แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เออ, นั่งมาใกล้ๆหน่อย เออ, นั่งราบฟังก่อน
นี่ต้องทำความเข้าใจกันบ้างก่อน ให้มันสำเร็จประโยชน์เต็มที่ ว่าการสึก เอ่อ, ลาสิกขานี้มันต้อง ทำด้วยจิตใจ และอย่างหนึ่งให้รู้ไว้ว่าเรามันลา เพียงสิกขาอย่างภิกษุ ไม่ได้ลาสิกขาของพุทธบริษัททั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรณคมน์ ควรจะเข้าใจให้ถูก ถ้าเข้าใจไม่ถูกมันก็ละเมอ ถ้าเข้าใจผิดมันก็อาจจะแย่ก็ได้ เพราะว่ามันลากันจนหมดเกลี้ยง ไม่มีอะไรเหลือ ก็ตั้งต้นกันใหม่ อย่างนี้มันก็ไม่ถูก
จงรู้ว่าที่ลาสิกขานี้ ก็ลา เพียงสิกขาอย่างภิกษุเท่านั้น ส่วนอย่างพุทธบริษัททั่วไปนั้นไม่ได้ลา โดยเฉพาะสรณคมน์นั้นไม่มีการลา เว้นไว้แต่ว่ามันจะโกรธ มันจะไม่ถือพุทธศาสนานี้อีกต่อไป จึงได้มีการลาหรือสละ ไตรสรณคมน์
ทีนี้ว่า ทีนี้ข้อที่ว่าทำด้วยจิตใจนี้มันก็ดูจะไม่มีปัญหา เพราะว่าเรามันแน่นอน รู้ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนที่เข้ามาบวชแล้วว่าจะเท่านั้นเท่านี้ก็จะสึก จิตใจมันก็พร้อม มันรู้แล้วที่จะสึก มีปัญหาเฉพาะผู้ที่เขาไม่อยากจะสึก เพราะเหตุการณ์มันบังคับให้สึก นี่เราก็ไม่มีอะไรอย่างนั้น ในใจก็เป็นอันว่า ถูกต้องแล้ว ทีนี้ก็กล่าววาจาออกมาให้ถูกต้อง เมื่อกล่าวว่า สิกขัง ปัจจักขามิ คีหิติ มัง ธาเรถะ นี่ก็ต้องรู้ว่าเราว่าอะไร พูดเป็นภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย แล้วก็รู้ว่าเรามีความหมายว่า ขอคืนสิกขาอย่างภิกษุ ต่อไปนี้ถือว่าเป็นคฤหัสถ์ นี่วาจามันว่าไปอย่างนั้น
นี่ทางร่างกายภายนอกมันก็แสดงอยู่ ขอก็แสดงอยู่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม อะไรทำนองนี้ ก็ไม่มีปัญหาอีกเหมือนกัน เป็นที่รู้กัน
นี้กล่าวคืนสิกขานั้น ทีเดียวก็พอ แต่ว่าระเบียบธรรมเนียมมันมีมาให้กล่าว ๓ ครั้ง ก็กล่าว ๓ ครั้ง หรือถ้ายังไม่แน่ใจ ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๗ ครั้งก็ได้ เมื่อแน่ใจจึงกราบลง ตามธรรมดาก็ต้องมี ตั้งนะโมก่อน เพื่อว่ามันจะเรียกร้อง ไอ้สติสัมปชัญญะ มาได้ถึงที่สุด คือว่าอย่างน้อยตามแบบของพุทธบริษัทนั้น จะทำอะไร ก็ต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอ ทำอะไรก็จึงตั้งนะโมก่อน
ถ้าคนมันไม่โง่เกินไป มันเป็นคนจริง มันก็ตั้งนะโมด้วยจิตใจก่อนเสมอ ระลึกนึกถึงจริง ๆ เป็นข้อแรกแล้วจึงทำอะไรต่อไป มันก็ดีทั้งส่วนสติสัมปชัญญะ แล้วก็ดีทั้งส่วนทั่ว ๆ ไปสำหรับความเป็นพุทธบริษัท ยังจำไว้ถึงข้อที่ว่าทำอะไร ตั้งนะโมก่อนเสมอนี่ก็ได้ ใช้ทั่วๆไป จนตลอดชีวิต
แล้วทีนี้ก็มี การกล่าวคำบอกคืนสิกขา ท่องในใจถูกต้องแล้ว ก็มีการกล่าวคำบอกคืนสิกขา นี่ก็ต้องคุกเข่าลง ประนมมือ แล้วก็ว่านะโม ๓ หน ว่าคำคืนสิกขา
(04.56-05.26 เป็นการสวดมนต์ / คุณแสนพันท่องนะโม ๓ จบ พร้อมเอ่ยคำลาสิกขา ๓ จบ)
กราบ
เอ้า, เดี๋ยวนี้เราก็ได้ กล่าวคืนสิกขาแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกตัวอยู่ในการกล่าวคืนสิกขา จึงเป็นการกล่าวคืนสิกขาที่สมบูรณ์ ฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิ ในที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป
อืม เข้ามาเลย นี่ ออก แล้วก็ไปเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม อยู่ตรงไหน…
เอ้า, นั่งราบ พนมมือ จะได้ฟังถนัด ไม่ค่อยปวดเข่า ปวดแข้ง…
ลาสิกขาแล้วก็รับศีล ให้ศีลแล้วก็ให้พร ต่อไปนี้เขาก็เรียกว่าให้พร รวมทั้งให้โอวาทอยู่ในตัว
ได้บอกมาแล้วว่าทุกอย่างต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ ทั้งเป็นการติดต่อเนื่องกันไปอย่างดี จนกระทั่งออกไปแล้ว มันก็ยังต้องการสติสัมปชัญญะมากขึ้น แม้เป็นฆราวาสแล้วก็ยิ่งต้องการ สติสัมปชัญญะ มากขึ้นกว่าตอนที่เป็นพระ เสียอีก มิฉะนั้นจะวินาศ จะฉิบหาย จะไม่ต้องมีใครแช่ง แต่มันก็จะเป็นไปเพราะความเสื่อมถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นจงทำให้สติสัมปชัญญะ มันมีติดต่อกันไปเรื่อย ตั้งแต่บัดนี้เรื่อยไป จนตลอดชีวิต ข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สุด ที่จะบอกจะกล่าว แก่คนที่จะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ควรจะ รู้ แล้วก็พยายามทำ เมื่อการบวชนี้มันเป็นการ เอ่อ, เหมือนกับว่าจุด ตั้งต้นอะไรอันหนึ่งที่จะตั้งต้นต่อไปใหม่ ให้ดีที่สุด ก่อนบวชถือว่าเป็นคนโง่ เป็นคนพาล เป็นคนไม่รู้ เป็นคนเขลา เป็นคนหลง ก็แล้วแต่จะเรียก เพราะฉะนั้นมันต้องมีทำผิดๆ ถูกๆ บ้าง ปนกันไป เอาเป็นว่า ไม่ต้องพูดถึงกัน ไม่ต้องคิดบัญชีกัน ลบทิ้งไปเลยก็ได้ เพื่อตั้งศูนย์ เลขศูนย์ใหม่ แล้วต่อไปนี้ก็ต้องมี ไปให้มันถูก คือมีแต่เรื่องบวก อย่าให้มีเรื่องลบ นั่นแหละข้อสำคัญ
ถ้าจะคิดถึงไอ้ที่แล้วมาแต่หนหลังบ้างก็ระลึกในส่วนที่จะเอามาเป็นครู มาเตือนสติให้รู้ อย่าได้ทำผิดซ้ำอีก ถ้าจะระลึกถึงบ้าง แต่ไม่ควรระลึกถึงเพื่อความร้อนใจ ให้มันเป็นการตกนรกชนิดหนึ่ง โดยไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าจะระลึกถึงก็ระลึกถึงว่า จะไม่ทำผิดอีก แต่เดี๋ยวนี้เราก็ได้มาศึกษามากพอ ที่ว่าจะไม่ทำผิดอีก จะไม่ทำผิดอย่างไรอีก ศึกษามากพอจะระวังสติสัมปชัญญะนั้นอย่างไร ให้มันต่างจาก ที่เรามันเคย เผลอ เคยไม่มีสติสัมปชัญญะ
แต่ถ้าจะเอาเป็นว่าตั้งต้นกันใหม่ จากการที่จะศึกษาใหม่เพิ่มเติมตลอดเวลาที่บวชนี้ มันก็พอเหมือนกัน จึงเป็นอันว่า บากหน้าหรือว่าตั้งหน้าพยายามต่อไปข้างหน้าเพื่อให้มีแต่บวก อย่าให้มีลบ อย่าให้มีผิด ถ้าขืนปล่อยตามสบาย ปล่อยตามไม่รับผิดชอบอย่างที่แล้วมาแต่ก่อน มันก็ต้องผิดอีก เป็นแน่นอน ทำผิดซ้ำ ๆหลายหนเข้ามันก็จะหมด ไอ้กำลังใจที่จะทำให้ถูก มันก็จะปล่อย ๆ ๆ ๆ มันก็จะไปหารูปเดิม มีผิด ๆ ถูก ๆ ถ้าเผลอบางคราวมีอะไรมานั่นมานี่ มันก็เลยผิดใหญ่ ผิดหมดเลยก็ได้ ฉะนั้นต้องเป็นคนที่มีการระมัดระวังมากขึ้น ก็คือสติสัมปชัญญะนั่นเอง
แล้วมันก็ต้องมีอะไรที่เป็นความแน่ใจ แน่วแน่มองเห็นชัดเจนอยู่ แล้วก็แน่วแน่อยู่นี่ ต่อไปข้างหน้า มันจึงจะรอดได้ ถ้ามันสลัว มันก็สลัวไป สลัวมา สลัวมากขึ้น บังคับไม่อยู่ มันก็ยิ่งสลัวมากขึ้น นี่มันจะล้มละลาย จะกลับไปสู่ความผิด ความโลเล ความเหลาะแหละต่อไปอีก แล้วก็ไม่ต้องโทษใครหล่ะ มันต้องโทษตัวเอง จะเสียใจทีหลังหรือไม่ มันก็สุดแท้ แต่แล้วมันก็ต้องเสียใจทีหลังแน่นอน ถ้าไม่เสียใจอะไรเลย มันก็ แปลว่ามันกระด้างมากไปเสียแล้ว พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว
ทีนี้จะให้มันถูกเสมอไป บวกเสมอไป บังคับตัวเองให้อยู่ในร่องรอย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งที่แท้ มันก็ไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งหล่ะ มันมีแต่ว่าเราทำให้สำเร็จประโยชน์ในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็ได้ พบพระพุทธศาสนานั้น ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนานี่ ถ้ายังเอาไว้ได้ก็ปลอดภัยแน่ แต่ถ้ายังเห็นแก่ปากแก่ท้อง เอร็ดอร่อยหรือเห็นแก่โทสะ อะไรก็ มันก็ไม่เอา ก็ทำผิด เดี๋ยวนี้เขาทำผิดกันอยู่ ด้วยเหตุอย่างนี้ โมโหขึ้นมา มันก็โกรธ มันก็ด่าพ่อแม่ ด่าครูบาอาจารย์กัน จนกระทั่งมันด่าอย่างคนบ้าคนเมา ด่าพระเจ้า ด่าทุกอย่างเลย ก็มันไม่มีพระรัตนตรัยแล้วตอนนั้น นี่เพราะเหตุที่มันปล่อย ให้มันเผลอไปอย่าง ไม่มีสติสัมปชัญญะ คือประมาท เขาเรียกว่าเมาอย่างยิ่ง เมาสุดเหวี่ยง ก็คือประมาท มันคำเดียวกันแหละ ไอ้ประมาทกับคำว่าเมา ประมาทนี่มันหมายความว่าเมาเต็มที่ อย่าไปชอบคบกับไอ้สิ่งที่ทำให้ประมาท เช่น กินเหล้า เป็นต้นนี่ มันจะทำให้ค่อย ๆ ประมาทจนไม่รู้สึกตัวในที่สุด แล้วก็อย่าไปคบกับไอ้คนที่มันชวน ให้กินเหล้า มันก็มี เนื่องกันอยู่อย่างนี้ เขาเรียกว่าคบเพื่อนชั่ว
สรุปแล้วมันก็คืออบายมุข ๖ ประการนั่นแหละ ไปท่องเสียใหม่ ไปจำเสียใหม่ ชำระสะสางให้ชัดเจน อธิษฐานจิตที่จะปฏิบัติ ให้ดี อย่าให้มันมีอบายขึ้นมาในชาตินี้
