แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิก สพรหมจารี และท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย โอกาสนี้ ผมจะได้บรรยายธรรมะเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแก่ท่านทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นี้ การบรรยายนี้มุ่งหมายจะตอบคำถามว่าทำไมจึงเกิดความล้มเหลวของระบบวิปัสสนา พูดกันง่ายๆ ก็ว่า ทำไมระบบวิปัสสนามันจึงมีการล้มเหลว ไม่มีผลดีตามที่ควรจะเป็น ข้อนี้มันมีเรื่องที่จะต้องพูดกันมากเหมือนกัน กว่าจะเข้าใจกันได้ชัดเจนและทั่วถึง
คำว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร คำว่า วิปัสสนา แปลได้ว่า ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ความเห็นอย่างวิเศษ
คำว่า วิ นี่มันแปลว่า แจ่มแจ้งก็ได้ วิปัสสนา ก็แปลว่า เห็นอย่างแจ่มแจ้ง
คำว่า วิ แปลว่า อย่างวิเศษก็ได้
ฉะนั้นคำว่า วิปัสสนา ก็แปลว่า เห็นอย่างวิเศษ มีเรื่องที่จะต้องอธิบายว่าเห็นอย่างวิเศษนั้นเห็นอะไร ก็คือ เห็นวิธีที่จะดับทุกข์ แล้วก็เห็นความทุกข์ที่ดับได้ คือวิธีที่จะเห็นความดับทุกข์แล้วก็เห็นความทุกข์ที่ดับได้แล้ว นี้เรียกว่าเห็นอย่างวิเศษ เห็นอย่างแจ่มแจ้งหมายความว่าชัดเจนแจ่มแจ้งในทุกข้อทุกกระทงที่กล่าวมาแล้ว
เรามีความต้องการจะทำวิปัสสนาและก็กระทำกันอยู่ นัดประชุมกันมาบางส่วนเพื่อจะกระทำสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนา ข้อนี้มันมีปัญหาว่า ทำไมจึงยังทำไม่ได้ ทำไมจึงล้มเหลวไป หรือบางทีก็ทำไม่ได้เอาเสียเลย ข้อนี้ก็ต้องขอตอบว่า มันต้องมีการกระทำที่ถูกต้องๆๆ แล้วก็ถูกต้องถึงที่สุดด้วย จึงจะเกิดผลตามความมุ่งหมายนี้ และจะต้องนึกถึงธรรมะที่จะต้องทำความถูกต้อง คืออินทรีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
มีศรัทธาเป็นเบื้องต้นสำหรับช่วยให้ทำ เกิดความฉันทะ พอใจให้ทำ นี่จึงต้องมีศรัทธามาก่อน แล้วก็มีความพากเพียรที่จะทำ แล้วก็มีสติ สติตลอดเวลาที่ทำ แล้วก็มีสมาธิๆ กระทำอย่างเข้มแข็ง เข้มข้น แล้วก็มีปัญญา ความรู้อย่างรอบคอบ ได้ครบทั้งห้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามีอินทรีย์ทั้ง ๕ และอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นก็ถูกต้องๆๆ มันจึงสำเร็จประโยชน์ เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาซ่อนเร้น หรือซ่อนเงื่อน หรือลี้ลับอยู่ เช่นว่ามันไม่ถูกต้องหรือว่ามันไม่ครบอินทรีย์ทั้ง ๕
แต่ส่วนใหญ่ๆ ส่วนสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนานั้นมันต้องมีคำตอบออกมาว่าเพราะบังคับอารมณ์ไม่ได้ บังคับอารมณ์ไม่ได้ อารมณ์เปะปะไปตามเรื่องตามราว ไม่มีการบังคับอารมณ์ ไม่เชื่อก็ขอให้คอยดู ให้คอยฟังว่าทำไมจึงพูดอย่างนี้ว่าบังคับอารมณ์ไม่ได้ ส่วนมากนักวิปัสสนานี้มันยังว่าดี เมาดี หลงดี จมดี อวดดี คือผู้ทำวิปัสสนานั้นยังมีอาการที่เรียกว่า บ้าดี เมาดี หลงดี จมดี อวดดี ถ้ามันถูกต้อง มันก็ไม่มีอาการอย่างนี้ แต่ถ้ามันยังมีอาการบ้าดี เมาดี หลงดี จมดี อวดดีอยู่ มันก็ไม่ถูกต้อง
มีเรื่องปลีกย่อยหลายๆ อย่างที่มันจะทำให้เกิดอาการบ้าดี เมาดี หลงดีนี่ บ้าศิลปะก็ได้ อะไรๆ ก็ต้องงดงาม ต้องสวยงาม ต้องจัดโต๊ะหมู่อย่างนั้นอย่างนี้เพื่อทำวิปัสสนา ดอกไม้ธูปเทียนอย่างสวยงาม นี่มันเป็นบ้าศิลปะก็คือบ้าดีอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน
บางทีมันก็ชอบการงาน ชอบทำการงาน เป็นกรรมกรเสียให้มากกว่า บ้าอำนาจวาสนาก็มี บ้าสวยบ้างามก็มี บางทีมันก็ต้องมีเครื่องใช้เครื่องมือที่แพงๆ จนเครื่องสัมฤทธิ์สำหรับจะจัดเครื่องสัมฤทธิ์ พระบูชาก็เป็นพระสัมฤทธิ์ไม่รู้กี่องค์ๆ แล้วแต่ละองค์ๆ อายุเป็นพันๆ ปี ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน จะต้องจัดพระสัมฤทธิ์ หรือเครื่องสัมฤทธิ์ บูชาการทำวิปัสสนา นี่มันบ้าดี เมาดี หลงดี ด้วยกันอยู่
ทีนี้จะใคร่ครวญกันดูต่อไปอีกว่า การทำวิปัสสนานั้น บางคน บางพวก บางหมู่ บางสำนัก บางอะไรมันก็มีการหาเลข อาจต่อรองกับความถูกต้องและเคร่งครัด มันไม่มีความถูกต้องหากหาเลขต่อรองๆ ชักจูงไอ้ความถูกต้อง หรือไอ้ความเคร่งครัด ถ้าเป็นอย่างนี้เสียแล้ว มันก็ล้มเหลว มันก็เป็นเรื่องล้มเหลว มันมีอุปสรรค คือความไม่เข้มแข็งๆ ไม่แข็งแกร่งในการทำวิปัสสนา คำว่า ไม่แข็งแกร่ง นี่ก็ขอให้ใคร่ครวญดูตามลำดับ
ไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแกร่งในทางกาย ในการกระทำทางกาย ไม่เคร่งครัด ไม่ภาวิตา ไม่พหุลีกตา ไม่ทำให้มาก ไม่ทำให้ชำนาญจนถึงที่สุด แล้วมันไม่แข็งแกร่งในทางกาย ก็คือการปฏิบัติที่เป็นส่วนศีล การปฏิบัติที่เป็นส่วนศีลมันไม่เคร่งครัด มันไม่ครบถ้วน มันไม่สมบูรณ์ มันยังมีศีลที่เรียกว่าด่างพร้อย วิ่นๆ แหว่งๆ อะไรอยู่ ต่อเมื่อมีการกระทำถูกต้องทางศีล มันจึงจะช่วยกำจัดกิเลสเป็นตั้งแต่รากฐาน กิเลสชั้นที่เป็นรากฐานก็ถูกกำจัดด้วยสิกขาบทนั้นๆ ที่เป็นชั้นหยาบและจะค่อยๆ ละเอียดขึ้นไป นี่มันไม่แข็งแกร่งทางกาย มันไม่ทำจริง มันไม่เอาจริง มันไม่ๆๆ ภาวิตา ไม่พหุลีกตา เหมือนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ภาวิตาทำให้มาก ทำให้เป็น ทำให้มี พหุลีกตาทำให้มาก ทำให้ชำนาญ ทำให้ชำนาญ นี่มันจึงไม่ได้รับผลของวิปัสสนา ไม่มีภาวิตา ไม่มีพหุลีกตา ไม่มีความถูกต้องและไม่แข็งแกร่งในทางกาย แม้ร่างกายก็ออดแอด อ่อนแอ เป็นนักวิปัสสนาผอมเหลือง นี่มันก็มีความถูกต้อง หรือแข็งแกร่งไม่ได้
