แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ด้วยการให้ความสงบเพื่อให้เจ้านั้นมีจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ญาติโยมทั้งหลาย จะได้ฟังและเข้าใจ เพราะเข้าใจจึงมีปิติและปราโมช พอมีปิติและปราโมชจึงได้บุญ มันก็จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ฟังกันด้วยดีทุกๆคน สำหรับเธอ ผู้เป็นบรรพชาเปก มีความมุ่งหวังในบรรพชาในโอกาสนี้ ขอให้ตั้งอกตั้งใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ อย่าได้มีความฟุ้งซ่าน หรือความงกๆเงิ่นๆ หรือความตื่นเต้น ด้วยความแปลกใจ ประหลาดใจหรืออะไรทำนองนั้น ต้องไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องเหล่านั้นทั้งหมด สำรวมจิตใจ แต่จะฟังให้ดีให้เข้าใจ แล้วส่งใจไปตามถ้อยคำที่พูด หมายความว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจิตใจไปตามถ้อยคำที่พูด ดังนั้นเราจึงไม่เอาใจใส่ไม่สนใจอะไรทั้งหมดนอกจากจะฟังให้ดีให้เข้าใจ แล้วส่งใจไปตามถ้อยคำที่พูด สำหรับครั้งแรกนี้ ขอให้ทำความเข้าใจในเรื่องถ้อยคำที่เราได้กล่าวไปแล้วเป็นภาษาบาลี เนื่องจากเป็นภาษาบาลี เราไม่ค่อยจะรู้ว่าเรากล่าวไปนั้นหมายความว่าอย่างไรโดยสมบูรณ์ ขอให้ทำในใจซะเดียวนี้ ถ้าหากไม่ได้ทำเมื่อกล่าว ทำซะเดี๋ยวนี้ก็ได้ เมื่อเราได้กล่าวคำประกาศนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ แล้วใคร่จะบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้กล่าวอย่างนี้ ๓ ครั้ง เป็นการกล่าวแสดงความปรารถนาความประสงค์อย่างเปรยๆอย่างเป็นการประกาศตัว ๓ ครั้งแล้วได้กล่าวคำว่า อะหัง ภันเต ปัชพาฌัง ยาจามิ อีก ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการกล่าวยืนยันถ้อยคำว่าขอบรรพชาและขอให้ทำการบรรพชาให้ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา นี้เรียกว่าเป็นคำขอโดยตรง ไม่มีข้อปฏิบัติใดๆเราต้องทำในใจอย่างนี้ ว่าเราได้ขอ ได้พูดไปอย่างนี้ และเป็นการขออย่างนี้ อย่าว่าแต่ภาษาบาลีเฉยๆลอยๆด้วยจิตใจที่เลื่อนลอยเป็นนกแก้วนกขุนทอง มันก็ไม่เข้าเรื่องกัน ดังนั้นต้องทำในใจเดี๋ยวนี้ ให้แน่ลงไปว่าได้ประกาศตัวออกมาอย่างนี้ และมีคำขออย่างนี้ แล้วก็ให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทำจริง เพราะว่าเรากระทำในสถานที่อันศักดิ์สิทธ์ คือในสีมาของสงฆ์ ต่อหน้าบุคคลอันศักดิ์สิทธิ์ คือพระสงฆ์ที่ประชุมกันในนามของพระพุทธเจ้า ต้องถือว่าเป็นสังคมหรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ และได้แสดงกิริยาอาการที่เป็นจริงเป็นจังล้วน เพราะฉะนั้นไม่มีเรื่องทำเล่น คือไม่มีเรื่องที่ไม่รับผิดชอบอะไรทำนองนั้น จะต้องรับผิดชอบในคำพูดทุกคำที่ได้กล่าวไป ว่าได้พูดจริง ได้ขอจริง ด้วยเจตนาที่จะรับเอาไปปฏิบัติจริงๆ
ที่นี้ก็จะเข้าใจกันต่อไปถึงสิ่งที่ขอซึ่งเรียกว่า บรรพชา ถ่ายมาจากคำภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺช ถ่ายออกมาเป็นภาษาไทยตรงๆอีกทีหนึ่งว่า บวช บอ-วอ-ชอ บับพัดชัง บวชความหมายอย่างเดียวกันหมด คือคำว่า ปพฺพชฺชก็ดี บรรพชาก็ดี บวชก็ดี ตัวหนังสือเดียวกัน หมายความว่า ไปหมดเว้นหมด เราขอรับเอาระเบียบการเว้นหมดไปหมดจากความเป็นฆราวาส ดังนั้นเราจะต้องรู้ว่าเราจะต้องเว้นจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมงมานี้ เรายังเป็นฆราวาส ทีนี้เรากำลังเป็นบรรพชาเปกเพื่อหวังจะบรรพชา และต่อไปในอีกไม่เท่าไรก็จะเป็นบรรพชิต หรือเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ ดังนั้น เราจะต้องว่ามันจะเป็นได้อย่างไร ได้ด้วยถ้อยคำนี้เองว่าบรรพชาแปลว่าเว้นหมดไปหมดจากความเป็นฆราวาส ดังนั้นจงอธิษฐานจิต จงปักใจลงไปในการที่จะละความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง จะไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส จะไม่พูดจาอย่างฆราวาส จะไม่มีจริตกิริยาอย่างฆราวาส จะไม่คิดนึกอย่างฆราวาส จะไม่ใฝ่ฝันอย่างฆราวาส จะไม่ทำอะไรอย่างฆราวาสอีกต่อไป นี่จึงจะเรียกว่าละจากความเป็นฆราวาส ในบทว่าบรรพชา คือไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส และยิ่งกว่านั้นยังจะต้องเว้นไตรสิกขาและวินัยต่างๆที่มีอยู่ว่า บรรพชิตจะต้องเว้นอย่างไร ก็ยังจะต้องเว้นต่อไป เมื่อเว้นสิ่งเหล่านี้ได้หมด ก็เป็นอันว่าไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ระเบียบนี้เป็นระเบียบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางไว้ในลักษณะที่เป็นการขูดเกลา ฉะนั้น เรารู้เสียแต่บัดนี้ว่าจะต้องทน สิ่งที่เป็นการขูดเกลามันต้องทน เหมือนเป็นการขูดเนื้อร้ายออก ให้หมดเนื้อร้าย เอายาใส่ให้แผลหายให้หมดโรคนี้ มันล้วนแต่เป็นเรื่องต้องทน บรรพชานี้ก็เหมือนกัน พรหมจรรย์นี้ก็เหมือนกัน เป็นสรรเลกธรรม เป็นสิ่งขูดเกลา ดังนั้น เราต้องปักใจแน่ที่จะรับการขูดเกลาแม้ว่าจะมีการเจ็บปวดในทางจิตใจ เราเคยทำอะไรตามชอบใจ เดี๋ยวนี้เราจะไม่ทำตามความชอบใจ จะทำตามระเบียบตามสิกขาวินัย มันจะต้องมีความอดกลั้นอดทนเป็นธรรมดา ยิ่งถ้าจะต้องทำให้ได้รับผลดีที่สุดแล้ว ยังจะต้องทนอีกมาก และเราจะต้องปักใจทน อย่างที่เรียกว่าตั้งใจจริง แล้วก็บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลปฏิบัติจริงๆ ถึงกับปฏิญาณไว้ว่าแม้จะต้องทนจนน้ำตาไหล อย่างที่เรียกกันว่าประพฤติพรหมจรรย์นี้ด้วยน้ำตา ก็จะยอมทน นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นผู้ยินดีที่จะยอมรับเอาการบรรพชานี้ ขอให้แน่ใจเสียแต่เดี๋ยวนี้ ให้มีความคิดนึกที่จะอดทนไม่ถอยหลังแต่บัดนี้ ที่พูดว่าฟังแล้วเข้าใจ...แล้วน้อมใจไปตามก็หมายความอย่างนี้ ให้รู้ว่าบรรพชานี้มีความมุ่งหมายอย่างนี้ มีระเบียบอย่างนี้ และเป็นสิ่งที่ต้องอดทน
ที่เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องอานิสงส์ของบรรพชา อานิสงส์ของการบรรพชานี้มีมากจนเอามาพูดโดยรายละเอียดหมดไม่ได้ แต่จะพูดได้โดยคร่าว หรือประเภทใหญ่ๆว่ามีอยู่สัก ๓ ประเภท อานิสงส์ประเภทที่ ๑ ได้แก่ตัวเราเอง อานิสงส์ประเภทที่ ๒ จะได้แก่ ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้น อานิสงส์ประเภทที่ ๓ จะได้แก่ เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทั้งโลก และแก่ศาสนาเป็นส่วนรวม มีความมุ่งหมาย ๓ ประการอย่างนี้เป็นอานิสงส์
อานิสงส์ทีแรกที่ว่าจะได้จากเราเองนั้น ก็มีความหมายลึก และมีคุณค่าสูง พออยู่ในตัว คือถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวงในเรา ในร่างกายและจิตใจนี้ คือกลายเป็นผู้ที่มี...อย่างน้อยก็ความอดกลั้นอดทน คือการบังคับตัวเองหรือเป็นการฝึกฝนอีกหลายอย่างหลายชนิดที่จะช่วยให้ความเป็นมนุษย์นี้มีราคา มีความหมาย แม้ว่าแต่เดิมมาหรือว่าความมุ่งหมายอันแท้จริงในเรื่องบรรพชานี้เป็นเรื่องคนที่เบื่อโลก ละจากโลกไปสู่การบรรพชาจนตลอดชีวิตก็ตาม แต่ว่าระเบียบนี้นำมาใช้ได้แม้แต่ผู้ที่จะต้องกลับไปเป็นฆราวาส ในส่วนที่ว่าจะฝึกฝน การฝึกฝนชนิดที่ไม่มีในระบบอื่นในสาขาอื่น ก็ได้แก่การฝึกฝนการบังคับตัวเองอย่างยิ่งนั่นเอง ถึงว่าเธอจะเล่าเรียนศึกษาฝึกฝนในเรื่องของโลกๆมากี่ร้อยอย่างพันอย่าง มันก็ไม่มีสักอย่างเดียวที่จะเป็นการฝึกฝนบังคับตัวเองให้ถึงขีดสุดเหมือนอย่างกับบรรพชา ดังนั้นเราจึงบวชแม้จะเป็นการชั่วคราวก็ให้เป็นบวช ก็เพื่อจะได้รับการฝึกฝนในการบังคับตัวเองอย่างยิ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือการเสียสละ ผู้บวชนี้ต้องทำให้ถูกต้องตามความหมายของการบรรพชาที่แปลว่าไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาสหรือเรื่องของความเป็นฆราวาส