อบายมุขแปลว่าปากของอบาย ปากของอบายคือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ๖ ปากนี่มันพอแล้ว พอไปทำเข้าก็คือ เดินเข้าไปในปาก ของอบาย มันก็มีอบายขึ้นมา คือเป็นนรกขึ้นมา นั่น นี่ โน่น
จนกระทั่งมันถึงที่สุด มันตกก้นสุดของนรกอย่างที่เรียกว่า โลหกุมพี อเวจี ก็คือถึงที่สุด เข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว โตขึ้นมามันดื่มน้ำเมาใช่ไหม ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนันน่ะ มัน ดื่มน้ำเมานี่มันเป็นจุดแรกที่ทำให้มันไป ๆ ๆ ๆ โดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน เรื่อยไปจนเหลวหมด ฉะนั้นถ้าอยากจะเอาตัวรอด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มันก็ต้องกลัวอย่างยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด มี หิริ โอตตัปปะ กลัวสิ่งเหล่านี้ เป็นตายก็ไม่ยอมทำสิ่งเหล่านั้น ก็จะได้ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ไปตามลำดับ
ก็เดี๋ยวนี้ก็จะไปเป็นฆราวาส มันก็มีมาตรฐานสำหรับฆราวาส ที่เขานับถือยอมรับกันมาแต่ก่อน ฆราวาสที่ทำได้ดีถึงที่สุดแห่งความเป็นฆราวาส วัดผลกันด้วยว่ามันมีทรัพย์สมบัติพอตัว ไม่ใช่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่มันต้องพอตัวสำหรับสะดวกสบายทุกอย่าง พอสำหรับเลี้ยงตัวเอง สำหรับเลี้ยงครอบครัว สำหรับทำบุญทำกุศล สำหรับช่วยสงเคราะห์ผู้อื่นนี่ เขาเรียกว่ามีทรัพย์สมบัติพอตัว แล้วก็มี เอ่อ, เกียรติยศชื่อเสียงความดีพอตัว เขาก็มีพอสมควรที่มนุษย์จะพึงมีได้
บางคนมีทรัพย์สมบัติเป็นเศรษฐี แต่ไม่มีชื่อเสียงก็มี มันไม่เป็นคนเสียชื่อ ฉะนั้นจึงต้องกล่าวไว้ ส่วนหนึ่งต่างหาก ว่ามีทรัพย์สมบัติก็พอตัว มีเกียรติ ทำดี ชื่อเสียงก็พอตัวเหมือนกัน คืออย่าไปทำชั่ว ไม่ใช่มีทรัพย์สมบัติมาก ถ้าทำชั่วแล้วมันไม่มีเกียรติ ไม่มีชื่อเสียง ถ้ามีเกียรติ ก็เป็นเกียรติของคนพาล ของคนอันธพาล คือคนสมัยนี้ เขาว่าถ้ามีเงินแล้วก็ดี มีคนนับถือ แล้วมันเรื่องของคนอันธพาลว่า คือเอาเงินเป็นเกียรติไปเลย เหมือนกับเป็นเรื่องเดียวกันแท้ ๆ
มีทรัพย์สมบัติก็ส่วนทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียงก็มีความดีที่แท้จริง เราก็อุตส่าห์ สร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นระยะยาว ไม่มีใครมีชื่อเสียงเดี๋ยวนี้ได้ ถ้ามีได้มันก็เป็นเรื่องจับพลัดจับผลู ลม ๆ แล้ง ๆ มันไม่จริง ถ้าจริงแล้วมันก็ระยะยาว มันก็มีระยะยาว มีความดีเป็นระยะยาว จนเขาไว้ใจได้ ไม่ใช่เรื่องฟลุค
สิ่งที่ ๓ นั้นว่าคือ ไมตรี คือความรักและเมตตา ทุกคนรัก ใช้ได้ นี้มันคนละอย่าง ว่ามีทรัพย์สมบัติ ไม่มีใครรักก็ได้ มันมีเกียรติมาก แต่มันชอบกล มันมีแต่คนกลัว ไม่มีคนรักก็มี มีเกียรติยศล้นฟ้า แต่ไม่มีใครรักก็มี มันกลัวหรือมันระแวง หรือมันไม่เข้ารูปเข้าเรื่องเพราะว่าเรามันไม่เคยรักเขา นี่มันต้องทำ จนให้คนอื่นรัก มีไมตรีมิตรภาพด้วย จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ นับตั้งแต่สุนัขและแมว มันก็รัก ไอ้คน ๆ นั้น คนที่ต่ำกว่าเราก็รักเรา คนเสมอกับเราก็รักเรา คนสูงกว่าเราก็รักเรา อย่างนั้นใช้ได้ คนที่เป็นเจ้าเป็นนาย กันอยู่ข้างบนมันก็รักเรา มันก็ช่วยดึงเราขึ้นไป คนเสมอกันมันก็รักเรา ก็แวดล้อมเราไว้ ไม่ให้ตกไปฝ่ายเลว คนที่อยู่ต่ำว่าเรามันก็รักเรา มันก็ช่วยดุนขึ้นมา ดันขึ้นมา ให้มันขึ้นมาสูง เพราะมันรักเรา ก็ลองคิดดูว่า ใครจะมีโชคดียิ่งไปกว่านี้ มันไม่มีแล้ว มันโชคดีที่สุดอยู่ที่นี่ ที่ทุกคนมันรัก
คงจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทำง่าย ถ้าเป็นคนใจคอโลเลเหลาะแหละ หวุดหวิดหงุดหงิดอยู่เรื่อย นี่ทำไม่ได้ มันเหลาะแหละ วันนี้คิดอย่าง พรุ่งนี้คิดอย่าง เดือนนี้คิดอย่าง เดือนหน้าคิดอย่าง ตั้งใจจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่กี่วันก็เปลี่ยนแล้ว ไม่ถึงปีมันก็เปลี่ยนแล้ว มันก็เปลี่ยนอีก เปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนอีก ก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีความ มีธรรมะ ที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ
ทีนี้ก็พูดกันถึงไอ้ธรรมะนี้ที ก็เคยพูดหลายหนแล้ว ไปหารายละเอียดอ่านดูก็ได้ คือที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ทีนี้พูดแต่ใจความ ในโอกาสที่มันเรียกว่า พิเศษ ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา คือการลาสิกขา
ฆราวาสธรรม ๔ ประการ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี้ยิ่งต้องยิ่งกว่าขึ้นใจ ยิ่งกว่าขึ้นปากเสียอีก สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ, สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ, สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ แล้วก็นอน แล้วก็ฝัน ก็ใช้ได้ ไม่เล่นตลก หลอกลวง ท่องแต่ปากมันทำอะไรไม่ได้
สัจจะ ข้อที่ ๑ คือมันจริง คนเรามันไม่จริง มันจริงอย่างละเมอเพ้อฝัน มันจริงต่อเมื่อมันเห็นว่า จะได้ของเอร็ดอร่อยที่มันชอบ มันจึงจะจริง คนหนุ่มคนสาวสมัยนี้ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น มันจริงแต่จะได้ ในสิ่งที่มันชอบ แต่จริงโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้องนั้น มันไม่จริง มันไม่รู้ด้วยซ้ำไป นี่สำหรับเรามันก็ทั้งรู้ว่าจะจริง เพราะอะไร ง่ายที่สุดก็อาชีพ เราจะอาชีพอะไรให้มันตลอดรอดฝั่ง ทำจนสำเร็จเรื่องไหนก็ต้องจริง นี่เดี๋ยวเปลี่ยนนั่นเดี๋ยวเปลี่ยนนี้ ถ้าไปทำผิดทำชั่วเข้า มันก็ยิ่งต้องเปลี่ยนนะ ต้องอธิษฐาน ต้องประคับประคอง ต้องทำอย่างเหมือนกับพระพุทธเจ้านะ ว่าเราจะทำหน้าที่ของเราที่ได้เลือกดีแล้ว เป็นอาชีพ
ถ้าเปลี่ยนมันต้องมีเหตุผล มีความจำเป็นจริง ๆ ที่มันต้องเปลี่ยนแน่ ไม่ใช่เปลี่ยนเพราะความโลเล ความไม่จริง ความไม่บังคับตัว มันเป็นไปตามเหยื่อที่มายั่วยวนหลอกลวงนั้น มันเปลี่ยนเรื่อย คนอย่างนั้น มันสู้คนที่เป็นชาวนาจนตลอดชีวิตก็ไม่ได้ เป็นกรรมกรจนตลอดชีวิตยังจะดีเสียกว่า คนที่โลเลเหลาะแหละ เราหาอาชีพที่มันเหมาะสมได้ ก็ยึดให้มันเป็นจริงเป็นจัง
มันก็มีความหมายกว้าง ไม่ใช่ว่าจะต้องทำอย่างนี้ตามตัวอักษร มันมีความหมายที่เลื่อนไปได้ เช่นการค้าขาย มันก็เลื่อนไปได้ เป็นนั่นเป็นนี่เป็นโน่น เป็นกระทั่งเ ป็นนายธนาคาร อย่างนี้เขาเรียกผู้ค้าขาย ชาวนาก็เลื่อนไปได้ ตั้งแต่จนที่สุด จนมี เออ, เป็นนายทุนก็เป็นชาวนาได้ แต่ถ้าว่าเป็นนายทุนนี่ มันต้องเป็นคนดี เป็นคนสุจริต ไม่เช่นนั้นก็เป็นคนทำลายโลก
มีสัจจะให้มันจริงลงไป ในข้อที่สำคัญที่สุดคือ อุดมคติของความเป็นมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ควรจะ เป็นอย่างไร ควรจะมีอะไร ควรจะได้อะไร ต้องมีสัจจะในอุดมคติอันนั้นก่อน จะได้ไม่เหลวไหล ถ้าสัจจะต่อตัวเองอย่างนี้ได้ก็ดี ก็สัจจะต่อผู้อื่น สัจจะต่อหน้าที่การงาน สัจจะต่อเวลา สัจจะต่อทุกอย่าง ที่มันควรจะสัจจะ เพราะมันสัจจะต่อตัวเองได้ก่อน นี่ข้อที่ ๑ สำคัญอย่างนี้ ต้องอธิษฐาน แต่อย่าไป สบถสาบานให้เป็นคนโกหก เรื่องสบถสาบานเป็นเรื่องของคนโกหก ถ้าเรื่องอธิษฐานก็อย่างพุทธบริษัท คือทำจริง
ทีนี้มันก็เนื่องไปถึงข้อที่ ๒ คือ ทมะ การบังคับตัวเอง สัจจะนี่มันอยู่ได้เพราะการบังคับตัวเอง ไม่เช่นนั้นสัจจะก็อยู่ไม่ได้ สัจจะอยู่ได้ต้องมีการบังคับตัวเอง บังคับตัวเองคือบังคับจิต บังคับจิตนี่ เขาขยายไปตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ รวมแล้วคือการบังคับจิต บังคับจิตคือบังคับตัวเอง อย่าให้ไปตามกระแสของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง คือกระแสของกิเลส อย่าให้มันไปตามนั้น ให้มันอยู่ในความถูกต้อง ก็ต้องบังคับกันอย่างจริงจัง บังคับกันอย่างกล้าหาญ เอาจริงกับการบังคับ สัจจะมันก็จะรักษาไว้ได้
