แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้า, ทีนี้ก็ตั้งใจฟังหน่อย จะต้อง.. คือว่าทำความเข้าใจกันหน่อย ให้มันสำเร็จประโยชน์ เกิดที่ไหน (มีเสียงตอบ) เดี๋ยวนี้อายุกี่ปี (มีเสียงตอบ) กำลังเรียนอะไรอยู่ (มีเสียงตอบ) แล้วกล่าวอะไรออกไปเมื่อตะกี้ กล่าวอะไร ว่าอย่างไร (มีเสียงตอบ)
ตอนแรก ๓ เที่ยวนั้นเป็นเรื่องแสดงความประสงค์ ตอนหลัง ๓ เที่ยวเป็นการขอบรรพชา ตอนแรก ๓ เที่ยวนี้มีการประกาศตัวว่า เป็นผู้นับถือพระรัตนตรัยแล้วก็ใคร่จะบรรพชา ความใคร่ที่จะบรรพชานี้ มีที่ตัวเองหรือว่าเป็นเรื่องอย่างไร(มีเสียงตอบ) แล้วทำไมถึงเกิดอยากจะบวชขึ้นมา (มีเสียงตอบ) อยากจะไปนิพพานอะไรจะบวช ๒-๓ วันหล่ะ ว่าอย่างไรกันแน่ ไม่ใช่เรื่องเล่นตลก แม้จะมีคำกล่าวบางแบบว่า บวชเพื่อนิพพาน ก็มีเหมือนกัน แต่โดยความรู้สึกแท้จริงของเรานั้นมันจะไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าตอบเท่าที่มันรู้สึกอยู่จริงๆ คืออย่างไร (มีเสียงตอบ) พ่อให้มาบวชต่างหาก ไม่ใช่ว่าความต้องการของเรา แล้วเดี๋ยวนี้หล่ะ มันมีความต้องการของเราบ้างหรือเปล่า เราจะเพื่อประโยชน์อะไร ส่วนของเราเพื่อประโยชน์อะไร(มีเสียงตอบ) ไม่ใช่เพื่อล้างบาป ล้างซวยอะไร(มีเสียงตอบ) เคยดูหมิ่นดูถูกพระพุทธเจ้าหรือเปล่า (มีเสียงตอบ) เคยทำผิดอะไรหรือเปล่า (มีเสียงตอบ) ความผิดทุกชนิดนะ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ โกหกอะไรก็ตาม มีหรือเปล่า นั่นแหละความผิดเหล่านั้นมันมีอยู่ แล้วก็ได้มีแล้ว
ผู้ที่ทำความผิดนั่น คือ ผู้ที่ดูถูก ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า เด็กคนไหนก็ตาม คนหนุ่มคนไหนก็ตามที่มันทำความผิดความเลวอะไรลงไป คือคนที่ไม่นับถือพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือเหยียบรู้ เหยียบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ไปทำชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ห้ามไว้ อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นคนล่วงเกินพระพุทธเจ้า ก็ยังล่วงเกินพระธรรม คือคำสอนของท่าน แล้วล่วงเกินพระสงฆ์ คือ ผู้ที่สืบพระพุทธศาสนามาให้เรา แล้วก็สอนเราให้ทำอย่างไร อย่าทำอย่างไร นั้นคนที่ทำชั่ว ทำบาป ทำผิดทุกคนเป็นคนล่วงเกินพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลบลู่ดูถูกดูหมิ่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องรู้สึกในข้อนี้กันเสียก่อนจึงควรจะบวชได้ เข้าใจไหม จะทำยังไงดีหล่ะ ถ้าเรามันเคยล่วงเกินพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ แล้วจะบวชอย่างไร มันก็ต้องขอโทษ ขอยกเว้นเพื่อการไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป ให้มันเสร็จกันไปเสียสักชั้นหนึ่งก่อน เอ้านั้นเรามันต้องมีจิตใจที่สำนึกบาป สำนึกบาป สำนึกผิดที่ได้ทำมาแล้วแต่หนหลัง จะอะไรก็ตาม ไม่ต้องออกชื่อ เพราะว่าย่อมรู้อยู่แก่ใจ ต้องสำนึกบาปคือรู้ว่า นี่คือเป็นการทำบาป