แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้า นั่งราบ ฟังกันเสียหน่อยก่อน นั่ง นั่งพนมมือฟังอย่างเต็มที่ คือต้องทำในใจให้ถูกต้องตามเรื่องของการลาสิกขาบท เราไม่ต้องทำการลาสิกขาบทในโบสถ์หรือว่าในที่ประชุมสงฆ์อะไรก็ได้ เพราะว่ามันไม่เป็นสังฆกรรม มันไม่ใช่สังฆกรรม มันเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคล ฉะนั้นจึงไม่ต้องทำในโบสถ์หรือไม่ต้องประชุมสงฆ์ก็ได้ ให้เข้าใจเสียให้ถูกต้อง ไม่เหมือนกับการบวช นั่นมันเนื่องด้วยสงฆ์ มันต้องอยู่ในความรับรู้ของสงฆ์ตลอดไป ฉะนั้นจึงต้องกระทำในที่ประชุมสงฆ์ ส่วนอันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลจะลาออกไป รู้ได้ด้วยการเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น มันก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเป็นสังฆกรรม ดังนั้นท่านจึงไม่บัญญัติไว้เป็นสังฆกรรม แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ทำด้วยจิตใจ ฉะนั้นเราก็ทำให้ถูกต้อง ในส่วนวินัยคือมีจิตใจที่ขอลาสิกขาบทอย่างภิกษุ ไปเป็นผู้มีสิกขาบทอย่างฆราวาส มีจิตใจเป็นอย่างนั้นก็ถูกต้องตามวินัย
แล้วก็รู้ว่าเรากล่าวคำลาสิกขาหรือการลาสิกขานี้ก็ตาม ไม่ใช่ลาหมด ไม่ใช่ลาหมดจากศาสนา ไม่ได้ลาหมดจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทุกอย่างยังอยู่อย่างเดิม มันต้องมีจิตใจที่รู้ว่าเราไม่ได้บอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าบอกคืนพระศาสนา แจ้งความประสงค์แต่เพียงว่าจะเปลี่ยนสิกขาบทอย่างภิกษุ ไปเป็นผู้มีสิกขาบทอย่างอุบาสกผู้ครองเรือนเท่านั้นเอง ถ้าทำในใจไม่ถูกต้อง หรือปล่อยไปตามบุญตามกรรม มันเลยเลื่อนลอยไป อาจจะรู้สึกว่าเลิกกันที ตั้งต้นกันใหม่ มันก็ผิด มันไม่ใช่เลิกกันที มันเปลี่ยนของเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น เรื่องใหญ่คือศาสนา คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ไม่ได้เปลี่ยน รู้ไว้อย่างนั้น เปลี่ยนนิดเดียวคือสิกขาบทที่จะถือแค่นั้น จะถืออย่างอุบาสก ไม่ถืออย่างภิกษุ เมื่อกล่าวคำว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ออกไป ในใจก็ต้องรู้ ต้องเข้าใจถูกต้องว่าเราว่าอะไร มีความหมายเพียงเพียงไหน อย่างนี้มันจึงจะถูกต้องทั้งทางวินัยและทั้งทางธรรมะ
โดยสรุปทางวินัยคือว่าเรามันขอเปลี่ยนสิกขาบทด้วยจิตใจ ไม่ต้องมีการลังเลหรืออะไรเยื่อใยผูกพันอยู่ นั่นจึงจะเป็นการละ การลาสิกขาอย่างภิกษุ ลานี้ ลาแต่เพียงสิกขาอย่างภิกษุ ไม่ได้ลาหมด ก็ตั้งสรณาคม พูดถึงการลาสิกขา มันก็ครบโดยทวารทั้ง ๓ คือว่าใจนี่ ลาสิกขาอย่างภิกษุ ปากก็บอกในทางวจีกรรมว่า ขอบอกคืนสิกขาอย่างภิกษุ ที่ร่างกายทางกายกรรม มันก็แสดงออกด้วยการเปลี่ยนระบบการเป็น อยู่ นุ่งห่ม มันก็ครบ โดยการวาจา โดยกาย วาจา ใจ ให้รู้ความหมายของการกระทำนี้ โดยมีสติสัมปะชัญญะอยู่เสมอ นั่นเป็นใจความสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องจำไว้จนตลอดชีวิต ว่าทำอะไรต้องทำด้วยสติสัมปะชัญญะเสมอ ไม่ใช่ใจลอย เคลิ้ม ๆ ไป แล้วก็ทำไป หรือว่าทุกข์โศก หวาดกลัว งก ๆ เงิ่น ๆ ประหม่า นั้นไม่ถูก นั้นก็มันก็ไม่มีสติสัมปะชัญญะ