เดี๋ยวนี้ชั่วเหล้ามายั่วแก้วเดียว มันก็หมดการบังคับตัวเอง เป็นคนโกหก ไปทำในสิ่งที่เลวทรามนั้นได้ นี่ ไม่ต้องมีอะไรมากเลย มีเหล้าแก้วเดียวมายั่ว มันก็ไปแล้ว ระวังให้ดี บังคับต้องบังคับให้จริง ขนาดว่าอธิษฐานเป็นสัจจะแล้ว มันต้องมีมากถึงกับว่า แม้ตายก็ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมเสียสัตย์ อย่างที่เขาพูดกันนะ เสียชีพไม่เสียสัตย์ นี่ถ้าทำได้จริงก็วิเศษเลย นี่ว่า ทมะ คือการบังคับตัวเอง เป็นคำสอนในทุกศาสนา แม้พวกฝรั่งก็เคยนิยมบูชา คำข้อนี้ พูดกันมาก แต่เดี๋ยวนี้มันละลายไป มันจางไป ฝรั่งมันกลายเป็นคนไม่บังคับตัวเอง มากแล้ว วันนี้เรานับถือพวกฝรั่ง ไม่บังคับตัวเองมาก พูดถึงเรื่องนี้มาก เป็นสุภาพบุรุษ เดี๋ยวนี้ละลายแล้ว เป็นคนตามใจกิเลสมากกว่าพวกเราเสียอีก
ทีนี้มันก็มาถึงข้อที่ ๓ คือ ขันตี ความอดทน ถ้ามีการบังคับตัวเอง มันต้องมีความเจ็บปวด ถ้าเจ็บปวด ต้องทน ถ้าไม่ทนมันก็เลิกบังคับตัวเอง เช่น เราจะบังคับไม่ให้กินเหล้า ไม่ให้สูบบุหรี่ ไม่ให้ไปดูหนัง ไม่ให้เที่ยวกลางคืนอย่างนี้ มันก็เกิดความต่อสู้ขึ้นมาในจิต คือกิเลสมันต่อสู้ มันก็เจ็บปวด เหลือประมาณ ถ้าสู้ไม่ได้ มันต้องไปกินเหล้า ต้องไปสูบบุหรี่ ต้องไปดูหนัง ต้องไปเที่ยวเสเพล มันต้องทนก่อน ต้องทนกันก่อน ด้วยการบังคับให้มันอยู่ได้ มันอาศัยซึ่งกันและกัน ทนเลือดตาไหลก็ไม่ยอม ไม่ยอมแพ้ ก็บังคับไว้ได้ อย่าไปทำอย่างนั้น จงทำแต่อย่างนี้ ก็เลยสำเร็จประโยชน์เพราะการอดทน
เขาพูดไว้เป็นหลักตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ตั้งแต่โบราณ ชั้นไหนก็ไม่รู้ ว่าขันตีนี้ เป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานการบำเพ็ญพรต ขันตี พลัง วะยะ ตีนัง ขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต พรตนี่ฆราวาสก็ได้ ภิกษุ บรรพชิตก็ได้ พรตคือสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้สุดความสามารถ สุดฝีไม้ลายมือ นี่เขาเรียกว่าพรต นี่ผู้ที่จะบำเพ็ญพรต คือทำอะไรชิ้นใหญ่ ชิ้นมหาศาลให้สำเร็จไปได้ มันต้องอาศัยขันตี เป็นรากฐาน เป็นพลัง เขาจึงมากล่าวไว้ตรงนี้ว่าถ้ามีการบังคับตัวเมื่อไหร่ ก็ต้องมีขันตี อดทนเมื่อนั้น ฉะนั้นเราก็ต้องยอมทน ทนเจ็บปวดรวดร้าวในจิตใจเพราะกิเลสมันย่ำยี ข่มขี่ มันจะพาให้ไปทำเลว ทำชั่ว ให้จนได้ เราก็อดทน แม้แต่สูบบุหรี่นี่ก็คิดดูว่า มันเงี่ยน มันเงี่ยนนี่ถ้าทนไม่ได้มันก็แพ้ ถ้าทนได้มันก็ชนะ เรื่องนี้ไม่เคยเกิน ๗ วัน ๑๐ วันตามที่คนโบราณเขาพูดไว้ จะทิ้งบุหรี่ จะทิ้งเหล้า ทิ้งอะไรมันก็จะ เดือดร้อนกระวนกระวายเหลือที่จะทนได้ ไม่เกิน ๗ วัน มันก็จะเข้ารูป แต่ว่าระหว่างนั้นมันก็ เกือบเป็นเกือบตาย แม้แต่บุหรี่ บางคนมันก็เกือบตายก็มี ไม่ต้องไปพูดถึงเหล้าถึงฝิ่น ถ้าใจแข็งก็จะผ่านไปได้ใน ๗ วัน ๑๐ วัน นั่นคือความทนของขันตี ต้องทนมากขนาดนี้
ในทุกกรณี ถ้าจะต้องบังคับตัวแล้วมันก็ต้องทนทั้งนั้น ไม่ว่าอะไร ทนเกี่ยวกับธรรมชาติ ร้อน หนาว แดด มันต้องทน อย่างชาวนาก็ต้องทนทั้งนั้น ทนกับธรรมชาติ ในชั้นที่สูงขึ้นมาอีก ทางจิตใจ ความเจ็บความไข้ ซึ่งมีเป็นธรรมดา ก็ต้องทน คนเขาด่า เขาสบประมาท คนพาลมันจะมีอย่างนั้น ก็ต้องทนอีกเหมือนกัน จะไปทำเลว ๆ ต่อกันไม่ได้ ถ้าว่าความบีบคั้นของกิเลส มันบีบคั้นก็ต้องทน มันทนทุกอย่าง ทุกระดับ แม้ทำการงานมันก็ต้องเหนื่อย เหนื่อยมันก็ต้องทน แดดร้อนก็ต้องทน หนาวลมมันก็ต้องทน อะไรก็ต้องทน ถ้าความเจ็บไข้ มันก็ต้องทน ถ้าทนมันหายเร็ว เพราะมันน่าเกลียด น่าชัง จะมีจิตใจเข้มแข็งขึ้น ถ้าเจ็บไข้นิดหน่อยก็โวยวาย ๆ มันก็เป็นนิสัยเป็นคนไม่อดทน แล้วก็น่าเกลียดด้วย รวมความแล้วมันอยู่ได้ด้วยความทน คือสัจจะไม่ล้มละลาย ทมะไม่ล้มละลาย มันอยู่ได้ด้วยความทน
