แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
….คือว่าการลาสิกขาไม่ต้องทำเป็นพิธีรีตองหรือเป็นพิธีอย่างสังฆกรรมก็ได้ ไม่ต้องเกี่ยวกับสงฆ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน มันจึงต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ทีนี้ข้อสำคัญมันก็คือว่าทุกอย่างต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นเวลานี้จะต้องมีสติสัมปชัญญะเต็ม ทำไปด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังจะลาสิกขา เฉพาะส่วนที่เป็นของสำหรับภิกษุ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีสติสัมปชัญญะกระทำอย่างนั้น ไม่ได้บอกคืนอะไรกันไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไม่ได้บอกคืนสรณาคม คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนี่ไม่ได้บอกคืน คนมักจะเข้าใจกันเอาเองว่าทุกคราวที่มีรับศีลและมีรับสรณาคม แล้วก็บอกคืนหมดพร้อมกันทั้งสองอย่าง นี่เรามีสติสัมปชัญญะเข้าใจและรู้สึกอยู่อย่างดีว่าไม่ได้บอกคืนสรณาคม คือการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ที่จะลาสิกขานี่จะบอกคืนเฉพาะสิกขาบทสำหรับภิกษุ เพราะว่าเรามีเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นและก็ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะอีกเหมือนกัน มันจึงจะเป็นการกระทำที่มีความหมายหรือถูกต้อง สิกขาบทหรือระเบียบทั้งหลายสำหรับภิกษุนั้นมันก็เป็นอันว่าต้องบอกคืน เพราะมันมีความประสงค์ ความตั้งใจเอาไว้แล้ว ทีนี้เกี่ยวกับการทำจิตใจนั้นดูจะไม่มีปัญหาเพราะว่าเรามีความประสงค์ที่ตั้งไว้แล้วโดยแน่นอน จิตใจมันก็แน่นอนในการที่จะลาสิกขา ฉะนั้นมีสติสัมปชัญญะทำเพียงเท่านี้ก็พอ ว่าให้มันมีจิตใจที่สละสิกขาอย่างภิกษุ ในบางกรณีมันจำเป็นอย่างอื่น คือเขาไม่ต้องการจะลาสิกขา ถูกบังคับให้ลาหรือว่าพอจะลาสิกขา จิตใจมันเกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอีก ไม่อยากจะลาสิกขา แล้วปากก็ว่าไป อย่างนี้ก็ไม่สมบูรณ์ ถ้าตามวินัยก็ถือว่ามันไม่เป็นการลาสิกขา ฉะนั้นมีสติสัมปชัญญะถูกต้องในการลาสิกขา ก็กล่าวการลาสิกขาด้วยวาจาให้ตรงตามใจนั้น แล้วก็ไปกระทำโดยกาย คือว่าเปลี่ยนการเป็นอยู่ เช่น การนุ่งห่ม เป็นต้น ก็เป็นการกระทำที่ครบถ้วนทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ โดยใจคอที่ปกติ คือมีสติสัมปชัญญะ นี่เราก็มีความหมายที่สำคัญอยู่ที่ตรงนี้ ส่วนนอกนั้นมันเป็นพิธีรีตอง ให้เลยเป็นรีตองอะไรต่างๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ทำที่นี่ จะสวดอะไรกันอีก จะพรมน้ำมนต์อะไรกันอีกก็ไม่ค่อยได้ทำตามพิธีรีตอง คงจะทำให้ถูกแต่เนื้อหาสาระใจความสำคัญ ในการพรมน้ำมนต์ก็นิยมพรมน้ำมนต์อย่างธรรมะหรือภาษาธรรมะหรือตามแบบของพระพุทธเจ้า ให้ศีลให้พรให้ธรรมะเป็นน้ำมนต์ ฉะนั้นก็อย่าได้ประหลาดใจเกี่ยวกับเรื่องพิธีรีตองที่ว่ามันจะผิดกันไปบ้าง จากที่เขากระทำกัน บางแห่งก็น่าหัวมากที่จะมาสวดชะยันโต ชัยชนะให้แก่คนลาสิกขาซึ่งถือเหมือนกับว่าคนที่จะต้องมีความพ่ายแพ้บางอย่างบางประการ นี้มันเป็นธรรมเนียมใหม่ๆ คิดขึ้นหรือทำขึ้นโดยผู้ที่ไม่ได้เข้าใจความหมาย ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ก็รู้ไว้เพื่อแก้ความสงสัย เป็นอันว่าเรามีความแน่ใจ มีสติสัมปชัญญะในการกล่าวคืนสิกขาและก็กระทำให้ครบถ้วนทั้งทางกาย ทั้งทางวาจาและทั้งทางใจ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ก่อน ต้องเข้าใจถูกต้อง ต้องเตรียมจิตใจให้ถูกต้องให้เข้ารูปเข้ารอยกับหลักเกณฑ์อันนี้ ทีนี้เมื่อกล่าวคืนสิกขาก็เป็นการกล่าวด้วยปากและก็รู้ความหมายด้วยใจ และแสดงอาการให้ชัดเจนอีกทีหนึ่ง คำว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ” นี่ก็ข้าพเจ้ากล่าวคืนสิกขา หมายถึงสิกขาอย่างภิกษุ “คีหีติ มัง ธาเรถะ” ขอให้ท่านจงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ ในเมื่อเราว่าด้วยภาษาบาลีอาจจะไม่รู้ความหมาย ก็ให้รู้ความหมายนี้ เข้าใจถูกต้อง ในเมื่อปากได้ว่าออกไป ว่าบอกคืนสิกขาอย่างภิกษุ และขอให้ทรง ทรงในทีนี้หมายถึงถือให้ถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ นั้นเป็นธรรมเนียมของพุทธบริษัท จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอไป นี่ก็เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะ เราจึงตั้งนะโม ไม่ว่าจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นธรรมเนียมของพุทธบริษัทที่จะตั้งนะโม มีการแสดงความเคารพพระพุทธเจ้าก่อน ที่จริงนั้นมันเป็นการมีสติสัมปชัญญะ ทำอะไรก็นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน มีเวลาที่จะรวบรวมความรู้สึกนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ก็จะได้แน่ใจว่าการกระทำนี้ถูกต้อง หรือว่าถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ถ้าทำได้ดีก็มีผลอย่างนั้น ถ้าทำไม่ค่อยได้ดี มันก็เป็นตามธรรมเนียม สักว่าเป็นนกแก้วนกขุนทองเหมือนกันแม้แต่ตั้งนะโม ฉะนั้นการที่เราจะตั้งนะโมนี้ก็คือการปรับปรุงจิตใจให้เหมาะสมที่สุดแล้ว คือประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะความรู้สึกตัวอย่างดีที่สุดแล้ว เป็นการถูกการควรการเหมาะสมที่ว่าจะเป็นผู้ เป็นพุทธบริษัทจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่การกล่าวคืนสิกขา ลาสิกขาบท นี่เราก็ต้องตั้งนะโมก่อน เมื่อตั้งนะโม ๓ ครั้งแล้วก็จะกล่าวคำลาสิกขานั้นด้วยจิตใจที่แน่นอน โดยมากก็ว่า ๓ เที่ยว เมื่อมีความรู้สึกที่แน่นอนด้วยจิตใจแล้วก็กราบลงอีกทีหนึ่ง เอ่อ อีก ๓ ที กราบอีก ๓ ที เพื่อให้รู้ว่าเป็นความแน่นอน ความถูกต้อง ถ้ามันเป็นเรื่องต่อสู้ในจิตใจไม่อยากลาอะไรหรือว่ามีอะไรทำให้เกิดการต่อสู้ นี้ก็ต้องว่าหลายๆ หนก็ได้ จนกว่าจะมีจิตใจที่แน่นอน จึงจะกราบลงไปบอกให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้ก็แน่นอนแล้ว พร้อมแล้ว ถ้าธรรมดาอย่างนี้ก็ ๓ หนก็พอ ว่า ๓ เที่ยวแล้วก็กราบลงไป และเมื่อทุกอย่างเข้าใจดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะแล้วก็ดำเนินการกล่าวคืนสิกขาได้ เข้ามาใกล้ๆ ตรงนี้ คุกเข่าใกล้ๆ หน่อย เข้ามาใกล้ๆ ตั้งนะโม (สวดนะโม ๓ จบ สิกขัง ปัจจักขามิ คีหีติ มัง ธาเรถะ ๓ ครั้ง) เดี๋ยวนี้ก็ได้กล่าวคืนสิกขาพร้อมทั้งความรู้สึกกายวาจาใจครบถ้วนแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะอีกต่อไป ขอแสดงการยอมรับการกล่าวคืนสิกขา ทีนี้ก็ไปผลัดเครื่องนุ่งห่ม ....ตามพอใจจะเป็นศีลห้าหรือศีลแปดแล้วแต่ความประสงค์ บูชาอีกทีก็ได้ ถ้าว่าเป็น บูชาอย่างที่เขาบูชา (บทสวดมนต์ นาทีที่ 15:30 -20:20) กราบ ทีนี้นั่งราบ จะให้ฟังอีกสักระยะ การให้ศีลก็ทำไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เป็นการให้พร ดังนั้นขอให้ตั้งใจฟัง ให้สำเร็จประโยชน์ในการให้พร จึงจะมีสมบูรณ์ทั้งการให้ศีลและการให้พร การให้พรผู้ลาสิกขานี้ก็ ใจความสำคัญเป็นเรื่องการให้โอวาทสำหรับไปประพฤติปฏิบัติ ซี่งเมื่อปฏิบัติแล้วมันก็กลายเป็นการให้พรแท้จริงและตลอดกาลยาวนาน ไอ้พิธีพรมน้ำมนต์พวกนี้ก็ดีเหมือนกันเป็นเครื่องช่วยให้รู้สึกคิดนึกได้บ้าง