แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : ชื่ออะไร
ผู้ขอบวช : ...............
ท่านพุทธทาส : นามสกุล
ผู้ขอบวช : ...............
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวนี้อายุกี่ปี
ผู้ขอบวช : ๑๘ ปีครับ
ท่านพุทธทาส : ต้องการจะบวชสามเณร สามเณรแปลว่าอะไร รู้แล้วหรือยัง
ผู้ขอบวช : ยังไม่ทราบครับ
ท่านพุทธทาส : หึหึ แล้วทำไมถึงขอบวชเป็นสามเณร ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร มันต้องรู้สิ แล้วเราก็ต้องพูดกันเรื่องนี้ว่าขอเป็นสามเณร ขอบวชเป็นสามเณร ขอบรรพชาเป็นสามเณรต้องทำความเข้าใจไอ้เรื่องที่จะขอจะบวชนี่กันก่อน สามเณรตามตัวพยัญชนะนี่เขาแปลว่าผู้ที่จะเตรียมตัว ผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นสมณะ เตรียมตัวจะเป็นสมณะก็เรียกว่า สามเณร สามเณร ฉะนั้นขอบรรพชาเพื่อเป็นสามเณร หมายความว่าขอระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่าบรรพชา เอาไปประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นสามเณร เห็นประโยชน์อะไรจึงได้มาขอบรรพชาเป็นสามเณร
ผู้ขอบวช : เคยมาที่นี่ครั้งหนึ่งครับ แล้วรู้สึกว่ามาที่นี่แล้วมีความสบาย และอยากจะลองดูครับว่า ว่ามาที่นี่แล้ว ถ้าบวชบรรชาเป็นสามเณร ก็ไม่มี ถือศีล ๑๐ ก็ถือได้อยู่แล้ว และถ้ามาลองอยู่ใน ต้องอยู่ใน ต้องทำตามวัตรปฏิบัติและอยากจะลองดูว่าจะได้อะไรขึ้นมา
ท่านพุทธทาส : หึหึ ก็คือว่าจะได้ลองดูว่าจะได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้หวังที่จะได้อะไรจริงจังเลย จะลองดูว่าจะได้อะไรขึ้นมา ขอบรรพชา คือขอระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่าบรรพชา บรรพชาตัวนี้ก็แปลว่าไปหมดก็ได้ เว้นหมดก็ได้ คำว่า ชะ แปลว่า ไปก็ได้ เว้นก็ได้ ปะ แปลว่าหมด ทั้งหมด ปวชา ปรรพชานี่ ต้องไปหมดจากความเป็นฆราวาส คือเราจะไม่กินอยู่ นุ่งห่ม อะไรอย่างฆราวาสอีกต่อไป จะไม่คิดนึก ใฝ่ฝัน ต้องการอย่างฆราวาสอีกต่อไป นี่เขาเรียกว่า ไปหมดจากความเป็นฆราวาส ก็คือเราลองเว้นจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิงเสียสักครั้งหนึ่ง นี่บรรพชาเขาแปลว่า เว้นหมด ก็คือเว้นจากสิ่งที่กำหนดให้เว้นในการที่จะเป็นสามเณร แล้วก็ศึกษามาแล้วอย่างน้อย ๑๐ ข้อนี้เว้น แล้วก็มีหลายอย่าง หลายสิบอย่างก็ได้ ที่จะต้องเว้น เราก็จะลองเว้นเพื่อความเป็นสามเณร ทีนี้เรื่องเป็นสามเณรนี่คือ บรรพชิตนี้ สำเร็จด้วยอดกลั้น อดทน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่สำเร็จ เราต้องพร้อมที่จะอดกลั้น อดทน ที่มันต้องอด ต้องเว้น ต้องกลั้น ทุกอย่างทุกประการ ให้เป็นการประพฤติ พรหมจรรย์ที่ดีที่สุด จะเอาพรหมจรรย์ไว้ แม้ว่าจะต้องลำบาก จะต้องหิวกระหาย จะต้องอะไรก็ตามแหละ เพื่อว่าให้เป็นบรรพชิตกันโดยแท้จริง ฉะนั้นอย่าไปสนใจไอ้เรื่อง ที่มันจะมีกินหรือไม่มีกิน อร่อยหรือไม่อร่อย จะต้องอยู่มีชีวิตชนิดที่ไม่ต้องใช้เงินเลย จะมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ต้องใช้เงินเลย เพื่อมันจะได้เป็นบรรพชิตมาก เป็นพระเป็นเณรมาก พระเณรที่มันใช้เงินอยู่เสมอ มันมีความเป็นพระเป็นเณรน้อย เราจะไม่ต้องใช้ บวชกี่เดือน บวชกี่วัน
