แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ทองล้วน : ขอคารวะครูบาอาจารย์ที่เคารพ และก็เจริญพรญาติโยมทั้งที่มาจากที่ใกล้และที่ไกล ความจริงอาตมาเองก็มาจากกรุงเทพฯเหมือนกัน แต่ว่าโยมกรุงเทพฯจะกลับแล้ว อยากจะให้มากล่าวอะไรให้โยมกรุงเทพฯได้ฟัง ว่าอย่างนั้น แต่ความจริงเรื่องธรรมะหรือว่าเรื่องการที่เราเป็นชาวพุทธนั้น ไม่ว่าชาวกรุงเทพฯหรือว่าชาวภาคใต้หรือภาคเหนือภาคอีสานหรือที่ไหนก็ตาม อาตมามีความรู้สึกว่าก็คงจะมีความคิดเห็นหรือว่ามีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน ส่วนวิธีการนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน แต่สำหรับอาตมานั้นอยากจะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ในการศึกษาและการปฏิบัติธรรมะ คือจะว่าเล่าความเป็นมาของตัวเองให้ญาติโยมหรือว่าครูบาอาจารย์ได้ฟัง บางทีอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง เพื่อที่จะเอาไปประพฤติปฏิบัติ
ความจริงที่ท่านทั้งหลายได้ฟังท่านอาจารย์พะยอม พูดไปเมื่อสักครู่นี้ ถ้าเราจับใจความได้ คือเรื่องธรรมะนี้มันไม่ต้องศึกษาอะไรมาก อันนี้อาตมาจะพูดตามความรู้สึกหรือประสบการณ์ของตัวเอง คือมันมีอยู่เหมือนกับฝ่ามือกับหลังมือเรานี้ มันบังกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง แต่เมื่อเราไม่เข้าใจหรือว่าไม่รู้แล้ว ก็ขอโทษเถอะ,ขอพูดความจริงให้ฟังว่า ศึกษาจนตายปฏิบัติจนตายมันก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันมีอยู่สองอย่างเท่านั้นเอง คือสัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเราทำหรือศึกษาไม่เข้าใจ ไม่เกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่เกิดปัญญา เราทำไปก็ต้องทำผิด ปฏิบัติผิด รู้ผิด แล้วก็ได้ผลผิดๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางคนบอกว่าทำอย่างนั้นเพื่อที่จะเป็นบารมี เพื่อที่จะให้เกิดบารมีมาช่วยอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่นว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ญาติโยมหรือว่าคนทั้งหลาย เคยเห็นกัน ว่าอย่างเช่นการทำสมาธินั่งสมาธิอย่างนี้ ว่านั่งสมาธินานๆ ก็เพื่อที่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือทำลายกิเลสอะไรทำนองนั้น
ทีนี้เราจะเห็นได้ว่าสมัยพุทธกาล บางคนท่านนั่งสมาธิศึกษาปฏิบัติธรรมะจนเข้าฌานได้ อย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้า อาฬารดาบส อุทกดาบสอย่างนี้ ท่านเข้าฌานบรรลุฌานขั้นสูงแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำลายทุกข์หรือว่าละกิเลสได้ หรือว่าหลายๆ คนญาติโยมก็เหมือนกัน บางท่านก็คงเคยได้ทำกรรมฐาน ส่วนเรื่องการทำบุญให้ทานรักษาศีลนั้นอาตมาจะไม่พูดถึง จะพูดถึงว่าเรื่องจุดของพุทธศาสนาอย่างแท้จริงหรือว่าตัวศีลธรรมอย่างแท้จริง ที่มันจะเข้าไปทำลายทุกข์หรือว่าทำลายกิเลสในจิตในใจ แล้วอยากจะพูดว่าทุกคนทำได้,ทุกคนทำได้ คนนั้นไม่เคยรักษาศีลมาก่อนเลยก็ตาม คนนั้นไม่เคยทำบุญมาก่อนเลยก็ตาม อันนี้กล้ายืนยันเลย ถ้าพูดถึงตัวพุทธศาสนาจริงๆ นะ แต่เราไม่ต้องไปพูดถึงว่าเรื่องศีลธรรมเรื่องขนบธรรมเนียมหรือว่าเรื่องประเพณี เพราะว่ามันมีเวลาน้อย อยากจะพูดว่าตัวพุทธศาสนาที่แท้จริงหรือว่าตัวแก่นของพุทธศาสนาที่จะทำลายซึ่งความรู้สึกที่เป็นอัตตาตัวตนหรือว่าความทุกข์หรือว่ากิเลสนี่ อันนี้ทุกคนทำได้เพราะมันมีอยู่แล้วในคนทุกคนนั่นเอง แต่เราไม่รู้มัน ไม่รู้ว่ามันคืออะไรแล้วก็ไปทำสมาธิ อาตมาก็ไปทำเมื่อก่อนนี้ทำมาห้าหกปีเจ็ดปีไม่รู้เรื่องเลย นั่งทำอดข้าวอดน้ำอยู่ในถ้ำในเหวตั้งหกเจ็ดปี เขาทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นแหละ,ทำได้ นั่งนานๆ ได้ สิบชั่วโมงยี่สิบชั่วโมงได้ เพราะมันฝึกนี่ ฝึกแล้วมันก็อดทน แต่ว่าจิตใจจริงๆ ยังเหมือนเดิมหรือร้ายแรงกว่าเดิมเสียอีก นี่มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้ว่าถ้าเราขาดสัมมาทิฏฐิหรือขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นถูกต้องแล้ว การปฏิบัตินั้นก็ไม่ได้ผลหรือได้ผลในทางที่ผิดๆ ก็อย่าพูดถึงได้ผลเลย แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วมันอึดใจเดียว,อึดใจเดียว แค่ลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้นเอง อ๋อ,มันเป็นอย่างนี้เอง เท่านี้เองแหละถ้าเราเข้าใจ เพราะมันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสท่านสอนสิ่งที่มีอยู่แล้ว แล้วท่านก็ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วในคนทุกคนหรือว่าในจิตในใจของพระองค์นั่นเอง แต่อาตมาไม่ได้หมายถึงว่าการศึกษานั้นไม่ดีหรือว่าการเรียนปริยัติหรือการปฏิบัติวิธีการต่างๆ นั้นไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะพูดถึงเฉพาะที่ว่า ถ้ามีสัมมาทิฏฐิแล้วหรือถ้ามีความเห็นถูกต้อง ไม่ว่าใครจะทำอะไรอยู่ ญาติโยมเป็นชาวไร่ชาวนาอย่าไปน้อยใจว่าฉันทำไม่ได้ ญาติโยมเป็นแม่ค้า ค้าขายหรือว่าเป็นข้าราชการเป็นอะไรก็ตาม ทำได้ทั้งนั้นเพราะมันเป็นเรื่องจิตใจ เรื่องของศาสนา เรื่องของธรรมะ เรื่องของจิตใจนั่นเอง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติคำว่าวิปัสสนากรรมฐานนั้นมันไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องนั่งหลับตา หรือจะต้องเดินย่องๆ ค่อยๆ เบาๆ สมัยนั้นอาตมาก็ทำอย่างนั้นแหละ ก็เราไม่รู้ก็ต้องทำตามครูบาอาจารย์ เพราะไม่รู้ก็ต้องทำ เดินไปไหนนี่ค่อยๆ เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามดี ก็ดีอันนั้นดูงามในสังคมก็ดี แต่ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิมันก็เท่านั้นแหละ เดินไปย่องไป ก็ย่องไปเถอะ มันละกิเลสไม่ได้นั่นเอง คืออาตมามันชอบพูดตรงๆ มันละกิเลสไม่ได้ พอตาเห็นรูปก็เหมือนกับสไลด์เมื่อสักครู่นี้แหละ พอตาเห็นปุ๊บ เอาแล้ว ถ้าสวยก็ราคะเผาใจ ถ้าไม่สวยก็ ฮื้อ,ไม่ชอบใจ ทั้งๆ ที่เราต้องการที่จะทำลายสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่มันเกิดให้เราดูเราเห็นอยู่ แต่ก็ไม่สนใจ คือปฏิบัติธรรมะเพื่อที่จะเอานิพพาน เพื่อที่จะให้จิตบริสุทธิ์ เพื่อที่จะให้สงบ แน่ะ,มันจะไปเอาอย่างนั้น คล้ายๆ กับว่าจะไปคว้าเอาลมมาให้มันเป็นก้อนให้มันเป็นท่อนเป็นชิ้นเป็นอัน หรือว่าจะไปปั้นน้ำให้มันเป็นก้อนอย่างนั้น นี่ของมันมีอยู่แล้ว ทำไมไม่ดู ทำไมศึกษา ทำไมไม่ปฏิบัติ แล้วมันจะไปนั่งเอาๆ ต้องทำ อดข้าวอดน้ำ อดทนเจ็บปวดอย่างไรก็อดทนเพราะต้องการให้หมดกิเลส นี้ความรู้สึกของอาตมานะ แต่บางท่านก็คงจะไม่คิดอย่างนี้นะ สำหรับอาตมามันคิดอย่างนี้อยู่เสมอตั้งแต่เริ่มบวชมาปฏิบัติธรรมะ คือต้องการจะทำลายกิเลสเท่าที่จะทำลายได้หรือรู้วิธีมันเท่านั้นเอง แต่พอปฏิบัติไป,ปฏิบัติไป เอ๊ะ,ยิ่งปฏิบัติไปกิเลสก็ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ทุกที เมื่อก่อนนี้ราคะมีน้อย อ้าว,เพิ่มขึ้น โทสะมีน้อย เพิ่มขึ้น เอ๊ะ,มันชักจะอย่างไรแล้ว มันไม่ใช่ทางแล้วกระมัง บวชมาตั้ง ๗ ปี ก็เลยมานึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม อย่างช้า ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างไว ๑ วันถึง ๗ วัน ก็ได้ยินอย่างนี้ได้เห็นอย่างนี้ได้ฟังอย่างนี้ มานึกน้อยใจตัวเอง เราก็ทำจริงทำจังมาตั้ง ๗ ปีแล้วยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ละกิเลสอะไรไม่ได้ แต่ขอโทษเถอะ,ในสายตาของญาติโยมหรือว่าคนอื่น เขาเทิดทูนเราเหลือเกินเพราะในรูปแบบนี้ รูปแบบการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ปฏิสันถารอะไรต่างๆ ในสังคมมันเรียบร้อยนี่ ไปที่ไหนนี่ แหม,โยมศรัทธามาก ยิ่งโยมศรัทธาก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ แล้วก็ยิ่งบ้าใหญ่เลยทีนี้ บ้าเลยทีนี้ บ้า,บ้าไปเลย