ถ้าไม่ปฏิบัติตามไอ้โอวาทคำสั่งสอน มันก็หายไปๆ มันไม่อยู่ ฉะนั้นจึงถือเอาเป็นโอกาสที่จะให้โอวาทชนิดที่เป็นการให้พรกันในเวลาอย่างนี้อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ให้สำเร็จประโยชน์ เราควรจะมีปีติปราโมทย์ความเอิบอิ่มใจในการที่ได้กระทำ ทุกอย่างที่เป็นการกระทำที่ดีที่ถูกต้อง ทีนี้ขอให้ถือว่าการได้อุปสมบทแม้ระยะอันสั้นนี้ ก็เป็นการถูกต้องและมีความหมายและก็มีประโยชน์มหาศาล ถ้าว่าได้เข้าถึงความหมายของการอุปสมบท แล้วมันก็อยู่ตลอดไป คนหนุ่มบวชก่อนไปประกอบอาชีพนั้นก็มีความหมายอย่าง คนล่วงกาลผ่านวัยมาพอสมควรแล้วมีโอกาสบวช อย่างเราบวชอย่างนี้ ก็มีความหมายอย่างหนึ่ง และคนสูงอายุที่บวชตลอดชีวิตเพื่อผลที่สูงขึ้นไปในขั้นสุดท้ายนั้นก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง แต่แล้วไอ้ใจความของความหมายนี้ก็เหมือนกันอยู่ข้อหนึ่งเป็นธรรมดา คือให้มันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สำหรับคนหนุ่มบวชมันก็เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณกาล ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา กระทั่งการบวชต่างๆ แม้นอกพุทธศาสนาเขาก็มีนิยมให้คนหนุ่มบวช เพี่อให้รู้ว่าจะเป็นมนุษย์ต่อไปนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าบวชมันมีโอกาสศึกษาและก็ทดลองกันเต็มที่ พอเห็นว่าคนนี้เหมาะสมแล้วที่จะออกไปเป็นมนุษย์แม้จะเป็นฆราวาส เขาก็ให้ออกไป เรียกกันว่าเป็นบัณฑิต ตามอาศรมที่อบรมกันจริงจัง เป็นที่พอใจของอาจารย์แล้ว ก็ให้ออกไปเป็นคฤหัสถ์ คือพ่อบ้านแม่เรือน มันก็เลยสามารถที่จะทำให้ดีได้ เขาเรียกกันว่าบัณฑิตมาแต่เดิม เมืองไทยก็รับวิธีอันนี้มา วิธีการอันนี้มา สำหรับที่จะทำคนหนุ่มให้สามารถที่จะครองเรือนอย่างมีประโยชน์ที่สุด แล้วก็ต่อมามันเลือนไปเสีย สักว่าพิธีธรรมเนียม กระทั่งเป็นบ้าเป็นหลังไปก็มี ไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ขอให้รู้ไว้ว่าความมุ่งหมายดีที่สุด หลักการก็ดีที่สุด มีเหตุผล ต่อมาคนที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนบวช นี้ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผลเหมือนกัน เพราะมันเผลอไปไม่ได้บวชหรืออะไรก็สุดแท้ หรืออยากจะบวช ถ้าบวชจริงๆ แล้วก็ได้ผล หรือจะพระเจ้าแผ่นดินอยากจะบวชขึ้นมา หรือว่าเป็นธรรมเนียมขึ้นมาอีกแขนงหนึ่ง ว่าคนกลางคนก็บวช เพื่อว่ามันจะได้รับการฝึกฝนทดลองอะไรที่มันเพิ่มเติมจากที่เราไม่รู้ หรือว่าแม้แต่บวชเอาบุญเอากุศล บวชประทังเวลา ประวิงเวลาอะไรบางอย่างนี้ก็ยังได้ จนกระทั่งคนสูงอายุบั้นปลายเขาบวชนี้เอาเต็มที่ เป็นอันว่าบวชนี้ก็เพื่อรู้อะไรที่ไม่เคยรู้ ที่ฆราวาสไม่อาจจะรู้ ที่ดีที่สุดก็คือบวชเพื่อจะรู้จักการบังคับตัวเอง บังคับตัวเองนี่หมายถึงบังคับจิตใจ แล้วมันก็มีหลายระดับเต็มที เราจะต้องรู้จักจัดระดับของเราเอง แต่ในระหว่างบวชนี้มันจะฝึกกันทุกอย่างเลย ระดับต่ำๆ ระดับกลางๆ ระดับสูงๆ ระดับสูงสุดมันก็เป็นการบังคับควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทกิเลส ที่สรุปแล้วคือตัวกูของกู นี่เป็นความมุ่งหมายแท้จริง แต่เดี๋ยวนี้มันก็เลือนไปอีก พระเณรก็ยังประมาทอยู่มาก ก็ช่างเขา เขาจะประมาทอย่างไร เราไม่ประมาทก็แล้วกัน ฉะนั้นจะต้องให้ได้รับประโยชน์ คือว่าได้รับวิชาความรู้สำหรับการบังคับตัวเอง ตั้งแต่ไอ้ต่ำๆ ที่สุด ที่จะสังคมกับคนอื่นหรือกับในครอบครัว แคบเข้ามา แล้วก็ตัวเองล้วนๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคนอื่นก็ต้องรู้จัก ไอ้บังคับตัวเองนี่มันเป็นคำที่ประหลาด