แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อไปนี้ขอโอกาสทุกๆ คนช่วยเงียบสงบ อย่าส่งเสียงอื้ออึงทำให้เจ้านาคฟุ้งซ่าน ไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์คุณก็ได้บุญน้อย ช่วยกันรักษาความสงบเงียบชั่วขณะ ที่ให้เจ้านาคขานทีละคนนี้เพื่อความถูกต้องและเรียบร้อย มันช้าไปบ้างคุณก็อย่าเสียใจอย่ารำคาญว่ามันช้าไปบ้าง ต้องการให้มันถูกต้องและเรียบร้อย จึงให้ขานทีละคนและชัดถ้อยชัดคำ ให้ขานรวมๆ พร้อมๆ กัน บางคนขานบางคนไม่ขานบางคำ ดังนั้นขอให้อดทน ถึงจะนานไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ขอให้อดทนและขอให้อดทนเงียบๆ ด้วย อย่าเพิ่งส่งเสียงและขอให้ตั้งใจฟังด้วย ที่พูดนี้ไม่ใช้พูดแต่สำหรับเจ้านาคฟัง แต่สำหรับทุกคนฟัง ฟังเข้าใจแล้ว พอใจแล้ว ปิติแล้ว อนุโมทนาแล้วมันจึงจะได้บุญ แต่ถ้าไม่ฟังมันก็ไม่เข้าใจ แล้วไม่ปิติ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะอนุโมทนาอะไร มันก็ไม่ค่อยได้บุญ ดังนั้นช่วยกันห้ามให้เงียบ ให้เจ้านาคตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์
เธอทั้งหลายได้กล่าวถ้อยคำเป็นภาษาบาลี ถูกต้องหรือเรียบร้อยเป็นที่พอใจแล้ว ยังเหลืออยู่แต่ว่าจะเข้าใจเนื้อความนั้นหรือไม่ คิดเผื่อว่าจะไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจโดยสมบูรณ์ ก็อยากจะทบทวนเสียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีความเข้าใจ และทำไปด้วยความรู้สึกในใจที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช้เพียงแต่ว่าทำท่าทางหรือว่าออกเสียงอย่างเดียว ที่เราได้กล่าวไปว่า เอสาหัง ภันเต สาม สามรอบนั้น เป็นการประกาศตัวเองว่า ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ และใคร่จะได้บรรพชาอุปสมบท ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภความต้องการออกมาสามครั้ง แล้ว อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อีกสามรอบนี้ นี้เป็นคำขอโดยตรง ไม่ใช่เพียงแต่ปรารภความประสงค์เหมือนสามรอบแรก แต่ว่าเป็นคำขอโดยตรงไม่มีปริกัป ไม่มีข้อแม้แต่อย่างใด ว่า กระผมขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้แก่กระผม ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณา ถ้าเมื่อตะกี้ไม่ได้ทำในใจอย่างนี้ ก็จงรู้และจงทำในใจเสียเดี๋ยวนี้ ว่าเราได้กล่าวอย่างนั้น ได้ทราบความหมายนั้น และยืน ยันความหมายเหล่านั้น ให้จิตใจเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น แล้วก็จะได้ดำเนินการต่อไป ดังนั้นขอให้ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วย อย่าทำแต่ท่าทางหรือคำพูด เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจ จะต้องฟังให้เข้าใจ และจะต้องส่งจิตใจไปตามนั้นทุกๆ คำด้วย
ทีนี้สิ่งแรกที่จะพูดก็คือเรื่องบรรพชา เพราะว่าเธอได้ขอบรรพชา เพราะฉะนั้นเธอจะต้องทราบสิ่งที่เธอขอนั้นอย่างชัดเจน สำหรับสิ่งที่เรียกว่าบรรพชานั้น เป็นภาษาไทยก็คือคำว่าบวช ปัพพัชชา ปอ วอ ชอ ก็คือ บวช คำว่า บวช กับคำว่า บรรพชานี้ เป็นคำๆ เดียวกัน คำๆ นี้แปลว่า ไปหมด หรือเว้นหมด ไปหมด คือไปหมดจากความเป็นฆราวาส เดี๋ยวนี้เราจะละภาวะของความเป็นฆราวาสให้หมด นับตั้งแต่ว่าจะไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่กินอยู่อย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่พูดจาอย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่มีอากัปกริยาอย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่คิดนึกใฝ่ฝันอย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่กระทำอะไรๆ ทุกๆ อย่าง อย่างฆราวาสอีกต่อไป นี้คือความหมายของคำว่า ปัพพัชชา คือ ไปหมดจากความเป็นฆราวาส
