่ออะไร? ทำวิสาขบูชาเพื่ออะไร? นอกจากจะเป็นโอกาสสนุกสนานเวียนเทียนกันสัก ๒-๓ รอบ หรือฟังอะไรแปลกๆสนุกสนานเท่านั้น แต่ในจิตใจนั้นไม่ได้ส่งไปยังความหมายอันแท้จริงของพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าเลย ไม่ได้พยายามทำตามอย่างพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ให้ดีเป็นพิเศษ แม้ในวันมาฆบูชาหรือวันวิสาขบูชา เป็นคนที่ถูกมัจจุราชเบียดเบียน ครอบงำ ย่ำยี อยู่เหนือเศียรเหนือเกล้า ไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจ แล้วจะปฏิญาณว่ามีอะไรๆสมควรแก่การที่จะเข้าใกล้พระอรหันต์ หรือทำการบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ในวันสำคัญเช่นนี้ มันเท่ากับจับเอาคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรให้มาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อสิ่งที่ตนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นอีก มันน่าสงสารทั้งคนทำ มันน่าสงสารทั้งคนที่จัดให้คนอื่นทำ มันน่าสงสารด้วยกันทั้งคู่ น่าจะนอนเสียดีกว่าทำให้เหนื่อย เพราะฉะนั้นแหละ อาตมาจึงได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ชี้แจงให้ทราบว่า พระอรหันต์ หรือคำว่า พระอรหันต์ มีความหมายอย่างไร? เราจะได้จำไว้ในจิตในใจถึงคุณธรรมข้อนั้น ให้ชัดเจนอยู่ในใจเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ในวันสำคัญเช่นวันนี้ให้ได้จริงๆ โดยเฉพาะที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ก็ได้กล่าวถึงธรรมะข้อหนึ่งซึ่งเป็นธรรมะโดยตรง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นเครื่องกระทำบุคคลให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือจากมัจจุราช โดยเหตุที่แท้ก็คือ เป็นพระอรหันต์ นั่นเอง มีสติเห็นโลกทั้งหมดโดยความเป็นของว่างจากตัวตนอยู่ทุกเมื่อ
ท่านใช้คำว่า โลก ต้องพิจารณาให้ดีว่า ท่านใช้คำว่า โลก คำว่า โลก ในที่นี้เป็นคำรวม ที่ท่านใช้หมายถึง สิ่งทุกสิ่งที่คนเรารู้จักกัน รวมทั้งตัวเราเองด้วย รวมทั้งบุตรภรรยา ข้าทาสบริวาร เงินทอง ข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามีในโลกนี้เข้าเป็นของอย่างเดียวกัน แล้วก็เรียกว่า โลก โดยใจความก็คือ ให้เห็นสิ่งทั้งหลาย
ทั้งปวงที่ตนยึดถือ รักใคร่ หวงแหน ปรารถนาทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นแหละ ว่าเป็นของว่างจากความน่ายึดถือ ไปยึดถือก็ด้วยอำนาจความหลงใหลอย่างเดียวเท่านั้นเอง ใช้คำว่า ทั้งปวง ก็เพราะว่า ไม่ยกเว้นสิ่งใดๆหมด ถ้าเป็นเรื่องของโลกหรือวิสัยโลกแล้ว เป็น ของว่างจากตัวตน ทั้งนั้น จะจำแนกเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อย่างนี้ก็ตาม ทุกอย่างเป็น ของว่างจากความเป็นตัวเป็นตน หรือจะจำแนกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนี้ก็ตาม ทั้งหมดก็เป็น ของว่างจากตัวตน จะจำแนกเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หรืออะไรก็ตาม ทั้ง ๖ อย่างนั้นมันก็เป็น ของว่างจากตัวตน
รวมความว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก หรือที่รวมกันเป็นโลก ประกอบกันเป็นโลกนี้ เป็นของว่างจากตัวตนด้วยกันทั้งนั้น สัตว์จึงไม่มีโอกาสจะแยกเอานั่นเอานี่ว่ามาเป็นของๆตน เป็นบุตรภรรยาสามีของตน เป็นทรัพย์สมบัติของตน เป็นอะไรๆของตน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นให้ตามความยึดถือที่แท้จริงนั้นไม่ได้ จะเป็นได้ก็เพียงแต่หลอกๆ ตามที่เขาสมมติกัน ตามความสมมติของชาวโลกว่า นั่นเป็นของคนนั้น นี่เป็นของคนนี้ หรือตามที่กฎหมายคุ้มครอง หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่แล้วก็ไม่ทำอะไรให้เป็นของใครได้ สิ่งทุกสิ่งหรือคนทุกคนต้องเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ จะต้องเปลี่ยนแปลงไป จะต้องทนทุกข์ทรมาน จะต้องแตกทำลายในที่สุด ไปตามอำนาจของธรรมชาติ-ไม่เป็นของใคร ตามความประสงค์ของใครได้เลย นี้เรียกว่า ถ้ากล่าวโดยสมมติก็อย่างหนึ่ง ถ้ากล่าวโดยความจริงก็อย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรให้แก่กันได้ก็เพียงแต่สมมติชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะมีอะไรเป็นของตนบ้าง แม้แต่จะมีบุตร ภรรยา สามีเป็นของตน ก็จงเข้าใจไว้เถิดว่า มันเป็นได้แต่สมมติเท่านั้น
