แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การลาสิกขาบท นิยมทำกันเมื่อรุ่งสาง พอสักว่าสางๆโดยมาก แต่บางคนก็นิยมทำเมื่อมีการดูฤกษ์ยามอย่างนั้นก็มี นี่เราตามธรรมเนียมประเพณีที่เขาทำกันมาแต่ก่อนโดยมาก เวลารุ่งสาง เมื่อจะขึ้นวันใหม่ ชีวิตใหม่อีกแบบหนึ่ง นี่อีกทีหนึ่งก็คือว่าไม่ต้องทำสังฆกรรมแล้ว ถ้าลาสิกขาไม่ต้องทำในสีมาในอุโบสถเป็นสังฆกรรม ก็กลายเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคล เมื่อลาสิกขาแล้วก็เป็นอันว่า เขาก็รู้กัน นี้ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่าต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ คือด้วยความรู้สึกของจิตใจโดยถูกต้อง คือลาสิกขาแน่ เรานี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะว่าเรากำหนดการบวชการลาสิกขาไว้แล้ว เป็นอันว่าจิตใจมันก็มีการลาสิกขาแน่ ไม่เหมือนเรื่องพิเศษ เช่น เหตุเกิดขึ้นถูกจับบังคับให้สึกอะไรทำนองนี้ มันมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจมันไม่รู้จะเอายังไง เดี๋ยวนี้เรามันก็มีความรู้สึกสติสัมปชัญญะว่าลาสิกขา แล้วเราก็กล่าววาจาออกมาเป็นการลาสิกขา แล้วก็มีการกระทำทางกาย เช่น การเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ซึ่งแสดงว่าเป็นการลาสิกขา จึงมีความหมายเป็นการลาสิกขาทั้งโดยจิตใจ โดยวาจา โดยร่างกาย ก็พอแล้ว มีอยู่แต่ว่าเราทำในใจให้ถูกต้องว่าการลาสิกขานั้นคืออะไร ทำในใจถูกต้องว่าการลาสิกขาในที่นี้ ลาแต่สิกขาของภิกษุ ลาเฉพาะสิกขาของภิกษุ ไม่ได้ลาทั้งหมด ไม่ได้ลาพระรัตนตรัย ไม่ได้บอกคืนพระรัตนตรัย ไม่ได้บอกคืนศาสนาเลิกถือศาสนาหรืออะไรทำนองนั้น เป็นอันว่าเราบอกคืนเฉพาะสิกขาบทอย่างภิกษุเพื่อไปสู่ความเป็นฆารวาส
นี้การกล่าวคำบอกคืนสิกขานี้นิยมกล่าวเป็นภาษาบาลีด้วย สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้ากล่าวคืนสิกขา คิหีติ มัง ธาเรถะ พระท่านจงถือว่าข้าพเจ้าเป็นฆารวาสเป็นคฤหัสถ์ เมื่อเรากล่าวคำบาลีนี้ในใจก็รู้ความหมายว่าเราได้กล่าวลงไปอย่างนั้น นิยมกล่าวหลายครั้ง ๓ ครั้ง ถ้าจิตใจมันเรียบร้อยถูกต้องก็พอ บางคนอาจจะกล่าวมากกว่านั้น เมื่อได้กล่าวด้วยความรู้สึกเรียบร้อยแล้ว ๓ ครั้งก็ได้ ก็กราบลงแสดงให้เห็นว่าได้กล่าวเป็นที่พอใจแล้ว ที่นี้ก็จึงกระทำการเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราจงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ คือ มีสติสัมปชัญญะ ไม่ ไม่งกๆเงิ่นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เคอะเขิน ไม่ คือใจคอปกติ ก็กล่าวคำบอกคืนสิกขา เนื่องจากว่าพุทธบริษัทเราทำอะไรต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ไม่ทำอย่างผลุนผลัน ทำอะไรนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนจนเป็นระเบียบเป็นธรรมเนียมไปเลย เขาจึงมีการตั้งนโมก่อน ๓ ครั้งก็ได้ เพื่อนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อมีใจคอปกติ แล้วจึงได้กล่าวคืนสิกขาต่อจากนะโม เดี๋ยวนี้ถ้าเมื่อพร้อมแล้วก็เตรียมตัวได้ คือ ต้องคุกเข่าขึ้น พนมมือ กล่าวนะโม แล้วกล่าวคืนสิกขา
(พระนวกะกล่าวบทสวด) นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ) สิกขัง ปัญจักขานิ
(เสียงท่านพุทธทาส) ไม่ใช่ปัญ ปัจ
(พระนวกะกล่าวลาสิกขา) สิกขัง ปัจจักขานิ คิหีติ มัง ธาเรถะ (๓ จบ)
(เสียงท่านพุทธทาส) กราบ แล้วเข้ามาใกล้หน่อย บัดนี้เราก็ได้กล่าวคำบอกคืนสิกขาแล้ว ด้วยความรู้สึกในใจด้วย เราจึงไม่มีความชอบธรรมอันใดที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป น่าจะต้องเปลี่ยน ไปที่ตรงไหนที่เหมาะๆ
(เสียงพระนวกะเบามาก)
(เสียงท่านพุทธทาส) ทีนี้นั่ง นั่งราบทำความเข้าใจกันอีกนิดหนึ่ง ตั้งใจฟังให้ดีให้สำเร็จประโยชน์ มีการให้ศีลแล้วก็มีการให้พร ตามธรรมเนียมของการลาสิกขา เราไม่ได้ทำพิธีชะยันโตรดน้ำมนต์ เป็นโอ่งเป็นอะไรให้เอิกเกริก เพราะว่ามันก็ทำกันมามากแล้วก็ยังจะทำกันอีก เดี๋ยวนี้ก็อยากจะให้พรรดน้ำมนต์แบบของพระพุทธเจ้าดูบ้าง ไม่สะอาดได้ด้วยการอาบน้ำรดน้ำ แต่สะอาดได้ด้วยการชำระจิตใจหรือว่าดำรงจิตใจเอาไว้ในลักษณะที่ถูกต้อง ดังนั้นการรดน้ำมนต์ในแบบนี้ ก็คือ การพูดจาชี้แจงให้เข้าใจให้เกิดความกล้าหาญ เกิดกำลังใจ ในการที่จะดำรงจิตใจไว้ให้มันถูกต้องตลอดไป เดี๋ยวนี้เราก็ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ทำดีที่สุดที่จะทำได้แล้ว ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองด้วย ให้เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาด้วย ให้เป็นประโยชน์แก่โลกเป็นส่วนรวมด้วย ขอให้มองเห็นว่าเราได้ทำแล้วมีผลตามมากตามน้อยตามสมควรแก่การกระทำ แล้วก็มีปีติปราโมทย์จดจำเอาไว้ว่าได้เคยบวชแล้ว อย่าให้เสียทีที่ได้เคยบวชแล้ว ที่นี้ความเป็นฆารวาสถ้าว่าบวชเพื่อศึกษาสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ความเป็นฆารวาสก็คือการฝึกฝน การเป็นอยู่อย่างเข้มแข็ง อย่างถูกต้อง ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งความนึกคิดหรือสติปัญญา เราลองเป็นอยู่อย่างบรรพชิต ฉันอาหารแต่น้อย กินอยู่ใช้สอยให้ต่ำที่สุด มันก็ได้ทำมาแล้ว มันพิสูจน์ว่ามันสิ่งที่กระทำได้
ฉะนั้นเราคงจะไม่ลำบากในการที่จะเป็นอยู่ให้ต่ำ เรื่องกิน เรื่องนุ่งห่ม เรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย บริหารกายอะไรก็ตามให้มันไปในลักษณะที่ต่ำ เพื่อว่าอาจจะไม่เป็นโอกาสแก่กิเลส ถ้าเราเป็นอยู่ให้ต่ำ มันไม่ได้โอกาสแก่กิเลส ถ้าเราเป็นอยู่ให้มันสูงก็คือตามอำนาจของกิเลส ดังนั้นเดี๋ยวนี้เราก็สามารถที่จะเป็นอยู่ที่ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส ให้มันต่ำอยู่เสมอจนกิเลสมันไม่ได้ ไม่ได้เหยื่อ แล้วมันเป็นการเป็นอยู่ที่ถูกต้องด้วย เป็นการอยู่ที่ถูกเงินดีในทางเศรษฐกิจด้วย ฉะนั้นจะเป็นอยู่ในทางที่จะเป็นอนามัยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย การเป็นอยู่อย่างต่ำหมายความว่าอย่างนี้ เราก็ได้ชิมได้ลองได้ฝึกฝนจนเป็นที่เข้าใจเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตได้ด้วย นี้เรื่องทางจิตถ้าได้ฝึกฝนจริงมีการบวชจริงเรียนจริง มันก็ได้ฝึกจิตมากอยู่ สามารถที่จะบังคับจิตให้อยู่ในร่องในรอยได้ ฆารวาสเขาไม่เคยบังคับจิตก็ปล่อยไปตามอารมณ์ มันจึงมีเรื่อง ถ้าบังคับจิตได้ไม่ปล่อยไปตามอารมณ์มันก็อยู่แต่ในลักษณะที่ถูกต้อง มันก็ไม่มีเรื่องกับใคร แล้วตัวเองก็มีความสงบสุขด้วย มันดีอย่างนั้นสำหรับการฝึกจิตคือการบังคับจิต เราควบคุมจิตได้นั่นเอง ไม่ทำเรื่องให้เกิดเรื่องกับคนภายนอก แล้วก็ไม่ทำตัวเองในภายในให้เดือดร้อน ก็เรียกว่าได้ฝึกฝนสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความเป็นฆารวาส เมื่อกลับสึกออกไปมันก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในส่วนนี้ ทีนี้เกี่ยวกับสติปัญญา ทิฐิ ความคิดความเห็น เชื่อว่าคงจะได้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คือ แสงสว่างในทางวิญญาณนั้นคงจะมีมากกว่าแต่ก่อน นี่ก็นับว่าเป็นผลดี ฉะนั้นเราเป็นการได้ที่ดีทั้งในการเป็นอยู่การบังคับจิตและการอบรมสติปัญญา ขอให้ได้ประโยชน์อันนี้ติดไปให้เป็นประโยชน์ในความเป็นฆารวาสตลอดไป เพื่อให้ความเป็นฆารวาสนั้นเป็นไปโดยเรียบร้อยมีผลมีกำไรได้จนถึงที่สุด
การบวชแล้วสึกนี่มักจะถือกันว่าไอ้การสึกที่นี้ให้เป็นจุดตั้งต้นใหม่ เพราะว่าที่แล้วมา เราไม่เคยบวช ไม่ได้บวช ไม่ค่อยรู้อะไร แล้วก็จะทำอะไรผิดๆพลาดๆไปบ้าง เป็นอันว่ายกเลิกกันไม่ต้องเอามาคิดนึกให้รำคาญ เดี๋ยวนี้เราได้รับการศึกษาแล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด นี่จะตั้งต้นใหม่ไม่ให้มีผิดให้มีแต่ถูก นั่นมันเป็นการทำให้มีคะแนนบวกเรื่อยไป อย่าให้มีคะแนนลบเหมือนแต่หนหลัง บวกๆลบๆนี้มันก็ไม่ค่อยดีนัก ขอให้มีแต่คะแนนบวก เราก็มีสติสัมปชัญญะดำรงชีวิตให้มีแต่ความถูกต้อง ความเป็นฆารวาสมันก็จะต้องมีแต่คะแนนบวก คือ ไม่มีผิดพลาด ไม่มีเรื่องลบ เพราะว่าอันที่จริงแล้วจะเป็นฆารวาสนี้มันก็ไม่ ไม่ยากกว่าการเป็นพระ ถ้าเป็นพระที่ดีได้การเป็นฆารวาสที่ดีไม่ยากไปกว่าการเป็นพระที่ดี ก็ขอให้ทำให้มันได้ถึงจุดหมายของความเป็นฆารวาส ซึ่งเขาวางไว้เป็นหลักกว้างๆ ว่ามีทรัพย์สมบัติพอตัวที่ควรจะมี และมีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัวที่ควรจะมี แล้วก็มีมิตรสหายเคารพนับถือรักใคร่ช่วยเหลือมากพอตัวเท่าที่ควรจะมี ทรัพย์สมบัตินี้ถ้าปฏิบัติตามหลักที่ปฏิบัติมันก็ต้องมีมันก็ต้องค่อยๆ มีขึ้นมา ก็จนกว่าจะมีพอสมควร นี่ก็สำเร็จประโยชน์ข้อหนึ่ง นี้ต้องดำรงตัวดีมีคนนับถือเพื่อที่ว่าเกียรติยศชื่อเสียง บางคนมีทรัพย์สมบัติแต่ไม่มีใครนับถือก็มี ฉะนั้นต้องระวังในข้อนี้ ให้มีชื่อเสียงให้มีคนนับถือ ทีนี้ข้อ ๓ มีคนรักใคร่ คนรวยแต่ไม่มีใครรักมีคนแช่งด่าก็มี มีเกียรติยศชื่อเสียงแต่มีคนแช่งด่าก็มี ฉะนั้นเราจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น ทรัพย์สมบัติก็มีชื่อเสียงก็มีแล้วก็มีคนรัก ที่ ที่ ที่อยู่ต่ำต้อยกว่าเราก็รักเรา ที่เสมอกันกับเราก็รักเรา ที่สูงกว่าเราก็รักเรา เราก็อยู่ในความปลอดภัย เพราะมีแต่คนรักโดยรอบด้าน ถ้าทำได้สำเร็จประโยชน์ ๓ ประการนี้ ก็ชื่อว่าเป็นฆารวาสที่ดีที่สุดแล้ว สำหรับที่จะเป็นพืชพันธุ์ของมนุษย์ที่ดีต่อไป นี่ขอให้ตั้งใจทำให้สำเร็จประโยชน์
