แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:06] ท่านนักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้มาพบพูดกันในวันนี้ หัวข้อที่จะพูดเท่าที่นึกได้เวลานี้ ทำให้อยากจะพูดในหัวข้อว่า ภาษาเกี่ยวกับการเมือง ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้พูดกันไม่รู้เรื่อง หรือทำความเข้าใจกันไม่ได้ในการช่วยกันสร้างสันติภาพ โดยส่วนบุคคลก็ดี โดยส่วนสังคมก็ดี ภายในประเทศของเราก็ดี หรือว่าหว่างที่เขาทำกันเป็นกิจกรรมของโลกก็ดี รู้สึกว่ามันมีปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่พูดกันไม่รู้เรื่องหรือทำความเข้าใจกันไม่ได้นั่นเอง แม้แต่เกิดกับพวกเราในวงแคบแคบ ก็ยังพูดกันรู้เรื่อง ยังจะต้องมีการวิวาทกัน ในระหว่างพวกเดียวกันที่ว่าแยกออกกันเป็นกลุ่มน้อยๆ เช่นการกีฬา ก็ยังไม่เป็นการกีฬา เป็นการสร้างความเป็นอันธพาลในวงการกีฬา และก็ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น นี่นับว่าเป็นเรื่องต่ำที่สุดแล้วที่พูดกันไม่รู้เรื่อง หรือมันมีอะไรดึงออกไป ดึงออกไปในทางที่จะพูดกันไม่รู้เรื่อง
ดังนั้น จึงให้หัวข้อว่า ภาษาที่เกี่ยวกับการเมือง หมายถึงที่เราจะพูดกันถึงในสิ่งที่เรียกว่าภาษา ภาษาเกี่ยวกับการเมืองที่ยังสับสนกันอยู่ในระหว่างคนทั้งหลายผู้พูดจากัน แต่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมดในประเทศเราหรือทั่วไปทั้งโลกก็ได้ ขอให้ฟังไว้ เพื่อประโยชน์ที่มันกว้างขวางอย่างนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งขอให้ทราบว่าคำต่างๆ ที่จะเอามาวินิจฉัย วิจารณ์กันในที่นี้จะถือเอาตามหลักของภาษาไทยคือตามความหมายภาษาไทย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าออกมาจากภาษาบาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำใหม่ๆ ที่เราจะผูกขึ้นใช้ เมื่อเทียบกันกับภาษาต่างประเทศนั้น เราก็นิยมใช้ภาษาไทยที่ถ่ายออกมาจากภาษาบาลี ยกตัวอย่างเช่นคำว่าประชาธิปไตย เป็นต้น เป็นภาษาบาลีโดยตรง
การพูดนี้ก็จะได้พูดกันไปเป็นข้อๆ ไป ที่ละอย่าง จบได้ในตัวมันเองแต่ละอย่างละอย่าง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มันฟังง่าย เข้าใจง่าย นั่นเอง แต่ถ้าไปต่อกันเข้า มันก็เป็นเรื่องเป็นราวไปได้เหมือนกัน เจตนาอันแท้จริงนั้นอยากจะพูดทีละคำที่ละอย่าง ขอให้สนใจฟังอย่างว่ามันเป็นเรื่องๆ ไป
[11:47] ข้อแรกที่สุดก็จะพูดคือคำว่า การเมือง มีใจความสำคัญว่า การเมืองนั้นคือศีลธรรม เพียงเท่านี้บางคนก็จะสงสัยแล้วหรือว่าไม่เชื่อแล้วว่าการเมืองคือศีลธรรม ก็เคยได้ยินกันแต่ในทางอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดี๋ยวนี้ก็รู้ว่าไอ้ การเมืองนี้มันเรื่องหลอกลวงเรื่องสกปรกแล้วมันจะเป็นศีลธรรมได้อย่างไร นี้เป็นหัวข้อใหญ่ที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนอื่นทั้งหมด เพราะทุกคนมันเกี่ยวข้องกันอยู่กับการเมืองโดยไม่รู้สึกตัว เราจะรู้หรือไม่รู้ เราจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก จะรู้จักหรือไม่รู้จักเนี่ย มันไม่เป็นปัญหา มันเกี่ยวข้องกันอยู่แล้วกับทุกคน
คำว่าการเมืองนี่ ถ้าพูดกันให้มีความหมายชัดก็คือว่า ปัญหาต่างๆ ที่จะต้องสะสางเกี่ยวกับการที่คนมันอยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมือง ถ้าคนแยกกันอยู่เป็นคนคน หรืออยู่กันเป็นกลุ่มน้อยน้อย 2-3 คน อย่างสมัยยุคหิน หรือว่าสัตว์เดรัจฉานที่เขาอยู่กัน เมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มเป็นสังคมใหญ่ คือไม่เป็นบ้านเป็นเมือง ไม่เป็นนคร อย่างนี้ ปัญหาทางการเมืองมันก็ไม่มี แต่ถ้าเกิดมาอยู่กันเป็นเมืองเป็นนครเข้า มันก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเราหลีกไปอยู่คนเดียวปัญหาไม่มี แต่ถ้ามาอยู่กันเป็นบ้านเป็นเมือง ปัญหามันก็มี การเมือง คือระบบการเมืองต่างๆ ก็มีขึ้นมาเพื่อจะแก้ไข หรือสะสางปัญหาเหล่านี้ จะสะสางมันได้อย่างไร มันก็ต้องทำให้ถูกวิธี ถูกหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ถูกวิธีของความจริง ถูกวิธีของธรรมมะ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติมันจึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าแก้ปัญหาการเมืองได้ การกระทำเหล่านั้นมันก็เป็นศีลธรรม
