แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอโอกาสทุกคนช่วยให้ความสงบเงียบหน่อยเพื่อเป็นผลดีแก่กันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้านาคและฝ่ายที่มาร่วมการกุศล เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำด้วยจิตใจ เพราะฉะนั้นขอให้ทำในใจด้วย อย่าเพียงแต่ท่าทางหรือปากว่า ทั้งผู้ที่จะบวชหรือผู้ที่จะมาร่วมการกุศล ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี โดยเฉพาะเจ้านาค ก็ขอให้ทำในใจไปตามคำที่พูดนั้นด้วย หมายความว่าให้จิตใจ “เปลี่ยน” ไปตามลำดับ ให้เหมาะสมกับที่เราจะนุ่งห่มผ้ากาสายะในเวลาอีกไม่กี่นาทีต่อไปนี้ ให้มันมีความถูกต้องในส่วนจิตใจออกมาก่อน แล้วก็มาทางวาจา ทางกายมันก็ย่อมจะถูกต้อง
เดี๋ยวนี้ เธอทุกคนได้กล่าวคำเป็นภาษาบาลี ถ้าไม่ทราบความหมายก็ทราบเสียเดี๋ยวนี้ จึงจะถูกต้อง ถ้าพูดไปแล้วก็ยังไม่ทราบ มันก็ไม่ได้
สามครั้งแรก เป็นถ้อยคำที่กล่าวประกาศตัวเองว่าชอบใจในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ใคร่จะบรรพชาในธรรมวินัยนี้ ถือพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทีนี้ สามรอบทีหลังนี้เป็นการขอบรรพชาโดยตรงว่าข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาแก่ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ แล้วก็ด้วยความเมตตากรุณา ถ้ายังไม่เคยคิดอย่างนี้หรือไม่รู้ข้อความนี้ ก็ต้องรู้กันเสียเดี๋ยวนี้ ที่เป็นภาษาไทยอย่างนี้ ภาษาบาลีก็ว่าพลั้ง ๆ เผลอ ๆไปบ้าง แต่ก็รู้ได้โดยที่ว่ามุ่งหมายอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่เป็นไร อย่างคนจีนพูดไทย อย่างนั้นมันก็มีเพี้ยนบ้าง แต่ก็รู้เรื่องว่าหมายความว่าอะไร ก็เอาใจความเป็นใหญ่ และรู้ดีว่าเธอทั้งหลายได้กล่าวข้อความนั้นด้วยความมุ่งหมายว่าอย่างไร ทีนี้กลัวว่าเจ้าตัวเองจะไม่ทราบ จึงบอกให้ทราบ ให้ทำในใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าเราได้กล่าวอะไรออกไป
ขอย้ำอีกทีว่าเธอต้องทำในใจให้ถูกต้องว่าที่กล่าวไปแล้วนั้น คือการประกาศตัวเองว่า ข้าพเจ้านี้ถือพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ปรินิพพานนานแล้วว่าเป็นสรณะ พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ อยากจะใคร่บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ก็ได้กล่าวไปอย่างนี้
แล้วกล่าวอีกทีหนึ่งว่าข้าพเจ้าขอบรรพชา คือทั้งสรณะและศีล จงทำการบรรพชาข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ด้วยความเมตตาเป็นที่ตั้ง นี่อย่างนี้ ๓ ครั้ง ๓ หน ขอให้ทำในใจถูกต้องอย่างนี้ และแน่นอน แล้วก็ยืนยันคำพูดนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทีนี้ ต่อจากนี้ก็ให้นึกต่อไปถึงข้อที่ว่าเราจะต้องรู้เรื่องบรรพชาที่เราขอนั้น ขอบรรพชาทั้งที ไม่รู้ว่าบรรพชานั้นคืออะไร มันก็เป็นเรื่องนกแก้วนกขุนทองร้อง ขอให้ทำในใจให้ถูกต้องว่าบรรพชานั้นคืออะไร อยากจะให้ทราบเป็นพิเศษนับตั้งแต่ว่าให้ทำในใจให้ดีที่สุด ให้จริงที่สุดเท่าที่จะจริงได้ เช่นว่าเดี๋ยวนี้เรานั่งกลางพื้นดินก็ควรจะมีความพอใจที่ว่าได้นั่งกลางพื้นดิน เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางพื้นดิน ท่านตรัสรู้ก็นั่งกลางพื้นดิน ท่านนิพพานก็ที่กลางพื้นดิน
ขอให้รู้จักความหมายของคำว่าพื้นดินกันบ้าง เดี๋ยวนี้ก็ได้มานั่งที่พื้นดิน มันจริงกว่าที่จะนั่งบนวิมาน บนบ้านบนเรือน ยิ่งพื้นดินเท่าไหร่มันก็ยิ่งใกล้ธรรมชาติเท่านั้น ฉะนั้นเราจะนึกข้อนี้ไว้เสมอว่า พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านนิพพานกลางดิน ส่วนมากท่านก็อยู่กลางพื้นดิน เพราะว่ากุฏิของท่านนั้นมันเป็นพื้นดิน ไม่เชื่อก็ไปดูสิ
ฉะนั้นเรามันอยากจะอยู่แต่บนเรือน บนตึก บนวิมาน มันจิตใจมันต่างกันมาก เขาจึงแนะนำว่า ถ้าอยากจะมีจิตใจเหมือนผู้ใดก็ให้มีการเป็นอยู่เหมือนผู้นั้น ก็จะมีจิตใจเหมือนกับผู้นั้น คือจะเข้าใจความคิดนึกรู้สึกของผู้นั้นได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เธอจงสมัครที่จะมีชีวิตกลางดิน จะได้เหมือนกับพระพุทธเจ้า แล้วจะได้เข้าใจคำสั่งสอนของท่านได้โดยง่าย เมื่อมีการเป็นอยู่เหมือนกัน ความคิดมันก็เกิดขึ้นเองคล้าย ๆกัน นี่ ความมุ่งหมายอย่างนี้
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบรรพชา ที่ว่าเดี๋ยวนี้เราสมัครบรรพชาก็คือสมัครที่จะเป็นชีวิตกลางดินให้เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด และเธอจะต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ทำอะไรบ้างในการออกบวชของท่าน การทดลองบำเพ็ญทุกรกริยามากมายหลายปีนั้น เปียกอยู่ผู้เดียว แห้งอยู่ผู้เดียวทั้งวันทั้งคืน อย่างนี้ก็มีในบาลีเหล่านั้น
สรุปความว่ามันเป็นการขูดเกลาทั้งสิ้น ฉะนั้นจะต้องยินดีรับเอาความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการยากลำบากไร้ความหมาย เป็นการยากลำบากชนิดที่ให้เข้มแข็งให้คล้ายพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราจะต้องพึงรู้ไว้ว่า เรายินดีที่จะเผชิญกับความยากความลำบากที่จะเกิดขึ้นในการบรรพชา ในการมีชีวิตอยู่อย่างผู้บรรพชา
ควรจะรู้ไว้เสียเลยว่า บรรพชานี้มาจากภาษาบาลีว่า ปัพพัชชา
ปอ วอ ชอ ประกอบรูปกันขึ้นเป็นปัพพัชชา
ปอ วอ ชอ แปลว่า ไปหมดหรือเว้นหมด
ปอ-ว่าหมด วอ ชอ-ว่าไปหรือเว้น
