แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เธอได้กล่าวคำเป็นการประกาศตัวเองว่านับถือพระรัตนตรัย ใคร่จะบรรพชาอุปสมบท และเธอได้กล่าวคำขอบรรพชาโดยตรง ก็ให้ทำในใจถึงความหมายของคำที่ได้กล่าวว่าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา เราต้องมีจิตใจให้ปกติ มีสติสัมปชัญญะ พูดกล่าวขอและรับรู้ รับรอง ยืนยันในคำที่ได้กล่าวออกไปแล้ว เราได้กล่าวคำนี้ในที่ชุมนุมพระสงฆ์ทั้งหลายก็ได้ประชุมกันในนามของพระศาสนาหรือของพระพุทธองค์ ในนามคณะสงฆ์ของพระพุทธองค์ มันจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โต แล้วยังได้มาทำพิธีบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางต้นไม้ มีบรรยากาศคล้าย ๆ ครั้งพุทธกาล ก็ให้เข้าใจทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ ว่าได้กล่าวจริงและต้องยืนยันในคำกล่าวนี้จริง ๆ ต้องการจริง ๆ ในการขอบรรพชา
เราจะพูดกันบ้างตามสมควรแก่เวลาว่าบรรพชานั้นคืออะไร เธอขอทั้งไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรมันอาจจะเป็นได้ ขอให้เตรียมใจว่าเราได้ขอสิ่งซึ่งมันต้องปฏิบัติ ด้วยความอดกลั้นอดทน ให้หมดไป หมดจากความเป็นฆราวาส ไม่ทำไม่พูดไม่คิดไม่ใฝ่ฝัน ไม่อะไรอย่างฆราวาสอีกต่อไป ไม่มีกิริยาท่าทางจริตอะไรอย่างฆราวาสอีกต่อไป ให้ตั้งใจเราว่าจะสละไอ้ความเป็นฆราวาส เราจะรับเอาสิขาบทตามที่มีไว้สำหรับภิกษุ สามเณรและภิกษุ ประพฤติปฏิบัติอย่างไร การปฏิบัตินั้นย่อมเป็นการขูดเกลาตามธรรมดาของพรหมจรรย์ สิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ต้องเป็นการขูดเกลา พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์อย่างนั้น มีเจตนาอย่างนั้น เราต้องอดทน มันต้องเจ็บปวดบ้าง เพราะมันฝืนความรู้สึก เราจะต้องรักษาสิกขาวินัยไว้ ด้วยความอดกลั้นอดทน แม้จะต้องอดทนจนน้ำตาไหลก็ต้องยอม เขาเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ยิ่งมีความหมายมากขึ้นว่าเราเอาจริง จะได้เป็นคนบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง เราได้ขอสิ่งเหล่านี้ซึ่งรวมเรียกว่าพรหมจรรย์ หรือเรียกว่าบรรพชา ขอในสิ่งใดต้องรู้จักสิ่งนั้น จะตั้งใจเต็มที่ก็จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยอันนั้น
นี่ข้อที่สองจะพูดถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ของการบรรพชา เพื่อให้เกิดกำลังใจในการอดกลั้นอดทน มันจะสนุกสนานไปด้วยซ้ำ ถ้าเราหวังอานิสงส์แล้วประพฤติพรหมจรรย์จะไม่คับอกคับใจ ประโยชน์ของการบรรพชาโดยรายละเอียดมีมากจนพูดกันไม่ไหว พูดกันได้เป็นคราว ๆ แบ่งออกเป็น ๓ประเภทคืออานิสงส์ที่แก่เธอผู้บวชจะพึงได้ นี่อย่างหนึ่ง อานิสงส์แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้นี่ก็อย่างหนึ่ง อานิสงส์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งโลกจะพึงได้ นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง เธอจงรู้ว่าเราบวชนี่เราต้องบวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริง มันจึงจะได้ผลจริง ๆ จะได้อานิสงส์เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวเรา มีการเปลี่ยนแปลงทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นสัตบุรุษ เป็น เดินไปตามทางของพระอริยเจ้ายิ่งขึ้น นี่เขาเรียกความดี มันตีราคากันไม่ไหว เธอต้องปฏิบัติให้ได้แล้วเธอก็ได้อานิสงส์ข้อนี้ ไม่มีอะไรดีที่สุดกว่านี้ ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ในการเกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้เป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดที่มนุษย์มันจะดีได้ คือการประพฤติพรหมจรรย์ บรรเทากิเลสอาสวะจนหมดสิ้นไป