ดูอีกทีหนึ่งมันก็ไม่มีความถูกต้อง หรือแข็งแกร่ง เข้มแข็งในทางจิต ก็คือ มีจิตไม่เป็นสมาธิ องค์ของสมาธิมีอย่างไร มันไม่ทำให้ครบถ้วนได้ตามนั้น นี่เรียกว่าไม่มีจิตที่เข้มแข็ง คือไม่เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ สมาธินี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องประธาน ที่เรียกว่าสมาธิปมุขา มีสมาธิเป็นประมุข หมายความว่า ต้องมีสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของสมาธิที่จะเหนี่ยวเอาตัววิปัสสนาขึ้นมา เหมือนกับว่าปักฉมวกแทงปลา ชนักแทงปลา หรือเบ็ดตกปลา ปักลงไปที่ศูนย์กลางแล้วก็เอาลากหัวมันมา ลากหัวตัวปลามา จึงจะได้ตัวปลาคือตัววิปัสสนามา
มันมีสมาธิแข็งครบ เข้มแข็ง เฉียบแหลม คมเฉียบ และก็ทำกันอย่างจริงๆ เหมือนกับว่าฉมวกแทงปลาอย่างนั้นแหละ ก็ได้ตัวปลาขึ้นมา มีความแข็งแกร่งในทางจิตใจ องค์ประกอบแห่งสมาธิมีอย่างไร ก็ทำไปอย่างครบถ้วน ครบถ้วนตามนั้น นี่ก็ได้ศึกษากันมาแล้ว ขอให้รู้ไอ้ความที่ว่าจะต้องมีความแข็งแกร่งในทางจิตนั้นเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เอ่ยแต่หัวข้อว่าทางจิต คือสมาธินั้นต้องทำให้เป็นประมุข แม้ว่ามีธรรมะอื่นๆ หลายอย่างๆ อยู่ แต่ต้องยกเอาสิ่งที่เรียกว่าสมาธิเป็นประมุข ไม่มีสมาธิแล้วศีลก็ไม่มี วิปัสสนาปัญญาก็ไม่มี ต้องมีสมาธิเป็นแกนกลาง มีสมาธิเป็นแกนกลางจึงจะได้จับตัวเอามา หรือปักเอาตัวปลามาได้ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ นี่คำว่าสมาธิหาอ่านได้ เรื่องของสมาธิหาอ่านได้จากตำรับตำราซึ่งมีอยู่มากมาย ในที่นี้ก็จะออกแต่เพียงชื่อว่ามีหลักการกันอย่างไร
ทีนี้มันก็ไม่แข็งแกร่งในทางสัมมัตตะ สัมมัตตะแปลว่า ความถูกต้อง ความถูกต้องนี่จะต้องอธิบายกันหน่อยเพราะว่าเป็นคำแปลก สัมมัตตะเป็นคำใหม่ เป็นคำที่มีในบาลี เป็นคำของพระพุทธเจ้าเอง สัมมัตตะแปลว่า ไอ้ความถูกต้อง ทำไปมันยังเฉอยู่ ยังไขว้เขวกันอยู่ ยังครึ่งๆ กลางๆ อยู่ มันไม่สมบูรณ์ มันไม่ถูกต้อง ต้องมีความถูกต้อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสัมมัตตะ ประกอบอยู่ด้วยคำว่า สัมมา สัมมา สัมมา สัมมา ถึง ๑๐ คำ สัมมาตะ สัมมาตะตา สัมมัตตะ นี่เหมือนกัน แปลว่าความถูกต้อง สัมมา แปลว่า ซึ่งถูกต้อง ตา หรือ ตะ หรือ ตะตา แปลว่า ความ มีความถูกต้อง มีความถูกต้อง ซึ่งเป็นคำที่มันเข้าใจยากอยู่ในตัว ถูกต้องอะไร เอาอะไรเป็นเกณฑ์ ทำไมจึงจะรู้ว่าถูกต้อง มันก็ต้องพูดกันหลายครั้งหลายคราวเลย
คนส่วนมากยังไม่เข้าใจว่าคำว่าถูกต้องๆ น่ะหมายความว่าอะไร มันก็ถูกต้องเหมาๆ เอาไปหมด มันก็ถูกต้องแต่ปาก แต่ถ้าเอาตามหลักของพระพุทธเจ้าแล้วมันถูกต้องครบองค์ ๑๐ ครบองค์ ๑๐ ของคำว่าสัมมา มาจากสิ่งทั้ง ๑๐ ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ มันประกอบอยู่ด้วยสัมมา สัมมา สัมมาสิบอย่าง ข้อนี้รู้กันดีแล้ว ไม่ต้องพูดก็ได้ ถ้าใครไม่รู้ ไอ้สัมมาสิบอย่างนี้ก็เรียกว่าแย่ เป็นนักธรรมที่แย่ แย่มากทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็อยากจะขอกล่าวกันแต่ใจความว่า
ข้อนี้ขอย้ำว่าจะต้องมีสัมมัตตะๆ คือ ความถูกต้อง ความถูกต้องซึ่งประกอบอยู่ด้วยสัมมา สัมมา สัมมา อีกสิบองค์ จึงจะเป็นสัมมัตตะขึ้นมาได้ ต่อไปก็มีความแข็งแกร่งในทางสติปัญญา สติปัญญานี่ต้องการความแข็งแกร่งเหมือนกัน คือ มันต้องรู้ถูกๆๆ เข้าใจถูก อะไรๆ ก็ถูกๆ มันจึงจะเป็นปัญญา เป็นสติปัญญา อยู่ในตัวเองครบทั้งๆๆ สิบองค์ สัมมัตตะทั้ง ๑๐ นี่มันก็สนับสนุนไอ้สิ่งที่เรียกว่า ทิฏฐิๆ คือความเห็นน่ะ ไม่เรียกว่าวิปัสสนาแต่เรียกว่า ทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็น ความเห็น เห็นมันก็เห็นด้วยตานะ แต่ว่าเห็นทางใจ เห็นด้วยใจ มันเป็นสัมมาสติปัญญาถูกต้อง แต่รวมเรียกว่าถูกต้องทางทิฏฐิๆ ก็จะต้องมีทิฏฐิความเห็นถูกต้องไปตั้งแต่เริ่มกระทำวิปัสสนา
ทีนี้ต่อข้อสุดท้าย แข็งแกร่งในทางอนารมมณะ (นาทีที่ 20:00 ถึง 20:01) ข้อนี้ใหม่ หรือแปลก หรือไม่เคยฟังเลยก็ได้ ไม่เคยอธิบายกันเลยก็ได้ ไม่เคยได้ยินกันมาเลยก็ได้ แข็งแกร่งในทางที่จิตไม่มีอารมณ์ ไม่มีอารมณ์นี่มันเป็นนิพพาน ถ้าสามารถทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ไม่ให้เป็นอารมณ์ แล้วก็มันเป็นนิพพานอยู่ในตัวอัตโนมัติ เป็นนิพพานอยู่ในตัว