ปอ ว อ ชอ-ไปหมด เว้นหมด เรียกว่าบวช ไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส
เดี๋ยวนี้ก็ตั้งจิตอธิษฐานให้มีจิตใจเปลี่ยนแปลงว่าเมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ยังเป็นฆราวาส เดี๋ยวนี้จะเป็นผู้บวชบรรพชาคือเป็นบรรพชิต มันจะมีจิตใจที่แน่วแน่เด็ดขาดลงไปว่าเราจะเว้นหมดไปหมดจากความเป็นฆราวาส จะไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาสอีกต่อไปดังเช่นที่เห็นอยู่แล้วในบัดนี้
จะไม่กินไม่อยู่อย่างฆราวาสอีกต่อไป
จะไม่ทำการงาน ทำกิจกรรมใด ๆ อย่างฆราวาสอีกต่อไป
จะไม่คิดนึกใฝ่ฝัน แม้แต่นอนฝันก็อย่าให้เป็นอย่างฆราวาสอีกต่อไป อย่างนี้เป็นต้น จึงจะเรียกว่า ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส
ยังมีเว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้น คือสิกขาบทวินัยต่าง ๆ ที่จะต้องศึกษาต่อไป ก็จะต้องเว้นเป็นอย่างดี เมื่อเว้นสิ่งที่ควรเว้นด้วยประการทั้งปวงอย่างนี้ก็เรียกว่าบรรพชา คือ ไปหมด เว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้น แล้วก็ต้องรู้ความมุ่งหมายอันนี้ไว้ว่าจะต้องเป็นการขูดเกลาเสมอ ถ้าไม่เป็นการขูดเกลาแล้วก็ไม่เป็นการบรรพชา เพราะว่าผู้ให้กำเนิดการบรรพชา ไม่ว่าแขนงไหนหมด ย่อมมุ่งหมายอย่างนี้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงมุ่งหมายอย่างนั้น โดยที่ได้ตรัสไว้ว่าบรรพชานี้เป็นสัลเลขธรรม คือเป็นไป เพื่อความขูดเกลา
ฉะนั้นขอให้จำคำว่าขูดเกลานี้ให้ก้องอยู่ในหูเรื่อยไป ถ้าไม่มีการขูดเกลา ไม่เป็นการขูดเกลาแล้ว ไม่เป็นบรรพชา ถ้าว่าขูดเกลามันก็ต้องเจ็บปวดบ้าง เหมือนกับขูดเนื้อขูดแผลให้สะอาดอย่างนี้มันก็ต้องเจ็บปวดบ้าง แต่เพื่อผลดี เพื่อหาย เพื่อสบาย เพื่อปลอดภัย
เดี๋ยวนี้ต้องมีการขูดเกลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ในทางจิตใจ ที่ว่าเราเคยเป็นฆราวาส มีปกติก็ตามใจตัวเอง ตามใจตัวเองก็คือตามใจกิเลสจนเคยชินเป็นนิสัยตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา ดูจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น การตามใจตัวเองคือตามใจกิเลสจนชินเป็นนิสัย
ทีนี้บรรพชามันตรงกันข้าม มันก็ต้องเกิดการปะทะกันเหมือนกับว่าความขูดเกลาหรือการขูดเกลา จะต้องขูดให้เนื้อร้าย ให้สิ่งร้ายออกไปให้หมด ให้เป็นของใหม่ ใส่ยาให้หาย รักษาแผลให้หาย นั่นนะ จำภาพพจน์อย่างนี้ไว้ก็จะไม่ลืม แต่ว่าสำคัญอยู่ที่ว่าต้องยินดี ต้องสมัครรับเอาระบบการขูดเกลานี้ด้วยใจจริง จึงจะเรียกว่าจริง บวชจริง ก็แปลว่ายอมรับความเจ็บปวด อฐิษฐานใจกันในเวลานี้ว่าเราจะยอมรับความเจ็บปวดในทางจิตใจ เหมือนกับคนอยากไปดูหนังไปดูละคร ไม่ได้ไปมันก็เจ็บปวดในใจ นั่นมันเป็นฆราวาส แต่เดี๋ยวเป็นบรรพชิต อยากจะทำอะไร อยากจะนึกอะไร หรือแม้แต่หิว อย่างนี้มันก็ต้องทนเพื่อให้มันเกิดการขูดเกลาซึ่งเป็นการบังคับตัวเองอยู่เสมอ นี่คือตัวบรรพชาโดยความหมายใหญ่
ความหมายทั่วไปคือการขูดเกลาเพื่อให้เกิดการเว้นหมด ไปหมดจากสิ่งที่ควรเว้น นี่ก็แจกเป็นรายละเอียด เป็นสิกขาบทมากมายหลายสิบข้อหลายร้อยข้อ รวม ๆ กันหมดแล้วก็เป็นบรรพชา แล้วก็เป็นการขูดเกลาทั้งนั้น
ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรามาถึงเวลานี้กันแล้ว เป็นเวลาที่พูดจริงทำจริงเอาจริงกันแล้ว ในสถานที่นี้ก็ต้องถือว่าเป็นสีมาที่เป็นเขตของสงฆ์ คล้ายกับว่าเรานั่งอยู่ในที่ของพระพุทธเจ้า ท่ามกลางสงฆ์ที่ประชุมกันในนามของพระพุทธเจ้า ได้กล่าวคำบาลีออกไปซึ่งเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ และข้อความนั้นก็สูงสุด นี่จึงเรียกว่าต้องเป็นเรื่องจริง จริงที่สุด มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ไม่มีการทำเล่น ไม่มีข้อยกเว้นให้เหลวไหลแม้แต่นิดเดียว ก็จะได้เกิดการบวชจริง เย็นจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงขึ้นมา นี่คือบรรพชา
ทีนี้ก็ควรจะรู้ต่อไปที่เนื่องกับบรรพชาก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าบรรพชานั้นก็มีที่ตั้งที่อาศัย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปได้โดยไม่มีเหตุ สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีเหตุ ย่อมเป็นไปตามเหตุ เหตุนั้นในฐานะเป็นที่ตั้งที่อาศัย ก็มี เช่นบรรพชานี้จะต้องมีที่ตั้งที่อาศัยอยู่ที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนกับคำกล่าวของเราทีแรก ที่ว่า เอสาหัง ภันเต นั่นแหละ
เจาะจง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้บรรพชา ฉะนั้นจึงเรียกว่า อุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ต้องมีสิ่งนั้นเองเป็นรากฐาน เป็นที่ตั้งที่อาศัยของการบรรพชา แต่ว่าในที่นี้เป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องวิญญาณ พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ในที่อย่างนี้ หมายถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือคุณธรรมแห่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็เพ่งเล็งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในลักษณะนี้ ก็ทำให้มีการบรรพชาที่แท้จริง ที่เป็นไปด้วยดีเพราะมันมีรากฐานดี มันเหมือนกับมีแผ่นดินดี ต้นไม้ก็เจริญงอกงาม ต้นไม้ได้แผ่นดินดี ได้อากาศดี ได้น้ำดี ได้อะไรดี มันก็เจริญงอกงาม บรรพชาก็คล้ายกันอย่างนั้น ต้องมีรากฐานดี มีเหตุปัจจัยแวดล้อมดี แล้วก็เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนานี้