เรื่องอาชีพนี่มันก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี ทำให้ดีที่สุด มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว เงินก็จะได้ชื่อเสียงก็จะได้ ความรักจากสังคมก็จะได้น่ะด้วยการประกอบอาชีพให้ดีๆ เพราะว่าการประกอบอาชีพนั้นก็คือการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว ปฏิบัฅิธรรมะนั้นไม่มีอะไรนอกจากทำหน้าที่ของตนให้ดี ให้ถูกต้อง ตามหน้าที่ของตนเท่านั้น นี่คุณไปที่โน่นดีกว่า…(17.23-17.25) ปฏิบัติธรรมก็คือการทำหน้าที่ของตนแต่ละคนๆตามฐานะให้ดีที่สุด ดังนั้นเรามีอาชีพเป็นอะไรก็เป็นให้ดีที่สุด จะหาทรัพย์สมบัติได้ จะหาเกียรติยศชื่อเสียงได้ หาความรักจากรอบด้านได้ก็จากอาชีพนั่นเอง ทีนี้ก็มีสติสัมปชัญญะตามที่ได้ฝึกฝนมา นี่คุณไปทำบุญที่ตรงโน้นเขาจะให้หนังสือให้อะไรกับคุณ สำเร็จด้วยเรื่องสติมีสติปัญญาเพียงพอ มีการบังคับตัวเองเพียงพอ สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ มีความจริงใจ มีการบังคับตัวให้ทำตามความจริงใจ มีความอดกลั้น อดทน มีการสละไอ้สิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจนั้นออกอยู่ตลอดเวลา เรื่องนี้ไปหาอ่านโดยรายละเอียดได้ในเรื่องที่เรียกว่า ฆารวาสธรรม ธรรมะเรียกว่าฆารวาสธรรมมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ฆารวาสอันมีธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นหัวใจ สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ ที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ควรจะได้ควรจะต้องการ ในทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ความรักจากสังคม มันก็ได้มาจากไอ้ ๔ ประการนี้ เพราะว่า ๔ ประการนี้เป็นเครื่องมือทำให้สำเร็จ ไม่ว่าอะไรถ้าใช้ ๔ ประการนี้ก็สำเร็จในสิ่งที่จะต้องทำ ดังนั้นไปเรียนเสียใหม่ ไปศึกษาเสียใหม่ ไปแยกแยะเสียใหม่ เอามาใช้ให้ทันแก่เวลาทุกเรื่องทุกราวไป สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ เรื่องก็จะหมดปัญหาว่าการเกิดมาชาติหนึ่งนี่มันจะหมดปัญหาได้ด้วยการมีธรรมะ สำหรับให้ประสบความสำเร็จเรื่องอิทธิบาท ๔ เรื่องอะไรต่างๆ มันก็รวมอยู่ในนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้มันก็คือมีอิทธิบาท ๔ สำเร็จรวมอยู่ในนั้นด้วย ไอ้สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ
ทีนี้เราก็ศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพราะว่าการบวชนี้ ชั่วเวลาอันสั้นจึงรู้ได้แต่คราวเงื่อนคือจุดตั้งต้นหรือคราวเงื่อน ก็ศึกษาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จัดเวลาวันเสาร์วันอาทิตย์ที่มันพอจะว่างได้บ้างตอนไหนให้มันเป็นเวลาสำหรับศึกษาธรรมะเพิ่มเติม มีเพื่อนสำหรับถกกันบ้างมันยิ่งดีมันยิ่งละเอียดแล้วมันสนุกด้วย ถ้ามันมีเพื่อนสำหรับถกกันบ้าง คบหาสมาคมกับผู้ที่อาจจะให้ประโยชน์ในข้อนี้ ดังนั้นก็ยังคงติดต่อกับวัดวาศาสนาไปตามเดิม แล้วถ้าเราจะช่วยผู้อื่นได้ในเรื่องอันเกี่ยวกับวัดวาศาสนาก็ช่วย จะมีประโยชน์โดยอ้อมเราอาราธนาศีลได้ เราอารธนาธรรมได้อย่างนี้มันก็ดีกว่าไม่ได้ เราก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆต่อไปข้างหน้า เอาละเป็นอันว่าไอ้ธรรมะที่มันเป็นเสมือนน้ำมนต์น่ะที่เขาจะให้กันในเวลาลาสิกขานั้นมันมีอยู่อย่างนี้ มันเป็นน้ำมนต์จริงที่ซึมเข้าไปได้ถึงจิตใจ มนต์ คือ มนตะ มาจากบาลี มนตะ คือ มนต์ คำว่ามนต์ แปลว่า ความคิด ความรู้ น้ำมนต์ คือ น้ำที่ประกอบไปด้วยความคิดและความรู้ ถ้าน้ำในโอ่งมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับความคิดและความรู้ มันต้องเป็นเรื่องราวของพระธรรมซึ่งเปรียบเสมือนน้ำ เป็นเรื่องราวของความคิดและความรู้ ธมฺโม รหโท อกทฺทโม นี่พระบาลีว่าอย่างนี้ว่าธรรมะเหมือนห้วงน้ำใสที่ไม่มีตะกอน แล้วมีธรรมะนั่นแหละเป็นน้ำมนต์ น้ำใสไม่มีตะกอนรดลงไปถึงจิต ถึงวิญญาณ ถึงส่วนลึก ก็คือ ความรู้ ความคิด อันเกี่ยวกับ พระธรรม