ที่เรียกว่าอารมณ์ อารมณ์นั้น คือ ความต้องการของจิต มันมีอารมณ์มากมาย จิตมันมีอารมณ์ที่มันจะคิด จะนึก จะปรารถนา จะต้องการอะไรก็ว่า อารมณ์ว่า ใครว่ะ ผู้ใดว่ะ หญิง หรือชายว่ะ อะไรว่ะ ที่ไหนว่ะ เมื่อไรว่ะ อย่างไรว่ะ เหตุใดว่ะ อย่างนี้เรียกว่า อารมณ์ทั้งนั้น คือ สิ่งที่จิตมันต้องการ หรือสิ่งที่จิตมันคว้าเอามาเป็นอารมณ์
ทีนี้อารมณ์นี่มันเป็นตัว ตัวการถึงที่สุด ถ้ามันมีอารมณ์อย่างไรแล้ว มันก็เป็นไปอย่างนั้น ถ้าอารมณ์มันผิด มันก็ผิด ผิดหมด ไอ้ความมุ่งหมายแท้จริงมันต้องมีอารมณ์ที่ไม่มีอารมณ์ ที่มิใช่อารมณ์ ที่ไม่เป็นอารมณ์ ไม่ต้องถามว่าใคร ผู้ใด ที่ไหน อะไร อย่างไร เท่าไหร่ ไม่ต้องถาม อย่างนี้เรียกว่าแข็งแกร่งในทางที่จิตไม่มีอารมณ์ บางคนจะฟังไม่ถูก จะไม่เข้าใจแล้วจะไม่เห็นด้วยและจะขัดแย้งอยู่ใน ในใจก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก ผมกล่าวไปตามตรงๆ ตามความจริง ตามหลักของธรรมะสูงสุดชั้นพระนิพพาน ไม่มีอารมณ์ก็เป็นพระนิพพาน ถ้ายังมีอารมณ์ก็ยังไม่ใช่นิพพาน ถ้ามันแข็งแกร่งถึงกับไม่มีอารมณ์แล้วมันก็เป็นนิพพานอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ มันก็จบวิปัสสนาโดยอัตโนมัติอยู่ในตัว
อนารัมมณัง (นาทีที่ 23:12 ถึง 23:13) หลักใหญ่ๆ ว่า อัปปะฏิ ถัง (นาทีที่ 23:16 ถึง 23:17) มิได้ตั้งอยู่ อัปปะ วัตตัง (นาทีที่ 23:19 ถึง 23:20) มิได้เป็นไป อนารัมมณัง (นาทีที่ 23:22 ถึง 23:23) ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์ ไม่เป็นอารมณ์ นี่เป็นลักษณะของพระนิพพาน อัปปะฏิ ถัง (นาทีที่ 23:31 ถึง 23:32) มิได้ตั้งอยู่ อัปปะ วัตตัง (นาทีที่ 23:33 ถึง 23:34) มิได้เป็นไปอยู่ อยู่ก็ไม่อยู่ ไปก็ไม่ไป แล้วก็ไม่มีอารมณ์เอาเสียเลย ไม่มีอารมณ์เอาเสียเลย นั่นแหละคือธรรมะสูงสุด สูงสุดของสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนาๆ ขอให้เข้าใจไว้เป็นพิเศษ
จะลองฝึกดูง่ายๆ เป็นพื้นฐานทุกวันก็ได้ ตื่นขึ้นมาไม่มีอารมณ์ ทำได้ไหม ตื่นขึ้นมาจิตไม่มีอารมณ์อะไร ทำได้ไหม คนไม่เชื่อ หรือ คนไม่รู้ มันก็ไม่เชื่อ มันก็ไม่เชื่อ มันก็ทำไม่ได้ จิตไม่มีอารมณ์ เพราะมันสอนกันว่าจิตต้องมีอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์ ถูกแล้ว แต่พระนิพพานไม่มีอามรณ์ ไม่มีอารมณ์ของจิต หรือจิตไม่มีอารมณ์ จิตไม่เป็นอารมณ์ ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช้อารมณ์ จึงจะเป็นพระนิพพาน ถ้ายังมีอารมณ์อยู่ก็ไปตามเรื่องของมันละ เป็นใคร เป็นผู้ใด เป็นอย่างไร เป็นที่ไหน เป็นเมื่อไร เป็นเหตุใด เป็นสารพัดอย่าง จะให้บัญชีรายละเอียดทีหลัง
นี่ขอให้นึกสรุปความโดยทั่วถึงสักทีก่อนว่าทำไมทำวิปัสสนาไม่สำเร็จ เพราะมันไม่มีความถูกต้อง ไม่มีความถูกต้อง
ไม่มีอินทรีย์ ๕ ที่ถูกต้อง
แล้วมันก็ไม่มีความแข็งแกร่งในทางกาย คือ ศีล
แล้วมันก็ไม่มีความแข็งแกร่งในทางจิต คือ สมาธิ
แล้วมันก็ไม่มีความแข็งแกร่งทางสัมมัตตะ คือ ความถูกต้อง มันก็ไม่มีความแข็งแกร่งทางสติปัญญา หรือทิฏฐิๆ ความคิดความเห็น
แล้วมันก็ไม่มีความแข็งแกร่งในทางที่จะไม่มีอารมณ์
จะไม่มีอารมณ์ มันสู้อารมณ์ไม่ได้ มันมีอารมณ์เสียเรื่อย มีอารมณ์เหลือเฟือ มีอารมณ์เสียเหลือเฟือ นี่มันก็ไม่ๆ ไม่มีทางที่จะเป็นนิพพานได้ ถ้าเจริญไว้ดี ถูกต้องดี แข็งแกร่งพอ ไม่มีอารมณ์ ไม่เกิดอารมณ์ใดๆ จะขอให้ยกตัวอย่าง หรือยกตัวอย่างให้ฟัง ให้ดูว่า ตื่นขึ้นมา อย่ามีอารมณ์อะไรๆ ไม่มีอารมณ์อะไร จะหลับลงไปอีก ก็ไม่มีอารมณ์อะไร ระหว่างที่ตื่น หรือระหว่างที่หลับก็ไม่มีอารมณ์อะไร ถ้าไม่มีอารมณ์อะไรอย่างนี้มันเป็นพระนิพพาน แต่มันทำยากถึงที่สุดเพราะว่ามันเป็นนิพพาน ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว มันยากเย็น หรือลำบากยากเย็นในการกระทำ กระทำเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ อนารัมมณะ เม วะตัง (นาทีที่ 26:31 ถึง 26:33) สิ่งนั้นมิใช่อารมณ์ อัปปะฏิ ถัง (นาทีที่ 26:37 ถึง 26:38) สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่ อัปปะ วัตตัง (นาทีที่ 26:40 ถึง 26:41) สิ่งนั้นมิได้เป็นไป อนารัมมณัง (นาทีที่ 26:43 ถึง 26:44) สิ่งนั้นไม่มีอารมณ์ ถ้าฟังถูก ก็ฟังถูก ฟังไม่ถูก ก็แล้วไป แต่ว่า ถ้าใครจะสมัครลอง สมัครค้นคว้าทดลอง ก็ลองดูสิ ลองดู ทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ตื่นนอนขึ้นมาไม่ให้มีอารมณ์ กระทั่งจะหลับไปอีกก็ไม่ให้มีอารมณ์ ระหว่างตื่นก่อนถึงหลับไม่ให้มีอารมณ์นี้มันทำไม่ได้หรอก มันทำไม่ได้หรอก แต่ว่าถ้าทำได้มันเป็นนิพพาน จิตไม่มีอารมณ์เป็นนิพพาน ถ้ามันมีอารมณ์เสียมันก็เป็นอันนั้น เป็นอย่างนั้นๆ ตามชื่อนั้นๆ ไป เป็นอารมณ์
