แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้โอวาทแก่ผู้ลาสิกขา คือ พระภิกษุสองรูป พระไชยา กับ พระจำรัส ที่หินโค้งสวนโมกขพลาราม เมื่อตอนเช้าของวันเสาร์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒
สมามิ ภันเต
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีโทษน่าติเตียนอื่นใด ถ้ามีอยู่ระหว่างเราสองฝ่ายก็ให้เป็นอโหสิกรรม ด้วยอำนาจของการทำ(นาทีที่ 0.43 ฟังไม่ออก)...ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน ตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ
วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต มะยา กะตังปุนยัง สามินา อนุโมทิตะพัง สามินากะตัง ปุนยัง มัยหัง ทาตะพัง สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
นั่งฟัง นั่งราบ มีธรรมเนียมที่ทำปฏิบัติสืบ ๆ กันมา ก่อนลาสิกขาให้มีการทำวัตร ความหมายของการทำวัตร ถ้ายังไม่ทราบก็ควรทราบ เป็นความหมาย(นาทีที่ 2.20)แก่/ที่ดี
ข้อที่ ๑ (นาทีที่ 2.24)วันทามิ ภันเต เป็นการแสดงความเคารพในฐานะ ในบุคคล ในเวลา ในอะไรที่ควรแสดงความเคารพ แล้วก็ มะยา กะตังปุนยัง คือการแลกเปลี่ยนส่วนบุญ ความดีระหว่างกันและกัน สัพพัง อะปะราธัง ขอโทษด้วยความเคารพ ขอโทษ แลกเปลี่ยนส่วนบุญ ก็มันเป็นการว่า จิตใจเปลี่ยนสำหรับการลาสิกขา แต่ความจริงนั้นมันเป็นเรื่องที่เราจะต้องมีตลอดไป ถึงจะลาสิกขาไปแล้ว ก็ขอให้ถือหลักสามประการนี้ไว้ตลอดชีวิต คือเคารพในเมื่อควรเคารพ คำนี้ก็มีความหมายกว้างพอ ที่ว่าสูงกว่าเสมอกัน(นาทีที่3.50 ฟังไม่ออก)... ที่ว่าให้มีการเคารพได้ เป็นเรื่องไปศึกษารายละเอียดเอาเองว่า เราต้องอยู่ในความเคารพ มีชีวิตอยู่ ด้วยการเคารพ อ่อนน้อม ถ่อมตัว
แล้วขอที่สอง ขอโทษ ต้องเป็นคนที่อ่อนโยน ยอมแพ้ ไม่กระด้าง คือ ขอโทษทันทีเมื่อควรขอโทษ และเมื่อเขาขอโทษเรา และเราเป็นฝ่ายให้เขาขอโทษ เราก็ต้องให้อภัยทันที ไม่ถือโทษ และขอให้ถือความหมายแต่กว้าง ๆ อย่างสุภาพบุรุษ ถ้าเราไปจองหอง หรือกระเดื่องกระด้าง อะไรใครเขาสักนิด ก็ขอให้เข้าใจว่าเรามีโทษ ก็ต้องขอโทษ อันนั้นมันจะทำให้ดี ให้น่ารัก ให้น่าเลื่อมใส แล้วก็ให้มีสวัสดีมงคล การอ่อนน้อมถ่อมตัว ทำให้มันมีสวัสดีมงคล
แล้วข้อสุดท้ายก็ว่า มะยา กะตังปุนยัง นี่มันเรื่องแลกเปลี่ยนความดี ส่วนบุญ ซึ่งกันและกัน ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ คือ ป้องกันไม่ให้มีการอิจฉาริษยา โลกมันจะฉิบหาย เพราะการริษยา อิจฉา ทั้งบ้านเมืองก็เหมือนกัน ครอบครัวก็เหมือนกัน มันจะไม่มีความสงบสุข ถ้ามันมีการอิจฉาริษยา จึงมีธรรมเนียมให้แลกเปลี่ยน แม้แต่วัตถุสิ่งของ แม้แต่ความดีความงาม บุญกุศล การได้ทุก ๆ ประการจะเป็นประโยชน์ ปันให้เพื่อน แล้วเพื่อนก็ให้เรา มันก็อยู่ด้วยการแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของ แลกเปลี่ยนส่วนบุญ แลกเปลี่ยนคุณงามความดี แลกเปลี่ยนทุกอย่าง แล้วแต่มันจะช่วยให้อยู่ด้วยกันได้ คนสมัยนี้มันเลิก ๆๆ เลิกร้างข้อนี้กันเสียหมด คนสมัยก่อนเขาแลกเปลี่ยน