แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในโอกาสแห่งการลาสิกขานี้ ควรจะได้ทำความเข้าใจอะไรกันบางอย่าง เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ข้อแรกก็คือข้อที่ว่าเราไม่ได้สลัดความเป็นพุทธบริษัท เพียงแต่ว่าเปลี่ยนระเบียบการประพฤติปฏิบัติ จากการประพฤติปฏิบัติอย่างภิกษุมาเป็นการปฏิบัติอย่างอุบาสก แต่ก็คงเรียกว่าพุทธบริษัทอยู่นั่นเอง นั้นจึงไม่มีความสูญเสียอะไร เราตั้งใจจะทำให้ไม่ผิดไม่ให้ลำบาก ไม่ให้เสียหาย ไม่ให้เดือดร้อน จึงได้ลาสิกขาเพื่อประพฤติปฏิบัติอย่างอุบาสก เพราะมีเหตุผลเพราะมีความจำเป็น หรือว่าเพราะมีความเหมาะสมที่จะต้องทำอย่างนั้น ฉะนั้นเราก็ไม่ได้เป็นทุกข์หรือเสียใจหรือลำบากใจเพราะเหตุนี้ จะยังคงมีความพอใจอยู่ตลอดไป เพราะว่าไม่ได้สลัดพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ได้สลัดพระพุทธศาสนา แต่จะประพฤติปฏิบัติพุทธศาสนาในระดับที่เหมาะสมกับโอกาสกับความสามารถ กับสิ่งแวดล้อมทั่วๆไปของเรา ซึ่งถ้าทำได้ดีที่สุด มันก็จะมีผลอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นความสำคัญมันอยู่ที่ว่าเราจะทำให้ดีที่สุดมากกว่า จะเป็นภิกษุหรือเป็นอุบาสกก็สุดแท้ มันดีอยู่ที่ทำให้ถูกต้องให้สุดความสามารถ
ในหลักธรรมะที่ว่าด้วยความดับทุกข์ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจ ประมวลในวิชาความรู้เท่าที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วอย่างไร ถ้ายังคงเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งอย่างถูกต้องและโดยใจความอยู่เสมอ นั้นอย่าได้ประมาทในข้อนี้ คือข้อที่ระลึกนึกถึงหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีไว้สำหรับกำจัดความทุกข์ในการทำงาน ในการเป็นอยู่ ในการบริโภคผลของงาน ในการเผชิญหน้ากันกับอุปสรรคทั่วๆไป กระทั่งอุปสรรคภายในคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างนี้ ถ้าเราเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้หมด มันก็เรียกว่ามีผลเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต นั้นขอให้นึกถึงส่วนนี้เป็นหลัก พยายามชำระสะสางให้แจ่มกระจ่างอยู่เสมอ ให้เคลื่อนไหวทุกๆอิริยาบถ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ด้วยความรู้สึกสติสัมปชัญญะในทางธรรมะ อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อใดมีความร้อนใจ เมื่อนั้นเรียกว่าตกนรก ถ้าเมื่อใดมีความโง่ เมื่อนั้นมีความเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดมีความหิวกระวนกระวายไม่มีที่สิ้นสุดในทางจิตใจ เมื่อนั้นเป็นเปรต และเมื่อใดมีความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย รวมความแล้วเราก็จะต้องประพฤติกระทำระมัดระวังควบคุมให้ดี ไม่ให้มีการตกอบาย คือไม่ร้อนใจ แล้วก็ไม่กระหายทางจิตใจจนไม่มีความสงบสุข และก็ไม่โง่ไม่กลัวอย่างคนที่ไม่มีความรู้อะไร ธรรมะช่วยได้หมดในเรื่องนี้ ให้เราทำอะไรได้โดยไม่ต้องร้อนใจ ความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นจะต้องร้อนใจ ให้แก้ไขไปโดยสติปัญญา โดยสติสัมปชัญญะ ไอ้ร้อนใจ เป็นทุกข์ เอะอะโวยวายนั้น มันเป็นความไม่จำเป็นจะต้องทำ คือไม่มีธรรมะนั่นเอง ถ้ามีธรรมะก็ระงับใจคอให้ปกติได้โดยไม่ต้องร้อนใจ ให้ตัวเองลำบากให้คนอื่นลำบาก แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่แก้ไข ไม่ร้อนใจนั่นหมายความว่าไม่เป็นทุกข์ ทีนี้ใจคอก็สงบปกติดี แล้วก็แก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ดี ไม่ต้องร้อนใจก็แก้ไขได้ดี นี่คือธรรมะช่วยฆราวาสได้โดยเหตุนี้
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วฆราวาสนี่จะตกนรกทั้งเป็นตลอดเวลา เพราะว่ามีเรื่องร้อนใจมากกว่านักบวช แต่ถ้าเรารู้ธรรมะพอ เราก็ป้องกันแก้ไขไอ้ความร้อนใจนี้ได้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่านรกทั้งเป็นไม่ต้องมี นี่เรียกว่าไม่ต้องตกนรก คือเป็นอบายข้อที่ ๑
ทีนี้ที่ว่าไม่ต้องโง่ หมายความว่าคนที่โง่นี่ มันโง่ในสิ่งที่ไม่ควรจะโง่ สิ่งที่เรายังไม่รู้เราก็ศึกษาให้รู้ แต่ที่โง่นี่มันไปงมงายไปกลับกันเสียหมด เป็นความงมงาย ไม่ ไม่อาจจะเอาวิชาความรู้มาใช้ หรือไปเข้าใจผิดในสิ่งต่างๆ ไปกลับกันเสียหมดจนเป็นความโง่ กระทั่งไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม คนเราเกิดมาทำไม นี้เป็นความโง่พื้นฐาน ถ้ามีความโง่ในข้อนี้ล่ะก็ อย่างอื่นๆมันจะโง่ไปหมดจะทำผิดไปหมด ถ้าเรามีความรู้ว่า เกิดมาทำไมถูกต้อง เขาก็ต้องรู้เองว่าควรจะทำอะไร ควรจะต่อสู้อย่างไง ควรจะแก้ไขอย่างไง ควรจะไปจุดหมายปลายทางอย่างไง อย่างนี้เรียกว่าไม่โง่ หรือแคบเข้ามาอีก เพราะว่าคนอย่างเรา ตัวเรา ซึ่งเรารู้จักตัวเราเองดีกว่าใครนี่ เรามีความสามารถอย่างไง มีจิตใจอย่างไง มีกิเลสอย่างไง มีสมรรถภาพอย่างไง เราก็รู้ เพราะฉะนั้นเราควรจะทำการงานที่มันตรงกับสมรรถภาพ ตรงกับเหตุผลเหล่านี้ ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่โง่เหมือนกัน เพราะว่าเรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไร และควรทำอย่างไร เราเกิดมาเพื่อประโยชน์อะไร เราทำได้ตามนั้น นั้นการที่ทำงานผิดพลาด ไม่เหมาะสมกับสมรรถภาพ ไม่เหมาะสมกับอะไรของตัวนี่มันก็เป็นความโง่ แล้วไม่รู้จักศึกษาแก้ไขปรับปรุงสมรรถภาพของตัวนี้มันก็เป็นความโง่ มีสมรรถภาพอยู่แล้วไม่รู้จักนี้ใช้มันก็เป็นความโง่ มันล้วนแต่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันไปหมด เราต้องแก้ไขไอ้สิ่งที่จะเป็นความโง่ไปให้หมด ด้วยการปรับปรุงความรู้คือปัญญา จึงจะพ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉานซึ่งไม่มีความรู้เลยว่า