แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อไปนี้เป็นโอวาทสอนนาคเขมไชย รสานนท์ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕
บัดนี้ ถึงเวลาที่จะต้องตั้งใจฟังให้ดี อย่าเป็นคนฟุ้งซ่านมางกๆเงิ่นๆ จิตใจไม่ปกติ ไม่มีเรื่องที่ต้องกลัว หรือต้องประหม่า มันต้องทำในใจให้ดี คือฟังให้ถูก แล้วก็ทำในใจไปตามคำที่พูด พูดให้เข้าใจให้รู้สึกอย่างไรก็ต้องทำในใจไปตามนั้นด้วย มันจึงจะค่อยๆเปลี่ยนไป เปลี่ยนไป
เดี๋ยวนี้เราไปขอบรรพชาโดยภาษาบาลี ซึ่งมันมีการออกเสียงผิดเพี้ยงบ้างแต่ถือเอาโดยความหมาย ให้รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ตั้งใจว่าจะพูดว่าอย่างไร ทีนี้ลิ้นหรือฟันของเรามันไม่เรียบร้อย มันออกเสียงไม่ชัดไปทุกตัวนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะรู้แล้วว่าเธอตั้งใจจะว่าอะไร จะว่าอย่างไร ถึงแม้ว่าเสียงเพี้ยนก็จะถือเอาแต่ใจความที่ถูกต้องว่าเธอจะว่าอะไร ขอแต่ให้เธอรับรองในคำพูดที่ได้พูดออกมานี้ และรักษาคำพูดนี้คือว่า ใน ๓ ครั้งแรกเราได้ประกาศตนเองว่านับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วก็ใคร่จะบรรพชาในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้วว่าอย่างนี้ ๓ ครั้ง ต้องรู้ว่าตัวว่าอะไร ก็ต้องรักษาคำพูดนี้ และ ๓ ครั้งทีหลังนี้ก็ว่า ขอบรรพชา ข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้แก่ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา ใจความมันว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ ต้องรับผิดชอบ ต้องรักษาคำพูดนี้ว่าได้พูดอย่างนี้ ได้ขอร้องเองด้วย ไม่ใช่ใครบังคับ ไม่ใช่มีปริกัปป์ข้อแม้อะไร เป็นเรื่องขอกันตรงๆ จึงต้องยืนยันในข้อนี้ด้วยจิตใจในเวลานี้ เพราะเรารู้ว่าเราได้ขอไปแล้ว คือขอสิ่งนั้นสิ่งนั้น อย่างที่ว่าเป็นภาษาบาลีนั่น แล้วจะไปว่าไม่รู้ว่าอะไรแล้วก็ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำในใจให้ตรงตามคำพูดนั้นมันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อตะกี้นี้ไม่รู้ว่าอะไร ในใจมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นภาษาบาลี ตอนนี้ก็รู้เสียว่าเป็นภาษาไทยนั้นมันว่าอย่างนี้ ประกาศตัวนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าจะบรรพชาถึง ๓ ครั้ง และ ขอบรรพชาตรงๆลงไปอีก ๓ ครั้ง
ทีนี้เรื่องที่เราจะต้องรู้ต่อไปก็คือว่า “บรรพชา” ที่ขอนั้นมันคืออะไร เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าที่ขอนั้นไม่รู้ขออะไรมันก็จะน่าหัว คือ “ขอรับเอาระเบียบในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ” เขาก็เรียกว่า “พรหมจรรย์” เหมือนกันแม้บวชเณร คือขอรับเอาระเบียบพรหมจรรย์ไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นสามเณร ที่ใจความของบรรพชา หรือ พรหมจรรย์ในที่นี้มันมีความหมาย “ปรรพชา หรือ บรรพชา” ที่เราขอนี้ก็แปลว่า “ไปหมด เว้นหมด” ปะ ว่าหมดหรือทั่ว วะ ชะ แปลว่า ไป หรือ เว้น ปะวะชะ ปรรพชา บรรพชา ก็เหมือนกัน ไปหมด เว้นหมด ต้องจำคำนี้ไว้ มันจำง่ายว่า บรรพชา แปลว่า ไปหมด เว้นหมด ทีนี้ก็รู้คำอธิบายว่า ไปหมดจากความเป็นฆราวาส ไปเสียให้หมดจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง และก็เว้นเสียให้หมดจากสิ่งที่จะต้องเว้น เว้นจากความเป็นฆราวาส เว้นจากที่ควรเว้นทั้งหมดเพื่อความเป็นบรรพชิต นี่เราเรียกว่าเว้นหมด นี่ก็คือไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส เว้นจากสิ่งที่ต้องเว้น เราก็ทำในใจเสียให้ถูกต้องเดี๋ยวนี้ว่าเราสละความเป็นฆราวาสทุกอย่าง ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ต่อไปนี้เราจะไม่ทำอย่างเป็นฆราวาสอีกต่อไป จะไม่กินอยู่ นุ่งห่ม อย่างฆราวาสอีกต่อไป พูดเท่านี้ก็ควรจะรู้ ไม่กินอย่างฆราวาส ไม่อยู่อย่างฆราวาส ไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส แล้วก็ไม่พูดจาอย่างฆราวาส และก็ไม่คิดนึกหรือใฝ่ฝันอย่างฆราวาส ก็เรียกว่าครบถ้วนทั้ง กาย วาจา ใจ ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ที่นี้เรายังเป็นฆราวาส ก็ยังถือว่าเราเป็นฆราวาส ทีนี้เราก็จะตั้งใจที่จะเว้นจากความเป็นฆราวาสให้หมดทั้งทางกาย วาจา ใจ นับตั้งแต่ที่เราขอบรรพชานี้ ก็เป็นที่ตกลงกันแล้วว่า จะเว้นให้หมดจากความเป็นฆราวาส นี่มันก็ไม่ใช่ยากในการที่จะเว้น แต่ว่ามันยากในการที่จะ “รักษา” ความเว้นให้มีอยู่ตลอดไป บางทีมักลืม บางทีมักเผลอ จึงต้องระวังในข้อนี้ต้องคอยระวังอย่าให้เผลอ เพื่อนฝูงมาก็ต้องรู้ว่าเราเป็นสามเณรเป็นพระแล้ว จะพูดจาหรืออะไรกันอย่างแต่ก่อนไม่ได้ จึงต้องมีสติคอยควบคุมระวัง เดินไป เดินมา อยู่ที่นั้นที่นี้ ทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าให้มันมีจริตของฆราวาสเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ต้องปักใจให้แน่เสียแต่เดี๋ยวนี้ อธิษฐานให้แน่เสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าเราจะสลัดความเป็นฆราวาสให้จริงๆจังๆ แต่ว่ามันจะเผลอ ถ้านอนหลับแล้วจะฝันอย่างฆราวาส หรือว่าดับตะเกียงมืดแล้วก็เผลอไปว่าเป็นฆราวาส หรือทำอะไรอย่างฆราวาส ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่เสียแต่เดี๋ยวนี้ มันจะไม่เผลอมันจะคุ้มกันได้ พอจะนอนให้เอามือลูบศีรษะเสียทีก่อนว่า “หัวโล้น” มืดๆก็รู้ว่าหัวโล้น รู้ว่าเป็นพระ เป็นเณร มันไม่ลืม และต้องตั้งใจให้แน่วแน่ไว้ว่าจะไม่ฝันอย่างฆราวาสด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าเราจะเว้นให้หมดจากความเป็นฆราวาส ทุกอิริยาบถ ทุกเวลาทั้งหลับ ทั้งตื่น จะรักษาไว้ให้ได้
ทีนี้ก็มี “สิกขาบท” ต่างๆที่เราต้องศึกษาสมาทาน ก็เว้นตามข้อที่ต้องเว้น และก็ต้องทำทุกข้อที่ต้องทำ ก็เป็น “บรรพชิต” กันที่ตรงนี้เอง “บรรพชิต” แปลว่า “ผู้มีบรรพชา” บรรพชา แปลว่า การเว้นหมดไป หมดจากความเป็นฆราวาสประพฤติพรหมจรรย์ เป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา นี่คือสิ่งที่เราขอ เราต้องรู้ว่าเราขอสิ่งนี้ อย่าทำอย่างละเมอๆไป ทีนี้ต้องรู้ด้วยว่า ขึ้นชื่อว่า “พรหมจรรย์” แล้วมันต้องขูดเกลา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ชัดเจนแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ว่าสิ่งที่เรียกว่า “พรหมจรรย์” นี้ต้องเป็น “สัลเลขธรรม” คือ “ขูดเกลา” เพราะฉะนั้นคงไม่สนุก มันเป็นเรื่องขูดเกลา เหมือนเอามีดมาขูดของร้ายๆเลวๆให้ออกไปนี่ เว้นไว้แต่ว่ามันอยากดีเท่านั้นมันจึงจะสนุก ถ้าไม่อยากดีแล้ว พรหมจรรย์นี้ไม่สนุกเพราะล้วนแต่เป็นเรื่องขูดเกลา เหมือนว่าเนื้อมันเปื่อยเน่า มันเสียต้องขูดเกลาเอามันออกไปแล้วจึงจะใส่ยาให้หายนั่นแหละ เห็นไหมว่ามันมีอุปมาอย่างนั้นแหละ มันไม่สนุกหรอกแต่ว่ามีผลดี เราต้องปฏิบัติสิกขาวินัยที่เหมือนกับการขูดเนื้อร้าย เพราะฉะนั้นจึงต้องทน ทีนี้ก็มาถึงการที่ต้องทน ถ้าไม่ทนก็ล้มละลายหมด อยากทำอะไรก็ทำ หิวข้าวก็กินอย่างนี้ก็เลยล้มละลายหมด ต้องตั้งใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้แล้วว่าเราจะต้องเผชิญกันเข้ากับความอดทน คือจะต้องเจ็บปวดคือในทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกายบ้าง เพราะต้องคอยบีบบังคับไม่ให้ทำผิดจากระเบียบสิกขาต่างๆด้วยความอดกลั้นอดทนอยู่เสมอ เขาจึงมีคำกล่าวไว้ล่วงหน้าว่า แม้ว่าจะต้องประพฤติพรหมจรรย์นี้ด้วยน้ำตาก็สมัครก็ยินยอม ว่าจะอดทนรักษาสิกขาวินัยแม้จะต้องน้ำตาไหลก็ไม่ยอมให้มันเสียไปในส่วนสิกขาวินัย อย่างนี้เอาไหม? ถ้ามันถึงขนาดนี้จะเอาไหม? ถ้าต้องทนถึงขนาดนี้จะเอาไหม? ถ้าไม่เอาก็ให้บอกเลิกกันเสียแต่เดี๋ยวนี้ อย่าให้มันนั่นไป ถ้าอย่างนั้นก็ได้ ถ้าสัญญากันว่าจะต้องทนจนน้ำตาไหลก็จะยอมทน ถ้าอย่างนี้ก็ได้ มันก็ควรจะบวช เพราะว่าเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ตายตัวเด็ดขาดอย่างนี้ ท่านตั้งใจอย่างนี้ ท่านประสงค์อย่างนี้ เราแก้ไขไม่ได้ ให้เป็นไปตามความชอบใจของใครไม่ได้ ต้องเป็นไปตามสิกขาบทที่ท่านวางไว้ ระเบียบที่ท่านวางไว้ นี่ก็เรียกว่า พรหมจรรย์เป็น “สัลเลขธรรม” เป็นการขูดเกลา สำเร็จได้ด้วยความอดทน นี่เรียกว่า บรรพชา อย่างนี้ ขอบรรพชา ว่าข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้แก่ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา เข้าใจแล้วนะว่าบรรพชาคืออย่างนี้ว่าเธอเป็นผู้ขอ ไม่ใช่ฉันยัดเยียดให้ และเธอก็ต้องรักษาคำพูดที่ว่าขอนี้ นี่คือบรรพชาที่เราขอ จำไว้เป็นข้อสัญญา อย่างอื่นไม่มีมีแต่อย่างนี้
ทีนี้ “ประโยชน์” “อานิสงส์” ของบรรพชาเราก็ควรจะรู้ ไม่อย่างนั้นก็ละเมองมงายไม่รู้บวชทำไม บ้าๆบอๆก็มี ก็ต้องรู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร มีอานิสงส์อย่างไร แม้ว่าจะมีการบวชหลายชนิด เช่นบวชตลอดชีวิตก็มี บวชแก้บนก็มี บวชชั่วคราวก็มี บวชแบบตั้งใจว่าเราจะต้องกลับสึกออกไปอีกก็มี ถ้าทำถูกต้องแล้วก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้นไม่ว่าบวชชนิดไหน ถ้าทำถูกต้องแล้วก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้น บวชวันหนึ่งก็ดีวัน บวชสองวันก็ดีสองวัน บวชปีหนึ่งก็ดีปีหนึ่งแล้ว ถ้าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง เดี๋ยวนี้ก็มาถึงคำว่า “จริง” คือต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วก็สอนผู้อื่นก็ได้ สิ่งใดที่เราปฏิบัติได้ผลแล้ว แม้ยังไม่ถึงขั้นสูงสุดเราก็สอนได้ ด้วยความหวังดีต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นใครจะบวชนาน หรือ ไม่นาน หรือว่า ด้วยเหตุผลอย่างใดก็ตาม ต้องปฏิบัติอย่าเดียวกันหมด ไม่ลดหย่อนให้ใครที่ว่าจะบวชนาน บวชไม่นานก็ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด เพื่อให้ได้ประโยชน์และอานิสงส์ที่สุด
อานิสงส์นี้ก็มีมากจนบอกกันไม่ไหว ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นว่าจนบอกกันไม่ไหวโดยรายละเอียด ถ้าบอกโดยเค้า โดยประเภทว่าถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง เราจะได้อานิสงส์อย่างน้อย ๓ ประการ นี่คอยฟังให้ดีว่าเราได้อานิสงส์อย่างน้อย ๓ ประการ และแต่ละประการนั้นเท่าภูเขาเลากาทั้งนั้น คือว่า
ผู้บวชเองจะได้อานิสงส์
และก็บิดามารดาญาติทั้งปวงจะพลอยได้อานิสงส์
และก็พระศาสนาของพระพุทธเจ้ายังพลอยได้รับประโยชน์อานิสงส์ คือ บวชสืบอายุพระศาสนา
เราผู้บวชเองได้รับอานิสงส์ นี่ก็มันอยู่ที่เมื่อบวชจริง เรียนจริง แล้วก็รู้ด้วย ปฏิบัติได้ดีด้วยมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ถ้าบวชจริง เรียนจริงและปฏิบัติจริงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ร่างกายจิตใจอะไรมันจะเปลี่ยนไปหมด มันเปลี่ยนอย่างที่ว่าจากร้อนมาเป็นเย็น จากที่ไม่น่าดูมาเป็นที่น่าดู คือดีขึ้นทั้งนั้น ดีขึ้นไปในทางที่ว่าจะดีที่สุดที่มนุษย์จะดีได้ เพราะฉะนั้น อุตส่าห์อดกลั้นอดทนทำให้มันได้อานิสงส์ เมื่อเรียนจริงมันก็รู้ เมื่อปฏิบัติจริงก็จะเกิดการขูดเกลา สิ่งเศร้าหมอง สิ่งสกปรกในจิตใจในกายวาจาอะไรออกไป มันก็สะอาดขึ้น ได้ผลเป็นอย่างนั้น ให้เรารู้ว่า ความทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์คืออะไร ความชั่วคืออะไร ความดีคืออะไร มันรู้มากขึ้น ให้รู้ว่ามนุษย์เกิดมาทีหนึ่งนั้นมันจะดีได้เท่าไร ถึงไหน ถ้าเราปฏิบัติอยู่แต่อย่างชาวบ้าน เป็นแต่ชาวบ้านอยู่อย่างเดียวมันก็รู้แค่นั้นว่ามนุษย์ดีเท่านั้น แต่ถ้าบวชแล้วปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันจะพบจิตใจอันใหม่ ความรู้สึกอันใหม่ อะไรๆใหม่ที่ไม่เคยรู้ที่ชาวบ้านไม่อาจจะรู้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์ควรจะได้ตามที่มนุษย์ควรจะได้กระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อย่างน้อยเราก็จะได้รู้จัก เราก็จะได้ตามสมควร เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาให้รู้ในสิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เพราะบางครั้งกว่าเราก็จะได้ เราก็จะได้ชิมอย่างน้อยก็เรื่องได้ชิม ไม่อาจจะได้ตลอดไปก็เป็นการได้ชิม แต่ถ้าเราปฏิบัติจริงก็เป็นเรื่องที่ได้ตลอดไปก็ค่อยรู้กันข้างหน้า รวมความว่าตัวผู้บวชนั้นจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ในการเป็นฆราวาส ก็ได้เป็นผู้ที่รู้อะไรลึก ลึก อันลึกซึ้งของมนุษย์ การที่มีกิเลสน้อยเป็นอย่างไร การที่ควบคุมกิเลสไว้ได้เป็นอย่างไร การที่ว่างจากกิเลสเป็นบางครั้งบางคราวเป็นอย่างไร มันรู้อย่างนั้นแล้วก็จะชอบมากขึ้นมากขึ้น มันก็จะไม่กลับไปหาความทุกข์ หรือความต่ำ หรือความไม่ดี นี้เขาเรียกว่ามีความสว่างไสวในทางจิตทางวิญญาณเกิดขึ้น นี่ก็เป็นใจความสำคัญที่ผู้บวชจะพึงได้ รายละเอียดมีมากพูดกันไม่ไหว
ทีนี้อานิสงส์อีกชนิดหนึ่งก็คือว่า ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าบวชแทนพระคุณ บวชแทนคุณ ทดแทนพระคุณผู้มีพระคุณ อานิสงส์ที่ ๑ เราเอง อานิสงส์ที่ ๒ นี่ทดแทนพระคุณของบุพพการีบุคคลผู้มีบุญคุณ เพราะว่าเรามันเกิดเองก็ไม่ได้ เกิดจากโพรงไม้ก็ไม่ได้ ต้องเกิดจากบิดา มารดา ด้วยกันทั้งนั้น ก็เลยเป็นหนี้บุญคุณ ก็ต้องหาทางทดแทนบุญคุณให้สุดความสามารถ ทีนี้การทดแทนบุญคุณมีหลายอย่างหลายชนิด เราก็ทำทุกอย่างทุกชนิด การทดแทนบุญคุณชนิดสูงสุดนี้ท่านถือกันว่า คือผู้มีปัญญาแต่กาลก่อน ทั้งพระพุทธเจ้าด้วย ท่านถือกันว่า ให้ทำความปีติปราโมทย์พอใจในธรรมให้แก่บิดามารดาให้มากที่สุด ทำความเป็นสัมมาทิฐิในพระศาสนาให้แก่บิดามารดาให้มากที่สุด เขาเรียกกันภาษาชาวบ้านว่าทำมารดาบิดาให้เป็นญาติในพระศาสนาให้ยิ่งขึ้นไป เขาถือว่าเมื่อยังไม่ได้บวช บิดามารดานั้นเป็นญาติในพระศาสนาไม่มาก ยังน้อยอยู่ ถ้าเราบวชจะเป็นการทำให้บิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนามากขึ้นหรือยิ่งขึ้นไป คือมีปีติในศาสนายิ่งขึ้นไปเนื่องด้วยการบวชของเรา และถ้าเรามีความรู้มากพอที่จะแสดงธรรมะแก่บิดามารดามันก็ยิ่งขึ้นไปอีก พูดกันตรงๆก็ว่า บิดามารดาไม่เคยมีความพอใจชนิดนี้มาแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ก็ทำให้เกิดความพอใจชนิดนี้ คือ การบวชของเรา เรียกว่า ได้สิ่งที่ยังไม่เคยได้ มีความสนใจในธรรมะ ในศาสนาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว มีความใกล้ชิดคือความเป็นญาติในพระศาสนาเพิ่มขึ้นได้โดยไม่รู้สึกตัว แต่ข้อนี้มันสำเร็จอยู่ที่เราคนเดียว มันขึ้นอยู่ที่เราคนเดียว ถ้าเราเหลวไหลก็ล้มละลาย ถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงมันก็ได้ผลตามนั้น ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น ก็จะมีความเป็นญาติในพระศาสนามากขึ้น เพราะได้รับความมั่นคงในทางจิตใจเพิ่มขึ้นด้วย ได้อนุโมทนาสาธุการ ได้ใกล้ชิดทั้งโดยจิตใจและโดยร่างกายมากขึ้น เป็นเรื่องผูกพันเข้ามาหาพระธรรมหรือพระศาสนา ถ้าบิดามารดาไม่เคยเป็นอย่างนี้ แล้วก็มาได้เป็นอย่างนี้เพราะการกระทำของเรามันก็ดีที่สุด ถ้าบิดา มารดาเป็นมาก่อนแล้ว แล้วมาเป็นมากขึ้นเพราะการกระทำของเรา มันก็ดีเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นการกระทำที่สุดความสามารถของเราแล้วในการที่จะตอบแทนพระคุณ บุตรธิดาต้องทำการตอบแทนพระคุณทุกอย่าง คือว่าทำความถูกอกถูกใจให้แก่บิดามารดาทุกอย่าง เลี้ยงดูบิดามารดาด้วยอะไรๆทุกอย่างมันก็ทำอยู่แล้ว ทีนี้ก็ทำเป็นอันสูงสุด คือ การหล่อเลี้ยงจิตใจของบิดามารดาให้ชุ่มชื่นอยู่ด้วยธรรมะ เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น กุลบุตรผู้ใดได้ทดแทนบุญคุณของบิดามารดาด้วยลักษณะอย่างนี้แล้วก็ถือว่า เขาได้ทำสุดความสามารถของเขาแล้ว ดังนั้นก็ขอให้การบรรพชาบทนี้เป็นการบวชแทนคุณบิดามารดาด้วย อานิสงส์ข้อนี้ให้มีอยู่อย่างนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องจิตใจอยู่มาก