มันใช้หมด แม้แต่ไปนิพพานมันก็บังคับตัวเองได้สำเร็จ คือบังคับกิเลสได้สำเร็จ อยู่ในโลกนี้ก็บังคับตัวเอง ทุกกระเบียดนิ้วจึงจะไม่ผิด ถ้าต้องไปทำงานยากๆ มันก็ต้องเกี่ยวกับการมีใจคอปกติ บังคับตัวเอง ต้องเผชิญหน้าศัตรู มันก็ต้องบังคับตัวเองอย่างยิ่ง ฉะนั้นเราจึงฝึกฝนไอ้เรื่องนี้เป็นการใหญ่ นับตั้งแต่วินัย ศีล นี่มันก็เป็นอันนี้ หรือเป็นอย่างน้อยก็เป็นอุปกรณ์ของอันนี้คือการบังคับตัวเองให้ปกติอยู่เสมอ พอถึงขั้นสมาธิ มันก็ยิ่งเป็นอย่างนั้นมากขึ้น พอถึงขั้นปัญญาก็เป็นสูงสุด คือมีการรู้ รู้จักระวัง รู้จักบังคับ รู้จักละ รู้จักทุกอย่างที่มันจะต้องทำ ฉะนั้นก็เตรียมพร้อมสำหรับจะออกไปปฎิบัติหน้าที่ สำหรับจะไปเป็นฆราวาสอีกต่อไป เดี๋ยวนี้เรามีคำพูดคำหนึ่งซึ่งเป็นคำสรุปความ มีความหมายกินความกว้างทั่วไปหมด เช่นว่าหัดทำหน้าที่ด้วยจิตว่างพระเณรก็ประมาท ก็ช่างเค้า นี่เป็นประโยคอย่างนี้ การทำหน้าที่ของตนด้วยจิตว่าง จิตว่างนั้นต้องรู้จักไปตั้งแต่คำว่าจิตวุ่น จิตวุ่นนี่เกือบจะไม่ต้องอธิบาย ที่เรียกว่าหัวเสียหรือเรียกอารมณ์เสียอะไรต่างๆ นี่มันเป็นจิตวุ่น มันไม่ว่างมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยตัวกูของกู เป็นกิเลสประเภทนั้นประเภทนี้ ถ้าเอาอันนี้ออกไปเสีย ก็จิตมันว่าง ว่างจากตัวกูของกู ให้มันเต็มอยู่ด้วยความบริสุทธิ์สะอาดสว่างไสวแจ่มแจ้งหรือสติปัญญา ฉะนั้นจะทำหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำด้วยจิตว่าง แม้แต่จะกินอาหาร แม้แต่อาบน้ำ แม้แต่จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ขอให้มันทำด้วยจิตว่าง มันดีกว่าทั้งนั้นน่ะ จะมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำด้วยจิตวุ่น แม้แต่กินอาหารก็ไม่อร่อย แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ บางทีจะเป็นโทษ มันจึงทำไอ้อย่างที่เตลิดเปิดเปิงไป กินเหล้ากินอะไรเพื่อให้มันรู้สึกสบายใจนี้ มันก็ยิ่งบ้า ถ้ามันมีจิตปกติ ไม่ต้องกินเหล้า มันก็รู้สึกสบายหรือพอใจ ครื้นเครงในจิตใจได้ กินอาหารธรรมดา กินอาหารเลวๆ เล็กน้อย มันก็มีความสุขสบายถึงที่สุดได้ แม้แต่จะอาบน้ำ ถ้าทำด้วยจิตที่มันคลุ้มคลั่งมันก็ไม่ได้ มันต้องหยุดไอ้พวกเหล่านั้น ทำด้วยจิตที่ปกติ อาบน้ำก็สบาย จะถ่ายอุจจาระก็ยิ่งเป็นอย่างนั้น นี่ยกตัวอย่างว่าแม้แต่หน้าที่ง่ายๆ อย่างนี้ ชั้นต่ำที่สุดอย่างนี้ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ด้วยจิตว่าง แล้วมันก็ไม่ต้องพูดถึงไอ้เรื่องที่มันสูงไปกว่านั้น เราจะสรุปความกันสั้นๆ ว่า ไอ้งานหรือหน้าที่นั้นน่ะ มันมีสัก ๓ ระดับ งานทั่วไปทุกอย่างที่เรียกว่างานก็แล้วกันเรียกว่างานทั่วไป นับตั้งแต่บริหารร่างกายจนถึงประกอบการงานธรรมดาสามัญ ทีนี้อย่างที่ ๒ มันสูงขึ้นมาเรียกว่างานศิลปะ จะเป็นศิลปะชนิดไหนก็สุดแท้ วิจิตรศิลป์ก็ได้ แม้แต่โรคศิลป์ของพวกหมอนี้ก็มันต้องถือว่าเป็นศิลปะเพราะมันมีอะไรซับซ้อนเหมือนศิลปะ ชนิดที่ว่างานศิลปะก็ต้องทำด้วยจิตว่าง ทีนี้ไอ้งานชั้นพิเศษซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แต่จะยกตัวอย่างว่ามันเป็นงานพิเศษที่ต้องทำด้วยจิตใจที่เป็นพิเศษ ซึ่งยิ่งไปกว่าศิลปะ เช่นว่าเป็นหมอผ่าตัด เอ้า ตัวอย่าง จะต้องผ่าตัดพ่อแม่ที่เรารักที่สุด หรือผ่าตัดลูกเมียที่รักที่สุด นี่จะต้องทำด้วยจิตใจอย่างไร มันก็ต้องทำด้วยจิตใจที่ว่างยิ่งขึ้นไปอีก อย่างนี้เรียกว่ามันเลยศิลปะ หรือถ้าเป็นศิลปะก็เป็นศิลปะสุดยอด มันเป็นธรรมะศิลปะ ศิลปะธรรมะ ที่มีใจคอปกติ ไม่หวั่นไหว หรือจะพูดในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นหมอ จะผ่าตัดไอ้คนที่เราเกลียดน้ำหน้าหรือศัตรูนี่ เราก็คงไม่ทำด้วยจิตใจทั้งหมด อะไรทำนองนั้น มันก็ไม่ถูกแล้ว เราต้องทำด้วยจิตใจทั้งหมด ซึ่งมีจิตใจว่างจากความเป็นศัตรู หรืออะไรทำนองนั้นเสีย อย่างนี้จะเรียกว่าศิลปะหรือเลยศิลปะก็แล้วแต่เรียก เป็นหน้าที่ชนิดหนึ่งเหมือนกัน จะต้องมีกันทุกคน ทำงานหน้าที่ตามปกติ แล้วก็ทำงานชนิดศิลปะ ทำงานสุดยอดที่ยิ่งไปกว่าศิลปะ ฉะนั้นจึงอยากจะขอยืนยันว่าไอ้เรื่องจิตว่างนั้นน่ะมีเป็นประโยชน์ ในการที่จะให้ทำงานชนิดที่คนธรรมดาทำไม่ได้ หรือชนิดที่จิตธรรมดามันทำไม่ได้ จิตของคนธรรมดาสามัญทั่วไปมันต้องมีการเห็นแก่ตัวไม่มากก็น้อยอย่างนั้นอย่างนี้ การบวชทีหนึ่งถ้าศึกษาให้รู้เรื่องจิตว่าง แล้วก็ปฎิบัติอยู่เป็นประจำจนกว่าจะสึก ให้มันสุดสามารถนี่มันก็ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำยาก ไม่ตั้งใจจริงๆ ก็ทำไม่ได้ พระเณรสมัยนี้ก็เหลวแหลกมาก ไม่สนใจบทเรียนอย่างนี้ เรื่องอนัตตา เรื่องธาตุ เรื่องอะไรอย่างนี้ไม่ค่อยสนใจ เอาเป็นว่าเมื่อเราไม่สามารถจะทำให้ดีที่สุดในการศึกษา ในการรู้อะไรเวลาสั้นอย่างนี้ ต่อไปก็ศึกษาต่อ แม้สึกออกไปแล้วมันก็ได้เค้าเงื่อนไปแล้วจากเมื่อบวชอยู่นี่ เอาไปศึกษาต่อตลอดเวลาที่มันมีเวลาว่าง อย่าทำอะไรจนไม่มีเวลาว่างสำหรับธรรมะเสียเลย วันหนึ่งก็ควรมีเวลาสักห้านาที สิบนาที หรือเดือนหนึ่งก็ควรมีเวลาสักวันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่งมีเวลาสักวันหนึ่ง เดือนหนึ่งก็มีตั้ง ๔ วัน สำหรับศึกษาปฎิบัติเพิ่มเติมในเรื่องการทำจิตให้เป็นจิตที่ยิ่งที่สูง เรื่องจิตว่างนี้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็ทำหน้าที่ ๓ ประเภทนั้นให้ดียิ่งขึ้นไป หน้าที่การงานธรรมดา แล้วก็หน้าที่ศิลปะ งานศิลปะ แล้วก็งานสูงสุดทางจิตทางวิญญาณ เพื่อความพ้นกิเลส ไปศึกษาเพิ่มเติม เดี๋ยวนี้นับว่าโชคดีมากกว่าสมัยก่อนหลายร้อยเท่า เพราะสมัยก่อนมันไม่มีหนังสือจะอ่าน แต่สมัยนี้มันมีหนังสือที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้ พอที่จะอ่านได้ ก็ไปอ่านเอาเอง ศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง สรุปความแล้วก็ให้ได้เครื่องมืออันหนึ่งซึ่งใช้แก้ปัญหาได้หมดไม่ว่าปัญหาอะไร โลกนี้หรือโลกไหนก็ตามใจ ธรรมะข้อนี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาได้หมด เมื่อเราทำให้การบวชมันเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ก็นับว่าได้ผลดีที่สุด หรือว่าได้พยายามดีที่สุดแล้วที่มนุษย์ควรจะพยายาม แล้วมันก็ต้องได้ผล ทีนี้ก็อยากจะบอกต่อไปข้อหนึ่งถึงข้อที่ว่าเมื่อเป็นฆราวาสแล้วมันก็ต้องมีการงานอย่างนั้น สามประเภทอย่างที่ว่านั้น ทีนี้ก็มีการงาน อย่าให้การงานนี้มันเป็นความทุกข์ขึ้นมา อย่าให้การงานกลายเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ขึ้นมา เหมือนกับคนโง่ๆ นี่ขออภัย ต้องใช้คำหยาบๆ มันประหยัดเวลา คนโดยมากนั้นการงานเป็นนรก การงานทำให้เขากลุ้มใจ หม่นหมองใจทั้งวันทั้งคืน หนักเข้ามันก็เป็นโรคเส้นประสาทหรือมีความเคยชินที่จะเป็นโรคเส้นประสาท มันก็เลยเป็นการทนทรมานไปด้วยการงานนั้น แม้จะได้เงินได้ผลตอบแทนอะไรมา ถ้าจิตมันมีลักษณะเป็นโรคประสาทแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งรวยยิ่งเป็นเศรษฐีมันก็ยิ่งเป็นโรคเส้นประสาท เหมือนกับตกนรกชนิดหนึ่งจนตลอดชีวิตเพราะการงานนั่นเอง ฉะนั้นเราควรจะทำให้การงานนั้นน่ะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มันทำได้ มันมีหลักเกณฑ์อย่างนั้นอยู่แล้ว