อีกอย่างหนึ่งก็คือ เว้นจากข้อที่ควรเว้น สิ่งใดที่ได้บัญญัติไว้ว่าต้องเว้น สำหรับการบรรพชาแล้ว สิ่งนั้นจะต้องเว้นโดยเด็ดขาดและทั้งหมด นี่คือคำว่า ไปหมดและเว้นหมด ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า บรรพชา เดี๋ยวนี้เธอขอบรรพชาก็คือ ขอระเบียบการปฏิบัติอย่างที่กล่าวนี้ นี้ควรจะทราบไว้ซะเลยว่า ระเบียบของบรรพชานี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ บัญญัติไว้ในฐานะเป็นเครื่องขูดเกลา เรียกว่า พรหมจรรย์ เป็นการประพฤติหรือเป็นอยู่อย่างประเสริฐ แต่ว่าเป็นการขูดเกลา เป็นการขูดเกลากิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ขูดเกลาความเคยชินเป็นนิสัยมาแต่เดิม ที่เป็นไปในทางกิเลส คนตามธรรมดามีกิเลส แล้วก็มีความเคยชินเป็นนิสัยไปในทางที่จะทำไปตามอำนาจของกิเลส สิ่งนี้ต้องขูดออก ระเบียบบรรพชาของพระพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อขูดเกลาสิ่งนี้ จึงเรียกว่า พรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อขูดเกลาเสียซึ่งกิเลส นี่คือตัวบรรพชา จะมีอาการเป็นการขูดเกลาซึ่งกิเลส การไปหมด เว้นหมด จากความเป็นฆราวาสนั้น จะเป็นไปเพื่อการขูดเกลากิเลส ดังนั้นเราจะ ต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ มีความกล้าหาญ มีความอดทนที่จะทำการขูดเกลากิเลส ในบางครั้งจะบีบคั้นเอามากๆ ถึงกับว่าน้ำตาไหล คือว่าถ้าผู้ใดจะตั้งใจรักษาวัตรปฏิบัติ หรือพรหมจรรย์สิกขาวินัยให้เป็นอย่างดีนั้นบางทีจะต้องถึงกับน้ำตาไหล ถ้าหากว่ามันจะต้องถึงกับน้ำตาไหล เราก็จะต้องทนให้ได้ ฉะนั้นขอให้เธอหมายมั่นปั้นมือ ปักใจแน่วแน่จนถึงขณะนี้ด้วย แล้วก็รู้ว่าขอบรรพชานั้นคือ ขอระเบียบการปฏิบัติที่เป็นอย่างนี้ รายละเอียดปลีกย่อยเป็นสิกขาบทข้อๆ ไปนั้น เราไปศึกษาทีหลัง แต่ว่ามันจะมีมากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม มันเป็น ไปเพื่อผลอย่างเดียวกันหมด คือขูดเกลากิเลสทั้งนั้น นี้เราเรียกว่า รู้จักตัวสิ่งที่เราขอคือบรรพชา เธอจงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วย เพื่อให้มีความเข้าใจ มีความแน่ใจในสิ่งที่ขอนี้
ทีนี้เรื่องที่สองอยากจะให้ทราบก็คือว่า อานิสงฆ์ของบรรพชาคืออะไร ถ้าเราทราบอานิสงฆ์ของบรรพชาแล้ว ก็จะเกิดกำลังใจในการที่จะอดทน แม้จะต้องทนจนน้ำตาไหลก็ทนได้ ดังนั้นเราจึงควรจะทราบอานิสงฆ์ของการบรรพชา อานิสงฆ์ของการบรรพชานี้ ท่านถือว่ามากมายเหลือที่จะบรรยายได้ในเวลาอันสั้น ถ้าโดยรายละเอียดแล้วบรรยายไม่ไหว ฉะนั้นจะต้องบรรยายแต่โดยเค้าเงื่อน โดยประเภทใหญ่ ๆ แบ่งอานิสงฆ์นั้นออกเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน คือ อานิสงฆ์ที่บุคคลผู้บรรพชานั้นจะพึงได้อย่างหนึ่ง และอานิสงฆ์ที่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น จะพึงได้นี้อีกอย่างหนึ่ง และอานิสงฆ์ที่ถือโลกเป็นส่วนรวม หรือพระศาสนาเป็นส่วนรวม จะพึงได้นี้อีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๓ อย่างด้วยกัน ขอให้เธอทำในใจดี ให้เข้าใจอานิสงฆ์เหล่านี้
สำหรับข้อแรก อานิสงฆ์ที่ผู้บรรพชาเองจะพึงได้รับนั้น เป็นความมุ่งหมายสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสิ่งแรกทีเดียว คือว่าถ้าเรารู้ว่าบรรพชาคืออะไรแล้ว เราจะเข้าใจอานิสงฆ์ของบรรพชาได้โดยง่าย ดังที่กล่าวมาแล้วว่าบรรพชา มีอาการเป็นการขูดเกลาสิ่งซึ่งสกปรกเศร้าหมอง ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตในสันดานนี้ให้ออกไป เหมือน กับสร้างจิตใจใหม่ขึ้นมา ดังนั้นเราจึงเกิดเหมือนกับเกิดใหม่ ท่านเรียกว่าเกิดใหม่ การบรรพชาเป็นบรรพชิตนี้ท่านเรียกว่า การเกิดอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเธอจงทำให้สำเร็จประโยชน์ในการเกิดอีกครั้งหนึ่ง คือ การเกิดในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดใหม่ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ชำระสะสางสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตใจ ให้ออกไปเสียจากจิตใจ กลายเป็นคนใหม่่นี้เรียกว่า เกิดใหม่
เรื่องการบวชเข้ามานี้ อย่าได้ถือเอาเป็นโอกาสพักผ่อนเหมือนที่เขาพูดกัน โดยมากไม่ใช่การพักผ่อน ใครพูดว่าบวชเพื่อเป็นการพักผ่อน คนนั้นคดโกงต่อพระศาสนาและต่อเพื่อนมนุษย์ นั้นไม่ใช่เพื่อพักผ่อน ไม่ใช่เพื่อเอาเปรียบอย่างใดอย่างหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นอีก บวชนี้อย่าเข้าใจผิดแต่เพียงว่าเพื่อจะเล่าเรียนอะไรบ้าง เพียงแต่เล่าเรียนอะไรบ้างนั้นมันไม่พอ ไม่คุ้มกันแน่ บวชนี้เพื่อจะฝึกโดยตรง เพื่อจะฝึกกาย วาจา ใจโดยตรง ไม่ใช้เพื่อเพียงเพื่อเล่าเรียนหนังสือหนังหาตำรับตำราอะไรทำนองนั้น เพราะว่าถ้าเพียงแต่เพื่อเล่าเรียนแล้ว ไม่ต้องบวชก็เรียนได้ หนังสือก็มีเยอะแยะถมไป ทีนี้บวชในระยะอันสั้นอย่างนี้ ต้องเพื่อฝึกฝนโดยตรง ฉะนั้นจะต้องสดับตรับฟังคำสั่งคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ว่าให้ฝึกอะไร