แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อเป็นเครื่องประดับเตือนสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ วาระเหตุเป็นวันมาฆบูชา คือ วันเป็นที่ระลึกถึง พระอรหันต์ ทั้งหลายบรรดามีในพระพุทธศาสนาประชุมกันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ บทอันเป็นประธานแห่งพระพุทธวจนะทั้งปวง เป็นเหมือนกับการประกาศย้ำว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร? อีกประการหนึ่ง คือ ตรงกันกับสมัยที่ทรงปลงอายุสังขาร เพื่อการเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะฉะนั้น จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษควรแก่การระลึกถึง พุทธบริษัททั้งหลายจึงได้พากันประกอบพิธี เพื่อเป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์อันสำคัญนี้เต็มตามสติปัญญาของตนของตน ดังเช่นที่เราทั้งหลายก็กำลังจะทำอยู่ในบัดนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้กระทำในใจให้ดี กระทำในใจให้แยบคายให้สำเร็จประโยชน์ เป็นตามความหมายของมาฆบูชานั้น จงทุกประการ
ในวาระแรกนั้น ควรจะทำความรู้สึกในใจว่า วันเช่นวันนี้มีอะไรเป็นตัวการสำคัญของเรื่อง? ถ้าจะตอบสั้นๆ ก็คือว่า พระอรหันต์ นั่นเอง เป็นตัวเรื่องสำคัญที่เป็นความหมายของวันๆนี้ การที่ท่านประชุมกันโดยไม่ต้องนัดหมาย หรือว่าเป็น พระอรหันต์ ทั้งหมด หรือว่าเป็นวันเพ็ญมาฆบูชา หรือว่าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เหล่านี้ยังนับว่าเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นส่วนปลีกย่อย ข้อสำคัญอันแท้จริงนั้น ก็คือ
• คำว่า พระอรหันต์ หรือ บุคคลที่เรียกกันว่า พระอรหันต์ นั้นเป็นอย่างไร?
• มีความหมายเกี่ยวเนื่องมาถึงพวกเราอย่างไร?
• เราจะต้องประพฤติปฎิบัติจัดทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับการที่วันนี้เป็นวันที่ระลึกถึง พระอรหันต์?
อาตมาอยากจะชักชวนท่านทั้งหลายทุกคนว่า ปีหนึ่งมีเพียงวันเดียวที่จัดเป็นวันที่ระลึกถึง พระอรหันต์ ทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา และมี จอมพระอรหันต์ คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านมีอยู่ในโลกนี้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง เราควรจะระลึกนึกถึงด้วยความสักการะ เคารพ และด้วยการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเป็นการบูชาตอบแทนคุณของท่าน เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราจะต้องมีการเสียสละกิจการงาน เป็นต้น จะต้องมีความอดกลั้นอดทนกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องบูชาคุณของ พระอรหันต์ นั้นให้สมกัน เพียงแต่จะทำบุญทำทานตามปกตินั้นยังไม่พอ เพราะว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ จึงขอร้องให้กระทำทุกอย่างทุกทาง จะเป็นการให้ทานก็ดี เป็นการรักษาศีลก็ดี เป็นการฟังธรรมเทศนาก็ดี เป็นการเจริญภาวนาในทางจิตใจ ให้มีความสะอาด สว่าง สงบก็ดี ตลอดจนถึงความอดกลั้นอดทนอย่างอื่นตลอดวันๆนี้ ล้วนแต่จะต้องทำเป็นพิเศษเพื่อบูชาคุณของ พระอรหันต์ ทั้งหลายดังที่กล่าวมา เราจะใช้เวลาในวันนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดด้วย ให้มีความเหมาะสมที่จะเป็นที่ระลึกอุทิศบูชาแด่ พระอรหันต์ ทั้งหลายด้วย ทุกคนจะต้องตั้งอกตั้งใจคิดนึกว่าจะทำอย่างไรให้สุดสติปัญญาของตนทุกคน?
ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทราบความหมายของคำว่า พระอรหันต์ ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน แล้วจะได้นำไปคิดนึกดูว่า เราจะปฏิบัติกาย วาจา ใจของเราในวันนี้ ให้เป็นการคล้อยตาม พระอรหันต์ ทั้งหลายให้มากที่สุดได้อย่างไร? การทำตาม พระอรหันต์ นั้นไม่ใช่เป็นการอวดดี ท่านผู้ใดอย่าได้คิดว่าเมื่อพูดว่าเราจะทำตาม พระอรหันต์ ดังนี้แล้วจะเป็นการอวดดี-ดังนี้ก็หาไม่ อุบาสก อุบาสิกาที่ดีย่อม ปัจเวกขณ์องค์อุโบสถ อยู่เป็นประจำทั้ง ๘ องค์ แต่ละองค์ละองค์ก็มีว่า พระอรหันต์ ทั้งหลายท่านทำอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น และแม้เราในวันนี้ก็จะทำตาม พระอรหันต์ ทั้งหลายนั้นด้วยองค์อันนี้ อันนี้ ครบทั้ง ๘ องค์แห่งอุโบสถ นี้ ไม่ถือว่าเป็นอวดดิบอวดดีอะไร เป็นการตั้งอกตั้งใจจะทำเพื่อความดับทุกข์เช่นเดียวกับที่ พระอรหันต์ ท่านทำ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็เพื่อต้องการจะเป็นอยู่ในวันหนึ่ง วันหนึ่งนั้น ให้คล้ายกันกับที่ พระอรหันต์ ทั้งหลายท่านเป็นอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราไม่ได้ประกาศว่าเราเป็น พระอรหันต์ แต่ว่าเราจะทำตาม พระอรหันต์ ให้สุดความสามารถของเรา โดยเฉพาะใน วันอุโบสถ วันนี้ก็เป็น วันอุโบสถ แต่ก็เป็น วันอุโบสถ ที่ยิ่งไปกว่า วันอุโบสถ อื่นๆ คือ เป็นวันมาฆบูชาด้วย การเรียกว่า มาฆบูชา แปลว่า การบูชาที่ทำในเดือนมาฆะ เพียงเท่านี้ไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก เพราะเป็นชื่อของเวลาเป็นการกำหนดด้วยเวลา เราควรจะทราบถึงความหมายเสียใหม่ว่า การทำการบูชาในเดือนมาฆะเพื่อระลึกถึง พระอรหันต์ เพื่อบูชา พระอรหันต์ เพื่อทำตามอย่าง พระอรหันต์ ให้เรามีความเป็นอยู่ที่คล้าย พระอรหันต์ ให้มากที่สุดทุกลมหายใจเข้าออกในวันนี้ ทำอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการทำมาฆะบูชาที่แท้จริง หรือถูกต้องตามความหมาย ถ้าทำอย่างอื่น หรือทำอย่างละเมอเพ้อฝัน ทำไปตามธรรมเนียมประเพณี สรวลเสเฮฮาอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามเรื่อง นั่น เป็นการทำมาฆบูชาของลูกเด็กๆ ไม่สมควรแก่อุบาสก อุบาสิกาผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรม ผู้รู้ความหมายของ พระอรหันต์ ดีว่ามีอยู่อย่างไร แล้วพยายามจะทำตนให้คล้อยตามให้มากที่สุดที่จะมากได้ ผู้ที่พิจารณาเห็นความหมายอันแท้จริงของความเป็น พระอรหันต์ โดยถูกต้องเท่านั้น ที่จะทำมาฆบูชาให้เป็นมาฆบูชาอย่างถูกต้อง
ความหมายอันแท้จริงของคำว่า พระอรหันต์ นั้นก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ อีกนั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ หมายถึง
บุคคลที่มี ความสะอาด ถึงที่สุด
มี ความสว่างไสว ถึงที่สุด
และมี ความสงบเย็น ถึงที่สุด
นี้เรียกว่า พระอรหันต์
ที่ว่า สะอาด หมายถึง บริสุทธิ์ หมดจด ไม่มีบาป ไม่มีความชั่วซึ่งเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่มีความลับที่จะต้องปกปิด
ที่ว่ามี ความสว่างไสว นั้นหมายถึง ความรู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องเป็นตามที่เป็นจริง จนประพฤติปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง ไม่มีความทุกข์อันใดเกิดขึ้นมาได้เลย นี้เรียกว่า ความสว่างไสว คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง
ที่เรียกว่า ความสงบ นั้นหมายถึง ความสงบเย็น ปราศจากความทุกข์ ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย ไม่ถูกห่อหุ้ม พันพัว ตบตี ทิ่มแทง เผาลนแต่ประการใด จึงนับว่าเป็นความสงบเย็นอย่างแท้จริง
ความสะอาด ความสว่าง และ ความสงบ นี้ เรียกเป็นภาษาไทยสั้นๆเพื่อจำง่าย
ความสะอาด ก็คือ สุทธิ หรือ สุทธิคุณ
ความสว่าง ก็คือ ปัญญาคุณ
ความสงบ ก็คือ สันติคุณ
การที่มี ความสะอาด สว่าง สงบ นี้ หมายความว่า ได้ถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาถึงที่สุด ได้ประสบความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด นั่นแหละคือบุคคลประเภทที่เรียกว่า พระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ก็เป็น พระอริยเจ้า ที่รองๆลงมา เช่น พระอนาคา สกิทาคา และ พระโสดาบัน เป็นต้น ถ้ายังมีความสะอาด สว่าง สงบน้อยไม่ควรจะเรียกว่า พระอริยเจ้า ก็เรียกได้ว่าเป็น กัลยาณปุถุชนที่ดี ถ้าไม่มีความสะอาด สว่าง สงบ ก็เรียกว่า ปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส
โดยนัยนี้เราจะเห็นได้ทันทีว่า ปุถุชน ก็คือ คนที่เต็มอยู่ด้วยความเศร้าหมอง ความมืดมัว และความเร่าร้อน คือ ไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบนั่นเอง ส่วน พระอรหันต์ นั้นตรงกันข้าม เป็นผู้ที่หมดความมืดมัว หมดความเศร้าหมอง หมดความมืดมัว หมดความเร่าร้อน แต่มีความสะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็นถึงที่สุดเกิดขึ้นแทน เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ พอจะเทียบเคียงเอาได้ด้วยใจตนเองว่า พระอรหันต์ เป็นอย่างไร? เสียแต่ว่าเราจะเป็น ปุถุชน กันเกินไปจนไม่รู้จักความเป็น ปุถุชน ของตัวเอง
อยากจะเปรียบเทียบความข้อนี้เหมือนกับปลาที่มันอยู่ในน้ำ มันไม่รู้แม้แต่ความเป็นปลาของมันเอง คือ ไม่รู้ว่ามันเป็นสัตว์น้ำ ปลาไม่มีความรู้ว่าตัวเองเป็นสัตว์น้ำ เพราะเกิดในน้ำ อยู่ในน้ำ และก็ตายในน้ำ แต่แล้วก็ยังไม่เห็นน้ำ เพราะน้ำมันเข้าถึงตาเกินไปจนไม่เห็นน้ำ ไม่มีความรู้สึกที่จะเรียกว่า น้ำ เหมือนที่พวกเราเรียก น้ำ นั้นว่า น้ำ เพราะฉะนั้น ปลาจึงไม่รู้จักตัวเองว่าเราเป็นสัตว์น้ำ ดังนี้เป็นต้น แล้วปลาจะรู้จักเรื่องบก หรืออยากเป็นสัตว์บกได้อย่างไรกัน? เช่นเดียวกับคนที่เป็น ปุถุชน เกินไป หลับหูหลับตามากเกินไปจนกระทั่งไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ปุถุชน คนพวกนี้เท่านี้ที่จะไม่อาจเข้าใจเรื่องราว พระอรหันต์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตรงกันข้ามกับ ปุถุชน แต่ถ้ามีสติปัญญาอยู่บ้าง พอที่จะรู้สึกนึกได้เองว่าความเป็น ปุถุชน ของตนนั้นเป็นอย่างไรแล้ว ตนก็จะพอเทียบเคียงหรืออนุมานเอาได้ว่าความเป็น พระอรหันต์ นั้นจะเป็นอย่างไร?