ทีนี้ข้อต่อไปเป็นข้อที่ ๔ หรือข้อสุดท้าย นี่ก็เรียกว่า จาคะ จาคะนี้แปลว่าสละ ถ้าถามว่าสละอะไร ก็ตอบอย่างไม่มีทางผิด คือสละไอ้สิ่งที่มันควรสละ ข้อนี้รู้ไมได้… เอ้อ, รู้ไม่ยาก รู้ได้ไม่ยาก อะไรที่ควรสละ เพราะมันเกิดมานี่ตั้ง ๒๐ ปี หรือ ๓๐ อยู่ปีแล้ว มันควรจะรู้แล้วว่าอะไรควรสละ ไม่ใช่เด็กอมมือ ที่ยังไม่รู้ว่าอะไรควรสละ มันเกินจะรู้แล้ว เราคนที่อายุขนาดนี้ อะไรควรสละ
ถ้าพูดให้เป็นหัวข้อรวม ๆ ก็คือสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในเรา สิ่งที่มีอยู่ในเราแล้วเป็นอันตรายแก่เรา นี่เรียกว่าไม่ควรจะมีอยู่ในเรา สิ่งนั้นควรสละ ก็พวกกิเลสทั้งหลาย นับตั้งแต่ความเกียจคร้านเป็นต้นไป ที่มีจนเป็นนิสัย
กิเลสมีอยู่ ๒ ชั้น ก็คือ ชั้นที่เกิดพลุ่ง ๆ ขึ้นมา นี่ก็กิเลสที่ต้องสละ แล้วกิเลสอีกชั้นหนึ่งก็คือ เกิดจนชิน เป็นนิสัย นี่ละยาก นิสัยเลว หรือกิเลสที่อยู่ในรูปของนิสัย อนุสัยหรืออาสวะอะไรเขาก็เรียกได้ นี่มันละยาก ฉะนั้นจึงต้องพยายามละอยู่ทุกวันทุกคืน เพราะมันสะสมมานานตั้งแต่เกิดจากท้องแม่ จนบัดนี้ ๒๐ ๓๐ ปีนี่ มันก็นาน เป็นนิสัย มันละยาก ก็ต้องค่อยแก้ ค่อยแก้ ค่อยแก้ เช่นว่ามันตื่นขึ้นทำวัตร ทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้าตั้งแต่ตี ๔ ตี ๔ ครึ่งนี่ มันแก้นิสัยขี้เกียจ เห็นความอบอุ่น นอนสบาย อยู่ในที่นอน ฉะนั้นอย่าดูหมิ่น ดูถูกว่าที่เขามีระเบียบให้ตื่นแต่ตี ๔ ตี ๕ ขึ้นทำวัตรสวดมนต์นี่ มันดี มันได้แก้นิสัยที่เห็นแก่ความนอน เห็นแก่อะไรต่าง ๆ กระทั่งว่ามันต้องทน ถ้าตื่นมามันต้อง ง่วงนอน มันอยากนอน มันก็ต้องทน หรือมันหนาว เป็นเวลาที่มันหนาวก็ต้องทน
ถือตามวินัยของพวกซิกข์ เขาก็จะต้องไปทำวัตรสวดมนต์กลางสนามหญ้าที่มีหิมะตก หิมะตกอยู่ปรอย ๆ นี่มันก็ต้องทำได้ แล้วก็ตอนดึก พระเณรก็ยังเลวกว่าพวกนี้เสียอีก ฝนตกก็ยกเลิกอย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าเราก็ไม่เอาถึงนั้น คือว่ายังไม่ต้องการจะเก่งถึงขนาดนั้น เอาแต่ความจริงที่ว่ามันบังคับให้พอสมควร เพราะมันเป็นเครื่องแก้กิเลส ความไม่อดทน ความเกียจคร้าน ความอะไรต่าง ๆ
การทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำ อย่าให้ขาดได้ การทำอะไรอย่าให้มันขาดได้นี่ก็เป็นจาคะชนิดหนึ่ง คือมันสละ ๆ ๆ ทีละนิด ๆ ๆ ไขออก รูรั่วตรงนี้ เป็นรูสำหรับไขออกทีละนิด ๆ ไอ้ความชั่ว ความเลวมันจะได้ออกไป ขยันทำวัตรสวดมนต์เป็นต้น แม้เป็นฆราวาสก็ทำได้ ถึงเวลาจะนอน ถึงเวลาตื่นนอน มันก็มีความ เป็นการเสียสละอยู่ในตัว
นอกจากนั้นก็สละทุกอย่างที่ควรสละ ความเลวความชั่ว ต้องสละแน่ ไม่ต้องออกชื่อ ไม่ต้องเจียรนัยชื่อ นิสัยแห่งความชั่ว สละเรื่อยไป กระทั่งว่าเงินทอง ส่วนที่มันควรสละ ก็ต้องสละ ส่วนที่มันเกิน ขืนมีไว้เป็นการเห็นแก่ แล้วก็รีบสละเสียดีกว่า ถ้ามันมีเหตุผลที่จะเอาไว้ใช้ไว้สอย ทำทุนทำรอนก็ทำไป แต่ถ้ามันเกินนักก็ มันจะทำให้เห็นแก่ตัว แล้วก็ควรสละให้ได้ ฉะนั้นเราจึงมีการทำบุญให้ทานอยู่เสมอที่เรียกว่าการสละ สละความเห็นแก่ตัว ถ้าถึงขนาดนั้นสละไม่ได้ แล้วมันก็เห็นแก่ตัวแล้ว มันมากเกินไปแล้วก็สละกันบ้าง เพียงแต่ว่ารู้จักสละให้มันไปในที่ที่มันควรสละ คือเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ต่อไป ก็เรียกว่าสละในทางที่ควรสละแก่บุคคลที่ควรสละ เป็นเรื่องภายนอกออกไปอีก
ตัวภายในนี้ต้องแก้นิสัยเลว ๆ นิสัยอืดอาด นิสัยชักช้า เฉื่อย นิสัย ขี้โมโหโทโส ขึ้หงุดหงิด ขี้อะไรต่าง ๆ ที่มันติดมาตั้งแต่อ้อนออก มากขึ้น ๆ นี่เรียกว่าจาคะทั้งนั้นแหละ ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการ ให้ทาน ซึ่งให้ทานสิ่งของ มันคือการให้ทานข้างนอก แต่ถ้าหมายถึงให้ทานข้างใน คือสิ่งที่เป็นจิตใจ ที่มองไม่เห็นตัวก็ต้องสละด้วย สละนิสัยเลว ว่าอย่างนั้นดีกว่า
นี่ ๔ อย่างนี้ มันจะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ในการเป็นฆราวาส ถึงที่สุดของการได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ เป็นฆราวาสมีทรัพย์พอตัว มีเกียรติพอตัว มีไมตรีเมตตาพอตัว จดจำรายละเอียด สิ่งเหล่านี้ไว้ สำหรับหัวข้อแล้วมันก็ท่องง่าย สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ควรจะติดปากอยู่เสมอ ฝันเห็นอยู่เสมอ