แม้แต่วัตถุสิ่งของ มีอะไรให้กินสักนิดก็แลกเปลี่ยนกันอยู่ ไปทำอะไรดีมาบอกให้ส่วนบุญเพื่อนรายทางก่อนถึงบ้าน เอาบุญให้นะ เอาบุญให้นะ มันก็เคยอยู่กันด้วยความสงบสุข มีศีลธรรมดี ด้วยการประพฤติกระทำตามความหมายของการทำวัตร มันเรียกว่า ทำวัตรถูกที่สุดอยู่ คือทำอยู่เป็นนิสัย ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นนิสัย เคารพ อ่อนน้อม ถ่อมตัว ให้ขอโทษ และให้อภัย ให้แลกเปลี่ยนส่วนบุญคุณงามความดี ประโยชน์ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ โดยบุคคลก็ถูกต้องที่สุด โดยสังคมก็ถูกต้องที่สุด แต่ว่าในโลก มันคือหลักสามประการนี้ดี มีแต่ความสงบสุข อุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำให้ทำวัตรนี่ก่อน จะทำกิจอะไรที่สำคัญ ๆ ก็ทำวัตรนี่ก่อน จะบวช จะเรียน จะสึก จะพิธีรีตองอะไรก็ตาม จะต้องทำวัตรนี่ก่อน ถ้าบวชตามแบบโบราณแท้ ๆ เมื่อบวชก็ทำวัตร จึงขอบวช ตามแบบ(นาทีที่ 8.2ฟังไม่ออก)...อันนี้มันลวก ๆ แบบสั้น ๆ เมื่อจะสึก เราก็ทำวัตรกัน โดยถือเป็นบุพพภาคของการกระทำทุกอย่างที่เป็นกิจจะลักษณะ แล้วก็ทำด้วยความรู้สึกอันแท้จริง แล้วก็ถือเป็นหลักปฏิบัติจนตลอดชีวิตด้วย เรื่องทำวัตร มันก็เสร็จสิ้นไปแล้ว
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องการลาสิกขา ลาสิกขานี่ไม่ต้องทำเป็นสังฆกรรม คือ ไม่ได้มีวินัยบัญญัติไว้ว่า ต้องทำเป็นสังฆกรรม คือไม่ต้องทำในสีมา ไม่ต้องทำในอันเนื่องด้วยสงฆ์ ถือเป็นเรื่องของบุคคล เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องไปทำในสีมา คือในโบสถ์ หรือประชุมสงฆ์ เป็นต้น เป็นเรื่องของบุคคล ตามปกติก็เป็นเรื่องบอกความไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์อย่างภิกษุอีกต่อไป จึงลาสิกขา วินัยมีบัญญัติถึงเรื่องต้องทำด้วยจิตใจด้วย ไม่ใช่ทำแต่ท่าทาง หรือคำพูด คือต้องมีจิตใจลาสิกขา พร้อมลาสิกขา รู้สึกในการลาสิกขาโดยสมบูรณ์ด้วย จึงจะเป็นการลาสิกขา ถ้าจิตใจมันไม่สมัครสึก ไม่สมัครจะลาสิกขาก็ไม่เป็นอันลาสิกขา มีความผูกพันอันรุงรังไปหมด สำหรับเรานี่ก็คงจะไม่มีปัญหาในทางจิตใจ เพราะมันเป็นการรู้กันอยู่แล้ว หรือว่าเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว มีเวลาเท่านั้นเท่านี้ มันก็เป็นอันว่า โดยจิตใจมันก็ไม่มีปัญหา คือ มันแน่นอนเรื่องลาสิกขา โดยวาจามันก็บอกไว้ว่า ข้าพเจ้าขอคืนสิกขาโดยการกระทำทางกาย มันก็ได้แสดงออกให้เห็นว่า เราได้ลาสิกขา เปลี่ยนการนุ่งห่ม เปลี่ยนการประพฤติการกระทำ นี่ก็เป็นอันว่ามีการลาสิกขา ครบถ้วนทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่มีปัญหาใน เรื่องนี้