มีอยู่สองข้อ คือให้การงานนั้นน่ะมันเป็นการปฎิบัติธรรมนี่ข้อหนึ่ง และข้อสองให้การงานนั้นมันเป็นบุญกุศลไปในตัวของมัน ถ้าการงานเป็นการปฏิบัติธรรมก็หมายความว่าเราจะต้องมีสติสัมปชัญญะนี่ หรือทำการงานด้วยจิตว่างนั้นน่ะ มันจะเป็นการปฎิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปทุกทีๆ เพราะว่าการงานทุกชนิดมันขึ้นอยู่กับสติสัมปชัญญะทั้งนั้น ไม่ว่าในแง่ไหน ก็ทำให้มันมีสติสัมปชัญญะมากขึ้นทุกที มีสติสัมปชัญญะในการที่จะทำ แล้วก็ในการที่จะต่อสู้อุปสรรค อดกลั้นอดทน บังคับตัวเองให้ได้ เช่นว่ามีอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือว่าต้องมีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ในการปฏิบัติงาน การทำงานนั้นจึงจะได้ผลดี ฉะนั้นไอ้การงานจะเป็นการปฎิบัติธรรมไปทุกกระเบียดนิ้วเลย ขอให้ทำงานด้วยสติสัมปชัญญะ คือให้มีจิตว่าง แม้แต่ไปส้วม ไปถ่ายอุจจาระ ไปอาบน้ำอะไรก็ตาม มันเป็นการงานที่ทำด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็เลยเป็นการปฏิบัติธรรมไปหมด ถ้าการงานเป็นการปฎิบัติธรรมอย่างนี้ การงานนั้นมันก็เป็นไปเพื่อนิพพานในวาระสุดท้ายอยู่ในตัวมันเอง อยู่ในตัวการงานนั้น รายละเอียดไปหาอ่านดูจากหนังสือบางเล่ม วันนี้ก็ยืนยันแต่หัวข้อว่าจงทำการงานให้เป็นการปฏิบัติธรรมไปทุกกระเบียดนิ้ว แล้วข้อที่ว่าให้การงานมันเป็นบุญกุศลอยู่ในตัวทุกกระเบียดนิ้ว หรือว่าทำการงานด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัวเสมอ มันจะเป็นการช่วยผู้อื่น อย่างเป็นหมอ บางคนมันก็เป็นคนค้ากำไรตามธรรมดา หรือว่าเป็นหมอบางคนมันก็ด้วยจิตใจส่วนหนึ่งที่จะปฎิบัติหน้าที่ของมนุษย์เพื่อมนุษย์ อย่างนี้มันก็ได้บุญ มันทำลายความเห็นแก่ตัวเมื่อไร มันเป็นได้บุญเมื่อนั้น ทีนี้เรามันถึงกับช่วยเพื่อนมนุษย์ นี่มันก็ได้บุญอย่างยิ่ง ถ้าพูดว่าช่วยชีวิตมันก็ได้บุญสูงสุดในทางฝ่ายชีวิต ฝ่ายวัตถุ ให้เขารักชีวิตอยู่สำหรับเป็นประโยชน์ต่อไป หรือถ้าสามารถมากไปกว่านั้น เหมือนกับหมอบางคนก็ยังใช้โอกาสนั้นทำให้คนไข้รู้จักธรรมะ รู้จักพระเจ้า เหมือนที่พวกหมอมิชชันนารีคริสเตียนเขาทำอยู่ แล้วมันยิ่งได้บุญมากขึ้นไปอีก เพราะทำแสงสว่างให้แก่คนไข้ ซึ่งหมอไทยๆ เรา เขาไม่ค่อยจะทำไม่ค่อยฉวยโอกาสนี้ทำ เพราะไม่ได้รับการอบรมมาเหมือนกับหมอพวกนั้น แต่ว่าในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทนี่ควรจะทำอย่างยิ่ง แล้วมันจะเป็นผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย คือหมอนั้นก็เหมือนกับเป็นผู้เทศน์ผู้สอนไปในตัว แล้วคนไข้มันก็ได้รับความรู้ธรรมะในขณะนั้น มันก็มีจิตใจดี มันจะมีประโยชน์แม้แก่โรคภัยไข้เจ็บนั้นน่ะ คือมันจะหายได้ง่าย หายโดยเร็ว ฉะนั้นไอ้หมอนั้นเลยได้บุญ มันเป็นพระไปในตัว นี่เรียกว่าการปฎิบัติหน้าที่นั้น มันเป็นการปฎิบัติธรรมเพื่อไปนิพพานนี่ส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งมันเป็นการได้บุญได้กุศลอยู่ในโลกนี้ในเวลานี้ทันทีเลย นี่อยู่อีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นออกไปนี้ก็ขอให้ทำหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์สูงสุดสองประการ คือมันเป็นการปฎิบัติธรรมอยู่ในตัว และมันเป็นการเพิ่มบุญเพิ่มกุศลอยู่ในตัว และไม่ต้องเสียใจว่าเราต้องสึก หรือเราไม่ได้บวช ไม่ได้อะไร ที่จริงอยากจะยืนยันว่าถ้าทำได้อย่างนี้มันดีกว่าพระเณรที่กำลังบวชอยู่เป็นฝูงๆ อยู่ด้วยซ้ำไป แม้พระเณรในวัดนี้ก็ยังมีคนประมาท มีผู้ประมาท ผู้อยู่ด้วยความประมาท