ทีนี้อานิสงส์ข้อ ๓ ถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ทำจริง แม้แต่บวชสักเดือนหนึ่งก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา เขาเรียกกันสั้นๆว่า “บวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา” อย่าเห็นแก่ตัวโดยที่เห็นว่า การที่ศาสนายังมีอยู่เดี๋ยวนี้ สืบๆกันมาจนถึงบัดนี้เพราะมีผู้สืบศาสนาไว้ ไม่ให้สูญไปเสีย มีอยู่บัดนี้จนถึงเรา เราได้รับประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราอย่าเป็นคนใจจืด เราก็จงบวชสืบอายุพระศาสนาไว้ต่อไป เราบวชกี่ปีก็สืบเท่านั้นปี บวชกี่เดือนก็สืบเท่านั้นเดือน บวชกี่วันก็สืบเท่านั้นวัน ขอแต่อย่างเดียวว่า อย่าบวชเข้ามาทำลายพระศาสนา บวชเข้ามาเท่าไหร่ก็ขอให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาเท่านั้น ศาสนามีชีวิตอยู่ได้เพราะว่ามีผู้บวช มีผู้เรียน มีผู้ปฏิบัติ มีผู้ได้รับผลของการปฏิบัติ มีผู้สอนสืบๆกันไป นี่คือสิ่งที่ทำให้ศาสนามีชีวิตอยู่ได้ และก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะฉะนั้น เธอแม้ยังเล็กอยู่ ถ้าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงแม้ชั่วขณะหนึ่งคราวหนึ่งก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาช่วงหนึ่งเหมือนกันเป็นช่วงที่เราจะสืบ เมื่อเราหมดความสามารถที่จะทำอย่างนั้น เราก็มอบหมายให้คนอื่นต่อไป เช่น ลาสึก แต่ก็สืบอายุพระศาสนาในฐานะเป็นพุทธบริษัทที่ดีในเพศฆราวาส นั่นอีกทางหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็หมายถึงว่า เมื่อเราบวชเข้ามาเป็นบรรพชิตนี่ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนายิ่งกว่านั้น ให้เราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มีอะไรก็พูดให้ผู้อื่นฟังตามที่จะพูดได้ เท่าที่รู้จริง เพราะฉะนั้น ช่วยกันสืบกันมาเป็นช่วงๆๆคล้องกันมาเรื่อยไม่ขาดตอนลงได้ ศาสนาก็มีชีวิตอยู่จนมาถึงเราและจนจะไปถึงคนชั้นหลังต่อๆไปอีก
ทีนี้ก็อาจจะมีคนถามว่า “สืบอายุศาสนาไปทำไมกันโว้ย” นั่นมันเป็นคนที่ยังไม่เห็นประโยชน์ของศาสนาว่าสืบกันไปทำไมกันโว้ย เขาถือกันว่า โลกนี้มันอยู่ได้เพราะมีศาสนาอยู่ในโลก ถ้าไม่มีศาสนาอยู่ในโลก โลกนี้มันล้มละลาย ล้มเป็นโลกที่ทนไม่ไหว เป็นโลกที่ร้ายกาจที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่พึงปรารถนา เดี๋ยวนี้โลกยังน่าดู ยังพออยู่ได้ ยังมีความสงบสุขกันอยู่ได้เพราะว่ามีที่เรียกว่า “ศาสนา” นั่นแหละ ไปหล่อเลี้ยงเอาไว้โดยส่วนลึกมองไม่ค่อยจะเห็น ถ้าคนมันใจบาปหยาบช้าเสียหมดแล้ว มันก็แย่ มันก็อยู่กันไม่ได้ มันก็ล้มละลายและลุกเป็นไฟแล้วก็สูญหายไป ทีนี้พระธรรมหรือศาสนานี้มันช่วยหล่อเลี้ยงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความรักใคร่ เมตตา กรุณา พออยู่กันไปได้ นี่ทุกคนไปมองเถอะมันจะเห็น คนแต่ก่อนเขาทำไว้ดี เขาทำให้คนในโลกนี้มีจิตใจอ่อนโยน เมตตากรุณา รู้จักรักผู้อื่น รู้จักทำความดี โลกมันจึงอยู่ได้ ลองหมดศาสนาโดยสิ้นเชิงแล้วมันก็ไม่เป็นโลกแน่ อยู่กันไม่ไหวแน่ เดี๋ยวนี้แม้ว่าคนส่วนมากเขาจะไม่ชอบศาสนา เขาจะละเลยศาสนา แต่ว่า “เชื้อ” ของความมีศาสนาก็ยังมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ และก็ยังมีมนุษย์อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีศาสนา แล้วเขาก็ทำให้ศาสนามีอยู่ในโลก เช่นพวกเราพุทธบริษัทนี้ก็ช่วยทำให้ศาสนามีอยู่ในโลก โลกนี้มันไม่คว่ำ ถึงมันจะโคลงเคลงบ้างมันก็ยังไม่คว่ำไป ทุกคนที่อยู่ในโลกก็พลอยได้รับประโยชน์ คนพาลสันดานหยาบที่มันมีอยู่ในโลกมันก็พลอยได้รับประโยชน์จากการที่โลกมันยังไม่คว่ำไป โลกมันไม่คว่ำไปเพราะมันยังมีคนดีอยู่ในโลกคือคนที่มีศาสนา เพราะฉะนั้นช่วยกันทำศาสนาให้ยังคงมีอยู่ในโลก ให้คนทุกคนในโลกที่เรารู้จักหรือเราไม่รู้จัก ให้มันพลอยได้รับประโยชน์ ถ้าเธอมองเห็นอันนี้ เธอก็จะมีกำลังใจที่จะสืบอายุพระศาสนาทั้งเมื่อบวชอยู่ หรือเมื่อสึกออกไปก็ตาม