ทีนี้ก็มีปัญหาสำหรับคำว่าสิกขา ลาสิกขา คือลาสิกขาบทอย่างภิกษุ แต่ไม่ได้ลาศาสนา ไม่ได้บอกคืนศาสนา ไม่ได้บอกคืนสรณคมน์ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า คำที่เราบอกคืน นี่บอกคืนแต่สิกขาอย่างภิกษุ แต่ไม่ได้บอกคืนความเป็นพุทธบริษัท ไมได้บอกคืนการถือพระรัตนตรัย ไม่ได้บอกคืน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในใจต้องมีความสำนึกถูกต้องว่า นี่บอกคืนเฉพาะสิกขาบทอย่างเป็นภิกษุ แล้วเราก็ไปเป็นพุทธบริษัทอย่างคฤหัสถ์ คือมีสิกขาตามแบบของคฤหัสถ์ จะถือศีล ๘ ถือศีล ๕ ศีลอะไรตามใจ แต่เรียกว่าเป็นสิกขาอย่างคฤหัสถ์ ส่วนการถือสรณคมน์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คงมีเท่าเดิม การยอมรับหลักพระพุทธศาสนาเป็นระบบปฏิบัติประจำชีวิตนั้นคงมีเท่าเดิม ตามเดิม มากกว่าเดิม คงรักษาไว้ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง ก็เฉพาะตัวสิกขาบทที่จะถือ สิกขาบทส่วนที่เป็นภิกษุนั้นเราบอกลา เรียกว่าบอกคืน ปจฺจกฺขามิ แปลว่า บอกคืน นี่เราทำในใจให้ถูกต้องว่า เราบอกคืนสิกขาส่วนนี้ หลังจากที่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในระดับความเป็นภิกษุมาเพียงพอแก่ความปรารถนาแล้ว จึงบอกคืนสิกขา
นี่ตามธรรมเนียมพุทธบริษัท ทำอะไรต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอไป เราจึงมีธรรมเนียมว่า นะโม แหล่ะ ว่านะโม ๓ จบ นั่นเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ มีสติสัมปะชัญญะทำต่อไป นี่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็มีสติสัมปชัญญะบอกคืนสิกขา กล่าวคืนสิกขา นี่เรียกว่าทุกอย่างทำไปด้วยสติสัมปะชัญญะ ไม่ได้ระหกระเหิน งก ๆ เงิ่น ๆ จิตใจฟุ้งซ่านไม่อยู่กับตัว นั่นมันใช้ไม่ได้ ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดชีวิตว่า ถ้าเกิดอะไร เกิดอะไรขึ้น จะทำอะไร ให้สำรวมจิตใจ ให้มีสติสัมปะชัญญะโดยระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน มันจะไม่มีทำอะไรผิดพลาด ถ้าเราทำอะไรฉุนเฉียว ผิดพลาด หยาบคาย ล่วงเกินคนนั้นคนนี้ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีบุญคุณ ล่วงเกินบิดามารดาอะไร ก็เพราะไม่มีสัมปะชัญญะ ไม่มีสติสัมปะชัญญะ เราจะหัดให้เป็นนิสัยว่าทำอะไรก็ต้องมีสติสัมปะชัญญะ เขาจึงมีระเบียบว่าให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ไม่ทำอะไรผลุนผลันไปด้วยความรู้สึกชั่วขณะ ให้มีการนึกถึงพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในใจก่อนแล้วถึงจะค่อยพูด ค่อยทำ ค่อยคิด ค่อยตัดสินใจอะไรต่าง ๆ ให้ยึดถือเป็นหลักด้วย ต่อไปนี้ก็จะถึงเวลาที่จะบอกคืนสิกขา ว่าทีละคน คุกเข่า พนมมือ ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วบอกคืนสิกขา เอาทีละคน เอาทีละคน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต
กราบก่อน กราบก่อน ขึ้นต้นกราบ แล้วลงกราบ เข้ามาใกล้ ๆ เพื่อความสะดวก
(นาทีที่16.35-17.06 นะโม ๓ จบ และบทบาลีลาสิกขา) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต…
บัดนี้เธอได้กล่าวคืนสิกขา บอกคืนความเป็นภิกษุ ไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป กราบ ก็ไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
ตั้งนะโม แล้วก็ว่า
(นาทีที่17.45-18.16นะโม ๓ จบ และบทบาลีลาสิกขา) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต...