ฉะนั้นในระยะที่บวชนี้จะต้องถือว่าเป็นผู้สละแล้วโดยสิ้นเชิง สละทรัพย์สมบัติ สละญาติทั้งหลาย มีบิดา มารดาเป็นต้น สละทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องของฆราวาส นี้เป็นการเสียสละซึ่งเราไม่เคยเสียสละ และยังจะต้องฝึกฝนในข้อที่ว่า ที่นี้จะไม่ทำอะไรเพื่อตัวเอง ก่อนนี้เราทำอะไรเพื่อตัวเองทั้งนั้น เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง เพื่อเงิน เพื่อเกียรติ เพื่อความดี เพื่อบุญคุณเพื่ออะไรต่างๆ แม้แต่เพื่อให้เขายกย่องสรรเสริญ มันก็เป็นเรื่องเพื่อตัวเอง ที่นี้มาบวชก็กระทำทุกอย่างทุกประการไม่ใช่เพื่อตัวเองถ้าเรียกว่าเพื่อตัวเองก็คือ ความหมดตัวเอง ความหมดความยึดถือว่าเราว่าของเรา ฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องหัดเสียสละอย่างสูงสุดซึ่งเราไม่เคยเสียสละ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติจริง เคร่งครัดจริง ย่อมเสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ให้บริสุทธิ์ก็ยังจะทำได้ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องเสียสละที่สุด แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องปฏิบัติเพื่อละเสียซึ่งความถือมั่นว่าตัวกูว่า ของกูอย่างนี้แล้วมันก็เป็นการเสียสละชีวิตด้วยเหมือนกัน คือสละทั้งหมดทุกอย่างรวมทั้งชีวิตด้วยว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เรากำลังมาเรียนอย่างนี้ ศึกษาอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ในระหว่างที่บวชนี้ นั่นแหละลองคิดดูเถอะว่าเมื่อมีความอดทนถึงขนาดนี้ เมื่อมีความเสียสละถึงอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องพิเศษ ไม่มีในวิชาความรู้แขนงไหนของชาวบ้านหรือชาวโลกหรือทั่วโลกที่เขาเรียนๆกันอยู่ ทีนี้ก็แปลว่าเราได้มาศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติวิชาแขนงหนึ่งซึ่งไม่เหมือนใคร แล้วก็ไปลึกซึ้งจบกว่าใครๆ ที่นี้มีปัญหาว่า ศึกษาแล้วมันจะได้อะไรบ้าง คือปฏิบัติแล้วจะได้อะไรบ้าง ข้อนี้ไม่ยาก จะรู้ได้ด้วยตนเองเรื่อยๆไปทีหลัง เมื่อความอดทนมีมากขนาดนี้แล้ว ต่อไปออกไปเป็นฆราวาสอีก มันก็กลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย ไม่มีความอดทนชนิดไหนมากเท่านี้ ความอดกลั้นใดๆก็ตาม ไม่มีมากเหมือนที่เราอดกลั้นในการประพฤติพรหมจรรย์ ในการเสียสละกันไม่เห็นแก่ตัวอะไรทำนองนี้ ก็ไม่มีอย่างอื่นที่มากเท่ากับการประพฤติพรหมจรรย์ ดังนั้น เราจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงวิชาแขนงหนึ่ง ซึ่งสูงสุดหรือว่าลึกซึ้งที่สุด ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่มีปัญหา ที่จะทำจิตใจของเราให้เดือดร้อนรำคาญเป็นทุกข์ หรือว่าถึงกับเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น รวมความแล้วว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงชนิดเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดขึ้นในตัวเรา ที่เคยมีแต่มืดมน เศร้าหมอง เร่าร้อน มันก็กลายเป็นความสะอาดสว่างสงบไป เกิดมาทีหนึ่งได้สิ่งนี้ก็พอแล้วก็หมดแล้ว เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้ควรจะถึง นั่นจึงเป็นอานิสงส์ที่ประเสริฐที่สุดข้อหนึ่งข้อแรกที่เราจะได้รับเอง
สำหรับอานิสงส์ข้อที่สองจะได้แก่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นนั้น ให้ถือว่าการบวชนี้ยังเป็นการสนองคุณญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นด้วย เพื่อเป็นการสนองคุณบิดามารดาโดยเฉพาะเจาะจง ตัวเราเกิดเองไม่ได้ เราก็ไม่ได้เกิดจากโพรงไม้ หรือเกิดจากที่อื่น ล้วนแต่มีบิดามารดาเป็นแรงเกิด จึงถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณสูงสุด ทุกคนจะอุทิศทุกอย่างเพื่อบิดามารดา เพื่อสนองความประสงค์ของบิดามารดาแม้ว่าความประสงค์นั้นมันไม่ตรงกับความประสงค์ของเรา ผู้ที่เป็นบุตรจะต้องมีการเสียสละและความแน่ใจถึงขนาดนี้ ว่าจะสนองคุณบิดามารดาด้วยการทำตามความประสงค์ของบิดามารดา แม้ว่าความประสงค์อันนั้นไม่ตรงกับความประสงค์ของเรา ก็เหตุผลที่ว่าเราเกิดเองไม่ได้ ชีวิตทั้งหมดได้มาจากบิดามารดา ควรยกให้เป็นของบิดามารดา หวังที่จะให้บิดามารดาได้รับความพอใจสูงสุดกว่า...