แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก็ดีที่ไม่ใช่พระบวชสองสามวันจะสึก สองสามเดือนจะสึก นี่ก็ไปอีกเรื่องหนึ่งนะ
ในชั้นต้นนี่ อยากจะพูดให้เป็นที่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบวช คำว่าบวชนี้มันเกิดมีความหมายต่างกันเป็นสองสามอย่างเสียแล้ว คนหนุ่มบวชเข้ามาเพื่อจะศึกษา ฝึกฝน เกี่ยวกับด้านจิตใจให้เหมาะสำหรับที่จะออกไปครองเรือนนั้นมันก็มี นี่ตามหลักเกณฑ์ของพวกพรหมจารี ศึกษาฝึกฝนอบรมให้ดี แล้วก็ไปเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน บวชอย่างนี้ก็มี ไม่ใช่ไม่มี และก็มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทีนี้ว่าถ้าคนครองเรือนแล้วเบื่อ อยากจะพ้นจากเรื่องโลกๆ เรื่องความทุกข์อย่างเรื่องโลกๆ ก็ไปบวช แล้วก็เพื่อไปต่อไป ไม่ได้กลับมา ไม่ได้กลับมาครองเรือน ไปต่อไปจนสุดท้ายสุดของเรื่องบวช มันก็มี มันต่างกันมากน่ะ
ฉะนั้นคนหนุ่มบวช มันก็จะเพื่อไปศึกษาฝึกฝนตัวเองให้มันเหมาะสม ที่จะเป็นพ่อบ้านที่ดี มีความรู้เพียงพอ มีการบังคับจิตได้เด็ดขาด ก็เป็นพ่อบ้านที่ดี ฉะนั้น คนหนุ่มบวชก็เป็นอย่างนั้น ถ้าครองเรือนแล้วบวช มันก็บวชเพื่อจะไปเลยไปทางโน้น ไม่กลับมาทางนี้ อย่างพระพุทธเจ้านี้ท่านจัดเป็นพวกหลัง ต้องอยู่หลัง เอาพวกที่สองนะ คือ พวกที่ครองเรือนแล้วไปบวช นี่ถ้าว่ามันยัง ยังที่จะต้องกลับไปครองเรือน จะมาศึกษาเรื่องที่เหมาะสำหรับจะไปครองเรือน มันต้องอีกอย่างหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง มันก็ต้องพูดกันคนละเรื่อง มันก็คงจะคิด คิดว่าจะพูดเรื่องคนที่จะบวชเพื่อดับทุกข์ เพื่อพ้นทุกข์ไปข้างหน้าน่ะ ไม่ใช่กลับไปครองเรือน ถ้าจะพูดสำหรับผู้จะออกไปครองเรือน ต้องพูดอีกอย่างหนึ่งนะ คนละแนวกัน
ทีนี้ก็ได้ยินว่า ศึกษาเรื่องปรัชญา สนใจเรื่องปรัชญา นี่ก็อยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆ นี้ ขอให้ฟังให้ดีๆ ว่าคนไทยนี่ไปยืมภาษาอินเดียมาใช้อย่างโง่เขลาที่สุด ใช้คำอย่างนี้เลย ไม่เกรงใจล่ะ ที่เอาคำว่า ปรัชญา มาเป็นคำแปลของคำว่า Philosophy นี่ เป็นความโง่เขลาที่สุด คำว่า Philosophy ที่มาแปลกันว่า ปรัชญา นั้น มัน มันไม่ใช่ความรู้ที่เด็ดขาดอะไร เป็นความรู้ที่อยู่ระหว่างเทียบเคียง ทดลอง ค้นคว้า ยังไม่ยุติ ไอ้ที่ฝรั่งเรียกว่า Philosophy นั่นน่ะ คนอินเดียเขาแปลว่า ทัศนะ ทัศนะ View ทัศนะนั่น เช่น ทัศนะ 6 ที่มีอยู่ในอินเดียนั่นน่ะ นั่นนะคือสิ่งที่เรียกว่า Philosophy ถ้ามันเป็นปรัชญา ปรัชญาแล้วมันเป็นเรื่องที่รู้จริง หยุด เด็ดขาด รู้จากการทำสมาธิ ภาวนา เห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีจิตถอยกลับจากโลก ไม่เอากับมึงแล้วโว้ย นั่นน่ะ มันจึงจะเป็นปรัชญา แปลว่า ปัญญา ปัญญา อย่างนี้ไม่ใช่ Philosophy ฉะนั้น พุทธศาสนา ไม่ใช่ Philosophy แต่เดี๋ยวนี้เขาเอาไปทำเป็น Philosophy ในนามว่า ปรัชญา ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Philosophy นั้นมันไม่ใช่ปรัชญา ของภาษาอินเดีย มันเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ แล้วก็มีมากทัศนะด้วยกัน นยายะ วิเสสกะ วิมังสะ สังขยะ (6:18) อะไรก็ตาม พวกเหล่านั้นเป็นทัศนะหนึ่งๆ แต่ถ้ามันเป็นธรรมะ ธรรมะในพุทธศาสนาแล้วมันไม่เป็น Philosophy คือมันไม่เป็นปรัชญาอย่างที่เรียกว่าเป็น Philosophy มันเป็นปรัชญาแท้จริงของภาษาอินเดียที่มีความรู้แท้จริง คือ ปัญญา ปัญญา หรือ วิปัสสนา เห็นแจ้งประจักษ์ตามที่มันเป็นจริงน่ะ ก็จึงจะเรียกว่าปัญญาในภาษาบาลี หรือเรียกว่าปรัชญาในภาษาสันสกฤต
แต่เดี๋ยวนี้ทั้งโลกน่ะมันเมา Philosophy ฝรั่งเขานิยมคำนี้ เขาถือว่าประเสริฐที่สุด พอมาศึกษาพุทธศาสนาก็จะจัดให้เป็น Philosophy ทั้งหนังสือทุกเล่มที่ฝรั่งมันเขียน ไปดู มัน Philosophy ทั้งนั้นน่ะ Philosophy Buddhism, Buddhist Philosophy แล้วแต่มันจะเรียก ไอ้เรามันโง่ โง่ไปตามฝรั่ง ไปเอาพุทธศาสนาเป็น Philosophy ก็ได้เหมือนกัน จะเอาไปพูดอย่าง Philosophy ก็ได้ จะมาพูดอย่างพุทธศาสนาเป็นปรัชญา แท้จริงมันก็เป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ขอให้เห็นชัดเสียเถิดว่า พุทธศาสนาแท้ๆ น่ะ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็น Science มันไม่ใช่ Philosophy แต่พวกฝรั่งเขาเอาไปทำให้เป็น Philosophy เขียนหนังสือ Philosophy Buddhism ไม่รู้กี่สิบเล่ม ต่อกี่สิบเล่มในโลกนี้ นั่นมันเขว มันไขว้เขวกันอยู่อย่างนี้
พุทธศาสนานี้มันโดยแท้จริงน่ะมันเป็นวิชาธรรมชาติ เด็ดขาด ตายตัว ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างนี้ ดับทุกข์ ดับอย่างนี้ ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จะเอาไปพูดให้เป็น Philosophy ก็ได้เหมือนกัน แต่เอาไปพูดวิธีการพูดอย่าง Philosophy ใช้วิธีศึกษาอย่าง Philosophy มันก็ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ได้ แล้วมันจะสนุกด้วย ถ้าพูดอย่างเป็นปัญญา เป็นปรัชญาโดยแท้จริงมัน มันไม่มีเรื่องพูดมากมาย ฟัดไปฟัดมา ไม่รู้จบเหมือนเรื่อง Philosophy คือ มันจะรู้จริง ละกิเลสได้จริง เป็นพระอรหันต์ไปเลย ไม่มาทุ่มเถียงกันด้วยทัศนะนั่นนี่ แต่ว่าเรื่องที่เป็นหลักพุทธศาสนา เป็นวิทยาศาสตร์นี่ จะเอาไปพูดให้เป็น Philosophy ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องอริยสัจก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี เราจะศึกษา เราจะพูดมันอย่าง Philosophy ก็ได้ นี่พูดอย่างศาสนา อย่างเป็นพุทธศาสนา อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ ฉะนั้นขอให้รู้ว่ามันต่างกัน Philosophy นี่มันฝากไว้กับการคำนวณ มัน มัน ไม่มีความจริง หรือตัวจริงมาเป็นเครื่องพิสูจน์ทดลอง แล้วมันตั้งสมมติฐาน สมมติว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ที่เรียกว่า Hypothesis นั่นน่ะ สมมติฐาน เรื่องอย่างนี้ไม่มีในวิทยาศาสตร์น่ะ คือ มันไม่ต้องสมมติอะไร มันเอาของจริงเอาตัวจริงขึ้นมา เช่น เราเอาตัวความทุกข์ที่มีอยู่จริงๆ นี่มาศึกษา พิสูจน์ ทดลอง แล้วก็พบไอ้เรื่องดับทุกข์เป็นความจริงขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าพูดอย่าง Philosophy ก็สมมติว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น จะทำอย่างไร สมมติว่าเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ แล้วจะเป็นอย่างไร
