แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
(เสียงท่านพุทธทาสนำสวดมนต์และต่อมาน่าจะเป็นการประกอบพิธีบรรพชาสามเณร)
(นาทีที่ ๑๓:๐๐ ท่านพุทธทาสเริ่มบรรยาย)
เรา เอ่อ, ทำความเข้าใจบางอย่างกันก่อน เธอกล่าวคำเป็นภาษาบาลี แต่ก็ต้องรู้ความหมายว่าเรากล่าวนั้นหมายความว่าอย่างไร เธอกล่าวว่า มีความปรารถนาจะบรรพชาในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปรินิพพานนานแล้ว ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ๓ ครั้ง แล้วก็ขอบรรพชาอีก ๓ ครั้ง ก็ต้องรู้ว่าเราว่าอย่างนั้น ที่เราว่าเมื่อตะกี้นี้ ว่าเราแสดงตัวนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใคร่จะได้บรรพชาในธรรมวินัยนี้ เมื่อกล่าวคำขอบรรพชาตรงๆ ๓ ครั้ง นี้คือคำที่เราได้กล่าวไปแล้ว เราต้องรู้ความหมายและก็ต้องรับผิดชอบในการที่จะทำให้เหมาะสมกับการที่เรากล่าวนั้น แต่ความสำคัญก็คือขอบรรพชา ข้อแรกก็ต้องรู้ว่าบรรพชานั้นคืออะไร บรรพชาคือระเบียบปฏิบัติ ขูดเกลากิเลสอันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เพื่อให้เบาบาง จากกิเลส เพื่อให้หมดจากกิเลส ให้ได้รับความเป็นอยู่อย่างใหม่ ระบบปฏิบัตินั้นมีความสำคัญอยู่ว่า เว้นจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง ระเบียบวินัยอะไรของบรรพชิตมีอยู่สำหรับความเป็นสามเณร เราก็จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยนั้น เธอก็ต้องทำให้สมกับคำที่พูดเพื่อขอบรรพชา ต่อไปนี้เราจะต้องเว้นจากความเป็นฆราวาสทุกอย่างทุกประการ นี่ก็เห็นอยู่แล้วว่าจะไม่แต่งเนื้อแต่งตัวอย่างฆราวาส จะไม่มีจริตกิริยาอย่างฆราวาส จะไม่พูดไม่คิด ไม่ไม่ทำ อย่างฆราวาส ไม่ปรารถนาอย่างฆราวาส ก็หมดเกลี้ยงไปจากความเป็นฆราวาส นี่ก็คือบรรพชา แปลว่า ไปหมด เว้นหมดจากความเป็นฆราวาส มีระเบียบสิกขาบทใดๆ ที่เขาวางไว้สำหรับสามเณรจะพึงปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติ อย่างน้อยก็สิกขาบท ๑๐ และระเบียบวินัยประกอบต่างๆ อีกตามสมควร ระหว่างที่เราบวชนี้เราต้องประพฤติปฏิบัติตามระเบียบนี้ จึงจะได้ชื่อว่า บรรพชา ถ้ามันจะมีความเจ็บปวด ต้องอดกลั้นอดทนบ้าง เราก็ต้องเอาข้างอดกลั้นอดทน อย่าละทิ้ง อย่าทำให้ย่อหย่อน นี่จึงจะเป็นบรรพชา เรียกว่าบรรพชาคือระเบียบปฏิบัติ เว้นจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง มาปฏิบัติอยู่ตามระเบียบวินัยของบรรพชิต เพื่อจะขัดเกลา กาย วาจา ใจ ให้ถึงภาวะอย่างใหม่ซึ่งดีกว่าความเป็นฆราวาสมากมายนัก นี้คือตัวการบรรพชา
ทีนี้ก็ว่าประโยชน์อานิสงส์ของการบรรพชา ถ้าเราบรรพชากันจริงๆ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ก็ได้ประโยชน์ได้รับอานิสงส์ มากมายกว้างขวางเหลือที่จะกล่าว โดยรายละเอียดมากเกินกว่าที่จะกล่าว โดยย่อก็เธอ ตัวเธอเองผู้บวชจะได้รับความเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอย่างหนึ่งไปสู่อีกความเป็นอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ได้รู้สิ่งนั้นแล้วเราก็ได้รับผลจากสิ่งนั้น คือรู้จักชีวิตที่ดีกว่า ชีวิตที่มีความทุกข์น้อยกว่า แล้วเราก็เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตลอด ตลอดชีวิต ให้ให้เป็นชีวิตที่มีความทุกข์น้อย ให้มีประโยชน์มาก ให้อยู่อย่างเยือกเย็นในทุกๆสถานการณ์ เราจะได้อยู่อย่างเยือกเย็นในทุกๆสถานการณ์ นี่โดยสรุปที่ผู้บวชจะพึงได้รับ จะอยู่เป็นบรรพชิตหรือจะละความเป็นบรรพชิตไปสู่ความเป็นฆราวาสอีก สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีประโยชน์อย่างนี้