แล้วฝึกอย่างไร แล้วก็จงตั้งอกตั้งใจฝึกอย่างนั้น ขอให้เพ็งเล็งถึงการฝึกที่เนื้อที่ตัว ไม่ใช้เพ็งเล็งที่จากการอ่านหนังสือหนังหาตำรับตำราอะไร ถึงมันเป็นเรื่องผิวๆ เรื่องฝึกที่ตัวนี้ก็มีอยู่หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็ว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้สละทุกอย่างที่เราเคยยึดมั่นถือมั่น สละบ้านเรือน สละญาติ มีบิดา มารดาเป็นต้น สละทรัพย์สมบัติหรือสละครอบครัว ถ้ามีครอบครัว เพราะว่าสละทุกอย่างด้วยจิตใจนี้ ต้องฝึกอยู่เสมอไม่อย่างนั้นมันจะไม่สละ ไม่เป็นการสละ ฉะนั้นในระหว่างที่บวชนี้ จะเป็นผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้สละโดยตรง ไม่มีอะไรที่เป็นโลกียสมบัติ แต่จะมีธรรมะหรือว่าธรรมสมบัติ หรืออริยะสมบัตินี้อยู่เป็นประจำ เมื่อเรายังไม่ได้บวช เราทำอะไรเพื่อตัวเองทั้งนั้น แต่ถ้าเราบวชเข้ามาแล้ว เราต้องทำอะไรเพื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน แล้วถ้าว่าจะเพื่อตัวเอง ก็ไม่ใช่เพื่อกิเลส เมื่อเป็นฆราวาสทำอะไรเพื่อตัวเอง เพื่อกิเลสของตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นพระแล้วก็ต้องเพื่อธรรมะ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพื่อความจริง เพื่อความถูกต้อง หรือเพื่อความเสียสละนั่นเอง ดังนั้นต่อไปนี้เราก็จะมีการฝึกชนิดที่ว่า ไม่ทำอะไรเอาเอง แต่ทำเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นของตัวเอง ทีนี้ดูให้ดีก็ยังจะเห็นว่า มันเป็นการฝึกจิตฝึกใจ ให้สูงให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งมันเป็นบทเรียนที่ประเสริฐ แต่มันก็ยากพอๆ กัน ที่เราจะ ต้องตั้งอกตั้งใจให้ดีมันจึงจะทันกันกับเวลา ที่ว่าลาบวชเพียงชั่วคราว ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะได้รับประโยชน์สมกันจริงๆ ด้วยเหมือนกัน คือเกิดเป็นคนใหม่ขึ้นมา มีอะไรดีกว่าเก่า แม้ว่าจะกลับสึกออกไป ก็จะเป็นคนที่มีอะไรดีกว่าเก่ามากมาย อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ แต่ถ้าว่าบวชแล้วเหลวไหลหรือว่าบวชพักผ่อน บวชเอาเปรียบ บวชได้เงินเดือนฟรีอะไรทำนองนี้ ซึ่งคิดกันอย่างนี้ก็มี อย่างนี้แล้วเป็นไม่ได้อานิสงฆ์นี้เลย ดังนั้นจะ ต้องไม่นึกถึงอะไรอย่างอื่นใดหมด นึกแต่ว่าบรรพชานี้คือการฝึกซึ่งเป็นการขูดเกลา กาย วาจา ใจ นิสัย สันดานให้เกิดเป็นคนใหม่ขึ้นมา อย่างนี้ก็ลองคิดดูเถอะว่า มันมีค่ามหาศาลเหลือที่จะกล่าวได้ คือถ้ามีจิตใจที่ดี ที่ประเสริฐ ที่งดงามกว่าเดิม จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมดีกว่าเดิม อย่างนี้จึงจะเรียกว่าได้อานิสงฆ์ของการบวช ไม่ใช่บวชเพียงว่าให้สังคมเขายอมรับว่าบวชแล้วบ้าง หรือว่าจะหาลูกหาเมียง่ายบ้าง อย่างนี้ไม่ใช่อานิสงฆ์โดยตรงของการบวช บางทีจะเป็นการเอาเปรียบศาสนาด้วยซ้ำไป ถ้าคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้คิดอย่างนั้นเลย จงคิดว่าเราบวชนี้ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลจริงๆ แล้วถึงจะสามารถบอกกล่าวสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วยซ้ำไป นี่ขอให้มีความจริง
ปู่ ย่า ตา ยายของเราแต่ดึกดำบรรพ์มาได้พูดว่า ความงามอยู่ที่ซากผี ความดีอยู่ที่การสละ ความเป็นพระนั่นอยู่ที่จริง พระนิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ประโยคที่สำคัญก็มีว่า พระนั่นอยู่ที่จริง ถ้าไม่จริง ไม่ ใช่พระ เพราะฉะนั้นจะต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ก็อาจจะสอนผู้อื่นสืบต่อไปได้จริง นี่เราจึงจะได้อานิสงฆ์ของการบวช ขอให้ตั้งอกตั้งใจอธิษฐานกันเดี๋ยวนี้ ที่นี้ เวลานี้ว่าเราจะบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วจะช่วยเหลือผู้อื่นตามที่จะช่วยได้จริง เพื่อว่าเราจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี้เรียกว่าอานิสงฆ์ประการที่หนึ่งที่ผู้บวชจะพึงได้รับ