บัดนี้เธอได้กล่าวคืนสิกขาแล้ว ไม่มีความประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์อย่างภิกษุแล้ว จึงไม่มีความสมควรที่จะนุ่งผ้ากาสายะ เอ้า, ไปเปลี่ยน
ทีนี้ก็รับศีล อาราธณาศีล(นาทีที่18.47-19.23 สวดบาลีอาราธณาศีล)
(นาทีที่19.23-20.49 สวดบาลีให้-รับศีล)
ให้ศีล และให้พรอันนั้น ให้ดี ให้สะดวกที่จะฟัง มีการให้ศีล แล้วก็มีการให้พร ซึ่งเป็นการให้โอวาทพร้อมกันไปในตัว ขอให้ตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ การพูดคราวหนึ่งมีเรื่องสำหรับปฏิบัติตลอดชีวิต ให้พรคนลาสิกขา เขาก็มีอย่างพิธีรีตอง รดน้ำมนต์ ชยันโตอะไรก็มี แต่เราเห็นว่ามากแล้ว ให้พรกันตามแบบของพระพุทธเจ้ากันบ้าง คือไม่ต้องมีรดน้ำมนต์ หรืออะไรกัน เรียกว่าแบบชาวบ้าน พร แปลว่า ดี ให้พร คือ ให้พีธีประทับความดี แล้วมันก็ดี ขอให้สามารถทำความดี ให้เป็นพร ให้ถึงที่สุดที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของการบวช การบวชสำหรับคนแก่ บวชเพื่อหาประโยชน์สูงขึ้นไปกว่าฆราวาส แล้วก็ไปเลยให้ถึงที่สุดจนตลอดชีวิต แต่ว่าการบวชสำหรับคนหนุ่ม บวชเพื่อจะศึกษาสิ่งที่ควรศึกษา สำหรับออกไปต่อสู้โลก และการเป็นอยู่อย่างโลก ๆ เพื่อชัยชนะมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เขาจึงมีจะเหมือนกัน ตามขนบธรรมเนียมสำหรับคนหนุ่มบวชมาแต่โบราณในอินเดีย แม้จะไม่ใช่บวชพระ คือ ไม่ได้บวชภิกษุในพุทธศาสนาชั่วคราวแล้วสึกออกไปเป็นชาวบ้านนั้นไม่มี แต่ว่าในอินเดียเขาก็มีให้คนหนุ่มไปเข้าอยู่ในอาศรม คืออยู่กันมาก ๆ ฝึกหัดปฏิบัติเหมือน ๆ กันภายใต้การบังคับบัญชา คุ้มครองดูแลของอุปัชฌาย์อาจารย์ จนกว่าจะเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย อาจารย์พอใจก็จะให้ออกจากอาศรมไปสู่ความเป็นชาวบ้าน แล้วเขาก็เรียกว่า บัณฑิต ผู้ที่ได้ผ่านอาศรมชนิดนี้มาแล้ว พอเป็นชาวบ้านนี่เขาจะเรียกว่าบัณฑิต แปลว่า ผู้มีปัญญาเอาตัวรอดได้ อยู่ในโลกด้วยชัยชนะตลอดไป ไม่มีการพ่ายแพ้ เมื่อชาวอินเดียมาเป็นครูบาอาจารย์ ก็ได้นำระบอบวิธีนี้มาใช้ ให้เรียกชื่อคนเคยบวชแล้วสึกออกไปนั้นว่าบัณฑิตเหมือนกัน แม้จะบวชในพุทธศาสนา เมื่อลาสึกออกไปก็คงเรียกว่า บัณฑิต แต่ภาษามันสับสนแปรปรวนไป เหลือแต่เรียกว่า ฑิต หรือ ทิด เฉย ๆ เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น เรามันได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต ในการเป็นมนุษย์ มันเป็นปริญญาของการเป็นมนุษย์ ถือว่า เป็นบัณฑิต ผู้มีปัณฑา ปัณฑานั้นคือปัญญา เอาตัวรอดได้ บัณฑิตะ คือผู้มีปัณฑานั่นเอง เป็นผู้มีปัญญาเอาตัวรอดได้ เราต้องถือเอาความหมายข้อนี้ให้ถูกต้อง คือเราจะไม่ทำผิดพลาด เราจะไม่เป็นผู้พ่ายแพ้ในหน้าที่การงานของมนุษย์ แล้วเราจะได้ก้าวหน้าจนถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ แม้อย่างฆราวาส มันก็มีที่สุดเหมือนกัน คือดีที่สุด เอาเป็นว่า