คำว่าบ้านี้ ญาติโยมบางคนก็คงจะไปเข้าใจว่า บ้าไปตีไปด่าไปฆ่าคนนั้นคนนี้,ไม่ใช่ บ้าอาจารย์ บ้าของอาจารย์ อาตมาขอพูดตรงๆ นะ คือเรื่องธรรมะนี้มันต้องแสดงถึงความจริงใจออกมา กล้า จริงใจหรือว่าบ้า บ้าให้พอ บ้าให้ถึงที่สุด ถ้ามันยังมีอะไรที่ปิดบังอุบอิบงุบงิบอยู่เบื้องหลังแล้ว นั่นแหละตัวกิเลสทั้งนั้น มันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมีอะไร ให้เราแสดงออกไปด้วยความรู้สึกจริงๆ ด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจนั้นเอง นั่นแหละคือตัวธรรมะ ตัวธรรมะคือตัวจริงใจลงไปจริงๆ นั่นเอง เพราะมันไม่ยึดถือ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสมมติเท่านั้นเอง คำพูดหรือกิริยาอาการอันนั้นมันแล้วแต่จริตนิสัยของคน มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมะญาติโยมก็คงเคยได้ยินถ้าเคยมาสวนโมกข์เรื่องนิทานเซนนี้ มันไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่จริงๆ คำพูดนี้ก็เป็นลักษณะธรรมะส่วนหนึ่ง เป็นสื่อเท่านั้นเอง แต่ธรรมะนั้นไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่เลย ไม่ต้องพูดไม่ต้องอะไร มันเป็นธรรมะ มันหมายถึงเรื่องจิตใจที่สงบเย็น ไม่ใช่คำพูดที่กระโชกโฮกฮาก หรือไม่ใช่คำพูดที่เรียบร้อยนิ่มนวลสละสลวยศัพท์แสง ไม่เกี่ยวกันเลย แต่มันเกี่ยวกับความรู้สึกทางใจ จิตใจของเรามันปรกติไหม มันสงบเย็นไหม อันนี้แหละจึงเรียกว่าทุกคนปฏิบัติได้
ทีนี้ในการปฏิบัตินั้น เมื่ออาตมาศึกษาและปฏิบัติอย่างนั้น เป็นพระวิปัสสนาหมาขี้เรื้อนอยู่ ๗ ปี เป็นพระวิปัสสนาหมาบ้า ขอโทษเถอะ,หมาขี้เรื้อนนี่รู้สึกว่ามันยังมีโทษน้อยอยู่ หมาขี้เรื้อนนี้มันเป็นเพียงว่าไปนอนกองที่ฝอยตรงไหนมันคันๆ แล้วมันก็วิ่งแหงกๆ ไปนอนกองอื่นเท่านั้นเอง ก็ยังเป็นโทษน้อย แต่พระวิปัสสนาหมาบ้านี้มันรุนแรง มันไปที่ไหนมันคอยเที่ยวไปโจมตีเขา เฮ้ย,อันนั้นงมงาย อันนั้นทำด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ตัวเองไปนั่งเทศน์อยู่บนธรรมาสน์หน้าดำหน้าแดงเลย ก็เลยไม่รู้ว่าอะไรมันงมงายกันแน่ อะไรมันผิดมันถูก อะไรโง่อะไรฉลาด มันไม่รู้เลยจริงๆ โยม นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ว่าขณะนั้นอาตมาเป็นพระวิปัสสนาหมาบ้า เที่ยวไปด่าเที่ยวไปโจมตีเขาทั่วประเทศเลย ยิ่งภาคเหนือทางเชียงรายเชียงใหม่ไปไม่ได้อยู่หลายปี เพราะเหตุใด เพราะไปโจมตีเขา ลักษณะคำพูดหรือปรารภถึงอย่างที่ท่านหลวงพ่อหรือว่าท่านอาจารย์ใหญ่เรานี้ อันนั้นมันเป็นเรื่องท่านผู้มีสติปัญญา ท่านเป็นเพียงพูดว่าชี้ว่าอันนั้นมันผิดมันถูกเท่านั้นเอง แต่เรามันแสดงไปด้วยความรู้สึกด้วยอารมณ์ที่ไปเห็นแล้วไม่พอใจ เขาโง่ แหม,มันไม่น่าจะทำอย่างนี้เลย ความรู้สึกเป็นทุกข์นั่นแหละ นั่นแหละคือตัว,มันไม่ใช่งมงายธรรมดาตัวนั้น ตัวบรม บรมงมงาย บรมศีลพรต หรือสีลัพพตปรามาส เพราะตัวทุกข์นั่นเอง ตัวกิเลสนั่นเองคือตัวงมงาย ตัวไม่รู้ไม่เห็นว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในจิตในใจของตัวเองมันคืออะไร นั่นแหละคือตัวงมงาย
เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าลักษณะอาการที่แสดงออกในสังคม เมื่อเข้าใจ เมื่อมาศึกษาครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความรู้จริงมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ฟังไม่กี่คำหรอก อ๋อ,มันเป็นอย่างนี้เอง ตายแล้ว,เมื่อก่อนนี้เราหลงทาง โอ้โห,ไปนั่งหลับหูหลับตาอยู่ตั้งเป็นหลายปี ไม่รู้เรื่องเลย พอท่านสะกิดให้นิดเดียวเท่านั้นแหละ อื๊อ,ก็เลยเรียกว่าพอจับแนวทางถูก ก็เอาไปใช้ได้เลย ก็เอาไปใช้ในการงานหน้าที่ เมื่อก่อนนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ไม่ได้ อยู่กับใครก็อยู่ไม่ได้ อยู่กับคนดีก็อยู่ไม่ได้ อยู่กับคนชั่วก็อยู่ไม่ได้ มันร้อนอยู่ตลอดเวลา พอเรารู้วิธีหรือว่ารู้แนวทาง อ้อ,มันเป็นอย่างนี้เอง แก้ตรงนี้เอง จึงเรียกว่าไม่ใช่แก้ที่อื่น ไม่ใช่ปฏิบัติที่อื่น ไม่ใช่วิธีอะไรทั้งหมด,เรื่องการปฏิบัติธรรมะ ให้รู้สึกลงไปที่ความรู้สึกที่จิตใจของเราที่มันรู้สึกขึ้นมานั่นแหละ ถ้าจะพูดอีกให้ง่ายๆ ให้เข้าใจง่าย พอมันคิดอะไรวูบขึ้นมาให้มันรู้ทัน มีสติรู้ทัน คำว่าสติหรือสติปัฏฐาน หรือสติในความหมายของคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้หมายถึงสติธรรมดา เดินไม่ตกหลุม ไม่ชนตอ ขับรถไม่ตกถนน อันนั้นมันไม่ใช่ สติอย่างนั้นมันก็มีอยู่แล้วธรรมดาธรรมชาติ เป็นสัญชาตญาณ ไม่ใช่เรื่องของสติปัฏฐานสี่ แต่สติปัฏฐานสี่จะต้องหมายถึงรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ ดับทุกข์ ทำลายความรู้สึกของจิตใจที่มันกระเพื่อมขึ้นมาสู่อารมณ์ มันคิดอะไรขึ้นมา โกรธขึ้นมา รู้ทัน พอใจขึ้นมา รู้ทัน เมื่อตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงจมูกได้กลิ่นลิ้นได้รส เรารู้ทันภาวะของจิตใจของเรา แล้วสามารถเอาชนะหรือตัดมันได้ขณะหนึ่งๆ นั้นมันจึงเรียกว่ามีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในนั้นแหละ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงมีอยู่ในคนทุกคนและทำได้ทุกคน
นี้เป็นประสบการณ์ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมะของอาตมา อาตมาเองเป็นผู้น้อยหรือว่าผู้เรียนน้อย เป็นผู้มีการศึกษาเรื่องปริยัติน้อย ไม่เรียนแต่อ่านศึกษานิดๆ หน่อยๆ ฟังครูบาอาจารย์เป็นส่วนมากแล้วก็อาศัยประสบการณ์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นคิดว่าสิ่งที่อาตมาแสดงหรือพูดให้ข้อคิดญาติโยมฟังนี้คงคิดว่ามีอยู่ในคนทุกคน โลภ โกรธ หลงก็มีอยู่ในคนทุกคน ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงก็มีอยู่ในคนทุกคน ถ้าเรารู้วิธีมันแล้ว ก็ค่อยเอาชนะมันทีละนิด ทีละหน่อย พยายามหักห้ามใจตัดใจไม่ตามมัน เพราะรู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นทุกข์ คิดอย่างนั้นเป็นทุกข์ อารมณ์อย่างนั้นไม่ดี เราค่อยตัดมันไประงับมันไปด้วยสติด้วยปัญญา อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาแท้ ตัววิปัสสนานั้นจึงไม่ใช่ยืน ไม่ใช่เดินไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่ใช่อะไรทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะให้คนอื่นรู้ได้เห็นได้ เรารู้ได้เฉพาะตนในจิตในใจของเราเอง