พระศาสนา วิธีดับทุกข์ แสงสว่างแห่งชีวิตที่เรียกว่า น้ำมนต์ รด อาบได้บ่อยๆ ที่นอนก็ไม่เปียก ดังนั้นพยายามอาบน้ำมนต์อยู่เสมอ โบราณเขานิยมรดน้ำมนต์ลงอาบในแม่น้ำคงคา น้ำศักสิทธิ์ทำให้หมดบาป ทำให้ไปสวรรค์ นั้นมันแบบโบราณ เรามาตีความหมายว่าไอ้น้ำๆ น้ำมนต์นี่คือ ธรรมะ เรารดในหัวใจ แล้วก็หมดบาป แล้วก็ไปสวรรค์ด้วยเหมือนกัน เอาละเป็นอันว่า เตรียมตัวดีที่สุดแล้วสำหรับที่จะก้าวหน้าต่อไปในชีวิตของคฤหัสถ์ นี่ก็ขออวยพรให้เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญ เชื่อแน่ แน่นแฟ้นในการที่จะดำรงตนอยู่อย่างถูกต้องในทางธรรมะ และมีความเจริญงอกงาม ก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ กราบ
นี่เอาไปเก็บไว้สำหรับเตือนตัวเองว่าได้บวชแล้ว อย่าทำอะไรให้เสียทีที่มันได้บวชแล้ว เอาไปเก็บไว้ในตู้สมุด
รู้เสียว่านี่คืออะไร นี่เป็นอย่างไร นี่จะต้องทำอย่างไร มันไปเสียทางนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ทำให้เกิดไอ้กิเลส คือ ความรัก หรือ ความโกรธ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่มันทำให้เกิดกิเลสหรือความโง่ เรารู้จักทางแยก ๒ แพร่ง หรือทางที่มันจะไปทางไหนนี่ ก็ตรงนี้ ตรงที่ว่ามีการกระทบทางอายตนะ หลังจากนั้น มันจะปรุงไปทางไหน ถ้าสติมี ปัญญามี วิชามี ก็ปรุงไปทางเรื่องของสติปัญญา ไม่ ไม่เป็นตัวกูของกู มันก็ดับเป็นความ เป็นนิพพาน ดับเป็นความไม่มีทุกข์อยู่เรื่อยไป ทำงานไป คิดไป อะไรไปเป็นเรื่องของวิชา ของปัญญา ดับอยู่เรื่อย ไม่มีคน ไม่มีเกิด แต่ถ้าในโอกาสเช่นนั้น มันเผลอ มันโง่ มันด้วยวิธีใดก็ตาม มัน มีอวิชาที่เป็นต้นเหตุของปัญหา อุปาทาน เกิด แล้วเกิดตัวกู เกิดรัก เกิดโกรธ แล้วแต่กรณี มันก็มีความทุกข์ เป็นนรกบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง ไปตามเรื่อง อย่างดีที่สุดก็เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม มันก็มีความทุกข์ตามแบบมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งนั้นไม่ยกเว้น ถ้ามันเกิดเป็นตัวกู ของกู คือ เกิดเป็นคนขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น ยึดมั่นถือมั่นอย่างเทวดา ก็ทุกข์อย่างเทวดา ยึดมั่นถือมั่นอย่างพรหม ก็ทุกข์อย่างพรหม จนกว่าจะดับไอ้ตัวกูของกูเสียก่อนจึงจะเป็นนิพพานไปตามเดิม
ทีนี้จะพูดให้น่าชื่นใจก็ว่าคนนี้มันเพิ่งเกิด อย่าท้อถอย คนนี้มันเพิ่งเกิดฉะนั้น ระวังอย่าให้มันเกิด ไอ้ผีบ้านั่นอย่าให้มันเกิด มันก็จะเป็นนิพพานอยู่เรื่อย เป็นนิพพานชนิดตทังคนิพพานอยู่เรื่อยไป ความประจวบเหมาะของการที่ไม่เกิดตัวกูของกูนี้มันมีอยู่เรื่อย ก็เรียกว่าตทังคนิพพาน ตลอดเวลาที่เป็นตทังคนิพพานมันก็เย็นสบายเป็นสุขประกอบไปด้วยธรรมะอยู่เรื่อย แล้วอย่าเผลอนะ พอเผลอทีเมื่อไรมันเกิดวัฏฏสงสารเป็นตัวกูของกู เป็น เป็นใน ๘ อย่างนั้นน่ะ ที่ว่านก ๘ นกติดอยู่ในใยแมงมุมนั่นแหละ เป็นอบาย ๔ นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย เป็นมนุษย์หนึ่ง เป็นเทวดา กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ๓ รวมกันเป็น ๘ ถ้าเกิดเป็นคนมันก็เป็นชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๘ ชนิดนี้ แล้วมันก็ได้ทุกข์ มันเป็นวัฏฏสงสารขึ้นมา สังขาราปรมาทุกขา หมายความว่า ถ้ามีการปรุงแต่งนี่ก็มีความทุกข์อย่างยิ่ง ที่มันไม่มีการปรุงแต่ง ที่เป็นตัวกู หรือปรุงแต่งเป็นคนเกิด มันก็เป็นนิพพานอยู่เรื่อยไป มันจึงสอนว่า ให้ทำงานด้วยจิตว่าง ก็คือ ทำงานด้วยนิพพาน ทำงานด้วยจิตที่ดับ เป็นไม่มีตัวกูของกู มีจิตเป็นตทังคนิพพานอยู่เรื่อย ทำงานไปเรื่อยตทังคนิพพานนั้น นี่เรียกว่า ทำงานด้วยจิตว่าง มันไม่ง่ายนักหรอก คุณก็รู้อยู่แล้ว ว่ามันไม่ง่ายนัก แต่ถ้าคุณพยายามไปๆ มันก็จะดีขึ้นๆ จนสามารถทำงานด้วยจิตว่าง