ทีนี้ถ้าเราบวชจริง ยังได้ประโยชน์อานิสงส์แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้น ใจความสำคัญก็คือทำให้ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้นนั้น ชอบใจในธรรมวินัยหรือในพระศาสนานี้ยิ่งขึ้น มีศรัทธามากขึ้น มีการปฏิบัติแล้วมีความรู้ในผลของการปฏิบัติมากขึ้น ข้อนั้นย่อมเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้นด้วย เราจึงเรียกว่า ไอ้บรรพชานี้เป็นการสนองพระคุณของผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะมีบิดามารดาเป็นประธานในหมู่ญาติทั้งหลาย ให้ญาติทั้งหลายเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุดยิ่งขึ้นไป ฉะนั้นเราก็ต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น อย่าให้ผิดหวัง เดี๋ยวนี้ประโยชน์อานิสงส์อีกข้อหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราบวชจริง มันก็จะเป็นการสืบอายุพระศาสนา พระศาสนาน่ะมันอยู่ได้เพราะมีคนบวช มีคนเรียน มีคนปฏิบัติ มีคนสอนสืบๆกันไป นี่เรียกว่าพระศาสนาก็อยู่ได้ ไม่สูญหายไป นี้เราก็บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ก็ทำให้ศาสนามีชีวิตอยู่จริง การบวชของเราก็กลายเป็นการสืบอายุพระศาสนาไว้ให้คนที่จะมาทีหลัง ไว้ในโลก ให้คนที่อยู่ในโลกทุกคนพลอยได้รับ อันนี้มัน มันกว้างขวางมาก ถ้าทำจริงคือ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะเป็นได้อย่างที่ว่าจริงเหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงมองประโยชน์อานิสงส์เหล่านี้แล้วก็เกิดกำลังใจ เข้มแข็ง กล้าหาญในการที่จะปฏิบัติบรรพชา เพราะว่าได้อานิสงส์เหลือที่จะกล่าว เรามุ่งหมายอานิสงส์เหล่านี้แล้วมันก็มีการเอาจริง เอาความเอาจริง เอา ตั้งใจจริง อะไรจริงแหละกับบรรพชาเพื่อได้อานิสงส์ ฉะนั้นขอให้ทำในใจไว้ถึงอานิสงส์เหล่านี้ เรียกว่า เป็นเครื่องช่วยกระตุ้นหรือเป็นกำลังใจในการบรรพชา อย่าฟุ้งซ่าน แต่ละวันละคืน อย่างฟุ้งซ่าน มองเห็นประโยชน์อันนี้อยู่เสมอ แล้วทำให้ดีเต็มที่
ทีนี้อีกข้อหนึ่งซึ่งควรจะพูดกันเดี๋ยวนี้ก็คือว่า ตัวบรรพชามีที่ตั้ง มีรากฐาน อยู่ที่คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็บอกแล้วเมื่อตะกี้ว่า ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เพราะนั้นเราก็ถือเอาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นน่ะเป็นฐานที่ตั้งของบรรพชา เพราะเราบวชอุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณของพระรัตนตรัยคือ ความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ แล้วก็สนใจที่จะมีความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ แม้จะไม่ถึงที่สุด เราก็ต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำให้มันมากได้ พยายามดูแลให้มีความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ นั่นน่ะ คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่นั่น แล้วก็มาอยู่ในจิตใจของเรา