แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กราบแล้วนั่งลง นั่งให้สบาย เพราะมันนานหน่อย นั่งตามสบาย เข้ามาใกล้ก็ได้ นั่งให้มันเรียบร้อยให้มันสบาย เดี๋ยวจะเป็นเหน็บ ลำบาก ตอนนี้ก็ต้องตั้งใจฟังให้ดี แล้วก็ทุกคนก็ต้องตั้งใจฟัง ญาติโยมทั้งหลายก็ตั้งใจฟัง เพื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากความรู้ แล้วก็พอใจมีปีติปราโมทย์ด้วย ทำอะไรถูกต้องต่อไปด้วย แล้วก็พลอยได้รับประโยชน์ ได้รับอานิสงส์ ถึงแม้ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็ฟังด้วย ซึ่งมันคงจะเป็นประโยชน์บ้าง แล้วก็จะได้อนุโมทนา โดยเฉพาะผู้ที่จะบวชนี่จะต้องฟังให้ดีเป็นพิเศษ เพราะว่าบวชนี้มันเป็นการบวชด้วยจิตใจ ความสำเร็จประโยชน์อยู่ที่การบวชด้วยจิตใจ บวชแต่ท่าทางหรือวาจานี้ไม่สำเร็จประโยชน์เต็มที่ หรือบางทีก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร เมื่อการบวชสำเร็จด้วยจิตใจ มันก็ต้องตั้งใจถูกต้อง มีจิตใจที่ถูกต้อง จะตั้งใจถูกต้องได้ มันก็ต้องเข้าใจ ดังนั้น จะต้องฟังให้เข้าใจถึงที่สุดของเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการบรรพชา ดังนั้น จงตั้งใจให้ถูกต้องไปตั้งแต่ต้น เรื่องแรกที่ถูกต้องที่สุดก็คือ คำพูด ที่เธอเป็นผู้พูดออกมา นี้เราก็ต้องรู้ ถ้าไม่รู้มันก็เป็นเรื่องนกแก้ว นกขุนทองพูด ถ้าไม่รู้ ก็รู้เสียเดี๋ยวนี้ หรือว่ารู้อย่างเลือนลาง แต่รู้ให้มันชัดเดี๋ยวนี้ ว่าที่เรากล่าวว่า เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ มันเป็นการแสดงความปรารถนา เป็นการประกาศตัวว่านับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปรารถนาจะบรรพชา นี่ว่าอย่างนี้ ๓ หน นี้ต่อมาก็ว่า ๓ หน อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ นี้เป็นคำขอโดยตรง ไม่ได้เพียงแต่แสดงความปรารถนา ออกปากขอตรงๆ ก็ไม่มีข้อแม้ ไม่มีปริกัปป์ ก็ขอตรงๆ ว่าผมขอบรรพชา จงช่วยทำการบรรพชาให้ ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา ข้อความเหล่านี้รู้หรือยัง รู้แล้ว บางทีก็อ่าน บางทีก็ไม่อ่านในหนังสือ รู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ เดี๋ยวนี้ต้องทำในใจอย่างนี้ มันจึงจะตรงกับปากที่มันพูดออกไป ขอบรรพชาโดยตรง ถึง ๓ ครั้ง ๓ หน ตามธรรมเนียมที่เป็นการยืนยันในความแน่นอน แล้วต้องทำ ๓ ครั้ง ๓ หน นี้เราก็ได้ทำอย่างนั้น ดังนั้น เดี๋ยวนี้ในจิตใจก็ต้องรู้ว่าเราได้พูดอะไรออกไป มีความหมายอย่างไร ให้มีจิตใจตรงกับคำที่พูดออกไป นี่มันจึงจะเป็นเรื่องการกระทำที่ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงกันทั้งกิริยาท่าทาง ทั้งคำที่พูด และทั้งจิตใจที่มันรู้สึก ที่ว่ามันภาษาบาลีนั้นนะ มีเพี้ยนก็มี แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเรารู้ว่าเธอจะพูดว่าอะไร มุ่งหมายคำไหน เมื่อถือเอาแต่ความหมายมันก็ใช้ได้ เจ็กพูดไทย ฝรั่งพูดไทย ไม่ค่อยจะชัด เราก็รู้ว่าเขาหมายความว่าอะไร เดี๋ยวนี้การออกเสียงภาษาบาลีของเธอก็มีเพี้ยนบ้าง ข้อนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะรู้ความมุ่งหมาย และรู้ความหมายที่เป็นความต้องการ มันจึงเป็นอันว่า ถือว่าใช้ได้
ทีนี้ต่อไปก็ต้องรู้ถึงเรื่องที่เรากำลังกระทำ ที่เรียกว่าขอบรรพชา ขอบรรพชาแปลว่า ขอบวช นี้กำลังทำในลักษณะที่เป็นการทำจริงๆ ต้องรู้คำว่าจริงกันสักหน่อย คือไม่ใช่ทำเล่น มันต้องไม่มีเรื่องที่เล่น หรือเป็นเรื่องที่โลเล ไม่รับผิดชอบอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราได้กล่าวด้วยถ้อยคำภาษาบาลี ก็เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็กล่าวแก่ชุมนุมนี้ ซึ่งเป็นชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประชุมกันในนามของภิกษุสงฆ์ทั้งหมดในพระศาสนานี้ ก็มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ก็ว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในที่ชุมนุมนี้ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องทำเล่น เป็นเรื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดโดยการพูด โดยการทำ โดยบุคคลที่ทำบุคคลที่รับฟังคำพูดเหล่านี้ แล้วมันก็มีความหมายสูงสุด มีความมุ่งหมายสูงสุด ก็เพื่อจะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา เขาเรียกกันว่าเกิดใหม่โดยอริยชาติ ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องทำเล่น คนที่บวชเป็นเณรเป็นพระนี้เขาเรียกว่า เกิดใหม่โดยอริยชาติ โดยชาติของอริยะ คือชาติที่เขาสมมติไว้ว่าเป็นชาติของพระอริยเจ้า เป็นการเกิดของพระอริยเจ้า เราขอบวชนี้ มันเป็นขอเพื่อเข้ามาสู่การเกิดโดยอริยชาติ ซึ่งจะต้องทำให้มันเป็นอริยะ สมกับคำพูดหรือความมุ่งหมาย นี่จึงว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่มีเรื่องที่ว่าละเมอเพ้อฝัน หรืองมงาย หรือหลอกตัวเอง ที่ว่าจิตใจไม่ตรงกับปาก ไม่ตรงกับการกระทำ นี่ขอให้รู้ไว้อย่างนี้ ว่าเดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่กระทำสิ่งที่จริง ประเสริฐศักดิ์สิทธิ์และสูงสุด ถ้าเป็นอย่างสมัยพุทธกาลหรือระเบียบแท้จริงของการบวช ไม่มีโอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าญาติอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นธรรมเนียม เป็นประเพณีที่เปลี่ยนมาเป็นการบวชชั่วคราวอย่างนี้ แล้วก็บวชอย่างธรรมเนียมสมัยนี้ เพราะนั่นมันจึงพร้อมหน้าญาติ พร้อมหน้า บางทีบุตร ภรรยา สามี นี่ก็น่าหัว ถ้าเป็นการบวชอย่างสมัยพุทธกาล ไม่มีโอกาสที่จะพร้อมหน้าญาติแม้แต่คนเดียว เพราะว่าเขาไปอยู่กับพระ และถึงเวลาเขาก็บวชให้ตามความเหมาะสม ไม่มีญาติสักคนเดียวหนึ่งที่จะไปรู้ ไปเห็นด้วยได้ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่อง เรื่องของเขามันจริงหรือมันสูงสุดอย่างนั้น ไม่มีการกราบพ่อแม่ขอผ้าไตรอย่างธรรมเนียมเดี๋ยวนี้แล้ว มันเป็นเรื่องที่จะต้องหาเอา หรือว่าอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้หาให้ก็แล้วกัน ให้มันมีก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้เราก็มีพิธีบวชอย่างสมัยนี้ มีพร้อมหน้าญาติบิดามารดา อะไรต่างๆ อย่างที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ก็ต้องไม่สูญเสียความหมายที่ว่า มันมีความหมายที่จะบวชให้ถูกต้องตามความหมายของคำว่า “บวช” จะบวชวิธีไหนอย่างไร ก็ขอให้ถูกต้องตามความหมายของคำว่าบวช บวชชนิดที่ไม่ถูกต้องตามความหมายของคำว่า “บวช” นั้นมีมาก จะพูดให้ฟังเผื่อมันจะมีประโยชน์ เขาพูดกันไว้แต่เดิม ไม่ใช่เราเพิ่งพูด คำว่า “บวชลี้ บวชลอง บวชครองเวณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน บวชเกลื่อนความผิด บวชคิดแต่งงาน บวชเขาวานให้บวช หรือบวชสักว่าบวช” อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่บวชด้วยศรัทธา ไม่ใช่บวชโดยแท้จริง เราต้องกระทำไม่ให้การบวชของเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบวชชนิดที่ออกชื่อมาอย่างนี้ บวชลี้ หมายความว่า บวชหนีมา หลบหลีกหนีมา เป็นหนี้เขาบ้างหรือว่ามันหนีอะไร หนีความผิด หนีสิ่งที่ต้องหนี อย่างนี้เขาเรียกว่า บวชลี้ บวชหลบลี้มา บวชลองนี้มันไม่รู้อะไร แต่มันอยากจะลอง มันก็ยังโง่หรืองมงายชนิดหนึ่ง จะลองดูก็ดีเหมือนกัน บวชครองเวณีนี้ พูดอย่างบ้านนี้ นี้ก็บวชตามธรรมเนียม ตามประเพณี พอครบอายุก็ต้องบวช นี้บวชเพียงตามประเพณีแค่เพียงเท่านั้น ก็ใช้ไม่ได้ เราบวชตามประเพณี ก็ทำให้มันดี ให้มันถูกต่อไปเป็นใช้ได้ ส่วนมากก็บวชตามประเพณีกันทั้งนั้น จะบวชตามประเพณีนั้นมันไม่พอ มันต้องมีอะไรที่ให้ถูกต้องต่อไป จนพ้นการบวชตามประเพณี เป็นการบวชที่ถูกต้องแท้จริง บวชด้วยศรัทธา ทีนี้ก็บวชหนีทหาร นี้ก็ไม่ต้องอธิบาย เราก็ไม่ใช่หนีทหารใช่ไหม นี้บวชผลาญข้าวสุก เมืองนี้เขาใช้คำอย่างนี้ เพราะว่าบวชไม่มีข้าวจะกิน แล้วก็มาบวชเพื่อจะได้กินข้าวในวัด กินอาหารที่เขาถวายสงฆ์นี้ มันไม่มีอะไรดีพอกับค่าของอาหารเหล่านั้น ก็เลยเรียกว่าบวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน นี้เพราะว่าเพื่อนเขาบวชเราก็บวช แม้ที่สุดแต่ว่ารักเพื่อน มันก็พลอยบวชไปอย่างนี้ บวชสนุกตามเพื่อน นี้มันบวชเกลื่อนความผิด ไม่รู้อะไรเหมือนกัน มันบวชล้างซวย บวชแก้ซวย มันทำความผิดอะไรมากไว้จนสังคมรังเกียจ แล้วมันก็แก้ด้วยการบวชเสียสักทีหนึ่ง เราไม่มีอาการอย่างนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่น่าดูหรือไม่ก็มาบวชแก้กันทื่อๆ อย่างนี้มันไม่ถูก เขาเรียกบวชเกลื่อนความผิดมีอยู่โดยมาก ก็แก้หน้าของตัวเอง มันเก มันเลว มันอะไร จนไม่ค่อยจะมีใครนับถือไปทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็มาบวช เพื่อจะเกลื่อนความผิดอะไรของมันไว้ ทีนี้บวชคิดแต่งงาน นี่ธรรมเนียมโบราณมันก็มีว่า คนที่ไม่ได้บวช เขาก็จะไม่ให้แต่ง จะไม่ให้ลูกสาว มันก็ต้องบวช นี่บ้านนอกก็ยังมีอย่างนี้อยู่มาก นั้นที่กรุงเทพมันก็มี อย่าอวดดีไปเลย เพราะกรุงเทพมันก็เป็นบ้านนอกมาเมื่อไม่นานนี้เอง พึ่งจะเป็นกรุงเทพ ดังนั้น ที่ไหนๆ ก็คงจะมีบวชเพื่อประโยชน์แก่การแต่งงาน นี้บวชเขาวานให้บวช เขาใช้ให้บวชนี้มันมีประโยชน์อย่างอื่น จะไปรับวาน รับใช้ รับจ้างเขาบวช ทั้งหมดนี้มันบวชสักว่าบวช ไม่ใช่บวชด้วยศรัทธา ดังนั้น จะต้องระวังว่าการบวชของเรา ต้องไม่พลัดเข้าไปสู่การบวชที่ไม่จริงอย่างนี้ แล้วคนที่บวชตามประเพณีก็ขอให้ทำต่อไปให้มันสูงพ้นไปสักว่าตามประเพณี มันเป็นบวชจริงขึ้นมา
ฉะนั้น คำว่า “บวช” บวชนี้ ต้องระมัดระวังกันในลักษณะอย่างที่ว่ามานี้ ให้เป็นเรื่องจริง ให้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่สุดของมนุษย์เรา เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดหรือดีที่สุด อย่าคิดว่าบวชพอแล้วแล้วไป ต้องทำให้มันถึงความมุ่งหมายของการบวช ทีนี้ก็จะได้พูดให้มันชัดถึงข้อที่ว่า บวชนี้มันคืออะไร ภาษาไทยเรียกว่า บวช สังเกตดูให้ดีคำว่า “บวช” นี้มันมีตัว “บ” ตัว “ว” ตัว “ช” ปอ-วอ-ชอ นี้ ถ่ายมาจากภาษาบาลี ปอ-วอ-ชอ ปะ-วะ-ชะ รากศัพท์ว่า ปะ-วะ-ชะ แต่พอสำเร็จรูปเต็มที่ มันเป็น ปรรพชา ปะ-วะ-ชา บอกับพอ นี่มันเหมือนกัน นี้คำว่า “บรรพชา” มาจาก ปรรพชา ปรรพชามัน ปอ-วอ-ชอ ๓ ตัว ปอว่าหมดหรือทั่ว วอ-ชอ วะ-ชะ นี้แปลว่าไปหรือเว้น คำว่า “ปรรพชา” แปลว่า ไปหมด หรือเว้นหมด คำว่า “บวช” ตัวหนังสือมีความหมายอย่างนั้น นี่เอาตามตัวหนังสือกันก่อน ไปหมด เว้นหมด จากความเป็นฆราวาส ต้องเว้นกันหมดจริงๆ จึงจะเรียกว่าหมดจากความเป็นฆราวาส นี้เราก็เป็นฆราวาสอยู่หยกๆ เพิ่งจะมาโกนหัวบวช ก็รู้ดีว่าฆราวาสเขาเป็นอย่างไร นับตั้งแต่ว่าฆราวาสแต่งเนื้อแต่งตัวอย่างไร กินอยู่นุ่งห่มอย่างไร มีการกระทำอย่างไร พูดจาท่าทางอย่างไร มีมรรยาทอย่างไร คิดอย่างไร หวังอย่างไร เป็นอันว่าเลิกกันหมด เดี๋ยวนี้ก็ไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส ไม่พูดจาด้วยสำนวนโวหารอย่างฆราวาส ไม่มีกิริยาท่าทางอย่างฆราวาส เรื่องที่มันเอาตามใจตัวเองนั้น เขาเรียกว่าเรื่องของฆราวาส เราก็จะไม่มีความคิดอย่างฆราวาส แม้แต่ความหวังก็ไม่หวังอย่างฆราวาส เป็นฆราวาสหวังเงิน หวังทอง หวังสนุกสนาน หวังอะไรทั้งนั้น ผู้บวชก็ไม่ได้หวังอย่างนั้น อยากจะพูดถึงขนาดที่เรียกว่าถึงที่สุด ก็พูดว่าแม้นอนฝัน ก็อย่าได้ฝันอย่างฆราวาสเลย ข้อนี้ทำได้ตรงที่ว่าตั้งใจบวชนี้ ตั้งใจให้มันจริงๆ แล้วกลัว ละอายให้มากเข้า มันเกิดฝันอย่างฆราวาสขึ้นมา พระเณรองค์ไหนเกิดฝันอย่างฆราวาสขึ้นมา ละอายให้มันมาก กลัวให้มันมาก เสียใจให้มาก ไม่เท่าไรมันก็จะหยุดฝันอย่างฆราวาส แต่ถ้าไม่ละอาย ไม่กลัว ไม่เสียใจ มันก็จะฝันอย่างฆราวาส แล้วก็มีความฉิบหายทางวิญญาณ แล้วมันก็จะเลวลง เลวลง จนกระทั่งล้มละลายหมด ฉะนั้น พระเณรองค์ไหนยังฝันอย่างฆราวาสอยู่ล่ะก็ ระวังให้ดี ทีนี้ถ้านาคนี้ กลัวว่าบวชแล้วจะยังฝันอย่างฆราวาส ก็ต้องตั้งอธิษฐานจิตกันเดี๋ยวนี้ จะละอายให้มาก จะกลัวให้มาก จะอะไรให้มาก ฝันอย่างฆราวาส แล้วเสียดายเสียใจ ถ้ากลัวเอาไว้มากตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ตั้งใจมั่น แม่นยำอย่างเดี๋ยวนี้แล้วก็นึกไว้ทุกเวลานี้ มันก็ป้องกันได้ที่จะไม่ฝันอย่างฆราวาส นี้ก็มีหิริโอตตัปปะมากพอมันก็ป้องกันได้ ทั้งจิตภายใต้สำนึกนี้ มันก็ยังป้องกันได้ ขอให้ตั้งใจให้มันมากขนาดนี้ ที่เรียกว่า บวชไปหมด เว้นหมดจากฆราวาส เรามาเป็นเรื่องจริงกัน โดยว่าบวชจริง แล้วก็เรียนจริง แล้วก็ปฏิบัติจริง แล้วก็ได้ผลจริง แล้วช่วยกันสอนสืบๆ ไปจริง นี่มัน ๕ จริง เวลานี้เราบวช ก็บวชจริง บวชให้มันจริงอย่างว่าจริง บวชเสร็จแล้วก็เล่าเรียนจริงๆ แล้วก็ปฏิบัติจริงๆ มันต้องได้ผลจริงๆ ตามสมควรแก่การปฏิบัติ ทีนี้เราปฏิบัติได้เท่าไร เราก็รู้เท่านั้น เราก็สอนผู้อื่นเท่าที่เราทำได้ ไม่ต้องสอนมากกว่าที่เราปฏิบัติได้ นั่นผู้อื่นสอนผู้อื่นบ้างเท่าที่เราปฏิบัติได้ หรือมิฉะนั้นก็สอนไปตามที่ได้เล่าเรียนมา สารภาพเสียว่าผมก็ปฏิบัติไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ อย่างนี้ก็พอไปได้ แต่ทางที่ดีแล้วมันก็ต้องปฏิบัติได้อย่างไร แล้วก็สอนอย่างนั้น นี่จำไว้ว่าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง เขาสอนกันสืบต่อๆ กันไปจริง ตามมีตามได้ ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาสนี้นั่นนะ คือ บวชจริง ถ้ามีอะไรอย่างฆราวาสเหลืออยู่แล้วก็ไม่จริง
ฉะนั้น จงปักใจระหว่างบวชในระยะสั้นนี้ เราทำได้แน่ ไม่ใช่บวชตลอดชีวิตนี่ ก็คิดอยู่ว่าจะบวชในระยะสั้น ดังนั้น ถือเอาระยะสั้นนี้เป็นโชคดี ทำให้เต็มที่อย่างที่เขาเรียกว่า สุดความสามารถด้วยชีวิตจิตใจทั้งหมด ทำให้มันจริงไปหมดเลย อย่าคิดที่จะอ่อนแอ จะต้องมีสตางค์ใช้ จะต้องมีของอย่างนั้นของอย่างนี้ใช้ จะต้องได้รับการประคบประหงมอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรที่มันสลัดออกไปได้แล้ว สลัดออกไปหมด ก็นึกถึงครั้งพุทธกาลให้มาก เขาไม่มีอะไร ไม่ต้องมีสตางค์ใช้มันก็อยู่ได้ อยู่เป็นพระเป็นเณรได้ ไม่มีสิ่งสวยงามหรือว่าสิ่งสะดวกต่างๆ ใช้ เขาก็อยู่กันได้ เขาไม่ต้องมียาถูฟัน ไม่ต้องมีแปรงถูฟัน เขาก็อยู่ได้ นี่เขาใช้ไม้ชำระฟันแบบธรรมชาติ เขาไม่ต้องมีนาฬิกาใช้เขาก็รู้ว่ากี่โมง เขาก็ดูดาวบ้าง เขาสอนให้ดูดาวเป็น ดูจากธรรมชาติ สัตว์ หรือว่าอะไรต่างๆ ก็พอจะรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรแล้ว ตื่นนอนขึ้นมาดึกๆ นี้ก็รู้ได้ว่าสักกี่ทุ่มกี่โมงแล้ว นี้เขาสรุปเรียกว่า ไม่มักมาก หรือไม่สะสม มีความสันโดษ อะไรเว้นได้เป็นเว้นเลย อย่าคิดว่าจำเป็น เช่นไฟฉายอย่างนี้ คนโง่จะคิดว่าจำเป็น ก็อยู่อย่างครั้งพุทธกาลเขาไม่มี ไม่มีไฟฉาย ไม่มีตะเกียง ที่จะจุดส่วนตัวนี้ก็ไม่มี เดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าใช้ มีตะเกียงปรอทใช้ มีอะไรใช้ ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล ครั้งพุทธกาลแม้แต่ตะเกียงจะใช้ก็ไม่มี อย่าว่าถึงไฟฉายเลย ประทีปหรือดวงไฟจะมีอยู่เล็กๆ สักดวงหนึ่งที่ส่วนรวม ที่วิหารส่วนรวม เป็นตะเกียงอย่างเล็กอย่างเร็วนี้ ไม่มีใครมีตะเกียงส่วนตัว นั้นพูดอะไรกันถึงไฟฉาย เดี๋ยวนี้มันมีตะเกียงบ้าง มีไฟฟ้าบ้าง มีไฟฉายบ้าง มันเกินสภาพ เกินภาวะของความเป็นภิกษุ เป็นนักบวชที่แท้จริง ฉะนั้น เราตัดเสียได้เท่าไร เราจะพยายามตัดเท่านั้นนะ เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ เราจะตัดออกไปเสียได้เท่าไร เราจะตัดออกไปเท่านั้น นี่สุดความสามารถของเรานี่ เพราะเรามาบวชในระยะสั้นแล้วเราไม่มีอะไรผูกมัด นี่เรียกว่า ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ด้วยการพูดจาก็ดี กิริยาท่าทางก็ดี กินอยู่นุ่งห่มก็ดี เล่นหัวก็ดี คิดนึกใฝ่ฝันก็ดี ในที่สุดแต่จะมีอะไรใช้สอย ก็จะไม่มีอย่างฆราวาส จะมีอย่างพระ นี้เป็นความหมายตามตัวหนังสืออย่างหนึ่งก่อนว่า บวชคือ เว้นหมด ไปหมดจากความเป็นฆราวาส นี้ก็ยังจะต้องเว้นตามสิกขาบท บัญญัติทั้งหลายที่มีไว้สำหรับบรรพชิต นี่ก็ต้องเว้น นี่ไปเรียนเขาก็รู้ ว่าจะต้องเว้นอะไรบ้าง วินัย หนังสือวินัยนั้น หนังสือเหล่านี้มันมี ไปเรียนเข้าเถอะ เขาก็เว้นให้ครบถ้วนตามนั้น ที่เขาเรียกว่า ศีล นี้การบวชในความมุ่งหมาย ฝ่ายวินัย ฝ่ายศีล ทั้งยังมีความมุ่งหมายในฝ่ายธรรมะ อย่างนี้เขาเรียกว่าการบวชนี้ คือการประพฤติพรหมจรรย์ ละจากความเป็นฆราวาสสิ้นเชิงแล้วมาสู่การประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจริยานี่แปลว่า พรหมจรรย์ พรหมจริยานี่แปลว่า พรหมจรรย์ ตัวหนังสือมันแปลว่า การประพฤติอย่างประเสริฐที่สุด หรือสูงสุดนี่เขาเรียกว่า พรหมจรรย์ การปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา เพื่อดับทุกข์นั่นแหละ เรียกว่า พรหมจรรย์ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ การบวชก็มีแบบที่พระพุทธเจ้าท่านบวชให้เอง เขาเรียกว่า เอหิภิกขุ อุปสมปทานี้ คือท่านจะตรัสแต่เพียงว่า เอหิภิกขุ พรหมจริยัง จะระหิ ทุกขัตสะ อันตะกิริยายะ เท่านี้เองเพื่อเป็นการบวชครบถ้วนถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เอหิภิกขุ จงมาเป็นภิกษุ พรหมจริยัง จะระหิ จงประพฤติพรหมจรรย์ ทุกขัตสะ อันตะกิริยายะ เพื่อกระทำถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ นั้นนะฟังดูให้ดี บวชเข้าไปหรือพระพุทธเจ้าท่านเรียกเข้ามานี้ว่า จงมาประพฤติพรหมจรรย์ กระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ โดยส่วนธรรมะหรือฝ่ายธรรมะมันคือการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์ และเราต้องรู้ข้อนี้ เพราะเราขอบวช ขอบรรพชาก็คือขอสิ่งนี้ ก็คือขอการประพฤติพรหมจรรย์นั่นเอง
ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าพรหมจรรย์ในศาสนานี้เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ใช้คำว่า สัลเลขะ แปลว่า ขูด คำว่า ขูด นี่คิดดูเถิดมันเข้าใจได้ มันต้องมีอะไรออกล่ะ เช่นเขาขูดแผลที่เน่าที่สกปรก ที่มีเนื้อร้ายนี้เขาขูดหนอง ขูดเนื้อเน่านั้นให้ออกเสียเพื่อให้เหลือแต่เนื้อดี จะได้ใส่ยาให้หาย ดังนั้น เมื่อมีการขูด มันต้องเจ็บนะ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ตรงๆ แล้ว ว่าพรหมจรรย์นี้เป็นสัลเลขะธรรม เป็นการขูดมันต้องเจ็บล่ะ มันจะต้องแน่ใจว่าเราจะทนรับความเจ็บนี้ แม้ว่าจะเจ็บจนน้ำตาไหล ก็ไม่ยอมให้เสียไปในส่วนพรหมจรรย์นั้น ดังนั้น จึงเกิดคำพูดขึ้นมาว่าประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ในบางกรณีเราจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา คือทนไม่ให้เสียไปในส่วนพรหมจรรย์อย่างแรง จนน้ำตามันออกมาเอง นี่ไม่ยอมให้เสียไปในส่วนวินัย ในส่วนธรรมะ ในส่วนทุกอย่างที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ นั้นนะขอประพฤติพรหมจรรย์หรือขอบรรพชานี้แหละ คือการขอระเบียบปฏิบัติชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำความเจ็บปวดให้แก่ผู้ขอนั้นเอง นี่เข้าใจไหม ยังจะเอาไหม ตั้งใจว่าจะทนนะ นั้นมันจึงจะใช้ได้ ถ้าอย่างนั้นเลิกกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่ต้องบวช เลิกความคิด ถ้าว่ายังเอาคือจะทน เจ็บปวดอย่างไร จะต้องทนแล้วก็เรียกว่าถูกแล้ว คือถูกตามที่เธอขอ ขอบรรพชา จงบรรพชาให้ผมโดยผ้ากาสายะเหล่านี้ด้วยความเมตตากรุณา ทีนี้เราก็บอกว่า บรรพชานี้คือพรหมจรรย์ คือระเบียบปฏิบัติที่จะขูดเกลาเธอ และมีความเจ็บปวด แล้วเกิดคำว่า เอา ก็ใช้ได้ มันก็ตรงตามเรื่อง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เด็ดขาด แก้ไขไม่ได้ เพราะพรหมจรรย์ในศาสนานี้มันเป็นการขูดเกลา จะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินนั้นไม่ได้ มันก็จะสนุกได้ต่อเมื่อประพฤติถูกต้อง บริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วมีความสนุกไปตามประสาธรรมะ ไม่ใช่มีความสนุกแบบอย่างฆราวาส นี้จำให้ดีว่า คำว่า บวชนี่ถ้าในแง่ของพระวินัย ก็คือไปให้หมดจากความเป็นฆราวาส ไปมีศีล มีสิกขาบท วินัยอย่างบรรพชิต คิดในแง่ของธรรมะ แล้วก็คือการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะขูดเกลาส่วนที่เป็นเนื้อร้าย คือกิเลสและความเคยชินแห่งกิเลส กิเลสนั้นคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงโดยตรง เพราะอะไรๆ มันก็ไปรวมกันอยู่ที่นั่นแหละ ความโง่ ความอวดดี ความหยิ่งจองหอง ความไม่รู้บุญคุณใครอะไรก็ต่างๆ มันก็ไปรวมกันอยู่ที่กิเลสนั้น นี้มันยังมีคำว่า ความเคยชิน ของกิเลส อันนี้สำคัญมาก ร้ายกาจมาก เรามีกิเลสซ้ำๆ ซากๆ จนมันเกิดความเคยชินขึ้นมา นี่เขารู้จักแยกนะ กิเลสธรรมดาเขาเรียกว่ากิเลส ความเคยชินของกิเลสเขาเรียกว่า อนุสัย สังโยชน์ คือ สันดานที่เคยชินกับกิเลส พรหมจรรย์นี้มันจะขูดทั้งกิเลส และขูดทั้งความเคยชินของกิเลส ที่จริงถ้าพูดให้ถูก ก็ขูดความเคยชินของกิเลส เพราะถ้าขูดอันนี้ได้ กิเลสไม่รู้จะเกิดอย่างไร มันเป็นไปตามความเคยชินไม่ได้ แปลว่า มันยังมีระเบียบ ข้อปฏิบัติบางอย่างที่มันจะป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดได้โดยง่าย เป็นการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่เสมอ กิเลสเกิดไม่ได้ เมื่อทำอยู่อย่างนั้น กิเลสเกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้ ความเคยชินที่มันเกิดง่ายนั้นมันก็ค่อยๆ น้อยลงๆ จนมันเกิดยากจนมันไม่ค่อยจะเกิด กระทั่งมันไม่เกิด ความเคยชินอันนี้หมดไปแล้วก็เรียกว่าหมดสังโยชน์ หมดอนุสัยเป็นพระอรหันต์ไปเลย ไม่ต้องมีการควบคุมอะไรอีก มันก็ไม่มีกิเลสอะไรอีก นี่เรียกว่า พรหมจรรย์ คือการขูดเกลา นี่คือสิ่งที่เธอขอ เมื่อสักครู่นี้ว่าขอบรรพชา ถ้าเราก็บอกให้รู้เสียก่อนว่า บรรพชาคืออะไรนี้ อย่าให้เป็นการขอแบบลมๆ แล้งๆ ทำกันไปทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ทั้งผู้ขอทั้งผู้ให้มันก็งมงายเต็มที ทีนี้มาพูดกันให้รู้เสียก่อนว่า อันนี้มันคืออย่างนี้ สิ่งที่ขอคืออย่างนี้ สิ่งที่ให้คืออย่างนี้ นี่บรรพชาคืออะไร เป็นเรื่องสำคัญเรื่องที่แรก
ทีนี้ถัดไปก็คือ เรื่องอานิสงส์ของบรรพชา เดี๋ยวจะพูดถึงประโยชน์อานิสงส์ของบรรพชาก่อน เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้น ความอดทน ความพากเพียรพยายามนี้ แล้วก็จะทนได้จนน้ำตาไหลอย่างที่ว่า อานิสงส์ของการบรรพชานี้มีมากจนพรรณนาไม่ไหว อุปัชฌาย์ของเราบอกเราว่า ให้เอาท้องฟ้าทั้งหมดเป็นแผ่นกระดาษหรือเป็นแผ่นกระดาน เอาภูเขาเขียนบรรยายให้เต็มทั้งท้องฟ้า จนท้องฟ้าก็เต็ม จนภูเขาก็เหี้ยนหมดก็ไม่อาจจะพรรณนาอานิสงส์ของการบรรพชาให้หมดสิ้นได้ นี่เขาพูดไว้ในลักษณะที่ต้องคำนวณ เราก็ลองคำนวณดูว่ามันเหลือที่จะพูดได้ด้วยปาก ให้หมดสิ้นได้ ถ้าพูดโดยรายละเอียดมันก็เป็นอย่างนี้จริง นี่เราพูดไม่ไหวก็เราพูดแต่โดยเท้าความ โดยประเภท เป็นประเภทๆ สำคัญๆ เอาแต่ใจความ ก็เลยจะพูดว่าอานิสงส์ของการบรรพชามีอยู่ ๓ อย่าง หรือ ๓ ประเภท อานิสงส์ที่ ๑ คือผู้บวชนี้จะได้รับเอง อานิสงส์ที่ ๒ ก็คือว่าญาติทั้งหลายมีบิดา มารดาเป็นต้นจะพึงได้รับ อานิสงส์ที่ ๓ ก็คือศาสนาหรือว่าโลกทั้งหมดจะพลอยได้รับ แม้จะแยกออกมาเป็นอานิสงส์ที่ว่า เธอผู้บวชจะพึงได้รับ อย่างนี้มันก็มากจนพรรณนาไม่ไหว เธอไปพรรณนาว่ามันจะมีการประพฤติที่ดี มีผลอย่างไรบ้าง จนบรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างนี้มันก็เขียนไม่ไหว มันมาก ก็จะพูดว่าเราจะได้รับ สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะรับได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะรับ จะได้รับ ที่เราไม่เคยรู้จักมาแต่ก่อน ตอนนี้มันก็ดูก็คล้ายกับงมงาย ที่ว่าเรายังไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั้นนะ มันมีอะไร เท่าไร อยู่ที่ไหน ต่อเมื่อเรามาบวช และบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงนี่ ดังนั้น เราจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ มันต้องมีการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงกันก่อน จึงจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ถ้าเราพูดอย่างกว้างๆ เอาแต่ใจความก็หมายความว่า ความดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนี้ก็คือ ภาวะของจิตใจที่ไม่มีความทุกข์เลย นี้ก็เรียกว่าดีอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีความสุขก็โศกเศร้าหมอง เสียหายอะไรเลย ก็มีความสว่างไสวรู้จักสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่รู้จักนี้ มันกลายเป็นจิตชนิดที่เขาเรียกว่า หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เป็นลักษณะของความทุกข์แม้แต่นิดเดียว ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันก็เป็นของไม่มีทุกข์ไปหมด มันให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มนุษย์เกิดมาควรจะได้อะไร ต้องได้สิ่งนั้นแหละ เขาเรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็พบพระพุทธศาสนา นี้แถมเข้ามา เกิดมาเป็นมนุษย์ทั่วไป มันก็ควรจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ และนี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แถมยังได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้รู้จักสิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็ได้สิ่งที่ดีที่สุด อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มนุษย์เกิดมาควรจะได้อะไรนี้ เป็นปัญหาที่มืดมน ซึ่งมนุษย์เดี๋ยวนี้ไม่รู้ เพราะมนุษย์เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดกันหรอก เขามุ่งหมายเอาแต่ว่าสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้ก็คือ สิ่งที่จะมาช่วยให้เขาได้ตามกิเลส ตามความต้องการของกิเลสของเขานี้ เรียกง่ายๆ ก็คือเงินนี้ คืออำนาจที่ทำให้บันดาลอะไรให้เขาได้อย่างเดียวกับเงิน ก็รวมเรียกว่าเงิน ที่นี้เขาถือศาสนาเงิน เงินเป็นพระเจ้า เงินดีที่สุด เงินคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้าใครยังโง่อย่างนี้อยู่ ก็คงไม่มาบวช ดังนั้น การที่มาบวชคงคิดว่ามีอะไรที่ดีกว่าเงินนั้นมาก นั้นก็คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ดังนั้น เราต้องรู้จักสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
สรุปเรียกว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อจะได้อะไรนี้ต้องรู้ คนสมัยนี้เขามีเครื่องมือที่จะตอบปัญหาสารพัดนึก เรียกคอมพิวเตอร์พิวตาอะไรก็ไม่ค่อยรู้นัก แต่รู้ว่าเขามีเครื่องมือชนิดนี้ ถ้าจะถามอะไรแล้วมันจะตอบถูก ดีกว่าความคิดนึกของมนุษย์เอง แล้วก็ใส่ข้อมูลอะไรต่างๆ เข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วก็ทำให้มันบอกออกมาว่ามันเป็นอย่างไรถูกต้อง นั้นมันจะได้แต่เรื่องของการหาเงิน หรือเป็นไปตามกิเลสของคน ปัญหาว่าเกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ตอบ มันจะโง่ที่สุด คือมันจะไม่ได้ผลที่ถูกตรงที่สุด เพราะว่าข้อมูลต่างๆ ที่คนใส่เข้าไปนั้นมันใส่เข้าไปโดยคนโง่ ที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อมูลมันก็เป็นไปในทางที่เขาเองต้องการ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องตอบออกมาผิดความจริง แต่ว่าถูกอย่างที่เขาคิดว่ามันถูก ก็คือพลอยโง่ไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในการบวชนี่เป็นคอมพิวเตอร์ เธอลองบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลกันจริงๆ การบวชนี้จะเป็นคอมพิวเตอร์ บอกให้รู้ว่าเกิดมาทำไม มนุษย์ควรจะได้อะไรและอย่างถูกต้องที่สุดด้วย นี่เราหมายความว่า ถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงนี้ เราจะรู้อะไรทุกอย่างตามที่เป็นจริง ตอบปัญหาเหล่านี้ถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติอันเด็ดขาด นี่ปัญหาที่ว่าเราควรจะได้อะไร ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ บวชแล้ว บวชเรียนจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง แล้วจะรู้ รู้แล้วแล้วก็จะได้ด้วย ขอให้เธอพยายามให้ได้มันได้ แล้วก็จะรู้ว่ามันคืออะไร แม้จะกลับสึกออกไป มันก็ยังมีประโยชน์เหลือเกิน ยิ่งกว่าที่ไม่เคยบวช บวชเข้ามาให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ควรจะได้อะไร กิเลสเป็นอย่างไร การขูดเกลากิเลสเป็นอย่างไร เจ็บปวดเท่าไร อะไรรู้หมด สึกกลับออกไปจะผิดกันเป็นคนละคน ต่างจากเมื่อแต่ก่อน นี่ขอให้พยายามให้เต็มที่ เพื่อจะได้อานิสงส์กลับออกไป อย่างบอกไม่ถูก และก็ยิ่งอยู่ได้โดยไม่ต้องสึก มันก็ยิ่งได้มากกว่านั้นหลายๆเท่า หลายสิบเท่า นี่คืออานิสงส์ของการบวชโดยส่วนบุคคลผู้นั้นจะพึงได้รับ มันก็มีมากจนพรรณนาไม่ไหว เขียนให้เต็มท้องฟ้าก็ไม่จบ อยู่อย่างนี้
ทีนี้อานิสงส์ที่ ๒ คืออานิสงส์ที่ญาติทั้งหลายมีบิดา มารดาจะพึงได้รับด้วย นี่มันมีอยู่ประเภทหนึ่ง นี้ไม่เกี่ยวกับตัวเรา ประเภทที่หนึ่งมันเกี่ยวกับตัวเรา ว่าเราควรจะได้อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แล้วส่วนประเภทที่ ๒ เราบวชเพื่อแทนคุณ ทดแทนคุณ สนองคุณต่อ ตอบแทนคุณบิดามารดา หรือผู้มีบุญคุณ บวชเพื่อสนองคุณบิดามารดา ที่เห็นได้ง่ายๆ ที่สุดก็คือว่า บิดามารดามีความพออกพอใจในการบวชของเรา มีศรัทธาในพระศาสนามากกว่าเดิม มีความพากเพียรในศาสนามากกว่าเดิม มีสัมมาทิฎฐิในพระพุทธศาสนามากกว่าเดิม นั้นนะคือขุมทรัพย์อันประเสริฐของบิดามารดา มีดวงวิญญาณที่สว่างไสว มีความตั้งมั่นในธรรมะในศาสนา จนเอาตัวรอดได้ไม่ตกไปในที่ต่ำ คืออบาย นี่เขาเรียกว่าโปรดบิดามารดาให้พ้นจากอบาย คำว่า บุตร ก็มีความหมายอย่างนั้น มาแต่โบราณกาลก่อนพุทธกาลนั้น คือเราไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนาหรือก็ไม่ต้องพูดถึงศาสนาไหน พูดตามความรู้สึก ตามความหมายของภาษา คำว่า บุตร นี้ เขาเขียนไว้ว่า คือผู้ที่จะยกบิดามารดาจากนรกที่มีชื่อว่า ปุตตะ นรกนั้นคือ ความร้อนใจ บิดามารดาร้อนใจ ไม่มีลูกก็ร้อนใจ อยากจะมีลูก มีลูกแล้วถ้าลูกทำไม่ดี บิดามารดาก็ตกนรก ร้อนใจยิ่งไปกว่าเดิม ก็ลูกนั้นจับบิดามารดาใส่ลงไปในนรกเสียเอง มันผิดความมุ่งหมายที่ว่า บุตรนั้นมีมาเพื่อที่จะยกบิดามารดาขึ้นจากนรก ดังนั้น บิดามารดาหรือผู้มีพระเดชพระคุณอย่างบิดามารดา ก็รวมเรียกกันไว้เป็นพวกเดียวกันหมด เขาต้องการอย่างไร เราช่วยเขาให้เขาได้อย่างนั้น เขาก็เลยมีใจเย็นเป็นสุข ไม่ใช่นรก เขาอยากจะมีบุตรก็มีบุตรขึ้นให้มา ก็ทำให้เขาเย็นใจมีความสุข เขาอยากจะให้บุตรทำอย่างไร บุตรก็ทำอย่างนั้น เขาก็เย็นใจมีความสุข เขาหวังจะให้บุตรสืบสกุลอย่างไร บุตรก็ทำอย่างนั้น บิดามารดาล่วงลับไปแล้ว ต้องการให้บุตรทำความดี ทำกุศล ให้อย่างไรบุตรก็ทำอย่างนั้น ดังนั้น มันจึงเป็นผู้ที่ยกบิดามารดาจากนรกหมดทุกแง่ทุกมุม