นี้อานิสงส์ที่สองที่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้ นี่ก็ถือเป็นธรรมเนียมแล้วว่า บวชนี่ก็ตั้งใจสนองพระคุณบิดามารดาซึ่งเป็นบุคคลที่มีบุญคุณสูงสุดให้ชีวิตเรามา ให้กำเนิดเรามา การสนองคุณบิดามารดาโดยวิธีอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ทำได้มากเหมือนกัน แต่ไม่ดีเท่ากับสนองคุณโดยการบรรพชา เพราะว่าการบรรพชานี้ทำให้บิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้คนจริง ทำให้บิดามารดาปิติปราโมทย์ มีศรัทธามากกว่าเดิม ใกล้ชิดวัด ใกล้ชิดศาสนา หรือว่าหวังต่อพระนิพพานยิ่งไปกว่าเดิม นี่เขาเรียกการบวชของเราทำให้บิดามารดา ได้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งกว่าเดิม นั่นคือการสนองคุณบิดามารดา จึงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ฉะนั้นเธอจงบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้คนจริง ให้สำเร็จประโยชน์เป็นอานิสงส์แก่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น
อานิสงส์ที่สามจะได้แก่มนุษย์ทั้งหมด สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้อนี้หมายถึงเราบวชสืบอายุพระศาสนา พระศาสนามีอายุอยู่ได้เพราะมีคนบวช มีคนเรียน มีคนปฏิบัติ ได้รับผลของการปฏิบัติ แล้วสอนต่อ ๆ กันไป ถ้ายังมีการกระทำอย่างนี้ พระศาสนายังอยู่ คือมีอายุอยู่ มีคนสืบอายุอยู่ คนแต่หนหลังเขาได้สืบอายุพระศาสนาไว้จนมาถึงเรา เราจึงได้บวช ถ้าไม่มีใครสืบอายุพระศาสนาไว้ เราก็คงไม่มีศาสนาสำหรับจะมาบวชกันเหมือนกำลังทำกันเวลานี้ เราได้รับประโยชน์จากการสืบอายุพระศาสนาของคนที่ล่วงมาแล้วแต่หลัง เราก็ตั้งหน้าตั้งตาสืบอายุพระศาสนาเพื่อคนข้างหน้าต่อไป จะบวชสักกี่วัน จะมาสืบอายุพระศาสนาเท่านั้นวัน อย่าเหลวไหล บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง แม้แต่บวชวันเดียวมันก็สืบอายุพระศาสนาหนึ่งวันแหละ แต่นี่เราไม่ทำเล่น ๆ พรรค์นั้น อย่างน้อยเราก็บวชพรรษาหนึ่งแหละ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา ๓ เดือนแหละ คนบวชหนึ่งปี สองปี สิบปี ตลอดชีวิต มันก็เสาะสืบอายุพระศาสนาตลอดชีวิต ศาสนายังมีอยู่เพราะมีผู้บวช ผู้สืบอายุไว้ ครั้นมีผู้สืบอายุเอาไว้ ศาสนามีอยู่ในโลก เมื่อศาสนามีอยู่ในโลก คนทั้งโลกได้รับประโยชน์จากพระศาสนา นี่เรียกว่าการบวชของเรามีประโยชน์ อานิสงส์แก่มนุษย์ทั้งโลก มนุษย์หรือว่าเทวดา (นาทีที่ 15:59) เอากันง่าย ๆ มนุษย์คือคนยากจน เทวดาคือคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องสบายแล้ว แต่มันก็ยังมีความทุกข์เหมือนกันแหละ มันยังเป็นเทวดาในสวรรค์ก็ดี มันยังมีกิเลส มีความเกิดแก่เจ็บตายอยู่นั่นแหละ บวชกันสืบอายุพระศาสนาจะแก้ไขกิเลส แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเกิดแก่เจ็บตายไว้ให้คนทั้งหลาย เขาได้รับประโยชน์ นี่เรียกว่าเราบวชจะได้ประโยชน์แก่คนทั้งโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์
เมื่อมองเห็นประโยชน์อันใหญ่หลวง ๓ ประการนี้แล้ว เราก็มีกำลังใจมีความมานะพยายาม สนุกสนานไปเสียทีเดียว ในการจะประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเกิดมันมีการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงได้รับประโยชน์จริงควรจะพอใจ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แค่จะมองเห็นอุดมคติอันนี้ ก็จะทำไปได้ด้วยปิติปราโมทย์ อันที่จะต้องถึงกับหลั่งน้ำตานั้นคงจะไม่มี เพราะมันทำด้วยความพอใจสนุกสนานเลย นี่เรารู้ว่าอานิสงส์การบวชน่ะมีอย่างนี้ ข้อที่สามคือรากฐานที่ตั้งที่อาศัยของการบวชนั่นคือพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เมื่อพูดไปเมื่อตะกี้นี้ว่าบวชนี้เจาะจงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ถือเอาเป็นสรณะ เรายังบวชเจาะจงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่ยึดหน่วงแห่งจิตแห่งใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยเนื้อแท้นั้นคือ คุณธรรมที่เป็นความสะอาด สว่าง สงบ พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์โดยคุณธรรมนี้มีอยู่ตลอดเวลาด้วย และสามารถเอามาใส่ไว้ในใจได้ด้วย พระพุทธเจ้าก็เป็นคน ๆ พระธรรมก็เป็นหนังสือหนังหาคัมภีร์หรือว่าพระสงฆ์ก็เป็นคน ๆ นี่ไม่สามารถจะเอามาใส่ไว้ในใจ แต่ว่าคุณธรรม หัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราสามารถเอามาใส่ไว้ในใจของเรา ให้เป็นที่ตั้งที่เกาะอาศัยของบรรพชา นั่นคือคุณธรรมแห่งความสะอาด แห่งความสว่าง แห่งความสงบ มีจิตใจสะอาด ไม่มีโทษ ไม่มีความชั่ว ไม่มีการปิดบังซ้อนเร้นความชั่ว นี่ความสะอาด ความสว่างคือรู้ทิศทางว่าเกิดมาทำไม ต้องการอะไร จะได้อย่างไรนี่คือความสว่าง มีความสงบคือไม่ให้กิเลสตัณหามาฉุดกระชากไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เราก็มีความสงบ ความสะอาด สว่าง สงบ นี่คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง มีไว้เป็นรากฐานอันมั่นคงในจิตใจ แล้วบรรพชาของเราก็จะเจริญงอกงามเหมือนต้นไม้แค่เห็น ๆ อยู่นี่ ถ้าได้ดินดี อากาศดี น้ำดี สิ่งแวดล้อมดีคือมีแผ่นดินดี มันก็งอกงาม บรรพชาของเราจะได้อาศัยคุณธรรม เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็จะเจริญงอกงาม คือจะมีความสะอาด สว่าง สงบ มากขึ้น มากขึ้น ๆ ถึงที่สุดที่จะมากได้ ฉะนั้นเธอจงอาศัยกำหนดใจในความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดนี้ให้เป็นที่ยึดหน่วงของการบรรพชา บรรพชาจะเจริญงอกงาม นี่เป็นเรื่องที่สาม
ที่นี้ก็มาถึงเรื่องตจปัญจกกรรมฐานซึ่งนิยมให้มอบหมายให้กันตั้งแต่วันแรกบวช ซึ่งได้เรียกว่ามูลกรรมฐาน กรรมฐานเบื้องต้น กรรมฐานรากโคน กรรมฐานสำหรับรองรับกรรมฐานเหล่าอื่น นี่คือเรื่องให้พิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูลในสิ่งที่เราเคยหลงรักว่าสวยงาม ก่อนหน้านี้เราเห็นว่าสวยงาม ทีนี้เราเห็นว่าปฏิกูล ทุกสิ่งที่เราเคยโง่ เคยหลงว่าสวยงาม เดี๋ยวนี้เราจะต้องเห็นว่าปฏิกูล จิตใจของเราจึงจะไม่โง่ ไม่หลง มีจิตใจเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เรากำลังจะเอาผ้าเหลืองนี่มานุ่งห่มแก่ร่างกาย เขาเรียกว่าจะเอาผ้ากาสายะซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์มาห่มแก่ร่างกายเรา เราต้องเตรียมร่างกายจิตใจของเราให้เหมาะสมแก่ผ้ากาสายะ มันถึงจะมีระเบียบธรรมเนียมให้ขจัดความโง่ ความหลง อันหยาบ อันเลวนั้นออกไปเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความหลงใหลในเรื่องสวยเรื่องงาม ในที่นี้ท่านระบุให้มาพิจารณากันสัก ๕อย่าง คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผมโดยภาษาบาลีเรียกว่าเกสา เราเคยหลงว่างาม ไปประดับประดาตกแต่งให้มันงาม แล้วคอยจ้องจะแลผมงามของคนอื่น นี่เป็นความโง่ว่างาม ต้องหมดไปเสียก่อน ก็จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ พิจารณาผมโดยความเป็นของปฏิกูล คือไม่งามหรือสกปรก เพราะว่าผมนี่ โดยรูปร่าง เป็นเส้น ๆ นี่ก็ไม่งาม ว่าผมนี่โดยสี เป็นสีดำ สีขาว สีอะไรก็มันไม่งาม เพราะผมนี่โดยกลิ่นนี่ เป็นกลิ่นที่ไม่สะอาด ผมนี่ที่เกิดที่งอกอยู่บนหนังศรีษะซึ่งหล่อเลี้ยงไปด้วยเลือดด้วยน้ำเหลืองนี่สกปรก ผมนี่มีหน้าที่การงานคืออยู่บนหัวสำหรับรับฝุ่นละออง นี่ก็เป็นหน้าที่ที่สกปรก เราจึงเห็นโดยความเป็นจริงว่าผมนี่เป็นปฏิกูล เลิกหลงว่าสวยว่างามกันเสียที