ทุกอย่างมันจะง่ายดายเป็นหมดแหละ การประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นของที่ไม่ยุ่งยากลำบากอะไร เมื่อเรามุ่งหมายพอกพูนอยู่แต่ในเรื่องของความสะอาด สว่าง สงบ ถือศีลให้ดี ปฏิบัติให้ดี เรียกว่าความสะอาด พิจารณาให้เห็นให้รู้อะไรมากขึ้น เรียกว่าความสว่าง และความปกติสุขแห่งจิตใจนั้นเราเรียกว่าความสงบ นี่ขอให้เธอรู้จักว่า พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นี้มันเป็นรากฐานของบรรพชา เป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงบรรพชา เหมือนแผ่นดินนี่ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของพฤกษาชาติพันธุ์ไม้ทั้งหลาย ได้แผ่นดินดีแล้วก็เจริญงอกงาม สดชื่น น่าดู การประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เหมือนกัน ได้อาศัยความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ เป็นรากฐาน กระทั่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหรือเป็นพรหมจรรย์ที่น่าดู เหมือนกับต้นไม้ที่ได้แผ่นดินที่ดีอย่างเดียวกัน นี่ไว้หัวข้อสำคัญที่เราจะต้องรู้สึกอยู่ในใจเวลานี้ก็คือว่า เรากำลังขอบรรพชา นี่คือระบบปฏิบัติที่ขูดเกลากิเลส ปฏิบัติพรหมจรรย์นี้แล้วก็จะได้อานิสงส์เหลือที่จะกล่าว เราก็ได้ ญาติทั้งหลายก็ได้ มนุษย์ในโลกเป็นส่วนรวมก็ได้ พระศาสนาก็ได้ ถ้าทำให้ดีก็จะได้ผลเหลือที่จะกล่าวแม้ในเวลาอันสั้น
ขอ และขอให้เราระลึกนึกถึงหรือรวมเอาความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ ให้เป็นเครื่องรองรับบรรพชา คือให้มันมีอยู่ในชีวิตจิตใจ ก็จะง่ายในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ที่เรียกว่าบรรพชา การบวชนี้เรียกว่า บรรพชา บวชแล้วเรียกว่า บรรพชิต ซึ่งเราบวชแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว เราก็เป็นบรรพชิต ตลอดเวลาเหล่านั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตในสันดานของเรา เขาจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยจิตใจ ที่เกิดมาแล้วนี้มันเกิดโดยร่างกาย แม้ว่าจิตใจก็เป็นจิตใจต่ำๆที่ติดอยู่กับร่างกาย เดี๋ยวนี้มันก็เกิดใหม่โดยจิตใจที่สูง สูงกว่าร่างกาย สูงอยู่เหนือร่างกาย มีจิตใจที่สูงจนถึงกับสละร่างกายได้ เอาละ, เป็นอันว่าเธอรู้ความหมายอันสำคัญเกี่ยวกับการบรรพชาแล้ว ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งอยู่ในใจด้วย
ทีนี้ก็จะได้พูดถึงเรื่องที่เรียกว่า มูลกัมมัฏฐานหรือ ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานแปลว่าการกระทำที่เป็นล่ำเป็นสัน การกระทำที่เป็นล่ำเป็นสัน เขาเรียกว่ากัมมัฏฐาน ผู้บวชก็มีการกระทำที่เป็นล่ำเป็นสันคือกัมมัฏฐาน แล้วก็จะช่วยให้มันเป็นไปด้วยดี มูลกัมมัฏฐานแปลว่าเบื้องต้น กัมมัฏฐานมีหลายขั้นตอน แต่ตอนต้นที่สุดนี้เรียกว่า มูลกัมมัฏฐาน ที่ๆกำลังจะพูดให้ฟัง คือเรื่องเกี่ยวกับความไม่หลงใหลในเรื่องความสวยความงาม เมื่อเราไม่บวช เราหลงใหลในเรื่องความสวยความงาม เป็นจิตใจที่ยังต่ำ ฉะนั้นบวชแล้วจะยังหลงใหลในเรื่องความสวยความงามอยู่อย่างนั้นไม่ได้ มันจะไม่เป็นบวช มันจึงต้องรู้เรื่องที่จะทำให้จิตใจมันสลัดออกไปเสียซึ่งความหลงใหลนั้น แล้วมารู้ความจริงให้จิตใจอยู่เหนือในความหลงใหลนั้นตลอดไป ความสวยความงามเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ถ้ายังหลงผิด พอใจในความสวยความงาม มันก็หล่อเลี้ยงกิเลส ก็ไม่เป็นการบวชเท่านั้นเอง เพราะนั้นสิ่งที่เราเคยหลงใหลในเรื่องสวยเรื่องงามมาแต่ก่อน สวยที่ตัวเราก็ดี สวยที่ผู้อื่นก็ดี เราเคยหลงใหล นี่ต้องสลัดออกไปอย่าให้เหลืออยู่ ให้จิตใจเกลี้ยงไปจากความหลงใหล อยู่เหนือความหลงใหล เราจึงจะเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะหรือผ้าไตรนี่ นี่เค้าเรียกว่าผ้ากาสายะ โดยย้อมด้วยน้ำฝาด เป็นธงชัยของพระอริยเจ้าหรือของพระอรหันต์ ถือเป็นเครื่องหมายของผู้ที่เดินตามรอยของพระอรหันต์ ผู้ที่มีจิตใจยังโง่ยังหลงในเรื่องสวยเรื่องงาม ไม่เหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะหรือเป็นไปไม่ได้ นี้เราจึงทำจิตใจของเราเสียใหม่ให้หมดความต่ำ ความต่ำหรือความเขลาหรืออะไรเหล่านั้น มันก็มีความเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ดังนั้นเธอจงทำในใจระลึกนึกถึงความหลงใหล ความเขลาในเรื่องสวยเรื่องงามแต่กาลก่อนจนกระทั่งบัดนี้ ว่าไอ้ความหลงใหลนั้น เลิกกัน เราจะไม่มีต่อไป ท่านมีบทให้สั่งสอนอบรมโดยเฉพาะที่เป็นภายใน ในภายในตัวเรา คือเรื่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นตัวอย่าง ๕ เรื่อง โดยหลงใหลว่าผมสวยงาม ก็มาพิจารณาเสียใหม่ว่าตามธรรมชาติแล้ว มันก็เป็นปฏิกูลคือน่าเกลียด เส้นผมนี่มีสีน่าเกลียด มีรูปร่างของเส้นผมนี่ก็น่าเกลียด มีกลิ่นก็น่าเกลียดตามธรรมชาติ แล้วก็มีที่เกิดที่งอกของมันก็น่าเกลียด หน้าที่ของมันคือคอยรับฝุ่นบนศีรษะนี้ ที่หมักหมมอย่างเหงื่อไคลนี้มันก็น่าเกลียด เรามาดูกันใหม่ในแง่นี้ว่าไอ้เส้นผมนี่สีของมันก็น่าเกลียด รูปร่างของมันก็น่าเกลียด กลิ่นของมันก็น่าเกลียด หน้าที่การงานที่เกิดที่งอก หน้าที่การงานของมันก็น่าเกลียด แล้วก็หยุด หยุดเรื่องว่าผมสวยงามกันเสียที เส้นผม
เรื่องที่ ๒ นี้เขาเรียกว่าขน เรียกว่าโลมา ขน พิจารณาอย่างเดียวกับผมเพราะมันเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าผมอยู่บนศีรษะ ขนอยู่ในที่ทั่วๆไป ที่ตรงไหนมีขนอยู่ก็พิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูลเป็นน่าเกลียดอย่างนั้น ก็เป็นอะไรทั่ว ทั่วๆไป ขนบางอย่าง เช่น ขนคิ้ว ขนตานี้ก็เป็นที่ตั้งการประดับประดา นี้เราก็เห็นเป็นปฏิกูล
เรื่องที่ ๓ เล็บ เคยถือเป็นเรื่องต้องทำให้สวยงาม เดี๋ยวนี้มาดูเสียใหม่ว่า สีของเล็บก็น่าเกลียด รูปร่างของเล็บก็น่าเกลียด กลิ่นของเล็บก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของเล็บนี้ก็น่าเกลียด หน้าที่การงานสำหรับเกาสำหรับควักอะไรอย่างนี้มันก็น่าเกลียด เรื่องเล็บงามนี้เลิกกันที ไม่มีอยู่ในความรู้สึกของผู้บวช ทีนี้เรื่องที่ ๔ คือฟันในปาก คนชอบทำให้ฟันขาว ฟันหอม ฟันสวยงาม ทีนี้ก็หมดเรื่องกัน ให้ดูฟันในฐานะเป็นของปฏิกูลคือน่าเกลียด รูปร่างของซี่ฟันก็น่าเกลียด สีของฟันก็น่าเกลียด กลิ่นของฟันก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของฟันก็น่าเกลียด หน้าที่สำหรับเคี้ยวสำหรับบด มันก็น่าเกลียด เลิก เลิกหลงว่าสวยงาม เลิก เลิกหลงที่จะไปทำให้มันสวยงาม เพียงแต่ทำให้มันสะอาดก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว ทีนี้เรื่องสุดท้าย หนัง ที่เรียกตโจ ตโจ หนัง อยู่ทั่วตัว หุ้มห่อร่างกายอยู่ทั่วตัว คนเขาประดับประดาหนัง ผิวหนัง ตกแต่งผิวหนัง ได้ยินโฆษณาค้าขายไอ้ยาตกแต่งผิวหนังนี่มากที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่สำหรับเราแล้ว เราจะไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องสวยงามอย่างนั้นแล้ว ตามธรรมชาติก็เป็นปฏิกูล หนังนี่มีรูปร่างน่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด ต้องย้อม ต้องทา ต้องอะไร กลิ่นของมันตามธรรมชาติก็น่าเกลียด ที่เกิดหุ้มห่ออยู่ทั่วไปทั้งตัว ที่เกิดของผิวหนังนี้ก็น่าเกลียด หน้าที่ของผิวหนังก็น่าเกลียด คือเป็นที่ระบายเข้าออกแห่งความร้อนความหนาว ไอ้ความสกปรก มีขุมขนสำหรับระบายอยู่ทั่วไปทั้งตัว ไหลเข้าไหลออกแห่งสิ่งสกปรกปฏิกูล ก็เลิกกัน เรื่องที่จะมาตกแต่งผิวหนังให้สวยงามตามความนิยมกันนั้น เป็นอันว่าเลิกกัน สำหรับเราที่จะบวช นี่ เกศา คือผม โลมา คือขน นขา คือเล็บ ทันต าคือฟัน ตโจ คือหนัง ยกตัวอย่างให้ฟังเพียง ๕ อย่างก่อนก็พอ เหลือนอกนั้นก็ไปคิดเอาเอง หึหึ, ไปรู้เอาเอง และรู้ว่าของเราเป็นอย่างไรของผู้อื่นก็เป็นอย่างนั้น เพราะนั้นจึงไม่ลุ่มหลงในสิ่งเหล่านี้ทั้งที่เป็นภายในตัวเราและภายนอกตัวเรา นี่ถ้าเธอมองเห็นอย่างนี้จริง รู้สึกอย่างนี้จริง เดี๋ยวนี้จิตใจของเธอก็ค่อยๆเปลี่ยนมาสู่ความเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะแล้ว จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องพูดให้เธอรู้สึก แล้วก็มีจิตใจที่เปลี่ยนจากความไม่เหมาะสมมาสู่ความเหมาะสมที่นุ่งห่มผ้ากาสายะ เธอทำในใจให้ดี กำหนดจดจำข้อความนี้ไว้ให้ดี ว่าการงานที่เป็นล่ำเป็นสันของผู้บวชนั้นเรียกว่า กัมมัฏฐาน มีหลายระดับ ระดับแรกที่สุดคืออย่างนี้ เราจะต้องถือเอาแล้วก็ทำเป็นจุดตั้งต้นให้ดีที่สุด ให้ได้ที่สุด แล้วก็จะได้เลื่อนชั้นให้มันสูงขึ้นไปกว่านี้
ทีนี้ก็มีธรรมเนียม (นาที ๔๐:๑๘/ท่านหยุดพูดสักครู่ แล้วพูด เปิดตรงนี้ หือ) มีธรรมเนียมที่รับ ตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี (หือ ไม่ใช่) จงรับ ตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้
(ท่านพุทธทาสกล่าว แล้วสามเณรกล่าวตาม/ขอใช้สีม่วงแทนเสียงสามเณร)
เกศา (เกศา) โลมา (โลมา) นขา (นขา) ทันตา (ทันตา) ตโจ (ตโจ) นี่เรียกว่ากล่าวไปตามลำดับ ทีนี้เมื่อกล่าวทวนลำดับคือ ตโจ (ตโจ) ทันตา (ทันตา) นขา (นขา) โลมา (โลมา) เกศา (เกศา) จำได้ลองว่าดู
(สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อีกที (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อือ เพื่อความแน่นอน อีกเที่ยว
(สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อือ นี่เขาทดลองความจำด้วย แต่ว่าทดลองความมีสติสัมปชัญญะปกติด้วย คือมีจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน จึงจำได้ จึงกล่าวได้อย่างเรียบร้อย บางคนมีจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน มีสติสัมปชัญญะนั้นควรจะบวชได้ จึงเห็น ความเหมาะสมที่จะบรรพชา ขอให้ (นาทีที่ ๔๓:๓๙ มีเสียงดัง ฟังไม่ชัด) บรรพชาเพื่อความเจริญงอกงามในพระศาสนา ขอจง...พระบรมศาสดา (นาทีที่ ๔๓:๕๒ ออกไปข้างหลัง หือ มันจะต้อง…)
เอ้า, ตั้งใจรับ ตจปัญจกกัมมัฏฐาน โดยภาษาบาลีโดยว่าตามเราดังต่อไปนี้
