แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กราบ นั่งราบ พนมมือฟังให้ดี เอาหละทีนี้ขอความสงบจากทุก ๆ คน ขอความร่วมมือจากทุก ๆ คนให้ทำความสงบชั่วขณะ ที่ว่าให้เจ้าน่ะ(นาทีที่3.47)ตั้งอกตั้งใจด้วย และให้ท่านทั้งหลายที่มาร่วมการกุศลนี้ได้ตั้งอกตั้งใจด้วย ให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจ จึงจะได้บุญ เพราะว่าต้องเข้าใจ ต้องพอใจในการกระทำ ต้องมีปีติปราโมทย์ในการกระทำ จึงจะได้บุญ ถ้าผู้มาร่วมงานมานั่งคุยกันเสีย มานั่งใจลอย นั่งรอเวลา ด้วยความจำใจอะไรอย่างนี้มันไม่ได้บุญ ถ้าให้ผู้ที่มาร่วมการกุศลนี้ได้กุศลด้วย ได้บุญด้วยก็ต้องตั้งใจฟัง ต้องเข้าใจ และต้องพอใจในการที่ได้กระทำนี้ ได้ร่วมกันกระทำนี้แล้วจึงจะได้บุญ จะมีปีติปราโมทย์ ดังนั้นต้องฟังด้วยเหมือนกัน ถึงจะพอใจ ทุกคนต้องฟังจึงจะพอใจ แล้วจึงจะได้บุญ จึงขอโอกาสชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ทำความสงบให้เรียบร้อย ทีนี้เจ้าน่ะ(นาทีที่5.08)ผู้บวชก็ต้องตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษ เพราะว่าบวชกับใจด้วย ไม่ใช่บวชแต่ท่าทาง ไม่ใช่บวชแต่ปากว่า ไม่ใช่ว่าทำพิธี หรือปากก็ว่าอะไรครบหมดแล้วมันจะเป็นบวชโดยสมบูรณ์ มันต้องใจด้วย จึงต้องฟังให้ดี ให้เข้าใจ แล้วให้ส่งจิตใจไปตามถ้อยคำนั้น ก็เพื่อว่าจิตใจจะได้เปลี่ยนแปลงจากภาวะเดิมไปสู่ภาวะอันใหม่ คือการบรรพชาอุปสมบท ดังนั้นจึงต้องฟังให้เข้าใจ และส่งใจไปตามด้วย ให้มันครบบริบูรณ์จริง ๆ
ข้อแรกก็คือว่าเราได้กล่าวอะไรออกไป นี่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ต้องเข้าใจเสียเดี๋ยวนี้ว่าเราได้กล่าวอะไรออกไป เพราะว่าการกล่าวนี้มันสำคัญ มันกล่าวในฐานะที่เป็นจิตสำคัญ ในที่สำคัญ ต่อหน้าบุคคลสำคัญ ในชุมนุมสงฆ์ มีพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี่ในที่สำคัญ ในขันธสีมา ในเขตอันศักดิ์สิทธ์ ฉะนั้นการพูดนี้ต้องพูดจริง ทำนี้ก็ต้องทำจริง แล้วจิตใจก็ต้องเป็นไปจริง ๆ เธอได้กล่าวว่า เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ เป็นต้น นี่ต้องรู้ว่าเราได้กล่าวถ้อยคำแก่ ประกาศตัวเองว่าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แล้วใคร่จะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัย ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นี่เราได้กล่าวอย่างนี้สามหนก่อน แล้วเราได้กล่าวคำขอบรรพชาอีกสามหนว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อย่างนี้เป็นต้น ข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้ข้าพเจ้า ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยอาศัยความเมตตากรุณาเป็นต้น เป็นกำลัง นี่นึกให้ดี นึกว่าเราได้กล่าวคำอย่างนี้สองอย่าง อย่างละสามครั้ง ปากกล่าวอย่างไร จิตใจต้องเป็นอย่างนั้น
ทีนี้มันได้ความว่าเราขอบรรพชา เธอก็ทำในใจให้ดีว่าไอ้บรรพชานั้นมันคืออะไร แล้วขอนั้น ขออะไร อย่างน้อยที่สุดจะต้องรู้ว่าบรรพชาคือระเบียบปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ เพื่อขูดเกลากิเลส เพื่อกำจัดทุกข์โดยตรง เมื่อมีการขูดเกลากิเลสต้องมีการเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา เหมือนกับขูดเนื้อร้ายให้หายให้เหลือแต่เนื้อดี อันนี้ย่อมมีการเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา ฉะนั้นเราจะต้องยินดีทนต่อการเจ็บปวด มันจึงจะสำเร็จไปได้ ถ้าไม่ยินดีทน สลัดทิ้ง ปัดทิ้งแล้วก็เลิกกันไป มันก็ไม่ได้ หรือว่าจะอยู่อย่างเสีย ๆ หาย ๆ ไม่ประพฤติให้ถูกต้อง มันก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นจงรู้เสียแต่แรกเริ่มเดิมทีนี้ว่าเราขอสิ่งที่เราต้องทน เราขอสิ่งที่เราจะต้องทนมาใส่ตัวเราเอง ฉะนั้นต้องแน่ใจ ถ้าไม่อย่างนั้นมันเป็นบรรพชาไปไม่ได้ บรรพชาหรือพรหมจรรย์นี่ต้องเป็นการขูดเกลาเสมอ นับตั้งแต่ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ต้องเว้นสิกขาวินัยทุกข้อก็จะต้องเว้น เว้นจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกอย่างทุกประการ ไอ้เรื่องเว้นจากความเป็นฆราวาสนี้พอจะเข้าใจได้ แต่ว่ายากที่จะปฏิบัติ คือจริตนิสัยเคยเล่น เคยหัว เคยอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งมักจะเหลืออยู่ เป็นพระเป็นเณรแล้วยังมีอาการเล่นหัวอย่างฆราวาสก็มี มีความคิดอย่างฆราวาสก็มี นี้ไม่ถูก จึงขอให้ตั้งใจ หรือว่าอธิษฐานใจให้แน่นอนเสียแต่บัดนี้ ว่าเราจะเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ไม่กินอยู่อย่างฆราวาส ไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส ไม่มีจริตกริยาอย่างฆราวาส ไม่พูดจาอย่างฆราวาส ไม่มีความต้องการอย่างฆราวาส ไม่คิด ไม่นึก ไม่ใฝ่ ไม่ฝัน ไม่ปรารถนาอย่างฆราวาสอีกต่อไป ตั้งใจให้เข้มแข็ง ให้เฉียบขาดจนว่าแม้แต่นอนฝัน ก็ไม่นอนฝันอย่างฆราวาสอีกต่อไป มันจึงจะเป็นว่าบรรพชาไปหมดจากความเป็นฆราวาส เราต้องเว้นจากสิกขาวินัยที่เราจะต้องเรียนต่อไปข้างหน้า ว่าบรรพชิตต้องเว้นอะไรก็จะต้องเว้นกันหมดจริง ๆ นี่จึงจะเรียกว่าบรรพชิต หรือผู้บวช การกระทำนั้นเรียกว่าบรรพชา