ทีนี้อานิสงฆ์ประการที่สอง ที่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้รับนั้น นี้เราบวชเพื่อทดแทนบุญคุณสนองคุณผู้มีพระคุณ คือบิดามารดาด้วย ไม่ใช่บวชเอาเราคนเดียว บวชเพื่อสนองคุณบิดามารดาด้วย เราไม่ได้เกิดมาจากโพรงไม้ เราก็เกิดเองไม่ได้ เราต้องเกิดมาจากบิดามารดา ถือว่าชีวิตนั่นได้มาจากบิดา มารดา เพราะฉะนั้นต้องมอบให้แก่บิดามารดา อย่าถือเหมือนเด็กอันธพาลเกเรสมัยนี้ ไม่รับรู้บุญคุณของบิดา มารดา ถ้าเมื่อเกิดความ ความเข้าใจผิดกัน ความต้องการผิดกันแล้ว เขาก็สลัดความประสงค์ของบิดามารดา เสีย เอาแต่ความประสงค์ของตัวเองทั้งนั้น เด็กหนุ่มๆ อันธพาลสมัยนี้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แม้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามา ขอร้องว่าอย่าได้ถือลัทธิอย่างนั้นเลย ถ้าต้องการจะบวช ขอให้ถือว่าชีวิตนี้ มันได้มาจากบิดามารดา เพราะฉะนั้นต้องเป็นของบิดามารดาทั้งหมดก่อน ในข้อนี้จะทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ ตรงกันหรือไม่นั้นไว้ ค่อยพูดกัน แต่ถ้าหากว่าแม้ว่ามันไม่อาจจะตรงกันได้ ก็ขอให้มอบกาย มอบใจ มอบชีวิตนี้ ให้แก่ความประ สงค์ของบิดามารดาเถิด นี้จึงจะชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท บรรพชาในพระพุทธศาสนา และเราก็แทนคุณบิดามารดา ได้สมกันกับที่ว่าเราได้ชีวิตมาจากบิดามารดา หรือว่าบิดามารดาให้สิ่งประเสริฐที่สุด คือชีวิต ในการแทนคุณทดแทนคุณ หรือสนองคุณบิดามารดานี้ มีทางที่จะทำได้หลายอย่าง เรื่องเอาอกเอาใจ เรื่องทะนุถนอมทางวัตถุสิ่งของ ทางอะไรก็ได้ เป็นการทดแทนคุณบิดามารดาด้วยเหมือนกัน แต่ท่านไม่ถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณอย่างสูงสุด การทดแทนบุญคุณของบิดามารดาอย่างสูงสุดนั้น ระบุไปยังการทำบิดามารดา ให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งกว่าแต่กาลก่อน ข้อนี้ก็หมายความว่าทำให้บิดามารดามีสัมมาทิฐิ หรือมีผลในทางจิตใจเกี่ยวกับพระศาสนามากกว่าแต่ก่อน ยกตัวอย่างเมื่อเราบวชอย่างนี้ จะต้องหมายความว่า ทำให้บิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนามากกว่าแต่ก่อน คือจะเอาใจใส่ในพระศาสนามากกว่าแต่ก่อน จะพอใจในพระศาสนา ในพระธรรมมากกว่าแต่ก่อน ถ้าหากว่าเรานี้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง จะทำให้บิดามารดามีสัมมาทิฐิมากขึ้นในพุทธศาสนา พอใจเลื่อมใสแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม หรือถ้าลูกหลานได้เล่าได้เรียนได้ ปฏิบัติ ถึงธรรมะขั้นสูงสุดแล้ว ยังอาจจะสอนบิดามารดาให้ได้รับธรรมะเหล่านั้นด้วย นี้ก็เป็นการทำให้บิดามารดาเป็นญาติในพระศาสนา ยิ่งขึ้นหรือถึงที่สุด เป็นการสนองคุณถึงที่สุด การที่จะสนองคุณด้วยเงินด้วยของ ด้วยการเอาอกเอาใจอย่างอื่นนั้นไม่ใช่สูงสุด นี่เป็นหลัก เป็นหลักเกณฑ์ในพระพุทธศาสนา ในหมู่พุทธบริษัทวางไว้อย่างนี้ ดังนั้นขอให้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ให้เป็นที่พอใจของบิดามารดา และให้บิดามารดาได้รับส่วนกุศลอันนี้ ถึงที่สุดด้วย นี้เรียกว่าญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น พลอยได้รับอานิสงฆ์ จากการบวชของเรา ขอให้พยายามทำให้เต็มที่ เพื่อสนองคุณหรือใช้หนี้
ทีนี้ก็มาถึงอานิสงฆ์ที่สาม คืออานิสงฑ์ที่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง หรือโลกเป็นส่วนรวมจะพลอยได้ หรือว่าพระศาสนาจะพลอยได้นี้เรียกว่า เราบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา อย่างที่หนึ่ง เราบวชเพื่อตัวเราเองได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อย่างที่สอง เราบวชเพื่อสนองพระคุณของบิดามารดา อย่างที่สาม เราบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา อย่าเข้าใจว่าเราบวชสามเดือน แล้วก็ไม่ ไม่เป็นการสืบอายุพระศาสนา ข้อนี้มันมีความจริงอยู่ที่ว่า ถ้าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง เราบวชหนึ่งวันก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาหนึ่งวัน บวชหนึ่งเดือนก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาหนึ่งเดือน บวชหนึ่งปีก็สืบหนึ่งปี ฉะนั้นสืบดีจริงตลอดเวลาที่เราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ดังนั้นขอให้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ให้เป็นการสืบอายุพระศาสนา พระศาสนานี้จะมีอยู่ไม่ตายเสีย ไม่สูญหายไปเสียก็ต่อเมื่อมีคนเรียน มีคนปฏิบัติ มีคนได้รับผลของการปฏิบัติ และมีคนสอนสืบๆ ต่อกันไป นี่ถ้าทำอย่างนี้ ศาสนามีชีวิตอยู่ไม่สาบสูญ ฉะนั้นเราจะบวชกี่วันก็ตามใจ เราจะบวชจริง จะเรียนจริง จะปฏิบัติจริง จะให้ได้ผลจริงๆ ศาสนาก็เกิดขึ้นจริง