(ท่านพุทธทาสกล่าว สามเณรกล่าวตาม) เกศา (เกศา) โลมา (โลมา) นขา (นขา) ทันตา (ทันตา) ตโจ (ตโจ) ทวนลำดับคือ ตโจ (ตโจ) ทันตา (ทันตา) นขา (นขา) โลมา (โลมา) เกศา (เกศา)
ลองว่าดู (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อีกเที่ยว (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อือ อีกเที่ยว (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา อือดี เรียบร้อยดี แสดงความปกติและความจำ เหมาะสมที่จะทำการบรรพชาเถิด ให้มีความสำเร็จงอกงาม ก้าวหน้า...(นาทีที่ ๔๕:๔๗ เสียงเบามาก ฟังไม่ชัด)...พระบรมศาสดา นี้เอามาทำไมเนี่ย
ตั้งใจรับตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยภาษาบาลีดังต่อไปนี้
(ท่านพุทธทาสกล่าว สามเณรกล่าวตาม) เกศา (เกศา)โลมา (โลมา) นขา (นขา) ทันตา (ทันตา) ตโจ (ตโจ)
โดยทวนลำดับคือ (ท่านพุทธทาสกล่าว สามเณรกล่าวตาม) ตโจ (ตโจ) ทันตา (ทันตา) นขา (นขา) โลมา (โลมา) เกศา (เกศา)
ถ้าจำได้ลองว่าดู (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อือ, อีกที (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อือ,. อีกที (สามเณรกล่าวเอง) เกศา โลมา นะ (ท่านพุทธทาสพูด) หึหึ, ไม่ต้องใช้ก็ได้คราวนี้ มัน มัน มันยุ่ง ไม่ใช้ดีกว่า กราบพร้อมๆ กัน อือ, ถวาย ถวาย แล้วก็ทำในใจว่า เราว่าของเราเอง ไม่ผูกพันกันเป็นหมู่ ว่าอะหังภันเต ของแต่ละคนละคน ไม่ผูกพันกันเป็นหมู่ (นาทีที่ ๔๘:๑๔ สามเณรเริ่มสวดอะหังภันเต และสวดมนต์จนจบ นาทีที่ ๕๔:๑๙) เอ้า, มีน้ำจะสวด เอามา
ตามธรรมเนียมเราชาวพุทธ เมื่อได้บำเพ็ญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักฐานย่อมทำการอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่สรรพสัตว์ แต่ว่าต้องเล็งถึงผู้ใกล้ชิด คือบิดามารดา เป็นต้นก่อน ที่เป็นญาติที่สุด แล้วก็ห่างออกไป ห่างออกไปจนมิใช่ญาติ จนคนทั่วไป จนสัตว์ทั้งหลายทั่วไป แม้แต่ที่เป็นศัตรู เธอจงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ในส่วนนี้ว่า เราอุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะที่ล่วงลับไปแล้ว ให้เขาได้รับประโยชน์จากการกระทำของเรานี้ จึงถือว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลนี้ตามลำดับตามลำดับ เหมือนฝนตกในที่สูง ย่อมไหลไหลไปสู่ที่ต่ำตามลำดับตามลำดับเช่นนั้นเหมือนกันกว่าจะไปถึงทะเล ทำในใจอย่างนี้และเดี๋ยวนี้ แล้วก็รินน้ำให้เป็นน้ำเส้นเล็กที่สุดด้วยจิตเป็นสมาธิ ถ้ารินน้ำได้เส้นเล็กที่สุดไม่ขาดสายก็เรียกว่าจิตนั้นเป็นสมาธิมาก ด้วยจิตเป็นสมาธินั้นอุทิศส่วนกุศลย่อมดีกว่าทำด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน เพราะนั้นขอให้ตั้งใจทำให้ดีครั้งนึง อุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ เมื่อกำลังว่า อนุโมทนา พอเขาขึ้น สัพพีติโย เราก็หยุด
(นาทีที่ ๕๗:๔๘ ท่านพุทธทาสเริ่มกล่าวบทสวดยะถาก่อน) ยะถาวาริวะหา... (พระท่านอื่นๆ ขึ้นสวด สัพพีติโย... สุขัง พลัง)
(นาทีที่ ๕๙:๓๔ ท่านพุทธทาสพูด) ให้พรคนบวช เตอัถฐลัตถา... (พระท่านอื่นร่วมสวดด้วย)
(นาทีที่ ๐๑:๐๐:๓๐ ท่านพุทธทาสพูด) ให้พรทายก ทายิกา อายุวัฒโก... (พระท่านอื่นร่วมสวดด้วย)... ภวันตุเต