วิทยาศาสตร์มันมีการกระทำที่เป็นการพิสูจน์และทดลอง มัน Researched มัน Experiment แล้วมันก็หา Conclusion โดยตรงได้ แต่ถ้าว่าเป็น Philosophy มันไม่เป็นอย่างนั้น มันได้แต่เทียบเคียงเรื่อยไป มีเหตุผลฝ่ายโน้นที มีเหตุผลฝ่ายนั้นที เขาจึงเรียกว่ามันเป็นวิทยาการชนิดที่ไม่มีจุดจบ ไม่มีจุดจบเพราะมันตั้งสมมติฐานได้เรื่อยไป หากคนที่เขามองเห็นข้อนี้ แล้วเขาก็พูดว่ามันเหมือนกับรางรถไฟสองรางคู่กันที่มันไม่มีวันพบกัน ไม่มีวันพบกันน่ะ นั่นน่ะคือลักษณะอาการของ Philosophy แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ มันจะพบจุดจบ มันจะพบสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ ดับทุกข์ได้ พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้ไม่ได้เป็น Philosophy แต่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือจะเรียกให้โดยตรงก็เรียกเป็น ศาสนา ดีกว่า อย่าเอาไปทำเป็น Philosophy เลย
คนไทยเรานี่ยังโง่ ยังตามก้นฝรั่ง ฝรั่งชอบอย่างไร ให้เรียนอย่างไร ก็เอาอย่างนั้นๆ น่ะ แม้แต่การเรียนของพระเรานี่ก็ยังตามก้นฝรั่ง คิดดูให้ดีๆ มันไม่มีวันพบกันกับพระนิพพานน่ะ ถ้าเรียนอย่าง Philosophy นี่ผมจะบอกให้อย่างนี้เลยว่า ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาอย่าง Philosophy จะไม่มีวันพบกับนิพพาน จะเหมือนกับรางรถ ทางรถไฟ รางรถไฟสองเส้นเป็นคู่กันไปเรื่อย ไม่มีวันบรรจบกัน แต่ถ้าเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ก็อย่างศาสนานี่ ก็จะพบ จะพบจุดจบ คือ ดับทุกข์ได้อย่างไร ดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้าเคยเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาบ้างแล้ว ก็ไปพิสูจน์ เอาไปศึกษาดู มันเข้าใจไม่ได้อย่างเรียนในห้องเรียน ในโรงเรียนนักธรรม เรียนนั้นน่ะ มันเอามาเรียนอย่างเหมือนกับ Philosophy มันเรียนอย่างคำนึงคำนวณ มันเรียนอย่างไม่มีตัวจริงมาวางอยู่ตรงหน้าแล้วพิสูจน์ทดลอง
เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นต้นนี้ มันจะเป็น Philosophy ได้ พูดอย่าง Philosophy ได้ เถียงกันอย่าง Philosophy ก็ได้ แต่แล้วพอถึงการดับทุกข์ได้จริง บรรลุการดับทุกข์ได้จริง คือพระอรหันต์แล้วมันก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณจะไม่เผลอในข้อนี้น่ะ ยกตัวอย่างว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาท มันจะเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับพระอรหันต์ ผู้ประจักษ์แจ้งแก่ความทุกข์ ความดับทุกข์ ว่าเป็นอย่างไร แต่มันจะเป็น Philosophy แก่คนโง่บ้าเรียน เมาเรียน เมาวิชาความรู้เป็นบ้าหลัง นั่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่เรียน เรียนเรียน กันอยู่นี่ มันจะเป็นปรัชญา อย่าง Philosophy กระดากที่จะเรียกมันว่าปรัชญา เรียกมันว่า ทัศนะ ทัศนะ ทัศนะหนึ่งๆ นี่พวกอินเดียเขาดูถูก แล้วเขาโกรธมาก แล้วเขาดูถูกดูหมิ่นคนไทยว่าโง่ ที่ไปเอาคำว่า ปรัชญา ไปใช้เป็นคำแปลของ Philosophy คำแปลของ Philosophy ที่ถูกต้อง คือ คำว่า ทัศนะ ทัศนะ ทัศนะ 6 ในอินเดีย ที่มีอยู่ตลอดเวลา ศึกษากันอยู่จนปัจจุบันนี้ นั่นน่ะคือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Philosophy
กลัวว่าพวกเราจะโง่ ว่าจะพ้นทุกข์ได้ด้วยวิถีทางของ Philosophy ที่เอามาเรียกว่า ปรัชญา นี่มันโง่อย่างกลับหลังกันอยู่เลย มันไม่ใช่ปรัชญา มันเป็น Philosophy แต่จะเกณฑ์ให้เป็นปรัชญาให้ดับทุกข์ได้ มันก็ไม่ ไม่ ไม่มีทาง ไม่มีทาง เอ้า, ชอบเรียนอย่าง Philosophy ก็เรียนไปสิ เรียนไปสิ มันไม่มีจุดจบหรอก เพราะมันหาเหตุผล หาการขัดแย้ง หาคำนวณ หาอะไรมา หากเสริมไปได้เรื่อยไป ไม่มีจุดจบ นี่เป็นความรู้ที่ไม่มีจุดจบ สำหรับ Philosophy และมันแยกแขนงไปได้ ไม่รู้จักกี่สาย กี่ทาง ไม่ ไม่ ไม่มีวันจบ มัน มันไม่ใช่เรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของนักปราชญ์ บ้าศึกษา เมาศึกษา หลงศึกษา หลงวิชชา สมกับคำว่า Philosophy มันแปลว่า บ้าวิชชา รักวิชชา
นั่นคุณมาตั้งใจจะศึกษาปรัชญา ฉะนั้น ก็ขอให้เป็นปรัชญาอย่างภาษาอินเดีย เจ้าของภาษา อย่าให้มันเป็นอย่าง Philosophy ซึ่งมันจะเป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการดับทุกข์เลย แล้วมันก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ก็ทำได้อย่างไม่มีจุดจบเหมือนกัน เรื่องอริยสัจไปพูดกันอย่างปรัชญา จะไม่มีจุดจบ เพราะมันไม่มีการปฏิบัติลงไปโดยตรงบนสิ่งนั้นๆ มันมีแต่สมมติฐานไปเรื่อย ถ้าจะเอามาทำอย่างปรัชญา ก็ต้องทำอย่างวิธีการทางพุทธศาสนาเรานี่ เอามาทำให้เป็นสมาธิวิปัสสนา เรียนลงไปตรงๆที่ตัวสิ่งนั้น ไม่มีสมมติฐาน ไม่ต้องใช้สมมติฐาน ผู้ศึกษาจะต้องรู้จักความทุกข์ที่กัดกินอยู่ในใจ ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาอย่างพุทธศาสนาหรืออย่างวิทยาศาสตร์แล้วก็จงเรียนที่ตัวความทุกข์ตรงๆ ลงไปก่อนเป็นข้อแรก คือ จะต้องรู้เรื่องของความทุกข์ รู้อย่างจริงๆ ไม่ใช่คำนวณ คือมันกำลังกัดกินหัวใจของเราอยู่อย่างไร นั่นแหละ ให้มันรู้สึกอย่างนั้นเถิด แล้วจึงค่อยดูว่ามันมีเหตุมาจากอะไร จนค้นพบเหตุแล้วก็จัดการกับเหตุนั้น ความทุกข์มันก็ดับไป จัดการที่เหตุน่ะ อย่าไปจัดการที่ตัวทุกข์เลย จัดการที่เหตุของมัน จดจำไว้ดีๆ ถ้าไปจัดการที่ตัวทุกข์ แล้วมันบ้า ไปเอาไม้สั้นไปรันขี้ บรมโง่ เอาไม้สั้นไปรันขี้ หมายความว่าอย่างไร มันเลอะ เทอะหมดน่ะ แล้วมันก็ไม่สำเร็จหรอก จะไปจัดการลงที่ตัวทุกข์ จะดับทุกข์ที่ตัวทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องดับที่เหตุของทุกข์ อริยสัจที่ ๑ ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อริยสัจที่ ๒ เหตุของความทุกข์เป็นอย่างนั้น อยางนั้น อริยสัจที่ ๓ ทุกขนิโรธดับ ทุกข์มันก็ดับที่ตัณหา ไม่ใช่ดับที่ตัวทุกข์น่ะ หมายความว่าดับที่เหตุของความทุกข์น่ะ ถ้าไปดับที่ตัวทุกข์มันก็เลอะเทอะเหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ มันต้องดับที่ตัวทุกข์ ทุกเหตุดับที่ตัวเหตุของความทุกข์ มันก็ไม่มีขี้ให้รัน หรือว่าอยากจะรันก็รัน ด้วยไม้ยาวๆ ยังจะดีกว่าไม้สั้น