นี่จำอานิสงส์ ๓ อย่างนี้ไว้ อานิสงส์ที่เราเองจะได้ อานิสงส์ที่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะได้ และอานิสงส์ที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงและศาสนาจะพึงได้ ถ้าเห็นข้อนี้แล้วก็จะมีกำลังใจในการประพฤติพรหมจรรย์ การรักษาศีลสิกขาบทอะไรต่างๆให้ดี นี่อุตส่าห์คิดนึกไว้เถอะ มันจะช่วยให้ปฏิบัติได้ด้วยความสะดวกสบายใจไม่ต้องทน ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน นี่เรียกว่าประโยชน์หรืออานิสงส์ของศาสนา
ทีนี้เราก็มาถึงเรื่องที่ว่า เราจะต้องมีจิตใจที่เหมาะสมสำหรับที่จะมีบรรพชาอยู่กับเนื้อกับตัว ก็คือที่พูดเมื่อกี้นี้ว่าบรรพชานี้อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือเราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะจึงได้บรรพชา จึงอยากจะบรรพชา จึงขอบรรพชา เพราะฉะนั้นเราต้องมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเรา คนไม่เคยศึกษาเล่าเรียนเขาจะไม่รู้ว่าเราจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเราได้อย่างไร บางคนก็โง่มากถึงขนาดที่ว่า พระพุทธเจ้าก็นิพพานไปแล้ว พระธรรมก็อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ พระสงฆ์ก็เป็นคนๆเป็นหมู่ๆจะเข้ามาอยู่ในใจของเราได้อย่างไร นั่นมันยังโง่เกินไป เพราะฉะนั้นเราต้องฉลาดพอที่จะรู้ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั้นมาอยู่ในใจของเราได้ หมายถึงคุณธรรม คุณค่า คุณสมบัติ ที่เขาเรียกกันว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ ในใจของท่าน
พระธรรมที่แท้จริง คือ ความสะอาด สว่าง สงบ ที่อยู่ในการศึกษา การปฏิบัติ และในผลของการปฏิบัติ
พระสงฆ์ ก็คือ มีใจที่สะอาด สว่าง สงบอยู่ในใจของท่าน
เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำจิตใจของเราให้มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ในใจของเราเสมอ นั่นก็คือมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเราเสมอ เป็นเครื่องรับประกันได้ว่าบรรพชานี้จะไม่ล้มเหลวเพราะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นรากฐาน คือมีจิตใจอย่างเดียวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นรากฐาน เธอจงใฝ่ฝันถึงความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจนี้ไว้เรื่อยไป เพราะนี่จะเป็นรากฐานให้บรรพชาของเรานี้เจริญงอกงาม เหมือนกับต้นไม้ที่ได้ดินดี ได้อะไรดีมันก็เป็นต้นไม้ที่เจริญงอกงาม บรรพชานี้ก็เหมือนกัน ได้อะไรดีๆแล้วมันก็เจริญงอกงามก็คือความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ จงพยายามทุกอย่างทุกทางที่จะให้จิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ มีความสว่างไสว ไม่โง่ไม่มืดมัว และมีความสงบเย็นไม่เร่าร้อน เอาละ ให้เรียกว่ารู้จักบรรพชา และก็รู้จักประโยชน์อานิสงส์ของบรรพชา และก็รู้จักรากฐานที่ตั้งอันแท้จริงของบรรพชา ดังที่เราได้กล่าวแล้วว่า “เธอจงฟังให้ดี เธอจงมีจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามคำพูดของเราทุกๆประโยคด้วย” เราก็มีความเปลี่ยนแปลงในตัวเราพอที่จะนุ่มห่มผ้ากาสายะแล้ว
ทีนี้ระเบียบอันสุดท้ายที่มีไว้สำหรับผู้บรรพชาก็คือ “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน” ดังนั้นเธอตั้งใจฟังให้ดีครั้งหนึ่ง “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน” แปลว่า กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า กัมมัฏฐานนี้มี ๕ เรื่อง มีหนังนี้เป็นเรื่องที่ ๕ นี่เรียกว่าเป็น “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน” เขาเรียกว่า ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ๕ อย่าง มีหนังเป็นอย่างที่ ๕ เอามาสอน เอามาแนะเอามาชี้หรือเอามาให้ระลึกนึกถึงด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจเกี่ยวกับความรักสวยรักงาม ถ้าจิตใจยังเหมือนฆราวาสยังรักสวยรักงาม