ปุถุชน คนที่ไม่หนาเกินไปควรจะได้มีความรู้แจ้งว่า ตามธรรมดาของ สัตว์ปุถุชน นั้นก็คือ ผู้ที่จมอยู่ในกองทุกข์ เหมือนกับปลาที่ฉลาดบางตัวพอที่รู้ได้ว่า เราเป็นสัตว์น้ำอยู่ในน้ำจึงเสียเปรียบพวกสัตว์บก จึงเสียเปรียบสัตว์ที่อยู่บนฟ้า ทำอย่างไรเราจะค่อยกลายจากการเป็นสัตว์น้ำไปเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกก็ยังดี จะอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก จะได้รู้เห็นสิ่งต่างๆกว้างขวางออกไป จะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินที่มากกว่าที่จะอยู่ในน้ำแต่อย่างเดียว สัตว์ที่ครึ่งน้ำครึ่งบกมีความรู้สึกได้กว้างขวางยิ่งกว่าสัตว์ชนิดที่เป็นสัตว์น้ำไปเสียตะพืดตะพือ
นี่แหละ เป็นเครื่องเทียบเคียงให้เห็นว่า ถ้าเราจะรู้อะไรในทางที่ตรงกันข้ามจากวิสัยของ ปุถุชน บ้างแล้ว เราอย่ามัวหลงเป็น ปุถุชน ให้มากเกินไป อย่าหลับหูหลับตาเอาแต่จะเป็น ปุถุชน เสียตะพืดตะพือ จะต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กว้างขวางออกไป จนกระทั่งถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเสียบ้าง เหมือนกับสัตว์ที่เป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ก็มีความรู้ในเรื่องบกได้ตามสมควร เมื่อได้เป็นสัตว์ชนิดครึ่งน้ำครึ่งบกดังนี้แล้ว ความคิดจะได้ก้าวต่อไปจนถึงกับว่าจะเป็นสัตว์บกยิ่งขึ้นทุกที เพราะว่าสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกนั้นไม่ค่อยจะได้ขึ้นไปบนบกจริงๆ จะต้องอธิษฐานจิตต่อไปอีกว่า เราจะเป็นสัตว์บกมากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งเที่ยวไปบนบกทั่วทุกหนทุกแห่ง รู้เรื่องบกดี มีอะไรแปลกๆออกไปจากในน้ำ ทีนี้ ความคิดเลยเดินสืบต่อไปว่า สัตว์ที่อยู่ในอากาศยังมีความเป็นอิสระ สะดวก สบาย สนุกสนาน คล่องแคล่วกว่าเรา เราก็ควรจะเป็นสัตว์ที่เที่ยวไปในอากาศได้บ้าง จึงได้อธิษฐานจิตเพื่อความเป็นอย่างนั้น และจะได้เป็นสัตว์ที่เที่ยวไปในอากาศ ก็จะได้รับความรู้ หรือความรู้สึกต่างๆนั้นมากยิ่งขึ้นไปอีก กว่าที่จะเป็นปลามุดอยู่แต่ในน้ำอย่างเดียว
นี่เป็นอุปมาที่แสดงให้เห็นว่า ทางที่จะก้าวออกไปสู่ความเจริญนั้นมีอยู่ แต่ว่าสัตว์นั้นๆจะต้องมีความคิด ความนึก ความช่างสังเกต จนกระทั่งรู้สึกความที่ตนตกอยู่ในภาวะที่ต่ำต้อยหรือในวงจำกัดอย่างไร ดังเช่นปลา มีความจำกัดที่จมอยู่แต่ในน้ำ รู้อะไร อะไรก็รู้อย่างปลา จะเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกขึ้นมา-ก็จะได้รู้มากขึ้นไปอีก เป็นสัตว์บกโดยสมบูรณ์-ก็รู้มากขึ้นไปอีก เป็นสัตว์ที่เที่ยวไปในอากาศได้-ก็รู้มากขึ้นไปอีก
คนเราที่เป็น ปุถุชน อย่างหนาแน่นก็เหมือนกับปลานั่นเอง จมอยู่ในน้ำ คือ กามคุณ หมายถึง ความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยของทางวัตถุ หรือทางเนื้อ ทางหนัง ซึ่งท่านเรียกว่า กามคุณ นี้เป็นเหมือนกับน้ำ เป็นผู้ที่จิตจมอยู่ที่เหยื่อของโลกทางวัตถุ หรือทางเนื้อ ทางหนังเช่นนี้ ตาของตนก็ถูกหุ้มห่ออยู่ด้วยเหยื่อเหล่านั้น ตาจะเห็นแต่เหยื่อเท่านั้นไม่เห็นอะไรมากไปกว่านั้น จึงเรียกว่า จิตจมอยู่ในโลกนี้ คือโลกของ ปุถุชน ที่เต็มไปด้วยเรื่องของทางวัตถุ หรือทางเนื้อ ทางหนัง บางท่านมีคำอุปมาที่ควรจดจำไว้อีกอย่างหนึ่งว่า คนเราที่จะก้าวไปถึง นิพพาน หรือความดับทุกข์ได้นั้น จะต้องแทงตลอดสิ่งห่อหุ้มเป็นชั้นๆ เป็นลำดับๆไปทีเดียว อันแรกที่สุดจะต้องแทงตลอด กายเนื้อ ให้ถึง กายทิพย์ เมื่อเข้าถึง กายทิพย์ แล้ว จะต้องแทงตลอด กายทิพย์ นั้นให้เข้าถึง กายพรหม เมื่อเข้าถึง กายพรหม แล้ว จะต้องแทงตลอด กายพรหม ให้เข้าถึง กายธรรม คือ ธรรมะ ถึงจะมีอาการที่เรียกว่า บรรลุมรรคผลนิพพาน
ที่เรียกว่า กายเนื้อ ในที่นี้ เขาจะอธิบายกันอย่างไรก็ตามใจเถิด แต่พุทธบริษัททั่วไปควรจะเข้าใจว่า ได้แก่ เหยื่อล่อ หรือ กามคุณ ของ ปุถุชน ในมนุษยโลกนี้เอง กามคุณ ของมนุษย์ในโลกนี้ เป็นเครื่องหุ้มห่อจิตใจสัตว์ให้รู้จักแต่เพียงเท่านี้ ให้มัวเมาอยู่แต่เพียงเท่านี้ ไม่มองเห็นอะไรมากไปกว่านั้น ปุถุชน ชนิดนี้จึงเหมือนกับปลาที่เป็นสัตว์น้ำล้วนๆ รู้จักแต่เรื่องน้ำ ถ้าเป็นปุถุชนดีไปกว่านั้นก็แทงตลอด กายเนื้อ ไปสู่ กายทิพย์ ได้ เพราะว่า กายทิพย์ นั้นยังดีกว่า กายเนื้อ ข้อนี้หมายถึง กามคุณ อันเป็นทิพย์ หรือสวรรค์ ยังปราณีตกว่า กามคุณ อย่างมนุษย์ เพราะ กามคุณ อย่างมนุษย์นั้นหยาบ หรือเลวทรามกว่ากันมาก เมื่อแทงตลอด กายเนื้อ ก็หมายความว่า เห็นว่า กามคุณ อย่างมนุษย์นี้เลวเกินไป จึงได้ปรารถนา กามคุณ อย่างที่เป็นทิพย์ หรือเป็นสวรรค์ นี้พอจะเรียกได้ว่า เป็นสัตว์ที่รู้จักปรารถนาขี้นจากน้ำ เป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก เช่น อึ่งอ่าง คางคก หรือเต่า เป็นต้น เป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกถ้าไปกินอะไรบางอย่างที่บนบกได้บ้างก็ยังดี
ทีนี้ สูงไปกว่านั้นก็จะเป็นสัตว์บกล้วนๆ หมายความว่า ผู้ที่ได้ผ่าน กายทิพย์ ไปแล้ว พิจารณาเห็นความหลอกลวง ความเป็นมายาของ กามคุณ อันเป็นทิพย์ จึงได้ปรารถนา กายพรหม คือ ความเป็นสุข สงบ ระงับอยู่ได้ด้วยผลอันเกิดจาก สมาธิ หรือ ฌาณ หรือ สมาบัติ หมายความว่า ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ทั้งที่เป็นอย่างมนุษย์หรืออย่างเป็นทิพย์ แต่เกี่ยวกับความสงบที่เกิดมาจาก ฌาณ จาก สมาธิ ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน ฌาณ หรือ สมาธิ
ประเภทแรกเรียกว่า รูปฌาณ อาศัยสิ่งที่มี รูป เป็น อารมณ์ สำหรับ เจริญฌาณ
ทั้งประเภทที่ ๒ เรียกว่า อรูปฌาณ อาศัยสิ่งที่ ไม่มีรูป เป็น อารมณ์ สำหรับ เจริญฌาณ
เพราะฉะนั้น ความสุขที่ได้มาจากการเจริญฌาณทั้ง ๒ ประเภทนี้ย่อมจะต้องต่างกันเป็นธรรมดา ที่เป็น รูปฌาณ ก็หยาบกว่า ที่เป็น อรูปฌาณ ก็ประณีตกว่า แต่แล้วก็เรียกว่า ฌาณ ให้ความสุขเกิดแต่ ฌาณ ได้ด้วยกันทั้งนั้น และทั้ง ๒ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับ กามอารมณ์ คือ ไม่เกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่อย่างประการใด จึงถือว่าเป็นของสูงไปกว่า กายทิพย์ เรียกว่า กายพรหม มีอยู่เป็น ๒ ประเภท พอจะเทียบได้กับสัตว์ที่เป็นสัตว์บกที่แห้งแล้วสนิท หรือว่าเป็นสัตว์ที่บินไปได้ในอากาศ เช่น นก เป็นต้น เรียกว่าเป็น ผู้เข้าถึง กายพรหม มีจิตใจสูงพอที่จะไม่หลุ่มหลงใน กามอารมณ์ ทั้งอย่างมนุษย์และอย่างเป็นทิพย์
แต่แล้วในที่สุดก็ยังเห็นสืบไปว่า มันยังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ ยังมียึดถือตัวตนว่า ตัวตนของตน เป็นเจ้าของความสุขชนิดนั้น เป็นเจ้าของตัวของตัวเอง เป็นเจ้าของทุกอย่างทุกสิ่งที่ตัวชอบ แล้วก็จะต้องหนักอกหนักใจเพราะสิ่งที่ตนยึดถืดว่าเป็นของตน ดังนี้ จึงเห็นว่าเพียงเท่านี้ยังไม่พอ คือ ยังไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ถึงที่สุด จึงได้พยายามแทงตลอด กายพรหม นี้ออกไปหา กายธรรม หรือ ธรรมะ ด้วยการพิจารณาเห็นว่า แม้ความสุขที่เกิดจาก ฌาณ จาก สมาธิ เป็นต้นนั้น ก็ยังเป็น มายา หลอกลวงอันประณีตชั้นหนึ่งอยู่ จะต้องสละความยึดถือในความสุขทั้งหมดนี้ด้วยเหมือนกัน จึงต้องออกไปสู่ที่ว่าง ที่โล่ง ที่เป็นอิสระ อย่ามัวเมา หลงใหล ติดพันอยู่ในความสุขชนิดนี้เลย นี่ เรียกว่าออกจาก กายพรหม ไปสู่ กายธรรมะ เห็นว่า สักกายะ คือ ตัวตนนั้นเป็นทุกข์หนัก เบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วย อุปาทาน จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ที่ประกอบอยู่ด้วย อุปาทาน แล้ว จะต้องเป็นของหนักแก่บุคคลผู้แบกผู้หาม คือ ยึดถือว่าเป็น ของกู มันก็ต้องหนักอกหนักใจ และจะต้องหนักยิ่งขึ้นในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป สมน้ำหน้าของบุคคลที่อยากแบก อยากถืออยู่ทุกวันทุกคืนแล้ว ส่วนผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นความจริงข้อนี้ จะพยายามปล่อยวางสิ่งทั้งปวง มีจิตใจหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดถือนั้น นี้เรียกว่า ลุถึงกายธรรม เริ่มปล่อยวางในขั้นต้น และปล่อยวางไปเป็นลำดับ ลำดับจนกระทั่งหมดจดสิ้นเชิง ผู้เริ่มปล่อยวางในขั้นต้นนั่นแหละ คือ พระโสดาบัน ผู้ปล่อยวางไปตามลำดับ ลำดับนั่นแหละคือ พระสกิทาคามี และ อนาคามี ผู้ปล่อยวางโดยสิ้นเชิงนั่นแหละ คือ พระอรหันต์