โดยธรรมชาติอันเด็ดขาดนั้น ใครจะเป็นอะไรของใครไม่ได้ ทุกสิ่งและทุกคนจะต้องเป็นไปตามกรรม หรือการกระทำของตน ไม่มีใครต้านทานความจริงข้อนี้ได้ และเมื่อยังมี กิเลส ตัณหา เป็นคนธรรมดาอยู่จงยินดีรับเสียโดยชื่นตาว่า ทุกคนนั้นเป็น สมบัติของมัจจุราช มัจจุราช คือ ความตายนั่นแหละ จะเป็นเจ้าของคนทุกคน หรือสิ่งทุกสิ่ง-อย่างนี้จะถูกกว่า อย่าไปคิดว่า บุตรของฉัน ภรรยาของฉัน สามีของฉัน ด้วยความยึดถือจริงๆจังๆเลย ถ้าคิดก็คิดอย่างสมมติ เป็นกันอย่างสมมติ เพราะว่าความจริงนั้นมันเป็นของมัจจุราช นี่ สำหรับ
คนธรรมดาสามัญหรือปุถุชน ทีนี้ ถ้าไม่อยากจะเป็นของมัจจุราชก็จงรีบทำตนให้เป็นพระอรหันต์เสียเถิด จะได้อยู่นอกเหนืออำนาจของมัจจุราช จงชักชวน ชี้แจง สั่งสอนบุตร ภรรยา สามีของตนให้รู้จักทำตนให้อยู่นอกเหนืออำนาจของมัจจุราชเสียเถิด นั่นแหละ จึงจะพอกล่าวได้ว่า เป็นที่พึ่งที่ต้านทานให้แก่กันและกันได้จริง ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่อย่างนี้ ขืนกล่าวอย่างนั้นมันก็น่าสมเพชเวทนาเพราะเป็นความไม่รู้ เป็นความโง่เขลา เป็นความหลงใหล เป็นคำกล่าวที่ผูกมัดตัวเองให้ต้องเสียน้ำตาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น พระอรหันต์เป็นบุคคลที่เอาชนะมัจจุราชได้-นี้เป็นแง่หนึ่ง หรือเป็นลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งแสดงความประเสริฐสูงสุดของ พระอรหันต์ ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นบุคคลสูงสุด น่าเคารพ น่าบูชา น่าจะเสียสละเวลามาช่วยกันทำมาฆบูชาเป็นที่ระลึกแก่ท่านอย่างจริงๆ แม้จะต้องอดหลับอดนอนสักวันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือ ๒ วัน ๒ คืน ๓ วัน ๓ คืน ก็ยังคุ้มกัน จะได้มีศรัทธา มีความเพียร มีความบากบั่นเกิดขึ้นในการที่จะทำตนตามแบบอย่าง ตามร่องรอยของพระอรหันต์ เพื่อความเป็นพระอรหันต์บ้าง ในที่สุด ก็จะอยู่เหนือความตายได้อย่างเดียวกันกับพระอรหันต์ที่ได้เป็นไปแล้ว ที่เอาชนะความตายได้เด็ดขาดแล้ว เป็นตัวอย่างอยู่ เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกนึกถึงของพวกเรา ที่กำลังจะทำมาฆบูชา ให้ถูกต้องให้ตรงตามความหมายอันแท้จริง
ข้อต่อไปที่จะต้องพิจารณาก็มีอยู่ว่า ทุกคนจะเป็นพระอรหันต์กันได้อย่างไร? หรือไม่? ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ปุถุชนคนธรรมดาสามัญนั้นกลัวความเป็นพระอรหันต์ เพราะได้ยินได้ฟังว่าไม่เกี่ยวข้องกับ กามคุณ คนที่บ้าหลังใน กามคุณ จะต้องกลัวความเป็นพระอรหันต์เป็นธรรมดาโดยไม่ต้องสงสัยเลย แล้วพิจารณาดูเถิดว่า คนชนิดนี้จะมีโอกาสเป็นพระอรหันต์หรือสนใจในพระอรหันต์ได้อย่างไร? เว้นไว้แต่จะได้พินิจพิจารณามาตามลำดับ จนมีสติปัญญาเห็นแจ้งในความว่างเปล่าของ กามคุณ เสียก่อน จึงจะสามารถยินดีพอใจในความเป็นพระอรหันต์ เขาจะต้องพินิจพิจารณาให้เห็นชัดว่า สิ่งที่เรียกว่า กามคุณ นั้นว่างเปล่าจากสาระที่ควรบูชา หรือหลงใหลยึดถือ มิหนำซ้ำ ไปหลงใหลยึดถือเข้า มันก็จะมีอาการเหมือนถูกตบหน้ากลับมา ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ เท่าไร จิตใจของบุคคลนั้นจะมีลักษณะเหมือนเขียงรองสับเนื้อมากขึ้นเท่านั้น เพราะความรัก เพราะความหลงใหลก็มี เพราะความผิดหวังก็มี เพราะความอิจฉาริษยาหึงหวงก็มี เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตน แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ดังนี้ก็มี อะไรๆก็ล้วนแต่เป็นไปตามเรื่องของมัน จิตใจของบุคคลผู้เข้าไปหลงรัก หลงยึดถือมากเท่าไร ก็จะต้องชอกช้ำมากเท่านั้น จึงมีลักษณะเหมือนกับเขียงรองสับเนื้อ รองหั่นเนื้อที่เขาสับกันแล้วเร่าๆเป็นเดือนๆปีๆ มีความชอกช้ำมากถึงเท่านั้น นี้แหละเรียกว่า ได้เห็นความว่างเปล่าของ กามคุณ เห็นความว่างเปล่า คือ ความที่ไม่มีสาระอันใดที่ควร