ก่อนใคร หรือยิ่งกว่าใคร ฉะนั้น เราจึงคิดสนองคุณบิดามารดาด้วยการทำให้บิดามารดาได้รับประโยชน์ที่สุดในการที่เกิดเรามา เขาเรียกตามภาษาโบราณว่าทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้นเพราะการบวชของเรา ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง จะทำให้บิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนา คือถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ยิ่งกว่าเดิม อย่างน้อยก็ได้ความพอใจ ได้ความปิติ ปราโมช ในการที่เราทำได้อย่างนี้ หรือด้วยการทำอย่างนี้ มันผูกจิตใจของบิดามารดาให้แน่นแฟ้นในพระศาสนายิ่งขึ้น ที่ดีที่สุดคือการทำให้บิดามารดาได้อยู่ในร่อยรอยของสัมมาทิฐิอย่างแน่นแฟ้นและมั่นคง เป็นการปลอดภัยในทางจิต ทางวิญญาณ จะไม่วกกลับไปสู่ความตกต่ำอีกต่อไป เรียกว่าเป็นการสนองคุณบิดามารดาอย่างสูงสุด ไม่มีอะไรที่จะยิ่งกว่า คือการสนองพระคุณในทางจิตใจในทางวิญญาณโดยเฉพาะ ควบคู่กันไปกับการสนองคุณในทางวัตถุเช่นเลี้ยงบิดามารดาด้วยวัตถุสิ่งของเงินทองหรืออะไรก็ตามซึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุทางกายนั้นส่วนหนึ่ง แล้วก็สนองคุณอย่างสูงสุดด้วยการทำในทางฝ่ายจิตใจนี้ส่วนหนึ่ง มันก็เป็นการสมบูรณ์ที่ว่า บุตรจะสนองคุณบิดามารดาได้ในลักษณะอย่างไร ก็สนองกันหมดสิ้นเลย ญาติทั้งหลายก็พลอยได้รับผลอย่างเดียวกัน นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สอง
ที่นี้เรื่องที่สาม เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายจะพลอยได้รับ พระศาสนาเป็นส่วนรวมจะพลอยได้รับ ก็หมายความว่า เราบวชนี้เพื่อสืบอายุพระศาสนาด้วย แม้ว่าเราจะไม่ได้บวชตลอดไป จะบวชกี่วันกี่เดือนก็ตาม ในเวลาที่เราบวชนั้นเป็นการสืบอายุพระศาสนาไว้ เสร็จแล้วเราก็มอบหมายให้คนอื่นรับช่วงต่อไป...ต่อไป...ต่อ...ต่อกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ว่าพระศาสนาที่มีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะมีคนบวชจริงเรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วสอนสืบๆกันไปจริงเท่านั้น ถ้ามีแต่คนบวชเล่น บวชไม่จริงแล้ว มันก็เป็นการทำให้ศาสนาขาดสูญไป
คำว่าสืบอายุพระศาสนา จึงหมายความถึงแต่การบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงเท่านั้น ดังนั้น เราจะต้องระลึกนึกถึงบุญคุณของผู้ที่ได้สืบอายุพระศาสนา ตกทอดกันมาจนถึงเรา ฉะนั้น เราก็จะสนองคุณอันนั้นด้วยการสืบอายุศาสนาต่อไป ด้วยการบวชจริงเป็นต้น เป็นช่วงๆรับทอดกันไป นี้เรียกว่าเพื่อสืบอายุพระศาสนา
ที่นี้ก็มาถึงโลกทั้งหลาย...สัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อศาสนายังมีอยู่ในโลก สัตว์โลกก็มีเครื่องคุ้มครอง โลกก็ยังมีที่พึ่งเพราะการที่ศาสนามีอยู่ เราก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้ศาสนายังคงมีอยู่ ก็ชื่อว่าเราได้ทำประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย หรือโลกทั้งปวง นี้เรียกว่าอานิสงส์จะได้แก่สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งพระศาสนาด้วย
ดังนั้น ขอให้เธอลองคำนวณดูว่าอานิสงส์ทั้งสามประการนี้ มันพอแล้วหรือยังที่เราจะเสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วนให้บริสุทธิ์ ถ้ามีสติปัญญาพิจารณาเห็น ก็จะเห็นได้ว่า มันเกินกว่าที่เราจะเสียสละชีวิตด้วยซ้ำไป คุณค่านั้นมหาศาล ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายดายที่สุด ที่แม้ว่าจะต้องประพฤติพรหมจรรย์นี้ด้วยน้ำตาคือความอดกลั้นอดทน จึงขอให้มีความแน่ใจอย่างนี้ หวังอยู่ซึ่งอานิสงส์สามประการนี้ในการบรรพชาอุปสมบทนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่สองคือเรื่องอานิสงส์ของการบรรพชา ที่เราจะต้องรู้ไว้
เรื่องสุดท้าย คือเรื่องที่สาม ก็คือวัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา บรรพชานี้อาศัยมีวัตถุที่ตั้งที่อาศัยคือพระรัตนตรัย คือให้สำนึกรู้สึกในจิตใจทั้งหมดอยู่เสมอว่าเราบวชนี้อุทิศเพื่อพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ นั้นจึงถือเอาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นวัตถุเป็นที่ตั้งที่อาศัยทางจิตใจ จะต้องมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อยู่ในจิตใจ มันจึงจะเป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา ถ้าไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในจิตใจแล้ว บรรพชานี้ก็จะไม่มีที่ตั้งที่อาศัยจะรวนเรล่มไปในที่สุด