ท่านทั้งหลายจงเปรียบเทียบดูระหว่างความเป็น ปุถุชน กับความเป็น พระอริยเจ้า ผู้ที่หลงอยู่ใน กายเนื้อ ก็เป็น ปุถุชน อย่างเลว เลวมาก ผู้ที่หลงอยู่ใน กายทิพย์ ก็ยังเป็น ปุถุชน ที่ค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อย ผู้ที่หลงอยู่ใน กายพรหม ก็ค่อยยังชั่วขึ้นมากว่านั้นอีก แต่ก็ยังเป็น ปุถุชน อยู่นั่นเอง เป็นคนหนาอยู่ด้วย กิเลส ตัณหา อุปาทาน ยึดนั่นยึดนี่ โดยความเป็น ตัวตน บ้าง โดยความเป็นของ ของตน บ้าง นี้เรียกว่า ปุถุชน จะอยู่ในมนุษย์ก็ตาม อยู่ในสวรรค์ก็ตาม อยู่ในพรหมโลกก็ตาม ก็ยังเป็น ปุถุชน คนหนาคนหนัก คนไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง แล้วเข้าไปแบก ไปถือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไว้ด้วยความยึดถือของตน เพราะฉะนั้น จึงจัดว่าเป็น ปุถุชน เสมอกันหมด จะเป็นพวก กายเนื้อ หรือ กายทิพย์ หรือ กายพรหม ก็ตาม
ส่วน พระอริยเจ้า นั้นไม่ยึดถือเช่นนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เป็นผู้ที่เริ่มปล่อยวาง ปล่อยวางความยึดถือว่า ตัวตน หรือ ของ ของตน ตามลำดับมา
พระโสดาบัน เป็นอันดับแรกของ พระอริยเจ้า เริ่มปล่อยวาง สักกายทิฏฐิ คือ ปล่อยวางความยึดถือว่ากายนี้ ของตน เป็นผู้ละ วิจิกิจฉา ได้ ไม่ลังเลสงสัยว่า ไอ้พวก กายเนื้อ กายทิพย์ กายพรหม นั้นเป็นของน่าเสน่หาอีกต่อไป เป็นผู้แน่ใจว่ามันเป็นของเสียดแทง เป็นของหนัก เป็นของเผารนให้เร่าร้อน อย่าไปสนใจกับมันอีกเลย ไม่ว่าทั้งมนุษย์ หรือทั้งเทวดา หรือทั้งพรหม เป็นผู้มีความไม่ลังเล เป็นผู้ที่แน่ใจว่า หนทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ ออกมาเสียห่างจาก กามอารมณ์ หรือจากกายทั้ง ๓ นั้น-นั่นแหละเป็นทางถูกแน่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีความหมายตรงที่หลีกห่างออกมาเสียจาก ภพ จาก ชาติ จาก วัฏฏสงสาร เหล่านั้น-นี้เป็นของถูกแน่ มีความแน่ใจไม่ลังเลอย่างนี้ เรียกว่า ละ วิจิกิจฉา เสียได้ และ ละ สีลัพพตปรามาส ซึ่งคือ สิ่งต่างๆที่เคยประพฤติอย่างโง่เขลา งมงาย ไม่รู้ความหมายมาแต่เก่า แต่ก่อน คือ ตั้งแต่เมื่อตนยังเป็น ปุถุชน งมงายโง่แง่าโน้น เคยประพฤติยึดถือปฏิบัติแน่แฟ้นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็มาละเสียได้ ก่อนนี้เคยพึ่งผีพึ่งสางก็มาพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ ก่อนนี้ถือผีถือสางเป็นสรณะ เดี๋ยวนี้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ก่อนนี้ถือว่าผีสางจะช่วงบำบัดทุกข์ให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้ถือว่า การปฏิบัติของตนเองตาม มรรค มี องค์ ๘ เท่านั้น ที่จะทำตนให้พ้นทุกข์ได้ คนอื่นไม่สามารถที่จะช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ได้ ตนจะต้องทำของตนเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้ชี้ทาง ดังนี้เป็นต้น เป็นผู้เลิกเชื่อเรื่องงมงาย เลิกปฏิบัติอย่างงมงาย เลิกความโง่เขลางมงายทุกชนิดเสียได้นี้เรียกว่า ละ สีลัพพตปรามาส เสียได้ เมื่อละได้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ท่านเรียกว่า เป็น พระโสดาบัน คือ เป็น พระอริยเจ้า ในอันดับแรก
พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า หลักใหญ่ๆของการเป็น พระอริยเจ้า นี้ อยู่ตรงที่ไม่ยึดถืออย่างงมงาย ไม่มีความเข้าใจผิดอย่างงมงายอีกต่อไป เมื่อยังเป็น ปุถุชน เป็นเหมือนกับปลาอยู่ในน้ำ หรือเป็นเหมือนกับเต่าที่อยู่ครึ่งน้ำครึ่งบก หรือเป็นเหมือนอย่างกับช้าง ม้า โค กระบือที่เป็นสัตว์บก หรือเป็นเหมือนอย่างนก อย่างกา ที่เป็นสัตว์อากาศ จะล้วนแต่จะเห็นแก่ กามารมณ์ เห็นแก่ความสุข หรือเห็นแก่ สุขเวทนา ที่ยึดถือเอาเป็นตัว เป็นตน เป็นของตนด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้ามาถึงขั้นที่เป็น พระอริยเจ้า ก็เลิกเป็นสัตว์อย่างนั้นกันเสียที ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือเป็นมนุษย์ดีกว่าเป็นสัตว์ ที่ไม่มีความรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เพราะเต็มไปด้วยความโง่เขลา งมงาย ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นผู้ที่มี จักษุ คือ ดวงตา ขึ้นมาแล้ว ก่อนนี้ไม่มี จักษุ ไม่มีดวงตา คือ ไม่มีปัญญา ไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง บัดนี้ มี จักษุ มีดวงตา คือ มีปัญญารู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยไม่หยุดหย่อน เป็นสิ่งที่ทำความทรมาน แผดเผาให้แก่บุคคลที่เข้าไปยึดถือว่านี่เป็น ของฉัน และเป็นไร้สาระตัวตนที่ยึดถือเอาเป็นแน่เป็นนอนได้ นี้เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผู้ใดเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าทุกสิ่งเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ไม่ยึดถือในความเป็น ตัวตน หรือเป็นของ ของตน คนนั้นก็รอดตัวไปได้ คือ ไม่ถูกสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเบียดเบียนให้เป็นทุกข์แต่ประการใด เรียกว่า เป็นผู้ที่ลืมตาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จนสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดเป็นพิษ เป็นสงขึ้นมาได้ ก่อนหน้าแต่นี้เป็น ปุถุชน คนโง่ คนหลง ไม่รู้จักสิ่งทั้งปวง เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงในลักษณะที่ถูกสิ่งทั้งปวงนั้นตบหน้าเอาบ้าง ทิ่มแทงเอาบ้าง เผารนเอาบ้าง ตามประสาของคนโง่
นี้ ถ้าเราพิจารณาดูกันในแง่ของการเปรียบเทียบแล้ว เราจะเห็นได้ว่ามันตรงกันข้ามทีเดียว เป็นคนละอย่างละทาง อธิบายว่าถ้าเราจะปล่อยไปตามเรื่องของปุถุชน ตามที่มันเป็นไปเองตามธรรมชาติของสัตว์ที่มีกิเลสหนา มีไฝฝ้าในดวงตาหนา คือ คนธรรมดาเรานี่แล้ว มันก็ต้องหมกจมอยู่ในน้ำ หรือในความทุกข์เช่นเดียวกับปลา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มันไม่มีทางที่จะดีไปได้กว่านั้น เพราะมันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง
แต่ถ้าเราจะได้อาศัยบารมีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาหลักเกณฑ์เหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการแก้ไขปลานั้นให้พ้นจากความเป็นปลา ให้รู้สึก คิดนึก พิจารณาเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ คือ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ ในลักษณะที่มันจะไม่ตบหน้าเรา แต่จะเป็นผู้มีความชนะเหนือสิ่งเหล่านั้น เอาชนะสิ่งเหล่านั้นได้ เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบ่าว เป็นทาสได้ ให้ได้รับความสะดวกสบายอย่างอื่นอีกต่อไป แต่ไม่ใช่เอามาเป็นนายของเราอย่างเดียว