นี่ขอให้เห็นว่า เรื่องธรรมะ เรื่องพระศาสนานี้ มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ทำลงไปจริงๆ ที่ตัวสิ่งที่มีอยู่จริง ด้วยการพิสูจน์และทดลองของจริง ไม่มีสมมติฐาน ไม่มีการคำนวณ ด้วยเหตุผลอะไรทำนองนั้น แม้เราจะใช้คำว่า เหตุผล กับความทุกข์และความดับทุกข์ ที่แท้มันก็จัดการลงไปบนตัวจริง ไม่ใช่พูดด้วยเหตุผลสำหรับพูด นี่ระวังให้ดี ขอให้เป็นปรัชญาอย่าให้เป็น Philosophy ให้เป็นปรัชญาตามความหมายเดิมของชาวอินเดีย คือ รอบรู้ รอบรู้ รอบรู้ แล้วให้มันอยู่ในรูปที่เรียกว่า ศาสนา ก็จะยิ่งดี ก็ได้และก็ยิ่งดี Religion Religion แต่เดี๋ยวนี้คนเขาถือว่า Religion เป็นคำที่ใช้กับศาสนาคริสเตียน เลยเป็นมีพระเจ้า มีพระเจ้า ตามแบบศาสนาคริสเตียน ถึงพวกฝรั่ง มันก็ถืออย่างนั้นว่าต้องมีพระเจ้าจึงจะเป็น Religion แต่ที่แท้มันไม่เป็นอย่างนั้น คำว่า Religion มันไม่ได้แปลว่ามีพระเจ้า คำว่า Relig Relig หรือเล็กเนี่ย แปลว่าปฏิบัติให้เกิดการผูกพันน่ะ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด แต่ถ้ามันโง่เอาสิ่งสูงสุดเป็นพระเจ้า มันก็ไปติดอยู่ที่พระเจ้า ถ้าเราเป็นพุทธศาสนาเราเอาสิ่งสูงสุด คือ นิพพานหรือความดับทุกข์น่ะ ไอ้ Religion หรือตัวศาสนา มันเป็นระบบการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วทำให้การถึงกันเข้าหรือสัมพันธ์กันเข้าระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด ถ้ามันถือพระเจ้า เอาพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด ก็ตามใจมัน เราไม่เอาด้วย เราไม่เกี่ยวข้องด้วย เราเอาสิ่งสูงสุดเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง ที่เรียกว่า นิพพาน ให้มันได้ตามบทที่ว่า นิพพานัง นิพพานัง ปะระมัง วัตทันติ พุทธา ผู้รู้กล่าวนิพพานว่า เป็นบรมธรรม บรมธรรมคือสิ่งสูงสุด ใช้คำว่า สิ่งสูงสุดกันดีกว่า ผูก ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด และสิ่งสูงสุดหมายถึงที่ดับทุกข์สิ้นเชิงคือ นิพพาน ไม่ใช่พระเจ้า พวกที่มีพระเจ้าเป็นหลัก มันก็ไป ไป ไปพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด เราก็ไม่เอาด้วย แต่เขาก็ผูกขาดตามแบบของเขาว่า ถ้าไม่มีพระเจ้า ไม่เป็น Religion ก็ตามใจเขา เราจะถือเอาตามความหมายตรงๆ ของเขาว่า Religion Lig แปลว่า Observe Leg แปลว่า ผูกพัน แล้วแต่ว่ามันมาจาก Lig หรือ Leg เอาสองคำมาผสมกัน มันก็เป็นปฏิบัติให้เกิดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด นั่นน่ะ ศาสนา ฉะนั้น จึงควรจะรู้ไว้ว่า แม้พุทธศาสนาก็เป็น Religion ถ้าถือเอาความหมายของ Religion อย่างถูกต้อง ก็เป็น Religion
มีปัญหาเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย คือ พวกชาวพุทธที่มีอยู่ในอินโดนีเซียก่อน ก่อนอิสลามเข้ามาก็มีอยู่มาก แล้วมันก็เหลืออยู่ เหลืออยู่จนบัดนี้ ชาวพุทธอย่างนั้นรุ่นโน้นน่ะ เขาอยู่ตามแบบของเขา ไม่มีพระเจ้าตามหลักพุทธศาสนา เขาไม่มีพระเจ้า ทีนี้พอรัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายใหม่ออกมานี่ก็ ถ้าไม่มีศาสนา ไม่มี Religion น่ะ จะไม่ถือว่าเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาเลยหาว่าพวกชาวพุทธก่อนโน้นที่ตกค้างหลงเหลืออยู่น่ะไม่มี Religion เพราะไม่ถือพระเจ้า นี่เราต้องช่วยกันโต้ทางแก้ โต้ทาง ว่าเขามีพระเจ้า มีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างบุคคล พระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล พระเจ้าอย่างกฏของธรรมชาติ เท่ากับมีพระเจ้าเหมือนกัน คือ มีสิ่งสูงสุดเหมือนกัน เมื่อโต้กันอย่างนี้เขาจึงยอมว่าไอ้ชาวพุทธพวกนั้นก็เป็นผู้ที่มี Religion คือมีศาสนา และก็ยอมรับว่าเป็นพลเมืองที่ถูกต้องของประเทศชาติ และก็ได้รับเงินทรัพย์สินที่ๆเขามีตามให้ตามกฎหมายแก่พลเมือง ก็ได้รับ ก่อนนี้เขาจะไม่จ่ายให้แก่คนเหล่านี้ เขาหาว่าไม่มีศาสนาก็ไม่ใช่พลเมืองที่ถูกต้องของอินโดนีเซีย อย่างนี้เป็นต้น
ดู อย่าทำเล่นกับคำว่า Religion มันก็ดิ้นได้ แล้วสิ่งสูงสุดนั้นคืออะไร ถ้าสิ่งสูงสุดเป็นพระ เป็นพระเจ้า แล้วก็เป็นของศาสนานั้น ถ้าสิ่งสูงสุดเป็นนิพพานนั้นก็เป็นของพวกเรา ของพุทธศาสนา ฉะนั้น ขอให้ถือว่าถ้าจะถือกันว่า พุทธศาสนาเป็น Religion แล้ว ก็ให้เข้าใจถูกต้องว่าสิ่งสูงสุดที่จะถึงนั้นคือ นิพพาน สิ่งสูงสุดยิ่งกว่าสิ่งใด คือ ความดับทุกข์ ภาวะดับทุกข์สิ้นเชิง ว่างจากกิเลสและความทุกข์โดยประการทั้งปวง อย่างนี้เป็น Religion อย่างพุทธศาสนา แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ Philosophy แต่คนโง่มันจะยืมเอาไปใช้อย่างวิธี Philosophy ก็ได้เหมือนกัน เพราะมันไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตลอดเวลาที่ยังไม่เข้าใจก็เป็น Philosophy ไปพลางก่อน พอเข้าใจหรือบรรลุธรรมะแล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปเลย อย่างพระอรหันต์ดับทุกข์สิ้นเชิงแล้ว เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับพระอรหันต์ คงเป็น Philosophy สำหรับคนโง่ต่อไป เป็นทัศนะต่อไป อย่าไปเรียกว่าเป็น ปรัชญา ถ้าเป็นปรัชญา เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ที่แท้จริง ที่มันมีความจริง ที่มันดับทุกข์ได้ นี่ขอให้เข้าใจอยู่ว่า ถ้าใครว่าปัญหามันอยู่ที่คำพูด มันไม่ถูกต้อง ที่ใช้อยู่นี่มันไม่ถูกต้อง มันดึงไปดึงมาหรือมันกำกวม
