แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขออนุโมทนา ในนามของพระสงฆ์ทั้งหลาย ในการที่ ทายก ทายิกาได้ชักชวนกันมาบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ขอให้ตั้งอก ตั้งใจ ฟังอนุโมทนา และอุทิศส่วนกุศลให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายด้วย ทางที่ดีที่สุด ควรจะอุทิศแด่สรรพสัตว์ เมื่อเราทำบุญนี้ ทำ…เพื่อให้ ศาสนาอยู่เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย จะได้รับประโยชน์กันทั้งโลก ถ้าทำเอา สวรรค์วิมาน คนเดียว มันก็ได้คนเดียว แต่ถ้าทำแล้วคิดว่าไม่เอาส่วนตัว ขอให้ได้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งสิ้นนี่มันได้มาก มันแก้กิเลสได้ ที่ว่า อาสวะกายามัยหัง ให้สิ้น อาสวะ ต้องไม่เห็นแก่ตัว เราต้องกล้าหาญ ทำบุญแบบเราไม่เอาให้เพื่อนหมดบ้าง เราทำบุญ เราเอาเอง เราเอามาก ทำมามากแล้ว ทีนี้ ทำแบบอื่นบ้าง เราไม่เอาเลย ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้ มันจะได้แปลกออกไป มันจะได้มาก แล้วก็จะได้ลึก ได้สูงสุด ลึกที่ว่ามันแก้กิเลสได้ ถ้าทำบุญเอาเองเรื่อย ๆ นี่ มันเพียงแต่เปลี่ยนกิเลสก็ไม่แน่ มันไม่แก้กิเลสให้หมดได้ มันเพียงแต่เปลี่ยนกิเลส เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อยากได้นั่น อยากได้นี่
แต่ว่าถ้าเราไม่เอา ให้คน ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้นี่ มันแก้ กิเลสโดยตรง ให้กล้าหาญทำบุญแบบที่ว่า เราไม่เอา ให้สัตว์ทั้งโลก ทั้งสิ้นได้กันบ้างสิ ถ้าใครขี้ขลาดก็ทำไปตามเดิม มันไม่หนีไปไหนหรอก เพราะว่าสัตว์ทั้งโลกได้ โลกมีความสุข เราก็มีความสุขแหล่ะ ขอให้ตั้งใจกันแบบนี้แหล่ะ
ความทุกข์ มันอยู่ที่เห็นแก่ตัว ทุกคนเห็นแก่ตัวเบียดเบียนกัน ไปคิดดูให้ดีเถอะ ที่มันเบียดเบียน ฆ่าฟันกันมากขึ้น มากขึ้นในโลกนี้ ทั้งโลก เพราะมันเห็นแก่ตัวข้อเดียวเท่านั้น
ทีนี้ ช่วยกันทำลายความเห็นแก่ตัว เพื่อนไม่ทำเราทำให้เพื่อนดู ว่า ทำแบบนี้ ทำลายความเห็นแก่ตัว ดูสิเราทำบุญเราไม่เอาอะไรเลย ให้เพื่อนมีความสุขเท่านั้น ก็เห็นแล้วว่า ทำเพื่อความไม่เห็นแก่ตัว จะได้เป็นตัวอย่างที่ดี ทุกคนสังเกต เวลานี้ นั่งอยู่ตรงนี้ มีความสุข เพราะไม่เห็นแก่ตัว เพราะลืมนะ ลืมตัว ลืมของกู ลืมตัวกู ลืมของกู ลืมหมด แม้แต่บ้านช่องอะไร ก็ลืมหมด ไม่นึกถึงตัวกู ไม่นึกถึงของกู มันก็สบายแล้ว ที่นั่งอยู่ตรงนี้ เวลานี้ โดยเฉพาะมันก็สบายแล้ว เพราะมันไม่มีตัวกูของกู
ลองไปนึกเป็นตัวกู ของกูเดี๋ยวก็มันก็ ไม่สบายแล้วล่ะ ถึงนั่งตรงนี้ก็เถอะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ให้หัวใจมันเกลี้ยง สวนโมกข์ โมกข์ แปลว่า เกลี้ยง ให้หัวใจมันเกลี้ยง แล้วมันก็สบาย นั่นแหล่ะ จำให้ดี ๆ เถอะ คนเรามีความสุขที่สุด เมื่อจิตใจ ไม่มีตัวกู ของกู
ความสุขมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง ต้องเอากิเลส เข้ามาช่วย ถึงจะมีความสุข สุขร้อน ๆ อย่างหนึ่งไม่เจอกับกิเลส อย่าให้กิเลสเข้ามา มันก็มีความสุข นี่สุขเย็น ๆ สุขร้อน ๆ เหมือนต้มให้สุก เผาให้สุก นั่นเป็นสุขร้อนๆ ต้องมีกิเลส ต้องเห็นแก่ตัว ต้องเล่น ต้องหัว ต้องสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทาง ตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่สุขนี่มีกิเลส ต้องมีกิเลส ถึงจะมีความสุข นี่เป็นสุขร้อน ๆ
ทีนี้สุขที่ตรงกันข้าม ไม่มีกิเลส ในเวลานี้ เราจิตใจไม่มีกิเลส มันว่างไปเองตามธรรมชาติ นี่สุขเย็น ๆ ถ้าต้องการสุขเย็น ๆ ก็ต้อง ป้องกันอย่าให้กิเลสได้โอกาส ที่จะมาเกิดขึ้นในใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่าให้ช่องมันเกิดกิเลส ทางจิตใจก็ระวังอย่าให้คิด ไปรับเอา เรื่องกิเลสเข้ามาในใจ ทำแบบนี้เรื่อย ๆ ไป จะมีความสุข ชนิดที่สงบเย็น เรื่อย ๆ ไป ทำบุญก็เพื่อทำให้ หมดความเห็นแก่ตัว ทำบุญนี่ เขาเรียกว่า เพื่อล้างบาป เพราะบุญนั่นมันล้างบาป บาปคือความเห็นแก่ตัว จะล้างบาปก็ต้องล้างความเห็นแก่ตัว
เพราะฉะนั้น ต้องทำด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง ซึ่งมันทำลายความเห็นแก่ตัว อุตสาห์ เหน็ดเหนื่อยมาถึงที่นี่ เสียค่ารถด้วย และ ลำบากด้วย ให้ทุก ๆ อย่าง มันเป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว เราไม่เห็นแก่ตัวสะสม เราก็บริจาค บริจาคได้เท่าไร ก็ทำลายความเห็นแก่ตัวได้เท่านั้น ทำไปเรื่อย ๆ เห็นแก่ตัวมานานแล้ว ก็ต้องทำลายความเห็นแก่ตัวนานเหมือนกันแหล่ะ กว่ามันจะหมดได้ ต้องทำเท่าๆ กัน ต่อไปนี้ จะอนุโมทนา เวลาก็มีน้อย ฉันก็พูดไม่ค่อยได้ จะไอ
(12:24- 13:39) บทสวดมนต์…ให้กรวดน้ำ ยังกินจิ ต้องว่า ยังกินจิ ต้องว่า ยังกินจิ ถ้าให้ยะถา
กุฏิ พระพุทธเจ้า อยู่ที่พื้นดิน ไปดูสิ ที่อินเดีย พระพุทธเจ้าอยู่นี่นะ พื้นดิน ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน นั่งกลางทรายมันก็ได้ประโยชน์ ได้อานิสง มันแก้ความเห็นแก่ตัว แก้ความรักสวยรักงาม ยิ่งถ้านั่งกลางทราย ได้บุญมากกว่านั่งบนเสื่อนะ พอนั่งกลางทรายก็นึกถึงพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน เราก็นั่งกลางดินทุกทีแหล่ะ พอนั่งกลางดินก็นึกถึงพระพุทธเจ้าแหล่ะ ก็ได้บุญล่ะ ถ้าคิดจะอยู่แต่บนเรือน หรือว่าอยู่แต่วิมานนี้ก็เอาเปรียบพระพุทธเจ้าเกินไปแล้ว