นั้นนะคือคำว่า บุตร หมายความอย่างนั้น นี้เราก็เป็นบุตร เราก็สนองคุณของผู้มีคุณ เพราะว่าเรามันเกิดเองก็ไม่ได้ เกิดจากโพรงไม้ก็ไม่ได้ มันก็ต้องเกิดจากบิดามารดาทั้งนั้น ให้ชีวิตมา ชีวิตทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับบิดามารดา ดั้งนั้น เราอย่าไปเนรคุณโดยไม่รู้สึกตัว ว่าฉันก็คือฉัน แกก็คือแก นี่อย่างนี้มันไม่ถูกแล้ว เด็กๆ สมัยนี้ ฉันก็คือฉัน แม่ก็คือแม่ ความต้องการของฉันก็เป็นของฉัน ความต้องการของแม่ก็เป็นของแม่ของพ่อ แต่คนแต่ก่อนเขาจะถือว่าเป็นของพ่อของแม่ ชีวิตจิตใจ เลือดเนื้อ ความคิดนั้น ทั้งหมดของลูกนี้มันเป็นของพ่อและของแม่ นั้นต้องแล้วแต่พ่อแม่ ทีนี้มันปลอดภัยที่ว่าพ่อแม่ทั้งหมดไม่ว่าคนไหนอยากให้ลูกดีทั้งนั้นเลย ไม่อยากให้ลูกเสียหาย นั้นเป็นผู้ที่ไว้ใจได้ หรือว่าถ้าความคิดเห็นไม่ตรงกันมันก็ปรึกษาหารือกันได้ ด้วยความรัก ความหวังดีของพ่อแม่ไม่มีทางที่จะผิดเลย ฉะนั้นเราจึงมอบชีวิตจิตใจทั้งหมดให้แก่พ่อแม่ได้ ไม่ทำให้เดือดร้อนอย่างที่เรียกว่าเอาพ่อแม่ไปใส่นรกเสียเอง นี้คือการสนองคุณผู้มีบุญคุณทั้งหลาย เขาเรียกว่าญาติทั้งหลายมีบิดามารดา เป็นต้น นี้เรียกว่า อานิสงส์ที่ ๒ ที่เกิดจากบุตรที่ดี บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง มีผลทำให้บิดามารดา เครือญาติทั้งหลายนั้นเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น จำไว้ด้วยว่าเขาใช้สำนวนพูดว่าเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น ก่อนนี้บิดามารดาของเราเป็นญาติในพระศาสนาน้อยไปหน่อย พอเราบวชแล้วก็จะมีความเป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น ก็มีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีฉันทะเพิ่มขึ้น มีวิริยะเพิ่มขึ้น มีปัญญาสัมมาทิฎฐิอะไรล้วนแต่เพิ่มขึ้นๆ เพราะการบวชของเรา เพียงแต่เห็นบวชเท่านั้นก็เพิ่มขึ้นเสียแล้ว ถ้าเธอเล่าเรียนจนสามารถไปสั่งสอนแนะนำบิดามารดาไปในทางธรรมะได้ มันก็ยิ่งเพิ่มมากกว่านี้มาก เป็นการสนองคุณที่เพียงพอแก่พระคุณอันมหาศาลของบิดามารดา เพราะพูดไว้ว่าจะให้เงินให้ของให้อะไรจะบำรุงบำเรอ ทะนุถนอม แบกบิดามารดาไว้บนศีรษะ ไม่ให้ถึงดินเลย ให้มีชีวิตอยู่บนศีรษะของเรา บนบ่าของเรา บุญคุณนั้นก็ยังไม่เท่ากับโปรดบิดามารดาด้วยการทำให้มีสัมมาทิฎฐิมากขึ้น คือทำให้เป็นญาติในพระศาสนามากขึ้น นี่พูดตรงๆ ว่าเราหาเงินมาให้บิดามารดาเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วก็สร้างปราสาทวิมานให้อยู่ บำรุงบำเรออย่างดีที่สุด ทั้งกลางคืนกลางวัน ก็ไม่มีอานิสงส์มากเท่ากับทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น เพราะว่าการทำอย่างโน้นมันไม่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ได้ แต่การทำอย่างนี้มันช่วยให้พ้นจากความทุกข์ได้ บำรุงบิดามารดาขนาดนั้น อาจจะทำให้หลงหลงใหลลืมตัวตกนรกอีกชนิดหนึ่งไปก็ได้ แต่ถ้าว่าทำให้เป็นญาติในพระศาสนาในลักษณะนี้แล้วมันก็ปลอดภัย ดังนั้นจงเป็นผู้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงให้บิดามารดาได้รับประโยชน์อานิสงส์อันนี้ส่วนหนึ่ง เรียกว่าอานิสงส์ที่ ๒
นี่อานิสงส์ที่ ๓ เป็นอานิสงส์ที่จะได้แก่พระศาสนาเอง และเนื่องไปถึงคนทั้งโลก ข้อนี้หมายความว่าเราบวชนี้สืบอายุพระศาสนา บวชเดือนเดียวก็สืบเดือนเดียว บวชสองเดือนก็สืบสองเดือน บวชสามเดือนก็สืบสามเดือน บวชทีสี่ก็บวชสืบอายุพระศาสนาเท่านั้นเดือน เราบวชเข้ามาไม่ทำลายศาสนา แล้วบวชเข้ามาส่งเสริมให้ศาสนามีความเจริญงอกงาม เป็นหลักที่ชัดเจนตายตัวอยู่ว่า ศาสนาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ตายไปเสียนี่ ก็เพราะว่ามีคนช่วยสืบอายุเอาไว้ด้วยการกระทำ ๓ อย่าง คือการศึกษาเล่าเรียน เรียกว่าปริยัติศาสนา ในการปฏิบัติอย่างแท้จริง เรียกว่าปฏิบัติศาสนา ในการได้รับผลมีผลอย่างแท้จริง เรียกว่าปฏิเวธศาสนา ถ้ายังมีการเรียน การปฏิบัติ และการได้ผลของการปฏิบัติแล้ว ศาสนายังมีชีวิตอยู่ไม่หมดลมหายใจ พอไม่มีใครเรียนใครปฏิบัติ หรือมีผลการปฏิบัติ เมื่อนั้นศาสนาตายแล้ว หมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว นี่เราบวชเข้ามาก็มีการเรียน มีการปฏิบัติ มีแต่การได้รับผลของการปฏิบัติ ถ้าเราสึกออกไปมันก็ยังติดอยู่นั่นแหละ มันไปช่วยได้ ช่วยตามแบบของฆราวาสก็ได้ หรือว่าเราจะถือว่าเราได้มอบหมายให้ผู้อื่นรับช่วงไปคนที่อยู่อย่างนี้ก็ได้ ดังนั้นเราต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง แล้วก็ไม่ทำลายศาสนาในการบวชของเรา ก็สืบอายุพระศาสนาเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าศาสนามีอยู่ในโลก โลกพลอยมีความร่มเย็น โลกก็มีความร่มเย็น คนทั้งโลกๆเลย ก็จะพลอยได้รับความร่มเย็น เพราะการที่ศาสนามีอยู่ในโลก ฉะนั้น เมื่อเราบวชสืบอายุพระศาสนาก็เท่ากับทำประโยชน์ให้แก่โลกเป็นส่วนรวม นี่คิดดูมีเท่านี้ก็เหลือหลายแล้ว อานิสงส์เหลือหลายแล้ว เราจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ก็ทนได้ นี่คืออานิสงส์อย่างที่ ๑ ได้แก่ตัวเราเอง อย่างที่ ๒ ได้แก่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น อย่างที่ ๓ ได้แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งโลก รวมทั้งศาสนาเองด้วย พอที่เธอจะเสียสละเพื่อจะประพฤติพรหมจรรย์