ผู้ขอบวช : หนึ่งเดือนครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีการใช้เงินเลยเอาไหม
ผู้ขอบวช : ครับ
ท่านพุทธทาส : แม้แต่ทิ้งจดหมายสักฉบับมันก็ต้องไม่มีนะ ไม่ทิ้ง ไม่เทิ้ง ไม่ต้องใช้สตางค์ อยู่อย่างที่ไม่ต้องใช้เงินเลย เป็นเวลาหนึ่งเดือน ต้อง ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนว่ามันไม่ต้องใช้เงินเลย ไม่ต้องมีเงินเลย ไม่ต้องใช้เงินเลย อะไรนิดหนึ่งก็ต้องต่อสู้เพื่อจะไม่ต้องใช้เงินเลย นี่ก็จะเป็นบรรพชิตที่เต็มรูปแบบ สมบูรณ์แบบขึ้นมา เรียกว่าเราจะมีการบรรพชากันให้มันดีที่สุด ให้สุดความสามารถ ที่ตามที่ระเบียบวินัยเขามีอยู่อย่างไร จะได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าให้มากสุดที่เราจะทำได้ นี้เรียกว่าบรรพชา คือเว้น หมดไป หมดจากความเป็นฆราวาส มาอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างสิกขาบทที่ที่วางไว้อย่างไร จะต้องประพฤติปฏิบัติกันเต็มที่ นี่เรียกว่าเป็นสามเณร คือเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ขอให้บวชให้เป็นสามเณร เราก็รู้ว่ามันเพื่อความเป็นอย่างนี้ แล้วก็รักษาคำพูดของตนไว้ด้วย เพราะเราเป็นผู้กล่าวเอง ว่า เอสาหัง ภันเต หรือ อะหังภันเต ปัพพัชชังจัง ยาจามิ เป็นต้น กล่าวเป็นภาษาบาลี ถ้าไม่รู้ว่าภาษาบาลีนั้นว่าอย่างไร ก็ต้องรู้กันเสียก่อนเดี๋ยวนี้ ว่าภาษาบาลี สามตอนแรก ซ้ำๆ กันสามตอนแรกนั้นบอกว่า ข้าพเจ้าถือพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้ว กับทั้งพระธรรม กับทั้งพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ มีความใคร่จะบรรพชา ในธรรมวินัยของพระองค์ แล้วเราก็ว่าตอนหลังซ้ำๆ กันอีกสามครั้งว่า ข้าพเจ้าขอบรรพชา ขอท่านจงถือเอาผ้ากาสายะนี้ ทำการบรรพชาให้แก่ข้าพเจ้า ด้วยอาศัยความเมตตา กรุณา ความหมายอย่างนี้รู้มาแล้วก่อนหรือยัง
ผู้ขอบวช : อ่านมาก่อนแล้วครับ
ท่านพุทธทาส : อ่านมาแล้ว ท่องมาแล้วในหนังสือคู่มือ ทีนี้เมื่อเราว่าเป็นภาษาบาลี ก็ต้องให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เราว่าเป็นภาษาไทยแหละ มันมีความหมายอย่างนี้ ฉะนั้นจะต้องรักษาคำพูดที่ได้พูดออกไปแล้ว ที่ได้ขอแล้ว อะไรต่างๆ ให้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทีนี้ก็จะพูดกันถึงเรื่องประโยชน์ของบรรพชา ของการบวชนี่ ไม่ใช่เพื่อลองดูว่ามันจะได้อะไรบ้าง หึหึ แล้วมันบวชเพื่อลองดูว่าจะได้อะไรบ้าง อย่าให้มันต้องเป็นอย่างนั้น เราบวชนี่เพื่อจะได้อย่างน้อยที่สุดตามระเบียบ ตามประเพณีหรือว่าเรา ผู้บวชนี่จะได้รับการฝึกฝนปฏิบัติเป็นอย่างดีที่สุด เหมือนกับว่าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ถ้าเราสมาทานสิกขาบทวินัยดีที่สุด แล้วมันก็จะเหมือนกัน