แล้วก็มีความเสียใจที่ได้ทำผิดไปแล้ว ขอให้ยกโทษเพื่อความสำรวม ระวังต่อไป เข้าใจไหม ลองว่าออกมาเป็นวาจาได้ไหม เอาหล่ะไว้ว่าวันหลังก็ได้ วันนี้เอาแต่เนื้อความ เราจะนำให้ว่าแล้วลองว่าตาม กาเยนะ วาจา ว่าไปสิ (มีเสียงว่าตาม) มนสา (มีเสียงว่าตาม) พุทเธ กุกัมมัง (มีเสียงว่าตาม) ปะกะตัง มะยายัง (มีเสียงว่าตาม) พุทโธ ปฏิคัณหตุ (มีเสียงว่าตาม) อัจจยันตัง (มีเสียงว่าตาม) การันตะเล สัง (มีเสียงว่าตาม) วริตุง ว พุทเธ (มีเสียงว่าตาม) กรรมเลว (มีเสียงว่าตาม)ทางกาย ทางวาจา ทางใจ (มีเสียงว่าตาม)ก็ดี(มีเสียงว่าตาม) ที่ทำแล้ว(มีเสียงว่าตาม) ในพระพุทธเจ้า(มีเสียงว่าตาม) ขอพระพุทธเจ้า(มีเสียงว่าตาม)จงอดโทษ(มีเสียงว่าตาม) แห่งกรรมนั้น(มีเสียงว่าตาม) เพื่อความสำรวม ระวังต่อไป(มีเสียงว่าตาม)
นี่เดี๋ยวนี้เรารู้ตัวว่า เรามันทำการล่วงเกินดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อฟังคำสอนของท่าน ได้ทำผิด ทำไม่ดีมาแล้วแต่หนหลัง ทีนี้ก็อยากจะมาบวชในศาสนา ในธรรมวินัยของท่าน จึงจำเป็นจะต้องเลิกละความผิดนั้นเสียก่อน ให้เป็นคนเกลี้ยงสักหน่อย พอสมควร นั้นการแสดงความประสงค์ว่าจะบวชของเราด้วยคำว่า เอสา หัง ภันเต เป็นต้น นี้ก็จะมีความหมายดีขึ้น เอาหล่ะเป็นอันว่า ตอนนี้เราขอโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยความรู้สึก แล้วก็มีคำว่า จะไม่กระทำอีก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จักไม่กระทำอย่างนั้นอีก ทำชั่ว ทำเลว ทำอะไรกี่รายการ ที่ได้ทำไปแล้ว จนต้องมาขอโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้จักไม่ทำอีก
ที่นี่จะพูดถึงหัวข้อที่ ๒ อะหัง ภันเต ปัพพัชจัง ยาจามิ นี้ขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้ด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ ด้วยความเมตตา กรุณา นี้ขอบรรพชา คือ ขอระเบียบเอาไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็ต้องเว้นหมดจากความเป็นชาวบ้าน จากความเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็เว้นจากความชั่วทุกอย่างที่จะต้องเว้น นี่ก็มีซ้อนเข้ามาอีกที มันมี ๒ ชั้นอยู่ ชั้นแรกก็เว้นจากความเป็นอย่างฆราวาสทั้งหลายนี่หมดเสียก่อน แล้วก็มาเว้นจากระเบียบวินัย เว้นตามข้อปฏิบัติ ที่เป็นวินัย เป็นระเบียบอะไรต่างๆ อีก อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บรรพชา ซึ่งแปลว่า เว้นหมดไป หมดจากไอ้สิ่งที่ต้องเว้น นี้เมื่อเว้นเข้ามันก็ต้องอดกลั้นอดทน แล้วมันก็ต้องเจ็บปวดบ้าง ถ้าหิว มันก็ทน ถ้าไม่สนุก มันก็ต้องทน ในการที่จะรักษาสิกขาบท วินัยให้ยังคงอยู่อย่างถูกต้อง แล้วมันต้องทน แล้วมันก็ต้องเตรียมจิตใจไว้สำหรับทน ว่าอย่างไรกัน ถ้าจะต้องทน จะต้องทำอย่างไร เธอจะต้องพยายามทน ไม่ใช่พยายามหลีกหนี หรือว่าทำผิดใหม่แล้วก็ปกปิดซ่อนเร้นไว้ มันก็เลยเหลวป่วยการไม่ต้องบวช นั้นก็ต้องแน่ใจว่า แม้จะต้องทนจนน้ำตาไหล ก็ต้องทน ระเบียบของบรรพชานั้นมันก็ต้องขูดเกลาเพราะมันมีความชั่ว มีอะไรก็ต้องขูดเกลามันก็ต้องทน นี่มีอะไรบ้างก็ไปศึกษาจากหนังสือคู่มือก็มีอยู่แล้ว ในชั้นนี้มันพูดแต่พอย่อๆ เพราะเธอก็ไม่บวชกี่วัน มันจึงพูดแต่ใจความย่อๆ
ที่นี่ควรจะรู้ถึงข้อที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง ก็คือ อานิสงค์ของการที่ได้บวช ถ้าเรามันบวชจริง ไม่เล่นตลกกัน เป็นคนจริงอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ มันก็ย่อมได้ผลมาก ได้อานิสงค์มาก ส่วนตัวเองก็ได้ผลเป็นคนดีกว่าแต่ก่อน หรือว่าดีอย่างยั่งยืนตลอดไป นีมีค่ามากที่สุด คือไม่ไปทำเลวอีกก็แล้วกัน ระมัดระวังอย่างยิ่ง นี่ข้อที่ ๒ ก็บวชเพื่อสนองคุณบิดา มารดา ผู้มีพระคุณทั้งหลาย ถ้าเธอบวชจริง เรียนจริง เขาได้ประโยชน์ เขาได้อานิสงค์ เขามีศรัทธา มีสัมมาทิฐิ มีปิติปราโมทย์เพิ่มมากขึ้น เพราะการบวชของเธอ นี่ก็เรียกว่า สนองคุณบิดามารดา เป็นต้น เป็นอานิสงค์อย่างยิ่งสำหรับลูกที่มันรู้บุญคุณพ่อแม่มัน ถ้ามันเป็นลูกที่ไม่รู้บุญคุณพ่อแม่มัน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีอานิสงค์อะไร นี่ดีที่เรามันรู้ว่า เรามาบวชนี้ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง แม้จะต้องทน จนน้ำตาไหล ก็ต้องเอาจริงๆ บิดา มารดา หรือผู้มีพระคุณทั้งปวงก็พลอยได้รับอานิสงค์ ดีอย่างนี้
ที่นี่อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายจะพลอยได้รับอานิสงค์ เราบวชแล้ว ไม่ไปเป็นอันธพาลอีก มันก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน คนอื่นมันก็ได้อานิสงค์ อีกทีมันก็บวชสืบอายุพระพุทธศาสนา ตามสติปัญญาของเราช่วงเวลาหนึ่งเดือนก็ตาม ให้ศาสนามันมีอยู่เป็นแบบฉบับ ว่าทำกันอย่างนี้ เรียนกันอย่างนี้ ทำกันอย่างนี้ อย่าให้มันสูญไปเสีย นี่ก็มีศาสนาไว้สำหรับคนทุกคนในโลกนี้ ก็ได้อานิสงค์กว้างขวาง เพื่อสืบอายุพระศาสนาไว้ เพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน อย่างน้อยที่สุดก็ให้เป็นตัวอย่างแก่เพื่อนฝูงของเราที่ยังเลวๆ อยู่ เขาจะได้เห็นว่าเราบวชแล้วมันเกลี้ยงดี มันสะอาดดี เขาก็คงอยากจะบวชอย่างเราบ้าง ก็มีการสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้ นี่สรุปแล้ว มันมีอานิสงค์ มีประโยชน์มากมาย ที่เธอก็ได้ ฝ่ายบิดามารดา ผู้มีพระคุณก็ได้ คนทั้งโลกก็ได้ ศาสนาก็ได้ งั้นก็มีผลดี เกินค่า เกินที่เราต้องทน ถ้าเราต้องทนมันก็ควรทน น่าทนมันได้ประโยชน์มาก ทนปฏิบัติให้มันดี
ที่นี่ความมั่นคงของบรรพชาอยู่ที่การดำรงจิตใจไว้ถูกต้อง ให้จิตใจมีความสะอาดอย่างหนึ่ง มีความสว่างไสวอย่างหนึ่ง มีความแจ่มแจ้ง แล้วก็มีความสงบเย็นอีกอย่าง เราเรียกกันสั้นๆ ว่า สะอาด สว่าง สงบ พยายามประคับประคองจิตใจอยู่ในลักษณะอย่างนี้ตลอดเวลาที่บวช แล้วสิ่งต่างๆ มันจะง่ายไปหมด มันจะไม่มีทำผิดพลาดได้ เลย การบวชนี้ก็มีประโยชน์ มีอานิสงค์เต็มตามที่เราต้องการ เธอเข้าใจทุกคำที่พูด นั้นมันถึงจะสำเร็จประโยชน์ในการบวช