ถ้ามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ในจิตใจเป็นที่ตั้งของบรรพชาแล้ว บรรพชานี้ก็จะเจริญจะงอกงามเหมือนต้นไม้ที่ได้ดินดี น้ำดี อากาศดี การบำรุงรักษาดีไอ้เหล่านี้เป็นต้น นี้เราจะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ไว้ในใจเป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานั้นได้อย่างไรนั้น วิธีมีอยู่ทางเดียวคือทำจิตใจของเราให้เหมือนจิตใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เสมอ เราจะเอาองค์พระพุทธเจ้าจริงๆมาใส่ไว้ใจในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะว่าเป็นวัตถุ แต่ว่าเราเอาองค์พระพุทธเจ้าจริงๆกว่านั้นคือคุณธรรมในจิตใจของท่านมาใส่ในใจเราได้ พระธรรมก็เหมือนกัน จะเอาพระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎกมาใส่ไว้ในใจนั้นก็ทำไม่ได้ หรือจะเอาเสียงธรรมะใส่ก็ไม่ได้ แต่เอาหัวใจของพระธรรมนั้นมาใส่ไว้ในใจของเราได้ พระสงฆ์ก็เหมือนกัน จะเอาพระสงฆ์ตั้งหมื่นตั้งแสนใส่ไว้ในใจเรา มันก็ทำไม่ได้ แต่เอาคุณธรรมคุณสมบัติของความเป็นพระสงฆ์มาใส่ไว้ในใจเราได้ ที่นี้มันง่ายตรงที่ว่า หัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นเหมือนกันอยู่ที่ความสะอาด ความสว่าง และความสงบ พระพุทธเจ้าท่านมีความสะอาด ความสว่าง และความสงบ พระธรรมในส่วนเล่าเรียน ก็เรียนเรื่องความสว่าง สงบ เรื่องปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ เรื่องปฏิเวธคือมรรคผลนิพพาน ก็เป็นตัวความสะอาด สว่าง สงบ ดังนั้น พระธรรมก็มีหัวใจเป็นความสะอาด สว่าง สงบ ที่นี้พระสงฆ์ทั้งหลายที่เป็นพระสงฆ์ ก็ล้วนแต่ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ หรือมีความสะอาด สว่าง สงบแล้ว ดังนั้นคำพูดเพียงสามคำว่า สะอาด สว่าง สงบนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ แล้วก็มีภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบ ซึ่งเป็นพระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงนี้อยู่ในใจเราตลอดเวลา จงพยายามรักษาสภาวะอย่างนี้ไว้ ให้คงมีอยู่เสมอไป เพื่อจะได้เป็นวัตถุที่ตั้ง ที่อาศัยของบรรพชา ว่าก็เป็นอันว่าสิ่งต่างๆเป็นไปได้โดยไม่ยากเลย จะไม่ถึงกับต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาก็ยังได้ ถ้าทำถูกวิธี เพียงขอให้ตั้งใจทำให้ดี เข้าใจให้ดี และมีจิตใจส่งไปตามนี้ว่า บรรพชานี้คืออะไร อานิสงส์ของบรรพชานี้คืออะไร วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานี้คืออะไร เรื่องในเบื้องต้นก็จะครบถ้วนบริบูรณ์ในการบรรพชา
ที่นี้ที่มีอยู่ต่อไปอีกก็คือ เรื่องสัจจะปัญจกรรมฐาน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ท่านวางไว้เป็นระเบียบให้เอามาสอนกันในเวลานี้ นี่เป็นเรื่องที่พิเศษลงไปในข้อที่ว่าเราจะต้องปรับปรุงจิตใจให้เหมาะสมแก่ผ้ากาสายะที่จะใช้บรรพชานี้ เมื่อตะกี้ก็พูดว่า อิมานิ กาสายานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต ขอให้ทำการบรรพชาด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ด้วยความเมตตากรุณา เรื่องมีว่า ผ้ากาสายะเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของพระอรหันต์ เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เราจะเอามาห่มกันเฉยๆนี้ มันไม่ได้แน่ จะมีแต่ความเสียหาย ฉะนั้นเราจะต้องทำตัวของเราให้เหมาะสมกับผ้ากาสายะเหล่านั้นเสียก่อน วิธีอื่นไม่ดีไม่มี ไม่ดีเท่ากับการทำจิตใจให้หมดจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง จึงได้สอนเรื่องสัจจะปัญจกรรมฐานเรื่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้ เป็นหลักสำคัญ รวมความแล้วก็คือว่า เลิกโง่อย่างฆราวาสกันเสียที มาฉลาดอย่างคนของพระพุทธเจ้ากันเสียที ที่ว่าโง่อย่างฆราวาสนั้น ก็คือเห็นเป็นเรื่องสวยเรื่องงามเรื่องดี ในสิ่งที่เป็นของหลอกลวง ไม่รู้ตามที่เป็นจริง เขามีความหลงไปว่ามันสวยมันงาม