จะเหมือนกับว่าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ได้มีการอบรม ปฏิบัติ อดกลั้น อดทน เปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจกันเสียใหม่นี่ เราก็ได้สิ่งที่ไม่เคยได้ คือได้ดี ในการศึกษาปฏิบัติ อดกลั้น อดทน นี่ข้อที่สอง ก็คือว่า ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น จะพลอยได้ เพราะว่าเราบวชนี้เพื่อสนองพระคุณของบิดามารดา จะให้อะไรกับบิดามารดาก็ไม่เท่ากันกับ การทำให้บิดามารดาพอใจในการบวชของเรา เขาเรียกว่าทำให้บิดามารดา เป็นญาติในพระศาสนามากขึ้นกว่าเดิม เช่นศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสของบิดามารดาก็จะมากขึ้นกว่าเดิมเพราะการบวชของเรา หรือว่าสัมมาทิฏฐิของบิดามารดา ก็จะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะการบวชของเรา บุญกุศล จะได้แก่บิดามารดาเพราะเหตุนั้นมากไปกว่าแต่ก่อน จึงถือว่าเป็นการสนองพระคุณของผู้มีพระคุณด้วยสิ่งที่มันสูงสุด คุ้มกัน จะให้เงินให้ของ สนองพระคุณด้วยเหตุอย่างอื่นนั้น ท่านถือว่าไม่คุ้มกันกับพระคุณของบิดามารดา ที่จะคุ้มกัน พอที่จะเรียกว่าคุ้มกัน นั่นก็คือว่าทำให้บิดามารดามีดวงจิตวิญญาณ เปลี่ยนแปลงไปในทางธรรมะ มีศรัทธา ปสาทะ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ในพระศาสนายิ่งกว่าแต่ก่อน นี่ประโยชน์อันนี้ก็ได้แก่ญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น เพราะการบวชของเรา ถ้าว่าเรามันบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันก็ได้อานิสงส์อย่างที่ว่าจริงเหมือนกัน ที่นี้ก็ว่าบวชนี้ ไม่ใช่บวชหนึ่งเดือน ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอย่างที่ว่าจะลองดูนี้ ทีนี้มันเป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยการปฏิบัติ ขอให้มีผู้ปฏิบัติติดต่อสืบๆๆๆ กันไป พระศาสนาก็ยังอยู่ การสืบพระศาสนาด้วยตัวหนังสือมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันสู้การสืบอายุพระศาสนาด้วยการปฏิบัติไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ตั้งใจที่จะปฏิบัติให้สุดความสามารถเป็นเวลาหนึ่งเดือน สืบอายุพระศาสนาไว้หนึ่งเดือน มีคนรับช่วงต่อๆๆๆ กันมา พระศาสนาก็อยู่ถึงบัดนี้ นี้ใครบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา ต่อไว้สำหรับคนข้างหน้าอีก ฉะนั้นเราช่วยกันทำให้ศาสนามีอยู่ในโลก โลกก็ได้รับประโยชน์ คือ สันติสุข สันติภาพ ฉะนั้นการบวชของเรามันก็เลยเป็นประโยชน์แก่ทุกคนในโลกด้วย เพราะถ้าเราจะสืบอายุพระศาสนาไว้ให้เขา ฉะนั้นจึงว่าเราจะต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริงกันละที่นี้ อย่างว่าหนึ่งเดือนนี้ต้องทำอะไร ได้ดีทุกอย่าง ทีนี้มันเป็นเรื่องปลีกย่อยแล้ว ไอ้หัวข้อใหญ่ๆ มันก็มีเท่านี้ เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด บิดามารดาได้รับอานิสงส์มากด้วย คนทั้งโลกจะพลอยได้รับประโยชน์จากการบวชสืบอายุพระศาสนาของเราด้วย ทีนี้ที่มันเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมอยู่ในข้อที่ว่าเราจะได้ นี่ขอให้ทำให้ดี ให้ฝึกฝนความอดทนอย่างยิ่ง การไม่ลุอำนาจแก่กิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ ฝึกให้เป็นนิสัย ทีนี้กลับออกไปเป็นฆราวาสก็จะเป็นผู้ที่บังคับตัวเองได้ดีกว่าแต่ก่อน เป็นผู้เข้มแข็ง อดทน ในหน้าที่การงาน บังคับความรู้สึกได้ดี คนเรามันวินาศเพราะมันไม่บังคับความรู้สึก มันบังคับความรู้สึกไม่ได้ มันบันดาลโลภะบ้าง บันดาลโทสะบ้าง บันดาลโมหะบ้างแล้วมันก็วินาศ นี่เราจะฝึกฝนไอ้การบังคับเหล่านี้ตั้งแต่บวช สึกกลับออกไปมันก็จะบังคับได้มากกว่าแต่ก่อน นี่เรียกว่ามันเป็นประโยชน์แม้แก่การที่จะกลับสึกออกไป ฉะนั้นอะไรๆ ก็ฝึกกันเสียให้เต็มที่ในระหว่างที่บวชนี้ อย่างว่าจะลองดู บวชนี้ไม่ไม่ใช้สตางค์สักสตางค์แดงเดียวจะได้หรือไม่ได้ จะตายหรือไม่ตายก็ขอให้มันรู้ไปสิ อย่าขี้ขลาดอ่อนแอเหมือนพระเณรโง่ๆ มันใช้สตางค์มากเหลือเกิน ไม่จำเป็นมันก็ต้องใช้ มันเขียนจดหมายแต่ละ Mail ละ Mail ไม่รู้กี่ฉบับ อันนี้เราไม่เห็นด้วย ถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาเห็นก็จะสั่นพระเศียร โอ้ย, ไม่เห็นด้วยทำอย่างนี้ นี่ประโยชน์อานิสงส์ของการบวช เธอจะได้ประพฤติ ปฏิบัติ เปลี่ยนแปลง นิสัยสันดาน ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดา เป็นต้น ก็จะได้อานิสงส์ โลกก็จะพลอยได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย เราก็มีอะไรติดตัวไปสำหรับไปเป็นฆราวาสที่ดี ที่เข้มแข็ง นี่อานิสงส์ของการบวช
ทีนี้ก็มีข้อหนึ่งว่า บรรพชานี้มันต้องมีรากฐานที่ตั้ง ที่อาศัย วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา คือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อตะกี้เราก็บอกว่าเราถือเป็นสรณะ บวชนี้อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุทิศพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ ฉะนั้นเราต้องมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ ให้เป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในกรณีอย่างนี้หมายถึง พระคุณของท่าน คือความที่มีจิตสะอาด สว่าง สงบ พระพุทธเจ้ามีจิตสะอาด สว่าง สงบ พระธรรมก็เป็นเรื่องของการมีจิตสะอาด สว่าง สงบ ความหมายของพระธรรมก็เป็นอย่างนั้น พระสงฆ์ก็มีปฏิบัติให้มีความสะอาด สว่าง สงบ ตามพระพุทธเจ้า เธอจงพยายามทำให้พระคุณเหล่านี้มีอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา สำหรับเป็นที่ตั้งของบรรพชา ถ้าเรามีจิตสะอาด สว่าง สงบ แล้วบรรพชาก็จะเจริญงอกงาม จะประพฤติ ปฏิบัติได้ถึงขนาดที่เรียกว่า บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วยังสามารถสอนผู้อื่นได้จริงด้วย เราคำนึงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พยายามจะทำจิตใจ ให้มีจิตมีใจตามความหมายของคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ด้วย นี่เรียกว่าบรรพชาของเรามีที่ตั้ง มีที่อาศัย