แล้วต้องขูดเกลา ต้องทน ต้องอดทน ถ้าจะต้องทนจนถึงน้ำตาไหลก็ต้องทน ต้องยอมทนเพื่อไม่ให้เสียหายในส่วนบรรพชา ก็เรียกว่าแม้จะต้องประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาก็จะต้องทน และทนให้ได้ นี่ระเบียบของการบรรพชา การบัญญัติไว้อย่างนี้ วางไว้อย่างนี้ คือสิ่งนี้ ที่เราควรจะรู้ต่อไปถึงอานิสงส์ของบรรพชา คือประโยชน์ หรืออานิสงส์ของบรรพชานี่สำคัญ ถ้าเรารู้แล้วก็จะมีกำลังใจ จะอดทน ฉะนั้นฟังให้ดี ประโยชน์ หรืออานิสงส์ของบรรพชามีมากมายเหลือเกินจนบรรยายกันไม่ไหว โดยรายละเอียดบรรยายไม่ไหว แต่ว่าอาจจะสรุปเป็นใจความสำคัญ ๆ ได้ ดังที่สรุปกันไว้ว่ามีอานิสงส์อยู่สามประเภท ประเภทหนึ่งผู้บวชได้รับ ประเภทสองญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น ได้รับ ประเภทสามคือว่าอานิสงส์แก่โลก เพื่อนมนุษย์ทั้งโลก หรือศาสนาเป็นส่วนรวมก็จะพลอยได้รับ
ข้อแรก ที่ว่าเธอผู้บวชจะพึงได้รับนี้ มันหมายถึงว่าถ้าเธอบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะได้รับ หมายความว่าเราจะได้การเปลี่ยนแปลงจากความเป็นคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งทีเดียว เช่นจากความเป็นฆราวาสไปเป็นบรรพชิต นี่มันผิดกันไกลนะ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตรงกันข้ามเลย การแค่เราหวังว่าจะบวชเพื่อเปลี่ยนนิสัยเสียที หรือว่าญาติทั้งหลายมีความหวังว่าบวชนี้เพื่อจะเปลี่ยนนิสัยเสียที มันจึงสำเร็จประโยชน์ได้ แต่มันสำเร็จประโยชน์ได้ต่อเมื่อเธอบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ไม่ใช่สักว่าบวช ๆ นะ ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์ในข้อนี้มันอยู่กับเธอ จะต้องทำตัวเป็นผู้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วมันก็จะเปลี่ยนจริง ๆ เหมือนกัน สิ่งไหนที่เราไม่พึงปรารถนา ความคิด หรือการกระทำ หรืออะไรที่มันไม่น่าปรารถนา ที่ว่ามันใช้ไม่ได้ มันจะเลิกรากันไปได้จริง แต่ว่าเขามุ่งหมายไกลกว่านั้น สูงกว่านั้น คือว่าให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เกิดมาควรจะได้รับ อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา ข้อนี้หมายถึงการที่จิตใจมันดี มันสูงขึ้นไปในทางของพระศาสนา คือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีความรู้ถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง มีความประพฤติกระทำอะไรถูกต้องไปหมด จนถึงกระทั่งมีจิตใจสูง มีความสะอาด สว่าง สงบสูง เป็นชนิดที่ว่าแปลกไม่เคยมีมาแต่ก่อน เป็นชนิดที่ว่าทำให้เราได้รับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน คือประโยชน์อันสูงสุดนี้ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่จะได้รู้จักคราวนี้ นี่แหละสิ่งนี้มันก็เป็นของเหลือที่จะตีราคา เหลือที่จะตีค่า เขาจึงเรียกว่าหาค่ามิได้ เพราะฉะนั้นขอให้เราตั้งอกตั้งใจให้ดี ไม่ใช่แค่ให้เราเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ต้องการบางอย่างเท่านั้น แต่ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ในการที่เกิดมาในชาตินี้ ไม่ให้เสียที นี่เรียกว่าผู้ที่บวชนั้นจะพึงได้ เป็นอานิสงส์ เหลือที่จะกล่าวว่ามีเท่าไหร่ หรือตีราคาว่าเท่าไหร่ ถ้าปฏิบัติสำเร็จประโยชน์เป็นมรรคเป็นผล เป็นอาริยะบุคคลมันก็จะยิ่งเหลือที่จะกล่าวได้ แม้แต่เพียงเป็นพระที่ดีที่สุด ไม่ถึงกับเป็นพระอริยะบุคคล นี่ยังเรียกว่ามีอานิสงส์สูงสุดเหลือที่จะกล่าวได้ เป็นอันว่าผู้บวชนั้นมีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่มีสิ่งอื่นใดยิ่งไปกว่าสิ่งนี้
ทีนี้อานิสงส์ประเภทที่สอง ที่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น ที่จะพึงได้รับนี้ นี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ คือนี่มันเป็นเรื่องบวชแทนคุณ บวชแทนพระคุณ สนองพระคุณของผู้มีพระคุณ อานิสงส์ข้อที่หนึ่ง คือเราบวชเอาเอง อานิสงส์แก่เราเอง อานิสงส์ที่สองนี่มันบวชสนองคุณผู้มีพระคุณ ทำให้ผู้มีพระคุณได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการบวชของเรา นี่เธอต้องนึกถึงเป็นข้อสำคัญด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่นึกถึงแล้วมันก็เป็นการไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเราเกิดเองไม่ได้ เรามีชีวิตขึ้นมาเองไม่ได้ เกิดตัวเองเป็นตัวเองไม่ได้ ต้องเกิดจากบิดามารดา เพราะว่าชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้นได้มาจากบิดามารดา ฉะนั้นอย่าอวดดี อย่าอวดดีไปว่าเรามีอะไรเป็นของเราได้ ทั้งเนื้อทั้งตัวมันจากบิดามารดา เพราะฉะนั้นต้องเห็นแก่บิดามารดาก่อนสิ่งใดหมด เพราะคำว่าบวชเพื่อสนองคุณบิดามารดานี่ก็คือกตัญญูกตเวที คือมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา
เราบวชนี้เพื่อให้บิดามารดาได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่มีประโยชน์อย่างอื่นยิ่งไปกว่าแล้ว ถึงเราจะเลี้ยงดู จะให้เงินให้ทอง ให้ข้าวให้ของมันก็ไม่ยิ่ง ไม่สูงสุด และไม่ยิ่ง แต่ถ้าเราได้ทำให้บิดามารดาได้ใกล้ชิดพระศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้นแหละมันยิ่ง นั่นแหละเป็นของยิ่ง เขาเรียกว่าการบวชเพื่อทำบิดามารดาให้เป็นญาติแก่พระศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป ฉะนั้นการที่เธอจะทำให้บิดามารดาเป็นญาติกับพระศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไปนี้ หมายความว่าเธอต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงเท่านั้นแหละ ทางอื่นนั้นไม่มี และบิดามารดาก็จะได้สิ่งที่แพงที่สุด คือได้เป็นญาติกับพระศาสนายิ่งขึ้นไป มันจึงเป็นการแทนคุณที่สมกัน เป็นการกตัญญูกตเวทีที่สมกัน เพราะข้อที่ว่าเราเกิดเองไม่ได้ ชีวิตทั้งหมดได้มาแต่บิดามารดา ฉะนั้นการที่แทนคุณบิดามารดา ต้องทดแทนด้วยสิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงที่สุด สุดฝีไม้ลายมือเท่าที่เราจะทำได้ ฉะนั้นจึงต้องทำด้วยการที่ยาก และลำบาก คือ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลจริง ๆ ให้บิดามารดาได้พลอยได้รับอานิสงส์อันนี้ แล้วบิดามารดาจะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน คือจะมีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระศาสนายิ่งขึ้น จะได้มีความรู้ความเข้าใจมีสัมมาทิฏฐิในพระศาสนายิ่งขึ้น ยิ่งถ้าเธอได้บวชได้เรียน ได้รู้อะไรมากมายจนถึงกับโปรดบิดามารดาได้ด้วยการสั่งสอนก็เหมือนกับเป็นการได้รับสิ่งที่น่าพอใจ น่าชื่นใจยิ่งขึ้น จึงเรียกว่าเป็นการทำให้บิดามารดาให้มีความเป็นญาติในพระศาสนา ให้ใกล้ชิดพระศาสนา ให้เข้าถึงตัวศาสนายิ่งขึ้น เพราะการบวชของเรา โดยทุกอย่างทุกประการ
ว่าตามความรู้สึกกันแล้ว ทุก ๆ คนรู้สึกกันว่า บิดามารดาไม่มีความยินดีปรีดาคราวไหนมากเท่าคราวที่ลูกหลานบวช เธอต้องนึกถึงบิดามารดาในข้อนี้ก่อน ความยินดีปรีดาของบิดามารดา หรือความสุขใจของบิดามารดา คราวไหนก็ไม่มากเท่าที่ลูกหลานบวช เราต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ อย่าให้ความหวังนี้ผิดหวัง และยิ่งกว่านั้น ถ้ามีความหวังอย่างอื่นอยู่อีกกี่ประการ กี่อย่างก็ต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความรู้คุณของบิดามารดา เด็ก ๆ สมัยนี้ยิ่งไม่ค่อยรู้คุณของบิดามารดา มีความประมาท มีความอวดดี จนในที่สุดลืมไปว่าตัวเองนั้นเกิดมาจากบิดามารดา ไม่นึกเสียทีเดียวว่าเกิดมาจากไหน คล้าย ๆ นึกไปทำนองว่าไม่รู้ไม่ชี้ หรือว่าเกิดได้เอง เด็กสมัยนี้จึงไม่ค่อยมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ถ้าเข้าใจผิดเอามาก ๆ เด็กบางคนข่มเหงบิดามารดา เป็นเรื่องจริง เขาเล่าให้ฟังเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องนิยาย ที่ว่าเด็กบางคนมันพูดว่ามันมีบุญคุณแก่บิดามารดา เพราะมันเล่าเรียนเก่ง ทำชื่อเสียงได้ ไปเรียนเมืองนอก ได้ชื่อได้เสียงกลับมา บิดามารดาได้ชื่อได้เสียงด้วย เพราะฉะนั้นมันเป็นผู้มีบุญคุณแก่บิดามารดา นี่มันรู้เท่านี้ มันเข้าใจอย่างนี้ นี่ทุก ๆ คนลองคิดกัน ตามใจใครลองคิดว่าเด็ก ๆ มันไปไกลถึงไหน หรือมันเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหน จนมีความเห็นกลับกัน ว่าตัวเองมีบุญคุณกับบิดามารดา และทำให้บิดามารดาได้หน้า ได้ตา หรือว่าหาเงินมาเลี้ยงบิดามารดาได้มากมาย แล้วมันยังคิดจะใช้บิดามารดาในบางโอกาส อย่างคล้าย ๆ ว่าคนใช้ ไม่ต้องคำนึงถึงว่าบิดามารดาจะเป็นอย่างไร จะเดือดร้อนอย่างไรไม่คำนึงถึง นี่เรียกว่าไม่มีความกตัญญูกตเวที เมื่อมันไม่กตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาแล้ว มันน้อยนักน้อยหน้า(นาทีที่23.30)ที่มันจะกตัญญูกตเวทีต่อคนอื่น ต่อเพื่อนบ้าน หรือต่อคนอื่น ๆ ทีนี้มันกลายเป็นสัตว์ที่ไม่มีความกตัญญูกตเวทีตลอดไปเลย เป็นคนที่อวดดีจองหอง ประมาท เล่าเรียนมาสูง อะไรมาเก่ง ไปเสียทางนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องคิดกันเสียใหม่ ต้องทำเหมือนกับว่ายกเลิก ยกเลิกทีเดียว ไอ้เรื่องพรรค์นั้นต้องยกเลิกไปหมดเลย ต้องไม่มีเลย เราต้องเป็นคนมีความกตัญญูต่อบิดามารดาเป็นข้อแรกก่อน เป็นข้อสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งแรกก่อน
เราบวชนี้ต้องบวชเพื่อสนองคุณบิดามารดาให้ได้จริง แต่ว่ากตัญญูในข้อแรกนี้คือต้องไม่มีอะไรกระทำให้บิดามารดาร้อนใจ ต้องไม่ทำอะไรในทางที่ทำให้บิดามารดาร้อนใจ หรือให้บิดามารดาผิดหวัง เรายอมตายเสียก่อนดีกว่าที่จะทำให้บิดามารดาร้อนใจ หรือผิดหวัง หรือว่าให้เราน้ำตาตกเสียมากมายเองก่อน ดีกว่าที่จะทำให้บิดามารดาร้อนใจ หรือผิดหวัง ถึงไม่ต้องตาย ไม่ต้องถึงกับตาย แต่ว่าถ้าต้องถึงกับตายก็ยังดีกว่าทำบิดามารดาให้ร้อนใจ เพราะว่าความร้อนใจนั้นเขาเรียกว่านรก เป็นความหมายของนรก ทำบิดามารดาให้ร้อนใจ คือจับบิดามารดาใส่ไว้ในนรกนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงทำไม่ได้ ทีนี้เมื่อมันมีความกตัญญูกตเวทีจริง เคร่งครัดจริง แล้วมันก็เป็นนิสัย พอเป็นนิสัยแล้วมันทำแก่ทุก ๆ คนเลย มันทำแก่ทุก ๆ คน ไอ้คนนั้นมันก็น่ารักน่าเอ็นดูไปหมด ทุก ๆ คนจะรักใคร่เอ็นดูไปหมด เป็นสวัสดีมงคลไปหมด มันก็จะกตัญญูแก่ทุกคน และทุกสิ่งไปเลย คนโบราณเขาสอนกันมา แต่คนยุคนี้เขาไม่ได้สอนกัน ดังนั้นลูกหลานมันจึงไม่รู้จักความกตัญญูกตเวที แต่คนโบราณเขาสอนกันมา ลูกหลานสมัยนี้ ถึงแม้จะสอนแต่ก็ไม่ค่อยจะฟัง ฉะนั้นเราช่วยกัน ช่วยกันใหม่ ช่วยกันทำให้มันมีเป็นตัวอย่างที่ดีขึ้นมา ช่วยกันสอน ช่วยกันประพฤติ ช่วยกันปฏิบัติ เราต้องนึก จนถึงขนาดว่าเห็นความผิดพลาด หรือความประมาทของตัวเอง แล้วละอาย แล้วกลัว แล้วกลับใจ ในข้อที่ได้ทำผิดต่อบิดามารดา หรือต่อผู้มีบุญคุณต่าง ๆ
