แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ที่มีหน้าที่บริหารหมู่คณะทั้งหลาย ท่านขอร้องและระบุให้อาตมาช่วยพูดเรื่อง ธรรมะกับนักบริหาร ข้าพเจ้าสนองความประสงค์ได้ แต่ในลักษณะที่เรียกว่า รู้จักธรรมะพอที่จะมาอธิบายให้กับท่านผู้ที่จะนำเอาธรรมะไปใช้แต่ในการบริหาร เพราะอาตมาไม่ได้เป็นนักบริหารการบ้านการเมืองหรือหมู่คณะอะไร รู้แต่การบริหารจิตที่มีความถนัดอยู่บ้างก็เรื่องการบริหารจิต แต่แล้วก็มารู้ว่าไอ้การบริหารจิตนี้จำเป็นแก่การบริหารทุกชนิด ฉะนั้นนักบริหารทุกชนิดจะต้องรู้จักการบริหารจิต ก็จะพูดถึงธรรมะในข้อที่เรียกว่าการบริหารจิตนั่นเอง เพื่อเป็นความรู้สำหรับผู้ที่จะเป็นนักบริหาร
สำหรับคำว่า ธรรม นั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหรือถูกตรงตามตัวจริง มักจะรู้กันแต่เท่าที่สอน สืบ ๆ กันมาว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และก็โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าสอนอย่างไรด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นนักศึกษาโดยสมบูรณ์ก็ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น ในฐานะที่เป็นเรื่องของธรรมชาติซึ่งมีความเฉียบขาดอยู่ในตัวมันเอง เรารู้ธรรมะในฐานะเป็นเรื่องของธรรมชาติเพื่อจะปฏิบัติให้มันเข้ากันได้กับกฎของธรรมชาติแล้วก็ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ไอ้คนหรือมนุษย์นี้อย่าอวดดีว่าตัวเองเป็นอะไรนอกไปจากธรรมชาติ จะเป็นคนชนิดไหนมันก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นจึงต้องรู้เรื่องธรรมชาติและก็ปฏิบัติต่อกันและกันให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
ขอโอกาสพูดถึงคำว่า ธรรม สักหน่อย ว่าถ้าต้องการจะศึกษาพระธรรมหรือพระศาสนาโดยสะดวกโดยง่ายและลึกซึ้งแล้ว ขอให้รู้จักคำว่า ธรรม ใน ๔ ความหมาย ว่า ธรรม คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ว่า ธรรม คือตัวกฎของธรรมชาตินั่นเอง ว่า ธรรม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง และ ธรรม คือผลสำเร็จที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าท่านเข้าใจธรรมะใน ๔ ความหมายนี้แล้วต่อไปข้างหน้าจะสะดวกในการที่จะศึกษาธรรมะ
ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ก็หมายความว่าที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติภายในตัวเราหรือร่างกายจิตใจนี้ก็ธรรมชาติ ที่นอกตัวเราปรากฏการณ์ทั้งหลายก็คือ ธรรมชาติ นี่ธรรมะคือตัวธรรมชาติ
ที่ในตัวธรรมชาติย่อมมีกฎของธรรมชาติบีบบังคับอยู่ ให้ธรรมชาตินั้น ๆ เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เราต้องรู้จักกฎของธรรมชาตินี้ด้วย เช่น กฎเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎเรื่อง อริยสัจ กฎเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เป็นกฎของธรรมชาติที่บังคับธรรมชาติให้เป็นไป กฎธรรมชาตินี้มีลักษณะเหมือนกับพระเจ้า มีกฎของธรรมชาติเป็นพระเจ้านั่นแหละถูกต้องที่สุดและไม่ขัดกับวิทยาศาสตร์ แม้นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับพระเจ้า ว่ามีพระเจ้าในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นพระเจ้าในความหมายอื่น เขาก็อาจจะไม่ยอมรับ มันก็ขัดกันมันก็ลำบาก ถือเอากฎของธรรมชาติเป็นตัวพระเจ้า เราก็มีพระเจ้า พุทธบริษัทก็มีพระเจ้า คือกฎของธรรมชาติที่เราเรียกกันว่า พระธรรม
ทีนี้ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี่สำคัญมาก สิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้นเรียกว่า หน้าที่ นี่คือธรรมะในความหมายที่สำคัญที่สุดที่เอามาสอนให้รู้และให้ปฏิบัติกัน ทางกายทางวาจา ทางจิต จนได้รับผลของการปฏิบัติ หน้าที่ในการบริหารมันก็รวมอยู่ในความหมายนี้ คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
ส่วนธรรมะในความหมายสุดท้าย คือผลของการปฎิบัตินั้นมันย่อมได้เอง แม้เราจะไม่สนใจมันก็ต้องได้ ทำถูกก็ได้อย่างถูก ทำผิดก็ต้องได้อย่างผิด เราสนใจแต่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ถูก โดยที่เรารู้จักกฎของธรรมชาติดี และเราก็ต้องรู้จักไอ้ตัวธรรมชาติด้วย