กล่าวกันแต่โดยย่อก่อนว่า ศีลธรรมคือสิ่งที่เป็นตันเหตุของคงวามสงบและภาวะของความสงบนั่นเอง ขอให้ทราบกันโดยความหมายว่าคำว่า ศีล นี้แปลว่าปกติ อย่าไปเข้าใจว่าสิกขาบท เป็นข้อข้อที่จะต้องรักษา เช่นศีล 5 เป็นต้น และนั้นมันแคบ เป็นรูปของเด็กๆ ถ้าผู้ใหญ่ที่รู้หนังสือก็ต้องรู้ว่า คำว่าศีล นั้นแปลว่าปกติ เพราะฉะนั้น ผิดปกติก็คือไม่ศีล ปกติก็คือความสงบ สิกขาบทเหล่านั้นมันก็เป็นเรื่องทำให้เกิดความสงบ
ถ้าเคยเรียนบาลีมา จะรู้ได้ทันที คำว่าศีลธรรมนี้เป็นรูปสมาสที่จะถอดออกมาได้ 2 ความหมาย
ศีลธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุ นี่ความหมายหนึ่ง ภาวะแห่งศีล คือ ความสงบ นี้คือความหมายหนึ่ง แต่ว่ามันก็เนื่องกัน ศีลธรรม สิ่งที่ทำความสงบ ศีลธรรมคือภาวะแห่งความสงบ มันคนละความหมาย แต่มันเนื่องกัน ถ้าทำเหตุแห่งความสงบ มันก็มีภาวะแห่งความสงบ เพราะงั้นคำว่าศีลธรรม ถ้าขึ้นกันโดยเหตุ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อความสงบ แต่ถ้าว่ากันโดยผล มันก็คือภาวะแห่งความสงบที่ได้รับแล้ว เพราะงั้นถ้าทำถูกต้อง แท้จริง ไม่หลอกลวงกัน สิ่งที่เรียกว่าการเมืองนั้นก็เป็นศีลธรรม เป็นรูป เป็นความหมาย เป็นเนื้อ เป็นตัว ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราตัด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ความสงบ ความเป็นอยู่ที่สมแก่ความเป็นมนุษย์
เพราะงั้นก็ไปคิดกันเสียใหม่ข้อนี้ ข้อแรกนั้นว่าการเมืองนั้นคือศีลธรรม ที่นี้ถ้ามาตกอยู่ในมือของมนุษย์ที่ไร้ศีลธรรม การเมืองก็เป็นเรื่องสกปรก คือเป็นเรื่องหลอกลวง เราแยกกันให้ชัดอย่างนี้แล้วไปวางรูปงานกันเสียใหม่ เพราะว่าการเมืองในที่นี้ จำกัดความสั้นๆว่าการประพฤติ การปฏิบัติ การกระทำที่ให้บ้านเมืองนั้นอยู่อย่างมีสันติภาพ หรือความสงบสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็อยากจะระบุ การเมืองกับระบบหนึ่งที่เรียกว่า ธัมมิกสังคมนิยม คือ สังคมนิยมที่ประกอบอยู่ในธรรม เดี๋ยวก็จะพูดให้ชัดเจนกันในข้อนี้ เพราะว่าหัวข้อแรกเพียงแต่ให้รับทราบไว้ก่อนว่า การเมืองนั้นคือศีลธรรม อย่าเอาไปทำให้สกปรก
[18:16] ทีนี้คำพูดที่สอง ก็อยากจะพูดถึงคำว่าประชาธิปไตย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มันเป็นภาษาไทยที่ถอดออกมาจากภาษาบาลี ประชาธิปไตยก็แปลว่ามีประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งหมายถึงมีพลเมืองเป็นใหญ่ มันก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นการเมืองชนิดสกปรก หรือว่าเป็นการเมืองศีลธรรม แล้วแต่ว่าคนแต่ละคนนั้นมันเป็นคนดีหรือเป็นคนบ้า มันเป็นคนที่มีการศึกษาหรือว่ามันเป็นคนไร้การศึกษา ถ้าประชาชนไร้การศึกษาหรือเป็นคนบ้า ระบบประชาธิปไตยมันก็บ้า ทีนี้มันก็ใช้ไม่ได้ มันจึงขึ้นอยู่กับที่ว่าประชาชนนั้นมีศีลธรรมหรือไม่ ถ้าไม่มีศีลธรรม มันก็ไม่มีการเมืองที่จะขจัดปัญหาต่างๆได้
เดี๋ยวนี้เราพิจารณาดูกันแล้วจะเห็นได้ว่าทั่วทั้งโลกมันมีประชาธิปไตยเพ้อ และมีประชาธิปไตยเฟ้อ คำว่าเพ้อนี่คือทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่มีเหตุผลอันแท้จริง ไม่มีรากฐานอันแท้จริง แม้จะเกิดแต่ที่จะกล่าวว่าการเมืองคือศีลธรรม น้อยคนที่จะมองเห็นว่าการเมืองนั้นคือศีลธรรม เพราะเค้าใช้การเมืองในฐานะที่เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ หรือกอบโกยประโยชน์ให้แก่พวกตัว หรือว่าประเทศของตัว ที่ประชุมการเมืองใหญ่ของโลก ไปดูให้ดี อย่าออกชื่อเลย ถ้าไปดูให้ดี ก็จะเห็นว่า มันเป็นที่ที่ชิงหาโอกาสเพื่อกอบโกยประโยชน์ให้แก่ประเทศของตัว มากกว่าอย่างอื่น มันจึงใช้ให้กำหนดประโยชน์
ที่นี้พอว่าประชาธิปไตยมันก็เป็นความหมายที่เพ้อตามๆ กันไป เพราะว่าคนมันเอือมการที่จะมีการปกครองแบบที่บังคับบัญชาหรืออยู่ในขอบเขตหรือขอบวงของศีลธรรม พูดง่ายๆ คนมันเบื่อศาสนา เบื่อพระเจ้ามากกว่า มันก็เบื่อศีลธรรมที่จะจำกัดเขตให้คนประพฤติปฏิบัติ มันทำอะไรไม่ได้เป็นอิสระ
ถึงกระทั่งว่าเบื่อการปกครองแบบราชาธิปไตย นี้มันเพ้อ เพ้อฝัน ราชาธิปไตยถ้าประกอบไปด้วยศีลธรรมแล้วจะดีกว่าประชาธิปไตยเสียอีกเพราะมันไม่งุ่นง่าน ที่มันเพ้อต่อประชาธิปไตย มันก็ไม่เข้าใจคำว่าศีลธรรม
ที่มันมีแต่ประชาธิปไตยเฟ้อ เฟ้อคือมันเกิน มันล้นเหลือ ทำไมจึงว่าเฟ้อ เพราะว่ารัฐธรรมนูญทั้งหลายมันเขียนไว้กว้าง มันเปิดโอกาสไว้กว้างไปหมด ใครจะดึงไปทางไหนก็ได้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกที่มองเห็นอยู่นี้รู้สึกว่ามันเฟ้อ เพราะมันเปิดไว้กว้าง แล้วมันจะไปทางไหนก็ได้ แล้วแต่พวกไหนจะพาไป มันก็พาไปตามประโยชน์ของตน ตามประโยชน์แห่งพรรคพวกของตน ถ้ามันเกิดเป็นพรรค มันก็ไปตามพรรค ถ้ายังเป็น คนคนอยู่มันก็ไปตามบุคคล ล้วนแต่พาไปหาผลประโยชน์ของตน สามารถที่จะทำได้อย่างนั้น เพราะนั้น จึงเกิดคนที่ยากจนเกินไป หรือเกิดคนที่มั่งมีเกินไปขึ้นมา เพราะมันเขียนไว้เพ้อ คือมันกว้าง