มีขึ้นมาจริงในการกระทำของเรานั้น ในโลกนี้ เมื่อเราสึกไปแล้วก็มอบหมายให้คนอื่นรับช่วงต่อไป นี่มันก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ก็ไม่สูญ ไม่สูญ ศาสนาไม่ได้สูญไป กลับจะงอกงามแน่นแฟ้นมั่นคง เพราะการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนกันจริงๆ ของกุลบุตร ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นขอให้เธอมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะให้การบวชนี้ได้รับอานิสงฆ์ครบถ้วนทั้งสามประการ คือตัวเองก็ได้ ญาติทั้งหลายก็พลอยได้ แล้วโลกเพื่อนมนุษย์เป็นส่วนรวมก็พลอยได้ ตรงที่ว่าเราบวชจริงแล้ว ธรรมะนี้ หรือศาสนานี้มีอยู่ในโลก เมื่อโลกนี้มีธรรมะ มีศาสนาแล้ว ก็จะร่มเย็นกันไปทั้งโลก ดังนั้นมนุษย์ทั้งโลกก็พลอยได้รับประโยชน์ จากการบวชของเราแม้เพียงคนเดียวที่นี้และเดี๋ยวนี้ โดยไม่รู้จักหน้าค่าตากันเลย นี่ขอให้มองหรือเพ่งเล็งถึงอานิสงส์สามประการนี้อยู่เสมอไป ก็จะเกิดกำลังใจ เกิดความกล้าหาญ เกิดความอดกลั้นอดทน ในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ นี้เป็นเรื่องที่สอง คืออานิสงฆ์ของบรรพชา
ทีนี้เรื่องสุดท้ายเรื่องที่สาม ก็คือว่า วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานั้นคืออะไร วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานั้น คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราบวชนี้อุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นฐานที่ตั้งของบรรพชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในที่นี้เราหมายถึงคุณธรรม เช่น พระพุทธเจ้ามีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ พระธรรมก็มีความหมาย หัวใจอยู่ที่ความสะอาด สว่าง สงบ พระสงฆ์ก็คือผู้ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบ มีหัวใจอยู่ที่นั่น ฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ เราเอามาตั้งไว้ในใจของเราได้ เพื่อให้ใจมีความสะอาด สว่าง สงบ อยู่เสมอแล้ว ก็เรียกว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ แล้วอันนี้เองจะเป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา บรรพชาได้ที่ตั้งที่อาศัยดีแล้ว ก็จะเจริญงอกงามเหมือนต้นไม้ที่ได้ดินดี น้ำดี อากาศดี การบำรุงรักษาดี บรรพชาของเราจะเจริญงอกงาม ก็เพราะว่ามีที่ตั้งที่อาศัยดี คือ จิตใจที่มีความสะอาด สว่าง สงบ โดยที่เราบวชนี้ อุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้นเธอจงพยายามสร้างพื้นฐานแห่งความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ ให้มีอยู่ตลอดไปในการบรรพชา อานิสงฆ์ที่เราต้องการหรือปรารถนานั้น ก็จะได้โดยแน่นอน และบรรพชาของเรานี้ ก็จะเป็นบรรพชาจริง ก็เป็นอันว่าหมดปัญหาใน ในเรื่องที่เกี่ยวกับบรรพชา ฉะนั้นเหลืออยู่ก็แต่การที่จะปฏิบัติให้เป็นอย่างนั้น
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน ที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านวางเป็นระเบียบ เป็นวินัย เป็นธรรมเนียมที่จะให้บอก ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน แก่ผู้เข้ามาบรรพชา เพื่อว่าจะใช้เป็นเครื่องซักฟอกจิตใจ ให้สะอาดปราศจากความเป็นฆราวาส มามีจิตใจอย่างบรรพชิต แล้วก็จะได้ใช้ความรู้อันนี้ เป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลส ไปจนตลอดการบรรพชาด้วย ฉะนัันเธอจงตั้งใจฟังให้ดี เธอได้ขอบรรพชาว่า จงทำการบรรพชาให้แก่กระผมด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตากรุณาเถิด ทีนี้ก็อยากจะบอกให้ทราบว่า ผ้ากาสายะเหล่านี้ เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ไม่ใช่ว่าเป็นสมบัติของเรา ไปซื้อมาจากร้านขายผ้า แล้วก็เป็นสมบัติของเรา จะคิดอย่างนั้นไม่ได้ ผ้ากาสายะนี้เป็นธงชัยของพระอรหันต์ คือ บุคคลสูงสุดในหมู่มนุษย์ เป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์ ดังนั้นเราจะเอามานุ่ง มาห่ม มาคลุมเข้าที่ร่างกายอันเศร้าหมองนี้ไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องมีการซักฟอกร่างกายนี้ ให้มีความสะอาดพอสมควรแก่การที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้เสีย ก่อน และสิ่งที่ว่านั่นก็คือ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐานนี้เอง ได้แก่สิ่งที่จะเอามาพิจารณาดูแล้ว เกิดความเข้าใจถูกต้องว่า เราเคยโง่ เคยหลง ในเรื่องความสวยความงาม เดี๋ยวนี้เราจะหายโง่หายหลง ในเรื่องความสวยความงามกันเสียที ฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังสักห้าอย่างเท่านั้นก็พอ ให้เข้าใจดีแล้วอื่นๆ กี่อย่างก็จะพลอยเข้าใจไปได้หมด ที่ได้เอาผม ขน เล็บ ฟัน หนังมาเป็นตัวอย่างนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เรารู้จักดี แล้วเราเคยกระทำต่อมันมามากแล้ว