พระพุทธเจ้าอยู่กลางดิน เราจะอยู่บนวิมานนะ คิดดูสิ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะอยู่บนวิมาน พระพุทธเจ้าเกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน อยู่แต่กลางดิน มาที่นี่ให้นั่งกลางดิน เพราะมันได้บุญมากกว่านั่งบนวิมาน ดีกว่านั่งบนเสื่อ ลอง… นั่งกลางดิน แล้วนึกถึงพระพุทธเจ้า ที่จริงจะหาเสื่อมาให้นั่งก็ได้เหมือนกัน แต่มันสู้กลางดินไม่ได้ นั่งกลางดินดีกว่า
ที่อื่น เขาให้นั่งบนเสื่อ ถ้ามีอยู่แล้วที่อื่นเขาไม่ให้นั่งกลางดิน กลางทราย ที่นี่ให้นั่งกลางทราย แล้วก็จะได้ช่วยเหลือแบ่งปันกัน จะได้…ครบบริบูรณ์
พระเถระ หรือว่า ครูบาอาจารย์ นั่งบนโค้งนะ พระเถระ ครูบาอาจารย์ เจ้าอาวาส นั่งบนโค้งนะ นั่งบนหินโค้งนะ ลูกศิษย์ สติวิหาฤทธิ์ เทวาศิษย์ นั่งข้างล่างกันไปนะ ก็อย่าถือกันนะ มันไม่ค่อยพอกัน นั่งตามมีตามได้ นั่งตามสะดวก นิมนต์ นิมนต์นั่งตามสะดวก นิมนต์นั่งตามพอใจ ครูบา อาจารย์ นั่งบนโค้ง คงจะพอดีแหล่ะ นิมนต์เถอะ นิมนต์ … ตามสบาย.. คุณนั่งเลย… คุณนั่งเลย… อ้าว นิมนต์เลย บอกให้เณรหาหนังสือมาให้ บอกให้เณรผ่านหนังสือมา ไม่เป็นไร ไม่ต้องถือกัน ยังไงก็ได้
18:25 - 22:40 บทสนทนา…จากผู้มาฟังเทศนาและตามด้วยบทสวดมนต์ ไม่ได้ถอด
กระผมขอ…กล่าวคำ ปราศัย ตามเคย วันนี้ พูดไม่ได้มาก ไอ แต่ก็ยังคงพูด โดยส่วนธรรมะวินัย กระผมขออนุโมทนา ท่านพระเถรานุเถระ ตลอดถึง สติวิหาฤทธิ์ (23:07) ทั้งหลายที่มานี้ ขออนุโมทนาโดยส่วนตัว ขอขอบพระคุณที่มา ว่าโดยธรรมวินัย ขออนุโมทนา คือว่า ช่วยกันรักษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ถึงอุปชาอาจารย์ได้เคยทำกันมา ไม่ทราบว่า มันกี่ชั่วกี่สิบชั่วอะไรกันมาแล้ว ตลอดถึงคำกล่าวแบบโบราณ ซึ่งอุปชาอาจารย์ เคยทำกันมานี้ ก็ช่วยกันรักษาไว้ได้ ผมเองเมื่อบวช ก็บวชแบบอุกาสะวันทามิพันเตเหมือนกัน ก็ยังรักษากันไว้ได้ นี่มันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าว่าไปเพิกถอนอะไรง่าย ๆ แล้วมันก็จะเพิกถอนกันเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามีหลักว่าจะไม่เพิกถอนแล้วสิ่งต่าง ๆจะยังอยู่ เพราะฉะนั้นจึงขออนุโมทนาในส่วนที่ช่วยกันรักษา อาริยังสะปฏิปทา คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ไว้ได้ นี้ขออนุโมทนาแก่พระเถรานุเถระและ สติวิหาฤทธิ์ (24:35) ทั้งหลายทั้งปวง
ที่นี้เวลาที่เหลือ ต่อไปนี้จะขอพูดเฉพาะผู้บวชใหม่ หรือว่ายังไม่เป็นนิสัยมุตรรกะ พระเถรานุเถระทั้งหลายไม่เกี่ยว สำหรับภิกษุบวชใหม่ยังเป็นนวกะ หรือยังไม่เป็นนิสัยมุตรรกะ นี้ ขอให้ตั้งใจฟัง เวลาอีกไม่กี่วันก็จะออกพรรษา ที่นี้ผู้ที่เล่าเรียนและสึกในปีนี้ ก็มีอยู่มาก ขอให้ตั้งอกตั้งใจ รีบเร็ว ๆให้ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ในระยะที่บวชก่อนสอบไล่ ต้องสอบไล่ อย่ามัวนอนใจอยู่