เข้าไปยึดถือหลงใหลใน กามคุณ นั้นๆ ถอน ตัวตน ใน กามคุณ นั้นๆเสียได้ - ว่า กามคุณ นั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน คือ จะเอาตามที่ปรารถนาไม่ได้ จึงจะเกิดความสนใจว่า ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรดีจิตใจนี้จึงจะไม่ตกอยู่ในลักษณะที่เหมือนกับเขียงรองสับเนื้อ? เพราะว่าถ้าเราปล่อยไปตามบุญ ตามกรรม กิเลส -ตัณหา นั้นมันทำให้ทนอยู่ไม่ได้ จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ มันก็ต้องมีอาการเหมือนกับถูกตบหน้ากลับมา หรือเกิดอาการที่เหมือนกับเขียงรองสับเนื้อนั้นขึ้นโดยไม่ต้องสงสัย
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในลักษณะอย่างนั้นว่า เป็นเหมือนกับเขียงรองสับเนื้อบ้าง ว่าเป็นเหมือนกับหลุมถ่านเพลิงบ้าง ใครลองเข้าไปใกล้หลุมถ่านเพลิงดูก็จะรู้ว่ามันร้อน ถ้าพลัดตกลงไปแล้วขึ้นมาได้ยากที่สุด และมีหวังจะต้องตาย นี่ เมื่อพิจารณาดูในข้อนี้ก็เห็นว่า เป็นการช่วยไม่ได้ในการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ แล้วจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้น แต่แล้วก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ดี ทั้งนี้ เพราะอำนาจของอะไร? ถ้าไม่ใช่เพราะอำนาจของ กิเลส ตัณหา หรือ อวิชชา อุปาทาน โดยเฉพาะคือ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ เพราะอำนาจของความไม่รู้ตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ทีนี้ จะทำอย่างไรต่อไป? จะเลือกเอาทางไหนดี? ทว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ มันก็ต้องได้รับทุกข์ทรมานอย่างนั้น ถ้าไม่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ทนอยู่ไม่ได้เพราะ กิเลส-ตัณหา มันบังคับ ปัญหามาเหลืออยู่ตรงที่ว่า เราจะต้องต่อสู้ กิเลส-ตัณหา ที่มันบังคับเราให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ นั้นมากกว่า เราจะต่อสู้ กิเลส-ตัณหา ได้อย่างไร? เราจะต้องสอนมันหรือเราจะต้องอบรมมัน? หรือว่าเราจะต้องทรมานมัน? ข้อนี้แล้วแต่จะพินิจพิจารณากันในแง่ไหน แต่ถ้าตามหลักที่มีอยู่ทั่วไปในพระคัมภีร์ มีการแนะนำให้พินิจพิจารณาให้เกิดความรู้ความเข้าใจทำนองคล้ายๆกับว่า อบรมสั่งสอน กิเลส-ตัณหา นั้นให้มันลืมตาเสียบ้าง เพราะว่าโดยที่แท้แล้ว ตัว กิเลส-ตัณหา นั่นแหละมันคือ ตัวเราเอง ใครๆอย่าอวดดีให้มากไปกว่านี้ ตัว กิเลส-ตัณหา นั่นแหละคือ ตัวท่านเอง หรือตัวเราเอง เพราะคำว่าตัวเราเองหรือความรู้สึกว่า ตัวเรา นี้มันเกิดมาจาก กิเลส-ตัณหา ถ้าไม่มี กิเลส-ตัณหา เช่น อวิชชา เป็นต้นแล้ว ความรู้สึกยึดถือว่า ตัวเรา นี้จะไม่มีขึ้นมาได้เลย ทำนองเดียวกับพระอรหันต์ที่หมด อวิชชา แล้ว ไม่มีความรู้สึกว่า ตัวเรา-ตัวฉัน
การที่ปุถุชนทุกคนมีความรู้สึกว่า ตัวเรา-ตัวฉัน ตัวกู อยู่นี่นั้น เป็นผลเกิดมาจาก กิเลส-ตัณหา มันทำให้รู้สึกอย่างนั้น มันทำให้ยึดถืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นการกล่าวที่ถูกต้องแล้วว่า ตัวตน หรือ ตัวกู หรือตัวเรา นั้นไม่ใช่อะไร นั่นแหละคือ ตัว กิเลส-ตัณหา / กิเลส-ตัณหา นั่นแหละคือ ตัวเรา ในที่นี้ เพราะฉะนั้น เราต้องอบรมสั่งสอนมันเสีย เอาใครมาอบรมสั่งสอน? ก็ต้องเอาหลักของพระพุทธเจ้า หรือกล่าวอย่างสมมติอีกทีหนึ่งก็ว่า เอาพระพุทธเจ้ามาอบรมสั่งสอน สติปัญญาเกิดขึ้นมาได้บ้างเท่าไร นี่แหละ จะเป็นผู้อบรมสั่งสอนให้ตัวตนของ กิเลส-ตัณหา หมดสิ้นไป ให้เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ มีความรู้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนของใคร ถ้าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ก็เป็นจิตที่สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีความคิด ไม่มีความนึก ไม่มีความยึดถือว่า ตัวตน ที่ไหน ไม่มีตัวตนอย่างนี้ เรียกว่า มีความรู้ถูกต้อง จะต้องอบรม ตัวตน ที่โง่เขลาให้มีความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมา จึงจะค่อยๆถอยห่างจากอันตรายต่างๆ มี กามคุณ เป็นต้นได้ ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องดังนี้แล้ว มันก็ต้องวิ่งไปหาอันตรายอย่างที่จะช่วยไม่ได้อยู่นั่นเอง ทุกคนจำเป็นที่จะต้องถอนตนในชั้นแรกด้วยสติปัญญาเท่าที่มีอยู่บ้างนี้ ให้หันมาสนใจในพระธรรมคำสอน หรือในพระพุทธศาสนา หรือในพระรัตนตรัย อุตส่าห์พินิจพิจารณาให้เห็นความทุกข์ทรมานที่กำลังได้รับอยู่ เพราะการเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็น ของๆตน ให้เห็นแจ้งอยู่เสมอว่า ทุกคราวที่เข้าไปเกี่ยวข้องไปยึดถือสิ่งที่น่ารักน่าปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ย่อมตกอยู่ในอาการที่เหมือนกับเขียงรองสับเนื้อขึ้นมาทันทีและมากเท่ากัน และตกอยู่ในอาการเหมือนกับอยู่ในหลุมถ่านเพลิง หรือปากหลุมถ่านเพลิงก็แล้วแต่กรณี บางทีก็ถึงกับตายอยู่ในหลุมถ่านเพลิง ที่อย่างดีที่สุดก็มีลักษณะเหมือนกับอยู่ต่อหน้างูเห่า ที่แผ่พังพานขู่ฟ่อๆอยู่ ซึ่งหมายถึง ความตาย (อย่างดีก็เป็นไม่มาก) อย่างดีก็เป็นได้เพียงเท่านี้ คือ เหมือนกับอยู่ต่อหน้าความตาย อย่างมาก อย่างกลางก็ลงไปอยู่ในหลุมถ่านเพลิง แต่โดยทั่วไป หรืออย่างใหญ่ก็อยู่ในลักษณะเหมือนกับเขียงที่รองสับเนื้อ ที่ถูกสับอยู่แล้วซ้ำๆซากๆ จนตายแล้วตายอีก ตายแล้วตายอีก ไม่มีเวลาสร่าง เมื่อมีการพินิจพิจารณาเห็นชัดในลักษณะเช่นนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดขึ้นมาในตัวมันเอง คือ ถอยหลังออกมาจากสิ่ง หรือสัตว์ หรือบุคคลที่เคยรักใคร่ยึดถือว่าเป็น ตัวตน หรือเป็น ของๆตน นี่แหละคือ การถอนตนออกมาให้เป็นอิสระ คือ ไม่ถูกครอบงำย่ำยีอยู่ด้วย กิเลส-ตัณหา ไม่ถูกครอบงำย่ำยีอยู่ด้วยความทุกข์ ไม่ถูกครอบงำย่ำยีอยู่ด้วยมัจจุราช แต่ว่าหลุดพ้นจากอำนาจของมัจจุราช มัจจุราชไม่เป็นเจ้าของ หรือไม่สามารถจะเบียดเบียน ย่ำยีเล่นตามชอบใจได้อีกต่อไป
เราได้พบปัญหาอันใหม่หรืออันหลังสุดว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะเอาชนะ กิเล-ตัณหา ได้ ไม่ให้มันบังคับเราให้วิ่งเข้าไปหาอันตรายอีกต่อไป? ดังนี้ อุบายวิธีที่จะทำให้ กิเล-ตัณหาหมดอำนาจนั้น ก็คือการพิจารณาดังที่ได้กล่าวมาว่า กิเลส-ตัณหา เข้าไปหาสิ่งใด เข้าไปผูกพันหลงใหลอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นล้วนแต่เป็นความทุกข์ แต่ถ้าทำไปตามอำนาจ สติปัญญา-มันตรงกันข้าม คือ มันไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น เลิกทำตามอำนาจของ กิเลส-ตัณหา กันเสียทีเถิด มาทำตามอำนาจของ สติปัญญา กันเสียบ้าง จะมีอะไร จะยึดครองอะไร จะรักใคร่หวงแหนสิ่งใด-ก็อย่าได้มี อย่าได้ยึดครอง อย่าได้รักใคร่หวงแหนด้วยอำนาจของ กิเลส-ตัณหา แต่ต้องทำไปด้วยอำนาจของ สติปัญญา มันก็จะพอเหมาะพอดีบ้าง คือ ไม่ทนทุกข์ทรมานแต่เป็นไปในลักษณะที่จะเป็นไปได้ พอสะดวกสบาย พอให้ลืมหูลืมตา พอให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร? แล้วก็อยู่กันเป็นผาสุกได้ทั้งตัวเองและผู้อื่น คือ ทุกคน นี้ เป็นผลเกิดมาจากการเป็นอยู่ด้วยอำนาจของ สติปัญญา ไม่อยู่ในอำนาจของ กิเลส-ตัณหา มี พระอรหันต์ เป็นตัวอย่าง แสดงอยู่ชัดแจ้งว่า ผู้ที่หมด กิเลส-ตัณหา นั้นอยู่เหนือความตาย อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือโลก อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมีจิตใจที่เป็นความสงบสุข มีความสะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็น เป็นอิสระเหนือสิ่งใดๆอยู่ได้ดังนี้