การบวชเข้ามาก็ต้องมีสติสัมปะชัญญะ การลาสิกขาบทออกไปก็ต้องมีสติสัมปะชัญญะ นี้ตลอดเวลาที่ยังเป็น ๆ อยู่ยังไม่ตายนี้ คนเราต้องอยู่ด้วยสติสัมปะชัญญะ ดังนั้นต้องสนใจกันให้มาก เช่นเดียวกับเมื่อบวช บวชเข้ามา บวชพรรษาหนึ่ง กี่พรรษาตามมาเพื่อฝึกความมีสติสัมปะชัญญะอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไปเป็น เป็นพื้นฐานสำหรับไปเป็นฆราวาสที่มีสติสัมปะชัญญะ นี่เราจึงทำให้มีสติสัมปะชัญญะ เมื่อบวช เมื่อลาสิกขา โดยเฉพาะวันนี้ก็กำลังจะลาสิกขา มันต้องทำด้วยสติสัมปะชัญญะ นี้เป็นธรรมเนียมของไทย ทำอะไรต้องตั้ง นะโม ก่อน
ฉะนั้นเราก็ต้องตั้ง นะโม ๓ หน ก่อนที่จะว่าคำลาสิกขา ไอ้การตั้งนะโมนั้นเอง มันเป็นเคล็ดที่ทำให้เรามีสติสัมปะชัญญะ ถ้ามันฟุ้งซ่านหรือประหม่านี่ พอตั้ง นะโม ขึ้น มันก็จะเริ่ม ๆ ปรกติ มีสติสัมปะชัญญะพอดี จึงทำในสิ่งที่ต้องการจะทำหลังจากนั้นไป กล่าวคืนสิกขาคือคำว่า สิกขัง ปัจจะ ขามิ เป็นต้น แล้วก็ตั้ง นะโม ๓ หน เพื่อว่าคำลา กล่าวคำลาสิกขา ด้วยสติสัมปะชัญญะให้ถูกต้องตามระเบียบ ตามวินัย ตามธรรม และทำอะไรก็ให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องประหม่า ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อเลื่อนลอย ให้มีสติสัมปะชัญญะ ไม่มีอะไรที่ฟุ้งซ่าน หรือกวัดแกว่ง อย่างนั้นเขาเรียกว่าใช้ไม่ได้ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ ถ้ามันจิตใจเลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน กวัดแกว่ง ประหม่า งกเงิ่น หรือโกรธ หรือกลัว หรืออะไรก็ตาม ใช้ไม่ได้ มันต้องใจคอปกติ นี่บอกให้รู้ แล้วก็ทำให้มันถูกตามนี้
แล้วตั้ง นะโม ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำลาสิกขาด้วยสติสัมปะชัญญะในการรู้ความหมาย สิกขัง ปัจจัก ขามิ ข้าพเจ้ากล่าวคืนสิกขา คีหิติ มัง ธาเรถะ จงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ ทีนี่เราว่า สิกขัง ปัจจัก ขามิ อย่างน้อยสัก ๓ หน ถ้าเราไม่พอใจ ยังไม่แน่ใจว่ามันเรียบร้อยถูกต้อง เราจะว่าอีกกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าเราแน่ใจ หรือพอใจว่าพอแล้ว เราก็กราบ เป็นการแสดงว่า เราว่าครบถูกต้องบริบูรณ์ เอาสิ, เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วทีนี้ก็ทำได้ แล้วต้องคุกเข่า ต้องว่า นะโม เข้ามาใกล้ ๆ นี้ดี พอกราบได้ พอกราบได้ พอลงกราบได้ ว่า นะโม ๓ ครั้ง (14:29:1-14:44:5 สวดมนต์) เอ้า, ว่า สิกขัง ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง (14:47:5-15:00:0 สวดมนต์) กราบ เอ้า, เข้ามาใกล้ ๆ เดี๋ยวนี้เราได้กล่าวคืนสิกขา บอกความจำนงที่ต้องการจะลาสิกขาจากภิกษุเป็นคฤหัสถ์ พร้อมด้วยความต้องการอย่างนั้น เป็นอันว่าเราไม่มีสิทธิที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้อย่างภิกษุอีกต่อไป ฉะนั้นเราจึงต้องไปเปลื้องเครื่องนุ่งห่มอย่าง (15:48:7-16:02:0 สนทนา ฟังไม่ชัด) ทีนี้ก็ต้องไปเปลื้องจีวร เปลี่ยนเป็นฆราวาสไปตรงที่ ๆ ตั้งใจไว้