ให้เหมือนกับว่าแผ่นดินเป็นที่ตั้งที่อาศัยของหมู่ไม้ หรือสัตว์ คน มีแผ่นดินเป็นที่ตั้งอาศัยของต้นไม้อย่างที่เราเห็นๆ อยู่นี้ ไม่มีแผ่นดินต้นไม้ก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราไม่มีพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจ บรรพชาก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัย แต่เราก็บวช อุทิศเจาะจงพระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว ก็มุ่งมั่นอยู่แต่ข้อนี้ เอาแหละทีนี้เราก็รู้ว่าบรรพชาคืออะไร ประโยชน์ อานิสงส์ของบรรพชานี้คืออะไร วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานี้คืออะไร เรียกว่าเธอมีความรู้ความเข้าใจในการที่จะบวชนี้พอสมควร ไม่ใช่ว่างมงาย โง่เง่า บวชเข้ามาทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างนี้ก็ไม่ถูกตามเรื่องของพุทธบริษัท ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าเราจะทำอะไร ก็มีจิตใจเหมาะสมที่จะบวชนั่นแหละ นี้พูดนี้มันเป็นการเตรียมจิตใจให้เหมาะสมสำหรับจะบวช เอ้า, ทีนี้การบวช ท่านให้สอน สัจจะปัญจกกรรมฐาน หรือมูลกรรมฐาน คือกรรมฐานเบื้องต้น มีองค์ ๕ มีหนังเป็นที่ ๕ ก็เพื่อว่าจะซักฟอกจิตใจของเรา ให้มีความเหมาะสมแก่การบวชยิ่งๆ ขึ้นไป ให้พิจารณาความไม่งาม ของสิ่งที่เราเคยหลงว่างามเพียง ๕ อย่างก็พอ ถ้าเห็น ๕ อย่างนี้แล้วมันก็เห็นได้ทุกอย่าง ๕ อย่างนี้คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้รู้ตามที่เป็นจริงเสียใหม่ว่า
ผม ที่เรียกโดยพระบาลีว่า เกศา นี้มีความไม่งาม รูปร่างเป็นเส้นยาวๆ นี้ก็ไม่งาม สีดำๆ ขาวๆ ด่างๆ อะไรก็ไม่งาม กลิ่นก็ไม่ ไม่งาม กลิ่นน่ารังเกลียด ที่เกิดที่งอกบนหนังศีรษะมีน้ำเหลืองเลี้ยงนี้ก็ไม่งาม แล้วก็หน้าที่ของผมอยู่บนหัวสำหรับรับฝุ่นละอองนี้มันก็ไม่งาม ทำไมเห็นผมเป็นของงามของสวยไปได้ ประดับประดากันเป็นการใหญ่ อย่างนั้นมันโง่ อย่างนั้นมันไม่ควรแก่การที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ฉะนั้นเธอเลิกความโง่เหล่านั้นเสีย มีจิตใจเห็นตามที่เป็นจริงว่า ผมนี้เป็นปฏิกูล โดยลักษณะ ๕ อย่าง เช่น รูปร่าง สีสัน กลิ่น ที่เกิดที่งอกและหน้าที่การงานของมัน นี่ขอให้ทำในใจตามที่พูดนี้เดี๋ยวนี้ เพื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
เรื่องที่ ๒ ขน ที่เรียกโดยบาลีว่า โลมา พิจารณาอย่างเดียวกันกับผม ผมมีความไม่งามอย่างไร ขนก็มีความไม่งามอย่างนั้น รูปร่างมันก็น่าเกลียด สีสันก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่การงาน ทำหน้าที่หย่อนรูขนนี้มันก็น่าเกลียด ฉะนั้นเราเห็นขนที่มีอยู่ทั่ว ๆ ตัวเป็นเรื่องน่าเกลียด ก็จะไม่หลงความสวยงามของผิวตัว ทั่วตัวซึ่งเต็มไปด้วยขน
เรื่องที่ ๓ เล็บ ที่เรียกโดยภาษาบาลีว่า นขา รูปร่างของเล็บก็ไม่งาม สีสันของเล็บก็ไม่ใช่งาม กลิ่นของมันก็ไม่ใช่งาม คือไม่หอม ที่เกิดที่งอกลักษณะนี้ก็ไม่งาม หน้าที่สำหรับควัก สำหรับเกานี้มันก็ไม่งาม ก็เป็นอันว่าเลิกบูชาเล็บงามกันเสียที จิตใจมันก็เปลี่ยนไปแต่จากเดิม