ถ้าความประมาทครอบงำ คนเราจะไม่รู้สึกว่า เราเหลวไหล นี่เธอฟังให้ดี ๆ ว่าถ้าความประมาทครอบงำ คนเราจะไม่รู้สึกว่าเราเหลวไหล และไม่รู้สึกว่าวันคืนล่วงไปด้วยซ้ำ นี่ ถ้ามันงมงายประมาทเอามากๆ แล้วมันจะไม่รู้สึกว่าวันคืนล่วงไปอย่างน่าตกใจ มันก็เลยเอากันแต่เรื่องเล่น เรื่องหัว สนุกสนานไปวันหนึ่ง วันหนึ่งโดยคิดว่า เวลามันยังมีอยู่นั่นแหล่ะ ที่จริงเวลามันเกือบจะหมดแล้ว แต่ยังคิดว่าเวลายังมี นี่เข้ามาตั้งครึ่งพรรษาแล้ว ตั้งอะไรแบบนี้แล้วยังคิดว่า เวลายังมีนี่มันไม่ถูก ที่จริงเรื่องที่ต้องเรียนต้องปฏิบัตินี้มันมากแล้วเวลามันน้อย นี่ขอให้นึกกันเสียใหม่เร็ว ๆ ถ้าใครเคย ถ้าใครได้ประมาทไปแล้ว ถ้าใครไม่ประมาทก็ดีแหล่ะ ขออนุโมทนา ถ้าใครยังประมาทขอให้กลับมันเร็ว ๆ เวลามันเหลือน้อยแล้ว จะสึกกันก็มี จะอยู่กันก็ต้องรีบเรียน เพราะเรื่องที่จะต้องเรียนมันยังมีอีกมาก ผมเรียนมาตั้ง สี่สิบ ห้าสิบปี ยังไม่รู้จักหมดสะที เพราะว่าเรื่องที่ต้องเรียนมันมีอีกมาก นี่พวกคุณเพิ่งบวช ปีสองปีนี้มันยังน้อยเกินไป ขอให้ตั้งอกตั้งใจเรียนกันให้จริง ๆ ให้เข้าใจจริง ๆ แล้วก็สิ่งที่เรียนได้นั้น เมื่อปฏิบัติอยู่มันไม่ลืม
วิธีจำที่ดี ที่สุดนั้น คือ วิธีที่ปฏิบัติอยู่นั่นแหล่ะ ถ้าหากว่า เราไม่ปฏิบัติอยู่มันลืมเก่ง แต่ถ้าปฏิบัติอยู่ไม่ลืม โดยเฉพาะวินัยนี้ ปฏิบัติอยู่เป็นไม่มีวันลืม ไม่มีการลืม ขอให้จำด้วยการปฏิบัติ ธรรมะก็ดี วินัยก็ดี จำด้วยการปฏิบัติ เราตั้งอกตั้งใจที่จะไม่ประมาททั้งเช้า ทั้งเย็น ทั้งกลางคืนจะต้องนึกถึงด้วย ความไม่ประมาท นี่หัวเราะกันเสียมาก เล่นหัวกันเสียมาก มันก็เลือนไป เลือนไป แม้แต่จำก็จำไม่ได้ เรื่องปฏิบัติมันก็ยังรวนเร แล้วก็จะ..ไม่เท่าไร ก็จะสึก บางทีคิดแล้ว คิดบัญชีแล้วไม่คุ้ม ไม่คุ้มค่าบวชนะ อืม.. เรื่องนี้ไม่ใช่แกล้งว่าให้เจ็บใจ ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องจริง ถ้าทำไม่ดีไม่คุ้มค่าบวช ขอให้ทำให้ดีที่สุด ให้ได้กำไร ให้มันเกินค่าที่ได้บวช
ที่เล่าเรียนก็เรียน ที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติ ในสิ่งที่ควรปฏิบัติได้ก็ให้มันได้ทันกับเวลาเรื่อยไป ถ้าเรา.. ไม่ตั้งใจจริงๆ แล้วก็ความประมาทครอบงำ ก็ปล่อยไปตามสบาย จะไม่มีอะไรผิดจากฆารวาส ถ้าปล่อยไปตามสบายจะไม่มีอะไรผิดจากฆารวาส จะกิน จะเล่น จะหัว จะอะไร ก็ยังเหมือน ๆ เหมือนฆารวาส โมโหโทโส ก็ยังมีเท่าฆารวาส เป็นพระแล้วยังพูดหยาบคายกัน ยังทะเลาะวิวาทกัน ยังชกปากกัน นี่ไม่เป็นพระเลย ถ้าเรายังทะเลาะวิวาทกัน ยังชกปากกันนี่ไม่เป็นพระเลยเสียผ้าเหลืองที่บวช พ่อแม่ผิดหวังหมด ช่วยระวังให้ดี อย่าให้มีเรื่องที่ว่า โมโหโทโส ถึงชก ถึงต่อยกันแล้วมันจะไม่มีอะไรเหลือ