ทีนี้ก็ขอศีล จะรับศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตามใจ ก็คุกเข่าขึ้น อาราธนาศีล คุกเข่าขึ้นอาราธนาศีลจะรับศีล ๕ หรือจะรับศีล ๘ ก็อาราธนาเอาตามชอบใจ (16:52:0-21:32:2 บทสวดมนต์) กราบ ทีนี้ก็นั่งฟังอีกที สักหน่อย ทีนี้เป็นเรื่องให้โอวาท ให้ศีล ให้พรผู้ลาสิกขาบท ลาสิกขาบท รับศีล ๘ นี้ก็ดี คือมันหายไปตามลำดับ นี่ก็ศีล ๘ ศีล ๕ เป็นผู้ที่ยังเข้มแข็งอยู่ เพราะว่าเรามันทำด้วยสติสัมปะชัญญะ อย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่ใช่ว่าลาสิกขาบทเพราะว่ามันร้อนรนด้วยจิตใจ จนบังคับตัวไม่อยู่ ทีนี้เรื่องทำวัตรนี่ก็ดี ยังจำได้ทุกตัว ยังว่าได้ถูกต้องทุกคำทุกตัวนี้ ดี อุตส่าห์จำไปเถิด บางคนเขาคิดว่าไม่มีเรื่องแล้ว ฆราวาส มันไม่ถูก ไอ้เรื่องที่มันพอจะจำไว้ได้ ก็ให้อุตส่าห์จำไว้ จะได้สอนเพื่อนกัน จะได้แนะนำเพื่อนกัน จะได้สอนลูกสอนหลานถ้ามี นั้นมันก็ดี ดีมากอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ไอ้ตัวนั้น
ตัวทำวัตร ตัวนั้นมันมีประโยชน์ มันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จำบาลีไว้ได้ มันก็เท่ากับฝึกความจำให้ดีอยู่จนตลอดชีวิต นั่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมันทำให้รู้ความหมายการทำวัตรที่เคยอธิบายกันแล้ว อธิบายกันเล่า เมื่อยังบวชอยู่ เกี่ยวกับการทำวัตรนั่น
ถ้าคนเรามันถือหลักการทำวัตรอยู่จนตลอดชีวิต มันก็ปลอดภัยตลอดชีวิตแหละ อุกาสะ วันทามิ ภันเต นี้ต้องเคารพไว้ เคารพทุกคนเลย ที่ดีกว่าเราก็เคารพไปอย่างหนึ่ง ที่เสมอกันกับเราก็เคารพไปอย่างหนึ่ง ที่ต่ำกว่าเราก็เคารพกันไปอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่ามันเอื้อเฟื้อ ไม่ดูถูก ไม่ดูหมิ่น ไม่ทำเล่นกับคนเหล่านั้น ก็เรียกว่าเคารพ แม้แต่กับหมากับแมวก็ต้องเคารพให้มันถูกต้อง อย่าไปทำหยาบคายกับมัน
นี่คนเรามันอยู่ได้ รอดตัวด้วยรู้จักเคารพ ให้ถูกตามกาลเทศะแก่บุคคล ฐานะ เมื่อสึกไปแล้วนาน ๆ อยู่ว่าง ๆ ก็มาท่องมันเล่นให้มันจำไว้ได้เสมอ อุกาสะ วันทามิ ภันเต ให้เราควรเคารพบุคคลที่ควรเคารพอยู่ตลอดเวลา รอบตัวเราที่ดีกว่าเรา เช่น พ่อแม่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เจ้านาย มันก็เคารพไว้แบบหนึ่ง ที่เสมอกันเพื่อนฝูงกันก็เคารพไปแบบหนึ่ง มันจะไม่เกิดเรื่อง ที่ต่ำกว่าเรา กระทั่งถึงสัตว์ก็เคารพไปอีกแบบหนึ่ง มันก็ไม่เกิดเรื่อง มันมีแต่คนรักรอบด้าน มันศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้น ในโบสถ์ทำวัตรนั่นศักดิ์สิทธิ์
ถัดมาข้อที่ ๒ มันว่า สพฺพํ อปฺปราคํ ธมฺม ฐเล ภันเต นี่มันความศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง ต้องรู้จักขอโทษและอดโทษมันเรื่อยไป