ที่ ๔ เรียกว่า ฟัน ที่เรียกโดยบาลีว่า ทันตา ชอบฟันงาม ชอบทำให้ฟันงาม ให้ฟันหอม ถ้ายังหลงใหลอยู่อย่างนี้ก็ไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสายะ เห็นฟันทั้งหลายเป็นของปฏิกูล คือไม่งาม รูปร่างของฟันแต่ละซี่ก็ไม่งาม สีสันวรรณะของฟันแต่ละซี่ก็ไม่งาม กลิ่นของฟันก็น่าเกลียด คือไม่งาม งอกอยู่ในเหงือกก็ไม่งาม มีหน้าที่เคี้ยวบดนี้มันก็ไม่งาม เราก็เห็นว่าฟันไม่งาม ไม่หลงฟันงามอย่างแต่ก่อน
ที่สุดก็มาถึงเรื่องหนัง ผิวหนังนี้ รูปร่างของหนังทั่วๆ ไปทั้งตัวนี้มันก็ไม่งาม สีของมันก็ไม่งามตามธรรมชาติ กลิ่นของมันก็ไม่ ไม่งาม ที่เกิดที่งอกของหนังหุ้มห่อร่างกายอยู่นี้ก็ไม่งาม หน้าที่การงานนี่สำหรับรับฝุ่นละอองที่ไหลเข้าไหลออกแห่งเหงื่อไคล เป็นต้น มันก็ไม่งาม ยิ่งกว่านั้นเป็นที่รับสัมผัสหรืออารมณ์ทางเพศด้วยมันก็ยิ่งอันตราย เราก็เลิกบูชาไอ้ความงามของหนังไม่มีการประเทืองผิวให้สวยงาม ไม่โง่ไม่หลงเรื่องนี้อีกต่อไป เราก็จะมีจิตใจเหมาะสมแก่การที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ซึ่งถือว่าเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ผ้ากาสายะนี่แม้เราจะไปซื้อหามาด้วยเงินของเรา ของพ่อแม่ของเรา แต่มันมีเกียรติยศถึงกับเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ฉะนั้นคนที่เอามานุ่งห่มต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เธอจงทำจิตใจของเธอให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่โง่ไม่หลงเรื่องความสวยความงามในเบื้องต้นอย่างนี้เรียกว่า มูลกรรมฐาน ก็พอที่จะมีจิตใจเหมาะสมในการนุ่งห่มผ้ากาสายะ หวังว่าเธอจะได้ทำในใจมาตามคำพูดที่ได้พูดไปตามลำดับถึงสิ่งทั้ง ๕ นี้แล้ว สำเร็จประโยชน์ในการบอกสัจจะปัญจกกรรมฐานโดยภาษาไทยแล้ว ทีนี้จะบอกสัจจะ ปัญจกกรรมฐานโดยภาษาบาลี ตามระเบียบของการบรรพชาอีกต่อหนึ่ง จงตั้งใจให้ดี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกศา
ผู้ขอบวช : เกศา
ท่านพุทธทาส : โลมา
ผู้ขอบวช : โลมา
ท่านพุทธทาส : นขา
ผู้ขอบวช : นขา
ท่านพุทธทาส : ทันตา
ผู้ขอบวช : ทันตา
ท่านพุทธทาส : ตโจ
ผู้ขอบวช : ตโจ
ท่านพุทธทาส : นี่เรียกว่าพูดไปตามลำดับ ทีนี้พูดทวนลำดับ ตโจ
ผู้ขอบวช : ตโจ
ท่านพุทธทาส : ทันตา
ผู้ขอบวช : ทันตา
ท่านพุทธทาส : นขา
ผู้ขอบวช : นขา
ท่านพุทธทาส : โลมา
ผู้ขอบวช : โลมา
ท่านพุทธทาส : เกศา
ผู้ขอบวช : เกศา
ท่านพุทธทาส : ถ้าจำได้ก็ลองว่าดู
ผู้ขอบวช : เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
ท่านพุทธทาส : เอาอีกที
ผู้ขอบวช : เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
ท่านพุทธทาส : เพื่อความแน่นอนว่าอีกที
ผู้ขอบวช : เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