ฉะนั้นขอให้เพ่งเล็งถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เราได้ลั่นวาจาไปเองแล้วว่าอุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ว่าเอง รักษาคำพูดของตัวเองนั้นก็พอ ขอให้เห็นข้อความอันนี้แล้วก็รับผิดชอบ คือรักษาคำพูดของตัวเองไว้อย่าให้มันเปลี่ยนแปลงได้ อย่าให้บิดพลิ้วไปได้
ทีนี้ก็อยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องอานิสงส์ที่จะพึงได้จากการบรรพชา นี่ก็สำคัญมาก เพราะว่าได้พูดมาแล้วว่าบรรพชานี้ต้องขูดเกลา ต้องขูดเกลาว่าต้องทน ทีนี้กลัวว่าจะทนไม่ไหว ก็ให้ระลึกนึกถึงอานิสงส์ที่จะพึงได้ มันก็ทำให้เกิดกำลังใจ เกิดความกระหยิ่มที่จะได้อานิสงส์นั้น มันเป็นเหตุให้ทนได้ หรือมันเป็นเหตุให้ลืมไปเสียเลย ลืมความเจ็บปวดไปเสียเลย นี่ขอให้นึกถึงอานิสงส์
อานิสงส์ของการบรรพชานี้ พระอาจารย์แต่กาลก่อนท่านได้กล่าวไว้ในลักษณะที่ว่าไม่ต้องบรรยาย โดยรายละเอียด คือบรรยายไม่ไหว ท่านชอบพูดในอุปมาว่าเขียนประโยชน์ของการบรรพชาให้เต็มทั้งท้องฟ้าก็ยังไม่หมด ท้องฟ้าจะเต็มเสียก่อน
ทีนี้เรามันมุ่งหมายแต่ประเภทใหญ่ ๆ ก็จะพูดกันแต่สัก ๓ ประเภท คืออานิสงส์ที่จะพึงได้รับนี้ อย่างที่หนึ่งก็ได้แก่ตัวผู้บวชนั่นเอง อย่างที่สองก็จะได้แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้น อย่างที่สามก็จะได้แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหมดเป็นส่วนรวม แล้วก็รวมทั้งพระศาสนาเองด้วย
อย่างที่หนึ่ง เราบวชเพื่อให้เราได้สิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
อย่างที่สอง เราบวชเพื่อสนองพระคุณผู้มีพระคุณสูงสุด คือบิดามารดา เป็นต้น
อย่างที่สาม เราบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนาไว้
นี่มันมีอยู่ ๓ อย่าง ๆ นี้ ถ้าเข้าใจก็จะเห็นได้เองว่ามันมากมายมหาศาลสูงสุด มันพอที่เราจะเสียสละชีวิตจิตใจรักษาเอาไว้ให้ได้
อย่างที่หนึ่งที่ว่า ผู้บวชจะพึงได้เองนั้นหมายถึงว่าการเป็นมนุษย์นี้ ลองคิดดูว่าอะไรดีที่สุดสำหรับมนุษย์ เรื่องเงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจวาสนา มันก็ดีเหมือนกัน แต่มันก็ดีไปอย่างโลก ๆ ถ้าดีสูงสุดก็คือว่าสภาพอันหนึ่งซึ่งมันยากที่จะเข้าไปถึงได้ ที่จิตใจมันยากที่จะเข้าไปถึงได้ โดยเฉพาะก็คือความสะอาด สว่าง สงบ อย่างที่ว่ามาแล้ว
ถ้าคน ๆ หนึ่งเกิดมาชาติหนึ่งไม่เคยพบกับไอ้สิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่ายังไม่ได้รู้จักชิมสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นพยายามกันเสียให้ถึงที่สุดว่าอะไรที่ดีที่สุด ที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะรู้จักหรือแม้แต่ได้ชิมก็ให้ได้ ฉะนั้นการบวชนี้ต้องบวชจริง เย็นจริง ปฏิบัติจริง จึงจะได้ผลจริง คือได้ชิมรสของสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่โดยใจความมันเป็นอย่างนี้ โดยรายละเอียดก็มีศึกษากันต่อไป ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรก็มีรายละเอียดมาก แต่รวมความแล้ว เพื่อให้มนุษย์ได้พบกับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นั้นเอง ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และยังได้พบกับพุทธศาสนา นี่โดยย่อเป็นอย่างนี้สำหรับผู้บวชเอง
ทีนี้การบวชสนองพระคุณบิดามารดานั้นก็เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณกาลเหมือนกัน เพราะว่าคนเรามันเกิดเองไม่ได้ มันเกิดจากโพรงไม้ก็ไม่ได้ ต้องอาศัยบิดามารดา มันจึงได้ชีวิตนี้มา เพราะฉะนั้นชีวิตทั้งหมดควรจะยกให้แก่บิดามารดาได้ทั้งหมด อย่าโง่เง่า จองหอง อวดดี โอหัง อย่างเด็ก ๆ สมัยนี้ คล้าย ๆ กับว่ามันเกิดมาเองได้ ไม่เคารพนับถือบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เพราะมันสอนกันมาผิด มันอบรมกันมาผิด
ถ้าถือโดยธรรมชาติก็ขอให้ถือให้ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน คือต้องรู้ว่าบิดามารดามีพระคุณอย่างไร แล้วก็ชีวิตของเราทั้งหมดก็จะต้องมอบให้บิดามารดาได้ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนสัตว์เดรัจฉานที่ไม่รับรองบุญคุณของบิดามารดา แล้วก็ต้องยอมได้ทุกอย่างทุกประการ แม้ว่าเราไม่เห็นด้วย แม้ว่าเราไม่ต้องการเหมือนกับบิดามารดา เราก็ต้องยอมตามที่บิดามารดาต้องการ ก็เพราะว่าชีวิตของ ๆ เราทั้งหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์มันได้มาจากบิดามารดา ฉะนั้นไม่ควรจะมองข้ามในข้อนี้
ทีนี้มันก็ไม่มีบิดามารดาคนไหนที่อยากให้จะลูกเสียหาย ฉิบหาย มันมีหวังดีทั้งนั้น เพราะมันจะต้องพูดกันรู้เรื่อง ฉะนั้นขอให้เป็นผู้ที่มอบชีวิต จิตใจ เนื้อตัวทั้งหมดให้แก่บิดามารดาในฐานะที่ว่าเป็นผู้ให้ชีวิตมา แล้วเรื่องมันก็ไม่มีปัญหา ก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี้โดยง่าย
ทีนี้มาพูดถึงการแทนคุณ สนองคุณ ตอบแทนคุณ อะไรแก่บิดามารดานี้ ก็มีปัญหาที่เค้าเคยคิดกันมาเหมือนกัน ในที่สุดก็มายุติกันในหมู่พวกพุทธบริษัทว่าการสนองคุณบิดามารดาอย่างสูงสุดนั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