แต่ถ้ามันเขียนไว้ชัดรัดกุมเหมือนสังคมนิยม หรือเป็นอะไรชัดลงไป มันก็ไปได้ตามหลักการนั้นๆ คือมันยังดีกว่าเพ้อ ถ้าว่าหลักการนั้นๆ มันถูก มันก็เป็นสิ่งที่จะพากันไปได้ คือพาประเทศชาติไปได้ เดี๋ยวนี้เราจะต้องพิจารณาดูกันให้ดีว่าทำไม มีประชาธิปไตยกันมาตั้งหลายปีในโลกนี้นี่ก็ร้อยกว่าปีแล้ว มันก็ทำให้มีสันติภาพไม่ได้ หรือว่าจะย้อนไปถึงต้นตอบ้าง เดิมสมัยกรีก สมัยโรมัน ซึ่งเค้าก็จัดว่าเป็นประชาธิปไตยชนิดหนึ่ง จนบัดนี้มันก็ตั้งพันปี มันก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะมันเฟ้อ เพราะคำว่าประชาธิปไตยนี้มันเฟ้อ แล้วมันก็ยิ่งไม่มีรูป ไม่มีรอย ไม่มีคลองไม่มีอะไรที่จะยึดถือสันติภาพได้
ต้องระวังประชาธิปไตยเพ้อและ ประชาธิปไตยเฟ้อให้ดีดี เนี่ย พวกเราอย่าไปโง่งมงาย กระโดยลงไปในลักษณะอย่างนั้น มันต้องเป็นประชาธิปไตยของคนที่มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นประชาธิปไตยของผู้ที่เห็นแก่ผู้อื่น มีการบังคับตัวได้ให้เห็นแก่ผู้อื่น มันจึงจะถูกต้อง นี้ระวังคำว่าประชาธิปไตย
[24:33] ก็อยากจะพูดถึงคำว่าเผด็จการเพราะมันคู่กันกับคำว่าประชาธิปไตย มันแยกกันไม่ออก เอามาดูทีเดียวพร้อมกัน คำว่าเผด็จการเดี๋ยวนี้เราก็กลัวกันเหมือนกลัวผี ผีนั้นกลัวแต่คนโง่ คนฉลาดไม่กลัว เพราะคนฉลาดจะรู้ว่า ผีคืออันนั้นคือยังไง เราก็ไม่กลัวผี สิ่งที่เรียกว่าผี กลัวกันแต่คนโง่ ก็เรียกว่าเผด็จการแบบกลัวผี เพราะเราไม่รู้จักมัน เราไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้
สิ่งที่เรียกกันว่าเผด็จการนั้น แยกกันออกเป็น 2 ความหมายกันซะก่อนดีกว่า คือ
ความหมายที่เป็นอุดมคติการเมืองอย่างที่เค้าบัญญัติกันเอาไว้ในตำราการเมือง ไม่ไหวจริง มันคงจะเลวแน่ เพราะว่าคนมันเห็นแก่ตัว เพราะว่าเผด็จการเอาเพื่อประโยชน์แก่ตัว คำว่าเผด็จการที่เป็นอุดมคติการเมืองแบบนั้นมันใช้ไม่ได้
คำว่าเผด็จการนั่นเองมันยังมีความหมายทางหนึ่ง คือ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว มันก็จะมัวรีรออยู่ไม่ได้ เผด็จการให้ทันและเหมาะใช้ เหมาะที่จะใช้กับคนที่ยังไม่รู้อะไร เช่นพ่อแม่รักลูก ต้องเผด็จการต่อลูกได้ สมัยนี้ลูกมันโง่ มันมีแต่ลูกโง่ๆ มันไปเห่อ ไปหลงประชาธิปไตย มันก็ไม่ยอมให้พ่อแม่เผด็จการ โลกมันจึงเปลี่ยนแปลง คุณไปคิดดู มันจึงมีลูกที่นอกคอก ไม่มีบิดามารดา ไม่มีครูบาอาจารย์ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่แล้ว เพราะว่าไม่ยอมให้พ่อแม่เผด็จการ ที่นี้ไม่ยอมให้ครูบาอาจารย์เผด็จการ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเผด็จการอย่างนี้ ก็หมายถึงวิธีทำงานเท่านั้น ไม่ใช่อุดมคติ มันก็จะเป็นระบอบไหนก็ได้ ลัทธิการเมืองระบอบไหนก็ได้ ถ้ามันถูกต้องแล้ว มันก็ต้องเผด็จการ เพราะงั้นทำกันอย่างนั้น มันจึงจะรวดเร็ว ไม่ได้ลูกเกิดมาเด็กๆ เล็กๆ ยังไม่รู้อะไร มันไม่ยอมให้พ่อแม่เผด็จการ มันก็ลงนรกแน่
พระพุทธเจ้าท่านเป็นเผด็จการ ถ้าคุณไม่ทราบ อาตมายืนยันว่าเมื่อสำรวจดูทั้งหมดในพระไตรปิฎกแล้ว จะมองเห็นชัดว่าพระพุทธเจ้าท่านผู้เผด็จการ ระเบียบวินัยทั้งหลายที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้นั้น ไม่ใช้กับท่าน ไม่มีสำหรับใช้กับพระองค์ มีแต่ใช้กับสาวก นี่มันเป็นเผด็จการอะไรกัน ถ้ามันมีความถูกต้องแล้ว มันต้องเผด็จการ มันอุทธรณ์ไม่ได้ ฏีกาไม่ได้ เมื่อสิ่งนั้นมันถูกต้องแล้ว ทุกคนก็รวม ก็ยอมให้เผด็จการ อย่างนี้มันก็เร็ว ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญ ที่ดีที่ถูกต้องแล้ว ทุกคนยอมให้เผด็จการ อย่างนี้มันก็เร็ว มันก็พาประเทศชาติไปสู่สันติภาพได้ในไม่กี่มากน้อย