เกิดมาทำไม รู้น้อยเกินไปเพียงว่าหิวก็หากิน มนุษย์ต้องไปไกลกว่านั้น ถึงขนาดที่ว่าเกิดมาทำประโยชน์ผู้อื่นด้วย ทำโลกนี้ให้งดงามด้วย เกิดมาแสดงความสามารถของความเป็นมนุษย์ให้ถึงที่สุดด้วย นั้นจึงไม่ใช่เรื่องปากเรื่องท้องเรื่องลูกเมียเพียงอย่างเดียว มันต้องทำอะไรมากกว่านั้นหลายเท่า หรือหลายสิบเท่า จึงจะเรียกว่าสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ นี้ต่อไปอีกว่าเป็นมนุษย์ที่ได้พบกับพระพุทธศาสนา อย่างนี้ต้องได้ทำอะไรมากอีกต่อไปอีก ทำอะไรได้มากต่อไปอีก เพราะความมีปัญญาอย่างพุทธบริษัท มีกำลังใจ มีกำลังความรู้ความสามารถในทางจิตใจมากกว่าคนเหล่าอื่น ถึงจะสมกับที่เป็นพุทธบริษัท นั้นจึงว่าเกิดมาเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั้นถือว่าธรรมชาตินี้สร้างคนมาวิเศษ เหลือที่จะวิเศษ ในด้านทางกาย ในทางจิตใจ ถ้าเขารู้จักใช้มันหรือปรับปรุงมันให้ดี และรู้จักใช้มันให้ถึงที่สุด เขาจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ไม่เคยนึกเคยฝัน และดีจนขนาดบรรยายไม่ได้ พูดบรรยายไม่ได้ ต้องไปชิมไปทำด้วยตนเอง เพราะนั้นเราจึงหวังให้คนอื่นมาอธิบายได้น้อยที่สุด เราต้องพยายามกระทำไปด้วยตนเอง แล้วรู้จักมันด้วยตัวของเราเอง นี่เรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องไปให้ถึง โดยเฉพาะที่เป็นพุทธบริษัท
ทีนี้คนโดยมากรู้แต่เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องลูกเรื่องเมียเรื่องอะไรอยู่ในวงแคบๆนี่ อย่างนี้จึงพูดว่า แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น ไม่ต้องมนุษย์ มันจะคล้ายกันกับสัตว์เดรัจฉานถ้าว่าไม่มีธรรมะ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือพระธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง คนก็จะคล้ายกับสัตว์เดรัจฉาน หรือเท่ากันกับสัตว์เดรัจฉาน นั้นคนสมัยโบราณดึกดำบรรพ์โน้น เขาพูดไว้แล้วก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้เสียอีก ที่ว่า อาหาระนิททา ภะยะเมถุนัญจะ สามาญญะเมตัปปะสุภิ นะรานัง การกินอาหารหรือการหาอาหารมากินนี่ก็ดี การแสวงหาความสุขจากการนอนก็ดี การขี้ขลาด หนีภัย กลัวก็ดี การประกอบกิจกรรมของคนที่อยู่กันเป็นคู่หรือสัตว์ที่เป็นคู่นี้ก็ดี ๔ อย่างนี้มีเสมอได้กันในระหว่างสัตว์มนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน สัทธัมโม หิ เตสัง อะธิโก วิเสโส แปลว่า ธรรมะเท่านั้นที่ทำความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ธัมเมนะ หีนา ปะสุภิ สะมานา พอปราศจากธรรมะแล้วคนก็เสมอกันกับสัตว์ รวมความแล้วมันก็มีสำคัญ มีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คือ สิ่งที่ทำความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ที่นี่เราบวชมานี้ เราก็มุ่งหวังจะศึกษาสิ่งนี้ ให้เข้าใจสิ่งนี้ ให้รู้สิ่งนี้ ให้ได้รับสิ่งนี้ คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนี่ เพื่อทำความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ เราจะอยู่เป็นบรรพชิต หรือจะสึกออกไปเป็นอุบาสก ฆราวาส ก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนี้เอง สำหรับทำความผิดแปลกแตกต่างกันระหว่างคนกับสัตว์ นี้เป็นข้อใหญ่ เป็นใจความที่กว้างขวางที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องจะไปทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียครอบครัวอย่างเดียว จะต้องทำทุกอย่าง ให้ประกอบไปด้วยธรรมะ แม้แต่ในเรื่องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ต้องประกอบไปด้วยธรรมะ ไม่อย่างนั้นมันไปไม่รอดในระยะยาว จะมีทรัพย์สมบัติก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ไม่งั้นมันก็ไปไม่รอด จะมีเกียรติยศชื่อเสียงมันก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเป็นรากฐาน ไม่งั้นมันก็ไปไม่รอด ไม่ ไม่ ไปไม่ได้ในระยะยาว เป็นเรื่องปลอม หรือไม่ใช่ของจริง ถ้าไม่มีธรรมะเป็นของปลอม
ทีนี้ชีวิตครอบครัวยิ่งยาก ยุ่งยากลำบากกันไปอีก เพราะว่าเราสู้รบกับตัวเราเองคนเดียวมันก็ยากอยู่แล้ว มันก็ต้องการธรรมะมากอยู่แล้ว ยิ่งมีครอบครัวมันก็ยิ่งมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นมันก็ต้องมีธรรมะมากขึ้นไปอีก นี้รวมความแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ในการที่จะต้องมีธรรมะเพื่อสิ่งเหล่านี้ ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ เรียกว่าเป็น บัณฑิต เรียกกันมาแต่ก่อนพุทธกาล ว่าบัณฑิต คือคนที่มีสมรรถภาพวิชาความรู้ พร้อมที่จะควบคุมหรือดำเนินกิจของตัวในทางครอบครัวให้ลุล่วงไปได้ นั้นจึงไปบวชไปเรียนไปอะไรก็ตามเสียระยะหนึ่ง ให้มีความรู้เรื่องโลกเรื่องชีวิตเรื่องการงานเรื่องอะไรโดยหลักทางธรรมะให้พอเสียก่อน ความรู้ทางธรรมะที่เกี่ยวกับเรื่องนี้พอแล้วเขาเรียกว่าบัณฑิต นี้บัณฑิตจะลงมือตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยการมีครอบครัว มีอะไรก็ทำได้ดีมากเลวมากไม่เปะปะนี่เรียกว่าปราศจากความโง่โดยสิ้นเชิง และยังรู้เรื่องโลกหน้า เกี่ยวกับชีวิตภายใน ชีวิตจิตใจที่เราเรียกกันว่าเรื่องโลกหน้า มันก็รู้ทั่วถึงด้วย แปลว่าโลกนี้ก็รู้ทั่วถึง โลกหน้าก็รู้ทั่วถึงในส่วนตัวนี้ ทีนี้เกี่ยวกับผู้อื่นก็รู้ทั่วถึง ก็แปลว่า ผู้อื่นเราก็รู้ ตัวเองก็รู้ และรู้ทั้งโลกนี้ รู้ทั้งโลกหน้า กระทั่งรู้ในขั้นสุดท้าย คือรู้เรื่องพ้นโลก รู้เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน แม้ว่ายังไปไม่ถึงก็ควรรู้ไว้ สำหรับเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อให้เรารู้อย่างถูกต้องว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรนั่นเอง