ถ้าเราขอโทษจิตใจมันก็เกลี้ยงเกลา สบาย คนอื่นเขามาขอโทษเรา เราก็ต้องอภัยโทษเขา อย่าให้มันมีสิ่งที่ไม่ดีติดอยู่ในใจ ดังนั้นเราพยายามเป็นคนที่ขอโทษผู้อื่น และอดโทษให้ผู้อื่นอยู่เสมอจนเป็นนิสัย มันก็มีความสุข มีความเจริญอย่างลึกซึ้ง
ทีนี้เรื่องที่ ๓ ภยากัตตํ ปุญญํ สารนํ โมริสัตธํ อุตส่าห์จำไว้ให้ดี มันเป็นเรื่องแสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกัน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนส่วนบุญ ส่วนกุศล หรือความดี หรือไอ้วัตถุสิ่งของอะไรก็ตามใจ แก่กันและกันอยู่เสมอ คำพูดตรง ๆ นี้ มัน หมายถึงบุญ ขอแลกเปลี่ยนซึ่งส่วนบุญกันอยู่เสมอ ต่างคนต่างมากด้วยบุญ ไม่มีใครพร่อง ไอ้บุญนี้ยิ่งให้กัน มันยิ่งมาก ไม่หมด นี้เรียกว่าแบ่งปันส่วนบุญ แลกเปลี่ยนส่วนบุญกันอยู่เสมอกับคนทุกคน เพียงเท่านี้มันก็รอดตัวแล้ว
คนเรา ๓ ข้อนี้ เรียกว่าทำวัตร ทีนี้คนมันโง่ พอสึกแล้วมันก็แล้วกัน เมื่อยังบวชอยู่มันก็ยังว่าไม่ได้ มันไม่เอาใจใส่ สึกแล้วมันจะเอาใจใส่อะไร ในเมื่อเธอยังเอาใจใส่ดีอยู่ ก็ยังว่าได้ด้วยเอง ด้วยตนเองตามลำพัง จำได้อยู่ อุตส่าห์จำไว้ อุตส่าห์ท่องไว้บ่อย ๆ แทนไอ้ร้องเพลงบ้า ๆ บอ ๆ ไอ้เพลงที่เขาร้องกันโดยมาก เดี๋ยวมันเพลงก็บ้า ๆ บอ ๆ ทั้งนั้น ไม่ร้องก็ยิ่งดี นี่เราก็ว่าไอ้บทบาลีที่ลึกซึ้ง ที่ไพเราะ ที่มีประโยชน์นี้แทน แทนการร้องเพลง ไม่ให้ใครได้ยินก็ได้ ถึงใครได้ยินก็ช่างหัวมัน มันจะหัวเราะเยาะเอาก็ช่างหัวมันสิ ถ้ามันมาหัวเราะเยาะพวกเรา มันมาแสดงความโง่ ก็สงสารมันเถิด
นี่เรื่องมาตามลำดับอย่างนี้ ทำวัตรนี้เป็นหลักให้คนเราผูกพันซึ่งกันและกัน รอบด้าน ไม่ว่าดีกว่า หรือเสมอกัน หรือเลวกว่า ผูกพันกันดีทั้งนั้น ทีนี้เรื่องโอวาทผู้ลาสิกขา รายละเอียดไปอ่านเอาเองจากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องนั้น มันมีอยู่ละเอียดแล้ว ก็สรุปใจความให้มันสั้นที่สุดก็คือว่า
เดี๋ยวนี้ มันก็ตั้งต้นใหม่ ต้องรับผิดชอบเต็มที่ เมื่อไม่ได้บวชนั้น ทำอะไรผิดไปบ้างเขาให้อภัย เพราะว่าคนมันไม่ได้บวช เดี๋ยวนี้คนมันบวชแล้ว เรียนแล้ว อะไรแล้ว ถ้าทำผิดพลาด เขาไม่ให้อภัย แล้วก็ยังจะดูถูกดูหมิ่น หรือเขาจะ อาจจะด่า จะว่าอะไรก็ได้ ว่ามันบวชแล้ว มันยังทำไม่ ไม่เหมาะไม่สมอีก นี่ข้อสำคัญของผู้ที่บวชแล้ว ต้องรับผิดชอบเต็มที่ถึงขนาดนี้ อย่ามีอะไรให้ผิดพลาด ที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่บวชแล้ว อันจะเป็นเหตุให้คนทั้งหลายเขาว่าได้ นั่นแหละถือไว้ให้แม่น ให้เต็มที่จะไม่ทำอะไรผิดพลาดเป็นอันขาด
ที่แล้วมาแต่หนหลัง ก็เป็นอันแล้วกันไป ผิด ๆ พลาด ๆ ก็มี ถูก ๆก็มี ผิด ๆ ถูก ๆ มันก็มี แต่เดี๋ยวนี้เธอต้องระวังให้มันถูก ถูกล้วน เพราะรู้แล้ว แล้วก็เลยบังคับตัวเองให้มันถูก จึงคล้าย ๆ กับว่าตั้งต้นใหม่ เมื่ออยู่ที่บ้านก็เป็นอย่างหนึ่ง พอบวชเข้ามาเหมือนเกิดใหม่อีกแบบหนึ่ง พอสึกออกไปทีนี้ก็เหมือนเกิดใหม่อีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่กลับไปสู่สภาพเดิม เกิดใหม่เป็นอุบาสกที่ดี ที่ตั้งต้นดี นับ ๑ ๒ ๓ ๔ กันใหม่ มีแต่เรื่องถูก เรื่องดี เรื่องบวก ไม่มีเรื่องลบ ไม่มีเรื่องผิด ตั้งปรารถนาไว้เสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่าเรา ต่อไปนี้จะมีแต่เรื่องถูกคือเรื่องบวก เป็นบวกหนึ่ง บวกสอง บวกสาม เรื่อยไป อย่าให้มันมีลบ ก็เท่านั้นแหละ มีเท่านั้นแหละ คน ๆ หนึ่ง เพราะว่ามัน มันไม่ ไม่ไปไหน มันไปแต่ดียิ่งขึ้น ๆ จนถึงสูงสุด จนถึงที่สุดที่มนุษย์จะ จะดีได้ แต่ถ้าลืมเสีย แล้วมันก็เลือนไปหมด หรือไม่เข้าใจ ไม่รู้ ไม่ยอมรับ เอาหลักการอันนี้ มันก็ไม่มีอะไรเหลือ มันก็ไปเหมือนเดิมหรือเลวกว่าเดิมก็ได้
บางคนบวชแล้ว มันก็มา บวชแล้วมีเท่านี้เอง ไม่มีอะไรวิเศษวิโสอะไรที่ไหน เรื่องบ้า ๆ บอ ๆ กลับออกไป มันกินเหล้าใหญ่ทีนี้ เป็นเปรียญ ๙ ประโยค มันก็ไปกินเหล้าจนเป็นคนขี้เมา บวชแล้วเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่า กว่านี้ กลับออกไป ไปกิน กินเหล้าเป็นคนขี้เมา มีหลายคน เป็นเจ้าคุณก็มี เป็นเจ้าประโยค สึกออกไปก็กินเหล้า เป็นนักเลงเหล้าเต็มที่ เหม็นหึ่งมาแต่ไกล ฉะนั้นเราต้องไม่เป็นอย่างนั้น บวชแล้วรู้ว่าต้องทำอะไร สึกออกไปก็ต้องทำอย่างนั้น ถึงจะเรียกว่ามันเป็นการตั้งต้นชีวิตใหม่ เหมือนเกิดใหม่อีกแบบหนึ่ง คือเกิดเป็นอุบาสกที่ดี ก่อนบวชก็ไม่ได้เป็นอุบาสกที่ดี เป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นเด็ก ๆ ที่ดี กำลังเล่าเรียน นี่บวชเข้ามาก็เกิดใหม่เป็นพระ ทิดนี้ หมดจากความเป็นพระเกิดใหม่ไปเป็นอุบาสกที่ดี การเป็นอุบาสกที่ดีนี้ ไม่น่ารังเกียจนะ อุบาสกบ้า ๆ บอ ๆ มันน่ารังเกียจ มันเงอะงะ ๆ อุบาสกที่ดี น่าดู มีแต่ทำถูกเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับผู้อื่น ไม่มีอะไรที่จะน่าเกลียด ๆ น่าดูหมิ่น เรียกว่าเป็นอุบาสกที่ดี มันแปลว่าผู้นั่งใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ตลอดเวลา นั่นเขาเรียกว่าอุบาสก ทีนี้มันไม่รู้ มันก็ทำตามที่ไม่รู้ มันก็เป็นเคอะคะ เงอะงะ บ้า ๆ บอ ๆ คุ้มดีคุ้มร้าย นี้จะไปโทษคำว่าอุบาสกก็ไม่ได้ มันไปโทษไอ้คนที่มันไม่รู้ ฉะนั้นเรามันรู้ ไปเป็นอุบาสกนั่งใกล้พระรัตนตรัยไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งชีวิต มีชีวิตอยู่มากเข้ามันก็ยิ่งรู้ มันก็ยิ่งเป็นอุบาสกมากขึ้น จนกระทั่งมันเป็นพระอริยบุคคลไปก็ได้
ถ้าระวังยันภายหลัง อย่าให้มันหยุดอยู่กับที่ เอาล่ะ, แต่มันยังไกลนัก ยังไม่พูดถึงเรื่องนั้น พูดถึงแต่ว่าจะอยู่ในโลกกันในระยะนี้ที่จะเป็นฆราวาสที่ดีนี่ มันได้ตามที่เขากำหนดไว้ว่าฆราวาสที่ดีจะต้องมีอะไรบ้าง มีเขียนไว้ละเอียดในคำบรรยายที่เขาพิมพ์ ๆ กันอยู่ สรุปความแต่หัวข้อก็ว่าจะต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัว ต้องมีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว ต้องมีไมตรีความรักใคร่จากคนรอบด้านนั่นพอตัวเหมือนกัน ๓ อย่าง ทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่ง เกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่ง ไมตรีเมตตาอีกอย่างหนึ่ง