ในคน ๆ หนึ่ง ในตัวเรานั่นเอง ดูเถิด ร่างกายเนื้อหนังจิตใจนี้มันเป็นตัวธรรมชาติ และมันมีตัวกฎของธรรมชาติควบคุมร่างกายนี้อยู่ให้เปลี่ยนไป มันต้องเป็นไปตามกฎ การบริหารที่ถูกต้องมันต้องเป็นไปตามกฎ แม้แต่การบริหารร่างกายมันต้องถูกต้องตามกฎที่มันมีอยู่เกี่ยวกับร่างกาย ฉะนี้เราก็ทำหน้าที่บริหารร่างกาย นี่คือธรรมะในความหมายที่สำคัญ เราต้องบริหารร่างกายอย่างถูกต้องจึงจะได้รับความผาสุกในการเป็นอยู่ ถ้าทำไม่ถูกมันก็ไม่มีความหวังและก็มันก็ไม่มีหวัง ฉะนั้นขอให้ศึกษาให้รู้จักกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และก็ปฏิบัติ เราจึงกิน นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อาบน้ำ บริหารทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายเป็นปรกติ จะต้องบริหารสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย เช่นบ้านเช่นเรือน เครื่องใช้ไม้สอย จะต้องบริหารเมื่อมีความเจ็บความไข้ และยังต้องบริหารตนให้มันเหมาะสมที่จะมีชีวิตอยู่ ภายนอกออกไปในวงสังคม คือมันเข้ากันกับเพื่อนบ้านได้ และในที่สุดเราก็ได้รับผล เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ตามแต่ที่เราปฏิบัติหน้าที่นี้ ผิดหรือถูกนั่นเอง
นี่ขอให้สรุปความได้ว่า ไอ้เรื่องของธรรมะนั้นไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องของธรรมชาติ จะต้องมองดูที่ธรรมชาติ ที่กฎของธรรมชาติ ที่หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่ผลที่เกิดจากหน้าที่นั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก็คือ ตรัสรู้เรื่องของธรรมชาติใน ๔ ความหมายนี้ นั่นก็มีหลักเกณฑ์ที่ว่าจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง สมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ
มนุษย์สมัยนี้อย่าอวดดีไปว่ามีความรู้ความก้าวหน้าในทางวัตถุ จนถึงกับไปนอกโลกก็ได้ ไปโลกอื่นก็ได้ ในโลกนี้ก็จัดเสียจนไม่มีใครจำได้ แต่แล้วก็อย่าอวดดีไปว่ามันชนะธรรมชาติได้ มันชนะได้อย่างหลอก ๆ มันชนะไม่ได้ในเรื่องของจิตใจที่เกี่ยวกับความสุข หรือความทุกข์ เขาจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติจึงจะอยู่กันเป็นสุขในทางสังคม เดี๋ยวนี้มนุษย์มันเลวลง มันดูหมิ่นธรรมชาติ ไม่อนุวัติ ตามกฎของธรรมชาติ มันก็เกิดความเห็นแก่ตัว มีมึงมีกู แล้วก็มุ่งล้างผลาญกัน หาความสงบสุขไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติมันไม่ได้ต้องการอย่างนั้น
แม้ว่ามันจะอยู่บนตึก ๑๐๐ ชั้น ๒๐๐ ชั้น มันก็ยังต้องปฏิบัติให้อนุวัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอยู่นั่นเอง ถ้ามันปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว มันอยู่กันได้ นี่อาตมากำลังพูดว่ามันอยู่กันได้ แม้ว่ามันจะแตกต่างกันอย่างยิ่ง คนหนึ่งฉลาดที่สุด คนหนึ่งโง่ที่สุด ถ้ามันปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติมันอยู่กันได้ คนหนึ่งมั่งมีที่สุด คนหนึ่งยากจนที่สุด มันก็อยู่กันได้ถ้ามันปฏิบัติอนุวัติตามกฎของธรรมชาติ คือความรักใคร่ร่วมมือซึ่งกันและกัน เดี๋ยวนี้มีแต่จะทำลายล้างกัน คนมั่งมีกับคนยากจนเข้ากันไม่ได้ เพราะมันไม่รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ ที่ว่าธรรมชาติมันบังคับให้ต้องมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำ และมันยังบังคับให้อยู่กันได้ ไม่เช่นนั้นจะต้องตายไปทั้งสองงฝ่าย
ต้นไม้ต้นใหญ่นี้มันต้องอยู่กันได้กับตะไคร่เขียว ๆ เล็ก ๆ ที่โคนมัน มันจะคิดฆ่าคิดทำลายล้างกันไม่ได้ ต้นไม้ยักษ์สูงถึงเมฆมันก็ต้องทำตนให้อยู่กันได้กับตะไคร่เขียว ๆ ที่อยู่ที่โคน หญ้าบอนที่อยู่ที่โคน ต้นไม้ใหญ่อยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากหญ้าบอนที่อยู่ที่โคน เพราะมันไม่มีความชุ่มชื้นพอ ไอ้หญ้าบอนหรือตะไคร่ที่อยู่ที่โคนมันก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่มุงบังแสงสว่างอันร้อนระอุให้ มันก็แห้งตายหมด และมันต้องอยู่ด้วยกันได้แม้ว่ามันจะแตกต่างกันถึงขนาดว่าต้นไม้ยักษ์สูงเทียมเมฆ แล้วก็ต้นหญ้าบอนกระทั่งตะไคร่เขียว ๆ ตามเปลือกตามรากของต้นไม้นั้น นี่คือกฎของธรรมชาติที่มนุษย์มันละเลยเพราะมันเป็นบ้ากันเรื่องวัตถุ เห็นแต่แก่ตัวมันก็อยู่กันไม่ได้ คนมั่งมีก็เอาเปรียบคนจน คนจนก็คิดจะล้างคนมั่งมี มันเป็นเรื่องบ้าทั้งสองฝ่าย เพราะธรรมชาติต้องการให้อยู่ตรงกลาง คือให้รักกันให้สัมพันธ์กัน นี่คือกฎของธรรมชาติ เรียกว่า ธรรม