ที่บวชมานี่ เพื่อจะบังคับตัว จะละนิสัยที่มุทะลุดุดัน อยู่ที่บ้านใครบังคับไม่ได้ใช่ไหม มาอยู่วัดให้ อุปชาอาจารย์ คอยบังคับ ให้วินัยของพระพุทธเจ้าช่วยบังคับ ก็เรียกว่าให้ พระพุทธเจ้านั่นแหล่ะช่วย ละนิสัยที่มุทะลุ ดุดัน ถ้าใครบวชแล้ว ละนิสัยที่มุทะลุดุดันได้ คนนั้น ได้ประโยชน์ ได้บุญ ได้อะไร คุ้มกันทีเดียว นอกนั้น ไม่มีอะไรดี ถ้าจะเล่า จะเรียนมันก็เรียนได้ ถึงไม่บวชมันก็เรียนได้ แต่ถ้าจะแก้นิสัยสันดานนี่ มันต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ และก็ต้องอยู่ในระเบียบวินัยที่เคร่งครัด นั่นแหล่ะ ถึงจะละได้
เพราะฉะนั้น ผมจึงขอ ขอแนะนำ ขออ้อนวอน ขอชักชวน วิงวอน ท่านที่บวชใหม่ เพิ่งบวชใหม่นั่น และจะสึกในปีเดียวโดยเฉพาะ อย่าได้ประมาทในเรื่องนี่ ถ้าทำไม่ได้ถึงนี่แล้วก็เรียกว่าเหมือนกับไม่ได้บวช หรือว่าบางทีอาจจะร้ายไปกว่าไม่ได้บวชเสียอีก ซึ่งถ้าสึกออกไปมันจะมุทะลุดุดันมากกว่าเดิม
ก่อนบวชมันก็มุทะลุดุดัน บวชแล้วมันก็ยังรักษาเอาไว้ แล้วก็ยิ่งมุทะลุดุดัน พอสึกออกไปมันก็หมดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาบังคับเราได้แล้ว มันก็ยิ่งมุทะลุดุดันมากกว่าเก่า ขอให้ระวังกิเลสตัวนี้ให้ดี ความประมาทนะถ้ามีแล้ว มันทำให้เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนกับที่ว่า ความประมาทถ้ามีแล้ว ก็จะไม่รู้สึกว่าวันคืนล่วงไป ความประมาทมีแล้วจะรู้สึกว่าเราทำอะไรถูกหมดเลย ไม่ให้ใครมาติเตียน ไม่ให้ใครมาแนะนำ เราทำอะไรถูกหมดเลย
แล้วที่นี้ ความประมาท มันก็เลยทำให้มุทะลุดุดัน เหมือนกับยักษ์ เหมือนกับมาร มันไม่ถูกตามเรื่องตามราวของบรรชิต ซึ่งบวชมาเพื่อจะฝึกหัด บังคับจิตใจให้เหมาะสมกับจะเป็นสัตบุรุษ นี่แหล่ะข้อสำคัญสำหรับผู้บวชใหม่ แล้วจะแก้นิสัยมุทะลุดุดัน ขอให้จำ คำทำวัตรนี้ไป ลองค่อยฟังให้ดีอีกทีหนึ่ง ผู้บวชใหม่นะ เธอฟังให้ดีอีกทีหนึ่ง และขอให้จำระเบียบระบอบของการทำวัตรนี่ไป
อุกาสะวะวันทา มิพันเต ผมขอแสดงความเคารพ นี่หมายความว่า ยอมเคารพ ยอมอ่อนโน้มต่อผู้ที่ควรเคารพ หรือว่า เคารพต่อทุกคนเลย ตามควรแก่ฐานะ นี่แหล่ะ ยอมไหว้ ยอมเคารพนี่ หัวมันไม่แข็ง หัวมันไม่กระด้าง มันไม่มุทะลุดุดัน นี่ข้อที่หนึ่ง
ข้อที่สอง สัพพังพันทะราตัง สัพพะทาเล พันเต นี่ขอโทษ ขอให้อดโทษ ฝ่ายหนึ่งขอโทษ ฝ่ายหนึ่งต้องอดโทษ ถ้าขีนถือโทษไว้ก็ไม่ใช่ สัตบุรุษ ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าต้องไม่มีโทษติดตัว ถ้าทำผิดต้องขอโทษ และเมื่อเพื่อนขอโทษแล้วต้องให้อภัย อย่าผูกโกรธ การโกรธนั้นมันเป็นเรื่องของยักษ์ของมาร ไม่ใช่เรื่องของบรรชิต ในพระบาลี กระจูทปมสูตร ประจิม