มันก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ ทำให้ทรัพย์มันมี ตามที่เขารู้ เขาสอนกันอยู่นั่น หลักธรรมะในศาสนานี่มันก็สอน เขาสอนคนละอย่างที่เราเรียนที่โรงเรียนรู้วิชาอาชีพ รู้วิธีหาเงิน แต่เขาไม่ค่อยได้สอนเรื่องใช้เงิน เรื่องประหยัด เรื่องไอ้มัธยัสถ์ เราต้องเอาเรื่องของฝ่ายศาสนานี่เข้าไปผนวก
ฆราวาสจะหาเงินอย่างไร จะต้องเก็บรักษาอย่างไร ใช้อย่างไร ต้องประหยัดอย่างไร ทางธรรมะ ทางศาสนาสอนดีกว่า แต่ที่ว่าจะไปประกอบอาชีพได้เงินมาอย่างไรนั้น ทางโลก ๆ เขาสอนดีกว่า ก็เลยเอามารวมกันเข้า ต้องหาทรัพย์ได้ แล้วก็มีทรัพย์ที่อยู่พอตัว แล้วทรัพย์นั้นก็หามาด้วยความถูกต้อง คือสุจริต มันก็ไม่มีอันตราย
ทรัพย์ที่มันหามาโดยทุจริตนั้นจะมีอันตราย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม โดยอ้อมคือมันทำให้คนนั้นเลวลงไป ๆ เดี๋ยวมันก็ไปทำผิดฉิบหายหมด นี่เรียกว่ามีทรัพย์พอตัว ก็เรียกว่าต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัว ไม่ใช่เป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าพอสมควรแก่อัตภาพ
ให้มีชื่อเสียงเกียรติยศพอตัว คือให้มีคนนับถือ อย่ามีทรัพย์แล้วไม่มีใครนับถือ เยอะแยะไปคนที่มั่งมีแต่ไม่มีใครนับถือ บางทีเกลียดน้ำหน้า ดูถูก ดูหมิ่น เพราะเขาทำผิดในข้อที่ว่าไม่ได้ทำตัวให้ดี เป็นที่น่านับถือ เราก็ทำให้เขานับถือ ให้มีเกียรติยศชื่อเสียงนี่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ทีนี้มันมีทั้งทรัพย์สมบัติ มีทั้งอำนาจวาสนา แต่ไม่มีใครรักโดยใจจริงก็มี เช่นว่าจะนับถือแล้วไม่รักก็มี นี้เอาชนะอันสุดท้ายคือให้เขารักให้จนได้ คนที่ดีกว่าเราก็รักเรา คนที่เสมอกับเราก็รักเรา คนที่เลวต่ำกว่าเราก็รักเรา แม้แต่หมา แมวก็รักเรา มันก็หมด เป็นผู้ที่มีความรักรอบด้าน นี้มันเป็นความสุขที่สุด ฉะนั้นให้จำว่ามันมีทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่ง มีเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่ง มีไมตรีเมตตารอบด้านนี่อย่างหนึ่ง เป็นจุดสูงสุดของฆราวาส ทีนี้ก็มันมีแต่เครื่องมือที่จะทำให้ได้ตามนั้น มีอยู่มากมายรายละเอียดก็ไปอ่านเอาอีก
ใจความมันสำคัญอยู่ที่คำ ๆ เดียวคือการบังคับตัวเอง เดี๋ยวนี้เรามันล้มละลายกันหมดเพราะไม่บังคับตัวเอง นับตั้งแต่ขี้เกียจทำการงาน ก็ไม่ไปบังคับตัวเอง หาเงินมาได้ก็ใช้สุรุ่ยสุร่ายหมด มันก็ไม่บังคับตัวเอง ละความชั่ว ละอบายมุขใด ๆ แม้แต่ละบุหรี่ก็ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น มันก็ไม่บังคับตัวเอง มันล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการไม่บังคับตัวเอง ไม่มีอะไรดี นี่บังคับตัวเองก็ต้องได้ สิ่งที่ต้องการก็ได้
ถ้าแจกเป็นสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ออกเป็น ไปเป็น ๔ อย่าง ที่เราก็เคยได้ยินได้ฟัง สัจจะให้มันจริงใจเข้าไป ทมะมันก็ข่มตัวเองให้ทำอย่างนั้นให้ได้ บังคับตัวเองให้ทำอย่างนั้นให้ได้ แล้วก็อดทน ขันตีคืออดทน ลำบากก็อดทน นานเท่านานก็อดทน จาคะอะไรไม่ควรจะมีอยู่ในตัวเราคือของเลว ๆ เอาออกเสีย ทำได้ อันสุดท้ายจะได้ที่ว่าความเจริญทางโลก ทรัพย์ ยศ ไมตรี เรื่องบุญกุศล เรื่องสอนนิพพาน มันก็ง่าย