ธรรมะ แยกเป็นความหมาย ๔ ความหมาย ต้องรู้ต้องเข้าใจต้องเอามาใช้ให้ถูกต้อง แล้วมนุษย์ก็จะหมดปัญหา คือมนุษย์จะอยู่ได้ด้วยกันเป็นผาสุก นี่คำว่า ธรรม คำเดียวมีความหมายอย่างนี้ แต่หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร เพราะว่าไม่มีอะไรจะอยู่จะอยู่นอกออกไปจาก ๔ ความหมายนี้ คือตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และตัวผลจากหน้าที่นั้นๆ
ฉะนั้นการที่มานั่งที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ ดี มีประโยชน์กว่านั่งในห้องเรียนในมหาวิทยาลัยบ้า ๆ บอ ๆไกลธรรมชาติ ไม่เข้าใจธรรมชาติ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ประสูติกลางดินนะพระพุทธเจ้า ไปดูพุทธประวัติ
แล้วท่านก็นั่งตรัสรู้ที่กลางดินไม่ใช่บนตึกมหาวิทยาลัย นั่งตรัสรู้ที่กลางดินที่โคนต้นไม้ที่ริมตลิ่ง แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนกลางดิน จนว่ากระทั่งพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้นมันเกิดจากกลางดิน มานั่งสอนกันกลางดิน แล้วในที่สุดท่านก็ปรินิพพานกลางดินนั่น คิดดูว่าท่านประสูติกลางดินแล้วก็มาปรินิพพานกลางดิน คือ เป็นผู้ใกล้ชิดธรรมชาติ ฉะนั้นท่านจึงเป็นนักธรรมชาติสูงสุด ทำอะไรเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ฉะนั้นมานั่งที่นี่นั่งกลางดินอย่างนี้ เป็นอนุสรณ์แก่พระพุทธเจ้า เป็น พุทธานุสสติ อย่างดียิ่งถึงพระพุทธเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายถือโอกาสนี้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่เสียทีที่มาถึงสวนโมกข์ที่จัดไว้ให้สะดวกที่สุดที่จะนั่งใกล้ธรรมชาติ เป็นเกลอกับธรรมชาติ ขอให้นั่งกลางดินนั่งกับก้อนหินต้นไม้ตามธรรมชาติ ความคิดนึกของท่านก็จะน้อมไปตามแนวของธรรมชาติ ผิดไปจากที่จะไปนั่งบนตึกเรียนราคาล้าน ๆ ความคิดมันก็บ้า ๆ บอ ๆไปตามเรื่องของล้าน ๆ คือเป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น ฉะนั้นสลัดไอ้สิ่งฟุ้งซ่านเหล่านั้นออกไปเสียสักขณะมานั่งอยู่กับธรรมชาติ แล้วมีความคิดนึกไปตามแบบของธรรมชาติ เพื่อรู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้จักผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ นี้คือคำว่าธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ เราต้องทำตัวเป็นเกลอกับธรรมชาติแล้วก็จะง่ายในการที่จะเข้าถึงธรรม
ทีนี้จะมาถึงคำว่า บริหาร ไอ้คำว่า บริหาร นี้จะต้องถือว่าเป็นคำที่ไพเราะที่สุด บริ แปลว่า ครบถ้วน หาระ แปลว่า นำไป นำไปอย่างถูกต้องครบถ้วน นำไปถึงจุดที่มุ่งหมายได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ไม่ให้ไม่ใช่บริหารให้มานั่งติดตังค์(16.47) อยู่ที่นี่ ไม่ใช่บริหารอะไรให้มันตายด้านอยู่ที่นั่น บริหาระ แปลว่านำไปอย่างมีผลดีที่สุดจะครบถ้วนที่สุด ก็หมายความว่าไม่ได้หยุดอยู่ที่นี่
คนเรามีเรื่องที่จะต้องบริหาร นับตั้งแต่บริหารร่างกายอย่างที่ว่ามาแล้ว และก็บริหารกว้างขวางออกไปถึงสิ่งแวดล้อม และก็แล้วแต่จะมีหน้าที่สูงถึง ๆไหน ก็เรียกว่านำไปให้ถึงอุดมคติของสิ่งนั้นให้ได้ อาตมายังถือว่าคำว่าบริหารนี้เป็นคำที่ไพเราะที่สุด หมายความว่าเราสามารถนำทุก ๆ อย่างไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้อย่างครบถ้วน อย่างนี้เรียกว่าบริหาร ที่ผู้ทำหน้าที่นี้ก็เรียกว่า นักบริหาร เขาจะต้องรอบรู้ในการบริหาร คือในการใช้ธรรมะอันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติที่ครอบงำสิ่งทั้งปวงอยู่ มองดูกันเล่น ๆ ก็ได้ว่าไอ้สิ่งที่ต้องบริหารนั้นมันมีอะไรบ้าง ครูบาอาจารย์เหล่านี้ก็ย่อมจะรู้ดี บางทีจะรู้ดีกว่าอาตมา เราจะต้องบริหารสิ่งของที่โรงเรียนก็ดี ที่บ้านก็ดี มันมีสิ่งของมีเครื่องใช้มีอุปกรณ์ เราต้องบริหารมันให้อยู่ในลักษณะที่จะพร้อมที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็ถึงที่สุดของการใช้ให้เป็นประโยชน์ สิ่งของที่บ้านเรือนก็มี สิ่งของที่โรงเรียนก็มี แม้แต่มหาวิทยาลัยไหนมันก็ต้องมีสิ่งของที่ต้องบริหาร ทีนี้ต้องบริหารเด็ก ในครอบครัวก็มีเด็กต้องบริหารเด็ก ในโรงเรียนก็มีเด็กก็ต้องบริหารเด็ก ในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีเด็กโค่ง มันก็ต้องบริหารเด็ก นี้เราเรียกว่าบริหาร อนุชน ยุวชน ที่ยังเล็กกว่าเราที่มาทีหลังเรา เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเขาคือพาเขาไปสู่จุดหมายปลายทางให้จนได้