เปรียบเทียบข้อนี้กับเรื่องของ กามารมณ์/ ปุถุชน คนหนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามารมณ์ในลักษณะที่จะถูกแผดเผา เสียดแทง ตบตี จะต้องมีจิตใจชอกช้ำ เหมือนกับที่ตรัสไว้ว่า เป็นเหมือนกับ เขียงรองสับเนื้อ หรือกระดานที่มีไว้สำหรับรองหั่นหรือสับเนื้อในครัว มันจะต้องชอกช้ำสักเท่าไรไปพิจารณาดู ถ้าเป็น ปุถุชนคนเขลา เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามารมณ์ หรือสิ่งใดๆก็ตามในโลกนี้ จิตใจของเขาจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าไปในลักษณะของบุคคลผู้มีความรู้ คือ พระอริยเจ้า ผลก็จะเกิดกลับกันตรงกันข้าม คือ จะไม่เป็นอย่างนั้น จะไม่ถูกกระทำอย่างนั้น แต่จะเป็นไปตามความประสงค์ที่ควรจะเป็นไปอย่างไร ให้สำเร็จประโยชน์ได้ตามความต้องการ พูดสั้นๆก็คือว่า ถ้า มีกิเลส – หลับตา เข้าไป ก็ต้องไปเป็นบ่าวเป็นทาสของมัน ถ้า ไม่มีกิเลส - ลืมตา เข้าไป ก็ไปเป็นนาย เป็นเจ้าของมัน การเป็นบ่าวเป็นทาสกับการเป็นนายเป็นเจ้ามันต่างกันตรงกันข้ามอยู่แล้ว พอที่จะเข้าใจกันได้ว่าอย่างไหนเป็นอย่างไร ควรจะเลือกกันได้เป็นอย่างไร นี้เป็นตัวอย่าง
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นท่านเรียกว่า สังขารทั้งปวง หรือจะเรียกว่าโลกทั้งปวงก็ได้ สังขาร ทั้งหลายทั้งปวง หรือโลกทั้งปวงที่อะไรๆทั้งสิ้นบรรดามีที่อยู่ในโลกนี้ มันมีลักษณะเฉพาะของมันอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเด็ดขาดไม่มีเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ลักษณะ ๓ ประการที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ
• ลักษณะที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย
• ลักษณะที่มันจะใส่ความทุกข์ให้แก่บุคคลที่เข้าไปยึดถือด้วยความโง่ความเขลาว่านี่ ของกู
• และมันมีลักษณะที่เหลวคว้างเป็นมายา ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีสาระแก่นสาร เรียกว่า ว่างจากตัวตนอย่างนี้อยู่เป็นประจำ
เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ เป็น อนัตตา ดังนี้อยู่ และคนโง่เข้าไปเกี่ยวข้อง ยึดถือว่าจะให้เป็นของเที่ยง ให้เป็นของสุข หรือเป็น อัตตา ดังนี้ มันก็ไม่เป็นไปตามใจหวัง ในที่สุดมันก็จะต้องนั่งลงน้ำตาเช็ดหัวเข่าในทุกกรณีที่จะต้องการให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามความต้องการของตน นี่แหละเรียกว่า เป็นผู้หลับตาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้รับผล คือ ความทุกข์
แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำของ พระอริยเจ้า มีสติปัญญาพิจารณาเห็นความจริงในสิ่งทั้งปวงแล้ว มีจิตใจไม่ยึดถือสิ่งใดเป็นจริงเป็นจัง ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็นสิ่งใดๆ หรือภาวะใดๆด้วยความยึดถือจริงๆจังๆ เพราะเห็นความไม่เที่ยงและหลอกลวงเป็นมายาอยู่อย่างแจ่มชัด ก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยอาการสักว่าเป็นของสมมุติ เป็นของชั่วคราว เป็นของเล่นๆหลอกๆ เป็นของอาศัยชั่วคราวเพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องต่อไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ช่วยให้ลุ่มหลงในสิ่งนั้น ดังนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นไปในทางที่จะให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ ผิดจากแต่ก่อน ที่เต็มอัดไปด้วยความเศร้าหมอง มืดมัว และเร่าร้อน เราได้อาศัยคำสอนของ พระอริยเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานมาเป็นหลักในเบื้องต้น ให้พิจารณาเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไปพลาง ให้พิจารณาเรื่อยไปตามลำดับ ไฝฝ้าในดวงตาก็จะค่อยบางไปเอง จนกระทั่งหมดสิ้นไป
ข้อที่ไฝฝ้าในดวงตาบางลงบางลงนั่นแหละ เรียกว่า การละจากความเป็น ปุถุชน ไปสู่ความเป็น พระอริยเจ้า ตามลำดับ ตามลำดับ จนกว่าจะหมดไฝฝ้าในดวงตา ก็เป็น พระอรหันต์ รู้แจ้ง เห็นจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่หลงใหลสิ่งใดอีกต่อไป เมื่อไม่หลงใหลก็ไม่อยากมีสิ่งใดอีกต่อไป เมื่อไม่อยากในสิ่งใดอีกต่อไป ความทุกข์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งใด จึงเป็นผู้อยู่นอกเหนืออำนาจของสิ่งทั้งปวง อยู่นอกเหนือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น ไม่มีทางที่ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่จิตใจของบุคคลที่มีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะดังที่กล่าวนี้ เมื่อเขาเป็นผู้มีความรู้แจ้งเห็นจริงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ขอให้ลองพิจารณาดู ก็พอจะเข้าใจกันได้ด้วยกันทุกคน
ปัญหาหรือหน้าที่มีอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรเราจะรู้แจ้งเห็นจริงต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเท่านั้น? ข้อนี้ก็อาศัยหลักเกณฑ์ตามธรรมดา หรืออาศัยกฎธรรมดานั่นอีกเหมือนกัน เราจะต้องประกอบในทางที่ตรงกันข้าม คือ ไม่ปล่อยไปตามอำนาจของ กิเลส ตามธรรมชาติธรรมดา แต่ถ้าใครยังสมัครที่จะปล่อยไปตามอำนาจของ กิเลส ตามธรรมชาติธรรมดา-ก็ทำได้ไม่มีใครว่า จะได้เป็น ปุถุชนคนหนา หนาไปด้วย กิเลส และความทุกข์ต่อไปตามเดิม แต่ถ้าใครเบื่อ-ก็มีทางที่จะทำได้เหมือนกัน ในการที่จะหลีกออกมาแสวงหาวิธีการอันแยบคายของพระพุทธเจ้า เพื่อชำระไฝฝ้าในดวงตาให้บางลงไป จนกระทั่งหมดสิ้น
ข้อนี้ ได้แก่ การพินิจพิจารณาตามหลักที่ได้ตรัสไว้ หรือวางไว้ คือ หลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ เขาจะต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้วให้ถูกต้องและแยบคายที่สุด จะไปพิจารณาสิ่งอื่นนอกจากนี้นั้นไม่ได้ ไม่อาจจะพิจารณาได้ เราจะต้องพิจารณาแต่สิ่งที่เราได้ผ่านมาแล้วจริงๆแต่หนหลัง หรือกำลังผ่านอยู่ ต้องเอา เรื่องจริง มาพูดกัน ต้องเอา เรื่องจริง มาพินิจพิจารณากัน จะเอาเรื่องในหนังสือ หรือได้ยินได้ฟังมาแต่อื่นมาเป็นตัวจริง และเชื่อไปตามนั้นๆ-ทำไม่ได้ ไม่สำเร็จประโยชน์ถึงที่สุด เราจะต้องเอาเรื่องที่เราได้ผ่านกันมาแล้วจริงๆในชีวิตของเราเอง มาเป็นหลักสำหรับพินิจพิจารณาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจแจ่มแจ้ง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า เรามีอายุมาถึงปานนี้แล้ว ได้ผ่านอะไรมาบ้าง? ผ่าน รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ อะไรมาบ้าง? เคยมีเงิน มีของ มีทอง มีอะไรมาแล้วทั้งนั้น ได้เคยวิบัติ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ที่พอใจมาแล้วทั้งนั้น เคยรับภาระหนักหลายด้านหลายมุมมาแล้วทั้งนั้น และกำลังแบกภาระหนักอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งบัดนี้ มีความสุขบ้างก็อย่างหลอกๆตัวเอง หลอกใจว่ามีความสุข ก็โดยที่แท้แล้วมันหนักอึ้งอยู่ด้วยความรับผิดชอบที่ตนยังแบกอยู่ เพราะความยึดถือว่านั่นมัน ของฉัน นี่ก็เป็น ของฉัน ไม่มีที่สิ้นสุด เขาจะต้องพินิจพิจารณาถึงตัวความทนทรมานอันนี้ให้เห็นชัด และเห็นให้ชัดต่อไปว่ามันเกิดมาจากอะไร? ซึ่งในที่สุด ก็จะเห็นชัดได้ด้วยตนเองว่า มันเกิดมาจาก ความอยาก อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากได้นั่น อยากได้นี่ นี่เอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ถ้าเราไม่อยากอย่างนี้แล้ว-ความทุกข์ไม่อาจจะเกิดได้เลย แต่ถ้าเราอยาก-มันก็จะต้องเกิดความทุกข์ มันห่วงว่าจะไม่ได้สมอยาก นั่นก็เกิดความทุกข์ ได้มาสมอยากแล้วมันก็ห่วงว่าจะวิบัติ พลัดพรากไป หรือจะมีใครมาแย่งชิง-มันก็เป็นทุกข์ นอนหลับไม่สนิทเท่ากัน เมื่อยังไม่ได้ก็เป็นห่วงว่าจะไม่ได้-นอนไม่หลับ ได้มาแล้วก็เป็นห่วงว่าจะวิบัติพลัดพรากไป-ก็นอนไม่หลับ ทั้งวิบัติพลัดพรากไปจริงๆ-มันก็ยังนอนไม่หลับ รวมความว่า ความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากให้คงอยู่ หรืออยากอะไรต่างๆที่รวมเรียกกันว่า ตัณหา นี้นั้น เป็นที่งอกงามของความทุกข์โดยประการทั้งปวง
