แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จะต้องตั้งใจฟังถ้อยคำทั้งหมดนี้ ให้ดี ให้เข้าใจ และให้จงใจไปตามถ้อยคำนั้นด้วย ตามลำดับ ๆ ทุกระยะกันทีเดียว เพื่อว่าให้การกระทำของเรานี้เป็นจริง คือด้วยจิตใจ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวด้วยวาจา โดยไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้นข้อแรกที่จะต้องพูดถึงก็คือ คำกล่าวขอบรรพชาที่ได้กล่าวไปเมื่อตะกี้นี้
คำที่ได้กล่าวไปนั้นเป็นภาษาบาลี บางทีก็ยังไม่ทราบข้อความนั้นก็มี แต่ว่าถึงแม้จะทราบ อาจจะไม่ได้ทำในใจอย่างนั้นก็ได้ ดังนั้นขอทบทวนให้ทำในใจอย่างนั้นเสียก่อน ที่เราว่าเป็นภาษาบาลี แม้จะผิดเพี้ยนไปบ้างโดยตัวพยัญชนะ ก็รู้ใจความได้โดยความหมายซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความหมายจึงสำคัญมาก
ขอให้ทำในความหมายว่า เราได้กล่าวครั้งแรก ๓ ครั้ง อหํ เอ่อ, เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ เป็นต้น นี้หมายความว่า เราประกาศตัวเองว่านับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปรินิพพานนานแล้วว่าเป็นสรณะ กับทั้งพระธรรมด้วย กับทั้งพระสงฆ์ด้วย แล้วใคร่จะได้บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นี้ขอให้ทำในใจให้ชัดแจ้งเดี๋ยวนี้ว่า เราได้กล่าวไปอย่างนั้น ๓ ครั้ง
ทีนี้ต่อมาอีก ๓ ครั้งเราได้กล่าวว่า อหํ ภนฺเต ปพฺพชฺชํ ยาจามิ เป็นต้น ที่มีใจความว่า ข้าพเจ้าขอบรรพชา จงทำการบรรพชาให้ข้าพเจ้าด้วยผ้ากาสายะเหล่านี้ โดยอาศัยความเมตตากรุณา เราได้กล่าวอย่างนี้ ๓ ครั้ง ขอให้ทำในใจถึงความหมายอันนี้ ด้วยจิตใจจริง ๆ ด้วยในบัดนี้ และเพื่อเป็นการยืนยันถึงคำที่ได้กล่าวออกไป ที่เราจะต้องรักษาคำพูดของเราเองตามที่ได้กล่าวไปแล้วด้วย นี้ขอให้ทำด้วยจิตใจอย่างนี้อีกครั้งหนึ่ง
และขอให้ถือว่า เราได้กล่าวในสถานะ ในลักษณะเช่นนี้นั้น เป็นการกระทำจริงอย่างยิ่ง คือได้กล่าวโดยภาษาบาลีที่เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ได้กล่าวในชุมนุมสงฆ์ซึ่งเป็นชุมนุมศักดิ์สิทธิ์ ก็เพราะพระสงฆ์ประชุมกันในนามของพระพุทธเจ้า เพื่อทำกิจกรรมอันนี้ ดังนั้นเป็นอันว่า ทุกอย่างนี้เป็นเรื่องจริงจังถึงที่สุดไปหมด เราจึงต้องระมัดระวังให้ดี จะต้องตั้งจิตใจไห้ดีเต็มที่ และรักษาคำพูดของเราที่ได้กล่าวไปนั้น อย่างเต็มที่ตลอดเวลาด้วย จึงจะเป็นการกระทำที่แท้จริง คือทำด้วยจิตใจจริง ๆ มีความหมายจริง ๆ ไม่เพียงแต่กล่าวภาษาบาลีอย่างนกแก้วนกขุนทอง ดังนั้นจึงได้ขอร้องให้ทำในใจซ้ำตามนี้ ให้ส่งใจไปตามข้อความเหล่านี้
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องบรรพชา เธอทั้งสองขอบรรพชา เพราะฉะนั้นควรจะทราบหรือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าบรรพชานั้น ให้สมควรเสียก่อนแต่ที่จะดำเนินการต่อไป คำว่าบรรพชานั้น ภาษาไทยเราก็คือคำว่าบวช ป ว ช ปพฺพชฺชํ นี้คำเดียวกัน คำว่าบวช ป ว ช นี้ แปลว่าเว้นหมดหรือไปหมด คำว่าเว้นหมดไปหมดนี้ หมายถึงไปหมดจากความเป็นฆราวาส นี้เธอทั้งสองก็มีอายุล่วงกาลผ่านวัยมาพอสมควรแล้วที่จะรู้ได้ว่า ฆราวาสหรือความเป็นฆราวาสนั้นคืออะไร
เดี๋ยวนี้เรากำลังขอระเบียบปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งไปหมดหรือเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส ดังนั้นขอให้เราทำในใจให้แน่แน่วลงไปว่า เราจักเว้นหรือจักไปหมดจากความเป็นฆราวาส ไม่เป็นอยู่อย่างฆราวาส ไม่กินอยู่อย่างฆราวาส ไม่พูดจาอย่างฆราวาส ไม่มีจริตกิริยาอย่างฆราวาส ไม่กระทำอย่างฆราวาส ไม่คิดนึกอย่างฆราวาส ไม่ใฝ่ฝันอย่างฆราวาส แม้แต่จะนอนหลับฝันไป ก็ขออย่าได้ฝันอย่างฆราวาส นี้เรียกว่าโดยส่วนภายนอกคือร่างกาย
นี้การกระทำที่เนื้อที่ตัวตลอดไปถึงจิตใจทั้งหมด จักเว้นจากความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง และนอกจากนั้นก็มีว่า สิกขาบทบัญญัติเหล่าใด ที่มีไว้สำหรับให้ละ ให้เว้น เราจักต้องเว้นโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิงด้วยเหมือนกัน เพื่อหมดความเป็นฆราวาสยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงควรจะทราบโดยหัวข้อสั้น ๆ ว่า บวชหรือบรรพชานี้ คือเว้นหมดไปหมดจากความเป็นฆราวาส