ถ้าคุณสนใจคำว่า ปรัชญา แล้วก็ให้มันอย่างความหมายเดิม ของอินเดีย คือ รู้จริงอย่างวิธีวิทยาศาสตร์ มีจุดหมาย จุดมุ่งหมายสูงสุดปลายทางคือดับทุกข์สิ้นเชิง อย่าไปเป็น Philosophy ที่เป็นความรู้อันไม่รู้จบ อยู่บนการคำนวณเรื่อยไป เป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ ไม่มีจุดจบ ละกิเลสไม่ได้ บรรลุนิพพานไม่ได้ นี่เขาพูดอย่างนี้ Philosophy ไม่อาจจะละกิเลส และนิพพานได้ ต้องปรัชญา ที่ถูกต้องตามความหมายของชาวอินเดียนั่นแหละนี่จึงจะละกิเลสและดับทุกข์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ พวกเรามันโง่ เอาคำว่า Philosophy กับคำ ปรัชญา มาเป็นสิ่งเดียวกันเสีย จึงขอบอกให้ทราบไว้ว่า จงรู้จักแยกออกจากกันเถิด ถ้าเป็นปรัชญาก็ขอให้เป็นปรัชญาในความหมายเดิมของภาษาอินเดีย ดับทุกข์ได้ แต่ถ้าปรัชญาเป็นPhilosophy ของพวกฝรั่งพวกคริสต์พวกสมัยโน้นแล้ว ดับทุกข์ไม่ได้ ละกิเลสไม่ได้ ได้แต่นั่งคิด นั่งค้น นั่งคำนวณ นั่งดึงไปดึงมา ไม่มีจุดจบ ดีแล้วที่ต้องการจะรู้ปรัชญา แต่ขอให้เป็นปรัชญาที่ถูกต้องตามความหมายของคำๆ นี้ พุทธศาสนาเป็นปรัชญาแน่นอน แต่ไม่เป็น Philosophy คุณก็จะฟังไม่ถูก เพราะว่าคุณเอาไปเป็นสิ่งเดียวกันเสีย
จะเป็นใครก็ตามในเมืองไทยที่ได้ทำผิดเป็นคนแรก เอา Philosophy มาแปลเป็นปรัชญาของชาวอินเดีย ชาวอินเดียเขาก็ดูถูก ดูหมิ่น ว่ามันโง่ มันหลับตาทำ มันไม่ถูกหรอก Philosophy แปลว่า ทัศนะ ทัศนะ คือ ความเห็นน่ะ ทัศนะ View เอาละทีนี้ ถ้าคุณต้องการจะรู้จักปรัชญา ซึ่งไม่ใช่ Philosophy น่ะต่อธรรมะแล้ว ก็ขอให้ศึกษาตามวิธีการที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ไม่ต้องตั้งสมมติฐาน อย่าไปตั้งสมมติฐาน สมมติอะไรขึ้นมาเป็นตัวแทน เอาตัวจริง เอาเรื่องจริง คือ ความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ ที่มันกัดกิน เผาลน ทิ่มแทง แผลอยู่ในใจนั่นน่ะ เอาตัวนั้นน่ะมา รู้สึก โอ้ รู้สึก ว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ แล้วค่อยๆ ศึกษาไปจนรู้ว่ามันเป็นเพราะเหตุไร ถ้าดับคือดับที่เหตุของมัน แล้วก็จะดับได้ คือ เรื่องของอริยสัจทั้งสี่นั่นนะ
เรื่องอริยสัจทั้งสี่เป็นปรัชญา แต่ไม่ใช่ Philosophy จะเอาไปพูดเป็น Philosophy ก็ได้ถ้าอยากจะพูด เพราะมันมี มี มีวิธีพูด มีการพูด ขอให้นึกถึงพระบาลีจุดตั้งต้นที่สุดที่ว่า (28:43)ทุพเพ ตาหัง ภิกขะเว เอ สารหิ จะ ทุกขัญ จะ ปัญญา เปมิ ทุกขะสัจจะ นิโรธัง ภิกษุทั้งหลาย ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น เป็นอันว่าพระพุทธศาสนานั้นจะไม่พูดเรื่องอื่น นอกจากเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ถึงจะกระจายให้ละเอียดกว้างขวางไปเท่าใด ก็อยู่ในความหมายของคำว่า ทุกข์ กับ ดับทุกข์ เท่านั้นน่ะ
ไอ้เรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องตายแล้วเกิด เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ก็ไม่รู้หรอก ถ้ามันไม่เรื่อง ไม่ใช่เรื่องทุกข์ และดับทุกข์ แล้วมันไม่ใช่พุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดนี่มันพูดอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าน่ะ ไม่ใช่ของพุทธศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้า และคนอินเดียมันก็พวกหนึ่งก็พูดว่าตายแล้วเกิด พวกหนึ่งก็ตายแล้วไม่เกิด พวกหนึ่งก็ตาย ก็พูดว่า เกิดบ้างไม่เกิดบ้างน่ะ เป็นอย่างนี้ นั้นไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทเรานี่มาพูดเรื่องนี้กันหมดเลย มาถามปัญหาแต่เรื่องนี้ ตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิดนี่ มันไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าเป็นพุทธศาสนามันต้องถามว่า ดับทุกข์อย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร แล้วก็พุทธบริษัทเรานี่ มันบาปลึกโดยไม่รู้สึกตัว คือไปยอมรับลัทธิที่ว่า ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด นั่นน่ะ ไว้เสียเต็มที่ คือ พวกฮินดู พวกศาสนาพราหมณ์ ฮินดูที่เขาถือว่าตายแล้วเกิด เวียนว่ายไปตาม ตามไอ้นี่เป็นอุปนิษัท คัมภีร์อุปนิษัทเข้ามาสอนก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามา ก่อนแต่พุทธศาสนาจะมาถึงดินแดนส่วนนี้น่ะ ชาวอินเดียได้มาแล้ว แล้วพาเอาคำสอนแบบอุปนิษัท แบบตายแล้วเกิดเป็นไปตามกรรม นี่มาสอนไว้ก่อนแล้ว ฝังหัวแน่นอยู่ในคนเหล่านี้แล้ว ให้เชื่อตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดดิบโดยส่วนเดียว พอมาถึงพุทธศาสนาจะมาสอนเรื่องไม่มีตัวตน ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นี่มันสอนยาก สอนไม่ได้ แล้วมันยังลำบาก ที่ว่าตามความรู้สึกของคนทั่วไปที่มีชี สิ่งที่มีชีวิตมันจะรู้สึกว่าตาย ตายแล้วก็ไม่อยากจะตาย แล้วมันอยากจะเกิด ความคิดมันจึงไปในทางที่ว่ามันจะเกิดอยู่เรื่อยไม่รู้จักสิ้นสุด มนุษย์มันเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติ
เกิด พุทธศาสนามันไปลึกกว่านั้น มันไม่มีใครได้เกิด ไม่มีใครได้ตาย มีแต่ความเปลี่ยนแปลงของขันธ์ทั้งหลาย ของสังขารทั้งหลาย ไม่ได้มีคน ไม่ได้ ไม่มีบุคคล นี่มันจึงยุ่งยากลำบาก ถ้าจะสอนความจริงเรื่องไม่มีบุคคล คือ พูดไปอย่างไม่มีอะไรมาให้ดู มันก็กลายเป็นเรื่อง Philosophy ไปอีกแหละ ใช้วิธี Philosophy ที่จะพูด พูดกันว่าตายแล้วเกิด หรือไม่เกิดอะไรไป เกิดอะไร มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ฉันไม่พูดเรื่องใดอื่นนอกจากเรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ไอ้นั่นน่ะ เป็นพุทธปรัชญา ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ก็ช่างหัวแม่มัน ถึงมันจะเกิดอีก มันก็ต้องดับทุกข์อย่างนี้ มันอยู่ที่นี่มันก็ดับทุกข์อย่างนี้ มันจะเกิดมาอีกใหม่ มันก็ต้องดับทุกข์อย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่เสียเวลาไปพูดเรื่องเกิดหรือไม่เกิด มาเสียเวลาแต่พูด พูดว่าจะดับทุกข์กันอย่างไรดีกว่า พระองค์จึงตรัสเรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องทุกข์ก็ขยายออกไปเป็นว่าทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องดับทุกข์ก็ขยายออกไปดับทุกข์และวิธีที่จะดับทุกข์ กลายเป็นอริยสัจสี่ เป็นเรื่องจริง ไม่มีต้องมีสมมติ ไม่ต้องมีสมมติฐาน เอาตัวจริงเข้ามาพิสูจน์ ค้นคว้า ทดลองในห้องทดลองแห่งสมถะและวิปัสสนา นี่เรียกว่าห้องทดลอง