คนสมัยนี้เค้าเรียนกันอย่างโง่ ๆ ไม่รู้หรอกว่าทำอย่างไรให้บิดามารดาเป็นญาติในพุทธศาสนา บางทีเรียนจากมหาวิทยาลัย (25.59).... ไม่รู้กี่มหาวิทยาลัยมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าคำว่าเป็นญาติในพระศาสนานั้นคืออย่างไร เพราะว่าเค้าไม่ได้สอนกัน
ทำบิดามารดาให้ได้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น นี่คือการทำให้บิดามารดาได้รับสิ่งสูงสุด ประเสริฐที่สุดที่จะพึงได้รับ แล้วลูกนี้แหละทำได้ นั่นจึงกระทำ มีความมุ่งหมายว่าให้บิดามารดามีศรัทราในพุทธศาสนามากกว่าเดิม มีปราโมทย์มากกว่าเดิม มีสัมมาทิฐิมากกว่าเดิม คือมีการฝังตัวลงไปในพระธรรมมากกว่าเดิม นี่เขาเรียกว่าทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น
ฉะนั้นด้วยเหตุที่เราได้บวชในวันนี้ เมื่อมันเป็นการเพิ่มศรัทธาปสาทะ ปีติ ปราโมทย์ สัมมาทิฐิหรือว่าการกำจัดความทุกข์ใด ๆ ก็ตามได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็เรียกว่าเราให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่บิดามารดา ให้เงินให้ของให้นั่นก็ดีเหมือนกัน เค้ายอมรับว่าเป็นการสนองคุณเหมือนกัน บำรุงบำเรอทางวัตถุ แต่ไม่มากเท่ากับการตอบสนองในทางจิตทางวิญญาณ คือดึงจิตใจของบิดามารดาให้เข้าไปสู่ธรรมมะหรือพระศาสนายิ่งขึ้นกว่าเดิม
ที่เป็นโดยตรงก็เช่นว่า ถ้าเราศึกษาจริง รู้จริง เราอาจจะเทศน์โปรดบิดามารดาให้รู้ได้ด้วยตัวเราก็ได้ นี่เป็นเรื่องโดยตรงอย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าแม้ว่าเราไม่ทำอย่างนั้น เราก็ยังมีทางที่จะทำด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ให้บิดามารดารู้สึกในความจริงข้อนี้ แล้วก็มีความพอใจในธรรมมะในศาสนามากยิ่งขึ้น มองดูที่ว่าทำให้บิดามารดามีปีติปราโมทย์ได้มากเท่าไหร่ มันยิ่งเป็นการสนองคุณเท่านั้น
ฉะนั้นท่านต้องการอะไร ก็เป็นอันว่าไม่มีปัญหา มันเป็นสิ่งที่ต้องสนอง เพราะบุตรนี้เกิดมาเพื่อจะยกบิดามารดาขึ้นมาเสียจากความร้อนใจโดยประการทั้งปวง ความร้อนใจนี้เค้าเรียกว่านรก ถ้ายกความร้อนใจออกไปเสียได้ก็เรียกว่ายกออกไปเสียจากนรก การมีบุตรนี้ บิดามารดาย่อมหวังที่จะได้พบกับการยกเสียได้ ขัดเกลาเสียได้จากความร้อนใจโดยประการทั้งปวง
อุดมคติอันนี้มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนู่น จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีอยู่และใช้ได้ ฉะนั้นขอให้รู้จักสนองคุณบิดามารดาในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณกันอย่างนี้ การบวชนี้ก็จะได้อานิสงส์ชนิดที่สองเต็มที่
อานิสงส์ชนิดที่สามนั้น คือบวชสืบอายุพระศาสนา หมายความว่าแม้จะบวชสัก ๓ เดือนก็ให้ทั้ง ๓ เดือนนี้เป็นการช่วยกันสืบอายุพระศาสนา อย่าให้เป็นการทำลายพระศาสนา แม้ว่าเราบวช ๓ เดือนสึก เราก็สืบอายุพระศาสนาอย่างดีที่สุด ๓ เดือนแล้วก็มอบหมายให้ผู้อื่นต่อไป
เขาทำกันมาอย่างนี้ พุทธศาสนาจึงอยู่มาได้ถึงบัดนี้สองพันกว่าปีแล้ว เพราะมีคนทำอย่างนี้ ช่วยกันสืบมาอย่างนี้ เราก็ได้รับประโยชน์จากการนี้ เพราะฉะนั้นเราควรจะนึกถึงบ้าง ว่าถ้าไม่มีใครสืบมาให้จนถึงบัดนี้ แล้วเราก็ไม่ได้มานั่งบวชอย่างนี้ มันสูญหายไปหมดแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้บุญคุณของคนที่เค้าได้ทำไว้ให้ เราก็สนองคุณด้วยการสืบอายุพระศาสนานี้ไว้ต่อไปเพื่อคนทีหลังอีก
ถ้าว่าศาสนามันมีอยู่ในโลก คนทั้งโลกนี้พลอยได้รับประโยชน์จากพระศาสนา เค้าจะรู้ตัวหรือเขาจะไม่รู้ตัว ไม่สำคัญ แต่ว่าการที่ทำให้มีธรรมะอยู่ในโลกจะเป็นการคุ้มครองทั้งโลก ทำให้คนทั้งโลกพลอยมีแต่ความสงบสุข นี้จึงเห็นได้ว่าการบวชของเราแม้คนเดียวในที่นี้ ในเวลาจำกัดนี้ มีอิทธิพลไกลออกไปถึงกับว่าทำให้มีสิ่งคุ้มครองเหลืออยู่ในโลก รับช่วงกันเป็นทอด ๆ ไป
ไม่ว่าศาสนาไหนมีประโยชน์อย่างนี้ทั้งนั้น แต่ว่าเราพอใจในพุทธศาสนา เราก็ถือเอาพุทธศาสนาเป็นเครื่องคุ้มครองโลกรวมทั้งตัวเราเองด้วย ฉะนั้นขอให้บวชเพื่อสืบอายุพระศาสนาไว้ คุ้มครองโลกด้วย นี่คืออานิสงส์อย่างที่สาม
ขอให้เธอมองเห็นอานิสงส์ที่จะได้แก่ผู้บวชเอง อานิสงส์ที่จะได้แก่บิดามารดา เป็นต้น อานิสงส์ที่จะได้แก่พระศาสนาและสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงเป็นส่วนรวมอยู่ในใจเสมอ อย่างนี้เธอก็จะเกิดกำลังอย่างยิ่งขึ้นมา อดทนได้โดยประการทั้งปวง ไม่รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวรำคาญ ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดีเต็มที่ ก็เลยเป็นเรื่องของการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบอายุพระศาสนาจริง ไม่เสียทีที่ได้บวช ถ้าผิดจากนี้มันเป็นเรื่องเล่นตลก เป็นเรื่องโกหกหลอกตัวเอง หลอกชาวบ้าน หลอกคนทั้งโลกว่าไอ้คนนี้มันบวชแล้วเท่านั้นเอง มันไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ควรจะมีอย่างนั้น
นี่คือประโยชน์ของการบรรพชาย่อมมีอยู่อย่างนี้ ได้พูดให้ฟังมาแล้วทั้งหมดนี้ว่าบรรพชานี้คืออะไร รากฐานที่ตั้งของบรรพชานี้คืออะไร อานิสงส์ของบรรพชานี้คืออะไร เป็นอันว่ารู้เรื่องของการบรรพชา พอสมควรแล้ว ไม่พูดอย่างนกแก้วนกขุนทองว่าผมขอบรรพชา แล้วก็ไม่รู้ว่าขออะไร ตอนนี้มันก็พอกันที สำหรับเรื่องการบรรพชาที่เราขอ เหลืออยู่ก็แต่ให้มีความจริงใจที่ขอ และรักษาคำพูดที่ขอประพฤติพรหมจรรย์ให้ดีที่สุด เพราะว่าตัวเป็นผู้เสนอตัวขึ้นมาขอเอง