และคำว่าบวชหรือบรรพชา มี ๆ ลักษณะเป็นการขูดเกลา ขอให้จำไว้แต่เดี๋ยวนี้ว่า บวชหรือบรรพชานี้ มีลักษณะเป็นการขูดเกลา คือว่าบรรพชานี้มีการขูดเกลาเป็นลักษณะเฉพาะ คำว่าขูดเกลา ก็ควรจะฟังเข้าใจกันได้แล้ว เช่นขูดเนื้อร้ายให้หมดไป ให้เหลือแต่เนื้อดีใส่ยาให้แผลหาย นี้ก็เรียกว่าขูดเกลา ซึ่งมีความหมายว่า ให้สิ่งที่ร้าย ๆ ออกไป ให้เหลือแต่สิ่งที่ดีและหายปรกติ แต่ความสำคัญนั้นมันมีอยู่ที่ว่า ต้องมีการทน ต้องมีการอดกลั้นอดทนต่อความเจ็บปวดเหล่านั้น
ดังนั้นบรรพชาหรือพรหมจรรย์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อรับสมาทานเข้าแล้ว จะเป็นการขูดเกลา แล้วเราจะต้องอดทน ไม่ใช่ต้องยอมแพ้ ไม่ใช่คิดยอมแพ้ ถ้าคิดยอมแพ้ก็ยอมแพ้เสียแต่เดี๋ยวนี้ เลิกละความตั้งใจเสียแต่เดี๋ยวนี้ ไม่บวช นั่นน่ะจะเป็นการถูกต้อง ถ้าไม่แพ้ ยังยอมสะ ยัง ๆ ๆ สมัครที่จะบวช ก็ต้องตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องรับการขูดเกลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอยู่ในตัวบรรพชานั่นเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงวางระเบียบบรรพชาไว้ในลักษณะที่เป็นการขูดเกลาอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อเราหวังที่จะบรรพชาแล้ว ต้องปักใจแน่วแน่อธิษฐานจิต ในการที่จะทนการขูดเกลาทุกอย่างทุกประการ ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามระเบียบของการบรรพชานั้น เพราะฉะนั้นขอให้เธอทั้งสองมีความแน่ใจในข้อนี้อย่างเต็มเปี่ยมตั้งแต่บัดนี้ นี้เรียกว่าบรรพชาคืออะไร
บรรพชาคือระเบียบปฏิบัติที่ไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาสและเป็นการขูดเกลาอย่างยิ่ง เพื่อให้เรามีสภาพเปลี่ยนไปสู่สภาพอีกอย่างหนึ่ง จะได้รับประโยชน์อานิสงส์ของบรรพชานั้น ดังนั้นข้อถัดไปก็จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการบรรพชานั้น
ประโยชน์อานิสงส์หรือผลของการบรรพชานี้ อาจารย์ในกาลก่อนได้พรรณนาไว้ว่า มีมากเกินไปกว่าที่จะนำมาแจงเป็นรายละเอียดได้ ท่านนิยมพูดโดยอุปมา คือว่ากำหนดไว้โดยอุปมาว่า แม้เราจะเขียนพรรณนาประโยชน์อานิสงส์ของการบรรพชานี้ให้เต็มทั้งท้องฟ้า ก็ยังไม่หมด อานิสงส์ของการบรรพชาอย่างนี้เป็นต้น
ขอให้เรามีความหวังและมีความแน่ใจว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราจะสรุปให้เป็นหัวข้อหรือเป็นเพียงประเภท ๆ แล้ว ก็จะมีสัก ๓ ประเภท
อานิสงส์ประเภทที่ ๑ คืออานิสงส์ที่เธอทั้งสองผู้บวชจะพึงได้รับเอง
อานิสงส์ประเภทที่ ๒ คืออานิงสงส์ที่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้รับ
และอานิงสงส์ประเภทที่ ๓ คืออานิสงส์ที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งพระศาสนาเองจะพึงได้รับ หรือโลกทั้งสิ้นจะพึงได้รับ รวมเป็น ๓ ประการด้วยกันอย่างนี้
อานิสงส์ประเภทที่ ๑ ที่ว่าเธอผู้บวชเองจะได้รับนั้น นี้ก็มีมากมายเหลือที่จะแจงรายละเอียดในเวลาอันสั้นเช่นนี้ได้ ดังนั้นจะกล่าวแต่โดยใจความว่า เราจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ถือกันว่าดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั้น อาจจะเข้าใจต่าง ๆ กันไปตามความรู้ความเข้าใจของบุคคลแต่ละคน แต่สำหรับพุทธบริษัทเรานั้นถือว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าคุณธรรมทางจิตใจที่สูงสุด ซึ่งระบุออกไปได้ว่าเป็นความสะอาด สว่าง สงบ ชนิดที่เราไม่เคยได้รับมาแต่กาลก่อน
ความสะอาดใจที่เราไม่เคยรับมาแต่กาลก่อน ความสว่างไสวในใจที่เราไม่เคยได้รับมาแต่กาลก่อน ความสงบเยือกเย็นที่เราไม่เคยได้รับมาแต่กาลก่อน ไม่เคยรู้จักด้วยซ้ำไปว่า ความสะอาด สว่าง สงบแห่งใจนี้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เอ่อ, เสียในการที่เกิดมาคราวหนึ่งหรือชาติหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนใดไม่ได้เข้าถึงสิ่งนี้ ก็เรียกว่ายังไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
สำหรับเรื่องโลก ๆ เช่น เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติอะไรเหล่านี้ ยังไม่จัดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ เป็นของธรรมดาที่มนุษย์จะต้องมี ถ้าดีที่สุด ก็ดีอย่างโลก ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับธรรมะ และถ้าไปหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ก็กลายเป็นโทษขึ้นมาทันที ไม่เป็นสิ่งที่ดีไปได้ แต่สำหรับธรรมะ คือภาวะที่จิตใจมีความสะอาด สว่าง สงบนี้ เป็นความดีและที่สุดโดยแน่นอน