ขอให้เข้าใจไว้ ตัวเราเรียกว่ารู้ธรรมะนี่มันรู้แต่ต้นจนปลาย รู้หนทางแต่ต้นทางถึงปลายทาง แม้ว่ายังเดินไม่ถึง เราก็รู้ที่ว่าเราจะเดินไปทางไหน นั่นคือข้อที่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม มนุษย์เกิดมาทำไม ถ้าพูดอย่างที่ถูกที่สุด ก็ว่าเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตน แก่ตน เป็นคนๆไป แต่พูดอย่างนี้คนเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ แล้วแถมหัวเราะเยาะเอาด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าพระนิพพานคืออะไร นิพพานคือจุดสูงสุดของความพ้นทุกข์ความดับทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไต่ไปตามระยะต้นๆ ซึ่งเป็นการดับทุกข์พ้นทุกข์เหมือนกัน แต่ในระยะต้นๆ แล้วก็เรื่อยไปยันไปถึงจุดที่สุด ดับทุกข์สิ้นเชิงนั้นคือนิพพาน นั้นโดยที่ถูกแล้วนิพพานมันก็คือจุดปลายทางของทุกคนที่เกิดเพื่อศึกษาเพื่อปฏิบัติเพื่อประกอบการงาน เพื่อรู้ธรรมะถึงที่สุด ดับทุกข์ถึงที่สุดนั่นเอง นั้นเราจะเห็นได้ว่าชีวิตนี้ถ้ามองในแง่หนึ่งก็คือการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือมองอีกแง่หนึ่งชีวิตนี้คือการปฏิบัติธรรมะนั่นเอง ปฏิบัติธรรมะเรื่อยไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ฉะนั้นการทำงานก็คือการปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะก็คือการทำงานที่ถูกต้องของมนุษย์เรา การทำมาหากินรวมอยู่ด้วยในคำว่าการงาน นั้นการทำมาหากินก็รวมอยู่ด้วยในคำว่าการปฏิบัติธรรมะ ข้อนี้ก็เคยพูด เคยอธิบายไว้บ่อยๆ ยืดยาว แต่สรุปใจความแล้ว ก็ให้จับให้ได้ว่า เราต้องทำงานนี้ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติธรรมะ คือการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางของมนุษย์ ให้เรียกว่าปฏิบัติธรรมะหมด แม้เราจะทำไร่ทำนาค้าขายนั่นก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ ถ้าเราทำให้ดีให้ถูกให้มีอุดมคติอย่างมนุษย์ เพราะว่ามันเป็น อย่างน้อยมันก็เป็นอุปกรณ์อันหนึ่งที่ให้ชีวิตนี้อยู่ได้ดำเนินไปได้ หรือมันเป็นการดำเนินชีวิตโดยตรง การงานนั้นนะคือการที่มีชีวิตล่วงไปอย่างถูกต้อง ใช้คำว่าอย่างถูกต้อง มีความถูกต้องอยู่ในตัวการงาน นั้นการงานนั้นคือธรรมะอยู่ที่ตัวความถูกต้อง ฉะนั้นถ้าการงานที่มีความถูกต้องอย่างนี้แล้วจะไม่มีความทุกข์ ไม่เหมือนกับการทำงานที่ไม่มีความถูกต้อง ดังนั้นจึงเรียกว่า การทำการงานคือการปฏิบัติธรรมะ
ที่นี้มองกันอีกอย่างหนึ่งละเอียดยิ่งขึ้นไปก็คือว่า การทำการงานไม่ว่าชนิดไหนหมด ต้องมีธรรมะเข้ามารวมอยู่ด้วยจึงจะทำไปได้ เช่นเรามีความรู้ความฉลาดในเรื่องการงานนั้น มันก็เรียกว่าปัญญาหรือสติปัญญา นี้ก็เป็นธรรมะข้อหนึ่ง แล้วก็มีความพากเพียรและก็วิริยะในการทำงาน นี้ก็เรียกว่าเป็นธรรมะข้อหนึ่ง เราต้องมีความสุขุมรอบคอบไม่สะเพร่าเป็นสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา ที่ต้องเอามาใช้ในการทำการงาน เราต้องมีสมาธิคือความหนักแน่นมั่นคง มีจิตใจพร้อมที่คิดจะนึกจะทำ นี้ก็คือตัวธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา กระทั่งเราต้องมีขันติความอดกลั้นอดทน นี้ก็เป็นตัวธรรมะในพุทธศาสนา เราต้องมีอุเบกขา มีความคอยได้รอได้ ปล่อยให้การงานมีวิวัฒนาการไป นั่งรอ นั่งคอย ดูมันไปได้ ด้วยใจคอที่สงบสุขเป็นปกติ เหมือนอย่างว่าเราปลูกต้นไม้ลงไปแล้ว ใส่ปุ๋ยแล้ว พรวนดินแล้ว เราก็ต้องรอได้คอยได้ ในการที่มันจะค่อยๆเจริญงอกงามขึ้นไปตามลำดับ ถ้าใครไปร้อนใจตอนนี้ก็คือความโง่หรือความตกนรกที่รอไม่ได้คอยไม่ได้ กระสับกระส่ายอยู่ในใจ จนต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่น นี้มันไม่ ไม่ เรียกว่ามันขาดคุณธรรมที่เรียกว่าอุเบกขาอย่างยิ่ง เรามีหน้าที่ที่จะต้องจัดต้องทำให้ทุกสิ่งอย่างถูกต้องเรียบร้อยปล่อยให้มันเดินไป เราถือบังเหียนเฉยอยู่นี้เรียกว่ารอได้ คอยได้ นั้นรวมความแล้วก็กล่าวโดยไม่ผิดเลยว่า ธรรมะสำหรับปฏิบัติเพื่อให้บรรลุนิพพานมีอยู่อย่างไร เท่าไร ธรรมะเหล่านั้นเท่านั้นต้องนำมาใช้ในการทำการงานให้หมด หรือมันต้องจำเป็นหรือต้องอย่างยิ่งที่ต้องเอามาใช้หมด ไม่งั้นจะล้มเหลว แต่ที่ว่าเอามาใช้หมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ในระดับเดียวกันหรืออัตราเดียวกัน มันเป็นอัตราที่ลดลงมา ลดน้อยลงมากว่าการปฏิบัติเพื่อนิพพานโดยรีบด่วนเหมือนของบรรพชิต บรรพชิตต้องการจะไปนิพพานโดยรีบด่วนจึงปฏิบัติธรรมะเหล่านี้ ในอัตราตรึงเครียดเข้มแข็งสูงสุด ส่วนฆราวาสนี้ ดำเนินไปในทางของนิพพานอย่างช้าๆตามสบายๆหรือตามวิสัยของฆราวาส นั้นระดับของธรรมะที่นำมาใช้มันจึงในระดับที่น้อยกว่า ต่ำกว่า แต่ว่ามีชื่อเหมือนกันมีจำนวนครบถ้วนเหมือนกันอย่างนี้เป็นต้น แล้วเราจะได้เข้าใจว่า ไอ้ฆราวาสนี่มันคนละโลกคนละมุมคนละเหลี่ยมกันกับพระบรรพชิต ที่แท้มันไปแนวเดียวกัน ไปทางเดียวกัน แต่ไปในอัตราที่เรียกว่าช้าเร็วกว่ากัน เพราะว่าเป็นบรรพชิตนั้นก็ตัดในสิ่งกังวล สิ่งผูกพัน เครื่องถ่วงอะไรต่างๆนี่ออกไปมาก มันจึงไปได้เร็ว ส่วนฆราวาสไปในลักษณะที่เรียกว่าพาอะไรไปด้วยมากๆหน่อย พาเพื่อนผู้อื่น เช่น ครอบครัวเป็นต้น ไปด้วยมันจึงช้า หรือมีความคิดกว้างถึงแก่ผู้อื่นด้วย บ้านเมืองด้วย ประเทศชาติศาสนาด้วย นี้มันก็ต้องช้า แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าช้าจนไปไม่ได้หรือช้าอย่างเสียหาย ก็ต้องมองให้เห็นว่าไอ้ช้านี้มันเพื่อประโยชน์ที่กว้างออกไป ฉะนั้นมันต้องช้า มันมีการตระเตรียมมากมันก็ต้องช้า แต่ว่าเมื่อได้ผลมันก็ต้องได้ผลมากหรือกว้างเพื่อผู้อื่นด้วย เพื่อผลที่มากหรือกว้างกว่ากัน แต่ว่าฆราวาสส่วนมากไม่ได้คิดอย่างนี้เพราะมันโง่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน นั้นจึงว่าเราจะต้องทำไอ้ความรู้นี้ให้กระจ่างให้พ้นจากความโง่ ไม่ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นอบายข้อที่ ๒