สมถะ คือ เตรียมจิตให้พร้อมที่จะดู จะเห็น จะรู้สึก นี่เป็นสมาธิ แล้วก็ดู เห็น รู้สึก จัดการให้มันถูกต้อง ก็เรียกว่า วิปัสสนา หากสมถะแรงกล้าเท่าไร วิปัสสนาก็แรงกล้าเท่านั้น และมันเป็นเกลอกัน เป็นคู่หูกัน มันต้องมาด้วยกันทั้งสมถะและวิปัสสนา นั่นน่ะจึงมีฝึกสมาธิให้สำเร็จ แล้วก็ฝึกปัญญา ฝึกวิปัสสนา โดยใช้สมาธินั่นน่ะเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐาน แล้วมันก็เห็นความจริงไปตามลำดับ เห็นความจริงไปตามลำดับตามที่เป็นจริงอย่างไร โอ้, แล้วมันก็เกิดรู้สึก โอ้, ไว้ไม่ไหว เอากับมันไม่ได้ ก็เลิกยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่เคยหลงรัก อุปาทาน เคยยึดมั่นมาแล้ว ทิ้งไปเสียหมด นี่ มันไม่ใช่ Philosophy ซึ่งต้องคำนวณ ถ้ามันเป็นคำนวณมันเป็น Philosophy แต่ถ้ามันเห็นแจ้งโดยประจักษ์ลงไป แล้วก็เป็นนี่ ปรัชญา ถือเป็นพุทธ เป็นศาสนา เป็นวิธีการของพุทธศาสนา ปรัชญา ก็คือ ปัญญา ปัญญา คำเดียวกับ ปัญญาบาลี เป็นปัญญา สันสกฤต เป็นปรัชญา ปรัชญา
สนใจเรื่องสมาธิ ว่าจะทำสมาธิได้ง่ายๆ นั่นน่ะ ต้องมีพื้นฐานที่ดี มีแผ่นดินเหยียบที่ดี เราจึงจะทำอะไรถนัด เราจะทำงานอะไร จะตัด จะฟันอะไร เราต้องมีการเหยียบที่แผ่นดินที่ดีที่มั่นคง จึงจะทำถนัด เพื่อเราจะมีการเหยียบที่ดี เราจึงต้องมีศีล มีศีลเป็นพื้นฐานให้มีสมาธิได้มั่นคงหรือง่ายขึ้น คำว่า ศีล ศีลนี้มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับที่จะรองรับสมาธิ คือ มันมีภาวะสงบแห่งจิต สงบตามธรรมชาติ ปกติ ภาวะปกติ น่ะ ไม่ใช่ตัวสิกขาบท สิกขาบท ๕ สิกขาบท ๘ สิกขาบท ๑๐ สิกขาบท ๒๒๗ นั่นมันตัวสิกขาบท เมื่อปฏิบัติตามสิกขาบทเหล่านั้น มันจึงจะเกิดศีล คือภาวะปกตินี่ อย่าเอาไปปนกัน สิกขาบทก็เป็นสิกขาบท ศีลก็เป็นศีล บางทีไม่ได้ถือสิกขาบทสักตัวหนึ่ง จิตมีภาวะปกติก็ได้ ถือสิกขาบท ๕ จิตมีภาวะปกติก็ได้ ถือสิกขาบท ๒๒๗ จิตมีภาวะปกติก็ได้ มันสำคัญอยู่ที่ตรงภาวะปกติ ถ้ามีภาวะปกติทางกาย ทางวาจานั่นน่ะ จะเกิดสมาธิได้ง่าย ฉะนั้น ขอให้มีภาวะปกติเถิด จะถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ไม่ ไม่สำคัญหรอก มันเป็นสิกขาบทที่บัญญัติขึ้นไว้เหมาะสม กับพวกหนึ่ง พวกหนึ่ง พวกหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีมุ่งหมายภาวะปกติเท่ากันน่ะ จะถือศีลเพียง ๕ หรือถือศีลตั้ง ๒๒๗, ๓๑๑ อะไรก็ตาม ก็ต้องการเพียงภาวะปกติ มีภาวะปกติแล้วก็มีสมาธิได้โดยง่าย ภาวะปกติพื้นฐาน คือ ทางกาย ทางวาจา และจิตมันก็เป็นสมาธิได้โดยง่าย จิตเป็นสมาธินี้ก็คือว่า บริสุทธิ์จากการรบกวนของนิวรณ์ เรียกว่าบริสุทธิ์ แล้วก็ตั้งมั่น เพราะไม่มีนิวรณ์อะไรรบกวน นึกว่าพร้อมที่จะทำหน้าที่ของมัน เรียกว่า กัมมนียะ จำคำสามคำนี้ไว้ดีๆ สำหรับผู้ที่สนใจสมาธิ ปริสุทโธ ปริสุทธะ แปลว่า บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสรบกวนตอนนั้น สมาหิโต สมาหิตัง ก็ตั้งมั่น ตั้งมั่น ถ้ากัมมนียะ นี่แปลว่าควรแก่การงาน เป็นภาษาวิทยาศาสตร์สักหน่อยก็คือ Active, Activeness นั่นน่ะ คือคำว่า กัมมนียะ พร้อม ว่องไว รวดเร็วที่จะทำหน้าที่ คำนี้เรียกว่า กัมมนียะ ถ้าจิตประกอบไปด้วยคุณธรรมสามอย่างนี้ คือว่า ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย แล้วก็เป็นสมาธิ จิตบริสุทธิ์ จิตมั่นคง จิตสมควรแก่การงาน นี่ทำสมาธิ ต้องทำกันอย่างนี้ จึงจะเป็นสมาธิที่จะไปถึงปัญญา เมื่อบริสุทธิ์ไม่มีนิวรณ์รบกวน มันก็เข้มแข็ง มันก็รวมกำลังได้ มันก็ตั้งมั่นเป็นจุดเดียวได้ แล้วมันก็พร้อม พร้อม คือ คือ อ่อน อ่อน อ่อนที่จะทำหน้าที่น่ะ คือ อ่อน อ่อนต่อการที่จะทำหน้าที่ เหมือนกับว่าง่ายนั่นเอง ความง่ายที่จะทำหน้าที่ เหมือนขี้ผึ้งที่ทำให้อ่อนแล้ว มันก็ง่ายที่จะปั้นให้เป็นอะไรนี่ จิตก็ทำให้อ่อนเป็นกัมมนียะอย่างนี้ได้แล้ว มันก็พร้อมที่จะไปคิดนึกอะไร รู้สึกอะไร มันก็ทำได้ดี
หลังจากที่มีศีลแล้วมันก็มีสมาธิ ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๓ อย่างนี้ ก็ใช้จิตที่เป็นสมาธินี่ส่องลงเข้าไปที่ตัวความทุกข์หรือตัวปัญหา ตัวความทุกข์ คือ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็จะพบ โดยธรรมดาก็ส่องลงไปที่สังขาร หรือขันธ์ทั้ง ๕ คือชีวิตน่ะ ส่องเข้าไปที่ตัวชีวิตก็ได้ เรียกว่า นามรูป คือ กายกับใจ ก็ได้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ก็ได้ หรือจะเรียกรวมๆ กันว่า สังขาร คือสิ่งที่มีการปรุงแต่งนี่ก็ได้ ส่องลงไปที่นั่นให้เห็นตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างไร เดี๋ยวมันก็เห็น เห็น เห็น เห็นชัดขึ้นมา โอ้, มันไม่เที่ยง จะเรียกว่า นามรูป ก็ตาม เรียกว่า ขันธ์ ๕ ก็ตาม เรียกว่า ชีวิต ก็ตาม อะไรก็ตาม มันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง มันมีเหตุปัจจัยของมันที่เปลี่ยนอยู่เรื่อย มันจึงไม่เที่ยง มันจึงไม่เที่ยง ที่ว่าสังขารไม่เที่ยง เพราะมันมีเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนอยู่เรื่อย มันจึงไม่เที่ยง เพราะต้องทนอยู่กับความไม่เที่ยง มันจึงเป็นทุกข์ มันไม่ตามที่เราต้องการน่ะมันเปลี่ยนเรื่อย ไอ้การที่ต้องผูกพันอยู่กับความไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ ไม่อาจจะต่อสู้ได้ ไม่อาจจะต้านทานได้ในความไม่เที่ยงในความเป็นทุกข์น่ะ เรียกได้ว่ามันไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา เห็นไหม ปัญญาจะต้องเริ่มด้วยเห็นอนิจจัง แล้วเห็นทุกขัง แล้วเห็นอนัตตา นั่นคือจุดแรก เห็นความที่สังขาร สังขารไม่เที่ยง เพราะมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงเรื่อย