ถ้าเมื่อใดมี ตัณหา เมื่อนั้นก็ต้องมี ความทุกข์
กามตัณหา อยากได้ใน ทางกาม ก็เป็นทุกข์ไปตามเรื่องราวของ ทางกาม
ภาวะตัณหา อยากเป็นนั่น เป็นนี่ อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ได้มีความทุกข์ไปตามประสาของ ภาวะตัณหา เช่น อยากเป็นพ่อของเขา อยากเป็นแม่ของเขา ก็ได้ต้องรับความเป็นทุกข์อย่างเป็นพ่อ-อย่างเป็นแม่ หรือว่าอยากเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือน ก็ต้องได้รับความทุกข์ไปตามประสาคนที่เป็นพ่อบ้าน-แม่เรือน หรืออยากเป็นนาย-เป็นบ่าว ก็ต้องได้รับความทุกข์ตามประสาที่เป็นนายหรือเป็นบ่าว จะเป็นอะไรๆก็ต้องได้รับความทุกข์ไปตามประสาของความเป็นอย่างนั้นทั้งนั้น เป็นเศรษฐีก็ต้องได้รับความทุกข์อย่างเศรษฐี เป็นขอทานก็รับความทุกข์อย่างขอทาน เป็นคนมีบุญก็ต้องมีความทุกข์ไปตามประสาหรือแบบอย่างของคนมีบุญ เป็นคนไม่มีบุญก็มีความทุกข์ไปตามประสาของคนที่มีบาป เป็นคนดีในโลกนี้ก็ต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดีในโลกนี้ ลองคิดดูทีว่า คนดีชนิดไหนที่จะไม่มีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี เพราะยังมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดถือ อะไรต่างๆนานาว่าเป็น ของฉัน มีบุคคลที่จะต้องเลี้ยงดูมาก รับผิดชอบมาก มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำมาก ก็ต้องมีความทุกข์ไปอย่างคนดี คนชั่วก็มีความทุกข์ไปอย่างคนชั่ว เป็นมนุษย์ก็ทุกข์อย่างมนุษย์ เป็นเทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา เป็นพรหมก็ทุกข์อย่างพรหม ภาวะตัณหา ข้อไหนบ้างที่ไม่นำมาซึ่งความทุกข์? แม้ที่สุดแต่การได้เป็นนั่นได้เป็นนี่สมตามที่ตนอยากทุกอย่างทุกประการแล้วแต่จะเลือกเอา-มันก็ยังเป็นทุกข์เพราะการยึดถือในการเป็นนั่นเป็นนี่ที่ตัวได้เป็นแล้ว มันเป็นของหนัก หนักอยู่บนจิต บนใจที่ตัวเป็นนั่นเป็นนี่แล้วกลัวจะไม่ได้เป็น กลัวจะถูกถอด กลัวจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้เป็นต้น มันอยากไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปมันจึงเป็นทุกข์
แม้ ตัณหา ประเภท วิภวะตัณหา คือ อยากไม่เป็นอย่างนั้น อยากไม่เป็นอย่างนี้ กระทั่งอยากจะตายเสียอย่างนี้มันก็ยังเป็นทุกข์ อย่าเข้าใจว่าคนที่อยากตายและได้ตายจริงๆนั้นจะเป็นความสุข มันก็เป็นความทุกข์ไปอย่างหนึ่ง ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้นั้น ก็เป็นความทุกข์เท่ากับความอยากเป็นอย่างนั้นความอยากเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เราไม่ชอบเราก็ไม่อยากเป็น มันก็เป็นทุกข์เพราะกลัวว่าจะต้องเป็น เช่น เป็นผู้ที่น้อยหน้าต่ำตากว่าเขาอย่างนี้-เราไม่อยากเป็น
รวมความแล้ว ถ้าเป็นความอยากไม่ว่าชนิดไหนหมด จะต้องเป็นที่ตั้งของความทุกข์โดยแน่นอน ขอให้ทุกคนพิจารณาดูความจริงข้อนี้จากสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้วด้วยตนเอง ว่าเคยเป็นอะไรมาบ้าง เคยเป็นเด็กมาแล้ว ก็ลองคิดดูว่าเป็นเด็กนั่นมันสนุกไหม? ในที่สุดก็คงจะสั่นหัว นี่ เพราะเราเคยเป็นเด็กมาแล้วต่างหาก ถ้าเราเป็นเด็กเล็กๆอยู่ หรือไปถามเด็กเล็กๆดูมันก็คงจะตอบว่าสนุก แต่ถ้าถามเราซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้แล้ว คงสั่นหัวว่า เป็นเด็กนั้นไม่สนุกแน่ ถ้าจะถามว่าเป็นคนหนุ่มเป็นคนสาวตามเรื่องตามราวของคนหนุ่มตนสาวสนุกไหม? คนหนุ่มคนสาวคงจะตอบว่าสนุก แต่ถ้าคนที่ได้ผ่านความเป็นหนุ่มเป็นสาวไปอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็คงจะสั่นหัวอีกอย่างเดียวกัน ครั้นมาถึงพ่อบ้าน-แม่เรือน มาถึงคนเฒ่าคนแก่ กระทั่งคนเข้าโลง เรื่องมันก็อย่างเดียวกันอีก คือ ไม่มีอะไรที่น่าสนุก น่าเป็น พิจารณาเห็นอย่างนี้จึงจะเกิดความเข้าใจ หรือความรู้แจ้งอันถูกต้องว่า ภาวะตัณหา คือ ความเป็นนั่น เป็นนี่นั้นเป็นความทุกข์ หรือเป็นทางมาแห่งความทุกข์ มันจะได้หมดอยาก และไม่ทุกข์กันอีกต่อไป
ทั้งหมดนี้สรุปความว่า บทเรียนของพระธรรมนั้นจะต้องเรียนจากเรื่องจริง จะเรียนจากหนังสือหรือฟังเอาอย่างที่กำลังเทศน์อยู่นี้-ไม่พอ จะต้องเรียนจากเรื่องจริงในจิตในใจของตนเอง ในเรื่องที่ได้ผ่านมาแล้วด้วยตนเอง จึงจะมีความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เช่น กำลังบอกอยู่ว่า ตัณหา เป็นความทุกข์ หรือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ ยังฟังไม่ถูกจนกว่าจะได้รู้จักตัว ตัณหา จริงๆเสียก่อน และรู้ว่า ตัณหา นั้นได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง นั่นแหละ จึงจะมองเห็นตามที่เป็นจริงว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ก็จะได้แต่ความจำหรือความเชื่ออย่างงมงายไปเท่านั้นเอง จริงอยู่ มันดีกว่าไม่รู้หรือไม่ได้ยินได้ฟังเสียเลย แต่มันยังไม่พอ ยังไม่พอที่จะดับความทุกข์ได้ จะต้องเห็นแจ้งประจักษ์ชัดในใจ ด้วยเรื่องราวจริงๆของตน ตัณหา จึงจะค่อยจางไป ละลายสูญหายไปในกรณีนั้นๆ นี้แหละเรียกว่า ความรู้แจ้งเห็นจริง หรือความดับทุกข์ได้จริง ต้องเป็นไปในใจจริงๆ ต้องเป็นเรื่องจริงๆ ถ้าเราไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ด้วยใจเอง ด้วยใจจริง ก็เรียกว่า ยังไม่มองเห็น ยังจะต้องงมงายไปก่อน แต่ถ้าเรามองเห็น พิจารณาเห็น ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆแล้ว ก็จะมองเห็นสืบต่อไปถึงจิตใจของ พระอริยเจ้า หรือ พระอรหันต์ ว่าการที่ พระอรหันต์ มีจิตใจหมดจดสิ้นเชิงจาก กิเลส-ตัณหา นั้นจะเป็นสิ่งที่น่าบูชาสักเพียงไร จะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาสักเพียงไร? จะเป็นความดับทุกข์หมดจดสิ้นเชิงสักเพียงไร? และการที่เรากล่าวประกาศตนว่านับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นจะมีความหมายขึ้นมา หรือการที่เราจะทำพิธี วิสาขบูชา เป็นที่ระลึกแก่ พระอรหันต์ ในวันนี้เป็นต้นนี้ ก็จะมีความหมายแท้จริงขึ้นมา โดยเหตุที่เราหยั่งทราบถึงจิตใจของ พระอรหันต์ ว่ามีความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุดเพียงไร ดังที่ได้กล่าวแล้ว
จึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคน จะต้องรีบพยายามพินิจพิจารณา จากความจริงของตน ภายในใจของตน ให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ คือ ให้รู้จัก กิเลส ให้รู้จักเหตุของความทุกข์ คือ กิเลส จะให้รู้จัก ผล คือ ความทุกข์ ที่เกิดมาจากกิเลส อย่างไร แล้วก็จะรู้ได้เองว่าการที่ความทุกข์จะดับไปนั้นมันจะต้องเพราะ ดับกิเลส จะได้มีความพอใจในการที่จะ ดับกิเลส จะได้มีความพากเพียร และกล้าหาญในการที่จะ ดับกิเลส ไม่ขี้ขลาดเหมือนกับที่แล้วๆมาแต่หนหลัง ไม่หน้าไหว้หลังหลอกกับตัวเอง ซึ่งปากก็อยากจะพ้นทุกข์ แต่จิตใจนั้นก็ยังรักที่จะจมอยู่ในความทุกข์ เพราะความไม่รู้ตามที่เป็นจริง
บัดนี้ ได้มารู้ชัดตามที่เป็นจริง ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่นอีกต่อไป ว่า กิเลส เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ กิเลส นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้ อย่างนี้ เห็นชัดด้วยใจเองจนถึงกับสามารถจะตัด กิเลส หรือบรรเทา กิเลส เป็นอย่างน้อยเสียให้ได้ เพื่อให้ความทุกข์ดับไป หรือเบาบางไปตามควร นั่นแหละเรียกว่า เป็นผู้ที่กำลังทำตามอย่าง พระอรหันต์ อยู่อย่างถูกต้อง เป็นผู้อ้างเอา พระอรหันต์ เป็นตัวอย่าง แล้วกระทำตามรอยของท่านอย่างถูกต้อง อย่างเหมาะสมอย่างที่เป็นพุทธบริษัท หรือเป็นทายก ทายิกา ทำตนให้เป็นผู้ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะได้รับ ไม่ให้เสียทีที่เกิดมา