จะสร้างพระศาสนา สร้างศาสนาพระศรีอารย์ที่แท้จริงขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น ถ้ามีหลักการถูกต้องแล้วเผด็จการ ที่เมืองนี้ถ้าใครเต็มใจก็ไปดูวัดนึงที่ตำบลภุมเรียง เค้าเรียกว่าวัดสมุหนิมิต วัดสมบูรณ์แบบทุกอย่างทุกประการ เป็นวัดใหญ่ สร้างเสร็จภายใน 4 เดือน ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยคนที่จะมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาหนึ่งในกรุง ทำไมวัดจึงสร้างได้ใน 4 เดือน มันใช้ระบบเผด็จการ มันจึงทำได้ เพราะประชาธิปไตย มันจึงทำไม่ได้ แต่มันเป็นเผด็จการโดยวิธีทำงานเท่านั้น ไม่ใช่อุดมคติ ถ้าสร้างวัดเนี่ย มันสร้างโดยเห็นแก่พระศาสนา เห็นแก่ธรรม มันเป็นความถูกต้องที่ควร จะสร้างขึ้น คนทั้งหลายเขาก็ยินดีที่จะสร้างขึ้นด้วยศรัทธา เพราะฉะนั้นเผด็จการโดยธรรม มันสร้างได้ใน 4 เดือน สมบูรณ์แบบเหมือนกับวัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพ ทั้งเขียนลายทอง เขียนอะไรเสร็จไปหมด น่าจะรู้ว่าวัด มันก็เป็นไม้ที่กลึง เผด็จการถ้าเป็นวิธีงานนั้นหนะ มันจะช่วยสำเร็จประโยชน์แก่อุดมคติที่ถูกต้องแล้ว เพราะงั้นอย่าเอาไปเป็นอุดมคติทรราชย์ นั้นมันยังอีกอันอีกต่างหาก
เผด็จการมันก็ 2 ความหมายอย่างนี้ ถ้ามันประกอบไปด้วยธรรม แท้จริงแล้วเผด็จการนี้จะดีกว่าประชาธิปไตย ทีนี้มนุษย์มันเลวเกินไป มันก็ไม่ควรเผด็จการ มันก็ไปประชาธิปไตย ก็เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะงั้นมันต้องพูดกันให้รู้เรื่อง และพยายามใช้วิธีงานอย่างเผด็จการ ให้ธรรมมะเผด็จการ ให้ความถูกต้องเผด็จการ แม้มันจะผ่านมาทางบุคคล มันก็ต้องเป็นบุคคลที่ประกอบไปด้วยธรรมมะ เพราะงั้นเป็นสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรมมะ ใช้โดยบุคคลผู้เผด็จการ
อยากจะให้สังเกตอยู่อย่างนึงว่า ในฝ่ายตะวันออกเราในพระคัมภีร์ทั้งหลาย ทางศาสนาก็ดี หรือทางการเมืองก็ดี มันมีคำประหลาดอยู่คำนึงว่า พระราชาที่ประกอบอยู่ด้วยทศพิธราชธรรม เป็นราชาประกอบอยู่ด้วย ทศพิธราชธรรม คำนี้ไม่มีในตำราการเมืองที่ฝรั่งเขียนให้เราเรียนแค่นั้น คุณจะไปค้นดูด้วย อาตมาเชื่อว่าไม่มีในตำราการเมืองที่ฝรั่งเขียนให้เราเรียน มันจะมีพระราชาทรราชย์เท่านั้นแหละ เพราะไอ้ตำราการเมืองเหล่านั้นมันเปรียบกับเผด็จการแบบนั้นแต่ทางตะวันออกนี้มันมีพระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ก็จะเป็นธรรมมะสูงสุด 10 ประการ ในเมื่อเผด็จการมันก็เผด็จการแต่โดยธรรม เพราะนั้นมันถูกต้องหมด นี้ทำความเจริญได้เร็ว
นี้พูดเป็นตัวอย่างให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการนั้น มันยังหลายความหมาย มันเลวที่สุดก็มี แล้วมันก็ดีที่สุดก็มี ถ้ามันมีธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วมันก็ยิ่งดีกว่าประชาธิปไตยงุ่มง่าม ถ้าเราหาคนเผด็จการอย่างนั้นไม่ได้ มันก็จำเป็นละที่จะต้องไปกันด้วยประชาธิปไตยที่มันงุ่มง่าม แต่ถ้าประชาธิปไตยนั้นเอง ถ้ามีหลักการถูกต้องแล้ว รวมหัวกันให้มีระบบเผด็จการในประชาธิปไตยนั้นเสียจะดีกว่า ฟังแล้วดูคล้ายคนบ้าพูด ทีนี้มีเผด็จการในประชาธิปไตย ถ้ามันมีความคิด ความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในระบบประชาธิปไตย ประชาชนพลเมืองมันดีจริง ถ้ามันรวมหัวกันเป็นเผด็จการ ถ้ามันเลวเข้านี้จะเรียกว่าอะไร นี่คือความสับสนระหว่างประชาธิปไตยกับคำว่าเผด็จการ ก็ขอฝากไว้ไปคิดดูให้ดี
[32:26] อันนี้คำที่ 4 ก็จะมาถึงว่าเสรีนิยมกับคำว่าสังคมนิยม พูดอย่างนี้ก็เข้าใจกันได้อย่างมากแล้ว เสรีนิยมก็เล็งถึงบุคคลเสรี สังคมนิยมนี้จะเสรีไปคนเดียวไม่ได้ ต้องเห็นแก่สังคมก่อน เพราะงั้นเสรีนิยมกับสังคมนิยมมันก็ผิดกันอยู่อย่างนี้ ซึ่งถ้าพูดขึ้นก็เข้าใจได้ทันที เสรีนิยมคือชั้นๆๆๆ เอาอย่างไรได้อย่างนั้น พูดได้ตามใจคือไทยแท้ ระวังนะมันจะบ้า ถ้ามันเสรีขนาดนั้นมันจะบ้า มันไม่เห็นแก่ส่วนอื่นแล้ว มันเอาแต่เห็นแต่ฉันคนเดียว เห็นแก่เสรีภาพที่เมามาย
ที่จริงคำว่าเสรีนี้เป็นคำที่ประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนา เรามาใช้กับประชาชน ปุถุชนที่มีกิเลสหนา มันก็เป็นอันตราย คำว่าเสรีจะใช้ได้กับพระอรหันต์ พระอรหันต์คือเป็นบุคคลที่เสรีที่สุดเหนืออะไรหมด เหนือกิเลส เหนืออะไรหมด หรือในวงการของพระอริยเจ้าเราจะใช้เสรีภาพ อย่างเสรีชนได้อย่างเต็มที่ ถ้ามันมีธรรมะ เป็นหัวใจ เป็นเลือด เป็นเนื้อ ทั้งหมด มันเสรี มันก็เสรีไปแต่ในทางถูก เพราะฉะนั้นปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลสพอเสรี มันก็เสรีของกิเลส มันก็ลากพาไปลงนรก ไปลงเหว มันต้องยอมให้มีอะไรเป็นเครื่องควบคุม นี่ก็คำว่าเสรีโดยทั่วไป จิตมันอย่างนี้ก่อน ถ้าสังคมเหมือนสมัยก่อน มันผูกพันกันเป็นหมู่ ถ้าใครไปเปิดเสรีกัน มันก็คือยื้อแย่งกันเท่านั้นหนะ เพื่อไม่ให้ยื้อแย่งกัน ก็ต้องเห็นแก่ประโยชน์ เห็นแก่ความราบของหมู่ แล้วทำไปอย่างงั้น มันก็เป็นสังคมนิยม