คำว่า สังขารนี่ก็เหมือนกัน รู้ไว้เถิดว่า มันมีความหมายกว้างหมด แล้วนอกจากนิพพานแล้วก็เป็นสังขารทั้งนั้น คำว่า สังขาร นี่แปลว่า ผู้ปรุงแต่ง ก็ได้ สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง ก็ได้ การปรุงแต่ง ก็ได้ เป็น ๓ ความหมายน่ะ คือเป็นกัตตุก็ได้ เป็นกัมมะก็ได้ เป็นภาวะก็ได้ เป็นกัตตุ แปลว่า ผู้ปรุงแต่ง เป็นกัมมะ แปลว่าที่ถูกปรุงแต่ง เป็นภาวะ แปลว่า การปรุงแต่ง นี่เรียกว่า สังขาร ทั้งนั้นเลย ถ้ามันมีหน้าที่หรือการกระทำที่เป็นการปรุงแต่ง หรือถูกปรุงแต่ง หรือการมีการปรุงแต่ง เราก็เรียกว่า สังขาร ก็ดูไปที่ตัวสังขารน่ะ จะดูที่รูป ร่างกาย นี่ก็ได้ ดูที่เวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้ แต่ละอย่าง ละอย่าง ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง การที่ต้องทำอยู่กับความไม่เที่ยงนี่ มันก็เป็นความทุกข์ เพราะว่าต้านทานไม่ได้ ต่อสู้ไม่ได้ ก็มัน มันไม่มีตัวตน นี่เห็นความที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และไม่มีตัวตนให้ชัดเจนเสียก่อน เรียกว่า เห็นอนิจจตา เห็นทุกขตา เห็นอนัตตตา เสียก่อน ทีนี้ ก็จะเห็น โอ้, มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเองโว้ย นี่เรียกว่าเห็น เห็น เห็น ธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตา มันเป็นไปตามธรรมดาอย่างนี้เอง นี่ถ้าเห็นทำนองนี้ กฎของธรรมชาติบังคับอยู่โว้ย นี่เรียกว่า เห็นธัมมนิยามตา ธัมมนิยามตา อาการที่เป็นอย่างนั้นเรียกว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ มีอาการไม่เที่ยง เห็นอิทัปปัจจยตา ถ้าคุณไม่สนใจ หรือคุณไม่สนใจ คุณก็ ก็คงเลิกหมดแหละ เห็นธัมมัฏฐิตตา ว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง เห็นธัมมนิยามตา มันมีกฎตายตัวของธรรมชาติบังคับอยู่ เห็นอิทัปปัจจยตาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนั้น
อ้า, ที่นี้ ก็เห็นอีกชุดหนึ่ง เห็น สุญญตา โอ, มันว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตนที่จะต่อต้านได้ มันเป็น สุญญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากสาระ แก่นสารที่จะต่อต้านได้ ที่จะเรียกว่าเป็นตัวตนที่จะสู้ได้ น่ะ ไม่มี ว่าง สุญญตา และก็เห็นเป็นตถาตา โอ้, มันเช่นนั้นเองโว้ย มันเช่นนั้นเองโว้ย มันเช่นนั้นเองโว้ย นี่เรียกว่า ตถาตา ถ้าเห็นตถาตาชัดเจนเท่าไร มันก็จะเห็น อตัมมยตา อาศัยกันไม่ได้อีกต่อไป ผูกพันกันไม่ได้อีกต่อไป เลิกกันที เลิกกันที ความรู้สึกที่ทำให้รู้สึกว่า กูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้วโว้ย นั่นแหละเรียกว่า อตัมมยตา จะเป็นพระอรหันต์ทันที จะกระโดดจากโลกียะที่ผูกพันนี้ไปสู่ความหลุดพ้นที่ไม่ผูกพันสิ่งใดเป็น อตัมมยตา อตัมมยตานี้ไม่ค่อยมีใครมาพูดหรอก ผมกล้าท้าว่าคุณยังไม่เคยได้ยินเลยก็ได้ แต่ว่านี่ คือตัวสุดท้าย เป็นจุดเปลี่ยน เป็นจุดเปลี่ยน Transition จากโลกียะไปเป็นโลกุตตระ มันอยู่ที่ตรงนี้อตัมมยตา ความรู้สึก รู้แจ้ง หรือรู้สึก ว่ากูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้ว แปลว่า อาศัยกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว No more dependence ผูกพันกันไม่ได้อีกต่อไปแล้วนั่นล่ะ คือ อตัมมยตา
นี่เป็นวิปัสสนา เป็นปัญญา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชุดหนึ่ง เป็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา ชุดหนึ่ง เห็นสุญญตา เห็นตถาตา เห็นอตัมมยตาชุดหนึ่ง ๓ ชุด ๙ ตา นั่นน่ะ วิปัสสนาที่สมบูรณ์ ลำดับญาณที่สมบูรณ์จะเป็นอย่างนี้ น่ะ คุณดูซิ มันไม่เป็น Philosophy มันเป็นเหมือนกับวิทยาศาสตร์ หากแต่ว่ามันเป็นทางจิต อย่าเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์จะมีแต่ทางวัตถุ ทางเคมี ทางฟิสิกส์ มันไม่ ไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น มันมีได้ทั้งทางจิต แต่มันมีกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันแหละ มีเหตุมีปัจจัย จัดการที่เหตุที่ปัจจัย และมันก็ได้ผลขึ้นมานี่ ก็รู้แจ้งประจักษ์ลงไปโดยแท้จริง ไม่ต้องฝากไว้กับการคำนวณ พิสูจน์ทดลองเท่าไร พิสูจน์ทดลองเท่าไร มันก็ยังเป็นอย่างนี้ นี่จึงเป็นวิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นปรัชญาแต่ไม่ใช่ Philosophy อย่าลืมว่าแยก Philosophy กับปรัชญาออกจากกันเสียทีเถิด จะถูกต้องตามภาษาด้วย จะถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติด้วย
นี่ผู้ที่พอใจปรัชญา จงรู้จักปรัชญา อย่าโง่ไปเอา Philosophy มาเป็นปรัชญาอีกต่อไปเลย พุทธศาสนาเป็นปรัชญาแต่ไม่ใช่ Philosophy ขอให้เป็นปรัชญาชนิดที่ว่าเห็นแจ้งโดยวิธีการที่ถูกต้อง พิสูจน์ ค้นคว้า ทดลอง ที่ถูกต้อง แล้วประจักษ์เป็นความจริงที่ประจักษ์เป็นอันสุดท้าย ซึ่งมันจะทำลายกิเลสได้ บรรลุนิพพานได้ นั่นจึงจะเป็นปรัชญา คือ ตัวพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่เป็น Philosophy เลย ให้ Philosophy มันเถียงหาเหตุผลต่อสู้กันไป เหมือนกับรางรถไฟสองเส้นไม่มีวันพบกัน นั่นล่ะเป็น Philosophy
ที่ขอให้ รู้แยกออกกันโดยสิ้นเชิง ว่า Philosophy ไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาไม่ใช่ Philosophy พุทธศาสนาเป็นปรัชญา แต่จะยืมไปพูดอย่าง Philosophy ก็ได้เหมือนกัน แต่ตัด ตัดกิเลสไม่ได้ บรรลุนิพพานไม่ได้ ถ้าใช้มันอย่าง Philosophy เว้นไว้จะใช้อย่างปรัชญาในวิถีทางวิทยาศาสตร์ เห็นไม่ต้องใช้สมมติฐาน ใช้การทดลอง พิสูจน์ ค้นคว้า ทดลอง พิสูจน์ ค้นคว้า จนพบนี่ ความจริงอันสุดท้าย โดยวิธีการอย่างที่ว่า คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าจะต้องการก้าวหน้าต่อไปยังพระนิพพานแล้ว ให้จงพอกพูนทางของศีล ของสมาธิ ของปัญญา แล้วก็จะดับทุกข์ได้ จะถึงจุดหมายปลายทางหรือสิ่งสูงสุด คือพระนิพพาน