ยกตัวอย่างเช่น ผม เรียกเป็นภาษาบาลีว่า เกศา ธรรมชาติเป็นของปฏิกูล คือน่าเกลียด เราก็หลงไปว่าเป็นของสวยของหอม ของดี ตามวิสัยของฆราวาส โดยเฉพาะคนหนุ่ม นี้มารู้กันเสียใหม่ว่าผมนี้เป็นปฏิกูล อย่างน้อยก็ดูมันในลักษณะเช่นว่า มีรูปร่างน่าเกลียด เส้นผมนี่มีรูปร่าง น่าเกลียด มันเป็นเส้นยาวๆ มีสีสัน วรรณะ น่าเกลียด สีดำ สีหมอก สีอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นสีน่าเกลียด มีกลิ่นก็น่าเกลียด มีที่เกิดที่งอกที่หนังศีรษะมีเลือดหล่อเลี้ยงนี้มันก็น่าเกลียด มีหน้าที่การงานก็น่าเกลียด คืออยู่บนศีรษะสำหรับรับฝุ่นละออง หน้าที่การงานก็ยังน่าเกลียด ดูความน่าเกลียดเหล่านี้แล้วก็พอจะทำให้หยุดความเข้าใจว่าสวยว่าหอมว่าเป็นสิ่งที่น่าโอ้อวดแก่กัน เมื่อเป็นฆราวาสเคยหลงกับอย่างนี้มาหยกๆเพิ่งจะโกนทิ้งไปเมื่อไม่กี่นาทีนี้ นี้มันก็เป็นอันว่า สลัดในความหลงนั้นออกไป ให้มองเห็นในความเป็นปฏิกูลที่เราเคยสำคัญผิดว่าเป็นของสวยงามนั้นเสีย จิตใจก็จะเปลี่ยนเป็นจิตใจที่เหมาะสมแก่ผ้ากาสายะเหล่านี้
นี้เรื่อง...สิ่งที่สอง คือ ขน เรียกในภาษาบาลีว่าโลมา ก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกับขน ว่ามีความเป็นปฏิกูลอย่างเดียวกัน ผิดกันแต่ว่ามันมีอยู่ทั่วๆตัว ในเมื่อผมมีอยู่แต่เพียงบนศีรษะ แล้วจะเห็นว่าทั่วๆตัวนั้นเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล เลิกหลงว่าทั่วๆตัวสวยงามกันเสียที
สิ่งที่สาม เล็บ ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า นขา เป็นที่ตั้งแห่งการประดับตกแต่งมาแล้วตั้งแต่หลายพันปีโน้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพื่อให้ดู...เพื่อว่าจะได้ดูสวยและอวดแก่กันและกัน นี้เป็นความโง่ของฆราวาส จะเหลือมาอยู่ในความเป็นบรรพชิตไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องสำนึกถึงความโง่แต่หนหลัง แล้วสลัดออกไปโดยสิ้นเชิง ในเมื่อเราต้องการจะเป็นบรรพชิต ดูอย่างเดียวกันอีกว่า เล็บนี้ รูปร่างก็น่าเกลียด สีสัน วรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่การงาน คือ แคะ กวัก เกา ด้วยเล็บ อย่างนี้มันก็น่าเกลียด ก็เลิกความหลงใหลในความงามของเล็บ
สิ่งถัดไปสิ่งที่สี่ คือ ฟัน ที่มีอยู่ในปาก ให้มองเห็นความน่าเกลียดโดยสมบูรณ์ อย่ามองไปในแง่ว่าจะเอาไว้อวดกันว่าฟันสวย โดยรูปร่างก็น่าเกลียด โดยสีสันวรรณะก็น่าเกลียด โดยกลิ่นก็น่าเกลียด โดยที่เกิดที่งอกในเหงือกนี้ก็น่าเกลียด หน้าที่การงาน เท่ากับเคี้ยวบด ก็เต็มไปด้วยความน่าเกลียด ถ้าเราไม่นึกถึง มันก็โง่ในทางที่จะเป็นของสวยงามหรือโอ้อวด จึงต้องมองเห็นความเป็นปฏิกูล เพื่อเปลี่ยนจิตใจกันเสียใหม่จากความเป็นฆราวาส มาสู่ความเป็นผู้ฉลาด ตามแบบของพระอริยะเจ้า
เรื่องสุดท้าย ที่ห้า ก็คือเรื่องผิวหนัง เรียกโดยภาษาบาลีว่าตโจ เราเคยหลงใหลในเรื่องนี้กันมากเพราะว่าผิวหนังนี้เป็นที่ตั้งแห่งการประดับตกแต่ง ที่นี้มาดูกันเสียใหม่ว่าเคยโง่มามากน้อยเท่าใด เพราะว่าผิวหนังนี้ เมื่อดูรูปร่างของมัน มันก็น่าเกลียด ดูสีสันวรรณะของมัน ก็น่าเกลียด โดยกลิ่นตามธรรมชาติของมันก็น่าเกลียด โดยที่เกิดที่งอกหุ้ม...หุ้มตัวอยู่นี้ มันก็น่าเกลียด โดยหน้าที่การงาน คือมีหน้าที่รับฝุ่นละอองโดยทั่วไป เป็นที่หมักหมมแห่งเหงื่อไคล เป็นที่ถ่ายเข้าออกแห่งไอของร่างกาย เหล่านี้มันก็ล้วนแต่น่าเกลียดไปทั้งนั้น แล้วทำไมจะต้องโง่ หลง เทิดทูนมัน ประดับตกแต่งมัน เพื่อโอ้อวดกัน ต้องหายโง่อย่างนี้ จึงมีจิตใจเหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ สำหรับผิวหนังนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งแห่งความน่าเกลียดแล้ว ยังเป็นที่ตั้งแห่งอันตราย พวกบรรดาสัมผัสทางกามารมณ์ทั้งหลายแล้ว สัมผัสทางผิวหนัง ยิ่งกว่าสัมผัสทางอื่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น นั้นยังไม่ร้ายกาจเท่าสัมผัสทางผิวหนัง ฉะนั้นจึงรู้...จงรู้ไว้ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งอันตรายทางจิตใจด้วย นอกจากเป็นปฏิกูลแล้ว ยังเป็นอันตรายด้วย