คือพูดถึงสังคมนิยม เสรีนิยม นี้ก็อย่าลืม อย่างที่เคยพูดกันแล้ว ว่าปัญหามันเกิดเมื่ออยู่กันเป็นสังคม ถ้าไม่เกิดไม่อยู่กันเป็นสังคม ปัญหาไม่เกิด เพราะงั้นหลักการมันก็ต้องมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาของสังคม เพราะงั้นจะต้องนิยมสังคมถือเรื่องของสังคมเป็นหลัก แทนที่จะเอาเรื่องของบุคคลคนเดียวเป็นหลัก เมื่อบุคคลคนเดียวทำ ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์แก่สังคม ถ้าคนหนึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมที่ดี มันก็กลายเป็นสังคมที่ดีขึ้นมา ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติของบุคคลที่มีกิเลสแล้วมันจะเสรีอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องมีหลักเกณฑ์ มีธรรมมะ มีอะไรเข้ามาเป็นเครื่องกำกับ
ถ้าประชาธิปไตยมันจึงมีความหมายไปทางที่เห็นแก่สังคม ไม่ใช่เห็นแก่เสรีชนคนหนึ่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้ปัญหาก็เกิดขึ้นมาก วิกฤตการณ์กำลังเกิดขึ้นมาก อาชญากรรมกำลังเกิดขึ้นมากเต็มไปหมด เพราะงั้นเป็นเสรีในส่วนบุคคลที่ยังไม่รู้อะไร มีการศึกษาไม่พอ มีธรรมะไม่พอ ถ้านิยมกันอย่างนี้ มันก็เป็นเสรีที่เป็นของเอกชนที่ยังไม่รู้อะไร มันก็จะน้อมไปในทางเห็นแก่ตัว
เพราะฉะนั้นจำคำว่าเห็นแก่ตัวไว้ด้วย คำนี้คืออันตรายสูงสุดของมนุษย์ทั้งโลกทุกโลก ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็ทำลายตนเองและทำลายผู้อื่น ถ้าเสรีชนมันเกิดเห็นแก่ตัว มันก็ต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ ทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น แล้วมันก็จะมุ่งแต่กอบโกย มันก็เสรีแบบนี้ มันก็มุ่งกันแข่งขัน กอบโกย ใครแพ้ก็จนไป ใครชนะ ก็ร่ำรวยไป ถ้าเสรีแบบที่ให้กิเลสเสรีอย่างนี้ ไม่ใช่
เรานึกแต่สังคม ภาวนานึกถึงแต่สังคมอยู่ แล้วถ้านึกถึงผู้อื่นแล้วมันจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นอยู่มันก็เอาเปรียบผู้อื่นไม่ได้ ถ้าเห็นแก่ตัว มันก็เอาเปรียบผู้อื่นได้ เพระฉะนั้นนิยมสังคม มันก็เห็นแก่ผู้อื่น แล้วมันก็ช่วยผู้อื่น แล้วมันก็ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่เอาส่วนเกินมาเป็นของตัว เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีไปอย่างสมัยนี้ เพราะงั้นมันจะผลิตอะไรขึ้นมาก็ผลิตเพื่อสังคม นี้เดี๋ยวจะพูดให้ฟัง ถึงคำอีกคำหนึ่ง การเห็นแก่ตน กับการเห็นแก่ผู้อื่น สองคำนี้คุณจะเลือกเอาอย่างไหน ถ้าคุณมีกิเลสมาก ก็ต้องเลือกเอาเห็นแก่สิ ไม่เลือกเอาความเห็นแก่ผู้อื่น แต่ถ้าไม่มีกิเลส มีจิตใจอยู่เป็นกลางๆ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ แล้วก็จะเห็นแก่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย คือไม่เห็นแก่ตัว คนส่วนมากพูดว่าเกลียดความเห็นแก่ตัว แต่ตัวเองนั่นแหละ มันเป็นจอมของความเห็นแก่ตัว ที่คุณทะเลาะวิวาทกันนั้น ไม่ใช่เพราะว่าเห็นแก่ตัวเหรอ ไม่ได้เห็นแก่อะไร ถ้าทะเลาะวิวาทกัน หรือขัดแย้งกัน หรือว่าไม่มีทางตกลงกันได้ ก็ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัวทั้งนั้น มันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เสรีนิยม หรือสังคมนิยม มันมีความหมายที่ตรงกันข้ามอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของพระอริยเจ้า แล้วไม่มี ไม่มีอุปสรรค ไม่มีข้อขัดแย้งกัน เพระงั้นเป็นเสรีของคนที่ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เรายังมีโลกของคนที่เห็นแก่ตัว เพระงั้นเราต้องนิยมสังคมมากกว่าที่จะนิยมตัวเอง
[39:04] ในโลกนี้ก็มีระบบการเมืองเป็นระบบพรรคบ้าง เป็นระบบบุคคลบ้าง แล้วแต่ว่าประเทศไหนมีรัฐธรรมนูญประเทศไหนจะมุ่งหมายอย่างไร ประเทศเราก็เพิ่งมีรัฐธรรมนูญ ระบบพรรคหยกๆ นี่เอง นี่ก็อยากจะดูอีกว่า ระวังให้ดี มันมีผิด มีถูก มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ว่าระบบพรรคมันมีอะไรที่น่ากลัวกว่า เพราะว่าระบบพรรคมันมีโอกาสที่จะใช้อำนาจเงิน หรือใช้อำนาจอะไรที่มันเป็นล่ำเป็นสัน มากกว่าที่มันเป็นระบบบุคคล แต่ละบุคคลมันก็รวมกันเป็นพรรค ถ้าคนรวย มันก็รวมกันเป็นพรรค แล้วมันก็เล่นงานคนจนได้ง่าย ถ้าคนจนมันรวมกันเป็นพรรค มันก็ฆ่าคนร่ำรวยได้มาก ระบบพรรค มันก็มีส่วนที่ต้องระวังกันอย่างนี้