ที่นี้พิธีต่อไป ก็ต้องรับสัจจะปัญจกกรรมฐาน (นาทีที่23.11) เพื่อเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจยิ่งขึ้นไปอีก ก็เพื่อไว้สำหรับเป็นความรู้สำหรับต่อสู้ข้าศึกชนิดเดียวกันที่จะกลับมาอีก ตจปัญจกกรรมฐาน (นาทีที่23.36) กรรมฐาน ๕ อย่าง ทั้งหนัง กรรมฐานมีหนังเป็นที่ ๕ ก็กรรมฐาน ๕ อย่าง มีเรื่องหนังเป็นเรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ ๕ พูดกันตรงๆ ก็คือเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เคยเป็นที่ตั้งแห่งความหลงว่าสวยว่างาม ที่จริงมันมีมากที่จะเป็นที่ตั้งความหลงว่าสวยว่างาม ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเรื่อง นี่เอามาสัก ๕ อย่างพอ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่อยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา ที่เราเคยหลงใหล ในความสวยความงาม เป็นเรื่องของความต้องการของกิเลส ตัณหา นั้นจึงทำไป เพราะความหลงรัก เรื่องสวยเรื่องงาม โดยมากคนหนุ่มก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ทำบาป ทำชั่วมุทะลุดุดัน ฆ่ากัน ตีรันฟันแทง อะไรกันเพราะมันไปหลงเรื่องสวยเรื่องงามเป็นมูลเหตุ ขยายต่อๆ ไปก็จนเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท เพราะจิตมันหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องกิเลสนั่นเอง เขาให้พิจารณาว่าไอ้สิ่งที่เราเคยคิดว่างาม โดยเนื้อแท้แล้วมันก็เป็นของปฏิกูล คือน่าเกลียด ว่าผมที่เคยตกแต่ง รักษากันให้งาม ให้ดูให้ดีเสียใหม่ว่า รูปร่างของมันก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด กลิ่นของมันก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของมันก็น่าเกลียด หน้าที่สำหรับรับฝุ่นบนศีรษะนี้มันก็น่าเกลียด น่าเกลียดไปทั้งนั้น เพราะคนมันโง่มาก มันจึงไปรัก ไอ้สวยไอ้งาม ไปบำรุงบำเรอ ให้มันสวยมันงามไว้หลอกกัน หลอกตัวเองด้วย ความโง่ชนิดนี้ต้องหมดไปก่อน จึงจะเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ เป็นนักบวช เรื่องขนก็เหมือนกับเรื่องผม เรื่องเล็บก็อธิบายอย่างเดียวกัน เคยมุ่งจะให้สวยงาม คอยจ้องแต่จะให้สวยงาม ตกแต่งให้สวยงาม หรือชอบดูที่มันงาม โดยไม่รู้ว่านี่มันเสียเวลาเพราะความโง่ ขอให้ดูเสียใหม่ว่า รูปร่างก็น่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด กลิ่นก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกก็น่าเกลียด หน้าที่แคะ ควัก แกะ เกา ก็น่าเกลียด นี่ก็เลยหยุดหลงเรื่องเล็บงาม ทีนี้ ฟันก็เหมือนกัน ให้เห็นเป็นตามธรรมชาติคือมันน่าเกลียด ที่จะไปขัดให้สวย ไปอบกลิ่นให้หอม นี้มันก็เพื่อประโยชน์แก่ความโง่ ไปหลงความสวยความหอม ที่จริงสะอาดอยู่ตามธรรมชาติก็พอ เท่าที่จะทำให้สะอาดได้อย่างไร ไม่น่าเกลียดเกินไป
