แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้ตั้งใจฟังกันหน่อย นั่งราบ นั่งราบประนมมือ เข้ามาใกล้ๆหน่อย เรื่องการลาสิกขาบทไม่ต้องทำเป็นสังฆกรรมอย่างกับการอุปสมบท เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องไปทำในสีมา ข้อนี้ไม่ต้องสงสัยเข้าใจไว้ ควรจะรู้จักทำในใจ ในเวลาที่จะลาสิกขาบทนั้นให้ถูกต้องด้วย ดังนั้นจึงมีการชี้แจงให้ฟัง ก่อนที่จะลาสิกขา ข้อแรกที่สุดนั้นให้รู้ว่าเราลาเฉพาะสิกขาสำหรับภิกษุ ไม่ใช่ลาไปเสียทั้งหมด ไม่ได้บอกคืนสรณาคม ไม่ได้บอกคืนความเป็นพุทธบริษัท ขอให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังอยู่เต็ม ถ้าเปรียบแล้วก็เป็นการบอกคืนเพียงนิดเดียว คือสิกขาอย่างภิกษุ สำหรับจะไปเป็นพุทธบริษัทอย่างฆราวาสต่อไป เมื่อกล่าวคืนสิกขา ก็ให้รู้ว่าเรามีความมุ่งหมายอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะว่าแม้การลาสิกขาบทนี้ ก็ต้องเป็นเรื่องของจิตใจโดยตรง จึงอยู่ที่ทำในใจให้ถูกต้อง จึงจะสำเร็จประโยชน์โดยแท้จริง แต่ตามธรรมเนียมเราก็มีการลาสิกขาครบกันทั้งสามอย่าง คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ โดยทางกาย ก็ได้แสดงให้ปรากฏในการเปลี่ยนการเป็นอยู่ การนุ่งห่มเป็นต้น โดยทางวาจาก็กล่าวออกมาให้ปรากฏ คือกล่าวคำบอกคืนสิกขา ว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขาอย่าง ภิกษุ คิหีติ มัง ธาเรถะ จงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ต่อไป เมื่อปากว่าใจก็ต้องทราบรู้สึกในความหมายของคำที่ได้ว่าออกไป จึงสำเร็จประโยชน์ในทางวาจา ในทางใจก็รู้อยู่แล้วว่าเราจะลาสิกขาแน่ ไม่มีปัญหา มีจิตใจที่แน่นอนอยู่แล้ว ไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเขาบังคับให้สึกหรือว่าอะไรทำนองนั้น มันเป็นปัญหา เดี๋ยวนี้ก็มีความแน่ใจแล้วว่าเราจะต้องลาสิกขา ก็เป็นอันว่ามีความถูกต้อง แน่นอน ครบถ้วนแล้วทั้ง ๓ ประการโดยกาย วาจา ใจ นี่คือข้อที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนให้ถูกต้องในการลาสิกขา ทีนี้การกล่าวคำลาสิกขานี้ก็นิยมว่าเป็นภาษาบาลี อย่างที่เข้าใจว่าคงจะเรียนมาแล้ว ก่อนที่จะว่าคำกล่าวคืนสิกขา นี้ก็ต้องว่านะโมสัก ๓ หนตามธรรมเนียมของพิธีกรรมในพุทธศาสนาทั่วๆไป เราก็จะว่านะโมสัก ๓ ครั้ง แล้วจึงกล่าวคำบอกคืนสิกขา อย่างน้อยสัก ๓ ครั้งตามธรรมเนียม ถ้าไม่แน่ใจจะว่าสัก ๔ครั้ง ๕ครั้ง ๗ครั้งก็ยังได้ให้มันแน่ใจ เมื่อมันแน่ใจก็ในเพียง ๓ ครั้ง แล้วก็กราบลงไปแสดงความแน่ใจในการลาสิกขา นี่คือระเบียบพิธีทำกันอย่างนี้ ก็ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า บอกคืนสิกขานี้ เพียงสิกขาของภิกษุ ไม่ได้บอกคืนทั้งหมด ยังเหลืออยู่เต็มบริบูรณ์ในส่วนสรณาคมเป็นต้น และก็ทำด้วยจิตใจเป็นใหญ่ พร้อมทั้งทางกาย ทางวาจาก็แสดงออกมา เดี๋ยวนี้เมื่อเข้าใจดีแล้ว ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็กล่าวคำบอกคืนสิกขาได้ทีละคน คุกเข่ามาใกล้ๆหน่อย ว่านะโม ๓ หน(00:07:35- 00:07:53 สวดมนต์ ) มีสติ สัมปชัญญะกล่าวคืนสิกขา (00:07:58- 00:08:14 สวดมนต์) กราบ เดี๋ยวนี้เราก็ได้กล่าวคืนสิกขาแล้ว และกระทำโดยทวารทั้ง ๓ ครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มต่อไป (00:08:54 รอยต่อเสียงตัดเข้ามาเป็นเสียงสวดมนต์จนถึงนาทีที่ 00:13:55) ทีนี้นั่งราบ เข้ามาให้มันใกล้ ไม่ค่อยจะได้ยิน เดี๋ยวนี้เราก็ได้ลาสิกขาแล้ว เราก็ได้สมาทานศีล ๘ ได้รับศีลแล้ว ยังเหลือก็แต่จะให้พร ให้โอวาทตามขนบธรรมเนียมประเพณีต่อไป จึงเรียกกันว่าให้ศีลให้พร