ทีนี้ เรื่องที่ ๓ ก็คือที่ตั้งของการบรรพชา ข้อนี้หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าเราบวชนี้ อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เธอว่ามาสักครู่หยกๆ เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ บอกว่าเราบวช มุ่งหมายจะบวช อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็มีความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ คือมีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ในใจ นั้นเป็นตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง นอกนั้นเป็นเปลือก พระพุทธเจ้ามีใจสะอาด สว่าง สงบ พระธรรมก็คือคำสอนในทางปฏิบัติ หรือผลของการปฏิบัติเพื่อให้ใจสะอาด สว่าง สงบ นี่พระสงฆ์ปฏิบัติตามแล้วมีใจสะอาด สว่าง สงบ ดังนั้นเอาความสะอาด สว่าง สงบเป็นหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังนั้น เราจงพยายามทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ชนิดนี้ ไม่ใช่ชนิดอื่น อยู่ในใจของเราเสมอ พรหมจรรย์ของเราก็จะงอกงาม บรรพชาของเราก็จะงอกงาม นี้เขาเรียกว่าวัตถุที่ตั้ง ที่อาศัยของบรรพชาเป็นอย่างนี้ เมื่อเธอรู้แล้วก็สามารถจะทำให้บรรพชางอกงาม เหมือนกับว่าต้นไม้ได้ดินดี ได้อาหารดี ได้อากาศดี ได้อะไรดีมันก็งอกงาม โตวันโตคืน เอาล่ะ เป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องบรรพชาคืออะไร อานิสงส์ของบรรพชาคืออะไร วัตถุที่ตั้งอาศัยของการบรรพชาคืออะไร จนเพียงพอแล้ว เป็นการสมควรแล้วที่เธอรู้ว่าเธอขออะไร แล้วได้อะไร นี้การบรรพชาก็มีให้รู้ ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เรื่องปฏิกูล เราเป็นฆราวาสหลงใหลด้วยความสวยความงาม เรื่องเกี่ยวกับทางเพศแล้วยิ่งเป็นมาก จิตใจชนิดนี้ถ้ายังเหลืออยู่ ไม่สมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะเลย ต้องสลัดออกไป สำรอกออกไป จึงจะสมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ดังนั้น จงพยายามระลึกถึงความที่เราเคยโง่ เคยหลงในเรื่องสวยเรื่องงาม ยกตัวอย่างเพียง ๕ อย่างคือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เรียกว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน ถ้าได้รู้ตามที่เป็นจริงว่าเส้นผมบนศีรษะนั้น รูปร่างของมันก็ไม่งาม สีสันวรรณะของมันก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของมันก็ไม่งาม กลิ่นของมันก็ไม่งาม หน้าที่การงานของมันก็ไม่งาม สำหรับรับฝุ่นละอองบนศีรษะ แต่เราคิดว่างาม ดังนั้น เราก็พยายามที่จะมีให้มันงาม ให้ใครเห็นว่างาม แต่งผมไว้อวดกันนี้เรียกว่า โง่ขนาดที่ไม่ควรจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ นี้ขน เรียกโดยบาลีว่า โลมานี้ ก็เหมือนกันกับผม ผิดกันมันอยู่ตามตัวทั่วไป พิจารณาอย่างเดียวกันได้ นี้เล็บรูปร่างของเล็บไม่งาม สีสันวรรณะก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของมันก็ไม่งาม หน้าที่สำหรับเคาะ แคะ แกะ เกานี้ก็ไม่งาม แต่เราก็ว่าเล็บมันงาม นี่ความโง่ชนิดนี้ไม่ควรจะมี ถ้ามีก็ไม่ควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ นี้ฟันเรียกว่าทันตา มีอยู่ในปาก รูปร่างไม่งาม สีสันวรรณะไม่งาม กลิ่นไม่งาม ที่เกิดที่งอกคือ เหงือกนี้ก็ไม่งาม หน้าที่เคี้ยวบดนี้ก็ไม่งาม แต่เราก็คิดว่ามันงาม เราจะต้องให้มันงามให้จงได้ ให้ดูของกันและกันว่างาม ความโง่ชนิดนี้ถ้ามีไม่ควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะ อันที่ ๕ เรียกว่า ตะโจ แปลว่าหนัง แปลว่าหนังมันงาม ตกแต่งกันเสียอย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ทีนี้มาดูกันเสียใหม่ว่ารูปร่างของมันก็ไม่งาม สีสันวรรณะก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกก็ไม่งาม หน้าที่รับฝุ่นละอองหรือเข้าออกแห่งเหงื่อไคล ก็ไม่งาม เมื่อเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่งาม ก็รู้ความโง่แต่หนหลังของตัว จิตใจก็เปลี่ยนไป เหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะได้ ฉะนั้นขอให้เข้าใจตามนี้ เรียกว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน ..ทีนี้ก็ตั้งใจรับตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี เข้ามาใกล้ๆ จงตั้งใจรับ ตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ ก้มเข้ามา
ท่านพุทธทาสภิกขุ :เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ นี่ว่าตามลำดับ ทวนลำดับคือ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา จำได้ลองว่าดู
นาค : เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา อีกที ว่าอีกที เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อีกที
นาค : เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ดีนี่ว่าสามหนไม่ผิด เพราะแสดงว่าจำได้ เรียบร้อยดี มีใจคอดี สติสัมปชัญญะดี เหมาะสมที่ว่าจะทำการบรรพชา ดังนั้น จึงทำการบรรพชาให้แก่เธอตามความมุ่งหมาย ก้มเข้ามา ขอให้มีความเจริญงอกงามในบรรพชา สมตามความมุ่งหมายทุกประการ นี่เอาไปห่มที่โรงหนัง ฝนไม่ตก
(นาทีที่ 01:10:40-01:13:18 บทสวดมนต์)
ทีนี้จิตเกี่ยวกับการบรรพชาเป็นสามเณรถึงที่สุดแล้ว เธอจงรู้ว่ามีความเป็นสามเณรโดยสมบูรณ์ตามพระวินัยแล้ว เหลืออยู่ก็คือการปฏิบัติตามธรรมะให้สมบูรณ์ต่อไปอีก รวมกันเป็นความสมบูรณ์ทั้งทางธรรมและทางวินัย วินัยขั้นต้นนี้ก็นึกถึงคำสั่งสอนโอวาทต่างๆ ที่ได้พูดกันมาตั้งแต่ต้น จนวาระสุดท้าย ว่าบรรพชาเป็นอย่างไร อานิสงส์เป็นอย่างไร รากฐานที่ตั้งของบรรพชาคืออะไร และที่สำคัญที่สุดก็คือ ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เพื่อทำเราให้มีความเหมาะสมแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะเดี๋ยวนี้ ถ้าหลังจากนี้ ตจปัญจกกัมมัฏฐาน ก็จะตั้งอยู่สำหรับภิกษุผู้บวชใหม่ ในการที่จะป้องกันไม่ให้จิตกลับไปสู่ความเป็นจิตอย่างฆราวาส และจะได้ต่อสู้เมื่อความรู้สึกชนิดนั้นเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงถือว่าตจปัญจกกัมมัฏฐานนี้ เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บวชใหม่ ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี ฉะนั้น อย่าได้ลืมเสียโดยใจความ ว่าเราจะมีความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสในเรื่องความงามอีกไม่ได้ แล้วเราก็จะรู้ว่าที่แล้วมาทั้งหมดนั้นมันเป็นความไม่จริง คือเป็นความหลอกลวง นี้เราก็จะถูกหลอกลวงอีกไม่ได้ พยายามพิจารณาไปแต่หนทางที่จะให้รู้ความจริงยิ่งๆขึ้นทุกที ก็จะได้มีความเจริญก้าวหน้าไปตามทางของการบรรพชา ก็เพื่อการอุปสมบทในโอกาสต่อไปนี้ นี่กิจเกี่ยวกับการบรรพชาก็มีเพียงเท่านี้