ท่านพุทธทาส : นี่เป็นเครื่องทดสอบด้วยว่าเธอมีใจคอปกติ สามารถดำรงสติ กล่าวหัวข้อ สัจจะปัญจกกรรมฐานทั้งโดยอนุโลมตามลำดับ และทั้งปฏิโลมทวนลำดับได้เรียบร้อย แสดงว่ามีสติสัมปชัญญะดี มีจิตใจปกติมันจึงจำได้แม่นยำ ไม่งกๆ เงิ่นๆ ไม่ประหม่า ไม่อะไรต่างๆ ทุกอย่างแสดงว่าเธอมีความเหมาะสมที่จะทำการบรรพชาได้ในเบื้องต้นนี้ เราจึงมีความยินดีที่จะทำการบรรพชาให้แก่เธอ เข้ามาใกล้หน่อย ขอให้เธอมีความเจริญงอกงาม ก้าวหน้าในธรรมวินัยของสมเด็จพระบรมศาสดา สมตามความมุ่งหมายของการบรรพชาเถิด ดังนั้นเธอขอสรณะและศีลจากอาจารย์โพธิ์ เพื่อจะได้เป็นอาจารย์คอยว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนสืบต่อไป ก็ถวายแล้วก็กล่าวคำขอ ศีล สรณะและศีล
ผู้ขอบวช : อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
อาจารย์โพธิ์ : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ผู้ขอบวช : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
อาจารย์โพธิ์ : ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ
ผู้ขอบวช : อามะ ภันเต
อาจารย์โพธิ์ : พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : ตะติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : ตะติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
อาจารย์โพธิ์ : ตะติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ
ผู้ขอบวช : ตะติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ
อาจารย์โพธิ์ : ตะติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ผู้ขอบวช : ตะติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ท่านพุทธทาส : เอ้าใครมีนาฬิกา ดูนาฬิกาไว้ด้วยเขาเป็นสามเณรแล้วเวลาเดี๋ยวนี้ ช่วยจำไว้ด้วย
อาจารย์โพธิ์ : สะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง
ผู้ขอบวช : อามะ ภันเต
อาจารย์โพธิ์ : ปาณาติปาตา เวระมณี
ผู้ขอบวช : ปาณาติปาตา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : อะทินนาทานา เวระมณี
ผู้ขอบวช : อะทินนาทานา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : อะพรัมมะจริยา เวระมณี
ผู้ขอบวช : อะพรัมมะจริยา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : มุสาวาทา เวระมณี
ผู้ขอบวช : มุสาวาทา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี
ผู้ขอบวช : สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : วิกาละโภชะนา เวระมณี
ผู้ขอบวช : วิกาละโภชะนา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะ ทัสสะนา เวระมณี
ผู้ขอบวช : นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะ ทัสสะนา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฎฐานา เวระมณี
ผู้ขอบวช : มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฎฐานา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมณี
ผู้ขอบวช : อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : ชาตะรูปะ ระชะตะ ปะฏิคคะหะณา เวระมณี
ผู้ขอบวช : ชาตะรูปะ ระชะตะ ปะฏิคคะหะณา เวระมณี
อาจารย์โพธิ์ : อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