เรื่องผม โดยภาษาบาลี เรียกว่า เกษา เราเคยหลงเป็นของสวยของงาม ประดับประดาตกแต่งอวดกันโดยเฉพาะในระหว่างเพศ ทำให้สวยทำให้หอม ทำให้อะไรต่างๆ จนว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว นี้เป็นความโง่ของฆราวาส ความโง่นี้จะติดมาในบุคคลผู้จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ไม่ได้ ดังนั้นเธอจงทำในใจให้เกลี้ยงเกลากันที่นี้และเดี๋ยวนี้ ตามคำที่ท่านได้สั่งสอนไว้ว่า มันเป็นปฏิกูล ผมนี้เป็นปฏิกูล คือน่าเกลียด ถ้าว่าโดยรูปร่างก็เป็นเส้นยาวๆ รูปร่างน่าเกลียด ถ้าว่าโดยสีก็สีดำ สีหงอก สีอะไรก็ตาม เป็นสีที่น่าเกลียด ถ้าว่าโดยกลิ่น ตามธรรมชาติแล้ว มันก็มีกลิ่นน่าเกลียด ถ้าว่าโดยที่เกิดที่งอกบนหนังศีรษะ เลี้ยงไว้ในน้ำเหลืองในเลือดนี้ มันเป็นที่เกิดที่งอกที่น่าเกลียด และหน้าที่การงานของมันก็หน้าเกลียด คือมันอยู่บนศีรษะสำหรับรับฝุ่นละออง หน้าที่การงานของมัน สำหรับรับฝุ่นละอองบนศีรษะ สรุปแล้วก็ว่ารูปร่างก็น่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของมันก็น่าเกลียด แต่เราก็ว่าหอมว่าสวย ชำเลืองดูกันในความเป็นของสวย นี่คือความโง่ของฆราวาส อย่าได้ติดเหลืออยู่ในจิตใจมาเป็นผู้นุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้เลย มองเห็นความโง่ของความเป็นฆราวาสแล้ว มีความสลดสังเวช แล้วเปลี่ยนจิตใจเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสมแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะด้วย
สิ่งที่สอง ขน เรียกว่า โลมา โดยภาษาบาลี มีอยู่ทั่วไปทั้งตัวที่ละเอียดจนมองไม่เห็นก็มี ที่หยาบๆ จนมองเห็นก็มี พิจารณาผมว่าเป็นปฏิกูลอย่างไร ก็พิจารณาขนว่าเป็นปฏิกูลอย่างนั้น ยังจะต้องรู้ว่ามันมีอยู่ทั่วไปทั้งตัว ไม่เหมือนผมที่มีอยู่แต่ที่ศีรษะ เมื่อสิ่งปฏิกูลมีอยู่ไปทั่วทั้งตัว ก็หมายความว่ามีความเป็นปฏิกูลไปทั่วทั้งตัว นั่นเราไม่ควรจะโง่ จะหลงว่าเป็นของสวยของงาม
สิ่งที่สามคือ เล็บ เรียกโดยภาษาบาลีว่า นขา รูปร่างของเล็บก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของเล็บก็น่าเกลียด กลิ่นของเล็บก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของเล็บก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของเล็บ คือสำหรับ แคะ ควัก เกา อันนี้ก็น่าเกลียด อะไรก็ล้วนแต่ความเป็นน่าเกลียด เป็นความน่าเกลียด แต่เราก็หลงจะตกแต่งให้มันสวย ให้มันวาว หรือให้มันอะไรต่างๆ ตามที่นิยมกันด้วยความโง่ ไปทำสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ ความโง่ชนิดนี้จะติดมาในจิตใจ ของผู้จะนุ่งห่มผ้ากาสายะไม่ได้
สิ่งที่สี่ ฟัน เรียกโดยบาลีว่า ทันตา เป็นของน่าเกลียดที่เห็นได้ง่ายที่สุด ถ้าตัดริมฝีปากออกเสียให้หมด ให้ฟันโผล่ออกมาเท่านั้น คนก็จะวิ่งหนีซึ่งกันและกัน ฟันนี้รูปร่างของมันน่าเกลียด สีสันวรรณะเหมือนกระดูกของมันนี้ก็น่าเกลียด กลิ่นของมันตามธรรมชาติก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกในเหงือกเลี้ยงไว้ในเลือดในน้ำ เหลืองก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของมันคือ บดอาหารอันแสนจะน่าเกลียด เราก็ยังมาจะทำให้มันหอม ให้มันสวย ยิ้มแย้มสำหรับอวดกัน นี้เป็นความโง่ของฆราวาส อย่าได้ติดมาในจิตใจของผู้จะบรรพชาอุปสมบทเลย
เรื่องที่ห้า หนัง เรียกโดยภาษาบาลีว่า ตโจ คือผิวหนังที่หุ้มอยู่ทั้งกายนี้ ให้พิจารณามากเป็นพิเศษว่า เป็นสิ่งที่น่าเกลียดปฏิกูลด้วย แล้วเป็นอันตรายคือเป็นสัมผัส เป็นที่ตั้งแห่งสัมผัสให้เกิดกิเลสได้โดยง่ายด้วย ในข้อที่เป็นของปฏิกูลนั้น ดูผิวหนังก็แล้วกันว่า รูปร่างของผิวหนังก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด กลิ่นของมันตามธรรมชาติก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของมัน ที่เลี้ยงไว้ในเลือดในน้ำเหลืองนี้ก็น่าเกลียด และหน้า ที่การงานของผิวหนังนี้ก็คือ เป็นที่ถ่ายเข้าถ่ายออก ซึ่งสิ่งสกปรกในร่างกาย เป็นที่รับฝุ่นละอองทั่วไปทั้งตัว เป็นที่ระบายความร้อนเป็นต้น ล้วนแต่เป็นหน้าที่การงานที่หน้าเกลียดทั้งนั้น ถ้าเราจะมาว่าสวยว่างาม ประดับประดาผัดทาตกแต่งหลอกลวงกันอย่างนี้ มันเป็นคนโง่ ความโง่ของฆราวาสในข้อนี้อย่าได้ติดมาเลย และอีกอย่างหนึ่งที่ว่าเป็นอันตรายนั้น หมายความว่า สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ห้าอย่างนี้ สัมผัสทางกายร้ายแรงกว่าสัมผัสทางใด กิเลสตัณหาเกิดขึ้นจากการสัมผัสทางกายยิ่งกว่าทางอื่น แล้วก็คือทางผิวหนังนี้เอง ดังนั้นผิวหนังทั่วตัวหรือบางแห่งบางส่วนโดยเฉพาะนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกสัมผัส ที่ให้เกิดกิเลสอย่างยิ่ง นี่เรารู้จักมันในฐานะที่เป็นอันตราย เรารู้จักผิวหนังในฐานะที่เป็นของปฏิกูลด้วย เป็นอันตรายด้วย แล้วก็หายโง่อย่างฆราวาส มาเป็นผู้ฉลาดอย่างพระอริยเจ้า เหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะต่อไป
เรื่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ห้าอย่างนี้เป็นอย่างนี้ เธอจะต้องมีความเข้าใจที่นี้และเดี๋ยวนี้ เพื่อให้จิต ใจสะอาด ปราศจากความโง่ของฆราวาส ในเรื่องสวยเรื่องงามแล้ว มีจิตใจเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ที่นี้และเดี๋ยวนี้ด้วยเหมือนกัน ถ้าหลังจากนั้นก็จดจำไว้ฝึกฝนไว้ให้คล่องแคล่ว สำหรับจะต่อสู้กิเลสอันจะมารบ กวนอีก ในโอกาสที่เราบวชแล้วในวันต่อๆ ไปด้วย นี้คือเรื่อง ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน เป็นการบอกในวันนี้ เวลานี้ก็เพื่อว่า ให้มันเป็นการตั้งต้นที่ดี เป็นผู้มีจิตใจหรือมีกาย วาจา ใจ เหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะแล้วจะได้ทำการบรรพชาต่อไป มันเป็นการตั้งต้นที่ดี คือดีไปแต่ต้นทีเดียว ทีนี้ก็มีระเบียบให้บอกตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลีอีกด้วย เข้ามาใกล้ๆ
จงตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกษา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เรียกว่าตามลำดับ ทวนลำดับคือ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกษา จำได้ลองว่าดู อืม, ดีที่ว่าได้สามรอบ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมอย่างถูกต้องเรียบร้อยนี้ แสดงว่าใจคอปกติ ไม่งกๆ เงิ่นๆ มีสติสัมปชัญญะดี สำหรับการทำการบรรพชา เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง จึงทำการบรรพชาให้เธอ ขอให้มีความเจริญ พนมมือตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลีโดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ ตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกษา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยปฏิโลมคือ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกษา ลองว่าดู มีสติสัมปชัญญะดี มีจิตใจเหมาะสม จงตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกษา โลมา นขา ทันตา ตโจ ปฏิโลม คือ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกษา ว่าได้ลองว่าดู จงตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลีโดยว่าตามเรา ดังต่อไปนี้ เกษา โลมา นขา ทันตา ตโจ ปฏิโลม คือ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกษา ว่าได้ลองว่าดู ดี ถวายเครื่องสักการะ เครื่องสักการะ พูดพร้อมๆ ดังๆ พูดดังๆ พร้อมๆ ยืนยันชัดเจน การเป็นสามเณรสมบูรณ์เมื่อรับสรณคมม์แล้ว จำไว้
เราจึงทำทีละคนตามวินัย เพราะมันผูกพันกันไม่ได้ เธอจงกล่าวคำขอนิสัยทีละคนตามลำดับ (กล่าวคำขอนิสัย 01:04:52 – 01:11:03) ขอให้ตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ต่อไปอีกครั้งหนึ่ง บัดนี้ได้มีการขอนิสัย เพื่อ ให้เกิดมีอุปัชฌายะ เพราะว่าสงฆ์ย่อมไม่ให้อุปสมบทแก่ผู้ที่ไม่มีอุปัชฌายะ ผู้ที่จะขออุปสมบท ต้องเป็นผู้ที่มีอุปัชฌายะเสียก่อน การถือนิสัย คือการทำให้มีอุปัชฌายะ เธอทั้งหลายตั้งอยู่ในฐานะเป็นสัทธิวิหาริก อุปัชฌายะมี เป็นผู้ที่มีอุปัชฌายะแล้ว จึงขออุปสมบทได้ เราจึงต้องถือนิสัยเพื่อให้ขออุปสมบทได้ ทีนี้การขอนิสัยนั้น ต้องมีการถือ การถือที่มีใจความสำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า จะประพฤติตัวให้อยู่ในโอวาท