ทีนี้สิ่งที่สองคือขน เรียกในภาษาบาลีว่าโลมา พิจารณาเช่นเดียวกับผม ผมมีความเป็นของปฏิกูล โดยรูปร่าง โดยสี โดยกลิ่น โดยที่เกิดที่งอก โดยหน้าที่การงานอย่างไร ขนก็มีความเป็นปฏิกูลอย่างนั้น ทีนี้เล็บ เรียกโดยบาลีว่านะขา เราเคยชอบเล็บงาม งามของเราหรืองามอย่างของผู้อื่น มาพิจารณาเห็นว่าตามความเป็นจริงนั้นเล็บเป็นของปฏิกูล ก็โดยรูปร่างของเล็บนี้ก็น่าเกลียด โดยสีสันก็น่าเกลียด โดยกลิ่นก็น่าเกลียด น่า ที่เกิดที่งอกกับปลายนิ้วนี่ก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับควัก เกานี่ก็น่าเกลียด เห็นด้วยความเป็นของไม่งาม สิ่งที่สี่ ฟัน เรียกโดยบาลีว่า ทันตาอยู่ในปาก เห็นได้ง่ายว่าไม่งามเพราะว่าริมฝีปาก ไอ้เปลือกของปากมันปกปิดไว้ยังไม่เห็นว่าน่าเกลียด เลิก เปิดเปลือกปากออกเสีย เห็นฟันชัด ๆ ก็จะเห็นความเป็นปฏิกูลตามธรรมชาติ ฟันมีรูปร่างที่น่าเกลียด มีสีสันที่น่าเกลียดเหมือนกับกระดูก มีกลิ่นน่าเกลียดตามธรรมชาติ มีที่เกิดที่งอกในเหงือกอันน่าเกลียด มีหน้าที่การงานสำหรับเคี้ยวบด ก็น่าเกลียด เลิกคำว่าฟันงามกันเสียที ฟันตนเองก็ดี ฟันผู้อื่นก็ดี มีความมุ่งหมายให้มันงาม เห็นเป็นของงาม
สิ่งสุดท้ายคือหนัง เรียกโดยภาษาบาลีว่า ตะโจ มันน่าเกลียด รูปร่างน่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นตามธรรมชาติก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกหุ้มไปทั่วทั้งตัว ปิดเลือด น้ำเหลืองเอาไว้นี่ก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของหนังคือสำหรับถ่ายเข้าถ่ายออกแห่งความร้อนและเหงื่อไคล ก็น่าเกลียด รวมความว่าไอ้เรื่องประเทืองผิวให้สวยงามเป็นเรื่องของคนโง่คนหลง ยกไว้ให้คนพวกอื่น คนที่จะบวชนี่จะไม่โง่ชนิดนั้น ส่วนหนึ่งต่างหาก หนังเป็นที่สำหรับรับสัมผัสทางโผฏฐัพพะ เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีราคะเป็นต้น ยิ่งกว่าสิ่งใด ก็เรียกว่าอันตราย นอกจากไม่งามแล้วยังเป็นอันตรายด้วย เราจึงไม่หลงใหลในหนังว่างามอีกต่อไป เธอเห็นความเป็นปฏิกูล คือน่าเกลียดของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีจิตใจสลดสังเวชในความโง่ความหลงของตัว ที่แล้วมาแต่หนหลัง ยกเลิกไปเลยที ทีนี้มีจิตใจเกลี้ยงพอก็จะนุ่งห่มผ้ากาสายะให้เข้ารูปเข้ารอยเข้าเรื่อง
นอกจากเข้าใจโดยใจความนี้แล้ว ยังต้องจำชื่อของสิ่งเหล่านี้โดยภาษาบาลีไว้ให้แม่นยำ สำหรับเป็นเครื่องระลึกนึกถึงทันทีทันควัน ป้องกันความโง่จะกลับมา ฉะนั้นเธอจงรับตจปัญจกกรรมฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเรา ดังต่อไปนี้ คุกเข่ามาตรงนี้ ก้มด้วย ตั้งใจรับตจปัญจกกรรมฐานโดยภาษาบาลีโดยจำไว้ให้แม่นยำ เกสา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) เกสา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) โลมา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) โลมา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) นะขา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) นะขา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) ทันตา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) ทันตา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) ตะโจ
(เสียงผู้ชายพูดตาม) ตะโจ
(เสียงท่านพุทธทาส) ทีนี้ทวนลำดับ ตะโจ
(เสียงผู้ชายพูดตาม) ตะโจ
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) ทันตา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) ทันตา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) นะขา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) นะขา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) โลมา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) โลมา