เอาล่ะ,ที่ให้ข้อคิดในเรื่องการปฏิบัติธรรมโดยย่อๆ พอที่ญาติโยมทุกคนทุกท่านจะเอาไปปฏิบัติได้ คำว่าสตินั้นคือความรู้ทันอารมณ์ที่มันคิดวูบอะไรขึ้นมา สมมติว่า ภรรยาด่าสามี พอเขาด่าปุ๊บ มันวูบขึ้นมา สติรู้ทัน โกรธแล้ว อ้าว,โกรธนี้เป็นกิเลสแล้ว รู้ทันตัดไป รู้ทันตัดไป พยายามทำ ส่วนวิธีการที่จะได้มาซึ่งสติหรือการฝึกนั้น อันนี้ก็มีอุบายอีก อุบายนั้นก็ไม่ยากอะไรซึ่งมีอยู่แล้วในคนทุกคน เรายืนอยู่แล้ว เดินอยู่แล้ว นั่งอยู่แล้ว นอนอยู่แล้ว ก็ให้มากำหนดรู้ในการเคลื่อนไหวอิริยาบถของเรานี้เอง เช่น เดินก็ให้รู้สึกว่าเดิน อย่างอาตมาที่กำลังพูดอยู่นี้ก็รู้สึกว่ากำลังพูดอยู่ มีสติรู้สึกอยู่ จิตใจมันเป็นอย่างไรก็รู้อยู่ เราฝึกอย่างนี้แหละทีละนิดทีละหน่อย บ่อยเข้าๆ สตินี้มันก็จะมีกำลังขึ้นมาเอง ทั้งสติทั้งปัญญา หรือศีล สมาธิ ปัญญานั้นมันอยู่ด้วยกันนั่นแหละ ศีลแปลว่าความเป็นปรกติ แต่สำหรับอาตมานั้นทีแรกเราก็รู้ๆ อยู่แล้วเรื่องศีลสังคมนั้น บวชมานี้พระนั้นก็ต้องรู้กันทันที ต้องไม่ทำอยู่แล้วแหละ ไม่มากก็น้อย แต่ว่ารู้สึกจริงๆ ตัวเองไม่บริสุทธิ์ไม่มีศีลเลย เพราะมันยังเร่าร้อนอยู่ ยังฟุ้งซ่านอยู่ ยังวุ่นวายอยู่นั่นเอง ความวุ่นวายนั่นแหละคือความไม่ปรกติแล้ว เมื่อจิตใจไม่ปรกติ กายวาจาก็ต้องพลอยไม่ปรกติไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีศีลจิตใจเราปรกติ กายวาจาเราปรกติจิตใจก็ปรกติแล้ว อันนั้นแหละสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่น สมาธิก็คือจิตที่มันตั้งมั่น มันไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ จิตบริสุทธิ์ขนาดนั้นกิเลสไม่มี แล้วก็มีปัญญารู้เท่าทัน อะไรที่มันปรุงแต่งคิดวูบอะไรขึ้นมาเรารู้เท่าทัน นั่นแหละเรียกว่ารู้รอบกองสังขาร คือความยินดียินร้ายนั่นเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะจึงเรียกว่าศึกษาในชีวิตประจำวันของเรานั่นแหละ ไม่ยากอะไรคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่การปฏิบัตินั้นมันยาก ส่วนวิธีหรือแนวทางนั้นสำหรับอาตมาเองคิดว่าไม่เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นที่อาตมาได้ให้ข้อคิดมาก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ถ้าหากว่าญาติโยมข้องใจหรือสนใจแล้วก็จะถามจะคุยกันทีหลังก็ได้ เพราะมีเวลาน้อย ต่อไปนี้ก็ยังมีอีกหลายองค์หลายท่านซึ่งมาจากสำนักต่างๆ กัน จะได้มาแสดงข้อคิดเห็นหรือให้แนวทางวิธีที่ญาติโยมมาแล้วจะให้ได้รับประโยชน์คือวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะดับทุกข์ในชีวิตของเรานั้นเอง เพราะทุกคนมีทุกข์ จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้//
พิธีกรดำเนินรายการ : ที่บรรดาญาติโยมได้ฟังท่านอาจารย์ทองล้วนได้พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม จะเรียกว่าประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะก็คือตัวของท่านเอง แล้วก็นำมาตีแผ่ให้พวกเราได้รู้จักแนวทางสำหรับการปฏิบัติ แล้วก็พระที่มานี้ก็ล้วนแต่เป็นพระอาจารย์ มีอยู่หลายสำนักหลายรูป แล้วเราก็มาสัมมนากันคือมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือทัศนคติที่ถูกต้องแก่กันและกัน เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกเรามานั่งหรือมาอยู่ในท่ามกลางนักปราชญ์ พระเดชพระคุณก็เหมือนกับนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษา อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร ถ้าเราพูดหรือแสดงไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรหรือไม่ถูกต้อง ท่านก็อาจจะเป็นที่ปรึกษาแก่พวกเราได้ เพราะฉะนั้นใครมีอะไรก็น่าจะมาถ่ายทอดให้แก่กันและกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นแนวทางสำหรับการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นการซักฟอกหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนกัน นี้เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเราทุกท่านทุกคน พระเดชพระคุณท่านบอกแล้วว่าเราจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะศาสนานี้ไม่ใช่ของใคร เป็นของคนทุกคน เราจะต้องร่วมรับผิดชอบกันในความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ฉะนั้นเราก็น่าจะได้มีอะไรที่มาแสดงออกในโอกาสนี้ แล้วก็ท่านอาจารย์วรศักดิ์ครับ/ ยังไม่ลงหรือ/ แล้วก็มีใครที่/ อาจารย์มหาบุญสร้างครับ,นิมนต์/ ท่านอาจารย์มหาประทีปนะครับ มีหลายองค์ครับ/ อาจารย์มหาประทีป อาจารย์มหาประสาท อาจารย์พระครูประจักษ์สารธรรม อาจารย์วรศักดิ์ นี้มีอยู่หลายรูปด้วยกัน ถ้าจะเอามาเรียงแถวกันพูดแล้วคืนนี้ยันสว่างก็ได้ ท่านอาจารย์สมุห์แจ่มด้วย ท่านมหาพะเยาด้วย แล้วก็มหาศรีสุวรรณ มหาดำเนิน เยอะแยะไปหมด พระครูศรีด้วยที่พูดอยู่นี้ ก็พอสู้กันได้ ฉะนั้นคืนนี้เราก็มาร่วมกันหลายแห่งหลายรูป แล้วก็มาอยู่ในสำนักของพระเดชพระคุณซึ่งทุกรูปก็เรียกว่าไปตามสายที่สวนโมกข์นี้ ไปตามสายสวนโมกข์นี้ แล้วก็ควรที่จะได้มาแสดงออกอะไรที่เห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแก่ชาวพุทธทั่วไป/ ขอนิมนต์ท่านอาจารย์มหาบุญสร้างก่อนครับ มาจากสำนักท่านอาจารย์ท่านปัญญานันทะ ขอนิมนต์ครับ/ คือว่ายังไม่มาพร้อม ก็เอาที่มีอยู่ก่อน//
พระอาจารย์มหาบุญสร้าง : เอาล่ะ,เพื่อนสหธรรมิก และท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ธรรมะขัดตาทัพ ก่อนที่ท่านอาจารย์ใหญ่จะมาแสดงธรรม เวลาว่างๆ ก็กล่าวธรรมะฟังกัน ทั้งๆ ที่เราทุกคนทุกท่านก็เรียกว่ามีธรรมกันพอสมควรแล้ว แต่ว่าจะใช้ธรรมผิดธรรมถูกนั้นมันก็อีกทีหนึ่ง ถ้าธรรมผิดมันก็ให้ทุกข์เกิดทุกข์ ถ้าธรรมถูกมันก็ไม่มีปัญหา สัมมาทิฏฐินี้ไม่ทุกข์ ถ้ามิจฉาทิฏฐิก็ทุกข์ มิจฉาทิฏฐินี้ปั้นน้ำเป็นตัว ปั้นน้ำจิตน้ำใจความรู้สึก ไม่โกรธก็ปั้นให้โกรธได้ ไม่เกลียดก็ปั้นให้เกลียดได้ ไม่หลงก็ทำให้หลงได้ แต่ถ้าสัมมาทิฏฐินั้นละลาย อะไรควรทำก็ทำไป เวลาแรงงานที่เหลืออยู่ก็ทำไป โดยเฉพาะทำกับความรู้สึกคือตัวเองนั่นแหละให้เยือกเย็นหรือว่ามีความเป็นพระความเป็นเช่นนั้นเองมากที่สุด แล้วก็ช่วยทำคนอื่น เอาเวลาที่เหลืออยู่
ความจริงฟังเสียงเงียบดีกว่าเสียงดังนะ เงียบๆ ช่วยจังหวะไว้บ้าง เสียงที่ดังมันดังแล้วมันก็เงียบ แต่ว่าเสียงที่เงียบมันดังแล้วบางทีมันไม่ค่อยเงียบ พอดีบัดนี้อาจารย์ท่านก็จะมาแล้ว,เดินทางแล้ว ธรรมะที่จะกล่าวกันเป็นเรื่องวิธีการเผยแพร่คงจะเป็นเรื่องดึกๆ ตอนนี้ก็กล่าวธรรมะทั่วๆ ไป ว่าได้อะไรจากสวนโมกข์ ได้อะไร ได้มา บางคนมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่ค่อยได้ บุหรี่ก็ทิ้งไม่ได้ หมากก็ทิ้งไม่ได้ อย่างนั้นได้ธรรมดานะ ธรรมดาๆ นี่ รู้ดี บุหรี่เหล้าไม่ดี ขี้เกียจไม่ดี ริษยาไม่ดี อะไรก็รู้หมด นี่รู้ธรรมะแต่อดไม่ได้ คนที่อดไม่ได้ยังไม่มีธรรมะนะ ส่วนมากเรารู้ธรรมะกันเยอะแยะเมืองไทยนี้ ใครบ้างไม่รู้ธรรมะ นักธรรมตรี-โท-เอก,รู้ อยากจะเสนอแนะฝากว่าจงมีธรรมะ รู้ไม่สำเร็จประโยชน์เท่าไหร่ บอกให้คนอื่นเสียหมด แต่ถ้ามีภาวนาทำให้มันมีมันเจริญขึ้นที่เนื้อที่ตัวนั่นแหละ นี่มาสวนโมกข์ได้อะไร ได้มา อันแรก
อันที่สอง ได้สัมผัสกับธรรมชาติ อันที่สามได้สัมผัสกับท่านผู้รู้ต่างๆ สัมผัสกับความรู้สึกได้อะไร ได้มา และกระผมก็ไปๆ มาๆ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ที่นี่ หลายครั้งได้อะไรเยอะแยะ พูดว่าได้ ก็ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจบ้างตามสมควร และคิดว่าทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ สิ่งที่ต้องการได้ก็คือความสงบสุข คือความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าเกิดมาทำไม ใครมันเกิดอะไรอย่างนี้ อยากจะพูดว่าต้องพยายามเกิดที่ไม่เป็นทุกข์ ธรรมะมักจะสอนว่าเกิดเป็นทุกข์ เกิดเสียใหม่ เกิดไม่เป็นทุกข์ เกิดอย่างไร เช่น เกิดดวงตาเห็นธรรม เกิดรู้เกิดเห็น แก่มันเป็นทุกข์ เกิดความแก่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นทุกข์ แก่ที่ไม่เป็นทุกข์ดูบ้าง แก่รู้จะอยู่นาน,แก่ความรู้ เจ็บเป็นทุกข์ เจ็บที่ไม่เป็นทุกข์ดูบ้าง คือมันสักว่าเจ็บไม่มีตัวผู้ทุกข์ อันนี้มันทำยากหน่อย ตายที่ไม่เป็นทุกข์ พอนึกถึงความตายมันเป็นทุกข์ ตายที่ไม่ตาย ตายก่อนตาย เหมือนสำนวนอาจารย์พูดอยู่ที่นี่ ตายก่อนตาย อย่างนั้นตายไม่เป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เสียใหม่ จนกระทั่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางร่างกาย ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมดา เช่น มาสวนโมกข์ ก็มาเกิดเสียใหม่ เกิดไม่ทุกข์สวนโมกข์อย่างไรก็ไปเกิดที่บ้านอย่างนั้นแหละ เกิดรู้เกิดเห็น เขาอยู่สวนโมกข์เขาแก่กันอย่างไรก็แก่เสียด้วย แก่เหมือนปริญญาของยาย แก่เพราะรู้ ไม่ใช่แก่เพราะทานข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน เพราะรู้ว่าอะไรเป็นหน้าที่ ก็กลายเป็นธรรมะหลายๆ เรื่อง แก่ความรู้ อ้าว,เจ็บ ร่างกายนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องเช่นนั้นเอง มันต้องเจ็บ มันต้องแปรปรวน แต่ว่าส่วนความรู้สึกทางจิตใจเราคงจะไม่เจ็บ ไม่เจ็บใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร ก็ไม่เจ็บทางใจจนกระทั่งไม่เจ็บ จนกระทั่งตาย นี่ตายก่อนตาย ตายก่อนตายนี้ก็เป็นปริญญาของสวนโมกข์ ทุกท่านที่มาสวนโมกข์บ่อยๆ กำลังทำปริญญาได้ หรือตายก่อนตาย พูดสำนวนอีกก็ว่าเกิดก่อนเกิด เกิดก่อนที่กิเลสมันจะเกิด เกิดสติสัมปชัญญะเสียก่อน มันก็เท่ากับตายก่อนตาย มันต้องเกิดต้องตายนี่ เกิดเสียก่อนเกิด
เอาล่ะ,เวลาก็บัดนี้อาจารย์ใหญ่ก็มาแล้ว ญาติโยมทั้งหลายก็ได้ฟังธรรมะที่เป็นหลักวิชาและธรรมะทั่วๆ ไป อาจารย์ท่านจะได้กล่าวก่อน หลังจากนั้นสุดท้ายก็คงจะเป็นเรื่องของนักเผยแพร่วางแผนกัน/ อาจารย์บอกพูดไปอีกได้/ เราเรียนจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เรียกว่าความทุกข์ประจำ เรียนธรรมะและทุกข์,ความทุกข์ประจำ เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นความทุกข์ประจำ,ประจำสังขาร เรียนของที่มันประจำอยู่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์จร,ทุกข์จรคือความรู้สึก ไปสร้างความรู้สึก ไปสร้างเงื่อนไข ไปรักสิ่งใดเข้า สิ่งนั้นเป็นทุกข์ รักไม่เป็น ได้พลัดพรากความรักเป็นทุกข์ ไปหวังอะไรไม่ได้ตามใจหวังก็เป็นทุกข์ นี่ อย่างเช่นหวังว่ามาสวนโมกข์ให้ได้สมหวัง สมหวังแล้วมา แต่จะได้ยังไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ จึงเรียกว่าความทุกข์ เป็นทุกข์ประจำกับทุกข์จร ทุกข์ประจำคือเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของสังขาร ทุกข์จรก็คือเงื่อนไขที่ความรู้สึกที่มันเสือกไปคิดนึกนอกรีตนอกรอย คิดนึกไม่เป็น ถ้าคิดไม่เป็นก็คิดตายสิ ภาษาสมัยใหม่ๆ ก็คิดโง่ๆ ถ้าภาษาสมัยใหม่ๆ ก็คิดให้เป็นเสีย คิดเป็นก็ไม่เป็นทุกข์ เช่นว่าความทุกข์นี้ ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จรมันเป็นเรื่องเป็นผลมาจากความไม่รู้หรือความอยาก,มันเป็นผล ฉะนั้นเราเรียนความไม่มีทุกข์ก็ที่ความทุกข์ ความทุกข์นี้คืออะไร ไม่มาก็ทุกข์ มาก็ทุกข์ มันไม่รู้จะนอนที่ไหน นี่ง่วงนอนก็ทุกข์ ฉะนั้นธรรมะของจริงอันแรกคือทุกข์ ทุกข์นี้เป็นอย่างไรล่ะ เหตุของความทุกข์ เราศึกษาความจริงมันมีเหตุมีผล เหตุของความทุกข์ก็คือความไม่รู้ หรือเรียกว่าความรู้ก็ได้ สำนวนที่นี่ใช้ว่าความรู้ที่เป็นสีขาว คนรู้ทั้งนั้นแหละ เมื่อประเดี๋ยวบอกว่ารู้ธรรมะนี่ รู้ทั้งนั้นแหละ โกรธไม่ดี เกลียดไม่ดี ยึดมั่นถือมั่นไม่ดี อะไรไม่ดี แต่รู้แล้วยังกระทำไม่ได้ ก็ขาดหลักคือทำให้มันเจริญ เขาเรียกภาวนา ทำให้มันเจริญให้มีให้เป็นขึ้นมา ไม่ใช่หมายถึงว่าภาวนานั่งลงหลับหูหลับตา คือทำให้มี นั่นเรียกว่าทำอริยมรรคทั้ง ๘ ประการให้มันมีขึ้น เช่นข้อที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ให้ความเห็นชอบเสีย อย่าไปชอบเห็น ถ้าชอบเห็นชอบดูมันก็เป็นเรื่องของกิเลส สมัยใหม่เราชอบเห็นชอบดู เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เดี๋ยวนี้กำลังชอบเห็นชอบดู ความจริงชอบเห็นชอบดูมันกลายเป็นเรื่องผี ผีทั้ง ๖ นี่เองแหละ ผีตัวแรกก็ชอบดู ชอบดูเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเห็นชอบเป็นสัมมาทิฏฐิ ชอบเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะชอบเห็นมักจะเห็นด้วยตาเนื้อเห็นด้วยกิเลส แต่ถ้าเห็นชอบเห็นด้วยสติปัญญา มรรคองค์แรกนะ,สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ เห็นทุกข์ เห็นเหตุของความทุกข์ เห็นความไม่มีทุกข์ นั่งในที่นี้เห็นไหม,ความไม่มีทุกข์ รู้เห็นหรือเปล่า เห็นวิธีที่จะปฏิบัติกระทำให้ถึงความไม่มีทุกข์
ทีนี้ข้อต่อไป สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ความดำริชอบมันเป็นเรื่องทางที่จะถึงความไม่มีทุกข์ แต่ว่าชอบดำริรับรองแหละ คือคนชอบคิดกับคิดชอบต่างกันแล้ว คนชอบคิด คิดเรื่องรูป เสียง กลิ่น รสมันดี คิดเรื่องพยาบาทเบียดเบียนมันสนุก คิดเรื่องมุ่งร้ายทำลายล้างผลาญกัน เห็นไหม,ชอบคิด ทีนี้คิดชอบ เนกขัมมะ อพยาบาท อวิหิงสา มันตรงกันข้ามนะ อาตมาอยากจะใช้สำนวนว่ามรรคตัดมรรค มรรคกิเลส มรรคก่อมรรค มรรคธรรมะ,มรรค ร.หัน ค. สะกด เราจึงเจริญมรรค ดำริชอบ ไม่ใช่ชอบดำริ
เอ้า,ข้อต่อไป สัมมาวาจา การพูดจาต้องมี เพราะปากมนุษย์พูดได้ เจราจาชอบหรือพูดชอบ เอ้า,ถ้ามาดูคนที่เดินทางผิด เขาชอบพูดอีกแหละ กลับกัน ชอบพูดมากกว่าชอบฟัง ชอบพูด,พูดเท็จบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง คำส่อเสียดบ้าง คำเหลวไหลบ้าง ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งโฆษณาชวนเชื่อ เราจึงเห็นคนชอบพูด จนกระทั่งวิทยุกระจายเสียงส่งตั้งร้อยสถานีไม่ทราบส่งให้ใครฟัง คนละเรื่องๆ ไม่รู้จะฟังเรื่องอะไร และทั่วโลกนี้จะมีสถานีวิทยุโทรทัศน์สักกี่พันส่งกันนี่ แล้วฟังไหวที่ไหนล่ะ แสดงว่ากิจกรรมชอบพูดมีมาก แต่เรามาทีนี้ส่วนมากชอบฟัง สัมมาวาจานั้นเป็นการแสดงออกทางความรู้สึกออกมา,นะ พูดชอบ พูดสัจจะ พูดคำอ่อนหวาน คำที่ถูกต้อง คำมีประโยชน์ คำที่ประสานให้ตะล่อมเข้าเป็นอันเดียวกัน มันเป็นเรื่องของส่วนศีล ที่ข้อต้น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นส่วนปัญญา
ทีนี้ต่อไป การงานชอบ สมัยปัจจุบันแล้ว ชอบงานไม่ใช่งานชอบแล้ว งานอะไรรวยเร็ว งานอะไรเบาไม่ต้องออกเหงื่อออกไคล เราจึงเห็นว่าสมัยใหม่ทำงานไม่เป็น ชอบงานแต่ไม่ใช่งานชอบ ชอบงานที่รวยเร็วๆ จึงเห็นว่ามีอะไรผิดพลาดมากเมืองไทยเรานี้ ถ้างานชอบนั้นงานจะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์สังขาร งานนั้นไม่ไปทำลายทรัพย์สินใครๆ งานที่เกี่ยวกับความรักจะไม่ประทุษร้ายของรักซึ่งกันและกัน แต่ถ้าชอบงานกลับกันทันทีเลย ไม่ได้คำนึงถึงชีวิต คำนึงถึงทรัพย์สิน คำนึงถึงความรัก สัมมาอาชีวะอีกเหมือนกัน เลี้ยงชีวิตชอบกับชอบเลี้ยงชีวิตก็ต่างกันอีกแหละ ชอบเลี้ยงชีวิตไม่คำนึงถึงผิดถึงถูก แต่คนที่เลี้ยงชีวิตชอบเขาคำนึงอาชีพ อาตมาไปอยู่ทางโน้นเสียสามสี่ปี มาจัดรายการที่สวนสามพรานมุมศาสนา ไปเจอคนปักษ์ใต้ ถามว่าหนูมาทำงานอะไรในกรุงเทพฯ เขาบอกว่างานบริการ อาตมาก็เลยเขตถามว่างานขายของเก่ากระมัง แกก็ตอบทันที,แกหน้าด้านตอบทันที แกบอกว่า สบายด้วย ได้สตางค์ด้วย สนุกด้วย จะเอาอะไรล่ะ,หลวงพี่ ในฐานะเราว่าคนปักษ์ใต้ถาม,ใช่ไหม เลี้ยงชีวิตขายของเก่าผู้หญิง เท่ากับลามปามไปถามนอกเขตเหมือนกันแหละ ต้องการรู้ถึงคนบ้านเองสำเนียงอยู่ทางใต้ นี่เห็นไหม,ชอบงานกับงานชอบต่างกันแล้ว เลี้ยงชีวิตนี้
ทีนี้เราดูข้อต่อไปข้อเกี่ยวกับทางจิตใจ สัมมาวายามะ เพียรชอบ คนเดี๋ยวนี้ชอบเพียร โยมนี่เพียรชอบ เพียรละบาปบำเพ็ญบุญ แต่ไปดูบางครั้งสิ่งกำลังชอบเพียรชอบเล่นไพ่ยันสว่าง ชอบเพียรชอบเลี้ยงไก่อย่างนี้ ชอบทำอะไรที่มันเรียกว่า ชอบเพียรไม่ใช่เพียรชอบ ถ้าเพียรชอบ เพียรละบาป บำเพ็ญบุญที่เขาวางหลักไว้ บาปอันใดไม่เกิดก็ไม่เกิด เกิดขึ้นแล้วต้องละ ความดีอะไรทำไม่ได้,ต้องทำ ความดีอะไรทำแล้ว,ต้องรักษา นี่จึงขอชี้เสนอแนะคนที่มาสวนโมกข์บ่อยๆ ยังละไม่ได้ต้องละ ยังทำไม่ได้ต้องทำ นี่เสนอ เพราะความเป็นคนเองโดยเฉพาะที่ชุมพร ชุมพรนี้พรชุมหรือเปล่า นี่ก็ต้องย้อนดู ชุมพรพรชุมหรือไม่ชุม นี่สัมมาวายามะ เพียรชอบหรือชอบเพียร