สำหรับการให้พรนี้มันก็เนื่องกันอยู่กับการให้โอวาท เพราะว่าต้องทำตามโอวาท มันจึงจะเกิดเป็นพรที่แท้จริงขึ้นมา แม้ว่าจะมีการพรมน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ สวดอะไรกันมันก็ยังเป็นแต่เพียงพิธี ยังไม่สำเร็จประโยชน์สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องปฏิบัติตามโอวาทนั้นๆอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเป็นพรที่แท้จริงขึ้นมา คำว่าพรนี้ ก็แปลว่า ดี หรือความดี ให้ความดี นี้ก็ให้วิธีปฏิบัติ ให้กำลังใจสำหรับการปฏิบัติ แล้วผู้นั้นก็จะต้องปฏิบัติ ก็เกิดเป็นความดีหรือว่าเป็นพรขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงมีผู้กล่าวว่า ทำดีดีกว่าขอพร นี่ก็หมายถึงว่าคนบางคนมาขอแต่พรเฉยๆมันไม่ได้ทำดี ถ้าทำดี นั่นเป็นพรอยู่ในตัว มันก็ดีกว่าที่แต่สักแต่ว่าขอพร ฉะนั้นเรื่องให้ศีลให้พรจึงเป็นเรื่องบอกให้ทำดี ในส่วนที่เป็นศีล เราก็ได้รับไปแล้ว นี่ในส่วนที่เป็นพร ความดีอย่างฆราวาสนี่ก็จะได้พูดกันต่อไป การได้บวชในพุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่มๆอย่างนี้ เกิดความมุ่งหมายอันแท้จริงก็เพื่อจะได้ศึกษาและ ปฏิบัติการบังคับตัวเอง ให้ถึงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในเวลาบวช การบังคับตัวเองนั้นมันสำคัญมาก คนละความชั่วไม่ได้ ก็เพราะว่าไม่สามารถบังคับตัวเอง เพราะฉะนั้นคนทำความดีให้ครบถ้วนบริบูรณ์ไม่ได้ ก็เพราะว่าไม่สามารถบังคับตัวเอง แม้แต่จะไปนิพพานไม่ได้ ก็เพราะไม่สามารถบังคับตัวเองไปตั้งแต่ต้น จึงเห็นได้ว่าการบังคับตัวเองก็เป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญที่สุด แม้บุคคลที่จะครองเรือน คือเป็นฆราวาส การบังคับตัวเองอย่างไร นี้ก็พูดกันมากแล้วในระหว่างที่บวชอยู่ ก็ยังคงเอาข้อความนั้นไปใช้ได้ จะบังคับด้วยอะไร สรุปแล้วก็บังคับด้วยสติมาทันแก่เวลา และก็มีกำลังจิตที่จะบังคับไว้ให้ได้ ที่เรียกว่าการบังคับตัวเอง ถ้าเราหัดทำสติหรือธรรมะ บังคับตัวเองอยู่เสมอตลอดเวลาที่บวช ก็พอที่จะมีความชำนาญสำหรับการบังคับตัวเองต่อไป แม้เมื่อลาสิกขาบทเป็นฆราวาสแล้ว ข้อนี้มันจะยิ่งจำเป็นสำหรับฆราวาส เพราะว่าความเป็นฆราวาสนั้นมันมีเรื่องที่ยั่วยวนให้หลงรักก็มาก มายั่วให้โกรธ ให้บันดาลโทสะนี้ก็มาก หรือมันยั่วให้ทำไปอย่างผิดๆ อย่างอื่นๆก็มีมาก มันจึงจำเป็นที่ฆราวาสนั้นจะต้องมีความรอบรู้และสามารถในการบังคับตัวเอง ซึ่งหมายถึงบังคับจิตก่อน และก็บังคับกาย บังคับวาจาได้ต่อไป ตั้งต้นอยู่ได้ในความไม่ผิดพลาด นี่เป็นข้อ ข้อแรก และก็เจริญอยู่ด้วยความถูกต้องหรือความดีเรื่อยๆไป ถ้าเมื่อบวช เราก็ได้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันก็มีการบังคับตัวเองเพียงพอ ได้ทำงานสำหรับจะบังคับได้ตลอดไป จนตลอดชีวิตก็ได้ ต้องไม่ลืมเสีย ต้องทบทวนขึ้นมาใหม่ และก็ต้องเอามาใช้เท่าที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับฆราวาส และก็ให้ทันแก่เวลาด้วย ถ้าทำได้ตามหลักพระธรรมคำสอนและโอวาทอย่างนี้ ก็เรียกว่ามีความดีสูงสุด มีความดีที่สุด เป็นพรอันแท้จริงที่สุด นี่คือให้พรที่แท้จริงมันเป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะประกอบพิธีรดน้ำ รดอะไร สวดอะไรกันสักเท่าไหร่ มันก็ต้องอาศัยในการปฏิบัติให้ถูกต้องนี้อยู่เรื่อยไป ที่เราไม่ค่อยได้ทำการรดน้ำ ไอ้น้ำมนต์น้ำอะไรกันนัก ก็เพราะว่ามันมีมากแล้ว มันรดกันมามากแล้ว รดอีกก็ได้ แต่ยังไม่สำเร็จประโยชน์ จนกว่าจะได้ปฏิบัติตนอย่างที่ว่ามานี้ ขอให้ถือว่าอันนี้มันเป็นหลักทั่วไป