นิกาย(33:33) พูดไว้ชัดกว่าแห่งอื่นทั้งหมด ที่อื่นก็พูดไว้มาก แต่ว่าที่นี่พูดไว้ชัดมาก คือว่า ถ้าว่าโจรจับเธอ แล้วก็เอาเลื่อย เลื่อย เลื่อยเธอ พอเลื่อยเฉียดผิวหนัง เจ็บ ถ้าเธอโกรธโจรนี่ เธอไม่ใช่คนของเราแล้ว หมายความว่า ไม่ใช่ภิกษุ ลูกตถาคตแล้ว แต่ถ้าตอนนั้นไม่โกรธ แต่พ่อเลื่อยมันเลื่อย โจรมันเลื่อยเข้าไปถึงกล้ามเนื้อ ถึงเจ็บแรงขึ้นก็โกรธ โกรธโจร นี่ถ้าโกรธโจร ก็ไม่ใช่ลูกของตถาคตแล้ว พระพุทธเจ้าว่าแบบนี้
ที่นี่ถ้ามันเลื่อยเข้าไปถึงกระดูก ตอนนี้โกรธ ไม่ใช่ลูกของตถาคตแล้ว ถ้าเลื่อยถึงเยื่อกระดูก เข้าไปในกระดูกเลย โกรธ ก็ไม่ใช่ลูกของตถาคตแล้ว นั่นแหล่ะ ก็คือ โกรธไม่ได้เลย ใครจะทำอะไรให้เจ็บทางกายทางใจเท่าไร ก็ตาม ก็โกรธไม่ได้ ถ้าโกรธนั้น พระพุทธเจ้าว่า ไม่ใช่คนของเรา หรือ ไม่ใช่ลูกของตถาคตแล้ว
พระพุทธเจ้าต้องการให้อดกลั้นมากถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเธอต้องใส่ใจไว้ เป็นคำขอร้องของพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่เขาจะด่าอะไรสักคำสองคำ แม้แต่เขาเอาเลื่อย เลื่อยก็จะโกรธไม่ได้ จะบันดาลโทสะไม่ได้ นี้ขอให้เข้าใจ ให้ตั้งหน้าตั้งตา ตั้งจิตตั้งใจพยายาม ที่จะฝึกฝนตัวเอง บังคับความมุทะลุดุดัน โกรธไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้ได้ ก็ดีแหล่ะ มันก็เลยเป็นอันว่า ขอโทษ อดโทษกันได้โดยง่าย
แต่ตอนนี้เราโกรธ ผูกโกรธแล้วไม่ยอมยกโทษกันง่าย ๆ เพื่อนขอโทษแล้วก็ไม่ให้ ไม่ให้อภัยแล้วตัวเองก็ไม่ยอมขอโทษใครชั่งหัวมัน ถ้าเป็นแบบนี้หมดเลย ไม่มีความเป็นภิกษุสามเณร ไม่มีความเป็นคนของตถาคต พระพุทธเจ้าท่านว่าแบบนี้ นี่เป็นข้อที่สอง ต้องขออภัย ต้องให้อภัย
คำสุดท้ายเธอว่า มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง สาธุ (35:46) นี่รวมกันหมดนี่มันเป็น เรื่องแลก แลกเปลี่ยน ความดี แลกเปลี่ยนส่วนบุญ บุญอะไรก็ได้ ถ้ามีขอให้ผมมีส่วน บุญอะไรที่ผมมีขอให้ใต้เท้าก็มีส่วน ถ้าใต้เท้ามีก็ขอให้ผมมีส่วน คำนั้นแหล่ะว่ากันเถอะ ให้แลกเปลี่ยนส่วนบุญคือ ความดี อย่าห่วงความดี อย่าตะหนี่บุญกุศล คืออย่าอิจฉาริษยานั่นเอง
โลกนี้ มันจะฉิบหายเพราะความริษยา ถ้าเรียนนักธรรม ก็จะพบภาษิต ว่า อิจฉาอาละติละกะโลสิกา (36:23) อิจฉา ต่อความริษยา อาละติ ก็ความริษยา อิจฉาอาละติละกะโลสิกา โลกจะฉิบหายเพราะความอาละติ คือความริษยา คนสันดานมันเลว มันไม่อยากให้ใครดี มันจะริษยา ต่างคนต่างริษยากันไปริษยากันมา มันก็ฆ่ากันทั้งโลก โลกนี้ก็วินาศกันไปทั้งโลกเลย