ต่อไป สัมมาสติ ระลึกชอบกับคนที่ชอบระลึกต่างกันอีกแล้ว คนศึกษาธรรมะเมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้วระลึกชอบ เพราะสติปัฏฐาน เรารู้สึกกาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมะ ระลึกที่ตัวเองก่อน แต่คนที่ชอบระลึก ระลึกภายนอก,ใช่ไหม เพราะถือว่าความนึกคิดความระลึกไม่มีใครรู้เรานี่ มีคนรู้คนหนึ่งคือเราต้องรู้ สัมมาสติ ระลึกชอบกับชอบระลึกต่างกันอย่างไร คนจึงหลงทางนี่ หลงมรรคก่อมรรค แทนที่จะไปปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก้าวไปสู่ความมีความสุขอย่างถูกต้อง แต่ปฏิบัติหลงทาง หลงทางเดินทางความรู้สึก
ประการสุดท้าย สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ตัวนี้สำคัญมาก เป็นตัวกำลังเหมือนกัน เรามาหรือตั้งใจจะมากันตั้งใจจะอยู่กัน ตั้งใจจะไป มีความตั้งใจ ต้องรักษาความตั้งใจไว้ให้ดี นี่สัมมาสมาธิ เดี๋ยวตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจ ตั้งให้ถูก จะให้ตั้งไว้ที่ไหนล่ะ อารมณ์ที่ความรู้สึกมันก็มีสติ มีความเพียรเข้ามา อย่าชอบตั้งใจผิดๆ มันกลับกัน เลยพูดว่าวิธีการที่จะปฏิบัติธรรมะก็คือประพฤติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาให้มันสามัคคีกัน โยมทั้งหลายเคยคิดนึกหรือเปล่า เรื่องกิเลสมันสามัคคีกันเหลือเกินนะ พอตาเห็นรูป จิตมันบอกว่ามันสวย เอ้า,ถ้าสวยก็ต้องพูดเจรจา ต้องเข้าไปใกล้ มรรคฝ่ายกิเลสนี้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะมันเคยชิน พอมันเคยชินเรื่องกิเลสตั้งแต่เล็กๆ มาก็สอนจำความได้เริ่มสอนมาจนเจริญเติบโตมาเรียนธรรมะนี้,ชิน เราจึงเห็นว่าฝ่ายกิเลสนี้พอมาพูดนิดเดียว ไปแล้ว เห็นนิดเดียวฟังนิดเดียว แต่ฝ่ายธรรมะนี้มันรู้สึกว่ามันฝืนๆ อะไร แต่เมื่อเรามีประสบการณ์พอสมควรแล้วมันก็โน้มไปหาฝ่ายธรรมได้ ฉะนั้นต้องสังเกตความรู้สึกว่า มาสวนโมกข์ไปสู่ความเกลี้ยงกับความรกรุงรัง อันไหนไปง่าย โมกข์แปลว่าเกลี้ยงคือภาวะความสุขที่จิตใจที่ปฏิบัติธรรมะ ถ้าจิตใจหลงทางมรรคก่อมรรคไปสู่ฝ่ายกิเลส สังเกต,นี่สังเกต อะไรเป็นเครื่องวัด วัดเองได้ ที่บอกว่ามาวัดๆ นั้น วัดดูเองได้ วัดทานก็เสียสละบำรุงเพื่อศาสนา วัดศีลก็ที่มีความอดกลั้นอดทน วัดจิตใจ วัดสติปัญญา แล้วเรามาวัดกันที่สวนโมกข์ วัดที่กลางป่า วัดที่ธรรมชาติ ปีหนึ่งๆ บางทีก็มาวัดนี้สักครั้งหนึ่ง วัดคือปฏิบัตินั่นเองแหละ,ปฏิบัติ แต่ส่วนมากมาก็ต้องปฏิบัติ และก็รับข้อปฏิบัติไป แล้วมันจะสิ้นปัญหา ฝ่ายมรรคก่อมรรคนี้สร้างปัญหาคือสร้างความทุกข์ ฝ่ายธรรมะสิ้นปัญหา ปัญหาคือความทุกข์ถูกลดลงไป เพียงแต่เรามีศีลลดความทุกข์ได้หลายอย่างแล้ว จิตใจหนักแน่นสะอาดบริสุทธิ์ ลดความวิตกกังวลทางด้านจิตใจแล้ว ถูกลดลงไป ถ้ามีปัญญารู้อะไรรู้เท่ารู้ทันเลิกได้หลายๆ อย่าง จึงให้ชื่อว่าศีลนี้มันมีส่วนลด สมาธิส่วนละ ปัญญาส่วนเลิก ได้ทุกส่วนไหม ส่วนศีลรู้จักลดไหม มาวันนี้บางทีไม่ทานอาหารตอนเย็น,ลด ลดความรู้สึกอย่างชาวบ้านมาเป็นคนวัดๆ นี่ลด ส่วนจิตใจตั้งมั่นรู้สึกว่าละอะไรได้หลายๆ อย่างชั่วขณะ เพราะคนมีสมาธิละได้บางครั้งบางคราว แต่เมื่อมีปัญญาเมื่อไหร่,เลิก เห็นโทษในสิ่งนั้นๆ แล้ว เห็นโทษในความทุกข์
นี่พูดธรรมะให้ญาติโยมฟัง ว่าทุกคนนั้นก็มีแนวเป็นอย่างนี้ แม้แต่ผู้ที่มาบวช ท่านบวชอยู่ ท่านบวชนั้นท่านไปเร็ว แต่ชาวบ้านผู้ให้กำลังสนับสนุนก็ต้องไปด้วย ไปทางสายเดียวกัน ทางของพระอริยเจ้า และเป็นเครื่องวัดว่าสิ้นปัญหาหรือยังสร้างปัญหา เพราะตาเห็นรูปหูฟังเสียงแต่ละครั้งมันจะสร้างปัญหาหรือสิ้นปัญหา ดูเป็น ฟังเป็นไหม หูตานี่ดูดีไหม ฟังดีไหม คือวิญญาณความรู้สึกภายใน นานเข้าๆ เกิดความชำนิชำนาญฝ่ายธรรมะหรือชำนาญเรื่องกิเลส แม้แต่ฟังพระก็ฟังให้มันถูกใจ ไม่ให้ฟังถูกต้อง องค์นั้นพูดถูกใจ ทั้งๆ ที่บางองค์นั้นพูดไม่ถูกใจ แต่องค์นั้นพูดถูกต้องบางที ธรรมะมันเรื่องของถูกต้อง ถูกใจมันไม่แน่ ทีนี้ถูกต้องด้วยถูกใจด้วยยิ่งดี ฉะนั้นเราฟังธรรมะและถูกต้อง สิ้นปัญหา มาสวนโมกข์ก็เรียกว่ามีธรรมะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและมีเครื่องมือที่ขจัดปัญหาได้ ฉะนั้นธรรมะจึงเป็นเครื่องกันเครื่องแก้ เราจึงว่าชีวิตนี้มอบให้กับธรรมะ เพราะธรรมะมันอยู่ที่คน อยู่ที่ไหน อยู่ที่คน แต่ว่าคนให้มันทั่วๆ กันหน่อย คนทั่วๆ ค้นทั่วๆ อ๋อ,มันอยู่ที่เรา และมีเวลาธรรมะอยู่ด้วยนานๆ ส่วนความไม่มีธรรมะมันเผลอบางครั้งบางคราว หัดมองอย่างนี้ ก็เรียกว่าทุกคนคงจะอายุอานามมากเข้าๆ ก็สิ้นปัญหา กลายเป็นว่าได้พบปริญญา จะเริ่มตายก่อนตาย ทุกๆ ครั้งที่มันเกิด ทุกๆ ครั้งที่กระทบ มีการกระทบด้วยสติสัมปชัญญะไม่มีการกระทั่ง กระทบ,สักว่ากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าศึกษาใกล้ๆ เข้าไป ไม่ได้ศึกษาไกลๆ ถึงแม้ว่าเราจะนั่งรถนั่งเรือมาไกลข้ามต่างจังหวัด มันก็ศึกษาธรรมะที่ใกล้ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจคือศูนย์รวมของความรู้สึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็รวมอยู่ที่ใจนี้ ห้าทางรวมทางใหญ่คือใจ คนโบราณเขาจึงว่าอย่าไว้ใจทางนะ อย่าวางใจคน จะจนใจเอง ปฏิบัติธรรมะที่ไหนล่ะ เมื่อรู้จักเครื่องมือเดินทาง ก็มาจัดการที่ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่าหลงทาง สมัยใหม่นี้ผู้ใหญ่มักจะทำให้เด็กหลงทาง ทางตา ทางหูก็ปรุงแต่งเหลือเกิน เดี๋ยวนี้เด็กที่ว่าไม่เข้าวัด มีรูปสวยๆ กิเลสเดี๋ยวนี้มันสวยๆ จะสอนให้คนกลัวกิเลสมันกลัวยากเพราะสวย ทางหูก็เพลงไพเราะ นี่หลงทาง เขาพูดว่าหลงทางเสียเวลา เสียหรือเปล่าโยม เสียเวลาต้องไปคิดไปนึกเรื่องกิเลสตัณหา นี่คนโบราณว่าอย่าไว้ใจทางนะ ไว้ใจได้ที่ไหน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ใจไม่ได้ ถ้าใจยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมหรือศึกษาดีแล้ว,หลงทาง หลงทางรักไปสู่ทางรักทางชังเอง เขาพูดว่าอย่าวางใจคนอะไรนี้ คนเราไว้ใจไม่ได้ ก็ต้องรับการพัฒนาเป็นมนุษย์เป็นเทวดาให้สูงขึ้นด้วยธรรมะ ที่จนใจเองคือไม่แน่นอน ก่อนนี้ยังไม่แน่ อายุปูนนี้แล้วคงจะแน่ หรือพระคุณเจ้าต่างๆ ที่บวชกันมา มีผมเป็นต้น ควรจะมีความแน่แล้ว อย่าไปว่าไม่แน่ แน่ในทางที่ว่าทำงานเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ อย่าจนใจเอง ขอให้รู้ใจ