ทีนี้เราอยากจะพูดสำหรับเธอโดยเฉพาะว่า เธอยังจะต้องฝึกฝนอีกมากในการที่จะรู้จักบุญคุณของบุคคล และของสิ่งของ เธออยู่ในวัด เราเป็นส่วนมาก เราเห็น เธอไม่รู้จักรักสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้เครื่องมือ ทิ้งขว้าง และไม่รักษา ไม่เอื้อเฟื้อ นี่เพราะว่าเธอไม่กตัญญู ไม่มีนิสัยกตัญญูต่อสิ่งของที่มันเป็นประโยชน์กับเธอ ที่มันทำให้เธอมีข้าวกิน มีเงินใช้ เครื่องมือในการก่อสร้างนั้นมันทำให้เธอมีข้าวกินมีเงินใช้ แล้วเธอไม่กตัญญู ไม่รักไม่เอ็นดู จนไม่เก็บงำ ไม่รักษาให้ดีเท่าที่ควรจะรักษา นี่มันก็มีนิสัยติดมากับความไม่กตัญญูอย่างอื่น มันจึงไม่กตัญญูไปหมด มันควรจะตั้งต้นมาจากบิดามารดา แล้วถึงคนที่ไม่ใช่บิดามารดา แล้วถึงคนทั่วไป แล้วกระทั่งถึงสิ่งของ ถึงสัตว์เดียรฉาน แล้วกระทั่งถึงสิ่งของ คนเราต้องกตัญญูแก่บิดามารดาเป็นต้นก่อน โดยถ้ารู้จักไปถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยก็ยิ่งดี และกตัญญูต่อเพื่อมนุษย์อื่น ๆ ด้วย เพราะว่าทุกคนมันมีความผูกพันกันในทางบุญคุณ และต้องมีความเมตตาปรานีต่อสัตว์เดรัจฉานด้วย ให้มีนิสัยว่ามันมีเพื่อทำโลกนี้ให้งดงาม ทำเราให้สบายตา และสัตว์บางอย่างก็มีบุญคุณโดยตรง ในการที่มันจะให้เรี่ยวให้แรงใช้ หรือให้อะไรที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์นี่ แล้วก็มาถึงสิ่งของ แม้แต่ว่าไอ้สิ่งที่ไม่มีชีวิตนี้ จะเป็นอะไรก็ตามจนกระทั่งเครื่องมือทำมาหากิน นี่ก็ต้องจัดไว้ในฐานะว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องรับรู้ในความดีของมัน ในประโยชน์ของมัน ในบุญคุณของมัน แล้วตอบแทนมันโดยการรักษาให้ดี ปฏิบัติต่อมันให้ดี แล้วเธอลองคิดดู มันจะได้อะไรบ้าง จะมีเครื่องมือที่ดีใช้ และมีมาก และมีครบ แล้วเธอก็ได้ประโยชน์ ไม่ใช่คนอื่นได้ประโยชน์ แต่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่านิสัยนั้นดี ทำให้นิสัยมันดี
ทีนี้ ว่าบวชล้างซวย ล้างขี้ซวย ล้างอะไรกันสักทีนี้จริงนะ มันถูก และจริง คือสิ่งใดที่มันเคยทำผิด ต้องมองให้เห็นกันเสียเดี๋ยวนี้ และต้องมีเจตนาอธิษฐานใจว่าจะละจะเว้นกันเสียเดี๋ยวนี้ จะละสิ่งเหล่านั้น นี่จึงจะเหมือนที่เราพูดว่ากลายกับเป็นคนละคน บวชนี้ต้องการให้กลายเป็นคนละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือให้ไม่ประมาท ให้จิตใจละเอียดสุขุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลงไปอีก คือมีความรับรู้บุญคุณของผู้มีบุญคุณ ของสัตว์ที่มีบุญคุณ ของสิ่งที่มีบุญคุณ ของวัตถุที่มีบุญคุณ ถ้าเรารับรู้ในข้อนี้แล้วมันทำไม่ลงหรอก ไอ้สิ่งที่ไม่ควรทำนั้นมันทำไม่ได้ นี่มันจึงเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ดังนั้นเราบวชนี้ต้องให้บิดามารดาไม่ผิดหวัง ให้ใคร ๆ ทุกคนไม่ผิดหวัง แล้วให้เราเปลี่ยนนิสัยจิตใจในลักษณะที่เป็นคนละคน จากไปที่เคยเป็นมาแต่ครั้งหลัง แล้วสิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนทันที เปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางทันที จะเป็นไปในทางที่น่าชื่นอกชื่นใจ ไม่ประมาท ไม่อวดดี ไม่เหลวไหล ไม่ล้มละลาย ไม่เอาแต่หัวเราะ เดี๋ยวเดียวเราก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นชิ้นเป็นอัน นี่ต้องคิดให้ดี ๆ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นการโปรดบิดามารดา และผู้มีบุญคุณทั้งหลายอย่างยิ่ง นี่เรียกว่าอานิสงส์ข้อที่สอง ทำให้ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น ได้ชื่นอกชื่นใจ
ทีนี้อานิสงส์ข้อที่สาม ที่ว่ามนุษย์ทั้งหลาย หรือศาสนาเป็นส่วนรวมที่จะพึงได้นี่ นี่มันก็เนื่องมาจากนิสัยกตัญญูนั่นแหละ ฟังให้ดี ๆ มันเนื่องมาจากนิสัยกตัญญู มันพูดกันไม่รู้เรื่องถ้าคนไม่กตัญญู แต่ถ้ามีความกตัญญูมันก็ต้องคิดได้ว่า เรานี่แหละได้รับประโยชน์จากศาสนา เพราะฉะนั้นเราต้องแทนคุณของศาสนา ดังนั้นบวชนี่เราต้องบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา ไม่ใช่บวชเฉย ๆ ไม่ใช่บวชไม่รู้ว่าทำไมกัน หรือว่าไม่ใช่บวชเพื่อทำลายศาสนา บางคนมีเหมือนกัน บวชเพื่อทำลายศาสนา คือมาทำให้เสียหายในศาสนา คือการทำลายพระศาสนา มันต้องบวชเพื่อทำให้ศาสนายืนยาวต่อไป มีความเจริญ ศาสนามีอยู่ เพราะมีคนเล่าเรียน มีคนปฏิบัติ มีคนสอนกันสืบ ๆ ไป