ทีนี้เราไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุวิปัสสนา หรือมีวิปัสสนาได้เต็มระบบเพราะมันมีอุปสรรค มีสิ่งแทรกแซง มีสิ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวหลายอย่างหลายประการนัก นี่เรียกว่าเป็นปกิณกะ คือ เบ็ดเตล็ดที่จะต้องเข้าใจเอาเอง ระวังเอาเอง รักษาเอาเอง เป็นอุปสรรค เป็นข้อปลีกย่อยของอุปสรรค อยากจะยกตัวอย่างให้ฟังเรื่อยๆ ไป เป็นการ [...] (นาทีที่ 28:10 ถึง 28:11) การยกตัวอย่างไปในตัว ฟังดู คิดนึก ศึกษา เทียบเคียงไปในตัว มันไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิปัสสนา เพราะมันขยักไว้ ขยักกำลังของวิปัสสนาไว้ ให้ความเหลวไหลอ่อนแอ มันมีความเหลวไหล มีความอ่อนแอมาแทรกแซงอยู่ในนั้น แล้วคนก็พอใจที่จะขยักไว้ ไม่ทำเต็มที่เพราะขี้เกียจหรือเพราะไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแกร่ง ไม่แก่กล้า มันขยักเอาความเหลวไหลไว้ เอาความอ่อนแอไว้ ก็ทำวิปัสสนาไม่สำเร็จ
หรืออีกทีหนึ่งก็เรียกว่ามันเคร่งผิดเป้าหมาย มันเคร่งผิดเป้าหมาย มันเคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ เคร่งครัดฮึดฮัด อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างเคร่งครัดน่ะมันผิดเป้าหมาย ไม่ตรงเป้าหมาย ก็ล้มเหลวหมด ไม่มีวิปัสสนาๆ ไม่มีลักษณะว่า ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอด ลอดตาเล็น มันถี่ยิบจนช้างตัวใหญ่ๆ ลอดไปได้ แล้วมันก็ห่าง ห่างมากจนเล็นตัวนิดเดียว ลอดไปไม่ได้ เป็นคำอุปมาที่ท้าทาย ที่เยาะเย้ย ไอ้ผู้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งที่ประณีตละเอียดสุขุม มันทำวิปัสสนาอย่างถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น แล้วมันจะสำเร็จได้อย่างไร มันทำผิด หรือมันทำไขว้กัน ที่มันจะถี่ หรือจะห่างให้เหมาะสม ให้พอดีๆ ให้จับตัวช้างตัวเล็นไว้ได้ทั้งหมด มันถี่เสียจนลอดตาช้าง แล้วมันก็ห่างเสียจนลอดตาเล็น นี่เรียกว่ามันผิด
ถ้ามันทำ ถ้าทำผิด เป็นความล้มเหลวของระบบวิปัสสนา แต่แล้วมันก็ยังน่าสงสารด้วยเหตุการณ์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก มันหลงอวดเครดิตของตัวเอง หลงในเครดิตของตัวเอง มันโง่แล้วมันทำฉลาด มันโง่แล้วมันทำเป็นคนฉลาด ที่จริงมันโง่ แต่แล้วมันก็เอาฉลาดมากลบไว้ นี่เรียกว่ามันหลงเครดิตของตัวเอง ขบฎต่อเครดิต เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความจริงของตัวเอง มันหลงอวดเครดิตของตัวเองไปเสียเลย มันก็คดโกงตัวเอง คดโกงตัวเอง คดโกงตัวเองอยู่ในตัวนี้ คนที่หลงเครดิต หรือหลงอวดเครดิตของตัวเอง มันเป็นการคดโกงตัวเอง แล้วมันมีนิสัยกลัวการซักฟอกหาความเป็นจริง มันเป็นคนไม่จริง มันกลบเกลื่อนไว้ด้วยความไม่จริง แล้วมันก็กลัวการถูกซักฟอก การซักฟอกให้ได้ความจริงน่ะมันกลัว กลัวคนอื่นซักฟอก หรือกลัวการซักฟอกของตนเองก็แล้วแต่ มันกลัวการซักฟอก มันไม่สามารถที่จะทำให้เป็นการซักฟอก โดยเฉพาะก็คือซักฟอกกิเลสน่ะให้มันเต็มที่ ให้มันถึงที่สุด มันจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิปัสสนา
แล้วมันจะยังอะไร อันตรายของภิกษุ ของภิกษุบวชใหม่เสียด้วยซ้ำไป มันเห็นแก่กิน เห็นแก่สะดวกสบาย เห็นแก่การบำเรอ เห็นแก่ความสุข ความเอร็ดอร่อยของระบบประสาท ยังมีนิสัยเด็กๆ เหลืออยู่มาก มันเห็นแก่กิน เห็นแก่กิน คือ มันชอบกินอร่อย นักวิปัสสนาไม่มีทางจะสำเร็จได้ถ้ายังเห็นแก่กินอยู่ มันต้องวางเฉย หรือไม่ต้องมีอารมณ์ในการที่จะต้องกิน เห็นแก่กิน หรือได้กินนี่ แล้วก็อย่าไป อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบาย อะไรสะดวก อะไรสะดวก อะไรสบายๆ สะดวกไปเสียทุกอย่าง แล้วก็ไม่ต้องเห็นแก่การบำเรอๆ บำรุงบำเรอ พูดไปแล้วมันหยาบคาย มันโสกโดก มันต้องให้คนบีบ หยำ ขยำ อบ อาบอบนวดอะไร มันเป็นเห็นแก่การบำเรอ ฉะนั้นในที่สุดมันตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบประสาท
ระบบประสาทมันหมายถึงความรู้สึกทางประสาท ในสิ่งที่มีชีวิตไม่ว่าสิ่งไร ถ้ามันมีชีวิตแล้วมันมีระบบประสาทสำหรับทำความรู้สึก แล้วมันก็พอใจในความรู้สึกทางระบบประสาทที่เอร็ดอร่อย สนุกสนาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องการแต่ความสนุกสนานเอร็ดอร่อย จะทำอะไรก็ต้องให้สนุกสนานเอร็ดอร่อย ทางระบบประสาท ถ้าอย่างนี้ล่ะหมดท่าเลยๆ ถ้ายังพอใจความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาทนะ อย่างว่าสุนัขมันยื้อผ้าขี้ริ้วกันมันก็สนุกสนานเอร็ดอร่อย หรือว่าแม้แต่ว่าเสียงที่เกิดจากสัตว์ที่มีความอร่อยทางระบบประสาทนี้ อย่างเรไรหริ่งร้องหริ่งๆๆๆ อยู่นี่ มันอร่อยทางระบบประสาทของมัน เมื่อเวลานั้น เมื่อตอนนั้นมันอร่อยแก่ระบบประสาทของมัน นี่เรไรมันจึงหริ่งๆๆๆ จิ้งหรีด ตั๊กแตนมันก็ส่งเสียงร้องเพราะอร่อยแก่ระบบประสาท กบมันก็ร้อง เมื่อมันร้องน่ะมันอร่อยแก่ระบบประสาท
แล้วมันก็เป็นเรื่องทางเพศ ทางกามารมณ์ทางอะไรโดยมันก็พอดีกัน มันก็มีความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาท ก็เลยพอใจในความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาท ไอ้หนุ่มลูกทุ่งมันตอกหลักล่ามควายโป๊กๆๆๆๆๆ มันอร่อยแก่ระบบประสาท เมื่อมันตอกหลักล่ามควายน่ะมันอร่อยแก่ระบบประสาท มันก็เลยพอใจ ทำด้วยความพอใจ มีความพอใจ นี่มันคือการย้อมๆๆๆ ให้ย้อมติด ย้อมให้ติด เป็นการย้อมให้เกิดความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท
ทุกอย่างมันต้องการให้มีความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท พูดแล้วมันหยาบคายว่าคนโดยหลักจิตวิทยานี่ เมื่อต้องการจะถ่ายปัสสาวะ มันก็จะถ่ายให้อร่อยแก่ระบบการถ่าย คือทวารที่ถ่าย แล้วมันจะถ่ายปัสสวะ มันก็จะถ่ายให้อร่อยแก่ระบบประสาทของทวารที่จะถ่ายปัสสาวะ มันทำอะไรแม้แต่ว่าจะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ มันก็ทำเพื่อความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท ข้อนี้มันๆๆๆ สำคัญมาก มันเสียหายหมด เพราะมันต้องการแต่ความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาทไปเสียทุกอย่าง ร้อยอย่าง พันอย่าง จาระไนกันไม่ไหวล่ะเป็นร้อยอย่างพันอย่างเลย สิ่งที่ให้เกิดความอร่อยแก่ระบบประสาท เราเรียกอย่างกลางๆ ที่สุด อย่างธรรมชาติ อย่างวิทยาศาสตร์ที่สุดเรียกว่า อร่อยแก่ระบบประสาท ถ้าอย่างภาษาธรรมะเรียกว่า ก็เรียกว่า กาม
สิ่งที่เรียกว่า กาม คือ อร่อยแก่ระบบประสาท ภาษาจิตวิทยาของนักจิตวิทยาชื่อ Sigmund Freud เรียกว่า Sex Sex กามารมณ์น่ะ Sex ถ้ามี Sex แล้วมันมีความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท ขาดไม่ได้ มันต้องมีความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท ถ้าโรคนี้ยังมีเหลืออยู่ คือโรคที่ต้องมีความอร่อยแก่ระบบประสาทเหลืออยู่แล้ว มันทำวิปัสสนาไม่ได้ๆ เพราะความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาทมันมาแย่งเอาเวลาไปเสียหมด แย่งเอาเนื้อที่ไปเสียหมด แย่งเอาความรู้สึกไปเสียหมด ด้วยความประสงค์จะให้เอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท
นี่ขอให้รู้เอาไว้เถิดว่าอุปสรรคหรืออันตรายของวิปัสสนานี้มันก็มีมากมายอย่างนี่แหละ และส่วนใหญ่ที่สุดที่เป็นกันมากที่สุด ไม่ว่าสัตว์มนุษย์ ไม่ว่าสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่ต้นไม้ต้นไร่นี่มันก็มีความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท ต้นไม้มันมีระบบประสาท มันพอใจที่จะให้เกิดความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท ไม่ต้องถึงกับการสืบพันธุ์หรอก แล้วมันก็มีการสืบพันธุ์เพื่อความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาททั้งที่มันเป็นเพียงต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ มันเป็นความรู้สึกที่เหลือเกิน แล้วมันครอบงำจักรวาลเลย ถ้าเรายังตกอยู่แก่อำนาจ ภายใต้อำนาจของระบบประสาทแล้ว มันก็ล้มเหลว ล้มเหลวของวิปัสสนา มันจะต้องละเอียดละออ และจะต้องไม่มีอารมณ์ จะต้องควบคุม ควมคุมอารมณ์ไว้ให้ได้ทุกอย่างทุกประการ เพื่อไม่ให้เกิดความเพลิดเพลิน หลงใหล เอร็ดอร่อยทางประสาท เรียกเป็นภาษาไอ้ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ก็เรียกว่าระบบประสาท ที่แท้มันก็คือเรื่องกามารมณ์ เรื่อง Sex เรื่องเพศ เรื่องอะไรต่างๆ ที่มันเนื่องกันไปหมด
ทีนี้เราระมัดระวังว่าที่ไหน เมื่อไร ที่ไหน เวลาไหน มันก็มีระบบประสาทหรือรู้สึกทางระบบประสาท มันครอบงำไปได้หมด ไม่ยกเว้นที่ ไม่ยกเว้นใคร ไม่ยกเว้นที่ไหน มันมีความเอร็ดอร่อยแก่ระบบประสาท เมื่อนั้นก็หมายความว่ามันเสียไปหมดแล้วสำหรับสาระของวิปัสสนา เพราะว่าเวลานั้นมันไม่เห็นแจ้งอะไรเลย ไม่เห็นวิเศษ ไม่เห็นความวิเศษของอะไรเลยถ้ามันถูกระบบประสาทครอบงำ ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อย
ดูกันต่อไป อุปสรรค อันตราย ของวิปัสสนา มันมีที่ว่าบางคน บางคนน่ะ มันยังมีอวด ความเกิน หลงความเกิน มันจะอวดความเกิน ความพอดี ความบ้าจี้ บ้าหลังอะไรของมัน มันอวด มันมีนิสัยที่จะอวดความเกิน และก็หลงในความเกิน นี่มันก็เป็นข้อที่ต้องระวังเพราะมันซ่อนอยู่อย่างเร้นลับ มันทำอะไรเกินมันก็ไม่รู้ว่าเกิน แล้วมันก็หลงในความเกิน บ้าบิ่นนั่นแหละ พูดให้ง่ายๆ ก็คือมันมีความบ้าบิ่น
นักวิปัสสนาที่ยังมีความบ้าบิ่นอยู่อย่างนี้แล้วมันไม่มีวิปัสสนา แล้วมันยังน่าหัวที่ว่า มันเป็นกันได้ เป็นกันได้ มากมาย สำนักวิปัสสนามันก็มีคนมากๆ มีคนมาอยู่กันมากๆ อาจารย์มันก็หลงความเกิน อวดความเกิน อาจารย์วิปัสสนาน่ะ แล้วลูกศิษย์วิปัสสนา ลูกศิษย์ของนักวิปัสสนามันก็อวดความเกิน หลงความเกิน แขกเหรื่อทั้งหลายที่มาร่วมงานวิปัสสนามันก็ยังบ้าความเกิน หลงในความเกิน
พวกนายทุนที่สนับสนุนระบบวิปัสสนา จะให้ตั้งสำนักวิปัสสนา จะได้เชิดหน้าชูตาของตัว หาเกียรติยศชื่อเสียง มันก็อวดความเกิน หลงความเกิน นายทุนใหญ่ก็มี เป็นนายทุนใหญ่ก็มีที่อุปถัมภ์สำนักวิปัสสนา มันก็ยังหลงความเกิน แล้วกองเชียร์ของนักวิปัสสนา โฆษณาหาเสียง เป็นกองเชียร์ เป็นอะไร เป็นไอ้ ไอ้ตัวแทน เป็นหน้าม้า เป็นตัวแทน มันก็อวดความเกินของสำนักวิปัสสนา มันมีลักษณะบ้าบุญๆ เมาบุญ เลยทำให้เกิดการเกิน