ทีนี้ข้อที่ ๓ ที่เรียกว่า มีความหิวไม่มีที่สิ้นสุดนี้เรียกเป็นเปรต นี่ระวังให้ดี เพราะความเป็นฆราวาสมันมีเรื่องที่จะต้องการมากต้องทำมาก ถ้าไม่ต้องการจะทำได้อย่างไง เดี๋ยวนี้มีคนเข้าใจผิดเรื่องจิตว่างเรื่องอะไรกันอยู่มาก ไอ้เราก็ควรจะเข้าใจถูก เช่นว่าเราไม่ต้องหิว ไม่ต้องกระหายในทางจิตใจ เราก็ทำการงานได้ คือทำได้ด้วยสติสัมปชัญญะ ทำได้ด้วยสติปัญญา ไม่ทำด้วยความหิวกิเลสตัณหาโลภะ ราคะ อะไรต่างๆซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา แต่ทำด้วยสติปัญญา สติสัมปชัญญะที่สุขุมรอบคอบปกติเยือกเย็น นั้นเราจึงไม่มีความหิวในการกระทำ ในขณะที่บริโภคก็ไม่บริโภคด้วยความหิว แต่บริโภคด้วยสติปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัว ถ้าเราทำผิดในเรื่องนี้ เราก็จะเป็นคนหิวอยู่เรื่อย กินจนท้องจะแตกอยู่แล้วมันก็ยังหิวอยู่เรื่อย หรือมีอะไรจนไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน แล้วมันก็ยังหิวอยู่เรื่อย นี่เป็นคนที่มีลักษณะหิวเรื่อย มีเงินร้อยล้านพันล้านหมื่นล้านแสนล้านก็ยังหิวอยู่เรื่อย มีทรัพย์สมบัติ มีลูกมีเมีย มีสิ่งบำรุงบำเรอต่างๆไม่รู้จนสักเท่าไหร่แล้วก็ยังหิวอยู่เรื่อย อย่างนี้คือเป็นเปรต หิวอยู่เรื่อย ไม่มีระยะหยุดพัก นั้นต้องกำจัดไอ้ความรู้สึกที่เป็นความหิวความทุกข์นี้ออกไป ให้เหลืออยู่แต่สติปัญญา สติสัมปชัญญะ แล้วก็ทำการงานไป บริโภคผลของการงานไปหรือแม้แต่พักผ่อนไป เข้าใจคำว่าหิวหรือคำว่ากระหายนี้ให้ดีๆ เราลดลงมาใช้คำว่าที่เป็นกลางหน่อย คือคำว่าต้องการ เรามีความต้องการนี้ แล้วเราไปแยกเป็นสองทาง อย่างหนึ่งต้องการของกิเลสตัณหาของความโง่ของกิเลสตัณหา นั้นเป็นความต้องการเหมือนกัน มีชื่อเรียกว่าโลภะบ้าง ตัณหาบ้าง ราคะบ้างอะไรก็ตาม ทีนี้การต้องการอีกสายหนึ่ง มันต้องการด้วยสติปัญญา นี่เป็นความปรารถนาหรือความต้องการที่ควบคุมอยู่ด้วยสติปัญญา อย่างนี้เขาไม่เรียกว่ากิเลสตัณหา ไม่เรียกว่า โลภะ ไม่เรียกว่าอะไร เพราะเป็นผู้รู้หน้าที่ เป็นผู้รู้สิ่งที่ต้องทำ แล้วทำเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อต้องทำหน้าที่ หน้าที่เพื่อหน้าที่นี้ต้องทำ อย่างนี้ก็เรียกว่าความประสงค์ที่จะทำหน้าที่อย่างมนุษย์ ไม่ใช่ความหิวความต้องการอย่างความโลภความอะไรที่เป็นกิเลส จึงสรุปให้สั้นที่สุดว่า ถ้าความต้องการมาจากความโง่ความหลง ความต้องการเหล่านี้เป็นกิเลส ถ้าความต้องการนั้นมาจากสติปัญญา ลืมหูลืมตา สว่างไสว แจ่มแจ้งอยู่ ความต้องการนั้นไม่ใช่กิเลส เป็นสิ่งที่ต้องมีต้องสร้างต้องกระทำต้องปรับปรุงเป็นความปรารถนา เช่นพระพุทธเจ้าปรารถนาจะบรรลุนิพพานในตอนแรกนี้ หรือว่าเรามีความปรารถนาที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้ รวมความว่า มีความปรารถนาจะดับความทุกข์ ความต้องการหรือความปรารถนาชนิดนี้ไม่ใช่กิเลส แต่เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่ต้องมีในเบื้องต้น เรียกว่าความต้องการนี้มาจากความฉลาดมาจากความรู้ มาจากวิชชา เพราะว่าความต้องการฝ่ายโน้นมันมาจากอวิชชา มาจากอวิชชา มันตรงกันข้าม นั้นมันจึงมาจากความโง่ ความหลง ความมืด มันจึงเป็นกิเลสตัณหาหมด และเผาลนคนเหล่านั้น ไม่ให้รู้จักอิ่มจักพอได้ มันจึงกระหายอยู่ตลอดเวลา ตื่นอยู่ก็กระหาย นอนหลับก็ยังฝันด้วยความความกระหาย อย่างนี้เป็นทรมานตลอดเวลา เราเรียกว่าเป็นเปรตที่ถูกทรมานอยู่ตลอดเวลา ต้องอย่าให้มีขึ้นมา ความต้องการชนิดนั้น นั้นจึงว่าแม้แต่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กามคุณ รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส เรื่องเพศตรงกันข้าม เรื่องนี้ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะเข้าไปเกี่ยวข้อง รู้จักหน้าที่ตามธรรมชาติ ปฏิบัติหน้าที่ไปตามธรรมชาติ ไอ้การเกี่ยวข้องทางกามคุณด้วยสติสัมปชัญญะอย่างนี้ก็กลายเป็น การปฏิบัติธรรมะอย่างหนึ่งไปด้วย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มนุษย์ที่ยังมีความรู้สึกตามธรรมชาติ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ารูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ดังนั้นเขาจึงมีระเบียบวินัยสำหรับประพฤติปฏิบัติในการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือในขณะที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเหล่านั้น ถ้าประพฤติให้ถูกต้อง ให้ดีให้เหมาะให้สมมันกลายเป็นการปฏิบัติธรรมะชนิดหนึ่งไปในขณะนั้น แล้วมันจึงแตกต่างกันลิบลับเป็นฟ้ากับดิน กับบุคคลที่บางประเภท คนที่เข้าไปมัวเมาเกี่ยวข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างหลับหูหลับตามัวเมา งมงายโง่เขลาในเรื่องนี้ ด้วยความหิวกระหายไม่มีที่สิ้นสุด นั่นมันกลายเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา เป็นเรื่องของภูตผีปีศาจที่เลวมาก ในการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ในลักษณะเช่นนั้น หรือว่าเรารู้ว่าแม้แต่พระอริยะเจ้า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี นี่เป็นพระอริยะเจ้าแล้ว ก็ยังมีมีลูกมีเมีย มีบุตรภรรยาได้ และเป็นการประพฤติธรรมะในตัวเสร็จ สูงขึ้นไปทุกที สูงขึ้นไปทุกที จนกว่าจะไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติอยู่เหมือนกัน คนเรามีระดับมีขั้น เป็นขั้นๆไปตามธรรมชาติ ฉะนั้นต้องผ่านไปให้ดี ให้ถูกต้องทุกๆขั้น เช่นว่ายังเป็นหนุ่มก็ต้องเกี่ยวข้องด้วยกามคุณ ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องให้เป็นไปด้วยดี เมื่อมีลูกมีหลานยังต้องเกี่ยวข้องกับลูกกับหลานก็ต้องประพฤติปฏิบัติไปให้ดี มันก็สูงขึ้นไปทุกที ทุกขั้นทุกตอนเป็นธรรมะหมด นี้เรียกว่าไม่ต้องมีอะไรด้วยความหิวกระหาย ไม่ต้องทำอะไรด้วยความหิวกระหาย ให้ทำด้วยความด้วยสงบเย็นตลอดเวลา ก็คือไม่เป็นเปรต ไม่งั้นจะเป็นเปรตอยู่ในชีวิตในการงานในบ้านเรือนนั่นเอง ไม่ใช่ที่อื่นไม่ใช่โลกอื่นนะ มันไอ้ตัวเราเองนี้จะมีความเป็นเปรต คือกระหิวกระหายทนทรมานอยู่เรื่อย เรียกว่าความเป็นเปรต