ผู้ขอบวช : อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
ท่านพุทธทาส : กราบ มีน้ำเตรียมไว้สำหรับกรวดน้ำหรือเปล่า เอามาให้ โยมเอามาให้ ใส่แก้ว ใส่จาน ตามประเพณีเมื่อได้บำเพ็ญกุศลสูงสุดเช่นการบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น จะต้องอุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบิดามารดา ญาติใกล้ชิดสนิทไปตามลำดับ กระทั่งมิใช่ญาติ กระทั่งศัตรู กระทั่งสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ให้สมตามคำอนุโมทนาของพระสงฆ์ที่ว่า ยะถา วาริ วะหา ปูรา ปะริ ปุเรนติ สาคะรัง นี้ เพราะว่าเมื่อฝนตกลงมาในฤดูฝนลงในที่สูง ก็ไหลมาตามลำดับ ทำให้เกิดความเต็มตามลำดับ ร่องเล็กๆ เต็มลงในคู ในห้วย ในลำธาร คลอง แม่น้ำ ปากอ่าวเต็มไปด้วยน้ำฝน ในฤดูฝนนี้ฉันใด ขอให้กุศลที่เราได้ทำในวันนี้ เกี่ยวกับการอุปสมบทนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่บิดามารดาโดยเฉพาะเป็นต้นก่อน แล้วจึงล้นไหลไปยังญาติทั้งหลายทั้งปวง กระทั่งมิใช่ญาติ แม้กระทั่งศัตรูคู่อาฆาต คู่เวร คู่ภัยอะไรขอให้ได้รับประโยชน์แล้วก็ไหลไปในทั่วสากลจักรวาล สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย จงได้รับส่วนกุศลอันนี้ นี่เขาเรียกว่าประเพณีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ฉะนั้นเธอก็จับแก้วน้ำด้วยมือข้างหนึ่งแล้วก็รินให้ไหลเป็นสายเล็กละเอียดที่สุด แต่ไม่ให้ ไม่ใช่ให้เป็นตอนๆ ให้เป็นสายเล็กดิ่งลงไป มันต้องทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ถ้าไม่ทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ มันก็เป็นน้ำไหลเส้นเล็กเช่นนั้นไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงนิยมอย่างนั้น ด้วยจิตเป็นสมาธิกรวดน้ำให้แก่สรรพสัตว์ เธอจะทำอาการอย่างนี้เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พอจบบทของยถา คือเขาขึ้น สัพพี ติโย แล้ว เขาก็เททีเดียวหมด แล้วก็พนมมือรับพร เอามาวางตรงหน้าทำอย่างว่า ยะถา วาริ วะหา ปูรา ปะริ ปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจชิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิโชติระโส ยะถา
(พระรับพร้อมกัน) สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เตภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะสัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เตภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะสัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เตภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ อะภิวาทะนะสีสิสสะนิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ท่านพุทธทาส : ที่นี้พระสงฆ์ตั้งจิต อธิฐานจิต อำนวยพรแก่ผู้บวชใหม่ ให้เป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา
...บทสวดมนต์ (นาทีที่ 44.00 - 44.52 )...
ให้พรทายกทายิกาทั้งหลาย
...บทสวดมนต์ (นาทีที่ 44.57 – 46.47 )...