ทีนี้ถัดต่อไปนี้ก็มีเรื่องกรรมฐาน ตามระเบียบ ตามวินัย ตามธรรมเนียมว่าผู้จะบวชควรได้รับคำสั่งสอนเรื่อง ตจปัญจกกัมมัฎฐาน แปลว่า กรรมฐาน ๕ ประการ มีหนังเป็นที่ห้า นี้ทำไปด้วยความมุ่งหมายว่าจะซักฟอกจิตใจของผู้จะบวชเดี๋ยวนี้ให้มีจิตใจเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ หรือว่าจะมีความรู้ไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึกจิต คือกิเลสที่จะมีมาในกาลข้างหน้า
เมื่อมีจิตใจเป็นฆราวาสก็ทำไปอย่างฆราวาส มันก็จมอยู่ในความหลง ความโง่ ความหลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ในความสวยความงาม แต่นี่ความหลงอยู่ในความสวยความงามนั้นต้องหมด ต้องหมดออกไปเสียก่อนจึงจะสมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ ที่เธอว่าจงบรรพชาแก่ผมด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ทีนี้เธอต้องรู้ว่าผ้ากาสายะเหล่านี้เป็นธงชัยของพระอรหัต เป็นสัญลักษณ์ของพระอรหัต พระอรหันต์ จะเอามานุ่งห่มกันตามสบายใจเพ้อ ๆ ไปอย่างนกแก้วนกขุนทองย่อมมีแต่โทษโดยส่วนเดียว ฉะนั้นเราต้องมีจิตใจที่เหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้
ทีนี้ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากจะคิดดูว่า เมื่อวาน เมื่อวานซืน แล้ว ๆ ไปจนถึงวันโน้น เรามีจิตใจอย่างไร มันเป็นฆราวาสมันก็หลงไปในเรื่องสวยเรื่องงาม คล้าย ๆ อุทิศชีวิตทั้งหมดนี้เพื่อเพศตรงกันข้าม ถ้าพูดกันจริง ๆ แล้วมันก็ดูจะเป็นอย่างนั้นกันไปเสียทั้งโลก อุตส่าห์เล่าเรียนได้ทำการงาน ได้มีอาชีพหาเงินได้มาก ในที่สุดก็มุ่งหมายต่อเรื่องเพศตรงกันข้ามทั้งนั้น ความรู้สึกอย่างนี้ต้องไม่มีเหลืออยู่ในใจสำหรับจะมานุ่งห่มผ้ากาสายะกันในวันนี้
ฉะนั้นจึงต้องมีการบอกตจปัญจกกัมมัฎฐานว่า สิ่งที่เราเคยหลงว่าสวยว่างามนั้นเป็นของหลอกลวงมาก ๆ มายหลายสิบหลายร้อยอย่าง แต่ว่าพิจารณาสัก ๕ อย่างก็พอ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
“ผม” ที่เราเคยทำให้มันหอม ดูกันว่ามันสวยนี้ มาดูกันเสียใหม่ว่าโดยเนื้อแท้ตามธรรมชาติแล้วมันน่าเกลียด คือมันเป็นปฏิกูล เรียกว่าน่าเกลียด เส้นผมนี้มีรูปร่างน่าเกลียด เส้นยาว ๆ นี่ เล็ก ๆ นี่ รูปร่างของมันก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด จะดำหรือขาวหรือหงอกหรือเหลือง มันก็เป็นสีที่น่าเกลียด กลิ่นของมันตามธรรมชาติก็น่าเกลียด ที่งอกของมันคือบนผิวหนังบนศีรษะนี้มันก็น่าเกลียด เพราะมันเลี้ยงไว้ด้วยเลือดด้วยน้ำเหลือง หน้าที่การงานของผมบนศีรษะก็น่าเกลียดคือสำหรับรับฝุ่นละออง เป็นต้น มองดูในแง่น่าเกลียดอย่างนี้มันก็หายโง่ที่เคยโง่มาแต่เดิม หลงรักเรื่องผมงามอะไรงามอย่างนี้ นี่เรียกว่าเรื่องซักฟอกจิตใจกันเดี๋ยวนี้เองเวลานี้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ ให้จิตใจเขาเหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ นี่ข้อที่หนึ่งเรียกว่า “ผม” เรียกโดยบาลีว่า “เกสา”
ข้อที่สอง “ขน” เรียกโดยบาลีว่า “โลมา” ทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่าผมกับขนนี้ส่วนใหญ่ก็มีเรื่องราวเหมือน ๆ กัน แต่ว่าเส้นขนนั้นมันละเอียดและมีอยู่ทั่วตัว รูปร่างก็ไม่งาม สีสันวรรณะก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกก็ไม่งาม หน้าที่การงานของขนทั่ว ๆ ตัวนี้ คล้ายกับว่าเป็นที่ไหลออกไหลเข้าแห่งความร้อน แห่งเหงื่อ แห่งไคล แห่งมันต่าง ๆ นี้ก็เรียกว่าไม่งาม ฉะนั้นทั่วทั้งตัวมีขนอันละเอียดก็ต้องถือว่าทั้งหมดนั้นก็ไม่ควรจะไปหลงว่างาม
ทีนี้เรื่องที่สาม “เล็บ” เรียกบาลี ว่าโดยบาลีว่า “นขา” ไปคิดให้มันงามแต่ก่อนนี้ไม่เป็นไร พอมาบัดนี้แล้วต้องคิดดูใหม่ว่ามันมีความน่าเกลียด ถ้าดูกันให้จริงตามธรรมชาติแล้วมันไม่ได้งาม เรียกว่าน่าเกลียดก็ได้ รูปร่างของเล็บก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด กลิ่นของมันก็น่าเกลียด นี่หมายถึงตามธรรมชาติ ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของเล็บก็คือควักหรือเกาหรืออะไรต่าง ๆ นี้มันก็น่าเกลียดไปโดยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่ามีความรู้สึกเป็นเรื่องเล็บงามกันต่อไปอีกเลย จะเล็บเราหรือเล็บเขา เล็บเพศตรงกันข้ามอะไรก็สุดแท้ นี่จะชำระจิตใจกันมาโดยลำดับอย่างนี้
เรื่องที่สี่ คือ “ฟัน” เรียกโดยภาษาบาลีว่า “ทันตา” อยู่ในปาก พอพูดว่าไม่งามหรือน่าเกลียดนี่ทุกคนเข้าใจ ก็ลองพิจารณาดูฟันในปาก แม้ไม่ต้องส่องกระจกก็มองเห็นว่ารูปร่างของมันก็น่าเกลียด สีสันก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่คือการเคี้ยวบดอาหารนี้ก็น่าเกลียด ทำไมจะมาว่างาม มันโง่กี่มากน้อย
ในที่สุดก็มาถึงไอ้ที่เรียกว่า “หนัง” ในภาษาไทย เรียกว่า “ตโจ” ในภาษาบาลี มีอยู่ทั่วตัว อันนี้นอกจากจะไม่งามแล้วยังมีอันตรายด้วย เพราะว่าสัมผัสผิวหนังนี้ร้ายกว่าสัมผัสทางไหนหมด ส่วนที่ไม่งามคือเป็นปฏิกูลนั้นก็ดูตามเรื่องของการพิจารณาที่แล้วมาว่ารูปร่างของมันก็ไม่งาม สีสันวรรณะของมันก็ไม่งาม กลิ่นของมันก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของมันก็ไม่งาม มันก็หน้าที่การงานของผิวหนังนี่ก็เป็นที่ถ่ายออกแห่งความเย็น ความร้อนของสกปรก อะไรต่าง ๆ เข้าออกจากร่างกายนี้ ก็ควรจะมองในแง่นั้น จะได้ไม่หลงเรื่องผิวหนังว่าสวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเอาความโง่เป็นเดิมพัน มันจึงจะรู้สึกว่างามได้ ที่นี้ที่ว่าสัมผัสผิวหนังเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีราคะ เป็นต้น ยิ่งกว่าสัมผัสใด ๆ นั้นก็พอจะเข้าใจกันได้