ทีนี้เราก็ยังต้องบริหารคน เพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเราเรียกว่าหมู่คณะ ถ้าเราไม่บริหารมันอยู่กันไม่ได้ ต้องมีหลักการบริหารที่ทำให้อยู่กันได้เป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นสมาคม เป็นสังคม ใหญ่โตขึ้นมากว่านั้นก็เรียกว่าประเทศชาติ เราก็ต้องบริหารประเทศชาติแม้ว่าเราไม่ได้เป็นหัวหน้า ในการบริหารประเทศชาติเราก็ยังต้องมีหน้าที่ ๆ จะต้องร่วมมือกันบริหารประเทศชาติตามสมควรแก่หน้าที่ของคน ๆ หนึ่ง ฉะนั้นไม่มีใครที่จะพูดว่า เราไม่มีหน้าที่บริหารประเทศชาติ นั่นมันคนหลับตาพูดอย่างเห็นแก่ตัวมากเกินไป เราต้องร่วมมือกันทุกคน และร่วมมือกับผู้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าบริหาร ก็บริหารประเทศชาติ
ทีนี้ก็อยากจะพูดเลยไปถึงว่า มีหน้าที่บริหารโลก บางคนคิดว่าบ้าแแล้ว เราคนเดียวจะบริหารโลกได้อย่างไร ถ้าเราเป็นมนุษย์ที่แท้จริงไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันประกอบขึ้นจากคนทุก ๆ คน ฉะนั้นทุก ๆ คนก็ต้องมีหน้าที่บริหารโลก มนุษย์ที่มีสัมมาทิฏฐิ รู้อะไรตามที่เป็นจริง รู้จักรับผิดชอบตามควรแก่การรับผิดชอบนั่นแหละ เขาจะรู้สึกว่าเขาก็ต้องมีหน้าที่ที่จะบริหารโลก และเรากำลังต้องการมนุษย์ชนิดนี้คือมนุษย์ที่ยอมรับหน้าที่ว่าเราจะต้องช่วยกันบริหารโลก เราไม่ต้องการคนที่มัวแต่เห็นแก่ตัวเอง และก็ไม่รับผิดชอบเรื่องของโลก นี่เราต้องบริหารสิ่งของ ต้องบริหารเด็ก ต้องบริหารคน ต้องบริหารประเทศชาติ ต้องบริหารโลก การบริหารทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องโลก ใช้คำว่าโลกโลก
ทีนี้ก็อยากจะให้มองไปอีกทางหนึ่ง คือหน้าที่ในทางธรรม เป็นการบริหารเกี่ยวกับธรรม มีระเบียบบัญญัติที่เกี่ยวกับธรรม เราจะต้องบริหารกายให้ถูกต้อง เราจะต้องบริหารจิตให้ถูกต้อง เราจะต้องบริหารวิญญาณหรือสติปัญญาให้ถูกต้อง มันมีครบถ้วนอยู่ในตัวชุดนี้ คือมีถึง ๓ ร่างกายคือเรื่องทาง Physic จิตเป็นเรื่องทาง Mental วิญญาณเป็นเรื่องทาง Spiritual เราต้องมีร่างกายถูกต้อง ไม่มีโรคทางกาย นี่ก็บริหารกายดี ต้องมีจิตถูกต้อง มีกำลังใจเข้มแข็ง ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคจิต นี้เราบริหารจิตดี เมื่อเราต้องบริหารวิญญาณในแง่ของที่เรียกกันว่า Spirituality คือต้องมีความรู้ถูกต้อง มีสติปัญญาถูกต้อง นี้มันเหนือเรื่องจิตไปเสียอีก เรียกว่าเป็นเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ ถ้าเราไม่สบายธรรมดาเราไปโรงพยาบาลธรรมดา ถ้าเราไม่สบายทางจิตก็ไปโรงพยาบาลโรคจิต แต่ถ้าไม่สบายในทางวิญญาณ ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คือเรื่อง ธรรมะ เรื่องศาสนานั่นเอง นี่เราจะต้องบริหารกาย บริหารจิต บริหารวิญญาณ ให้ถูกต้อง ความเป็นมนุษย์ก็จะมีความถูกต้อง
ทีนี้บริหารกาย อาตมายังไม่ต้องพูดก็ได้ จะบริหารกายให้มีอนามัยดีอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเศร้าที่ว่า แทนที่จะบริหารกายให้เป็นกายที่ดี มันกลับเป็นทำลายกายให้เป็นร่างกายที่เสื่อม มันจุดไฟรมปอด ไปซื้อมาแล้วก็จุดแล้วก็ดูด ควันหยาบ ควันละเอียดอะไรก็ตาม มันรมปอด นี้มันเรื่องบ้า มันไม่ใช่เรื่องบริหารร่างกายเสียแล้ว เพราะมันจุดไฟรมปอดอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้มันไปกินน้ำที่ช่วยให้ตับแข็งเร็ว ๆ แล้วมันก็จะได้ตาย ไปหาน้ำชนิดนี้มากิน อย่างนี้มันไม่ใช่บริหารกาย มันทำลายร่างกาย ฉะนั้นขอร้องว่าไอ้ส่วนเกินนี้ เลิกกันเสียเถอะ ถ้าจะเป็นครูบาอาจารย์นำหมู่นำคณะแล้วก็เลิกเสียดีกว่าเพราะมันเกินมันไม่จำเป็น แล้วมันไม่ใช่เป็นการบริหาร มันเป็นการทำลาย ในทางจิตก็เหมือนกันระบบประสาทนี่ต้องรักษากันไว้ให้ดี ๆ อย่าไปกินน้ำที่กินเข้าไปแล้วเสียสติสมปฤดีเหมือนกับคนบ้า อย่าไปกินน้ำชนิดนั้นในการบริหารจิต ส่วนที่จะประพฤติบริหารให้จิตมีกำลังจิต มีสมาธิมีอะไรนั่นมันมีระบบยืดยาว เอามาพูดในเวลาเล็กน้อยนี้มันก็ไม่ทัน ส่วนเรื่องบริหารวิญญาณนั้นจะศึกษาให้ถูกต้องให้เต็มตามความหมายของความเป็นมนุษย์ การศึกษาในโลกนี้ยังไม่สมบูรณ์ยังไม่ถึงขีดที่จะเป็นมนุษย์ ในโลกนี้ให้การศึกษาเพียงให้ฉลาดและให้เพียงมีอาชีพ ฉลาดในวิชาในหนังสือหนังหา แล้วก็ไปมีอาชีพด้วยเก่งในเทคโนโลยีแขนงใดแขนงหนึ่งมันก็เท่านั้นเอง ไอ้ความเป็นมนุษย์มันไม่ได้รับการตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงแม้จะมีอาชีพอย่างไร มันก็ไม่เป็นมนุษย์ที่ดีได้ เป็นมนุษย์อันธพาล เป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว เป็นมนุษย์ที่สร้างปัญหาขึ้นในโลกไม่มีที่สิ้นสุด