ดังนั้นขออย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สนใจ ถือว่าเป็นเรื่องทั้งหมดในพรหมจรรย์ ในศาสนานี้ที่วันหนึ่งๆๆ จะพยายามทำงานด้วยจิตว่าง คือ ทำงานอยู่ด้วยนิพพานเรื่อยไปไม่มีสังสารวัฏ พอเผลอ เอ้า,มันก็เป็น เป็นสังสารวัฏ เช่น โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ โกรธเครื่องไม้ โกรธเครื่องมืออะไรขึ้นมา มันก็เป็นผีบ้า เกิดขึ้นในทันใดนั้นเป็นคนขึ้นมา เป็นตัวกูของกูขึ้นมา ถ้าร้อนก็เป็นสัตว์นรก ถ้าโง่ ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าหิวก็เป็นเปรต ถ้ากลัวก็เป็นอสูรกายอย่างนี้ หรือจะเป็นมนุษย์มีความหมายเป็นความเหน็ดเหนื่อยเดือดร้อนอยู่ในความเหน็ดเหนื่อย เป็นเทวดาเพลิดเพลินอยู่ในกามารมณ์บ้าง ด้วยความสุขในรูปบ้าง ความสุขในอรูปบ้าง มันล้วนแต่เป็นคนบ้าทั้งนั้นน่ะ คือ ไม่ปกติทั้งนั้น แต่ว่าไอ้อย่างหลังที่เขาเรียกว่า สุขคติ คือ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม นี้มันน่าดูหน่อย จึงจัดเป็นสุขคติ ไม่จัดเป็นทุกขคติ แต่แล้วทั้งสุขคติ ทั้งทุกขคตินี่ก็ยังเป็นคนที่ประกอบขึ้นด้วยอวิชชา ยังเป็นวัฏฏสงสารอยู่ ที่นี้ไอ้ ไอ้สัตว์ในในชุดสุขคตินี้ ในบางเวลามันไม่ได้เป็นวัฏฏสงสารเป็นนิพพาน เป็นมนุษย์นี่แต่อย่าโง่ให้มันมากเกินไป อย่าปรุงเป็นตัวกูของกู มันก็เป็นนิพพานอยู่ มีความสุขพอสมควรอยู่ พอเกิดตัวกูของกูมันก็เป็นนรก เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นอบายขึ้นมาทันที
เมื่อเราพูดว่าคนเพิ่งเกิดมันก็พูดได้เลยว่า แม้นรก สัตว์นรก ก็เพิ่งเกิด เดรัจฉานก็เพิ่งเกิด เปรตก็เพิ่งเกิด อสูรกายก็เพิ่งเกิด เทวดาก็เพิ่งเกิด พรหมก็เพิ่งเกิด แล้วแต่จิตใจมันจะปรุงแต่งขึ้นในลักษณะไร ความหมายเขาระบุไว้ชัดแล้ว อย่างนั้นเรียกว่าเดรัจฉาน ไอ้อย่างนั้นเรียกว่านรก อย่างนั้นเรียกว่าเดรัจฉาน เปรต อสูรกาย มนุษย์ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร มันมีบัญญัติไว้ ง่ายแก่การศึกษาอยู่แล้ว นี่หมายความว่าคนโบราณที่เป็น บัณฑิต นักปราชญ์ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นต้น ท่านรู้ลักษณะของความเปลี่ยนแปลง ของการปรุงแต่ง ของการเกิดนี่ครบทุกอย่างแล้ว เราก็สะดวก เรียนได้เลย ไม่ต้องคิดเอง แต่แล้วทั้งหมดนั้น มันไม่ไหวทั้งนั้น คือ เป็นตัวกูของกูอยู่ทั้งนั้น ตัวกูของกูอย่างเลวบ้าง อย่างกลางบ้าง อย่างดีบ้าง แต่ถ้าเป็นตัวกูของกูแล้วมีความทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์อย่างเลวบ้าง ทุกข์อย่างกลางบ้าง ทุกข์อย่างดีบ้าง เป็นเทวดา ทุกข์อย่างเทวดา เป็นพรหม ทุกข์อย่างพรหม ยังมีกิเลสตัณหาตามแบบของตนๆ จนกว่าจะเป็นพระอริยะเจ้า ดังนั้นพวกเทวดาจึงอยากมาเกิดในมนุษยโลก เพื่อพบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระพุทธภาษิตตรัสอยู่อย่างนี้ ที่พูดว่าพระพุทธเจ้าขึ้นไปโปรดเทวดาบนดาวดึงส์นั้นไม่มีในพระพุทธภาษิต ผมท้าให้ค้นในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎกก็ยังไม่มี เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นทีหลังว่าเอาเองว่าพระพุทธเจ้าขึ้นไปโปรดเทวดาบนดาวดึงส์นั้นน่ะ
แต่เรื่องที่มีในคัมภีร์มัชฌิมนิกายชัดๆ พระพุทธเจ้าพูดถึงเทวดาปรารภกันว่า เทวดาตายลงนี้จะไปเกิดที่ไหนดี ในที่สุดตกลงกันว่ามาเกิดที่มนุษย์นี้ มนุษยโลกนี้เป็นสุขคติของเทวดา จะได้พบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยง่าย ฉะนั้นอย่าได้ไปหลับหูหลับตาหลงใหลเทวดาสวรรค์วิมานอะไรนัก มันเป็นตัวกูของกูที่หวาน ที่หอม ที่มีเสน่ห์มีอะไรก็จริง แต่มันมีความทุกข์ตามแบบนั้นๆ จะดับทุกข์ได้ต้องไม่มีตัวกูของกู คือ ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวว่าตน ว่าสัตว์ ว่าคน ว่าเรา ว่าเขาอย่างนี้ นี่จึงจะมีความ ความสุขหรือดับทุกข์ได้ ถ้ายังมีสำคัญมั่นหมายเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ตัวกู ตัวสู อันนี้มันก็คือ วัฏฏสงสาร ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ในกองทุกข์ นี้อย่าไปดูวัฏฏสงสารที่อื่น ดูวัฏฏสงสารมันก็เพิ่งเกิดๆ บ่อยๆ เกิดที่นี่และเดี๋ยวนี้และเกิดอยู่บ่อยๆ วัฏฏสงสารเกิดอยู่บ่อยๆ ยินดีก็เป็นเป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ยินร้ายก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ความรักก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ความโกรธก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ก็มีอยู่เท่านี้ เดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้ายเดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้ายอยู่นี่ เป็นวัฏฏสงสารอยู่เท่ากัน อย่าวัฏฏสงสารต่อตายแล้ว แล้วก็อย่าได้คิดว่าวัฏฏสงสารนี้อยู่เกิดตลอดเวลา เหมือนที่คนโง่เขาคิด อวิชชาก็เพิ่งเกิด คนก็เพิ่งเกิด เพราะฉะนั้นวัฏฏสงสารมันก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อโง่ เพิ่งเกิดเมื่อมีความโง่ทำให้เกิด รู้สึกเป็นตัวกูของกูนี่จึงเป็นวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารก็คือของเพิ่งมาและเพิ่งเกิด คือ ตัวกูนั่นแหละ หรือว่าที่เรียกว่าอวิชชาหรือกิเลสนั่นแหละ ถ้ามันอย่าเกิดมามันก็เป็นนิพพานชนิดตทังคนิพพานอยู่เรื่อยไป ความประจวบเหมาะถูกต้องตามธรรมชาติไม่เกิดความทุกข์เป็นตัวกูของกูก็สบาย