ดังนั้นเราจึงตั้งใจว่าเราจะบวชเพื่อเล่าเรียน บวชเพื่อปฏิบัติ และสิ่งใดที่จะสอนกันได้เราก็จะสอนผู้อื่นต่อไป แม้จะอยู่ในพระก็ตาม จะสึกไปแล้วก็ตามมันก็สอนกันได้ดีแหละ ฉะนั้นเราจะบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนาด้วย เราจะบวชกี่วันกี่เดือนกี่ปี เราก็สืบอายุพระศาสนาเท่านั้นวันเท่านั้นเดือนเท่านั้นปีทีเดียว นี่เราแทนคุณของศาสนา รู้บุญรู้คุณของศาสนาที่ได้มีแก่เรา แล้วรู้บุญรู้คุณคนก่อน ๆ ที่ตายไปแล้ว เขาได้สืบอายุพระศาสนาไว้ อย่าให้ได้สูญหาย แล้วศาสนาเหลือมาถึงเรา นี่เราต้องรู้บุญคุณของคนเหล่านั้น และเราต้องแทนคุณเหมือนกัน คือบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนาต่อไปข้างหน้าอีก ให้คนที่มาทีหลังได้รับอีก นี่ถ้าต่างคนต่างรู้คุณของกันและกัน สืบต่อกันอยู่อย่างนี้ ศาสนาก็จะไม่มีวันสิ้นไม่มีวันสูญ จะยังอยู่ต่อไปสำหรับเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ แก่โลก มันจึงได้ประโยชน์แก่โลก ทำให้โลกพลอยได้รับประโยชน์กันทุกคน
ศาสนามีอยู่ในโลก โลกมีความร่มเย็นเท่าไหร่ ทุกคนในโลกได้รับประโยชน์เท่านั้น จะรู้สึกตัวก็ตามไม่รู้สึกตัวก็ตาม ศาสนามีประโยชน์แก่คนเหล่านั้น ดังนั้นเราจงมองเห็นข้อนี้ว่ามันใหญ่หลวงกว้างขวางขนาดนี้ เราจึงยินดีที่จะปฏิบัติ ให้สำเร็จประโยชน์ ให้เป็นการสืบอายุพระศาสนา คือบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติ รู้จริง สอนจริง ให้มันจริงไปหมดเลย อย่างน้อยก็ให้มันบวชจริง แล้วก็เรียนจริง แล้วก็ปฏิบัติจริง แล้วก็ได้ผลจริง แล้วก็สอนสืบ ๆ กันไปจริง รวมสักห้าจริงแค่นี้ก็พอแล้ว แล้วประโยชน์จะได้หมด เธอก็ได้ พ่อแม่ก็ได้ เพื่อนมนุษย์ หรือศาสนาก็ได้ นี่เธอจะบวชสักกี่วัน เธอก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ มุ่งหมายจะทำสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ให้เหมาะสมกับสติปัญญา อัตภาพ ความสามารถของตน ๆ ไม่จำเป็นจะต้องทำเหมือนกันไปหมด แต่ว่าความมุ่งหมายเหมือนกันหมด คือบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา และเพื่อเปลี่ยนตัวเองจากภาวะที่ไม่น่าปรารถนาให้มาเป็นภาวะที่น่าปรารถนา และทำบิดามารดา ญาติทั้งหลายมีบิดามารดา เป็นต้น ให้ได้รับความชื่นอกชื่นใจในการบวชของเรา นี่รวมความแล้วเป็นอานิสงส์สามประการที่ว่าเราจะพึงได้จากการบวช ถ้าเธอตั้งใจพิจารณาเพ่งเล็งถึงอานิสงส์เหล่านี้อยู่แล้ว เธอก็จะอดทนได้ในการที่จะต้องขูดเกลา เธอจะมีกำลังใจเข้มแข็งพอที่จะอดทนได้ในการประพฤติปฏิบัติ หรือความยากลำบากในการประพฤติพรหมจรรย์ เราจะอดทนได้เพราะเรามองเห็นอานิสงส์สามประการนี้อยู่
ทีนี้ก็ยังมีบอกให้ทราบถึงว่า วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานั้นคืออะไรด้วย ข้อนี้คือความที่มีจิตใจเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือเรียกว่าที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุที่ตั้งที่อาศัย เราบวชนี้อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่อุทิศใคร การบวชของเราอุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือเสียสละให้หมด ยกถวายให้หมดแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราต้องมีจิตใจอย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมความแล้ว คือมีจิตใจ มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ เรียกว่ามีจิตใจเหมือนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว นั้นจึงจะอยู่ไปได้ คือว่าบรรพชาของเราจะมีรากฐาน มีที่ตั้งที่อาศัย มีความสะอาด สว่าง สงบเท่าที่เราจะทำได้ หรือสุดความสามารถของเรานั่นเอง นี่คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ที่เราเอามาใส่ไว้ในใจของเราได้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชาของเราให้มั่นคง ให้เจริญงอกงาม ดังนั้นเธอต้องเห็นแก่สิ่งเหล่านี้ เรื่องอื่น ๆ ก็ลืมได้ เรื่องหนหลังต่าง ๆ ถ้าหากว่าทำพลาดพลั้งอย่างใดอย่างหนึ่งไป ขอโทษพระรัตนตรัย ยกเลิกกันไปเป็นอโหสิกรรม เหลือแต่โอกาสข้างหน้า เวลาข้างหน้านี่ต้องคิดใหม่ ต้องตั้งต้นใหม่ ต้องเกิดใหม่ เขาเรียกว่าเกิดใหม่เหมือนกัน การบรรพชานี่เขาเรียกว่าเกิดใหม่ มันเกิดอีกหน เกิดด้วยทางจิตใจ ในขอบเขต หรือในวงของพระอริยเจ้า ฉะนั้นเราถือเอาการเกิดใหม่นี้เป็นหลักว่ามันเกิดใหม่ ไอ้ที่แล้วมาแต่หลังยกเลิก ก็จะนับหนึ่ง สอง สาม สี่ .... ไปใหม่ ทีนี้ก็ต้องถูกต้องหมด ต้องไม่ประมาท ต้องไม่ผิดพลาด ต้องไม่เลินเล่อ ต้องไม่เหลวไหวอะไรหมด ขอให้มันถูกต้องไป หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก .... ไปเลย นี่ตั้งอกตั้งใจเคร่งครัดให้สุดความสามารถ ให้ยิ่งกว่าสิ่งใด แล้วก็จะได้ตามความปรารถนา นี่เขาเรียกว่าวัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา
รวมความแล้วได้พูดถึงเรื่องบรรพชาให้เธอฟังในสามหัวข้อ หัวข้อแรกว่า บรรพชานั้นคืออะไร คือระเบียบพรหมจรรย์ที่ขูดเกลา อานิสงส์ของบรรพชาคืออะไร คืออานิสงส์ที่เธอจะได้รับ ที่บิดามารดาจะได้รับ พระศาสนาจะได้รับ และที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชาคืออะไร คือความที่มีจิตใจเหมือนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือความสะอาด สว่าง สงบนั่นเอง นี่เธอรู้เรื่องบรรพชาพอสมควรแล้ว เธอจะได้รู้จักสิ่งที่เธอกำลังขอว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ ข้าพเจ้าขอบรรพชา จงบรรพชาให้ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ทีนี้เราก็ต้องพูดต่อไปถึงเรื่อง ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน ที่เกี่ยวเนื่องกับผ้ากาสายะเหล่านี้ เมื่อเธอขอร้องว่าจงบรรพชาให้ผมด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ เราก็บอกเธอว่ากาสายะเหล่านี้เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรที่ผู้ใดจะเอามาคลุมเข้าแก่เนื้อแก่ตัวของตัวโดยไม่มีเหตุผล ตัวต้องมีจิตใจเหมาะสมกับผ้ากาสายะเหล่านี้เสียก่อน จึงจะเอาผ้ากาสายะเหล่านี้มาห่มมาคลุมเข้าแก่เนื้อแก่ตัว