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ) เกสา
(เสียงผู้ชายพูดตาม) เกสา
(เสียงท่านพุทธทาส) ถ้าจำได้ ลองว่าแล
(เสียงผู้ชาย) เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
(เสียงท่านพุทธทาส) อีกที
(เสียงผู้ชาย) เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
(เสียงท่านพุทธทาส) อีกที
(เสียงผู้ชาย) เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
(เสียงท่านพุทธทาส) ดี ว่าได้เรียบร้อยถูกต้องทั้ง ๓ รอบ เป็นการทดสอบจิตใจว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่กับเนื้อกับตัว มีใจคอให้ปกติชนิดนี้เหมาะสมที่จะทำการบรรพชา เธอพิสูจน์ความเหมาะสมของความเป็นผู้ควรจะได้รับการบรรพชา แล้วเราก็ยินดีทำการบรรพชาในเบื้องต้นนี้ให้เธอ เธอมีความเจริญงอกงามในพระศาสนาสมตามความมุ่งหมายต้องการบรรพชาทุกประการ
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 30:36 - 39:46)
บัดนี้เธอมีนิสัยอันถือแล้ว (นาทีที่ 39:49) มีอุปัชฌาย์แล้ว จึงสามารถที่จะทำการขออุปสมบทได้ จะได้ทำการ ดำเนินการต่อไป ให้เธอมีชื่อโดยภาษาบาลีเพื่อกรรมวาจาว่า นะระ ละขะโน (นาทีที่ 40:10) จะเหมือน นะระ ละขะโน ได้ยินเสียงนี้ก็รู้ว่าเขาหมายถึงเรา ตอบคำถามให้ถูก นี่ก็เขาจะบอกบอกบาตร จีวรสังฆาฏิ ให้รู้โดยภาษาบาลีว่าชื่ออะไร ๆ แล้วจำไว้สำหรับรู้จักรับอธิษฐาน เป็นต้น
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 41.13-55.31)
(เสียงผู้ชาย) ต่อนี้ไปจะได้บอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง คือนิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔ นิสสัย ๔ เป็นเรื่องสำคัญที่ภิกษุจะต้องศึกษาแต่แรก เพราะเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เพื่อที่จะได้รู้และเข้าใจในการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค อกรณียกิจ ๔ เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันที่ภิกษุจะต้องศึกษาแต่แรก เพราะเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่ควรทำ เป็นสิ่งไม่ดีไม่งามแก่สมณะ (นาทีที่56:26) เป็นสิ่งที่ภิกษุทำไม่ได้เป็นอันขาด สิ่งที่ภิกษุไม่ควรทำมีมากกว่า ๔ อย่าง แต่กล่าวไว้ในอนุศาสน์เพียง ๔ อย่างเพราะเป็นข้อสำคัญ ที่ภิกษุถึงแม้ไม่รู้ล่วงเข้า ก็ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ จำเป็นที่ภิกษุผู้บวชใหม่ซึ่งยังไม่รู้กว้างขวางในพระวินัยให้รู้ไว้เพียง ๔ อย่างก่อน ฉะนั้นท่านจึงยกขึ้นสอนก่อน ในขณะเมื่ออุปสมบทเสร็จ ดังจะได้กล่าวต่อไป
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 57:18-57:31)
(เสียงผู้ชาย) ท่านผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้ว เมื่ออุปสมบทแล้ว บอกนิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔ ว่า
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 57:46 – 58:03)
(เสียงผู้ชาย) บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
ถ้ามีอดิเรกลาภคือลาภเหลือเฟือ (นาทีที่ 58:16) ก็ทรงอนุญาต เช่น ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 58:37 – 58:56)
(เสียงผู้ชาย) บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
ถ้ามีอดิเรกลาภคือลาภเหลือเฟือ ก็ทรงอนุญาต เช่น ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าแกมกัน เช่น ด้ายแกมไหม
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 59:25 – 59:44)
(เสียงผู้ชาย) บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