อาจจะมีปัญหาต่อไปว่า คนเราจะทำอย่างนี้ได้ทุกคนหรือไม่? ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสไว้ อาตมาหรือใครๆก็ไม่อาจจะยืนยันได้ว่าเราจะทำอย่างนี้ได้ทุกคน แต่ท่านได้ตรัสไว้น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าใครปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ ข้อนี้ก็เป็นอันหวังได้โดยแน่นอน การปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบจะทำได้ทุกคนหรือไม่นั้นพิจารณาดูก็เห็นว่า ไม่น่าจะเหลือวิสัยสำหรับคนธรรมดาสามัญ เว้นไว้แต่บุคคลนั้นจะเป็นคนพิกลพิการที่
เรียกกันว่า เป็นคนอาภัพ เกิดมามีจิตใจไม่สมประกอบ บ้าๆ บอๆ หรืออะไรทำนองนั้นเท่านั้นแหละ ที่เรียกว่า ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ พวกนี้จะหมดโอกาสไม่สามารถที่จะรู้ธรรมะได้ อย่างนี้ก็จะเป็นไปได้ แต่ถ้าคนธรรมดาสามัญแล้วน่าจะมีโอกาสสามารถรู้เข้าใจธรรมะ และปฏิบัติได้ด้วยกันทุกคน
มีพระบาลีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ขุททกนิกาย ข้อหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ข้อความนั้นมีว่า
ขัตติยา พราหมณ์ วรรณา เวศา ศูทรา จัณฑา และ ปุกกุสา สัพเพวะโรธสะตาทันสา สัพเพวะปรนิพพุตา (นาทีที่ ๑.๑๐.๒๐) แปลเป็นใจความว่า คนเหล่าใดจะเป็นวรรณะกษัตริย์ก็ดี จะเป็นวรรณะพราหมณ์ก็ดี จะเป็นวรรณะไวศยะ คือ คนธรรมดาสามัญก็ดี แม้จะเป็นวรรณะศูทร คือ คนต่ำช้า หรือจะเป็นคนจัณฑาล หรือจะเป็น ปุกกุสะ (นาทีที่ ๑.๑๐.๕๔) คือ คนไพร่สถุลที่สุดก็ดี คนทั้งปวงเหล่านั้นเมื่อได้ฟังด้วยดีแล้ว เมื่อได้ปฏิบัติตน ทรมานตนดีแล้ว ทุกคนก็ปรินิพพานได้
ท่านทั้งหลายฟังดูเองเถิดว่า ข้อความนี้จะยืนยันความมั่นใจให้แก่เราได้เพียงใด ข้อความนี้มีกล่าวไว้ว่า จะคนชนิดไหนก็ตามนับตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงคนกวาดขยะมูลฝอยกลางถนนซึ่งเรียกว่า ปุกกุสะ (นาทีที่ ๑.๑๑.๓๗) คนเหล่านี้ถ้าได้มีการได้ยินได้ฟังที่ดีเป็น โสสะตา (นาทีที่ ๑.๑๑.๔๒) และเป็น พันตา (นาทีที่ ๑.๑๑.๔๔) คือ ฝึกตนดีแล้ว อย่างถูกต้องแล้ว ทุกคนปรินิพพานได้ คือ ทุกคนหมด กิเลส ได้ ทุกคนเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านว่าไว้อย่างนี้ ใครคนไหนที่ตีราคาของตนเลวกว่าคนไพล่สถุล คนจัณฑาล หรือคนที่ทำได้แต่เพียงกวาดถนนขยะมูลฝอย ก็ลองแสดงออกมาให้เพื่อนกันเห็น อาตมาเชื่อว่าไม่มีใครตีค่าของตนต่ำถึงเท่านั้น อย่างน้อยก็ตีค่าของตนในลักษณะของคนธรรมดาซึ่งเรียกว่า วรรณะไวศยะ คือ เป็นคนธรรมดาสามัญ ทำไร่ ทำนา ค้าขาย มีอาชีพไปตามปกติ แม้จะไม่เป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์ แต่ก็เป็นคนธรรมดาสามัญ นี้ มันมีโอกาสยิ่งกว่าพวก ศูทร หรือคน จัณฑาล หรือ ปุกกุสะ (นาทีที่ ๑.๑๒.๕๐) มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง
ได้เป็นอย่างดี ถ้ามีความซื่อตรงต่อตัวเองก็จะมีโอกาสฝึกฝนตนเป็นอย่างดี ถ้าอย่ามอบตนให้แก่ กิเลส
เสียเกินไป โอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง หรือฝึกตนให้ดีนั้นก็พอจะมีอยู่ แต่ถ้ายอมตัวเป็นบ่าวเป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา หรือ กามคุณ ไปเสียโดยสิ้นเชิง-มันก็ต้องหมดโอกาส เพราะว่าถ้าไปทำอย่างนั้นเสียแล้ว มันจะมีโอกาสมาได้ยินได้ฟังดีที่ไหนเล่า? มันจะมีโอกาสมาฝึกตนให้ดีที่ไหนเล่า? เพราะว่าการยอมตนเป็นบ่าวเป็นทาสของ กามคุณ นั้น มันไม่เป็นการได้ยินได้ฟังที่ดี หรือการฝึกตนที่ดีอยู่ในตัวแล้ว เพราะฉะนั้น ตามหลักที่ท่านกล่าวไว้นี้ มันสำคัญอยู่ตรงที่การได้ยินได้ฟังดี และการปฏิบัติดี มีการปฏิบัติดี-ตามที่ได้ยินได้ฟังดี ถ้าเป็นอย่างนี้จะเป็นพระอรหันต์ได้ทุกคน