เคยพูดว่าไหนๆเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที ก็อย่าให้เสียเปรียบสุนัข เพราะว่าสุนัขมีวัฏฏสงสารน้อย เกิดตัวกูของกูน้อย เพราะมันคิดไม่เก่งเหมือนคนนี่ มันมีเวลาที่ไม่ทุกข์มากกว่าคน ฉะนั้นคนอย่าด้อยกว่าสุนัข พยายามปรับปรุงอบรมตัวเองให้ดี ให้มันเกิดตัวกูของกูน้อยลงทุกที แล้วมันก็เก่งกว่าสัตว์เดรัจฉานเพราะเราก็ไม่มีความทุกข์ด้วย แล้วก็ทำประโยชน์อะไรต่างๆได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมายนัก มีสติปัญญารู้อะไรได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมายนัก แต่ถ้าไม่ถือตามหลักนี้คือไม่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแล้วคนจะเลวกว่าสุนัข เพราะจะเกิดตัวกูของกู โลภะ โทสะ โมหะ เดือดร้อนวุ่นวาย ตลอดๆทั้งวันทั้งคืนยิ่งกว่าสุนัข นี่รอดมาได้เพราะสติปัญญาของพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ พวกเราก็รับช่วงต่อๆกันมา พุทธศาสนาไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องว่าอย่าสำคัญมั่นหมายสิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกู พระพุทธภาษิตข้อที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พูดกันแล้วพูดกันอีกนั่นแหละอย่าเห็นเป็นของเล็กน้อยและอย่าลืมเสีย สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู พอไปยึดมั่นเป็นตัวกูของกูเมื่อไรก็เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน เปรต อสูรกาย เป็นวัฏฏสงสารขึ้นมาทันที ส่วนมากเป็นอบายคือความทุกข์ แม้จะไปหลงเป็นเทวดาอยู่ก็เป็นเทวมีความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ตามแบบของเทวดา โง่ที่สุดเพราะไปหลงในกามารมณ์อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้นถ้าเรามีสติอยู่เสมอว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ มีสติจริงๆ ไม่ใช่ปากท่องปากว่านะ สติไม่ใช่ปากว่าหรือปากท่อง คือ ความรู้สึกในใจ รู้สึกแจ่มแจ้งจริงๆ ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ นี่คือสติ สติที่มีอยู่ แล้วสตินี้อย่าเผลอไปเสีย อย่าขาดตอนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออารมณ์มากระทบ ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี นั้นเป็นวินาทีที่แพงที่สุด อย่าเผลอเป็นอันขาด ถ้าเผลอตรงนั้นก็จะฉิบหายหมด ให้ความรู้ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ มันอยู่ตลอดเวลาเมื่ออารมณ์มากระทบ ทีนี้เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นแล้ว ควรทำอย่างไรก็ทำไปตามสติปัญญานั้น ถ้าไม่มีเรื่องจะต้องทำก็ไม่ต้องทำ ถ้ามีเรื่องต้องทำก็ทำ เช่น เราจะกินข้าว จะอาบน้ำ จะไปถาน จะทำการทำงาน จะช่วยเหลือผู้อื่น จะทำอะไรก็ทำไปก็ทำไปตามสติปัญญานั้น อย่าปรุงไปถึงขนาดว่า มีตัวกู มีตัวสู มีได้ มีเสีย มีรัก มีโกรธ มีเกลียด มีกลัวนี้ นี่คำว่าสติ หมายถึง ความรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มาช่วยเราทันท่วงที ถ้าเราเขียนจดไว้ในสมุดหรือท่องจำไว้ สักว่าจำๆไว้ มันไม่มาทันท่วงทีก็เรียกไม่มีสติอยู่นั่นเอง ไอ้ความรู้หรือสติปัญ ความรู้หรือปัญญาที่มาทันท่วงทีนี้เราเรียกว่า สติ พอถูกเข้าครั้งหนึ่ง เผลอสติก็ควรจะรู้จักเข็ดรู้จักหลาบกันเสียบ้าง อย่าเป็นคนที่โง่ถึงขนาดไม่รู้จักเข็ด ไม่รู้จักหลาบ หรือว่ารู้จักละอายกันเสียบ้าง อย่าเป็นคนหน้าด้าน ไม่รู้จักละอายเสียเลย ถูกเข้าอย่างนี้เป็นทุกข์ เป็นร้อน เป็นไฟ เป็นนรก ในจิตในใจแล้ว ยังไม่รู้จักละอายอย่างนี้ นี่ว่าเป็นคนหน้าด้าน มันก็ได้โอกาสข้างฝ่ายกิเลสมันจะมาได้โดยสะดวกด้วยมากขึ้นๆ หรือว่ามีความกลัวกันเสียบ้างว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไม่มีอะไรน่ากลัวกว่า หรือว่ากลัวจริงๆ มันก็เผลอยากอีกเหมือนกัน