ทีนี้ท่านสอนให้พิจารณาว่าถ้ายังหลงใหลเหมือนกับฆราวาส ยังมีความคิดนึกอย่างคนหนุ่มที่เป็นฆราวาส นี่ก็ยังไม่มีจิตใจเหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ ดังนั้นจงคำนึงถึงตัวเองเวลานี้ว่ายังมีความโง่ ความหลงอย่างคนหนุ่ม อย่างฆราวาส อย่างใดบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของความสวยความงามที่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม นี่ให้นึกถึงข้อนี้ก่อน ปัญหามันจึงมาอยู่ที่เรื่องของความหลงในเรื่องสวยเรื่องงาม ถ้ายังหลงในเรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องสนุก เรื่องอร่อยอยู่แล้วก็ยังไม่ควรมายุ่งกับผ้ากาสายะเหล่านี้เลย ดังนั้นจึงสอน ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน ให้พิจารณาว่า ตามเป็นจริงนั้นไม่มีอะไรที่สวยงาม ยกตัวอย่างให้ฟังห้าอย่างก่อน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ห้าอย่างนี้เรียกว่า ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน เราเคยหลงในสิ่งเหล่านี้ว่าสวยว่างามนั้นยังโง่อยู่ ยังเป็นคนหนุ่มที่หลงใหลอยู่ ยังไม่สมควรกับผ้ากาสายะ บัดนี้เรามาพิจารณาให้เห็นชัดว่าเราเคยโง่ไปจริง แต่เวลานี้มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นของสวยของงามจริง สวยงามแต่เป็นเพียงหลอกลวง ตบตา มายาชั่วครู่ชั่วขณะของการที่ว่าตบตา หรือหลอกลวง และเราโง่ไปพัก ๆ หนึ่ง
ทีนี้เรามาพิจารณา เช่นว่าเรื่องผมที่เคยเห็นว่าสวย ทั้งของเราทั้งของผู้หญิง หรือของใครก็ตามนี่ เมื่อหายโง่ เราจะเห็นตามความจริงว่าไม่งาม ว่าผมนี้ไม่งาม โดยรูปร่างก็ไม่งาม เส้นยาว ๆ นี่ โดยสีสันวรรณะก็ไม่งาม คือสีดำ หรือสีหงอกก็ตาม โดยกลิ่มก็ไม่งาม คือกลิ่นเหม็น โดยที่เกิดที่อาศัยก็ไม่งาม คือเกิดจากหนังศีรษะ มีเลือดมีน้ำเหลืองหล่อเลี้ยง นี่ไม่งาม ว่าโดยหน้าที่การงานของสิ่งนี้ก็ไม่งาม เพราะว่าอยู่บนหัว สำหรับรับฝุ่นละออง ผมมีหน้าที่รับฝุ่นละอองบนศีรษะ หน้าที่สกปรก จึงเรียกว่าไม่งามโดยทุกประการ รูปร่างก็ไม่งาม สีสันวรรณะก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกก็ไม่งาม หน้าที่การงามก็ไม่งาม อย่างน้อยจำไว้ห้าอย่างนี้ว่าเป็นที่ตั้งแห่งการพิจารณาว่าไม่งาม แต่ถ้าเราหลงไป เราเผลอตัว เราลืมไป เรามองไปตามภาษาโง่ ๆ ที่เห็นว่าสวย ว่างาม ว่าหอมว่าอะไรต่าง ๆ ของตัวเองบ้าง ของผู้อื่นบ้างนั้นคนโง่ ทีนี้มาเป็นคนฉลาด เห็นตามเป็นจริง จึงควรของการนุ่งผ้ากาสายะ ผมเรียกว่า“เกศา” ที่สอง ขนเรียกว่า“โลมา” พิจารณาโลมา หรือขนอย่างเดียวกับผม ผิดกันบ้างแต่ที่มันละเอียด มีทั่ว ๆ ไปตามตัว หรือมีเฉพาะบางแห่ง พิจารณาผมอย่างไรพิจารณาขนอย่างนั้น เมื่อขนมีทั่วตัว มันน่าเกลียดเหมือนมีปฏิกูลไปทั่วตัว อันที่สามเล็บเรียกเป็นบาลีว่า“นขา” เราเคยมองกันในแง่ของความงาม เวลานี้มามองในแง่ของความจริงว่ารูปร่างไม่งาม สีสันวรรณะไม่งาม กลิ่นก็ไม่สะอาด ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของมันก็ไม่งาม หน้าที่การงามของมันก็ไม่งาม หน้าที่การงานของเล็บ คือสำหรับควัก สำหรับเกาสำหรับขูด มันก็สกปรกเต็มที นี่พิจารณาให้เห็นว่ามเป็นจริงเป็นอย่างนี้ แล้วทีนี้อันที่สี่ ฟันในปาก นี่ยิ่งเห็นง่ายเลย รูปร่างไม่งาม สีสันวรรณะก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของฟันนี่ก็ไม่งาม หน้าที่การงานของฟันคือการเคี้ยวบดอาหารในปากนี่ก็ไม่งาม ล้วนแต่เป็นของไม่งามตามความเป็นจริง งามก็เพราะเข้าใจผิด หรือโง่หลงไปเป็นพัก ๆ ดังนั้นเราก็เลิกโง่ เลิกหลงไปพัก ๆ นั้นเสีย แล้วมาเห็นตามเป็นจริง และมีใจคอปรกติไม่หลงใหลอีกต่อไป อันที่ห้าอันสุดท้ายคือหนัง ผิวหนังเรียกโดยภาษาบาลีว่า”ตโจ” พิจารณาอย่างเดียวกันอีกว่าหนังทั่ว ๆ ตัวนี่ รูปร่างมันก็น่าเกลียด รูปร่างของหนัง ถ้าถลกออกมายิ่งหน้าเกลียดเลย สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด จะเป็นสีน้ำตาล สีขาว หรือสีเหลืองอะไรก็ตามมันน่าเกลียดหมดเลย แล้วกลิ่นของมันก็น่าเกลียด ของผิวหนังตามปกตินี่ ดมแล้วมันก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอก คือว่ามันเกิดมาสำหรับปกปิดของสกปรกภายใน มีเลือด มีน้ำเหลือง มีอะไรต่าง ๆ หน้าที่การงานของมัน สำหรับรับฝุ่นละอองทั่วทั้งตัว เป็นเท ถ่ายเข้าถ่ายออกของความร้อน ของเหงื่อไคล ของไอ้น้ำเหลือง ของเหงื่ออะไรอย่างนี้ มันก็ล้วนเป็นหน้าที่การงานสกปรกอย่างยิ่ง ให้พิจารณาห้าอย่างนี้ก็พอ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่ แล้วอื่น ๆ มันก็เป็นอันเห็นหมดแหละ อาการสามสิบสองไม่ต้องเอาพูดทั้งสามสิบสอง เอามาพูดห้าอย่างนี้ก็พอ ถ้าว่าเห็นจริงมันก็เห็นจริงไปหมด ดังนั้นเธอเมื่อจะบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ต้องพิจารณาข้อนี้ คือเห็นความไม่งามของของห้าอย่างนี้ ซึ่งเราเคยหลงใหลว่างาม และยึดถือข้อนี้ไว้เป็นหลักเรื่อยไปจนกระทั่งบวชแล้ว จนกระทั่งอยู่ต่อไป