เป็นอันว่าทั้งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ๕ อย่างนี้ เราเคยหลงว่างาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ ความรู้สึกอย่างนั้นมีไม่ได้เวลานี้ โดยเฉพาะเวลานี้มีไม่ได้ ถ้ามีแล้วไม่เหมาะสมจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ เพราะฉะนั้นจึงขอร้องให้ส่งใจไปตามคำบอกกล่าวนี้ให้มีจิตใจเปลี่ยนเป็นเหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะกันเสียก่อน นี่ขอให้กำหนดจดจำไว้ให้ดี ทำจิตใจให้ดี ให้ได้มีจิตใจที่เหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะ แล้วก็จะได้จำไว้สำหรับต่อสู้กิเลสที่จะเกิดขึ้นในใจต่อไปข้างหน้าด้วย
นี้คือเรื่องตจปัญจกกัมมัฎฐานที่ผู้บรรพชาจะต้องได้รับความแจ่มแจ้ง เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเพื่อความเหมาะสมในการบรรพชา ทั้งหมดนี้เป็นอันว่าพอสมควรสำหรับการที่จะพูดกัน เป็นการให้โอวาทด้วย เป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจเพื่อจะให้เหมาะสมแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะด้วย
นี่ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ทีนี้ขอให้รับตจปัญจกกัมมัฎฐานโดยภาษาบาลีอีกส่วนหนึ่ง
ตั้งใจรับตจปัญจกกัมมัฎฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้
เกสา - เกสา โลมา - โลมา นขา - นขา ทันตา - ทันตา ตโจ - ตโจ
นี่เรียกว่าไปตามลำดับ คือ อนุโลม ถ้าทวนลำดับหรือปฏิโลม ก็คือ
ตโจ - ตโจ ทันตา - ทันตา นขา - นขา โลมา - โลมา เกสา - เกสา
ถ้าจำได้ก็ลองว่าดู
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา อีกที
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา เพื่อความแน่นอนว่าอีกที
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา
ใช้ได้ เพื่อความแน่นอนว่าจำได้ดีนี้อย่างหนึ่ง เพื่อความแน่นอนว่าเป็นคนมีใจคอปกติ มีสติ สัมปชัญญะอยู่ในเวลานี้ด้วยนี้อย่างหนึ่ง นี่เรียกว่าความเหมาะสมสำหรับการบรรพชา ตอนนี้เธอก็มีความเหมาะสมอันนั้นแล้วสำหรับทำการบรรพชาได้ จึงมีความยินดีที่จะทำการบรรพชาให้แก่เธอ ขอมอบจีวรนี้ ให้มีความเจริญงอกงามในศาสนาของพระบรมศาสดาสมดังความมุ่งหมายของการบรรพชาทุกประการเทอญ
42.42…
ว่าทีละคน
อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
นั่งราบ ประนมมือ ฟังอีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราทุกคนเป็นสามเณรแล้ว นับตั้งแต่เวลาที่รับสรณคมน์เสร็จไปเมื่อตะกี้นี้ ครั้งจากเป็นสามเณรแล้วก็มีการขอนิสสัย และถือนิสสัยอย่างที่ทำไปแล้วนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีนิสสัยแล้ว คือมีอุปัชฌายะแล้ว
การที่เราต้องทำอย่างนี้เพราะว่าการอุปสมบทนั้นสงฆ์จะให้ก็แต่เฉพาะผู้ที่มีอุปัชฌายะที่ถือแล้วเท่านั้น คือมีอุปัชฌายะแล้วเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการถือนิสสัยให้เกิดมีอุปัชฌายะขึ้น ทีนี้ก็มีระเบียบเกี่ยวกับนิสสัยบ้าง ซึ่งจะได้ศึกษาต่อไปข้างหน้า ประหยัดเวลาวันนี้ไว้ แต่โดยเนื้อแท้มีนิดเดียวว่าจะต้องมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่ของตนต่อกันและกัน
อุปัชฌายะคือต้องการคุ้มครองไม่ให้เกิดการเสียหายขึ้นแก่ผู้บวช ผู้อุปสมบท ผู้อุปสมบทก็มีหน้าที่ที่จะสนองคำสั่งคำแนะนำหรือการควบคุมนั้นให้สามารถควบคุมได้ และเป็นไปด้วยดี มีเท่านี้ที่เรียกว่าใจความของนิสสัย รายละเอียดต่าง ๆ นั้นค่อยศึกษา ฉะนั้นระหว่างนี้ก็ให้ถือแต่เพียงว่าจะทำอะไร ถ้ามันใหม่หรือมันมีปัญหาน่าสงสัย ต้องถามก่อนเสมอ จะทำจะพูดหรือแม้แต่จะคิดอะไร ถ้าถือตามวินัยที่วางไว้แล้ว จะต้องถามอุปัชฌายะก่อนเสมอว่าอย่างนั้นมันควรทำหรือไม่ ควรพูดหรือไม่ ควรคิดหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นอันว่ามีนิสสัยถือแล้ว มีอุปัชฌายะถือแล้ว ควรแก่การขออุปสมบทได้
ที่เกี่ยวกับการขออุปสมบทนี้จะต้องมีการสวดกรรมวาจา ต้องสวดเป็นภาษาบาลี เป็นภาษาอื่นไม่ได้ ดังนั้นเราจะต้องมีการทำโดยภาษาบาลีครบถ้วน เช่นว่าจะต้องมีชื่อโดยภาษาบาลีสำหรับสวดในสังฆกรรมนี้
สามเณรสุนันท์ มีชื่อในภาษาบาลีว่า สุนันโท
สามเณรพรชัย มีชื่อในภาษาบาลีว่า วรชโย วะระชะโย
สามเณรภาณุพล มีชื่อในภาษาบาลีว่า ภาณุพโล
สามเณรจินตมัย มีชื่อในภาษาบาลีว่า จินตามโย (46.15) นี่ใช้สระอา
ขอให้จำชื่อของตนไว้ให้ดี ถ้าเค้าถามจะได้ตอบถูกต้อง พอเค้าสวดกรรมวาจาก็เห็นว่าเค้าว่าถึงเรา เค้าเล็งถึงเรา เค้ากำลังพูดถึงเราอย่างนี้ เป็นต้น อุปัชฌายะมีชื่อในภาษาบาลีอยู่แล้วว่าอินทปัญโญ ต้องจำไว้ให้แม่นเพราะจะต้องตอบคำถามอันนี้ว่าอุปัชฌายะชื่ออะไร
ทีนี้ยังจะต้องรู้จักแม้กระทั่งว่าบริขารเหล่านี้ เช่น บาตร เป็นต้นนี่ มันเรียกโดยภาษาบาลีว่าอะไร ก็มีธรรมเนียมให้บอก อะไรจำเป็นก่อนคือบาตรกับจีวร โดยพระอาจารย์ที่จะตรวจอนุสาวนานั่นเอง ทีนี้เธอก็ต้องจำไว้สำหรับไปใช้เป็น....47.04.. ตามวินัยที่จะต้องมี อย่าได้ประมาทเลย
ทีนี้ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามลำดับ เพียงทีละ ๒ องค์เท่านั้น ๒ องค์นี้ไปนั่ง ต้องนั่งนอกหัตบาตรสงฆ์ ๒ องค์นี้ หาที่นั่งนอกหัตบาตรสงฆ์ก่อน
..........................