ดังนั้นเพื่อว่าเราเกิดมาชาติหนึ่งอย่าให้เสียทีเปล่า ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เราจึงได้พยายามแสวงหา ไม่มีที่ไหนดีกว่าการบวช เพราะว่าจะมีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อผลอันนั้นโดยตรง เราจึงมีโอกาสหรือมีหวังที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี้กล่าวโดยหลักส่วนใหญ่ทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะ ๆ ๆ แจกแจงเป็นรายละเอียดเท่าไร ๆ ก็ได้ กี่ชั่วโมงก็ได้
แต่ทีนี้เราจะมองกันให้ใกล้ลงมาอีก ให้ต่ำลงมาอีกว่า แม้ว่าเราจะบวชแล้วสึก เราก็ยังได้สิ่งที่ดีที่สุดนั้นติดไปด้วยไม่มากก็น้อย ดังนั้นแม้ว่าเราจะสึกออกไป เราก็ยังมีอะไรผิดแปลกไปจากที่ก่อนบวช ดังนั้นจึงเรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดออกไปอีกเหมือนกัน ตามสมควรแก่ฐานะ เพราะว่าในระหว่างที่บวชนี่ เรามีระเบียบประพฤติปฏิบัติที่ขูดเกลาสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ทุกอย่างทุกประการอยู่เป็นประจำ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดขึ้นมา จนกระทั่งถึงสิ่งที่เลิศไปกว่านั้น จนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะอยู่เหนือดีที่สุดขึ้นไปอีกอย่างนี้ก็มี เป็นธรรมะในขั้นสูงสุด อยู่เหนือชั่วเหนือดีไปอีกก็มี
ถึงแม้ในสมัยปัจจุบันนี้ ซึ่งมนุษย์เราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ การบวชก็ยิ่งเป็นการจำเป็นมากขึ้นเพราะว่าโลกนี้เป็นโลกที่น่าอันตรายมากขึ้น สิ่งที่เป็นภัยเป็นอันตรายต่อจิตใจมีมากขึ้น ดังนั้นถ้าคนหนุ่มได้บวช ได้รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไรให้เพียงพอแล้ว การออกไปต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น ก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ถ้าหากว่าเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ทำจริง ได้ผลจริงแล้ว เราจะได้รับสิ่งเหล่านี้โดยแน่นอน แม้ที่สุดแต่ว่า เราลืมตัว เห็นแต่เรื่องความสนุกสนานเอร็ดอร่อยเพลิดเพลิน ทางวัตถุทางเนื้อทางหนัง จนลืมตัวไป ถ้าเรามาบวช ก็จะทำให้เราสำนึกได้ว่า อะไรเป็นอย่างไร อะไรมากไป อะไรน้อยไป อะไรพอดี แม้ที่สุดแต่เรื่องที่ถือเนื้อถือตัวเย่อหยิ่งจองหอง ซึ่งอบรมกันมากในสมัยนี้ ก็จะได้ถูกแก้ไขให้พอเหมาะพอดี
การเป็นอยู่หรือโดยเฉพาะการศึกษาในสมัยนี้ ในโลกสมัยปัจจุบันนี้ จะผิดหรือถูกไม่อยากจะเรียก แต่จะชี้ระบุลงไปว่า ทำให้คนเย่อหยิ่งจองหองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และให้เป็นไปในทางเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ก่อนแต่ที่จะมีการศึกษาหรือการเป็นอยู่ ระเบียบใหม่ปัจจุบันนี้ อบรมเด็ก ๆ ให้รู้จักแต่ทะเยอทะยาน แต่ไม่รู้ว่าทิศทางนั้นจะไปทางไหน ดังนั้นโลกสมัยนี้มันจึงสับสนวุ่นวายยุ่งเหยิงซับซ้อนจนแก้ไม่ได้ จนมีแต่ความระส่ำระสาย
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเราโดยเฉพาะ เราบวชเพื่อจะได้รับระเบียบปฏิบัติแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เช่นยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างว่า เราบวชวันนี้ เราก็ทำไปในลักษณะที่เรียกว่าไม่มีเกียรติ ไม่ได้ทำอย่างหรูหรา ไม่ได้ทำในโบสถ์ที่สวยงาม ดูโบสถ์หลังนี้ก็คล้ายกับโรงอะไรหลังหนึ่ง พระพุทธรูปก็ยังทำไม่เสร็จ เท่านี้ก็เรียกว่าไม่มีเกียรติ
นี้เรียกว่าเราศึกษา หรือทำความเข้าใจ หรือทรมานตัวเรา ขูดเกลาตัวเราไปตั้งแต่ระยะแรก ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้น เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าความจริง หรือตัวจริง หรือของจริงนั้น ไม่เกี่ยวกับเกียรติ ถ้าไปยุ่งกับเกียรติมากนัก มันก็จะผิดพลาดไปจากสิ่งที่เป็นเรื่องจริง หรือของจริง หรือตัวจริง ดังนั้นเราจึงลืมสิ่งเหล่านั้นเสียที