สำหรับเวลานี้เพื่อจะเปลี่ยนจิตใจให้เหมาะกับผ้ากาสายะ และร้องขอให้จงบรรพชาให้ผมด้วยผ้ากาสายะ เราจึงมีการทำจิตใจให้เหมาะสมกับการนุ่งห่มผ้ากาสายะเสียก่อน ดังนั้นเธอต้องฟังเรา ที่พูดนี่ และเข้าใจตามที่เราพูด แล้วก็ส่งใจไปตาม และก็มีจิตใจเปลี่ยนแปลงด้วย เธอจึงจะมีจิตใจที่เหมาะสมจะนุ่งผ้ากาสายะในเวลานี้ การร้องขอของเธอจึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ ขอให้ตั้งอกตั้งใจทำให้ดี อย่าให้ทุกคนผิดหวัง และอย่าให้ตัวเองผิดหวัง เอาหละทีนี้ก็มีเรื่องที่ว่าจะต้องรับ ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลีเสียด้วย ดังนั้นเข้ามาใกล้ ๆ หมอบใกล้ ๆ ก้ม เธอตั้งใจรับ ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐานด้วยภาษาบาลี ว่าตามเราดังต่อไปนี้
(นาทีที่47.35-48.48) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เรียกว่าเรียงลำดับตามเรื่องของมัน ทีนี้ทวนลำดับก็ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา เอ้า, ถ้าจำได้ ก็ว่า
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
ว่าอีกที
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อีกที
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
เพื่อความแน่นอนว่าอีกเที่ยว
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
ถ้าท่านว่าได้เรียบร้อย ทั้งอนุโลมและปฏิโลมถึงสามเที่ยวนี้ แสดงว่าจำได้ และยิ่งกว่านั้นยังแสดงว่ามีใจคอปกติพอสมควร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เลื่อนลอย หรือไม่ประหม่า เป็นต้น เราต้องการบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะในการรับบรรพชาอุปสมบทนี้ เราจึงมีการทดสอบในเรื่องนี้ พยายามทำให้เป็นสิ่งที่จำได้แม่นยำสำหรับปฏิบัติอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เราได้พิจารณาเห็นความพยายาม และความต้องการของเธอว่ามีมากพอสมควร และมีความเหมาะสมที่จะทำการบรรพชาได้ เราจึงทำการบรรพชาให้เธอด้วยการห่มจีวร (นาทีที่49.39-49.43 ฟังไม่ออก)ขอให้มีความเจริญก้าวหน้า บรรพชาในพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา สมตามความมุ่งหมายทุกประการเทอญ
ไปข้างหลังพระ
นาทีที่ 50.00-50.42 สวดมนต์
เธอเป็นผู้มีนิสสัยได้แล้ว เป็นผู้มีอุปัชฌายะอันถือแล้ว ควรแก่การขออุปสมบทได้ การถือนิสสัย คือการทำให้มีอุปัชฌายะนั่นเอง ระเบียบหรือใจความของนิสสัยก็คือ เป็นผู้ทำตัวให้อยู่ในฐานะแก่อุปัชฌายะดูแลควบคุมได้ อย่าให้มีความผิดพลาดเสียหายได้ ไม่ทำอะไรโดยไม่บอกกล่าว ไม่ไปไหนตามลำพัง ต้องคอยจะ(นาทีที่51.14ฟังไม่ออก)...อุปัชฌายะ ต้องไปควบคุม จะพูดเสียเลยว่าเนื่องจากไม่ได้อยู่วัดเดียวกันนี้ เสร็จแล้วให้ถือนิสสัยในอาจารย์ประจำวัด และก็ถืออย่างเดียวกับอุปัชฌายะ เพราะในเวลานี้เพื่อให้เรามีนิสสัย มีอุปัชฌายะสำหรับขออุปสมบท
ทีนี้เรื่องต่อไป เธอจะต้องมีชื่อเป็นภาษาบาลี เพื่อสวดกรรมวาจา อันมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า(นาทีที่51.52)อลังทิกะ หรืออลังทิโก ทุกเรื่องขอให้มีความหมาย ให้สมตามความหมาย(นาทีที่52.00) อลังทิโก นี่ก็แปลว่าเป็นคน ให้มีความหมายสมกับมีความเป็นคน อุปัชฌายะมีชื่อโดยภาษาบาลีอยู่แล้วว่า อินทปัญโญ ตอบให้ถูก ทั้งสองชื่อ ทั้งสองฝ่าย ทีนี้ให้รู้จักชื่อของบริขาร เช่น บาตร จีวร สังฆาฏิ เป็นต้น เพื่อทำการ(นาทีที่ 52.25ฟังไม่ออก)...ตัว สิกขา เป็นต้น ด้วยภาษาบาลี ซึ่งอาจารย์ผู้สวด(นาทีที่52.30ฟังไม่ออก)...ที่ได้บอก ตั้งแต่บัดนี้ และเธอก็ต้องจำให้ดี
(นาทีที่ 53.20-57.12) สวดมนต์
นั่งราบ พนมมือ กระผมขอเผดียงพระสงฆ์ทั้งหลายให้พิจารณาใช้สิทธิ์ของสงฆ์ ในการที่จะรับอุปสัมปทาเปก นี้หรือไม่
(นาทีที่ 57.33-1.07.22) สวดมนต์
กราบ อ้าว, ตั้งใจฟัง นั่งพนมมืออีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับอนุศาสน์ (นาทีที่1.07.31ฟังไม่รู้เรื่อง)...ของการอุปสมบท
นาทีที่ 1.07.39-1.08.09 สวดมนต์
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้ ว่าเมื่อได้ทำการอุปสมบทแล้ว ให้บอกนิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ เพื่อให้ซาบซึ้งแก่ธรรมให้ได้ โดยเด็ดขาด และเพื่อให้ซาบซึ้งแก่เป็นความเบาใจในการอุปสมบท สำหรับนิสสัย ๔ ข้อที่หนึ่งคือบรรพชา อาศัยบิณฑบาตเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต เธอพึงขวนขวายในบิณฑบาตถึงปานนั้นจนตลอดชีวิต แต่ถ้ามีอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีสังฆทาน เป็นต้น ก็พึงรับได้ ในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
(นาทีที่1.08.55-1.09.06) สวดมนต์