ฉะนั้น เรามีทรัพย์ ยศ ไมตรี เป็น เป็นหลักฐาน เป็นปริญญา เพราะเราทำไว้แล้ว เท่ากับสอบไล่ได้ไม่ตก การศึกษาเล่าเรียนของเราก็คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ รวมกันแล้วคือบังคับตัวเองให้เล่าเรียน ให้ปฏิบัติ ให้ได้ผลของการปฏิบัติ ให้มีทรัพย์ ให้รู้จักจ่ายทรัพย์ ให้ทำทรัพย์ ให้มันเป็นประโยชน์ถึงที่สุด ให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ถึงที่สุด นี่ก็เรียกว่าฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส
บวชทีหนึ่งต้องรู้เรื่องนี้ดี แล้วต้องทำเรื่องนี้ต่อไปจนตลอดชีวิตให้ได้ ถ้าอย่างนั้นไม่มีประโยชน์ ป่วยการเสียผ้าเหลือง เสียเวลา ฉะนั้นเธอกำหนดจิตใจ ทบทวนอะไรทั้งหมดดูให้ดี ๆ ว่า บวชแล้วอย่างนี้ เรียนอะไรแล้ว จะต้องทำอะไรต่อไป เอาไปใช้ให้มีประโยชน์ในการมีชีวิตอยู่ในโลกนั่นแหละ นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมะ อยู่ให้ดี ให้ถูกต้องในโลก นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมะ ไม่ใช่ที่อื่น ไม่ใช่ ไม่ใช่ต้องมาบวชอยู่ในวัดตลอดเวลา ทำความถูกต้องอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดชีวิต นั่นคือประพฤติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มันสูงขึ้นเอง สูงขึ้นจนถึงสวรรค์ นิพพาน มรรค ผล นิพพาน
คนเขาคิดว่า ไอ้เรื่องฆราวาสก็เรื่องฆราวาส เรื่องธรรมะก็เรื่องธรรมะ อยู่คนละที เดี๋ยวนี้เราเอาเรื่องของชาว ชาวบ้านฆราวาสไปก่อน ธรรมะไว้ทีหลัง ไว้ต่อแก่ต่อเฒ่า คนนี้มันพูดผิด มันหลับตาพูด มันเป็นคนโง่ต่อธรรมะ
ธรรมะนั้น มันต้องมีกันมาตั้งแต่แรกคลอด ต้องมีความถูกต้องมาตั้งแต่แรกคลอด จนเป็นเด็ก จนเป็นหนุ่มเป็นสาว ไปเรื่อยไปจนตลอดชีวิต ความถูกต้องในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นั่นคือธรรมะ นี่ของสำคัญที่สุด ถ้าใครทำได้มันก็วิเศษที่สุด ประเสริฐที่สุด ธรรมะเป็นผู้คุ้มครองบุคคลนั้น อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับฆราวาส
ฉะนั้นขอให้ได้สิ่งนี้ไปในฐานะที่มันเป็นศีลเป็นพร ก็เรียกว่าให้ศีลให้พรคือให้ได้ธรรมะออกไป ไม่ใช่เพียงแต่ให้พรด้วยปาก ว่าให้สวัสดีใจมีชัยอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าว่ากันแต่ปาก ทั้งคนพูดทั้งคนฟังแล้วก็ไม่ได้อะไรแล้ว มันเป็นเรื่องเพ้อ ๆ ต้องพูดกันให้เข้าใจ แล้วต้องปฏิบัติให้ได้จริง ๆ เรื่อย ๆ ไป มันเป็นศีล เป็นพร