มันนึกอยู่แต่ว่า อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นธรรมวินัย อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นเครื่องดับทุกข์ แล้วเราก็มองให้กระจ่างไปเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต่อเมื่อบวชแล้ว เราจะรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราที่จะต้องขูดเกลาออกไป เราก็ตั้งใจที่จะขูดเกลาสิ่งเหล่านั้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ทีนี้ลองคิดดูว่า มันจะเป็นอย่างไร การบวชของเรา ก็เป็นการขูดเกลาเราให้หมดจากสิ่งที่เป็นพิษ เป็นโทษ เป็นเนื้อร้าย เป็นพิษร้ายอะไรต่าง ๆ ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุผล เป็นผู้ที่รู้เหนือรู้ใต้ รู้ทาง รู้ผิดรู้ถูก รู้ฐานะรู้อฐานะ ดังนั้นถ้าทำได้ จะได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดเหลือหลาย ไม่ซ้ำกับใครที่ไหน ไม่มีในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย ที่เคยเรียนเคยสอนกันมา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอีกแผนกหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ซึ่งมนุษย์จะต้องมี เพื่อความดี เพื่อความสูงสุดของมนุษย์เอง
ดังนั้นจึงขอให้เธอทั้งสอง ตั้งใจกระทำให้สุดความสามารถตลอดเวลาที่บวชอยู่นี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์อันนี้ในเรื่องของตัวเอง เป็นอานิสงส์ส่วนตัวเอง ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี้เรียกว่าเป็นอานิสงส์ประเภทที่ ๑ ที่เธอจะพึงได้เอง
ทีนี้อานิสงส์ประเภทที่ ๒ ที่ญาติทั้งหลาย มีบิดามารดาเป็นต้น จะพึงได้รับ ข้อนี้เราหมายความว่า เราบวชเพื่อสนองคุณ ทดแทนบุญคุณบิดามารดาเป็นต้น เพราะเราไม่ได้เกิดแต่โพรงไม้ เราเกิดเองก็ไม่ได้ เราต้องมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เป็นที่ให้ชีวิตแก่เรา จึงถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณสูงสุด ดังนั้นเราต้องหาวิธีตอบแทนบุญคุณนั้นให้สูงสุดเหมือนกัน จึงจะสมกัน
ทีนี้ในบรรดาการตอบแทนคุณอย่างสูงสุดนั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการตอบแทนในทางฝ่ายจิตใจ คือทำบิดามารดาให้มีจิตใจมั่นคงแน่นแฟ้นในธรรม ในวินัย ในพระศาสนายิ่งขึ้นไป อย่างสำนวนด้านนี้เรียกว่า ทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้น
ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเธอทั้งสองบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง และได้ผลจริงแล้ว เธอได้ชื่อว่าเป็นการทำตนให้เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เมื่อเธอเป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้จริง บิดามารดาก็เป็นญาติของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น เอ่อ, ได้จริงอีกส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นเขาเลยว่า การตอบแทนพระคุณบิดามารดานั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ทำบิดามารดาให้เป็นญาติในพระศาสนายิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน แต่ว่าการกระทำนี้สำเร็จได้ ต่อเมื่อเราเองเป็นผู้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ตามนั้น
แต่ถึงอย่างไรก็ดี เรามองเห็นกันทั่ว ๆ ไปว่า บิดามารดาได้รับความพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ มีศรัทธามากขึ้น มีสัมมาทิฏฐิมากขึ้น มีอะไรในทางจิตใจมากขึ้นไม่มากก็น้อย แปลว่าเราทำให้ดีสมบูรณ์ยิ่ง ก็จะยิ่งได้รับนั้น เอ่อ, รับสิ่งเหล่านั้นเต็มที่ ดังนั้นจึงขอให้เธอทั้งสองตั้งใจกระทำในส่วนนี้ ให้ได้รับประโยชน์อานิสงส์แก่บิดามารดาเป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง นับว่าเป็นอานิสงส์ประเภทที่ ๒
ทีนี้มาถึงอานิงสงส์ประเภทที่ ๓ ที่จะได้แก่มนุษย์หรือโลกเป็นส่วนรวม และได้แก่พระศาสนาเองด้วยนั้น เธอต้องทำในใจว่า เราบวชนี้เพื่อสืบอายุพระศาสนา เราไม่ได้บวชเพื่อทำลายพระศาสนา แต่เราบวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา เราบวชกี่วัน ก็คืออายุพระศาสนาเท่านั้นวัน เราบวชกี่เดือนกี่ปีกี่สิบปี เราก็สืบอายุพระศาสนาเท่านั้นปี เอ่อ, เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี
ข้อนี้มันมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ตัวพระศาสนาจริง ๆ นั้นมีอยู่เมื่อยังมีคนเล่าเรียนพระศาสนา ยังคงมีคนปฏิบัติพระศาสนา ยังคงมีคนได้รับผลของพระศาสนา ยังคงมีคนได้สั่งสอนพระศาสนาสืบต่อ ๆ กันไป ทีนี้พอเราบวชเข้ามา เราก็เรียนพระศาสนา ปฏิบัติพระศาสนา ได้รับผลของพระศาสนา สั่งสอนพระศาสนาสืบต่อ ๆ ไป หรือแม้สุดแต่ทำตัวอย่างให้ดูอย่างนี้ก็เหมือนกัน