เรามักจะละเลยการได้ยินได้ฟังเรื่องของพระอรหันต์ เพราะกลัวการเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นห่วง กิเลส เป็นห่วง กามคุณ เป็นต้น จึงไม่ค่อยสนใจที่จะยินจะฟังเรื่องราวของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นไปเพื่อการข่มขี่ กิเลส แล้วเราก็เลยไม่รู้จักวิธีที่จะข่มขี่ กิเลส หรือควบคุม กิเลส ในที่สุด กิเลส มันก็ข่มขี่เรา หรือควบคุมเรา ก็ต้องเป็นคนทนทุกข์ทรมาน เป็นบ่าว เป็นทาสของ กิเลส ไปจนตาย ดังนี้ ไม่ได้พบกันกับอิสรภาพ คือ ความที่ไม่ต้องถูกข่มขี่ด้วย กิเลส นั้นเลย แต่ถ้าถือเอาตามหลักนี้แล้ว เราพอที่จะเชื่อว่า ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทาสของ กิเลส ไปจนตาย หรือว่าธรรมชาติสร้างเรามาสำหรับเป็นทาสของ กิเลส เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พระพุทธเจ้าก็ต้องไม่เกิด และพระอรหันต์ทั้งหลายจำนวนมากมายก็ไม่ต้องเกิด และคำกล่าวข้อนี้ก็ไม่ต้องกล่าวอย่างเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น พระอรหันต์ทั้งหลายได้มีปรากฏขึ้น คำกล่าวเช่นนี้ก็ได้มีอยู่เพราะว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ด้วยลักษณะแห่งคำกล่าวนี้เอง จึงเป็นความหวังอันหนึ่งในระยะแรกที่สุดของปุถุชนทุกคนว่า ถ้ามีการได้ยินได้ฟังดีจนเข้าใจแจ่มแจ้งเห็นจริงดี และก็มีการปฏิบัติตามสมควรแก่กันและกันแล้ว โอกาสแห่งการที่จะเอาชนะ กิเลส หรือความตายนั้นได้นั้นต้องมีอยู่แน่ จะได้เกิดความกล้าหาญความพอใจขึ้นมาบ้างในการที่จะต่อสู้เอาชนะ กิเลส ทั้งๆที่ว่า กิเลส นั้นมันใหญ่โต กิเลส อาจจะใหญ่โตเท่าภูเขาในเมื่อเอามาเปรียบกับเรา ที่เป็นกำลังเป็นบ่าวเป็นทาสของ กิเลส อยู่ ปุถุชนคนใดเป็นทาสของ กามคุณ หรือเป็นทาสของ กิเลส อยู่แล้ว กิเลส มันก็จะปรากฏตัวเท่ากับภูเขาหิมาลัยทีเดียว มันทำให้คนนั้นหมดกำลังใจที่จะต่อต้านหรือทำลาย กิเลส แต่ถ้าผู้ใดได้อาศัยบารมีของพระพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติให้ดีไปตามที่ได้ยินได้ฟังมาอย่างดีแล้ว กิเลส มันก็จะเล็กลง เราก็จะใหญ่ขึ้นพอที่จะทำลาย กิเลส นั้นได้เป็นแน่
แต่แม้ว่าในขณะนี้ กิเลส ยังได้เปรียบเรา อยู่เหนือเรา เราก็ยังไม่ควรจะท้อแท้ หรือปล่อยตัวยอมแพ้เสียตั้งแต่ต้น หรือตั้งแต่เริ่มแรก ตั้งแต่ต้นมือ ควรจะได้อ้างเอาบารมีของ พระธรรม ซึ่งเป็นคู่ปรับกันกับ กิเลส นั้นมาเป็นที่พึ่งพาอาศัย พยายามไปตามความรู้ความสามารถของบุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา อย่าให้ได้เสียทีที่เกิดมา คือ ให้ถือเอาประโยชน์จากพระอรหันต์ทั้งหลาย หรือประโยชน์ที่พระอรหันต์ทั้งหลายได้มีไว้ให้เรา ได้มอบเป็นมรดกตกทอดมาถึงเรานี้ให้ได้ด้วยกันทุกคน คือ กล้าคิด กล้านึกที่จะต่อสู้กับ กิเลส-ตัณหา นั่นเอง เพราะท่านได้รับรองไว้แล้วว่า ถ้าได้ยินได้ฟังดี มีการปฏิบัติดีตามที่ได้ยินได้ฟังดีแล้ว ทุกคนก็เป็นพระอรหันต์ได้ นี้ เป็นกำลังใจอันหนึ่งสำหรับคนทุกคนที่ยังรักตน ยังสงวนตน ยังตีราคาของตนไม่ต่ำกว่า มนุษย์ แต่ถ้าไปตีราคาของตนต่ำกว่ามนุษย์ คือ เท่ากับสัตว์ทั่วๆไปเสียแล้วก็หมดปัญญา หมดวิสัย หมดโอกาสที่จะปฏิบัติกิจในพระพุทธศาสนา เพื่อจะเอาชนะ กิเลส นั้นให้ได้ ไม่สมกับที่เราจะมานั่งทำมาฆบูชา ทำในใจถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย ในฐานะเป็นบุคคลที่หมด กิเลส เป็นบุคคลที่เราเคารพนับถือ สรรเสริญ บูชา และหวังว่าจะเอาอย่าง หรือเอาเป็นที่พึ่ง ผู้ที่จะทำมาฆบูชาทุกคนควรจะระลึกนึกถึงข้อที่ตนก็มีหวังที่จะ
หมด กิเลส หรือเป็นพระอรหันต์ได้ในโอกาสข้างหน้า ถ้าไม่ใช่ชาตินี้ก็ขอให้เป็นชาติหน้า ถ้าไม่ใช่ชาติหน้าก็ขอให้เป็นชาติต่อๆไป อย่าได้ยอมแพ้ถึงกับว่าเป็นของเหลือวิสัยแล้วก็ไม่เคยนึกเคยหวังกันเลย