ฉะนั้นจึงพูดว่า รู้จักเข็ดหลาบกันเสียบ้าง รู้จักละอายเสียบ้าง รู้จักกลัวเสียบ้าง มันก็จะดีขึ้นๆ ในทางที่จะไม่เผลอสติ นี้เราก็ลองคิดเปรียบเทียบว่า ไอ้สัตว์เดรัจฉานนี่ใครสอนมัน จะเป็นสุนัขหรือเป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทไหนก็ตาม ไอ้เรื่องต่างๆ นั้นใครสอนมัน มันธรรมชาตินั่นแหละสอน ชีวิตนั่นแหละสอน เช่น สุนัข ทำไมไม่ไปงับก้อนถ่านไฟกินเข้าไป ใครสอนมัน คือธรรมชาติมันสอน ชีวิตนั้นมันสอน มันเคยไปดมถ่านไฟ หรือว่าไปแตะถ่านไฟเข้าแล้วมันก็รู้ว่ากินไม่ได้ อันตรายมันก็ไม่กินอีกต่อไปนี่ มันฉลาดขึ้นมาได้โดยธรรมชาติสอนพอสมควร มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้ ที่มนุษย์ดีกว่า ดีกว่าสัตว์มาก มันควรจะฉลาดกว่ากันหลายเท่า หลายสิบเท่า จนรู้ว่าอะไรไปแตะเข้าไม่ได้ คือรู้ว่าความรู้สึก ความคิดนึกชนิดไหนไปแตะเข้าไม่ได้ แตะเข้าแล้วร้อนเหมือนกับกินถ่านไฟ มันก็ได้แก่ความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกูว่าของกู อย่างนี้ไปแตะเข้าน่ะมันร้อน ทีนี้มันเป็นสุนัขโง่หรือคนโง่ โง่ขนาดที่ว่าไปคาบถ่านไฟแล้วยังไม่รู้ว่าร้อน นี่คือคนที่ชุ่มแช่อยู่ในตัวกูของกูแล้วก็ยังไม่รู้ว่ามันร้อนหรือมันเป็นทุกข์ นี่คนเป็นอันมากกำลังถูกตัวกูของกูขบกัดอยู่ทุกวันก็ยังไม่รู้ว่านี่เป็นอสรพิษ หรือเป็นไฟ หรือเป็นยาพิษ นี่มันก็คือ คนโง่ ไม่รู้จักไฟ ไฟในภาษาธรรม คือ กิเลส ไฟในภาษาวัตถุ คือ ไฟแดงๆที่เรารู้จักกันดี แต่ไฟในภาษาธรรม คือ กิเลสนี้ไม่ค่อยจะรู้จัก ถึงรู้จักแล้วก็ไม่รู้จักเข็ดหลาบ ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว ทำผิดซ้ำๆอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นเข้าใจกันเสียทีว่า เรื่องมันไม่มาก เรื่องมันไม่ยาก เรื่องมันไม่ลึกซึ้ง แต่มันอยู่ที่ความเหลวไหลของคนนั่นเอง ความไม่จริง ไม่เอาจริง ไม่ซื่อตรงของคนนั่นเอง ไม่รู้จักเข็ด ไม่รู้จักหลาบ ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว
นี่เรื่องว่าบวชเข้ามานี้บวชมาทำไม ก็เพื่อจะศึกษาเรื่องนี้ จะรู้เรื่องนี้ให้มันเร็วข้า แต่แล้วกลับมาไม่รู้เสียอีก กลับมาไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้เสียอีก มันก็ไม่ ก็เหมือนกับไม่ได้บวช ฉะนั้นก็จะสู้คนที่ไม่ต้องบวช ไปนั่งคิดนึกๆ ให้ดีๆ อยู่ในป่าที่ไหน นานๆเข้าก็รู้ หรือว่า มีจิตใจเปลี่ยนแปลงไปไกลลิบ จนไม่อยากจะแตะต้องสิ่งเหล่านี้ก็ได้ เราก็ได้เห็นอยู่ว่านักบวชบางคนก็มาลุ่มหลงอยู่ในลาภสักการะสรรเสริญไอ้ที่เป็นต้นเหตุของกิเลสนั้น ยิ่งไปกว่าเมื่อเป็นฆารวาสเสียอีก ถ้าบรรพชิตนี่มัวเมาในลาภสักการะสรรเสริญไอ้ความสุขทางเนื้อหนังยิ่งกว่าฆารวาสบางคนไปเสียอีก ก็มีอยู่ทั่วๆไป แล้วมันจึงไม่มีฆารวาสหรือไม่มีบรรพชิตสำหรับเรื่องนี้ ถ้าจะให้มีมันก็ต้องมีต่างกันนิดเดียวว่า บรรพชิตนี่จะเอาจริง จะไปก่อน จะไปเร็ว จะศึกษากันอย่างจริงๆ พวกฆารวาสก็ทำไปอย่างล้มลุกคลุกคลาน พวกบรรพชิตก็จะควบคุมจิตใจไว้เป็นอย่างดี ไม่ให้มันล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันก็ได้ ได้ ได้เปรียบอยู่มากที่ว่า คนนี่มันเพิ่งเกิด ไม่ใช่มันเกิดอยู่ตลอดไป แล้วจะไปขุดไปฟันมันให้ทลายลงไปไม่ได้ มันเพียงแต่ระวังไว้อย่าให้มันเกิด มีสติมากขึ้นๆๆ ตามความรู้ที่เราได้เรียนมากขึ้น ฉะนั้นเอาจริงกับเรื่องการมีสติ แล้วจะป้องกันการเกิดได้ ธรรมะลึกๆนี่ในโสฬสปัญหา ในสุตตนิบาตมีมากไปอ่านดู สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งวิญญาณนี่ กระแสแห่งตัณหา กระแสแห่งการเกิด พูดถึงแต่สติมากที่สุด เพราะเรื่องความรู้ไม่ต้องพูดกันแล้วมันเกินกว่าที่จะรู้แล้ว แต่มันขาดสติ คือจะความรู้ที่จะมาทันท่วงทีมันไม่มี นี่เรียกว่ามันไม่มีสติ หรือเผลอสติตัวกูก็เกิดได้เรื่อยจนเกิดได้วันละหลายหนหลายสิบหน ดูคล้ายๆว่าชีวิตเต็มไปด้วยวัฏฏสงสารไม่มีนิพพานเจืออยู่เลย
ที่แท้นั้นน่ะนิพพานเป็นพื้นฐานของชีวิต อย่าเผลอให้ตัวกูของกูเกิด มันเป็นนิพพานชนิดหนึ่งอยู่เป็นประจำเลย เรียกว่าตทังคนิพพาน เย็นเหมือนกันกับนิพพานจริง เพียงแต่ว่ามันยังถูกแทรกแซงได้อยู่เรื่อยไปนี่ นี้เราไปสะกัดสิ่งแทรกแซงออกไปเสียให้หมด มันก็เป็นนิพพานแน่นอนถาวรตลอดกาลไปได้ อย่าไปคิดให้มันมากสิว่าเอาอย่างนี้เวลาที่ไม่มีกิเลสเกิดในใจ เอาอย่างนี้ เอาอย่างนี้อย่างเดียวไม่เอาอย่างอื่นแล้ว รักษาไว้ให้มันอยู่ตลอดวันตลอดคืน ไม่ต้องเอาอย่างอื่นแล้ว พอแล้วเท่านี้พอแล้ว ไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ ไม่ ไม่ต้องเย็นอะไรอีกก็ได้ เดี๋ยวนี้ไปเรียนวิชาที่ขบถทรยศต่อตัวเอง ขบถทรยศต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือว่ามันเป็น สมัครเป็นลูกสมุนของกิเลสไปเสียหมด เรียนด้วยความอยากให้ตัวกูของกูจะได้ดี