นี่ผมกล่าวธรรมะมาก็พอสรุปได้ว่า เราศึกษาธรรมะเพื่อความสิ้นแห่งอวิชชาหรือความไม่รู้หรือตัวปัญหา เพราะจะไม่สร้าง เพราะเราปรารภว่าความมีทุกข์นั้นมันเป็นเรื่องไม่ดีแน่ เห็นอยู่แล้วทุกคน ได้สัมผัสมาแล้ว พอมาสัมผัสสวนโมกข์ อ๋อ,สวนโมกข์หมายถึงสัมผัสทางประสาท ร่มเย็น เยือกเย็น สบาย ว่าง มักจะมีการบ่นกันอย่างนั้น เพราะธรรมชาติช่วยขึ้นมาแล้ว มีบุคคลผู้เป็นอาจารย์กล่าวเตือนอย่างโน้นอย่างนี้ เขาตักเตือนนี่ เขาตัก,คือตักส่วนเกินออกไป ตวง,พูดว่าตักตวงดีกว่า ของที่ขาดเพิ่มลงไป เพราะมาสวนโมกข์รู้สึกมันเต็มดีนี่ ภาวะความรู้สึกเต็มดี ไม่กะพร่องกะแพร่ง แต่พอออกไปนิดเดียว ถ้าไม่เป็นเรียกว่าเรารู้แค่จำ จำรู้จริง มาสัมผัสกับสวนโมกข์ รู้จริง ที่รู้จำๆ บางทีรู้ดีชั่วมันช่วยไม่ได้ มันก็ช่วยได้ให้เข้าถึงความจริงว่าเป็นอย่างไรตัวปัญหา มนุษย์เราเกิดมาไม่น่าจะมีความทุกข์เลย ไม่น่าจะคิดเกินเลย ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ คือทางสายกลางที่ว่าประกอบด้วยองค์แปดประการ แต่เมื่อย่นย่อก็ทางกาย ทางวาจา ทางใจ,ศีล สมาธิปัญญา ทำไปตามระดับความเหมาะสม ศีล ๕ ศีล ๘ ชาวบ้านเบญจศีลให้มีไว้ สมาธิก็อยู่ที่ตัวศีลนั่นแหละ เพราะคนตั้งใจรักษาศีล สมาธิจะต้องมีอยู่การเจริญ ในขณะตั้งใจรักษาศีลนั้นเป็นเรื่องของคนมีปัญญา คนไม่มีปัญญาเขาไม่ให้ศีลรักษาหรอก มันคนมีปัญญา แล้วทำสิ่งเหล่านั้นให้มันเจริญขึ้นก็สิ้นปัญหา พอสิ้นปัญหาอยู่อย่างผู้ที่ไม่มีปัญหา แล้วก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อยู่ทุกวันนี้ อยู่อย่างผู้ปัญหาให้น้อยที่สุด ปัญหาปัจจัยสี่ก็ไม่มีปัญหามาก กินอยู่แต่พอดี เพราะคนรู้ธรรมะมีธรรมะจะไม่ไปทำเรื่องเกินๆ ไม่คิดเรื่องเกินๆ ส่วนต่างๆ มันก็เหลือนี่ เหลือแต่ตัวเอง,เหลือ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ธรรมะจึงมีเรื่องเดียวเรื่องว่าจะสิ้นปัญหาและไม่สร้างปัญหา มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นปรกติสุข เหมือนที่มาสัมผัสสวนโมกข์ ฉะนั้นเมื่อมาสัมผัสแล้ว ติดเนื้อติดตัวไปเลย ติดเนื้อหนังก็คือปรกติทางกายทางวาจา พูดอะไรก็เป็นธรรมล่ะทีนี้ ติดตัวคือความรู้สึก เราไม่ใช่พูดว่ามาที่สวนโมกข์ประทับใจนี่ ความรู้สึกอันใดที่มีก็พาไปเลย ให้มีความรู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกที่นี่มีสติสัมปชัญญะเต็มอัตราเลยอย่างนี้ เรียกว่าได้สัมผัสได้เรียนรู้กับความรู้สึกนั้นจริงๆ เอาล่ะ,อาตมากล่าวมาก็คิดว่าพอสมควรแล้ว เอาเวลาไปใช้อย่างอื่น ก็จะมีกันอยู่อย่างนี้ถึงเที่ยงคืน ต่อจากนี้ไปก็เป็นรายการ ท่านอาจารย์ใหญ่ท่านลงแล้ว ผมก็ขอหยุดไว้แค่นี้//
ท่านพุทธทาส : จะให้เด็กๆ ร้องเพลงให้คนแก่ฟัง และให้คนแก่ๆ นั้นไปจัดให้ลูกหลานรู้จักร้องเพลงเสียบ้าง ที่หลังสวน กับสวี กับชุมพร ช่วยลดไมโครโฟนให้คณะเด็ก/ มีประโยชน์คืออบรมเด็กๆ ให้มันมีความจำพวกหัวข้อธรรมะ เอาไปคิดไปนึกอะไรได้ง่ายๆ/ ถ้าเด็กๆ ร้องเพลงธรรมะได้ มันจะมีหลักอยู่ในใจและก็จะใช้ประโยชน์ และคนอื่นก็ได้พลอยฟังแล้วก็ได้รับประโยชน์ ตัวเด็กเองก็จะมีหลักในใจจำไปจนตาย// การแสดงของเด็ก(นาทีที่ 49:49 ถึง นาทีที่ 01:11:17)
ท่านพุทธทาส : ปัญหาที่ว่า คนไม่เกลียดกิเลสไม่กลัวกิเลส เราสอนเรื่องละกิเลสเขาก็อุดหูเสีย ผมพยายามอย่างยิ่งแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะให้ผู้ฟังเกลียดกิเลสหรือกลัวกิเลส เดี๋ยวนี้ชักว่าจะหมดปัญญาอยู่แล้วที่จะพูดเรื่องนี้ เหมือนอาจารย์เสมอ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะเกลียดกิเลสยิ่งกว่าอะไร กลัวกิเลสยิ่งกว่าอะไร//
พระอาจารย์เสมอ : ญาติโยมหลายคนยังสู้อยู่ แสดงว่าปักหลักสู้ สู้ไม่ถอยก้าวเดียว แต่ว่าไปหลายก้าวเลยบางคน ในปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนกลัวกิเลส มีวิธีการใด เรื่องนี้เราต้องเท้าความหน่อยหนึ่ง เมื่อตะกี้ก็พูดเรื่องข้อความเบื้องต้นนี้ก็ยังเข้าจับจุดกันไม่ค่อยได้ ต้องยอมรับ คือเราต้องยอมรับว่านักเผยแผ่นั้นอาจจะยังหาวิธีการเหมือนหมอยังไม่สามารถค้นวิธีการรักษาโรค อย่างมะเร็งขณะนี้ หมอก็ยังยอมจำนนเหมือนกันว่าไม่มียาที่จะรักษาอยู่ถ้าเป็นเข้าแล้ว ถ้าเอาตั้งแต่ต้นก็คือว่าตัดไฟแต่ต้นลม ถ้ารู้ว่าเป็นแน่แล้วก็ตัดทิ้งไปเลย ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้นั้นก็เหมือนกันแหละครับว่า เราต้องเอากันตั้งแต่ต้น หมายความว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ถ้าเราจะต้องการเรื่องนี้ เราจะมาอบรมคนอยู่ในวัยสูงอายุนั้นรู้สึกว่าทำยาก แต่ถ้าเรามาเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ อันนี้กระผมได้ทำมาตั้งแต่เป็นพระหนุ่มมาตั้งแต่บวชพระได้พรรษาเดียวคือ พ.ศ. ๒๔๙๔ บวชพระ พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็เป็นครู ทำหน้าที่สอนศีลธรรมในโรงเรียนมาถึงปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าเด็กๆ ที่เราต้องการจะให้กลัวเรื่องกิเลสนี้หรือความชั่วนี้ เราต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วรู้สึกว่าไม้แก่ดัดยาก เทศน์ทุกวันพระรู้สึกว่าจะได้ผลไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เทศน์ทุกวันพระไม่ค่อยได้ผล แต่ถ้าสอนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วรู้สึกว่าได้ผล ฉะนั้นนักเผยแผ่เราต้องหาวิธีการเผยแผ่ในเรื่องนี้ด้วย
ต่อไปเรื่องของผู้รับฟังก็เหมือนกัน อย่างที่เราไม่สามารถจะใช้ภาษาให้คนในระดับต่างๆ เข้าใจ เพราะธรรมะนี้อธิบายออกไปพูดธรรมะให้คนฟังนี้ ส่วนมากคนฟังแล้วหลับมันมีส่วนมาก คนฟังแล้วไม่หลับนั้นมันมีน้อย นั่นเรื่องพูดธรรมะแล้ว พอตั้งนะโม,วิทยุประเทศไทย พอตั้งนะโมแล้ว คนปิดไม่ฟัง ไปฟังลิเกดีกว่า รู้เรื่องดีอะไรอย่างนี้ แสดงว่าคนเรานี้พยายามจะหนีธรรมะอยู่ กลัวธรรมะกัน บางคนพอได้ยินธรรมะแล้วกลัวหนักหนา อุดหูเสียเลย คือบางคนเสียดายกิเลส บางคนยังสงสารกิเลส มันเหมือนว่ารักกิเลส แต่กิเลสอยู่กับใครไม่รู้นะ ก็เลยห่วง ห่วงกิเลสกันอยู่ เพราะฉะนั้นคนก็ยังเป็นห่วงกิเลสกัน เขานึกว่าถ้าหมดกิเลสแล้วจะหมดสนุก,ว่าอย่างนั้นเถอะ ฉะนั้นคนเราก็เลยไม่เข้าใจละกิเลสกัน รักกิเลสกันเหล่านี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำให้คนรู้จักกลัวกิเลสนี้ ก็เท่าที่กระผมได้ทำมาก็คืออบรมเด็ก แล้วก็ให้เด็กท่องจำเป็นคำง่ายๆ กระผมพยายามเอาเปลี่ยนคำบางคำใช้ให้เด็กท่องจำ จากที่คำขวัญที่เขาให้ไว้กับยาเสพติดให้โทษ เช่นว่าสุราเป็นยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคมนี้ เกล้ากระผมก็เปลี่ยนเสียใหม่ว่า โลภะคือความอยากได้ เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม แล้วอธิบายให้เด็กฟังว่า ถ้าคนมันมีความโกรธแล้วความโลภแล้วมันอย่างนั้น มันรัก มันชอบ มันโกงนี่ นักเรียนก็ว่าถ้าเขาอยากได้ เธอระวังนะ ของมันจะสูญมันจะหายนะ เมื่อเร็วๆ นี้ที่วัดมีเด็กคนหนึ่งเอากล้องถ่ายรูปมา มาตั้งไว้ เด็กข้างวัดไปขโมย จับได้ในวันนี้ ส่งคืนให้วันนี้ ก็เลยมาให้อบรมให้รู้จักว่านี่เพราะโลภะ ความอยากได้ของเพื่อนโดยไม่มีสตางค์ซื้อ ถ้าตัวเองถ้าทำอย่างนี้ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ ดีไหม ไม่ดี ถ้าเธอทำไม่ดีนี้โตขึ้นไปจะอย่างไร อันตรายๆ ครับ ต่อไปติดคุกติดตะรางเพราะอันนี้ กลัวไหม กลัว ถ้ากลัว,ทำไหม ไม่ควรทำ แล้วให้ท่องคาถานี้ กลับไปท่องคาถาเสีย ท่องคาถาว่าความโลภ โลภะคือความอยากได้ เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องไว้เป็นคาถา ให้แกได้ยินอยู่บ่อยๆ