สิ่งสุดท้ายคือการบอกอนุศาสน์ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีอีกครั้งหนึ่ง
อะนุญญาสิ โข ภะคะวะ อุปะสัมปาเทตวา จัตตาโร นิสสะเย จัตตาริ จะ อะกะระณียานิ อาจิกขิตุง
ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ สังฆะภัตตัง อุเทสะภัตตัง นิมันตะนัง สะลากะภัตตัง ปักขิกัง อุโปสะถิกัง ปาฏิปะทิกัง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้ว่าเมื่อให้อุปสมบทแล้วพึงบอกนิสสัย ๔ พระกรณียกิจ ๔ เพื่อให้เกิดความเบาใจในการเป็นอยู่อย่างบรรพชิต ให้ทราบสิ่งซึ่งทำไม่ได้โดยเด็ดขาดเสียในทันทีนี้
สำหรับนิสสัย ๔ ข้อที่ ๑ คือชีวิตบรรพชาอาศัยการบิณฑบาต เรียกว่าก่อนข้าวจะได้มาโดยลำแขน เธอต้องขวนขวายในบิณฑบาตเห็นป่านนี้จนตลอดชีวิตของการบรรพชา แต่ถ้าหากมีอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีสังฆทาน เป็นต้น ก็รับได้เหมือนกัน แต่ในเพียงในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
ปังสุกูละจีวะรัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกาโภ โขมัง กัปปาสิกัง โกเสยยัง กัมพะลัง สาณัง ภังคัง
ชีวิตบรรพชาใช้เครื่องนุ่งห่มคือผ้าบังสุกุล ผ้าทิ้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ เก็บมาซัก เย็บ ย้อมทำเป็นจีวรชาย นี่เรียกว่าผ้าบังสุกุล เธอต้องขวนขวายในจีวรเห็นป่านนี้จนตลอดชีวิตของบรรพชา แต่ถ้ามีอดิเรกลาภเกิดขึ้นเป็นจีวรสำเร็จรูป มี ครบดีจีวร (คะระบอดี 49.49) เป็นผ้าสมควรแก่สมณะบริโภค มีผ้าทำด้วยฝ้าย เป็นต้น ก็รับได้เหมือนกัน แต่ในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
รุกขะมูละเสนาสะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ วิหาโร อัฑฒะโยโค ปาสาโท หัมมิยัง คูหา
ชีวิตบรรพชาใช้ที่อยู่คือโคนไม้ เธอต้องขวนขวายในเสนาสนะ เห็นป่านนั้นตลอดชีวิตของบรรพชา แต่ถ้ามีอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีวิหารสำเร็จรูปสมควรแก่สมณะบริโภค ก็รับได้เหมือนกันในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
ปูติมุตตะเภสัชชัง นิสสายะ ปัพพัชชา ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภสัปปิ นะวะนีตัง เตลัง มะธุ ผาณิตัง
ชีวิตบรรพชาอาศัยยาแก้โรคซึ่งปรุงขึ้นด้วยน้ำมูตรตามธรรมชาติ ด้วยดิน ด้วยข้าว ด้วยขี้เถ้า ด้วยมูตรด้วยคูถ เป็นต้น เธอต้องขวนขวายในเภสัชเห็นป่านนี้จนตลอดชีวิตของการบรรพชา แต่ถ้ามีอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีเภสัชที่ปรุงด้วย..(51.03)...ก็รับได้เหมือนกัน แต่ในเพียงเป็นอดิเรกลาภ
อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา เมถุโน ธัมโม นะ ปะฏิเสวิตัพโพ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิ
โย ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวะติ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย
เสยยะถาปิ นามะ ปุริโส สีสัจฉินโน อะภัพโพ เตนะสะรีระพันธะเนนะ ชีวิตุง
เอวะเมวะ ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวิตวา อัสสะมะโร โหติ อะสักยะปุตติโย
ตัง โว ยาวะชีวัง อะกะระณียัง
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงประกอบเมถุนธรรม แม้ที่สุดในสัตว์เดรัจฉาน (51.45) ภิกษุผู้ประกอบเมถุนธรรม ย่อมหมดความเป็นสมณะศากยบุตร ไม่มีความเป็นสมณะศากยบุตรเหลืออยู่อีกต่อไป เปรียบเหมือนบุรุษมีศีรษะขาดแล้วไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยร่างกายอันนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง นะอาทาตัพพัง อันตะมะโส ติณะสะลากัง อุปาทายะ
โย ภิกขุ ปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทัง วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยะติ อัสสะมะโร โหติ อะสักยะปัตติโย
เสยยะถาปิ นามะ ปัณฑุปะลาโส พันธะนา ปะมัตโต อะภัพโพ หะริตัตตายะ
เอวะเมวะ ภิกขุ ปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทัง วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยิตวา อัสสะมะโร โหติ อะสักยะปุตติโย
ตังโว ยาวะชีวัง อะกะระณียัง
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ แม้ที่สุดแต่ยากำมือเดียว ภิกษุถือเอาสิ่งของเจ้าของไม่ได้ให้ มีราคา ๑ บาทก็ดี เกินกว่าบาทก็ดี เทียบเท่ากับ ๑ บาทได้ก็ดี ย่อมหมดความเป็นสมณะศากยบุตร ไม่มีความเป็นสมณะศากยบุตรเหลืออยู่อีกต่อไป เปรียบเหมือนใบไม้ที่เหลืองหล่นจากต้นจากต้นแล้วไม่อาจจะกลับเป็นใบไม้เขียวได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา สัญจิจจะ ปาโณ ชีวิตา นะ โวโรเปตัพโพ อันตะมะโส กุนถะกิปิลลิกัง อุปาทายะ
โย ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปติ อันตะมะโส คัพภะปาตะนัง อุปาทายะ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย
เสยยะถาปิ นามะ ปุถุสิลา ทวิธา ภินนา อัปปะฏิสันธิกา โหติ
เอวะเมวะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปติ อะชีวิตา โวโรเปตัพวา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปัตติโย
ตัง โว ยาวะชีวัง อะกะระณียัง
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงแกล้งฆ่าสัตว์มีชีวิตให้ตาย แม้ที่สุดแต่มดดำมดแดง ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย แม้ที่สุดแต่มนุษย์ในครรภ์ ย่อมไม่มีความเป็นสมณะศากยบุตรเหลืออยู่อีกต่อไป เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งเมื่อหักเป็น ๒ ท่อนแล้วไม่กลับเป็นก้อนหินก้อนเดียวดังเดิมได้อีกฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นไม่พึงกระทำตลอดจนชีวิต
อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อุตตะริมะนุสสะธัมโม นะ อุลละปิตัพโพ อันตะมะโส สุญญาคาเร อะภิระมามีติ
โย ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตัง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อุลละปะติ ฌานัง วา วิโมกขัง วา สะมาธิง วา สะมาปัตติง วา มัคคัง วา ผะลัง วา อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย
เสยยะถาปิ นามะ ตาโล มัตถะกัจฉินโน อะภัพโพ ปุนะ วิรุฬหิยา
เอวะเมวะ ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตัง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโยติ
ตัง โว ยาวะชีวัง อะกะระณียัน
ผู้ใดอุปสมบทแล้วไม่พึงแกล้งอวดอุตริมนุษธรรมหรือคุณธรรมที่ยิ่งกว่าธรรมดามนุษย์จะพึงมี แม้ที่สุดว่าจะอวดว่าบัดนี้เราเป็นผู้มีใจยินดีในเสนาสนะอันสงัดแล้วดังนี้ ก็ยังไม่ควรจะอวด ภิกษุมีความปรารถนาลาภ เป็นต้น อวดอุตริมนุษธรรมว่าได้ฌานก็ดี ได้วิมุติก็ดี ได้สมาธิก็ดี ได้สมาบัติก็ดี ได้มรรคก็ดี ได้ผลก็ดี ย่อมไม่มีความเป็นสมณะศากยบุตรเหลืออยู่อีกต่อไป เปรียบเหมือนต้นตาลถูกทำลายที่ขั้วแห่งยอดแล้ว ย่อมไม่อาจจะงอกงามได้อีก ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