เมื่อเป็นดังนี้ ทุกคนควรจะถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่คนทุกคนจะต้องทำ กล่าวคือ การทำความดับทุกข์ หรือ ดับกิเลส-ตัณหา นี่แหละ เป็นหน้าที่ที่คนทุกคนจะต้องทำ ถ้าถามว่าเกิดมาทำไม? ควรจะต้องตอบว่าเกิดมา ดับกิเลส-ตัณหา หรือดับทุกข์นี่แหละ มากกว่าที่จะเห็นว่า เกิดมาเพื่อทำมาหากิน เพื่อความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นต้น การเกิดมาเพื่ออย่างนั้นๆมันน้อยเกินไป เพราะว่าเป็นการเกิดมาเพื่อการเป็นบ่าวของ กิเลส / กิเลส เป็นนายบังคับให้เที่ยวแสวงหาเหยื่อทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่ยั่วยวน เป็นทาสของ กิเลส แล้วก็ลงทุนแสวงหาไปเถิด แต่ก็มีโวหารที่จะเรียกเสียใหม่ว่า เกิดมาเพื่อทำมาหากิน เพื่อการอยู่ดีกินดี โกหกตัวเองอย่างนี้ ดีกว่าที่จะบอกตรงๆว่า เกิดมาเพื่อเป็น ทาสของกิเลส นั้น การที่เกิดมาเป็น ทาสของกิเลส นั้นดูเหมือนจะไม่เป็นที่น่าอับอายขายหน้าของคนพวกนี้เลย แต่ว่าเป็นที่น่าอับอายขายหน้าสำหรับ พระอริยเจ้า เป็นส่วนมาก ถ้าเราจะไปด่า พระอริยเจ้า ว่าเป็น ทาสของกิเลส ท่านคงจะรู้สึกว่าน่าเจ็บปวดยิ่งกว่าการด่าพ่อ ด่าแม่อย่างอื่นหมด เพราะว่าการเป็นบ่าว เป็น ทาสของกิเลส นั้น มันมีความหมายลึกซึ้ง เกินกว่าสิ่งใดๆหมด คือ เป็นการเสียหายหมดจนไม่มีอะไรเหลือ เป็นการที่น่าฉิบหายไม่มีอะไรเหลือสำหรับความเป็นมนุษย์ พระพุทธเจ้าท่านจึงกลัว ท่านจึงพยายามทำให้ หมดกิเลส เสียโดยเร็วจนกว่าจะเป็น พระอรหันต์
ส่วนคนธรรมดาสามัญหรือ ปุถุชน นั้นกลับถือเสียว่าเราเกิดมาเพื่ออย่างนี้ เราก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราอยากเป็นอย่างนี้จนตลอดชีวิต ดังนี้ ก็แปลว่า เกิดมาอย่างปลา แล้วก็ต้องตายไปอย่างปลา หลับหูหลับตาเกิดมา แล้วก็หลับหูหลับตาตายไป พระอริยเจ้า ท่านถือว่าเท่ากับไม่ได้เกิด หรือเสียชาติเกิด แต่คนเหล่านี้ก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย และไม่เห็นว่าเป็นการด่าที่ตรงไหน เพราะตนประสงค์เพียงเท่านี้ มีความอยากเพียงเท่านี้ มีความต้องการเพียงเท่านี้ จึงได้ตอบว่าเกิดมาเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อหาสิ่งต่างๆตามที่ต้องการ ซึ่งที่แท้เป็นความต้องการของ กิเลส-ตัณหา ไม่ใช่ความต้องการของสติปัญญา ถ้าเป็นความต้องการของสติปัญญา มันคงไม่ต้องการสิ่งที่มาเป็นนาย หรือมาทำให้เป็นบ่าวเป็นทาสของมัน มันคงต้องการอิสรภาพ ต้องการความไม่มีทุกข์เลย ต้องการความเป็นนายเหนือ กิเลส ต้องการที่จะไม่ไปติดข้องอยู่ในเหยื่อใดๆทั้งสิ้น นี่แหละเรียกว่า ความต้องการของสติปัญญา
ถ้าเป็นความต้องการของ กิเลส-ตัณหา แล้วก็คือ หลับหูหลับตากินเหยื่อใม่มีที่สิ้นที่สร่าง สมัครที่จะเป็นบ่าวเป็นทาสของเหยื่อ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมนอนจมอยู่ในกองทุกข์ มั่วสุมอยู่ด้วย กิเลส นานาชนิดนั้น นี้คือ วิสัยของ ปุถุชน ที่มีความรู้สึกเพียงเท่านี้ ที่มีความคิดนึกเพียงเท่านี้ มีความสมัครใจอย่างนี้ เกิดมาเพียงเพื่อความเป็นอย่างนี้ จึงได้เห็นไปว่า หน้าที่ของคนเรานั้น คือ การแสวงหาเหยื่อมากินเข้าไปก็แล้วกัน ส่วน พระอริยเจ้า ท่านถือว่า หน้าที่ของคนเรานั้น คือ การ ดับกิเลสตัณหา ชนิดที่จะไม่ต้องกินเหยื่ออีกต่อไป
ผู้ที่เป็น ปุถุชนคนเขลา มีเนื้อมีตัวเป็นของ กิเลส-ตัณหา หมดสิ้น ส่วน พระอริยเจ้า นั้นมีเนื้อมีตัวเป็นของ สติ-ปัญญา มันจึงต่างกันและเดินกันคนละทิศ คนละทาง หน้าที่ที่รู้สึกมันจึงต่างกัน คนหนึ่งมีหน้าที่ที่จะเป็น นายเหนือตัณหา เหนือกิเลส-ตัณหา แต่อีกคนหนึ่งมีหน้าที่ที่จะเป็น บ่าวเป็นทาสของกิเลส-ตัณหา แล้วมันจะมาพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร? นี่แหละคือ การที่ฟังเทศน์ไม่เข้าใจ พูดธรรมะไม่รู้เรื่อง พูดกันตั้งแต่หนุ่มจนแก่ก็ไม่เคยรู้เรื่อง ในที่สุด ก็เหมาเอาว่าเป็นเรื่องไร้สาระไป ดังนี้ก็มี แต่ข้อที่ตัวเองหลับหูหลับตาเป็นกุ้ง เป็นปลาจมอยู่แต่ในน้ำมากเกินไปนั้น-หาได้สำนึกไม่
ขอได้พยายามนึกคิดกันเสียใหม่ในวันนี้ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันมาฆบูชา คือ เป็นวันของ พระอรหันต์ ทั้งหลาย เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าวันใดหมดถ้าคิดดูให้ดี อาตมาพูดอย่างนี้ไม่ใช่แกล้งพูด แต่คนอื่นเขาอาจจะเห็นเป็นอย่างอื่น เช่น เห็นว่าวันวิสาขบูชาต่างหากที่สำคัญ เพราะว่าวันนั้นเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น จึงเป็นวันสำคัญยิ่งกว่าวันมาฆบูชา แต่อาตมาอยากจะให้นั่งคิดว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นเพียง พระอรหันต์ องค์หนึ่งเท่านั้น ส่วนวันมาฆบูชาเช่นวันนี้นั้น มันเป็นวันสำหรับ พระอรหันต์ ทุกๆพระองค์รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย ก็คิดดูเถิดว่า วันมาฆบูชากับวันวิสาขบูชานี้ วันไหนจะสำคัญกว่ากัน? วันไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน? ในเมื่อวันวิสาขบูชามีความหมายถึงแต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็น พระอรหันต์ องค์เดียวเป็น จอมพระอรหันต์ ก็จริง แต่ว่าวันมาฆบูชานั้น หมายถึง พระอรหันต์ ทุกองค์รวมทั้งพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น จอมพระอรหันต์ นั่งเป็นประธานอยู่ด้วย แล้ววันไหนจะสำคัญกว่าวันไหน? นึกเอาเองแล้วกัน ไม่ต้องเถียงกันให้เหนื่อย แต่ถ้าเห็นว่าวันมาฆบูชาเป็นวันที่สำคัญที่สุดจริงๆดังนี้แล้ว ก็จงถือเอาโอกาสในวันแห่งวันนี้แหละ เป็นวันที่ตั้งต้นกันใหม่สำหรับคนที่ยังไม่เคยที่จะตั้งต้น เป็นวันที่สานให้ดีสืบต่อไปสำหรับคนที่ได้ตั้งต้นมาแล้ว และตั้งต้นมาอย่างดีแล้ว รีบกระตือรือร้นให้ก้าวหน้าไปโดยเร็ว รวมความว่า ในวันเช่นวันนี้นั้น จะต้องเป็นวันที่ทุกคนทำเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ อันเป็นความหมายอันแท้จริงของความเป็น พระอรหันต์ หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนที่นับถือพระพุทธศาสนาจะได้พินิจพิจารณาถึงความจริงข้อนี้ แล้วพยายามใช้วันนี้ให้สำเร็จประโยชน์ดังที่ได้กล่าวมา โดยเห็นว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าท่านมีปัญหาต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรดี? อาตมาก็ขอให้น้อมระลึกนึกถึงหัวข้อพระธรรมเทศนาขั้นต้นที่ได้ยกขึ้นไว้เป็น วิเศษบท (นาทีที่ 1:08:59) ว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ซึ่งมีใจความว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำความชั่วทุกชนิด
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำความดีให้ครบถ้วน
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตให้บริสุทธิ์สะอาด
เอตัง พุทธานะสาสะนัง นั่นแหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า
นั่นแหละคือศาสนาของพระพุทธเจ้า ดังนี้
ข้อนี้ไม่ยากที่จะได้ยินได้ฟัง ทุกคนได้ยินได้ฟังมาแล้วเป็นส่วนมาก บางคนเก่งถึงกับว่าเดาเอาเองก็ได้ว่าความชั่วเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ทำเด็ดขาด ความดีเป็นสิ่งที่ต้องทำแน่ จิตก็เป็นสิ่งที่ต้องชำระ เขามีความเห็นในข้อนี้ มีความเชื่อในข้อนี้ แต่แล้วก็ยังมีปัญหาเหลืออยู่อีกนั่นเอง คือ ไม่มีใครทำอย่างนี้ ไม่มีใครละความชั่ว ไม่มีใครทำความดี ไม่มีใครชำระจิตให้หมดจดจากเรื่องเศร้าหมองใจอย่างจริงๆจังๆเลย ทำเพียงหลอกกันเล่นเท่านั้น ทำเพียงไม่ให้เขาว่าได้เท่านั้น แล้วจะไปได้รับผลของหลักที่เป็นตัวพระพุทธศาสนานี้ได้อย่างไรกัน?