นี้เรียกว่าตลอดเวลาที่เราบวชอยู่นั้น เป็นการสืบอายุพระศาสนา บวช ๓ เดือนก็สืบ ๓ เดือน บวช ๓ ปีก็สืบ ๓ ปีเหล่านี้เป็นต้น แม้ว่าเราจะกลับสึกออกไปในระหว่างที่บวชนี้ ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา แปลว่าถ้าเราสึกออกไปแล้ว เรายังทำอะไร ๆ ที่ดี ๆ อยู่ ตามที่ได้รับการอบรมไปนี้ ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วยเพศฆราวาสนั้น ตามฐานะของอุบาสกที่จะพึงกระทำได้ อย่างนี้ก็เป็นการสืบอายุพระศาสนา แต่ส่วนใหญ่นั้นเขาหมายถึง ในขณะที่เราบวชนี้ เป็นการสืบอายุพระศาสนาเป็นช่วง ๆ ไปเหมือนกับที่แล้ว ๆ มา
คนที่เป็นบรรพบุรุษได้สืบอายุพระศาสนากันมาเป็นช่วง ๆ ๆ ๆ มันจึงมีอยู่ได้และมาถึงเราและเราได้บวช ดังนั้นเราอย่าเป็นคนใจจืดนัก เราจะต้องนึกถึงบุญคุณของคนเหล่านั้น แล้วเราก็ทำหน้าที่ของเรา เมื่อมาถึงช่วงของเรา เราก็รับช่วงแล้วสืบต่ออายุพระศาสนา และสิ่งนี้หรือการกระทำนี้ เป็นความหวัง เป็นพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นเราจึงสืบอายุพระศาสนาด้วย ทำตามพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าด้วย
เมื่อศาสนามีอยู่ในโลก มนุษย์ทั้งโลกได้รับประโยชน์ จึงว่าบวชนี้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งโลก ไม่ต้องพูดเฉพาะมนุษย์ในโลก จะพูดได้กระทั่งแม้สัตว์เดรัจฉานในโลกว่า ถ้าในนี้ ใน ๆ โลกนี้มีศาสนา มนุษย์มีศีลธรรม สัตว์ เอ่อ, สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ถูกเบียดเบียน ดังนั้นศาสนาจึงคุ้มครองไปถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย หรือว่าจะเงยขึ้นไปข้างบนว่า ในเทวโลกนั้น เดี๋ยวนี้อาจจะร้างแล้วก็ได้ เพราะว่าคนเสื่อมศีลธรรมมาก ไม่มีใครไปเกิดในเทวโลก แต่ถ้าในโลกนี้ยังมีศาสนา ยังมีการประพฤติศีลธรรมดีอยู่ ไปเกิดเป็นเทวดากันอยู่ เทวโลกก็ยังไม่ร้าง ดังนั้นการสืบอายุพระศาสนานี้สำคัญมาก เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทุก ๆ โลก
ดังนั้นขอให้เรานึกว่า มันมีค่ามากน้อยเท่าไรที่เอามารวมกันทั้ง ๓ อย่าง ที่อานิสงส์ที่เราจะพึงได้ อานิสงส์ที่บิดามารดาเป็นต้นจะพึงได้ อานิสงส์ที่ศาสนาหรือโลกเป็นส่วนรวมจะพึงได้ รวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก พอแล้ว เพียงพอแล้วที่เราจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ ที่จะประพฤติพรหมจรรย์บรรพชาของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
แม้ว่าจะต้องมีการอดกลั้นอดทนจนน้ำตาไหล ที่เขามีสำนวนเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา อย่างนี้เราก็ต้องทำได้ นี่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย คือเราไม่ยอมให้ส่วนธรรมวินัยเสียไป เรายอมอดกลั้นอดทนแม้น้ำตาไหล ก็ไม่ยอมเสีย เอ่อ, ยอมแพ้ ก็ไม่ยอมแพ้ หมายความว่า ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาอย่างนี้ คือความสามารถของเราอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่เราได้ทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีช่องที่จะตำหนิได้แล้ว
การที่เราจะทำได้ถึงขนาดนี้ ก็เพราะว่าเราเพ่งเล็งถึงอานิสงส์ ๓ ประการนั้นอยู่เสมอ หวังจะได้อานิสงส์ ๓ ประการนั้นอยู่เสมอ เราก็ทนได้ ดังนั้นจึงขอให้เธอทั้งสองนี้ นึกถึงอานิสงส์ ๓ ประการนี้อยู่เป็นประจำ ให้มีความรู้สึกหวังอานิสงส์นี้อยู่ในใจ แล้วก็จะเป็นกำลังใจ เป็นความเข้มแข็ง เป็นความอดทน เป็นอะไรทุก ๆ อย่างขึ้นมาได้โดยง่าย ในการประพฤติพรหมจรรย์แม้ด้วยน้ำตาอย่างที่กล่าวแล้ว ดังนั้นขอให้จำอานิสงส์ ๓ ประเภทนี้ไว้ให้ดี ๆ เพราะอานิงสงส์ของบรรพชาเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ ๓ ว่า วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชานั้นคืออะไร ข้อนี้ให้เข้าใจว่า เราบวชนี้อุทิศพระพุทธเจ้า อุทิศพระธรรมเจ้า อุทิศพระสงฆเจ้า เราบวชนี้อุทิศพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นจึงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นเอง เป็นวัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา เราต้องมีพระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงอยู่ในจิตใจของเรา บรรพชาถึงจะเจริญงอกงามจนกว่าจะถึงที่สุด
พระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงนี้เป็นคุณธรรม ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวบุคคล หรือเป็นตำรา เป็นคัมภีร์อะไรทำนองนั้น ก็หามิได้ แต่เป็นคุณธรรม คุณธรรมอย่างใดชนิดไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า นั่นแหละคือองค์พระพุทธเจ้า หรือว่าคุณธรรมหรือคุณสมบัติชนิดไหนที่ทำให้ได้นามว่าพระธรรม นั่นแหละคือพระธรรม คุณสมบัติคุณธรรมไหนที่ทำให้คนเรียกว่าพระสงฆ์โดยแท้จริงได้ นั่นแหละคือพระสงฆ์