ที่แล้วมาแต่หลังก็ไม่ต้องนึกถึง ถ้ามันผิดพลาดโง่เง่าเต่าปูปลา ทำอะไรไม่น่าดูมาแล้วแต่หนหลังก็ไม่ต้องนึกถึง ให้มันเป็นเหมือนกับว่า ลบกระดานดำทิ้งไปเสียที เป็นกระดานเกลี้ยง ๆ ต่อไปนี้ ก็จะเขียนกันใหม่ สะสมคะแนน ขอให้มีแต่ความถูกต้อง คือบวก ให้มีคะแนนบวกเพิ่มขึ้น ๆๆ จนตลอดชีวิต อย่าให้มีคะแนนลบเกิดขึ้น หักคะแนนบวก นี่ประโยชน์ของการบวช มันจะช่วยได้ในกรณีนี้ ถ้าบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง เข้าใจจริง บังคับตัวเองให้ได้จริงตลอดไป มันก็จะมีแต่คะแนนบวก ถ้าทำอะไรผิด ๆ มาแต่หนหลังก็ให้เลิกเสีย แล้วอย่าทำอีก ทีนี้ก็จะเป็นแต่ผู้รุ่งเรื่องก้าวหน้า
ขอให้ระวังคำว่าพ่ายแพ้ เรามักจะพ่ายแพ้แก่กิเลส ซึ่งมันมีอำนาจรุนแรง เราบังคับไม่ได้ คือจิตใจส่วนสูงบังคับจิตใจส่วนต่ำไม่ได้ นี่เรียกว่าพ่ายแพ้ (นาทีที่ 28.24)ไอ้เรา..มันก็คือจิต ถ้าว่าจิตมันดี ก็เป็นเรา ก็จะเป็นที่พึ่งได้ ถ้าว่าจิตมันเลว ก็เป็นข้าศึกของเรา เราบวชแล้ว รู้จักจิตใจ ก็ถูกต้องมันอย่างไร ก็รักษาไว้ให้ได้ อย่าให้มีการพ่ายแพ้ อย่าลุอำนาจแก่โลภะ หรือราคะ กิเลส กามารมณ์ อย่าลุอำนาจแก่โทสะ กิเลสประเภททำลาย อย่าลุอำนาจแก่กิเลสประเภทโมหะ คือโง่เง่า หลงใหล มัวเมา สับประ เอาวัด ๆ อวดดี ประมาท ระวังอย่าลุอำนาจแก่กิเลส คือศัตรูสามประการนี้ ถ้าลุอำนาจแก่กิเลสมีข้อใดข้อหนึ่งก็ชื่อว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ ถ้าบังคับความรู้สึกทางเพศ ทางกามารมณ์ อย่าให้มันครอบงำเรา ให้เราครอบงำมัน แล้วโทสะ เราต้องครอบงำมันให้ได้อย่าให้มันมาครอบงำเรา ให้เราควบคุมมันให้ได้ อย่าทำอะไร พูดอะไรโดยโทสะ แล้วมันก็เป็นโมหะไปในตัวแหล่ะ คือ โง่ และอวดดีพร้อมกันในตัว นี่เรียกว่าเราได้รับการฝึกฝนอบรมในระหว่างบวช ออกไปเป็นบัณฑิต สามารถควบคุมโลภะ โทสะ โมหะได้ตามสมควรแก่ความเป็นฆราวาส แล้วเราก็เป็นบัณฑิต ฆราวาสอย่างถูกต้อง
ขอทบทวนเรื่องอานิสงส์ของการบวช จะได้พูดจากันในวันบวชอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนสำคัญที่สุดว่า ขอให้การบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงนี้มันได้ผลเป็นสามฝ่าย คือเราผู้บวชก็ได้ และบิดา มารดา ผู้มีพระคุณ ผู้ให้กำเนิดชีวิตมาก็ต้องได้ รวมทั้งญาติทั้งหลายทั้งปวงด้วย แล้วก็ให้สัตว์ทั้งหลาย ทั้งสิ้นในโลกนี้ก็พลอยได้รับด้วย และการที่เราบวชนี้ ได้สืบศาสนา สืบระบบของความปฏิบัติดีไว้ในโลก สัตว์โลกก็ย่อมจะได้รับด้วย