ทีนี้ ก็เป็นธรรมเนียมที่จะให้พร ให้ศีลให้พร รวมทั้งเป็นการอนุโมทนาแก่การกระทำของเธอในวันนี้ แล้วนอกไปกว่านั้นก็คือการที่มีธรรมเนียมไว้ สำหรับผู้บวชแล้ว เสร็จแล้วจะพึงอุทิศส่วนกุศลของการที่ได้บวชนี้ให้แก่สรรพสัตว์ที่ได้รับคำแนะนำ อย่าลืมกรวดน้ำ รับปัจจัยแล้ว การกรวดน้ำ นี่ฟังดูให้ดี การกรวดน้ำมันเป็นพิธีก็จริง แต่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้ามีประโยชน์ก็เรียกว่า เป็นวิธีกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์ ถ้าทำอย่างงมงายเขาเรียกว่า พิธีรีตอง นั้นมันทำอย่างงมงายไม่ต้องคำนึงด้วยเหตุผลหรือเรื่องของผลประโยชน์ ถ้าว่าทำให้มันเป็นพิธี ให้มันถูกพิธี อย่างนี้จำเป็นจะมีเหตุผลและมีประโยชน์ คำว่า พิธี นั้นก็คือคำว่า วิธี ในภาษาบาลีไม่มีคำว่า พิธี มีแต่คำว่า วิธี วิธีนี้มันเปลี่ยนมาเป็นพิธีในภาษาไทย ตัว ว กับตัว พ แทนกันได้ แต่โชคมันร้ายเพราะว่าพอมาเป็นภาษาไทย เป็นพิธีนั้นมันเปลี่ยนความหมาย กลายเป็นพิธีที่ไม่ต้องรู้ไม่ต้องมีเหตุผลไป นี้นึกเสียใหม่ นึกเสียให้ถูกต้องว่า พิธีนั้นคือวิธี วิธีนั้นคือการกระทำที่ถูกต้องมีเหตุผล มีเทคนิคอยู่ในตัวมัน นั้นเราก็ถือเอาวิธีชนิดนี้ไว้ไม่ให้มันหมดไป ส่วนไอ้พิธีรีตองนั้นปล่อยให้มันหมดไป ทีนี้พิธีหรือวิธีกรวดน้ำนี่ ก็คือการหยดน้ำให้เป็นสาย โดยมีความมุ่งหมายว่าถ้าทำได้อย่างนั้น ในเวลานั้นจิตเป็นสมาธิ ถ้าใจคอมันปกติ เส้นประสาทปกติ มือไม้มันปกติ มันก็จะสามารถรินให้น้ำไหลเล็กที่สุด เป็นเส้นเล็กลงไป ไม่พรวดพลาดหรือว่าไม่ขาดเป็นติ๋งๆๆ มันต้องจิตแน่วแน่มากที่จะสามารถรินน้ำให้ไหลเป็นเส้นเล็กลงไป เมื่อจิตแน่วแน่เป็นสมาธิในโอกาสนั้น จึงถือโอกาสนั้น แผ่ส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น การแผ่ส่วนบุญหรือทำอะไรก็ตามด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธินั้น มีผลน้อยหรือไม่มีผลเลย ก็เป็นอุบายที่ฉลาดที่ให้เอาน้ำมาช่วยให้เกิดความเป็นสมาธิ และเกิดความหมายอย่างอื่นอีก ถ้าเธอรินน้ำตามให้ดีนั้น จิตนั้นเป็นสมาธิ หรือเอาความเป็นสมาธินั้นเป็นกำลังแรงที่ว่าจะแผ่เมตตา แผ่ส่วนกุศล นี่เรียกว่า ความมุ่งหมายแท้จริง ทีนี้ความมุ่งหมายปลีกย่อยแตกแยกออกไปได้ ว่าน้ำนี้มันหมายถึงธรรมะ หมายถึงความเยือกเย็น หมายถึงความสุขอะไรต่ออะไร เราก็จะอุทิศให้มันไหลไปสู่ผู้อื่น ทีนี้เราก็ต้องตั้งจิต ในขณะนั้นต้องตั้งจิตให้ตรงตามเรื่อง เรื่องนี้ก็คือคำพูดที่พระกำลังว่า ว่า ยะถา วาริวะหา ปูรา ปริปูเรนติ สาคะรัง แปลว่า เปรียบเหมือนกับน้ำฝนตกลงมาจากฟ้า ลงสู่ที่สูงคือที่ดอนที่สูง มันก็ต้องไหลไปยังที่ต่ำ ฝนตกหนักเข้าๆ มันก็ไหลไปตามธรรมดาของมัน มันจากที่ดอนไปสู่ที่ต่ำ ทีนี้มันแสดงอาการเต็มไปตามลำดับ เต็มไปตามลำดับ ไปดูฝนตกในที่สูงๆ สิ มันต้องไหลไปตามและก็เป็นไปตามลำดับ รอยเล็กๆ เต็มมันจึงจะไหลลงไป ร่องเล็กๆ เต็มมันจึงจะไหลลงไปถึงร่องใหญ่ก็จะไปถึงร่องขนาดลำธาร ลำธารเต็มก็ไหลลงไปถึงไอ้คลองเต็มแม่น้ำเต็ม เมื่อฤดูมรสุมของฝน จะเห็นว่าแม้แต่ปากอ่าวก็เต็ม ทะเลก็เต็มขึ้นมา กระทั่งมหาสมุทรเต็ม ก็เอาตามที่สายตาเห็นมาอย่างนี้ มันจะเต็มไปตามลำดับ ลำดับ ลำดับ จนมหาสมุทรเต็ม นี้ฉันใด เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ ขอให้กุศลของเราในวันนี้จงเต็มไปตามลำดับ นับถือตั้งแต่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก่อน ที่ใกล้ชิดที่สุดให้เต็มก่อน เช่น บิดามารดา ปู่ย่าตายายนี้ ที่เป็นญาติใกล้ชิดนี้ให้เต็มก่อน แล้วจึงล้นไหลไปยังญาติที่ห่างออกไป แล้วก็เต็ม แล้วก็ล้นไหลไปยังที่ไม่ใช่ญาติ เต็มล้นไหลไปยังศัตรู เต็มแล้วก็ล้นไหลไปยังสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งสัตว์นรกในเบื้องต่ำ สัตว์ทั่วไป สัตว์เดรัจฉาน เทวดาในเบื้องบน บรรดาสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัตว์ มีความรู้สึกนะขอให้ได้รับกุศลอันนี้
นี่ขอให้ช่วยจดจำไว้ด้วยว่า เป็นความมุ่งหมาย เป็นความมุ่งหมายของพุทธศาสนาหรือพุทธบริษัท ที่จะเป็นผู้มีเมตตา มีความปรารถนาดีแผ่ไพศาล ไม่จำกัดขอบเขต ไปพิจารณาดูเถิดจะเห็นว่าอันนี้พิเศษสำหรับพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนา เราไม่เคยทราบว่าในวัฒนธรรมของพวกไหนในศาสนาของพวกไหน ที่ว่าทำบุญอะไรแล้วจะแผ่อุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร คำนี้ใช้มากทางภาคกลาง ภาคเหนือและกรุงเทพฯ ทำบุญอะไรก็อุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร นั้นคือศัตรู หรือว่าผู้ที่เราเคยทำแก่เขา เขายังเป็นนายเวรอยู่ ก็เราเคยทำอะไรแก่เขา ล่วงเกินเขา อะไรเขาแล้วไม่ได้ใช้หนี้ เราต้องนึกถึงคนเหล่านี้ก่อน วัฒนธรรมที่นึกถึงคนเหล่านี้ แผ่ส่วนกุศลให้แก่คนเหล่านี้ ก็จะมีแต่พุทธบริษัทที่พูดอะไรตรงๆ อย่างนี้ วัฒนธรรมสายอื่นไม่เห็นมี ยิ่งของพวกฝรั่งสมัยใหม่ๆ ก็ยิ่งไม่มี ไม่รู้ไม่ชี้ ที่ว่าจะทำดั้งเดิมของพุทธบริษัทมันมีอยู่อย่างนี้ แม้แต่ที่เป็นศัตรู เราไม่ได้ทำอะไรเขา เขาเป็นศัตรูแก่เรา นี้ขอให้ หรือว่าที่เราเคยล่วงเกินแก่เขาในชาติก่อนหรือเมื่ออะไรก็ตามใจนั้น เราก็ต้องถือว่าเขาเป็นเจ้าหนี้ เป็นนายเวร เราก็ให้ ทีนี้อย่างนี้เมื่อให้แล้วมันก็ให้หมด คนทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงทำในใจว่าให้ผู้ที่ถึงก่อนอยู่ใกล้ ให้ได้แล้วเต็มๆๆไปตามลำดับจนถึงศัตรูและไม่ใช่ศัตรู และสรรพสัตว์ทั้งหลายบรรดาที่มีความรู้สึกได้ด้วยใจ ให้มีความสุข ทำอย่างนี้ แล้วก็ถือเป็นหลักธรรมะอันหนึ่งซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติกันไปจนตลอดชีวิต ไม่ใช่ชั่วเวลาที่จะกรวดน้ำชีวิต นี้ในการที่จะเป็นสมาธิ รินน้ำให้ไหล เมื่อบังคับให้น้ำไหลในทำนองนี้ได้ จิตมันก็เป็นสมาธิเอง เพราะมันไม่ต้องมาจดจ่อในการทำให้น้ำมันไหลอย่างนี้ นั้นเป็นอุบายอัตโนมัติที่ทำให้จิตเป็นสมาธิขึ้นมาเอง เพียงแต่เราตั้งใจจะรินน้ำตามวิธีนี้ จิตมันก็เป็นสมาธิขึ้นมา อาศัยความแน่วแน่ความสงบ ความเป็นอารมณ์เดียวนี้ก็ตามอย่างที่ว่า ตลอดเวลาที่ให้ ยถาไปจนถึงสัพพี พอเขาจบ ยถา ขึ้นสัพพี ก็เลิกเรื่องอุทิศส่วนกุศลแล้ว มันกลายเป็นเรื่องให้พร ให้พรเธอที่เป็นทายก ทายิกา นั้นเราก็เลิก เลิกกรวดน้ำตอนนั้น พอได้ยินสัพพีก็เทหมดเลย เลิกก็พนมมือรับพร ...(นาทีที่ 01:27:25 จนจบเป็นบทสวดมนต์)