ใช้ได้ทั้งแก่ฆราวาสและแก่บรรพชิตด้วย ทีนี้ก็จะเหลือเรื่องที่จะพูดเฉพาะเกี่ยวกับฆราวาสเป็นพิเศษ พูดกันให้ง่ายๆก็ว่า เดี๋ยวนี้เราก็จะตั้งต้นนับคะแนนความดีที่กระทำกันใหม่ เหมือนกับว่าลบใหม่หมด ตั้งต้นศูนย์กันใหม่ แล้วให้มีแต่บวก คือฝ่ายดีเรื่อยไป อย่าให้มีฝ่ายลบ คือฝ่ายผิด ที่แล้วมามันจะมีทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ คือทั้งฝ่ายผิดและฝ่ายถูก ก็ไม่เป็นไรที่แล้วมาก็เลิกกันไป เมื่อเรายังไม่เคยบวช ไม่เคยเรียน เขาก็ให้อภัย ก็เป็นอันเลิกแล้วกันไป จะมีผิดบ้างถูกบ้าง ก็ลบกระดานนั้นทิ้ง ตั้งต้นใหม่เพื่อให้มันเป็นบวกไปตลอด ฉะนั้นตั้งต้นแต่บัดนี้ไปจะระมัดระวังอย่าทำเล่น หรืออย่าประมาทกับทุกสิ่งที่มันมาเกี่ยวข้องกับชีวิต จิตใจของเรา บางคนจะเข้าใจผิดไปเสียว่าได้บวชแล้ว มันก็แล้วกัน มันก็คุ้มครองได้หมด มันก็เป็นไปเองหมด ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ถูก มันอยู่ที่ว่าเราทำได้หรือไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องตั้งต้นสำรวมกันใหม่ให้ดีที่สุด อย่าให้มันมีผิด ให้มันมีแต่ถูก คือได้คะแนนทางฝ่ายถูกไว้เรื่อย เป็นบวกเรื่อย คะแนนลบ คะแนนผิดก็อย่าให้มันมี อย่าเห็นเป็นเล็กน้อย คนเดี๋ยวนี้เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือว่าคนโง่ทุกสมัยก็เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ออกไปแล้วก็ทำอะไรหวัดๆต่อไปตามเดิม มันก็ไม่มีอะไรเจริญเกิดขึ้นได้ เราบวชนี้เรามีความรู้สำหรับไปทำให้ดีกว่าเดิม มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นผู้ประมาทเหมือนเดิม คือเมื่อไม่ได้บวชประมาทอย่างไร สึกออกไปแล้วก็ประมาทอย่างนั้น บางคนกลับประมาทยิ่งไปกว่าก่อนบวชเสียก็มี เพราะมันโง่มากเกินไปคนชนิดนี้ คือบวชแล้วก็เหลิง เหลิงว่าบวชแล้ว และทำอะไรอย่างประมาท อย่างสะเพร่า อย่างไม่พินิจพิจารณา เราจะต้องรู้ไว้และกลัวให้มาก อย่าให้มันไปในรูปนั้น แต่ให้มาในรูปของบุคคลผู้มีความรู้ มีสติ สัมปชัญญะ มีการอดกลั้น อดทน บังคับตัวเองให้ยิ่งขึ้นทุกที มันจึงจะเป็นเหมือนกับการเปลี่ยนจากความเป็นอย่างหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง พูดกันง่ายๆก็คือว่า เปลี่ยนจากความผิดหรือมักจะผิดนี่ไปสู่ความถูกเรื่อยไป คอยคิดดูว่าจะไม่มีความผิดอีกต่อไป นี้มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย หรือเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ต้องทำอย่างดีที่สุดนะ เพราะมันมีเหตุผิดได้มากมาย คือผิดเกี่ยวกับตัวเองล้วนๆก็มี ผิดเกี่ยวกับการงานที่ทำอยู่ก็มี ผิดต่อบุคคลทั้งหลายที่มาเกี่ยวข้องก็มี โอกาสที่จะผิดนี่มันมีได้มาก จึงต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่โต กลัวความผิดให้มาก และทำผิดแล้วต้องละอายให้มาก ที่เรียกว่ามี หิริ และโอตตัปปะ ซึ่งก็ได้ยินได้ฟังมาไม่น้อยแล้ว มีคนบางคนมันไม่ละอาย เมื่อทำผิด มันก็ทำผิดเรื่อยไป ไม่มีทางจะถูกได้ แล้วมันไม่กลัวเมื่อทำผิด แล้วมันก็ต้องทำผิดอยู่เรื่อยไป จนชินเป็นนิสัย ทีนี้ก็เรียกว่าล้มละลาย เพราะมันเกิดชินเป็นนิสัย ก็จึงมีการสอนให้กลัวความผิดให้มาก ให้เกลียดความผิดให้มาก เหมือนกับเกลียดของเหม็น นิดเดียวมันก็เหม็น ของเหม็นนะนิดเดียว บางทีแทบจะดูไม่เห็นว่าอยู่ที่ไหนมันก็เหม็น เราอย่าไปทำเล่นกับมัน แม้นิดเดียวก็เกลียดให้มาก แม้นิดเดียวก็กลัวให้มาก สำหรับไอ้ความผิดหรือความชั่วทั้งหลาย นี่มันเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดและตลอดเวลาด้วย เพราะฉะนั้นต้องนึกถึงมันทุกวัน ทำความผิดโดยความเผลอไป