นี่พูดกันสำหรับจะปลอดภัยจนตลอดชีวิต จึงพูดกันมากหน่อย ถ้าไม่อยากให้ชีวิตนี้มันล้มละลาย ก็ต้องเคร่งครัดแต่ตอนนี้ ป้องกันไว้ ถ้ามันจะเอียงก็แล้วแต่ ดึงกลับมา หรือถ้ามันพลาดไปโดยบังเอิญ แล้วก็ลุกขึ้นมาเร็ว ๆ กลับมาเร็ว ๆ อย่านอนแช่อยู่ในความชั่วความเลวนั้น มันจะยึดตัวไว้ได้ กลายเป็นล้มละลายไปเสียอีก
ถ้าตกนรก ก็ผลุงขึ้นมาทันที ขึ้นมาเสียจากนรก พอรู้ว่านี้เป็นนรก เป็นอบายมุขเท่านั้นแหละ ผลุงขึ้นมา เสียทันที ออกมาได้ทันที นี่เรื่องที่จะต้องพูดกันในวันลาสิกขา คือฆราวาสธรรม ๔ ประการ คือสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ส่วนนอกนั้นมันมีปลีกย่อยต่าง ๆ ไปหาอ่านเอง เช่น อิทธิบาท ๔ ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นอุปกรณ์ทำให้สำเร็จตามนี้ มันยังไม่ครบทั้งสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ฉะนั้นจึงพูด สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ซึ่งเป็นหัวข้อรวบหมด ที่ปลีกย่อยออกไปก็ให้มันมีเป็นหมวด เศษออกไป จิตตะ…ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ให้เกิดกำลังใจที่จะทำหน้าที่นั้น ๆ อีก ธรรมะมั่นเนื่องกัน แต่หัวข้อใหญ่ ๆ มันก็มีอยู่ เพียงหัวข้อ ๒ หัวข้อ ไปศึกษาเอาเอง เรื่องความเพียร เรื่องอะไรต่าง ๆ มันมีอยู่ในตำราแล้ว วันนี้เราไม่มีเวลาพูด
สรุปความว่าถ้ามันมีสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ แล้วจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง จะเป็นฆราวาสก็ดี จะเป็นบรรพชิตก็ยังได้ เพราะหลักใหญ่นี้มันเป็นหลักกลาง ใช้ได้ทั่วไป แต่ที่ว่า เรียกว่าฆราวาสธรรมนี้ก็เพราะว่า ฆราวาสนี้มันจำเป็นอย่างยิ่ง มันเป็นเพศที่อยู่ใน ลักษณะที่มันหมิ่นเหม่ต่อการที่จะพลัดตกลงไปในเหว มัน ๆ มันหมิ่นเหม่มาก จึงให้มีหัวข้อธรรม ที่เคร่งครัดเคร่งเครียด ไว้ให้เพียงพอ เป็นอันว่าถ้ามี ๔ ข้อนี้ มันก็ป้องกันได้แน่
ทีนี้ทำอย่างไรต่อไปอีก ที่จะให้มันได้มี ๔ หัวข้อนี่ก็คือ อย่าประมาท เรื่องไม่ประมาทนี้ เราก็พูดกันมากแล้ว แล้วมันก็รวมอยู่ในข้อที่ว่า ทุกวันนี่ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่เป็นประจำ ไขออก ไขความชั่วออกอยู่เป็นประจำ ก็จะไม่ประมาท อะไรที่จะให้ช่วยให้ไม่ประมาทได้ มันก็ต้องทำ แม้แต่เพื่อนฝูงบางคนก็มีประโยชน์ ในการเตือนให้ไม่ประมาท เราก็คบ ๆ กันแต่เพื่อนชนิดนั้น อย่าไปคบกับเพื่อนที่มันดึงลงไปในความประมาท คือเพื่อนเลว แต่ว่ามันไม่ ไม่สำคัญมากเท่าที่ว่าตัวเอง จะเตือนตัวเองอย่าให้ประมาท
แล้วจงมีการเกี่ยวข้อง กับสิ่งที่จะช่วยให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ มีเวลาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเตือน ให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ ไม่มีอะไรก็ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามโอกาสที่จะนึกได้ ไปมาหาสู่ครูบาอาจารย์ที่มันจะเป็นที่พึ่งได้ แล้วก็อย่าละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ที่เขาวางไว้ อย่าอวดดี ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีจะคุ้มครองได้มาก แต่ว่าไม่เลยไปถึงรีตอง ถ้าพิธีรีตองมันงมงาย ไม่ต้องก็ได้ แล้วก็ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม แล้วมันจะคุ้มได้ ฉะนั้นเราต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ อย่าเห็นว่าประเพณีหรือศาสนาเป็นของครึคระไป