ถ้ามีอดิเรกลาภคือลาภเหลือเฟือ ก็ทรงอนุญาต เช่น วิหาร คือกุฏิ เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ท้องถ้ำ
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:00:00 – 01:00:27)
(เสียงผู้ชาย) บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
ถ้ามีอดิเรกลาภคือลาภเหลือเฟือ ก็ทรงอนุญาต เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ต่อไปเป็นส่วนอกรณียกิจ
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:00:49 – 01:01:29)
(เสียงผู้ชาย) อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจจะมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:02:13 – 01:03:04)
(เสียงผู้ชาย) อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย โดยที่สุดหมายถึงเส้นหญ้า ภิกษุใดถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย บาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้วไม่อาจจะเป็นของเขียวสด ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอา ของอันเขาไม่ได้ให้เป็นส่วนขโมย บาทหนึ่งก็ดี ควรบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:04:00 – 01:04:53)
(เสียงผู้ชาย) อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงมดดำมดแดง ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว เป็นของกลับต่อกันไม่ได้ ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:05:44 – 01:06:45)
(เสียงผู้ชาย) อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่สุดว่า เรายินดีในเรือนร่าง ภิกษุใดมีความอยากอันลามก อันความอยากอันลามกครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ภิกษุก็เหมือนกัน มีความอยากลามก อันความอยากลามกครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย พระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต
(เสียงกล่าวเป็นภาษาบาลี นาทีที่ 01:07:57 – 01:09:19)
(เสียงผู้ชาย) พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น ตรัสศีลไว้โดยชอบแล้ว ตรัสสมาธิไว้โดยชอบแล้ว ตรัสปัญญาไว้โดยชอบแล้ว โดยหลายขบวน เพียงเพื่อทำให้แจ้งสิ้นพระนิพพานนั้น อันเป็นทางย่ำยีความเมาเสีย เป็นทางนำความอยากเสีย เป็นทางถอนอาลัยขึ้นเสีย เป็นทางเข้าไปตัดผลเสีย เป็นทางสิ้นแห่งตัณหา เป็นทางฟอกจิต เป็นทางดับทุกข์ ในศีล สมาธิ ปัญญานั้น สมาธิอันศีลอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมพ้นจากอาสวะรวยชอบ คือ จากอาสวะคือความอยากได้ จากอาสวะคือความอยากเป็น จากอาสวะคือความไม่รู้ เพราะเหตุนั้นแล เธอจึงศึกษาสิกขาคือศีลยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือจิตยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือปัญญายิ่งอย่างเคารพ ในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตตรัสประกาศอย่างนี้ พึงไปถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในนั้นเทอญ
(เสียงผู้ชายอีกคน) อามะ ภันเต
(เสียงท่านพุทธทาส) ให้พรพระบวชใหม่ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลจะได้อุปสมบทแก่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะญาติที่ล่วงลับไปแล้วให้ได้ตามลำดับ ตามลำดับ สรรพสัตว์ทั่วไป แม้กระทั่งผู้แค่ไม่รู้จัก หรือผู้แค่เป็นเวรเป็นภัย
ขอสัพพีตีโย เทน้ำหมด ริน รินให้เป็นสายเล็ก ๆ จิตจะได้เป็นสมาธิ อุทิศส่วนกุศล
(เสียงสวดมนต์ นาทีที่ 01:12:50 – 01:14:30)
เอา, ให้พร ตั้งใจให้พรพระบวชใหม่โดยเฉพาะ
(เสียงสวดมนต์ นาทีที่ 01:14:35 – 01:15:23)
ให้พรทายก ทายิกา
(เสียงสวดมนต์ นาทีที่ 01:15:28 – 01:18:03)