ถ้าสนใจทำศีลให้เป็นศีล อย่าเพียงแต่ถือสิกขาบท พระโดยมากเที่ยวหาบสิกขาบท ๒๒๗ รุงรังไปหมด แต่ไม่มีศีล มันเป็นพระที่ไม่มีศีล มันมีแต่หาบสิกขาบท ๒๒๗ อยู่นั่นล่ะ มันไม่มีศีล คือ ไม่มีภาวะปกติทางกาย วาจา มันได้แต่สมาทาน มันได้แต่ท่อง นี่ชาวบ้านก็เหมือนกัน ท่องสิกขาบท ๕ สิกขาบท ๘ อะไรก็ตาม แต่มันไม่เคยมีศีล พวกนี้รักษาศีลจนตายก็ไม่มีศีล เพราะมันมัวแต่แบกสิกขาบท มันไม่ได้ทำให้เป็นภาวะปกติทางกายและวาจา นี่ชำระส่วนนี้เสียก่อนสิ เพื่อเป็นรากฐานของสมาธิ มันจะเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้นถ้ามีศีล ถ้ามีสมาธิเพียงพอแล้ว มันก็จะเป็นปัญญาหรือเป็นปรัชญาได้ง่ายขึ้น น่าจะเห็นแจ้งประจักษ์ว่าทุกข์เป็นอย่างไรโดยแท้จริง ชนิดที่ทำให้เบื่อหน่าย เลิกกัน เลิกกัน กิเลสทั้งหลายน่ะมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร เห็นแจ้งโดยประจักษ์จนรู้สึกว่า เลิกกัน เลิกกัน พอกันที ใช้คำว่า อตัมมยตา จำไว้ให้ดี ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไป ถ้ายังไม่เข้าใจก็ศึกษาต่อไปจนกว่าจะเข้าใจ จำใจความสั้นๆง่ายๆ จากภายใน ว่า กูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้วโว้ย
นี่ถ้าคุณจะทิ้งบุหรี่น่ะ ก็ถึง อตัมมยตา กูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้วโว้ย จึงจะทิ้งบุหรี่ได้ จะทิ้งขวดเหล้าก็ต้องถึงขนาดที่ว่า อตัมมยตา กูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้วโว้ย ทำไมจะไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้วโว้ยกับบุหรี่ ก็พิจารณาโทษของบุหรี่ พิจารณาโทษของบุหรี่ ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น โทษของบุหรี่เป็นอย่างไร รอบด้าน จนรู้สึก โอ้, มันอยู่ด้วยกันไม่ไหวแล้วโว้ย งั้นเลิกกันที ก็เลิกบุหรี่ได้ เลิกขวดเหล้า เลิกไอ้การพนัน เลิกอบายมุขทั้งหลายก็ตาม ต้องอาศัยความหมายของ อตัมมยตานี่ เห็นแจ้งโดยประจักษ์ว่าอยู่กับมันไม่ไหวแล้ว อาศัยมันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ใจมันปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เลิกกันที อตัมมยตา ที่สูงสุดนั่นเขาก็จะเลิกจากโลกไปสู่โลกุตตระ เป็นหลักในพระบาลีที่มัน มันคงจะฟังยากหน่อยถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา
คนทั้งหลายอยู่ในกามทาส กามทาส ทาสแห่งกาม โดยเฉพาะทางเพศ ทีนี้ ถ้าเอารูปทาส สมาธิที่มีรูปเป็นหลักน่ะมาละกามทาส กามทาสนี่ละเสียได้ด้วยรูปทาส รูปทาสนี่ละเสียได้ด้วยอรูปทาส อรูปทาสนี่ละเสียได้ด้วยอตัมมยตา อตัมมยตา นะ เรียกให้ถูกนะ อตัมมยตา ในพระไตรปิฎกสับสน ชำระกันไม่ถูกต้อง เป็น อกัมมยตา ก็มี เป็น อคัมมยตา ก็มีนะ นั่นน่ะคำผิดๆ ไอ้คำที่ถูกต้องเป็น อตัมมยตา ละกามทาสได้เสียด้วยรูปทาส ละรูปทาสได้เสียด้วยอรูปทาส ละอรูปทาสได้เสียด้วยอตัมมยตา ซึ่งก็ออกไปสู่โลกุตตระ กามทาส ชาวบ้านธรรมดาบูชากาม เรียกว่าอยู่ด้วยกามทาส นี่บางคนหรือบางเวลามันเบื่อ ไม่เอากาม เอารูปล้วนๆ รูปบริสุทธิ์ นี่เรียกว่า รูปทาส ก็นึกว่ารูปทาสมันก็ยังยุ่งเกะกะ เอาอรูปทาสดีกว่า ก็มาอรูปทาส อรูปทาสก็ยังมีตัวตน โอ้ย, แบกหนักโว้ย เลิกกันที ไปสู่โลกุตตระ
นี่ถ้าบวชมาหลายวันแล้ว เรียนพุทธประวัติ ก็คงจะพบข้อความที่ว่าพระพุทธเจ้าออกบวชใหม่ๆ พระสิทธัตถะออกบวชใหม่ๆ เที่ยวศึกษาหาความรู้กับอาจารย์ต่างๆ นี่ ไปสู่สำนักอาฬารดาบส อุทกดาบส รามบุตรเป็นคนสุดท้ายนี่ อุทกดาบส รามบุตรเป็นคนสุดท้ายน่ะ สอนได้เพียงอรูปทาส อรูปทาส ชั้นสูงสุดคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่ก็เข้าใจว่า นี่สุดแล้ว จบแล้ว ดับทุกข์สิ้นเชิงแล้ว พระพุทธเจ้าหรือพระสิทธัตถะยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าตอนนั้น โอ้ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่เอา เท่านี้ไม่เอา ไม่ถือว่าดับทุกข์ได้ ก็ทิ้งอาจารย์คนนี้ไปเสีย ไปหาของพระองค์เอง นี่หมายความว่าอาจารย์คนนั้นมันอยู่แค่อรูปทาส สูงสุดของอรูปทาส เป็น ภวคพรหม ตามที่เขาเรียก ยังมีตัวตน ยังแบกตัวตน ไม่เอา ไม่เอา ก็เลยไปหาไอ้โลกุตตระ
นี่น่ะเป็น Philosophy อย่างไร มันไม่มีทางจะเป็น Philosophy เว้นไว้แต่มันยังไม่รู้ มันยังไม่เข้าใจ มันต้องคำนวณอย่าง Philosophy มันก็ได้เหมือนกันแต่ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าทำอย่างปรัชญา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มันจะละไปได้ตามลำดับ เมื่อมีปัญญาหรือวิปัสสนาสูงสุดแล้ว มันก็ละไปตามลำดับล่ะ จะละกามทาสเสียด้วยรูปทาส ละรูปทาสเสียด้วยอรูปทาส ละอรูปทาสเสียด้วยอตัมมยตา ก็ออกไปสู่โลกุตตระ นี่คือปรัชญาแต่ไม่ใช่ Philosophy ไม่เกี่ยวกับการคำนวณ ไม่ฝากไว้กับการคำนวณ ไม่ถือการเอาผลแห่งการคำนวณเป็นหลัก
ถ้าศึกษากาลามสูตร ๑๐ ข้อ แล้วจะพบว่า ไม่มีตรรกะ ไม่มีนัยยะ คือไม่มี Logic ไม่มี Philosophy ไม่ถือเอาตาม Logic ไม่ถือเอาตาม Philosophy แต่ถือเอาตามความจริงที่ประจักษ์แก่ใจ นั่นมันจึงจะเป็นปรัชญา เป็นตัวแท้ที่ดับทุกข์ได้
ฉะนั้น ขอให้สนใจเถิดว่า จะถึงพุทธศาสนาตัวจริงได้ ต้องถึงได้ด้วยปรัชญาตามความหมายเดิมของภาษาไม่อาจจะถึงได้ด้วย Philosophy แล้วเลิกเรียก Philosophy ว่าปรัชญา เลิกเรียกปรัชญาว่า Philosophy กันเสียเถิด มันจะถูกตามความเป็นจริง มันไม่ทำลายภาษาของเจ้าของเดิม คือภาษาอินเดียของเขา ถ้าชอบ Philosophy ก็แปลว่า ทัศนะ ทัศนะ อย่าแปลว่า ปรัชญา เป็นเพียงทัศนะหนึ่งๆ ทัศนะหนึ่งๆ ไม่ใช่ความจริงอันเด็ดขาด ถ้าเป็นปรัชญาต้องเป็นความจริงอันเด็ดขาดในทางที่ดับทุกข์ได้เท่านั้นน่ะ ความจริงอื่นไม่ต้องการน่ะ จะจริงแค่ไหนก็ไม่ต้องการน่ะ ต้องการแต่ความจริงที่มันดับทุกข์ได้เด็ดขาด ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่น นั่นนี่ ว่าตัวตน ว่าของตนอีกต่อไป มันเพิกถอนสัญชาตญาณที่เป็นตัวตน หรือเห็นแก่ตนเสียได้ จึงจะหมดปัญหา