ฉะนั้นขอให้ทุกคนที่เป็นมนุษย์นี้ รู้จักบริหารกาย บริหารจิต บริหารวิญญาณ ซึ่งเรียกว่าเป็นการบริหารในทางธรรมนี้ให้เพียงพอ แล้วการบริหารโลกก็ดี การบริหารในทางธรรมะก็ดี ขอให้มารวมอยู่ที่คำว่า บริหารตน คือบริหารตัวเอง คำในพระพุทธศาสนา มีไพเราะอยู่คำหนึ่งว่า สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงรู้จักบริหารตนให้มีความสุขเถิด สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงรู้จักบริหารตนให้เป็นคนมีความสุขเถิด นั่นแหละ เรื่องของคำว่าการบริหาร ในความหมายที่กว้าง ในทางโลก ๆ บริหารสิ่งของ บริหารเด็ก ๆ บริหารคน สังคม บริหารประเทศชาติ บริหารโลก ในทางธรรม ต้องบริหารกาย บริหารจิต และบริหารวิญญาณ
ทีนี้ปัญหาของท่านทั้งหลายที่ระบุมาในหัวข้อที่ขอร้องให้บรรยายนั้น ดูจะเป็นเรื่องบริหารหมู่คณะเสียมากกว่า ท่านคงประสบปัญหาในการบริหารหมู่คณะจึงระบุมาเช่นนั้น ท่านต้องบริหารคณะตามหน้าที่ของตน บริหารคณะครูก็ต้องทำให้มันถูกต้อง บริหารคณะนักเรียนก็ต้องทำให้มันถูกต้อง ยังต้องบริหารคณะผู้ปกครอง ครูทุกคนถ้าไม่ทำความสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดีกับผู้ปกครองของนักเรียนแล้ว ก็หวังยากที่จะจัดการศึกษาได้ดี มันยังมีคณะของผู้ปกครองนักเรียนอีกที่จะต้องบริหารด้วย ไม่ว่ายังคณะผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่จะควบคุมเราอยู่ ไม่ว่าคนไหนต้องอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของเจ้าหน้าที่ที่เหนือขึ้นไป เรามีคณะครูด้วยกัน มีคณะนักเรียน มีคณะผู้ปกครองนักเรียน มีคณะผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป นี่ก็ตั้ง ๔ คณะ เป็นอย่างน้อยที่เราจะต้องบริหาร คือทำให้เกิดความถูกต้องขึ้นมา ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าทำความเข้าใจกันไม่ได้ พูดกันไม่รู้เรื่องระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างครูกับผู้ปกครองนักเรียน หรือระหว่างครูกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไป เราพูดกันไม่รู้เรื่องเราทำความเข้าใจกันไม่ได้ในหลาย ๆ อย่าง นี่ปัญหามันจึงเกิดขึ้น ฉะนั้นต้องมีการทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องในเรื่องนี้ ทีนี้ปัญหาถัดไปอีกก็คือว่าทุกคนมีแต่เห็นแก่ตน มีการเห็นแต่ประโยชน์ของตน พูดแล้วก็เหมือนด่า ว่าทุกคนนั้นมันมีแต่การเห็นแก่ตัว เพราะมันยังเป็นปุถุชนคนธรรมดา เพราะต่างคนต่างเห็นแก่ตัวนั่นแหละมันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง มันยังสร้างให้เกิดปัญหาแล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่อง
ไกลออกไปนิดหนึ่งก็คือว่ามันรู้จักแต่ประโยชน์ทางวัตถุ ทุกคนมันรู้จักแต่ประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่เรียกว่าเป็นรูปธรรมเป็นเงินเป็นของเป็นไอ้ แม้แต่เป็นเกียรติยศชื่อเสียงนี่ก็ต้องเรียกว่าเป็นวัตถุ เพราะมันเป็นปัจจัยแห่งวัตถุ คนมีอำนาจมีชื่อเสียงเพื่อประโยชน์แก่วัตถุ ฉะนั้นเขาจึงรู้จักแต่ประโยชน์ในทางวัตถุ ในทางนามธรรมอันลึกซึ้งเขาไม่มองเห็น เมื่อหลงวัตถุมันก็เพิ่มความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นเหตุให้ยื้อแย่งวัตถุ ถ้าเห็นแก่ธรรมะมันทำลายความเห็นแก่ตัว มันทำให้ผสมกลมกลืนกันไปได้ เดี๋ยวนี้เห็นแต่ประโยชน์ทางวัตถุ มันก็เป็นเพื่อ เพื่อการส่งเสริมกิเลส ต่างคนต่างก็เห็นแก่ตัว คือเห็นประโยชน์ตนทำให้เราพูดกันไม่รู้เรื่องในหมู่คณะที่ร่วมงานกัน นี่คือตัวปัญหาซึ่งอาตมาขอเสนอแนะว่า จงไปคิดดู สังเกตดู พิจารณาดูให้รู้จักตัวปัญหา แล้วก็คงจะวิวิ พบวิธีแก้ได้โดยง่าย