ทีนี้อันที่ ๔ อันสุดท้ายของอบายคือเรียกว่า ความกลัว อสุรกาย มีความหมายของถ้อยคำนี้อยู่ที่ ความไม่กล้าหาญ สุระแปลว่า กล้า อสุระแปลว่าไม่กล้า กายแปลว่าหมู่ หมู่หรือคณะ อสุรกายแปลว่าหมู่คณะของคนที่ปราศจากความกล้า คือความกลัวนั่นเอง เป็นคนมีความกลัว คือปราศจากความกล้า ในความกลัวนี่นับรวมทั้งความลังเล ความสงสัย ความอะไร รวมๆกันไปหมด เรียกว่ากลัวก็แล้วกัน แล้วก็กลัวอย่างงมงาย เช่น ผู้ คนบางคนทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวอะไร อย่างนี้ก็ยังกลัวจนยุ่งยากลำบากไปหมด เป็นปัญหากันไปหมด นี่ไอ้กลัวถึงที่สุดไม่มีเหตุผลอย่างนี้ เรียกว่าเป็นพวกอสูรกาย เป็นอบายชนิดหนึ่ง เราต้องไม่มีสิ่งที่น่าหัวเราะเหล่านี้ นับตั้งแต่กลัวผี กลัวนั่นกลัวนี่ แล้วมันสัมพันธ์กันกับความโง่ ความโง่มีความกลัวก็มี กลัวสิ่งที่ไม่เห็นตัว กลัวกันมาก กลัวอะไรก็ไม่รู้บอกไม่ได้ ไม่มีตัวให้เห็น แต่กลัวอย่างยิ่ง กลัวจนนอนไม่หลับ กลัวไปในทางว่าเป็นโชคร้าย เป็นลางร้าย เป็นอะไรก็ไม่รู้บอกไม่ถูก ตัวเขาเองก็บอกไม่ถูก แต่ว่ามันกลัวอย่างงมงายอย่างโง่เขลา มีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวอย่างนี้เรียกว่า อสุรกาย นี้เป็นพื้นชั้นต่ำที่สุด ควรจะเรียกว่า อบาย อบายภูมิ กลัวขนาดนี้ เราต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ เช่นเป็นพระอริยะเจ้า เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้หญิงนี้ จะมากลัว มัวกลัวจิ้งจกตุ๊กแกอย่างนี้ไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เรามีความฉลาดพอ ทีนี้ความกลัวที่มันมีปัญหามากแก่พวกเราก็คือว่า ไม่กล้าทำสิ่งที่ควรจะทำ แต่ว่าคำพูดคำนี้กว้างขวางมาก และกินความกว้างมาก เสร็จแล้วก็คือความกลัวเหมือนกัน กลัวจนไม่กล้าทำสิ่งซึ่งที่แท้ควรจะทำ ไอ้บางคนไม่กล้าศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา กลัวว่าจะครึคระโง่ไม่ทันสมัย บิดามารดาบางคนไม่อยากให้ลูกหลานเรียนธรรมะ กลัวว่าจะไม่ทันสมัย หรือกลัวว่ามันจะไม่ทำมาหากิน มันจะไปบวชเป็นพระเป็นเณรเสีย ตัวจะไม่มีที่พึ่งอย่างนี้ นี่ก็กลัวมาก คนแก่ๆบางคนกลัวขนาดนี้ กระทั่งถึงกลัวการอื่นๆซึ่งรวมความแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่กล้าไปทำสิ่งดีที่ควรทำ ไม่กล้าไปเกี่ยวข้อง กระทั่งกลัวอันหลังสุด ซึ่งแม้แต่คนที่มีการศึกษาดี เรียนเมืองนอกเมืองนามาก็กลัวนี่ คือกลัวว่าไป มีธรรมะธัมโมเข้าแล้วมันจะจืดชืดไม่เป็นรสในชีวิต นี่จะจืดชืดไม่เป็นรส นี่ก็คือความกลัวอย่างยิ่ง ไม่กล้าไปแตะต้องสิ่งที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานของพระพุทธเจ้า แม้ในระดับต่ำๆที่ฆราวาสควรจะได้รับหรือควรจะแตะต้อง เพราะความกลัวสัมพันธ์มาแต่ความโง่ เราต้องไม่กลัวสิ่งเหล่านี้ อย่างว่าสึกออกไปแล้ว เราต้องไม่อายไม่กลัวในการที่จะทำพิธีรีตองต่างๆทางศาสนาให้คนอื่น บ้านอื่นเขาวานก็ไม่ต้องอายไม่ต้องกลัว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าไม่มีความกลัวอย่างโง่ๆ มันเป็นความเข้าใจผิด แล้วก็ไปกลัว ถ้าเขาใช้ให้เราทำอะไรได้ อาราธนาศีลได้ทำอะไรได้นี้มันก็ดี เขาจะได้นับถือเรา เขาจะได้เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ไอ้เรากลัวคือคนไร้ความสามารถ คนถอยหลังเข้าซอกเข้าซองไป ไม่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่แสดงความสามารถให้ผู้อื่นเห็น เพราะความขลาดของตัวนี้ นี้ก็คือความกลัวอย่างโง่ๆของคนที่บวชแล้ว
ที่นี้รวมความแล้วเราต้องไม่กลัวในสิ่งที่ไม่ควรจะกลัว แต่เราก็ไม่ใช่บ้าบิ่นนะ ไอ้พวกบ้าบิ่นที่ว่าไม่กลัวนั้นนะ มัน มันไม่กลัวด้วยความโง่ นั้นไปสงเคราะห์อยู่ในพวกความโง่ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เหมือนจิ้งหรีด อย่างนี้มันก็ไม่กลัว กัดกันตายก็ไม่กลัว มันบ้าบิ่น ไอ้ที่ว่าไม่กลัวในที่นี้มันไม่กลัวเพราะมีความแน่ใจ มีสติปัญญา มีความสามารถพอ จึงไม่กลัวอะไรหมด แม้ชีวิตก็กล้าเสียสละได้เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่หลวง เขาเรียกว่าไม่กลัวเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรียกว่าบ้าบิ่น จะถูกมอมให้เมาด้วยเหล้าด้วยยาด้วยอะไรต่างๆให้ไม่กลัว ให้ฆ่ากันให้ตายหมดก็ไม่กลัวนี้ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้เราไม่นับรวมในส่วนนี้ นั่นมันเรื่องบ้าบิ่น เรื่องโง่ เรื่องหลงเรื่องไม่กลัวอย่างบ้าหลัง เปรียบเทียบให้ฟัง ก็ว่าพระอรหันต์ก็ไม่กลัวตาย ไอ้โจรใจร้ายมันก็ไม่กลัวตาย สัตว์บางชนิด เช่น จิ้งหรีด ไก่ชน มันก็ไม่กลัวตาย ไอ้ความไม่กลัวตายต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ไม่เหมือนกัน มันมีรากฐานต่างกัน สัตว์บางพันธุ์บางชนิดไม่กลัวตาย ก็เพราะอาจจะมีมานะจัด มีกิเลสจัด ก็ไม่กลัวตาย พวกโจรไม่กลัวตาย ก็เพราะมันถูกอบรมมาให้มีความโลภจัด มีอะไรจัดมันก็ไม่กลัวตาย แต่ถ้ามันไม่กลัวตายมันก็มีสติปัญญาอย่างยิ่ง จะเอาอาการที่ว่าไม่กลัวตายมาพูดนี้มันไม่ ไม่พอ มันปนกันยุ่งหมด มันต้องเอารากฐานความไม่กลัวตายมาพูดกันว่าคืออะไร ไอ้เรานี่ไม่กลัวเพราะว่ามีปัญญามีความรู้มีธรรมะพอจึงไม่กลัวอะไร ทำอะไรทุกอย่างด้วยความไม่กลัว แล้วสำเร็จด้วย นี้เราก็ไม่เป็นอสุรกาย ฉะนั้นขอให้นึกทบทวนไว้ในใจเสมอ ว่ายังไงๆก็ตามเราต้องไม่ตกอบายในทั้ง ๔ นี้ คือ ไม่ตกนรก ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย แล้วก็ต้องไม่เป็นกันที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในโลกนี้ ในชีวิตนี้ เมื่อในชีวิตนี้ไม่เป็นแล้ว โลกหน้าโลกอื่นจะมีสักกี่โลกก็ตามแต่ เป็นว่าไม่เป็น ไม่ตกแน่ ขออย่าได้ตกอบาย ๔ อย่างในโลกนี้ ทั้งในโลกอื่นๆ โลกไหนกี่สิบโลกร้อยโลกพันโลก เป็นไม่ตกแน่ ฉะนั้นจงหายโง่หายหลง จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอบายนี้ให้ถูกต้อง เพราะมันตกกันอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ทุกวันทุกคืน นรกมีใจความความสำคัญอยู่ที่ความร้อนใจ เมื่อใดมีร้อนใจเป็นทุกข์กระสับกระส่ายเหมือนกับไฟเผา เมื่อนั้นเรียกว่าตกนรก แล้วก็เดรัจฉานนะคือความโง่ เมื่อไหร่โง่อย่างน่าสงสาร อย่างน่าสมเพช เมื่อนั้นก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว วันหนึ่งโง่ ๑๐ ครั้งก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน ๑๐ ครั้ง ทีนี้เมื่อไหร่มีความหิวกระหาย ทะเยอทะยานกระวนกระวายอยู่เรื่อย เมื่อนั้นเป็นเปรตแล้ว วันหนึ่งก็อาจจะเป็นได้หลายครั้งเหมือนกัน มันแล้วแต่คน ทีนี้เมื่อใดมันมีความกลัวไม่มีเหตุผลขึ้นมา เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกายแล้ว มีจิตใจตะเหลิดเปิดเปิงไปทางไหนก็ไม่รู้ จบที่ไหนก็ไม่ได้ ไม่ติดเพราะความกลัว อย่างนี้ก็เป็นอสุรกายแล้ว ทีนี้ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี้คือสิ่งเรียกว่าเป็นอบาย เป็นความเสื่อมเสีย มีความจมลงไปในกองทุกข์ ฉะนั้นเราต้องไม่มี ทีนี้เราบวชแล้ว เป็นบัณฑิตแล้ว ต้องรู้สิ่งเหล่านี้ดี อย่าได้คิดอย่างโง่ๆเขลาๆว่า เรื่องนี้มันต่อเมื่อตายแล้วเข้าโลงแล้ว มันจึงจะค่อยพูดกัน นี้มันบ้าที่สุด เพราะว่าเรื่องมันเกิดอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เวลานี้ ตั้งแต่เราคลอดมาจากท้องมารดา ฉะนั้นต้องพูดกันเดี๋ยวนี้ ต้องรู้กันเดี๋ยวนี้ ต้องแก้ไขเดี๋ยวนี้ ถ้ามีความยากจนเกิดขึ้น ร้อนใจเพราะว่าความยากจนเป็นทุกข์ทรมานอยู่เหมือนไฟเผาอยู่ นี่มันคือนรกที่แท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องรอต่อตายไปแล้วเข้าโลงแล้ว แม้ว่าเราจะทำอะไรผิดๆพลาดๆในการงานประจำวันอย่างโง่เขลา นั่นนะมันคือเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ละอายให้มาก กลัวให้มาก อย่าให้ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่เราทำอะไรผิดพลาดเล็กๆน้อยๆด้วยความโง่เขลา ก็ต้องเสียใจให้มาก เพราะมันมีลักษณะเหมือนสัตว์เดรัจฉานเสียแล้ว นี้ก็อย่าได้ปล่อยให้จิตใจมันหิวกระหายจนกระวนกระวาย ขอให้มันสงบเย็นอยู่เสมอ ทำการงานด้วยจิตใจสงบเย็น แล้วก็อย่าได้กลัว อย่าได้นอนสะดุ้ง ตื่นขึ้นมาอย่าได้เพลีย อย่าได้ท้อแท้ เพราะว่ามีความกลัวอยู่ตลอดคืนในเวลานอนหลับ เพราะต้องมีความกล้าอยู่ตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาต้องก็กล้าหาญ สดใสเข้มแข็ง ร่าเริง ตลอดวันตลอดคืน อยู่ด้วยความกล้าหาญ คือความแน่ใจใน ใน ในชีวิต ในการงาน ให้มีความกล้าหาญ อย่างนี้ก็พอแล้ว เรียกว่าเป็นบัณฑิตได้แล้ว ขอให้กำหนดจดจำไว้ให้ดี แม้ว่าจะมีการพูดอธิบายอย่างอื่น ความหมายมันก็เหมือนกันหมด เหมือนกันอย่างที่อาตมาอธิบายอยู่นี้
ในวันนี้ยกเรื่อง อบายทั้ง ๔ มาแสดงให้เห็น ว่าอย่าได้มีอย่าได้มาเกี่ยวข้องในชีวิต แล้วมันก็เป็นธรรมะหมด ชีวิตนี้ก็เป็นธรรมะทันที เพราะไม่มีอบาย หรือ อธรรมะไม่มี มีธรรมะอยู่ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ดำเนินประโยชน์กิจถึงที่สุด เอาตัวรอดได้ทั้งตัวเองและผู้อื่น ทั้งประเทศและชาติศาสนา จะรอดได้ จำความหมายของคำว่าบัณฑิตไว้ให้แม่นยำ ปณฺฑิต ภาษาบาลี ปณฺฑิต คือ สองคำรวมกัน ปณฺฑ หรือ ปณฺฑา นี้คำหนึ่ง แล้ว (นาทีที่ 48:27) ......นี้อีกคำหนึ่ง ปณฺฑ กับ ..... รวมกันเป็น ปณฺฑิต ปณฺฑ หรือ ปณฺฑา นี้แปลว่าปัญญาเป็นเครื่องเอาตัวรอด .... นี้แปลว่ามี ปณฺฑิต ก็แปลว่าผู้มี ปัณฑา คือผู้มีปัญญาเป็นเครื่องเอาตัวรอด เมื่อใดเรามีความรอบรู้ในเรื่องเอาตัวรอดได้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต ในแขนงไหนก็ได้ เพราะนั้นเป็นเรื่องเอาตัวรอดได้ ในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่คดโกง เอาตัวรอดโดยความคดโกง ไม่ ไม่ ไม่กี่ ไม่กี่ประเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นไอ้เอาตัวรอดไม่ได้ แล้วมันจะเสื่อมเสีย จมลงไปในอบายทั้ง ๔ หรือว่าที่แท้มันก็ตกจมอยู่แล้วตลอดเวลา ไอ้ความคดโกงนั้น มันจมอบายอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่มคดโกง พอเสร็จแล้วมันก็จมลงไปหนักขึ้นหนักขึ้น อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าเอาตัวรอด
ด้วยเหตุที่ว่าปัญญานี้มันมีอยู่ ๒ คำ ในภาษาไทยเราก็ตามในภาษาบาลีก็ตาม ถ้าปัญญาบริสุทธิ์ ภาษาบาลีเรียกว่า ปญฺญา ถ้าปัญญาที่ไม่บริสุทธิ์ บาลีก็เรียกว่า เฉโก เป็นแต่เพียงความฉลาด เฉโก นี้เป็นเพียงความฉลาด ไม่รู้ว่าไปทางไหน แต่ว่าฉลาดปราดเปรียว นั้นโดยมากไอ้ปัญญาชนิด เฉโก มันจึงไป ไปตามความทางของกิเลสกิเลสซึ่งครอบงำควบคุมปัญญา ความฉลาดเลยไปในทางทุจริตแต่ก็ฉลาด โลกในภาษาไทยเรานี้ก็ใช้คำว่าฉลาด ฉลาดในทางคดโกง ปัญญาอย่างนั้นเขาเรียกว่า เฉโก ความฉลาดอย่างนั้นเรียกว่า เฉโก ความฉลาดที่เพียบพร้อมด้วยธรรมะเรียกว่าปัญญา