และให้โอกาสแก่การควบคุมที่เพียงพอ อุปัชฌายะมีหน้าที่ควบคุมว่ากล่าวสั่งสอน ชักจูง สัทธิวิหาริกมีหน้าที่ที่จะต้องเปิดโอกาส ให้โอกาส ให้สามารถควบคุม ว่ากล่าวสั่งสอน ชักจูง เพื่อว่าบวชเข้ามาใหม่ๆ นี้ อย่าได้ทำอะไรผิดเลย ดังนั้นจึงมีระเบียบ มีวินัย บทบัญญัติไว้ว่า ให้อยู่ในสายตาของอุปัชฌายะ ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้ หรือว่าในสายตาของผู้แทนอุปัชฌายะ ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าเธอทั้งหลายอย่าได้มีโอกาสทำผิด หรือบก พร่อง อุปัชฌายะหรือผู้แทนอุปัชฌายะ จะเป็นผู้ตักเตือน ดูแลให้เกิดความปลอดภัยอยู่เสมอ ฉะนั้นจึงสรุปความว่า เธอจะต้องให้โอกาสแก่การควบคุมดูแลปกครอง อุปัชฌายะมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกครอง ที่นอกไปจากนั้นก็คือ เอาใจใส่ซึ่งความเป็นอยู่โดยผาสุกซึ่งกันและกัน คือช่วยซึ่งกันและกัน ให้เป็นอยู่โดยผาสุกในธรรมวินัยนี้ รวมความแล้วก็ว่าเราจะไม่ทำอะไรตามลำพัง จะต้องทำในความรู้ดูรู้เห็นของอุปัชฌายะ เพื่อจะได้ไม่ทำผิด ในโอกาสที่ไม่ได้อยู่กับอุปัชฌายะก็มีผู้แทน แม้ที่สุดจะไปบิณฑบาต ก็ไปกับด้วยอุปัชฌายะ หรือถ้าไม่สามารถก็ไปกับผู้แทน หรือผู้ที่อุปัชฌายะมอบหมายให้ดูแลแทน ฉะนั้นจะไม่ไปไหน จะไม่ทำอะไร โดยไม่อยู่ในการรู้การเห็นของอุปัชฌายะ หรือผู้แทน เธอจงพยายามกระทำให้สุดความสามารถในข้อนี้ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีนิสัยที่ถือไว้ด้วยดี เดี๋ยวนี้เราก็มีการถือนิสัยแล้ว กระทำให้เกิดการผูกผันแก่กันและกันแล้ว เราเป็นภาระของเธอ เธอเป็นภาระของเรา ต่างฝ่ายต่างเป็นภาระแก่กันและกัน ฝ่ายหนึ่งมีภาระที่จะควบคุมดูแลว่ากล่าวตักเตือน ฝ่ายหนึ่งมีภาระที่จะปฏิบัติตามการควบคุม ดูแล ตักเตือน และให้โอกาสแก่การควบคุม ดูแล ตักเตือน เธอต้องให้คำมั่นสัญญาอันนี้ โดยภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง ลุกขึ้นคุกเข่าพนมมือว่าพร้อมๆ กัน อชฺชตฺตคฺเค (บทสวดมนต์ นาทีที่ 01:15:25 - 01:16:05)
นั่งแล้วพนมมือฟังต่อไป การถือนิสัยสิ้นสุดลงถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะขออุปสมบทแล้ว ต่อไปนี้เธอก็จงรู้ว่า การอุปสมบทนั้น ต้องสวดกรรมวาจาเป็นภาษาบาลี เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่าน ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ ให้สวดโดยภาษาอื่น เราต้องสวดโดยภาษาบาลี ในการสวดนั้นต้องออกชื่อ อุปัชฌายะและผู้บวช ดังนั้นเธอจะต้องมีชื่อโดยภาษาบาลี สามเณรโกสน มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (โกสโร นาทีที่ 1.17.03) สามเณรชูศักดิ์ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (ชุติสักโข นาทีที่ 1.17.09) สามเณรไพโรจน์ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (วิโรจโน นาทีที่ 1.17.15) สามเณรสนั่น มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (สิวนาโต นาทีที่ 1.17.21) สามเณรศิรศักดิ์ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (สิรสักโข นาทีที่ 1.17.28) สามเณรพินัย มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (วินัยโย นาทีที่ 1.17.35) สามเณรวิรัตน์ มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า (วิรตโน นาทีที่ 1.17.41) ส่วนอุปัชฌายะนั้นมีชื่อโดยภาษาบาลีว่า อินทปัญโญ
เธอจงกำหนดรู้ความข้อนี้ สำหรับจะได้รู้สึกว่า เมื่อเขาได้กล่าวคำนั้นๆ ออกมา นั่นคือเขาถามเรา หรือเขาระบุมายังเรา หรือว่าเขาให้เรายืนยัน อย่างใดอย่างหนึ่ง จำชื่อโดยภาษาบาลีไว้ให้ดี ทีนี้กิจต่อไปก็จะต้องรู้ จักชื่อของผู้ให้สิ่งของเหล่านี้ว่า จีวร นั้นเรียกโดยภาษาบาลีว่า อุตตะราสงฆ์ สังฆาฏิ เรียกโดยภาษาบาลีว่า สังฆาฏิ สบง เรียกโดยภาษาบาลีว่า อันตะระวาสก อันตะระวาสะโก บาตร นี้เรียกว่า ปัตโต อย่างนี้เป็นต้นเพราะว่าหลังจากนี้ เราจะต้องทำธุระเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ โดยกรรมวาจาเป็นภาษาบาลี เช่นอธิษฐาน เช่นวิกัปป์ เช่นพินทุ เป็นต้น จำไว้ให้ดีตามคำบอกเล่าของอาจารย์ ทีนี้ก็จะมีการสวดกรรมวาจา ครั้งหนึ่งอย่างมากได้ไม่เกินสามรูป เข้ามาตามลำดับอาวุโส สามองค์นี้อยู่ก่อน สี่องค์นี้ไปนั่งที่ตรงนั้น ถอยออกไปให้ห่างจากพระเกินกว่าหนึ่งศอก ไปวางไว้ตรงหน้า ตรงนั่นแหละได้