เดี๋ยวนี้จะพูดถึงคำว่า บริหาร อีกสักหน่อยต่อไปอีก ว่าจะทำการบริหารคือนำทุกอย่างไปอย่างถูกต้องจนถึงจุดของความประสงค์ แล้วแต่ว่าเราจะมีหน้าที่บริหารอะไร กิจกรรมอะไร เช่น ครูมีหน้าที่บริหารกิจกรรมของโรงเรียนอย่างนี้เป็นต้น หรือการศึกษาให้ถึงที่สุดของการศึกษา การบริหารนั้นนะมันต้อง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง ข้อแรกมันจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง เราจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง จะเรียกว่าอุดมคติก็ได้มันคล้าย ๆ กัน อุดมการณ์ อุดมคติ วัตถุประสงค์ที่ดีเลิศที่ประเสริฐควรมุ่งหมายนั้นจะต้องมี ยกตัวอย่างเช่น ครูต้องมีอุดมคติของครู อย่าไปมีอุดมคติของลูกจ้างหรือกรรมกรรับจ้างสอนหนังสือเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เหมือนครูหนุ่มครูสาวเล็ก ๆนี่สังเกตดูเห็นว่ามันจะรู้จักแต่ว่าเป็นอาชีพรับจ้างสอนหนังสือเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ฉะนั้นจึงสาละวนแต่จะมัวเปิดแคตตาล็อกกางเกงยีนส์ดูแทบตลอดวันมากกว่าที่จะมาสนใจเรื่องของครู เพราะมันไม่รู้ว่าอุดมคติของครูนั้นเป็นอย่างไร อุดมคติของครูขอให้ถือตามหลักโบราณดั้งเดิม ไอ้คำว่าครู แปลว่า ผู้เปิดประตู นี่หลักโบราณดั้งเดิมเป็นอย่างนั้น ไอ้มูลธาตุคำนี้เป็นภาษาอินเดียเก่าแก่ ไกลไปกว่าที่เรารู้กันอยู่เดี๋ยวนี้ว่าครูแปลว่าหนัก คือผู้ที่ศิษย์จะต้องหนัก ครูนั่นมากกว่านั้น ครูเป็นผู้นำทางวิญญาณ Dictionary ธรรมดาของภาษาบาลีสันสกฤตในอินเดียเขาแปลคำว่าครูแปลว่าผู้นำทางวิญญาณ แต่นักภาษาศาสตร์ที่ไปไกลกว่านั้นเขาไปพบว่าไอ้ ๆ Root ของคำ ๆ(33:40) นี้นั้นแปลว่า ผู้เปิดประตู อธิบายว่า สัตว์อยู่ในเล้ามืด คอกมืด ครูคือคนที่ทำหน้าที่เปิดประตูให้สัตว์เหล่านั้นออกมาจากเล้ามืด นั่นคือครู มันก็ความหมายเดียวกับคำว่า ผู้นำทางวิญญาณนั่นแหละใช้ด้วยกันได้ ที่โบราณแต่โบรงโบราณ(34:03)มันมีอุดมคติของคำว่าครูอย่างนี้ ถ้ายึดถือเป็นหลักได้แล้วก็ดี จะเป็นปูชนียบุคคล พ้นจากความเป็นลูกจ้างสอนหนังสือเป็นอาชีพ ไม่ดีอะไร เป็นเพียงกรรมกรชนิดหนึ่งก็ได้
ทีนี้อุดมคติที่อาตมาอยากจะแนะขึ้นใหม่ ๆ หยก ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ของโบราณนะ อยากจะแนะว่า ครูคือผู้สร้างโลก พอได้ยินอย่างนี้บางคนว่าบ้าแล้วครูเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกได้อย่างไร นี่ครูมันโง่เอง มันไม่มองดูว่าครูมันกำลังสร้างโลกอยู่ทุกวันทำไมมันจึงมองไม่เห็นนั่น เพราะว่าคนทุกคนนี้มัน ๆ ก็คือคนที่เล่าเรียนมาจากโรงเรียน ฉะนั้นครูบรรจุวิชาความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน นักเรียนโตขึ้นมันก็ประกอบกันขึ้นเป็นพลโลก โลกมันประกอบไปด้วยมนุษย์ซึ่งครูให้การศึกษา ฉะนั้นครูให้การศึกษาแก่คนในโลกอย่างไรโลกนี้มันก็เป็นอย่างนั้น เราจึงเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องพิสูจน์ก็ได้ว่าครูมันสร้างโลก มันสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างไรโลกมันก็เป็นอย่างนั้น นี่ครูทั้งหลายสร้างเด็ก ๆ ขึ้นมาอย่างไรในอนาคตนี้โลกมันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น นี่ขอให้มองเห็นว่ามันเป็นเกียรติสูงสุดเท่ากับเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกนะครูนั่นจึงทำเล่น ๆ ไม่ได้ มีหน้าที่จะต้องสอนเด็กให้ถูกต้องให้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง แล้วมนุษย์ที่ถูกต้องทั้งหมดเหล่านี้รวมกันเป็นโลก นี่เราต้องมีวัตถุประสงค์อย่างนี้จึงจะพอกัน
แล้วถัดไปจะต้องมีแนวสำหรับการบริหาร คือเทคนิคในการบริหาร และก็การใช้เทคนิคในการบริหารให้ถูกต้องเป็นเทคโนโลยีที่จะใช้เทคนิคนั้น ๆ ให้ถูกต้อง เรามีแนวสำหรับบริหาร นี่มันมากเกินไป อาตมาไม่ต้องพูด เพราะมันไปรู้กันได้ในตำรับตำราที่เกี่ยวกับวิชาครู แล้วเราจะมีแต่แนวบริหารไม่ได้เราต้องมีการบริหารลงไป