ก็ยังไม่เหมาะสมที่จะนุ่มห่มผ้ากาสายะ ทำให้เรามีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจให้เหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะ เพราะฉะนั้นจึงต้องบอกกัมมัฏฐานนี้ ก็เรียกว่า “ปฏิกูลกัมมัฏฐาน” การพิจารณาถึงความเป็น “ปฏิกูล” ในสิ่งที่เราเคยหลงว่าสวยงาม เธอต้องฟังให้ดีครั้งหนึ่ง สิ่งที่เธอเคยหลงว่าสวยงามนั้นก็มีมากมายนับไม่ไหว แต่นี่เอามา ๕ อย่างก็พอว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เธอเคยหลงว่าผมสวย พยายามทำให้มันสวย ดูของคนอื่นที่สวย ดูของเพศตรงข้ามที่สวยเลยคิดว่าสวย เราก็พยายามทำของเราให้สวยให้หอมให้อะไรต่างๆนานานี้เรียกว่า จิตใจที่มันยังโง่อยู่ ถ้ายังโง่อย่างนี้ยังไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสายะ จึงควรรู้ความโง่อันนี้เสีย แล้วขยะแขยงความโง่อันนี้ จิตใจเราก็จะเปลี่ยนเป็นรู้เรื่องจริงและมีจิตใจสูงพอที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ วิธีที่จะพิจารณาเขาก็วางไว้ให้ว่า ให้ดูว่า รูปร่างของมัน สีสัน วรรณะของมัน ที่เกิด ที่ตั้ง ที่งอก หน้าที่การงานของมัน พูดพอเป็นหัวข้อว่า เส้นผมนี้รูปร่างของมันก็น่าเกลียด ให้แยกดูอย่างนี้ อย่าไปดูคราวเดียวแล้วสวยอย่างที่เราเคยดู คือให้แยกดูทีละอย่างว่า เส้นผมนี้รูปร่างของมันก็น่าเกลียด เป็นเส้นยาวๆอย่างนี้ สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียดตามธรรมชาติ และกลิ่นของมันก็น่าเกลียดตามธรรมชาติ มันไปหลอกลวงไปตบตาด้วยการฉาบทาให้มันเป็นของหอมของอะไรไปนี่ โดยธรรมชาติแล้วรูปร่างก็น่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกในหนังศีรษะนั้นก็น่าเกลียด หน้าที่การงานคอยรับฝุ่นบนศีรษะนั้นก็น่าเกลียด นี่เราเรียกว่า “ปฏิกูล”
ขนก็เหมือนกับผม มีความหมายลักษณะเดียวกัน
เล็บนี่ก็ให้เห็นว่ารูปร่างก็น่าเกลียด สีสันมันก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกที่เนื้อที่เลือดนี้ก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับควักสำหรับเกานี่ก็น่าเกลียด อย่าไปดูรวมทีเดียวว่าเล็บนี้มันสวย ให้แยกออกดูอย่างนี้ก็จะเห็นว่าตามธรรมชาตินี้มันน่าเกลียด
ทีนี้ ฟัน ให้ดู ให้แยกดู อย่าไปดูคนปากสวยที่เขาถ่ายรูป ว่าฟันนี้มันก็มีรูปร่างน่าเกลียด ไม่ต้องอธิบายเธอก็ต้องนึกภาพได้ สีของมันเหมือนกระดูกนี้ก็น่าเกลียด กลิ่นของมันก็น่าเกลียดตามธรรมชาติ งอกในเหงือก ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่สำหรับเคี้ยวอาหารในปากก็เป็นหน้าที่ที่น่าเกลียด เพราะฉะนั้นอย่าไปรวมแล้วว่าฟันสวย
ในที่สุดก็มาถึงผิวหนัง รูปร่างก็น่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด งอกหุ้มตัวอยู่ด้วยเลือดด้วยน้ำเหลืองนี่ก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับรับฝุ่นละออง สำหรับถ่ายเข้าถ่ายออกแห่งความร้อน หรือว่าสำหรับสิ่งสกปรก มันก็เป็นเรื่องน่าเกลียด ทำไมเราจะไปมองว่าผิวสวย ผิวนวล ผิวขาว ผิวผ่อง ที่เคยเข้าใจแต่ก่อนให้เป็นว่าเลิกกันที ให้เห็นความโง่ของคนที่ยังโง่ ไปดูรวมๆ ดูเร็วๆ ดูอย่างเขลาๆ ก็จะเห็นเป็นของสวย ถ้าจิตใจยังเป็นอย่างนั้น ยังไม่เหมาะกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะ เราจึงบอกแต่ทีแรกให้เธอมีจิตใจที่เปลี่ยนไปตามคำพูดของเรา มีจิตใจที่จะเหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะอย่างนี้
เอาละ ทีนี้ก็จะต้องมีการรับ ตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี คุกเข่า เข้ามาใกล้หน่อย คุกเข่า ก้มหน้า ตั้งใจรับ ตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้
ท่านพุทธทาส - เกสา
นาคเขมไชย - เกสา
ท่านพุทธทาส - โลมา
นาคเขมไชย - โลมา
ท่านพุทธทาส - นะขา
นาคเขมไชย - นะขา
ท่านพุทธทาส - ทันตา
นาคเขมไชย - ทันตา
ท่านพุทธทาส - ตะโจ
นาคเขมไชย - ตะโจ
นี่ก็เรียกว่าไปตามลำดับ ทีนี้ว่าทวนลำดับก็คือ