บรรพชา ใช้เครื่องนุ่งห่ม คือผ้าบังสุกุล ได้แก่ผ้าที่ทิ้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นผ้าเปื้อนฝุ่นเก็บมาตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรใช้ได้ เธอพึงขวนขวายในจีวรถึงปานนั้นจนตลอดชีวิตของบรรพชา แต่ถ้าหากว่ามีอดิเรกลาภเกิดขึ้น เป็นจีวรสำเร็จรูป อันคฤหัสถ์บดีถวาย ควรแก่สมณะบริโภค มีผ้าทำด้วยฝ้าย เป็นต้นแล้ว พึงรับได้เหมือนกัน แต่ในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
(นาทีที่ 1.09.53)สวดมนต์
บรรพชาอาศัยที่อยู่คือโคนไม้ เธอควรขวนขวายในเสนาสนะถึงปานนั้นจนตลอดชีวิตของบรรพชา แต่ถ้าอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีวิหารสำเร็จรูป กุฏิสำเร็จรูป ควรแก่สมณะบริโภคแล้ว พึงรับได้เหมือนกันในฐานะเป็นอดิเรกลาภ
(นาทีที่1.10.15-1.10.24) สวดมนต์
บรรพชาอาศัยยาแก้โรค คือเภสัช ประกอบขึ้นด้วยน้ำมูตร เธอจงขวนขวายเภสัชถึงปานนั้นจนตลอดชีวิตของบรรพชา แต่ถ้าเภสัชเป็นอดิเรกลาภเกิดขึ้น มีเภสัชอันประกอบด้วยเนยใส เป็นต้น ก็รับได้เหมือนกัน ในฐานะเป็นเพียงอดิเรกลาภ
(นาทีที่ 1.10.44-1.11.07)สวดมนต์
ผู้ใดอุปสมบทแล้ว ไม่พึงประกอบเมถุนธรรมในที่สุดแม้สัตว์เดรัจฉาน ภิกษุได้ประกอบเมถุนธรรม ย่อมหมดเป็นภิกษุ ย่อมหมดความเป็นภิกษุ ไม่เป็นภิกษุอีกต่อไป เปรียบเหมือนบุคคลที่ศีรษะขาดแล้ว ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ด้วยร่างกายนั้นอีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(นาทีที่1.11.29-1.11.57)สวดมนต์
ผู้ใดอุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ หรือถือเอาด้วย(นาทีที่1.12.00 ฟังไม่ออก) คือความเป็นขโมย แม้ที่สุดหญ้ากำมือเดียว ภิกษุที่ถือของที่เจ้าของไม่ได้ให้ได้รับ ราคาบาทหนึ่งก็ดี เทียบเท่ากับบาทหนึ่งก็ดี เกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี ย่อมหมดความเป็นภิกษุ ไม่มีความเป็นภิกษุอีกต่อไป เหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากต้นแล้ว ไม่อาจจะกลับเป็นใบไม้เขียวได้อีก ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่สมควรกระทำตลอดชีวิต
(นาทีที่1.12.28-1.12.54)สวดมนต์
ผู้ใดอุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งฆ่าสัตว์มีชีวิตให้ตาย แม้ที่สุดแต่มดดำมดแดง ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย แม้ที่สุดแต่มนุษย์ในครรภ์ ย่อมหมดความเป็นภิกษุ ไม่มีความเป็นภิกษุอีกต่อไป เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งหักออกเป็นสองท่อนแล้ว ย่อมไม่อาจจะกลับเป็นก้อนหินก้อนเดียวดังเดิม ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(นาทีที่1.13.22-1.13.55)สวดมนต์
ผู้ใดอุปสมบทแล้ว ไม่พึงมีการอวดอุตริมนุสธรรม แม้ที่สุดแต่จะอวดว่าเราเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะอันสงัดเสียแล้วดังนี้ ก็ไม่ควรจะอวด ภิกษุมีความปรารถนาลาภ เป็นต้น อวดอุตริมนุสธรรมว่าได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้วิมุติ ได้มรรคได้ผล เป็นต้นแล้ว ย่อมหมดความเป็นภิกษุ ไม่มีความเป็นภิกษุอีกต่อไป เหมือนต้นตาล อันบุคคลทำลายเสียแก่ชั้วแห้งยอดแล้ว ย่อมไม่อาจจะงอกงามได้อีก ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
(นาทีที่1.14.33-1.15.19)สวดมนต์
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ตรวจสอบได้ ตรัสไว้(นาทีที่1.15.28ฟังไม่ออก) คือกล่าวไว้ด้วยดี คือเรื่องศีล กล่าวไว้ด้วยดีเรื่องสมาธิ กล่าวไว้ด้วยดีเรื่องปัญญา ทั้งนั้นทั้งนี้เป็นไปเพื่อการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันจะเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งการเมา และตัดเสียซึ่งวัฏฏะ และทำลายเสียซึ่งตัณหา ทำให้เกิดความหน่าย ความคลายกำหนัด ด้วยความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ในสามอย่างนั้น เมื่อศีลอบรมดีแล้ว สมาธิย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เมื่อสมาธิอบรมดีแล้ว ปัญญาย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เมื่อปัญญาอบรมดีแล้ว จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เพราะฉะนั้นเธอผู้บวชแล้วในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า จงมีความเคารพเอื้อเฟื้อ หนักแน่นในศีลสิกขา ในจิตสิกขา ในปัญญาสิกขา ซึ่งพร้อมด้วยความไม่ประมาททุกเมื่อ สิ่งใดที่เราได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น เรื่องบรรพชา เรื่องอานิสงส์ของบรรพชา เรื่องที่ตั้งอาศัยของบรรพชา เรื่อง ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน ทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อความไม่ประมาท แล้วเธอมี(นาทีที่1.16.39)ความ...จดจำไว้ให้ดี พร้อมทั้งประพฤติ ปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง และสอนผู้อื่นสืบ ๆ กันไปจริงเท่าที่เราจะทำได้ ให้สำเร็จประโยชน์ คือได้รับอานิสงส์เป็นตามนั้นทุก ๆ ประการ มีความเจริญงอกงามในบรรพชา ในศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาสมตามความประสงค์ทุก ๆ ประการเทอญ
อามะ ภันเต
กราบ