อาจารย์วิปัสสนาก็ดี ลูกศิษย์ของอาจารย์วิปัสสนาก็ดี ผู้อุปถัมภ์กิจกรรมของวิปัสสนาก็ดี มันมีอวดความเกินหลงความเกินกันอยู่อย่างนี้ เพราะว่ามันบ้าบุญ เพราะว่ามันเมาบุญ แล้วบางทีก็มีพาณิชยกรรมเข้ามาแทรกแซง คือ เรี่ยไรๆ หาเงินหารายได้โดยการอ้างวิปัสสนามาเป็นเครื่องบังหน้า มาเป็นเครื่องตบตา มันก็เลยเป็นวิปัสสนาหาเงินไปเสีย ร่วมคิดกัน คบคิดกัน หาเงินหาความร่ำรวยเพื่อวิปัสสนาแก่สำนักวิปัสสนา กลายเป็นเรื่องราวของพาณิชยกรรมไปเสียก็มี อย่างนี้ก็ลองคิดดูเถิดว่ามันจะมีความถูกต้องได้อย่างไร แล้วมันจะไม่เกิดความล้มเหลวขึ้นมาได้อย่างไร มันก็มีแต่ความล้มเหลว
เรื่องที่มันระวังกันยาก ก็อย่างที่ว่ามาแล้วล่ะ บ้าดี เมาดี หลงดี อวดดี จมดี มีนิสัยจิตใจในลักษณะอย่างนี้แล้วมันก็เกิดความล้มเหลวของวิปัสสนา โดยไม่ต้อง ไม่ต้องสงสัย โดยไม่ต้องสงสัย มันไม่เข้มแข็งในทางกาย มันไม่เข้มแข็งในทางจิต มันไม่เข้มแข็งในความถูกต้อง มันไม่เข้มแข็งในทางสติปัญญา แล้วมันไม่เข้มแข็งในสิ่งสูงสุด สูงสุด ในเรื่องของพระนิพพาน มันไม่เข้มแข็ง คือ มันมีอารมณ์ มันมีอารมณ์ไปเสียหมด อารมณ์ไปเสียหมด มันไม่ๆ ไม่สมาทานเอาไว้ได้ซึ่งความไม่มีอารมณ์ๆๆ
นี่จะ อยากจะให้เข้าใจคำว่าอารมณ์ คำว่าอารมณ์ อารมณ์มันมี มีเรื่องของมันเอง อารมณ์น่ะ เป็นคำที่อธิบายยาก เข้าใจยาก อารมณ์ๆๆ เมื่อมันมีการเกี่ยวข้องกันกับระบบของความรู้สึก คือ ระบบประสาท เป็นต้น มันก็มีเรื่องของอารมณ์ มีโอกาสของอารมณ์ มันมีความอยาก มันมีการทำไปตามอำนาจของความอยากไปตามอารมณ์ มันทำให้เกิดความสงสัย หรือความระแวง หรือความกังขาอะไรต่างๆ นาๆ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มาเกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่มาเกี่ยวข้อง เช่น มันจะต้องรู้ว่า ผู้ใดหว่า ผู้ใดหว่า ใครหว่า หญิงหรือชายหว่า นี่เรียกว่าเป็นผู้ใดขึ้นมา แล้วใครหว่า แล้วอะไรๆๆ อย่างไร อะไร ที่ไหน แล้วที่ไหน อยู่ที่ไหน จะเป็นอย่างไร และเมื่อไร และเท่าไร และโดยวิธีใด เหตุไร แล้วทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
นี่ขอให้สังเกต ให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ เพราะถ้ามีอารมณ์แล้วไม่มีนิพพาน ถ้ามันว่างจากอารมณ์มันจึงจะเป็นนิพพาน ถ้ามันมีอารมณ์ มีอารมณ์อยู่ในความรู้สึก อารมณ์ว่าผู้ใด ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เท่าไร โดยวิธีใด เหตุไร และทำไม นี่มันต้องการความรู้ จิตมันต้องการอารมณ์แห่งความรู้สึก มันก็เลยไม่ต้องมีกัน สำหรับพระนิพพาน คือ ความว่างจากอารมณ์
แน่นอนว่าจิตมันต้องมีอารมณ์ จิตมันต้องมีอารมณ์ แต่ว่าพระนิพพานนั้นไม่มีอารมณ์ เข้าใจข้อนี้กันเสียให้ถูกต้องว่าจิตนี้มันต้องมีอารมณ์ มันต้องอยากในอารมณ์ มันต้องมีอารมณ์ตลอด จับตัวอะไรมาเป็นอารมณ์ของมันให้ได้ แต่ในพระนิพพานมันไม่มีอารมณ์ ถ้ายังมีอารมณ์อยู่ยังไม่ใช่พระนิพพาน ถ้าว่างจากอารมณ์โดยประการทั้งปวงจึงจะมีความหมายของพระนิพพาน คือ ไม่มีอารมณ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว ไม่คิดว่ามีการตั้งอยู่ ไม่มีการคิดว่าเป็นไป แล้วก็ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกว่าตั้งอยู่ที่ไหน ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นไปที่ไหน แล้วก็ไม่มีอารมณ์อะไร นี่จึงจะเรียกว่าไม่มีอารมณ์ คำว่าไม่มีอารมณ์นี่เป็นชื่อของพระนิพพาน อนารัมมณัง เม วะตัง อนารัมมณัง เม วะตัง (นาทีที่ 48:18 ถึง 48:22) สิ่งนั้นไม่ใช่อารมณ์ พระนิพพานมิใช่อารมณ์ พระนิพพานไม่มีอารมณ์ แต่ว่าจิตน่ะมีอารมณ์ๆๆ เอาอะไรเป็นอารมณ์ก็ได้ เอาพระนิพพานเป็นอารมณ์เสียเองก็ได้ จิตมันเอาพระนิพพาน มุ่งหมายเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ทำได้เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่นิพพาน เพราะว่าถ้าเป็นพระนิพพานขึ้นมาเมื่อไหร่ มันไม่มีอารมณ์ๆไม่มีอารมณ์โดยประการทั้งปวง เป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ก็คือสิ้นสุดแห่งปัญหา
ถ้ามันยังมีอารมณ์ มันยังมีปัญหา มีปัญหาที่จะทำให้เกิดคำถามว่าใคร ที่ไหนนี่ มันมีปัญหาขึ้นมาว่า ผู้ใด ใคร ที่ไหน อะไร เมื่อไร อย่างไร เท่าไร โดยวิธีใด ด้วยเหตุไร และทำไม นี่เป็นลักษณะ หรือเป็นเครื่องหมายที่ว่าสิ่งที่มีอารมณ์ สิ่งที่มีอารมณ์ เพราะมันอยากจะรู้ว่าใคร มันอยากจะรู้ว่าผู้ใด อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เท่าไร โดยวิธีใด เหตุไร นั่นน่ะเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ เมื่อจิตมีการปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึก สงสัย หรืออยากรู้ในข้อนี้ละก็เรียกว่ามีอารมณ์ มีอารมณ์ มีร้อยอย่าง พันอย่าง หมื่นอย่าง แสนอย่าง ล้านอย่างก็ได้ แล้วแต่ว่าอะไรมันจะเอามาทำให้เป็นอารมณ์ ถ้ามีอารมณ์ก็แปลว่าไม่ใช่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีอารมณ์ พระนิพพานนั้นจะเอาจิตเป็นหลัก ว่าจิตไม่มีอารมณ์จึงจะเป็นพระนิพพาน ถ้าจิตยังมีอารมณ์ก็ไม่ใช่เรื่องของพระนิพพาน