ถ้าเรารู้ถึงขนาดนี้แล้ว ก็มีจิตใจเหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ มีความถูกต้อง มีความเหมาะสม ที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ แล้วเรื่องมันก็ไม่ขัดกัน เมื่อเธอขอร้องว่าจงทำการบรรพชาให้ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้มันก็มีความหมาย เพราะว่าบัดนี้ เรามีจิตใจเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะแล้ว ทางฝ่ายพระอุปัชฌายะที่จะทำการบรรพชาให้ก็ไม่ขัดกัน เพราะว่าได้ทำให้แก่บุคคลผู้มีจิตใจเหมาะสมแก่ผ้ากาสายะแล้ว ทั้งเรื่องต่างๆจึงเป็นไปด้วยดี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้เกิดความรู้ความเข้าใจเป็นธรรมดา เพราะว่าจะต้องมีการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ไม่ให้ทำไปพอสักว่าทำแล้วๆไปเหมือนคนโดยมาก คิดนึกไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยฟัง สักแต่ว่าให้มันแล้วๆไป อย่างนั้นกันเสียโดยมาก เพราะฉะนั้น การบวชมันจึงไม่ดีขึ้น พระศาสนามันจึงไม่ดีขึ้น แล้วก็จะมาโทษอย่างนั้นโทษอย่างนี้ ว่าธรรมะไม่ช่วย ศาสนาไม่ช่วย เพราะคนมันโง่เอง เพราะคนมันไม่ช่วยและทำให้ถูกต้องครองธรรมของพระศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงได้ขอความร่วมมือท่านทั้งหลาย ทั้งผู้ที่มาสมทบ และทั้งผู้ที่จะบวชเอง ว่าจงกระทำให้ดีที่สุดในโอกาสนี้ ให้เป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง ให้สำเร็จประโยชน์แก่กันทุกฝ่าย
นี้สิ่งสุดท้ายก็เหลือที่จะ...แต่การบอกสัจจะปัญจกรรมฐานเป็นภาษาบาลีให้ครบถ้วนตามแบบฉบับที่ท่านได้วางไว้ ว่าถือเอาทั้งโดยอัฏฐะ ทั้งโดยพยัญชนะ การถือเอาโดยพยัญชนะก็คือการเอารับสมาทานไปโดยภาษาบาลี ซึ่งจะได้กระทำต่อไป
คุกเข่าก้มศีรษะ ...ก้มศีรษะเข้ามา ... ตั้งใจรับสัจจะปัญจกรรมฐานโดยภาษาบาลี โดยว่ากล่าวตามเราดังต่อไปนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เรียกว่าไปตามลำดับ นี้ทวนลำดับ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา จำได้ลองว่าดู
(ผู้ขอบรรพชา ได้ว่า : เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ , ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา , เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ , ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา , เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา )
ดี...เป็นเครื่องแสดงว่าจำได้ดี เข้าใจได้ดี และมีใจคอปกติไม่ฟุ้งซ่านไม่งกๆเงิ่นๆ มีสติสัมปชัญญะอยู่กับเนื้ออยู่กับตัว เหมาะสมที่จะทำการบรรพชาอุปสมบทแล้ว จึงมีความยินดีที่จะทำหน้าที่นั้น ขอให้มีความเจริญงอกงามในพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาสมตามความประสงค์การบรรพชาของทุกท่านเทอญ
เกี่ยวกับการถือนิสัย พึงมีความเข้าใจไว้ด้วยว่า สงฆ์ย่อมไม่ให้อุปสมบทแก่ผู้ที่ไม่มีอุปัชฌายะ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องถือนิสัยให้เกิดมีอุปัชฌายะ โดยการถือนิสัยนั้น ที่นี้ก็เป็นผู้สมควรจะขออุปสมบทได้ พระสงฆ์ก็สามารถให้อุปสมบทแก่ผู้ที่มีอุปัชฌายะ ดังนั้นเราจึงขอนิสัย เดี๋ยวนี้เธอก็ได้ขอนิสัยแล้ว และก็ได้มีอุปัชฌายะแล้ว ทำให้เกิดหน้าที่ระหว่างอุปัชฌายะกับสัตถิวิหาริขึ้นมา สัตถิวิหาริมีหน้าที่ที่จะต้องเอาใจใส่ เชื่อฟัง ระมัดระวัง ทำตามคำแนะนำสั่งสอน ความมุ่งหมายใหญ่มีอยู่ตรงที่ต้องการให้มีผู้ควบคุม ไม่ให้ทำผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้โอกาสแก่ผู้ที่จะทำการควบคุม คืออย่าทำอะไร โดยมักง่าย ให้ถามดูก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่...ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจ อุปัชฌายะก็จะบอก คือจะสามารถควบคุมไว้ได้ ไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เพราะฉะนั้นเขาจึงพยายามให้อยู่ในสายตาของอุปัชฌายะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อยู่ด้วยกันไปไหนด้วยกัน แม้แต่ไปบิณฑบาตก็ไปด้วยกัน ก็เพื่อให้อยู่ในสายตาหรือการควบคุมของอุปัชฌายะ แล้วก็ตั้งตา ตั้งหน้าตั้งตาที่จะปฏิบัติให้เคร่งครัดตามนั้น ตลอดถึงเอาใจใส่ในความเป็นอยู่โดยผาสุกของอุปัชฌายะด้วย นี่เรียกว่าหน้าที่ฝ่ายสัตถิวิหาริ