ข้อนี้มีกำลังใจอยู่ส่วนหนึ่ง คือ ธรรมชาติ อีกนั่นเอง ธรรมชาติ มีกฎเกณฑ์ที่ทำให้คนเรารู้เห็นอะไรได้เองมากขึ้นเรื่อยๆ ดั่งตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้มีความรู้สติปัญญามาจากไหน นอกจากความรู้ที่ธรรมชาติมอบให้ตามที่ท่านได้ผ่านไป แต่เพราะมีปัญญากล้าแข็งจึงรู้ได้เร็ว ส่วนคนธรรมดาสามัญก็อาจจะรู้ได้แม้ว่าจะช้าหรือช้ามากสักหน่อย ขอแต่ให้สนใจในเมื่อตนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ จนผ่านไปแล้วเป็นเรื่องๆรายๆไป ก็ควรจะได้ความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างไร? มีเหตุมาอย่างร? มีผลข้างหน้าอย่างไร? นำไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างไร? ถ้าทำในทางที่ตรงกันข้ามจะได้รับผลอย่างไร? และเรามีทางที่จะทำได้อย่างไร? ดังนี้เป็นต้น
ความรู้ชนิดนี้แหละ-ถูกต้อง ความรู้ชนิดนี้แหละ-มั่นคง พอที่จะต่อสู้กับ กิเลส- ตัณหา ได้และได้มาจาก ธรรมชาติ เพราะการที่ได้ผ่านไป ผ่านไปเหมือนกับที่เรายิ่งมีอายุอยู่ในโลกนี้นานวันเข้า เราก็ยิ่งรู้อะไรมากขึ้น ไม่เหมือนกับเมื่อเป็นเด็กเล็กๆที่เพิ่งเกิดมา เพราะฉะนั้น ขอให้อยู่ด้วย สติปัญญา ตลอดเวลาไปก็แล้วกัน จะยิ่งมีความรู้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี และทุกชาติ ในที่สุด ก็จะต้องดีขึ้น ดีขึ้นจนถึงที่สุด คือ เป็นพระอรหันต์ ลักษณะของการที่จะดีขึ้นนี้เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพราะว่าธาตุแห่งสติปัญญา หรือวิชาความรู้นั้นมันมีอยู่ในทุกสิ่ง มันปรารถนาไปในทางดี-ไม่ได้ปรารถนาไปในทางเลว แม้แต่สัตว์เล็กๆน้อยๆที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันก็ยังรู้จักปรารถนาไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ปรารถนาไปในทางที่เลวลงหรือต่ำลง รู้จักปรารถนาไปในทางสูงโดยอำนาจของธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแหละ แม้ว่าในครั้งแรกๆโลกเรานี้ไม่เคยมีพระอรหันต์มาแต่กาลก่อน มีแต่คนป่าหรือมีแต่ลิงมาก่อนก็ตามใจ ก็ค่อยๆมีคนป่า แล้วค่อยๆมีคนบ้าน แล้วก็ค่อยๆมีคนที่ฉลาด จนเกิดพระพุทธเจ้า และเกิดพระอรหันต์ นี่ เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความปรารถนาในทางที่จะดีขึ้น ฉะนั้น ถ้าเราเองยังเป็นไปตามกฎธรรมชาติธรรมดาอยู่อย่างนั้นแล้ว ก็ย่อมจะมีหวังในโอกาสข้างหน้า แต่ช้าหรือเร็วเพียงไรก็ตาม ย่อมหวังที่จะดีขึ้น ดีขึ้นได้ ไปถึงที่สุด คือ เป็น พระอรหันต์ ได้กับเขาคนหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานสักเท่าไรก็ตาม
นี้ เป็นความหวัง และนี้ ก็เป็นความจริง รับรองได้ด้วยหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ตัณหา ส่วนหนึ่งต้องการจะดีขึ้น คอยทำไปตามความต้องการในทางที่มันดีขึ้น ดีขึ้นอย่าให้เลวลง ครั้นเมื่อถึงที่สุดของความดีแล้ว มันก็จะรู้จักปลดปล่อยไม่ยึดถือในความดีนั้นเอง เพราะว่าได้ชินกันมากแล้ว ได้ซึมซาบกันมากแล้ว เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ตามลำพัง ก็จะปล่อยวางหลุดพ้นออกไปได้ โดยอำนาจของ ธรรมชาติ หรือ สติปัญญา ที่เกินมาจากธรรมชาตินั้นเป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้น เราอ้างเอาคุณของพระอรหันต์เป็นที่ตั้ง เป็นจุดมุ่งหมายปลายทาง แล้วส่งเสริมธรรมชาติแห่งวิชาแห่งความรู้ หรือความปรารถนาดีที่มีอยู่ในชีวิตทั่วๆไปนี้ ให้ดำเนินไปในทางที่ถูก หรือให้ดำเนินไปในทางของมันเอง อย่าไปทำลายมันเสียก็ยังมีหวังอยู่เป็นส่วนมาก เพราะว่าธรรมชาติทั้งหลายนั้นต้องการจะสูงขึ้น หรือดีขึ้น แต่คนพาลไปสร้างทำนบขวางเสียเอง คือ เลี้ยววกไปสู่ความต่ำหรือความชั่ว แต่แล้วในที่สุด ก็คอยคิดอยู่ว่า มันคงไม่ทนอยู่ได้เท่าไร มันก็คงจะรู้จักเข็ดรู้จักหลาบ หมุนมาในความดี แล้วก็ก้าวหน้าไปในทางของความดีต่อไป มันคงทำผิดซ้ำๆได้ไม่เกินกว่าสิบครั้ง ยี่สิบครั้ง มันคงจะเบื่อ เมื่อมันถึงที่สุดเข้า มันคงต้องหมุนมาในทางของความดี