นี่ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่าการที่จะไม่ให้จิตมีอารมณ์มันยากกี่มากน้อย จะรักษาจิตไม่ให้มีอารมณ์อะไรน่ะมันยากสักกี่มากน้อย เพราะธรรมดาสามัญตามปกติมันมีอารมณ์ มีอารมณ์ มีอารมณ์อย่างที่ว่า ว่ามานี่ทั้งนั้น ยกตัวอย่างมาให้ฟังนี่ว่ามันมีความคิด มีความสงสัย มีความต้องการ มีความอยากได้ มีความอยากเป็น มีความอยากมี มันมีความอยากกระทำว่า ผู้ใด ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เท่าไร วิธีใด เหตุใด ทำไม ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดแล้ว นี่ก็เรียกว่ามีอารมณ์ และหรือมีสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ ให้เป็นอารมณ์ ให้มีอารมณ์ เพราะฉะนั้นระบบวิปัสสนาจะยาก หรือง่ายสักเท่าไรลองคำนวนดูว่าการที่ทำจิตไม่ให้มีอารมณ์นี่มันยากหรือง่ายเท่าไร ขอให้ลองคำนวนดู ถ้ายอมแพ้ก็เลิกกัน ก็ไม่ต้อง เพราะว่ามันมีข้อเท็จ มีความจริงสูงสุดที่ว่าต้องทำจิตไม่ให้มีอารมณ์จึงจะเป็นนิพพาน จึงจะเป็นนิพพาน
นี่รวมความแล้วก็จะขอสรุปความว่า เราไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิปัสสนาเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าเราบังคับความถูกต้องไว้ไม่ได้ มันไม่มีความถูกต้อง ความถูกต้องมันแปลยาก เข้าใจยาก ให้คำความหมายว่าอะไรเรียกว่าความถูกต้อง พอซักเข้าไปจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปถูกต้องกันที่ไหน และอย่างไร จึงได้แต่ให้คำเทียบเคียงไว้สักคำหนึ่งว่า ไม่มีปัญหานั่นแหละคือความถูกต้อง ถ้ามันยังมีปัญหามันไม่ใช่ความถูกต้อง ถ้ามันไม่มีปัญหาอะไร มันไม่มีความทุกข์ใดๆ มันเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีปัญหานั่นน่ะคือความถูกต้อง ดังนั้นจึงตอบได้ว่ามันถูกต้อง เมื่อมันไม่มีปัญหา เมื่อมันไม่มีปัญหา ถ้ายังมีปัญหาที่ต้องถามว่าอย่างไร เมื่อไร ที่ไหน เหตุใด นี่มันไม่ใช่ๆๆ ไม่ใช่ไอ้ความถูกต้องเพราะมันยังมีปัญหา ขอให้คำนวนดูเอาเองว่ามันยากสักเท่าไร ในการที่จะทำจิตให้มีวิปัสสนา ให้เป็นวิปัสสนา ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ให้เห็นอย่างวิเศษแล้วกำจัดความทุกข์ได้ ถ้ากำจัดความทุกข์ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทำไปก็เสียเปล่า ไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องกำจัดความทุกข์ได้ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เอโสวันโต ทุกขัสสะ เอโสวันโต ทุกขัสสะ นั่นแหละที่สุดแห่งความทุกข์ เอโสวภันโต ทุกขัสสะ นั่นแหละที่สุดของความทุกข์ เป็นผลของวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนามาได้จริงเมื่อไหร่ เป็นวิปัสสนาจริงได้เมื่อไหร่มันกำจัดความทุกข์เมื่อนั้น กำจัดความทุกข์เมื่อนั้น แล้วมันกำจัดไปมันก็สิ้นสุดลง ความทุกข์มันก็สิ้นสุดลง กำจัดต้นเหตุให้เกิดความทุกข์คือตัวอารมณ์ๆ สามารถที่จะกำจัดอารมณ์ออกไปได้ ไม่ให้มีอารมณ์ ไม่ให้จิตมีอารมณ์เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวอะไรได้ล่ะก็นี่มันก็หมดปัญหา ถ้าจิตยังหน่วงอะไรมาเป็นอารมณ์ได้มันก็ยังไม่ ไม่หมดปัญหา ยังมีปัญหา คือจิตมันยังหน่วงเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ได้ มันก็คือมีความทุกข์ ถ้ามันสามารถทำให้ไม่มีอะไรมาเป็นอารมณ์ได้มันก็คือพระนิพพาน คือเรื่องมันจีงต้องเป็นไปถึงกับว่าไม่มีอารมณ์ กำจัดอารมณ์ได้มันจึงจะเป็นพระนิพพาน พระนิพพานจะยุ่งยากลำบากสักเท่าไร จะต้องลงทุนกันสักเท่าไรก็ลองคำนวนดูเอง คำนวนดูเอง ว่าจะบรรลุพระนิพพานนั้นมันจะต้องลงทุนกันสักเท่าไร หรือเราจะพูดอย่างตรงไปตรงมาก็จะต้องพยายามกันสักเท่าไร พยายามกันสักเท่าไร มันจึงจะเกิดความถูกต้องสำหรับไม่มีอารมณ์และเป็นพระนิพพาน
นี่ผมถวายความรู้ได้โดยหัวข้อใหญ่ๆ ก็เพียงเท่านี้ เพราะว่ามัน มันไม่สบาย มันไม่มีแรง มันไม่มีแรงจะพูด มันเหนื่อยแล้วก็มันจะลืม ทั้งเหนื่อยและทั้งลืม จึงถวายความรู้ในวันนี้แต่เพียงว่าทำไมจึงล้มเหลวในการทำวิปัสสนา เพราะว่ามันไม่มีความถูกต้องของอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วมันก็มีความไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อตรงต่อความจริง ความถูกต้องของธรรมะนั้น มันมัวแต่หาเลข จะแก้ตัว แก่ความถูกต้อง ทรยศต่อความถูกต้อง มันไม่แข็งแกร่ง มันไม่เข้มแข็งในการกระทำในทางศีล ในทางสมาธิ ในทางสัมมัตตะคือความถูกต้อง ในทางสติปัญญา และสุดท้ายที่สุด ไม่แข็งแกร่งในการที่จะทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ถ้าแข็งแกร่งฉลาดเฉลียวพอที่จะทำจิตไม่มีอารมณ์ ไม่มีปัญหา หมดปัญหา หมดปัญหาทางวิปัสสนา คือสามารถบรรลุวิปัสสนาได้ตามที่ต้องการ