(นาทีที่ ๐๑:๐๒:๕๖ ท่านพุทธทาสพูด) อ้าว, นั่งหลับ (นาทีที่ ๐๑:๐๓:๐ ท่านพุทธทาสพูดสำเนียงใต้ พูดกับเณรทั้งหมด สามเณรทั้งหมดฟังให้ดีๆ พวกที่มาจากภาคกลางคงจะฟังไม่ค่อยถูก หือ, พวกพวกจากพิจิตรฟังไม่ค่อยถูก ...หา นี้ไม่มีเหรอ พัทลุง หา ไม่มี ไม่บอก คือไม่บอกคนนู้น หา อ้าวก็บ่หมุนกันทั้งหมดนิ ทั้งคุณนุ้น คุณนุ้ยไม่บอกเอง แล้วคุณประจวบว่าให้มาประชุมแล้วก็จะพูดให้ฟัง แล้วก็จะเลี้ยงอะไรด้วย ก็ต้องการจะเลี้ยงทุกองค์)
(นาทีที่ ๐๑:๐๔:๒๓ ท่านพุทธทาสเริ่มกล่าวอบรม) สามเณร อ่า, แปลว่า ผู้เตรียมตัวเป็นสมณะ สามเณระแปลว่า ผู้เตรียมตัวเป็นสมณะ หรือผู้นับเนื่องในสมณะ หรือผู้เป็นเหล่ากอของสมณะ เพราะนั้นเธอจงศึกษาความเป็นสมณะ แปลว่า ความเป็นผู้สงบ เป็นผู้สงบกาย วาจา ใจ อยู่ที่ว่าเรามีสติสัมปชัญญะควบคุมกาย วาจา ใจ และเราพยายามศึกษาธรรมะให้รู้จักควบคุมกิเลสส่วนลึก ให้กิเลสก็สงบระงับด้วย สูญสิ้นไปด้วย นี่เขาเรียกว่าสมณะ ในระหว่างที่บวชนี้จึงให้มีการปฏิบัติที่เป็นความอดกลั้นอดทนทุกอย่างทุกประการ จะบวชเดือนหนึ่ง สองเดือนก็สุดแท้ แต่เราจะจัดให้แต่ละวันละวันเป็นการฝึกฝนความสงบ บังคับตัวเอง อย่าให้ทำกิริยาอาการที่ไม่น่าดู ที่ไม่สงบ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน อย่าให้จิตคิดในทางที่ไม่น่าดู ให้ปัญญาเดินไปถูกต้อง อย่าให้เดินไปผิดพลาดไม่น่าดู เพราะนั้นเราก็จะต้องตั้งใจ หมายมั่นที่จะประพฤติอย่างที่ว่านี้ เพื่อให้เกิดความสงบเพิ่มขึ้นๆ ทุกวันๆ จนกว่าจะลาสิกขาไป ก็ยังคงไปเป็นผู้สงบ เป็นผู้สงบหรือว่าเตรียมความสงบ ก็เป็นเณร ทีนี้ทิ้งความสงบเสียออกไปเป็นผู้ไม่สงบ ก็เป็นลิง มันก็จะได้กลับออกไปเป็นลิง แต่ถ้ามันรักษาความสงบไว้ได้ สึกออกไปมันก็ยังคงเป็นผู้สงบ เพราะว่าผู้สงบนั้นเป็นฆราวาสก็ได้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ คือพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เหล่านี้มีได้ในเพศฆราวาส ฆราวาสเป็นสมณะผู้สงบได้ถึง ๓ ระดับ
ทีนี้เราก็จะต้องเป็นได้แม้ว่าจะต้องลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส ก็เป็นผู้สงบอย่างเดิม เหมือนกับเมื่อยังอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ เพราะฉะนั้นเธอจงพยายามฝึกฝนความสงบให้ค่อยๆ เกิดขึ้นๆ จนเป็นของที่เรียกว่า ชินเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นเราฝึกฝนความเป็นผู้สงบกันทุกวัน ที่เคยกระโดดโลดเต้นเป็นลิงตามประสาเด็กนั้นน่ะก็หมดไป เดี๋ยวนี้ก็เป็นผู้สำรวม ควบคุมกิริยามารยาท เป็นผู้สงบ จะพูดจาก็ด้วยสำนวนโวหารที่สงบ ไม่เกะกะระรานก้าวร้าวด้วยภาษาที่ว่าเป็นอันธพาล ความคิดนึกก็จะต้องสงบ เพราะว่าเราคอยควบคุมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฉันอาหารต้องควบคุมจิตใจให้ปกติอยู่เสมอ ได้ดีหรือได้ไม่ดีหรืออะไรก็สุดแท้ต้องไม่โกรธ ต้องปกติ ต้องสงบอยู่เสมอ ที่กินที่นอน ได้ที่นอนไม่ดีก็มีใจปกติ สงบอยู่เสมอ ก็ทุกอย่างแหละที่ยังบวชอยู่นี้ก็ฝึกฝนความสงบ มันเป็นคำรวม ของคำว่าธรรมะ ธรรมะ สมณะ ธรรมะสำหรับทำให้เกิดความสงบ ไม่ ไม่เป็นอันธพาล ถ้าเราไม่ ไม่มีธรรมะ เราก็เป็นอันธพาล ยิ่งเรียนหนังสือได้มากๆ ก็ยิ่งเป็นอันธพาลระดับเก่งทีเดียว เราจึงต้องฝึกไอ้ส่วนธรรมะเป็นสมณะนี้ไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อไปควบคุมความเป็นอันธพาลของเรา อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าในโรงเรียนของพวกเธอไม่สอนเรื่องนี้ ในโรงเรียนของพวกเธอสอนแต่หนังสือกับวิชาชีพเพียงเท่านั้น เราเรียกว่าการศึกษาหมาหางด้วน เธอมีแต่การศึกษาหมาหางด้วน มันรู้แต่หนังสือกับวิชาชีพ เป็นคนกันอย่างไรมันก็ไม่รู้ พ่อแม่มันมีบุญคุณอย่างไรมันก็ไม่รู้ นี่ก็เรียกว่าการศึกษาหมาหางด้วน ทีนี้เพื่ออย่าให้การศึกษาหมาหางด้วน เธอเรียนเสียแต่เดี๋ยวนี้ ระหว่างที่บวชเณรนี่ เรียนเสียให้เต็มที่ ทีนี้เธอสึกออกไปก็ไปเรียนต่ออย่างเดิมนั้นแหละ การศึกษาก็จะสมบูรณ์ ไม่มีลักษณะเป็นหมาหางด้วน เธอก็จะเป็นมนุษย์ที่ดี นี้เรียกว่าบวชชั่วคราวนี้ก็สำคัญด้วยเหมือนกัน เพื่อจะเอาความรู้ไปเพิ่ม อย่าให้การศึกษาของเรามีลักษณะเป็นหมาหางด้วน ให้เธอรู้จักบังคับกิเลส ควบคุมจิตใจ อย่าให้พ่ายแพ้แก่กิเลส ให้เราบังคับจิต อย่าให้กิเลสบังคับเรา เพราะฉะนั้นเธอจงยินดี ในการฝึกฝนนี้ ฝึกฝนหลายอย่างน่ะ ถ้าผู้ ผู้ควบคุม ผู้ อาจารย์ผู้อบรมเขา เขาทำถูกต้องน่ะ จะเกิดการฝึกฝนมากมายหลายอย่าง ถ้าไม่รู้ มันก็ทำเพ้อๆ ไปอย่างงั้น ทำพอเป็นพิธี ไม่ค่อยได้ผลอะไร ถ้าว่าทำได้ถูกต้องตามความประสงค์ก็จะมีการฝึกฝนหลายอย่างหลายประการ ทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางกิเลส ทางสติปัญญา จึงขอเตือนว่า ทุกวันทุกวันน่ะ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืนทั้งหลับทั้งตื่น จงสำนึกว่าเราเป็นสามเณร เป็นผู้เตรียมตัวเป็นสมณะ อย่าให้เหลวไหลได้ อย่าให้ผิดพลาดได้ ให้คงเป็นสมณะที่น่าเคารพ เณรก็เป็นสมณะได้ เพราะว่ากำลังเตรียมตัวให้เป็นสมณะมันก็มีความเป็นสมณะอยู่บ้างแล้ว เราเคยอ่านพบในพระคัมภีร์ เณรเขาเป็นพระอรหันต์กันก็มี ในพุทธกาลเขาเขียนไว้อย่างนั้น พวกเณรเป็นพระอรหันต์กันหลายองค์เหมือนกัน นี่แสดงว่าเป็นสมณะอย่างนี้ เอาและเราถึงไม่ จะไม่คิดถึงอย่างนั้นละ แต่ว่าเรากำลังจะทำให้เป็นสมณะ ให้สงบ ไม่ไม่ไม่ให้เสียเปล่า ไม่ให้เปลืองเปล่า ไม่ให้การบวชนี้มันเสียเวลาเปล่าๆ เปลืองเงินเปล่าๆ เหนื่อยเปล่าๆ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็เหนื่อยเปล่าๆ ใครๆก็เหนื่อยเปล่าหมด ถ้าว่าเธอทำล้มเหลวคนเดียว เราจะไม่ให้ใครเขาเหนื่อยเปล่า จะทำให้ดีที่สุด เป็นสมณะให้มากที่สุดนะ ที่เรียกว่าเณรเนี่ย เป็นเณร อย่าเป็นลิง อย่าเป็นลิง ให้ทุกคนมันเป็นเณร อย่าได้เป็นลิง ถ้าเป็นลิงก็ป่านนี้สึกออกไปไม่ต้องสงสัยแล้ว ให้ควบคุมไว้ให้ดี ให้เป็นเณรเรื่อยๆ อย่าให้เป็นลิง นี่ขอพูดกันแต่ใจความสั้นๆ นี่ว่าสามเณระ คือเตรียมตัวเป็นสมณะทุกกระเบียดนิ้วทุกลมหายใจเข้าออก เราจะเตรียมตัวเพื่อเป็นสมณะ ปรับปรุงตัวให้เป็นสมณะยิ่งๆๆๆๆ ขึ้นไป จนกระทั่งลาสิกขาไปเป็นเด็กนักเรียนต่อไป ก็ขอให้เป็นเด็กนักเรียนที่มีความสงบ มีความเป็นสมณะตามส่วนที่เป็นฆราวาส นี่ขอพูดด้วยใจความเพียงเท่านี้ แล้วขอให้เราแสดงความหวังว่าเธอจะตั้งใจประพฤติแล้วก็ทำตามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วขอแสดงความหวังว่าเธอจะเป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระศาสนาของเราชาวไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แล้วเจริญรุ่งเรืองไปตามวิถีทางของพุทธศาสนาอยู่ตลอดชีวิตนะเถิด พอแล้ว