ทีนี้ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธนี้คือความดุร้ายของจิตใจ ทำลายมิตรสร้างศัตรู คือคนเราถ้ามีความโกรธกันพี่น้องก็ทะเลาะกัน แต่นั่นแหละคือคนเราบางคนถ้าไม่มีความดุร้ายบ้างบังคับบัญชาคนไม่อยู่ อย่างพระผู้ใหญ่บางองค์ยังพูดว่า เอ้อ,ความดุร้ายมันก็ดีเหมือนกัน เวลาปกครอง เวลาใช้พูดดีๆ พูดอ๋อยๆ นี้ไม่สำเร็จ ถ้าบอกว่าใช้ พอท่านชี้แล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นที่เกรงกลัว เขาเรียกว่าใช้อำนาจ นี่ถ้าใช้พูดอ๋อยๆ ก็ไม่ได้ผล คือชอบบังคับ ทีนี้คนเราก็แปลกเหมือนกัน จากพูดดีๆ พูดเรื่อยๆ มันก็บอกว่าข้าพเจ้ารับผิดแต่ผู้เดียว นั่นถ้าพูดอย่างนี้รู้สึกว่าคนจะกลุ้มกลัว ทำให้คนนึกว่าเอาจริง ท่าจะเอาจริงกระมัง เลยกลัวๆ กันหน่อย มันคล้ายๆ กับว่าคนเรามันมีสันดานตั้งแต่เผด็จการอยู่ เมืองไทยเรามันแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานาน ถ้าพูดบอกว่าทุกคนละเสียนะอย่างนั้นอย่างนี้ คนก็เฉยๆ แต่พอพูดขบฟันเข้าแล้วว่าคราวนี้ท่าจะกระเด็นหัวกระเด็นตัวไม่อยู่ด้วยกันแล้ว คราวนี้ท่าจะยอมเสีย,เลิก สมัยหนึ่งการปกครองเราใช้ระบบนี้รู้สึกเมืองไทยพวกต่างๆ ที่ว่านี้มันหายไป ถ้าพูดอ่อยๆ ป่านนี้เต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว,เห็นไหม นี่มันยากเหมือนกันคนไทยเรา ฉะนั้นเขาก็เห็นว่าต้องใช้ระบบนี้ไว้ นี่ทั้งหมดมันเป็นอย่างนั้น เรียกว่าคนเข้าใจผิดอยู่ ถ้าเราไปเข้าใจว่าความโกรธมันทำลาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า สนิมเกิดที่ไหน เกิดกับเหล็ก เมื่อความโกรธแล้วมันกัดเหล็ก คนมีความโกรธย่อมไร้ยศศักดิ์ คนไร้ยศศักดิ์อัครสถานต่างๆ ถ้ามีความโกรธครอบงำแล้วมันก็เสียศักดิ์ศรี ขนาดโกรธคนแล้ว ลืมหมดแล้ว ลืม,ลืมภาวะของตัว จะทำอะไรด้วยอำนาจของความเสียหายได้ แต่ถ้าเราชี้แจงให้เด็กๆ ฟัง ก็พยายามให้ท่องจำอย่างนี้เหมือนกัน ความโกรธคือความดุร้าย เข้าทำลายจิต เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องจำอย่างนี้
ส่วนความหลงผิด คือคนเราที่กำลังทำอะไรๆ นี้เพราะความหลงผิด ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิด ที่เวียนแล้วเกิดแล้วเกิดเล่า ทำอะไรผิดอยู่นี้ก็เพราะเราหลงผิดนั่นเอง เราเดินทางผิด พอเดินทางผิดแล้วเป็นศัตรูกับตัวเอง และเป็นศัตรูกับคนอื่นด้วย ทำให้เสียเวลา ที่เราเสียเวลาต่างๆ เพราะทำงาน ทำแล้วทำอีกก็เพราะเราทำผิด เราทำอะไรไม่ถูก อย่างเราทำอะไรไม่ถูกต้องนี้เพราะเราหลงทำผิด ถ้าเราทำถูกเสียทีเดียวแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ตัวมิจฉาทิฏฐิก็หมดไป ก็สามารถเข้าสู่องค์มรรคไปพระนิพพานได้ หรือประโยชน์ในปัจจุบันก็ไม่เสีย ประโยชน์ภายหน้าก็ไม่เสีย ประโยชน์อย่างยิ่งก็ไม่เสีย ประโยชน์ตนก็ไม่เสีย ประโยชน์ท่านก็ไม่เสีย ที่เราเสียประโยชน์กันอยู่ขัดกันขนาดนี้จนเรามีเรียกว่าสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเมืองเรานี้ต้องล่มจมเพราะว่าการบริหาร รัฐบาลต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพราะอะไร เพราะเราบริหารผิด ก็ต้องยุบสภากันบ่อยๆ นี้เพราะโทษของเราที่เข้าใจผิดเพราะเราตกอยู่ในอำนาจของกิเลส แต่ถ้าเราพยายามช่วยชี้แจงบอกกว่าที่เราทำผิดทำถูกนี้เพราะอะไร เพราะเราหลงผิด เราพยายามชี้โทษให้เห็นของความหลงผิดแล้วทำเราเสียเวลาเสียการ แล้วก็อาจจะมีทางหนึ่งที่จะทำให้คนเราสะดุ้งกลัวขึ้นมาบ้าง
สำหรับเด็กๆ เราก็พยายามจะให้ท่องว่า ความหลงคือความเห็นผิด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม ให้แกท่องอย่างนี้บ่อยๆ ขึ้น แล้วก็อธิบายไป อธิบายไปแบบพร่ำสอน คิดว่าคงจะเป็นทางหนึ่งที่จะให้เด็กและเยาวชนกลัวกิเลสได้ ก็ชี้โทษไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ใหญ่นั้นก็ค่อยให้เหตุผลไป คิดว่าคงจะเข้าใจได้เหมือนกัน แต่ถ้านอกนั้นก็มีหลักธรรมต่างๆ ในพุทธศาสนาของเรานี้ก็มีอยู่ แต่อย่างว่านั่นแหละคือคนเราบางคนนั้นเข้าใจผิดว่า จะยกตัวอย่างว่า ความโลภนี้ คนบางคนโลภลาภไปไหนทำอะไร คำว่าโลภนี้บางคนยังเข้าใจผิดอยู่ คือคนที่ทำอะไรด้วยความขยันขันแข็งนี้ก็หาว่าโลภ แต่ถ้าคนที่ขี้คร้านหาว่าสันโดษอะไรนี่ ยังเข้าใจผิดกันอยู่ ธรรมะบางข้อยังเข้าใจผิดอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คิดว่านักเผยแผ่เราจะต้องทำความเข้าใจกับผู้รับคำสอนด้วย จึงจะสามารถไปรอด ผมก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ครับผม//
ท่านพุทธทาส : เอ้า,ข้อสุดท้าย ประชาชนติดบุคคล ติดแบบ ติดสำนัก ติดตัวหนังสือ ติดการทำสืบนำสืบปรัมปรา ประชาชนติดบุคคลคือติดอาจารย์ อาจารย์ของเราเท่านั้นสอนถูก อาจารย์คนอื่นไม่เอา หรือว่าติดสำนัก สำนักนี้เท่านั้นสอนถูก สำนักอื่นไม่เอา บางทีก็ติดแบบ ว่าต้องแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเรียกชื่อต่างๆ กัน แล้วก็บางทีก็ว่ามันติดแม้กระทั่งตัวหนังสือบางคำ ติดพิธีรีตอง อันนี้เป็นเหตุให้ประชาชนเหล่านั้นไม่สามารถที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่สามารถจะเลือกเอาธรรมะที่ถูกต้อง เพราะว่าเขาติดบุคคล ติดแบบ ติดให้เหมือนกับติดฝิ่น ปิดหูปิดตา ไม่ยอมรับฟังคำพูดของสำนักอื่นนอกจากสำนักอาจารย์ตนหรือแบบของตน ทำให้คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าในพระบาลีนั้นเป็นหมันไปเพราะว่าประชาชนติดบุคคลหรือติดแบบ
อยากจะขอฟังความคิดเห็นของผู้เผยแผ่ทั้งหลายว่าทำอย่างไร จะแก้ไขไม่ให้ประชาชนติดบุคคล ติดสำนัก ติดแบบ ติดหนังสือ ติดตัวหนังสือ เข้าใจว่าประสบปัญหานี้กันอยู่ทั้งนั้นทุกหนทุกแห่ง ประชาชนติดบุคคล ติดแบบ ติดตัวหนังสือ ติดสำนัก ผมอยากจะขอฟังความคิดเห็นและวิธีแก้ เพื่อช่วยกันแก้ ผมเองพยายามที่สุดที่จะไม่ให้บุคคลมาติดผม พอใครใช้คำว่าแบบของท่านอาจารย์ บอกว่าไม่ ไม่ ไม่ มันแบบของพุทธเจ้า แบบที่มีดูได้หาดูได้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่แบบของอาตมา แม้ว่าอาตมาจะเอาแบบนี้มาเผยแผ่ไม่เหมือนใคร ก็ขอให้รู้เถิดว่าไม่ใช่แบบของอาตมา แบบของพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ในพระพุทธวจนะนั่นแหละ แต่ไม่มีใครเอามาพูดมาสอนเอง แต่ว่าบุคคลเหล่านั้นเขาก็ติดแบบ ติดสำนัก ติดบุคคลของเขาอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ นี้ก็เป็นปัญหาชะงักงันอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเลวร้ายมาก เอาล่ะ,ขอให้อภิปรายเป็นข้อสุดท้าย แล้วก็จะได้ปิดการอภิปรายในคืนนี้ นิมนต์อาจารย์ทองล้วนเป็นคนแรก หรือไปไหนเสียแล้ว/ นิมนต์อาจารย์ทองล้วนเป็นคนแรก/ ทำอย่างไรจะให้บุคคลเลิกติดบุคคล ให้ประชาชนเลิกติดบุคคล เลิกติดแบบ เลิกติดสำนัก เลิกติดอาจารย์ หรือปรัมปราทั้งหลาย นิมนต์//
พระอาจารย์ทองล้วน : ความจริงปัญหาอันนี้ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้เสนอหรือว่าได้แสดงให้เราท่านทั้งหลายฟังนี้ เท่าที่อาตมานั่งฟังดูอยู่ หรือว่ากระผมนั่งฟังดูอยู่ คือเริ่มตั้งแต่ปัญหาศาสนาต่างศาสนาทำความเข้าใจกัน แล้วก็ปัญหาว่าทำอย่างไรคนจึงจะเกลียดกิเลส แล้วก็ปัญหาสุดท้ายก็คือว่าทำอย่างไรคนจะไม่ติดหนังสือ ไม่ติดวิธีการรูปแบบ ไม่ติดครูบาอาจารย์สำนัก จนปัญหาทั้งโลกเลยแหละ ปัญหาทั้งหมดเลยในโลกเลยแหละมันก็จะมารวมลงอยู่ที่ตัวเราคือตัวเรานี้แหละ เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกัน เรื่องศาสนาก็ดี เรื่องกิเลสก็ดี หรือว่าเรื่องคนติดสำนักก็ดี หรือติดครูบาอาจารย์ แม้กระทั่งว่าติดตัวเราเอง ติดพ่อติดแม่ ติดครูบาอาจารย์ ก็เนื่องจากว่าผู้นั้นหรือว่าผู้เผยแพร่ธรรมะนั้นไปไม่รอดเองติดเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายถึงอย่างที่พระเดชพระคุณท่านว่า แม้แต่ตัวท่านเอง ญาติโยมหรือว่าพุทธบริษัทหรือว่าพระภิกษุสามเณรก็ยังพยายามที่จะติดจะยึด อันนี้เป็นประสบการณ์ของกระผมเองซึ่งกระผมได้ปฏิบัติมา เมื่อเราไม่เข้าใจตัวเราเองไม่เข้าใจแก้ไขปัญหาที่จิตที่ใจหรือว่าในตัวเราเองในชีวิตของเราเอง ก็เป็นเรื่องยากที่จะไปทำความเข้าใจกับคนอื่น จนตลอดถึงว่าในเมื่อเราเองก็ยังไปติดไปยึดอยู่ ยังไปยินดียินร้ายกับสิ่งแวดล้อมหรือว่ากับโลกธรรมอยู่ ก็แน่นอน โลกธรรมก็ต้องมายินดียินร้ายกับเราหรือว่ามาติดที่ตัวเรามายึดรูปแบบวิธีการอะไรต่างๆ