จริง ๆ มีวัตถุประสงค์แล้วมีแนวการบริหารแล้วมีการดำเนินการบริหารลงไปจริง ๆ ทีนี้จะมีอะไรอีก มันก็มีปัจจัยที่จำเป็น ปัจจัยนี่มีมากอย่าง ยกตัวอย่างเช่นว่า จะต้องมีทุนรอน ครูได้ทุนรอนมาจากไหน จากรัฐบาลหรือจากอะไร มันก็ต้องมีทุนรอนเป็นปัจจัย แล้วมันก็ต้องมีเครื่องกระตุ้นเพราะว่าปุถุชนคนธรรมดานั้นต้องการกำลังใจอยู่เสมอ ต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่กระตุ้นใจ ว่ามันได้บุญก็ได้ ว่ามันเป็นประโยชน์แก่สังคมก็ได้ หรือว่ามีเหตุผลทางการเมืองว่าในโลกนี้มันต้องมีการศึกษาที่ถูกต้องเป็นเครื่องกระตุ้น และเรายังจะต้องมีความเหมาะสมแห่งบุคคลที่มาร่วมงานกับเรา มันเป็นการยากลำบากที่เราไม่ค่อยได้รับหรือมีบุคคลที่เหมาะสมที่มาร่วมมือกับเราในการงานของเรา เรื่องนี้เราก็ต้องอดทนบ้างเราก็ต้องแก้ไขไปตามที่มันจะได้ เพราะว่าเรา ๆ บังคับเอาไม่ได้ เมื่อเราไม่มีสิ่งที่เราอยากจะมีเราก็ต้องทำไปกับสิ่งที่เรามีอยู่หรือจำเป็นต้องมีอย่าง ๆ นี้ มันทำมากกว่านี้ไม่ได้ แล้วถัดไปเราก็ต้องมีความสามัคคีเป็นคุณธรรมที่ต้องอบรมเป็นหลักศีลธรรม วัฒนธรรมของศาสนาทุกศาสนา ความสามัคคีกำลังหายาก เพราะว่าคนมันเห็นแก่ตัวมากขึ้น ความสามัคคีมีไม่ได้ในหมู่บุคคลผู้มีความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นช่วยกันทำลายความเห็นแก่ตัวเพื่อให้มีความสามัคคี
ทีนี้เราจะต้องมีความรักผู้อื่นเป็นหลักอยู่ในส่วนลึกในชั้นพื้นฐาน ความสามัคคีนี้ไม่ใช่อันเดียวกับความรักผู้อื่น ความ ๆ สามัคคีมาจากการเห็นประโยชน์ร่วมกันมันไม่ได้รักกันโดยแท้จริงน่ะ แต่ประโยชน์มันร่วมกันมันบังคับให้สามัคคี สามัคคีเพื่อจะเอาประโยชน์กันเท่านั้นมันไม่ได้รักกันแท้จริง ฉะนั้นความสามัคคีนี้ยังต่ำ เป็นนคุณธรรมที่ต่ำกว่าการรักผู้อื่น ถ้ารักผู้อื่นมันก็เป็นไปด้วยใจจริง แล้วความสามัคคีมีได้เองโดยอัตโนมัติ นี่ฟังดูให้ดีว่า เราสามัคคีกันได้โดยไม่มีความรักผู้อื่น เพราะมันเห็นแต่ประโยชน์ของตนร่วมกัน แต่ว่าถ้าเรามีความรักผู้อื่นโดยแท้จริงแล้วความสามัคคีมีโดยอัตโนมัติ มีทันที ที่จะประพฤติประโยชน์แก่กันและกัน นี้เรียกว่าเราต้องมีความสามัคคีด้วย มีความรักผู้อื่นด้วย
ทีนี้หลักธรรมะที่จะช่วยให้มีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นของโบราณเต็มที คือความเคารพตัวเอง ถ้ามนุษย์มีความเคารพตัวเองมัน ๆ ทำอะไรที่ไม่ ไม่ใช่อย่างมนุษย์นั้นไม่ได้ ถ้าเรานับถือว่าตัวเราเป็นมนุษย์ ฉะนั้นเราต้องทำอย่างมนุษย์ ไปรู้เอาเองเถอะว่าอะไรเป็นอย่างมนุษย์ อะไรไม่ใช่อย่างมนุษย์ ฉะนั้นเราต้องมีความเคารพตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์ เราต้องทำลักษณะแห่งความเป็นมนุษย์ให้ครบถ้วน เราเชื่อตัวเองเพราะเรามีสมรรถภาพจนทำให้เชื่อตัวเองว่าเราจะต้องทำได้สำเร็จ แล้วเราก็มีการบังคับตัวเอง คนเดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวมาก ฉะนั้นไม่เคารพตัวเอง เลว ๆ ก็เอา ชั่ว ๆ ก็เอาเพราะมันไม่เคารพตัวเอง มันเห็นแต่ประโยชน์ มันขาดการเคารพตัวเอง แล้วมันไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป ก็เลยไม่เชื่อเรื่องตัวเองในทางที่จะดีที่สุด แล้วมันก็เลยไม่บังคับตัวเอง แม้แต่จะบังคับให้ทิ้งบุหรี่นิดเดียวนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะมันขาดการบังคับตัวเอง เมื่อก่อนนี้พวกฝรั่งเขาพูดกันมากนะ เมื่ออาตมาเด็ก ๆ น่ะ ขอ ๆ เอามาเล่าให้ฟัง เพราะอาตมาแก่ อายุแก่กว่าหลาย ๆ คนที่นั่งอยู่ที่นี่ เมื่ออาตมาเด็ก ๆนี่ พวกฝรั่งมันมา แล้วก็มาสอนเรื่องเชื่อตัวเอง บังคับตัวเองเคารพตัวเองนี้มากที่สุด self-confidence ,self-controll, self-respect นี่มันพูดกันจนเป็นของฝาก แต่เดี๋ยวนี้ในฝรั่งนั้นมันไม่มี ในหมู่ฝรั่งเหล่านั้นไม่มีสิ่งเหล่าที่ ๆ เขาเคยพูดมากในสมัยหนึ่ง ก็แปลว่าในหมู่ฝรั่งมันก็ละทิ้งไอ้คุณธรรมสูงสุดเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องทางศาสนา เมื่อเป็นอย่างนั้นไอ้ความเห็นแก่ตัวมันก็เข้ามาแทน มันเลยหมด ๆ หมดหวังกันที่ตอนนี้ ฉะนั้นขอให้ทุกคนเคารพความเป็นมนุษย์ของตนแล้วบังคับตัวเองให้เป็นอย่างนั้นให้ได้ แล้วก็ต้องเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของตน เชื่อตัวเอง เคารพตัวเอง บังคับตัวเอง แล้วก็จะเป็นผู้บริหารที่ดีเลิศ ชนะตัวเองได้มันจึงจะชนะผู้อื่นได้ บริหารตัวเองได้มันจึงจะบริหารผู้อื่นได้ นี่มารวมอยู่ในคำว่า เป็นการบริหารจิตอย่างถูกต้อง บริหารจิตอย่างถูกต้องจะมีการเชื่อตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง เดี๋ยวนี้มันไม่มีสอนในหลักสูตรทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปถึงประถม มัธยม อุดม มหาวิทยาลัยไหน มันก็ไม่สอนเรื่องนี้เสียแล้ว