จะได้ยกหูชูหาง เรียนกระทั่งสิ่งที่พระเณรไม่ควรเรียนนี่ ตัวกูของกูมันพาไปมันก็เลยกลายเป็นขบถ ขบถต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นไม่สำคัญเท่าขบถต่อตัวมันเอง มันไม่สร้างความดับทุกข์ให้ตัวมันเอง นี่เรียกขบถต่อตัวมันเอง มันก็เป็นการขบถต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปเสร็จ นี้เรื่องมันง่ายถึงขนาดว่าตัวกูนี้มันเพิ่งเกิด กิเลสนี้มันเพิ่งเกิด อวิชชานี้มันเพิ่งเกิด เราก็เรียนรู้มาพอที่จะรู้ว่ามันคืออะไร ก็มีแต่การระวัง ถ้าเผลอแล้ว ต้องรู้จักละอาย รู้จักเสียใจ รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ ถือเพียง ๓ อย่างนี้ เอาตัวรอดได้ เมื่อพวกเราเข้ามาถึงระดับนี้แล้วในชั้นนี้แล้วถือเพียง ๓ อย่างนี้ รู้จักเข็ดหลาบ รู้จักละอาย รู้จักกลัว เอาตัวรอดได้ เดี๋ยวนี้เป็นคนหน้าด้านเถียงซึ่งๆ หน้า ดันทุรังไปซึ่งๆหน้า หาทางแก้ตัวอย่างอย่างนี้จนไปหากิเลสจนได้
เอาละ ขอให้ช่วยจำไว้ดีๆว่า คนนี้มันเพิ่งเกิดเกิดมาทีไรเป็นทุกข์ทุกที มีสติสัมปชัญญะให้เพียงพอ อย่าให้มันเกิดคนขึ้นมา เป็นตัวกูของกูขึ้นมา มันก็จะเหมือนกับรถยนต์ที่ไม่ต้องวิ่งน่ะ แต่เดี๋ยวนี้เรามันยังดีกว่านั้น ที่ว่าเรายังวิ่งได้ในทางที่ไม่มีความทุกข์ คือว่าวิ่งไปในทางที่ไม่ใช่ตัวกูของกู อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าวิ่ง แต่ถ้าพูดอย่างชาวบ้านพูดก็ต้องพูดว่าวิ่งอยู่อีกแหละ เพราะว่าทำงานเพื่อผู้อื่นเที่ยวแจกของส่องตะเกียงนี้คล้ายกับยังวิ่งอยู่แต่ที่จริงไม่ใช่วิ่ง พระพุทธเจ้าท่านเรียกอาการอย่างนี้ว่า ไม่ไป ไม่มา ไม่หยุด ไม่หยุดอยู่ที่ไหน ไม่ไปไหน ไม่มาไหน จิตที่เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเองก็ดี พระอรหันต์เองก็ดีที่เที่ยวเดินสอนคนอยู่ทั่วๆ ประเทศ ทั่วโลกนี้ ก็มันก็มิได้ไปไหน มิไห้มาไหน มิได้อยู่ที่ไหนเพราะตัวกูมันไม่มี เรามันยังดีกว่ารถยนต์อย่างนี้ คือมันยังวิ่งได้ชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่มีความทุกข์ แต่ที่แท้ก็เรียกว่า ไม่วิ่งนะ ฟังให้ดีๆนะ หยุดแล้วนะ อย่างที่พระพุทธเจ้าพูดกับองคุลีมารว่าฉันหยุดแล้วแกไม่หยุดนะ คือฉันไม่มีตัวกูของกูที่จะไปไหนมาไหน คือก็มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่พูดว่าคนชาวบ้านก็พูดอย่างนี้ ว่าแกไม่หยุดฉันหยุด นี้ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้นนะพูดกับคนที่มีปัญญาจริงๆ บอกว่า มิได้มีตัวฉันอยู่เลย มิได้มีตัวแก มิได้มีตัวฉันอยู่เลย มันก็ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องวิ่งไปวิ่งมาหรือว่าหยุดอยู่ พูดภาษาคนก็พูดอย่าง พูดภาษาธรรมก็พูดอย่าง พูดกับคนไม่รู้ก็พูดอย่าง พูดกับคนรู้ก็พูดอย่าง อย่าหาว่าพูดตลบแตลง เพราะมันแล้วแต่จะพูดกับใครในกรณีเช่นไร
เดี๋ยวนี้พูดอย่างผู้รู้ท่านสอน ท่านพูดกันว่า คนนี้มันมิได้เกิดมันเพิ่งเกิดเมื่ออวิชชาเกิดเมื่ออุปาทานเกิด ที่มันเกิดมาจากท้องแม่นั้นมันเหมือนกับรถยนต์ที่ยังไม่วิ่ง จนกว่าเมื่อไรมันจะวิ่งได้ นี้พอมันวิ่ง เป็นทุกข์เราก็รู้จักวิ่งชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ ก็คือไม่วิ่ง ไม่มีตัวกูของกูก็ไม่มีอะไรวิ่ง นาม รูป บริสุทธิ์ เคลื่อนไหวไป นามรูปล้วนๆ เบญจขันธ์ล้วนๆ ที่บริสุทธิ์ เคลื่อนไหวไปด้วยสติปัญญา อะไรควรทำก็ทำนี่เป็นเรื่องแจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่น ไม่ใช่ว่าตัวกูของกูหมดแล้วไม่ทำอะไร ตัวกูของกูหมดแล้วมันก็ทำอะไรไม่เป็นอันกระทำ เป็นอัพยากฤต ไม่เป็นกรรม ไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป แต่ยังทำได้อีกแยะ คือแจกของส่องตะเกียง ให้ผู้อื่นได้มีความสุขทางวัตถุทางวิญญาณเรื่อยไป นี่ประโยชน์เรื่องตัวกูมิได้มี ตัวกูมิได้เกิด มันมีอยู่อย่างนี้ เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปของธรรมปาฏิโมกข์ทุกๆ เรื่องที่เราจะต้องพูดกัน คือเรื่องตัวกูของกู ดังนั้นขอให้แจ่มกระจ่างชัดเจนอยู่ในใจเสมอว่า คนนี้มันเพิ่งเกิด ตัวกูของกูนี้มันเพิ่งเกิด แล้วก็ระวังอย่าให้มันเกิด เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เมื่อมันไม่เกิดก็เป็นความเย็น เป็นนิพพานอยู่ชนิดหนึ่งตลอดไป นิพพานนั่นน่ะคือไม่ต้องเกิด ส่วนที่ตรงกันข้ามกับนิพพานแล้วต้องเกิดทั้งนั้น ไปเกิดตามเหตุตามปัจจัยตามกาลเทศะ ดูให้ดีในข้อนี้พอ เป็นเรื่องทั้งหมดในพระพุทธศาสนาทั้งพระไตรปิฎก เอาละพอกันที