แต่ว่าพวกเราอย่าต้องเสียเวลามากถึงเพียงนั้นเลย ทำผิดซ้ำๆเพียงครั้งเดียว สองครั้งก็พอแล้ว ควรจะรีบปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้ดำเนินไปในทางของความถูก ก็จะถึงที่สุดของความดีก่อนคนพาล ที่จะต้อง
ทำผิดซ้ำๆกันเป็นสิบครั้ง ยี่สิบครั้ง หรือร้อยครั้ง แล้วจึงจะกลับตัว เราจะกลับตัวกันเสียแต่ในการทำผิดเพียงครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้ง ความผิดนั่นแหละเป็นครูเท่าๆกับความถูก บางทีความผิดจะเป็นครูได้ดีกว่าความถูก เพราะมันตบหน้าเอาแรงๆไม่ตามใจ ไม่ล่อให้หลงใหล ทำผิดลงไปเท่าไร จะต้องใช้ด้วยความทนทุกข์ทรมานมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น มันก็มีคุณในการที่ทำให้รู้ความจริง แล้วก็หมุนไปหาความดีได้โดยง่าย ทำให้กลัวความทุกข์ได้โดยเร็ว ทำให้เกลียด วัฏฏสงสาร ได้โดยเร็ว ความดีที่เอร็ดอร่อย สนุกสนาน เพลิดเพลินในเทวโลกพรหมโลกนั่นเสียอีก มันจะทำให้มัวเมาอยู่ใน วัฏฏสงสาร เนิ่นนานไป เราจึงถือเอาความผิดเพียงครั้งเดียว ถูกตบหน้าเพียงครั้งเดียว แล้วก็กลับตัวกันเสีย ดิ่งตรงไปสู่ ความพ้นทุกข์ คือ ความที่มีจิตใจอยู่เหนือโลก เห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าไม่มีอะไรที่น่าหลงใหล น่าเสน่หา พัวพัน เมาหมกอยู่ ก็จะก้าวหน้าไปได้เร็วกว่าคนที่มัวแต่เก็บเกี่ยวผลของความดี ติดมั่นอยู่ในความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยนั้นเสียอีก
เพราะฉะนั้น อย่าได้เสียใจ อย่าได้หมดกำลังใจ ในการที่ทำผิดอะไรลงไปแล้ว จะต้องรีบกลับตัวเสียใหม่โดยเร็ว แล้วก็เดินไปข้างหน้าโดยเร็ว แสวงหาการได้ยินได้ฟังดีไว้ให้มากๆ ประพฤติปฏิบัติข่มขี่ กิเลส ให้เป็นอย่างดี ให้สมกับที่ได้ยินได้ฟังมา ก็จะดับ กิเลส-ตัณหา เป็นพระอรหันต์กันได้ด้วยกันทุกคน ดังที่ท่านได้กล่าวรับรองไว้ ดังที่อาตมาได้นำมาแสดงไว้ดังนี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายฟัง ว่าเราทุกคนมีหนทางที่จะทำตามรอยพระอรหันต์ได้อย่างไร? และมีโอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์กันได้อย่างไร? ไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ หรือวรรณะพราหมณ์ หรือคนชั้นธรรมดา หรือเป็นคนไพร่ คนจัณฑาล คน ปุกกุสะ (นาทีที่ ๑.๒๘.๒๕) คือ ชั้นต่ำที่สุดของมนุษย์ เมื่อได้ยินได้ฟังดีแล้ว ปฏิบัติธรรมะโดยสมควรแก่การได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ปรินิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะนั่นเป็นอำนาจของพระธรรม เป็นบารมีของพระธรรม เป็นหน้าที่ของพระธรรม ที่จะต้องช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่เหนือทุกข์โดยประการทั้งปวง ปัญหาเหลืออยู่แต่ว่า เราจะเอาหรือไม่เท่านั้นเอง? หนทางก็มีอยู่ เราจะเดินหรือไม่? สระน้ำที่เป็นอมฤตก็มีอยู่-แต่เราจะกินหรือไม่? นั่นมันแล้วแต่ความโง่หรือความฉลาดของสัตว์นั้นๆ เราจงเป็นสัตว์ที่มีบุญมีกุศล รู้จักเลือกหนทางเดิน รู้จักแสวงหาสิ่งที่ควรแสวง และประพฤติปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปในหนทางนั้นๆ แม้ในการมุ่งหมาย แม้ในการที่เรามุ่งหมายจะทำมาฆบูชาในวันนี้ อย่างน้อยที่สุดแล้ว ก็ขอให้เป็นการพอกพูนความกล้าหาญ ความพากเพียร และความเชื่อของเราให้มีมาก ให้มีสมบูรณ์ในการที่จะเดินตามรอยของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้ได้ชื่อว่าเราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่เสียทีที่ได้เป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา
วิสัจฉนาธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้
สาธุ
(บทสวด)