ฉะนั้นขอให้พยายาม ระวังสังวรณ์ ให้เกิดความจริงจังที่จะภาวิตา พหุลีกตา ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ ให้ตรงเป้าหมาย ให้ละเอียดลออ ให้เต็มไปด้วยความแยบคาย โยนิโสมนสิการ อย่าให้เป็นเรื่องถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น อย่าเคร่งครัดให้ผิดเป้าหมาย ถ้าเคร่งครัดก็จงให้ถูกเป้าหมาย ถ้ามันเคร่งครัดแล้วผิดเป้าหมายแล้วมันก็เหลวหมด เหลวไหลหมด อย่าหลงอวดเครดิตของตัวเอง อย่าคดโกงตัวเอง ต้องกล้าหาญในการที่จะถูกซักฟอก ให้พระวินัยซักฟอกๆๆโดยพระวินัย ให้มันหมดสิ่งที่จะต้องซักฟอก แล้วก็อย่าเห็นแก่ระบบประสาท อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาทในการเสวยอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่าไปเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยทางระบบประสาท แล้วก็ไม่หลงไหลว่าทำอะไรจนเกิน ทำอะไรจนเกิน มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่ามันเกิน มันมีหรือไม่มีกันมากเกินไป มันหลงบวกหลงลบ หลงผิดหลงถูกกันมากเกินไป
ในที่สุดนี้ก็สรุปว่า ขอให้รู้จักทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ และก็รู้หัวข้อธรรมะสูงสุดสักข้อหนึ่งว่ามันเช่นนั้นเอง อะไรๆ มันเช่นนั้นเอง จิตก็เช่นนั้นเอง อารมณ์ก็เช่นนั้นเอง อย่าไปถือเอามาเป็นตัวเป็นตนสำหรับยึดถือให้เกิดคำถามขึ้นว่าใคร ทำไม เหตุไร หนใด ยุ่งกันไปหมด สังขตธรรมมันก็เช่นนั้นเองตามแบบของสังขตธรรม คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อสังขตธรรมมันก็เช่นนั้นเองตามแบบของอสังขตธรรม คือสิ่งที่ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง พยายามถอนตัวออกมาเสียได้จากความที่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุกับปัจจัย ถอนตัวออกมาเสียให้ได้จากการที่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุกับปัจจัย หรืออย่าให้ไปข้องแวะกับอำนาจของระบบประสาท หรืออารมณ์ หรือกาม หรือ Sex นี่เค้าเรียกว่าหมดปัญหา เรื่องของวิปัสสนาก็หมดปัญหา ก็สามารถทำจิตให้ออกมาเสียได้จากอารมณ์ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องประหลาด ไม่มีอะไรประหลาด มีแต่เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองๆๆ แล้วแต่ว่ามันจะเป็นอะไร มันจะเป็นสังขตะ หรือจะเป็นอสังขตะ มันก็เช่นนั้นเอง พระนิพพานก็เช่นนั้นเอง พระนิพพานกี่อย่างๆ ก็เช่นนั้นเองๆๆ ตามเรื่องของพระนิพพาน เป็นพระนิพพานแล้วก็ต้องเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องมีเรื่องถูกใจ หรือไม่ถูกใจ หรือจะเลือกที่รักมักที่ชังอะไร มันเห็นแก่ความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเอง
เขาเรียกว่ามันจบสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยวิปัสสนา เห็นวิปัสสนา เห็นด้วยวิปัสสนา ก็คือเห็นเช่นนั้นเอง เห็นเช่นนั้นเองจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เห็นจนไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด คือเห็นเช่นนั้นเอง จะไปอยู่ที่โลกไหน จักรวาลไหน นรกสวรรค์อะไรที่ไหนก็เห็นเช่นนั้นเองๆๆ ไม่ถือเอาเป็นอารมณ์ ไม่ให้อารมณ์มันครอบงำจิตใจออกไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่โดยย่อที่สุด โดยสรุปสั้นๆ ที่สุดแต่โดยใจความว่าวิปัสสนาเป็นการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นอย่างวิเศษ เพื่อจะให้ทำที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ทำความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนา เดี๋ยวนี้เรายังมีการผิดพลาด ผิดพลาดโดยนัยยะอย่างที่กล่าวมาแล้วกี่อย่างๆ ก็ไปทบทวนเอาเอง มันผิดพลาดในส่วนนี้ มันจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิปัสสนา
จึงขอให้นักวิปัสสนาทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอาจารย์ ทั้งที่เป็นลูกศิษย์ ทั้งที่เป็นผู้สนับสนุน เป็นนายทุนช่วยให้เกิดสำนักวิปัสสนา ก็จงได้ทำให้มันถูกต้องๆๆๆ โดยวิถีทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆ ได้ หรือพูดให้มันเอาแต่ใจความที่สุด เป็นนักเลงที่สุด เป็นคำพูดที่สูงที่สุดนั่นก็คือว่าทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ อะไรๆๆ ก็ไม่ให้เป็นอารมณ์ แล้วก็จะได้บรรลุพระนิพพาน คือความไม่มีอารมณ์ ความไม่มีอารมณ์ ความไม่มีอารมณ์อะไรๆ อยู่ในจิต ขอให้ได้ใคร่ครวญดูทุกๆ ท่าน ทุกๆ คน ทั้งเพื่อนสหธรรมิก สพรหมจารี ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย นี่เป็นเรื่องที่ควรสนใจที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่ควรจะสนใจเท่ากับเรื่องนี้แล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องของพระนิพพาน
ผมต้องขอโอกาสหยุดการบรรยายเพราะหมดเรี่ยวหมดแรงที่จะบรรยาย ขอฝากไว้ให้เป็นปัญหาว่าทำไมจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิปัสสนา ตอบเพราะไม่สามารถทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ ไม่สามารถทำจิตไม่ให้มีอารมณ์ เพราะจิตมันมีอารมณ์เสียเรื่อย มันเป็นเหยื่อของระบบประสาทเสียเรื่อยไป ขอยุติการบรรยายด้วยความหมดเรี่ยวแรง สมควรแก่เวลาลงเพียงเท่านี้