เดี๋ยวนี้โลกมันกำลังจะวินาศ เพราะความเห็นแก่ตัว ยึดถือตัวตนจนเห็นแก่ตัว การศึกษาในโลกมันไม่ทำลายความเห็นแก่ตัว การศึกษาในโลกทั้งโลกตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงมหาวิทยาลัย มันไม่ได้สอนเรื่องทำลายความเห็นแก่ตัว มันสอนแต่ให้ฉลาด ฉลาด ฉลาด สอนเทคโนโลยี สอนอะไรก็ตาม ล้วนแต่สอนให้ฉลาด ฉลาด ฉลาด แต่ไม่ได้สอนให้ควบคุมความฉลาด มนุษย์เอาความฉลาดไปใช้เพื่อเห็นแก่ตัว มันก็เห็นแก่ตัวมากขึ้น เห็นแก่ตัวมากขึ้น คอมมิวนิสต์ก็เห็นแก่ตัว นายทุนก็เห็นแก่ตัว คนทั่ว กลางๆ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่นายทุน ก็เห็นแก่ตัว ทั้งสามพวกมันเห็นแก่ตัว ไอ้โลกนี้ก็เป็นโลกแห่งความเห็นแก่ตัว มันจึงไม่รักกันได้ มันจึงไม่เห็นแก่ความถูกต้องได้ มันเห็นแก่ตัว เพราะมันไม่รู้ความจริงว่า ไอ้ความทุกข์นี่มาจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวอยู่คนเดียวก็นอนเป็นทุกข์อยู่คนเดียว ปวดหัวนอนไม่ค่อยหลับอยู่คนเดียว ถ้าไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนล่ะ นั่นความเห็นแก่ตัวมันเป็นอย่างนั้น เลิกมันเสีย มันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส เพราะมันเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็เกิดโลภะ เมื่อมันได้ถูกใจ มันก็เกิดโทสะเมื่อมันได้ไม่ถูกใจ เกิดโมหะเมื่อมันได้สิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร มันหลงใหล หลงใหลอยู่ เห็นแก่ตัวทำให้เกิดโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ ให้เราจงจัดการกับความเห็นแก่ตัว ควบคุมความฉลาด อย่าให้ไปฉลาดเพื่อเห็นแก่ตัว แต่ให้ฉลาดเพื่อเห็นแก่ความถูกต้อง และเห็นแก่ผู้อื่น ให้รักผู้อื่นเถิด
เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกมันไม่มี ต้องใช้คำพูดว่ามันเป็นการศึกษาที่บ้าที่สุด ที่สอนแต่ให้ฉลาดอย่างเดียว แล้วไม่ควบคุมความฉลาดกันเสียเลย ขอฝากไว้กับท่านทั้งหลาย ทุกองค์ ช่วยเอาไปด้วย ไปคิดไปนึกเถิด จะแย้ง จะค้าน จะด่าอย่างไร ผมก็พูดอยู่อย่างนี้ว่าการศึกษาในโลกมันบ้าบอที่สุด มันมีแต่สอนให้ฉลาดแล้วมันไม่ควบคุมความฉลาด ไม่มีปัญญาควบคุมความฉลาด ไม่มีศีลธรรมมาควบคุมความฉลาด ทุกคนก็ใช้ความฉลาดเพื่อเห็นแก่ตัว เพื่อกอบโกย เพื่อขูดรีด เพื่อเอาเปรียบไปแล้วตามเรื่อง จึงเป็นโลกทั้งโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว มันกำลังจะวินาศอยู่แล้ว มันสร้างอาวุธขึ้นมาสนองความเห็นแก่ตัวของมัน จึงใช้ทำลายผู้อื่นได้ จะดีแต่มันยังกลัวตายกันอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันยังไม่ใช้ เขาว่าหัวรบปรมาณูนี่ สร้างขึ้นในโลกแล้วตั้งห้าหมื่นหัว ห้าหมื่นหัวนี่ทำลายโลกให้วินาศหมดไปตั้ง ได้ตั้งหลายครั้ง ยังไม่ทันจะใช้ ก็ยังกลัวอยู่ แต่สักวันหนึ่งมันจะใช้น่ะ ถ้าความเห็นแก่ตัวมัน มันบ้าเลือดขึ้นมา เข้าตาขึ้นมา ฉะนั้น รีบศึกษาเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวเถิด มันจะได้เลิกอาวุธปรมาณูร้ายกาจนั้น โลกจะรอด นี่โลกกำลังหวุดหวิดจะวินาศเพราะความเห็นแก่ตัว
จะละความเห็นแก่ตัวต้องอาศัยปรัชญา ไม่ใช่อาศัย Philosophy, Philosophy บ้าๆบอๆ นั้น จะมากำจัดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ในโลกไม่ได้ ต้องปรัชญาเห็นจริง ตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็จะเปลี่ยนจากความเห็นแก่ตัวมาเป็นการเห็นแก่ธรรมะ คือความถูกต้อง หรือเห็นแก่ผู้อื่น สัญชาตญาณแห่งความมีตัวได้ถูกควบคุมไว้ดี ไม่เป็นกิเลส กลายเป็นมีโพธิ คือ มีตัวที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นตัวที่มีปัญญาจนไม่เห็นแก่ตัว ฉะนั้นน ถ้าเรามีความรู้สึกว่ามีตัว ก็มีตัวชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัว อ้า, คือตัวที่มิใช่ตัว พูดแล้วมันฟังยาก มีตัวที่ไม่เห็นแก่ตัว ก็คือมีตัวที่ไม่ใช่ตัว อนัตตา อนัตตา มิใช่ตัว แต่เราก็มีตัว เพราะเรา เรา เรา เราสู้ไม่ได้ เรา เราสู้สัญชาตญาณไม่ได้ มันทำให้รู้สึกว่ามีตัว มีตัวกู มีตัวกู ถูกแวดล้อม มีตัวกู แต่ขอให้มีตัวกูชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัวก็แล้วกัน ความรู้ทางปรัชญาช่วยได้ ความรู้ทาง Philosophy ช่วยไม่ได้ ฉะนั้นอย่าเมา Philosophy รู้ปรัชญาให้ถูกต้อง แจ่มแจ้งแท้จริงแล้ว ก็จะไม่เสียทีที่ว่าสนใจปรัชญา คือ ปัญญาอันสูงสุด เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง และถอนอุปาทานเสียได้ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นออกไป มีเสรีภาพ มีความสงบ มีความเยือกเย็น เป็นชีวิตที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน นี่เป็นผลแห่งปรัชญา แต่ไม่เป็นผลแห่ง Philosophy
เอาล่ะ ผมก็ได้พูดเท่าที่จะนึกได้ว่าจะพูดอย่างไรให้เข้าใจคำสองคำนี้ ได้แต่หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เอาไปใช้ให้มันถูกต้อง ว่า Philosophy เป็นอย่างไร ปรัชญาเป็นอย่างไร พุทธศาสนาเป็นอะไร จะใช้พุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์จะต้องมีหลักปฏิบัติอย่างไร ผมไม่ค่อยสบาย แล้วก็หมดแรงพูด ก็ขอยุติ ขอให้เอาไปพินิจพิจารณาดูให้ดี อย่าเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องจริงที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ว่าเราพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ เราต้องค้นหาในร่างกายนี้ที่ยาวสักวาหนึ่งนี่ ว่า มันมีครบในนั้น เรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ ทางของความดับทุกข์ ไม่ต้องค้นหาข้างนอก เอาห้องทดลองอยู่แต่ในร่างกายจิตใจนี้ที่ยังเป็นๆ น่ะ ตายแล้วใช้ไม่ได้ ที่ยังเป็นๆ อยู่ มีความรู้สึก คิดนึก เป็นทุกข์อะไรได้นั่นล่ะเป็นห้องทดลอง ทดลองจนพบ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา พบ สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา จนจบ จุดจบอยู่ที่นั่น เลิกโลกนี้ไปสู่โลกุตตระ
ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้
อบรมพระภิกษุจากนครสวรรค์ ปรัชญาหรือ Philosophy