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะไม่ให้ติดหรือว่าไม่ให้ยึดไม่ให้หลงครูบาอาจารย์หรือสำนักหรือตำรับตำรา กระผมเสนอความคิดเห็นหรือประสบการณ์เท่าที่ประสบมาก็คือทำตัวของเรานี่แหละ ไม่ว่าญาติโยมก็เหมือนกัน ไม่ว่าเรื่องศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าเรามีน้ำใจ เราเข้าใจชีวิตของเรา เข้าใจพุทธศาสนาของเราที่เราเคารพนับถือจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ แล้วเรื่องศาสนาอื่นบุคคลอื่นนั้นมันทำความเข้าใจกันได้ เพราะคำว่าความเข้าใจกันนี้มันลึกซึ้งมาก ไม่ใช่คำพูด คำว่าเข้าใจนี้หมายถึงว่าใจมันเข้ากันได้ ใจที่มันไม่มีโกรธ มันรักกัน มันมีเมตตากันอย่างนี้ มันก็เข้ากันได้ ฉะนั้นใจที่มีธรรมะมันเข้ากันได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด โดยไม่ต้องใช้คำพูดว่านับถือศาสนานั้น รักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ หรืออะไรก็ตามอันนั้น อันนี้มันเป็นส่วนที่เรียกว่าลึกซึ้งหรือว่าเป็นส่วนของศาสนาจริงๆ หรือของธรรมะจริงๆ ในทุกรูปแบบทุกวิธีการ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่เข้าใจส่วนนี้ ไม่เข้าใจส่วนลึกซึ้ง ส่วนปลีกย่อยต่างๆ มันก็ทำไปไม่ได้ มันก็ขรุขระยังติดอยู่นั่นเอง พอออกจากอันนี้ก็ไปเข้าอันนั้น ออกจากการไหว้ผีก็ไปไหว้เทวดา ออกจากการไหว้เทวดาก็ไปไหว้พระพรหมเจ้าที่อะไรต่างๆ ก็ทำไปตามเรื่องอยู่นั่นเอง แต่ถ้าเมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วในชีวิตในธรรมชาติที่ชีวิตจิตใจของตัวเองแล้ว คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน ศาสนาอื่นๆ ก็เหมือนกัน เพราะมันเรื่องจิตเรื่องใจ แล้วก็ธรรมชาติทั้งหมดทั้งโลกนี้มันก็เหมือนกัน คือมีกฎตายตัวของมันเป็นอย่างนั้น
อันนี้เรียกว่าถ้าหากว่าเราท่านทั้งหลายที่อยู่ที่นี่หรือว่าที่เป็นพุทธบริษัทได้มาทำความเข้าใจอย่างนี้ศึกษาอย่างนี้ กระผมเองคิดว่าจะเป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้าใจธรรมะหรือว่าสนใจธรรมะ ละหรือว่าพยายามที่จะปฏิบัติที่จะพึ่งตัวเองได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นข้อคิดในเรื่องที่จะให้บุคคลไม่ติดในสำนักในครูบาอาจารย์จนตลอดถึงรูปแบบวิธีการอะไรต่างๆ ก็คือชี้จุดความเป็นจริงในชีวิตของเขาให้เขาเข้าใจตัวเขาเองชีวิตของเขาเองนั่นเอง//
ท่านพุทธทาส : ได้แสดงถึงเหตุที่ทำให้ติด ขอพูดว่าเหตุที่ทำให้ติดคืออย่างไร//
พระอาจารย์ทองล้วน : สาเหตุที่ทำให้ติด กระผมจะเล่าในเรื่องการที่ทำให้ญาติโยมติด เท่าที่กระผมได้ประสบมาในบางเรื่องบางสิ่งหรือว่าบางกาลบางเวลา ในสมัยนั้นคือเราเองไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างไร ธรรมะคืออะไร แต่ว่าพูดไปตามครูอาจารย์ พูดไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี พูดไปตามตำรับตำรา ว่าทำอย่างไรญาติโยมนี้จึงจะมาศรัทธาเรา แล้วเราจะมีชื่อเสียง แล้วมีคนชมอยู่เสมอ ไม่มีคนติ ไปเทศน์ที่ไหนก็ทำอย่างไรโยมจึงจะมายกย่องสรรเสริญเยินยอเรา ทีนี้เราก็พยายามทำสิ่งนั้นสิ มันทำเอาได้นี่ เราก็พยายามพูดดีๆ พูดหวานๆ พูดเพราะๆ สิ พูดตามที่ว่าเลียนแบบครูบาอาจารย์ไหนท่านมีรูปแบบอย่างนั้น อันนี้หมายถึงการเผยแพร่ธรรมะที่จะให้คนติด และส่วนคนติดวิธีอื่นๆ นั้นก็เยอะแยะ เครื่องรางของขลังบ้างอะไรต่ออะไรนั่น คือผู้นั้นสร้างขึ้นมาเองทำขึ้นมาเอง เพราะเหตุที่ว่าไม่มีสัมมาทิฏฐินี่เอง ไม่มีความเข้าใจความรู้ที่ถูกต้องในหลักธรรมะในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ หรือถ้าพูดอย่างกำปั้นทุบดินเรียกว่ามันไม่ผิดเลยก็คืออวิชชานั่นเอง ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าตัวโลภะหรือตัวความยินดีทำให้คนมาสรรเสริญชอบอกชอบใจติดเรานั้นมันคือตัวอันตรายของศาสนาของธรรมะ มันเป็นตัวยึดมั่นถือมั่น ไม่รู้สาเหตุอย่างนี้มาก่อน ก็เลยนึกว่าสิ่งนั้นมันดี มันก็เลยสงเคราะห์เข้ากับข้อที่ว่าคนทำไมไม่กลัวกิเลส ก็จะกลัวกิเลสอย่างไรในเมื่อผู้เผยแพร่ธรรมะเองก็ยังประกาศที่จะเอากิเลสเข้ามาเพิ่มอีกให้มากขึ้นๆ อย่างเช่นพูดแล้วให้ญาติโยมชอบอกชอบใจ หรือว่าผู้ได้ยินได้ฟังแล้วชอบอกชอบใจหลงใหลในสุ้มเสียงสำนวนธรรมะอะไรต่างๆ นั้น สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้แก่ตัวเอง ฉะนั้นเมื่อเพิ่มกิเลสให้แก่ตัวเอง เมื่อกิเลสมันมีอยู่ในจิตใจ ก็เอากิเลสนี้แหละไปให้โยมหรือไปให้ผู้ฟังต่อๆ กันไป มันเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ อันนี้เป็นประสบการณ์ของกระผมหรือสาเหตุที่ว่าทำอย่างไร ทำไม เหตุอะไร คนจึงมาติดเรา จึงมายึดมาถือ ก็สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือเราขาดสัมมาทิฏฐิขาดความรู้ที่ถูกต้องแล้วก็ขาดหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือหมายถึงว่าผลหรือตัวอย่าง
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าในสังคมเราชาวพุทธก็ดี หรือครูบาอาจารย์ก็ดี นักเผยแผ่ธรรมะก็ดี ถ้าหากว่าทำได้พูดได้ เข้าทำนองที่เรียกว่า ดีแต่ปาก วาดวอนสอนเขาอื่น มีดาษดื่นเหลือรับนับไม่ไหว ตัวเองพูดอย่างไรแล้วทำได้หรือเปล่า ถ้าตัวเองพูดได้ทำได้ นั่นแหละดี อันนี้กระผมได้ยินมาอย่างนั้น แล้วก็จำไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ แต่มาคิดดูแล้ว โอ้,มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ในสังคมมนุษย์นี้ ส่วนมากก็มีแต่สอนกันพูดกัน ยกตัวอย่างกระผมนี่แหละตัวสำคัญที่สุด ที่พูดนี้ไม่พูดคนอื่นเลย พูดตัวเองนี่ เพราะตัวเองมันโง่เหลือเกิน โง่จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงมีฉายาว่าภิกษุโง่มานาน แล้วก็ยังอาจจะโง่อีกไปอีกนาน
เพราะฉะนั้นจึงได้ว่าถ้าหากว่าทุกคนมาทำความเข้าใจแล้วปฏิบัติได้พอสมควร รู้แนวทาง มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองศึกษาและปฏิบัตินั้นได้รับผลบ้างตามสมควรแล้วก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่างอย่างนี้ กระผมคิดว่าศีลธรรมหรือธรรมะก็จะกลับคืนมา แล้วจะทำให้ญาติโยมหรือพุทธบริษัทนั้นเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวเนื่องกันกับผู้นำนี่แหละสำคัญ ฉะนั้นจึงมีคำที่ว่า ตัวอย่างดีกว่าคำสอน ถ้าตัวอย่างแล้วไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องสอนอะไรก็ได้ แต่ต้องอาศัยกาลเวลาหรืออาศัยธรรมชาติที่มันจะต้องเป็นไปเอง แต่ทีนี้ตัวอย่างมันไม่มีนี่ ตัวอย่างเดี๋ยวนี้ก็อย่างเห็นพระเดชพระคุณอยู่สวนโมกข์นี้ก็มีองค์เดียวเท่านั้นเอง ก็ทำมาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้ว แล้วพวกกระผมก็เรียกว่าเป็นหางแถว ก็เพิ่งจะได้ยินได้ฟังหรือว่าเพิ่งจะศึกษา ก็ยังไม่มีอะไรที่จะลึกซึ้ง แต่ถึงกระนั้นก็พยายามมีความพยายามกระทำที่เรียกว่าตามอย่างของครูบาอาจารย์ที่เราเห็นว่ามันถูกต้องหรือตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้ต้องถือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะนั้นถ้าหากว่าไม่มีตัวอย่างหรือว่าไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง อันนี้แหละเป็นสาเหตุที่ให้ผู้อื่นพลอยรู้ผิดหรือหลงผิดหรือพลอยติดพลอยตามไปด้วย มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันครับผม//
ท่านพุทธทาส : ในกรุงเทพฯแห่งเดียว ก็มีหลายแบบหรือบางทีจะหลายสิบแบบ แล้วก็มีผู้ยึดถือแบบแห่งอาจารย์ตนแห่งสำนักตน จนไม่ยอมฟังสำนักอื่น นี่เป็นตัวอย่างของการติดแบบติดบุคคลติดสำนัก