ที่รบกันนี้ ก็รบกันเพราะไม่อยากให้เพื่อนดีกว่าเรา เก่งกว่าเรา มันจึงรบกัน เพราะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้คุณมองให้เห็นว่า ไอ้ความริษยา คือความไม่ยินดีซึ่งกันและกัน ทำโลกให้ฉิบหาย พระเณรชกต่อยกัน ก็เพราะว่ามันไม่ยินดีซึ่งกันและกัน ไม่รักกัน ไม่เอื้อเฟื้อกัน ไม่มีมุทิตาจิตซึ่งกันและกัน ก็ทำให้ความเป็นพระเป็นเณรฉิบหาย ทำให้วัดเสียชื่อ ทำให้บ้านเมืองเสียชื่อ ทำให้ประเทศเสียชื่อ
ขอให้รักตัวเอง รักวัดรักวา รักหมู่คณะ รักประเทศ รักมนุษย์ทั้งโลก อย่าอิจฉาริษยา ให้มีความยินดีซึ่งกันและกันว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกัน เหมือนกับว่า เราทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ เป็นคน คนเดียวกัน ขอให้เป็นแบบนี้ ก็จะเรียกว่า ดีที่สุดแหล่ะ เท่าที่มนุษย์จะมีต่อกันและกันได้ จะอยู่เป็นพระก็ตาม เป็นชาวบ้านก็ตาม ให้ถือระเบียบปฏิบัติสามประการ ที่ว่าได้มาทำวัตรเมื่อตะกี้นี้เสร็จไปหยก ๆ นี้
ข้อที่ ๑ อุกาสะวะวันทา มิพันเต นี่ให้อ่อนน้อม ถ่มตัว ไหว้ กราบ ผู้อื่น แสดงความเคารพกับคนทุกชั้น แล้ว
ข้อที่ ๒ ว่า สัพพังพันทะราตัง นี่ ขอให้อดโทษ ขอโทษซึ่งกันและกัน
ข้อที่ ๓ ว่า ว่า มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง, สามินา กะตัง ปุญญัง นี่แปลว่า แลกเปลี่ยนส่วนบุญซึ่งกันและกัน
จำไว้เถอะ จะอยู่เป็นพระก็ทำไปเถอะ จะสึกไปก็จำไปทำ ทั้ง ๓ ข้อนี้จะคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ จะมีคนรักทั่วไปหมด เด็ก ๆ มันก็รัก เพื่อนก็รัก ครูบาอาจารย์ก็รัก เจ้านายก็รัก ใคร ๆ ก็รัก ถ้าใครถือหลักสามประการนี้ ก็จะพบแต่ความรัก เพราะว่าเรามันทำน่ารัก
ที่ว่าเคารพต่อคนทุกชั้นนั้น มันก็แล้วแต่ว่ามันเป็นชั้นไหน เด็ก ๆ เราก็ต้องเคารพ ผู้ใหญ่เราก็ต้องเคารพ อย่าไปดูถูก อย่าไปดูหมิ่น อย่าไปรังแกเขา ก็ต้องเคารพเขาเหมือนกับเป็นมนุษย์ ต้องช่วยเหลือ ต้องแสดงความนับถือ เด็ก ๆ เรายังต้องเคารพ ถึงจะไม่ยกมือไหว้ ก็ไม่ต้องแสดงความเคารพ แต่ถ้าเขาไหว้เรา เราก็ต้องยกมือไหว้ตอบไป เสมอกันก็เคารพ สูงกว่าก็เคารพ เคารพกันคนละแบบ ขอให้อยู่ด้วยความเคารพ อย่ากระด้างด้วยทิฐิ จะเป็นคนบ้า
ข้อที่ ๒ ก็ให้พร้อมที่จะขอโทษ และพร้อมที่จะอดโทษ อย่าเก็บไว้ ถ้ารู้สึกว่าล่วงเกินผู้ใดเป็นโทษแล้ว ไม่ขอโทษแล้ว เก็บไว้ มันจะ อะไรล่ะ ถ้าเรียกตามบ้าน ๆ เรา ว่า ซวย มันจะ ซวย มันจะซวยลงทุกวันทุกวัน เพราะว่ามันเป็นเสนียด เป็นของอัปรีย์ ของจัญไร เก็บไว้ในใจจะทำให้ซวย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความผิด ก็ต้อง ขอโทษ ขอโทษ ขอโทษ เรามาขอโทษกันให้อดโทษ
ข้อที่ ๓ เขาว่ายินดี ซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มีอะไรให้กิน แบ่งให้กินซึ่งกันและกัน ในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ชวนกันไปกินเหล้าเมายา หรือว่าทำทุจริต แต่ว่าทำกันแต่ในทางที่ดี