ทีนี้พวกที่มี ปัญญา ปณฺฑา เป็นบัณฑิตนี้ เขาหมายแต่ทางที่ฉลาดบริสุทธิ์ คือฉลาดในทางของปัญญา เราจึงไม่ควรคิดหวังจะพึ่งปัญญาคดโกง อย่าไปคิดถึงเสียเลยดีกว่า แม้จะเอาตัวรอดสักชั่วขณะหนึ่งก็ไม่น่าจะคิดถึง มันจะกลับใส่อบาย จงหวังพึ่งปัญญาในทางถูกอยู่เรื่อย นั้นเมื่อเธอมีปัญญาอย่างนี้ แล้วก็จะชนะอบายทั้ง ๔ ได้ในทุกๆโลก ทั้งเพื่อตัวเองทั้งเพื่อผู้อื่น ก็เลยได้นามว่าเป็นบัณฑิตเต็มตัวเลย สมกับที่ได้บวชแล้วเรียนแล้ว เมื่อไม่ตกอบายได้มันก็หมดปัญหาคนเรา เพราะว่ามีชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข ปัญญาก็ไปเรื่อยๆจนถึงนิพพานได้ ขอแต่ให้เป็นอันว่า ปิดกั้นสิ่งที่เรียกว่าอบายนี้โดยเด็ดขาดโดยสิ้นเชิงโดยเด็ดขาด โดยไม่อาจจะนั่นอีกต่อไป มันก็ปลอดภัย
เพราะนั้นคำว่าพระโสดาบันเขาจึงอธิบายกันง่ายๆอย่างนี้ คือผู้ที่ ปิดอบายได้ คำอื่นไม่ต้องพูดก็ได้ มันอยู่ในตัว ขอแต่ว่าให้ปิดอบายเด็ดขาดสิ้นเชิง ไม่ตกนรกคือความร้อนใจ ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานคือความโง่ ไม่เป็นเปรตคือความหิวไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีหยุด และก็ไม่เป็นอสูรกายคือขลาดอย่างไม่มีเหตุผล นี้ก็แปลว่าจิตใจนี้มีวัฒนาการสูงพอที่จะไม่ถอยหลัง มีแต่จะไปข้างหน้าเรื่อย มันเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ แม้ในชีวิตฆราวาส ในชีวิตของผู้ครองเรือนนี่ อาจจะไต่ไปตามลำดับได้ในลักษณะอย่างนี้ ใกล้มรรคผลนิพพาน และใกล้นิพพานยิ่งทุกที เป็นมรรคผลในขั้นต้นๆได้ในฆราวาส เช่นเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามีได้ ฉะนั้นเราไม่ต้องเสียใจไม่ต้องน้อยใจไม่ต้องอ่อนเพลีย ไม่ต้องท้อแท้ ว่าเราหันหลังให้แก่นิพพาน ไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ อย่างหนักแน่น อย่างมั่นคง อย่างมีภาระมาก นี้เรื่องที่จะพูดกันอย่างสำคัญที่สุดของผู้ที่บวชแล้ว ลาสิกขา คือเรื่องอย่างนี้ ขอให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเราจะชำระสะสางความผิดพลาดแต่หนหลังให้หมดสิ้น ฟังดูให้ดีหน่อยนะว่าความผิดพลาดแต่หนหลัง ต้องชำระสะสางให้หมดสิ้น แล้วมันจะเหมือนเกิดใหม่ หรือตั้งต้นใหม่ด้วยความถูกต้องอย่างเดียว แล้วก็ให้ความถูกต้องนี้เป็นผลโดยตรงมาจากการได้บวชได้เรียนของเรา จะได้ไม่มีความผิดพลาดอีกต่อไปในอนาคต เรารู้หนทางและเราพยายามเดินตามทางด้วยสติปัญญา ด้วยสมรรถภาพ และด้วยสิ่งสำคัญที่สุด คือการบังคับตัวเอง ระลึกถึงคำว่าบังคับตัวเองไว้ให้มาก ธรรมะคำสอนนี้ไม่ต้องการมากนัก ไม่ต้องการกี่คำ พูดอย่างนั้นดีกว่า แต่การบังคับตัวเองให้ทำตามธรรมะหรือคำสั่งสอน ต้องการมากไม่มีที่สิ้นสุด ต้องการเท่าภูเขาเลากา ต้องการไม่มีที่สิ้นสุด นั้นจึงพูดเสียใหม่กันลืมว่า ไอ้พุทธธรรมะนี้เราพูดกัน ๑๕ นาทีก็พอ แล้วปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด ให้สักสองชาติสามชาติสิบชาติก็ยังไม่หมด สำหรับคำพูดเพียง ๑๕ นาที ฉะนั้นมันจึงไม่ต้องการอะไรบ้าง ที่พูดนี่มันก็พอแล้ว มันก็เหลืออยู่แต่ว่าทำให้ได้ ทีนี้การทำให้ได้นี่มันไปรวมใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราต้องบังคับตัวเราเองให้ได้ เราเห็นคนที่ศึกษาเล่าเรียนแล้ว อะไรแล้วไปติดคุกติดตะราง เป็นมหาเปรียญก็ไปติดคุกติดตะราง เป็นผู้เรียนธรรมะจบพระไตรปิฎกก็ยังไปติดคุกติดตะราง เพราะเหตุอย่างเดียวคือบังคับตัวเองไม่ได้ ทีนี้ในการสร้างความเจริญก็เหมือนกัน ไปเล่าเรียนมามาก เรื่องทำไร่ทำนาค้าขายเรื่องอะไรก็ตาม เรียนมามาก แต่แล้วก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราเหตุผลที่บังคับตัวเองให้ทำตามหลักวิชานั้นไม่ได้ มันมีความเหลวไหล ตกเป็นทาสของกิเลส บังคับตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องอยู่ในพวกที่บังคับตัวเองให้ได้ การปฏิบัติธรรมะยากอยู่ที่ตรงนี้ แล้วต้องอาศัยธรรมะ เรียกว่าธรรมะหญ้าปากคอก อยู่ต้นสมุดที่สุดที่พอเปิดขึ้นก็พบ หนังสือนวโกวาทหนังสืออะไรเหล่านี้เปิดขึ้นก็พบใบแรกว่า หิริและโอตตัปปะ หิริ คือความละอายต่อสิ่งที่ควรละอาย โอตตัปปะคือความกลัวต่อสิ่งที่ควรกลัว ธรรมะข้อแรกที่ดูถูกดูหมิ่นกันว่า ธรรมะหญ้าปากคอก ธรรมะเด็กๆ แต่ที่จริงอันนี้คือธรรมะทั้งหมดที่จะให้เอาตัวรอดได้จนกระทั่งนิพพาน เดี๋ยวนี้คนไม่ละอายต่อความชั่ว มันจึงไม่ละความชั่ว ไม่ทำความดีอะไรได้ เพราะมันไม่ละอายต่อความชั่ว ก็มองๆเห็นกันอยู่ ไม่ต้องระบุบุคคล มองที่ธรรมะจะเห็นว่าเป็นหลักทั่วไปในโลกนี้ที่คนไม่ละอายโดยแท้จริงต่อความชั่ว ฉะนั้นมันจึงเบียดเบียนกัน ในเรื่องเล็กก็เบียดเบียนกัน เรื่องใหญ่เป็นมหาสงครามในโลกนี้มันก็คือเบียดเบียนกันด้วยความไม่ละอาย ไม่เชื่อพระเจ้า ไม่เชื่อศาสนา ไม่มีความละอาย หาเรื่องมากลบเกลื่อน ตัวเป็นผู้ถูกเสียหมด ที่จริงตัวเป็นผู้ผิดควรละอายอย่างยิ่ง ทีนี้มันก็ไม่กลัว เรื่องนรกหมกไหม้อะไรที่พระเจ้าจะลงโทษเลยก็ไม่กลัว เลยทำความชั่ว ทีนี้เราเมื่อทำอะไรผิดพลาดลงไปแล้ว จงเก็บมาละอายให้มากเก็บมากลัวให้มาก พอค่ำลง วันหนึ่ง วันหนึ่งพอค่ำลงนี้จะต้องคิดบัญชีในทางจิตใจ วันนี้ได้ทำอะไรผิดพลาด เอามาละอายให้มากมากลัวให้มาก แล้ววันหลังมันจะดีขึ้น เพราะความละอายและความกลัว ไม่พลาดไม่เผลอ ไอ้ความพลาดความเผลอมันมี เพราะเราไม่ละอายให้มากไม่กลัวให้มาก