ไม่เหมือนกับยุคเมื่อ ๖๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีมาแล้ว มหาวิทยาลัยเขาระบุไปยังความเป็นสุภาพบุรุษเป็นยอดสุดของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จบออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ แล้วไม่ได้อะไรนอกจากความเป็นสุภาพบุรุษ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นเทคโนโลยีแขนงใดแขนงหนึ่งไปหมดแล้ว ทีนี้การที่เขามีความเป็นสุภาพบุรุษนั้นน่ะ คือเชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง นับถือตัวเอง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้ไม่มีสอนในประเทศไทยเราในหลักสูตรไหนก็ไม่มีสอน สอนกันแต่ให้รู้หนังสือให้ฉลาดและให้มีอาชีพที่ได้เปรียบผู้อื่นมากที่สุด คือเหนื่อยน้อยที่สุดได้ผลงานมากที่สุด นี่สอนแต่เรื่องหนังสือกับอาชีพ ส่วนธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์ไม่สอนเลย ในวิทยาลัยครูของพวกคุณก็ไม่ได้สอน นี่กล้าท้าอย่างนี้ สอนแต่เรื่องรู้หนังสือและอาชีพ ในมหาวิทยาลัยไหนในโลกมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นด้วยกันทั้งโลก มันจึงขาดธรรมะ รู้แต่หนังสือกับอาชีพแล้วก็ขาดธรรมะ มันก็ไม่มีการ ไม่ ไม่มีแนวบริหารชีวิตที่ถูกต้องของมนุษย์แต่ละคน ๆ แล้วโลกนี้มันก็มีความไม่ถูกต้อง เราต้องบริหารจิตให้ถูกต้องก่อนแล้วจึงสามารถบริหารสิ่งต่าง ๆให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิตของมนุษย์นั่นเอง การทำสมาธิในทางศาสนานั้นหมายถึงการบังคับจิตได้ ผู้ใดบังคับจิตได้ก็หมายความว่าผู้นั้นทำสมาธิสำเร็จ ทำสมาธิสำเร็จก็คือการบังคับจิตได้ นี่เรียกว่าเขาบริหารจิตได้ เขามีกำลังใจสูงพอที่จะบริหารทุกอย่างภายนอกรอบตัวเขา เข้าใจว่าคุณครูเหล่านี้คงจะได้อ่านข่าวในประเทศญี่ปุ่นที่เน้นหนักขึ้นทุกทีว่าบริษัทการค้านี่ของญี่ปุ่นนี้ เขาจะบังคับให้พนักงานของเขาทุก ๆคน ไปฝึกเซน คือสมาธิตามแบบ เซน หรือว่าเคยฝึก เซน มาแล้วจึงจะรับเข้าเป็นเจ้า เป็นลูกจ้าง(45:35)เป็นพนักงานในบริษัทของตน เพราะว่าเขาชอบบุคคลที่บังคับตัวเองได้ตามสมควร ถ้าไปฝึก เซน ฝึกสมาธิมาแล้ว คนเหล่านั้นบังคับตัวเองได้ตามสมควร ถ้าไม่เคยฝึกมาเลยเป็นปุถุชน เป็นควายเถื่อน เปลี่ยว ไม่มีการบังคับตัวเอง ถ้าบังคับจิตได้ เช่นบัง ทำ เซน ได้ มันก็บังคับได้ เช่นว่ามันนั่งทำบัญชีอยู่ มันง่วงนอนขึ้นมา มันก็บังคับให้หายง่วงนอนได้ไม่มานั่งง่วงนั่งซึมอยู่อย่างนี้ หรือมีอารมณ์ร้ายอะไรมากระทบ มันก็บังคับให้หายไปได้ ใจคอปกติได้ แล้วก็ทำงานได้ต่อไปไม่ผิดไม่พลาดแล้วก็ทำงานให้บริษัทได้ประโยชน์มากกว่าคนไอ้ที่จะเป็นปุถุชนเกินไป บังคับความง่วงนอนนิดเดียวก็ไม่ได้ นี่ลองคิดดู
ฉะนั้นจึงการบริหารจิตนั่นแหละจะเป็นรากเหง้าแห่งการบริหารสิ่งทั้งปวง เราจึงอบรมจิตให้จิตอยู่ในอำนาจ อยู่ในความถูกต้อง ก็ชื่อว่าเป็นผู้บริหารสิ่งสูงสุด คือบริหารจิต บริหารจิต คือบริหารโลก เพราะว่าโลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของจิต พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างนี้ ว่าไอ้โลกทั้งหมดมันเป็นไปตามอำนาจของสิ่ง ๆ เดียวคือจิต จิตของคนทุกคนในโลกเป็นอย่างไร โลกนี้มันจะเป็นอย่างนั้น เอ้า, ถ้าจิตของคนทุกคนในโลกนี้มันถูกต้อง โลกนี้มันก็ถูกต้อง ฉะนั้นการบริหารจิตก็คือการบริหารโลก บริหารผิดก็ผิด บริหารถูกมันก็ถูก ฉะนั้นขอให้ทุกคนเป็นนักบริหารจิต จิตดีแล้วโลกนี้มันก็จะต้องดีไปตาม โลกนี้จะดีไปตามจิต เพราะว่าจิตมันอยู่ใต้ มันอยู่เหนือโลก โลกมันอยู่ใต้อำนาจจิต นักบริหารจงตั้งต้นการบริหารจิต แล้วก็จะบริหารทุกอย่างได้ แม้กระทั่งบริหารโลก ธรรมะกับนักบริหารหมายความว่า นักบริหารต้องมีธรรมะอย่างที่ว่ามา ถึงจะแยกมาว่า ธรรมะสำสำหรับนักบริหาร ก็จะพูดว่าเท่าที่จำเป็นแก่นักบริหาร อาตมาก็ระบุไปยังการบริหารจิตว่าเป็นธรรมะสำหรับนักบริหาร นี่ความรู้เท่าที่มีอยู่ในวัด ที่จะเป็นประโยชน์แก่ครูบาอาจารย์ที่อยู่นอกวัด ก็มีใจความโดยเค้าโครงอย่างนี้ ได้พูดให้ท่านทั้งหลายฟังในหัวข้อว่าธรรมะกับนักบริหารมันก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงนี้ จำหัวข้อไปได้ก็ไปหารายละเอียดศึกษาเพิ่มเติม สำหรับการบรรยายในวันนี้มันมีได้เพียงเท่านี้ เพราะว่าอาตมาก็ยังไม่ได้ฉันเช้าเลย