ระบบพรรคมันมีทางที่จะถอยหลังเข้าคลอง หรือลงเหวได้ไม่ทันรู้ตัว โดยวิ่งไปข้างหน้าได้ลงเหวโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะมันตันด้วยความทะลุดุดัน ผูกพันกันเป็นพรรค ถ้ามันมีหลักธรรมะ มันก็ดี แต่ที่แล้วๆมา มันเห็นได้ว่าที่ผูกพันกันเป็นพรรคก็เพื่อจะมีอำนาจ หรือมีกำลังมากขึ้น ในรูปเดิม คนเดียวเอาเปรียบเค้าไม่ทันใจ ถ้าผูกพันกันเป็นพรรค เอาเปรียบเค้า มันก็ได้มากกว่า คืนเร็วกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้และระบบพรรคสุดทางมาของความพินาศแล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยและก็ไม่ใช่เสรีนิยมด้วย มันพรรคนิยม! เกิดขึ้นก็เห็นแก่การที่จะกอบโกยผลประโยชน์เร็วๆ มันก็ไม่ใช่ประชาธิไตยอย่างบุคคล
ไปทบทวนดูให้ดี อันไหนมันจะช่วยได้ อันไหนมันจะง่ายหรือสะดวก ในการที่จะประกอบอยู่ด้วยธรรม ถ้าคนส่วนมากมันประกอบอยู่ด้วยธรรม ระบบพรรคมันก็ดีแน่ แต่ว่าคนส่วนมากมันมีกิเลส ระบบพรรคมันก็เพิ่มกำลังให้กับกิเลส ไม่ได้เพิ่มกำลังให้แก่ธรรมมะหรือพระธรรมเลย มันกำกวมอยู่อย่างนี้ มันจึงต้องเอามาพูด เพราะมันสับสนกันอยู่ มันจะได้รู้เรื่อง
[41:50] ทีนี้คำที่หก ก็อยากจะพูดถึงคำว่า มีอิสรภาพหรือไร้อิสรภาพ เป็นคู่คู่กันไปอีก มีอิสรภาพกับไร้อิสรภาพ มันกำกวมตรงที่ว่า ถ้ากิเลสมันมีอิสรภาพ โลกนี้มันล่มจมแน่ ถ้าคนมีกิเลส มันมีอิสรภาพ มันก็เกิดทรราชย์เพราะมันมีอิสรภาพ อย่างนี้มันก็คืออิสรภาพที่จะทำลาย
ไร้อิสรภาพนั่นก็หมายความว่าเรายอมเสียอิสรภาพบางอย่าง เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม ในสังคมที่ดี จะมีการผ่อนผันสั้นยาว หรือการเสียสละ บางคนยอมเสียสละ เสียอิสรภาพส่วนตัว เพื่อหมู่คณะมันตั้งอยู่ได้ถูกต้องหรือมั่นคง อย่างนี้ก็ยังมี
คำว่าสูญเสียอิสรภาพนั้นนะ มันหลอกอยู่มาก เราได้อิสรภาพของกิเลส เราก็ไปสูญเสียอิสรภาพของธรรมมะ เราได้อิสรภาพของความชั่ว เราก็สูญเสียอิสรภาพของความดี อย่าเอาแต่คำว่าอิสรภาพ อิสรภาพ มันต้องให้ชัดลงไปว่าอิสรภาพของอะไร
[43:38] แล้วอิสรภาพเนี่ย มันซ้อนกันอยู่หลายชั้น ถ้าไม่เคยสนใจมาก่อน ก็ขอได้โปรดสนใจด้วย เพราะคำว่าอิสรภาพนี้มันซ้อนกันอยู่หลายชั้น อย่ามองแต่ชั้นต่ำๆ เตี้ยๆ เมื่อกล่าวกันตามหลักของพระศาสนา แล้วก็ยิ่งจะเห็นว่ามันเป็นชั้น หลายชั้น อิสรภาพทางการเมือง ฉันไม่เป็นขี้ข้าเขา ประเทศเราไม่เป็นขี้ข้าเขา เรามีอิสรภาพทางการเมือง แต่เราเป็นทาส เป็นขี้ข้าเขาทางวัฒนธรรม ถ้าเราไปนิยมอะไรอย่างของพวกนั้น เราจะเสียอิสรภาพทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่เป็นพุทธบริษัทไปหมดแล้ว นั้นเรายังจะคุยได้ว่าอิสรภาพทางการเมือง ก็เป็นขี้ข้าเขาในทางจิตใจ และทางวัฒนธรรม เราก้มหัวลงไปรับวัฒนธรรมนั้น แล้วก็นั่นหนะ ระวังให้ดี มันจะไปเป็นขี้ข้าทางวัฒนธรรมของพวกอื่น แม้ว่าเค้าจะะยังไม่ย่ำยีอิสรภาพทางการเมือง
ก็ที่คุยกันไปก่อนนั้น ในทางศาสนานั้นคือเป็นอิสรภาพทางวิญญาณ คือเรายอมรับลัทธิผิดหรือยอมเป็นทาสของกิเลส เรียกว่าเราสูญเสียอิสรภาพหมด และถ้าเกิดกิเลสตัณหา นั้นคือสูญเสียอิสรภาพทางวิญญาณ แล้วเราก็จะสูญเสียอิสรภาพทางวัฒนธรรม ทางศีลธรรม คือเห็นแก่กิเลส เห็นแก่ความเอร็ดอร่อยสนุกสนาน ถ้าสูญเสียอิสรภาพทางวัฒนธรรมอย่างนี้แล้ว ไม่เท่าไหร่เราก็จะต้องเสียอิสรภาพทางการเมือง แม้ว่าบัดนี้เรายังไม่ได้เสีย ระวังให้ดี จะต้องรักษาอิสรภาพทางวัฒนธรรม ทางศีลธรรมอะไรเอาไว้ให้มั่นคง ก็จะไม่เสียอิสรภาพทางการเมือง ทางวัตถุ ทางร่างกายนี้
[46:00] นี้จะเห็นความกำกวมของคำว่า มีอิสรภาพ ไร้อิสรภาพ ความถูกต้องมันอยู่ที่ว่า ประกอบอยู่ในธรรม หรือไม่ประกอบอยู่ในธรรม อิสรภาพนั้น อิสรภาพจากกิเลส หรือว่าจากธรรมมะ คือแก่ความถูกต้องหรือแก่ความผิดพลาดเท็จเทียม ถ้าอิสรภาพถ้าเป็นความถูกต้อง อย่างอิสรภาพอย่างที่เรียกว่าบัญญัติทางการเมือง แต่ในจิตใจนั้นไม่มีอิสรภาพเลย สมัครเป็นทาสของผู้ที่เรานิยม มันลึกกว่ากันอย่างนี้