เดี๋ยวนี้คนสมัยนี้เห็นศาสนาประเพณีนี้ครึคระ เพราะมันไม่รู้ ไม่รู้จักโดยแท้จริงว่าศาสนานั้นคืออะไร แล้วที่ไปอยู่ในรูปของประเพณีนี้มันคืออะไร มันไม่รู้จัก มันก็เลยดูถูก ดูหมิ่น อย่างนี้มันก็วินาศแน่ ฉะนั้นเราจะต้องทำได้ เช่นเขาให้อาราธนาศีลอย่างนี้ ถ้าดีจริงมันต้องทำได้แม้สึกไปแล้ว ถ้ามันเกิดอย่างนี้ไม่เท่าไร มันต้องไปกินเหล้าแน่ เพราะมันไม่มั่นคงอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี หรือธรรมะหรือศาสนา และถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ เราก็พูดได้ว่านี่มันทำไม่ได้ เพราะมันทำอยู่อย่างนี้ เพราะมันได้ปฏิญญานไปแล้วอย่างนี้
ฉะนั้นคนที่เขาไม่ประมาท เขาก็เลยหาโอกาสผูกพันตัวเองอย่าให้ประมาท เช่นเพื่อนชวน เพื่อนชวนกินเหล้า ว่าวันนี้มันได้ปฏิญญานอาจารย์เสียแล้ว เขาเรียกว่ากันว่าใส่บาตรอาจารย์เสียแล้ว ว่ากินเหล้าไม่ได้อีก ถ้าคนจริง มันจริงอย่างนี้ ไม่ใช่คนโกหก ฉะนั้นมันก็ไปในที่ประชุมไหน สมาคมไหนก็ได้ เพื่อนเขาให้สูบบุหรี่ ยื่นให้สูบบอกว่ามันได้ใส่บาตรอาจารย์เสียแล้ว มันสูบไม่ได้ เพื่อนก็คงไม่ว่าอะไร ถ้าไอ้คนนั้นมันโกหกตัวเอง มันก็เอา กลัวเพื่อนจะว่า แล้วสูบอีก กินอีก อย่างนี้ มันก็เหลวหมด ที่แล้ว ๆ มา มันก็คือเป็นอย่างนี้ ที่มันเหลวหมด บอกว่าหมอห้ามก็ได้ ไม่กินเหล้านี่ ว่าอาจารย์ขอเสียแล้วก็ได้ ก็ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าคนมันจริง ทีนี้คนมันไม่จริง มันจริงนิดเดียว จริงชั่วขณะจิตเดียว แล้วมันก็โกหกอีก อย่างนี้มันเรียกว่าคนไม่จริง ก็เลยล้มเหลวนั่นน่ะคือคนประมาท เพราะฉะนั้นอย่าประมาท ก็คืออย่าทำอย่างนั้น นี่ตัวอย่างมันมีอีกเยอะแยะเลย ความประมาท ความไม่ประมาท นี่มันมีมากมายก่ายกอง
ที่มีอะไรเตือนกันไว้เสมอ ไว้กันลืม ถึงเวลาก็ทำ ถึงเวลาก็ไหว้พระสวดมนต์ ถึงเวลาก็เหลือบดู ไอ้สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมของศาสนา แม้แต่สุด แต่จีวรหรือบาตรนี่ก็อยากจะให้ไป ทุกคนที่สึก ที่ลาสิกขา เอาไปไว้ขู่ตัวเอง อย่าให้หมุนกลับไปทางเลว เป็นบัณฑิตผู้ที่มีปัญญาเขาทำกันอย่างนี้ บาตรขัดไว้สวย จีวรซักไว้สวย พาดอยู่บนบาตร วางไว้ในห้องหนังสือ ห้องพระ หรือถ้าเรายังไม่มี บ้านเรือน ก็ไว้ในที่ที่ควรจะเก็บไว้ เพื่อนาน ๆ ก็ไปดู มันขู่ตัวเองได้ดี ให้เกิดความละอายในการที่จะทำชั่ว เพราะมันเป็นของคล้าย ๆ กับนิมิต ที่ได้มาจากพระพุทธเจ้าคือการบรรพชา รู้สึกว่ามันจะดีกว่ารูปถ่าย ที่เราถ่ายไว้เมื่อบวชเป็นพระ ไม่เท่าไหร่มันก็เล่นตลก ง่ายกว่าที่จะเอาบาตร เอาจีวร เอาผ้าเหลืองนี้ไปไว้ ขู่ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ถึงจะปลอดภัยแน่ ถ้าว่ามีการคุ้มครองป้องกันตัวเองมากถึงขนาดนี้ ก็ปลอดภัยแน่ ความที่จะเอาตัวรอดได้หรือไม่รอดได้ มันก็อยู่ที่ความเหลวไหลหรือไม่เหลวไหลของตัวเอง อย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้นขอให้ รับฟังเป็นข้อสุดท้ายว่าไม่ประมาท ทุกอย่างทุกประการพยายามติดต่อกับสิ่งที่จะทำให้ ไม่ประมาท รักษาสิ่งที่ คือเตือนสติไม่ให้ประมาท มีความถ่อมตัว เจียมตัว ละอายบาป ไม่ประมาทอยู่เสมอ นี่เรียกว่าให้พร
พรแปลว่าดีหรือว่าประเสริฐ ให้พรหรือประเสริฐนี้ต้องทำ ต้องปฏิบัติจึงจะเป็นพรขึ้นมา ฉะนั้นจึงต้องให้สิ่งที่เอาไปปฏิบัติ มันก็เป็นพรขึ้นมา ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็คือไม่รับพร เป็นคนที่ไม่ยอมรับพร มันก็ช่วยไม่ได้ ถ้าอยากได้พรก็ต้องรับเอาพรไป คือไปปฏิบัติ คือคำแนะนำสั่งสอนเหล่านี้ ซึ่งกินความ รวบไปถึงทั้งหมดที่จะต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทคนหนึ่ง ที่เมื่อปฏิบัติแล้วมันก็เป็นพร อย่างแท้จริง ไม่ใช่พรมาสวด หรือมาพรมน้ำมนต์ อาไรนั่น เขาทำกันมากแล้ว ทุกคนก็เคยได้รับมามากแล้ว เดี๋ยวนี้ก็จะให้พรตามแบบของพระพุทธเจ้าเสียบ้าง คือสิ่งที่พระองค์ได้ประทานไว้ให้แจกจ่ายกันต่อ ๆ ไป ขอให้สนใจ รับพรชนิดนี้ไปทำให้มันมีจริง แล้วก็รอดตัวได้เป็นแน่นอน
ขออวยพรด้วยวาจา ว่าขอให้เกิดเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถยึดเอาข้อปฏิบัติเหล่านี้ไว้ได้ แล้วขอให้มีความสุขความเจริญ ด้วยอำนาจคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