ทำไมเราจึงไม่อาจละความชั่ว ทำความดี? คำตอบก็ง่ายๆ อย่างที่ตอบมาแล้วว่า มันสมัครไปเป็นบ่าว เป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา เสียแล้ว จะมาละความชั่ว หรือทำความดีอย่างไรกัน? คนที่หมดอิสรภาพเช่นนี้จะเอาตัวตนที่ไหนมาละความชั่วหรือทำความดี? เพราะว่าเอาตัวตนของตนไปมอบให้แก่ กิเลส-ตัณหา สิ้นเชิงแล้วแต่ตัณหา มันจะใช้ให้ทำอะไร จะเอาอะไรที่ไหน เวลาที่ไหน โอกาสที่ไหน ตัวตนที่ไหนมาละความชั่วหรือทำความดี? เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดต้องการจะละความชั่ว หรือทำความดีแล้ว จงถ่ายตัวเองออกมาเสียจากความเป็นทาสกิเลส-ตัณหา ให้หลุดออกมาเสียก่อน ให้หลุดออกมาเสียก่อน ให้มาเป็นอิสระพอที่จะเกลียดความชั่ว รักความดีกันเสียทีก่อนจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป
ในวันเช่นวันนี้ อย่างน้อยก็ควรจะมีจิตใจชนิดที่น้อมไปตามร่องรอยของ พระอรหันต์ ว่า กิเลส-ตัณหา นั้นเป็นศัตรู เป็นผู้ทำลายล้าง เป็นสิ่งเศร้าหมอง เดือดร้อน จะปลีกตัวออกมาเสียจากอำนาจของ กิเลส-ตัณหา แม้สักโอกาสหนึ่ง อย่างน้อยสุดก็วันหนึ่งคืนหนึ่งของวันนี้คืนนี้ หลบหนีเจ้านายอันดุร้ายนั้นมาตั้งต้นคิดนึกกันใหม่ ดูว่า จะทำอย่างไรจึงจะหลุดรอดตลอดกาล?
ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็มีทางที่จะทำได้ เพราะว่าอานุภาพของพระรัตนตรัยนั้นก็ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ขอแต่ให้ใครที่จะรู้สึกคิดนึก ที่จะฝากเนื้อฝากตัวกับพระรัตนตรัยกันให้จริงๆจังเท่านั้น อย่าเล่นตลกกับปากแก่พระรัตนตรัยต่อไปอีกเลย ร้องตะโกนอยู่ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ อย่างนี้อยู่โหวกๆ แต่ใจสมัครเป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา นี้เรียกว่า เล่นตลกกับตัวเองด้วย เล่นตลกกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วย ก็ได้เป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา สมน้ำหน้า แต่ถ้าเป็นเป็นหนักเข้า หนักเข้าจนเบื่อแล้ว ก็น่าจะคิดเสียใหม่ว่าเหมือนกับทาสอีกคนหนึ่ง เป็นทาสของเจ้านายที่ดุร้ายคนหนึ่งมานานเพียงพอแล้ว จนเบื่อแล้ว ก็สอดส่ายหาว่านายคนไหนบ้างที่จะมีอำนาจมากพอที่จะป้องกันเราได้ ถ้าหากว่าเราจะหลบหนีมาจากนายคนที่ดุร้ายมานั้นแล้วมาอยู่กับนายคนใหม่นี้ และนายคนใหม่นี้จะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากนายคนเก่าได้? พอมองเห็นว่าผู้มีใจดี มีเมตตากรุณา มีอำนาจวาสนาคนใดคนหนึ่ง ที่มีอำนาจพอที่จะเป็นนายตนใหม่ให้แก่ตนได้ คืนดีวันดีก็หนีมาอยู่กับนายคนใหม่นี้ หลุดจากอำนาจของนายคนเก่าที่โหดร้าย แล้วมาตั้งหน้าตั้งตาทำตามคำแนะนำชักจูงของนายคนใหม่ ซึ่งเป็นนายที่ดีมีธรรมะ เป็นต้น จนกระทั่ง กลายเป็นคนมีอิสรภาพ หลุดพ้นจากความทนทรมานไปได้ ดังนี้ อุปมาข้อนี้เป็นฉันใด ผู้ที่ตกอยู่เป็นบ่าวเป็น ทาสของกิเลส-ตัณหา อยู่นั้น ควรที่จะได้นึกฉันนั้นเหมือนกัน ว่าพอกันทีเถิดสำหรับการเป็นบ่าวเป็นทาสของนาย คือ กิเลส-ตัณหา สมัครมาเป็นบ่าวเป็นทาสของ พระรัตนตรัย กันเสียทีเถิด
ไหนๆก็ได้กล่าวมาหลายสิบครั้งหลายร้อยครั้งแล้วว่า
พุทธัสสาหัสมิ ทาโส วะ
ธัมมัสสาหัสมิ ทาโส วะ
สังฆัสสาหัสมิ ทาโส วะ
พุทโธ เม สามิกิสสะโร
ดังนี้เป็นต้น ทุกคราวที่มีการทำวัตรเย็น เพราะเป็นบทสวดทำวัตรเย็น ก็พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นบ่าวของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เช่นเดียวกัน แต่แล้วก็ไม่เห็นว่ามาเป็นบ่าวที่ซื่อสัตย์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้สักที มั่วแต่มอบทุกสิ่งทุกอย่างให้กับนาย คือ กิเลส-ตัณหา หรือ พญาตัณหา นั้นอยู่ร่ำไป เล่นตลกตัวเองนี้ก็คือ ทำบาปชนิดหนึ่งอย่างร้ายกาจเพราะว่าเป็นการหลอกลวงพระรัตนตรัย แม้ว่าพระรัตนตรัยชนิดที่หลอกหลวงของตัวเองมันก็ยังเป็นการหลอกหลวงพระรัตนตรัยที่แท้จริงด้วย เพราะอ้างเอานามของพระรัตนตรัยมาใช้เป็นเครื่องปฏิญาณ
เพราะฉะนั้น อย่าแก้ตัวเสียให้ยากเลยว่า ฉันปฏิญาณกับพระรัตนตรัยชนิดที่หลอกๆ ชื่อว่าพระรัตนตรัยแล้ว-ต้องไม่มีหลอกเพราะเป็นเรื่องจริง เป็นชื่อของความบริสุทธิ์ผุดผ่องจาก กิเลส-ตัณหา จากความทุกข์ทั้งมวล เป็นชื่อของความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด ซึ่งเป็นของมีตัวจริง เมื่อได้อ้างเอาสิ่งนี้เป็นที่พึ่ง เป็น สรณะ เป็นนาย หรือเป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นจริง ถ้าหลอกก็จะต้องได้รับโทษหลายซ้อนหลายซับทีเดียว ได้รับโทษเพราะเป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา อยู่อย่างหนึ่งแล้ว ยังจะต้องมารับโทษเพราะการหลอกหลวงนี้อีกอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ทุกข์โทษก็มีแต่จะมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนไปนอนก่ายหน้าผากนึกกันดูเสียใหม่ ว่าจะสมัครเป็นบ่าวเป็นทาสของ กิเลส-ตัณหา ต่อไปดี หรือว่าจะถอนตัวมาเป็น ทาสของพระรัตนตรัย ให้เด็ดขาดกันเสียจริงๆดี? อย่าทำหลุ่บๆล่อๆ ผลุบๆโผล่ๆเหมือนที่แล้วไม่รู้จักสิ้นจักสุด นั่นแหละ พอที่จะทันกับเวลาที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยไม่กี่ปีก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อแน่ใจอย่างนี้ ก็หาโอกาสวันดีคืนดีหนีไปอยู่เสียกับนายคนใหม่ ดังที่ได้กล่าวมา และโอกาสวันดีคืนดีนั้นอาตมาเห็นว่าไม่มีวันไหนเป็นโอกาสดี คืนดี วันดี เหมือนกับวันนี้แล้ว เพราะวันนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันของ พระอรหันต์ ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านได้ประดิษฐานหลักแห่งพุทธศาสนา หรือความเป็น พระอรหันต์ ของท่านลงไปในโลก ด้วยการแสดง โอวาทปาติโมกข์ คือ ประธานแห่งคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนานี้ไว้เป็นหลัก มีหัวข้อดังที่อาตมาได้ยกแสดงไว้ข้างต้นนั้นแล้วว่า
• ไม่ทำความชั่วทุกอย่าง
• ทำความดีให้บริบูรณ์
• ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด
ซึ่งเราจะได้พิจารณากันต่อไป
ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ก็คือ เว้นจากความชั่วหรือสิ่งที่ตนรู้สึกด้วยตนเองว่าเป็นความชั่ว เพราะเห็นว่าเป็นข้าศึก เป็นคนละฝ่าย ล้วนแต่ทำตนให้ทนทุกข์ทรมานอย่างเดียว
และตั้งหน้าทำความดี เพราะถือว่าความดีนี้เป็นบันได เป็นยานพาหนะที่นำไปสู่ความดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าเราไม่มีเรือเราจะข้ามน้ำได้อย่างไร? ถ้าเราไม่มีบันไดเราจะขึ้นปราสาทได้อย่างไร? อย่างน้อยที่สุดต้องเห็นว่า บันไดก็ดี ยานพาหนะก็ดีเหล่านี้- จะต้องมี เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำ เราจะทำความดีชนิดต่างๆที่จะเป็นบันไดหรือเป็นยานพาหนะ คือ ทำให้จิตใจสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น ให้มีโอกาสมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นในการที่จะเอาชนะ กิเลส-ตัณหา นั่นเอง นี้ เรียกว่า ความดี เมื่อความดีมีมากพอแล้ว ความรบกวนต่างๆก็ไม่มี เราจึงอยู่เป็นผาสุข ร่างกายเป็นผาสุขดีแล้วจิตใจก็ผาสุข จิตใจที่ผาสุขนี้เหมาะสมที่จะทำให้บริสุทธิ์ สะอาด จิตใจที่ผาสุขนี้มีความเหมาะสมที่จะเจริญกรรมฐาน ภาวนาให้เป็นไปอย่างถึงที่สุดเด็ดขาด คือ
การทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง อันจัดเป็นข้อที่ ๓ นั่นเอง ใจที่หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น หมายถึง ใจที่ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ไม่ยึดถือสิ่งใดๆว่าเป็น ตัวตน หรือเป็น ของๆตน ถ้ายังรักดี หวงดีนี้ ก็ยังยึดถือในความดี มันก็จะหนักตายเพราะการแบก การหามความดี เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยวางทั้งความชั่วและความดี ไม่มีอะไรที่ยึดถือไว้ให้หนัก มีแต่ความสะอาด สว่าง สงบในใจเท่านั้นถึงจะเรียกว่า มีใจบริสุทธิ์ สะอาด หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง การยึดถืออะไรไว้โดยความเป็น ของตน นั้นเป็นความเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยวางสิ่งทั้งปวง อย่ายึดถืออะไรๆไว้เป็น ของของตน เลย จึงได้ชื่อว่า ทำใจให้บริสุทธิ์หมดจด