เพราะฉะนั้นคุณธรรมนี้ ก็มามีชื่อเรียกอย่างเดียวกันกับที่เคยออกชื่อมาแล้วว่า ความสะอาด สว่าง สงบ ความสะอาดเรียกว่าบริสุทธิคุณ พระพุทธเจ้ามีบริสุทธิคุณถึงที่สุด พระธรรมก็มีบริสุทธิคุณ พระสงฆ์ก็มีบริสุทธิคุณ ความสว่างหมายถึงปัญญาคุณ ความสว่างไสวแจ่มแจ้ง รู้สิ่งที่ดับทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าก็มีสิ่งนี้ พระธรรมก็คือตัวสิ่งนี้ พระสงฆ์ก็มีสิ่งนี้ ความสงบนั้นคือความไม่มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าก็มีสิ่งนี้ พระธรรมก็คือสิ่งนี้ พระสงฆ์ก็คือสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ในใจ ก็ได้ชื่อว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงอยู่ในใจ เป็นวัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชา
ถ้าเรามีมากก็เป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ พระธรรมองค์ใหญ่ พระสงฆ์องค์ใหญ่ ถ้าเรามีน้อยก็เป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อย พระธรรมองค์น้อย พระสงฆ์องค์น้อย ดังนั้นขอให้เราพยายามทำให้สุดความสามารถของเราอยู่เสมอก็แล้วกัน สิ่งนั้นได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง มีอยู่ในจิตใจของเราจริง บรรพชาของเราก็จะเจริญงอกงามเหมือนต้นไม้ได้ดินดี ได้น้ำดี ได้อากาศดี ได้อาหารดี ก็เจริญงอกงามอย่างน่าอัศจรรย์
บรรพชานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามที่จะพอกพูนองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นคุณธรรมแท้จริงอยู่เสมอ ให้มีอยู่ในใจเป็นที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชาแล้ว ก็เรียกว่ามีวัตถุที่ตั้งที่อาศัยอย่างสมบูรณ์ นี้ก็เหมือนกัน สำเร็จได้เพราะเราบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้รับผลจริงอย่างเดียวกันอีก มันเป็นการกระทำที่พร้อมกันไปในตัว ถ้าทำอย่างนั้นก็จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าทำอย่างนั้นก็จะมีอานิสงส์ ๓ ประการนั้น ดังนั้นเราทำพร้อมกันไปได้
นี่ทั้งหมดนี้คือคำตอบที่จะตอบคำถามว่า บรรพชาคืออะไร อานิสงส์ของบรรพชาคืออะไร วัตถุที่ตั้งที่อาศัยของบรรพชาคืออะไร ๓ ข้อด้วยกัน สรุปความสั้น ๆ ว่า บรรพชา คือการระเบียบปฏิบัติที่ไปหมดเว้นหมดจากความเป็นฆราวาส มีการขูดเกลาอยู่เป็นปรกติ อานิสงส์ของบรรพชา คือประโยชน์สูงสุดที่เราจะได้รับ ที่บิดามารดาเป็นต้นจะได้รับ ที่มนุษย์ทั้งหมด สัตว์โลกทั้งหมด และพระศาสนาเป็นส่วนรวมจะพึงได้รับ วัตถุที่ตั้งที่อาศัยแห่งบรรพชา คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ที่เป็นคุณธรรมชนิดที่เราสามารถจะนำมาใส่ไว้ในจิตใจของเราได้ ขอให้เธอทั้งสองรู้จักความหมายของคำว่าบรรพชาและสิ่งที่เกี่ยวกันกับบรรพชา ในลักษณะอย่างนี้แจ่มแจ้งชัดเจนใสแจ๋วอยู่ในใจตลอดเวลานี้และเวลาต่อไป
ทีนี้ก็มาถึงการนุ่งห่มผ้ากาสายะ เธอจงตั้งใจฟังให้ดีครั้งหนึ่งว่า ผ้ากาสายะคือผ้าไตรหรือผ้าเหลืองของเรานี้ เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่เรียกกันมาว่า อรหตฺตธโช ธง เอ่อ, แปลว่าธงชัยของพระอรหันต์ ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เมื่อเป็นวัตถุสูงสุดถึงขนาดนี้ เราจะเอามานุ่ง มาห่ม มาคลุมอย่างเล่น ๆ ง่าย ๆ ไม่มีความหมายอย่างนี้ย่อมไม่ได้ และ ๆ ย่อมจะเป็นบาปด้วย
เรื่องมันมีอยู่ว่า เราจะต้องทำจิตใจของเรา ให้สมควรแก่การนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านั้นเสียก่อน ดังนั้นแหละท่านจึงได้มีระเบียบวางไว้ให้บอก ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ ประการ เพื่อซักฟอกชำระตกแต่งกล่อมเกลาจิตใจของเรา ให้เหมาะแก่การที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้เสียก่อน แล้วจึงนุ่มห่มผ้ากาสายะ จึงขอให้ฟังให้ดีและส่งจิตใจไปตามถ้อยคำเหล่านี้ และเปลี่ยนจิตใจของเธอไปตามถ้อยคำเหล่านี้ด้วย