ก็ต้องกลัวก็ต้องละอายให้มาก เอามาตั้งที่ที่(00:29:19) เหมือนกับว่าแสดงอาบัติเมื่อบวชอยู่ ก็กลับใจกลับตัวกันใหม่ให้มันหายไป นี่เรียกว่าเป็นรากฐานทั่วไปก่อน ทีนี้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติโดยแท้จริง เราก็เคยพูดกันมากแล้วเรื่องฆราวาสสำหรับ สำหรับธรรมะ สำหรับฆราวาส ๔ ประการ และในหนังสือหลายๆเล่มก็ได้เขียนไว้ละเอียด ก็ไปหามาศึกษากันใหม่ เพิ่มเติม ให้มันแจ่มแจ้งอยู่เสมอ เรียกว่าไม่ประมาทในข้อนี้ ในโอกาสเล็กน้อยเช่นนี้ มันก็ได้แต่พูดกันถึงหัวข้อ และก็พูดกันไปในแง่ที่เตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษให้เห็นเป็นของสำคัญ เราไม่มีโอกาสพอที่จะพูดกันโดยรายละเอียด เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในหนังสือหนังหา ตำรับตำราเหล่านั้น อันที่จะเตือนมันก็มีแต่เตือนสั้นๆว่าให้ธรรมะ ๔ ประการนี้ มันขึ้นปาก ขึ้นใจ แล้วมันก็ประจำอยู่ที่ร่างกาย ขึ้นปาก คือมันคล่องปาก เหมือนกับว่ามนต์คาถา ก็สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะนี่ต้องคล่องปาก นี่เขาเรียกว่าขึ้นปาก แล้วมันขึ้นใจก็เพราะว่าเรารู้ความหมายของคำเหล่านี้ดี จนถึงกับสะดุ้งกลัว เมื่อมันไม่มี เมื่อเราพอใจ ยินดีเมื่อมันมี ให้รู้สึกอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่ามันขึ้นใจ ที่นี้มันขึ้นอยู่ที่กาย คือการประพฤติ กระทำอยู่ แสดงให้ปรากฏอยู่เป็นสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะตลอดเวลา ก็เท่านั้นเอง สำหรับการเตือนในโอกาสอันสั้น เช่นอย่างนี้เป็นต้น ก็ขอบอกว่าโดยรายละเอียดแล้วอย่าประมาท ให้มาศึกษาทบทวนอยู่เสมอๆ ยกตัวอย่างเหมือนว่าเราไปทำงานอาชีพ จะเป็นค้าขายหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าไม่จริงมันก็ไม่ยืดยาวไปได้ มันต้องจริง คือว่าสัจจะ คือความจริงต่อหน้าที่ของเรา จริงต่อหลักการ วิธีปฏิบัติงานอะไรต่างๆนี่ จะเอาชนะให้ได้ นี่เรียกว่ามันจริง และมันต้องคอยบังคับไอ้ความจริงนี่ อย่าให้มันลืมไปได้ มันจะบันดาลโทสะ หรือมันจะทำผิด มันจะกบฏต่ออุดมคติอะไรต่างๆนี่ มันต้องบังคับไว้ให้ได้ เขาเรียกว่า ทมะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ทมะ บังคับตัวเองนี่ ขอให้รู้ไว้ด้วยว่าต้องมี แม้ในเมื่อเราเป็นฝ่ายถูก และเขาเป็นฝ่ายผิด นี่ มักจะไม่ค่อยมองเห็นเรือ ไม่ค่อยจะถือกันอย่างนี้ แม้ว่าเราเป็นฝ่ายถูก เราก็ยังต้องบังคับตัวเองที่จะไม่ไปด่าเขา ว่าเขาอะไรเขาทั้งที่เขาเป็นฝ่ายผิด ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ย่อมรู้ข้อนี้ได้ดี ว่าบางทีก็ต้องเป็นฝ่ายอดทนให้แก่ไอ้ลูกศิษย์ที่เลวๆ สารเลว พูดกันไม่รู้เรื่อง มันมีแต่ความชั่วนี้ จะไปว่ามันก็ยังไม่ได้ มันยังไม่ใช่โอกาสที่จะว่ามันเวลานั้น ขืนไปว่ามันเวลานั้น มันก็กลายเป็นทะเลาะวิวาท มันอาจจะถึงฆ่ากันตายก็ได้ มันต้องให้รู้ไว้ว่า แม้ว่าเราเป็นฝ่ายถูกบางเวลานี่ มันจะต้องอดทน อดกลั้น ไม่สู้ ไม่อะไรออกไป ทีนี้ถ้าเราเป็นฝ่ายผิดแล้วไม่ต้องสงสัย มันก็ มันก็ไม่มีหลักที่ควรจะพูดออกไปก็เท่านั้นเอง ฉะนั้นจึงอย่าบันดาลโทสะ หรือว่าอย่าทำอะไรชนิดที่ว่าตามใจกิเลส ในทางกิเลส ในทางกามารมณ์ ในทางอะไรก็สุดแท้ ต้องบังคับตนเอง ฉะนั้นจึงเป็นธรรมะข้อใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่จะต้องทำ คือถือปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ในการบังคับตัวเอง มันจึงจะรักษาไอ้สัจจะไว้ได้ ทีนี้ข้อถัดไป ขันตี นี้ต้องอดทน ไอ้คนที่บังคับไม่ได้ เพราะมันไม่ชอบอดทน หรือมันทนไม่ได้ มันก็บังคับไว้ไม่ได้ หรือบังคับได้แล้วมันไม่อดทน มันก็บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอดทน ต้องดีใจต้องพอใจในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอดทน ในการทำงานเหน็ดเหนื่อยทางร่างกายก็ดี ในการถูกกระทำให้เจ็บใจโดยทางวาจา ทางกริยา ของผู้อื่นก็ดี หรือว่าจะต้องอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสของเราแท้ๆล้วนๆก็ดีนี่ เรียกว่าต้องอดทน ทีนี้เพื่อให้อดทนได้ ก็ต้องมีข้อที่ ๔ ที่เรียกว่า จาคะ อย่าเห็นเป็นของเล็กน้อย ถ้าขึ้นชื่อว่าความชั่ว ความผิด ความเลว หรือความโง่แม้แต่เล็กๆน้อยๆ ก็ต้องอุตส่าห์สละ เดี๋ยวนี้คนเรามันเสียหายเพราะข้อนี้ เห็นว่าความโง่นี้เล็กน้อยเกินไป ไม่สนใจ ไม่พยายามสละ มันก็แรงขึ้นๆ ไอ้ความโง่นั้นอย่างน้อยก็จะอยู่ (ไอ้ความโง่น้อยอย่างนั้นก็จะอยู่ 00:37: 02)เพราะฉะนั้นเราก็เป็นคนมีความโง่ คือมีความผิดพลาดชนิดนั้นไปตลอดชีวิต เพราะเราเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเสียเรื่อยไป ไม่ยอมสลัด ไม่ยอมกลัว แล้วสละไปเสีย เราเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเสียเรื่อยไป จึงมีเตือนกันในข้อนี้ว่า อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ความผิด ความชั่ว ความเลว แม้แต่เล็กน้อย นี่อย่าเห็นว่าเล็กน้อย มันไม่มีเล็กน้อย ขึ้นชื่อว่าความผิดหรือบาปนี่ ความโง่ ความสะเพร่า ความอวดดีนี้ก็เหมือนกัน อย่าเห็นว่ามันเล็กน้อย อย่ามีความเล็กน้อย อย่ารู้สึกว่าเล็กน้อยกับไอ้เรื่องเหล่านี้ มันจะชินเป็นนิสัยแล้วมากลายเป็นเรื่องใหญ่โต ทีนี้ลำบากในการ มีความลำบากในการอบรมสั่งสอนกัน ก็เพราะว่าผู้ฟังเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใส่ใจจำไว้ ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเสมอไป ทีนี้ไอ้หลายเล็กน้อยมันหลายเรื่อง มันก็มากๆๆๆ หลายเรื่องล้วนแต่เป็นเรื่องที่เขาคิดว่าเล็กน้อย แล้วมันไม่ได้เล็กน้อย ทุกเรื่องมันใหญ่ๆๆ เพราะฉะนั้นคนนั้นมันก็ต้องตายด้าน ใช้คำอย่างอื่นก็ไม่เหมาะนอกจากใช้คำว่ามันตายด้านอยู่ที่นั่น มันไม่เจริญทั้งทางเนื้อหนังและสติปัญญา จึงว่าอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้ว สละออกไปให้จนได้ ความผิดพลาด ความประมาท ความผิดแม้แต่เล็กน้อยอย่าเห็นมันเป็นเล็กน้อย สละบริจาคออกไป ทุกวันๆๆเลย นี่เขาเรียกว่าจาคะ แปลว่าสละเรื่องที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัว ที่ได้เคยอ่านมาแล้วก็เอามาทบทวนใหม่โดยรายละเอียด แต่โดยหัวข้อ ก็ตักเตือนก็มีอยู่เท่านี้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ซึ่งจะต้องเนื่องกันเป็นสาย แยกกันไม่ได้ ไม่มีสัจจะนำหน้ามัน ก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องทมะ ขันตี จาคะ ไม่มี ขันตี ทมะ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีจาคะ มันก็ขันตีไปไม่ไหว เป็นความจริงอย่างยิ่งและสำคัญอย่างยิ่ง แต่ว่าคนโง่ๆมันก็ยังเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่นั่นเอง นี่ข้อที่มันน่า น่าเศร้าที่สุดก็เพราะว่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมด ฉะนั้นจึงขอเตือนในโอกาสพิเศษเช่นนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่เขาถือว่าเป็นโอกาสสำหรับให้ศีลให้พร รดน้ำมนต์ ชยันโตอะไรกันเป็นการใหญ่ จะบอกว่านี่คือรดน้ำมนต์ที่แท้จริง หรือว่าชยันโตที่แท้จริง คือบอกวิธีที่จะเอาชนะให้ได้ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของการรดน้ำมนต์และสวดชยันโต