การพ้นจากทุกข์นั้นอยู่ที่การไม่แบกหาม ไม่ยึดถือสิ่งใดๆทั้งสิ้น ถ้ายึดถือสิ่งใดไว้ก็ต้องทุกข์ หรือต้องหนักเพราะการยึดถือสิ่งนั้นๆ พระอริยเจ้า ท่านสลัดของหนักทิ้งลงเสียหมด แล้วไม่เอาอะไรมาถือไว้ให้เป็นของหนักอีกต่อไป อุปมานี้แหละคือ การทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสชนิดไหนก็ตาม ให้ดีวิเศษกว่านี้อย่างไรก็ตาม-ไม่ยึดถือไว้ ไม่ได้ยึดถือไว้โดยความเป็น ของตน เลย สูงขึ้นไปกว่านั้นจะเป็นความเป็นนั่น เป็นนี่ ชนิดไหนก็ตาม วิเศษอย่างไรก็ตาม ไม่ได้ยึดถือว่าน่าเป็นเลย เพราะถือว่าความเป็นนั่น เป็นนี่นั้น ล้วนแต่เป็นการแบกของหนักด้วยเหมือนกัน ไม่เอาอะไรเลยอย่างนี้จึงจะได้หมด คือ ได้ พระนิพพาน ไม่เอาอะไรเสียเลยอย่างนี้จึงจะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ได้ความดับทุกข์สิ้นเชิงมา ความปรารถนาของคนเราควรจะไปสูงสุดอยู่ที่ความดับทุกข์สิ้นเชิง เมื่อเราไม่เอาอะไรในโลกนี้ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว มันก็จะได้ของเหนือโลกที่เป็น โลกอุดร หรือ โลกุตตระ คือ มรรคผลนิพพาน เราจะต้องสละโลกนี้ทั้งหมดจึงจะได้ โลกุตตระ คือ มรรคผล และ นิพพาน ถ้าเราจะยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลกนี้ไว้ ก็ไม่มีหวังที่จะได้สิ่งที่ตรงกันข้าม คือ โลกุตตระ หรือ มรรคผลนิพพาน
โลกียะ กับ โลกุตตระ ย่อมตรงกันข้ามอย่างนี้เสมอ ถ้าเราสละ โลกียะ หมด-ก็จะได้ โลกุตตระ ทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าเอา โลกียะ ไว้ทั้งหมด-ก็ไม่ได้ โลกุตตระ หมดเหมือนกัน ผู้มองเห็นเช่นนี้ย่อมกล้าหาญอย่างยิ่ง ย่อมกล้าเพียงพอที่จะสละสิ่งทั้งปวงที่เคยรักใคร่ ยึดถือ หวงแหนมาแต่กาลก่อน ออกไปให้หมดจดสิ้นเชิง ไม่เอาอะไรเลย แต่กลับได้ทุกสิ่งทุกอย่างมา คือ ได้ มรรคผลนิพพาน ที่เป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง เพราะหมด กิเลส-ตัณหา โดยประการทั้งปวงอย่างนี้
การจะเห็นความจริงข้อนี้ได้ชัดเจนอย่างนี้นั่นแหละ จะเป็นการชำระซักฟอกจิตใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่า สจิตตปริโยทปนะ คือ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ่วจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงได้ดังนี้ เป็นข้อสุดท้ายสำหรับการทำตาม พระอรหันต์ ทั้งหลาย
ข้อแรก คือ ละความชั่วทั้งปวง
ข้อที่สอง คือ ทำความดีให้ครบถ้วน
ข้อที่สาม คือ ทำใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยสิ้นเชิง
มีอยู่กัน ๓ ข้อดังนี้ ผู้ใดทำ หรือประพฤติ ปฏิบัติ ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำตามอย่าง พระอรหันต์ อย่างแท้จริงอย่างสูงสุด
โอกาสเช่นวันนี้เป็นโอกาสอย่างยิ่งแล้วสำหรับที่ทุกคนจะได้ทำตามอย่าง พระอรหันต์ ใน ๒ ข้อแรกย่อมไม่เป็นปัญหา เพราะมาทำในใจถึง พระอรหันต์ อย่างนี้อยู่แล้ว ก็ไม่อาจจะทำความชั่วที่ไหนได้ เป็นการทำความดีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่ข้อที่จะทำจิตของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงนั่นแหละ-ยังเหลืออยู่ ยังจะต้องพยายามหาทางทำต่อไป แต่โดยเฉพาะในวันนี้จะทำให้ดีที่สุด คือ จะประคองจิตใจไว้ในลักษณะที่พิเศษที่สุด คือ ในลักษณะที่จะไม่ให้เกิดความอยากได้นั่น อยากได้นี่ หรืออยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ขึ้นมาเป็นอันขาด
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนตั้งจิตอธิษฐานในวันนี้ว่า ในวันนี้นั้นจะประคับประคองจิตใจไม่ให้เกิดความรู้สึกอยากได้นั่นได้นี่ หรืออยากเป็นนั่น เป็นนี่ แม้แต่ประการใด การที่มีความรู้สึกคิดนึกไม่พอใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นก็เป็น วิภาวตัณหา คือ อยากไม่ให้เป็นคนที่น้อยเนื้อต่ำตา หรือถูกเขาดูหมิ่นดูแคลน หรือการที่โกรธใครอยู่คนใดคนหนึ่งนั้น ก็เพราะอยากที่จะเป็นผู้ชนะ หรืออยากให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้ครุ่นอยู่ในใจดังนี้ แม้ความอยากเป็นอย่างนี้ก็อย่าได้มีเลยในวันนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้หมดความอยากโดยประการทั้งปวงในวันนี้ ไม่อยากเป็นอะไรเลย ไม่อยากเอาอะไรเลย ไม่อยากได้อะไรเลยในวันนี้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นที่ตั้งของความอยากนั้น-มันเป็นทุกข์ ต่อเมื่อไม่อยากอย่างนี้แล้วจะได้ พระนิพพาน มาเอง พระนิพพาน นั้นไม่ต้องอยาก ถ้ายิ่งอยาก-ยิ่งไม่ได้ ยิ่งอยากได้-ยิ่งหนีห่างไป พอยิ่งไม่อยากได้อะไรเท่านั้น - นิพพาน ก็จะใกล้เข้ามา พอไม่อยากอะไรโดยสิ้นเชิงเท่านั้น-ก็จะเป็น นิพพานแท้จริง ขึ้นมาเอง ถ้าเราทำให้เด็ดขาดอย่างนั้นไม่ได้ ก็จงให้ได้ นิพพานชิมลอง แม้แต่วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ยังดี จึงขอชักชวนให้ทุกคนอธิษฐานจิตในการที่ประคับประคองตัวเองในวันนี้ ให้มีกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์ ให้มีความคิดนึกที่บริสุทธิ์ ไม่มีความอยากในสิ่งใดทั้งในทางที่จะเอา หรือจะเป็น ก็จะได้ชื่อว่า เป็นการทำตาม พระอรหันต์ มีความสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุดได้วันหนึ่งและคืนหนึ่งเป็นแน่ ส่วนวันข้างหน้านั้นไว้ค่อยพิจารณากันต่อไป อย่าได้เป็นห่วงเลย
สำหรับวันนี้ เราจะทำให้เต็มที่ในการจะระมัดระวังจิต ซึ่งยังเป็นเหมือนกับลูกอ่อนของเรา หรือจิตซึ่งยังเป็นเหมือนกับลิงที่เล่นตลกของเรา จะควบคุมมันให้อยู่ในอำนาจ ให้ปลอดภัย ให้อยู่ในวิสัยของระเบียบวินัยที่ดี ให้อยู่ในร่องในรอยของ พระอริยเจ้า คือ พระอรหันต์ เป็นประธาน ก็จะได้ชื่อเป็นการได้ที่ดีที่สุดวันหนึ่งแล้วขึ้นมาเองโดยไม่ต้องอยาก แต่เป็นการได้สิ่งที่วิเศษสุดที่มนุษย์เราควรจะได้ และจะต้องได้อย่างน้อยวันหนึ่งคืนหนึ่งในวันนี้ ให้ได้หายใจอยู่ด้วยความบริสุทธิ์สะอาดตลอดวัน ตลอดคืน เป็นการได้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยได้มาแต่กาลก่อน หรือเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยได้มาแต่กาลก่อน แล้วแต่กรณีของบุคคลผู้ประพฤติกระทำในวันนี้ ในที่สุด ก็จะมีความสะอาด สว่าง สงบ พบสิ่งที่เรียกว่า พระอรหันต์ ทั้งหลายได้ในจิตในใจของตนเอง อยู่กับ พระอรหันต์ ได้ตลอดวันตลอดคืนเพราะการกระทำของตนเอง นับว่าเป็นวันที่ประเสริฐที่สุด พอที่จะอุทิศให้เป็นที่ระลึกแก่ พระอรหันต์ ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานได้จริงๆ ดังนี้ ด้วยการถือหลักว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่กระทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำความดีให้เต็มพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด
ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นพระพุทธศาสนา คือ เป็นตัวพระพุทธศาสนา อันจะเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายตลอดกาลนาน และเป็นการกระทำตามพระพุทธประสงค์ของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ซึ่งทรงหวังว่า สัตว์ทั้งหลายได้ถอนตนออกจากความทุกข์ ด้วยการเดินไปตามทางที่ได้วางไว้เป็นหลักมี องค์ ๘ ประการก็ดี เป็น หลัก สิกขา ๓ ประการ ก็ดี หรือ เป็น หลัก โอวาทปาติโมกข์ ๓ อย่างนี้ก็ดี ล้วนแต่เป็นร่องรอยอันเดียวกัน มีความน้อมเอียงไปสู่พระนิพพาน เหมือนกับที่แม่น้ำทุกสายมีความน้อมเอียงไปสู่ทะเล ฉันใดก็ฉันนั้น
วิสัจฉนา มาพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญามาในโอกาสอันแรกนี้ ก็สมควรแก่เวลาธรรมเทศนา เอวัง ก็มีด้วยประการละฉะนี้ สาธุ สาธุ สาธุ