ท่านพุทธทาส - ตะโจ
นาคเขมไชย - ตะโจ
ท่านพุทธทาส - ทันตา
นาคเขมไชย - ทันตา
ท่านพุทธทาส - นะขา
นาคเขมไชย - นะขา
ท่านพุทธทาส - โลมา
นาคเขมไชย - โลมา
ท่านพุทธทาส - เกสา
นาคเขมไชย - เกสา
ท่านพุทธทาส - จำได้ลองว่าดู
นาคเขมไชย - เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
นาคเขมไชย - ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
ท่านพุทธทาส - อีกที
นาคเขมไชย - เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
นาคเขมไชย - ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
ท่านพุทธทาส - เพื่อความแน่นอน ว่าอีกที
นาคเขมไชย - เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
นาคเขมไชย - ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา
ท่านพุทธทาส - การที่ว่าได้เรียบร้อย ถูกต้องทั้ง ๓ ครั้ง ทั้งตามลำดับและทวนลำดับ ย่อมแสดงว่ามีใจคอปกติดี มีสติสัมปชัญญะดี และก็จำได้ดี เพราะฉะนั้นจึงมีความสมควร ที่จะทำการบรรพชา โดยหวังว่าเธอจะจดจำถ้อยคำทั้งหลายเหล่านั้นได้ ดังนั้นจึงมีความพอใจ เห็นด้วยและยินดีที่จะให้บรรพชาแก่เธอ เข้ามาใกล้ๆหน่อย ขอให้มีความเจริญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา........ตามความมุ่งหมายทุกประการเทอญ ถอยหลัง ไปที่ตรงมืดๆนั้น
นาคเขมไชย - อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
นาคเขมไชย - ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
นาคเขมไชย - ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
ท่านพุทธทาส - ว่านะโม ให้ชัด ให้ไพเราะ ๓ ครั้ง
นาคเขมไชย - นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นาคเขมไชย - นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นาคเขมไชย - นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
ท่านพุทธทาส - ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ
นาคเขมไชย - อามะ ภันเต
ท่านพุทธทาส - พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
นาคเขมไชย - ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส - สะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง
นาคเขมไชย - อามะ ภันเต
ท่านพุทธทาส - นี่เรารับสรณะคมน์แล้ว เพื่อความเป็นสามเณร ความเป็นสามเณรสมบูรณ์แล้วตั้งแต่เวลานี้ เวลาเดี๋ยวนี้คือ กี่ทุ่ม กี่นาที ก็ช่วยดูนาฬิกาจำกันไว้ พอเดี๋ยวนี้มีความเป็นสามเณรแล้วด้วยการรับสรณคมน์เพื่อความเป็นสามเณรในความหมายอย่างนี้
ท่านพุทธทาส - ทีนี้ก็รับสิกขาบท ๑๐ ไปเสียเลย เพื่อการศึกษาต่อไป
ท่านพุทธทาส - ปาณาติปาตา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - ปาณาติปาตา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - อะทินนาทานา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - อะทินนาทานา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - มุสาวาทา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - มุสาวาทา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - สุรา เมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - สุรา เมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - วิกาละโภชะนา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - วิกาละโภชะนา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะทัสสะนา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะทัสสะนา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - ชาตะรูปะ ระชะตะ ปะฏิคคะหะณา เวระมะณี,
นาคเขมไชย - ชาตะรูปะ ระชะตะ ปะฏิคคะหะณา เวระมะณี,
ท่านพุทธทาส - ว่า อิมานิ
นาคเขมไชย - อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
นาคเขมไชย - อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
นาคเขมไชย - อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
ท่านพุทธทาส – กราบ