ทีนี้หนัง ผิวหนังเป็นอันสุดท้าย เป็นที่ตั้งของความน่าเกลียด รูปร่างน่าเกลียด สีสันวรรณะน่าเกลียด กลิ่นตามธรรมชาติน่าเกลียด เกิดงอกหุ้มโลหิต น้ำเหลืองอยู่ก็น่าเกลียด หน้าที่ของมันก็น่าเกลียด รับฝุ่นละอองไปทั้งตัว ถ่ายเข้า ถ่ายออก แห่งความร้อน ความอะไรต่างๆ ในร่างกายนี้ มันเป็นที่รู้สึก สัมผัสทางกิเลสได้ยิ่งกว่าอย่างอื่นด้วย คนจึงหลงกันนัก ให้เห็นอย่างนี้ก่อน ว่ามันที่แท้แล้วมันก็น่าเกลียด สิ่งที่เนื่องกับมันก็พลอยน่าเกลียดไปด้วย พอเห็นอย่างนี้บ้างก็ดี มีจิตใจเปลี่ยนบ้างเหมาะสำหรับนุ่งห่มผ้ากาสายะ เรื่องที่ไม่เคยคิดก็คิดเสียเดี๋ยวนี้ ว่าต้องเป็นอย่างนี้ ที่เคยหลงมาก็ละเลิกกันไป ต่อไปนี้ก็อย่าเป็นอย่างนั้นอีก ที่นี้ก็จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ เอ้า, รับ สัจจะปจปัญจกกรรมฐานโดยภาษาบาลีอีก คุกเข่า เข้ามาใกล้ๆ ก้มต่ำลงหน่อย จงรับสัจจะปจปัญจกกรรมฐานโดยภาษาบาลี โดยว่าตามเราดังต่อไปนี้ เกศา (มีเสียงว่าตาม) โลมา (มีเสียงว่าตาม) นขา(มีเสียงว่าตาม) ทันตา (มีเสียงว่าตาม) ตโจ (มีเสียงว่าตาม) นี่ก็ว่าเรียงไปตามลำดับ ถ้าทวนลำดับก็คือ ตโจ (มีเสียงว่าตาม) ทันตา(มีเสียงว่าตาม) นขา (มีเสียงว่าตาม) โลมา(มีเสียงว่าตาม) เกศา(มีเสียงว่าตาม) เอ้า, จำได้ ลองว่าดู (มีเสียงขานต่อ)
เรียบร้อยดีทั้ง ๓ เที่ยว นี่แสดงว่าจำได้ แสดงว่า ใจคอปกติ แสดงความเยือกเย็นหนักแน่นพอสมควร ควรที่จะบวชได้ ถ้าเป็นคนมีจิตใจ หนักแน่น มั่นคง เยือกเย็นอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าในอนาคต ก็คงจะเอาตัวรอดได้ อย่าไปเปลี่ยนเสียให้เป็นคนเบา คนบ้าๆ บอๆ อะไรเสีย มีความเหมาะสมที่จะทำการบรรพชาแล้ว ทำการบรรพชาเธอ ขอให้มีความเจริญ งอกงามในบรรพชา สมตามความมุ่งหมายการบรรพชาในพระพุทธศาสนานี้ทุกๆ ประการเทอญ
ทีนี้การบรรพชาเป็นสามเณรได้มีแล้ว เสร็จสิ้นไปแล้ว เรามีความเป็นสามเณรแล้ว ต้องระมัดระวังทำอะไรให้มันถูกเรื่องของสามเณรต่อไป อย่าเผลอมันใหม่นัก เดี๋ยวมันก็ลืม หรือว่าดับไฟแล้วมันมืด มันอาจจะโง่หลงไปว่ายังเป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ ต้องตั้งใจเดี๋ยวนี้ ให้มันรู้ว่ามันเป็นสามเณรแล้ว จะได้ระมัดระวัง มีอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างสามเณรและอย่างสามเณร แล้วพยายามประพฤติ ปฏิบัติให้ดีที่สุดที่จะทำได้ ให้เป็นสามเณรที่ดีที่สุดจน กว่าจะลาสิกขาหรือว่าถึงที่สุด รวมความแล้วก็อย่าให้ทุกคนเขาผิดหวัง อย่าให้ตัวเองก็ผิดหวัง พ่อแม่ต้องผิดหวัง ทุกคนอย่าให้เขาต้องผิดหวัง เพราะเขาคิดว่าเรามันต้องใช้ได้แน่
ที่นี่ก็จะให้พร เอาน้ำมากรวดสิ กรวดลงในถาด อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้วเป็นเบื้องหน้าก่อน แล้วก็ถึงคนทั่วไป ถึงคนเป็นศัตรู ถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั่วทุกจักรวาล ในขณะที่พระสงฆ์ สวด สัพพี ก็เป็นอันว่าเทน้ำหมดเลย เดี๋ยวนี้รินน้ำน้อยๆ ด้วยจิตที่ตั้งไว้แน่วแน่ (บทสวดบาลี) ให้พรสามเณร (บทสวดบาลี) ให้พรทายก ทายิกา (บทสวดบาลี)