ข้อที่ ๑. ที่ว่าเราผู้บวชได้ คือเราสามารถจะรู้สิ่งที่ควรจะรู้ ควรจะปฏิบัติ แล้วก็ไปปฏิบัติ เราก็ได้รับประโยชน์สำเร็จตามที่มนุษย์ดี ๆ จะพึงได้ ตามที่บัณฑิตผู้รู้ได้บัญญัติไว้ ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ ผู้ที่ประสบประโยชน์ในทางโลก ๆ นี้ เขาจะต้องประสบความสำเร็จในการมีทรัพย์สมบัติพอตัว แล้วจะต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัว วัตถุปัจจัยที่อาศัยเกื้อกูลแก่การมีชีวิตอยู่นี่ก็เรียกว่าทรัพย์สมบัติ เราต้องมีพอตัวไม่ขาดแคลน และเราต้องมีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว ตามสมควรแก่ฐานะของเรา มีเกียรติยศ เกียรติศัพท์ เกียรติคุณ อะไรก็แล้วแต่จะเรียกพอตัว อย่าให้มันขาดแคลน แล้วก็ต้องมีมิตรสหาย คือ การสังคม ในสมัยนี้เรียกกันว่าการสังคม ในระดับที่พอตัว มีมิตรดี มีเพื่อนดี มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันน่ะมันดี คือสังคมกันแต่ในบุคคลที่ดี เราไม่ขาดแคลนเพื่อนที่ดี(นาทีที่33.17) ...พรรณนั้นที่ว่า เรียกสั้น ๆ ว่า มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศ แล้วก็มีไมตรี ไมตรี คือความเป็นมิตรที่ดี ในทางโลกนี้ จงพยายามให้ประสบความสำเร็จในการมีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง แล้วมีไมตรี คือสังคมที่ดี ให้สมกับที่เราได้บวชได้เรียน แล้วเรามีความรู้ทางธรรมะ บังคับโลภะ โทสะ โมหะได้ดีในทางจิตใจของเรา ไม่มีความร้อนเหมือนกับไฟเข้าไปติดอยู่ในใจ มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศ ชื่อเสียง มีสังคม หรืออะไรก็ตามใจเถอะ แต่ถ้าทำผิดในเรื่องธรรมะ ทางจิตใจมันก็ร้อนเป็นไฟ มีความทุกข์ทรมาน ถึงกับไม่อยากอยู่ ฆ่าตัวตายก็มี เพราะมันขาดคุณสมบัติทางจิตใจ คือถ้ามันผิดหมดทั้งทางเรื่องโลก ๆ และเรื่องทางธรรมแล้วมันก็ไม่เว้น หาความสุขไม่ได้ การบวชมันก็เป็นหมัน มันไม่ได้ประโยชน์ไปจากการบวช เราจะต้องเอาตัวรอดได้ทั้งทางโลก และทางธรรม นี่ทรัพย์ ยศ ไมตรีอย่างโลก ๆ แล้วมีจิตใจที่ควบคุมได้ ไม่ให้กิเลสครอบงำย่ำยี นี่ก็เรียกว่าทางธรรม นี่เราได้นะ
แล้วก็มีในข้อที่ ๒ บิดามารดา ญาติทั้งหลายได้ คือว่าเราได้บวช เราได้ประพฤติตัวดี เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของบิดามารดา เขามีลูกมีหลานก็มีกันตามความหมายนี่ก็ว่า จะได้ผู้ที่ทำความพอใจ ชื่นอกชื่นใจให้ คำว่าบุตร แปลว่า ผู้ยกบิดามารดา ขึ้นมาจากนรกจากความร้อนใจ เพราะฉะนั้นบุตรต้องทำให้บิดามารดารับความชื่นอกชื่นใจ ไม่มีความร้อนใจอะไรอีกต่อไป ตามธรรมเนียมมาแต่ดึกดำบรรพ์เป็นอย่างนั้น ให้บุตรเป็นฝ่ายยอมเสียสละเพื่อความสบายใจของบิดามารดา เพราะว่าชีวิตของเราแท้ ๆได้มาจากบิดามารดา มันจึงไม่มีทางที่จะอวดดี เราเกิดเองไม่ได้ ต้องให้บิดามารดาเกิดมาให้ แม้ความเห็นจะไม่ตรงกัน มันก็ต้องอนุโลมให้บิดามารดาได้รับความพอใจ หรือปรับปรุงกันจนบิดามารดาได้รับความพอใจ บุตรที่ดีจึงเสียสละได้แม้แต่เสียสละชีวิต เพื่อประโยชน์แห่งความสบายใจของบิดามารดา แต่ว่าเรื่องในโลกนั้นต้องเป็นถึงพรรณนั้นไหม และบิดามารดามันก็รักลูกมันเหลือเกินไม่อยากให้ลูกมีความทุกข์ มันจึงไปด้วยกันได้ ทั้งสองฝ่ายมีความทุกข์ แต่ความเสียสละมากมันมาอยู่ฝ่ายลูกนะ เพราะว่าบิดามารดามันมีบุญคุณเหลือประมาณ เพราะมันเกิดเองไม่ได้ ชีวิตมันได้มาแต่บิดามารดา เป็นเนื้อเป็นตัวมาได้ ก็บิดามารดา อุปนิสัยอะไรต่าง ๆ มันก็ถ่ายทอดมาจากบิดามารดาตั้งแต่แรกคลอดจนบัดนี้ เรียกได้ว่าบิดามารดา สร้างเรามาทั้งทางร่างกาย และทั้งทางจิตใจ จึงถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณสูงสุด การบวชนี้ก็เพื่อแทนคุณบิดามารดา เราจึงให้การบวชของเราได้รับประโยชน์ แผ่เผื่อไปถึงบิดามารดา ให้บิดามารดาได้รับประโยชน์จากศาสนา พอใจในศาสนา เพราะว่าลูกได้บวชนี่บิดามารดาก็ยึดมั่นในธรรม ในศาสนามากขึ้น ญาติทั้งหลายก็เหมือนกัน นี่อานิสงส์ข้อนี้เป็นข้อที่รองลงมา เป็นอานิสงส์ที่สำคัญ ข้อที่ ๑ เราได้เอง ข้อที่ ๒ บิดามารดา และญาติทั้งหลายได้
ข้อที่ ๓ เพื่อนมนุษย์ในโลกก็พลอยได้ ให้ถือว่าเราเป็นคนดีในโลกคนหนึ่งก็แล้วกัน โลกก็พลอยได้รับประโยชน์ แต่ว่าเขามีอธิบายว่าเราบวชดี บวชจริง เรียนจริง มันเป็นการสืบระบบศาสนาไว้ในโลก ให้ศาสนามีในโลก แล้วคนชั้นหลังก็พลอยได้รับประโยชน์จากศาสนาที่เราสืบไว้ให้ แม้ว่าเราจะตายแล้ว เราเห็นได้ในเวลานี้ เราได้รับประโยชน์จากพระศาสนา เพราะมีคนเคยตายไปแล้ว ตายไปแล้วน่ะ เขาสืบไว้ให้เรา เหลือมาถึงเรา เราช่วยกันมีศาสนาให้ถูกต้อง จะเป็นพระก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี ช่วยกันมีศาสนาให้มันถูกต้อง และศาสนาจะมีอยู่ในโลก คนจะได้รับประโยชน์จากพระศาสนา ซึ่งมีอยู่ในโลกด้วยกันทุก ๆ ศาสนา นี่เรามันถือศาสนาพุทธ เราก็ทำศาสนาพุทธให้มีอยู่ในโลก เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก มันเลยเป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก และประโยชน์แก่พระศาสนาพร้อมกันไปในตัว ศาสนาจะมีอยู่ในโลกได้ก็เพราะว่ามีคนปฏิบัติศาสนานะ ไม่ใช่ว่าพิมพ์พระไตรปิฏกใส่ไว้เต็มโลก แล้วโลกมันจะมีศาสนาได้ ไม่ได้ ต้องมีคนปฏิบัติพระธรรม พระศาสนาอยู่ในโลก แล้วโลกนี้ก็ชื่อว่ามีศาสนา เราสึกออกไปนี่จงปฏิบัติ พระธรรม พระศาสนาให้สุดความสามารถอยู่ในทุก ๆ กรณี คำว่าทุก ๆ กรณีนี่หมายความว่า เราจะทำมาหากินก็ดี เราจะทำอะไรต่อไปทุกอย่างก็ทำถ้าต้องทำไปในโลกนี้ ให้มันมีการปฏิบัติถูกต้อง มันมีศาสนาอยู่ในความถูกต้องในการปฏิบัติของเรา นั่นล่ะคือเรามันสืบอายุศาสนา สืบระบบความดีไว้ในโลก ไปอยู่ที่ไหนก็ขอให้เป็นผู้เผยแผ่ระบบของการปฏิบัติถูกต้อง และความเป็นมนุษย์ นี่เรียกว่ามันเป็นหน้าที่ของคนทุกคน จะเป็นราษฏร หรือจะเป็นข้าราชการ หรือจะเป็นเพศไหนก็ตาม มีหน้าที่แสดงความถูกต้องให้ปรากฏอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจให้เขาได้เห็น และเขาได้เอาอย่าง นี่เราเป็นผู้ทำประโยชน์สูงสุด สูงสุดเหลือเกินนะ ไปคิดไรเลย เกินมาชาติหนึ่ง จะทำประโยชน์สูงสุด มันก็ข้อนี้แหล่ะ เป็นผู้มีประโยชน์ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกหนทุกแห่ง นี่บวชทีหนึ่งได้ทั้งประโยชน์อานิสงส์โดยหัวข้อใหญ่ ๆ ว่า เราได้ พ่อแม่ได้ เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้ มันพอแล้วที่ลงทุนบวชทีหนึ่ง พอแล้ว มันเกินค่าแล้ว ถ้าเธอทำได้อย่างนี้ ก็เป็นพรสูงสุด เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงส์สูงสุดที่มนุษย์จะพึงได้ ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ขอให้เอาไปทำไว้ในใจตลอดเวลา อย่าให้ผิดพลาดได้ ให้มีแต่คะแนนบวกเพิ่มขึ้น หักลบไม่มี แล้วก็ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้ นี่เรื่องใหญ่ใจความที่เราจะต้องรู้ จึงพูดให้ฟัง ให้ศีลให้พร คือสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์
ทีนี้ก็เรื่องเบ็ดเตล็ด ไปคิดเอาเอง เราบวชแล้วจะทำอะไรในเรื่องส่วนตัว เช่นว่า เราอย่าประมาท พยายามทำไอ้สิ่งที่เราจะทำได้ แม้แต่ว่าอาราธนาศีลนี่เราก็จะไม่ลืม ต่อไปใครมีอะไร จะให้อาราธนาศีล เราต้องทำได้ ถ้าเพื่อนฝูง ลูกหลานของเราจะบวช จะเรียน เราต้องทำได้ เราต้องสอนได้ เราอย่าทิ้งเสีย ไอ้ที่เคยทำได้นี่ คำอาราธนาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ กรวดน้ำ ทำวัตร ไอ้ทำวัตรนั้นก็เป็นเพียงแต่ทำในใจ เป็นเรื่องที่ว่า...สามประการนั้นแหละ แสดงความเคารพ แล้วก็ขอโทษ อดโทษ และก็ให้แลกเปลี่ยนส่วนบุญกันอยู่เสมอ เวลากลางค่ำกลางคืนก็ไหว้พระสวดมนต์ ก็ให้นึกถึงสามข้อนี้ เป็นการเตือนไว้ ซ้อมไว้ เราจะสังคมกับคนทุกคนในฐานะที่เราเป็นผู้เคยบวช อย่าให้เขาด่าว่าได้ว่าเคยบวชแล้วทั้งที ไม่ประสาอะไรเลย มีจิตใจกระด้างกระเดื่อง มีจิตใจหยาบคาย มีจิตใจอะไร ไม่เคารพบิดามารดา ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมก็เยอะ
สรุปความสั้น ๆ ว่าให้ทำตนให้เหมาะสมกับที่ว่าได้บวชแล้ว อย่าให้ชาวบ้านเขานินทาได้ว่า เสียทีที่บวชแล้ว นี่ก็ขอให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะบังคับตัวเองให้อยู่ในความถูกต้อง อย่าบันดาลโทสะ อย่าอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ให้ทุกคนได้รับความพอใจจากเรา ให้เขาเคารพเรา รักเรา นับถือเราให้จนได้ นั่นน่ะคือสวัสดีมงคล ความเจริญรุ่งเรืองงอกงามตามหนทางของพระพุทธศาสนา นี่ในที่สุดนี้ก็ให้เธอ ให้พรด้วยการอธิษฐานจิตว่า ด้วยอำนาจที่เราได้ประพฤติดีมาตลอดเวลา ขอให้มีกำลังแก่จิตใจให้สามารถควบคุมจิตใจรักษาความถูกต้องนี้ไว้ให้ได้ และให้เธอเป็นผู้เจริญงอกงามตามทางแห่งพระศาสนา เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นอยู่ในโลกนี้ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
เอ้า, เอาไปไว้ตักเตือนตัวเอง อย่าให้มันลืมการบวช มีห้องพระ มีตู้สมุด เอาพานนี่ไปใส่ไว้เตือนตัวเอง อย่าให้มันลืมการบวช เพราะมันเป็นมรดกจากพระพุทธเจ้า ถึงจะซื้อมาเอง แต่ถ้าครูอุปัชฌาย์อาจารย์ให้ ก็ถือว่าในนามของพระพุทธเจ้า เอาไปไว้เตือนตัวเองว่าเราได้บวชแล้ว มันดีกว่ารูปถ่าย