เป็นศีลก็แปลว่าเป็นปกติสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวาย เป็นพรก็คือดี วิเศษ ประเสริฐ รวมกันเป็นศีลเป็นพร มาจากการเป็นอยู่ด้วยธรรมะอย่างถูกต้อง นี่ขอให้เราได้ศีลได้พรชนิดนี้ไป ส่วนที่จะรดน้ำมนต์ชยันโตอะไรกันนั้น ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ทำกันมามากแล้ว ถ้าทำไปไม่มีความหมาย มันก็น่าหัวเราะ เป็นคนบ้า แต่ถ้าว่าเรารู้เรื่องนี้ เรื่องที่กำลังพูดนี้แล้ว มันไม่มีทางที่จะ จะถูกหัวเราะเยาะ แล้วมันจริง แล้วมันคุ้มได้ มันเป็นศีลเป็นพรที่มีอยู่ในเนื้อ ในตัว ในเลือด ถ้าจะทำพิธีรดน้ำมนต์ พรมน้ำมนต์ชยันโต มันก็ได้เหมือนกัน มันก็ไม่เสียหายอะไร มันไปช่วยตักเตือน บ้างในเบื้องต้น แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยพอ แล้วมันก็เลือนไปเสีย มันเป็นพิธี ส่วนที่เป็นพิธีรีตอง ส่วนของจริงนั้นมันอยู่ที่ธรรมะ ที่อยู่ ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ที่ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมะก็แล้วกัน
ใจความสั้น ๆ ที่จะให้โอวาทผู้ที่ลาสิกขาบทก็คืออย่างนี้ อะไรที่ดีก็รักษาไว้ ที่ได้เล่าเรียนมา ได้ทำมา เรื่อง เรื่องศีล เรื่องทำวัตรสวดมนต์ เรื่องอะไร ขอให้มันมีอยู่ ไปเป็นฆราวาสที่ดี มีทรัพย์ ยศ ไมตรี แล้วสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ก็มีเท่านั้นเอง แจกลูกออกไปเป็นการปฏิบัติไม่หวาดไม่ไหวจน จนกระทั่งตลอดชีวิต มีเยอะ
ที่จะพูดสักข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง ข้อสุดท้ายก็คือว่าอย่าลืม อย่าลืมเรื่องที่เคยบวช สิ่งอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ทำได้ต่อไป ให้เป็นผู้นำผู้อื่น ให้มีเครื่องเตือนใจ อย่าให้ลืมการที่ได้บวชแล้ว เช่น รูปถ่าย เป็นต้น ก็มีแล้ว ก็เอาไว้ดูว่า อย่าลืมว่าเคยบวชแล้ว แต่ยังมีที่ดีที่สุดกว่านั้นก็คือเรื่องจีวรอย่างนี้ บาตรหรือจีวรนี้ต้องถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตบรรพชิตได้มาโดยธรรมวินัย ไม่ใช่ซื้อมาจากร้านเจ๊ก ซื้อมาจากร้านเจ๊กแล้วมันไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าเอามาทำพิธีบวชถูกต้องตามธรรมตามวินัยแล้ว มันก็เหมือนกับของที่พระพุทธเจ้าให้ ฉะนั้นของที่พระพุทธเจ้าท่านให้เราเรื่องบาตร เรื่องจีวรนั้น เก็บไปไว้ดูด้วยความเคารพตักเตือนตัวเองนี้คงจะดีที่สุด ดีกว่ารูปถ่าย มีคนเขาทำกันอย่างนั้น ก็แนะให้ฟังต่อ ๆ กันมา
สรุปรวมความแล้วอะไรก็ได้ที่มันทำไม่ให้ลืมว่าในข้อที่เราบวชแล้ว แล้วเราละอาย ในเมื่อทำผิด ไม่สมกับเป็นผู้ที่บวชแล้ว นั่นแหละดี เอาล่ะ เมื่อจำข้อความเหล่านี้ได้ แล้วเอาไปปฏิบัติอยู่ มันก็เป็นการให้ศีลให้พรที่นี่ ในเวลานี้ ในเวลาสิกขาบทอย่างเต็มที่ แล้วก็มันเป็นศีลเป็นพรที่ยังมีจริงอยู่ตลอดชีวิตไปเลย นี่ขอให้เธอเป็นคนที่ไม่ประมาท มีหิริ มีโอตตัปปะ รู้จักกลัวบาป รู้จักละอายบาป และมั่นคงอยู่ในการประพฤติปฏิบัติตามที่รู้อยู่แล้วอย่างไร แล้วก็ให้เป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาด้วยความเชื่อ มีศรัทธา ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปฏิบัติธรรมะอยู่จนตลอดทุกทิภาราตรีกาลเทอญ กราบ นี่พรมน้ำมนต์ นี่ ให้กลับ ให้เป็นเครื่องขู่ตัวเองว่าได้บวชแล้ว นี่ให้คำสั่งสอน ไม่ใช่ให้กระดาษ ไม่ใช่ให้กระดาษนั้น แต่ว่าให้คำสั่งสอนที่มีอยู่ในนั้น ไปกันได้
ที่มา : โอวาทลาสิกขา คุณดนัย (ลูกพัศดี ประจวบ)