ขอให้จำไว้ให้ดีโดยความตั้งใจจริงว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งในบรรดามนุษย์ที่มันดีทั้งหลาย เมื่อเป็นฆราวาสก็ต้องได้ทำหน้าที่ของฆราวาส ได้รับผลเต็มที่ของความเป็นฆราวาส ถ้าเป็นการสอบไล่ เขาก็วัดผลการสอบไล่ ด้วยการมีหรือการได้ สิ่งที่ฆราวาสควรจะต้องได้ต้องมี ซึ่งสรุปไว้เป็น ๓ อย่างว่า มีทรัพย์สมบัติพอตัว แล้วก็มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีคนรักใคร่นับถือพอตัว คำว่า พอตัว นี่หมายความพิเศษ ก็ถ้าคนมันมีปัญญามาก มีอะไรมากมันต้องทำได้มาก มันทำได้มากจนเป็นมหาเศรษฐีก็ได้ ก็เรียกว่าพอตัวอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าคนมันโง่ มันก็ทำได้พอกินพอใช้ไปตามประสาของชาว ของคนโง่มันก็เรียกว่าพอตัวได้เหมือนกัน แต่ว่าเราควรจะพยายามตั้งระดับของความพอตัวนี้ไว้ให้มากพอสำหรับสติปัญญาของเรา จึงไม่จำกัดลงไปว่ากี่บาทกี่สตางค์ หรือว่าชั้นไหนชั้นไหนได้ เอาแต่ให้มันพอตัว สำหรับความสามารถของเราก็แล้วกัน ข้อความเหล่านี้มันมีอยู่แล้วในเรื่องคิหิปฏิบัติโดยรายละเอียดก็มีในหนังสือที่เกี่ยวกับคิหิปฏิบัติทั่วๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเราก็ในเรื่องฆราวาสธรรม ที่เขาพิมพ์รวมไว้เป็นเล่มใหญ่เล่มหนึ่งแล้วต่างหาก เรียกว่าฆราวาสธรรม มันมีบอกไอ้เรื่องเหล่านี้ไว้เสร็จแล้ว พยายามอ่านดู ทุกโอกาสที่เราจะมีเวลาศึกษาทบทวน ไม่ใช่ว่าประกอบการงานแล้วมันจะไม่มีโอกาสทบทวนเอาเสียเลย มันมีเวลาว่างที่ต้องนึกถึงธรรมะหรือศาสนาอยู่เรื่อยไป ในเรื่องทางโลกมันยุ่งมากเหนื่อยมากก็จริงและกินเวลามากก็จริง แต่มันก็ยังมีเวลาเหลืออยู่บ้างสำหรับที่จะศึกษาธรรมะ หรือเรื่องทางธรรม และมันกินเวลาน้อย เพราะมันเป็นเรื่องคิด คิดได้โดยจิตใจ คิดออกแล้วปฏิบัติได้เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จนตายก็ไม่หมด มันไม่เหมือนกับไอ้การงานที่เราต้องทำทางร่างกาย ให้ทำทั้งวันๆไม่หยุดไม่หย่อนอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลาเหมือนคนโง่ ส่วนมากที่เขาพูดว่าไม่มีเวลาสำหรับจะศึกษาธรรมะ ไปที่ไหนๆมาก็ได้ยินแต่อย่างนี้ ที่คนเหล่านั้นพูดว่าไม่มีเวลาที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น ยังไม่มีเวลาที่จะศึกษาธรรมะ นี่มันเป็นเรื่องของคนโง่ และไม่รู้ว่านี่เป็นความสำคัญ หรือว่าเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย เขาก็เลยกระทำแต่เรื่องในทางวัตถุ ทางโลกๆ เรื่องกิน เรื่องเล่นเรื่องหัวเรื่องอะไรเรื่อยไป จนไม่มีธรรมะจนได้ มันก็ไม่มีความเจริญ ฉะนั้นเราต้องมีเวลาสำหรับธรรมะ พูดโดยสมมติก็มีเวลาสำหรับมาอยู่กับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี่บ้าง ชั่วครู่ชั่วพัก มันก็คุ้มได้ตลอดเดือนตลอดปี นี่จะเป็นเหตุให้ปฏิบัติธรรมะเหล่านั้นได้ และเราก็จะได้ผลตามที่เราต้องการในเรื่องโลกๆ มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศพอตัว มีคนรักใคร่นับถือพอตัว มีส่วนหนึ่งเป็นส่วนใหญ่พื้นฐาน มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมะแท้ๆ เราก็รู้อะไรมากขึ้น ที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจที่มันเจริญยิ่งขึ้น เป็นไปในทางของธรรมะ คือรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระเหนือความทุกข์ เหล่านี้มันก็รู้มากขึ้นพร้อมๆกันไป และก็โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ เพราะว่าเราได้เห็นโลกมาก ได้เกี่ยวข้องมาก ได้เกี่ยวข้องกับความขึ้นความลง ความได้ ความเสีย ความแพ้ ความชนะอะไรมากนี่ เราก็รู้เรื่องเหล่านี้มาก เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าอยู่ในโลกนี้ไม่ มีโอกาสจะรู้ธรรมะ มันมีโอกาสที่จะรู้พร้อมกันไปทั้งสองอย่าง นี่คือข้อที่จะต้องรู้จักถือเอาประโยชน์ให้ได้ เพราะว่าถ้าคนฉลาดจริง เขาๆคิดไปในทางที่ว่า เราจะต้องได้ประโยชน์ที่สูงขึ้นไปๆ ๆตามเวลา ของอายุที่มันมากขึ้นๆ พอถึงคราวที่อายุมากที่สุดวัยชรา แก่เฒ่า เราก็ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้จริงเหมือนกัน ขอให้เข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่เพียงแต่มีเงินมีทองใช้ แล้วก็เท่านั้นเอง มันต้องได้ทางจิตใจที่สูงยิ่งๆขึ้นไปด้วย นี่เป็นอันว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็ต้องบวชต้องเรียนให้รู้ ว่าสิ่งที่จะต้องรู้ แล้วก็ปฏิบัติให้ได้แล้วก็เอาตัวรอดให้ได้ เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิต เป็นคำที่มีความหมายสูงสุดสำหรับมนุษย์ คือการเป็นบัณฑิต เรียนให้รู้จริง ปฏิบัติให้ได้ และก็ได้รับประโยชน์เต็มตามที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต เดี๋ยวนี้ส่วนมากมันไม่เป็นอย่างนั้น มันโง่มาตั้งแต่ต้นจนปลาย มันไม่เป็นบัณฑิตได้ สึกออกไปมันก็ไม่เป็นบัณฑิตได้ มันก็เลยไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจ และก็ยิ่งประมาท ปล่อยไปตามอารมณ์มากขึ้น ฉะนั้นวันนี้พูดมากหน่อย เพราะว่าโอกาสอำนวยและยิ่งวันนั้นก็โดยเห็นว่า หรือหวังว่าเธอก็เป็นบุคคลพิเศษ ที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้และรับเอาเรื่องนี้ไปได้ และก็เป็นบุคคลที่มีความหวังหรือความปรารถนาไว้สูง ว่าจะทำให้มันสูงสุด สุดความสามารถที่เราจะทำได้ ฉะนั้น จึงพยายามพูดให้มันชัดเจนพอ ละเอียดถี่ถ้วนพอ ว่าจะต้องสำเร็จประโยชน์ด้วยการปฏิบัติธรรมะเต็มตามความหมายของความเป็นฆราวาส นับตั้งแต่มีหิริ โอตตัปปะ ละอายต่อความเสื่อมเสีย หรือความพ่ายแพ้ หรือกลัวความเสื่อมเสีย ความพ่ายแพ้ แล้วก็พยายามที่จะไม่ให้เสื่อมเสียไม่ให้พ่ายแพ้ ด้วยการมีธรรมะ ๔ ประการ คือสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะอย่างที่ว่ามาแล้ว นี้เพื่อให้มันแน่นแฟ้นแน่นอนยิ่งขึ้น ก็ให้ระลึกถึงธรรมะอยู่เสมอ เพื่อให้มีเวลาสำหรับมานึกถึงธรรมะบ้าง เฉลี่ยแล้วมันไม่ๆๆถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ของเวลาทั้งหมดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่ามันจะเสียเวลาของการงาน เวลา ๑ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดนึกถึงธรรมะ มันจะคุ้มครองไอ้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ของเวลานั้นให้มันรอดตัวไปได้ นี่นอกจากนี้ก็มีเรื่องเบ็ดเตล็ดทั้งนั้นจะพูดก็ได้ไม่พูดก็ได้ เช่นว่า เราสึกไปแล้วเราจะทำตัวอย่างไร เกี่ยวกับการสังคม เรื่องนี้บางทีจะได้อบรมมาดีแล้ว เพราะเห็นว่าความเรียบร้อยสุภาพอยู่มากแล้ว แต่ว่าก็มีหลักอันหนึ่งซึ่งมักจะทำผิดกันอยู่บ่อยๆ คือว่ามักจะแก้ตัวว่าเสียเพื่อนไม่ได้ ขัดเพื่อนฝูงไม่ได้ก็เลยไปทำไอ้สิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างนี้อย่าต้องมีเลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราก็ได้บวชแล้ว เราก็มีโอกาสที่จะตอบโต้เขาได้ว่าเราได้สัญญากับอุปัชฌาย์อาจารย์เสียแล้ว ได้สัญญากับพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ทำอย่างนั้นทำไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น มันก็ง่ายดี แม้ที่สุดก็จะอ้างว่ามันแสลงกับโรคภัยไข้เจ็บ หมอเขาห้ามอย่างนี้มันก็ได้ ไม่ต้องไปทำตามไม่ดี พยายามที่จะไม่ให้เสียในทางสังคม แม้ว่าเราไม่ต้องทำเหมือนเขา เหมือนคนที่ไม่ดี แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เขาเกลียดเราหรือโกรธเรา มันมีแต่คนโง่ที่ไม่รู้จักทำ ทำเสียหมด ทำให้คนรักก็ไม่ได้ มีแต่ทำให้คนเกลียด ถ้าจะทำให้คนรักก็มีแต่คนพาล อันธพาลที่จะรักเขาและก็พาเขาไปในทางที่ไม่ถูกต้อง นี่มันเป็นเรื่องของสังคม คิดหารายละเอียดเอาเองก็แล้วกัน ว่าอยู่ในโลกนี้ต้องเอาชนะให้ได้ในทางสังคมด้วยเพราะมันมีอำนาจมากเหลือเกิน และมันแวดล้อมอยู่ทุกด้าน ถ้าเราไม่มีลูกไม้หรือว่ามีอุบายอะไรที่จะต่อต้านมันๆก็มักจะพ่ายแพ้ แล้วก็ไปอ้างว่าสังคมเป็นเหตุ อย่างนี้เราไม่ถูก ไอ้เรามันไม่ ไม่จริงพอ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรมากที่จะเตือน แต่ว่าเตือนในข้อที่ว่าพยายามใกล้ชิดวัดวาอาราม พระศาสนาอยู่เสมอ แม้ไม่ได้มาที่วัด อยู่ที่บ้านก็ใจมาก็ได้ จิตใจมาก็ได้ แม้ว่าตัวมันไม่ได้ไปที่วัดแต่จิตใจไปก็ได้ แต่ถ้ามีโอกาสเหมาะสมก็ต้องไป ต้องประกอบพิธีทางศาสนาตามสมควรอยู่ เพราะมันก็ช่วยได้ในทางสังคม ยิ่งบ้านนอกคอกนาแล้วยิ่งจำเป็นมาก สำหรับความสามารถที่จะเข้ากันได้กับเพื่อนมนุษย์คือสังคม และก็มักจะได้อาศัยความรู้ทางศาสนานี้เป็นเครื่องมือทำให้เขาเชื่อและทำให้เขานับถือ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญ นี่สำหรับสิ่งที่จะกันลืม เราก็มีหนังสือบ้างหรือรูปถ่ายบ้างอะไรบ้าง เป็นธรรมเนียมกันอยู่สำหรับกันลืมว่าเราได้บวชแล้ว แต่ที่เห็นว่าดีที่สุดที่อยากจะแนะก็คือ จีวร บาตรอันนี้ก็ยัง เก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ รักษาให้สะอาด ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจได้ดี ยิ่งไปกว่ารูปถ่ายอะไรทำนองนั้นเสียอีก ในห้องส่วนตัวของเรา มีเวลาสงบรำงับเมื่อไหร่ ก็ดูบาตร จีวรที่ได้บวชแล้ว เป็นเหตุให้ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ถือว่าบาตรและจีวรนี้พระพุทธเจ้าให้เรา ไม่ใช่อุปัชฌาย์ให้ โดยกริยาอาการภายนอกแสดงนั้นอาจารย์อุปัชฌาย์ให้ แต่เขาให้ในนามของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉะนั้นบาตร จีวรนี้มันมีความหมายศักดิ์สิทธิ์กว่ารูปถ่ายเสียอีก รักษาไว้เป็นที่ระลึก ตักเตือนใจได้ก็เป็นการดี นี่เป็นตัวอย่างที่จะต้องคิดนึกกันอย่างนี้ สรุปว่าต้องมีเครื่องเตือนใจอยู่เสมออย่าลืมได้ ให้มีกำลังใจเข้มแข็งอยู่เสมอที่จะประพฤติปฏิบัติ และรู้จักอุดมคติทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ว่าจะต้องทำกันอย่างไร เป็นมนุษย์นะมันมีความหมายอย่างไรมีอุดมคติอย่างไร ต้องสัตย์ซื่อต่ออุดมคติอันนั้น และก็ไปเข้าในบทธรรมะว่าสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะได้เอง นี้เรียกว่าให้ศีลและก็ให้พร ให้ความดีให้ความสว่างไสว แจ่มแจ้ง แล้วไปปฏิบัติ ให้เป็นความดียิ่งๆขึ้นไป ก็เรียกว่าให้พรที่แท้จริงตามแบบของพระพุทธเจ้า เป็นอันว่าเราได้ทำสิ่งที่ควรทำจนครบถ้วนแล้ว ก็เหลือแต่ว่าเธอจะเป็นผู้มีความจริงใจในข้อนี้ ยังคงยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ แล้วก็ขอสรุปท้ายให้พร สรุปท้ายของการให้พร นี่ด้วยการอ้างว่าด้วยอำนาจของคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย เป็นเครื่องดลบันดาลให้เธอมีจิตใจมั่นคงอยู่ในธรรมวินัยแล้วก็ประพฤติปฏิบัติสำเร็จประโยชน์เป็นความเจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางของพระศาสนาวันนั้น (00:58:54) อยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