ขอให้พระที่บวชใหม่ทุกๆ องค์ จำข้อความนี้ไว้ให้ดี ๆ เพราะว่ามันไม่มีในหนังสือที่เรียน มันไม่มีในหนังสือ นวโกวาทที่ตรง มันมีโดยอ้อมไม่ได้พูดให้ชัด นี่ผมเก็บมาพูดให้มันชัด และให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะผมถือว่า เมื่อบวชกันเข้ามาแล้ว มันต้องเป็นญาติ ที่เรียกว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้าร่วมกันหมด จะบวชใหม่ บวชเก่า บวชกลาง บวชนานแล้วอะไรก็ตาม ทุกคนนั้นเป็นลูกของพระพุทธเจ้าร่วมกันหมด เพราะฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมถึงต้องพูด ถึงจะไม่ชอบฟัง บางทีก็ต้องพูด พูดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้น ในหมู่เราที่เป็นลูกของพระพุทธเจ้าร่วมกัน เหตุนี้แหล่ะที่ต้องพูด
ขอให้อย่ามองเป็นเรื่องส่วนตัว ให้มองเป็นเรื่องส่วนรวม ถ้าผมพูดไม่น่าฟัง ก็ขอให้ถือว่า พูดแทนในนามของธรรมะวินัย หรือของพระพุทธเจ้าซึ่งท่านได้สั่งไว้ ท่านได้ขอร้องไว้ ว่าให้ช่วยอบรมสั่งสอนซึ่งกันและกัน ให้ช่วยกันรักษาในสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้ เพราะฉะนั้นถึงต้องพูด ไม่ใช่พูดเอาเอง พูดเพื่อทุกคนจะได้รับประโยชน์ ที่อุตสาห์มากันถึงที่นี่ ทุก ๆ ปี นี้โดยส่วนตัวต้องขอบพระคุณและขอบใจ และถ้าโดยส่วนธรรมะวินัยก็ขออนุโมทนา ว่าได้ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีในฐานะ เป็นสหธรรมมิตร เป็นลูกของพระพุทธเจ้าร่วมกัน ก็ขอแสดงความยินดีที่ว่า ยังได้ช่วยกัน พร้อมเพรียงรักษา กระทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อความเจริญ ของหมู่ ของคณะ ของเรา การเสียสละมีแม้กระทั่งต้องเปียกฝน เสียเงิน เสียทองมา ค่ารถ ค่าเรือมา เหน็ดเหนื่อยมา กระทั่งมาเปียกฝน นี้ก็รวมเป็นเรื่องการเสียสละ ว่าเสียสละเท่าไรก็ได้บุญเท่านั้น ได้ความดีเท่านั้น
นี่แหล่ะ ฝนมันมาทดลองว่าใครโมโหแล้ว ถ้าใครโมโหแล้วเป็นอย่างไร นี่แหล่ะ พระเณรก็ตาม ถ้าฝนตกแล้วโมโหแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ขอให้รับบทเรียน บทสอบไล่บทนี้ให้ดี ๆ แล้ว ผมก็ขออวยพร อ้างคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ท่านทั้งหลาย พระเถรานุเถระ พระภิกษุผู้บวชใหม่ สติวิหาฤทธิ์ (43:22) ทั้งหลายเหล่านี้ จงมีความพร้อมเพรียงกัน เสียสละโดยประการทั้งปวง เพื่อเห็นแก่พระพุทธเจ้า เพื่อเห็นแก่ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า ขอให้ธรรมะวินัยนี้ยังคงมีอยู่ในโลก เป็นเครื่องคุ้มครองโลกให้ปลอดภัย ขอให้มีความสุขทุกทิพาราตรีกาล เจริญงอกงามในพระศาสนา สมตามความประสงค์ของการอุปสมบทของการบรรพชาทุก ๆ ท่านเทอญ (สาธุ)