อะเนกะปะริยาเยนะ โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา สัมมาสัมพุทเธนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง สะมาธิสัมมะทักขาโต ปัญญา สัมมะทักขาตา
ยาวะเทวะ มะทะนิมมะทะนัสสะ ปิปาสะวินะยัสสะ อาละยะสะมุคฆาตัสสะ วัฏฏปัจเฉทัสสะ ตัณหักขะยัสสะ วิราคัสสะ นิโรธัสสะ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ
ตัตถะ สีละปะริภาวิโต สะมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส
สะมาธิปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา
ปัญญาปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ
เสยยะถีทัง กามาสะวา ภะวาสะวา อะวิชชาสะวา
ตัสมาติหะเต อิมัสมิง ตะถาคะตัปปะเวทิเต ธัมมะวินะเย สักกัจจัง อะธิสีละสิกขา สักขิตัพพา อะธิจิตตะสิกขา สิกขิตัพพา อะธิปัญญาสิกขา สักขิตัพพา
ตัตถะ ปัปปะมาเทนะ สัมปาเทตัพพัง
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ผู้เห็นถึงธรรมทั้งปวงได้กล่าวไว้เป็นอเนกปริยาย ในเรื่องศีล ในเรื่องสมาธิ ในเรื่องปัญญา ทั้งนั้นทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งถึงพระนิพพานอันเป็นเครื่องบรรเทาเสียถึงความเมา เป็นเครื่องทอนเสียซึ่งอาลัยในวัฏฏะ เป็นการตัดเสียซึ่งตัณหา เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัดและดับทุกข์สิ้นเชิง คือเพื่อพระนิพพาน
ใน ๓ อย่างนั้น เมื่อศีลอบรมดีแล้ว สมาธิย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เมื่อสมาธิอบรมดีแล้ว ปัญญามีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เมื่อปัญญาอบรมดีแล้ว จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย คือจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เพราะฉะนั้น เธอทุกคนเมื่อบวชแล้วในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ จงเป็นผู้มีความเคารพหนักแน่นในอธิศีลสิกขา ในอธิจิตสิกขา ในอธิปัญญาสิกขา ถือครองด้วยความไม่ประมาท มีความเจริญงอกงามรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา
ข้อความใด ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น ด้วยเรื่องบรรพชาก็ดี ด้วยเรื่องที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชาก็ดีเรื่องอานิสงส์ของบรรพชาก็ดี เรื่องตจปัญจกกัมมัฎฐานก็ดี ขอให้ยังคงแจ่มแจ้งชัดเจนอยู่ในใจของเธอทุกคน ด้วยว่าสิ่งต่าง ๆ จะได้เป็นไปอย่างมีระเบียบ อย่างสม่ำเสมอ อย่างมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาทจริงดังกล่าวนั้น
ให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง และสามารถจะสอนผู้อื่นสืบไปได้จริง นี่คือการกระทำซึ่งเรามุ่งหมายจะกระทำในวันนี้ ให้เกิดผลอย่างนี้ ขอให้ถือเป็นเรื่องจริงให้หมด ไม่มีความลังเลเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป ในที่สุดก็จะเป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาได้สมตามความประสงค์ทุกประการ
การอุปสมบทของเธอได้ถึงที่สุดลงโดยความสำเร็จบริบูรณ์ ทั้งโดยธรรมะและโดยวินัย ขอให้เธอมีความเจริญงอกงามในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมตามความปรารถนาทุก ๆ ประการเทอญ
จะให้กรวดน้ำไหม หืม
คุณถอยไปนิด ๆ นิดเดียว ๆ ถอยนิดเดียว นั่งพับเพียบกรวดน้ำ ให้ผู้ชายเอาเข้ามา ให้ผู้ชายเอาเข้ามา
เป็นธรรมเนียม เราทำกุศลใด ๆ เมื่อไรก็ตาม ต้องอุทิศส่วนกุศลนั้นเสมอไป จะทำให้ผู้อื่นได้พลอยรับกุศล และกุศลของเราก็ไม่ร่อยหรอด้วย นี่เป็นธรรมเนียมว่าให้อุทิศส่วนกุศลและให้อนุโมทนาส่วนกุศลเธอให้ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ตรงตามพระบาลีว่า
ยะถา วาริวะหาปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ฝนตกลงมาจากฟ้าลงมาในที่ดอนที่สูงแล้วย่อมไหลไปยังที่ต่ำตามลำดับ ดังนั้นมันจึงเต็มไปตามลำดับ คือรอยเล็ก ๆในที่สูงเต็ม มันจึงจะหล่นไหลไปยังร่องเล็ก ๆ ไปตามลำห้วยลำธารเต็มไปตามลำดับ จึงจะว่ามีลำคลองเต็ม แม่น้ำเต็ม ปากอ่าวเต็ม ทะเลเต็ม ให้ดูในเวลาฝนตกใหญ่ในฤดูฝน มีจิตใจอย่างเดียวกันนี้ในการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลผู้ควรระลึกถึงเป็นคนแรก คือบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เป็นต้น ที่ล่วงลับไปแล้ว เต็มแล้วจึงไหลไปยังญาติต่าง ๆ ที่ห่างออกไปจนกระทั่งไม่ใช่ญาติ จนกระทั่งศัตรู จนกระทั่งสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในสากลโลกธาตุ ปริมาณ มีปริมาณนับไม่ได้ นับไม่ไหว
ให้ทำใจชนิดนี้อุทิศส่วนกุศล ให้เอาน้ำมารอนี้เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ กาลก่อนพุทธกาล ด้วยว่าจะทำจิตให้เป็นสมาธิ ด้วยการรินน้ำ ผู้รินน้ำ ต้องรินให้น้ำไหลเป็นสายเล็กที่สุด ไม่ให้ลงพลั่กๆ1.02.00แล้วก็ไม่ให้ลงเป็นหยด ๆ ด้วย ให้ลงเป็นสายเล็กที่สุด
ผู้ใดรินน้ำให้เป็นสายเล็กที่สุดก็หมายความว่า จิตของผู้นั้นต้องเป็นสมาธิจึงจะทำได้ เพราะฉะนั้นเราจงบังคับมือ บังคับเส้นประสาท บังคับอะไรให้รินน้ำไหลให้เป็นสายเล็กให้จนได้ ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น อุทิศส่วนกุศลนี้จึงจะถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เขามีมาและควรรักษาเอาไว้
ตลอดเวลาก็กล่าว ยะถา วาริวะหา นี้ กรวดน้ำรินน้ำเรื่อยไป จนได้ยินจบ ขึ้นสัพพีติโย แล้วก็เทน้ำให้หมดเลย พนมมือรับพร ให้ตั้งใจทำด้วยสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องตามนี้ทุกประการด้วย เตรียมตัว
ยะถา วาริวะหาปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เมวะเมวะ อิโตทินนัง เปตานัง อุปกัปปะติ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติระโส ยะถา
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มาเต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มาเต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มาเต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ตั้งใจให้พรพระบวชใหม่
เตอัตถะลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธะสาสะเน
อะโรคา สุขิตา โหถะ สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ
เตอัตถะลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธะสาสะเน
อะโรคา สุขิตา โหถะ สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ
เตอัตถะลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธะสาสะเน
อะโรคา สุขิตา โหถะ สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ
ตั้งใจให้พรเจ้าภาพ และทายก ทายิกา ทั้งปวง
อายุวัฒโก ธนวัฒโก สิริวัฒโก ยสวัฒโก พลวัฒโก วรรณวัฒโก
สุขวัฒโก โหนตุสัพพทา ทุกขโรคภยา เวรา โสกา สัตตุ จุปัททวา
อเนกาอัตรายาปิ วินัสสันตุ จ เตชสา ชีวสิทธิ ธนัง ลาภัง โสถิ ภาคยัง สุขัง พลัง
สิริ อายุ จ วรรโณ จ โภคัง วุฒี จ ยสวา สัตตวษา จ อายู จ ชีวสิทธี ภวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ถอยไปแล้วกราบ ถอยไป กราบตรง ๆ ถอยออกไปหน่อย ถอยออกไปนิดหน่อย ถอยออกไปอีกหน่อยถอย