ทีนี้ก็พิจารณาดู เห็นได้ง่าย คำว่าเป็นทาสกับเป็นไท มันเนื่องกันอยู่กับหลักอันนี้ คนก็ไม่ชอบเป็นทาส ชอบเป็นไท เป็นอิสระแก่ตัว แต่คำว่าคนนั้น มันไม่รู้ว่าอยู่ที่ตรงไหน คือมันคนดี หรือคนชั่ว คนที่สติปัญญาหรือคนโง่ มันต่างกันอยู่ตรงกันข้าม เพราะงั้นถ้าเป็นทาสหรือเป็นไทมันเป็นสองความหมาย ตรงกันข้ามหรือแย้งกันอยู่เสมอไป จะยกตัวอย่างเช่นว่า เป็นทาสของเขา เป็นทาสของมนุษย์อยู่ด้วยกันเนี่ย กับเป็นทาสของพระธรรมมันไม่เหมือนกัน เรายอมเป็นทาสของพระธรรม อย่างอาตมาเนี่ย เรียกตัวเองว่าพุทธทาส สมัครเป็นของพระพุทธเจ้า คือเป็นทาสของพระธรรม มันก็ไปไหนไม่รอด มันก็มีแต่ที่จะประกอบหรือประพฤติ หรือกระทำ อยู่แต่ในคลองของธรรม แต่ถ้าเป็นทาสของคน มันก็แล้วแต่คนเขาจะใช้ มันคนละอย่างนะ เพราะฉะนั้นคำว่าทาสระวังไว้ให้ดี มันมีอยู่ 2 ความหมาย มันเป็นอุดมคติก็ดี แล้วเป็นทาสของธรรมมะ แล้วมันทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากประพฤติตามธรรมมะ แล้วมันก็ไม่มีผิด มันก็แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเป็นทาสของคน มันไม่ไหวแน่ แม้จะเป็นของคนดี ค่อยยังชั่วหน่อย มันก็ยังไม่ค่อยไหว แต่ถ้าเป็นทาสของคนชั่ว แล้วมันก็ยิ่งเหมือนกับว่า ตายซะยังดีกว่า
เพราะงั้นเป็นทาส หรือเป็นไท ก็ยังต้องระวังอยู่อีก มันกำกวม ถ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า มันก็คงปลอดภัยแน่ ถ้าเป็นทาสของคนมีกิเลส มันก็ไม่ไหว เพราะงั้นคำว่าทาสในที่นี้ ก็มี 2 ความหมาย ถ้าเราบูชาอุดมคติ บูชาความถูกต้อง อันนี้มันก็รอดตัวได้ อย่างนั้นแหละมันจึงจะเป็นอิสรภาพ
มันก็เลยเป็นคำพูดที่น่าหัว ถ้าเราเป็นทาสของพระธรรม เรากลับมีอิสรภาพ ถ้าเราเป็นทาสของคน ของกิเลส เราก็สูญเสียอิสรภาพ แม้ว่าทางร่างกายนี้มันจะดูก๋าหล๋า ว่าไม่เป็นทาสใคร คนโง่เข้าใจอย่างนั้นเสมอ คำว่าเป็นทาสหรือเป็นไทนี้ ต้องระวังให้ดี มันยังมีซ้อนๆ กันอยู่ ถ้าเป็นทางของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นทาสของความถูกต้องนี้มันก็ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นจงระวังให้ดีว่า อย่าเมามายในอิสรภาพจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันจะไร้อิสรภาพโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้ที่เมามายในอิสรภาพ จนไม่รู้จักว่าอิสรภาพมันคืออะไร ความเป็นทาสนั้นคืออะไร
[50:41] ทีนี้ก็จะดูต่อไป ถึงคำที่มันเป็นปัญหาอื่นๆ ที่นี้ก็คำที่มีความหมายเป็นพิเศษ ที่ทำให้หลงกันอยู่ คำว่านายทุนกับคำว่าชนกรรมาชีพ นี้คู่หนึ่ง คำว่าเศรษฐีกับคำว่าทาสนี้คู่หนึ่ง คำว่าเศรษฐีในครั้งพุทธกาล ไม่ใช่นายทุนอย่างสมัยนี้ คำว่าเศรษฐีอย่างครั้งพุทธกาลเค้าสะสมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะงั้นคำว่าเศรษฐีครั้งนั้น ก็คือผู้ที่มีโรงทาน ถ้าว่าไม่มีโรงทาน ก็ไม่เป็นเศรษฐีอย่างครั้งพุทธกาล หรือตามแบบครั้งพุทธกาล นายทุนอย่างสมัยนี้ เค้าไม่ต้องมีโรงทาน เพราะว่าเค้ามีทุนมาก เค้าลงทุนเพื่อกอบโกยกำไร ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเป็นเศรษฐีครั้งพุทธกาล และก็จะต้องมีโรงทาน จึงจะเรียกว่าเป็นเศรษฐี เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นทาสในครั้งพุทธกาลที่เป็นทาสของเศรษฐี ช่วยเศรษฐีหาทุนเพื่อโรงทาน ทาสเดี๋ยวนี้มันก็เป็นทาสขี้ข้าที่หากำไรของพวกนายทุน คำมันเปลี่ยนแปลงความหมาย
ถ้าเศรษฐีครั้งพุทธกาลนั้น เค้าก็จะมีแต่โรงทานสำหรับช่วยเหลือคนจน ถ้าเป็นทาสในสมัยนั้นอย่างเศรษฐีก็คือร่วมมือกับเศรษฐีเพื่อหาทุนมาหล่อเลี้ยงโรงทาน ถ้ามันเป็นทาสของพวกนายทุน มันก็เป็นขี้ข้า หรือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับหาทุน เพื่อความร่ำรวยของนายทุน ถ้าเป็นเศรษฐีครั้งพุทธกาล มันไม่ใช่นายทุน มันเป็นผู้ที่หาเงินมาเพื่อตั้งโรงทาน เพราะเขาวัดความเป็นเศรษฐีด้วยการมีโรงทานมาก หรือมีโรงทานน้อย นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องดูให้ดีว่า ธรรมมันหลอกลวงยิ่งขึ้นทุกทีตามยุคตามสมัย
[55:20] มันก็เลยอยากจะให้ดูไปถึงคำต่อไปที่ว่าความเจริญ หรือความเสื่อม ความเจริญ ถ้าเป็นในทางวัตถุมันก็ก้าวหน้าในทางวัตถุแต่มันลงเหวในทางวิญญาณทางจิตใจ ความเจริญอย่างวัตถุมันจะทิ้งพระเจ้า มันทิ้งพระธรรม เพราะงั้น คุณระวังให้ดี ที่จะไปชอบความเจริญ ดูว่าความเจริญอย่างไร ความเจริญทางวัตถุ มันก็ก้าวหน้าทางวัตถุ แล้วมันจะเกลียดพระเจ้า มันจะเกลียดธรรมมะ แล้วมันก็จะลงเหวทางวิญญาณ ที่นี้ความเสื่อม ถ้ามันเสื่อมทางวัตถุ มันก็ขาดแคลนทางวัตถุ ไม่เป็นไร แต่ขอให้มันสูง มันร่ำรวยทางวิญญาณ มันก็ไม่ยอมลงเหวเพื่ออบายมุข มันจะไม่ทิ้งพระเจ้า คำว่าวัตถุกับคำว่าวิญญาณ มันคู่กันอยู่ มันสำคัญอยู่ที่ทางวิญญาณหรือว่าทางจิตใจ ความเจริญทางวัตถุ มันจะปิดบังความเจริญทางจิตใจ ระวังให้ดี ถ้าพวกเรามัวเมาความเจริญทางวัตถุกันแล้ว ระวังให้ดี จิตใจมันจะเสื่อม ต่ำละลายไปโดยไม่รู้สึกตัว คำว่าเจริญ เจริญน่ะ ระวังให้ดี ให้มันควบคู่กันไปทั้งทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ
[56:57] ทีนี้เราต้องการความเจริญ ก็หลับหูหลับตาสร้างกันแต่ทางวัตถุ มันก็เกิดเรื่องทางจิตใจ จิตใจมันก็เสื่อมลงไปจนสูญหายไป เนี่ยจะเป็นเรื่องที่ว่าผิดโดยไม่รู้ตัวว่าผิด ฆ่าตัวตายอย่างที่ไม่รู้ว่าเรากำลังฆ่าตัวตาย ทีนี้คำถัดไปที่มันเนื่องกัน ที่จะต้องรู้ ถ้าการถอยหลังเข้าคลอง ถ้าพูดอย่างนี้พวกคุณก็เครียดทันที ถอยหลังเข้าคลอง คุณต้องการก้าวหน้า ก้าวหน้า แต่การก้าวหน้าระวังให้ดี มันก้าวหน้าไปลงเหว หรือว่ามันก้าวหน้าพลัดตกหน้าผาลงไป มันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้คำว่าถอยหลังเข้าคลองนี้มันจะถูกต้องขึ้นมาทันที สำหรับผู้ที่ก้าวหน้าจะพลัดเหวอยู่แล้ว ถอยหลังเข้ามาเสียมันถูกต้อง อยู่ในร่องในรอยนี้มันถูก และคำว่าถอยหลังเข้าคลองนี้ จะถูกสำหรับคนสมัยปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังออกนอกคลอง ออกนอกทางจะพลัดเหวอยู่แล้ว พลัดเหวแห่งวัตถุนิยม คือความสุขสนุกสนาน อะไรต่ออะไร ทางเนื้อทางหนัง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความฉิบหายทั้งหลาย ถ้ามันออกไปนอกคลอง ที่นี้ถอยหลังเข้าคลอง ถ้ามันถอยหลังเข้ามาสู่ความถูกต้อง
คำว่าถอยหลังเข้าคลองก็เกิดเป็นสองความหมาย ถอยหลังเข้ามาสู่คลองแห่งความถูกต้อง ผิดเพราะมันเพราะมันได้ทำผิดไปมากแล้ว ถอยหลังเข้าคลองอย่างนี้ประเสริฐ วิเศษ จำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับพวกคุณทั้งหลายที่จะต้องขอเรียกว่าเยาวชนสักหน่อย กำลังจะเดินผิดคลอง ก็ต้องถอยหลังให้ให้มันเข้าคลอง แล้วก็ดูให้ดี ให้มันถูกคลองที่แท้จริง อย่าให้มันหลอก อย่างแรกถอยหลังเข้าคลองนี้จะนึกถึงว่า วิญญาณของเด็กๆ ยังบริสุทธิ์ ไม่ค่อยเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวนี้เพิ่งเกิดเมื่อโตขึ้น โตขึ้น ยิ่งโตยิ่งฉลาดไปผิดทาง ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมาก นี่จะทำให้โลกให้ฉิบหาย เพราะความเห็นแก่ตัว
เด็กๆยังไม่รู้จักเห็นแก่ตัว ใช้อุดมคติอันนี้ก็ได้ เข้าไปสู่วิญญาณของเด็กๆอันบริสุทธิ์ ถ้าใช้คำว่าไม่เดียงสา มันก็จะมากเกินไป แต่ที่ใช้แล้วเหมือนกัน บริสุทธิ์เหมือนกัน มีลักษณะอย่างนั้น ไปสู่วิญญาณของเด็กๆที่บริสุทธิ์ ที่ยังไม่ทันจะเห็นแก่ตัว พอโตขึ้นก็เห็นแก่ตัวมากขึ้น มันก็เห็นแก่กิเลส เห็นแก่เนื้อหนัง เห็นแก่การถูกทางเนื้อหนังมากขึ้น ถอยหลังไปหาวิญญาณของเด็กๆอันบริสุทธิ์ของเด็กๆเนี่ย จะน่าดูกว่า น่าเลื่อมใส น่าบูชากว่า แล้วถอยหลังเข้าคลองของศีลธรรม ถ้าเราออกมานอกคลองของศีลธรรม แล้วที่ถอยหลังเข้าคลองของศีลธรรม กระทั่งไปถึงเข้าคลองของมรรค ผล นิพพาน อันสูงสุดในศาสนาทุกศาสนา พวกที่มีพระเจ้าเค้าก็เรียกว่าแผ่นดินพระเจ้า ถอยหลังเข้าไปหาแผ่นดินพระเจ้า ทุกศาสนา นี่ก็เรียกว่าถอยหลังเข้าคลอง คนเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้จัก แล้วก็ไม่สมัคร ถ้าเรารู้จักถอยหลังเข้าคลอง มันจะไปหาพระเจ้า ไปหาศาสนามากขึ้น
คลองของวัฒนธรรมนั้นก็มีอยู่ วัฒนธรรมที่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันก็เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมเนื้อหนัง เห็นแก่กิเลส เค้าไม่ใช่จะด่าคนปัจจุบันนี้ หรือว่าด่าพวกตะวันตกว่าเค้ามีแต่วัฒนธรรมเนื้อหนัง บูชาเนื้อหนัง ไม่บูชาจิตใจ เรื่องถอยหลังเข้าคลองของวัฒนธรรมหรือว่าศีลธรรมที่เป็นเรื่องของจิตใจ เนี้ย เรียกว่าถอยหลังเข้าคลองของมรรค ผล นิพพาน ถ้าเรียกทางพุทธศาสนา ถ้าเรียกอย่างศาสนาอื่น ก็ถอยหลังเข้าไปหาพระเจ้า หาแผ่นดินของพระเจ้า มันก็จะมีผลให้ว่าพระเจ้ากลับมา ศาสนากลับมา เดี๋ยวนี้เรากำลังจะไม่มีพระเจ้า กำลังจะไม่มีศาสนา เพราะเห็นแก่เนื้อหนัง ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง เอาเนื้อหนังเป็นพระเจ้า เนี่ย ปัจจุบันนี้เป็นอย่างนี้ รู้จักแต่เรื่องเนื้อหนัง ก็จำเป็นอยู่เองที่แสวงหาแต่เรื่องความดีความสุขแต่ทางเนื้อหนัง เพราะว่าถอยหลังเข้าคลองเนี้ย มันมีปัญหาอย่างนี้เอง ที่นี้เรามีเวลาจำกัด เพราะงั้นอยากจะขอรวบรัดในบางสิ่งบางอย่าง
ที่มา : อบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง ภาษาเกี่ยวกับการเมือง (ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)
*หมายเหตุพูดแล้วไม่สบายช่วงสิบนาทีสุดท้าย