กรรมฐาน ๕ ประการนั้น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรียกโดยภาษาบาลีว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ยกเอามาเพียง ๕ อย่างนี้ก็เพราะว่า ถ้าเข้าใจใน ๕ อย่างนี้แล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจทั้งหมดหรือทุกอย่างได้ ดังนั้นตั้งใจฟังให้ดีสัก ๕ อย่างก็แล้วกัน ทำไมเอาวัตถุ ๕ อย่างนี้มากล่าว ก็เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกันกับเรา เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเรา เกี่ยวกับชีวิตจิตใจของเรา คือสิ่งที่เราเคยหลงใหลมาก่อน เข้าใจผิดมาก่อนหรือว่าเคยชินเป็นนิสัยมาก่อน
ข้อนี้ก็ได้แก่การที่เรามีความหลงใหลในความสวย ความงาม ความหอม ความเอร็ดอร่อย อะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องกระทำไปด้วยความหลงใหล จิตใจที่หลงใหลนี้ไม่เหมาะแก่ผ้ากาสา เอ่อ, กาสายะ ดังนั้นต้องเป็นจิตใจที่เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นจึงให้พิจารณาอย่างที่ตรงกันข้าม เช่นว่าผมนี่ เราเคยตกแต่งมันอย่างเต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้เราจะมีความเข้าใจใหม่ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะหลงใหลกันถึงขนาดนั้น เพราะว่าโดยเนื้อแท้แล้วเป็นสิ่งปฏิกูลที่น่าเกลียด
เราไม่เคยนึกว่า มัน ๆ เป็นปฏิกูล เรามัวแต่จะหลงตกแต่งมัน แต่เดี๋ยวนี้เรามาเปลี่ยนจิตใจเป็นมองเห็นตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นสิ่งปฏิกูล คำว่าปฏิกูลแปลว่าน่าเกลียด ไม่น่ารัก เส้นผมนี้ปฏิกูล ถ้าจะดูกันในส่วนรูปร่างสัณฐานก็น่าเกลียด คือเป็นเส้นยาว ๆ ถ้าจะดูกันโดยสีสันวรรณะก็น่าเกลียด คือมีสีดำ สีอะไรต่าง ๆ ที่น่าเกลียด ถ้าจะดูกันโดยสมุฏฐานะ ที่ตั้ง ที่เกิด ที่อาศัย เส้นผมนี้ก็เกิดอยู่บนหนังที่สกปรก ที่มีเลือดมีน้ำเหลืองหล่อเลี้ยงข้างใต้ แล้วถ้าจะดูกันในจิต โดยจิต คือหน้าที่การงาน ผมนี้ก็มีหน้าที่รับฝุ่นละอองบนศีรษะ
นี่เรียกว่ารูปร่างสัณฐานก็น่าเกลียด สีสันวรรณะก็น่าเกลียด ฐานะที่ตั้งก็น่าเกลียด หน้าที่การงานของมันก็น่าเกลียด ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้สำหรับผู้จะบวช จนเห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง จนเกิดความที่สลดสังเวชที่เรียกว่าความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด คลายความหลงรักในสิ่งเหล่านั้น แล้วใจของเราก็เหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะในเดี๋ยวนี้ เอ้า, ให้เธอทำตามคำที่กล่าวนี้ คือให้จิตใจเปลี่ยนไปในลักษณะนี้
สิ่งที่ ๒ ที่เรียกว่าขน หรือโดยภาษาบาลีเรียกว่า โลมา นั้นก็พิจารณาอย่างเดียวกับผม เพียงแต่ว่าเป็นเส้นละเอียดมีทั่ว ๆ ไปตามตัว พิจารณาอย่างเดียวกันก็ได้
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ ๓ คือเล็บ เรียกโดยภาษาบาลีว่า นขา ให้พิจารณาทำนองเดียวกันโดยแยกเป็น ๔ หัวข้อว่า โดยรูปร่างสัณฐานก็น่าเกลียด โดยสีสันวรรณะก็น่าเกลียด โดยที่เกิดที่ตั้งที่งอกก็น่าเกลียด โดยหน้าที่การงานของมัน คือมีหน้าที่แคะ เอ่อ, แทะควักแกะเกาสิ่งสกปรก แบบนี้มันก็เป็นหน้าที่การงานที่น่าเกลียด ทำไมจะต้องมาอุตริแต่งเล็บให้สวยเพื่ออวดกัน ให้เห็นความงมงายของผู้ที่หลงใหลในเรื่องเล็บ จนตัวเองก็สลดสังเวชแล้ว ก็เรียกว่ามีจิตใจเหมาะที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ
สิ่งที่ ๔ ฟัน เรียกโดยภาษาบาลีว่า ทันตา อันนี้เห็นได้ง่าย ฟันอยู่ในปาก ปฏิกูลอย่างไร ทุกคนพอจะมองเห็นได้ เกือบจะไม่ต้องอธิบาย แต่ก็อย่าลืมหัวข้อที่ว่า เอ่อ, วรรณ สีสัน เอ่อ, วรรณะ เอ่อ, รูปร่างสัณฐานของมันก็น่าเกลียด สีสันวรรณะของมันก็น่าเกลียด ที่เกิดที่งอกของมันก็น่าเกลียด หน้าที่การงาน คือการเคี้ยวบดอาหารของมันก็น่าเกลียด แล้วก็จะเลิกความคิดที่หลงใหลในเรื่องตกแต่งฟันให้สวยไว้อวดกัน ดังนั้นภิกษุสามเณรจึงไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นการตกแต่งฟันให้หอม ให้สวย ให้ขาว เพียงแต่รักษาความสะอาดตามสมควรก็พอแล้ว
ทีนี้สิ่งสุดท้ายที่ ๕ หนัง เรียกโดยภาษาบาลีว่า ตโจ นี้ยิ่งสำคัญมาก เพราะว่านอกจากเป็นปฏิกูลแล้ว ยังเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอย่างรุนแรงด้วย เนื้อหนังมีสัณฐานรูปร่างน่าเกลียด มีสีสันวรรณะก็น่าเกลียด มีกลิ่นก็น่าเกลียด มีที่เกิดที่งอกยิ่งน่าเกลียด เพราะว่ามันอยู่กับเหงื่อไคล เพราะว่ามันหล่อเลี้ยงด้วยเลือดด้วยน้ำเหลือง และหน้าที่การงานของมันยิ่งน่าเกลียด เราก็รู้เรื่องดีแล้วว่า หนังมีหน้าที่อย่างไรบ้าง แต่ง่าย ๆ มีหน้าที่รับฝุ่นละอองทั่วไปทั้งตัว หมักหมมเหงื่อไคล ระบายอากาศ นี้เรียกว่าส่วนที่เป็นปฏิกูล