ยกตัวอย่างไอ้เรื่องทางวัตถุที่คนทั่วไปรู้ ไม่เผลอไปทำผ้านุ่งหลุดที่ถนนหนทางหรือสี่แยก ไม่เผลอไม่มีใครเผลอเลย เพราะมันระวังมาก เหตุไรมันจึงระวังมาก เพราะมันกลัวมากมันละอายมาก มันกลัวไว้ล่วงหน้ามันละอายไว้ล่วงหน้า เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เผลอไปทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน อันนี้เด็ดขาดที่สุดเลย ร้อยคนทั้งร้อยพันคนทั้งพัน แต่ทีไอ้ความชั่วความเลวที่น่าละอายนี้มันกลับไม่ละอาย เพราะมันคิดว่าไม่มีใครเห็น หรือว่าคนอื่นเขาก็เป็นกันอย่างนี้ ก็เลยไม่ละอายไม่กลัว เมื่อไม่ละอายไม่กลัว มันก็พลาดเรื่อยเผลอเรื่อยเผลอเรื่อย จนเป็นนิสัยในการจะเผลอเรื่อยในการปฏิบัติธรรมะให้สำเร็จ ทีนี้การทำการงานก็คือการปฏิบัติธรรมะเหมือนที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นถ้าเราทำผิดพลาดในการงานแม้เล็กน้อยวันหนึ่งๆ เราควรละอายให้มากควรกลัวให้มาก วันรุ่งขึ้นมันจะไม่ผิด ไม่พลาด
ทำไมเราไม่เดินตกร่อง เพราะเรากลัวเจ็บ เจ็บขา ขาหัก เรากลัว ไอ้การงานชีวิตการปฏิบัติธรรมะนั้นเหมือนกัน มันมีร่องอยู่ทั่วไปหมด ระวังอย่าให้ตกร่อง ตกไปแล้วละอายมาก กลัวมามันก็ไม่ตกอีก นั้นขอให้มีความหวังในเรื่องนี้ให้มาก โดยปกติเราอยู่ได้ด้วยสติปัญญา ระมัดระวังทำไปด้วยสติปัญญา ทีนี้ถ้าทำเสร็จแล้วมาคิดดู ถ้าเผลอถ้าพลาดก็ละอายให้มาก กลัวให้มาก ให้มันไปกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่เท่าไหร่หรอกมันสำเร็จตามนั้น มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ว่าทำผิดพลาดลงไปให้มีหิริและโอตตัปปะ ธรรมะ ๒ หมวดในนวโกวาทใบแรกหน้าแรกพอแล้ว สำหรับคนที่จะเอาตัวรอดได้ จึงเรียกว่าพูด ๕ นาที ปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด นี่ขอให้มีความเป็นบัณฑิตกันในส่วนนี้ ไม่ใช่เป็นบัณฑิตในทางวิชาความรู้ซึ่งมันไม่มีที่สิ้นสุด แต่เป็นบัณฑิตในทางปฏิบัติได้สำเร็จตามความปรารถนา
นี่ในที่สุดนี้ก็ขอให้ฟังให้ดี ให้รู้ว่า ธรรมะนี้เป็นพร ธรรมะนี้เป็นมิ่งขวัญ ธรรมะนี้เป็นโชคดี เป็นฤกษ์ดีเป็นยามดี เป็นอะไรที่ดีๆ ที่แท้จริงตามแบบของพระพุทธเจ้า เป็นน้ำมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า นั้นจงเอาไปรดจิตใจไว้เสมอ เป็นผู้มีฤกษ์ดีโชคดีอยู่เสมอ ก็หมดเรื่องกัน ไอ้รดน้ำมนต์หลอกๆตามวัดต่างๆนั้นเป็นเรื่องสำหรับคนโง่ มันจะเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นอสูรกายมากขึ้นทุกทีก็ได้ ขืนไปรดน้ำมนต์แบบนั้น เพราะไม่ใช่น้ำมนต์ของพระพุทธเจ้า ลองรดน้ำมนต์แบบของพระพุทธเจ้าคือธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำและน้ำศักดิ์สิทธิ์รดอยู่ในจิตใจทุกวันด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยหิริโอตตัปปะ แล้วเราก็จะได้รับการคุ้มครองจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเจริญงอกงามสมตามที่ได้อุตส่าห์บวชอุตส่าห์เรียน อุตส่าห์ทนประพฤติพรหมจรรย์ให้เข้าถึงตัวธรรมะ รู้แจ้งธรรมะแล้วให้รักษาไว้ให้ยังคงมีอยู่ในชีวิตจิตใจจนตลอดกา
จึงถือโอกาสรดน้ำมนต์ด้วยธรรมะอย่างว่านี้ เป็นเวลาร่วมชั่วโมงแล้วสำหรับเธอจะออกไปเป็นพุทธบริษัท อย่างฆราวาสที่ดี ทีนี้เรื่องเบ็ดเตล็ดอยากจะแนะนำเพื่อความเป็นอย่างนั้นมากขึ้น ต้องทำตนเป็นผู้ใกล้ชิดต่อศาสนา ต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ วัดวาอารามอุปัชฌาย์อาจารย์อยู่เสมอ อย่าละอายในพิธีทางศาสนา และก็อย่าเบื่อที่จะศึกษาเพิ่มเติม ไต่ถามเพิ่มเติม ให้เป็นผู้ที่ว่า ใช้เวลาว่างในการหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมะอยู่เสมอ อนุสรณ์ที่เตือนใจที่ดีที่สุด บางทีจะเป็นจีวรและบาตรนี้ นั้นอยากจะแนะนำให้เอาอย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯที่ท่านเก็บบาตรเก็บจีวรเมื่อท่านบวชไว้เป็นเครื่องเตือนใจ อนุสรณ์ในห้องพระของท่าน ถ้าทำได้ลองดู บาตร จีวรเอาไปย้อมให้สวยไปขัดให้สวย ไว้ในที่ที่เราถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในตู้พระ ในห้องพระหรืออะไรก็ตาม นี้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ พอเหลือบเห็นแล้วเตือนใจว่าเคยบวชแล้วนะ อย่างนี้มีอิทธิพลมาก ยังจะดีกว่ารูปถ่ายที่เป็นพระ หรือว่าถ้าเราเคยทำผิดทำพลาดอะไร ไอ้บาตรจีวรนี้จะเตือนได้มาก เป็นอนุสาวรีย์ด้วย เป็นผู้ตักเตือนอย่างดีด้วย นั้นลองดู บ้านเรือนจะได้เป็นบ้านเรือน เพื่อจะได้มีห้องพระ ห้องที่ไว้พระพุทธรูป ไว้พระไตรปิฎก ไว้หนังสือธรรมะ ไว้บาตรไว้จีวร ถ้ามีลูกมีหลานก็ต้องแนะนำลูกหลานว่า ห้องนั้นศักดิ์สิทธิ์นะ เข้าไปต้องมัธยัสถ์ ต้องสำรวม ต้องระวัง ต้องกราบพระพุทธรูป ต้องกราบบาตร กราบจีวร เครื่องหมายธรรมะของพ่อ หรือว่าพ่อก็เคย ก็ต้องกราบสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้เป็นการสร้างนิสัย สร้างเชื้อที่ดีขึ้นมาในครอบครัว ของลูกของหลานของเหลนของอะไรเรื่อยไป นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ให้เอาไปคิดเอาไปนึกเอาไปทำ ว่าเราต้องมีวัตถุอนุสรณ์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจตัวเอง เพื่อจะช่วยให้เราบังคับตัวเราได้ง่าย ยิ่งขึ้นทุกวันทุกเดือนทุกปี เราประสบความสำเร็จในการบังคับตัวเองแล้ว ประโยชน์ทางโลกๆก็จะเจริญ คือเจริญด้วยทรัพย์สมบัติ ด้วยด้วยเกียรติยศชื่อเสียง ด้วยคนรักใคร่ ด้วยการสังคมที่ดีในโลก แล้วก็เป็นครอบครัวที่พูดกันรู้เรื่อง ไม่มีอุปสรรคต่อกันและกัน และก็เจริญในทางธรรมะ คือทางจิตทางใจในส่วนตัว ทั้งเรื่องโลกนี้และทั้งเรื่องโลกหน้า และเรื่องพ้นโลกคือนิพพาน ในที่สุดนี้ก็ขอให้กำหนดจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้ นำไปประพฤติปฏิบัติให้มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลา เป็นผู้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางของพระศาสนา ของสมเด็จพระศาสดา สมตามความประสงค์มุ่งหมาย ของการที่ได้บรรพชาอุปสมบทนี้จงทุกๆประการเทอญ