หน้าที่ฝ่ายอุปัชฌายะก็คือ เอาใจใส่ดูแลให้เป็นอย่างนั้น เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ความผาสุกของสัตถิวิหาริด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ของตน...ของตนแก่กันและกันอย่างนี้แล้ว เรียกว่า มีการถือนิสัย ฉะนั้น เธอจงพยายามที่จะทำตนให้เป็นผู้มีนิสัยให้ครบถ้วนให้สมบูรณ์ให้ถูกต้อง ที่นี้ขอบอกกล่าวไว้เสียเลยว่า บางรูปก็ไม่ได้อยู่ร่วมวัดกันต้องแยกกันอยู่ เพราะหลังจากการอุปสมบทแล้ว ก็ให้ถือนิสัยใหม่ในอาจารย์ประจำวัด และพึงปฏิบัติอย่างเดียวกันที่จะต้องปฏิบัติต่ออุปัชฌายะ ก็เรียกว่าเป็นผู้มีนิสัยตลอดไป นี่เรียกว่าการถือนิสัย สำเร็จแล้ว มีนิสัยแล้ว ควรแก่การขออุปสมบทแล้ว ที่นี้ก็มีเรื่องที่จะต้องมีชื่อเป็นภาษาบาลี ฉายา..ด้วยเหตุที่ว่าจะต้องสวดธรรมวาจาเป็นภาษาบาลีเสมอไป สวดเป็นภาษาอื่นไม่นิยม หรือไม่กล้าทำ ด้วยเหตุที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ ฉะนั้นเราจะต้องสวดธรรมวาจาเป็นภาษาบาลี ดังนั้นจึงต้องมีชื่อเป็นภาษาบาลี สามเณรพจนารถ มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า วจน อวจนาโท สามเณรชอบ มีชื่อในภาษาบาลีว่า ธรรมะวโร เมื่อถูกถามด้วยภาษาบาลีว่า กิมินาโมติ ขอต้องตอบให้ถูกต้องโดยภาษาบาลีตามชื่อนี้ สำหรับอุปัชฌายะมีชื่อด้วยภาษาบาลีอยู่แล้วว่า อินทปัญโญ เมื่อถูกถามถึงชื่ออุปัชฌายะแล้ว พึงตอบให้ถูกต้องตามชื่อนั้น ตลอดถึงการสวดออกชื่อตน ออกชื่ออุปัชฌายะ ในธรรมวาจานั้นๆ ก็ต้องระลึกถึงให้มีความหมายว่าเล็งถึงใครอยู่เสมอ ที่นี้ต่อไปก็มีการพินทุอธิษฐาน หรือกระทั่งมีวิกัปเป็นต้น เราก็ต้องรู้จักชื่อบริขารนั้นๆโดยภาษาบาลีว่า ผืนที่นุ่งเรียกว่าอย่างไร ผืนที่ห่มเรียกว่าอย่างไร ผืนที่คลุมข้างนอกเรียกว่าอย่างไร โดยภาษาบาลีเป็นต้น แม้แต่บาตรนี้ เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็จะต้องสนใจที่จะต้องจดจำให้แม่นยำตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งอาจารย์ผู้ตรวจธรรมวาจาจะได้เป็นผู้บอก
กรวดน้ำ หมายความว่า อุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ จึงจะมีผลดี ฉะนั้น ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ ในที่นี้ให้อาศัยจากน้ำ ให้มีการหลั่งน้ำหรือหยาดน้ำให้เป็นเส้นเล็กๆ ที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ลงไป ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ก็ย่อมจะรินน้ำให้ไหลเป็นเส้นเล็กๆเรียบร้อยไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีการกระทำ ชนิดที่มันบังคับกันอยู่ในตัว พยายามรินน้ำให้เป็นเส้นเล็กๆลงไป อย่าให้จ๋อมๆแจ๋มๆ หรือว่าเป็นอย่างอื่น ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วให้สมกับดังตามข้อความในบทอนุโมทนาที่พระกำลังสวด กำลังว่า...ว่ายะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เป็นต้น มีใจความว่า น้ำฝนตกลงมาจากฟ้า ลงในที่สูงที่ดอน แล้วก็ไหลไปตามลำดับ ทำร่องเล็กๆให้เต็ม ทำลำห้วยให้เต็ม ทำให้เต็ม..ลำคลองก็เต็ม ลำคลองเต็มแม่น้ำก็เต็ม ปากอ่าวก็เต็ม ทะเลก็เต็ม มหาสมุทรก็เต็ม ว่าอย่างนั้น ขอให้กุศลนี้เต็มแก่บิดามารดาผู้ใกล้ชิดที่สุด แล้วหลั่งไหลไปยังญาติที่ห่างออกไป แล้วหลั่งไหลไปยังผู้ที่มิใช่ญาติ หลั่งไหลไปยังผู้ที่แม้จะเป็นศัตรู สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิด บรรดาที่มีชีวิต ขอให้ได้รับส่วนกุศลอันนี้ ทำในใจอย่างนี้ เมื่อรินน้ำอยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น เขาเรียกว่า กรวดน้ำ ดังนั้น ระวังทำให้ดีให้ถูกต้อง ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจำไว้เป็นแบบฉบับสำหรับทำต่อไปข้างหน้าด้วย ทีนี้เมื่อพระว่าไปถึงขึ้น สัพพี ติโย แล้วก็หมดเรื่องกรวดน้ำ ถ้าน้ำเหลืออยู่ก็เทพรวดเดียว คว่ำถ้วยน้ำ แล้วก็พนมมือรับพรต่อไป เตรียมตัวทำอย่างว่า