ทีนี้ส่วนอีกส่วนหนึ่ง คือว่าเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสนั้น หมายความว่าสัมผัสทางผิวหนังนี้ เป็นสัมผัสที่ก่อให้เกิดความกำหนัดหรือราคะยิ่งกว่าสิ่งใด ดังนั้นเราจึงรู้ รู้จักมันในฐานะที่เป็นข้าศึกหรือเป็นอันตรายอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงไม่มีความหลงใหลในการที่จะบำรุงบำเรอผิวอีกต่อไป และมีความสลดสังเวชต่อการกระทำชนิดนั้นหรือต่อบุคคลที่มัวหลงใหลอย่างนั้น เราเป็นผู้มีจิตใจเป็นปรกติแล้ว ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหลงใหลงมงายอย่างเด็ก ๆ หรือคนหนุ่มคนสาวที่กำลังโง่ในเรื่องความงามนี้อีกต่อไป เราก็มีจิตใจเหมาะแล้วเดี๋ยวนี้ที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะ
เพราะฉะนั้นขอให้เธอทั้งสอง กระทำในใจอย่างนี้ มีจิตใจอันเปลี่ยนมาตามลำดับ ๆ อย่างนี้ จากความเป็นฆราวาสมาสู่ความเป็นบรรพชิต จากความไม่เหมาะสมมาสู่ความเหมาะสมที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ ในโอกาสนี้ด้วยการ ในที่สุดเราก็อาจที่จะทำการบรรพชาหรือนุ่งห่มผ้ากาสายะได้โดยชอบธรรม โดยยุติธรรม โดยสมควรแก่ธรรม เป็นธรรมเป็นวินัยทุกอย่างทุกประการ ไม่มีอะไรที่เป็นความผิดพลาดน่าติเตียน
นี่ตั้งแต่ต้นมาจนถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่จำเป็นที่จะต้องกล่าว ที่จะต้องปรับความเข้าใจเธอทั้งสองในการที่จะบรรพชา ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีจิตใจอันสว่างไสวในเรื่องนี้ แล้วเราก็ทำไป ๆ อย่างลืมหูเราลืมตา ไม่ใช่ทำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่ใช่ทำเพียงเป็นพิธีรีตอง แต่ให้เป็นธรรมะ ให้เป็นวินัย ให้เป็นธรรมวินัย หรือเป็นไปตามธรรม หรือถูกต้องตามธรรม เป็นลูกของพระพุทธเจ้าจริง ทำให้บิดามารดาเป็นญาติของพระศาสนายิ่งขึ้นไปจริง ทำให้สัตว์มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงพลอยได้รับประโยชน์จากเราได้จริง เป็นอันว่าเป็นการได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อผล เป็นไปเพื่อกำไร เหลือที่จะกล่าวได้ว่ามีมากมายเท่าใด
ทีนี้ก็มีระเบียบให้บอก ตจปัญจกกรรมฐาน โดยภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจงตั้งใจรับตจปัญจกกรรมฐานนั้น เอ้า, ทีละคน เข้ามาใกล้ ก้ม ตจปัญจกกรรมฐานมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นจนปลาย คือความหมายอย่างนั้น สรุปลงในถ้อยคำเป็นภาษาบาลีสั้น ๆ เพียง ๕ คำ เรียกว่า ตจปัญจกกรรมฐาน เธอจงถือเอาโดยพยัญชนะ เพื่อความสมบูรณ์ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะในโอกาสนี้ โดยตั้งใจว่าตามเราดังต่อไปนี้
เกสา (เกสา) โลมา (โลมา) นขา (นขา) ทันตา (ทันตา) ตโจ (ตโจ) นี้เรียกว่าตามลำดับ ที่ทวนลำดับคือ ตโจ (ตโจ) ทันตา (ทันตา) นขา (นขา) โลมา (โลมา) เกสา (เกสา) เอ้า, ถ้าจำได้ลองว่าดู (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) อีกเที่ยว (นขา) อีกเที่ยวตั้งต้นใหม่ (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) อีกเที่ยว (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) เพื่อความแน่นอนอีกเที่ยว (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา)
เป็นการดีที่กล่าวได้ ๓ เที่ยว ทั้งตามลำดับและทวนลำดับ เป็นการแสดงว่า เรากำลังมีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้มีจิตใจที่ฟุ้งซ่าน มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ซึ่งเป็นจิตใจที่เหมาะสมที่จะรับการบรรพชา มีความพอใจในความพยายาม และความประสงค์อันนี้ คือที่ทำการบรรพชาให้เธอ ก้มลงมา
จงตั้งใจรับ ตจปัญจกกรรมฐาน โดยภาษาบาลี โดยว่าตามไปดังต่อไปนี้
เกสา (เกสา) โลมา (โลมา) นขา (นขา) ทันตา (ทันตา) ตโจ (ตโจ) นี้เป็นอย่างตามลำดับ ทวนลำดับคือ ตโจ (ตโจ) ทันตา (ทันตา) นขา (นขา) โลมา (โลมา) เกสา (เกสา) ถ้าจำได้ลองว่าดูด้วยความระมัดระวังตั้งอกตั้งใจ (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) อีกเที่ยว (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) อีกเที่ยว (เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา) ดีที่ว่าได้เรียบร้อย นี้ ๓ รอบทั้งทวนไปทวนมา แสดงความมีจิตใจปรกติ มีสติสัมปชัญญะเหมาะแก่การรับบรรพชา ก้มมาทางนี้
ขอให้มีความเจริญงอกงามในศาสนา ขอให้ตามนี้ทุก ๆ ประการ