นี่ถ้าฆราวาสเขาทำได้อย่างว่านี้ก็ดีกว่าพระเณรเหล่านี้ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะกลับตัวกันสักที จะเลิกเป็นคนประมาทกันเสียที สรุปความว่าให้ทำงานหน้าที่ของตนๆ เพื่อประโยชน์สองประการคือ เป็นการปฎิบัติธรรมะอยู่ในตัว เป็นการได้บุญกุศลเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งอยู่ทุกๆ ครั้งที่ทำการงานนั้นๆ ก็ขอให้ทำด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยธรรมะ คือจิตว่างนั่นเอง ไปแจกหน้าที่การงานอะไรเอาดูเองและก็ทำให้มันเหมาะสมกับระดับของการงาน เรื่องจิตว่างนี้ไปหาอ่านเอาจากหนังสือเรื่องจิตว่าง บาลีเขาเรียกว่าจิตที่เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็ไม่มีตัวกูของกู จิตนั้นคือจิตว่าง ถ้าเรียกอย่างกว้างๆ ยิ่งกว่านั้นไปอีกก็เรียกว่าความไม่ประมาท จิตที่มีสติสัมปชัญญะคือจิตที่ไม่ประมาท ฉะนั้นทำอะไรอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก็คือทำอยู่ด้วยจิตว่าง ทีนี้เขาพูดให้มันชัดเป็นภาษาปรมัตถ์ลึกซึ้ง ก็ว่าจิตเดิมแท้บ้าง จิตแล้วแต่พวกไหนเขาอยากจะเรียกอย่างไร อย่างพวกเซนเขาเรียกจิตเดิมแท้ นี่ก็หมายถึงจิตที่ไม่มีกิเลส เพราะว่าจิตก่อนนี้มันไม่มีกิเลส กิเลสเพิ่งมีเพิ่งเกิดเพิ่งเจริญ จิตเดิมแท้ก็คือไม่มีกิเลส จิตก่อนที่จะโง่ ก่อนที่จะมาหลงด้วยเหยื่อของกิเลส นั่นคือจิตเดิมแท้ นี่เรียกว่าเคล็ดลับหรือว่าความลับที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์จะต้องเข้าถึงของการบวชครั้งหนึ่ง ขอให้ได้เข้าถึงสิ่งนี้ เมื่อรู้ความมุ่งหมายนี้แล้วก็กระทำไปด้วยธรรมะต่างๆ ที่มันเป็นเพียงเครื่องมือ สำหรับฆราวาสแล้วก็ขอให้ขึ้นใจอยู่ด้วยธรรมะของฆราวาสที่เรียกว่าสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ หาคำอธิบายละเอียดได้ในหนังสือเรื่องนั้น สรุปความแล้วต้องมีสัจจะลงไปในความเป็นมนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่ดีที่จริง แล้วก็บังคับตัวเองนี่เรียกว่าทมะ เพื่อให้มันได้อย่างนั้น แล้วมันสำเร็จได้ด้วยขันตีคือความอดทน ทีนี้เพื่อให้มันทนได้สม่ำเสมอไปก็ต้องมีรูรั่วระบายสิ่งที่เป็นข้าศึกนั้นน่ะออกอยู่เป็นประจำ อย่าไปเพิ่มมันเข้าไอ้สิ่งที่เป็นข้าศึก ก็มีการกระทำที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำตามแบบของพุทธบริษัท มันก็เป็นฆราวาสที่มีสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี้เป็นเครื่องมือให้ชนะหมดทั้งโลกนี้และโลกอื่น เรื่องละความชั่วก็ใช้ ๔ ข้อนี้ จะสะสมทรัพย์สมบัติบุญกุศลความดีก็ใช้ ๔ ข้อนี้ แม้แต่จะละกิเลสเพื่อไปนิพพานมันก็ ๔ ข้อนี้แหละ เพราะว่าความหมายมันขยายได้ไม่มีที่สิ้นสุด จาคะมันละกิเลสมันก็เป็นนิพพาน ถ้าสัจจะมุ่งหมายพระนิพพานมันก็นำไปสู่นิพพาน ทมะ ขันตี มันก็เป็นอุปกรณ์ นี่เรียกว่าเป็นธรรมะเครื่องมือวิเศษที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฆราวาส เขาก็ไม่ค่อยสนใจกัน เราก็ไม่ต้องไปทำตามเขา จะบวชวัดนี้ มีธรรมะอีก ๔ ข้อที่เขียนไว้ที่รูปปั้นอวโลกิเตศวร มันก็เป็นธรรมะรวมสำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลก สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี คล้องจองกันดี สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี สุทธิคือความถูกต้องความบริสุทธิ์ ความไม่มีความชั่ว ความลับนี่เรียกว่าสุทธิ เราต้องเป็นคนอย่างนั้น ปัญญา ต้องมีปัญญารอบรู้ ถ้ามีสุทธิแล้วปัญญานั้นก็ไม่เล่นตลก ไม่มีสุทธิแล้วปัญญามันโกงได้ มันเล่นตลกได้ ปัญญานี้ก็ไม่เล่นตลก แล้วก็เพียงพอสำหรับสิ่งที่จะรู้ สิ่งที่จะต้องรู้ ข้อที่สามเมตตา นี่ต้องสร้างความเป็นมิตร เป็นมิตรภาพแก่ทุกสิ่งที่มีชีวิต อย่าว่าถึงแก่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องรู้ ความเป็นมิตรแก่สัตว์เดรัจฉาน สมัยนี้อยากจะพูดเลยไปถึงว่าแม้แต่ต้นไม้ที่มีชีวิต ก็จงทำความเป็นมิตรกับมันด้วย ไม่ใช่ว่าเพื่อประโยชน์แก่การสงวนป่าเท่านั้นไม่ใช่ เพื่อประโยชน์กับมันก็เป็นสิ่งมีชีวิตแล้วมันก็อยากจะมีชีวิต อยากจะอยู่รอด มีหนังสืออะไรพิมพ์ออกมา แล้วก็หนังสือบางกอกเวิลด์มันถ่ายทอดออกมา ที่การพิสูจน์ครั้งสุดท้ายนี้ว่า ไอ้ต้นไม้นี้มีความรู้สึก มี conscious ไม่ใช่ชีวิตล้วนๆ มี conscious รู้ดี รู้ชั่ว รู้ตัว รู้อะไร สามารถรู้กันได้แต่ในระยะไกล เป็น ๕ ไมล์ ๑๐ ไมล์ ไปหาอ่านดู มันยิ่งสนับสนุนไอ้ความคิดของคนโบราณที่ว่าต้นไม้มันก็มีความรู้สึก ฉะนั้นเราก็มีหลักสั้นๆ ว่า เป็นมิตรแก่ทุกชีวิตนี่เรียกว่าเมตตา ข้อสุดท้ายเรียกว่าขันตี นี้ต้องมีแน่ ต้องมีในทุกกรณี แม้แต่ทำอยู่คนเดียวก็ต้องอดทน ทำให้สำเร็จ ยิ่งทำกับคนอื่น บุคคลที่สองที่สามแล้วก็ยิ่งจะต้องมีความอดทน ไม่งั้นมันก็ล้มละลาย สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี ๔ อย่างนี้เป็นธรรมะที่จารึกไว้ที่เสา ำกับคนอื่นสำหรับแจกทุกคนที่เขามาเยี่ยมวัดนี้ นี่เรียกว่าธรรมะสำหรับไปช่วยตลอดชีวิต บวชทีหนึ่งให้แจ่มแจ้งในสิ่งเหล่านี้ ทีนี้ก็ทำให้สำเร็จไปตามความมุ่งหมายที่ถูกที่ควร เดี๋ยวนี้ก็อายุมากพอจะรู้อะไรแล้ว ถ้าสำหรับคนหนุ่มแท้ๆ ยังอะไรก็ตั้งต้นกันไปตั้งแต่เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เรื่องมิตรสหายอย่างที่ว่านี้ ทีนี้เราก็ได้ทำมาตั้งครึ่งตั้งค่อนแล้ว ก็ทำต่อไปให้มันดี แล้วก็ไม่ให้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหลอกลวงเรา มีทรัพย์สมบัติ ก็เพื่อส่งเสริมในสิ่งสูงสุดของมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อลุ่มหลง มีเกียรติยศก็ต้องเกียรติที่บริสุทธิ์ส่งเสริมเรื่องสูงสุดของมนุษย์ มีพวกพ้องมิตรสหายก็ช่วยกันส่งเสริมความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ในโลกนี้ให้มันดี อย่างนี้ก็ใช้ได้ ชนะโลกนี้เรียบร้อยหมดและชนะโลกอื่น จากโลกนี้เรียบร้อยหมด มันนำไปสู่ความอยู่เหนือโลก และนี่คือพร ขอให้พยายามที่จะให้เป็นขึ้นมาจริงๆ และอยู่แต่เนื้อแต่ตัว ทุกเวลา ทุกทิพาราตรีและก็เป็นผู้เจริญอยู่ด้วยพรอันนี้ ข้อสุดท้ายเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ ก็ขอว่าอย่าลืมอย่าประมาท พยายามติดต่อกับวัดวาอารามที่จะช่วยความจำอันนี้ไว้อย่าให้เลือนไปได้ สิ่งที่จะช่วยให้ไม่ลืม ไว้ให้มี บาตร จีวร นี่ก็วิเศษ เก็บไว้กันลืม ไว้ขู่ตัวเอง ไว้อบรมลูกหลานให้มันรู้จักศาสนา มันดีกว่ารูปถ่าย สังเกตดูแล้วมันดีกว่ารูปถ่าย บาตร จีวร นี้มันศักดิ์สิทธิ์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ครอบงำจิตใจให้ไม่ลืม ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เอาไปไว้ เก็บไว้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์อันหนึ่งในห้องบูชา นี้ก็มีประโยชน์แน่ ในที่สุดนี้ก็ขอแสดงความหวัง พร้อมกับการให้พรนี้ว่าขอให้สิ่งที่เราพูดกันนี้มันเป็นไปตามที่ต้องการ และขอให้ได้รับประโยชน์สมตามนั้น มีความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานอยู่ จนถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่มนุษย์เราจะพึงได้พึงถึง ขอคุณพระรัตนตรัยดลบันดาลให้ได้รับความเจริญก้าวหน้านี้ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